เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 19 พฤษภาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพ "โดนเท" ไปสองงาน ทั้งเช้าและบ่าย จึงใช้เวลาที่เหลือภาวนาพระคาถาเงินล้าน ๑๐๘ จบไปสองรอบ

    ถ้าท่านทั้งหลายถามว่ากระผม/อาตมภาพยังต้องภาวนาอยู่อีกหรือ ? ก็ขอยกเอาพระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานันทะ...ดูก่อนอานนท์ แม้แต่ตถาคตก็ยังต้องมากด้วยอานาปานสติ" นี่เป็นประการหนึ่ง

    อีกประการหนึ่งก็คือ ครูบาอาจารย์ท่านเตือนอยู่เสมอให้เราไม่ประมาท ถ้าหากว่าเราเอาความดีใส่ไว้ในใจของเรา ความชั่วก็เข้ามาไม่ได้ เพราะว่ากำลังใจของเรานั้นเปรียบเสมือนเก้าอี้ที่นั่งได้คนเดียว ถ้าหากว่าความดีนั่งอยู่ ความชั่วก็เข้าไม่ได้ ถ้าความชั่วนั่งอยู่ ความดีก็เข้าไม่ได้เช่นกัน

    ในแต่ละวัน เราจึงควรที่จะให้กำลังใจของเรานั้นอยู่ในด้านดีให้มากกว่าเข้าไว้ ขนาดนั้นก็ตาม ที่กระผม/อาตมภาพพบมาก็คือ หลายท่านเวลากลางวันรักษากำลังใจได้ดีมาก แม้แต่หน้าตาเพศตรงข้ามก็ไม่มอง แต่พอกลางคืนเผลอหลับ ฝันว่าไล่ปล้ำลูกชาวบ้านเขาไปเรียบร้อยแล้ว..!

    หรือว่ากลางวันระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่มดตัวเดียวก็ไม่กล้าเหยียบ กลางคืนหลับเมื่อไร ฝันว่าฆ่าเขาไปเป็นกองทัพเลย เหล่านี้เป็นต้น ท่านจะเห็นได้ว่ากำลังใจของเรานั้น แม้ว่าจะสามารถรักษาได้ตลอดระยะเวลาที่ตื่นอยู่ แต่ถ้าเผลอเมื่อไรก็จะคลายตัวออก แล้วก็ปล่อยให้ความชั่วแทรก
    เข้ามาแทน

    ดังนั้น..จะได้เห็นว่าบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะสอนให้เราภาวนา จนกระทั่งหลับและตื่นเรามีสติเท่ากัน ถ้าเช่นนั้น เราจึงจะสามารถระมัดระวังไม่ให้ความชั่วกินใจเราได้แม้แต่เวลาที่หลับอยู่ ลักษณะอารมณ์นั้นก็คืออารมณ์ของความเป็น "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม จะมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ แม้แต่หลับก็รู้อยู่ว่าตอนนี้ตนเองหลับ ถ้าหากว่าเป็นคนนอนกรน ก็ได้ยินเสียงตัวเองกรนด้วย..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    แต่ถ้าหากว่ามีสิ่งหนึ่งประการใดที่เข้ามาสัมผัส แล้วเรามีความจำเป็นที่จะต้องปฏิสัมพันธ์ด้วย ก็จะค่อย ๆ คลายกำลังใจออกมาด้วยความระมัดระวัง ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องติดต่อพูดคุย ก็เอาสติจดจ่ออยู่เฉพาะหน้าเสมอ ไม่ให้เผลอหลุดไปไหน หลังจากที่หมดธุระแล้ว ก็จะรีบกลับเข้าไปสู่อารมณ์เดิมของตน ก็คือกลับเข้าไปอยู่ภายในอารมณ์ของ "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" ต่อไป

    ถ้าหากว่าทำได้ถึงระดับนี้ ท่านทั้งหลายถึงจะมีโอกาสชนะกิเลสได้บ้าง ไม่เช่นนั้นแล้วทำมาเท่าไรก็ไม่เพียงพอ เผลอสติปล่อยให้กิเลสชักจูงไป ทำมาเท่าไรก็โดนกิเลสเอาไปกินเสียหมด แถมกิเลสยังมีความสามารถพิเศษอีกด้วย ก็คือเมื่อตัวเราภาวนาแล้ว ถ้าไม่รู้จักเอากำลังนั้นไปพิจารณา กิเลสก็จะฉกฉวยกำลังสมาธินั้นไปฟุ้งซ่าน ในเรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง แทน

    ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า หลังจากเราภาวนาแล้วทิ้งไปเฉย ๆ เมื่อถึงเวลา รัก โลภ โกรธ หลง ปรากฏขึ้น จะรุนแรงแข็งกล้ามากเป็นพิเศษ จนกระทั่งเราอยู่ในลักษณะของการ "เอาไม่อยู่" แล้วก็ต้องไหลตามกระแสของ รัก โลภ โกรธ หลง ไป หลายท่านก็ละเมิดศีล ละเมิดธรรม เสียผู้เสียคนไปเลย ก็เพราะว่าเราอยู่ในลักษณะของการเลี้ยงโจรให้มาปล้นเราเอง หรือว่าเลี้ยงเสือให้มากัดเราเอง..!

    เพราะว่าเมื่อจิตของเราสงบ มีกำลัง แต่เราไม่ได้เอาไปพิจารณาวิปัสสนาญาณให้รู้แจ้งเห็นจริง กำลังส่วนนั้นก็จะโดนกิเลสฉกฉวยเอาไปใช้งานแทน จึงฟุ้งซ่านได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นงานเป็นการ เราไม่สามารถที่จะรั้งเอาไว้ได้ ก็กลายเป็นจิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก จนเป็นเรื่องปกติ


    แต่ถึงท่านทั้งหลายเหล่านั้นจะรู้จักใช้การพินิจพิจารณา จนกระทั่งสภาพจิตของเราใช้กำลังสมาธิไปมากพอ ก็จะเริ่มรู้สึกว่า "เฝือ" คือการพิจารณานั้นเริ่มไม่ชัดเจนแล้ว เราก็รีบกลับมาภาวนาใหม่ เมื่อกำลังของการภาวนาทรงตัวแล้ว เราก็กลับไปพิจารณาใหม่ ให้ทำสลับกันไป สลับกันมาดังนี้ ก็จะมีความก้าวหน้ามากขึ้น

    แต่ส่วนสำคัญก็คือ กำลังสมาธิของท่านนั้น อย่างน้อยต้องปฏิบัติให้ถึงระดับรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาโดยอัตโนมัติ ก็คือไม่ต้องบังคับก็เป็นเอง ถ้าอยู่ในระดับนั้น อย่างน้อยก็คือท่านจะทรงอยู่ในปฐมฌานละเอียด ถ้าท่านสามารถพลิกแพลงเป็นฌานใช้งานได้ก็จะสุดยอดมาก แต่ถึงพลิกแพลงใช้งานไม่ได้ ก็ต้องเอาสติประคับประคอง ให้สภาพจิตอยู่ในลักษณะของการตื่นรู้ ระมัดระวังอยู่เสมอ กิเลสก็จะแทรกเข้ามากินใจของเราไม่ได้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    การที่ท่านทั้งหลายจะปรับสมาธิให้เป็นสมาธิใช้งาน ก็คือท่านต้องภาวนาในขณะที่เคลื่อนไหวได้ วิธีฝึกฝนที่ดีที่สุดก็คือเดินจงกรมไปพร้อมกับการภาวนา เพียงแต่ว่าระยะแรก ท่านอย่าเพิ่งจับลมหายใจครบ ๓ ฐาน เพราะว่าลมหายใจครบ ๓ ฐานเมื่อไร จะเข้าสู่ระยะของปฐมฌานหยาบ ร่างกายกับจิตของท่านเริ่มแยกเป็นคนละส่วน เราจะบังคับให้ร่างกายก้าวเดินไม่ได้..!

    ดังนั้น..ท่านต้องจับลมหายใจแค่ฐานใดฐานหนึ่ง อย่างเช่นว่าเฉพาะจมูก หรือว่าเฉพาะที่ท้อง แล้วก็กำหนดภาวนาพร้อมกับเดินไป จะเป็นก้าวซ้าย "พุท" ก้าวขวา "โธ" ก็ได้ เอาความรู้สึกของเราเคลื่อนตามเท้าของเราไป "พุท" ซ้ายลง "
    โธ" ขวาลง แบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งท่านมีความคล่องตัว สามารถที่จะกำหนดได้โดยไม่ต้องระมัดระวังมากแล้ว ก็เพิ่มการกำหนดลมฐานที่ ๒ ลงไป อย่างเช่นว่าจมูกกับอก แล้วลองเดินดู ถ้าหากว่าก้าวไม่ออกหรือก้าวช้าลง เราก็ใช้วิธีก้าวช้า ๆ พร้อมกับกำหนดภาวนาไป จะช้ายิ่งกว่าเต่าคลานก็ปล่อยให้ช้าไป พอเราทำได้คล่องตัวแล้วก็จะค่อย ๆ เร็วขึ้นไปเอง

    เมื่อสามารถกำหนดลมหายใจ ๒ ฐาน พร้อมกับการเดินจงกรมได้แล้ว มีความคล่องตัว เคลื่อนไหวได้สะดวก ท่านก็เริ่มกำหนดลม ๓ ฐาน พร้อมกับการเดินจงกรม ก็คือรู้ลมว่าเข้าที่จมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง ลมออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก ถ้าหากว่าใหม่ ๆ ก็จะยืนแข็งทื่อ ก้าวไม่ออก เพราะว่ายังขาดความชำนาญอยู่ ต้องพยายามฝืนตนเอง จนรู้สึกเหมือนกับหลุดจากสภาวะผีอำ ก็คือค่อย ๆ เคลื่อนไหวช้า ๆ ได้ เราก็ค่อย ๆ ย่องของเราไป

    จนกระทั่งมีความคล่องตัวมากขึ้น สมาธิไม่คลายไปไหนแม้ว่ากำลังเคลื่อนไหว เราก็สามารถที่จะก้าวได้เร็วขึ้น จนกระทั่งสามารถภาวนาจับลมหายใจ ๓ ฐานพร้อมกับการเดินตามปกติได้ เราก็ลองกระทำงานการอื่น ๆ ไปด้วย ถ้าหากว่าสามารถทำงานอื่น อย่างเช่นว่ากวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้าไป พร้อมกับการภาวนาได้ ก็แปลว่าสมาธิของท่านเริ่มใช้งานได้แล้ว

    ถ้าหากว่าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ สมาธิจิตของท่านก็จะมั่นคงมากขึ้น ถึงเวลา แม้ว่าจะกระทำสิ่งหนึ่งประการใดก็ไม่หลุดหายไปง่าย โอกาสที่เราจะชนะกิเลสก็มีมากขึ้น แต่ก็ต้องคอยระมัดระวังเอาไว้เป็นอย่างสูง เพราะว่าอยู่ในลักษณะของผู้ฝึกหัด ยังไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เผลอเมื่อไรสติขาด สมาธิหลุด รัก โลภ โกรธ หลง จะมาเป็นฟ้าถล่มดินทลาย ถ้าถึงเวลานั้น ท่านทั้งหลายอย่าไปเสียเวลาคร่ำครวญกับความเสียหายที่เกิดขึ้น หากแต่ว่าโยนทุกสิ่งทุกอย่างตรงหน้าทิ้งไปให้หมด แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทันที..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถ้าท่านทั้งหลายพยายามซักซ้อมในลักษณะแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็จะทรงสมาธิได้นานขึ้น แต่ขอให้ทำแบบคนฉลาด อย่าทำแบบคนโง่ ก็คืออย่าทำอยู่ในอิริยาบถเดียว ไม่ว่าจะกระทำกิจการงานใด ๆ ก็ตาม ให้อยู่กับการภาวนาไปด้วย อยู่กับลมหายใจเข้าออกไปด้วย

    ถ้าทำแบบนี้แล้วรู้สึกเบื่อ ก็ให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น อย่างเช่นว่าถ้าเดินอยู่ในบ้านแล้วรู้สึกเบื่อก็ออกไปเดินนอกบ้าน ถ้าหากว่าเดินแล้วรู้สึกเบื่อ ก็หางานอื่น ๆ ทำเป็นต้น เพียงแต่รักษาคำภาวนาและลมหายใจเข้าออกของเราเอาไว้ ซักซ้อมอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะทรงสมาธิจิตได้ แล้วเราเองก็จะมีความมั่นคงของกำลังใจ มีสติแหลมคม ว่องไว รู้รอบมากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถระมัดระวังไม่ให้ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นได้

    โดยเฉพาะเมื่อสติแหลมคม ปัญญาก็จะว่องไว ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ไม่นำเข้ามาสู่ใจ รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ก็ไม่สามารถกินใจของเราได้

    ในเมื่อกิเลสใหม่เกิดไม่ได้ เราพยายามขัดเกลาไปเรื่อย กิเลสเก่าจะจืดจางเบาบางลงไปทุกที ๆ สภาพจิตยิ่งผ่องใสเท่าไร ปัญญาก็ยิ่งเกิด ย่อมเห็นหนทางว่าทำอย่างไร ถึงจะสามารถชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจของเราได้ ซึ่งก็ไม่มีอะไรเหนือไปกว่าวิปัสสนาญาณ

    ถึงเวลานั้นท่านทั้งหลายก็จะมีหลักยึดเป็นของตนเอง ถึงแม้ว่าหกล้มก็จะลุกขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว สามารถประคองกำลังใจในแต่ละวันให้มีดีมากกว่าชั่ว ถึงเวลานั้นแล้ว กำลังจิตของท่านก็จะผ่องใสขึ้นเรื่อย ๆ ปัญญาก็จะเห็นวิธีการต่าง ๆ ที่จะเอาตัวรอดจากกิเลส และหาทางเอาชนะกิเลสจนได้ในที่สุด สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้น ท่านต้องอดทนอดกลั้น ต่อสู้ฝ่าฟันแบบไม่ท้อถอย จึงจะสามารถประสบความสำเร็จ ดังที่กระผม/อาตมภาพได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...