ทางหลุดพ้นแบบฉับพลัน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 22 ตุลาคม 2012.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    727
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ---------ทางหลุดพ้นแบบฉับพลัน ภาค2-- นักเดินทาง

    ---เคยคุยกันกับพี่สาวว่า หากใช้สมองคิด จะช้า และไม่ถูกก็มี แต่ถ้าใช้จิตคิดจะเร็วและถูกต้องแม่นยำมาก
    ---ในการขับรถ รถที่พุ่งเข้าสหาเราจะมีพลังพุ่งมาถึงเราก่อนตัวรถเสียอีก บางครั้งเราจับพลังนี้ได้ และทำให้การขับรถนั้นปลอดภัยมากขึ้น

    นักเดินทาง
    โดย รศ. ดร.พงษ์จันทร์ จันทยศ

    ตอนที่ ๑ เริ่มรู้จักศาสนาพุทธที่แท้จริงเพราะทุกข์

    ---ผู้เขียนเริ่มได้เข้าปฏิบัติธรรมเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๐ ด้วยเหตุแห่งทุกข์ ที่วิชาความรู้ทางโลกที่มีอยู่ไม่สามารถช่วยได้เลย ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเป็นชาวพุทธที่ไม่ค่อยได้เข้าวัด ทำบุญให้ทานตามโอกาสวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น --เห็นคนไปนั่งสมาธิก็คิดว่าช่างเป็นการเสียเวลา ไปนั่งหลับตาอยู่ทำไม ทั้งยังร่ำเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ จึงเห็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยเครื่องมือเป็นเรื่องงมงาย ต้องขอบคุณความทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ขอบคุณกัลยาณมิตรคือคุณรัชฎา (ฉันทวิริยวิทย์) เหมะศิลปิน ที่กรุณานำไปพบคุณแม่สิริ กรินชัย และได้เข้าปฏิบัติคอร์สพัฒนาจิตเพื่อให้ปัญญาเกิดสันติสุข ๗ วันที่บ้านของคุณสมชาติ-สุชีรา ปิยะบวร บริเวณสะพานใหม่ ดอนเมือง
    --ก่อนไปก็ยังสองจิตสองใจเพราะเป็นช่วงเปิดเทอม ขณะนั้นสอนอยู่ที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ห่วงนักศึกษา ห่วงงาน ว่าถ้าเราไม่อยู่ใครจะทำแทน แต่โชคดีที่เกิดความคิดขึ้นว่า หากเราเดินข้ามถนนไปถูกรถชนตายในวันพรุ่งนี้ งานที่เราคิดว่าจะไม่มีใครทำแทนได้ ก็ต้องมีคนมาทำแทนอยู่ดี ทำไมจึงคิดว่าเรามีความสำคัญอะไรขนาดนั้น จึงบอกเพื่อนร่วมงานว่าขอไปตายเจ็ดวัน แล้วพบกันใหม่ เพื่อนก็อวยชัยให้พรว่า"ไอ้นี่มันท่าจะบ้าไปแล้ว"

    ---เจ็ดวันที่เข้าคอร์สของคุณแม่สิริ เป็นเจ็ดวันที่ผู้เขียนได้รู้ประจักษ์ใจเป็นครั้งแรกในชีวิตนี้ว่าศาสนาพุทธที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การปฏิบัติภาวนานี้เอง นึกเสียดายว่าทำไมเราจึงไม่รู้ให้เร็วกว่านี้ ความทุกข์ที่มีท่วมท้นหมดไปจากใจ เหลือแต่ความเมตตากรุณา ความปีติ แม้จะไม่ได้บรรลุฌาน ๑๖ อะไรต่างๆแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับใจก็เพียงพอที่ทำให้เกิดความอยากรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรอีก จึงไปเรียนอภิธรรมที่วัดมหาธาตุ แต่เนื่องจากผู้เขียนเป็นโรคภูมิแพ้การท่องจำในขั้นรุนแรง จึงเรียนไปไม่รอด

    ------ก---สำหรับการภาวนา ผู้เขียนก็ทำได้แค่หาโอกาสเข้าปฏิบัติระยะยาวปีละครั้งต่อมาอีกหลายปี โดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในด้านสภาวะธรรม จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าอยากลองปฏิบัติแนวอื่นบ้าง จึงไปเรียนรู้แนวทางของคุณแม่ ก.เขาสวนหลวงที่เขาสวนหลวง จ. ราชบุรี แต่ตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์มากพอ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจคำสอนของท่านอาจารย์ และได้ไปที่นั่นแค่ครั้งเดียว ต่อมาได้ไปเรียนรู้แนวทางของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ที่สำนักปฏิบัติธรรมบุญกัญจนาราม พัทยา ได้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นมาบ้างเกี่ยวกับรูปนามและทุกข์ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากไปกว่านั้น และไปพบอาจารย์ปราโมทย์ที่ศาลาลุงชิน กทม. ศึกษาการดูจิตจากท่านตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาส ท่านเมตตาพาเข้าสภาวะ ได้รู้ถึงสภาวะที่ท่านบอกว่าถูกแล้วอยู่แว็บเดียว แล้วก็ไม่เคยทำได้อีก แต่ก็นำหลักการของท่านมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้พอสมควร ล่าสุดก็ไปศึกษาแนวทางของพระอาจารย์มานพ อุปสโม เน้นการเจริญสติด้วยการเดินจงกรม ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ เขาดินหนองแสง จ. จันทบุรี ได้เรียนรู้สิ่งละอันพันละน้อยจากอาจารย์ต่างๆ แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่สามารถมีความก้าวหน้าใดๆในการปฏิบัติ

    ----ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้เขียนได้เริ่มเข้ากลุ่มปฏิบัติธรรมกับนาวาเอก กฤษณ์ บุญเอี่ยม ทุกวันพุธ เวลา ๑๘๐๐-๒๑๐๐ น. ที่ห้องประชุมกองบัญชาการโรงเรียนชุมพลทหารเรือ อ.สัตหีบ เป็นกลุ่มผู้สนใจในการปฏิบัติชื่อว่ากลุ่มจุดประกายธรรม ซึ่งแนวทางการปฏิบัตินั้น เน้นการเจริญสติที่อาศับองค์ธรรมสามประการ คือสติ สมาธิ และสัมปชัญญะ ทำความรู้ตัวชัดอยู่ที่ใจ (บริเวณกลางอก) พร้อมทั้งใช้การนับ ๐ - ๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ - ๗ - ๘ - ๙ - ๐, ๐ – ๙ – ๘ – ๗ – ๖ – ๕ – ๔ – ๓ – ๒ – ๑ – ๐ กลับไปกลับมาตลอดทั้งวันในขณะทำงาน เป็นการประยุกต์ใช้การเจริญสติเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตได้อย่างลงตัว

    ตอนที่ ๒ การพัฒนาสติ
    ผู้เขียนประมวลความรู้ที่ได้มาจากคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ว่า เป้าหมายของการภาวนาคือการพัฒนาสติ ความหมายของสติคือความระลึกได้ ในที่นี้คือการระลึกได้ถึงการนับ ๐-๐ แต่สติจะทำงานได้ดี ต้องถึงพร้อมด้วยสัมปชัญญะ หรือความรู้ตัว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อนับ ๐-๐ ย้อนกลับไปกลับมา เมื่อสติและสัมปชัญญะทำงานร่วมกัน เกิดเป็นสัมมาสติ การมีสติจดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียวคือการนับเป็นเวลานานๆ ก่อให้เกิดสมาธิ สมาธิในที่นี้ประกอบอยู่กับสัมปชัญญะ จึงเป็นสัมมาสมาธิ
    เมื่อสติ สมาธิ สัมปชัญญะ ทำงานร่วมกัน จะเกิดเป็นความตั้งมั่นขึ้นที่ฐานใจ มีลักษณะอาการตึงๆ ขึ้นมาตรงกลางอกให้สังเกตรับรู้ได้ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือรู้อยู่กับฐานใจตลอดเวลา รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ความรู้สึก หรืออื่นๆ เมื่อเราใช้สติเฝ้าดูกาย เราจะเห็นความรู้สึกและความคิดด้วย หรือเมื่อเราใช้สติเฝ้าดูความคิด เราก็จะเห็นกายและความรู้สึกด้วย เมื่อตามดูตามรู้ไปเนืองๆ ใจที่ตั้งมั่นอยู่กับฐาน ไม่ซัดส่ายออกไปรับอารมณ์ภายนอกที่มากระทบเข้ามาปรุงแต่ง ใจก็จะเข้าสู่สภาวะเป็นกลางๆ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น จนเป็นอุเบกขา ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ความจางคลาย ความสลัดคืน ใจเป็นอิสระและปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวง เข้าสู่ภาวะความว่างที่ถึงพร้อมด้วยสติและปัญญาญาณ อันนำไปสู่วิมุตติและความหลุดพ้นได้ในที่สุด

    ตอนที่ ๓ ยิ้มมาก คิดน้อย

    ช่วงที่ผู้เขียนเริ่มปฏิบัติตามแนวทางของกลุ่มจุดประกายธรรม มีความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งต่ออัจฉริยภาพของท่านนาวาเอกกฤษณ์ ที่สามารถวิจัยรายละเอียดของสภาวะธรรมแล้วนำมาหาวิธีที่ลัดสั้นสำหรับผู้ฝึกใหม่ให้สามารถเข้าถึงสภาวะได้ในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีเทคนิคการเข้าสู่สมาธิด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการนับ การใช้ปราณ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติวางฐานกายเข้าสู่ฐานใจได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังทำให้ผู้เขียนเกิดความเข้าใจว่าที่ผ่านมานั้น การปฏิบัติของผู้เขียนติดอยู่แค่การใช้ความคิดติดตามดูกาย แม้จะดูจิต ก็ดูแบบ คิด ตามอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถเข้าสู่สภาวะ รู้ การเปลี่ยนแปลงของกายและจิตได้

    ----------------สำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ ท่านนาวาเอกกฤษณ์จะให้นั่งในท่าที่สบาย ลืมตา มองไปกว้างๆ ในแนวขนานกับพื้นโดยไม่สำคัญมั่นหมายต่อสิ่งที่ได้เห็น แล้วส่งความรู้สึกภายในไปสำรวจร่างกายตั้งแต่ศีรษะลงมา โดยให้คลายความตึงเครียดของร่างกายกายทีละส่วน ผ่อนคลายศีรษะ ลำคอ ไหล่ แขน ลำตัว ขา ลงไปถึงปลายเท้า จนกระทั่งรู้สึกถึงลมหายใจเบาละเอียดที่เคลื่อนตัวอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งเหลือเชื่อจริงๆที่เพียงแค่ผ่อนคลายร่างกายเท่านั้น ผู้ฝึกใหม่สามารถเข้าภาวะลมหายใจเบาละเอียด ร่างกายภายในโปร่งเบา มีสติรู้กายภายนอกคือลมหายใจและภายในคืออารมณ์และความคิดนึกได้ในขณะเดียวกัน เกิดการรู้อย่างเป็นองค์รวมและเป็นกลางๆ สักแต่ว่ารู้ ประคองด้วยสติและสัมปชัญญะ นำเข้าสู่ความสงบ คือสมาธิ โดยใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที ซึ่งสภาวะเช่นนี้ ในอดีต กว่าผู้เขียนจะทำได้ต้องเดินจงกรมสลับกับนั่งสมาธิเป็นเวลาอย่างน้อยสามวัน จึงจะละความคิดฟุ้งซ่านเข้าสู่ความสงบได้

    ---เมื่อเกิดสภาวะโปร่งเบาภายใน นาวาเอกกฤษณ์ให้ยิ้มน้อยๆที่มุมปาก เกิดความรู้สึกแช่มชื่น เบิกบาน น้อมความรู้สึกเบิกบานเข้าไปภายในบริเวณทรวงอกที่โปร่งโล่ง เพื่อให้เกิดสภาวะแห่งกุศลรักษาใจ ขับไล่ความคิด ความฟุ้งซ่าน และอารมณ์ที่เป็นอกุศลอื่นๆออกไปจากใจ นี้เป็นอุบายวิธีที่เยี่ยมยอดสำหรับผู้เขียนและผู้ฝึกปฏิบัติทุกคนที่คุ้นชินกับการคิด และมักจะเกิดความคิดฟุ้งซ่านรบกวนเวลาต้องการนั่งสมาธิ การยิ้มน้อยๆ อยู่เสมอ ยังช่วยให้ผู้ปฏิบัติคลายจากอาการเพ่งจ้องในระหว่างปฏิบัติ ซึ่งนำไปสู่อาการตึง เกร็ง ปวดหัว มึนหัว
    ----------ในชีวิตประจำวันที่เราง่วนอยู่กับการทำงานจนวันทั้งวันแทบจะไม่มีเวลาฝึกสมาธิหรือฝึกสติ แต่ถ้าเราฝึกตนให้ใบหน้ายิ้มน้อยๆ อยู่เสมอ ยิ้มภายนอก จะเหนี่ยวนำให้เกิดยิ้มภายในฐานใจ เป็นความแช่มชื่นเบิกบานภายใน เกิดความตื่นตัวหรือใจตื่นรู้ขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ต้องตั้งใจปฏิบัติ

    ----เมื่อใจตื่นรู้จากภายใน การทำงานทุกอย่างของเรา ไม่ว่าคิด พูด ทำ ล้วนออกมาจากใจที่แช่มชื่นเบิกบาน อยู่ในสภาวะที่เป็นกุศล หากทำมากๆและต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่การพัฒนาต่อไปเป็นความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หรือพรหมวิหาร ๔ ใจก็เข้าสู่ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เกิดปัสสัทธิหรือความสงบระงับทางกายและใจ เป็นเหตุให้เกิดสมาธิที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่ออุเบกขา คือ ปล่อยวาง ละวาง จากอารมณ์ทั้งปวง

    ----------หลังจากฝึกปฏิบัติกับนาวาเอกกฤษณ์ ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า ในการพยายามปฏิบัติภาวนาของผู้เขียน สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงคือการสลัดตัวเองให้หลุดจากความคิด ทั้งนี้เพราะด้วยหน้าที่การงานซึ่งต้องใช้ความคิดเป็นหลัก ความเคยชินกับการควบคุมตัวเองไม่ให้อารมณ์หรือความรู้สึกอยู่เหนือความคิด เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการ"รู้ด้วยความรู้สึก" ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียน สภาวะนี้เป็นสภาวะที่สำคัญที่สุดต่อความก้าวหน้าในการภาวนา

    ------------------ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งของการเข้าฐานใจด้วยการนับ ๐-๐ คือ การรับรู้เรื่องเวลาจะลดลง เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยเราเกือบไม่ได้สังเกต ผู้เขียนเอามาใช้ในชีวิตประจำวันเวลาต้องรออะไรนานๆหรือเวลาต้องทำงานที่เราเบื่อ ไม่อยากทำ ก็จะระลึกรู้อยู่ที่ฐานใจ ยิ้ม หายใจสบายๆ นับ แล้วก็ทำงานไป ผู้ฝึกปฏิบัติสามารถเข้าสภาวะนี้ได้ทั้งวัน ในทุกอิริยาบถ ทำให้สามารถเจริญสติได้ตลอดวันโดยไม่ต้องปลีกเวลาไปนั่งสมาธิ
    ---ถ้าเราสามารถคงสภาวะยิ้มอยู่กับฐานใจและนับได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ผู้เขียนสังเกตว่าใจจะมีความตั้งมั่น รับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกาย อารมณ์ ความคิดนึก อย่างเป็นกลาง ๆ ดังนั้น เวลาทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ หรือต้องตกอยู่ในสภาวะที่ทำให้เครียด ก็จะยิ้มและนับเข้าไว้ ทำให้มีความสุขในการทำงานมากขึ้น เมื่อเข้าสภาวะนี้บ่อย ๆ ผู้เขียนเริ่มสังเกตว่าเริ่มมีการเกิดสภาวะตนเตือนตนได้โดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งผู้เขียนเกิดความท้อถอยในการภาวนา จิตตก หดหู่ ประมาณครึ่งวัน แล้วอยู่ๆ ก็เกิดเสียงเตือนขึ้นมาจากภายในว่า “จะหดหู่ไปทำไม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรักษาใจให้เป็นกุศลและเบิกบาน อย่างอื่นนั้นไม่สำคัญเลย” ก็เลยหลุดออกมาจากความหดหู่ได้ แล้วก็ยิ้มและนับต่อไป

    ผู้เขียนไม่ได้ปฏิบัติสมถภาวนาอย่างจริงจังมาก่อน ความตั้งมั่นของใจจึงมีน้อย สติไม่มีกำลัง ครั้นมาเน้นการปฏิบัติแบบยิ้มและนับที่ฐานใจ ทำให้สติ สมาธิ สัมปชัญญะ พัฒนาไปพร้อมๆ กันอย่างได้สมดุล ไม่เน้นหนักไปที่อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงนำไปสู่การรู้กายรู้ใจอย่างเป็นกลางๆ อย่างต่อเนื่อง ได้ง่ายมาก

    ----------การนับกลับไปกลับมา ทำให้เกิดตบะซึ่งเป็นกำลังของใจ ใจต้องมีกำลังตั้งมั่นเพื่อพิจารณาสภาวะธรรมที่ปรากฏ และเกิดการปรับสมดุลพละ ๕ และอินทรีย์ ๕ ได้ตลอดวัน เกิดความสมดุลระหว่าง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา อันจะนำเข้าสู่ขั้นตอน ระลึกรู้ในนามแล้วปล่อยนาม ระลึกรู้ในรู้แล้วปล่อยรู้ รู้และเห็นแล้วปล่อยรู้และเห็น เข้าสู่ภาวะสักแต่รู้สักแต่เห็นในที่สุด

    ---เมื่อผู้เขียนพยายามระลึกรู้อยู่กับฐานใจอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันได้ระยะหนึ่ง ปรากฏว่าใจที่คิดว่าตั้งมั่นดีแล้วนั้น ถูกกระแสความคิดสอดแทรกเข้ามาโดยไม่รู้ตัว อาการก็คือ ยิ่งภาวนาไป ยิ่งเกิดอาการตึง แน่น ที่ฐานใจ บางทีก็เหมือนมีอะไรหมุนๆ อยู่ตรงฐานใจ ก็ได้แต่ดูไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร จนวันหนึ่ง กำลังนั่งสมาธิอยู่ เกิดอาการตึงขึ้นอีก บังเอิญถามตัวเองขึ้นมาว่า “รู้ไหม” “รู้สึกอะไร” ทันทีก็รับรู้ได้ถึงการหลุดกระเด็นออกไปของกระแสความคิดที่แทรกเข้ามา ความตึงหายไป กลายเป็นความสว่าง โปร่ง เบา สบาย จึงรู้ตัวว่าที่ผ่านมานั้น ผู้เขียน “คิดว่ารู้” มาโดยตลอด ไม่ได้ “รู้ว่ารู้” ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆ โดยการถามตัวเองว่า “รู้ไหม” “รู้ไหม” แม้กระนั้นก็ยังเกิดอาการตึงขึ้นมาอีกบ้าง วิธีแก้ก็คือต้องเลิกนั่งสมาธิ แต่เจริญสติด้วยการเคลื่อนไหวแทน ความรู้สึกโปร่ง เบา สบาย ก็จะกลับมาตามเดิม

    ------------------------------ยังมีต่อ---------------
     
  2. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    727
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    การหลุดพ้นแบบฉับพลัน ภาค 3 นักเดินทาง--ต่อ




    ตอนที่ ๔ การเข้าสู่วงจร “สังเกต-รู้-ปล่อย” ที่ฐานใจ



    ---------------นาวาเอกกฤษณ์ ได้กรุณาให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ผู้ปฏิบัติว่า เมื่อเกิดตบะความตั้งมั่นขึ้นที่ฐานใจแล้ว จิตผู้รู้จะทำหน้าที่วิ่งออกไปรับการกระทบระหว่างอายตนะภายนอกและอายตนะภายใน คือ รูปกระทบตา รสกระทบลิ้น กลิ่นกระทบจมูก เสียงกระทบหู สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งกระทบกาย ธรรมารมณ์(ความรู้สึกนึกคิด)กระทบใจ จากนั้นก็จะนำกลับมาส่งข่าวให้แก่ใจที่ตั้งมั่น เกิดการรับรู้อย่างเป็นกลางๆ ไม่มีการปรุงแต่ง แล้วก็ปล่อยไป เป็นสภาวะที่ท่านนาวาเอกกฤษณ์ให้ชื่อว่า “สังเกต-รู้-ปล่อย” ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นสภาวะ “สักแต่รู้” ต่อไป ดังนั้นหากเข้าฐานใจได้แล้ว ก็เพียงแค่เพียรพยายามต่อไปด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา จนเป็นอุปนิสัย ฝังลงในจิตใต้สำนึก หากไม่หลุดพ้นในชาตินี้ ก็จะได้ติดตัวข้ามภพข้ามชาติต่อไปได้



    ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับในการปฏิบัติขั้นนี้ เกิดขึ้นเมื่อเข้าร่วมกลุ่มได้ประมาณปีกว่าๆ หลังจากบ่มเพาะการนับที่ฐานใจจนชำนาญ แล้วตั้งมั่นระลึกรู้อยู่ที่กลางใจ ขณะที่สงบนิ่งอยู่กลางใจ จะเริ่มสังเกตเห็นด้วยความรู้สึกว่าบริเวณใกล้ๆ ความตั้งมั่นนั้น มีกระแสความสั่นสะเทือนเหมือนระลอกคลื่นปรากฏขึ้น วูบ วูบ วูบ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ นี้คือกระแสที่เกิดจากการกระทบของอายตนะที่ถูกส่งไปที่ใจ ให้ปรุงเป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ หรือที่เรียกว่าเวทนา แต่ละวูบคือการก่อตัวขึ้นของกระแสธรรม ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วดับลง กระแสอันใหม่ก็ก่อตัวขึ้นตามมา ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าเห็นเวทนาในเวทนา เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของเวทนาว่าเป็นอนิจจัง-ไม่เที่ยง ทุกขัง-ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตา-บังคับบัญชาไม่ได้



    ----------------เมื่อเพ่งมองเข้าไปในกระแสธรรมแต่ละขณะ โดยหน่วงให้มันช้าลงเล็กน้อย จะพบว่ามันเป็นเพียงอาการซึ่งก่อตัวขึ้นในความว่าง และความว่างนั้นเองคือความว่างที่รองรับทุกสรรพสิ่ง เป็นความว่างที่ไร้กระแสธรรมโดยสิ้นเชิง สำหรับผู้เขียน แม้เห็นอย่างนี้แล้วแต่มันก็เป็นเพียงแค่การรู้ ไม่สามารถเห็นแจ้งออกมาจากใจหรือทำให้ใจยอมรับสภาวะความว่างนี้ได้

    ( ความว่างที่ไร้กระแสธรรม--กระแสธรรม หมายถึงธรรมชาติทางจิต เช่น วิญญาณ หรือการรับรู้ เวทนา ความรู้สึก เป้นต้น-เจษฏา)


    หลังจากรู้การเคลื่อนของกระแสเวทนาในเวทนาอยู่หลายเดือน วันหนึ่ง ขณะเข้าสมาธิที่บ้าน ผู้เขียนแค่นิ่งรับรู้กระแสของเวทนาในเวทนาไปเรื่อยๆ อยู่ๆ กระแสการสั่นสะเทือนรอบๆ ความตั้งมั่นที่ฐานใจก็สงบลง แล้วเกิดกระแสสั่นสะเทือนแบบเดิมขึ้นภายในความตั้งมั่นซึ่งเป็นฐานใจ เรียกว่าเห็นเวทนาในจิต รับรู้กระแสของเวทนาในจิตไปเรื่อยๆ เรียนรู้ว่าแม้จิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นเพียงสภาวะที่ก่อตัวขึ้นชั่วขณะในความว่าง แล้วก็ต้องดับลง
    เมื่อสังเกตรู้อยู่อย่างเป็นกลางๆ กับกระแสการสั่นสะเทือนในฐานใจอยู่ครู่ใหญ่ กระแสการสั่นสะเทือนในฐานใจก็สงบลง สภาวะการระลึกรู้เคลื่อนออกจากฐานใจขึ้นมาตามแกนกลางลำตัวมาอยู่ที่ระดับตา อาการของความตั้งมั่นก็ขยายตามมาด้วย เมื่อส่งความรู้สึกลงไปด้านล่างที่กลางอก กระแสต่างๆ เงียบไปหมด รับรู้ถึงองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งของขันธ์ห้า คือความว่าง หรืออากาศธาตุ นิ่งรู้อยู่ด้วยใจที่เป็นอุเบกขา สักครู่หนึ่งก็พบว่ามีกระแสการเกิด-ดับ ก่อตัวขึ้นในความว่างนั้น ทำให้รู้ว่า แม้ความว่างเองก็ไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์ (เป็นความว่างที่คู่กับความไม่ว่าง ซึ่งมีอยู่บนความว่างไร้กระแสธรรมอีกทีหนึ่ง แต่ในขณะนั้นยังไม่เข้าใจถึงตรงนี้ รู้แต่ว่าความว่างก็ไม่เที่ยงเท่านั้นเอง)



    ผู้เขียนรู้-เห็นอยู่กับกระแสความไม่เที่ยงในความว่าง ปล่อยการรับรู้ให้เป็นธรรมชาติและเป็นกลาง รู้อย่างนี้หลายอาทิตย์ จนกระทั่งวันหนึ่ง ประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ระหว่างเข้าสมาธิอยู่กับกลุ่มที่โรงเรียนชุมพล เกิดการโพล่งออกมาจากใจว่า อะไรๆ ก็พึ่งพาอาศัยไม่ได้เลย ความว่างก็พึ่งไม่ได้ มีแต่เกิดและดับ จะย้อนลงมาหาใจที่กลางอก ก็พึ่งไม่ได้ มีแต่เกิดและดับ เกิดสภาวะตกใจขึ้นมา แล้วก็ร้องไห้ด้วยความว้าเหว่ พยายามกลั้นเอาไว้จนกลับมาถึงบ้าน นอนร้องไห้ทั้งคืน ร้องออกมาว่าช่วยด้วย ช่วยด้วย เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะพึ่งอะไร นี่คือสภาวะการยอมรับของใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบ่มสภาวะรู้มาระยะหนึ่ง ระยะหนึ่งของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่ เพราะมันต้องเกิดขึ้นเอง บังคับบัญชาไม่ได้เช่นเดียวกัน นี่ไม่ใช่สิ่งตายตัวที่จะต้องเกิดขึ้น ความเข้าใจของบางท่านอาจไม่ได้เป็นไปแบบนี้



    --------------ในการนั่งสมาธิวันหนึ่ง ผู้เขียนอยู่กับสภาวะการสั่นสะเทือนในความว่างซึ่งอยู่ระดับตา แล้วตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า เมื่อกระแสการสั่นสะเทือนนี้คือสิ่งที่ถูกรู้ แล้วขณะนี้ผู้รู้อยู่ที่ไหน ก็พบว่าผู้รู้ในขณะนั้นอยู่ประมาณท้ายทอย ก็เลยวางการรู้กระแสความเคลื่อนในความว่าง มองย้อนเข้าไปภายในผู้รู้ที่ท้ายทอย คิดเอาเองว่านี่คงจะเป็นสติซึ่งทำหน้าที่รักษาจิต นิ่งรู้อย่างกลางๆ สักพักหนึ่ง ก็พบกระแสเกิด-ดับเกิดขึ้นภายในผู้รู้หรือสติที่อยู่บริเวณท้ายทอยนั้น ก็เกิดเป็นความเข้าใจขึ้นมาว่า สติเองก็ไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน แล้วจะทำอย่างไรต่อไปเล่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยงไปเสียทั้งนั้น ใจก็เกิดการวางว่า “อย่าไปดูมันเลย ดู-รู้ไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่าง” ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนไม่จดจ้องว่าจะดูอะไร เวลานั่งสมาธิ มีอะไรเกิดขึ้นก็ปล่อยมัน ดูมันไปอย่างนั้นๆ แล้วแต่ว่ามันจะแสดงอะไรให้ดู อันที่จริงสภาวะที่ต่อจากสภาวะเห็นกระแสเกิด-ดับนี้ นาวาเอกกฤษณ์บอกว่าหากใจมีกำลังพอ จะสามารถกระโดดเข้าสู่สภาวะดับไม่เหลือ(นิพพาน)ได้ แต่ผู้เขียนและเพื่อนๆอีกหลายคน ไม่สามารถทำได้ ช่วงเวลานั้นประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๓



    ตอนที่ ๕ ประสบการณ์พิเศษ



    หลังจากการระลึกรู้อยู่ที่ฐานใจเนืองๆ แล้วรับรู้ความคิดและการกระทำจากฐานใจ ผู้เขียนสังเกตตัวเองว่ามีความไวต่อการรับรู้คลื่นจากมิติอื่นมากขึ้น แต่จะรู้เป็นความหน่วงในใจ ไม่สามารถเห็นเป็นภาพ ตัวอย่างเช่น มีอยู่วันหนึ่ง ผู้เขียนทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย รู้สึกหน่วงในใจทั้งวัน พยายามแผ่เมตตาไป ก็ไม่หาย จนรำคาญ นึกขึ้นได้ว่าวันนี้เป็นวันพุธที่จะไปนั่งสมาธิกับกลุ่มที่รร.ชุมพลทหารเรือ พอขับรถไปถึงรร.ชุมพลทหารเรือ กระแสหน่วงในใจยิ่งแรงขึ้น เมื่อไปถึงจึงเรียนนาวาเอกกฤษณ์ว่าขอให้แผ่เมตตาก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติ หลังจากพวกเราแผ่เมตตาแล้ว ความหน่วงนั้นก็หายไปทันที นาวาเอกกฤษณ์บอกว่ากระแสที่ตามมาตอนแรกมีผู้สมทบภายหลังอีกเพียบ เขารู้ว่าจะมีการปฏิบัติธรรมที่มีแรงมากพอที่จะส่งบุญให้เขาได้ การแผ่เมตตาหรือส่วนกุศลบางครั้งถ้ากำลังไม่พอเขาก็ไม่ได้รับ การส่งบุญครั้งนี้บางส่วนก็ได้รับการยกภูมิไปผุดไปเกิดด้วย



    --------------เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อผู้เขียนไปที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งใกล้อ่างเก็บน้ำมาบประชัน พัทยากลาง รู้สึกกระแสหน่วงตั้งแต่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเช่นกัน พอขับรถไปถึงที่จอดรถในรีสอร์ต เปิดประตูรถจะก้าวลงมา รับรู้ถึงกระแสความหน่วงที่โถมเข้ามาทุกทิศทางจนเหมือนมวลอากาศในบริเวณนั้นหนาแน่นไปหมด ต้องหดขากลับเข้าไปนั่งตั้งสติอยู่ในรถ แล้วแผ่เมตตาแบบอัปปมัญญา โดยเข้าสภาวะยิ้มและโปร่งเบาภายใน เข้าฐานใจ น้อมบารมีธรรมทั้ง ๔ ประการคือ บารมีแห่งพระรัตนตรัย บารมีแห่งพระโพธิสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระศรีอาริยเมตไตร บารมีแห่งเทพพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งอนันตจักรวาล บารมีแห่งครูอุปัชฌาย์อาจารย์ในทุกภพทุกชาติ ประสานรวมเข้ากับทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีที่ผู้เขียนได้กระทำมาในทุกภพทุกชาติ แล้วแผ่บุญกุศลออกจากฐานใจ ไปถึงทุกสรรพวิญญาณในที่นั้นและทั่วทั้งอนันตจักรวาล นั่งนิ่งแผ่เมตตาอยู่ครู่หนึ่ง จนรู้สึกว่ากระแสความหน่วงเบาบางลง จึงออกจากรถ เมื่อได้ไปพบผู้อำนวยการของรีสอร์ต เขาบอกว่าเคยมีคนทักเหมือนกันว่าที่นี่วิญญาณเยอะมาก แต่ไม่ได้บอกว่าให้ทำอย่างไร ผู้เขียนจึงแนะนำให้ทำบุญเลี้ยงพระ ซึ่งก็ดีขึ้น ภายหลังเข้าไปที่นั่นอีก กระแสเบาบางลงไปมาก



    ตอนที่ ๖ พบกับท่านอาจารย์กตธุโร
    เมื่อพวกเราหลายคนไม่สามารถข้ามผ่านขีดจำกัดของการดำเนินสภาวะเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ แม้จะรู้-เห็นจนหมดแล้วว่าอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ไม่สามารถดำเนินสภาวะต่อไปจากนี้ได้ เกิดสภาวะเหมือนแมลงวันบินชนกระจก ได้แต่รู้-เห็นอยู่กับสภาวะเดิมๆ ไปไหนต่อก็ไม่ได้ เพราะกำลังของใจไม่พอ เนื่องจากการบ่มเพาะกำลังของใจต้องใช้สมถภาวนาซึ่งทำได้ยากในวิถีชีวิตปัจจุบัน นาวาเอกกฤษณ์จึงเปลี่ยนนโยบายใหม่ ให้พวกเราเดินแนวการปฏิบัติโดยใช้ปัญญาอบรมจิต และแนะนำให้พวกเราอ่านหนังสือชื่อ “เซ็นสยาม” ของท่านอาจารย์กตธุโร ผู้ก่อตั้งสำนักเซ็นสยาม ที่จังหวัดสระบุรี พวกเราได้รับแจกหนังสือมาคนละเล่ม นาวาเอกกฤษณ์บอกว่าให้อ่านทุกวัน เดือนละจบ เป็นเวลาอย่างน้อย ๑ ปี



    ผู้เขียนเริ่มอ่านหนังสือนี้ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีเทคนิคอยู่ว่า ต้องใช้ใจอ่าน ไม่ใช่ใช้สมองอ่าน วิธีการก็คือ ให้นั่ง ผ่อนคลาย เข้าฐานใจ นับเบาๆจนเกิดความตั้งมั่นขึ้นที่ฐานใจ แล้วอ่านโดยระลึกรู้อยู่ที่ฐานใจตลอดเวลาด้วยความผ่อนคลาย ยิ้มเบิกบาน เมื่ออ่านใหม่ๆ มีคำหลายคำที่งงมาก ไม่เข้าใจ ท่านอาจารย์พูดถึงความไม่มี คนไม่มี สัตว์ไม่มี กูไม่มี การเห็นว่าเราไม่มี เป็นเพียงขันธ์ห้าซึ่งก็มีไม่จริง เป็นการดำรงอยู่ชั่วคราวของธาตุขันธ์ ให้ฟังเสียงระฆังที่ยังไม่ได้ตี เหล่านี้เป็นปริศนาธรรมที่ใจต้องทำงาน นำไปขบคิดอยู่เสมอ โดยไม่รู้ตัว



    -----------ในช่วงที่อ่านเซ็นสยาม พวกเรามีโอกาสได้ไปกราบท่านอาจารย์กตธุโรที่บ้านตำบลนาโฉง จ.สระบุรี โดยการนำของน้องหมวย ภรรยาของนาวาเอกกฤษณ์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ท่านอาจารย์เพิ่งหายป่วย และได้อธิษฐานจิตไว้ว่า หากใครมีวาสนาเกี่ยวข้องกันมา ก็ขอให้มีโอกาสได้พบและรับฟังธรรมะจากท่าน เพราะท่านเองก็อายุมากแล้ว (เกือบ ๘๐ ปี) พวกเราเป็นกลุ่มแรกที่ได้ไปหาอาจารย์หลังจากการอธิษฐานจิต ท่านมีรูปร่างสูงใหญ่ หน้าตายิ้มแย้มใจดี แต่มีแววตาที่มีพลัง ดูน่าเกรงขามและน่านับถือ ท่านมักนั่งบนเก้าอี้โยกประจำตัว ผู้เข้ามาขอพบก็นั่งกับพื้นเรียงรายกันทั่วไปในบ้านซึ่งกระทัดรัดน่าอยู่และร่มรื่น



    ----------ท่านเป็นฆราวาส และไม่มีรูปแบบพิธีกรรมที่ยุ่งยากใดๆ ในการเรียนการสอน (พวกเราไปใหม่ๆ ก็นั่งพับเพียบฟังท่านอาจารย์อย่างมีระเบียบเรียบร้อย พอหลังๆ มีความคุ้นเคยมากขึ้นก็ลงนอนหนุนหมอนฟังกันเลยทีเดียว) ท่านสอนด้วยภาษาง่ายๆ ใครเรียนมาแค่ไหน ติดอะไร ยึดอะไร ท่านจะพูดให้หายติดหายยึด และไม่วกวน คือให้รู้สึกลงไปและเห็นลงไปว่า ไม่มีเราอยู่ในกองธาตุที่ประกอบเป็นร่างกายนี้ ผู้เขียนประทับใจอย่างยิ่งในการสอนและในความเมตตาของท่านอาจารย์ จึงตกลงกันว่าจะไปพบท่านทุกเดือน โดยนำพาผู้สนใจไปพบท่านให้ได้มากที่สุดในแต่ละครั้ง



    ชื่อเดิมของท่านอาจารย์คือ “สมทรง คำนวณศร” ตอนบวชท่านใช้ฉายาว่า “กตธุโร” เหล่าศิษย์จึงเรียกท่านว่า “อาจารย์กตธุโร” การได้ไปสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ทุกเดือน ทำให้ทราบว่าท่านเรียนแค่ ป. ๔ แต่ท่านมีพรสวรรค์ด้านการแต่งกลอน ท่านได้เรียนรู้การเล่นและการร้องลิเกตั้งแต่เด็กๆ จนเป็นหนุ่ม ได้มีคณะลิเกเป็นของตนเอง มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ท่านแต่งเรื่องที่ใช้เล่นลิเกด้วยตัวเอง เล่นแต่ละวันไม่ซ้ำกัน อยู่มาวันหนึ่ง ท่านไปรับงานที่งานบุญแห่งหนึ่ง ขณะขนของเข้าไปในงาน ท่านได้ยินเทศน์จากเครื่องกระจายเสียงว่า ผู้ที่มีอาชีพศิลปินร้องรำทำเพลงให้คนดูสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ในแง่หนึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ไม่เหมาะสม เพราะทำให้คนลุ่มหลงอยู่กับกามตัณหา ปิดกั้นทางที่จะบรรลุธรรมของผู้คน ท่านเกิดความสะดุ้งกลัวต่อบาป จึงตัดสินใจเลิกคณะลิเกตั้งแต่นั้น และหันไปประกอบอาชีพค้าขายทั่วไป



    เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ท่านสามารถตั้งตัวได้ มีธุรกิจโรงแรมเล็กๆอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ท่านให้ภรรยาและลูกดูแลธุรกิจ ส่วนตัวท่านไปบวชและเริ่มปฏิบัติธรรม ท่านเล่าว่า วันหนึ่งท่านฝันว่ามีพระภิกษุรูปร่างผอมบาง มาพบท่านและบอกว่า โลกนี้จะต้องไม่ว่างจากพระอรหันต์ อีกสามวันฉันจะตาย อยากให้เธอรับปากว่าจะทำหน้าที่แทนฉัน ท่านตอบไปในฝันว่า เกล้ากระผมมิบังอาจดอก การเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นของสูง กระผมรับไม่ได้หรอกขอรับ แต่พระภิกษุรูปนั้นก็ย้ำแล้วย้ำอีก ให้ท่านรับปาก จนท่านจำใจต้องรับปากไป เมื่อตื่นขึ้น ก็บอกเพื่อนพระภิกษุด้วยกันว่าภายในสามวันนี้ หากได้ข่าวว่ามีพระผู้ใหญ่ท่านใดมรณภาพให้บอกกันด้วย ก็ปรากฏว่ามีข่าวการมรณภาพของพระภิกษุท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งเมื่อเห็นรูปแล้วก็จำได้ว่าเป็นพระภิกษุที่มาเข้าฝันท่านอาจารย์นั่นเอง




    นับจากวันที่ฝันเป็นต้นมา การพัฒนาจิตของท่านอาจารย์ก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จากการเกิดความรู้ความเข้าใจว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่เคยมีมาในโลก แล้ววางกายเสียได้ จากนั้นก็เห็นว่าใจก็ไม่ใช่เรา ทั้งกายและใจเป็นของโลก ของธรรมชาติ มีกำเนิดมาจากความว่างที่รองรับสรรพสิ่งในอนันตจักรวาลนี้ การรู้การเห็นของท่านดำเนินไปจนเข้าสู่สภาวะรู้แจ้ง และแทงตลอดในที่สุด ท่านบอกว่า เมื่อเรามีเงินอยู่ ๑๐๐ บาท ใช้หมดไปเท่าใดก็รู้ด้วยตัวเอง และเมื่อใช้ไปจนหมดสิ้นไม่มีเหลือแล้ว เหมือนกับสภาวะของใจที่ไม่มีเชื้อเหลือที่จะนำมาเกิดอีกแล้ว ก็จะรู้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน ไม่ต้องให้มีใครมาบอก
    -----ท่านลาสิกขาบทออกมาอยู่กับบ้านเพื่อความสะดวกในการสอนธรรม แรกๆ ท่านสอนแบบเถรวาท มีทั้งปริยัติและปฏิบัติ เป็นเวลานาน ---ไม่สามารถทำให้ใครเข้าใจธรรมจนถึงขั้นที่ท่านเรียกว่า “เปิดธรรม” (คืออาการที่แสดงออกเมื่อใจยอมรับธรรมะในขั้นต้น โดยมากมักเป็นอาการน้ำตาไหล) ได้แม้แต่คนเดียว ต่อมาท่านได้ปรับการสอนให้เป็นกึ่งเถรวาทและกึ่งเซ็น (หลักการของแนวเซ็นคือการใช้ปัญญาพิจารณาจนสามารถรู้เห็นได้จากใจว่าคนไม่มี สัตว์ไม่มี กายไม่มี ใจไม่มี กูไม่มี) แต่ก็มีผู้เปิดธรรมได้ไม่กี่คน มาระยะหลังท่านจึงตัดสินใจใช้การสอนแนวเซ็นเพียงอย่างเดียว ด้วยการใช้คำถามกระตุ้นความสงสัย ใช้การสาธิตด้วยสิ่งของต่างๆ รอบตัว และใช้นิทานคำกลอนที่ท่านแต่งขึ้นเอง ปรากฏว่าท่านสามารถเปิดธรรมให้แก่ศิษย์ได้มากมายหลายสิบคน และบางคนก็ไปถึงจุดที่เงิน ๑๐๐ บาทหมดสิ้นไปได้ นี้ทำให้ท่านมั่นใจในแนวทางของเซ็นมากขึ้น และใช้แนวเซ็นที่ท่านประยุกต์ขึ้นเอง เป็นแนวทางที่ท่านเรียกว่า “เซ็นสยาม”
    ท่านมีโรคหัวใจประจำตัวมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่ท้อถอย คงให้ธรรม สอนธรรมแก่ผู้มาขอฟังหรือมาเรียนอย่างไม่เคยปริปากบ่นเลย ไม่ว่าจะมารับฟังที่บ้านหรือโทรศัพท์มาคุยด้วย ทั้งที่อยู่ในจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้ไกล เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงรายก็มี
    ----------สำหรับศิษย์ใหม่ ท่านมักอ่านข้อเขียนของท่านให้ฟังว่า “เราควรจะทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อยตามข้อเท็จจริงแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีโลก ไม่มีสิ่งใดๆ เลย เมื่อมีโลกขึ้นมาจึงมีสิ่งทุกสิ่ง…สรรพสัตว์เหล่าใดก็ตาม ถ้ายังมีจิตผูกพันในลักษณะที่เรียกว่ายึดติดใน ธรรม ก็ถือว่าเป็น อุปาทาน ทั้งสิ้น



    --------------สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า”ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายพึงกำหนดรุ้ว่า ธรรมที่เราแสดงนั้นมีอุปมาดั่งพ่วงแพให้อาศัย แม้แต่ธรรมก็ยังต้องละเสีย จักกล่าวไปไยกับอธรรมเล่า...” แสดงว่าแม้ธรรมะพระพุทธองค์ก็ทรงสอนว่าไม่ให้ยึดถือ จึงไม่ควรกล่าวว่าสิ่งใดเป็นธรรมมะและมิใช่ธรรมะ เพราะพระอริยบุคคลทั้งหลายต่างก็อาศัยสังขตธรรมนี้แล้ว จึงมีความแตกต่าง...



    ------------------อะไรเล่าเป็นผู้ดับสรรพกิเลสและบรรลุพระนิพพาน จะเห็นได้ว่าว่างเปล่าทั้งสิ้น ไม่มีสภาวะใดเกิดขึ้นหรือดับไป ฉะนั้น ผู้บรรลุหรือผู้ถึงนิพพานหามีไม่ เปรียบเสมือนมายาบุรุษคนหนึ่ง ประหารมายาบุรุษอีกคนหนึ่ง การประหารของมายาบุรุษทั้งสอง ย่อมเป็นมายาไปด้วย เช่นนี้จะมีอะไรอีกเล่าสำหรับการบรรลุและไม่บรรลุ”



    ตอนที่ ๗ แนวทางของ”เซ็นสยาม”
    ในระหว่างการสนทนากับท่านอาจารย์กตธุโร ท่านจะให้พวกเราบอกว่าขณะนี้กำลังปฏิบัติไปถึงตรงไหน มีสภาวะเป็นอย่างไร มีความสงสัยอย่างไร จากนั้นท่านจะชี้ให้เห็นว่า อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก สภาวะธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดทางกายหรือทางใจ ล้วนเป็นของไม่มี เป็นของมีไม่จริง เป็นของที่เกิดขึ้นเพราะมีตัวกูเข้าไปยึดถือ พวกเราก็งงว่าแล้วจะเอาตัวกูออกได้อย่างไร ต้องทำอย่างไร ท่านก็บอกว่าไม่ต้องเอาออก ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเดินจงกรม ไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องสวดมนต์ ตัวกูนั้นมันมีไม่จริงอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะเราไม่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกนี้ มีเพียงแค่ขันธ์ห้าที่เป็นของธรรมชาติ ฟังแค่นี้ก็มึนตึ้บแล้ว
    ท่านให้เรียนรู้ ให้ดูเฉยๆ ว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่มีในเรา เราไม่มีในกาย ดูให้เห็นลงไปจริงๆ ว่ามันเป็นมัน มันเป็นของของโลก เกิดจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมกัน จึงมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้น เหมือนกับมีดินน้ำมันอยู่ก้อนหนึ่ง นำมาปั้นเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ขึ้นมา พวกเราก็งงไปงงมา ดูตัวเองทีไรก็เป็นเราอยู่นั่นแหละ



    ---ผู้เขียนกลับมาจากการพบกับท่าน ก็นำความรู้จากนาวาเอกกฤษณ์มาผสมผสานกับแนวทางของท่านอาจารย์กตธุโร คือ อันดับแรก เข้าฐานใจด้วยความผ่อนคลายแล้วนับ จนเกิดความตั้งมั่นขึ้นมาที่ใจ รู้อยู่ที่ใจ แล้วหยุดนับ หันมาบริกรรมด้วย “ดาบอนัตตา” ของท่านอาจารย์กตธุโรว่า “มันเป็นมัน มันไม่ใช่เรา เราไม่ใช่มัน ไม่มีมันในเรา ไม่มีเราในมัน มันมีไม่จริง เราไม่มี” ด้วยวิธีนี้ เป็นการใช้ใจบริกรรม ไม่ใช่ใช้สมองหรือความคิดในการบริกรรม (นี่คือบทเรียนข้อสำคัญที่สุดที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากความล้มเหลวในช่วงเวลามากกว่าสิบปีของการปฏิบัติก่อนที่จะได้พบนาวาเอกกฤษณ์) พร้อมกับตามดู ตามรู้ ตามสังเกตว่ากายและใจนี้ มันหิวเอง มันกินเอง มันรู้รสเอง มันอิ่มเอง มันปวดท้องขับถ่ายเอง มันง่วงเอง มันหลับเอง มันคิดเอง มันรู้สึกเอง อารมณ์ความรู้สึกทั้งทางกายทางใจ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ด้วยตัวของมันเอง ตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นตัวเรา ของเรา อยู่ในกระบวนการธรรมชาตินี้เลย ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้ามันยังรู้เห็นไม่ได้ ก็วิปัสสนึกไปก่อน บอกตัวเองไปเนืองๆ จนใจมันยอมรับและเกิดปัญญาขึ้นมา



    ผู้เขียนทำเช่นนี้ตลอดทั้งวันตั้งแต่ลืมตาตื่นจนเข้านอน ยกเว้นเวลาที่ต้องใช้ความคิดทำงานก็จะหยุดบริกรรม ผสมผสานกับความเข้าใจที่เคยประสบมาแล้วว่าทั้งเวทนา จิต (อาการที่ใจเกิดความปรุงแต่งเป็นความคิด เป็นอารมณ์) ความว่าง สติ ล้วนเป็นกระแสไหลเรื่อยที่อยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความรู้สึกว่าก้อนธาตุนี้คือเราก็ค่อยๆ จางคลายไปเรื่อยๆ
     
  3. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    727
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    หลุดพ้นแบบฉับพลัน ภาค4 --นักเดินทาง

    ตอนที่ ๘ โยคะสมาธิ

    ----- สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหม่จะงงมากเมื่อฟังธรรมะจากท่านอาจารย์กตธุโรคือ การทำความเข้าใจว่าเราไม่มี ร่างกายนี้เป็นเพียงก้อนธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มาประชุมกันเข้า ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ของเรา มองดูตัวเองทีไรก็เจอแต่เราทุกครั้งไป ผู้เขียนจึงมีแนวคิดนำเอาวิชาโยคะ มาผสมผสานเข้ากับการดูก้อนธาตุของหลวงพ่อจำเนียร วัดถ้ำเสือ จ.กระบี่ และการขับเคลื่อนรูปนามขันธ์ห้าด้วยทุกข์ของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เมื่อนำมาใช้แล้วพบว่า สามารถทำให้ผู้ใหม่เข้าใจถึงสภาวะ “มันเป็นมัน” ได้ดีขึ้นมากโดยใช้เวลาไม่กี่นาที

    ------ วิธีการดูความเป็นก้อนธาตุของหลวงพ่อจำเนียร ท่านจะให้ยืนสบายๆ เท้าชิดกัน แล้วหลับตาลง บอกตัวเองให้ยืนนิ่งๆ แล้วระลึกรู้อยู่ภายใน เวลาผ่านไปไม่ถึงนาที ผู้ฝึกจะรู้สึกตัวโอนเอนไปมา ไม่สามารถบังคับให้อยู่นิ่งได้ ท่านบอกว่า การที่ตัวโอนเอนนั้น เป็นผลจากการเคลื่อนของธาตุลม จากนั้นท่านให้นำความรู้สึกตัวไปที่เท้าทั้งสองข้าง จะสังเกตได้ถึงอาการตึงๆ แน่นๆ นั่นคืออาการของธาตุดิน เมื่อสังเกตดูทั่วทั้งตัว จะบว่าบางส่วนอุ่นๆ ร้อนๆ บางส่วนเย็นๆ นั่นเป็นอาการของธาตุไฟ ส่วนธาตุน้ำ จะทำหน้าที่ประสานยึดธาตุต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่มีอาการให้สังเกตรู้ได้ แต่เราก็รู้ว่าก้อนธาตุนี้มีน้ำเป็นองค์ประกอบ เพราะเราต้องกินน้ำทุกวัน หลวงพ่อจำเนียรบอกว่าให้ดูสภาวะนี้เนืองๆ จนจิตเกิดการคลายความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าขึ้นมาเอง
    ----------- ในช่วงอาสนะยืนขณะฝึกโยคะ ผู้เขียนให้ผู้ฝึกหลับตา ทำความคุ้นเคยกับสภาวะก้อนธาตุสักครู่หนึ่ง โดยให้เห็นว่ามันเป็นเพียงก้อนธาตุที่มาชุมนุมกันชั่วคราว ก่อนพ่อแม่มาพบกัน ก้อนธาตุนี้ไม่มีอยู่บนโลก เมื่อก่อตัวขึ้นมาแล้ว มันก็เติบโตเปลี่ยนแปลงไปด้วยตัวของมันเอง แก่เอง ตายเองในที่สุด แล้วก็สลายกลับคืนสู่ธรรมชาติตามเดิม จะบังคับบัญชาอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ความคิดที่ว่ามันเป็นเรานั้น เป็นความเข้าใจผิด นี้เป็นการพิจารณาฝ่ายรูปว่าเป็นเพียงธาตุสี่ที่มาชุมนุมกัน เป็นสิ่งไม่มีอยู่จริงที่ตกอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ------------ จากนั้นให้พิจารณาฝ่ายนามบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเวทนาความไม่สบายกายไม่สบายใจ สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขารการปรุงแต่ง วิญญาณการรับรู้ ล้วนเป็นสิ่งที่มีสภาพเป็นความว่าง เมื่อมองเข้าไปภายในก้อนธาตุที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ ไม่สามารถบ่งบอกได้เลยว่าตรงนี้เป็นเวทนา ตรงนี้เป็นสัญญา ตรงนี้เป็นสังขาร ตรงนี้เป็นวิญญาณ ขันธ์ทั้งสี่นี้จึงเป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นภายในความว่าง แสดงให้รู้เป็นอาการ แต่ไม่มีตัวตนใดๆ แล้วก็ดับลงในความว่าง เพราะภายในความว่างไม่มีอะไรให้เกาะเกี่ยวคงสภาพอยู่ได้ มันจึงเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริงที่ตกอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกับฝ่ายรูป

    ---------------การยืนหลับตาพิจารณาขันธ์ห้านี้ทำโดยใช้เวลาสั้นๆ เพราะถ้าหลับตายืนนานๆ จะเกิดอาการวิงเวียนหรือล้มได้ จากนั้นผู้เขียนจะนำเข้าสู่ท่าอาสนะของโยคะโดยบอกว่า “เมื่อก้อนธาตุนี้ก่อตัวขึ้นมาแล้ว เรามาดูกันว่าอะไรเป็นสิ่งขับเคลื่อนก้อนธาตุนี้ในขณะที่มันดำรงอยู่บนโลก” ตรงนี้จะเป็นการประยุกต์ใช้แนวทางการทำความเข้าใจว่าสิ่งขับเคลื่อนรูปนามขันธ์ห้าให้ดำเนินไปได้บนโลกคือ “ทุกข์” ของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์
    ---ผู้เขียนให้ผู้ฝึกอยู่ในท่ายืน ยกแขนซ้ายขึ้นเหนือศีรษะช้าๆ แล้วเอียงตัวลงทางขวาให้พอสบายๆ แล้วนิ่งอยู่ประมาณสองลมหายใจ รู้และสังเกตว่ามีอะไรเกิดขึ้นภายใน ผู้ฝึกจะสังเกตได้ถึงการค่อยๆ ก่อตัวของสภาวะความไม่สบายกาย ที่เราเรียกกันว่า “ทุกข์” ความไม่สบายกายนี้เพิ่มมากขึ้นๆ จนร่างกายไม่สามารถทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ ก็ให้ผู้ฝึกกำหนดรู้ในใจว่า “ทุกข์เกิดขึ้นกับรูปยืน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อคลายทุกข์” จากนั้นจึงคลายออกจากท่า ลดมือลง กลับมาสู่ท่ายืนตามปกติ ทุกข์ก็ดับลงด้วยตัวของมันเอง ในขณะที่ทุกข์ก่อตัวขึ้นนั้น ไม่สามารถบังคับให้มันหายไปได้ แสดงว่ามันไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเรา กายนี้จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
    ทำเช่นเดียวกันกับท่าอื่นๆ เคลื่อนไหวช้าๆ คงอยู่กับอาสนะแต่ละท่าประมาณสองลมหายใจ สังเกตการก่อตัวขึ้นและดับไปของทุกข์เนืองๆ จนเกิดความเข้าใจว่า “ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป” “ทุกข์คือสิ่งขับเคลื่อนขันธ์ห้า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขันธ์ห้ากระทำล้วนเป็นไปเพื่อคลายทุกข์” การเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นสิ่งที่เรามักกระทำโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้สังเกตว่าทำไมเราจึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นอกจากนั้น การหายใจเข้า-ออก การกระพริบตา การกิน การดื่ม การนอน การชำระล้างร่างกาย ล้วนเป็นไปเพื่อคลายทุกข์ที่เกิดขึ้นกับขันธ์ห้าทั้งสิ้น ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะนำไปสู่การเกิดความเบื่อหน่ายคลายจางในขันธ์ห้า ทำให้จิตค้นหาวิธีการที่จะไม่ต้องมาตายเกิดด้วยตัวของมันเอง

    ---------------------จากประสบการณ์การฝึกโยคะสมาธิ ผู้ฝึกจะมีความเข้าใจได้มากขึ้นในเรื่องของความไม่มีและความว่างตามที่ท่านอาจารย์กตธุโรสอน สามารถเปิดธรรมได้ในเวลาอันสั้น สำหรับผู้เขียน มีความเข้าใจมากขึ้นว่า รูปนามขันธ์ห้านี้เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นด้านที่เห็นด้วยตาเนื้อ เต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นสมมติสัจจะ (เป็นจริงตามสมมติ) ที่เราคุ้นเคยว่ามันมีอยู่จริง จนยากต่อการที่จะยอมรับว่ามันเป็นสิ่งไม่มี อีกด้านหนึ่งเป็นด้านที่เห็นด้วยตาใจ (เมื่อปิดตาเนื้อลง) หรือเห็นด้วยความรู้สึกทางใจ จะพบสภาวะที่เป็นปรมัตถ์สัจจะ (เป็นจริงตามปรมัตถ์) เป็นความไม่มีและความว่าง
    -----------------------ในการปฏิบัติเพื่อถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามขันธ์ห้า ทำได้มากมายหลายวิธี ขึ้นอยู่กับจริตของผู้ปฏิบัติ บางท่านทำความเข้าใจละเอียดลงไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสมมติ ไม่มีอยู่จริง (พิจารณาด้านที่เป็นสมมติสัจจะ) สำหรับผู้เขียนจะมีความถนัดในการพิจารณาถึงความไม่มีของรูปนามขันธ์ห้า (พิจารณาด้านที่เป็นปรมัตถ์สัจจะ) ท่านผู้อ่านควรต้องพิจารณาตัวเอง ว่าถนัดแบบไหน

    ตอนที่ ๙ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

    ----------------เมื่อได้ไปพบท่านอาจารย์กตธุโรบ่อยครั้งขึ้น เวลาสนทนากับท่าน ผู้เขียนจะยิ้ม หายใจสบายๆ นับอยู่กับฐานใจจนเกิดความตั้งมั่น แล้วหยุดนับ เปิดใจว่างๆ รับกระแสจากจิตของท่าน เพราะท่านบอกว่าการถ่ายทอดธรรมแนวเซ็นนั้นเป็นการถ่ายทอดจากจิตสู่จิต สภาวะของใจก็ก้าวหน้าขึ้น สัมผัสได้กับอาการของความว่างไปเป็นลำดับ แต่มันก็ยังเป็นสภาวะว่างที่ใจมันสร้างขึ้นมาให้ดู เป็นว่างที่คู่กับไม่ว่าง ได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นถึงความเป็นมายาของใจ มันรู้ว่าเราอยากเห็นอะไร มันก็ทำขึ้นมาให้ดู บางครั้งมันว่างเบาจนรู้สึกเหมือนกับตัวตนมันหายไป เวลานั่งสมาธิจะรู้สึกสบายมาก ว่างเหมือนกับไม่มีกายนั่งอยู่ เป็นอยู่หลายวัน ทีแรกก็คิดว่าคงเป็นอันนี้แหละ ที่อาจารย์บอกว่าเป็นความไม่มี แต่โชคดีที่ภายในของผู้เขียนมันเตือนว่า “นี่ยังไม่ใช่ ให้ออกมาเสีย” ผู้เขียนจึงใช้การเดินปราณช่วยชีวิต ซึ่งเป็นเทคนิคที่นาวาเอกกฤษณ์สอนให้ใช้ในการดูแลสุขภาพ แต่ผลพลอยได้ของมันคือมันสามารถทำให้ใจมีความตั้งมั่นได้แข็งแรงกว่าการนับ แม้จะทำได้ค่อนข้างลำบากเพราะร่างกายมันว่างจนหาฐานปราณไม่เจอ แต่ก็ฝืนทำจนกระทั่งอาการของความตั้งมั่นก่อตัวขึ้นเป็นหลักให้นำสติการระลึกรู้ไปไว้ตรงนั้น และถอยใจออกมาจากสภาวะว่างได้ ทำให้เข้าใจว่า การที่ผู้ปฏิบัติติดหลงอยู่กับสภาวะจนเกิดเป็น วิปัสนูปกิเลส คงเป็นอย่างนี้นี่เอง
    ----สำหรับเทคนิคการเดินปราณช่วยชีวิตนั้น ทำได้ไม่ยาก เพียงเมื่อหายใจเข้า ให้ทำความรู้สึกว่ามีกระแสของปราณที่เกาะอยู่กับลมหายใจเคลื่อนผ่านหน้าผาก กระหม่อม ต้นคอ กลางหลัง ก้นกบ ท้องน้อย ใจ ขึ้นมาที่หน้าผากแล้วหายใจออก ทำเช่นนี้ซ้ำๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนสังเกตได้ถึงความตั้งมั่นของตบะที่ก่อตัวขึ้นที่ฐานใจ

    ---------สิ่งหนึ่งที่ผู้ฝึกใหม่ต้องระวังเมื่อพิจารณาสภาวะธรรมด้วยดาบอนัตตา คือการเหวี่ยงตัวกลับของใจ จากสภาวะที่เห็นว่า “อะไรๆ ก็มีอยู่จริง” (สัสสตทิฏฐิ) ไปสู่ขีดสุดโต่งของสภาวะที่เห็นว่า “อะไรๆ ก็ไม่มีอยู่จริง” (อุจเฉททิฏฐิ) แม้บุญ-บาป ก็ไม่มี คิดว่าตัวเองหมดความอยากโดยสิ้นเชิงแล้ว อะไรๆ ก็ไม่ต้องการ ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นสภาวะที่มีตัวกูยึดติดอยู่กับความไม่มี ตรงนี้ผู้ฝึกต้องสังเกตตัวเองให้ดี การนับอยู่กับฐานใจจะช่วยได้มาก เพราะเป็นการรักษาใจให้อยู่กับความเป็นกลาง ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

    ---วันหนึ่ง ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ผู้เขียนนั่งสนทนากับท่านอาจารย์กตธุโร ท่านเรียกชื่อของผู้เขียน ใจมันเกิดความสลดขึ้นมาอย่างรุนแรงจนร้องไห้ออกมา เพราะมันยอมรับแล้วว่าชื่อที่ท่านเรียกนั้นไม่มีอยู่จริง ในการปฏิบัติ การเข้าถึงธรรมนั้น เพียงแค่ความเข้าใจจากการฟัง หรือการเห็นสภาวะเกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ ยังไม่ใช่การเข้าถึงธรรมที่แท้จริง เพราะยังเป็นเพียงแค่สุตมยปัญญา (ปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง) และจินตามยปัญญา (ปัญญาจากการคิดนึก) ต้องมีสภาวะที่โพล่งขึ้นมาจากใจโดยไม่ได้ตั้งตัว หรือเกิดคำว่า “อ๋อ...เป็นอย่างนี้นี่เอง” ขึ้นมาที่ใจ โดยไม่ได้เตรียมทำอะไรเอาไว้ก่อน (ภาวนามยปัญญา – ปัญญาจากการภาวนา) ซึ่งบอกไม่ได้ว่ามันจะต้องใช้เวลานานเท่าใด บางคนติดตามท่านอาจารย์มาเป็นสิบปี ก็ยังไม่สามารถเกิดการเข้าถึงธรรมได้ (ทั้งนี้เพราะเขาไม่เคยรู้เทคนิคการสร้างความตั้งมั่นที่ฐานใจ) แต่สำหรับกลุ่มของพวกเรา ได้พบท่านอาจารย์เพียงไม่กี่ครั้ง สามารถเปิดธรรมได้ตามๆ กันมา จนท่านออกปากชมว่าพวกเรามีการเตรียมตัวกันมาดีมาก ทั้งนี้เพราะพื้นฐานการนับอยู่ที่ฐานใจของนาวาเอกกฤษณ์ ทำให้ใจมีกำลัง สามารถเข้าถึงธรรมได้ตามลำดับ มากน้อยต่างๆ กันไป

    ------------นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ผู้เขียนก็ยังคงใช้หลักการเดิม คือ นับอยู่ที่ฐานใจ พิจารณาทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาว่ามันทำให้เกิดอาการที่อาจารย์กตธุโรเรียกว่า “ตาม-ต้าน ดูด-ผลัก พอใจ-ไม่พอใจ” ขึ้นมาที่ใจหรือไม่ เมื่อเกิดขึ้นก็พิจารณาลงไปว่า “มันไม่มี มันมีไม่จริง มันไม่ใช่เรา เราไม่มี” เมื่อพิจารณาดังนี้ ความรู้สึกนั้นก็ดับลง (อันที่จริง แม้ไม่ได้พิจารณาอะไร มันก็ดับของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้นท่านอาจารย์จึงบอกว่าไม่ต้องทำอะไร แต่สำหรับผู้ฝึกใหม่ การพิจารณาย้ำลงไปจะช่วยได้มาก) เปรียบเสมือนตรงกลางใจนั้นเป็นความว่าง เมื่อกระแสเวทนา อารมณ์ ความคิด ผ่านเข้ามา กระทบกับความว่าง ก็สลายตัวไป เหมือนกับการตบมือข้างเดียว ไม่มีอีกมือหนึ่งตั้งรับ เสียงก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นได้ ใจอยู่กับสภาวะเงียบ นิ่ง สงบได้นานๆ ท่านอาจารย์บอกว่า มันเงียบจี๋หลีเหมือนระฆังที่ยังไม่ได้ตีนั่นเอง

    ---------------เมื่อทรงความนิ่งสงบอยู่กับฐานใจได้มากขึ้นจนคุ้นเคย วันหนึ่ง น้องบังอร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลท่านอาจารย์กตธุโรและช่วยท่านอาจารย์ “จ่ายธรรม” ให้แก่พวกเราทั้งยังเป็นแม่ครัวฝีมือเอก ทำอาหารเลี้ยงพวกเราโดยไม่เหน็ดเหนื่อย ได้บอกพวกเราว่า “ลองคิดหาวิธีมานานแล้วว่าจะช่วยพวกพี่ๆ ที่มารับธรรมะจากอาจารย์ได้อย่างไร ให้เข้าใจมากขึ้น เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน” น้องบังอรหบิบกระป๋องขยะเล็กๆมาวางไว้กลางวง “อย่างนี้เรียกว่า “มี” จากนั้นก็หยิบกระป๋องขยะนั้นออกไปซ่อนไว้ข้างหลัง ชี้ไปที่กลางวงตรงที่เคยมีกระป๋องตั้งอยู่ “อย่างนี้เรียกว่า “ไม่มี” ทำซ้ำๆอยู่หลายหน
    ---------------ในขณะนั้น ผู้เขียนก็มองและฟังตามไป แต่ความรู้ตัวนั้นอยู่ที่ฐานใจโดยอัตโนมัติ ก็เห็นว่าตรงกลางใจนั้น เดิมนิ่งสงบอยู่ พอคิดว่า “มี” ก็เกิดการก่อตัวขึ้นของอาการ “มี” แล้วก็ดับลงไปเป็นความนิ่งสงบตามเดิม พอคิดว่า “ไม่มี” ก็เกิดการก่อตัวขึ้นของอาการ “ไม่มี” แล้วก็ดับลงไป ณ จุดเดิม-- เกิดความเข้าใจขึ้นมาฉับพลันถึงกับอุทานออกมาว่า “นี่มันสร้างเอาเองหมดเลยหรือนี่ มันออกมาจากที่เดียวกันนั่นเอง” ใจดั้งเดิมนั้นเป็นสภาวะว่างที่นิ่งสงบเหมือนผืนน้ำ เมื่อมีเหตุปัจจัย ก็ก่อตัวขึ้นมาเป็นอาการต่างๆ แต่เนื่องจากมันว่าง อาการที่ก่อตัวขึ้นนั้นจึงไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ ต้องดับลง

    ---------------------ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขันธ์ห้านี้รู้เห็น ล้วนก่อตัวขึ้นมาจากสภาวะว่างดั้งเดิมนี้ (นาวาเอกกฤษณ์เรียกว่า “ความไม่มี”) ไม่ว่าจะเป็นสภาวะธรรมที่วิเศษเลิศหรูอย่างใดก็ตาม ล้วนสร้างขึ้นจากว่าง ล้วนเป็นมายาของใจ

    --เพราะเมื่อก่อตัวขึ้นมา มันก็เป็นเพียงอาการในความว่าง ไม่มีตัวตน หยิบยกออกมาให้ใครดูก็ไม่ได้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดเองด้วยเหตุปัจจัย ดับเองด้วยธรรมชาติของมัน เป็นกลไกธรรมชาติของขันธ์ห้า ไม่มีเราเข้าไปร่วมอยู่ในกลไกเหล่านั้น ความรู้สึกว่า “มันเป็นมัน มันมีไม่จริง เราไม่มี” ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นอีก

    -----------------------แม้จะรู้-เห็น-เข้าใจ เช่นนี้แล้ว ก็ยังต้องเพียรต่อไปอีก น้องบังอรบอกว่า ความเข้าใจตรงนี้ก็ยังผลุบๆ โผล่ๆ ตามความเคยชินเดิมๆ ของใจ น้องบังอรใช้คำว่า ยังเป็น “ครึ่งคน ครึ่งพระ” ตราบใดที่ยังมีขันธ์ห้าอยู่และต้องใช้มันอยู่ ก็ยังมีโอกาสที่จะเข้าไปยึดว่ามันเป็นเราได้ จึงต้องมีกำลังสติที่เข้มแข็งว่องไว รู้ทันว่า “ตัวกู” มันโผล่ขึ้นมาตอนไหน ก็ฟาดฟันมันด้วย “ดาบอนัตตา” ท่านอาจารย์บอกว่านี้เป็นเพียงขั้นรู้และเห็น ยังต้องคอยพิจารณาตรวจตราต่อเนื่องไปจนเกิดสภาวะ แจ้ง และสุดท้ายคือการแทงตลอด ซึ่งตรงนี้ บังคับไม่ได้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เขาก็เกิดเอง ท่านบอกว่า ให้ผู้เขียน และต้อย (นาวาเอกพิเศษหญิงนวลรักษา โพธิ์ศรี) ซึ่งมีสภาวะใกล้เคียงกัน ช่วยจ่ายธรรมให้คนอื่นๆ ได้แล้ว

    -----------------------ผู้เขียนชอบคำว่า “จ่ายธรรม” นี้มาก เพราะโดยตัวเอง ไม่ได้คิดว่าตนเป็นผู้มีภูมิจิตภูมิธรรมสูงส่งกว่าใคร ไม่มีความสามารถพิเศษเหนือธรรมชาติ ไม่สามารถตั้งตัวเป็นครูบาอาจารย์ “สอนธรรม” ใครได้ แต่การจ่ายธรรม ไม่ใช่การสอนธรรม การจ่ายธรรมนั้นเป็นการนำธรรมะของครูบาอาจารย์มาบอกกล่าวให้แก่ผู้ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ช่วยให้เขาได้เปิดธรรมในขั้นต้น จากนั้นจึงพาไปพบกับท่านอาจารย์อีกทีหนึ่ง ในขณะที่จ่ายธรรมนั้น ผู้เขียนก็ไม่เคยประมาท จะทบทวนตัวเองตลอดเวลาว่ามีความยินดีพอใจ มีตัวกูเกิดขึ้นมาในการทำหน้าที่จ่ายธรรมหรือไม่ ถ้ามีก็จัดการด้วยดาบอนัตตา
    การปฏิบัติของผู้เขียนทุกวันนี้คือมีสติรักษาใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยนับอยู่ที่ฐานใจตลอดเวลา อยู่กับความนิ่งสงบหรือความไม่มีให้มากที่สุด เมื่อมันเกิดการเคลื่อนออกจากความไม่มี ไปเป็นสภาวะพอใจ ไม่พอใจ ก็สามารถจับได้ทัน และจัดการกับมันได้ทัน นาวาเอกกฤษณ์เรียกว่าสภาวะ “มีบนไม่มี”

    ------------------ผู้เขียนมีความมั่นใจในแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการสร้างกำลังให้แก่สติที่ทำหน้าที่รักษาใจ โดยนับอยู่ที่ฐานใจตลอดเวลา ตามคำแนะนำของนาวาเอกกฤษณ์ และการฟาดฟัน “ตัวกู” ด้วยดาบอนัตตาของท่านอาจารย์กตธุโร และตั้งใจว่าจะทำเช่นนี้ไปจนลมหายใจสุดท้าย ผู้เขียนไม่เคยอยากรู้ว่าตัวเองบรรลุคุณธรรมขั้นไหน เพราะมันก็เป็นสิ่งไม่มีอยู่นั่นเอง มีชีวิตอยู่ด้วยการ “ไม่ให้ค่ากับสิ่งใดๆ ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใครๆ” รู้อยู่กับภายใน จัดการกับกิเลสของตัวเองไปตามภูมิจิตภูมิธรรมที่มี เผลอไปบ้างก็แล้วไป เมื่อรู้ตัวก็กลับเข้ามาอยู่กับภายในตามเดิม
    ----------------- ท่านอาจารย์กตธุโรสอนว่า “ธรรมะนั้นต้องใส่ใจใฝ่รู้ ที่ว่าเข้าใจหรือรู้แล้วนั้นต้องดูบ่อยๆ ถี่ๆ ทุกลมหายใจเข้าออกเลยจึงจะดี จะเห็นแจ้งแทงตลอดได้เร็วขึ้น จนเห็นกายแยกกับใจได้ ก็จะหมดความเป็นคน...
    อนุสัยที่มีอยู่เดิมๆ ต้องขาดจากความยึดติดให้ได้ ไม่ต้องทิ้งหรือหนีอะไรไปไหน ถ้าหนีหรือทิ้งแสดงว่ายังติดยังยึดทั้งสองอย่าง ต้องเข้าไปรู้ว่ายึดไม่ได้ เพราะทุกสิ่งมันไม่จริง คือมันไม่อยู่คงที่สักอย่างเดียว มันจึงเป็น อนัตตา เพราะบังคับตัวมันเองไม่ได้ และมันเป็นของของโลกจึงเป็นอนิจจัง ต้องเปลื่ยนไปหมุนไปตามโลก แต่ความไม่รู้ไม่เห็นความจริง จึงไปเอาของของโลกมาสร้างทุกสิ่งจนเต็มโลกไปหมด แล้วก็ยึดว่าเป็นจริง มีจริงๆ เป็นของของเรา ของฉัน ของกู กันหมด...

    -----------------เรานำทุกสิ่งมาใช้ได้เมื่อจำเป็น ใช้ไปตามสมมุติโลก โดยไม่ยึดเท่านั้น แล้วมันก็จะพังไปตามเรื่องตามกาลเวลาของมันเอง รู้จักมันและอยู่กับมันเท่านั้นก็พอ แค่ไม่ยึดมันเป็นของเราก็จะไม่หนักใจ ไม่ป็นทุกข์เมื่อมันต้องพังต้องเปลี่ยนแปลงไป....

    ------------------ผู้ที่เพิ่งเรียน เพิ่งรู้ ยังไม่เห็นความจริงของมันจากใจ ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป กินเหล้าแก้วแรกมันจะติดได้อย่างไร หรือเพาะถั่วงอกวันเดียวมันมันก็ไม่งอกใช่ไหม? ต้องเพียร ต้องมีความเพียรให้มาก ดูกายให้มากๆ แล้วจะทิ้งกาย(ไม่ยึดกาย)ได้ เพราะกายมันเป็นแต่ธาตุทั้งหลายมาประชุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนพอถึงเวลาก็สลายไปตามเหตูของมัน มันจึงไม่เป็นของใครและบังคับมันไม่ได้...

    ------------------การเรียนธรรมนี้จะต้องรู้เห็นเป็นขั้นเป็นตอน ต้องดูกาย เห็นกาย และแจ้งในกาย ออกจากกาย (ไม่ยึดเป็นกายเรา) ให้ได้ก่อน แล้วจึงจะมาดูใจ และทิ้งใจ (ออกจากใจ) ทีหลัง จะพิจารณาไปพร้อมๆ กันได้ไม่เป็นไร แต่เวลาแยกเราออก จะออกจากกาย หรือพ้นกายก่อนได้ก่อน...”

    ---------------เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ท่านอาจารย์ได้ละสังขาร เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ผู้เขียนและเพื่อนๆ ได้ไปช่วยดูแลท่านอาจารย์ที่โรงพยาบาลสระบุรี แต่เมื่อไปถึงนั้นท่านไม่รู้สึกตัวแล้ว ท่านโคม่าอยู่ ๒-๓ วัน แล้วก็ทิ้งขันธ์ไปอย่างสงบ การละสังขารของท่านอาจารย์ ช่วยให้ผู้เขียนและเพื่อนๆ ได้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความเป็นมันของขันธ์ห้า ผู้เขียนเองไม่มีความโศกเศร้าในใจ เพราะตระหนักรู้ว่าร่างที่นอนอยู่บนเตียงคนไข้นั้นไม่ใช่ท่านอาจารย์ เมื่อคิดถามในใจว่า “แล้วท่านอาจารย์อยู่ที่ไหน” ก็ได้คำตอบจากภายในว่า “ท่านอาจารย์นั้นอยู่ในทุกสรรพสิ่ง อยู่ในน้ำ อยู่ในท้องฟ้า อยู่ในต้นไม้ อยู่ในภูเขา อยู่รอบตัวเรา และอยู่ในตัวเรา” ตอนที่ท่านอาจารย์ยังอยู่ เมื่อกราบท่าน ท่านมักจะบอกเสมอว่า “ขอให้ไม่มีอาจารย์ในจิต ไม่มีลูกศิษย์ในใจนะ” พวกเราก็ไม่เคยรู้สึกอย่างนั้นได้ กราบทีไรก็มีท่านอาจารย์ทุกครั้งไป เพิ่งจะเข้าใจตรงนี้ ก็เมื่อท่านละสังขารนี่เอง

    ตอนที่ ๑๐ พบทางกลับบ้าน

    ----------------ประสบการณ์ทางธรรมครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ผู้เขียนไปปฏิบัติธรรมร่วมกับกลุ่มจุดประกายธรรมที่บ้านคุณหน่อง อ.สัตหีบ นาวาเอกกฤษณ์นำพวกเราเข้าสภาวะเตรียมตัวตาย โดยนอน และน้อมบารมีแห่งพุทธานุภาพเข้ามาเป็นหลักใจ ผู้เขียนนอนฟังบทสวดพุทธคุณไปเรื่อยๆ รู้อยู่กับภายใน เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า “อ้าว! มันไม่มีใครตายนี่นา ไอ้ที่นอนอยู่นี่มันขันธ์ห้าต่างหาก มันก็ตายของมันไป เราไม่ได้ตายด้วยเพราะเราไม่มี ไม่เคยมีเราเกิดขึ้นมาบนโลกนี้”
    จากนั้นก็คิดต่อว่า “ถ้ากายมันสลายไป แล้วใจล่ะจะไปที่ไหน” ก็ได้รับคำตอบออกมาจากภายในว่า “มันก็กลับไปที่เดิมก่อนที่มันจะก่อตัวขึ้นมาในวัฎฏสงสารนั่นแหละ” ผู้เขียนจึงน้อมบารมีพุทธานุภาพและครูบาอาจารย์ อธิษฐานจิตว่า ขอได้เปิดสภาวะนั้นให้ได้รู้เห็นด้วยเถิด ก็ได้สัมผัสถึงสภาวะหนึ่ง ซึ่งบรรยายไม่ถูก นอนน้ำตาซึม รู้อยู่กับความสงบเย็นของสภาวะนั้น น้อมเข้ามาที่ใจ บอกลงไปว่า ให้จดจำไว้นะ นี่คือที่ที่เจ้าจะเดินทางไปเมื่อถึงเวลา จากนั้นเกิดความเข้าใจต่อไปอีกว่า จะด้วยเหตุปัจจัยใดๆ ก็ตาม มีสิ่งหนึ่งได้ก่อตัวขึ้นจากความไม่เกิดไม่ดับ เป็นสิ่งที่มีสภาวะเกิด-ดับเป็นธรรมชาติ แล้วมันก็ท่องเที่ยวไปในวัฎฏสงสาร เพราะเมื่อก่อตัวขึ้นมาแล้ว มันลืมสภาวะเดิมแท้ของมัน มันรู้แต่ความเกิด-ดับ เมื่อดับจากภูมิหนึ่งมันก็ก่อตัวเกิดขึ้นในอีกภูมิหนึ่งทันทีตามแรงกรรม ในระหว่างการตายเกิดนับแสนๆ ชาติ มันตกลงสู่ที่ต่ำบ้าง ขึ้นสู่ที่สูงบ้าง แต่แนวโน้มโดยรวมมันจะมีพัฒนาการที่สูงขึ้นๆ จนกระทั่งมันได้พบโอกาสพบผู้สอน -ผู้ชี้แนวทาง ให้มันได้รู้ได้เห็นที่มาของมัน นับจากนั้น การเดินทางของมันก็ไม่ไร้จุดหมายอีกต่อไป เป็นการเดินทางกลับไปสู่บ้าน... บ้านที่แท้จริงของมันนั่นเอง

    -----------------------สิ่งนี้มีอยู่ในทุกๆ ท่าน เพียงแต่ท่านให้โอกาสแก่มันที่จะได้รู้เห็นเส้นทางกลับบ้าน ด้วยการมีความเพียรในการปฏิบัติจนรู้เห็นจากใจ อย่าปล่อยให้โอกาสนี้ ที่ท่านได้มาพบผู้บอกเส้นทางที่ลัดสั้น ได้หลุดลอยไป เพราะไม่รู้ว่าอีกกี่แสนชาติ จะได้มีโอกาสเช่นนี้อีก
    ในขณะที่ผู้เขียนกำลังพิมพ์เรื่องราวนี้ (วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔) สภาวะสงบเย็นนั้นก็ยังเกิดขึ้นให้รับรู้ได้ พิมพ์ไปน้ำตาไหลไป ด้วยความรู้สึกที่พรรณาไม่ถูก ในใจระลึกรู้แต่เพียงว่า

    คุณพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไม่มีประมาณ
    คุณพระโพธิสัตว์ พระมหาโพธิสัตว์ พระบรมมหาโพธิสัตว์ ไม่มีประมาณ
    คุณเทพพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีประมาณ
    คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์และผู้มีพระคุณทุกท่าน ไม่มีประมาณ
    ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามสติกำลัง จนกว่าชีวิตจะหาไม่ จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ดังปัจฉิมโอวาทของพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ขอบุญกุศลที่ท่านทั้งหลายทำไว้ดีแล้วนั้น
    นำพาทุกท่านเข้าสู่ความวิมุตติหลุดพ้นด้วยเทอญ
    *********************************
     
  4. มะหน่อ

    มะหน่อ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    1,652
    ค่าพลัง:
    +1,210
    ท่านพอจะมีประสบการณ์เล่าเรื่อง
    วิญญานมีจริงมาเล่าเป็นความรู้บ้างไหมขอรับ
     
  5. wonderfulman

    wonderfulman เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 เมษายน 2011
    โพสต์:
    768
    ค่าพลัง:
    +308
    ขอกราบขอบคุณมากครับที่ชี้ทางกลับบ้านให้ทราบ.....แบบด่วนจี๋....:cool:
     
  6. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    0
    ค่าพลัง:
    +3,984
    ขออภัย จขกท.ผมอ่านมาทั้งหมดแล้ว คุณแค่ เกิดสติ..มีสติแต่คุณไม่รู้..ในขั้นสะเทือนแล้วรับรู้การสะเทือนนั้นได้เท่านั้น..
    หลังจากนี้ก็เอามาเรียนธรรม มาเรียนปัญญาทางพุทธด้วยสติที่เกิด ไม่ได้ลัดสั้นอะไรเลย..จิตคุณสงบพอกำหนดปั๊บก็เป็นเลยนั่นพื้นฐาน สัมมาทิฏฐิในใจที่คุณมีอยู่ก่อนแล้วสะสมมาก่อนหน้านี้เป็นทุนภายใน..
    ทุกวันนี้ผมก็เป็นครับ ไม่ได้คุยหากมีเวลาละก็ได้เสียจริงๆสตินี่ครับ..กำหนดปั๊บจากการไล่จิตไปรอบกาย..ทำใจสบายๆ.ก็ไม่มีนิวรณ์ใดๆแล้วเกิดครับ
    ขออภัยอีกครั้งที่พูดตรงๆ การอยู่กับความว่างในใจคุณก็ทำถูกแล้วเมื่อสติเกิดควรพิจราณากาย..หรือทรงสติปัฏฐาน4 ให้ได้ในปัจจุบันครับนั่นคือ มรรคแท้ๆ..
    แต่จากการอ่านเนื้อหาของคุณ ไม่มีตรงนี้ คุณแค่เกิดสติแล้วมีศรัทธาหนุนในการเรียนรู้มากแต่คุณยังไม่มีโอกาสออกสันโดด..สติต้องต่อเนื่องจึงจะเป็นมหาสติ ครับเมื่อถึงตรงนั้นก็ไม่ต้องไปถามใครแล้ว..
    คุณแม่สิริ กริญชัย ผมไปเข้าคอสหลายครั้งที่แปดริ้งวัด ราชผาติการราม..นั่นคือจุดกำเนิดที่เด็กทุกคนควรฝึกเลยครับ จุดเริ่มต้นครับต้องสติ..ย่างหนอ เดินหนอ..ไม่ใช่ไปตามจับสภาวะธรรมหรือความคิด..นั่นข้ามขั้น การสะสมความรู้ให้เกิดสัมมาทิฏฐินำในใจไม่มี..
    ตัวคุณทำได้ เพราะคุณเกิดสติแล้วแต่ชาวบ้านเขาทำไม่ได้เพราะไม่มีพื้นฐานตัวนี้ครับ ..ไม่มีลัดสั้น..หากคุณไม่คิดไปเองว่าที่ผ่านมานั้นยากลำบากมากที่เกิดอาการ..จริงๆแล้วคุณสะสมอาการมากจวนจะเกิดอยู่สติอยู่แล้วครับ
    ปัญญาเขาพัฒนาบีบให้เกิดสภาวะการปฏิบัติของคุณให้รวมเป็นหนึ่งเองแล้วครับศูนย์รวมคือความรู็จากจิต พอมาเจอคำสอนที่ตรงใจเป๊ะ เกิดสภาวะจดจำขึ้นใจ ฝังใจ ที่ไม่เหมือนเดิมก็ฉุกคิดกระชากใจให้ฝังใจว่า..ลัดสั้น..ครับ
    ขออภัย จขกท.อีกครั้งที่พูดตรงๆครับ..โต้แย้งได้ครับ ขออภัยครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...