ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย งูๆปลาๆ, 4 มีนาคม 2018.

  1. งูๆปลาๆ

    งูๆปลาๆ นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 สิงหาคม 2017
    โพสต์:
    563
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +412
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
    [​IMG]
    ธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒
    ตถาคตสูตรที่ ๑
    ทรงแสดงพระธรรมจักร

    [๑๖๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี
    ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้วตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด๒ อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ
    ส่วนสุด ๒ อย่างนั้นเป็นไฉน?

    คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
    การประกอบความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑


    ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างเหล่านี้ อันตถาคต
    ได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น ... เป็นไฉน?

    คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ ซึ่งได้แก่
    ความเห็นชอบ
    ความดำริชอบ
    วาจาชอบ
    การงานชอบ
    เลี้ยงชีพชอบ
    เพียรชอบ
    ระลึกชอบ
    ตั้งใจชอบ
    ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.


    [๑๖๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่
    ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็น
    ทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์
    โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่
    ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่
    กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือ ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่
    เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย ก็ทุกขนิโรธคามินี-
    *ปฏิปทาอริยสัจนี้แล คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมา
    สมาธิ.
    [๑๖๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่
    เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นควรกำหนดรู้ ฯลฯ
    ทุกขอริยสัจนั้นเรากำหนดรู้แล้ว.
    [๑๖๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
    ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทยอริยสัจนั้นควรละ ฯลฯ
    ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้นเราละแล้ว.
    [๑๖๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา
    ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นควรกระทำให้
    แจ้ง. ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นเรากระทำให้แจ้งแล้ว
    [๑๖๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่
    เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินี
    ปฏิปทาอริยสัจนั้นควรเจริญ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
    ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นเราเจริญแล้ว.
    [๑๖๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง
    มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยัง
    ไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหม-
    *โลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะ
    (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้
    ของเรา บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใน
    โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา
    และมนุษย์ ก็ญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด
    บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ปลื้มใจ ชื่นชม
    ภาษิตของพระผู้มีพระภาค.
    [๑๖๗๑] ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจาก
    ธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
    สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรแล้ว พวก
    ภุมมเทวดาได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว ณ ป่า
    อิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ
    ใครๆ ในโลก ประกาศไม่ได้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ...
    พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ... พวกเทพชั้นยามาได้ฟังเสียง
    ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ... พวกเทพชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นยามาแล้ว ... พวก
    เทพชั้นนิมมานรดีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดุสิตแล้ว ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีได้ฟังเสียง
    ของพวกเทพชั้นนิมมานรดีแล้ว ... พวกเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้น
    ปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศ
    แล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
    พรหม หรือใครๆ ในโลก ประกาศไม่ได้.
    [๑๖๗๒] โดยขณะนั้น โดยครู่นั้น เสียงได้ระบือขึ้นไปจนถึงพรหมโลกด้วยประการ
    ฉะนี้ ก็หมื่นโลกธาตุนี้สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ทั้งแสงสว่างอันยิ่ง หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏ
    แล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของพวกเทพดาทั้งหลาย.
    [๑๖๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
    โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้นคำว่า อัญญาโกณฑัญญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะ
    ด้วยประการฉะนี้แล.
    จบ สูตรที่ ๑
    ตถาคตสูตรที่ ๒
    จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดแก่ตถาคต
    [๑๖๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่
    พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นควร
    กำหนดรู้ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้น พระตถาคตทั้งหลาย กำหนดรู้แล้ว.
    [๑๖๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่
    พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทัย
    อริยสัจนั้นควรละ ฯลฯ ทุกขสมุทยอริยสัจนั้น พระตถาคตทั้งหลายละได้แล้ว.
    [๑๖๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่
    พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจ
    นั้น ควรกระทำให้แจ้ง ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้น พระตถาคตทั้งหลายกระทำให้แจ้งแล้ว.
    [๑๖๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่
    พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯลฯ
    ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นควรเจริญ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้น
    แก่พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น
    พระตถาคตทั้งหลาย เจริญแล้ว.
    จบ สูตรที่ ๒
    ขันธสูตร
    ว่าด้วยอริยสัจ ๔
    [๑๖๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน? คือ ทุกข-
    *อริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
    [๑๖๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? ควรจะกล่าวได้ว่า อุปาทาน
    ขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทาน
    ขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ นี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ.
    [๑๖๘๐] ก็ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นไฉน? ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความ
    กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา
    วิภวตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ.
    [๑๖๘๑] ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน? ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่ง
    ตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัยตัณหานั้น นี้เรียกว่า
    ทุกขนิโรธอริยสัจ.
    [๑๖๘๒] ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์
    ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
    [๑๖๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย
    พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
    จบ สูตรที่ ๓
    อายตนสูตร
    ว่าด้วยอริยสัจ ๔
    [๑๖๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน? คือ
    ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
    [๑๖๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? ควรจะกล่าวว่า อายตนะ
    ภายใน ๖ อายตนะภายใน ๖ เป็นไฉน? คือ อายตนะคือตา ฯลฯ อายตนะคือใจ นี้เรียก
    ว่า ทุกขอริยสัจ.
    [๑๖๘๖] ก็ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นไฉน? ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วย
    ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา
    วิภวตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ.
    [๑๖๘๗] ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน? ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่ง
    ตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัยตัณหานั้น นี้เรียกว่า ทุกข-
    *นิโรธอริยสัจ.
    [๑๖๘๘] ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์
    ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
    [๑๖๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย
    พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
    จบ สูตรที่ ๔
    ธารณสูตรที่ ๑
    ว่าด้วยการทรงจำอริยสัจ ๔
    [๑๖๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงไว้เถิด.
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    ข้าพระองค์ทรงจำซึ่งอริยสัจที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว.
    พ. ดูกรภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วอย่างไร?
    ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ ทุกขสมุทยอริยสัจ
    เป็นข้อที่ ๒ ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ ๔ ที่พระผู้
    มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำอริยสัจ ๔ ที่พระผู้มีพระภาค
    ทรงแสดงแล้วอย่างนี้แล.
    [๑๖๙๑] พ. ดูกรภิกษุ ดีละๆ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วได้ถูกต้อง
    เราแสดงทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ เธอทรงจำได้ เราแสดงทุกขสมุทยอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ เธอก็ทรง
    จำได้ เราแสดงทุกขนิโรธอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ เธอก็ทรงจำได้ เราแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
    อริยสัจเป็นข้อที่ ๔ เธอก็ทรงจำได้ เธอจงทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ
    เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธ-
    *คามินีปฏิปทา.
    จบ สูตรที่ ๕
    ธารณสูตรที่ ๒
    ว่าด้วยการทรงจำอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้อง
    [๑๖๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงไว้แล้วเถิด
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้า
    พระองค์ทรงจำได้ ซึ่งอริยสัจ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว.
    พ. ดูกรภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วอย่างไร?
    ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ ที่พระผู้มีพระภาค
    ทรงแสดงแล้ว ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้ไม่ใช่ทุกขอริยสัจข้อที่ ๑
    ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจ
    ข้อที่ ๑ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯลฯ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
    อริยสัจเป็นข้อที่ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าว
    อย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจัก
    บอกเลิกทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
    อริยสัจที่ ๔ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำ
    อริยสัจ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอย่างนี้แล.
    [๑๖๙๓] พ. ดูกรภิกษุ ดีละๆ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วได้ถูกต้อง
    เราแสดงทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ เธอก็ทรงจำได้ ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าว
    อย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขอริยสัจ
    ข้อที่ ๑ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯลฯ
    เราแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ ๔ เธอก็ทรงจำได้ ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด
    ผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ ที่พระสมณโคดมทรง
    แสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขนิโรธ-
    *คามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เธอจงทรงจำอริยสัจ ๔ ที่
    เราแสดงแล้วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความ
    เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
    จบ สูตรที่ ๖
    อวิชชาสูตร
    ว่าด้วยอวิชชา
    [๑๖๙๔] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อวิชชาๆ ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคล
    จึงจะชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุให้
    เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่าอวิชชา และด้วยเหตุเพียง
    เท่านี้ บุคคลย่อมชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียร
    เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
    จบ สูตรที่ ๗
    วิชชาสูตร
    ว่าด้วยวิชชา
    [๑๖๙๕] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
    พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า วิชชาๆ ดังนี้ วิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึง
    จะชื่อว่าถึงวิชชา? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ความรู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ใน
    ความดับทุกข์ ในทางที่ให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
    ย่อมชื่อว่าถึงวิชชา ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็น
    จริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
    จบ สูตรที่ ๘
    สังกาสนสูตร
    ว่าด้วยบัญญัติแห่งอริยสัจ ๔
    [๑๖๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติว่า นี้เป็นทุกขอริยสัจ อักขระ พยัญชนะ
    การจำแนกในทุกขอริยสัจนั้น หาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ นี้เป็นทุกขอริยสัจ ฯลฯ
    เราบัญญัติว่า นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อักขระ พยัญชนะ การจำแนกทุกขนิโรธ-
    *คามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น หาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา-
    *อริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความ
    เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
    จบ สูตรที่ ๙
    ตถสูตร
    ว่าด้วยของจริงแท้ ๔ อย่าง
    [๑๖๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๔ อย่างนี้ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็น
    อย่างอื่น สิ่ง ๔ อย่างเป็นไฉน? สิ่งนี้ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทาง
    ให้ถึงความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น สิ่ง ๔ อย่างนี้ เป็นของจริงแท้
    ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร
    เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
    จบ สูตรที่ ๑๐
    จบ ธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒
     
  2. งูๆปลาๆ

    งูๆปลาๆ นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 สิงหาคม 2017
    โพสต์:
    563
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +412
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
    [​IMG]
    ๗. มหาจัตตารีสกสูตร (๑๑๗)
    [๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
    อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
    ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิ
    ของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสัมมา-
    *สมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
    ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ
    [๒๕๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมา-
    *สมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
    สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
    เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ
    [๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็น
    ประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ
    รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ
    [๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า
    ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล
    ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี
    บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติ
    ชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี
    นี้มิจฉาทิฐิ ฯ
    [๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
    ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
    เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ
    [๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
    ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชา
    แล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว
    มีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์
    ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง
    เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
    ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
    [๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
    เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์
    ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มี
    จิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่
    นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายาม
    ของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้น
    เป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ
    สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น ฯ
    [๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็น
    ประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่า
    มิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าสัมมาสังกัปปะ ความรู้ของเธอนั้น เป็น
    สัมมาทิฐิ ฯ
    [๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาสังกัปปะเป็นไฉน คือ ความดำริ
    ในกาม ดำริในพยาบาท ดำริในความเบียดเบียน นี้มิจฉาสังกัปปะ ฯ
    [๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เรากล่าวสัมมาสังกัปปะเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็น
    ส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
    เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ
    [๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วน
    แห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือความดำริในเนกขัมมะ ดำริในความไม่
    พยาบาท ดำริในความไม่เบียดเบียน นี้สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วน
    แห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
    [๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
    เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตรึก ความวิตก
    ความดำริ ความแน่ว ความแน่ ความปักใจ วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก
    มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรคเจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมาสังกัปปะ
    ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาสังกัปปะ เพื่อบรรลุสัมมาสังกัปปะ
    ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะได้ มีสติบรรลุสัมมาสังกัปปะอยู่ สติ
    ของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมา-
    *สติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาสังกัปปะ ของภิกษุนั้น ฯ
    [๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็น
    ประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉา-
    *วาจา รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจา ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ
    [๒๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาวาจาเป็นไฉน คือพูดเท็จ พูดส่อเสียด
    พูดคำหยาบ เจรจาเพ้อเจ้อ นี้ มิจฉาวาจา ฯ
    [๒๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เรากล่าวสัมมาวาจาเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
    ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
    เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ
    [๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
    ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูด
    ส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ นี้ สัมมาวาจา
    ที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
    [๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
    เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น
    ความเว้นขาด เจตนางดเว้น จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิต
    หาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาวาจา
    ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจาอยู่ ความ
    พยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สติของเธอนั้น
    เป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ
    สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาวาจาของภิกษุนั้น ฯ
    [๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน
    ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉากัมมันตะว่า มิจฉากัมมันตะ
    รู้จักสัมมากัมมันตะว่า สัมมากัมมันตะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ
    [๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉากัมมันตะเป็นไฉน คือ ปาณาติบาต
    อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร นี้ มิจฉากัมมันตะ ฯ
    [๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน ดูกรภิกษุ-
    *ทั้งหลาย เรากล่าวสัมมากัมมันตะเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมากัมมันตะที่ยังเป็น
    สาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมากัมมันตะของพระอริยะ
    ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ
    [๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วน
    แห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้น
    จากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร นี้สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ
    เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
    [๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็น
    อนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด
    ความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริตทั้ง ๓ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิต
    หาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมากัมมันตะ
    ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ เพื่อบรรลุสัมมากัมมันตะ
    ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉากัมมันตะได้ มีสติบรรลุสัมมากัมมันตะอยู่ สติ-
    *ของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ
    สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้น ฯ
    [๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็น
    ประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่า
    มิจฉาอาชีวะ รู้จักสัมมาอาชีวะว่าสัมมาอาชีวะ ความรู้ของเธอนั้น เป็น
    สัมมาทิฐิ ฯ
    [๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน คือ การโกง
    การล่อลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ
    นี้มิจฉาอาชีวะ ฯ
    [๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วน
    แห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
    เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑ ฯ
    [๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วน
    แห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละ
    มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ สัมมาอาชีวะที่
    ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
    [๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
    เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น
    เจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้
    พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาอาชีวะของพระอริยะ
    ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความ
    พยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่ สติของ
    เธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ
    สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น ฯ
    [๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน
    ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
    จึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาอาชีวะ
    สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสติ
    สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาญาณะ
    สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้
    ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐
    [๒๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็น
    ประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
    ผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฐิได้ ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็น
    อเนกบรรดามี เพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฐิสลัดได้แล้ว
    และกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาทิฐิเป็น
    ปัจจัย ฯ
    ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสังกัปปะได้...
    ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้...
    ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉากัมมันตะได้...
    ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาอาชีวะได้...
    ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวายามะได้...
    ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสติได้...
    ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสมาธิได้...
    ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาญาณะได้...
    ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวิมุตติได้ ทั้งอกุศลธรรมลามก
    เป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติ
    สลัดได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนกย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมา-
    *วิมุตติเป็นปัจจัย
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล จึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่าย
    อกุศล ๒๐ ชื่อ ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ อันเราให้เป็นไปแล้ว สมณะ
    หรือ พราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก
    จะให้เป็นไปไม่ได้ ฯ
    [๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสำคัญ
    ที่จะติเตียน คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าว
    ตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมถึง
    ฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว ถ้าใครติเตียนสัมมาทิฐิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ
    ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีทิฐิผิด ถ้าใครติเตียนสัมมาสังกัปปะ เขาก็ต้องบูชา
    สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสังกัปปะผิด ถ้าใครติเตียนสัมมาวาจา เขาก็ต้อง
    บูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาจาผิด ถ้าใครติเตียนสัมมากัมมันตะ
    เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีการงานผิด ถ้าใครติเตียนสัมมา-
    *อาชีวะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีอาชีวะผิด ถ้าใครติเตียน
    สัมมาวายามะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีความพยายามผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาสติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสติผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาสมาธิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสมาธิผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาญาณะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีญาณผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาวิมุตติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มี
    วิมุตติผิด ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง พึงสำคัญที่จะ
    ติเตียน คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าว
    ตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมถึง
    ฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พวกอัสสะและพวกภัญญะ
    ชาวอุกกลชนบท ซึ่งเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ ก็ยังสำคัญที่
    จะไม่ติเตียน ไม่คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ นั่นเพราะเหตุไร เพราะ
    กลัวถูกนินทา ถูกว่าร้าย และถูกก่อความ ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
    พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
    จบ มหาจัตตารีสกสูตร ที่ ๗
     

แชร์หน้านี้

Loading...