การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 10 เมษายน 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    มหันตภัยโลกร้อน ในอุ้งมือ "มนุษย์"

    โลกป่วย...ด้วยมือเรา ? เปลวไฟสีส้มแดงเผาไหม้โลมเลียกิ่ง ก้าน ใบไม้แห้ง และสรรพชีวิตในป่า ต่างวิ่งหนีเปลวไฟที่เผารวงรังเรือนนอนหายไปในชั่วพริบตา...ในฐานะคนเมืองอาจจะมีความเชื่อเดิมๆ ที่เคยร่ำเรียนมาสมัยเด็กๆ ว่าไฟป่าในหน้าแล้งเกิดจากต้นไม้เสียดสีกันจนเกิดประกายไฟและลุกลามเป็นไฟไหม้ป่า

    แต่ความจริงในวันที่ป่าไม้เมืองไทยเหลือน้อยเต็มที อาจต้องปิดตำราเรียนลืมความเชื่อเดิมๆ ไปได้เลย !

    "หลายคนรู้มาว่าไฟป่าเกิดจากต้นไม้เสียดสีกันในช่วงอากาศแห้งแล้ง อยากให้เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ เพราะไฟป่าลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ 99 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากมนุษย์เข้าไปหาของป่า" ดร.จิรพล สินธุนาวา นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยมหิดล และอุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดประเด็น

    การหาของป่าที่มาของการเกิดไฟป่า โดยเฉพาะต้นผักหวานป่าจะแตกยอดใหม่เมื่อเจอความร้อน และตราบใดที่คนเมืองอยากกินผักหวาน ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 180 บาท ชาวบ้านก็จะเข้าป่าแสวงหาต้นผักหวานและจุดไฟเผา แล้วรอคอยการแตกยอดใหม่ เช่นเดียวกับการล่าสัตว์ป่าก็ต้องจุดไฟไล่ให้สัตว์ออกมาจากกำบังไพร

    การที่คนเมืองอยากกินผักหวานจนทำให้ชาวบ้านเผาป่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสรรพชีวิตในป่าเท่านั้น แต่ฝุ่นควันยังทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ดังภาพถ่ายดาวเทียมที่ปรากฏแถบสีชมพูเหนือพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.บุรีรัมย์ อันเป็นผลมาจากมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปกคลุมอยู่ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" หรือ "ผีเสื้อขยับปีก" ตามคำนิยมของทฤษฎีความโกลาหลที่ถูกนำเป็นทฤษฎีคาดเดาว่า โลกกำลังเคลื่อนตัวสู่วิกฤติที่รุนแรงนั่นเอง

    ใต้ถุนเรือนอเนกประสงค์หรือสโมสรรวมตะวัน ที่แสนโล่งโปร่งสบาย มีสายลมเย็นๆ จากพัดลมเพดานบนมุมเสา คอยขับไล่ลมแรกแห่งฤดูร้อนที่โอบบังด้วยภูเขา ณ ศูนย์รวมตะวัน ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ถูกปรับเป็นห้องเรียนสอนหลักสูตรเร่งรัดว่าด้วยวิชา "โลกร้อน...มหันตภัยแห่งศตวรรษ" นานเกือบ 2 ชั่วโมง โดยการสนับสนุนของการไฟฟ้านครหลวง ผู้เปรียบตัวเองเป็นเสมือนต้นธารสำคัญนำไปสู่สภาวะโลกร้อน โดยมีผู้บริโภคพลังงานทุกระดับ ที่ใช้พลังงานอย่างไม่รู้คุณค่า เป็นผู้เร่งปฏิกิริยานำไปสู่สภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

    นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ในชุดผ้าฝ้ายสีเทาอ่อน มือขวากำกิ่งไผ่แทนอุปกรณ์แสงเลเซอร์ ชี้ไปยังภาพบนจอโปรเจกเตอร์ ปรากฏรูปดาวเคราะห์สีน้ำเงินใบสวย อธิบายถึงสภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

    หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม...พลังงานจากใต้พิภพที่ไม่สามารถทดแทนได้ถูกนำใช้ปีแล้วปีเล่า ก่อให้เกิดฝุ่นควัน โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษอื่นๆ ลอยสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงจากพื้นโลกไปเพียง 13-15 กิโลเมตร

    ก่อนยุคอุตสาหกรรมช่วงปี พ.ศ.1543 ถึง พ.ศ.2343 พบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ 278 ส่วนในล้านส่วน ต่อมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเฟื่องฟูปี พ.ศ. 2501 เพิ่มขึ้นเป็น 315 ส่วนในล้านส่วน และในปี พ.ศ.2548 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 379 ส่วนในล้านส่วน อันเป็นผลพวงมาจากกิจกรรมการบริโภคของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เรียกโดยรวมว่า "ก๊าซเรือนกระจก"

    ในอดีตก๊าซกลุ่มนี้มีประโยชน์ต่อโลก เพราะช่วยดูดซับรังสีอินฟาเรด ซึ่งเกิดจากแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ตกกระทบมายังพื้นโลก ทำให้โลกอบอุ่น แต่ปัจจุบันชั้นบรรยากาศโลกมีการสะสมก๊าซกลุ่มนี้มากเกินไป ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก แถมยังทำให้สภาพอากาศแปรปรวนผิดฤดูกาลอีกด้วย

    "น้ำแข็งขนาดมหึมาหลายล้านลูกบาศก์กิโลเมตรจากขั้วโลกเหนือ กำลังจะละลายจากสภาวะโลกร้อน ถ้าน้ำแข็งขั้วโลกใต้ซีกตะวันตกละลาย น้ำทะเลจะสูง 5 เมตร ก้อนน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายน้ำจะสูง 5.5 เมตร ขณะที่ ถ้าน้ำแข็งจากขั้วโลกใต้ฝั่งตะวันออกละลายจะทำให้น้ำสูง 70 เมตร เราก็จะไม่มีที่อยู่แล้วนะ กรุงเทพฯ คงจมอยู่ใต้น้ำ" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ไปยังภาพน้ำแข็งขนาดมหึมาที่กำลังละลาย

    การเผาผลาญวัสดุพลังงานชนิดต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่มีการตรึงคาร์บอนไว้เป็นล้านๆ ปี บวกกับการตัดต้นไม้ แผ้วถางป่า ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนพืชพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ไม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทันท่วงที

    ประกอบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรม เช่น ก๊าซมีเทน หรือการสูญเสียก๊าซมีเทนจากพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเท่านั้น ยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตต่ออากาศที่แปรปรวน เช่น การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่และลานีญ่า ที่ซ้ำเติมความป่วยไข้ของโลกสีน้ำเงินใบนี้

    ฤดูร้อนปีนี้...เราอาจสัมผัสถึงคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพราะประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเอลนีโญ่นั่นเอง !!!

    เอลนีโญ่ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างการหมุนเวียนของกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทร ทั้งบนพื้นผิวและใต้มหาสมุทร ถ้าปีใดเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ทำให้เกิดฝนตกหนักทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้เมื่อไร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียตอนเหนือก็จะเกิดความแห้งแล้ง และนำไปสู่การเกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย

    ส่วนปรากฏการณ์ ลานีญ่า จะมีลักษณะตรงข้ามกับเอลนีโญ่ คือ การทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม อย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศ

    ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมและโคลนถล่มที่ อ.สูงเม่น จ.แพร่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ถูกนำมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อนและผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า

    แถมท้ายปลายชั่วโมงมีการพูดถึงเรื่อง ชั้นโอโซน หรือชั้นบรรยากาศที่ช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้ตกกระทบมายังพื้นโลกมากเกินไป กำลังจะหมดพลังต้านทานรังสีก่อมะเร็งผิวหนังได้อีกต่อไป

    "โอโซนบริเวณขั้วโลกใต้ กำลังเกิดบาดแผลหรือรูโหว่ขนาดเท่าประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และอเมริการวมกัน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตอันร้อนแรงเล็ดลอดเข้ามาทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะการเกิดมะเร็งที่ผิวหนัง สาวไทยต้องตื่นเช้ากว่าเดิม เพื่อปั้นผมทรงกระบังป้องกันรังสียูวี และสารพัดไวท์เทนนิ่งจะขายดี" ดร.จิรพล แทรกมุกตลก

    ส่วนที่มาของการทำลายโอโซนนั้น นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างง่ายๆ และใกล้ตัวว่า แค่การขับรถยนต์ผ่านลูกระนาดก็อาจทำให้ท่อน้ำยาแอร์รั่วโดยไม่รู้ตัว รถคันนี้ก็จะกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยสารซีเอฟซีเคลื่อนที่ ซึ่งในเมืองไทยมีรถยนต์ลักษณะนี้อยู่เป็นแสนคัน และการขับรถประมาทจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วตำรวจนำสีสเปรย์มาพ่นลงบนถนน ก็มีส่วนในการปล่อยสารซีเอฟซีเช่นกัน

    "ซีเอฟซี" หรือสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนเป็นสารสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทำความเย็น อุตสาหกรรมผลิตเม็ดโฟม โดยสารซีเอฟซีใช้เวลาเดินทาง 15 ปี สู่ชั้นบรรยากาศที่สูงจากพื้นโลก 45 กิโลเมตร ระหว่างเดินทางสารซีเอฟซีจะไม่แตกตัวง่าย แต่ถ้าเจอแสงอัลตราไวโอเลตที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูง จะทำให้สารซีเอฟซีแตกตัวเป็นสารคลอรีน ศัตรูตัวฉกาจของโอโซนนั่นเอง !!!

    หมดชั่วโมงเรียนภาคทฤษฎีเรื่องโลกร้อนแล้ว...การเรียนรู้ภาคปฏิบัติเริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่ายแก่ๆ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสะด่อง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ฝั่งตรงข้ามศูนย์รวมตะวัน ด้วยการติดตามดูร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคในเมืองส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในป่าอย่างไรบ้าง ?

    - คนเมืองต้องการใช้ไฟฟ้ามากเท่าที่ต้องการ พื้นที่ป่ารอบๆ สายส่งกระแสไฟฟ้าจะถูกทำลายมากขึ้น

    - คนเมืองอยากกินผักหวานป่า เกิดไฟป่ามากขึ้น

    - คนเมืองอยากกินเนื้อสัตว์ป่า หรืออยากเลี้ยงลูกสัตว์ป่า ต้องฆ่าสัตว์ที่ถือเป็นนักปลูกป่าฝีมือดีมากขึ้น

    - คนเมืองอยากได้พรรณไม้สวยงามและแปลกตาจากพงไพร ทำให้มีการลักลอบนำพรรณไม้ออกจากป่ามากขึ้น ทั้งที่พืชพรรณเหล่านั้นอาจมีความสำคัญในแง่อาหารและยารักษาโรคของสัตว์ป่า

    นั่นเป็นเพียงบทสรุปคร่าวๆ ของการเดินป่าเขาสลักพระเพียง 1 กิโลเมตร ซึ่งพบร่องรอยการบริโภคของสังคมเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในป่าได้ไม่ยากนัก เป็นเสาไฟฟ้าแรงสูงยืนตระหง่านอยู่ตรงหน้าไล่เรียงเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตา แล้วถ้านับรวมผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศไทย กำลังถูกลัทธิบริโภคนิยมจากสังคมเมืองรุมโทรมผืนป่าบริสุทธิ์อยู่ทุกวี่วัน ผลกระทบจากความบอบช้ำของธรรมชาติจะตกอยู่กับใคร ?

    แล้วสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ "ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน" และจุดเล็กๆ บนโลกที่เรียกว่า "ประเทศไทย" จะเป็นอย่างไร ถ้าคนยังไม่เข้าใจว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างเป็นพลวัต ดั่งทฤษฎี เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว !!!

    ทีมข่าวรายงานพิเศษ : เรื่อง

    ศูนย์ภาพเนชั่น-อินเทอร์เน็ต

    ---------------------

    10 สัญญาณโลกร้อน

    คลื่นความร้อน : เมื่อ 2-3 ปีก่อน เกิดคลื่นความร้อนที่ประเทศอินเดีย คร่าชีวิตผู้คนประมาณ 2,000 คน ส่วนในประเทศยุโรปถูกคลื่นความร้อนสังหารคนเมืองหนาว ที่ปรับตัวไม่ทันไปกว่า 2 หมื่นคน เพราะในยุโรปไม่นิยมติดตั้งเครื่องทำความเย็น มีแต่เครื่องทำความร้อน เมื่อเจอสภาพอากาศร้อนจึงทำอะไรไม่ถูก ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ในโรงพยาบาลและผู้มีรายได้ต่ำ

    น้ำทะเลขึ้นสูง : หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหา และผลกระทบจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลขึ้นสูง น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

    น้ำแข็งยอดภูเขาสูงละลาย : ขณะนี้ น้ำแข็งที่ปกคลุมยอดภูเขาสูงกำลังละลาย โดยเฉพาะที่ยอดเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล และยอดเขาฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

    น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้แตกตัว : สภาพอากาศของโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกแตกตัวลอยอยู่ในทะเล ก่อนจะจมสู่ก้นทะเล มีผลกระทบต่อน้ำเค็มและการแพร่ระบาดของสาหร่ายในทะเล

    โรคระบาด : เกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียในเขตหนาว อย่างกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น รวมถึงโรคนิปาห์และโรคไข้หวัดนก เป็นต้น

    ฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็วกว่ากำหนด : ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์ป่า ที่ต้องอาศัยช่วงฤดูใบไม้ผลิเพื่อการเจริญเติบโต จะปรับตัวไม่ทันและสูญพันธุ์ไปในที่สุด

    พืชและสัตว์เคลื่อนตัวไปทางเหนือ : หลายพื้นที่ทางตอนเหนือจะพบพืชและแมลงที่ไม่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน เริ่มปรับตัวและมาอยู่อาศัยมากขึ้น เพราะพื้นที่ที่เคยหนาวเย็นเริ่มมีความอบอุ่นมากขึ้น

    ปะการังฟอกขาว : นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่า เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่-ลานีญ่า แต่อีกปัจจัยหนึ่งเกิดจากกรดในน้ำทะเลที่เป็นผลมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศนั่นเอง

    น้ำท่วมและพายุหิมะ : ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ที่มีความรุนแรง เช่น พายุเฮอร์ริเคน ฝนตกหนัก น้ำท่วม ดินถล่ม และพายุหิมะ

    ภัยแล้งและไฟป่า : ผลพวงจากสภาพอากาศโลกมีความชื้นน้อย ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งไปทั่วทุกหัวระแหง และนำไปสู่การแพร่ขยายของไฟป่าอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะป้องกันได้

    http://www.parliament.go.th
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    เมื่อธารน้ำแข็งละลาย


    ธารน้ำแข็ง (glacier) คือแม่น้ำที่น้ำเป็นน้ำแข็งและ “ไหล” จากยอดเขาสูงผ่านหุบเหว นำหิมะ น้ำและน้ำแข็งสู่พื้นที่ต่ำกว่า โดยอาศัยอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของโลก ตามปกติธารน้ำแข็งจะสลายโดยการระเหย และละลายของน้ำแข็ง ถ้ากระบวนการระเหยของธารน้ำแข็งมีปริมาณที่มากพอๆ กับการจับตัวแข็งของน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งนั้นก็อยู่ในสภาวะสมดุล คือธารจะเลื่อนไหลลงมาได้เล็กน้อย หรือถดถอยกลับขึ้นไปได้เล็กน้อยเช่นกัน แต่ถ้าธารอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล การคืบคลานของน้ำแข็งก็จะเกิดตลอดเวลา จนธารน้ำแข็งคืบคลานถึงน้ำทะเล การสัมผัสกับน้ำทะเลจะทำให้แผงน้ำแข็งแตกตัว และก้อนน้ำแข็งที่แตกแยกจากธารน้ำแข็งก็จะลอยละล่องไปในทะเลเป็นภูเขาน้ำแข็งต่อไป อนึ่งน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งตามปกติ ผู้คนมักเชื่อว่าเป็นน้ำจืดที่บริสุทธิ์ แต่งานวิจัยของ Gerald Kuzyk ที่ได้กระทำไปเมื่อ 5 ปีก่อนนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า น้ำแข็งที่ละลายเป็นน้ำจืดจริง แต่ไม่บริสุทธิ์กว่าที่ควร ถึงกระนั้นน้ำจืดดังกล่าวก็มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำทะเล ดังนั้น มันจึงลอยเหนือน้ำทะเลเป็นบริเวณสถานอาศัยของฝูงปลาโลมา และแมวน้ำต่อไป
    เหตุการณ์ละลายของธารน้ำแข็ง จึงทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และมีผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปร่างฝั่งทะเลของโลกด้วย
    ถึงแม้โลกได้ผ่านยุค Pleistocene เมื่อ 14,000 ปีก่อนแล้วก็ตาม แต่ขณะนี้บริเวณยอดเขาสูงทุกยอดของโลกก็ยังมีธารน้ำแข็งมากมาย ทั้งใน Alaska แคนาดาและขั้วโลก หลักฐานทางธรณีวิทยาเท่าที่ปรากฏได้แสดงให้เห็นว่า ในระยะเวลา 200 ปีที่ผ่านมานี้ ธารน้ำแข็งทั่วโลกได้ละลายเช่น ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ได้ลดปริมาตรลงโดยเฉลี่ยแล้วถึง 30% และเมื่อโลกกำลังร้อนขึ้นๆ ทุกปี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องธารน้ำแข็งของโลกจึงเชื่อว่า อัตราการละลายของธารน้ำแข็งก็จะเพิ่มทุกปีด้วย
    ตามปกติเวลาธารน้ำแข็งละลายจะไม่มีใครใดสนใจ เพราะการละลายจะเป็นไปทีละน้อยๆ จนแทบไม่มีใครสังเกตเห็น แต่ในปี พ.ศ. 2540 ในขณะที่ Gerald Kuzyk กำลังเดินสำรวจยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม ในแถบ Yukon ของแคนาดา เขาได้กลิ่นมูลของกวาง caribou เพราะเหตุว่าในดินแดนแถบนั้น ไม่มีใครเคยเห็นกวางพันธุ์นี้มานานเป็นศตวรรษแล้ว Kuzyk จึงเดินตามกลิ่นและได้พบบริเวณที่มีมูลกวางพันธุ์ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร การสำรวจสถานที่ใกล้เคียงในเวลาต่อมา ได้ทำให้ Kuzyk พบซากของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก หนู หอกและศรที่มนุษย์ในสมัยโบราณใช้การวัดอายุของซากสัตว์ และอุปกรณ์เหล่านี้โดยเทคนิคคาร์บอน-14 แสดงให้ Kuzyk รู้ว่า วัตถุบางชิ้นมีอายุมากถึง 8,300 ปี
    ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า การละเลยของธารน้ำแข็งได้เปิดเผยชีวิตโบราณของสัตว์ พืช อารยธรรมของมนุษย์ในอดีต สภาพอากาศและพันธุกรรมของชีวิตในอดีตให้โลกเห็น เพราะเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ติดอยู่บนซากเหล่านั้น มี DNA ที่ยังคงมีสภาพดีอยู่ และเมื่อเรารู้อยู่แก่ใจว่าบนโลกนี้ เราจะหาซากของสิ่งมีชีวิตที่มีอายุ 8,000-10,000 ปี ได้ยาก ดังนั้น การพบซากวัตถุที่มีอายุมากจึงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับวงการวิชาการ และนี่ถือเป็นผลดีประการหนึ่งของการมีปรากฏการณ์เรือนกระจกและเพราะเหตุว่าวัตถุที่พบในบริเวณธารน้ำแข็ง เวลาถูกอากาศร้อนมันจะเน่าและสลายง่าย ดังนั้น นักชีววิทยา นักโบราณคดี และนักมนุษยวิทยาจึงจำต้องอนุรักษ์มันก่อนจะทำการทดสอบใดๆ
    เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 M. Dyurgerov แห่งมหาวิทยาลัย Colorada ได้รายงานว่า ขณะนี้ธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังสูญเสียน้ำแข็ง โดยเฉลี่ยประมาณ 90 ลูกบาศก์กิโลเมตร/ปี และธารน้ำแข็งบางสายก็กำลังละลายมาก จนขอบธารได้ถดถอยกลับขึ้นไปปีละหลายเมตร โดยเฉพาะธารน้ำแข็งบนยอดเขา Kilimanjaro ในแอฟริกาที่มีหิมะปกคลุมตลอดปีนั้น Dyurgerov คิดว่า มันคงละลายหมดในอีก 13 ปี
    ในสมัยก่อนคนทั่วไปและแม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็เคยคิดว่า ในธารน้ำแข็งจะมีก็แต่น้ำแข็งหิมะและก้อนหินเท่านั้น แต่ปัจจุบัน Kuzyk ก็ทำให้เราประจักษ์แล้วว่า ธารน้ำแข็งให้โลกมากกว่าน้ำแข็งและน้ำ เพราะเราอาจพบซากสัตว์ พืช และมนุษย์ด้วย ดังนั้น น้ำแข็งในธารน้ำแข็ง จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่เราสามารถขุดหาซากสิ่งมีชีวิตโบราณได้มากมาย
    เพราะนับตั้งแต่วันที่ Kuzyk ได้พบซากสัตว์ในธารน้ำแข็งแล้ว การสำรวจธารน้ำแข็งในบริเวณอื่นที่มีชั้นน้ำแข็งหนาน้อยกว่า 50 เมตร และกว้างใหญ่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ก็ได้กระทำกันมากขึ้น และก็ได้พบกระดูกหนังสัตว์มูล และอุปกรณ์ที่มนุษย์สร้างมากมาย ทั้งนี้เพราะเวลามนุษย์เดินทางข้ามธารน้ำแข็งเพื่อผจญภัย ล่าสัตว์ ขุดทองหรือค้าขาย การประสบพายุหิมะ และอุบัติเหตุอาจทำให้นักเดินทางเหล่านั้นอดอาหารจนหนาวตายได้ ดังนั้น ถ้าเราจะกล่าวในภาพรวมแล้ว วัตถุทุกชนิดที่นักวิชาการเก็บได้จากธารน้ำแข็งมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้นเช่น กรณีของมูลกวาง caribou ก็ได้ให้ข้อมูลที่แสดงให้นักชีววิทยารู้ว่า มันกินพืชชนิดใด ข้อมูลนี้ทำให้นักชีววิทยารู้อีกว่า เมื่อครั้งที่กวางถ่ายมูลนั้น ในบริเวณนั้นมีพืชชนิดใดขึ้นอยู่บ้าง และการศึกษาเรื่องนี้ก็ได้ทำให้นักชีววิทยาพบว่า กวาง caribou ในอดีตกินหญ้ามอส และใบไม้มากกว่ากวาง caribou ปัจจุบัน งานวิเคราะห์ขั้นต่อไปคือการศึกษา DNA ของซากกวางพันธุ์นี้ เพื่อเปรียบเทียบกับ DNA ของกวางปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่ากวางปัจจุบันเป็นทายาทของกวางในอดีต หรือไม่เป็น
    การรู้คำตอบชัดจะเป็นประโยชน์มาก เพราะนักชีววิทยาหลายคนเชื่อว่า กวางพันธุ์นี้สูญพันธุ์เป็นระยะๆ ที่ดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง อนึ่งการพบซากกระดูกของแกะ แพะ ภูเขา นก และแม้แต่วัว bison ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะไม่มีใครเคยคิดว่า จะมีวัวพันธุ์นี้อาศัยอยู่บนภูเขาสูงเช่นนั้น
    การพบเห็นอุปกรณ์ที่มนุษย์โบราณใช้ ก็ให้ข้อมูลที่ทำให้เรารู้วิธีล่าสัตว์ของผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างไร เช่นเมื่อมีการพบหอกที่ยาว 2 เมตร และมีปลายแหลมที่ทำด้วยเขากวาง การวัดอายุของหอกทำให้เรารู้ว่า มนุษย์ที่เคยอาศัยอยู่บนแคว้น Whitehorse ของแคนาดาเคยใช้หอกด้ามนั้น เมื่อ 7,300 ปีก่อนนี้ อนึ่งการพบอาวุธที่พรานเคยใช้ล่าสัตว์ ได้ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถตัดสินใจได้ว่า มนุษย์ในทวีปอเมริการู้จักใช้ศรและธนูเมื่อใด เพราะนักประวัติศาสตร์บางคนคิดว่า มนุษย์รู้จักใช้ศรยิงธนูนานประมาณ 10,000 ปีแล้ว แต่การพบศรและธนูในธารน้ำแข็งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์อเมริกันรู้จักใช้ศรและธนู เมื่อ 1,300 ปีก่อนนี้เอง
    อนึ่งในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการขุดพบซากศพของคนในธารน้ำแข็งที่อยู่ทางตอนใต้ของ Yukon ในแคนาดาด้วย ศพที่พบสวมเสื้อที่ทำด้วยหนังกระรอก และสวมหมวก ในมือถือมีดโลหะและมีซากปลาแห้งเป็นเสบียงอาหาร สภาพศพแสดงให้เห็นว่า ชายคนที่เสียชีวิตนี้มีอายุประมาณ 20 ปี และเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 550 ปีก่อนนี้เอง ขณะนี้ขั้นตอนการทดสอบ DNA ของชายคนนี้กำลังดำเนินอยู่ และก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะเป็นบรรพบุรุษของใครคนหนึ่งคนใดที่กำลังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ได้
    ณ วันนี้ ไม่มีใครมั่นใจได้ว่า ธารน้ำแข็งของโลกจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกนานเพียงใด และนั่นก็หมายความว่า ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มันเก็บอยู่ขณะนี้ จะคงสภาพได้อีกนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ แต่ความจริงประการหนึ่งที่ทุกคนรู้ก็คือ เวลาน้ำแข็งละลาย ซากวัตถุหากเป็นซากของสิ่งมีชีวิตจะเน่าสลายในเวลาไม่นานและเหล่าฝูงนก กาที่หิวโหยจะมาแทะกินซากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจนหมดก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะพบเห็นมัน ถึงแม้ซากเนื้อนั้นจะไม่น่าทึ้งเพราะเหี่ยวยานและมีอายุนานถึง 8,000 ปีก็ตาม
    เมื่อความเป็นไปได้นี้สามารถเกิดได้ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จึงกำลังเร่งหาธารน้ำแข็งที่มีแนวโน้มจะละลายก่อน โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมวัดความหนาของชั้นน้ำแข็งและอัตราการละลายของน้ำแข็ง ตลอดจนตรวจหาแหล่งแร่หินหรือสถานที่ที่มีวัตถุโบราณฝังอยู่เช่น เมื่อฤดูร้อนของปีกลายนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจธารน้ำแข็งในสวนสาธารณะ Wrangell-St. ที่ Alaska และก็ได้พบซากแกะ กวาง นก ปลา และอุปกรณ์ที่คนขุดทอง เมื่อ 100 ปีก่อนทิ้งไว้ ซึ่งเวลานั้นเป็นยุคที่มีการตื่นทองในแคนาดา
    ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าการละลายของธารน้ำแข็ง จะให้ข้อมูลทั้งด้านโบราณคดี ชีววิทยาและประวัติศาสตร์แก่มนุษย์ และข้อมูลเหล่านี้ก็จะทำให้เรารู้ว่า เวลาใครชวนดื่มน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง โดยเหตุผลที่ว่ามันบริสุทธิ์หมดจดแล้วเราก็ควรรู้ว่า เราจะได้ดื่มอะไรต่อมิอะไรที่มากกว่าน้ำครับ
    <hr size="1" width="200"> http://www.ipst.ac.th
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    'ไต้ฝุ่น' ฟ้องอากาศโลกเปลี่ยนแปลง? เอเชียจ่อเจอมหันตภัยลมฟ้าแปรปรวน

    ริงไซด์เวทีโลก - 20 สิงหาคม 2549

    เอเชียเจอไต้ฝุ่นใหญ่ 3 ลูกภายในสัปดาห์เดียว โลกซีกเหนือเจอคลื่นความร้อน ออสเตรเลียเผชิญภัยแล้งจนพืชผลเสียหายหนัก

    บางคนบอกว่าเหล่านี้เป็นสัญญาณของภาวะโลกร้อนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์หวาดเกรงกัน แต่บ้างก็ยังไม่ปักใจเชื่อ

    นักวิทยาศาสตร์บอกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาสั่งสมในชั้นบรรยากาศ จะทำให้เกิดพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงยิ่งขึ้นและมาถี่ยิ่งขึ้น ในอนาคตจะเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนและภัยแล้งมากขึ้น แต่กระนั้นบางคนบอกว่าไม่ต้องรอถึงวันพรุ่งนี้หรอก สิ่งที่คาดการณ์กันนั้นกำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของพวกเราแล้ว

    เรื่องนี้ยังเถียงกันมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีข้อมูลสถิติเกี่ยวกับความรุนแรงของพายุที่ได้เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา จึงไม่มีตัวเปรียบเทียบว่าลักษณะภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจริงหรือไม่ เราๆ ท่านๆ ได้แต่ใช้ความรู้สึกวัดเอาว่าเดี๋ยวนี้อากาศมันเปลี่ยนไป

    นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมบอกว่า จำนวนพายุไต้ฝุ่นในย่านเอเชียตะวันออกยังค่อนข้างคงที่คลอด 50 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้เกิดพายุที่มีความรุนแรงระดับ 4 และ 5 ซึ่งเป็นระดับรุนแรงที่สุดและสร้างความเสียหายมากที่สุดในจำนวนครั้งที่มากขึ้น

    เมื่อสัปดาห์ก่อน จีนก็เจอไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษเข้าอย่างจัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 300 คน บ้านเรือนพังไปหลายพันหลัง แล้วยังมีพายุเคลื่อนตัวเฉียดไต้หวันกับญี่ปุ่นไปอีก 2 ลูก นักวิทยาศาสตร์คาดว่าต่อไปพายุจะรุนแรงขึ้นและมาถี่ขึ้น

    หัวหน้าศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐในมลรัฐฟลอริดา เพิ่งรายงานประธานาธิบดีบุชเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วว่า บรรดาพายุรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีมานี้ เช่น เฮอริเคนแคทรินาเมื่อปีก่อนนั้น ไม่แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือไม่

    แต่พวกนักสิ่งแวดล้อมบอกว่า งานวิจัยบ่งบอกว่าอุณหภูมิพื้นผิวทะเลที่เพิ่มขึ้นเพราะภาวะโลกร้อนนั้นเป็นตัวการทำให้เกิดพายุที่มีความรุนแรง

    นักอุตุนิยมวิทยาในจีนก็มองว่าพายุรุนแรงนั้นเกิดจากภาวะโลกร้อนภายในประเทศ เนื่องจากจีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และยังทำให้เกิดกระแสน้ำเย็นน้อยลงในหน้าหนาว และเกิดคลื่นความร้อนด้วย

    นักวิจัยบอกว่า ในปีนี้พื้นที่ 90% ของจีนมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ โดยมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ได้ประสบความแห้งแล้งที่หนักหน่วงที่สุดในรอบ 50 ปี ทำให้ประชาชน 17 ล้านคนไม่มีน้ำดื่มที่สะอาด ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 100 ล้านไร่เจอภาวะฝนแล้ง ซึ่งพื้นที่ภัยแล้งนี้ได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 21%

    ออสเตรเลียก็เจอพายุไซโคลนและภัยแล้งซึ่งทำลายพืชผลเป็นประจำทุกปี นักอุตุนิยมวิทยาบอกว่า ลักษณะภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ยากจะตอบได้ เพราะมีข้อมูลให้เปรียบเทียบย้อนไปแค่ทศวรรษ 1960 เท่านั้น

    ออสเตรเลียเผชิญความแห้งแล้งมาตั้งแต่ต้นทศวรรษนั้นแล้ว ช่วงปี 2002/2003 นับว่าแล้งที่สุดในรอบ 100 ปี ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหายหมด

    นักอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียบอกว่า ประเทศนี้มักเจอช่วงฝนแล้งกับช่วงฝนตกหนักสลับกันไปมา ปีนี้เจอภาวะฝนไม่ตก ทำให้บริษัทส่งออกข้าวสาลีบางแห่งประเมินว่าผลผลิตจะลดลงถึง 20%

    โลกมีประชากรราว 6,000 ล้านคน ครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชียของเรานี้ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่จะเจอผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก ทั้งในรูปของระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ธารน้ำแข็งละลาย ภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำขาดแคลน

    ปรากฏการณ์ที่เอเชียจะประสบในอนาคตนั้นมีหลายอย่าง

    พายุโซนร้อน

    เขตแปซิฟิกตะวันตกได้เจอกับพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้งกว่าเขตอื่นของโลก สถาบันภูมิอากาศแห่งสหรัฐบอกว่า เอเชียจะเจอพายุถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น

    ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน สามารถป้องกันภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเทศในอ่าวเบงกอลเช่น บังกลาเทศ จะช่วยตัวเองไม่ได้มากนัก ประเมินกันว่าย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นจะเจอพายุไซโคลนพังราบ

    น้ำทะเลสูงขึ้น

    อินเดียกับบังกลาเทศต้องเตรียมแผนการโยกย้ายถิ่นฐานถาวรให้กับประชาชนหลายล้านคนเสียแต่เนิ่นๆ เพราะน้ำทะเลจะสูงขึ้น พื้นที่ราว 15% ของบังกลาเทศจะจมน้ำหากน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตรในศตวรรษหน้า เมืองตามชายฝั่งของญี่ปุ่นและบรรดาประเทศที่เป็นเกาะก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

    ธนาคารโลกบอกเมื่อเดือนเมษายน 2006 ว่า เวียดนาม ประเทศไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา และจีน จะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดน้อยถอยลงอย่างมากเพราะเรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้นนี้

    ธารน้ำแข็งละลาย

    ธารน้ำแข็งทั่วโลกเริ่มละลายมาตั้งแต่ทศวรรษ 1850 แล้วเพราะอากาศร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งราว 67% บนเทือกเขาหิมาลัยในเนปาลตะวันตกของจีน และทางเหนือของอินเดียกำลังละลายอย่างรวดเร็ว

    การละลายที่ว่านี้คุกคามความเป็นอยู่ของผู้คนในอนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลายส่วนของจีน

    นอกจากนี้ น้ำก็จะขาดแคลนหนักขึ้น เพราะแม่น้ำสำคัญ 7 สายของเอเชีย เช่น คงคา สินธุ พรหมบุตร และแม่โขง ล้วนมีต้นน้ำบนเทือกเขาหิมาลัย น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งในหน้าร้อนเคยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายล้านทางท้ายน้ำ และเป็นแหล่งชลประทานและผลิตกระแสไฟฟ้า

    ทะเลทรายขยายตัว

    ภาคเหนือของจีนซึ่งกำลังลำบากเพราะทะเลทรายโกบีในมองโกเลียขยายตัว จะยิ่งสูญเสียพื้นที่เพาะปลูก หน้าดินจะถูกลมแรงพัดพาหายไปเพราะมีฝนตกน้อยลง แผ่นดินของจีนราว 1 ใน 4 ถูกจัดว่าเป็นทะเลทรายไปแล้ว ผู้คน 400 ล้านจะเดือดร้อน

    พืชสัตว์สูญพันธุ์

    พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ของเอเชียกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเรื่องภูมิอากาศนี้ พืช 1,250 ชนิดของอินเดียกำลังถูกคุกคาม แนวโน้มอย่างเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นในจีน มาเลเซีย พม่า และไทยด้วย

    สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกหลายชนิดก็จะสูญพันธุ์ด้วย เพราะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและถิ่นที่อยู่ถูกรุกล้ำจนไม่เป็นผืนเดียวกัน

    ลมฟ้าอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง เราอาศัยอยู่ในระบบชีวาลัยที่กำลังถูกคุกคามด้วยน้ำมือของมนุษย์เรากันเอง ทางรอดจากวิกฤตินั้นมีอยู่ แต่คนเราจะไม่เลือกหนทางการพัฒนาที่ยั่งยืนจนกว่าความอดอยากจะมาถึงโต๊ะอาหาร!.




    โดย : ไทยโพสต์

    วันที่ 21/08/2006
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ปรากฏการณ์เกาะร้อน

    ปรากฏการณ์เกาะร้อน
    <!-- Main -->[SIZE=-1]Urban Heat Island Effect (UHI)

    หมายถึงการที่อุณหภูมิของชั้นอากาศใกล้พื้นดิน ในเขตชุมชน อุ่นกว่าปกติ เพราะมลภาวะทางความร้อนโดยตรง จากสองสาเหตุคือ

    1. การเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นความร้อนเพราะขาดร่มเงา
    ในเขตชุมชนมักจะขาดต้นไม้ ที่คอยดูดซับพลังงานแสง และเปลี่ยนเป็นพลังงานศักย์เคมีในกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้แสงแดดกระทบกับพื้นดินและสิ่งก่อสร้างโดยตรง กลายเป็นความร้อนในวัตถุ และถ่ายเทออกสู่อากาศ รอบๆอีกที

    2. การทิ้งพลังงานของมนุษย์
    พลังงานทุกประเภท ทั้งจากแหล่งพลังงานสะอาด และเชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อถูกใช้ประโยชน์แล้ว มักจะกลายสภาพเป็นความร้อน ถูกทิ้งสู่บรรยากาศรอบตัว

    นอกจากนี้ในเมืองที่มีมลภาวะทางอากาศสูง ยังอาจเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกเฉพาะพื้นที่เกิดขึ้น เพราะหมอกควันและฝุ่นละอองที่แขวนลอยในอากาศ สามารถดูดซับรังสีความร้อนได้ดีมาก รวมทั้งอากาศในเขตเมืองก็มักจะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าบรรยากาศหลายเท่าตัว เมืองที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศสูง จึงอาจจะมีปรากฏการณ์เรือนกระจกเฉพาะพื้นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย

    ปรากฏการณ์เกาะร้อน รู้จักกันมานานประมาณ 100 ปีแล้ว โดยมีผู้สังเกตพบว่า ในแผนที่แสดงอุณหภูมิของอากาศ จะปรากฏเขตอากาศอุ่นผิดปกติ ในบริเวณเขตชุมชนเป็นหย่อมๆ เหมือนเกาะบนแผนที่ จึงเรียกว่าปรากฏการณ์เกาะร้อน (Urban Heat Island)

    เขตเกษตรกรรมก็มีมลภาวะทางความร้อนน้อยๆด้วยเช่นกัน เพราะทุ่งนาย่อมอุ่นกว่าป่าไม้ธรรมชาติ ในปัจจุบันเขตชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมขยายตัว จนในบางประเทศ เขตเกาะร้อนเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็นผืนเดียว ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางเกือบทั้งประเทศ

    อิทธิพลของเกาะร้อน สามารถแผ่ออกในทิศทางตามลมได้ไกลมาก เมืองใหญ่ๆบางแห่งสามารถแผ่อิทธิพลตามลมได้ไกลถึงสามสิบกิโลเมตร ทั้งกระแสลม และมลภาวะทางความร้อนจากพื้นที่เกษตรกรรม มีส่วนทำให้การเก็บข้อมูลอุณหภูมิอากาศเพื่อทำสถิติ ในหลายจุดคลาดเคลื่อน

    จริงๆแล้วสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ข้อมูลอย่างเป็นทางการของ IPCC จากรายงานการประเมินฯครั้งล่าสุด บอกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่งจะอุ่นขึ้นเพียง 0.6 องศาเท่านั้น ซึ่งมนุษย์แทบจะไม่รู้สึก นอกจากจะวัดด้วย ทอร์โมมิเตอร์ แต่มลภาวะทางความร้อนโดยตรงจากปรากฏการณ์เกาะร้อน สามารถทำให้อากาศในเขตเมืองอุ่นขึ้นได้ 3-6 องศา

    [​IMG]

    ปรากฏการณ์การณ์เกาะร้อน จึงเป็นปัญหาใหญ่และใกล้ตัว ที่คนมักจะมองข้าม เพราะการประชาสัมพันธ์ถึงปัญหาสภาวะโลกร้อน มักจะทำให้ประชาชนสับสน คิดว่าอากาศร้อนมากขึ้น ที่เรารู้สึกสัมผัสได้ เป็นผลของปรากฏกการณ์เรือนกระจก คนที่ไม่เคยรู้จักปรากฏการณ์เกาะร้อน มักจะวิตกนึกว่าสภาวะโลกร้อนเข้าขั้นสาหัสแล้ว

    ปัญหาเกาะร้อน มีผลร้ายแรงกว่าปัญหาเรือนกระจกมาก กรุงเทพเป็นเมืองที่มีปัญหาเกาะร้อนสูง ความร้อนขนาดที่คนกรุงเทพประสบ ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ ทำให้ประสิทธิภาพของคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งลดลง ทำให้ต้องใช้พลังงานในการปรับอากาศภายในรถยนต์และอาคารมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย

    การแก้ปัญหาเกาะร้อน ต้องแก้ที่ภูมิสถาปัตย์ ด้วยการใช้วัสดุที่มีสีอ่อน ที่สะท้อนแสงได้ดีสร้างอาคาร ปลูกต้นไม้ สร้างแหล่งน้ำและสวนสาธารณะภายในเขตชุมชนเมืองให้มากขึ้น ประหยัดการใช้พลังงาน และระวังการทิ้งพลังงานทุกชนิด ซึ่งรวมถึงพลังงานสะอาดด้วย

    http://www.bloggang.com

    [/SIZE]
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ภูมิอากาศในยุคโบราณ

    ภูมิอากาศในยุคโบราณ
    <!-- Main -->[SIZE=-1]Paleoclimatology

    โลกกำลังอยู่ในมหายุคน้ำแข็งครั้งที่สี่ (Pleistocene Ice Age) แต่ยุคน้ำแข็งไม่ได้หนาวเย็นต่อเนื่องตลอดเวลา มีช่วงเวลาที่หนาวเย็น และอบอุ่นสลับกัน หลายต่อหลายครั้ง

    ช่วงที่ธารน้ำแข็งก่อตัวกว้างขวาง เรียกว่า Glacial period
    ช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งเรียกว่า Interglacial period
    สี่ล้านปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งแผ่ขยายและถดถอยสลับกันมากกว่ายี่สิบครั้ง ช่วงที่ธารน้ำแข็งขยายตัวปกคลุมโลก มักจะยาวนานเป็นหลักแสนปี แต่ช่วงอบอุ่นระหว่างธารน้ำแข็งมักจะสั้น เป็นหลักหมื่นปีเท่านั้น

    การขยายตัวของธารน้ำแข็งครั้งสุดท้าย เรียกว่า Wisconsin Ice Age สิ้นสุดลงเมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งครั้งหนึ่ง แต่ช่วงอบอุ่น ก็ไม่ได้อบอุ่นคงที่ มีช่วงเวลาที่อุ่นมาก อุ่นน้อย หรือถึงกับหนาว

    [​IMG]

    การสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง เป็นเพราะโลกเกิดเปลี่ยนไปสู่ความอบอุ่นอย่างระอุ เรียกว่า Younger-Dryas Warm Phase ที่ละลายธารน้ำแข็งนอกเขตขั้วโลกจนหมดไป ในเวลาประมาณ 1300 ปี หลังจากนั้น โลกก็เย็นลงอย่างมากเป็นช่วงสั้นๆ เรียกว่า Younger-Dryas Cool Phase

    โลกกลับอุ่นขึ้นอีกอย่างสำคัญ ระหว่าง 5,000-8,000 ปี ก่อนปัจจุบัน เรียกกันว่า Holocene Optimum หรือ Holocene Warm Period (HWP)

    ช่วงที่อุ่นที่สุดของ Holocene Maximum ภูมิอากาศค่อนข้างอุ่นจัดกว่าปัจจุบันมาก เขต Tropical ที่กระหนาบ เส้นศูนย์สูตร ขยายตัวกว้างขวาง ลุ่มน้ำสินธุ และ เมโสโปเตเมีย ในยุคนั้น ได้รับอิทธิพลลมมรสุมมากกว่าในปัจจุบันมีความชุ่มชื้นมากพอ ช่วยให้อารยะธรรมมนุษย์ ก่อนที่จะรู้จักการชลประทาน ก่อกำเนิดขึ้นในบริเวณนั้น

    อัฟริกาในยุคนั้นเป็นช่วง Humid Period เขต tropical ขยายตัวเบียดทะเลทราย ซาฮารา ให้ถอยร่นขึ้นไปทางเหนือ ทั่วซาฮาราตอนใต้ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ที่มี จระเข้ และฮิปโปโปเตมัส อาศัยอยู่ ปัจจุบันกระดูกของสัตว์เหล่านั้นยังคงปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ใต้ตะกอนทราย ภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ตามผนังถ้ำที่อยู่กลางทะเลทรายซาฮาร่าในปัจจุบัน เต็มไปด้วยรูปสัตว์ที่ในปัจจุบันอยู่ห่างลงไปทางใต้หลายร้อยกิโลเมตร

    หลังจาก Holocene Optimum ผ่านพ้น ภูมิอากาศก็กลับผันผวน เป็นช่วงที่โลกหนาวบ้าง ร้อนบ้าง สลับกันหลายครั้ง เรียกว่า Late Holocene Neoglacial Fluctuation

    โลกกลับมาอบอุ่นอีกครั้งในราวๆกลางคริสต์กาล ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Medieval Optimum หรือ Medieval Warm Period (MWP) ความอบอุ่นช่วยให้การเพาะปลูกในยุโรปอุดมสมบูรณ์มาก อาหารที่มีเหลือเฟือทำให้ประชากรยุโรปเพิ่มขึ้นจนเทียบได้กับศตวรรษที่ 19 และในบางเขตปกครองมีประชากรมากกว่าแม้ในปัจจุบัน

    ช่วงอบอุ่นที่สุด (Medieval Maximum) ตรงกับช่วง 1100 -1250 โลกอุ่นถึงขั้นที่ตอนใต้สุดของเกาะกรีนแลนด์ปราศจากน้ำแข็ง และเกิดมีทุ่งหญ้า มีชาวไวกิ้งเข้าไปตั้งหมู่บ้าน มีร่องรอยการเลี้ยงแกะและวัวที่ตอนใต้สุดของเกาะ ส่วนเกาะไอซ์แลนด์ ที่อยู่ใต้ลงมาหน่อย อบอุ่นพอที่จะปลูกธัญพืชได้ หลักฐานการเก็บภาษีเก่าแก่ บอกว่าอังกฤษมีไร่องุ่นและผลิตไวน์เป็นจำนวนมาก หลักฐานทางเอเชียก็บอกถึงการปลูกส้มในภาคเหนือของจีน

    ในช่วงที่โลกอุ่นจัดนั้น อย่างน้อย ทางตอนใต้ของเกาะกรีนแลนด์ปราศจากน้ำแข็ง น้ำแข็งที่ละลายทำให้ระดับน้ำทะเลท่วมสูงขึ้นหลายเมตร ช่วงนี้ตรงกับสมัยทวาราวดีปลายๆ ถ้าใครเคยเห็นแผนที่ทางโบราณคดีของยุคนั้น จะเห็นแนวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย กินแดนลึกเข้ามาถึง อ่างทอง

    [​IMG]

    แต่พอผ่านพ้นศตวรรษที่ 12 โลกก็เย็นลงอย่างต่อเนื่อง และหนาวมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำท่าจะกลับเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง ประกอบด้วยคลื่นความหนาวเย็นผิดปกติสี่ระลอก คือ
    - Wolf minimum 1280 1350
    - Spörer Minimum 1450 1550
    - Maunder Minimum 1645 1715 (หนาวที่สุด)
    - Dalton Minimum 1790 1820
    นักอุตุฯเรียกว่าช่วงเวลาที่หนาวเย็นผิดปกติราวสี่ร้อยปีนี้ว่า Little Ice Age (LIA) โดยตำราส่วนใหญ่จะนับจาก Spörer ปี 1450 เป็นต้นมา (บางตำราจะเริ่มนับตั้งแต่ Wolf แต่บางตำราก็นับเฉพาะสองระลอกสุดท้ายที่ค่อนข้างมีผลกระทบรุนแรง)

    น้ำแข็งเริ่มสะสมตัวในเขตใกล้ขั้วโลกมากขึ้น ระดับน้ำทะเลลดลง พื้นดินบริเวณกรุงเทพโผล่พ้นน้ำ เมืองท่าโบราณในสมัยทวาราวดี ที่ตั้งอยู่ริมทะเลของสมัยนั้น จึงอยู่ห่างจากฝั่งทะเลในปัจจุบันหลายสิบกิโลเมตร และอยู่ในทำเลที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบัน 5-7 เมตร เป็นข้อที่ควรสันนิษฐานว่าระดับน้ำทะเลลดลง ไม่ใช่ทะเลตื้นเขินจนกลายเป็นแผ่นดิน

    ความหนาวขับไล่ไวกิ้งให้อพยพออกไปจากกรีนแลนด์ ไร่องุ่นค่อยๆหายไปจากเกาะอังกฤษ ไร่ส้มหายไปจากภาคเหนือของจีน อากาศที่แปรปรวน ทำให้การเพาะปลูกในยุโรปเสียหายอย่างกว้างขวาง เกิดความอดอยากครั้งใหญ่ๆในยุโรปหลายระลอก ทำให้คนที่ยากจนอดอยากล้มตายไปหลายล้านคน

    ช่วงที่หนาวที่สุดของ LIA เรียกว่า Maunder Minimum บันทึกของอังกฤษบอกว่าช่วงหลายปีนั้น อากาศหนาวจัดจนแม่น้ำเทมส์ เป็นน้ำแข็งทุกปี ชาวเกาะไอซ์แลนด์เล่าว่าทะเลรอบเกาะจะกลายเป็นแพน้ำแข็ง จนไม่สามารถเดินเรือเข้าออกจากเกาะได้ ปีละประมาณ 1 เดือน ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ทะเลน้ำแข็งจะอยู่นอกชายฝั่งด้าน เหนือ

    หลักฐานประวัติศาสตร์บอกว่าธารน้ำแข็งตามภูเขาสูง แถบเทือกเขาแอล์ป และสแกนดิเนเวียขยายตัว คืบคลานเข้าทับหมู่บ้านในหุบเขาไปนับร้อยแห่ง มีบันทึกของวาติกัน เล่าถึงคำขอของชาวบ้านที่ถูกธารน้ำแข็งคุกคาม ร้องขอให้พระสันตะปาปาช่วยขอพรจากพระเจ้าให้ช่วยปกป้องหมู่บ้าน

    โชคดีที่พอถึงปี 1850 โลกก็ผันกลับสู่ความอบอุ่นอีกครั้งโลกอุ่นขึ้นในอัตรา ศตวรรษละ 1 องศา จนอุ่นที่สุดในทศวรรษ 1940s แล้วก็มีทีท่าจะคงที่ หรือเย็นลงเล็กน้อย แต่พอย่างเข้าศตวรรษที่ 21 โลกก็กลับอุ่นขึ้นอีกครั้ง อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เป็นเหตุให้คนทั้งโลก พากันวิตกถึงภาวะโลกร้อน

    โชคไม่ดีที่เทอร์โมมิเตอร์และการวัดอุณหภูมิอากาศโดยตรงเกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วง LIA ดังนั้นถ้าไปค้นบันทึกของอุณหภูมิอากาศในอดีต ก็จะเห็นแต่ความหนาวเย็น คนที่ไม่รู้เรื่องของกาลอากาศในยุคโบราณ อาจจะคิดว่าโลกมีความหนาวเป็นเรื่องปกติ ความอบอุ่น ที่ถูกบันทึกไว้ด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และหลักฐานในชั้นดิน จึงกลายเป็นนิทานปรัมปรา

    แต่อย่างไรก็ตาม ความอบอุ่นในตำนาน มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับ รวมทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมาย ได้แก่หลักฐานทางด้าน isotope และร่องรอยละอองเกสรพืช ที่ฝังอยู่ในชั้นดิน บอกให้รู้ถึงชนิดของพืชที่เคยขึ้นอยู่ในยุคสมัยต่างๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณหาอุณหภูมิของโลกในช่วงเวลาต่างๆได้

    ถ้าในอดีตอากาศเคยผันแปร อุ่นขึ้นแล้วก็เย็นลงได้เอง เป็นวัฏจักร ด้วยพลังของธรรมชาติ จะสรุปได้อย่างไรว่า โลกอุ่นขึ้นในเวลานี้ เป็นเพราะปรากฏการณ์เรือนกระจก

    บางที โลกอาจจะกำลังกลับสู่สมดุล ที่อุ่นแบบระอุหน่อยๆ อย่างที่เคยเป็น

    http://www.bloggang.com

    [/SIZE]
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    มหันตภัย Climate Change เขย่าระบบนิเวศ-ศก.โลกสูญ 7 ล้านล้านดอลล์

    นับจากบุคคลระดับผู้นำโลก ตั้งแต่อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ของสหรัฐ และนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ของอังกฤษ ออกหน้ารณรงค์ให้โลกตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก (Climate Change) ก่อกระแสการตื่นตัวอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ แม้แต่การประชุมเวทีสำคัญๆ เกี่ยวกับโลกร้อน ก็เริ่มมีขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ดังการประชุมของขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อต้นเดือน เมษายนที่ผ่านมา และอีกเวทีหนึ่ง ที่กำลังจะจัดขึ้นที่อินโดนีเซียในเดือนหน้า คือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ผลของปรากฏการณ์การตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อน ได้นำมาซึ่งงานวิจัย ชิ้นสำคัญๆ หลายฉบับ ซึ่งทำนายภาพอนาคต ที่โลกต้องเผชิญจากผลพวงของการวางเฉยต่อปัญหาโลกร้อน

    อาทิ รายงานการศึกษาต้นทุนผลกระทบของภาวะโลกร้อน หนา 700 หน้า จัดทำโดย เซอร์ นิโคลัส สเติร์น อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของธนาคารโลก ในช่วงปลายปีที่แล้ว ในรายงานของเซอร์สเติร์นได้ให้ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มหาศาลเหลือเกิน โดยประเมินว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุณหภูมิโลก จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลก สูงสุดมากถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก หากรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกไม่ดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง ในการควบคุมการแพร่กระจายก๊าซก่อภาวะเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ว่า ประชาชนกว่า 200 ล้านชีวิตจะไร้ที่อยู่อาศัย จากผลพวงของน้ำท่วม และภัยแล้ง จากวิกฤตโลกร้อน ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่นำไปสู่การอพยพของผู้คนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

    ในรายงานฉบับนี้ เซอร์สติร์นได้เสนอแนะว่า โลกต้องการเงินทุนอย่างน้อย 1% ของจีดีพีโลกเพื่อใช้จ่ายในการรณรงค์เพื่อควบคุมปัญหาโลกร้อน ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาทั่วโลก และเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของงบประมาณ ที่ธนาคารโลกประเมินว่า ต้องการใช้เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโรคไข้หวัดนก เพราะหากไม่มีการดำเนินการใดๆ โลกอาจจะต้องจ่ายมากกว่าที่ประเมินไว้ถึง 20 เท่า จากผลพวงของวิกฤตการณ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา

    รายงานที่น่าสนใจอีกฉบับหนึ่ง เป็นการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญ 285 รายจาก 124 ประเทศ พร้อมนักวิทยาศาสตร์กว่า 50 คน ซึ่งเผยแพร่ระหว่างการประชุมขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IPCC ที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 6 เมษายน 2550 โดยไส้ในของรายงานฉบับนี้ ระบุว่า ภาวะโลกร้อนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่มีส่วนเปลี่ยนระบบนิเวศวิทยา รูปแบบของสภาพอากาศ มหาสมุทร และพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็ง ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลย้อนกลับมากระทบต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์ภายในไม่เกิน 1 ศตวรรษข้างหน้า

    โดยมีความเป็นไปได้ถึง 90% ที่โลกจะเผชิญกับอากาศร้อนมากสุด นับตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง โดยก๊าซเรือนกระจกหลักๆ ที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนขึ้น คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ยังไม่นับรวมก๊าซอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและป่าไม้

    ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะมีผู้คนล้มตาย เจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากคลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุ ไฟไหม้ และความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    "จากการสังเกตด้วยภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ช่วงต้นยุค 80 เป็นต้นมา เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า มีแนวโน้มที่หลายๆ ภูมิภาคจะมีต้นไม้ในช่วงฤดู ใบไม้ผลิมากขึ้น และมีผลผลิตทางการเกษตรแบบปฐมภูมิมากขึ้น เนื่องจากฤดูของการเติบโตของต้นไม้ยาวนานขึ้น และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของต้นไม้เพิ่มขึ้น ทว่าอุณหภูมิในพื้นที่หนาวเย็นที่สูงขึ้นก็ส่งผลที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและพื้นที่ที่ห่าง จากเส้นศูนย์สูตรจะกลายเป็นผลดีต่อการทำการเกษตร แต่ขณะเดียวกันสภาวะเช่นนี้ก็เป็นผลดีต่อการเติบโตของวัชพืช แมลงศัตรูพืช และการเกิดอัคคีภัยที่จะทำให้ป่าไม้ตกอยู่ในอันตราย ในระยะยาว ภูมิภาคต่างๆ ของโลกส่วนใหญ่จะตกอยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะภัยแล้ง พายุฝน ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนที่อยู่ตามแถบพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่เกาะที่อยู่ระดับต่ำ" รายงานระบุ

    ขณะที่ในรายงานเรื่อง "ใครได้ ใครเสียจากภาวะโลกร้อน" ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบเฉพาะภูมิภาคอเมริกาเหนือที่มี 67 หน้า ระบุว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อเศรษฐกิจของอเมริกาเหนือ และยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าใดก็มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย อาทิ ภาคการเกษตรของแคนาดา รวมถึงประมงและป่าไม้ จะเป็นอุตสาหกรรมด่านแรกที่ได้รับผลกระทบ

    นอกจากนี้ ผลกระทบทางกายภาพจากโลกร้อนยังจะส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ เช่น สาธารณูปโภคและพลังงาน ท่องเที่ยว บริการการเงิน การขนส่ง การดูแลสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์ด้วย

    "ในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า ความเสียหายด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะจะยิ่งทำให้สาธารณูปโภคต่างๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งต้นทุนในแต่ละปีของอเมริกาเหนือที่ต้องเสียไปกับความเสียหายของทรัพย์สิน รวมถึงความสามารถในการผลิต และชีวิตของผู้คน คิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์"

    สำหรับผลกระทบในระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน รวมถึง ฟิล โจนส์ แห่งมหาวิทยาลัย อิสต์ แองเกลีย ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้ อาจเป็นปีที่อากาศร้อนกว่าปี 2541 ปีที่ถือว่า ร้อนที่สุด โดยเขาอธิบายปรากฏการณ์เอลนิโญ ได้ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น จนทำให้ปัจจุบันโลกอยู่ในแนวโน้มที่อากาศจะอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1/10 ถึง 2/10 องศาเซลเซียสทุก 10 ปี ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกัน ปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ทำให้โลกในปี 2550 มีอุณหภูมิร้อนกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้ตลอด 12 เดือนนับจากนี้ เป็นช่วง เวลาที่ร้อนที่สุดเป็นประวัตการณ์

    เอลนิโญเป็นกระแสน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีอุณหภูมิอุ่นมากขึ้น ซึ่งนานๆ มักจะเกิดขึ้นสักครั้ง และมีผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี 2540 และ 2541 ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนิโญ ในปี 2540-2541 ได้ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไป ประมาณ 2,000 คน และสร้างความเสียหายทั่วโลก ประมาณ 30-37 พันล้านดอลลาร์

    ความวิตกกับความเป็นไปของโลกอนาคต นำไปสู่การก่อกำเนิดของ เวทีใหม่ๆ หนึ่งในนั้น ได้แก่ การประชุม "องค์กรผู้แทนรัฐสภาทั่วโลกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สมดุล" หรือ Globe (Global Legislators for a Balanced Environment) ซึ่งเตรียมรวบรวมสาระสำคัญที่ได้จากการประชุม จัดทำ เป็นรายงานเสนอต่อการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ของโลก 8 ชาติ (G-8) ต่อไป

    ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดหวังว่า ท่าทีและการสนองตอบของกลุ่มจี-8 โดยเฉพาะสหรัฐ ต่อปัญหาโลกร้อน และการยอมผูกพันในพิธีสารฉบับใหม่ ซึ่งจะนำมาปรับใช้แทนพิธีสารโตเกียว ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2555 จะเป็นสัญญาณบวกของการคลี่คลายผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกให้ทุเลาลงระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากข้อเรียกร้องของกลุ่ม Globe ที่ต้องการให้กลุ่มจี-8 กำหนดเงื่อนเวลา ที่จะจัดทำพิธีสาร หรือข้อตกลง ฉบับใหม่ มาแทนที่พิธีสารโตเกียว โดยเสนอว่า การเจรจาควรจะเริ่มที่การประชุมขององค์การสหประชาชาติที่เกาะบาหลี ในเดือนหน้า และให้ได้ ข้อสรุปในปี 2552

    รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้นำชาติร่ำรวยเห็นพ้องในข้อเสนอจำกัดปริมาณการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กำหนดไว้ว่า ไม่ควรจะเกิน 450-550 หน่วยต่อล้าน ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมากเกินกว่าที่จี-8 จะยอมรับได้ จนถึงขั้นออกปากว่า เป็นการกำหนดระดับที่บ้าระห่ำเกินไป

    ภายใต้พิธีสารเกียวโต ได้กำหนดให้ประเทศร่ำรวย 35 ชาติ จะต้อง ลดการแพร่กระจายมลพิษที่ก่อภาวะเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการ เผาไหม้เชื้อเพลิง ของโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และรถยนต์ ลงประมาณ 5% จากระดับของการก่อมลพิษในปี 2533 ภายในปี 2551-2555 โดยพบว่าหลายประเทศที่เข้าร่วมในพิธีสารเกียวโตยังมีระดับการก่อมลพิษ สูงกว่าระดับเป้าหมายอยู่


    จาก : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 - 18 เมษายน 2550
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]โลกร้อน !! ความจริง ที่ไม่มีใครอยากฟัง

    [​IMG]

    ประเทศไทยเพิ่งคว้าตำแหน่ง "ประเทศที่อากาศร้อนที่สุดในโลก"

    เพิ่มเติมข้อมูลอีกนิด 28 เมษายนนี้ เมืองหลวงของเราจะร้อนที่สุดในรอบปี ผลจากการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนทำมุมตั้งฉากกับเมืองแห่งนี้พอดิบพอดี

    โลกร้อนขึ้นทุกวัน เรื่องนี้เห็นจะจริงเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความจริงที่ไม่ค่อยมีใครยอมรับคือ *เราเองนี่แหละ* ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ดาวสีฟ้านี้ร้อนระอุ

    การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ให้พลังงาน วิถีชีวิตที่เน้นการบริโภคอย่างบ้าคลั่งเกินเลยจำเป็น ยิ่งช่วยเร่งสร้างมลภาวะอย่างก๊าซเรือนกระจกไปห่อหุ้มโลก ทำให้ความร้อนไม่อาจหลุดลอดออกไปภายนอกโลกได้

    หากเปรียบไปก็เหมือนกับกบที่อยู่ในหม้ออบ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กว่าจะรู้ตัวว่าร้อนจนเป็นอันตราย ก็สายไปเสียแล้วสำหรับเจ้าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตัวนี้

    หากเปลี่ยน *กบ* เป็น *มนุษย์* จะมีไหมมือจากเพื่อนต่างดาวที่มาฉุดเราให้หลุดรอดไป เมื่อไม่อาจคาดหวัง

    ดังนั้น การปรับเปลี่ยนที่ตัวเราเองจึงดูเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า

    ตามกลไกทางวิทยาศาสตร์ พลังงานจากดวงอาทิตย์จะแผ่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในรูปของคลื่นแสง ให้ความร้อนแก่โลก พลังงานบางส่วนทำให้โลกอบอุ่น ก่อนจะถูกแผ่กลับออกในห้วงอวกาศในรูปรังสีอินฟราเรด

    แต่ก็มีบางส่วนที่ชั้นบรรยากาศโลกกักเก็บเอาไว้ ซึ่งนั่นเป็นข้อดี เพราะจะทำให้โลกมีอุณหภูมิไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป

    เพราะถ้าเปรียบกับ *ดาวศุกร์* ที่มีก๊าซเรือนกระจกหนาก็จะทำให้ร้อนมาก หรืออย่าง *ดาวอังคาร* ที่แทบไม่มีก๊าซเรือนกระจกเลย ก็จะเย็นจัดจนสิ่งมีชีวิตเฉกเช่นมนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่ได้

    ทว่า ในความเป็นจริงที่เป็นอยู่ นับวันชั้นบรรยากาศโลกจะเก็บกักความร้อนเอาไว้มากขึ้น อันเนื่องจากปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มชั้นบรรยากาศไว้ มีชั้นความหนาที่เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ทำให้รังสีอินฟราเรดที่ควรจะหลุดลอดออกคล้ายถูกกำแพงสกัดกั้น คาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน), ก๊าซมีเทน จากการทับถมขยะ การเลี้ยงปศุสัตว์, ไนตรัสออกไซด์ จากการใช้ปุ๋ยและเผาป่า-เผาไร่หลังฤดูเก็บเกี่ยว

    เหล่านี้คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยของต้นตอที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแน่นอน อาจต้องก้มหน้ายอมรับว่า นี่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์

    มีตลกร้าย (ที่ขำไม่ค่อยออก) เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่อยากเล่าให้ฟัง

    วันหนึ่ง บนโต๊ะอาหารเช้า

    ลูกสาวตัวน้อยถามคุณพ่อ "คุณพ่อค่ะ เราจะแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนกันอย่างไร?"

    พ่อเผยยิ้ม แล้วว่า "ท่านประธานาธิบดีก็คงจะทำเหมือนที่พ่อทำให้หนูทุกเช้า คือเอาน้ำแข็งก้อนมาหย่อนในแก้วน้ำให้มันเย็นลง ท่านคงลงทุนให้ตัดน้ำแข็งก้อนมหึมาจากขั้วโลก แล้วใช้เฮลิคอปเตอร์ผูกเชือกโยง ขนส่งมาหย่อนลงกลางมหาสมุทร ทีละก้อนๆ ให้อุณหภูมิผิวทะเลเย็นลงยังไงละ"

    เรื่องเล่าข้างต้นอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง "An Inconvenenient Truth" ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมปีล่าสุด ที่บัดนี้ หนังสือในชื่อเดียวกัน ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ "มติชน"

    *ผู้เขียนคือ อัล กอร์*

    *ผู้แปลคือ คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์*

    และสำหรับชื่อในภาคภาษาไทย "โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" อยากให้ฟัง *คุณากร* อธิบายถึงที่มา

    "จริงๆ แล้วก็แปลมาจากชื่อต้นฉบับนั่นแหละ คือตอนแรกผมก็พยายามที่จะไม่ใช้ชื่อนี้ เพราะชื่อ "ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" นี้กลัวมันจะไม่ติดหูคน แต่สุดท้ายผมก็ต้องกลับมาใช้ชื่อที่แปลมาจากคำว่า An Incovenient truth โดยตรง เนื่องมาจากสาเหตุอย่างหนึ่งคือ ในหนังสือ เวลาพูดถึงประเด็นอะไรก็แล้วแต่ มันจะกลับมาพูดถึงสิ่งที่คนไม่ค่อยจะเชื่อ"

    สอดคล้องกับภาษิตของ มาร์ก ทเวน ที่ *อัล กอร์* หยิบมาโควตไว้ในหนังสือ...

    *"สิ่งที่คุณไม่รู้ไม่ได้สร้างปัญหาให้คุณ สิ่งที่คุณมั่นใจว่ารู้แต่กลับรู้ไม่จริงต่างหากที่เป็นปัญหา"*

    ดังนั้น ใครต่อใครจึงพยายามที่จะปัดความรู้นี้ออกไป ความรู้ที่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมลภาวะให้กับโลก บ้างละเลย แกล้งหลงลืม เพียงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง

    หนังสือ "โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" ประเด็นหลักจึงไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างที่มีให้เห็นมากมาย แต่ทว่า มันคือเรื่องของ "จริยธรรม" เพราะความจริงที่หนังสือบอก บางเรื่องเราอาจเคยรับรู้รับฟังมาบ้างแล้ว แต่เราก็ปล่อยวางไม่สนใจ ตราบเมื่อไม่มีคนตาย ไม่มีความเสียหาย ผู้คน รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ ก็ไม่พูดถึง

    "กรณีศึกษาต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าเราต้องใส่ใจนะ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับเรา มันเป็นเรื่องของสำนึก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อปัญหา และเราเองนี่แหละที่จะต้องเป็นผู้ร่วมแก้ปัญหานี้ ซึ่งในหนังสือเองก็บอกแล้วว่าเราสามารถทำได้ ตั้งแต่วิธีการเล็กๆ ไปจนถึงวิธีการใหญ่ๆ ไม่มีข้อแม้ใดๆ ที่จะมาบอกว่า ฉันตระหนักกับปัญหา แต่ฉันแก้มันไม่ได้ ก็เลยปล่อยให้เป็นไป เรื่องของเรื่องคือว่า คุณจะแก้มันหรือเปล่านั่นแหละ นี่คือประเด็นทางจริยธรรม" คำพูดของคุณากรนั้นเข้มข้นจริงจัง

    มาทางฟากฝั่งของผู้เขียน ความประทับใจของ อัล กอร์ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นโลกร้อนนั้น เกิดขึ้นในสมัยเรียนระดับปริญญาตรี เขาได้มีโอกาสศึกษากับ รีเจอร์ รีวิลล์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ค้นพบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก โดยอาศัยการวิเคราะห์ผลตรวจวัดจากสถานีวิจัยบรรยากาศ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ณ เกาะหลัก หมู่เกาะฮาวาย

    อัล กอร์ ชื่นชอบและเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

    เมื่อศึกษาเรื่องนี้จนตระหนัก และคิดว่าเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกคนต้องรับรู้ อัล กอร์ จึงตระเวนไปฉายสไลด์และพูดตามที่ต่างๆ ไม่หยุดหย่อน

    ไม่ใช่เฉพาะในอเมริกา เขายังเดินทางมาประเทศในเอเชีย อย่างจีน ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับการแข่งขันพัฒนาตัวเองของประเทศ

    เขาเขียนไว้ในหน้าบทนำของหนังสือ ตอนหนึ่งว่า *"เชื่อกันว่าการสูญพันธุ์ที่กวาดล้างไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว เกิดจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งปะทะโลก แต่การสูญพันธุ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งใหม่นี้กลับมีมนุษย์เป็นต้นเหตุ"*

    จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อีกอย่างหนึ่งคือ การที่ผู้เขียน คือ อัล กอร์ ซึ่งไม่ได้เป็นนักวิชาการ เป็นผู้เล่าเรื่อง ดังนั้น เขาจึงไม่ได้ผูกติดกับภาษาที่เป็นวิชาการ ตลอดจนกรอบการเขียนใดๆ หนังสือเล่มนี้จึงถูกออกแบบมาให้เหมาะกับบุคคลทั่วไป อ่านทำความเข้าใจได้ง่าย และข้อมูลที่ให้ก็ตรงกับที่นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยทำการศึกษาอยู่

    *เนื้อหาทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลจริง*

    อ่านสนุก อ่านเพลิน แต่ที่อยากย้ำ *นี่คือเรื่องจริงไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์*

    อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์คือลูกเล่น และวิธีการเล่าเรื่อง การที่ผู้เขียนตัดสลับชีวิตของตัวเองเข้ามาเป็นช่วงๆ แม้อาจดูเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทว่านี่แหละที่ทำให้อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน ผู้นี้ดูเป็นคนธรรมดา

    ชีวิตของ อัล กอร์ ก็เหมือนกับบุคคลอื่นทั่วไป สุข ทุกข์ วิ่งวนเป็นวัฏจักรไม่ได้ต่างอะไรไปจากเราๆ ท่านๆ ต่างก็แต่วิกฤตในชีวิตของเขาหลายๆ ครั้ง ได้รับการแปรเปลี่ยนเป็นโอกาส

    การเกือบสูญเสียลูก กับการตระหนักว่าเราจะต้องสูญเสียโลก

    การสูญเสียพี่สาว ด้วยโรคมะเร็งปอดผลจากการสูบบุหรี่จัด กับความรับผิดชอบของตระกูลกอร์ที่เลิกปลูกยาสูบไปตลอดกาล

    นั่นคือความธรรมดาที่จะทำให้เรารู้สึกร่วมไปกับหนังสือ

    "อัล กอร์มีบุคลิกพิเศษ คือเขาเล่าเรื่องโดยเอาตัวเองมาเป็นแกนกลาง ทำให้คนติด ทำให้มันดูมีชีวิต อย่างกรณีลูกประสบอุบัติเหตุ หรือการที่เขาต้องสูญเสียพี่สาว ก็เอามาเปรียบเทียบกับโลก ทำให้หนังสือมีเลือดเนื้อ

    "ชีวิตของเขานี่แหละที่ยึดตรึงเรื่องให้อยู่ด้วยกัน มีเอกภาพ การทำแบบนี้ทำให้เรื่องราวไม่ไกลไปจากจากชีวิตผู้อื่น มันเป็นประสบการณ์สากล" ผู้แปลพูดถึงผู้เขียน

    หนังสือ "โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" ไม่เพียงแต่ฉายปรากฏการณ์ หรือการนำเสนอที่หวือหวาด้วยรูปภาพ กราฟข้อมูล แต่ยังบอกถึงวิธีการแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยรวบรวมมา ซึ่งจะเห็นว่า เราเองสามารถทำได้ แค่เพียงเปลี่ยน...

    ...เปลี่ยนเป็นถอดปลั๊กเมื่อปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า, เปลี่ยนเป็นใช้บริการขนส่งมวลชน, เปลี่ยนเป็นลดสินค้าฟุ่มเฟือย, เปลี่ยนเป็นใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมุนเวียนมาใช้ใหม่ได้, เปลี่ยนเป็นบริโภคเนื้อให้น้อยลง, เปลี่ยนเป็นใช้สินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น ฯลฯ

    ยังมีอีกหลายวิธีการที่เราสามารถช่วยโลกใบนี้ได้

    *อยู่ที่ว่าจะเปิดใจยอมรับ และยอมเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า เท่านั้นเอง*


    จาก : มติชน ฉบับวันที่ 19 เมษายน 2550
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    นักวิทย์ระบุมนุษย์ต้นเหตุโลกร้อน
    [​IMG]
    ปารีส - นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นพ้อง ภาวะโลกร้อนเกิดจากฝีมือมนุษย์ ผ่านการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ คาดว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.8-4.0 องศาเซลเซียส ในศตวรรษที่ 21 คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งสหประชาชาติ (ไอพีซีซี) เปิดเผยรายงานว่าด้วยปัญหาโลกร้อนเมื่อวานนี้ โดยเตือนว่า กิจกรรมของมนุษย์กำลังทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลชาติต่างๆ ดำเนินการมากขึ้นเพื่อเร่งดำเนินการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน
    รายงานฉบับเสร็จสมบูรณ์นี้ เป็นผลจากการระดมสมองของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศจาก 130 ประเทศ รวม 2,500 คน โดยจะมีการแบ่งนำเสนอรายงานออกเป็น 3 ตอน ตลอดช่วงปีนี้ ซึ่งรายงานที่เปิดเผยวานนี้เป็นตอนแรก
    เนื้อหาของรายงาน ระบุว่า "มีความเป็นไปได้อย่างมาก" หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 90% ที่มนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พร้อมประเมินว่า โลกจะต้องเผชิญกับฝนตก ธารน้ำแข็งละลาย ภัยแล้ง และคลื่นความร้อน ในระดับรุนแรงขึ้น ส่วนระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
    เมื่อปี 2544 ไอพีซีซี เคยจัดทำรายงานโลกร้อน ที่ใช้ถ้อยคำว่า มนุษย์ "น่าจะ" เป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน คิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 66% สะท้อนว่า นักวิทยาศาสตร์มั่นใจมากขึ้นว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากมนุษย์ หลังจากมีการโต้แย้งระหว่างนักวิทยาศาสตร์ 2 กลุ่ม เกี่ยวกับเรื่องนี้
    การประชุมระหว่างผู้แทนรัฐบาลและนักวิทยาศาสตร์ไอพีซีซี กว่า 500 คน มีขึ้นที่กรุงปารีสตั้งแต่วันจันทร์ (29 ม.ค.) ก่อนเปิดเผยรายงานที่ใช้เวลา 6 ปี รวบรวมผลการศึกษาด้านโลกร้อนของนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,500 คนเมื่อวานนี้ โดยผู้จัดทำหวังว่า จะกระตุ้นให้รัฐบาลและบริษัทต่างๆ เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามโรงงาน โรงไฟฟ้า และรถยนต์
    รายงานคาดว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.8-4.0 องศาเซลเซียส ในศตวรรษที่ 21 ขณะที่ในทศวรรษที่ 20 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 0.7 องศา และนับตั้งแต่ปี 2537 ได้เกิดปีที่ทำสถิติว่ามีอากาศร้อนที่สุดถึง 10 ปี หลายประเทศในยุโรปเผชิญสภาพอากาศอบอุ่นเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือนมกราคม
    ผู้ร่วมการประชุมเผยว่า แม้นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐบางคนที่ร่วมประชุมจะช่วยเขียนรายงานที่ใช้ภาษาเข้มข้นขึ้น แต่ไม่ควรมองว่าท่าทีดังกล่าวเป็นสัญญาณของการปรับนโยบายของสหรัฐ
    นางคามิลลา ทูลมิน ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาระหว่างประเทศในกรุงลอนดอน กล่าวว่า รายงานของไอพีซีซีให้หลักฐานที่สรุปให้เห็นว่ามนุษย์เป็นสาเหตุของปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และทุกฝ่ายควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน
    ด้านกลุ่มสิ่งแวดล้อม เฟรนด์ ออฟ ดิ เอิร์ธ เรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมระบุว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกลุ่มดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟที่เผยว่า รัฐบาลต่างๆ ต้องลดการปล่อยก๊าซ ส่วนกลุ่มกรีนพีซเตือนว่า โอกาสในการดำเนินการแก้ปัญหากำลังลดลงอย่างรวดเร็ว

    http://www.bangkokbiznews.com
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ภาวะโลกร้อน

    หัวใจของการเปิดแสดงของอัล กอร์ต่อเรื่องภาวะโลกร้อน และหัวใจของภาพยนตร์เรื่อง AN INCONVENIENT TRUTH ก็คือภาพที่ทำให้ช็อค เป็นภาพถ่ายจากภูเขาคิลิมันจาโร และทิวเขาหิมาลายันที่เผยให้เห็นว่าธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดของโลกกำลังละลายด้วยระดับความเร็วที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ และที่กำลังเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันก็คือ กอร์ได้แสดงให้เห็นว่าในสหรัฐอเมริกา บัดนี้ อุทยานแห่งชาติกลาเซียร์เหลือธารน้ำแข็งอยู่ในปริมาณน้อยจนน่าตกใจ

    ผลกระทบของภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ความสูญเสียที่ยังดำเนินต่อไปของสถานที่อันมหัศจรรย์เหล่านี้ทั้งน่าเสียดายและกระตุ้นใจ ถ้าก่อนหน้านี้เราเคยคิดกันว่าธรรมชาติดำเนินไปอย่างเชื่องช้าเกินไปสำหรับพวกเราที่จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของมัน หรือคิดกันว่าโลกนี้ยิ่งใหญ่เกินไป และพลังของมันมีอำนาจมากเกินกว่าที่มนุษย์จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับโลกได้ ตอนนี้เราคงรู้แล้วว่าเราคิดผิด กอร์แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าบัดนี้การเปลี่ยนแปลงได้ห้อมล้อมเราไว้ และโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทุกนาที

    กอร์ได้นำเสนอหลักฐานที่ไม่สามารถแย้งได้ สถิติสิบปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา มหาสมุทรเพิ่มอุณหภูมิขึ้นอย่างรวดเร็ว การเกิดพายุฤดูร้อนและเฮอร์ริเคนเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นพายุเฮอร์ริเคนแคทริน่าที่แสนร้ายกาจ และพายุรุนแรงอื่นๆ ที่ผ่านมา พายุฝนที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปทำให้เกิดน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และอุณหภูมิที่ร้อนมากขึ้นล้วนแต่มีส่วนต่อการเกิดโรคระบาดทั่วโลก ขณะเดียวกัน การสูญเสียถิ่นอาศัยอันเนื่องมาจากอุณหภูมิกำลังนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งรวมถึงหมีโพล่า ซึ่งตามที่กอร์ได้รายงานเอาไว้ นี่เป็นครั้งแรกที่พวกมันต้องจมน้ำตายขณะค้นหาก้อนน้ำแข็งที่มันจะใช้เป็นที่หาอาหาร

    แต่ท่ามกลางการศึกษามากมาย กอร์ได้กล่าวอย่างน่าเศร้าว่าชาวอเมริกาจำนวนมาก รวมถึงผู้นำต่างๆ ในอเมริกายังคงไม่เชื่อในเรื่องภาวะโลกร้อน เขาได้ให้ตัวเลขสถิติที่ทำให้ทุกคนต้องเบิกตากว้าง นั่นก็คือในขณะที่มีการสำรวจด้วยแบบสอบถามเมื่อเร็วๆ นี้ (หนังสือไซแอนซ์ แม็กกาซีน ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2004) เป็นการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้แสดงผลให้เห็นว่าแบบสอบถาม 928 ฉบับรู้เรื่องภาวะโลกร้อน และไม่ปฏิเสธมัน มีถึง 53 เปอร์เซนต์ที่บอกว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สิ่งที่คนเหล่านี้ได้รับไม่ตรงกันกับความเป็นจริง

    กอร์เชื่อว่าปัญหาที่หนักที่สุดของเราก็คือการเข้าใจผิด และการเข้าใจผิดมากที่สุดก็คือ ถ้าโลกของเรามีปัญหาหนักขนาดนี้ เราคงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ กอร์ที่ไม่ยอมรับโดยยังไม่ได้ต่อสู้ ชี้ให้เห็นว่าชาวอเมริกันดูเหมือนจะยอมรับในปัญหาทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องของการล้มล้างระบบทาส จนถึงการส่งคนขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ จนถึงการเกิดรูบนชั้นโอโซน พวกเขาเชื่อว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้

    กอร์ท้าทายความคิดที่ว่าธุรกิจและสภาพแวดล้อมมักจะเป็นภัยต่อกัน สุดท้าย เขาได้จินตนาการถึง “ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่รออยู่ภายภาคหน้าในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น เรื่องของการสงวนพลังงาน, เทคโนโลยีจับคาร์บอน, การขนส่ง, แหล่งพลังงานทางเลือกและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่จะเปลี่ยนแปลงการทำลายล้างและนำมาซึ่งสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นของโลก

    แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนอเมริกันร่วมมือกันและสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขาเอง และกดดันพวกนักการเมืองให้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น มันคือสิ่งที่อัล กอร์เชื่อว่าได้เกิดขึ้นแล้ว เขามองเห็นถึงความเคลื่อนไหวที่เริ่มสร้างความแข็งแกร่งในกลุ่มประชาชนจากทุกรัฐและพรรคการเมือง ซึ่งทั้งกอร์และทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างก็หวังว่า AN INCONVENIENT TRUTH คงจะเป็นประสบการณ์ที่ช่วยกระตุ้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวและส่งผลกระตุ้นไปยังส่วนอื่นๆ

    สก็อตต์ เบิร์นส์สรุปว่า “สำหรับอัล กอร์ เขาไม่มีเวลาที่จะเดินทางไปยังทุกเมืองในโลกนี้ และกระซิบข้างหูของทุกคนได้ พลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือมันสามารถสื่อถึงสารในเรื่องนี้ให้แพร่กระจายออกไป ณ เวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งเวลาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด”


    ภาวะโลกร้อนคืออะไร


    ภาวะโลกร้อนเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติดักจับความร้อนออกไปยังบรรยากาศของโลก ก๊าซเหล่านี้จะรวมตัวกันจนกลายเป็นเหมือนผ้าห่มหนาๆ ดักจับความร้อนของดวงอาทิตย์ และทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น ยิ่งก๊าซเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ความร้อนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ก๊าซเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อเราเผาผลาญพลังงานจากฟอสซิลในรถและโรงงานไฟฟ้า รวมไปถึงการสูญเสียป่าธรรมชาติและการเพาะปลูก


    นักวิทยาศาสตร์พบเงื่อนงำของภาวะโลกร้อนด้วยการศึกษาเศษเสี้ยวของอดีตในธารน้ำแข็งโบราณ ตะกอนในมหาสมุทร รวมไปถึงต้นไม้และหินปะการัง
    ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาต่ออารยธรรมของมนุษย์ เพราะมันก่อให้เกิดพายุรุนแรงและความแห้งแล้ง ธารน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการแพร่กระจายของโรคระบาด ยานพาหนะต่างๆ และโรงงานที่เผาผลาญถ่านหินคือแหล่งผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา การทำลายป่าเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งทั่วโลก


    นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าถ้าเรายังไม่ลดระดับความร้อนของโลก อุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มมากขึ้น 3 ถึง 9 องศาเมื่อสิ้นสุดศตวรรษนี้

    สถิติทางวิทยาศาสตร์ที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน


    ข้อมูลจากแกนน้ำแข็งที่แอนตาร์คติคเมื่อเร็วๆ นี้บ่งชี้ว่าปัจจุบัน การจับตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นกว่าทุกช่วงเวลาในระหว่าง 650,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไกลเกินกว่าที่มาตรฐานใดๆ จะไปถึงได้


    ปี 2005 คือปีที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการวัดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ เป็นสิบปีที่ถือว่ามีอากาศร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมานับแต่ปี 1990 ในฤดูร้อนของปี 2005 หลายร้อยเมืองในอเมริกามีอากาศร้อนสูงระดับทำลายสถิติ


    ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์


    ในปี 2003 คลื่นความร้อนทำให้มีคนในยุโรปเสียชีวิตถึง 30,000 คน และในอินเดีย มีผู้เสียชีวิตไป 1500 คน


    นับแต่ปี 1978 ทะเลน้ำแข็งที่ขั้วโลกลดปริมาณลง 9 เปอร์เซนต์ต่อทุกสิบปี


    มีการพบเห็นนกนางนวลที่ขั้วโลกเหนือเป็นครั้งแรกในปี 2000


    ด้วยระดับการละลายตัวในปัจจุบัน หิมะที่เทือกเขาคิลิมันจาโรอาจจะหมดไปในปี 2020
    การทำนายถึงผลกระทบต่างๆ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น


    มีการคาดเดาว่าภาวะโลกร้อนจะเพิ่มความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พายุเฮอร์ริเคนระดับ 4 และ 5 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้น พายุฤดูร้อนสามารถเพิ่มกำลังมากขึ้น และกลายเป็นพายุที่มีพลังมากขึ้น


    ถึงแม้พายุรุนแรงจะก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่ความแห้งแล้งและไฟไหม้ป่ายังคงเพิ่มสูงขึ้นในอีกหลายพื้นที่


    เกาะที่ตั้งอยู่ในที่ต่ำจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไปอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น


    ป่า, ฟาร์ม และเมืองทั้งหลายจะต้องเผชิญหน้ากับสัตว์รบกวนที่สร้างปัญหา รวมถึงเชื้อโรคร้ายที่เกิดจากยุงเป็นพาหะจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น


    การทำลายถิ่นที่อาศัยของสัตว์อย่างเช่นแนวปะการังและทุ่งหญ้าอาจทำให้พืชและสัตว์หลายสายพันธุ์สูญพันธุ์ไป


    จะลงมือกระทำอะไรได้บ้าง?


    การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์พลังงาน และแหล่งพลังงานแห่งใหม่ และนโยบายใหม่จะเป็นส่วนหนึ่งของทางออกของปัญหานี้ เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถแก้ไขผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้ การลงมือกระทำอย่างทันท่วงที อาทิเช่น การสร้างรถพลังงานสะอาด การจัดการแหล่งทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการอนุรักษ์พลังงานให้เป็นพื้นฐานของนานาชาติ


    บุคคลแต่ละคนสามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ในทันทีด้วยความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศโลก


    องค์กรใหญ่ๆ หลายแห่งกำลังค้นหาหนทางที่จะหยุดการสร้างก๊าซมลพิษขณะเดียวกันก็ต้องประหยัดเม็ดเงิน แต่ยังมีโอกาสที่จะมีการคิดสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ


    พัฒนาและสร้างเทคโนโลยีพลังงานสะอาดแบบใหม่ อาทิเช่น พลังลม พลังแสงอาทิตย์ เครื่องยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และพลังงานทางเลือกอื่น ทั้งหมดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมภาวะโลกร้อน



    ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการลงมือแก้ไขปัญหา สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.climatecrisis.net
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ภาวะโลกร้อน-ระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ

    ระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น ธารน้ำแข็งละลาย มหาสมุทรร้อนขึ้นระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำแข็งทะเลบางลง ชั้นดินเย็นแข็งคงตัวละลาย เกิดไฟป่าบ่อยขึ้น ทะเลสาบเล็กลง หิ้งน้ำแข็งพังทลาย ทะเลสาบจับตัวเป็นน้ำแข็งช้าลง แห้งแล้งยาวนาน ธารน้ำในเขตภูเขาเหือดแห้ง ปริมาณหยาดน้ำฟ้าเพิ่มขึ้น ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็วขึ้น ฤดูใบไม้ร่วงมาถึงช้าลง ต้นไม้ออกดอกเร็วขึ้น ช่วงเวลาอพยพเปลี่ยนแปลง ถิ่นอาศัยเปลี่ยนไป นกทำรังเร็วขึ้น โรคภัยไข้เจ็บลุกลาม ปะการังฟอกขาว การทับถมของหิมะลดลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหายไป พืชและสัตว์ต่างถิ่นรุกราน แนวชายฝั่งสึกกร่อน ป่าในเขตภูเขาสูงแห้งแล้ง อุณหภูมิในเขตละติจูดสูงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว…เกิดอะไรขึ้นกับโลกกันแน่
    นี่เพียงแค่บทเกริ่นนำของบทความไตรภาค “มหันตภัยแห่งอนาคต: สัญญาณเตือนภัยจากปรากฏการณ์โลกร้อน” ในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค ชี้ให้เห็นภาวะโลกร้อนที่มีมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญ
    และในขณะนี้ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในธรณีกาล กลับใช้เวลาเพียงชั่วอายุคนเท่านั้นเอง
    ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก พยายามชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ผิดปกติ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักในปัญหาที่ตัวเองมีส่วนร่วมก่อ โดยเฉพาะการบริโภคแบบ ‘สุด สุด’ ที่ทำให้ต้องขุดพลังงานฟอสซิลทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินขึ้นมาใช้ อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเรือนกระจก และเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วน ก่อนที่จะสายเกินแก้
    ด้าน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือสูงมาก และหากไม่ถึงขั้นวิกฤต คงไม่ออกมาเตือนว่า สภาพอากาศของ พ.ศ. 2546 ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียมีความเลวร้ายอย่างน่าตระหนก สภาพอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีทั้งที่อุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุด ปริมาณฝนมากที่สุด และเกิดพายุมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในหลาย ๆ ส่วนของโลก ซึ่งสอดคล้องกับการพยากรณ์เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน
    เช่นเดียวกับรายงานลับที่เพนตากอนส่งถึงประธานาธิบดีบุช เมื่อต้นปี 2547 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกในอีก 20 ปีนับจากนี้จะเป็นหายนะครั้งใหญ่ของโลกยิ่งกว่าภัยจากการก่อการร้าย จะคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านทั้งจากภัยธรรมชาติและสงครามเพื่อความอยู่รอด เมืองใหญ่ในยุโรปจะตกอยู่ในสภาวะอากาศแบบไซบีเรีย หลายเมืองสำคัญที่อยู่ริมฝั่งน้ำจะจมน้ำ เกิดความแห้งแล้งและอดอยาก จนนำไปสู่การจลาจลและสงครามในที่สุด
    กระนั้น คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้ง 2 ชิ้น ก็ไม่ได้ทำให้ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย 2 ประเทศมหาอำนาจที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก คือรวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของโลกเปลี่ยนท่าที

    พิธีสารเกียวโต: ความหวังครั้งใหม่?
    ภายหลังการลงนามในอนุสัญญา ให้มีผลบังคับใช้ของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change, UNFCCC) หลังจากที่เจรจายาวนานกว่าค่อนทศวรรษ
    ศรีสุวรรณ ควรขจร เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์การเจรจานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ระบุว่า “ชาวโลกยังคาดหวังมันเกินฐานะที่เป็นจริง”
    จากความมุ่งหวังอย่างยิ่งยวดที่จะให้ทุกประเทศต้องร่วมรับผิดชอบลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ แต่เป้าหมายกลับต่ำเตี้ยเพียงว่า ในช่วงที่หนึ่ง (ภายในปี 2555) กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนมากปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาแต่ครั้งปฏิวัติอุตสาหกรรม จนถึงปัจจุบันนานนับศตวรรษ จะต้องเป็นผู้นำการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเพียง 5.2 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ตนปล่อยในปี 2533 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเริ่มปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่กี่ทศวรรษมานี้ ค่อยไปร่วมรับผิดชอบลดการปล่อยในช่วงที่สอง ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไร
    ทั้งที่ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีข้อสรุปกันมาหลายปีก่อนการประชุมสุดยอดทางสิ่งแวดล้อม ได้ระบุว่า หากมนุษยชาติจะหลีกเลี่ยงหายนะภัยทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกให้ได้นั้น ปริมาณการปล่อยต้องลดลงถึง 70-80% ไม่ใช่เพียงแค่ 5-6 % และต้องดำเนินการโดยเร็ว คือภายใน 1 - 2 ปีนี้ ไม่ใช่ค่อย ๆ ลดในอีกหลายสิบปีข้างหน้า
    แต่หลายปีที่ผ่านมา “ในการเจรจาต่อรองที่กลุ่มประเทศต่าง ๆ ต้องชิงไหวชิงพริบเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน โดยประเทศอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยความเหนือกว่า (ประเทศกำลังพัฒนา) ในกระบวนการเจรจาต่อรอง บวกกับอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมสูง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่เริ่มเข้ามาครอบงำกระบวนการของการประชุม”
    ผลที่ได้คือ เนื้อหาในพิธีสารที่อ่อนปวกเปียก และมองประเด็นการสร้างภาระต่อบรรยากาศที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ว่าเป็นเรื่องชอบธรรม เพราะเขา ‘รวย’ เขาจึงมี ‘สิทธิ’ ทำได้ นั่นคือ อนุญาตให้ใครจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ก็ได้ ตราบเท่าที่เขาสามารถไปซื้อ ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่เกิดจากการดูดกลับคาร์บอนด้วยวิธีการบางอย่าง หรือที่ในพิธีสารเรียกว่า กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เช่น การปลูกต้นไม้ซึ่งอ้างว่าจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเป็นเนื้อไม้หรือใบไม้ ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินอยากจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านตันต่อปีก็ปล่อยไป ตราบเท่าที่โรงไฟฟ้านั้นปลูกต้นไม้หลายพันต้น
    วิธีการที่ว่านี้ไม่เพียง ‘ไม่แก้ปัญหา’ แต่ยังเพิ่ม ‘ความอยุติธรรม’ ด้วยการปล่อยให้ประเทศและคนที่ใช้พลังงานอย่างบ้าคลั่งลอยนวล โดยไม่ได้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคว่า เขาต้องลดการใช้พลังงาน หากต้องการเห็นโลกดีขึ้น เพื่อลูกหลานในวันข้างหน้า แต่การปลูกต้นไม้นี้กลับนำไปสู่ปัญหาเรื่องการยื้อแย่งที่ดินและน้ำ โดยเฉพาะในประเทศซีกโลกใต้
    ในเมื่อประเทศรวยอยาก ‘ผลาญ’ ต่อ ประเทศยากจนก็อยากได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิต สิ่งที่เราจะเห็นในไม่ช้าก็คือ รัฐบาลประเทศที่จ้องจะขายคาร์บอนเครดิตจะไล่คนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นออกจากแผ่นดินของตัวเอง ตัดป่าธรรมชาติเพื่อสร้างสวนป่าด้วยไม้ตัดต่อพันธุกรรม ระบบนิเวศถูกตัดตอนลดความซับซ้อน ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย ฯลฯ

    Carbon Trade Fair
    คาร์บอนกำลังจะเป็นสินค้าสุดฮอตในตลาดโลก และจะเป็นสินค้าที่มีตลาดใหญ่ที่สุดด้วย” นี่จึงไม่ใช่การวิเคราะห์ที่เกินเลยจากความเป็นจริง ผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมเกี่ยวเนื่องกับสาระของพิธีสารเกียวโตหลายครั้ง ต่างบรรยายความรู้สึกตรงกันว่า ไม่ใช่เวทีประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกต่อไปแล้ว แต่มันเป็นมหกรรมแสดงสินค้าที่เรียกว่า ‘คาร์บอน’ หรือ Carbon Trade Fair มากกว่า
    กลุ่มเครือข่ายผู้สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ต่างคุยว่า ด้วยโครงการปลูกป่าเพื่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ จะเป็นการเพิ่มการลงทุนในชนบท ซึ่งสามารถช่วยลดความยากจนได้ ผู้อ่านลองไปดูกันเลยดีกว่าว่า ‘การหากินกับอากาศ’ ครั้งนี้ ใครได้ประโยชน์กันบ้าง
    บรรษัทอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนมีพฤติกรรมและการลงทุนผูกติดอยู่กับการทำเหมืองและการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล พยายามขวางไม่ให้ตัวแทนสหรัฐผูกมัดตัวเองเข้ากับการลดการปล่อยแม้เพียงปริมาณน้อยนิด โดยในการเจรจาพิธีสารเกียวโต บรรดาบรรษัทเหล่านี้สั่งให้ตัวแทนสหรัฐและประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ยืนยันที่จะต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน คือการยอมให้มีการแลกเปลี่ยนค้าขายสิทธิหรือเครดิตในการปล่อยได้ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดให้ได้ตามเป้าหมาย พวกเขาให้เหตุผลว่า อย่างน้อยนี่จะเป็นการถ่วงเวลาหรือหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำธุรกิจ
    บริษัทผลิตไฟฟ้า มองการปลูกป่าว่า เป็นวิธีการราคาถูก และง่ายที่จะโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้บริโภคเห็นว่า พวกเขากำลังลดอยู่ คณะกรรมการผลิตไฟฟ้าของเนเธอร์แลนด์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในการดำเนินโครงการปลูกป่าไม้ซุงในรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย และการปลูกป่าสนและยูคาลิปตัสในเทือกเขาแอนดีสของเอกวาดอร์ โตเกียวอีเล็คตริคพาวเวอร์กำลังปลูกต้นไม้ในนิวเซาธ์เวลส์ ดีทรอยท์เอดิสันกำลังทำในอเมริกากลาง และซาสก์พาวเวอร์ของแคนาดากับแปซิฟิกพาวเวอร์ของออสเตรเลียก็กำลังทำอยู่ในประเทศของตัวเอง(อย่าไปถามว่าพวกนี้ได้ที่ดินในการปลูกป่ามาอย่างไร พวกเขาทำลายป่าธรรมชาติก่อนสร้างสวนป่าหรือไม่ และมีผลกระทบอะไรบ้าง)
    บริษัทพลังงาน ขาใหญ่อีกราย พวกเขายืนยันที่จะผลาญพลังงานต่อไป โดยหวังไถ่บาปด้วยการปลูกป่าแทน บริษัทอเมริกันที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เซ็นสัญญามูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐกับคอสตาริกา ที่จะจ้างชาวนาให้ปลูกต้นไม้และดูแลเป็นเวลา 15-20 ปี อเมราดาแก๊สกำลังจะได้รับยี่ห้อ ‘Climate Care’ จากการปลูกป่าที่อูกันดา, ซันคอร์อีเนอร์จี (บริษัทขุดเจาะ กลั่นและขายน้ำมันของแคนาดา) วางแผนที่จะร่วมกับเซาเธิร์นแปซิฟิกปิโตรเลียมและเซ็นทรัลแปซิฟิกมิเนอรัลส์ในโครงการปลูกต้นไม้พื้นเมืองมากกว่า 180,000 ต้นในรัฐควีนส์แลนด์เพื่อ ’ชดเชย’ กับคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะปล่อยออกมาในอนาคต
    บริษัทรถยนต์ หวังได้ภาพลักษณ์สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ ในอังกฤษ ลูกค้าที่ซื้อรถมาสดารุ่นเดมิโอจะได้โบนัสพิเศษ คือบริษัทจะปลูกต้นไม้ 5 ต้นเพื่อ ‘ชดเชย’ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะรถปล่อยออกมาในปีแรก ดังนั้นลูกค้ามีสตางค์ก็ไม่เพียงแต่มีส่วนในการขุดเจาะ กลั่นน้ำมัน ทำเหมืองโลหะกับช่วยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการไล่รื้อที่ดินเพื่อใช้ในการปลูกป่าที่พวกเขาอาจไม่เคยได้เห็นอีกด้วย
    บริษัทนายหน้าและธนาคาร คาดหวังที่จะได้ค่าคอมมิสชั่นจากการเป็นนายหน้าตามตลาดคาร์บอนที่จะเปิดในชิคาโก ลอนดอนกับซิดนีย์ องค์กรอย่างสหพันธ์กักเก็บคาร์บอนนานาชาติและอเมริกันฟอร์เรสท์ก็กำลังวางแผนการตลาดค้าคาร์บอนเครดิต ธนาคารอย่างยูเนียนแบงก์ของสวิตเซอร์แลนด์ก็กำลังรอปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการปลูกป่า
    บรรดานักวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม แนวโน้มต่าง ๆ เหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้มีการตั้งสถาบัน สร้างงานและเกียรติยศให้กับมืออาชีพจำนวนมากมายที่อยากทำวิจัย รับรอง และบริหารโครงการปลูกป่า บริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ สามารถกอบโกยผลประโยชน์ในการตรวจสอบและรับรองโครงการเหล่านั้น
    องค์กรโลกบาล วางแผนที่จะกอบโกยจากการค้าคาร์บอน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างการเมืองที่มีอยู่ในมือ ยกตัวอย่าง ธนาคารโลกหวังประโยชน์ 2 ทางจากการสนับสนุนการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศกำลังพัฒนา แล้วก็คอย ‘เก็บกวาด’ ทีหลังจากโครงการปลูกป่า แล้วก็ยังใช้เงินทุนสนับสนุนจากบริษัทไฟฟ้ากับรัฐบาลยุโรปเหนือเพื่อพัฒนา ‘กองทุนคาร์บอนต้นแบบ’ (Clean Development Fund-CDF) ที่มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ ‘ตลาดก๊าซเรือนกระจกของโลก’ และมีโครงการต่าง ๆ สำหรับประเทศทางใต้อยู่เต็มมือ โดยวางแผนจะผลักดันให้มีธนาคารคาร์บอนหรือตลาดแลกเปลี่ยนคาร์บอนขึ้นมา อีกทั้งในเอกสารลับยังระบุว่า จะกินหัวคิว 5 เปอร์เซ็นต์ จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
    นักทำไม้อาชีพ เล็งผลเลิศจากการกลับมาบูมของการปลูกป่าคราวนี้ว่า เป็นหนทางที่จะยกระดับอาชีพที่อยู่ชายขอบและต่ำต้อยทางการเมืองของตนให้มีความสำคัญและรุ่งเรืองขึ้นมาได้ เช่น สมาคมป่าไม้อเมริกันก็เสนอทันทีว่า จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นเพื่อบรรเทาปัญหา ที่นอร์เวย์ บริษัทป่าไม้ทรีฟาร์มส์ได้ประกาศโครงการปลูกสนโตเร็วและยูคาลิปตัสบนเนื้อที่ 150 ตารางกิโลเมตรของทุ่งหญ้าในแทนซาเนีย บริษัทอ้างว่าภายในปี 2553 โครงการนี้จะเก็บคาร์บอนได้มากกว่าหนึ่งล้านตัน
    นักวิจัยวิศวกรรมพันธุศาสตร์ ก็ยังคาดหวังที่จะมีลู่ทางการงานในตลาดปลูกป่าด้วย เพราะอุตสาหกรรมคาร์บอนที่กำลังโตอยากได้ต้นไม้ดัดแปลงพันธุกรรมที่มีสารลิกนินสูงเพื่อต้นไม้จะได้อยู่นานขึ้น (แต่อาจต้องตบตีกับอุตสาหกรรมกระดาษที่อยากได้ไม้ดัดแปลงพันธุกรรมที่มีสารลิกนินต่ำ)
    นักวิชาการ จากสถาบันอย่างมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กกับมหาวิทยาลัยฟลอริดาก็กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการหาวิธีรับรองและตรวจสอบการดูดซับคาร์บอนหรือแม้แต่นักวิชาการไทยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “หากประเทศไทยรับโครงการ CDM แต่ละหน่วยงานจะต้องไปหาซื้อเซฟใหญ่มาเก็บเงินที่จะไหลมาเทมา”
    เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศซีกโลกเหนือ (อุตสาหกรรม) หลายประเทศก็พากันตามกระแสอย่างขมีขมัน อย่างรัฐบาลออสเตรเลียหวังว่าการตั้งตลาดต่อรองเรื่องใบอนุญาตการปล่อยกับคาร์บอนเครดิตจะกระตุ้นเศรษฐกิจ, รัฐมนตรีเกษตรของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ก็ตื่นเต้นกับ ‘อุตสาหกรรมพลวัตใหม่’ ซึ่งจะสร้างงานในพื้นที่ปลูกป่าใหม่ ๆ นับล้านเฮกตาร์ เงินบางส่วนจะมาจากบริษัทผลิตไฟฟ้าญี่ปุ่น
    รัฐบาลประเทศทางใต้ หลายประเทศก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะแข็งขืนกระแสการปลูกป่าได้ อาร์เจนตินาก็คิดว่าจะได้เงินปีละ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการ ‘ดูแลรักษาป่าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์’ ซึ่งปลูกด้วยเงินลงทุนต่างชาติ 4 พันล้านเหรียญบนพื้นที่ 10 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้า รัฐมนตรีประเทศแอฟริกันราว 26 คนได้เรียกร้องให้มีกองทุนพิเศษเพื่อเตรียมการงานบริหารจัดการ
    เอ็นจีโอบางกลุ่ม ซึ่งตั้งตัวเองเป็นนายหน้าคาร์บอนและผู้เชี่ยวชาญการดูดซับคาร์บอน ก็หวังว่าจะได้การยอมรับจากผู้สนับสนุนหรือเพื่อนพ้องในรัฐบาลและธุรกิจว่าเป็น ผู้สนับสนุนแนวทาง ‘ตลาดเสรี’ ที่กำลังเป็นกระแสหลักในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนกองทุนปกป้องสภาพแวดล้อมกับพันธมิตรป่าฝนได้ร่วมกับ Forestry Research Institute ในการช่วยตรวจสอบบัญชีโครงการป่าคาร์บอนของซัน คอร์ปอเรชั่นในอเมริกากลางและที่อื่น ๆ
    เอ้า...เอากันซะให้พอ

    ภาวะโลกร้อน ภาวะสิ้นหวัง
    ขณะที่คนบางกลุ่มกำลังหากินกับภาวะโลกร้อนอย่างขมีขมัน โลกไม่ได้อยู่เฉยให้พวกเขากอบโกย เพราะ ระเบิดเวลาทางนิเวศกำลังเดินต่อไป” จากหนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ รายงานว่า ได้ถึงภาวะนับถอยหลังเข้าสู่หายนะอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยโลกอาจเข้าสู่จุดที่ไม่สามารถกลับตัวได้ ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี นี่ไม่ใช่คำทำนายของนอสตาดามุส แต่เป็นรายงาน ‘การเผชิญความท้าทายของสภาพอากาศ’ ผลงานร่วมของ 3 สถาบันคือ สถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายสาธารณะของอังกฤษ ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกา และสถาบันออสเตรเลีย รายงานระบุว่า จุดอันตรายจะส่งสัญญาณเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 1750 ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
    ขณะที่ในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยได้สูงขึ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว 0.8 องศา และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผลที่จะเกิดตามมาจากการเพิ่มขึ้นต่าง ๆ เหล่านี้อาจรวมถึงความล้มเหลวทางการเกษตร ความแห้งแล้งครั้งใหญ่ ตลอดจนโรคระบาดชุกชุม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และป่าไม้แห้งตาย ผนวกกับข่าวร้าย พืดน้ำแข็ง (ice sheet) ขนาดมหึมาในด้านตะวันตกของแอนตาร์กติก มีมวลน้ำแข็งถึง 3.2 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร ที่กำลังสูญเสียเสถียรภาพ ซึ่งหากละลายทั้งหมด จะยกระดับน้ำทะเลทั่วโลกให้สูงขึ้นอีก 16 ฟุต หรือ 4.8 เมตร และหากรวมกับน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และขั้วโลกเหนือที่กำลังหลอมละลายอย่างรวดเร็ว จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นอีก 20 ฟุต หรือ 5-6 เมตร รวมเหนือใต้แล้วอาจทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 12 เมตร
    ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนรวมทั้งนักรณรงค์ปัญหาภูมิอากาศ...สิ้นหวัง ซึ่ง ผศ.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยามหิดล ถอนหายใจเมื่อได้ยินคำถามว่า จากภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ เราจะทำอย่างไรกันดี


    20 ธันวาคม 2549
    ตัดต่อและเรียบเรียงจาก “CARBON CREDIT โลกสีดำจาก พิธีสารเกียวโต” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร a day weekly ฉบับที่ 043 ประจำวันที่ เขียนโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
    เรียบเรียงโดย สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    เปิดรายงาน "โลกร้อน" มนุษย์คือตัวการและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

    ที่มา : ผู้จัดการ 05/02/2550

    เปิดรายงาน "โลกร้อน" มนุษย์คือตัวการและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

    <table border="0" cellpadding="0" width="92%"> <tbody><tr> <td width="35%">[​IMG]</td> <td width="5%"> </td> <td width="60%">กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม "Revolution Ecolo" แต่งตัวเลียนแบบนักร้องชื่อดังของฝรั่งเศส (ซ้าย) ส่วนอีก 2 คนกลางคือผู้เข้าแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมืองน้ำหอมสมัยต่อไป และขวาสุดคือประธานาธิบดีฌาร์ค ชีรัค เจ้าบ้านจัดการประชุมของไอพีซีซี ในกรุงปารีส โดยทั้ง 4 กำลังเล่นฟุตบอลรูปโลก ระหว่างพิธีปิดการประชุมของไอพีซีซี ที่เปิดเผยรายงานผลกระทบโลกร้อนไปเมือวันที่ 2 เดือน 2
    </td> </tr> </tbody></table> เอเจนซี/เอพี - นักวิทยาศาสตร์จาก 113 ประเทศได้นำรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกฉบับสำคัญออกเผยแพร่ โดยระบุว่าพวกเขาแทบไม่แปลกใจที่จะบอกว่า "มนุษย์" เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดโลกร้อน และทำนายว่าอุณหภูมิจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นและระดับน้ำทะเลยังคงเพิ่มต่อเนื่องไปนับศตวรรษ นอกจากนี้ยังกดดันรัฐบาลต่างๆ ให้ลงมือต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วให้มากกว่านี้ นับเป็นคำเตือนอันหนักแน่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา

    คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ 2,500 คนจากกว่า 130 ประเทศ เปิดเผยรายงานความยาว 21 หน้า ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาถึงสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้น โดยอธิบายว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะเหตุใด เมื่อวันที่ 2 เดือน 2 และยังมีรายงานอีก 2 ฉบับจะเปิดเผยติดตามมาในไม่ช้า

    รายงานของไอพีซีซีระบุว่า "เป็นไปได้อย่างมาก" ซึ่งมีแนวโน้มมากกว่า 90% ที่กิจกรรมที่มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่นน้ำมัน, ก๊าซ, ถ่านหิน) เป็นสาเหตุเกือบทั้งหมดของการเกิดภาวะโลกร้อนในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา

    ตัวเลขดังกล่าวหนักแน่นขึ้นกว่ารายงานฉบับที่แล้วเมื่อปี 2001 ซึ่งไอพีซีซีระบุว่า ความเกี่ยวเนื่องดังกล่าวอยู่ในระดับ "เป็นไปได้" โดยมีแนวโน้มอยู่ที่ 66% สัญญาณเตือนของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น มีปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่ ภาวะแห้งแล้งในออสเตรเลีย ไปจนถึง อุณหภูมิเดือน ม.ค.ที่สูงทำลายสถิติทั่วยุโรป

    "วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2007 น่าจะได้รับการจดจำว่า เป็นวันที่เครื่องหมายคำถามเรื่องมนุษย์เป็นตัวการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ได้ถูกกำจัดออกไป" อาชิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ประธานโครงการสิ่งแวดล้อมของยูเอ็น (UNEP) กล่าวในการแถลงข่าว เขาเร่งให้รัฐบาลต่างๆ เพิ่มแรงผลักดันในการเจรจาตัดลดการปล่อยไอเสียในระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งไม่เคยสูงเท่านี้มาก่อนในรอบ 650,000 ปีที่ผ่านมา

    "ยึดตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เรากำลังทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นใน 650,000 ปี" ราเชนทรา ปาจาอุรี (Rajendra Pachauri) ประธานไอพีซีซี แถลงข้อสรุปความยาว 21 หน้านี้ ให้โครงร่างการเปลี่ยนแปลงอันน่ากลัว อาทิ น้ำแข็งในทะเลที่ขั้วโลกเหนืออาจละลายหมดในหน้าร้อนภายในปี 2100 และระบุด้วยว่า "เป็นไปได้มากกว่าเป็นไปไมได้" ที่ก๊าซเรือนกระจกได้ทำให้พายุหมุนเขตร้อนมีความรุนแรงมากขึ้น

    รายงานดังกล่าว "ประมาณแบบเจาะจงที่สุด" ว่า อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น 1.8 - 4 องศาเซลเซียส ในศตวรรษที่ 21 นี้ โดยได้ประมาณอย่างกว้างกว่าด้วย เอาไว้ที่ 1.1-6.4 องศาเซลเซียส ทั้งนี้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 0.7 องศาเมื่อศตวรรษที่ 20 และ 10 ปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1850 อยู่ในปีหลังปี 1994 เป็นต้นมา

    เจ้าหน้าที่จากยูเอ็นหวังว่ารายงานดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลต่างๆ นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 รวมทั้งบริษัทต่างๆลงมือตัดลดก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่านี้ ซึ่งก๊าซดังกล่าวถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้า โรงงาน และรถยนต์ เป็นส่วนมาก
    ผู้สนับสนุนพิธีสารเกียวโตของยูเอ็น (อนุสัญญาที่ผูกพันให้ประเทศอุตสาหกรรม 35 ประเทศ ตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2012) จำนวนมาก ต้องการให้ประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ ที่ผ่านมา สหรัฐฯและจีนยังไม่ยอมตกลงทำตามเป้าหมายของพิธีสารดังกล่าว

    ประธานาธิบดีของคิริบาตี ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถูกคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ระบุว่า เวลานั้นเหลือน้อยลงทุกที "คำถามก็คือ เราทำอะไรได้ตอนนี้? เราแทบจะทำอะไรไม่ได้เพื่อหยุดกระบวนการนั้น" ประธานาธิบดี อะโนเท ทอง กล่าว

    รายงานดังกล่าว คาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 18 ถึง 59 ซม. ในศตวรรษนี้ และระบุว่า ยังเป็นไปได้ที่จะเพิ่มสูงกว่านี้หากแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาและเกาะกรีนแลนด์ละลาย

    นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าบางคนไม่เห็นด้วยกับร่างก่อนหน้าที่ลดขอบเขตจากที่ปี 2001 คาดไว้ว่าน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 9 ถึง 88 ซม.ภายในปี 2100 ทั้งนี้ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจะคุกคามประเทศอย่าง คิริบาตี ตลอดจนเมืองริมทะเลต่างๆ นับตั้งแต่ เซี่ยงไฮ้ ถึง บัวโนสไอเรส

    ---------------------------------------------------------------------------------------------

    ที่มา : ข่าวสด 01/02/2550

    "โลกร้อน"จะทำคนอดอยากหลายร้อยล้าน จีน-ออสซี่ขาดแคลนน้ำถึงขั้นวิกฤต

    เอเจนซี/เอเอฟพี - อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ผู้คนอีกหลายร้อยล้านหิวโหย ภายในปี 2080 และเป็นสาเหตุให้เกิดการขาดแคลนน้ำถึงขั้นวิกฤตในจีนและออสเตรเลีย รวมไปถึงบางส่วนของยุโรปและสหรัฐฯ นักวิทยาศาสตร์เตือนไว้ในรายงานสภาพภูมิอากาศโลกฉบับใหม่ที่รั่วออกมา

    ยังไม่ทันที่ตัวรายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (IPCC) จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์กำลังแก้ไข แต่ข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวกับร่างรายงานดังกล่าวก็ได้รั่วไหลออกมา โดยระบุว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผู้คนประมาณ 1,100 ล้าน ถึง 3,200 ล้านคน ขาดแคลนน้ำ ขณะที่อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2-3 องศาเซลเซียส

    รายงานส่วนที่สองดังกล่าว ซึ่งมีกำหนดจะเผยแพร่ในเดือนเมษายน แต่ นสพ.ดิเอจ (The Age) ของออสเตรเลีย นำรายละเอียดมาตีพิมพ์ก่อน ระบุว่า คนทั่วโลกอีก 200 ถึง 600 ล้านคน จะขาดแคลนอาหารในอีก 70 ปีข้างหน้า และน้ำท่วมชายฝั่งจะทำลายบ้านเรือนอีก 7 ล้านหลัง

    "ข่าวสารที่ได้ออกมาก็คือ ทุกภูมิภาคของโลกจะได้รับผลกระทบ" ดร.แกรม เพียร์แมน ซึ่งเป็นผู้ช่วยร่างรายงานชิ้นนี้ กล่าว

    "ถ้าลองดูที่จีน เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรมของพวกเขาจะขาดหายไปเป็นจำนวนมาก" เพียร์แมน อดีต ผอ.ด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย เผย
    ทวีปแอฟริกาและประเทศยากจน เช่น บังกลาเทศ จะเป็นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะพวกเขามีความพร้อมจะรับมือกับภัยตามชายฝั่งและความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นน้อยที่สุด เพียร์แมนกล่าว

    ไอพีซีซี ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปด้านภูมิอากาศจากทั่วโลก กำหนดจะเผยแพร่ส่วนแรกของรายงานฉบับนี้ในวันศุกร์ที่ 2 ก.พ.ที่กรุงปารีส โดยจากเนื้อหาซึ่งรั่วออกมาแล้วเช่นกัน ไอพีซีซีคาดไว้ในเนื้อหาของส่วนแรกนี้ว่า ภายในปี 2100 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 4.5 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยมีการ "ประมาณแบบเจาะจงที่สุด" อยู่ที่ 3 องศาเซลเซียส

    รายงานส่วนแรกนี้ มุ่งสรุปรวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่วนรายงานส่วนที่สองของเดือนเม.ย. จะกล่าวถึงรายละเอียดผลกระทบของภาวะโลกร้อนและทางเลือกต่างๆสำหรับการปรับตัวรับมือ

    ตามข่าวของดิเอจ ร่างรายงานส่วนที่สอง มีบทหนึ่งที่กล่าวถึงออสเตรเลียทั้งบท โดยเวลานี้แดนจิงโจ้ก็กำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดนับแต่มีการบันทึกมา รายงานเตือนว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแนวปะการัง Great Barrier Reef อาจกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี ภายในปี 2030 เป็นอย่างเร็ว เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นกรดมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเตือนด้วยว่า แนวปะการังดังกล่าว อาจ "สูญพันธุ์" ลงได้

    นอกจากนี้ หิมะจะหายไปจากเทือกเขาฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำเมอร์เรย์-ดาร์ลิง ซึ่งเป็นเขตเพาะปลูกสำคัญของประเทศ จะลดลงประมาณ 10 ถึง 25% ภายในปี 2050 สำหรับในยุโรป ธารน้ำแข็งจะหายไปจากเทือกเขาแอลป์ตอนกลาง ส่วนประเทศที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกจะถูกเล่นงานอย่างหนักจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและพายุโซนร้อนที่จะเกิดบ่อยขึ้น

    นอกจากรายงานของไอพีซีซีแล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ก็มีรายงานข้อมูลโดยโครงการสิ่งแวดล้อมของยูเอ็น (UNEP) ระบุว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสัญญาณเด่นชัดว่า ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงใหญ่ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว

    ธารน้ำแข็งที่อ้างในรายงานจำนวน 30 แห่ง ซึ่งหน่วยงาน World Glacier Monitoring Service เป็นผู้เฝ้าติดตาม มีความหนาลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 66 ซม. ในปี 2005 "ข้อมูลชิ้นใหม่นี้ ยืนยันแนวโน้มการละลายที่รวดเร็วขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา" คำแถลงของ UNEP ระบุการก่อตัวของธารน้ำแข็งทั่วโลกลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 10.5 เมตร ตั้งแต่ปี 1980 ในทศวรรษนี้ ธารน้ำแข็งดังกล่าว ละลายโดยเฉลี่ยแต่ละปีเร็วกว่าในช่วงทศวรรษ 90 ประมาณ 1.6 เท่า และละลายเร็วกว่า ในทศวรรษ 80 ประมาณ 6 เท่า
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ที่มา : มติชน 31/01/2550

    เตือนรับสารพัดวิกฤตจากโลกร้อน

    *ความรุนแรงของปัญหาภาวะโลกร้อนจะทำให้ผู้คนหลายพันล้านขาดน้ำ อีกนับล้านคนต้องอดอยากหิวโหย จีนและออสเตรเลียจะประสบกับภาวะการขาดแคลนน้ำขั้นวิกฤต ขณะที่พายุฤดูร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดบ่อยขึ้น*

    ร่างรายงานฉบับล่าสุดว่าด้วยภาวะโลกร้อนซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี ซึ่งนักวิชาการและเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ กว่า 500 คนกำลังหารือปรับแก้ถ้อยคำกันอยู่ในการประชุมที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าจะนำมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการในปลายสัปดาห์นี้ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลของหลายประเทศรวมถึงภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังมากขึ้น จากการรวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมานำเสนอ

    ในร่างรายงานซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ระบุว่า ภายในศตวรรษนี้ภาวะโลกร้อนจะทำให้ผู้คนราว 1.1-3.2 พันล้านคนทั่วโลกประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ เมื่ออุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นราว 2-4.5 องศาเซลเซียส ขณะที่คนอีกราว 200-600 ล้านคนทั่วโลกจะประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารในอีก 73 ปีข้างหน้า ส่วนปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากน้ำแข็งขั้วโลกหลอมละลายก็จะส่งผลกระทบกับผู้คนไม่น้อยกว่า 7 ล้านครัวเรือน

    ปริมาณฝนที่ตกในจีนและออสเตรเลียจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ด้านประเทศในทวีปแอฟริกาและประเทศยากจน อาทิ บังกลาเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากมีความสามารถในการรับมือกับปัญหาความแห้งแล้งและผลกระทบที่เกิดกับพื้นที่ชายฝั่งน้อยมากอยู่แล้ว

    ในออสเตรเลีย "เกรทแบริเออร์รีฟ" แนวหินปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะถูกทำลายจนหมดสิ้น เพราะสภาพน้ำทะเลที่เป็นกรดจะทำให้ปะการังถูกฟอกขาวจนเหลือเพียงโครงหินปูน เช่นเดียวกับหิมะที่จะหายไปจากยอดเขาแอลป์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ในเวลาเดียวกันน้ำซึ่งไหลสู่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเมอร์เรย์-ดาร์ลิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักของออสเตรเลียก็จะลดปริมาณลงร้อยละ 10-25 ภายในปีนี้เนื่องจากการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงที่เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ปีก่อน

    สำหรับทวีปยุโรปธารน้ำแข็งจะหายไปจากเทือกเขาแอลป์ และเกาะบางแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกก็จะจมอยู่ใต้น้ำ และจะต้องเผชิญกับพายุฤดูร้อนบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นด้วย ดร.แกรม เพียร์แมน ผู้ช่วยร่างรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ที่สุดแล้วนี่คือเรื่องที่แต่ละภูมิภาคจะต้องประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงด้วยตนเอง
    เพียงร์แมนชี้ว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้นจากรายงานฉบับนี้คือการกระตุ้นความพยายามของประชาคมโลกผ่านการปฏิบัติอย่างฉับพลัน ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นตามที่มีการคาดการณ์ เพราะรายงานชิ้นนี้พิจารณาบนพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาในแบบเดิมๆ

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    ที่มา : ข่าวสด 30/01/2550

    ยูเอ็นยันโลกร้อน-อิเหนาเสี่ยงวิกฤต!

    สำนักงานจับตาธารน้ำแข็งโลกในสวิตเซอร์แลนด์ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ หรือยูเอ็นอีพี เปิดรายงานการศึกษาล่าสุดที่พบว่า การละลายของชั้นน้ำแข็งตามภูเขาที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวบ่งบอกภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอากาศที่เพิ่มความเร็วขึ้น

    จากการเก็บข้อมูลของสำนักงานดังกล่าว พบว่าความหนาของชั้นน้ำแข็งลดลงโดยเฉลี่ย 66 เซนติเมตรในปี 2548 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยืนยันแนวโน้มการละลายของน้ำแข็งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา จากเดิมที่ธารน้ำแข็งทั่วโลกมีความหนาประมาณ 10.5 เมตร ตั้งแต่ปี 2523 แต่ต่อมาในช่วง 2533-2543 การละลายตัวในแต่ละปีเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 1.6 เท่า และหากกลับไปเทียบกับช่วงปี 2523-2533 แล้วถือว่าเร็วกว่าเดิมถึง 6 เท่า

    มิชาเคล เซมป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยธารน้ำแข็ง กล่าวว่า พื้นที่ที่เคยปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งในปัจจุบันมีจำนวนลดลงไปด้วยเดิมเทียบกับช่วงยุค 2523 ทำให้ไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปแล้ว ว่านี่เป็นภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก

    ด้านนายอาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการยูเอ็นอีพี กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า มนุษย์มีส่วนกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพอากาศโลก สอดคล้องกับข้อมูลว่า ปี 2549 ที่ผ่านมาเป็นปีที่โลกมีอากาศร้อนที่สุด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกในวันที่ 2 ก.พ.ต่อไป

    วันเดียวกัน เอพีรายงานว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียนำเสนอรายงานต่อนายยอฟ เดอ โบเออร์ เจ้าหน้าที่ด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติระบุว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกาะของอินโดนีเซีย ซึ่งมีราว 18,000 เกาะ ส่วนใหญ่ไม่มีคนอาศัยอยู่ จมหายไปในทะเล 2,000 เกาะภายในปี 2573 เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังจะต้องเผชิญภาวะขาดแคลนข้าวในปี 2551 เพราะสภาพอากาศที่วิกฤตแปรปรวนฝนไม่ตกตามฤดูกาลทำให้ชาวนาปลูกข้าวไม่
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 08/01/2550

    ระวังเอล นิโญ-โลกร้อน ปี"50 ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์

    การเปลี่ยนแปลงอย่างน่าหวาดวิตกของอุณหภูมิโลก (climate change) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ภาวะโลกร้อน (global warming) เป็นหนึ่งในประเด็นวิตกของโลก ซึ่งกำลังสร้างแรงกระเพื่อมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อได้อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ "อัล กอร์" และองค์การสหประชาชาติ เป็นโต้โผใหญ่ในการผลักดัน ซึ่งน่าสนใจว่า แค่เปิดศักราชใหม่มาได้ไม่นาน ก็มีคำทำนายใหม่ออกมาเสียแล้วว่า ระวังปี 2550 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด
    หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ ของอังกฤษ รายงานอ้างคำกล่าวของฟิล โจนส์ แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียซึ่งคาดการณ์ว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่อากาศร้อนกว่าปี 2541 ปีที่ถือว่าร้อนที่สุด โดยเขาอธิบายปรากฏการณ์เอล นิโญ ได้ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น จนทำให้ปัจจุบันโลกอยู่ในแนวโน้มที่อากาศจะอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1/10 ถึง 2/10 องศาเซลเซียสทุก 10 ปี ดังนั้นเมื่อพิจารณาประกอบกัน หากปีนี้ ปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ทำให้โลกในปี 2550 มีอุณหภูมิร้อนกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้ตลอด 12 เดือนนับจากนี้เป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
    ด้าน เจมส์ แฮนเสน ศาสตราจารย์อีกรายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก และ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอวกาศแห่งนาซ่า เห็นไปในทางเดียวกับฟิล โจนส์ พร้อมเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงของอากาศอาจเป็นสถานการณ์ที่ยากจะแก้ไขได้ หากยังไม่มีการลดมลพิษที่เป็นตัวก่อภาวะเรือนกระจกโดยเร็วและมากที่สุด โดยการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์
    เอล นิโญเป็นกระแสน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีอุณหภูมิอุ่นมากขึ้น ซึ่งนานๆ มักจะเกิดขึ้นสักครั้ง และมีผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ปรากฏการณ์เอล นิโญครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี 2540 และ 2541 ทั้งนี้ปรากฏการณ์เอล นิโญ ในปี 2540-2541 ได้ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปประมาณ 2,000 คน และสร้างความเสียหายทั่วโลก ประมาณ 30-37 พันล้านดอลลาร์
    อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาถือเป็นฤดูหนาวที่ร้อนที่สุดของอังกฤษ นับจากปี 2499
    ในขณะเดียวกันนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งใน ละตินอเมริกาเตือนว่า ภาวะโลกร้อนอาจทำให้ป่าร้อนชื้นที่มีฝนตกชุกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่ยังหลงเหลือ มีสภาพไม่ต่างจากทุ่งหญ้าสะวันนา ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เพราะหากปล่อยปละปัญหาโลกร้อนโดยไม่มีการควบคุม ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้ฝนตกน้อยลง และอุณหภูมิในพื้นที่ดังกลาวสูงขึ้นอย่างมาก
    โฮเซ่ อันโตนิโอ มาเรนโก นักอุตุนิยมวิทยาของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ ในบราซิล ระบุว่า การศึกษาของพวกเขาพุ่งไปที่ความเป็นไปได้ใน 2 กรณี คือกรณีที่เลวร้ายที่สุด และกรณีที่มองในด้านดีขึ้นมาหน่อย ในกรณีแรกนั้นเป็นไปได้ที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 5-8 องศาเซลเซียส จนถึงปี 2646 โดยที่ระดับฝนตกจะลดลง 15-20% ซึ่งหากเป็นจริง สถานการณ์นี้จะส่งผลให้ป่าอะเมซอนแปรสภาพไปไม่ต่างอะไรกับทุ่งหญ้าสะวันนา
    "ความเป็นไปได้ในกรณีนี้ประเมินตามสมมติฐานที่ว่า จะไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์โลกร้อน และการทำลายป่ายังดำเนินต่อไปในระดับปัจจุบัน" มาเรนโกกล่าว
    แต่หากเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งมองในแง่ดีมากกว่านั้น ประเมินจากสมมติฐานที่ว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ เร่งดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง เพื่อหยุดยั้งปัญหา นั่นอาจจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่ถึงกระนั้นอุณหภูมิในป่าอะเมซอนยังคงเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส และปริมาณฝนตกลดลง 5-15%
    หากมีการควบคุมการแพร่ลดภาวะทางอากาศและลดการทำลายป่า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5 องศาในปี 2643 ซึ่งหากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ ป่าร้อนชื้นที่มีฝนตกชุก ก็จะไม่ถึงขั้นวิกฤตสูญสลายไป

    ----------------------------------------------------------------------------------

    ที่มา : คมชึดลึก 08/01/2550

    ทิเบตร้อนเป็นประวัติการณ์บ่งชี้โลกร้อนขึ้น


    ปักกิ่ง-ผลสำรวจพบที่ราบสูงทิเบตมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ดอกซากุระในสหรัฐบานเร็วกว่าปกติ 3 เดือน เพิ่มความหวาดหวั่นโลกกำลังเผชิญผลกระทบรุนแรงจากภาวะโลกร้อน
    สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (7 ม.ค.) ว่า อุณหภูมิบนที่ราบสูงทิเบต แถบเทือกเขาหิมาลัย ร้อนเป็นประวัติการณ์ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา โดยเมื่อวันศุกร์ อุณหภูมิในเขตชามโต ทางตะวันออกของทิเบต อยู่ที่ 21.8 องศาเซลเซียส สูงกว่าสถิติเดิมของอุณหภูมิวันเดียวกันเมื่อปี 2539 อยู่ 1.7 องศาเซลเซียส ส่วนเมื่อวันพฤหัสบดี อุณหภูมิในเขตเติงเชินซึ่งอยู่ทางตะวันออกเช่นกัน แตะระดับ 16.6 องศาเซลเซียส สูงกว่าสถิติเดิมของวันเดียวกันเมื่อปี 2544 ถึง 2.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีก 8 จุดทั่วภูมิภาคที่มีอุณหภูมิร้อนเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่วันมานี้ด้วย

    ด้านหนังสือพิมพ์พีเพิล เดลี รายงานว่า ผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าที่ราบสูงทิเบตซึ่งถือกันว่าเป็นมาตรวัดสภาพอากาศโลกกำลังมีปัญหาธารน้ำแข็งละลายมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงด้านนิเวศวิทยาอื่นๆ โดยในช่วง 30 ปีมานี้ธารน้ำแข็งแถบทิเบตละลายในอัตราเฉลี่ย 131.4 ตารางกิโลเมตรต่อปี ขณะที่คณะนักสำรวจ กล่าวว่า ถึงแม้ปัญหาโลกร้อนจะไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้ แต่ธารน้ำแข็งแถบนั้นก็จะมีขนาดลดลงเกือบ 1 ใน 3 ภายในปี 2593 และจะลดเหลือครึ่งเดียวในปี 2633 อยู่ดี

    ผลสำรวจยังพบว่า แนวหิมะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสวนทางกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่ลดน้อยลง และพื้นที่แห้งแล้งที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 30 ปีก่อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าปัญหาทั้งหมดจะยิ่งเลวร้ายลงหากธารน้ำแข็งยังคงละลายมากขึ้น ขณะะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเปิดเผยผลการประเมินระดับชาติเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกระบุว่าอุณหภูมิในจีนจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่สิบปีข้างหน้า ปัญหาขาดแคลนน้ำจะเลวร้ายลง ในขณะที่สภาพอากาศจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วย

    สำหรับพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกก็ประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนด้วยเช่นกัน ที่ญี่ปุ่นนั้นเกิดเหตุพายุหิมะรุนแรงทำให้การสัญจรเกือบทั่วประเทศเป็นอัมพาต เที่ยวบินโดยสารต้องถูกยกเลิกกว่า 100 เที่ยวบิน ในขณะที่รถไฟหัวกระสุนก็ต้องล่าช้าออกไป ส่วนที่สหรัฐนั้นเกิดพายุหิมะพัดถล่มรัฐโคโลราโด ขณะที่ภาคตะวันออกเผชิญกับสภาพอากาศอุ่นกว่าปกติจนดอกซากุระในกรุงวอชิงตันบานเร็วกว่าปกติถึง 3 เดือน เช่นเดียวกับต้นฟอร์ซิเธียที่มีดอกสีเหลืองบานเป็นพุ่มทั้งที่ควรจะบานในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นผลจากภาวะโลกร้อน


     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <table class="logfont" align="center" border="0" cellpadding="2" cellspacing="0" width="97%"><tbody><tr><td class="text">[​IMG]

    </td> </tr> <tr> <td class="text">
    [​IMG]


    รูปที่ 14
    แสดงความเปลี่ยนแปลงตลอดปี ระหว่างโอโซนเฉลี่ยในปี 1964-1980
    และ 1984-1993 ชัดเจนว่าบริเวณขั้วโลกลดลงมากถึงร้อยละ 35 ในเดือนตุลาคมเหนือขั้วโลกใต้
    ในละติจูดกลางและขั้วโลกเหนือ(ในฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ) ลดลงร้อยละ 7 ส่วนเขตศูนย์สูตร
    (รวมทั้งประเทศไทย) ไม่มีความเปลี่ยนแปลง
    </td> </tr> <tr> <td class="text">โอโซนตามความสูง ลดลงมากสุดที่ชั้นสตราโตสเฟียร์ตอนล่าง จากการหยั่งอากาศที่เมือง Hohenpeissenberg ประเทศเยอรมัน แสดงโอโซนเป็นความกด (partial pressure) ที่ความสูง 19-21 กิโลเมตร ลดลง 30 นาโนบาร์ (nb) หรือประมาณร้อยละ 20 ของเทียบกับ 25 ปีก่อน ดังรูปที่ 15</td> </tr> <tr> <td class="text">

    [​IMG]

    รูปที่ 15 โอโซนที่ความสูง 19-21 กิโลเมตร ณ Hohenpeissenberg ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ จาก 25 ปีก่อน จากการพลอตค่าเฉลี่ย 12 เดือน เห็นได้ชัดว่ามีการกวัดแกว่งในรอบ 2 ปี
    เป็นผลจากการกวัดแกว่ง QBO ของการเคลื่อนที่ในชั้นสตราโตสเฟียร์
    </td> </tr> <tr> <td class="text">1.6 โอโซนผิวพื้นกำลังเพิ่มขึ้น

    ในขณะที่โอโซนในสตราโตสเฟียร์กำลังลดลง โอโซนในโทรโพสเฟียร์กำลังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ต่อ 10 ปี ในซีกโลกเหนือ โอโซนที่เพิ่มขึ้นตรวจพบในบริเวณไฟใหม้ในทุ่งหญ้าสะวันนา (Savannah) ในเขตร้อน การที่โอโซนเพิ่มขึ้นในบริเวณโทรโพสเฟียร์ เพราะมีรังสีดวงอาทิตย์กระทบกับมลพิษบางชนิด โดยเฉพาะ ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซึ่งเกิดจากการปลดปล่อยบริเวณพื้นผิว ไอเสียเครื่องบินและรถยนต์ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของสารกระตุ้นหรือสารเริ่มต้นของปฏิกิริยา (Precursors) เช่น มีเทน (CH4) และคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) คิดเป็น 2 เท่าตัว เทียบกับเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา หรือบางแห่งโอโซนเพิ่มขึ้น มากกว่า ร้อยละ 1 ต่อปี นับจากปลายศตวรรษที่ 19 รวมทั้งการตรวจวัดโอโซนเชิงเคมีที่ Montsouris (Paris) และเครือข่าย ที่ใช้วิธี ของ Sch?nbein (ผู้ค้นพบโอโซน) การตรวจวัดเป็นครั้งคราวจากเครื่องบินในต้นทศวรรษที่ 1940 และติดตามต่อเนื่องมาใน Pic du Midi ประเทศฝรั่งเศส และเยอรมันนีตอนใต้ อีกด้วยไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา บริเวณเหนือผิวพื้นในโทรโพสเฟียร์ตอนกลางและตอนบน ก็พบโอโซนเพิ่มขั้นมากเช่นกัน ดังรูปที่ 16 แต่อย่างไรก็ตามโอโซนที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่สามารถชดเชยโอโซนที่ลดลงในสตราโตสเฟียร์ได้โอโซนที่เพิ่มขึ้น บริเวณผิวพื้นมีผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ เช่น การแสบตา ระคายเคืองต่อหลอดลม นอกจากนั้นเพราะว่าโอโซนทำปฏิกิริยากับโมเลกุลอื่นๆ ได้อย่างง่ายด้วยการออกซิไดซ์ โอโซนใกล้ผิวพื้นเป็นส่วนประกอบที่สำดัญของหมอกที่เกิดขึ้น ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว ปราศจากเมฆในเมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลต่างๆ เริ่มมีมาตรการควบคุมมลพิษในปัจจุบัน
    </td> </tr> <tr> <td class="text">

    [​IMG]

    รูปที่ 16 โอโซนผิวพื้นจากสถานี Montsouris (M) และPic du Midi (D )สำหรับ50 ปีหลังของศตวรรษที่ 19 น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งวัดที่สถานี Hohenpeissenberg (HP) Arkona (A) Zugspitze (Z) และ Pic du Midi (D ) แสดงให้เห็นชัดว่าโอโซนในโทรโพสเฟียร์เพิ่มขึ้นในซีกโลกเหนือที่ความกด 400 hPa (ประมาณ 7.2 กม.)
    </td> </tr> <tr> <td class="text">
    1.7 ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโอโซนต่อรังสีอัลตราไวโอเลต


    ทั้งโอโซนและสารประกอบฮาโลคาร์บอนเป็นก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) เหมือนกับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีบทบาทในการดูดกลืน และปลดปล่อยรังสีช่วงอินฟราเรดที่แผ่ออกจากโลก ฉะนั้นจึงทำให้บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ตอนล่างอุ่นขึ้น เนื่องจากโอโซน ไม่ได้กระจายตัวอย่างเป็นรูปแบบ และไม่เสถียร ดังนั้นการแผ่รังสี (Radiative Forcing) จึงซับซ้อนมากกว่าก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นๆ ซึ่งมีช่วงชีวิตยาว ถึงแม้จะมีการคลุกเคล้ากัน โดยทั่วไปเมื่อเพิ่มโอโซนในชั้นโทรโพสเฟียร์ จะทำให้บรรยากาศอุ่นขึ้นโดยเฉพาะในบริเวณโทรโพพอส ดังนั้นการลดลงของโอโซนในสตราโตสเฟียร์ จึงทำให้บรรยากาศเย็นลง อุณหภูมิที่ลดลงเล็กน้อย คือ 0.6-0.8 องศาเซลเซียส ที่ความสูง 12-20 กิโลเมตรระหว่าง 20 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นผลกระทบของการแผ่รังสีเมื่อโอโซนลดลง ความถูกต้องในการประเมินผลกระทบของการแผ่รังสี (Radiative effect) ของการเปลี่ยนแปลงโอโซน ถูกจำกัดโดยข้อมูลการกระจายตัวของโอโซนตามความสูง ตามละติจูดและลองติจูด อย่างไรก็ตามจากการคำนวณในปีหลังๆ ได้สนับสนุนข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่า การลดลงของโอโซนในหลายสิบปีที่ผ่านมา ให้ผลการแผ่รังสีที่เป็นลบ เช่น การเย็นลงของภูมิอากาศ ขณะที่มีการแผ่รังสีเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซอื่นๆ 15-20 % การเพิ่มขึ้นของโอโซนในโทรโพสเฟียร์ตั้งแต่ก่อนยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา อาจเพิ่มการแผ่รังสีเนื่องจากก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 20 ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ สามารถมีผลต่อสมดุลการแผ่รังสีของระบบอากาศโดยรวมบนโลก และโครงสร้างอุณหภูมิของบรรยากาศ เป็นเหตุของความเปลี่ยนแปลงรูปแบบการหมุนเวียนบรรยากาศอื่นๆ ที่อาจยังไม่สามารถทำนายได้ </td> </tr> <tr> <td class="text">

    โอโซนและผลกระทบต่อภูมิอากาศหรือการแผ่รังสี
    คุณสมบัติหรือศักยภาพของผลกระทบต่อภูมิอากาศ มักใช้คำนิยาม radiative forcing มีหน่วย วัตต์ต่อ ตารางเมตร (W/m^2 ) การประมาณเพื่อทำนายความเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวพื้นโดยใช้หลักของรังสีดวงอาทิตย์สุทธิ (net Solar) และ รังสีความร้อนช่วงอินฟราเรดที่โทรโพพอส ซึ่งไม่มีอิทธิพลจากเมฆ ฝุ่นละอองและมหาสมุทร ค่าบวกแสดงว่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นหรือ ทำให้อบอุ่นขึ้น ค่าลบคือการเสียพลังงานหรือการเย็นลงของบรรยากาศ
    โอโซนในโทรโพสเฟียร์ ได้เพิ่มขึ้นในซีกโลกเหนือตั้งแต่ก่อนยุคอุตสาหกรรม จากแบบจำลองและการตรวจวัดพบว่ามี Radiative forcing เป็นบวก ประมาณ 0.5 วัตต์ต่อตารางเมตร
    โอโซนในสตราโตสเฟียร์ลดลงนับจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาต่างๆ ได้รับการยืนยันว่า ระหว่าง ปี 1980-1990 ก่อให้เกิด Radiative forcing เป็นลบ ประมาณ 0.1 วัตต์ต่อตารางเมตร เปรียบเทียบกับ ค่าบวกประมาณ 0.45 วัตต์ต่อตารางเมตรที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในช่วงเดียวกัน
    ค่าเฉลี่ยการแผ่รังสีทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโอโซน ดูเหมือนจะเป็นบวกตั้งแต่ก่อนยุคอุตสาหกรรม เกิดขึ้นถึงร้อยละ 20 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุให้มีการแผ่รังสีเพิ่มขึ้นในช่วงนั้น


    </td> </tr> <tr> <td class="text">

    [​IMG]

    รูปที่ 17 ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงโอโซนต่อการแผ่รังสี โดยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด (CO2, CH4, N2O, CFCs และO3) จากปี 1971-1980 ถึง 1981-1990 เหนือละติจูดกลางซีกโลกเหนือ โดยใช้การตรวจหยั่งอากาศ ณ สถานี Hohenpeissenberg การคำนวณจากแบบจำลอง 2 แบบคือแบบจำกัดอุณหภูมิ (fixed Temperature, FT)
    และจำกัดความร้อนเชิงไดนามิกส์ (Fixed dynamical heating, FD) แสดงการเปลี่ยนแปลงโอโซนในเดือนมกราคม มีผลต่อการแผ่รังสีประมาณครึ่งหนึ่งของเดือนกรกฎาคม

    </td> </tr> <tr> <td class="text">
    การเปลี่ยนแปลงโอโซนกับรังสีอัลตราไวโอเลต


    บทบาทของโอโซนในบรรยากาศในการปกป้องรังสีดวงอาทิตย์ที่เป็นอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต แม้เป็นเพียงปริมาณเล็กน้อยของรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบี (UV-B) ที่ผ่านชั้นโอโซนสามารถกระทบต่อสุขภาพคนเรา เช่น โรคตา ต้อกระจก อันตรายต่อเนื้อเยื่อผิวหนัง และการเพิ่มขึ้นของมะเร็งผิวหนังชนิดนอนมีลาโนมา (non-melanoma) การทำลายดีเอ็นเอทางพันธุกรรมและยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันร่างกายภายใต้สภาวะที่ปราศจากเมฆนั้น การลดลงของโอโซน 1 เปอร์เซ็นต์ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบีที่ผิวโลกเพิ่มขึ้น 1.3 เปอร์เซ็นต์ การลดลงของโอโซนทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบ ีหรือที่ความยาวคลื่น 280-320 นาโนเมตรส่งถึงผิวพื้นโลกได้มากขึ้น (ยกเว้นในเขตร้อน) โอโซนที่ลดลงยังมีผลกระทบทางเคมีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืช ระบบนิเวศน์ในน้ำ แพลงตอน และผลด้านอื่นๆที่ยังมองไม่เห็น จากการประเมินพบว่าเมื่อโอโซนลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังชนิดนอนมีลาโนมาเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์กรณีไฟโตแพลงตอนในทะเล เป็นแหล่งสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ และเมื่อรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบีกระทบต่อไฟโตแพลงตอน จึงมีส่วนกับอนาคตของคาร์บอนไดออกไซด์และต่อภูมิอากาศในที่สุด รังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบีที่เพิ่มขึ้น จะทำให้มีอัตราการแตกตัวมากขึ้น ของก๊าซที่จำเป็นในการควบคุมขบวนการทางเคม ีในโทรโพสเฟียร์ความเข้มของรังสีอัลตราไวโอเลตที่พื้น ขึ้นอยู่กับ เมฆที่ปกคลุม การสะท้อน ฝุ่นละอองในบรรยากาศ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และโอโซน โดยความสัมพันธ์ที่แปรกลับกันรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบี ที่ตรวจพบขณะมีรูรั่วโอโซนมากที่สุด คือเดือนตุลาคมถึงก่อนเดือนมิถุนายน และรังสีที่ทำลายดีเอ็นเอ วัดที่สถานี Palmer (ละติจูด 64 องศาใต้) ในเดือนตุลาคมสูงกว่าค่าสูงสุดฤดูร้อนที่วัดได้ที่ SanDiego (32 องศาเหนือ) ที่ละติจูดกลางรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบีเพิ่มขึ้นน้อยกว่าแต่มีความชัดเจน ขณะโอโซนลดลงเช่น โอโซนลดลงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ที่ตรวจพบที่อเมริกาใต้ เดือนตุลาคมเมื่อ 15 ปีก่อนทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตที่ Ushuaia กลางเดือนตุลาคม 1994 ที่ 300 นาโนเมตรเพิ่มเป็น 5 เท่าและที่ 305 นาโนเมตรเพิ่มเป็น 2 เท่าเทียบกับขณะโอโซนปกติ ดังรูปที่ 18
    </td> </tr> <tr> <td class="text">

    [​IMG]

    รูปที่ 18 ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 1994 รูรั่วโอโซนขยายไปถึง Ushuaia (55 องศาใต้) ปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลต ที่ส่องถึงพื้นจะกลับกันกับค่าโอโซนที่วัดได้เหนือศีรษะ สังเกตกลางเดือนตุลาคม ปี 1994 ณ วันที่ 17 ตุลาคม วัดโอโซนได้ 151 มิลลิ บรรยากาศ เซนติเมตร(ลดลง 60 เปอร์เซ็นต์) และพบว่ารังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบี ที่ 305 นาโนเมตร(nm) วัดได้เกือบ 30 ไมโครวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร และที่ 300 นาโนเมตรวัดได้เกือบ 8 ไมโครวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร เพิ่มขึ้นจากปกติอย่างเห็นได้ชัด
    </td></tr></tbody></table>
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    มลพิษในอากาศมีผลเสียถึงรุ่นลูก โดยผ่านทางพันธุกรรมได้

    จากการศึกษาในหนูพบว่า เขม่าควันดำ ก่อให้เกิดความผิดปกติของ DNA ที่สามารถสืบต่อทางพันธุกรรมไปยังรุ่นลูกได้

    อากาศในเมืองใหญ่ๆเป็นมลพิษจาก ไอเสีย หรืออนุภาค ที่ถูกปล่อยออกมาจากรถยนต์ โรงงานต่างๆ หรือ โรงไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้ทำลายระบบนิเวศวิทยา และสุขภาพ จากการศึกษาทางระบาดวิทยา เรารู้ดีว่ามลพิษทางอากาศเกี่ยวข้องกับหลายๆโรค รวมถึง หอบหืด โรคหัวใจ และมะเร็งปอดด้วย

    เป็นที่ทราบกันแล้วว่า มลพิษนั้นก่อให้เกิด mutationของเซลล์ร่างกาย (somatic cells)ได้ สาเหตุก็มาจากสารเคมีที่อยู่ในอนุภาคเล็กๆในอากาศที่สกปรกเหล่านี้ กระตุ้นให้เกิด mutation ทำให้เซลล์ผิดปกติ จนเกิดเป็นมะเร็งปอดขึ้นมาได้ แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาว่า มลพิษมีผลเสียต่อเซลล์ที่ใช้ในการสืบพันธุ์ (germ cells) หรือไม่ อย่างไร จนกระทั่งล่าสุด Dr.Somers และคณะจาก Ontario’s McMaster University ได้ทำการศึกษาถึงผลของมลพิษเหล่านี้ต่อ เซลล์ที่ใช้ในการสืบพันธุ์ ในหนู และพบว่าอนุภาคในอากาศสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติของ DNA ในเซลล์สืบพันธุ์ของหนูตัวผู้ และความผิดปกตินี้ก็พบในหนูรุ่นลูกด้วย

    อันที่จริงแล้วการทดลองนี้ ต่อเนื่องมาจากการค้นพบในปี 2002ว่านกในเขตเมือง มีอัตราการเกิด mutation มากกว่านกในชนบท

    คำถามก็คือว่า เป็นเพราะอะไร

    ในการทดลองครั้งนี้ Dr.Somers แบ่งหนูเป็นสองกลุ่ม เลี้ยงในบริเวณโรงงานอุตสาหกรรม และเหมือนแร่เหล็ก กลุ่มหนึ่งได้รับอากาศปกติจากภายนอก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเลี้ยงในห้องที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศ แบบที่ใช้ HEPA filter (high-efficiency-particulate-air) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง สามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กระดับไมครอนได้

    เมื่อหนูที่ถูกทดลองนี้ออกลูกมา ก็พบว่าลูกๆของหนูทีได้รับอากาศมลพิษจากภายนอก มีอัตราmutation มากกว่าลูกหนูที่เลี้ยงในห้องที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศ 52% และความผิดปกตินี้ส่งผ่านมาทางพ่อ การที่เครื่องกรองอากาศช่วยลดอัตราความผิดปกติ ชี้ให้เห็นว่า อนุภาคเล็กๆในมลพิษเป็นสาเหตุของmutation ที่สืบทอดทางพันธุกรรมนี้

    การค้นพบนี้ช่วยกระตุ้นให้เราระมัดระวังมลพิษมากขึ้น เพราะมันไม่ได้มีผลเสียต่อเราคนเดียว แต่อาจส่งผลไปถึงลูกๆของเราด้วย และยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และประสิทธิภาพของเครื่องกรองอากาศ และเราไม่ควรลืมว่าในธรรมชาติก็มีเครื่องกรองอากาศเช่นกัน คือต้นไม้ อนุภาคในอากาศจะเกาะติดกับใบไม่ได้ ซึ่งนักการเมือง หรือผู้ที่รับผิดชอบในการตัดถนน ควรพิจารณาถึงการปลูกต้นไม้ริมถนนด้วย

    อย่างไรก็ดี Dr.Samet จากJohns Hopkins University เตือนว่า เราไม่ควรตื่นตูมต่อการค้นพบนี้มากเกินไป ยังมีอีกหลายประเด็นที่เรายังตอบคำถามไม่ได้ เนื่องจากการทดลองนี้ตรวจความผิดปกติของ DNA ในส่วนที่ไม่ใช่ยีน และยังไม่ทราบกลไกที่ก่อให้เกิดความผิดปกตินี้ ต้องมีการศึกษามากกว่านี้ว่า ในคนจะพบการถ่ายทอดความผิดปกตินี้ หรือ mutation ในส่วนของยีนที่ก่อให้เกิดโรค ทางพันธุกรรมเหมือนในหนูหรือไม่ นอกจากนี้ ควรมีการตรวจ DNA ของหนูในรุ่นหลานด้วย

    ข้อมูลจาก

    - Study links sooty pollution, genetic mutations
    http://www.cnn.com/2004/TECH/science/05/14/pollution.mutations.ap/index.html
    - Do airborne particles induce heritable mutations? Samet J, DeMarini D, Malling H. Science 2004;304:971-972
    - Reduction of Particulate Air Pollution Lowers the Risk of Heritable Mutations in Mice Christopher M. Somers, Brian E. McCarry, Farideh Malek, and James S. Quinn. Science 2004 304: 1008-1010. (in Reports)

    **DNA มีทั้งส่วนที่จะถูกถอดรหัสคือเป็นยีน และส่วนที่ไม่ถูกถอดรหัสซึ่งยังไม่ทราบหน้าที่ของส่วนนี้อย่างแน่ชัด
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ปฏิกิริยาเคมียามกลางคืนที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดก๊าซโอโซน

    [​IMG]
    ในอดีตนักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่าการเกิดก๊าซโอโซนจะเกิดขึ้นในเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้นเเต่ในปัจจุบันความเชื่อนี้จะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป เนื่องจากข้อมูลใหม่ที่ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งมีเเนวคิดว่า “ถ้าการเกิดก๊าซโอโซนมีผลกระทบต่อการเกิดมลภาวะทางอากาศ ปฏิกิริยาการเกิดก๊าซโอโซนที่เกิดขึ้นยามค่ำคืนก็น่าที่จะมีผลกระทบเท่ากับปฏิกิริยาการเกิดก๊าซโอโซนที่เกิดขึ้นตอนกลางวัน” ซึ่งคำกล่าวนี้ได้รับการพิสูจน์โดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ในประเทศอังกฤษซึ่งตีพิมพ์บทความลงในวารสาร Geophysical Research Letters ฉบับเดือนเมษายนที่ผ่านมาโดยอ้างถึงการค้นพบกระบวนการเคมีบางอย่างที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการดึงก๊าซ nitrogen oxides (NOx) ออกจากบรรยากาศ ณ บริเวณชายทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ทำการทดลอง ซึ่งก๊าซ nitrogen oxides (NOx) นี้เป็นหนึ่งในสององค์ประกอบพื้นฐานในการทำให้เกิดก๊าซโอโซนขึ้น เมื่อมีก๊าซ nitrogen oxides (NOx) น้อยในบรรยากาศ จะพบว่าการเกิดขึ้นของก๊าซโอโซนก็จะลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าก๊าซโอโซนเป็นก๊าซสีฟ้า,มีฤทธิ์เป็นสาร oxidant-สารที่ทำหน้าที่รับอิเล็กตรอนในปฏิกิริยารีดอกซ์ซึ่งเมื่อได้รับอิเล็กตรอนจะเกิดเป็นฟรีเเรดดิเคิลที่มีความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยาสูง เเละสามารถเกิดขึ้นโดยใช้กระบวนการทางเเสง(photo reaction) ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา โดยปรกติก๊าซโอโซนเป็นก๊าซที่ไม่มีพิษพบมากในชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือผิวโลกซึ่งจะมีหน้าที่ดูดซับพลังงานของรังสีอุตราไวโอเลต(ultra-violet-UV)จากดวงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งผิวหนังเเละป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศของโลก เเต่เมื่อมีการสะสมของก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศทั่วไปจะทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจในสัตว์เเละมีผลกระทบต่อวงจรชีวิตของพืช ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับก๊าซโอโซน จนกระทั่งพบว่านอกจากกระบวนการที่กล่าวมาเเล้วข้างต้น ก๊าซโอโซนสามารถเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างไฮโดรคาร์บอน-สารเคมีอินทรีย์ที่ระเหยได้ง่าย (volatile organic compounds, VOCs) ทำปฏิกิริยากับ nitrogen oxides (NOx) ทั้งที่เกิดจากการปลดปล่อยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์เเละจากที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติภายใต้ภาวะที่มีเเสง ซึ่งการเกิดก๊าซโอโซนด้วยกระบวนการนี้เป็นสาเหตุให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว จึงมีผู้ทำวิจัยในเรื่องนี้เป็นจำนวนมากเเต่งานวิจัยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่กระบวนการของการเกิดโอโซนในภาวะที่มีเเสง(daytime processes) ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมลภาวะจากก๊าซโอโซน เเต่ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้ทำวิจัยค้นพบว่ากระบวนการเคมีที่เกิดขึ้นยามกลางคืน(nighttime processes) ก็มีผลต่อการเกิดก๊าซโอโซนได้เช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหลังจากพระอาทิตย์ตกเเล้ว สาร nitrogen oxides (NOx) จะเกิดปฏิกิริยาต่อไปกลายเป็นสารประกอบไนโตรเจนได้อีก 2 ชนิดโดยปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนี้สามารถเกิดขึ้นในเวลากลางคืน โดยก๊าซ nitrogen oxides (NOx) ที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนนี้ มีคุณสมบัติทั้งดึงก๊าซไนโตรเจนออกจากบรรยากาศเเละเก็บไนโตรเจนเเล้วเกิดการปล่อยปล่อยในเวลากลางวัน ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งสองรูปเเบบนั้นมีผลกระทบต่อกระบวนการเกิดก๊าซโอโซนที่เเตกต่างกัน โดยผู้ทำวิจัยพบว่าก๊าซที่พบอีกสองชนิดในกระบวนการที่เกิดตอนกลางคืนคือ nitrate radical(NO3) เเละ dinitrogen pentoxide(N2O5) ซึ่งก๊าซที่ค้นพบนี้โดยปรกติจะตรวจวัดปริมาณได้ยากคือก๊าซ dinitrogen pentoxide (N2O5) หรือจะตรวจวัดได้ต่อเมื่อพบมากในอากาศเช่นก๊าซ nitrate radical (NO3) ซึ่งทำให้ไม่สามารถตรวจวัดได้ในอดีต เเต่ในปัจจุบันนี้คณะผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้วิธีการใหม่ที่ทำให้สามารตรวจวัดก๊าซดังกล่าวได้เเม้ว่าจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยในอากาศก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนในในการเกิดปฏิกิริยาเคมีในตอนกลางคืนมากขึ้น ซึ่งจากเครื่องมือชนิดใหม่นี้ทำให้ค้นพบว่าปฏิกิริยาการเกิดของก๊าซในตอนกลางคืนเกิดจากการดึงก๊าซ nitrogen oxides (NOx) ออกจากบรรยากาศโดยเกิดการสร้าง nitric acid – ก๊าซที่สามารถสะสมอย่างรวดเร็วที่พื้นผิวของชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นสถานที่ทำการวิจัย ซึ่งจากเหตุผลนี้เองก๊าซ nitrogen oxides (NOx) จะถูกดึงออกจากระบบอย่างรวดเร็วทำให้ไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาการเกิดของก๊าซโอโซนในวันต่อไป ซึ่งจากเครื่องมือชนิดใหม่นี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถคำนวนปริมาณการเกิดของก๊าซโอโซนในเเต่วันได้ โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย New Hampshire ซึ่งเป็นผู้ทำการวิจัยในครั้งนี้ได้ให้เเนวทางในการวัดปริมาณของ nitric acid ในการทำวิจัยครั้งนี้ว่าดังนี้ กระบวนการเกิดก๊าซโอโซนตอนกลางคืนมีการเกิดขึ้นมากเท่าๆกับการเกิดของก๊าซโอโซนตอนกลางวันภายใต้เงื่อนไขตามธรรมชาติกระบวนการนี้เป็นกระบวนการสั้นๆที่ทำให้เกิดการผลิตของก๊าซโอโซน ซึ่งผลการวิจัยนี้มีความสำคัญอย่างมากในการวัดคุณภาพของอากาศ ณ บริเวณหนึ่งเพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณของโอโซนมากทำให้เราคำนวณปริมาณของมลภาวะของ nitrogen oxidesได้ โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นตอนกลางคืนนี้จำเป็นต่อการทำนายคุณภาพของอากาศเป็นอย่างมาก ซึ่งกระบวนการนี้เป็นอีกหนึ่งชิ้นของจิ๊กซอร์ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเเละสถานที่ที่เราสามารถทำนายเกี่ยวกับมลภาวะของโอโซนที่มีผลกับประชากรได้
    เเหล่งข้อมูล
    http://www.sciencedaily.com/releases/2004/04/040413002358.htm
    ข้อมูลเพิ่มเติม
    http://www.hc-sc.gc.ca/hecs-sesc/air_quality/ozone.htm
    สมการการเกิดโอโซน
    http://www.tnrcc.state.tx.us/air/aqp/photochem.html
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ภาวะโลกร้อนกระทบทะเลอันดามัน“น้ำเย็น-มีตะกอน” <table align="center" border="0" cellpadding="3" cellspacing="0" width="100%"><tbody><tr bgcolor="#dee6ef"><td valign="center"> </td></tr> <tr bgcolor="#dee6ef"><td align="center" valign="top"><table border="0" cellpadding="2" cellspacing="2" width="95%"><tbody><tr><td valign="top"> <table align="left" bgcolor="#f5f5f5" border="0" cellpadding="2" cellspacing="2"><tbody><tr><td>[​IMG]</td></tr><tr><td align="center">
    </td></tr></tbody></table> คม-ชัด-ลึก
    17 เมษายน 2550 12:20 น.
    นักวิชาการชี้ปรากฏการณ์เอลนีโญจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้ธรรมชาติใต้ท้องทะเลอันดามันเปลี่ยนแปลง น้ำทะเลเป็นน้ำเย็นมีตะกอนขุ่น เผยนักท่องเที่ยวเริ่มย้ายจุดดำน้ำลึกจากอันดามันใต้ไปเหนือ เพราะดำน้ำแล้วมีอาการคันตามผิวหนังและปะการังอ่อนที่สวยงามเริ่มเหี่ยวเฉา

    ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดหลายปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับทะเลโดยตรงคือปรากฏการณ์เอลนีโญในเมืองไทยได้รับผลกระทบหลายครั้ง ที่ชัดเจนคือ 10 ปืที่ผ่านมา น้ำทะเลอันดามันเย็นลง ในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน และเกิดน้ำร้อนในอ่าวไทยในเดือนพฤษภาคม-กันยายน และปี 2550 นี้ ลักษณะคล้ายคลึงกัน คือในอันดามันน้ำเย็น มาจากน้ำที่อยู่ในทะเลลึกเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่ใกล้ฝั่ง ซึ่งน้ำนอกจากเย็นแล้วยังขุ่นมีตะกอนจากทะเลลึก ซึ่งเดิมไม่เคยเข้ามาในเขตตื้น แต่มากับมวลน้ำเย็น และตะกอนนี้มีธาตุอาหารจำนวนมาก ทำให้แพลงตอนที่อยู่ในเขตน้ำตื้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวที่ไปว่ายน้ำหรือดำน้ำจะรู้สึกว่า น้ำเย็น น้ำขุ่นและคันยิบ ๆ เพราะแพลงตอนบางตัวซึ่งมีพิษแต่ไม่อันตรายถึงชีวิตแต่ทำให้คัน นอกจากนี้แพลงตอนทำให้มีสัตว์น้ำขนาดใหญ่และสัตว์น้ำแปลก ๆ ตามเข้ามา เช่น กระเบนราหู </td></tr></tbody></table></td></tr><tr bgcolor="#dee6ef"><td align="center" valign="top"><table border="0" cellpadding="2" cellspacing="2" width="95%"><tbody><tr><td valign="top"> <table align="left" bgcolor="#f5f5f5" border="0" cellpadding="2" cellspacing="2"><tbody><tr><td>[​IMG]</td></tr><tr><td align="center">
    </td></tr></tbody></table> “แพลงตอนเพิ่มจำนวนมหาศาลทำให้เกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ออกซิเจนในน้ำลดลง และแพลงตอนบางชนิดเป็นพิษ ทำให้สัตว์น้ำตาย
    สิ่งที่เห็นคือน้ำเป็นสีแดง เป็นแนว ๆ เป็นหย่อมแดง ๆ คนสมัยก่อนเรียกว่า ขี้ปลาวาฬ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงที่อากาศร้อนขึ้น แดดจัด แต่น้ำเย็นธาตุอาหารเยอะ แพลงตอนได้แดดก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเพราะเป็นแพลงตอนพืช ส่วนใหญ่จะเกิดในเขตน้ำนิ่ง เช่น ใกล้ปากแม่น้ำ ชายฝั่งหรือมีเกาะบังไว้ จะเกิดในช่วงที่กระแสน้ำไม่ค่อยหมุนเวียน คือช่วงขึ้น 7-8 ค่ำหรือแรม 7-8 ค่ำ ที่มีรายงานพื้นที่ จ.ตรัง สตูล แถวหมู่เกาะตะรุเตา หาดเจ้าไหมก็มีและก็มีปลาตายเป็นบางจุด ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ พอถึงพฤษภาคม-กันยายน น้ำในอ่าวไทยจะร้อนเหมือนกับปี 40-41 หรือไม่ คือสิ่งที่ติดตามอยู่” ดร.ธรณ์ กล่าว </td></tr></tbody></table></td></tr><tr bgcolor="#dee6ef"><td align="center" valign="top"><table border="0" cellpadding="2" cellspacing="2" width="95%"><tbody><tr><td valign="top"> ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า น้ำเย็น น้ำร้อน นอกจากมีปัญหาเกี่ยวกับแพลงตอนและปลาแล้ว สัตว์หลายชนิดที่ต้องอยู่ในน้ำเย็นมาก ๆ ก็เกิดปัญหา
    โดยปี 2540-2541 ได้เรียนรู้ว่าเมื่อน้ำเย็นมาก ปะการังอ่อนสีสวย สำหรับนักดำน้ำในบางพื้นที่ เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นบางหย่อมหายไป มาครั้งนี้ 10 ปีให้หลัง ก็พบว่าปะการังสีสวย ๆ ในจุดดำน้ำที่เรียกกันว่า หินแดง หินม่วง จ.กระบี่ เริ่มประสบปัญหาเหี่ยวเฉาและมีสภาพอ่อนแอ ซึ่งอาจจะคล้ายกับหมู่เกาะสุรินทร์เมื่อ 10 ปีก่อน แต่เป็นเฉพาะบางจุดเท่านั้น แต่ก็ทำให้นักดำน้ำที่ไปดำทางด้านอันดามันใต้ คือหินม่วงหินแดงค่อนข้างผิดหวัง เพราะปะการังอ่อนเฉา และบริเวณดังกล่าวไม่ค่อยมีปลา ปลาใหญ่จะขึ้นไปอยู่อันดามันเหนือ ตอนนี้นักดำน้ำส่วนใหญ่ย้ายไปทางอันดามันเหนือ คือหมู่เกาะสุรินทร์, สิมิลัน และเกาะต่าง ๆ ใน จ.พังงา รวมทั้ง จ.ภูเก็ต ยังอยู่ในภาวะที่มีปลาใหญ่เยอะ แต่พอลงมาที่กระบี่ ตรัง สตูล ก็เริ่มมีปัญหา </td></tr></tbody></table></td></tr><tr bgcolor="#dee6ef"><td align="center" valign="top"><table border="0" cellpadding="2" cellspacing="2" width="95%"><tbody><tr><td valign="top"> “ในต่างประเทศก็พบปัญหาเหมือนกัน แต่เป็นอัตราส่วนน้อยกว่าไทยมาก
    ปัจจุบันปัญหาที่สำคัญคือนักดำน้ำในทะเลมีมาก ทัวร์ก็ตัดราคาแข่งขันกัน ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวมากขึ้น ระยะหลังนอกจากทรัพยากรได้รับผลกระทบแล้ว นักดำน้ำมากก็ส่งผลกระทบถึงธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย ททท.จึงต้องวางแผนให้รอบคอบถ้าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่ทรัพยากรลดน้อยลงก็ยิ่งก่อปัญหา” ดร.ธรณ์ กล่าว.</td></tr></tbody></table></td></tr></tbody></table>
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    อากาศวิปริต

    การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกในช่วงนี้ มิได้จำกัดอยู่ที่โลกร้อนขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังนำมาซึ่งความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ อาทิ เท็กซัสมีหิมะตก ญี่ปุ่นหนาวมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนประเทศไทยเองแม้จะยังไม่มีหิมะตก แต่สภาพรอยต่อการเปลี่ยนฤดูกาลเริ่มมีภาวะผิดปกติ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นความหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างฉับพลันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาที่อธิบายถึงสาเหตุที่อากาศเย็นลงในระยะ 2-3 วัน นี้ว่า มีสาเหตุจากมวลอากาศหนาวเย็นกำลังแรงจากจีนได้ผัดผ่านเข้ามาปกคลุมในประเทศไทย ทว่าข้อมูลเบื้องต้นนี้ก็มิอาจทำให้ประชาชนวางใจได้ว่า การปรวนแปรของสภาพอากาศเช่นนี้ คือสัญญาณการเตือนภัยบางอย่างของโลกหรือไม่?
    แม้จะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าความผิดปกติของสภาพอากาศ ที่เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งในหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ มีผลสืบเนื่องมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกระทำของมนุษย์หรือไม่ แต่หาก ณ วันนี้ไม่มีการกระทำใดๆที่จะนำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง จนในที่สุดพิสูจน์ได้ชัดเจนภายหลังว่า กิจกรรมของมนุษย์คือตัวการสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนแล้ว เชื่อว่าการเริ่มต้นทำอะไรในภาวะวิกฤติย่อมไม่มีผลดีอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ประชาคมโลกจึงพยายามแก้ไขปัญหาและหาทางป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการออกกฎและข้อตกลงต่างๆที่สำคัญที่สุดก็คือการลงนามรับรอง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change,UNFCCC) ในปี 1992 ซึ่งนำไปสู่การรับรองมติในพิธีสารเกียวโตในปี 1997 ที่มีกรอบเวลาร่วมกันว่าจะต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกให้ได้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการปลดปล่อยในปี 1990
    ทั้งนี้ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงให้มีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ซึ่งมีหลายกลไกด้วยกัน โดยกลไกหนึ่งที่มีชื่อว่า “ กลไกการพัฒนาที่สะอาด” (Clean Development Mechanism : CDM)
    รศ.ดร. สิรินทรเทพ เต้าประยูร จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า CDM คือส่วนหนึ่งในข้อตกลงของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้ว สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนหรือเทคโนโลยีให้กับประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทนตนเอง
    หากแต่ว่าการรับการสนับสนุนจากประเทศพัฒนาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น จะก่อให้เกิดทั้งผลดีผลเสียในระยะยาวทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ การพัฒนา และความมั่นคงของประเทศ ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร. สิรินทรเทพ เต้าประยูร และคณะ จึงได้ทำการศึกษาวิจัย “ สถานภาพและความพร้อมของประเทศเพื่อรับรองของสนธิสัญญาและมาตรการต่างประเทศที่เกี่ยวกับการลดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
    จากผลวิจัยได้เสนอแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยออกเป็น 2 ด้านด้วยกัน คือ
    1. การจัดระเบียบของประเทศ โดยจัดโครงสร้างให้คล่องตัวในการทำงาน สามารถติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศ และส่งผ่านข้อมูลสู่ผู้ปฏิบัติ ตลอดจนนำเสนอข้อมูลให้ผู้บริหารพิจารณาเชิงนโยบายได้
    2. การเตรียมความพร้อม เนื่องจากการลดและการแลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีผลต่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศ จึงควรมีข้อมูล ที่เน้นความชัดเจนของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โอกาสและศักยภาพรวมถึงทางเลือกที่คุ้มค่าในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เห็นภาพรวมที่สามารถนำมาซึ่งการตัดสินใจแลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
    อย่างไรก็ตามสภาพการแปรปรวนของอากาศที่เป็นอยู่ในขณะนี้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ก็ตาม แต่ความพยายามในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังคงเป็นหน้าที่ที่ประชาคมโลกต้องดำเนินการร่วมกันอย่างเร่งด่วนต่อไป เพื่อให้โลกคงอยู่ในสภาพสมดุลย์มากขึ้น.

    http://www.trf.or.th

     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สถิติเเละสถานการณ์การใช้พลังงานโลกปี 2007


    เนื่องจากในช่วง7ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนเเละหน่วยงานต่างๆได้ให้ความสนใจกับราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูดเเละผลกระทบของราคาน้ำมันมาก หลายคนคงจะเดาว่า 80% หรือ 50% หรือ สองในสาม ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินความเป็นจริงทั้งสิ้น เพราะจริงๆเเล้วคำตอบคือเเค่เกือบหนึ่งในสาม ลดลงมาจาก50%ในช่วงวิกฤติการน้ำมันในปี1973
    เเม้ว่าสัดส่วนของน้ำมันจะลดลงเเต่ความต้องการยังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง30ปีที่ผ่านมา การบริโภคน้ำมันได้เพิ่นขึ้นจาก 2700ล้านตัน เป็น 3800ล้านตัน สมมุติว่าในอดีตใช้น้ำมัน 6หน่วย ปัจจุบันใช้ 11.1หน่วย ในปี2030 คาดกันว่าตัวเลขการบริโภคจะขึ้นไปถึง 14หน่วย
    ในการสรรหาพลังงานที่ถูกกว่า เราได้หันไปใช้ พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์เเละถ่านหิน เเต่ก็ยังไม่ได้นำเทคโนโลยีพลังงานที่ไม่มี วันหมดอย่างพลังงานชีวภาพ พลังงานสุริยะเเละพลังงานลมมาใช้อย่างจริงจัง บทบาทของพลังงานทดเเทนที่ไมมีวันหมดนี้เป็นเเค่ 11% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งหมด เป็นตัวเลขที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจาก 30ปีก่อนมากนักโลกเราใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าในปี 1973 เเม้ว่ากำลังไฟฟ้าที่ผลิตนั้นจะเพิ่มขึ้นจาก 6100 พันล้าน Watt hour เป็น 17500 พันล้าน Watt hourก็ตาม เเค่สหรัฐฯกับจีนรวม กันก็ผลิตไฟฟ้า 46% ของไฟฟ้าทั้งหมดบนโลกเเล้วเเล้วน้ำมันที่ไม่ได้เอาไปผลิตไฟฟ้าหละ เอาไปใช้ในส่วนไหน การขนส่งคือจำเลย 58%ของน้ำมันบนโลกถูกนำไปใช้กับการขนส่ง เพิ่มขึ้นจาก 42%เมื่อสามสิบปีที่เเล้ว
    ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินเเละนิวเคลียร์เพิ่มส่วนเเบ่งของเชื้อเพลิงที่ใช้ขึ้นมามาก โดยเฉพาะอันหลังสุดเพิ่มจากไม่ถึง1% มาเป็น 6.5%ในปัจจุบัน มากกว่าพลังงานน้ำถึง 3 เท่า เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลไม่ได้มีผลในเเง่ลบมากนัก
    ด้านพลังงานนิวเคลียร์ สหรัฐฯ จีนเเละญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านการผลิต 3ประเทศนี้ผลิตสองในสามของพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดบนโลก หลายประเทศหันไปพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น 80%ของไฟฟ้าในฝรั่งเศส เเละ 50%ของไฟฟ้า ในสวีเดนกับยูเครน มาจากพลังงานนิวเคลียร์พูดถึงพลังงานไม่มีวันหมด ซึ่งเป็นเเค่ 0.4%ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด เเม้จะช่วยรักษาสิ่งเเวดล้อม เเต่ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศที่รวยหายจากอาการเสพติดน้ำมันได้ อย่างเช่นสหรัฐฯซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก สหรัฐฯนำเข้าน้ำมันสองบาร์เรลจากทุกๆบาร์เรลที่ผลิตได้
    มหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศใหม่อย่างจีนกำลังหิวโหยร้องเรียกหาเเหล่งพลังงาน จีนเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ6 เเชมป์กับรองเเชมป์นั้นต้องยกให้ซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียตามลำดับ นอกจากนั้น จีนยังเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่สองเป็นสหรัฐฯ ส่วนอันดับสามเป็นอินเดีย
    พลังงานน้ำจีนก็ไม่ได้น้อยหน้า หนึ่งในเเปดของไฟฟ้าทั้งหมดในจีนมาจากพลังงานน้ำ เเต่ความสำคัญของพลังงานน้ำในจีนสู้ไม่ได้ เมื่อเทียบกับนอรเวย์(99%ของไฟฟ้าที่ผลิตทั้งหมด) บราซิล (83%) เเละเวเนซุเอลา (71%)การเผาผลาญพลังงานปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก ตัวการสำคัญคือน้ำมันกับถ่านหิน จาก 15600พันล้านตันในปี 1973 ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อย ออกมาสูงขึ้นถึงปริมาณ 26500พันล้านตันในปัจจุบัน เกือบครึ่งของปริมาณเหล่านี้เป็นฝีมือของประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญเเล้ว
    ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ฟังดูน่ากลัวทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องผลกระทบของการเรือนกระจกเเละการควบคุมมัน ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องในการประชุมกลุ่มG8ซึ่งได้ประกาศว่าจะช่วยป้องกันภาวะโลกร้อนเเละช่วยพัฒนาพลังงานที่สะอาดกว่า
    สรุปได้ว่าในช่วงครึ่งเเรกของศตวรรษนี้ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเเละถ่านหินจะยังเป็นเเหล่งเชื้อเพลิงหลักอยู่ พลังงานที่ไม่มีวันหมดจะยังไม่มีบทบาทสำคัญมากนัก การพัฒนาพลังงานจะมุ่งไปที่การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เเละลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหลายบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Walmart เเละ GE กำลังให้ความสำคัญ เเละเป็นต้นเเบบของ “Green Technology”


    ที่มา

    www.vcharkarn.com
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    กรมอุตุฯ เตือน ปชช.ปิดมือถือขณะอยู่ที่โล่งแจ้งฝนฟ้าคะนอง<table _base_href="http://www.palungjit.org/board/" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="100%"><tbody _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><tr _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><td _base_href="http://www.palungjit.org/board/" bgcolor="#cccccc" height="1">[​IMG]</td></tr></tbody></table><table _base_href="http://www.palungjit.org/board/" border="0" cellpadding="4" cellspacing="0"><tbody _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><tr _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><td class="body" _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="left" valign="baseline">โดย ผู้จัดการออนไลน์</td><td class="date" _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="left" valign="baseline">18 เมษายน 2550 09:51 น.</td></tr></tbody></table><table _base_href="http://www.palungjit.org/board/" border="0" cellpadding="4" cellspacing="0" width="100%"><tbody _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><tr _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><td _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="center" valign="center">[​IMG]</td></tr></tbody></table><table _base_href="http://www.palungjit.org/board/" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="100%"><tbody _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><tr _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><td class="body" _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="left" valign="baseline"> กรมอุตุฯ เตือนประชาชนระวังพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง และบางพื้นที่อาจมีลูกเห็บตก ระบุอีสาน-เหนือโดนก่อน อยู่ที่โล่งแจ้งขณะฝนฟ้าคะนองควรปิดมือถือป้องกันฟ้าผ่า

    </td></tr><tr _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><td class="body" _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="left" valign="baseline"><table _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="right" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0"><tbody _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><tr _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><td _base_href="http://www.palungjit.org/board/" width="5">[​IMG]</td><td _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="center" valign="top"><table _base_href="http://www.palungjit.org/board/" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="350"><tbody _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><tr _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><td _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="center" valign="top" width="350">[​IMG] </td></tr></tbody></table></td></tr><tr _base_href="http://www.palungjit.org/board/"><td _base_href="http://www.palungjit.org/board/" align="center" height="5" valign="top">[​IMG]</td></tr></tbody></table> กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัย "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน" ฉบับที่ 1 ว่า ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามและลาวตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ของประเทศไทย ในวันนี้ (18 เม.ย.) ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนอบอ้าว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดพายุฤดูร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือก่อน

    ได้แก่ บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย สกลนคร อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ น่าน พะเยา เชียงราย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเชียงใหม่

    ส่วนภาคอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณจังหวัดที่กล่าวมาระมัดระวังอันตรายจากลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก โดยดูแลบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง และในขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง เมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ควรใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะนำไฟฟ้าและควรปิดวิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันการเกิดฟ้าผ่าและไฟฟ้าลัดวงจร
    </td></tr></tbody></table>-------------------------------
    ข้อมูลจาก. http://www.manager.co.th
     

แชร์หน้านี้

Loading...