ค่านิยมที่ผิดพลาดในพระอรหันต์ไทยยุคปัจจุบัน

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย ชาไม่รู้, 14 กันยายน 2009.

  1. ชาไม่รู้

    ชาไม่รู้ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    485
    ค่าพลัง:
    +878
    พระอรหันต์คือผู้รู้แจ้งเอาตัวหลุดพ้นทุกข์ได้ด้วย “ใบไม้ในกำมือ” แต่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า จึงไม่ได้มีสัพพัญญูญาณ ที่จะรู้ล่วงได้ทุกสิ่ง การรู้ของพระอรหันต์นั้น เป็นความรู้จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของความรู้ หากบุคคลยึดมั่นถือมั่นในความรู้นั้นเข้า จะผิดพลาดทันที เช่น การรู้ว่าทำกรรมโดยไม่มีเจตนา ก็ไม่เกิดมโนกรรม แต่หากยึดไปว่าก็ไม่เกิดกรรมเลย ก็กลายเป็นหลงผิดทันที เพราะมโนกรรมไม่มี แต่วจีกรรมและกายกรรมก็เกิดได้ เรื่องนี้ ได้เคยเกิดขึ้นแม้ในวงการวิทยาศาสตร์ กรณีไวรัส ที่กลายเป็นข้อถกเถียงของนักเคมีและนักชีววิทยาว่าไวรัสเป็นสารเคมีหรือสิ่งมีชีวิตมาแล้ว เพราะความที่รู้ไม่หมดนั่นเอง ดังนั้น แม้ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ หลายครั้งที่ท่านยังเคยเตือนพระอรหันตสาวกในเรื่องการใช้คำเทศนาซึ่งเสี่ยงต่อความเข้าใจผิดของผู้ฟังเช่น บางท่านเทศนาให้คนเข้าใจง่ายๆ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดว่าเหมือนกับการถอดเสื้อ ท่านก็เตือนไม่ให้ใช้วิธีอธิบายแบบนั้น ยังมีอีกมากมายหลายกรณี จนกระทั่งวันหนึ่งพระอรหันตสาวกไม่กล้าแสดงธรรม เพราะเกรงจะพูดผิดจากพระธรรมคำสมมุติบัญญัติที่พระพุทธองค์ได้ตั้งไว้ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าได้อุปมาเปรยประมาณว่าอย่าให้ยึดมั่นถือมั่นคำศัพท์ เพราะจะทำให้การเผยแพร่ธรรมล่าช้า ท่านใช้ประมาณว่า “สัญญาเป็นเครื่องถ่วงบุรุษ” แต่ในคำตรัสนั้นก็แฝงไปด้วยข้อคิดว่าควรพิจารณาในการใช้คำสมมุติบัญญัติเหล่านั้นด้วย บทความฉบับนี้ ขออนุญาตที่จะต้องกล่าวถึงค่านิยมที่ผิดที่เกิดขึ้นแล้วในหมู่สงฆ์ปัจจุบัน ดังนี้




    ๑) ค่านิยม “เจตนาคือตัวกรรม”

    คำว่า “เจตนาคือตัวกรรม” นั้นถูกต้องหรือไม่ คำตอบถือถูกต้อง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของกรรม พระอรหันต์ของไทยยุคปัจจุบันท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่าเจตนาคือตัวกรรม ทำให้ผู้คนคิดว่าถ้าทำโดยไม่มีเจตนาก็ไม่มีกรรม ไม่ต้องรับกรรมนะสิ จากนั้น ก็เกิดค่านิยม “ทำโดยไม่เจตนา” ขึ้นมามากมาย เพราะหลงเชื่อกันว่าทำโดยไม่ยึด จะไม่มีกรรม




    แท้แล้วคำว่า “เจตนาคือตัวกรรม” นั้นถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด เมื่อไปยึดความถูกต้องนี้เข้า ก็หลงทางทันที เหตุเพราะพระอรหันต์นั้น รู้แจ้งในสิ่งที่เป็นสัจธรรม ถูกต้องจริง แต่ไม่มีสัพพัญญูญาณ จึงรู้ไม่หมดทุกอย่าง คำว่า “เจตนาคือตัวกรรม” นั้นหมายถึง “มโนกรรม” คือ การกระทำใดๆ ก็ตาม หากจิตมีเจตนา ก็นับว่าเป็นมโนกรรมด้วย ทว่า พระพุทธเจ้ามีญาณหยั่งรู้มากกว่าพระอรหันต์ ท่านจึงรู้เรื่องกรรมดีกว่าและตรัสสอนไว้ครบองค์มากกว่า คือ กรรมประกอบด้วย มโนกรรม, วจีกรรม และกายกรรม แม้บุคคลไม่มีเจตนาทำกรรม มโนกรรมจึงไม่มี แต่กายกรรมและวจีกรรมนั้น ก็เกิดขึ้นได้ หนีไม่ได้ พ้นไม่ได้ ปัดความรับผิดชอบในกรรมไม่ได้ เพราะถ้าหาเจ้ากรรมนายเวร และลูกหนี้กรรมลูกหนี้เวรไม่พบ จะชำระสะสางกรรมนั้นแก่ใครเล่า เป็นไปไม่ได้ที่กรรมอันเกิดโดยไม่เจตนาจะไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบนั้น หาได้ไม่ เหมือนขับรถชนคนโดยไม่เจตนา ถามว่าต้องรับโทษไหม ก็ต้องรับโทษข้อหาขับรถชนคนโดยไม่เจตนาอยู่ดี นี่กฎมนุษย์ กฎธรรมชาติยิ่งเคร่งครัดกว่านี้ ดังนั้น กรรมจะไม่มีได้อย่างไรในผู้ไม่มีเจตนา ที่ไม่มีก็เฉพาะ “มโนกรรม” เท่านั้น เพราะไม่มีเจตนา มโนกรรมไม่มีแล้ว แต่กายกรรม และวจีกรรมก็เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยทางกายและวาจาเป็นสำคัญ แม้เหตุปัจจัยจากมโนกรรมไม่มี เจตนาไม่มีก็ตามที




    เช่นบางท่านสร้างวัด แล้วบอกว่าไม่มีเจตนาจะเอาบุญ ไม่โลภ ไม่อยากได้ แม้ไม่มีมโนกรรมอยู่ก็ตาม แต่กรรมในแบบอื่นก็เกิดผลแล้ว เพราะกรรมมีสามรูปแบบ กรรมทั้งสามแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องมีครบ มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็นับว่า “กรรม” เหมือนกัน แล้วจะหนีกรรมด้วยความไม่รับผิดชอบ บอกว่าไม่เจตนานั้นหามิได้เลย เทวดาบนสวรรค์บางองค์ไม่เจตนา ทำลูกไฟหล่นลงโลกมนุษย์ ถ้าว่าเทวดาไม่มีเจตนา ไม่ต้องรับกรรมดอกหรือ ไม่ใช่เลย มีมากมายนักที่เทวดาตกสวรรค์เพราะ “ไม่เจตนา” ในลักษณะนี้นั่นเอง







    ๒) ค่านิยม “ทำโดยไม่ยึดไม่มีกรรม”

    กรรมหนึ่งๆ ไม่สามารถรับได้ชาติเดียวหมด เหมือนหนี้ที่ต้องผ่อนเป็นทีละชาติไปทีละน้อย คนที่เคยฆ่าเขาไว้ หากต้องมารับกรรมถูกเขาฆ่าในชาติเดียวแล้ว ก็เสียชาติเกิด เกิดมาถูกฆ่าตายไม่ทันได้คิด ไม่ทันสำนึก แบบนั้น เทวดาเขาไม่สร้างระบบกัน เพราะเป็นระบบใจโหดไม่ให้โอกาสคน ระบบกรรม จึงมีเทวดาคุมให้เป็นการผ่อนชำระไปหลายชาติจนกว่าจะใช้หมดและระลึกได้สติว่ากรรมมีจริง ดุจดังโยนหินลงน้ำ คลื่นไม่ได้เกิดระลอกเดียวเป็นแน่แท้ ธรรมชาติของกรรมก็เป็นดังนั้น เกิดขึ้นหลายต่อหลายชาติเป็นระลอกคลื่น เมื่อเกิดชาติแรก บุคคลทำกรรมหนักอันประกอบด้วยกรรมทั้งองค์สาม คือ มโนกรรม, วจีกรรม และกายกรรม ไว้ เมื่อรับวิบากกรรมหลายชาติย่อมมีความสำนึกได้บ้าง และลดรอยกรรมที่เวียนซ้ำหลายๆ ชาตินั้นลง หากฆ่ากันไปฆ่ากันมาสลับกันเป็นคนฆ่าและคนถูกฆ่าบ่อยๆ ก็ต้องมีเบื่อหน่ายกรรมกันบ้าง ในที่สุด ชาติหนึ่งอาจละองค์กรรมได้บ้าง อาจเหลือเพียงวจีกรรม, กายกรรม เพราะเจตนาที่จะกระทำไม่มีแล้ว แต่ถามว่าหลังจากชาติที่ไม่มีเจตนาจะทำกรรม ทำไปโดยไม่มีเจตนานั้น ก็ไม่ต้องรับวิบากกรรมแล้วหรือ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะผลกรรมที่เคยทำไว้แต่ต้นแรกนั้น ยังใช้ไม่หมด ไม่ใช่เพราะกรรมในชาติที่ไม่เจตนาเป็นสำคัญดอกแต่เพราะกรรมทั้งอนุกรมนั้นไม่อาจรับวิบากและชดใช้ได้ชาติเดียว ส่งผลกรรมซ้ำรอยเกวียนมาอีกไม่รู้กี่ชาติ บางชาติ สำนึกแล้วไม่มีเจตนาแต่ยังเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุได้อีก นี่เพราะอะไร เพราะกรรมไม่ได้หมดได้เพียงชาติเดียว ค่อยๆ ลดทอนลงไปทีละน้อย และการสรุปว่าไม่มีเจตนาก็ไม่ต้องรับวิบากกรรมนั้น จึงผิดอย่างยิ่ง เพราะกรรมที่เกิดโดยไม่เจตนา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกรรมที่ต้องรับไปยาวนานหลายระลอกคลื่น หลายชาตินั่นเอง นี่คือ “ค่านิยม” ที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ในหมู่พระอรหันต์ไทย ทำให้ต่างทำบุญสร้างบารมีมาก เพราะคิดว่าไม่มีเจตนาก็ไม่ต้องรับกรรม ยิ่งมีลูกศิษย์ที่ได้ผลประโยชน์ร่วม ช่วยส่งเสริมให้หลงทางยิ่งขึ้นด้วยแล้ว เพราะพุทธพาณิชย์ที่หากินกับพระดังๆ พระอรหันต์จึงตกเป็นเหยื่อโดยรู้ไม่เท่าทัน




    ค่านิยมที่ถูกสร้างเสริมให้เชื่อกันยิ่งๆ ขึ้นไปอีกคือ “การทำโดยไม่ยึดก็ไม่มีกรรม” คิดเอาว่าพระอรหันต์ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะทำอะไรก็ไม่ต้องรับกรรมทั้งสิ้น เพราะเหนือสมมุติ ไม่ยึดอะไรเลย คิดแบนี้คิดว่าคิดถูก แต่แท้แล้วเป็น “มิจฉาทิฐิ” ลองดูก็ได้ พระอรหันต์ฆ่าคนตายสักคนดู คิดว่าทางการจะไม่จับสึกเอาเข้าคุกก็ให้รู้ไป โดนแน่นอนหนีไม่ได้ นี่จะอ้างได้อย่างไรว่าพระอรหันต์ทำกรรมจิตไม่ยึดก็ไม่ต้องรับกรรมนั้น ผิดอย่างยิ่ง เพราะกรรมนั้น แม้พระพุทธเจ้ายังหนีไม่พ้น ไม่มีใครใหญ่เกินกฎแห่งกรรม พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้คนบรรลุธรรมแล้วหยิ่งผยองคะนองตนว่ายิ่งใหญ่สูงส่งเกินใคร แล้วอยู่ด้วยความประมาท คิดว่าบรรลุธรรมแล้วก็ไม่ต้องกลัวอะไร ไม่ต้องกลัวกรรมด้วย เพราะจิตไม่ยึดแล้ว การกระทำทุกอย่างกลายเป็นไม่มีกรรมไปหมด นั้นเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างยิ่ง แท้แล้วพระพุทธเจ้าสอนให้พระสาวกไม่ประมาท แม้บรรลุธรรมแล้ว พระอรหันต์ก็ไม่ต่างจากสัตว์อื่นทุกตน มีขันธ์ทั้งห้า มีกรรมเป็นเครื่องก่อวิบากเหมือนกัน และยังต้องอยู่ในสังคมสมมุติของโลก ต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ไม่สนใจใคร อยู่ในป่าไปทำอะไรก็ได้ เพราะมีปัญญามากพอรองจากพระพุทธเจ้าเอาตัวเองรอดไปตัวเดียวโดดๆ ได้ ไม่ต้องพึ่งศาสดาหรือใคร ก็หาไม่ ดังนั้น ท่านจึงได้ให้แนวทางที่ปลอดภัยแก่พระสาวกไว้เตือนใจ คือ ศีล ๒๒๗ ข้อ ศีลที่ไม่เพียงช่วยให้ไม่ตกนรก แต่ช่วยถึงขั้นไม่เกิดกรรมใหม่ ไม่เกิดชาติภพใหม่ และได้นิพพานอย่างแท้จริงด้วย




    โปรดจำไว้ว่าหากเราจะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า อย่าได้ทำตัวเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเราไม่มีปัญญาเทียบเท่าพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เอาตัวเองรอดได้ด้วยตนเองได้เลย เรามีพระธรรมของพระพุทธเจ้าถึงบรรลุธรรมได้ และต้องอาศัยพระวินัยของพระองค์เพื่อประคองตนให้พ้นภัยทุกประการในช่วงที่ทรงขันธ์ทั้งห้าอยู่บนโลก ก่อนเข้าสู่ช่วงทำการดับขันธปรินิพพานไป อย่าได้หยิ่งผยองคะนองตน คิดหลงตนว่าเหนือใคร ด้วยเหตุว่าบรรลุธรรมแล้ว การบรรลุธรรมนั้นผู้ทำได้มีมากมาย ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกว่าสูงส่งอะไรเลย เป็นเพียงเรื่องธรรมดา ที่ควรคู่กับการ “เจียมตน” ในฐานะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า



    ๓) ค่านิยม “ทำตัวเป็นพระอรหันตสาวก”

    ค่านิยมนี้ทำให้ไม่เข้าใจตัวเอง ทั้งที่ใจลึกๆ ของตัวเองไม่อยากเป็นแค่สาวก เห็นบริวารลำบากก็อดยื่นมือช่วยไม่ได้ แม้ต้องผิดธรรมวินัยก็ยังยอม นี่เป็นวิสัยพระโพธิสัตว์อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ ยังทำตัวให้เหมือนพระอรหันสาวกต่อไป ไม่มีใครอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ลูกหลานชาวพุทธฟัง นานวันเข้า ผู้คนย่อมเข้าใจผิดไปว่าการกระทำแบบนี้ก็นิพพานได้ เป็นพระอรหันตสาวกก็รับเงินทองได้โดยไม่ต้องกลัวกรรมเสียอย่างนั้น แท้จริงแล้วยุคสมัยเปลี่ยนไปมาก พระอรหันต์เหล่านี้ ไม่ใช่อรหันตสาวก เพราะไม่ยอมอยู่ในธรรมวินัยย่อมไม่ใช่ผู้มีวิสัยเป็นสาวก แต่เพราะเมตตาช่วยเหลือบริวารจนยอมผิดศีลนั้นจึงมีวิสัยเป็นโพธิสัตว์ เป็นพระอรหันตโพธิสัตว์ ไม่ใช่อรหันตสาวก แต่ท่านเหล่านี้ก็ยังทำตนให้คนเข้าใจผิดโดยไม่มีใครอธิบายว่านี่คืออะไร เกิดการยอมรับแนวทางผ่อนปรนศีลโดยทางปฏิบัติ และเข้าใจผิดไปว่าผ่อนปรนศีลอย่างนั้นก็นิพพานได้ ทำให้ความเป็น “อรหันตสาวก” ที่แท้จริงหายไปจากความเข้าใจของคนในยุคปัจจุบัน ไม่มีใครนึกออกว่าพระอรหันตสาวกจริงๆ จะมีลักษณะและจริยาวัตรแบบใด เมื่อคิดปรารถนานิพพานก็นึกถึงแนวทางและจริยาวัตรของพระอรหันตโพธิสัตว์เหล่านี้ และผ่อนปรนศีลตามๆ กันมา เช่น รับเงินทองไปสร้างวัดให้พระลูกวัดของตนได้มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งกลายเป็นบุญใหญ่ ไม่ได้นิพพานในที่สุด นี่คือ กระบวนการทำลายพระอรหันตสาวก ด้วยการแทนที่ด้วยอรหันตโพธิสัตว์ สุดท้ายจะไม่มีอรหันสาวกเหลือเลย




    การที่พระสงฆ์จะเลือกสายมหายานหรือเถรวาทนั้นไม่ผิด ได้ทั้งสองสาย จะดำเนินชีวิตพระในแบบพระอรหันตสาวก หรือพระอรหันตโพธิสัตว์ก็ได้ ทั้งสองแบบล้วนมีคุณมีความดีทั้งสิ้น ตามแต่จริตตนที่ต้องการ แต่จำต้องทำให้สังคมเข้าใจไม่ผิด เพราะความเข้าใจผิดบางประการที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่กลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลานได้




    หากพระสงฆ์รูปใดจะเป็นมหายาน หรือผ่อนปรนศีลเพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้ได้นิพพานไปก่อน ตนยังไม่ขอนิพพานนั้น นับว่าเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง และหลายท่านยังได้รับการยอมรับมากกว่าพระอรหันตสาวกเสียอีก เพราะพระโพธิสัตว์นั้น เป็นผู้บำเพ็ญบารมี มีบารมีมาก การที่พระอรหันตสาวกจะยอมรับนับถือก็สามารถทำได้ ขอเพียงพระสงฆ์รูปนั้น เป็นผู้ “ตรงไปตรงมาเปิดเผยกล้าหาญ” อย่าเกรงกลัวต่อสังคมที่จะมองตนว่าแปลกไปจากความคาดหวังของพวกเขา พวกเขาคาดหวังพระอรหันตสาวก แต่ท่านไม่ได้เดินตามหลักอรหันตสาวกก็ไม่ต้องไปสนใจ หรือกังวลว่าเขาจะไม่นับถือเรา เกรงว่าจะไม่ได้ลาภสักการะก็หาไม่ อย่าได้คิดอย่างนั้น จงกล้าหาญที่จะบอกแก่ทุกคนอย่างชัดเจนว่า “ตนไม่เอานิพพานจะช่วยสัตว์ไปก่อน จึงยอมผ่อนปรนศีลลง” ดังเช่น ท่านพุทธอิสระ ที่กล้าเปิดเผยแจ้งชัด แท้จริงแล้วท่านก็บรรลุอรหันต์เช่นกัน แต่เป็นการบรรลุแบบ “อรหันตโพธิสัตว์” ไม่ใช่ “อรหันตสาวก” เช่นเดียวกับ ท่านพุทธทาส เป็นต้น




    การทำให้สาสนิกชนเข้าใจ เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะหากยังมัวนิ่งเฉย นอนใจ ไม่เข้ามาแสดงความเข้าใจให้ตรงกันแล้ว แนวทางของอรหันตสาวก จะถูกกลืนด้วยแนวทางของอรหันตโพธิสัตว์ไปหมด จนผู้คนแยกแยะไม่ออกเลย ว่าในพระพุทธศาสนายังมีแนวทางปฏิบัติเพื่อนิพพาน ได้นิพพานแน่นอน แบบอรหันตสาวกอีก นั่นเท่ากับเป็นการทำลายพุทธศาสนาครึ่งหนึ่งทีเดียว กรรมจากการทำลายพระพุทธศาสนาด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ แม้ไม่มีเจตนา ไม่มีมโนกรรม แต่อย่าลืมว่ากายกรรม คือ การกระทำตัวเอง นั้นก็จัดเป็นกรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน ต้องร่วมกันชดใช้ด้วย ผลกรรมนี้มากพอที่จะ “ห้ามนิพพาน” ได้ทีเดียว แม้จะบรรลุอรหันต์แล้วก็ไม่อาจได้นิพพาน ต้องจุติเป็นพระโพธิสัตว์ช่วยงานพุทธศาสนาแก้กรรมที่ตนได้กระทำไว้ต่อไป ผู้เขียนไม่ได้ผลประโยชน์อันใดกับการเขียนบทความที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบนี้ เพราะผู้คนมากมายล้วนมีศรัทธานับถือพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น แต่การศรัทธานับถืออย่างไม่เข้าใจแท้จริงสุดท้ายจะกลายเป็นการ “งมงาย” คือ ศรัทธาที่ห่อหุ้มด้วยความไม่รู้จริง และทำให้หลงทางในที่สุด
     
  2. lamb of god

    lamb of god เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กันยายน 2009
    โพสต์:
    543
    ค่าพลัง:
    +436
    อาจเป็นไปได้....ตราบใดทีเรายังเป็นผู้ไม่รู้ก็ต้องศึกษาและขัดเกลาต่อไป
     
  3. wittana

    wittana สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    15
    ค่าพลัง:
    +6
    ผู้เขียนไม่ได้ผลประโยชน์อันใดกับการเขียนบทความที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบนี้ เพราะผู้คนมากมายล้วนมีศรัทธานับถือพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น แต่การศรัทธานับถืออย่างไม่เข้าใจแท้จริงสุดท้ายจะกลายเป็นการ “งมงาย” คือ ศรัทธาที่ห่อหุ้มด้วยความไม่รู้จริง และทำให้หลงทางในที่สุด
    ขอบพระคุณ การชี้แนะแต่ลูกศิษย์ของพระอรหันต์สาวก แต่ดูเหมือนผู้เขียนจะมีปัญญาเหนือ ครู บา อาจารย์ อรหันต์เจ้านะครับ ขอโทษสำหรับความเขลาของเรา
     
  4. neung48

    neung48 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    465
    ค่าพลัง:
    +457
    มุมมองจากคอนแทกเลนส์ย่อมไม่เหมือนมุมมองจากแว่นตา
    มุมมองของอรหันต์ย่อมไม่ใช่มุมมองของพุทธเจ้า
     
  5. เกลี่ยง

    เกลี่ยง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 มกราคม 2009
    โพสต์:
    233
    ค่าพลัง:
    +428
    โมทนา สาธุ
    เราคนธรรมดา ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าพระสงฆ์องค์ใดเป็นอรหันต์บ้าง เพราะไม่ใช่วิสัยของเรา มีพระพุทธเจ้าที่สามารถรู้แจ้งได้ว่าใครที่เป็นอรหันต์
    หลวงพ่อท่านไหนจะไปถึงขั้นไหนก็แล้วแต่ เพียงปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบก็เป็นแบบอย่างให้เราได้เลื่อมใสและปฏิบัติตาม
     

แชร์หน้านี้

Loading...