ความเชื่อเกี่ยวกับการแก้ชง ฉบับ ธาราญา !!

ในห้อง 'ธรรมทาน - วิทยาทาน' ตั้งกระทู้โดย Dharaya, 11 กุมภาพันธ์ 2022.

  1. Dharaya

    Dharaya ศรัทธาอันประณีต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    145
    ค่าพลัง:
    +50
    0b0bc3b3d7e1e407e29740f9852ab558.jpg
    ภายในช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ของจีนนอกจากงานฉลองในช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ อีกสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานคือ ปีชง หรือปีที่ดวงชะตาของคนเราไม่มงคลแก่ดวงชะตาของเราเอง ก่อให้เกิดเป็นธรรมเนียมการ แก้ชง ที่ต้องมีการไปกราบไหว้ขอพรตามวัดต่างๆ เพื่อผ่อนเรื่องเลวร้ายที่อาจเข้ามาและเกิดขึ้นในชีวิตจากหนักให้เป็นเบา
    ที่มาและความหมายของคำว่าปีชงกับเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย

    ปีชง ตามความหมายจีนคำว่า ชง หมายถึง ชน ส่วนนี้อ้างอิงจากหลักความเชื่อโหราศาสตร์จีน เรื่องปีนักษัตรประจำปี รวมถึงหลักการธาตุทั้ง 5 อย่าง ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง ตามหลักคิดของลัทธิเต๋า มารวมกับวันเดือนปีเกิดตามปฏิทินจีนโบราณของแต่ละคน และเทพประจำปีของปีนั้นๆ ว่าส่งเสริมหรือขัดแย้งดวงชะตาของแต่ละคนแค่ไหน

    เมื่อเกิดการชงหรือดวงชะตาชนกับเทพเจ้าขึ้นจะทำให้ดวงชะตาของคนผู้นั้นตกต่ำ ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เต็มไปด้วยการติดขัด ดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก โรคภัยไข้เจ็บถามหา เคราะห์ร้ายและเภทภัยจะถาโถมมาถึงตัว เป็นเหตุให้ต้องมีการไหว้ปีชงเพื่อผ่อนหนักเป็นเบาส่งเสริมดวงชะตาให้ดีขึ้น หรือที่เราอาจรู้จักกันในชื่อ สะเดาะเคราะห์ นั่นเอง

    รายละเอียดของปีชงและการแก้ชงจัดว่ามีความซับซ้อนเพราะต้องประเมินจากหลายอย่าง มีรายละเอียดต้องคิดถึงมากมาย ทั้งจากวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด เวลาเกิด หากมีความขัดแย้งกับเทพประจำปีนั้นๆ ก็มีการกราบไหว้เพื่อส่งเสริมดวงชะตา ร้องขอความเมตตา เพื่อผ่อนเรื่องเลวร้ายจากหนักให้เป็นเบา นั่นคือหลักการคิดของสิ่งที่เรียกว่าปีชง

    เทพเจ้าที่มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดของปีชงคือ ไท้ส่วยเอี้ย พูดให้ถูกคือเป็นกลุ่มเทพเจ้าที่มีต้นตอมาจากลัทธิเต๋าของชาวจีน เป็นเทพประจำดวงดาวที่เชื่อว่าคอยคุ้มครองดวงชะตาของผู้คนให้แคล้วคลาด ปลอดภัย รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ถือเป็นเทพเจ้าเก่าแก่ที่ได้รับความศรัทธามายาวนานกว่า 3,000 ปี

    เทพไท้ส่วยจะมีการโคจร หมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละปีตามดวงดาว โดยจะมีเทพเจ้าในจำนวนนี้รวมกันทั้งสิ้นคือ 60 องค์ หรือ 5 รอบปีนักษัตร ตามจำนวนปีนักษัตรกับธาตุทั้งห้า จากความเชื่อเทพเจ้านี้ทำหน้าที่ดลบันดาลโชคและขจัดเภทภัยแก่มวลมนุษย์ ในทางหนึ่งจึงมีความผูกพันต่อคนเราค่อนข้างมาก จนมีการบูชาเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ยในทุกตรุษจีน

    ความแตกต่างระหว่างปีชงในประเทศไทยและปีชงในจีน


    เมื่อมีการหลอมรวมวัฒนธรรมระหว่างจีนและไทย ความหมายของคำว่าปีชงรวมถึงรูปแบบการแก้ไขจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากต้องปรับให้เข้ากับผู้คนรวมถึงสถานที่ใหม่ รวมถึงเมื่อมีการเข้ามาเกี่ยวข้องเชิงพาณิชย์ยิ่งทำให้รูปแบบแตกต่างไปจากเดิมมาก ยกตัวอย่างเช่น

    1. พิธีกรรมของชาวจีนในวันเก่าที่ไม่ได้มีแค่เรื่องแย่ๆ

    เดิมพิธีกรรมปีชงคือแนวคิดความเชื่อของชาวจีน โดยสามารถส่งผลได้ทั้งแง่บวกและลบ การแก้ชงคือนำสิ่งเลวร้ายออกไปเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต แต่เมื่อความเชื่อเรื่องปีชงแผ่ขยายไปยังผู้ไม่ได้มีเชื้อสายจีน กลับเหลือเพียงความหมายด้านลบแค่ปีชง ตกหล่นด้านที่ส่งเสริมดวงชะตาไปพอสมควร

    2. สถานที่ในการแก้ไขปีชงที่เปลี่ยนผ่านจากบ้านสู่ศาสนสถาน

    ส่วนนี้มากจากทั้งการโยกย้ายถิ่นฐานและการปรับตัวเข้าสู่โลกปัจจุบัน เดิมการแก้ชงสามารถทำที่ใดก็ได้ไม่จำกัดสถานที่ แต่ปัจจุบันการแก้ชงถูกโยกย้ายมาสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของจีนมากขึ้น อีกทั้งบางส่วนยังมีการแผ่ขยายไปถึงสถานที่ทางศาสนาของไทยอีกด้วย

    3. ปีชงที่เคยมีแค่ปีตรงข้ามกับนักษัตรทวีความซับซ้อนขึ้นกว่าเก่า

    แรกเริ่มปีชงจะเกิดขึ้นแค่ปีนักษัตรเดียวในรอบปีเท่านั้น ถ้าชงกับปีนักษัตรใดก็จะได้รับผลกระทบอยปีเดียว ไม่มีการแบ่งสัดส่วนหรือผลกระทบไปหานักษัตรอื่น แต่ปัจจุบันมีการแบ่งแยกย่อยแตกส่วนลดหลั่นกันไปเป็นระบบ ตั้งแต่ 100% 75% 50% 25% นับว่าขยายการชงไปยังนักษัตรอื่นในแต่ละปีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

    4. นอกจากปีนักษัตรแล้วที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กันคือหลักธาตุทั้งห้า

    ความเชื่อเรื่องปีชงสมัยก่อนต้องพิจารณาถึงธาตุทั้งห้า ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง ควบคู่ไปด้วย บางครั้งแม้เราอยู่ในปีชงแต่ธาตุอาจไม่ชงก็ได้ เช่น ปีนี้เป็นปีมะเส็งธาตุน้ำ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือปีกุนธาตุไฟที่นับเป็นปีชงเพราะอยู่ในธาตุแพ้ทาง ส่วนปีกุนธาตุดินที่เป็นธาตุชนะทางจะถือว่าไม่ชง ตรงข้ามกับปัจจุบันที่คำนึงถึงแค่ปีนักษัตรโดยละเลยส่วนธาตุทั้งห้าไปจนหมด

    5. ช่วงเวลาแก้ชงที่เคยสำคัญแต่หมดความหมายไปในปัจจุบัน

    จังหวะเวลาการแก้ชงในสมัยก่อนต้องกระทำหลังตรุษจีนเพราะถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านปี หากไหว้ช่วงเวลาก่อนตรุษจีนถือว่ายังไม่ได้เปลี่ยนปีนักษัตรจึงไม่เกิดผล ซึ่งส่วนนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงวันที่เป็นฤกษ์เหมาะสมในการแก้ชงด้วย แต่ในปัจจุบันสามารถแก้ชงได้โดยสะดวกในทุกช่วงเวลาไม่มีการจำกัดแบบแต่ก่อน ไม่ยึดติกับช่วงเวลามงคลตามตำราจีนอีกต่อไป

    6. ผู้ดำเนินพิธีกรรมแก้ปีชงที่จำกัดลงกว่าแต่ก่อน

    การแก้ชงสมัยก่อนสามารถทำได้ตามบ้านเรือนทั่วไป ขอแค่มีผู้รู้พิธีดำเนินการอย่างถูกต้อง วิธีแก้ชงจึงสามารถตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ตำรา หรือเนื้อความที่ระบุในปฏิทิน แต่ในปัจจุบันการแก้ชงจำกัดอยู่ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทำตามขั้นตอนจากสถานที่เหล่านั้นระบุไว้ ตามผู้เชี่ยวชาญในสถานที่นั้นๆ เป็นผู้กำหนด

    7. การแก้ปีชงที่จัดทำเพื่อความสบายใจ กลายเป็นการขอพรพึ่งพาเทพเจ้า

    ในอดีตหากไม่สะดวกใจในการแก้ชงสามารถเปลี่ยนเป็นการพก ฮู้ หรือ ยันต์ เครื่องรางจีนเพื่อเสริมดวง รวมถึงอาศัยการทำดี มีสติ ระลึกรู้ เพราะต้องการย้ำเตือนให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง แต่ปัจจุบันกลายเป็นข้อบังคับสำหรับคนที่มีความเชื่อเรื่องปีชง ให้ต้องไปแก้ไขกราบไหว้สักการะเทพเจ้า ขอความช่วยเหลือพึ่งพาบารมีเพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาแทน

    8. การตลาดและพาณิชย์ที่เปลี่ยนหลักคิดเกี่ยวกับปีชงให้ไม่เหมือนเดิม

    เดิมของไหว้และวัตถุมงคลในการแก้ชงจัดทำขึ้นเพื่อให้ความสบายใจ เป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ให้ยึดเหนี่ยวแต่ไม่ใช่กับปัจจุบัน เมื่อชุดไหว้รวมถึงวัตถุมงคลมีหลากหลายมากขึ้น รวมถึงสถานที่แก้ชงที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยว สร้างสถานที่ทั้งหลายให้กลายเป็นแหล่งแก้ชงนำมาเชิดชูเป็นจุดขายเพื่อเหตุผลทางการตลาด จึงนับว่าการแก้ชงมีความเปลี่ยนแปลงจากสังคมไปมากพอสมควร

    แน่นอนว่าการแก้ชงเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่จุดหมายแรกเริ่มของปีชงอาจเป็นกุศโลบาย มีขึ้นเพื่อย้ำเตือนผู้คนให้มีสติ ระลึกรู้ พึงระวังในการใช้ชีวิตเป็นหลัก อาจมาจากประสบการณ์ของชาวจีนโบราณที่ว่า แต่ละช่วงวัยหรืออายุตามปีนักษัตรคือช่วงใดของชีวิต สามารถคำนวณได้ว่าช่วงปีใดคือช่วงเวลาเป็นอันตรายจึงอยากให้ลูกหลานระมัดระวังตัวมากขึ้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...