การภาวนานั้นประกอบไปด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตารมณ์ การภาวนานั้นจึงนับว่าเป็นสมาธิอย่างแท้จริง

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Saber, 2 มกราคม 2020.

  1. Saber

    Saber เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    5,942
    กระทู้เรื่องเด่น:
    19
    ค่าพลัง:
    +11,819
    -L54Iw&_nc_ohc=IlaKwiDR5RYAQkgNN-KvUpZe8L-VfpxBomHVgJZkrspAvDJFe_c01A5DA&_nc_ht=scontent.fbkk2-7.jpg

    วันนี้จะกล่าวถึงเรื่องของการภาวนาของเราว่า ถ้าการภาวนานั้นประกอบไปด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคตารมณ์ การภาวนานั้นจึงนับว่าเป็นสมาธิอย่างแท้จริง ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้มีไม่ครบ ก็เป็นได้แค่ขณิกสมาธิหรือสมาธิเล็กน้อย และอุปจารสมาธิหรือสมาธิใกล้จะทรงฌานเท่านั้น

    วิตก คือ การที่เราคิดนึกตรึกอยู่ว่าเราจะภาวนา คล้าย ๆ กับการเตรียมพร้อม การตั้งท่า วิจาร ก็คือ การที่เรากำหนดคำภาวนาพร้อมกับลมหายใจ ลมหายใจจะแรง เบา ยาว สั้น คำภาวนาว่าอย่างไรเราก็รู้อยู่

    ปีติ คือ การที่มีอาการต่าง ๆ ปรากฏขึ้น แตกต่างกันไปอยู่ ๕ อย่าง ได้แก่ ขณิกาปีติ จะมีอาการขนลุกเป็นพัก ๆ บางคนก็ขนลุกทั้งตัว ลุกอยู่นานเป็นนาทีก็มี ขุททกาปีติ มีน้ำตาไหล พออารมณ์ใจมาถึงตรงจุดนี้ ถ้าไม่หักห้ามเอาไว้น้ำตาก็จะไหลพราก แต่ก็ไม่ควรที่จะห้ามเอาไว้ ปีติทุกอย่างเราควรที่จะตามดูตามรู้เฉย ๆ ปล่อยให้เกิดขึ้นจนเต็มที่แล้วก้าวผ่านไป ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าเราไปหักห้ามเอาไว้ ถึงเวลาสมาธิเริ่มทรงตัว ปีติก็จะปรากฏ ไม่สามารถที่จะผ่านไปได้สักที

    โอกกันติกาปีติ ร่างกายมีอาการโยกโคลงไปมา บางทีก็เต้น บางทีก็สั่นเหมือนกับเจ้าเข้า บางคนก็ตบหน้าขาตัวเองหรือว่ากระแทกหน้าอกตัวเองจนช้ำเขียวไปเลยก็มี แต่ว่าต้องปล่อยให้เป็นอย่างนั้น บางท่านก็หกคะเมนตีลังกาไปเลยก็มี แต่ไม่ว่าจะออกท่าออกทางโลดโผนอย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้จักสังเกตจะเห็นว่ากำลังใจนั้นสงบนิ่งอยู่ข้างใน อาการเป็นแต่เพียงร่างกายเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่อาย ไม่กลัว ปล่อยให้เป็นเต็มที่ก็จะเลิก ถ้าไม่เต็มที่ก็จะเป็นอยู่อย่างนั้น

    อุเพ็งคาปีติ ภาวนาแล้วร่างกายลอยขึ้นไปทั้งตัว บางทีก็อันตรายแบบที่อาตมาเจอ ก็คือลอยขึ้นไปหาพัดลมเพดาน ดังนั้น..ถ้าที่บ้านเป็นพัดลมเพดาน ต้องปิดให้ดีเสียก่อน ถ้าหากว่าจิตของเราไม่คลายออกจากสมาธิ ถึงเวลากำลังค่อย ๆ ลดลงก็จะค่อย ๆ ลอยกลับไปที่เดิม นั่งอยู่ในท่าเดิมทุกประการ แต่ถ้าสมาธิคลาดเคลื่อนหลุดออกมาด้วยความเร็ว รักษาอารมณ์สมาธิไม่ได้ บางทีก็หล่นตึงไปเลย แต่อันตรายที่มากกว่านั้นก็ไม่มี ยกเว้นว่าถ้าลอยไปที่ไกล ๆ ต้องเดินกลับเหนื่อย หรือว่าถ้าขึ้นสูงมากก็ตะครุบกบแรงหน่อย

    ผรณาปีติ เป็นปีติตัวสุดท้าย รู้สึกว่าตัวพองตัวใหญ่ บางคนก็รู้สึกว่าหน้าใหญ่เป็นกระด้งเลย บางคนก็รู้สึกว่าตัวรั่วเป็นรู มีสิ่งของข้างในไหลออกมาซู่ซ่าไปหมด บางคนก็รู้สึกว่าตัวแตกระเบิดเป็นผงไปเลยก็มี

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ บางท่านก็เจออย่างเดียว บางท่านก็เจอสองอย่าง บางท่านก็เจอสามอย่าง ส่วนใหญ่ที่เจอหลายอย่างจนกระทั่งเจอครบ ๕ อย่างนั้น จะมีวิสัยพุทธภูมิ คือเคยตั้งความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้ามาก่อน ถ้าอย่างนั้นต่อให้ท่านทรงฌานทรงสมาบัติขนาดไหนก็ตาม ถ้ายังไม่เคยผ่านปีติตัวใดตัวหนึ่ง เมื่อถึงเวลา สมาธิของท่านก็จะลดลงไป แล้วปีติปรากฏขึ้นมาเฉย ๆ เพื่อให้ได้รับรู้ว่าปีติแต่ละอย่างมีอาการอย่างไร

    กำลังใจของผู้ภาวนาถ้ามาถึงระดับปีติให้ระมัดระวังไว้ คือจะไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติ เราต้องกำหนดเวลาว่าจะภาวนา ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง แล้วเลิก ไม่อย่างนั้นบางทีก็เผลอทำข้ามวันข้ามคืน ถ้าสมาธิคลายตัวลงเมื่อไร ร่างกายไม่ไหวอาจจะร่วงไปเลยก็มี

    พอก้าวข้ามตัวปีติได้ ก็จะปรากฏความสุขเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในชีวิต อธิบายเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้ เพราะสมาธิเริ่มก้าวเข้าสู่ระดับฌานแล้ว มีอำนาจในการกดกิเลส คือ รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงชั่วคราว รัก โลภ โกรธ หลง เป็นไฟใหญ่ ๔ กองที่เผาเราอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ โดนดับไปด้วยอำนาจของสมาธิ คนที่โดนไฟเผา อยู่ ๆ ไฟดับลง บอกว่าสุขสบายอย่างไร อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้

    ถ้าหากว่าเราทำใจรับรู้ไว้สบาย ๆ จดจ่ออยู่กับการภาวนาของเรา จิตก็จะก้าวเข้าสู่เอกัคตารมณ์ คืออารมณ์ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ลืมตาอยู่ตาเห็นรูปก็ไม่สนใจ หูได้ยินเสียงก็ไม่สนใจ มีความแน่วแน่อยู่กับการภาวนาภายในเท่านั้น

    ถ้าเกิดว่าอาการเกิดครบมาถึงตอนนี้ แปลว่าท่านทั้งหลายทรงปฐมฌานไว้ได้แล้ว ให้ซักซ้อมการเข้าออกให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เมื่อถึงเวลานึกต้องการจะเข้าเมื่อไรให้เข้าได้ ต้องการจะออกเมื่อไรให้ออกได้ ทำให้คล่องตัวเข้าไว้ เราจะได้มีกำลังในการช่วยตัดกิเลส ปฐมฌานสามารถตัดกิเลสในระดับของพระโสดาบันและพระสกทาคามีได้

    เมื่อเราทรงฌานคล่องแล้วก็มาทบทวนศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างจริงใจ ไม่ล่วงล้ำก้ำเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ถ้าท่านที่ทรงฌานได้ จะเกิดความเคารพในพระรัตนตรัยขึ้นมาอย่างแน่นแฟ้น เพราะเห็นแล้วว่าการทรงฌานโลกีย์ธรรมดาแค่ปฐมฌาน ยังมีความสุขขนาดนี้ ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตลอดจนพระพุทธเจ้า ท่านย่อมมีความสุขมากกว่านี้จนนับประมาณไม่ได้ จึงเกิดความเคารพในพระรัตนตรัยขึ้นมาอย่างจริงจัง

    หลังจากนั้นให้ทำความรู้สึกว่าเราเกิดมาแล้วต้องตาย ชีวิตของเราตายลงไปแน่นอน ดังนั้น..ควรที่จะกำหนดเป้าหมายว่า การเกิดมามีความทุกข์เช่นนี้เราไม่ต้องการอีก การเกิดมาในโลกที่ทุกข์ยากเร่าร้อนเราก็ไม่ต้องการ เราปรารถนาที่เดียวคือพระนิพพาน ให้เอาใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับเป้าหมายสุดท้ายคือพระนิพพานของเราเอาไว้

    ลำดับต่อไปให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

    ที่มา : www.watthakhanun.com

     

แชร์หน้านี้

Loading...