ถวายข้าวพระพุทธ ทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง?

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 10 กุมภาพันธ์ 2014.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,877
    [​IMG]


    การทำบุญเลี้ยงพระ คือ การนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในสถานที่ประกอบพิธีทำบุญ จัดเป็นทานมัยบุญ บุญที่เกิดจากการถวายทาน คือ การถวายอาหาร ปัจจัย ไทยธรรม แด่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นบุญพิธีที่ชาวพุทธทั้งหลายนิยมทำกันเป็นประจำในโอกาสต่างๆ ทั้งโอกาสที่เป็นมงคล คือปรารภเรื่องดีที่เข้ามาในชีวิต และโอกาสที่เป็นอวมงคล คือปรารภเหตุแห่งความสูญเสีย อันเป็นคติธรรมดาของชีวิต

    โดยในงานมงคลมีวัตถุประสงค์เพื่อความสุขความเจริญแห่งจิตใจที่เกิดเหตุดี หรือเกี่ยวกับการริเริ่มดำเนินชีวิตใหม่ เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามความปรารถนาด้วยดีตลอดไป

    ส่วนในงานอวมงคล ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข โดยปรารภเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการตาย หรือการสูญเสียในวงศาคณาญาติ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในครอบครัว จึงมีการทำบุญขึ้น เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ และความสุขแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

    ด้วยเหตุนี้ พิธีทำบุญเลี้ยงพระ จึงมีความสำคัญ ทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล


    • เหตุผลในการจัดข้าวบูชาพระพุทธ

    ในพิธีทำบุญเลี้ยงพระนี้ มีโบราณประเพณีที่เรียกว่า ประเพณีถวายข้าวพระพุทธ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การจัดข้าวบูชาพระพุทธ หมายถึง การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยข้าวและอาหารอื่นๆ

    โดยถือสืบกันมาว่า สมัยพุทธกาล พุทธศาสนิกชนทั้งหลายนิยมนิมนต์พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานพระภิกษุสงฆ์ เสด็จไปฉันภัตตาหาร ณ เคหสถานของตนตามหลักฐานที่ปรากฏในพระบาลีว่า

    “พุทฺธปฺปมุโข ภิกฺขุสงฺโฆ : พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”

    เมื่อถึงเวลาถวายภัตตาหาร ก็นิยมจัดภัตตาหารถวายแด่พระพุทธเจ้าเป็นพิเศษส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับปัจจุบันที่นิยมกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีทำบุญงานมงคลตามบ้านเรือนคฤหบดี เมื่อถึงเวลาถวายภัตตาหาร ก็นิยมจัดภัตตาหารถวายสมเด็จพระสังฆราชเป็นพิเศษส่วนหนึ่ง และจัดภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์นอกนั้นอีกส่วนหนึ่ง

    ฉะนั้น แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็ยังนิยมอัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งเป็นประธานสงฆ์แทนพระพุทธองค์ในพิธีบำเพ็ญบุญต่างๆ ทุกอย่าง เช่นเดียวกันกับสมัยพุทธกาล

    ดังนั้น เมื่อถึงเวลาถวายภัตตาหาร จึงนิยมจัดภัตตาหารถวายพระพุทธรูปเป็นพิเศษส่วนหนึ่ง และจัดภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์อีกส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล

    คตินี้ได้นิยมสืบทอดกันมา ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ถวายข้าวพระพุทธ ถ้ามีการตักบาตรก็ต้องตั้งบาตรพระพุทธเจ้าไว้หัวแถวด้วย

    พึงตระหนักว่า การจัดภัตตาหารถวายพระพุทธรูปนี้ มิใช้จัดไปถวายพระพุทธรูปฉันเหมือนอย่างจัดถวายให้พระภิกษุสงฆ์ฉัน หรือไม่ใช่จัดไปเซ่นพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างจัดอาหารไปเซ่นภูตผีปีศาจ

    การจัดภัตตาหารไปถวายพระพุทธรูปนั้น เป็นการจัดไปถวายเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับการจัดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น

    และการจัดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยนั้น ไม่ใช่จัดถวายให้พระรัตนตรัยสูดดมกลิ่นธูป ควันเทียน และกลิ่นหอมของดอกไม้ แต่จัดไปเพื่อบูชาพระคุณของพระรัตนตรัย ฉันใด การจัดภัตตาหารถวายพระพุทธรูปก็เพื่อบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า ฉันนั้น


    วิธีการจัดและถวายข้าวบูชาพระพุทธ

    โดยเหตุที่พระพุทธรูปนั้นเป็นเสมือนองค์แทนพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้านั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นสังฆบิดร คือทรงเป็นพ่อของพระภิกษุสงฆ์

    ดังนั้น การจัดสำรับคาวหวานบูชาพระพุทธ จึงนิยมจัดให้ดีกว่าประณีตกว่าจัดถวายพระภิกษุสงฆ์ เพราะเป็นการบูชาพ่อ ควรจะดีกว่าประณีตกว่าจัดถวายลูก หรืออย่างน้อยก็นิยมจัดแบบเดียวกันกับจัดถวายพระภิกษุสงฆ์

    และไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะจัดภัตตาหารคาวหวานสิ่งละเล็กละน้อยใส่ภาชนะเล็กๆ เช่นเดียวกับจัดอาหารไปเซ่นภูตผีปีศาจ

    เพราะจะเป็นเหตุให้บุคคลที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และเยาวชนทั้งหลาย อาจเกิดความเข้าใจผิดคิดไปว่า เป็นการจัดอาหารไปเซ่นพระพุทธเจ้า

    ถ้าจัดสำรับใหญ่อย่างดี เมื่อลากลับคืนมา ภัตตาหารนั้นย่อมเป็นสิริมงคลน่ารับประทานนักแล

    เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จวนจะจบหรือจบแล้ว พิธีกรนิยมยกสำรับคาวหวานไปตั้งที่หน้าบูชาพระ โดยตั้งบนโต๊ะที่มีผ้าขาวปูรอง หรือตั้งที่พื้นมีผ้าขาวปูรอง แล้วเชิญเจ้าภาพหรือประธานพิธีมาทำพิธีบูชา โดยพิธีกรไม่ควรจัดทำการบูชาเสียเอง

    เจ้าภาพหรือประธานพิธีพึงนั่งคุกเข่าจุดธูป ๓ ดอก ปักที่กระถางธูป แล้วประนมมือตั้งนโม ๓ จบ แล้วกล่าวคำบูชาข้าวพระพุทธ ว่า

    อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โภชนํ (โอทนํ), สอุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ.
    แปลว่า ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี อันสมบูรณ์ด้วยแกงและกับข้าว พร้อมกับน้ำอันประเสริฐนี้ ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า

    การกล่าวคำบูชานี้ จะว่าโดยออกเสียงดัง หรือว่าในใจโดยไม่ต้องออกเสียงก็ได้ จบแล้วกราบ ๓ ครั้ง ต่อนั้นจึงจัดถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์

    เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาเสร็จจนกลับหมดแล้ว ถ้ามีการเลี้ยงแขกผู้มาในงานต่อ เจ้าภาพ พิธีกร หรืออุบาสกอุบาสิกา ผู้รู้ธรรมเนียม จะลาข้าวพระพุทธนั้นมารับประทาน

    การลาข้าวพระพุทธมีหลักปฏิบัติ โดยผู้ลาพึงเข้าไปนั่งคุกเข่าหน้าสำรับที่หน้าโต๊ะหมู่บูชานั้นแล้วกราบ ๓ ครั้งก่อน หลังจากนั้นประนมมือกล่าวคำลาข้าวพระพุทธ ว่า

    เสสํ มงฺคลํ ยาจามิ.
    แปลว่า ข้าพเจ้าทูลขอสิ่งที่เหลืออันเป็นมงคล
    แล้วกราบ ๓ ครั้ง จากนั้นจึงยกสำรับไปรับประทานร่วมกันได้ตามอัธยาศัย

    (จากหนังสือ คู่มือพุทธศาสนิกชน)

    (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 กุมภาพันธ์ 2014
  2. intharabud

    intharabud เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    37
    ค่าพลัง:
    +161
    ถวายข้าวพระพุทธรูป

    ผู้ถาม : ผมถวายข้าวพระพุทธรูปที่บ้าน แล้วเอามาทานได้ไหมครับ?

    หลวงพ่อ : ถ้าที่บ้านเราไม่มีโทษนะ ถวายข้าวพระพุทธรูปเป็นการบูชา
    ความดีพระพุทธเจ้า ในเมื่อบูชาเสร็จก็ลาท่านมากินได้ เว้นไว้แต่ที่วัด
    ที่วัดข้าวถวายพระพุทธรูปเสร็จแล้วเอาไปกิน อย่างนี้ไม่ถูก
    ถ้าที่วัดนะต้องเก็บไว้ถวายเพลกับพระ เพราะเป็นพุทธบูชาด้วย
    เป็นสังฆทานด้วย เราะจะกินได้ต่อเมื่ออาหารที่พระสงฆ์ท่าน
    ไม่ต้องการ พระสงฆ์ฉันแล้วก็เอาไปกินได้


    ผู้ถาม : อย่างหนูทำบุญบ้านเลี้ยงพระเพลแล้ว เอาข้าวถวายพระพุทธ
    ตอนเพลด้วย ชาวบ้านเขาว่าไม่ดีจริงไหมคะ

    หลวงพ่อ : ถวายพระพุทธเวลาไหนก็ตาม เป็นพุทธบูชา
    ไปฟังชาวบ้านก็กลุ้มใจตาย มันรู้อะไรมากไปหว่าถวายก็เป็นบุญ
    เวลาไหนก็เป็นบุญ เวลาไหนก็ได้เว้นเวลาเดียวเวลาที่เราหลับ

    ผู้ถาม : เรื่องบูชานี่ไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหมครับ

    หลวงพ่อ : บูชานี่ไม่ใช่ถวายทาน การถวายให้ท่านฉันนั่น
    เป็นการถวายทาน ต้องเลือกเวลา นี่บูชาไม่เกี่ยวกัน บูชาแปลว่า
    ยอมรับนับถือนึกมาเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้น

    หลวงพ่อ(ฤาษี) ตอบปัญหาธรรม

    ฉบับพิเศษ เล่ม ๙
     
  3. sirigul

    sirigul เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 เมษายน 2012
    โพสต์:
    805
    ค่าพลัง:
    +2,515
    ข้าพเจ้าทำอยู่ประจำ คือทำอาหารเสร็จ นำไปถวายบูชาพระพุทธก่อน แล้วจึงลานำมาใส่บาตรแก่พระสงฆ์อีกที
     

แชร์หน้านี้

Loading...