ดอกไม้แห่งธรรม&นานาปัญหา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 25 มิถุนายน 2020.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,448
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    CarefulSati.jpg
    วันนี้ขอแนะนำดอกไม้แห่งธรรม ๒ ชนิด

    ๑. ดอกไม้พญามาร มีชื่อวงศ์ว่า ตัณหาพิศมัย ปลูกง่ายในจิตใจคนที่มีความอ่อนไหว

    ดอกมีห้าสีห้ากลีบ มีความทนทาน ออกดอกได้ตลอดปีทุกฤดูกาล

    มีเกสรทั้งห้า ปล่อยละอองที่มีกลิ่นหอมเย้ายวนคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

    ใครได้พบหรือสัมผัส หรือสูดดม จะต้องหลงใหลงงงวยเสมอ
    lotus5.gif
    *****************

    ๒. ดอกไม้พระอริยะ ชื่อวงศ์ อศุภะนิรภัย ปลูกขึ้นยากมาก รูปร่างและกลิ่นไม่งดงาม

    แต่มีสรรพคุณทางยาที่รุนแรง ถอนพิษจากละอองเกสรของตัณหาทั้งห้าได้ชงักนักแล

    pacha.gif

    ขอดอกไม้พระอริยะจงงอกงามในจิตใจทุกๆท่านเทอญ ๚ PS. เมตตา และ ปัญญา เป็นที่มาของความดี โอม.มณีปัทเมฮุม
    :- https://www.dek-d.com/board/view/2540291/
     
  2. hbrsjdat

    hbrsjdat สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 เมษายน 2020
    โพสต์:
    95
    ค่าพลัง:
    +46
    วันนี้ไม่มีดอกไม้ แต่มีบ้านสวยๆมาให้คุณ มันเป็นบ้านในอนาคตของทุกๆคนไม่ว่าคุณจะอยากได้หรือไม่อยาก กลัวหรือไม่กลัว มันก็ต้องเป็นบ้านของคุณวันยังค่ำแน่นอนครับ
    1593108764.jpg
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,448
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    การไปเผาศพได้อานิสงส์อะไร
    ถาม ช่วยเล่าอานิสงส์ของการไปเผาศพให้ทราบด้วยว่า ได้บุญอย่างไร

    ตอบ สำหรับเรื่องไปเผาศพนี้ ถ้าจะพิจารณาดูแล้วก็คิดว่าคงจะได้อานิสงส์ ๔ ประการคือ
    ๑. ได้บำเพ็ญญาติธรรมหรือมิตรธรรม คือแสดงน้ำใจของญาติของมิตรต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือต่อบุตรภรรยาสามีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
    ๒. ได้เจริญสังเวคธรรม คือธรรมที่ให้เกิดความสลดสังเวชว่า แม้เราเองก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือต้องตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ ไม่มีใครหลีกหนีความตายไปได้พ้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่จึงควรทำแต่ความดี ตายแล้วก็ยังมีคนชื่นชมยกย่อง ไม่ใช่ตายแล้วมีแต่คนสาบแช่ง สมน้ำหน้าว่า คนอย่างนี้ตายเสียได้ก็ดี แผ่นดินเบาไปแยะเป็นต้น
    ๓. เป็นการเจริญอนิจจสัญญา คือเห็นความจริงของสังขารรูปนาม อันประกอบไปด้วยกายและใจนี้ว่าไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ต้องดับ มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ไม่ยั่งยืนคงทน
    ๔. สำหรับในสถานที่ที่เผาศพกันกลางแจ้ง ก็อาจเจริญอสุภสัญญา คือความเห็นว่าร่างกายนี้ไม่งามได้ด้วย อย่างในประเทศอินเดียเขาเผาศพกันกลางแจ้ง ริมฝั่งแม่น้ำที่เขาเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ มีแม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นต้น ซึ่งผู้ที่เข้าใจสามารถเจริญอสุภสัญญาได้เสมอ
    ;- https://84000.org/tipitaka/book/nana.php?q=46
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,448
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    สมาธิ - วิปัสสนา รักษาโรคได้จริงหรือ
    โดย คณะสหายธรรม
    สมาธิ - วิปัสสนา รักษาโรคได้จริงหรือ
    ถาม
    การนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้จริงหรือ แก้ปัญหาได้ถาวรหรือไม่

    ตอบ การนั่งสมาธินั้นก็เพื่อให้จิตใจสงบจากนิวรณ์ ให้จิตใจไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปในอกุศล ส่วนการเจริญวิปัสสนานั้นก็เพื่อให้เกิดปัญญา รู้ความเป็นไปของชีวิตตามความเป็นจริง เพื่อละความเห็นผิดว่ารูปร่างกายเป็นตัวเป็นตนเสีย เป็นอันดับแรก มิใช่เพื่อการรักษาโรค แต่บางครั้งเมื่อเจริญสมาธิและวิปัสสนาแล้ว โรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่อาจหายได้ ทั้งนี้เพราะขณะเจริญกุศลนั้น จิตตชรูปคือรูปที่เกิดจากจิตนั้นย่อมผ่องใส เมื่อรูปผ่องใส ความไม่สบายกายก็หายไป จึงรู้สึกว่าการเจริญสมาธิหรือวิปัสสนาทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายได้ ทำให้เข้าใจผิดว่า การเจริญสมาธิและวิปัสสนา ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายก็เป็นได้
    ความจริงสมุฏฐานของโรคนั้น เกิดจากจิตก็ได้ จากกรรมก็ได้ จากอุตุคือความเย็นความร้อนก็ได้ เกิดจากอาหารก็ได้ โรคที่เกิดจากกรรมนั้นถ้าไม่หมดกรรม รักษาอย่างไรก็ไม่หาย แต่ถ้าหมดกรรม ถึงไม่รักษาก็หายเองได้ ส่วนโรคที่เกิดจากจิต จากอุตุและอาหารนั้น จะรักษาหรือไม่รักษาก็หายได้ ขอตอบปัญหานี้เพียงนี้
    :- https://84000.org/tipitaka/book/nana.php?q=17
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,448
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    ทำอย่างไรจึงจะไม่ฟุ้งซ่าน
    ถาม ทำใจอย่างไรจึงจะคลายความฟุ้งซ่านได้

    ตอบ ความจริงเรื่องของความฟุ้งซ่านเป็นเรื่องธรรมดาของคนมีกิเลส ขณะกิเลสหรือบาปอกุศลเกิดขึ้นครั้งใด ขณะนั้นก็ถือว่าฟุ้งซ่านแล้ว เพราะอุทธัจจะอันเป็นสภาพของความฟุ้งซ่านไม่สงบเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง
    ในทางตรงกันข้าม ขณะใดที่จิตเป็นกุศล เป็นบุญ ขณะนั้นจิตย่อมปราศจากความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ต้องการให้จิตฟุ้งซ่าน เราก็ต้องทำกุศลอยู่เสมอไม่ว่าจะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ช่วยเหลือกิจการงานที่ชอบ การอ่อนน้อมถ่อมตน การให้ส่วนบุญที่ทำแล้วแก่ผู้อื่น การอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำแล้ว การฟังธรรม การแสดงธรรม แม้การทำความเห็นให้ถูกต้องตรงก็เป็นกุศลทั้งนั้น การมีเมตตากรุณา เอื้อเอ็นดูแก่ผู้อื่นก็เป็นกุศล การอ่านหนังสือธรรมะก็เป็นกุศล กุศลนั้นมีมากมาย เมื่อเจริญกุศลอยู่ จิตก็ย่อมสงบจากกิเลสไม่ฟุ้งซ่าน แต่ถ้าจะละความฟุ้งซ่านให้เด็ดขาด ต้องเจริญมรรคจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นกิเลสทั้งมวลรวมทั้งความฟุ้งซ่านย่อมไม่เกิดอีกเลย

    ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
    พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑
    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
    อาหารสูตร
    http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=19&A=3082&Z=3189#526
    [๕๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ยังไม่เกิด
    เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น?
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบใจมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ
    ในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
    หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,448
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    ๑๐. เลี้ยงดูมารดาบิดา บางครั้งทำผิดศีลธรรม เป็นบาปหรือไม่
    ถาม ในฐานะที่เราเป็นคนจน แต่ต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บางครั้งก็ประพฤติผิดศีลธรรม เพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงดูท่าน เพราะอยากให้ท่านสุขสบาย อย่างนี้จะถือว่าเป็นบาปหรือไม่ ในเมื่อเราทำด้วยความกตัญญูกตเวที

    ตอบ ความจริงเรื่องของความกตัญญูกตเวทีเป็นเรื่องดี สมควรอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดมีขึ้นในจิตใจ โดยเฉพาะการที่เรากตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดานั้นควรแก่การสรรเสริญ แต่การที่เราประพฤติผิดศีลธรรมเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงดูมารดาบิดานั้นเป็นบาป ถึงจะอ้างว่าเพื่อตอบแทนคุณมารดาบิดาก็ยังเป็นบาปอยู่ดี แม้จะอ้างว่าเพื่อมารดาบิดาก็ฟังไม่ขึ้น บาปก็ยังคงเป็นบาปอยู่นั่นเอง ไม่มีทางแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ขอยกเรื่องราวในพระสูตรที่ชื่อว่า ธนัญชานิสูตร ใน ม.มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๖๗๒ มาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
    ในสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ท่านพระสารีบุตรได้เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคีรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
    ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่กรุงราชคฤห์ได้ออกไปหาท่านพระสารีบุตร ที่ทักขิณาคีรีชนบท ท่านพระสารีบุตรจึงได้ถามถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ ทราบว่าเป็นสุขสบายดี จึงได้ถามถึงธนัญชานีพราหมณ์ที่อยู่ใกล้ประตูตัณฑุลปาละ ในกรุงราชคฤห์ พระอาคันตุกะรูปนั้นก็บอกว่า ธนัญชานีพราหมณ์สบายดี แต่ภรรยาของเขาซึ่งเป็นหญิงมีศรัทธาตายเสียแล้ว เขาได้ภรรยาใหม่เป็นหญิงไม่มีศรัทธา เขาอาศัยพระราชาเที่ยวปล้นพวกพราหมณ์และคหบดี อาศัยพวกพราหมณ์และคหบดีปล้นพระราชา
    นั่นก็คือ เมื่อพระราชารับสั่งให้เขาไปเอาข้าวกล้าบางส่วนมาจากคนทั้งหลาย โดยไม่ให้เบียดเบียนคนเหล่านั้นให้เดือดร้อน แต่ธนัญชานีพราหมณ์กลับไปรีดนาทาเร้นเอาข้าวกล้ามาเสียทั้งหมด แม้คนเหล่านั้นจะอ้อนวอนขอร้องว่า ถ้าเอาข้าวกล้าไปหมด พวกเขาย่อมเดือดร้อนเพราะไม่มีข้าวกล้าจะทำนา แต่พราหมณ์ก็ไม่ฟัง อ้างว่าเป็นคำสั่งของพระราชา เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงกล่าวว่าธนัญชานีพราหมณ์อาศัยพระราชาปล้นพราหมณ์และคหบดี
    ครั้นพราหมณ์ได้ข้าวกล้ามาทั้งหมดแล้ว แทนที่จะนำไปถวายพระราชาทั้งหมด กลับยักยอกเก็บไว้ที่บ้านของตนเป็นจำนวนมาก นำไปถวายพระราชาแต่น้อย
    พระราชาตรัสถามว่า “ท่านไปเบียดเบียนพวกพราหมณ์หรือคหบดีหรือเปล่า”
    พราหมณ์ก็ทูลว่า “ข้าพระองค์มิได้เบียดเบียนคนเหล่านั้น แต่ในขณะนี้ข้าวกล้ามีน้อย ข้าพระองค์จึงเอามาแต่น้อย”
    เพราะเหตุที่พราหมณ์อ้างดังนี้ ภิกษุรูปนั้นจึงกล่าวว่า “ธนัญชานีอาศัยพราหมณ์และคหบดีปล้นพระราชา คือโกงพระราชา” ท่านพระสารีบุตรฟังคำเล่าเช่นนั้นแล้วก็กล่าวว่า “ธนัญชานีพราหมณ์เป็นผู้ประมาทเสียแล้ว เราควรจะไปหา คือไปเตือนธนัญชานีพราหมณ์” ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ทักขิณาคีรีชนบทพอสมควรแล้วก็ได้กลับไปพักที่พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์
    ครั้นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว กลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้วได้ไปหาธนัญชานีพราหมณ์ถึงที่อยู่ ในขณะที่เขากำลังให้คนรีดนมโคอยู่ เขาเห็นท่านพระสารีบุตรเดินมาแต่ไกล ก็ร้องนิมนต์ให้ดื่มน้ำนมสด แต่ท่านพระสารีบุตรปฏิเสธว่า ฉันฉันเรียบร้อยมาแล้ว ฉันจะไปพักที่โคนต้นไม้โน้น ท่านพึงไปที่นั่น
    ธนัญชานีพราหมณ์จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร นั่ง ณ ที่ควร
    เมื่อท่านพระสารีบุตรถามว่า “ท่านยังเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่หรือ”
    ธนัญชานีตอบว่า “ที่ไหนได้ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้าเป็นผู้ประมาท เพราะต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บุตรภรรยา ข้าทาสบริวาร ต้องทำกิจการงานสำหรับมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ตลอดจนแขกผู้จรมา ทำบุญอุทิศให้บุพเปตชน บวงสรวงเทวดา ทำราชการให้หลวง แม้กายนี้ก็ต้องให้อิ่มหนำ ต้องให้เจริญ”
    ท่านพระสารีบุตรฟังแล้วกล่าวว่า “ท่านเข้าใจว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะกรรมนั้น เขาจะขอร้องอ้อนวอนว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเราไปลงนรกเลย หรือมารดาบิดาจะขอร้องนายนิรยบาลว่า บุตรของเราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งสอง ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปลงนรกเลย นายนิรยบาลจะฟังคำขอร้องของเขาหรือไม่”
    ธนัญชานีพราหมณ์กล่าวว่า “แม้ผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมายประการใด นายนิรยบาลก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
    จากนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไปทีละอย่างๆ ว่า “ถ้าหากว่า บุคคลนั้นประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา ข้าทาสกรรมกรคนรับใช้ เพราะเหตุแห่งมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต เพราะเหตุแห่งแขกผู้จรมา เพราะเหตุแห่งบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะเหตุแห่งเทวดา เพราะเหตุแห่งราชการของพระราชา เพราะเหตุแห่งการบำรุงร่างกายของตนให้อิ่มหนำให้เจริญ บุคคลนั้นจะพึงขอร้องนายนิรยบาลไม่ให้ฉุดเขาลงนรกได้หรือไม่”
    พราหมณ์ตอบว่า “ไม่ได้ แม้เขาจำคร่ำครวญอย่างไร นายนิรยบาลก็ต้องฉุดคร่าเขาลงนรกจนได้”
    ท่านพระสารีบุตรฟังดังนั้นแล้ว จึงถามว่า “บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา กับประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรมอย่างไหนจะดีกว่ากัน ประเสริฐกว่ากัน”
    ธนัญชานีพราหมณ์ก็ตอบว่า “ผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไม่ประเสริฐเลย ส่วนผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ประเสริฐกว่า”
    ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “การงานอย่างอื่นที่ชอบธรรม ซึ่งคนทั้งหลายอาจเลี้ยงดูมารดาบิดาได้ ไม่ต้องทำกรรมลามกเป็นบุญเป็นกุศลมีอยู่”
    กรรมที่ชอบธรรมเป็นบุญเป็นกุศลนั้นก็คือ กรรมที่สุจริตทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ รวมเป็น ๑๐ ซึ่งก็คือประพฤติแต่กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น ไม่มีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ
    ส่วนการเลี้ยงชีพที่ผิดศีลธรรมก็ได้แก่เลี้ยงชีพด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการอันตรงกันข้ามกับกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่กล่าวแล้วมีการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น จนถึงมิจฉาทิฏฐิ การเลี้ยงชีพในทางที่ผิดนั้นเป็นเหตุให้ตกนรก
    ก็กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้แหละที่ท่านพระสารีบุตรบอกพราหมณ์ว่า “เป็นกรรมที่ชอบธรรมควรประพฤติ คือควรกระทำเพื่อเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นต้น”
    ธนัญชานีพราหมณ์ฟังแล้วก็ชื่นชมอนุโมทนา กราบลาท่านพระสารีบุตรแล้วกลับไป
    ต่อมา ธนัญชานีพราหมณ์ป่วยเป็นไข้หนัก ได้สั่งบุรุษคนหนึ่งไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแทน แล้วสั่งให้ไปนิมนต์ท่านพระสารีบุตรมาที่บ้านด้วยว่าเขาป่วยหนัก ไม่สามารถจะไปหาท่านพระสารีบุตรเองได้
    ท่านพระสารีบุตรก็ได้มาตามคำนิมนต์นั้น เมื่อมาถึงถามพราหมณ์ว่า “ยังพออดทนต่อทุกขเวทนาได้หรือไม่”
    พราหมณ์ตอบว่า “ข้าแต่พระสารีบุตร ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ทุกขเวทนากล้านัก ไม่ทุเลาลงเลย ชีวิตของข้าพเจ้าเห็นจะเป็นไปไม่ได้ ลมเสียดแทงศีรษะกล้านัก ดุจบุรุษมีกำลังเอาเหล็กแหลมคมกดศีรษะ เวทนาในศีรษะของข้าพเจ้าทุกข์เหลือทน เหมือนนายโคฆาตเอามีดสำหรับเชือดเนื้อโคมาเชือดท้องข้าพเจ้าฉะนั้น ในกายของข้าพเจ้าร้อนเหลือเกิน ดุจบุรุษมีกำลังมากสองคนช่วยกันจับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าคนละแขน รมย่างไว้บนถ่านเพลิงฉะนั้น ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ทุกขเวทนากล้านัก ทวีขึ้นไม่ลดลงเลย”
    ท่านพระสารีบุตรถามว่า “นรกกับกำเนิดสัตว์เดรัจฉานไหนจะดีกว่ากัน”
    พราหมณ์ตอบว่า “กำเนิดสัตว์เดรัจฉานดีกว่า”
    ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไปว่า “กำเนิดสัตว์เดรัจฉานกับปิตติวิสัยไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “ปิตติวิสัยดีกว่า”
    ท่านพระสารีบุตรถามต่อไปว่า “ปิตติวิสัยกับมนุษย์ไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “มนุษย์ดีกว่า”
    ท่านพระสารีบุตรถามอีกว่า “มนุษย์กับเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาดีกว่า”
    ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่า “เทวดาชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับจนถึงปรนิมมิตวสวดีว่า เทวดาชั้นปรนิมมิตรสวดีกับพรหมโลกไหนจะดีกว่ากัน”
    พราหมณ์ย้อนถามว่า “ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าพรหมโลกหรือ”
    ท่านพระสารีบุตรได้ฟังพราหมณ์ถามเช่นนั้น ก็คิดว่าพราหมณ์นี้น้อมใจไปในพรหมโลก เพราะฉะนั้น เราจะแสดงทางไปพรหมโลกแก่เขา เมื่อท่านคิดดังนี้จึงบอกให้พราหมณ์ตั้งใจฟัง เราจะแสดงทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม ด้วยการแสดงการเจริญพรหมวิหารสี่คือ เมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา
    โดยแสดงว่า ภิกษุในธรรมวินัยมีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวา และตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกหมู่เหล่าเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้อนี้เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม แล้วก็แสดงการเจริญกรุณา มุทิตาและอุเบกขา โดยทำนองเดียวกันว่า ล้วนเป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม
    เมื่อท่านพระสารีบุตรแสดงทางไปพรหมโลกแก่ธนัญชานีพราหมณ์อย่างนี้แล้ว ธนัญชานีพราหมณ์ได้กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของข้าพเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานีพราหมณ์ป่วย ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า”
    ท่านพระสารีบุตรก็นำความนั้นมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าตามคำของพราหมณ์ และเมื่อธนัญชานีพราหมณ์ทำกาละแล้ว ก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นต่ำ
    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่าสารีบุตรได้ประดิษฐานพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ นั่นคือการแสดงอริยสัจสี่ อันจะทำให้พราหมณ์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก แต่การไปสู่พรหมโลกทั้งที่ยังเป็นปุถุชนนั้น ยังจะต้องกลับมาเกิดอีก ไม่อาจล่วงทุกข์ทั้งปวงได้
    ท่านพระสารีบุตรก็ทูลให้ทราบว่าที่ท่านมิได้แสดงอริยสัจสี่นั้น เป็นเพราะท่านเห็นว่าพวกพราหมณ์มักน้อมใจไปพรหมโลก จึงได้แสดงทางเพื่อไปพรหมโลก
    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธนัญชานีพราหมณ์ทำกาละไปเกิดในพรหมโลกแล้ว”
    ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป เมื่อท่านพระสารีบุตรจะแสดงธรรม แม้แต่คาถาเดียว ท่านก็มิได้แสดงธรรมที่นอกไปจากอริยสัจสี่ ทั้งนี้เพราะท่านมีปัญญามาก ฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนั้น ท่านก็เข้าใจและทำตาม
    สรุปว่า การประพฤติชั่ว การประพฤติไม่ชอบธรรมเพื่อมารดาบิดาหรือบุตรภรรยาเป็นต้น เป็นเหตุนำไปนรก จึงไม่ควรกระทำ เพราะสัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมชั่วก็ต้องรับผลชั่วโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ เพราะถึงจะอ้าง นายนิรยบาลก็ไม่ยอม
    ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
    พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕
    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
    ธนัญชานิสูตร
    :- https://84000.org/tipitaka/book/nana.php?q=10
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,448
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    ๔๑. พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู ทำไมต้องให้หมอรักษาไข้ ถาม พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู แต่เหตุใดจึงต้องให้หมอชีวกรักษาในเวลาเจ็บไข้ หรือถูกสะเก็ดหินห้อพระโลหิต ทำไมจึงไม่รักษาพระองค์เอง พระองค์เป็นสัพพัญญูย่อมทรงทราบทุกอย่างว่าโรคอะไรใช้ยาอะไรรักษา

    ตอบ พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู ทรงรอบรู้ทุกอย่างก็จริง แต่หากว่าพระองค์จะทรงทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยพระองค์เองแล้ว การบำเพ็ญบารมีมาเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะพระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งเสียเองหมด แต่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกให้ได้รับความสุข การปฏิบัติพระพุทธองค์เป็นบุญเป็นกุศลให้ผลเป็นความสุข พระพุทธองค์จึงทรงอนุเคราะห์คนเหล่านั้น ตลอดจนหมอชีวกให้ได้บุญและได้ทำหน้าที่ของหมอ หน้าที่ของใครๆ ก็ทำ พระองค์ไม่ทรงก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น นี่เป็นพระพุทธจริยาที่พวกเราควรจะได้เอาอย่าง แม้คุณเองก็อาจทำอะไรเป็นตั้งหลายอย่าง แต่คุณก็ไม่ทำทุกอย่าง เพราะถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของคุณก็มีมิใช่หรือ
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,448
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    ๒๔. พระอรหันต์นิพพานแล้วเหลือแต่จิตบริสุทธิ์หรือ
    ถาม ผมอยากทราบว่า ตามหลักอภิธรรมกล่าวว่าจิตกับวิญญาณขันธ์เป็นสิ่งเดียวกัน ใช่หรือไม่ครับ ถ้าใช่อย่างนั้น เวลาบรรลุเป็นพระอรหันต์ และดับขันธ์ปรินิพพานเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ขันธ์ทั้ง ๕ ดับหมด ก็สูญหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างนะสิครับ หรือความจริงเป็นอย่างไร
    มีบางท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า จิตถูกหุ้มห่อด้วยขันธ์ทั้ง ๕ เป็นชั้นที่ ๑ และถูกหุ้มห่อด้วยวิบากเป็นชั้นที่ ๒ เมื่อทำลายกรรมและวิบากหมดแล้ว บรรลุเป็นอรหันต์เหลือแค่ขันธ์ ๕ ทรงอยู่อย่างบริสุทธิ์ ต่อเมื่อดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ ก็ดับหมดเหลือแต่จิตล้วนๆ บริสุทธิ์ (เรียกว่า เกวล) ถึงบรมสันติสุขสถาพร ตลอดกาลนิรันดร
    ขอคำอธิบายจากคณะสหายธรรมด้วยว่า ความจริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่ในเรื่องนี้

    ตอบ ก่อนอื่นขอเรียนว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะหลักธรรมขั้นสูง คือมรรคผลนิพพานนั้น บางนิกายก็มีความเห็นแตกต่างไปจากนิกายเถรวาทที่เรานับถือกันอยู่ คำถามที่คุณตั้งมานั้นจะเป็นคำสอนของผู้ใดนิกายไหนคณะไม่อาจทราบได้ แต่คำสอนในนิกายเถรวาทไม่ใช่เช่นนั้น เพราะฉะนั้น คำตอบที่จะตอบต่อไปนี้จึงเป็นคำตอบที่ได้มาจากคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอรหันต์สาวกและอรรถกถาในนิกายเถรวาทเท่านั้น
    ในพระอภิธรรม พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติชื่อของสภาพรู้ คือจิตไว้ถึง ๙ ชื่อดังนี้คือ
    ๑. จิต ๒. มนะ ๓. มานสะ
    ๔. หทยะ ๕. ปัณฑระ ๖. มนายตนะ
    ๗. มนินทรีย์ ๘. วิญญาณ ๙. วิญญาณขันธ์
    ซึ่งจะใช้ชื่อใดก็หมายความถึงจิตทั้งสิ้น ในบรรดาขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์นั้น วิญญาณขันธ์ก็คือจิตนั่นเอง
    ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ถ้าขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ดับไปแล้ว คือปรินิพพานแล้ว เหลือแต่จิตล้วนบริสุทธิ์ ก็แสดงว่าขันธ์ของพระอรหันต์ดับไปเพียง ๔ ขันธ์ วิญญาณขันธ์คือจิตมิได้ดับด้วยจึงยังคงเหลือบริสุทธิ์อยู่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง จิตก็เที่ยง เพราะดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ นี่ก็ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วจึงถูกต้องไปไม่ได้
    อนึ่ง ในพระอภิธรรมท่านแสดงว่านามขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อเกิดขึ้นต้องเกิดพร้อมกัน ๔ ขันธ์ และเมื่อดับก็ดับไปพร้อมกันทั้ง ๔ ขันธ์ ไม่ใช่ ๓ ขันธ์ดับ วิญญาณขันธ์ไม่ดับ เมื่อรูปกายอันเป็นรูปขันธ์แตกดับ นามขันธ์ทั้ง ๔ ก็อยู่ไม่ได้ ต้องแตกดับด้วย และต้องแตกดับพร้อมกันทั้ง ๔ ขันธ์ด้วย ไม่ใช่ดับเพียง ๓ ขันธ์ เหลือวิญญาณขันธ์คือจิตไว้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่ศาสนาพุทธในนิกายเถรวาท
    ธรรมดาขันธ์ ๕ เป็นสังขตธรรมหรือสังขารธรรม คือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งและมีสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ปราศจากเหตุปัจจัยแล้ว ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิด ขันธ์ ๕ ก็เกิด เมื่อหมดเหตุปัจจัย ขันธ์ ๕ ก็ดับ
    ดังที่พระอัสสชิกล่าวแก่อุปติสสะปริพาชก ซึ่งภายหลังคือท่านพระสารีบุตร ว่า
    “ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสถึงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”
    ด้วยเหตุนี้ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์เมื่อดับ คือปรินิพพานแล้ว เพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดแล้วจึงไม่เกิดอีก ไม่ว่าจะเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเหลือแต่จิตล้วนๆ บริสุทธิ์ ในเมื่อจิตก็คือวิญญาณขันธ์ เมื่อวิญญาณขันธ์ซึ่งรวมอยู่ในขันธ์ ๕ ดับ การจะเหลือแก่จิตบริสุทธิ์จึงเป็นไปไม่ได้

    ในพรหมชาลสูตร ที. สีลขันธวรรค ข้อ ๙๐ ตอนท้าย
    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ภิกษุว่า
    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตมีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้วยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ ต่อเมื่อกายแตกสิ้นชีวิตแล้วเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะไม่เห็นตถาคต”
    จากพระพุทธดำรัสนี้ก็แสดงชัดว่า ผู้ที่ทำลายตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดในภพต่างๆ ได้ขาดแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้วยังมีชีวิตอยู่ เทวดาและมนุษย์ย่อมเห็นกายของพระอรหันต์ได้ แต่เมื่อพระอรหันต์สิ้นชีวิตแล้วคือปรินิพพานแล้ว เทวดาและมนุษย์ย่อมไม่เห็นกายของท่าน เพราะกายของท่านดับแล้วไม่เกิดอีกแล้ว
    อนึ่ง การดับของขันธ์ ๕ ท่านไม่เรียกว่าสูญ ในเมื่อขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ดับไปก็เพราะสิ้นเหตุปัจจัย ท่านจึงเรียกการไม่ได้เกิดอีกของขันธ์ ๕ ว่า เพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด ขันธ์ ๕ ก็ไม่เกิด
    อีกอย่างหนึ่ง จุติของพระอรหันต์ ท่านเรียกว่าจริมะจิต คือเป็นจิตดวงสุดท้ายในสังสารวัฏ สำหรับบุคคลที่ตายแล้วยังต้องเกิดอีก จิตดวงสุดท้ายในแต่ละชาติที่ตายนั้น เรียกว่าจุติจิต เพราะจุติจิตดับแล้วมีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพใหม่ชาติใหม่อีก ทั้งนี้บุคคลที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ว่าจะเกิดมากี่ร้อย กี่พัน กี่แสน กี่โกฏิชาติ จิตก็เกิดดับติดต่อกันมาตลอดร้อยชาติ พันชาติ แสนชาติ โกฏิชาติ คือจุติจิตดับแล้วปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อไปอีกทุกๆ ชาติ
    ต่อเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละ จุติของท่านจึงชื่อว่าจริมะจิต คือเป็นจิตดวงสุดท้ายของการเกิดมาในสังสารวัฏอันยาวนานนั้น เพราะไม่ปฏิสนธิจิตสืบต่ออีก เหมือนในชาติที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ นี่คือเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในเรื่องนี้และในนิกายเถรวาทนี้ ________________________________________
    :- https://84000.org/tipitaka/book/nana.php?q=24
     

แชร์หน้านี้

Loading...