เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 5 ธันวาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขณะเดียวกันก็เป็นวันพ่อแห่งชาติ และเป็นวันชาติด้วย ก่อนหน้านี้วันชาติของเราใช้วันที่ ๑๐ ธันวาคม แต่ว่าเพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงในระยะนี้นี่เอง พวกเราได้ร่วมกิจกรรมในการบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยเฉพาะอีกสักครู่ก็คือการเจริญพระพุทธมนต์

    คราวนี้ในช่วงของวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีก่อนหน้านี้ จะเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานตั้ง พระราชทานเลื่อน พระครูสัญญาบัตรและพระราชาคณะ สำหรับปีนี้อำเภอทองผาภูมิของเรา ก็ต้องแสดงความยินดีกับพระปลัดกิตติศักดิ์ ฐานจาโร เจ้าคณะตำบลปิล็อก เจ้าอาวาสวัดนพเก้าทายิการาม ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระครูกิตติกาญจนคุณ แล้วก็พระครูปลัดปรีชา จิรนาโค, ดร. เจ้าอาวาสวัดวังปะโท่ ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระครูสุตกาญจนวัฒน์ ส่วนในเรื่องที่พระราชทานเลื่อนนั้น ต้องรออีกบัญชีหนึ่ง

    เพียงแต่ว่าดูพระราชทินนามแล้ว ปีนี้มีแปลก ๆ ก็คือโดยปกติพระครูสุต จะต้องเป็นเปรียญธรรม ๔ ประโยค ก็คือถ้าเป็นเปรียญธรรม ๓ ประโยคจะเป็นพระครูปริยัติ ๔ ประโยคเป็นพระครูสุต ๕ ประโยคเป็นพระครูสิริ ๖ ประโยคเป็นพระครูศรี ก็คือพอเห็นพระราชทินนาม จะรู้เลยว่าเราเรียนบาลีมากี่ประโยค

    ตั้งแต่ประโยค ๗ ขึ้นไป ไม่สามารถที่จะแต่งตั้งเป็นพระครูได้ เขาบอกว่า "ต่ำเกินไป" ก็คือประโยคเปรียญเอกแล้วตั้งให้เป็นพระครู รู้สึกว่าน้อยไป แต่ถ้าประโยค ๗ ไปขอพระราชาคณะหรือที่เรียกกันว่าเจ้าคุณ เขาก็ไม่ให้อีก เขาบอกว่า "สูงเกินไป" ก็คือสิ่งที่ขอสูงเกินภูมิรู้ของคุณหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เขาถึงได้มีคำกล่าวกันในวงการศึกษาคณะสงฆ์ว่า "ประโยค ๗ เป็นประโยคยากเข็ญ ขอพระครูเขาก็ว่าต่ำไป ขอเจ้าคุณเขาก็ว่าสูงไป ไม่ต้องไปไหนหรอก อยู่แค่ประโยค ๗ นั่นแหละ..!"

    ตัวอย่างก็คือพระสุธีธรรมนาท หรือหลวงพ่อพระมหาปราโมทย์ ปโมทิโต ป.ธ.๗ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระมหาปราโมทย์ ป.ธ.๗ ยันเกษียณ จนกระทั่งพระเดชพระคุณพระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม ป.ธ.๙) ตอนนั้นเป็นเจ้าคณะภาค ๑๕ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ขอต่อทางมหาเถรสมาคมว่า ท่านได้รับหน้าที่การคณะสงฆ์มานานขนาดนี้แล้ว จะไม่ได้อะไรเลยก็ใช่ที่ ถึงได้มีการขอพระราชทานตั้งท่านเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่พระสุธีธรรมนาท ก็ยังดีที่ไม่ติดประโยค ๗ ไปจนมรณภาพ..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในวงการคณะสงฆ์ของเรามีมาก เนื่องเพราะว่าต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น จึงจะพระราชทานตั้งหรือพระราชทานเลื่อนให้ ทางคณะสงฆ์ส่งรายชื่อพร้อมกับประวัติไป เป็นบัญชีที่ผ่านเฉพาะส่วนของคณะสงฆ์เท่านั้น ถ้ามีพระราชวินิจฉัยอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วจะทรงอนุโลมตาม ก็คือขอไปอย่างไรตั้งให้อย่างนั้น เพียงแต่ว่าปีนี้มีแปลก ๆ อยู่หน่อยหนึ่ง ก็คือดูแล้วว่าพระราชทินนามไม่ตรงกับภูมิรู้ของตน อย่างพระครูปลัดปรีชา จิรนาโค, ดร. ก็ถือว่าได้กำไร ประโยค ๓ แต่เป็นพระครูสุตกาญจนวัฒน์

    ในส่วนของเจ้าคุณก็มีตำแหน่งหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเป็นเจ้าคุณศรีอะไร น่าจะเป็นพระศรีสุธรรมมุนี สำหรับประโยค ๘ โดยเฉพาะ แต่ไปขึ้นด้วยคำว่าศรี ซึ่งเป็นสิทธิของเปรียญธรรม ๙ ประโยค เพราะฉะนั้น..ท่านเจ้าคุณบุญเทียม ญาณินฺโท วัดพิชยญาติการาม ซึ่งปัจจุบันเป็นพระราชาคณะชั้นราช ท่านเป็นพระศรีสุธรรมมุนี ถ้าคนที่ไม่รู้ก็จะคิดว่าท่านเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค แต่ความจริงแล้ว ท่านได้แค่ ๘ ประโยค..!

    สมัยก่อนพระราชทินนาม บรรดาเจ้าคุณต่าง ๆ มีตกทอดมา อย่างเช่นว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพนรัตน์ มีการกำหนดตายตัวเลยว่าเป็นฝ่ายคามวาสี หรืออรัญวาสี ฝ่ายคามวาสี ส่วนใหญ่ก็คือฝ่ายศึกษาเล่าเรียน ตำแหน่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นฝ่ายคามวาสี สมเด็จพระพนรัตน์เป็นฝ่ายอรัญวาสี คือฝ่ายวิปัสสนาธุระ เหล่านี้เป็นต้น

    แต่มาระยะหลัง มีการปรับเปลี่ยนกันไป เนื่องเพราะว่าบุคคลที่เหมาะสมจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะในตำแหน่งนั้น คุณสมบัติไม่ได้ตรง อย่างเช่นว่าเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ แต่รับตำแหน่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือว่าเป็นฝ่ายปริยัติ แต่ว่ารับตำแหน่งสมเด็จพระวันรัต ซึ่งก็มาจากสมเด็จพระพนรัตน์นั่นแหละ

    แล้วยังมีสมเด็จพระราชาคณะ ที่เขาเรียกว่าเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ซึ่งปัจจุบันนี้บางคนเรียกว่าชั้นพรหม ตำแหน่งเก่า ๆ ที่ไม่มีคำว่าพรหมมีอยู่มาก อย่างเช่นพระพุทธวรญาณ พระธรรมวโรดม พระมหาโพธิวงศาจารย์ เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น..ถ้าหากเห็นท่านไม่มีคำว่าพรหมนำหน้า แล้วไปคิดว่าท่านเป็นพระราชาคณะชั้นต่ำกว่านั้น ก็อาจจะ "โดนโบก" เอาได้..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    มีพระราชาคณะอยู่ตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพระราชาคณะเฉพาะของจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ไม่มีใครต้องการมาหลายสิบปีแล้ว คือตำแหน่งท่านเจ้าคุณพระนพีสีพิศาลคุณ ต้องบอกว่าตรง ๆ ว่าเชียงใหม่ นพีสี ก็คือ นว + อิสิ นว คือ ใหม่ อิสิ ก็คือ ฤๅษี ซึ่งหมายถึงเมืองเชียงใหม่ ที่เกิดจากการสร้างของฤๅษีวาสุเทพ ปรากฏว่าผู้ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระนพีสีพิศาลคุณ รูปแรกไม่นานก็มรณภาพ ตั้งรูปที่ ๒ ก็มรณภาพ ตั้งรูปที่ ๓ ก็มรณภาพ..! ตั้งแต่นั้นมา ถวายให้ใครก็ไม่มีใครเอา แปลกดีเหมือนกัน ตำแหน่งอื่นเห็นแย่งกันเหลือเกิน แต่นี่ขนาดให้เป็นเจ้าคุณดันไม่เอา..!

    แล้วบรรดาเจ้าคุณ หรือว่าพระครูสมัยก่อน บางตำแหน่งก็เป็นเฉพาะของจังหวัดนั้น ๆ อย่างของจังหวัดกาญจนบุรีของเรา ก็จะมีพระครูวิสุทธิรังษี พระครูสิงคิคุณธาดา พระครูจริยาภิรัต พระครูยติวัตรวิบูลย์ พระครูอดุลสมณกิจ พระครูนิวิฐสมาจาร และพระครูวัตตสารโสภณ พระครู ๗ ตำแหน่งนี้ แต่เดิมตั้งเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น

    ตอนหลังตำแหน่งพระครูวิสุทธิรังษีได้เพิ่มขึ้นไปเป็นสังฆปาโมกข์ ก็คือเป็นเจ้าคณะจังหวัด จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระวิสุทธิรังษี เป็นพระราชาคณะ แต่พอมาระยะหลัง ๆ คนที่สมควรจะได้รับแต่งตั้ง ไปอยู่จังหวัดอื่น ก็กลายเป็นว่าสมณศักดิ์นี้หลุดออกจากจังหวัดกาญจนบุรีไป

    ตำแหน่งพระวิสุทธิรังษีที่โด่งดังมาก ๆ ก็คือหลวงปู่เปลี่ยน อินฺทสโร อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง

    ตำแหน่งพระครูอดุลสมณกิจ ที่โด่งดังมาก ๆ ก็คือหลวงปู่ดี พุทฺธโชติ วัดเหนือ ซึ่งภายหลังก็คือท่านเจ้าคุณพระเทพมงคลรังษี ถือว่าเป็นสองเสือเหนือใต้ เขาบอกว่าถ้า "
    อยากเจ้าชู้ให้ไปวัดเหนือ อยากเป็นเสือให้ไปวัดใต้" เพราะว่าหลวงปู่ดีท่านถนัดเรื่องเมตตามหานิยม ส่วนหลวงปู่เปลี่ยนท่านถนัดเรื่องคงกระพันมหาอุด

    พระครูสิงคิคุณธาดาที่โด่งดังมาก ๆ หลวงปู่ม่วง จนฺทสโร วัดบ้านทวน เจ้าของแหวนพิรอด และพิรอดแขน ที่ถือว่าโด่งดังตีคู่มากับหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ปรมาจารย์ใหญ่เมืองกาญจนบุรีเลย
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ส่วนพระครูของจังหวัดอื่นที่เป็นจำเพาะของจังหวัดนั้น ก็คือพระครูที่รักษาพระปฐมเจดีย์ ก็คือตำแหน่งพระครูปุริมานุรักษ์ รักษาพระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันออก

    พระครูทักขิณานุกิจ ภายหลังเปลี่ยนเป็นทักษิณานุกิจ รักษาพระปฐมเจดีย์ด้านทิศใต้

    พระครูปัจฉิมทิศบริหาร รักษาพระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันตก และพระครูอุตตรการบดี รักษาพระปฐมเจดีย์ด้านทิศเหนือ

    พระครูอุตตรการบดีที่โด่งดังที่สุดคือหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก

    พระครูปุริมานุรักษ์ในอดีตดังสู้ปัจจุบันไม่ได้ พระครูปุริมานุรักษ์ปัจจุบันที่ดังที่สุด คือหลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อมที่มรณภาพไปไม่นาน

    ส่วนพระครูปัจฉิมทิศบริหารไม่มีใครเกินหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ไปได้

    ของท่านอื่น ๆ ความจริงท่านก็มีความสามารถอยู่ แต่ว่าเจอหลวงปู่ทา หลวงปู่นาค กลบจนมิดสนิทไปเลย..! ไปเกิดยุคสมัยเดียวกับท่านก็คงเหมือนอย่างกับพระจันทร์ไปแข่งกับพระอาทิตย์ อย่างไรก็สู้กันไม่ได้อยู่แล้ว

    แล้วก็ยังมีตำแหน่งพระครูผู้รักษาพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ก็คือพระครูกาแก้ว พระครูกาเดิม พระครูกาชาด และพระครูการาม เหล่านั้นเป็นต้น ถ้าเห็นขึ้นด้วยคำว่ากา ให้รู้เลยว่าอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช จะให้จังหวัดอื่นไม่ได้ แต่ระยะหลังนี้หลุดไปไกลเหมือนกัน
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เรื่องพวกนี้บางทีรับรู้เอาไว้ก็เป็นส่วนของความรู้รอบตัว สมณศักดิ์เปรียบเหมือน "ยศช้างขุนนางพระ" ถ้าหากว่าเราไม่ไปหวั่นไหวกับโลกธรรมที่เข้ามา ก็เหมือนกับตั้งยศให้กับช้าง ต่อให้ช้างเป็นคุณหลวง คุณพระ หรือว่าเจ้าคุณ ก็ยังคงกินอ้อยกินหญ้าเหมือนเดิม

    คำว่าขุนนางพระก็ลักษณะเดียวกัน คือได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรบ้าง เป็นพระราชาคณะบ้าง หลายต่อหลายรูปท่านก็คงเหมือนเดิมทุกอย่าง ปฏิปทาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายนอก ใครมาแสดงความยินดี ท่านก็ดีด้วย ใครไม่แสดงความยินดี ท่านก็เฉย ๆ

    จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องรักษาใจกันเอาเอง เวลาที่โลกธรรมเข้ามา ขึ้นอยู่กับว่าถ้าหวั่นไหวมากก็ทำใจยากหน่อย ถ้าหวั่นไหวน้อยก็จัดการง่ายหน่อย ส่วนที่ไม่หวั่นไหวได้เลย จะเป็นเรื่องที่วิเศษที่สุด แต่ก็หาได้ยากอย่างยิ่งเหมือนกัน

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วัอังคารที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...