หนทางแห่งการหลุดพ้นต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 24 มกราคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,251
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,605
    ค่าพลัง:
    +26,456
    C8FB643F-EE80-44D6-9DEF-7A0B4EB497DA.jpeg

    มักขลิโคสาล เป็นทาสในเรือนเบี้ย เป็นหนึ่งในอาจารย์ใหญ่ในสมัยนั้น จะมีคณาจารย์อยู่ ๖๒ ราย แต่ว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ที่คนเคารพนับถือทั้งประเทศอยู่ ๖ ราย มักขลิโคสาล เป็นทาสในเรือนเบี้ย เจ้านายให้แบกหม้อน้ำมันไปตลาดเพื่อเอาไปขาย ฝนตกใหม่ ๆ พื้นลื่น เจ้านายก็ต้องคอยเตือนว่า “มาขลิ มาขลิ” คือ “ระวังจะลื่น ระวังจะลื่น” คราวนี้ตานี่เกิดในคอกวัว ก็เลยมีฉายาต่อท้ายว่าโคสาละ ก็คือ ‘ไอ้ลื่นที่เกิดในคอกวัว’

    ต้องบอกว่าเจ้านายปากศักดิ์สิทธิ์ ไปไหนก็ “ระวังลื่น ระวังลื่น ระวังลื่น” ท้ายสุดตามักขลิก็ลื่นหงายท้องตีนชี้ฟ้า หม้อน้ำมันตกแตก เจ้านายโมโหมาก คว้าหมับเข้าที่ผ้านุ่งลากเข้ามาจะตีด้วยไม้เท้า มักขลิตกใจดิ้นหลุดมือไป ทำไมถึงหลุด ? ผ้าหลุดติดอยู่กับเจ้านาย...ไปแต่ตัว สมัยก่อนทาสส่วนใหญ่มีแต่ผ้านุ่งไม่มีผ้าห่ม ผ้านุ่งก็ลักษณะเหมือนกับสบงพระ ผ้าห่มก็คือจีวร ประมาณนั้น ถ้าหากว่าคนที่มีฐานะก็ต้องมีทั้งผ้านุ่งผ้าห่ม แบบจูเฬกสาฎกมีแต่ผ้านุ่งไม่มีผ้าห่ม ออกจากบ้านลำบาก เขาถือว่าไร้วัฒนธรรม เหมือนกับสมัยนี้เดินไปไม่ใส่เสื้อ

    มักขลิไปซ่อนในป่า กลัวเจ้านายตี ทนหิวไม่ไหวก็ย่องออกจากป่ามา เจอบ้านคนก็ไปขออาหารกิน คนสมัยนั้นเห็น โอ้โฮ...คนนี้มักน้อยมาก กระทั่งผ้าสักผืนก็ไม่นุ่ง จะต้องเป็นพระอรหันต์แน่เลย จึงเอาข้าวปลาอาหารมาประเคนเสียเยอะ มักขลิก็เลยกลายเป็นอาจารย์ใหญ่ มีคนเคารพนับถือ ก็บอกกันปากต่อปากไป เห็นว่าการไม่นุ่งผ้าทำให้เกิดลาภผลเงินทองขึ้นมา ก็เลยพาลแก้ผ้าเดินเทิ่ง ๆ ไปเลย แกก็เลยบัญญัติลัทธินัตถิกทิฏฐิขึ้นมา ไม่ต้องทำอะไรเลยถึงเวลามีเอง

    อ่านประวัติบรรดาอาจารย์ใหญ่ของยุคนั้นแล้ว ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมพระพุทธเจ้าของเราถึงได้แหวกวงความเชื่อของเขาออกมาได้ เพราะว่าอาจารย์ใหญ่ยุคนั้นเป็นทฤษฎีเหลวไหลเสียเยอะ ประมาณว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ถึงเวลาก็ดังเอง ถึงเวลาก็รวยเอง

    พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามกรรม กรรมดีกรรมชั่วที่เราทำ ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ บุคคลหว่านพืชเช่นไร ก็จักได้รับผลเช่นนั้น กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว คราวนี้บาลีแปลมาแล้วคนฟังต่อแปลไม่หมด ไปแปลว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เข้าใจกันอีกว่ากรรมแต่ละอย่างมีตามวาระ ตามความหนักเบา ตามหน้าที่ ฯลฯ พอถึงเวลาก็เลยกลายเป็นว่าทำดีแล้วยังไม่ทันได้ดี ก็ไปตั้งทฤษฎีใหม่ว่า ‘ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป’ นั่นเขาเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิแปลว่าความเห็น Concept ผิด แนวคิดผิด

    ฟังคำว่ามิจฉาทิฏฐิแล้วดูน่ากลัวมาก ก็เพราะว่าเหมือนกับกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อ ๆ ไปก็ผิดหมด พระพุทธเจ้าถึงได้ว่า หนทางแห่งการหลุดพ้นต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง อย่างสมัยก่อนเขาบำเพ็ญตบะ ทำตนให้ลำบาก เชื่อว่าเมื่อพระเจ้าพอใจก็จะรับไปอยู่ด้วย อันนี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันติคือความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าอดกลั้นทำความดี ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจได้ นั่นน่ะสุดยอดตบะเลย

    คราวนี้คนอินเดียมีความฉลาด ต้องบอกว่าหัวหมอมาตั้งแต่เกิด จนเขาบอกว่าถ้าเจอแขกกับงูให้ตีแขกก่อน อาตมาบอกว่าถ้าเจองูกับแขกให้ตีแขกก่อน แขกสะดุ้งเหย็ง “อีนี่ตีจ๋านทำอะไรนาย แขกน่ารักนะ” คนอินเดียเป็นคนเจ้าคารม เป็นสุดยอดของแนวคิด แต่ละคนจะต้องมีหลักการคิดอะไรสักอย่างอยู่ในใจของตัวเอง แต่ดีอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากว่าแนวคิดของเราดีกว่า เขาจะยอมเคารพนับถือ ดีไม่ดีก็ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ไปเลย

    ในเมื่อบ่มเพาะแนวคิดก็เกิดตรรกะวิภาษขึ้นมา ก็คือการโต้เถียงกัน ปะทะสังสรรค์กันทางแนวคิด ภาษาบาลีเรียกว่า วิวาทะ ที่คนไทยเรียกว่า วิวาท วิวาทบ้านเรานี่ความหมายผิด กลายเป็นทะเลาะเบาะแว้งกัน

    แบบเดียวกับเมื่อตอนบ่ายที่กล่าวถึง บึกบึน ที่เป็นภาษาลาว ความหมายของไทยปัจจุบัน บึกบึนคือกำยำล่ำสัน แข็งแรงกว่าชาวบ้านเขา บึกบึนภาษาลาวเป็นพวกประเภทดื้อตะบันไปข้างหน้าอย่างเดียว ใครเว้าลาวได้บ้าง ? รู้จักไหม? บึนไปข้างหน้า คือ ไม่หลีกใคร มุดไปอย่างเดียวเลย จะไปให้ได้ ประเภทดื้อหัวชนฝา ความหมายเปลี่ยนกลายเป็นแข็งแรง บาลีความหมายก็เปลี่ยนได้เช่นกัน

    ในเมื่อวิวาทะ วาทะคือคำพูด วิ แปลได้ ๓ ความหมาย เป็นคำอุปสรรค คือ คำที่นำหน้าหรือขวางหน้า ถ้าไม่มีคำนี้นำความหมายก็ยังเป็นความหมายหนึ่ง พอมีคำนำเข้าไปความหมายเปลี่ยน แปลว่าวิเศษก็ได้ แจ่มแจ้งก็ได้ แตกต่างก็ได้ เพราะฉะนั้น..วิวาทหรือวิวาทะตัวนี้ คือ มีคำพูดที่ต่างกัน ไม่เป็นไปในแนวเดียวกัน ในเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน การพนันก็ต้องเกิดขึ้น นั่งเถียงกันว่าใครจะชนะ

    เพราะฉะนั้นบาลีคำหนึ่งจึงมีหลายความหมาย ต้องดูบริบทสิ่งแวดล้อมช่วงนั้นว่าควรจะหมายถึงอะไร อย่างเช่น อนุ แปลว่า น้อย ก็ได้ แปลว่า ภายหลัง ก็ได้ แปลว่า ตาม ก็ได้ อนุภรรยา...เมียน้อย อนุชน...คนรุ่นหลัง อนุจร...ผู้ตามหลัง เกิดเขาบอกว่า “หลวงพ่อเล็กเดินทางไปต่างประเทศพร้อมพระอนุจร” ก็จะได้รู้ว่าอนุตัวนี้ต้องแปลว่าติดตาม ตามหลัง คือ มีพระติดตามไป

    เพราะฉะนั้น..บริบทคือสิ่งแวดล้อม จะทำให้เราตีความว่าคำนี้แปลว่าอะไร บางคำความหมายเยอะมาก "ใน ใกล้ ที่ ครั้นเมื่อ ในเพราะ เหนือ บน ณ" ๘ ความหมาย ก็ต้องรู้ว่าหมายถึงอะไร คำนี้ต้องแปลว่า นั่งใกล้ คำนี้ต้องแปลว่า นั่งใน คำนี้ต้องแปลว่า นั่งบน คำนี้แปลว่า นั่งเหนือ แปลไป ๗-๘ ความหมาย ต้องดูว่ารูปประโยคเป็นอย่างไร กล่าวถึงอะไร

    สรุปว่าในเมื่อแขกบ่มเพาะความสามารถในการวิวาท ก็คือถกเถียงกันแบบตรรกะวิภาษ คือใช้คำพูดใช้เหตุผลในการหักล้างกัน เมื่อเจอพระพุทธเจ้าเข้า ได้ยินสิ่งที่ท่านพูด ไม่เคยได้ยินจากที่อื่นมาก่อน เกิดชอบใจ ประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

    พระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาต เจอพราหมณ์กำลังไถนาอยู่ พระพุทธเจ้าก็ถามว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ? พราหมณ์ก็บอกว่าจะต้องมีวัว จะต้องมีแอก จะต้องมีเชือก จะต้องมีไถ จะต้องมีผาล ฯลฯ อธิบายแต่ละอย่างว่าทำอะไรบ้าง "แล้วท่านเล่า ประกอบอาชีพอะไร ?" พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าท่านก็ทำนาเหมือนกัน พราหมณ์ถามว่า "ไหนละเชือกของท่าน ? ไหนละไถของท่าน ? ไหนละผานของท่าน ?"

    พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า หิริ อีสา งอนไถ (เครื่องบังคับทิศทาง) คือความละอายชั่ว มโน โยตฺตํ ความคิดเป็นเส้นเชือกในการบังคับ สติ เม ผาลปาจนํ สติเหมือนผาลไถที่คอยพลิกดิน จะดีหรือชั่วก็อยู่ตรงนั้นแหละ ว่าจะพลิกอะไรขึ้นมา พราหมณ์ได้ยินจึงประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ไม่เคยฟังอะไรที่ชัดเจนอย่างนี้มาก่อน แต่นั่นหมายความว่าท่านต้องพูดกับชาวนา คนทำนาเขาอยู่กับเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้อยู่ พระพุทธเจ้ายกขึ้นมาเขาเข้าใจทันที

    แบบเดียวกับที่ท่านยกเรื่องของราคัคคิ โทสัคคิ โมหัคคิ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ให้ชฎิลสามพี่น้องที่บูชาไฟฟัง ฟังปุ๊บเขาก็เข้าใจ เพราะว่าตรงกับสิ่งที่เขาทำอยู่

    ดังนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส เป็นไปตามสภาพของบุคคลและสังคมนั้น ๆ พระองค์ท่านถึงได้ตรัสว่าบุคคลที่ประกอบด้วยความสำเร็จ จะต้องมีตั้งแต่ ธัมมัญญุตา...รู้เหตุ อัตถัญญุตา...รู้ผล ฯลฯ ไล่ไปเรื่อย จนกระทั่งถึง ปริสัญญุตา...รู้ชุมชน รู้หมู่คนว่าต้องการอะไร ปุคคลปโรปรัญญุตา...รู้ว่าบุคคลนี้เป็นอย่างไร ต้องการอย่างไร ก็จะแสดงเฉพาะกรณีไป
    .....................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com


    ขอขอบคุณภาพพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเนื้อเงิน วัดท่าขนุน จากคุณ A'tist Toon
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...