น้อมส่ง’หลวงปู่ปวง’สู่สรวงสวรรค์ ณ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา 24 ก.พ. 63 : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร...

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 20 กุมภาพันธ์ 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b887e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89be0b8b9e0b988e0b89be0b8a7e0b887e0b8aae0b8b9e0b988e0b8aae0b8a3.jpg
    ผู้เขียน น.พ.วิชัย เทียนถาวร

    คํ่าคืนวันที่ 29 มิถุนายน 2562 ผู้เขียนได้รับข่าวสารจากเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ โพสต์ข้อความระบุว่า พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธัมมปัญโญ) หรือหลวงพ่อใหญ่ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ (พระอารามหลวง) ตำบลเวียง อำเภอเมืองจังหวัดพะเยา มรณภาพแล้ว ในเวลาประมาณ 20.11 น. สิริอายุ 101 ปี 82 พรรษา

    จากนั้นสื่อหลักไม่ว่าจะทีวี หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ นำเสนอข่าวการสูญเสีย หลวงปู่ฯ ทั้งนี้ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
    ซึ่งเป็นพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดพะเยา และจังหวัดข้างเคียง เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพะเยา เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ซึ่งด้วยการดูแลรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดอย่างดีตั้งแต่อยู่ห้องพิเศษ จนกระทั่งหลวงปู่ฯ ป่วยหนักขึ้นจึงได้นำเข้ารักษาในห้องไอซียูภายใต้การดูแลของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลพะเยา โดยการนำของแพทย์หญิงจิรพร ภัทรนุธาพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพะเยา รวมทั้งได้มีการเสนอรายงานสภาวะการป่วยไข้ของหลวงปู่ฯ ทางสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และด้วยสุดวิสัยในที่สุดหลวงปู่ฯของเราได้มรณภาพด้วยโรคชรา ตามวันเวลาดังกล่าว

    การสูญเสียของหลวงพ่อใหญ่ไปในครั้งนี้สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้ชาวพะเยารวมถึงคณะศิษยานุศิษย์ พระเถรานุเถระ ลูกศิษย์ลูกหา และประชาชนชาวจังหวัดพะเยาเป็นอย่างยิ่ง

    คืนวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2562 ผู้เขียนตั้งใจไปกราบนมัสการหลวงปู่ฯ และได้กราบนมัสการพระสุนทรกิตติคุณ (เดชา อินทปญฺโญ) เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา รองเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง ท่านดูแลหลวงปู่ฯ อย่างใกล้ชิดตลอดมา ทั้งยามปกติและยามป่วยไข้ รวมทั้งลูกศิษย์ที่ปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด คือ คุณเก๋า ได้กล่าวกับผู้เขียนว่าอีก 12 วันก็จะถึง (วันที่ 11 กรกฎาคม 2562) วันเกิดแล้วนะ ก็จะมีอายุครบ 102 ปีพอดี ผู้เขียนเข้าใจได้ว่า ท่านเจ้าคุณและคณะศิษย์ฯ คงจะมีการเตรียมงานฉลองวันเกิดครบรอบ 102 ปี ซึ่งชาวพะเยาทั้งจังหวัดทราบกันดีถ้วนหน้า

    หลวงพ่อใหญ่ (หลวงปู่ปวง) ของชาวพะเยาได้อุทิศชีวิตกำลังกายและกำลังใจให้กับชุมชน ผู้เขียนอนุญาตนำเสนอ “ตารางชีวิตพระอุบาลีฯ ในช่วง 100 ปี” ที่ผ่านมายิ่งใหญ่สุดที่จะพรรณนา โดยสรุปดังนี้

    พระอุบาลีฯ เกิดวันพุธ ที่ 11 ก.ค. 2460 เวลา 21.01-22.30 น. ณ บ้านสางเหนือ ต.สาง อ.เมือง จ.พะเยา ต้นตระกูลมีตำแหน่งเป็นแสน เรียนแสนวงศ์เรือง บิดามารดาชื่อ นายพุธ (ปุ๊ด) -นางหลวง วงศ์เรือง มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นคนที่ 3 ชื่อเดิม ปวง บรรพชาในวันอาทิตย์ 15 พ.ค. 2475 อุปสมบทในวันศุกร์ 10 มิ.ย. 2481 ปีขาล ณ พัทธสีมา วัดสางเหนือ ต.บ้านสาง อ.เมือง จ.พะเยา จบเหรียญธรรม 5 ประโยค 1.ประวัติของท่านในช่วง พ.ศ.2460-2480 ท่านได้เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จากการใช้ชีวิตในชนบทในเมืองพะเยา เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมแบบล้านนาจากครอบครัวและคนในชุมชนบ้านสาง ทำนาทำสวนผักฟังค่าว ชอบอาบน้ำในกว๊านและกินน้ำกว๊าน
    2.ประวัติของท่านในช่วง พ.ศ.2480-2500 เป็นช่วงที่ท่านไปศึกษานักธรรมบาลีที่กรุงเทพฯ ท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงนี้ท่านได้เรียนรู้แบบแผนปฏิบัติ วิธีคิดในการธำรงรักษาพระพุทธศาสนา จากวัดเบญจมบพิตรฯ เมื่อกลับมาเมืองพะเยา ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองชุม (พ.ศ.2488-2497) ได้เป็นพระครูพินิตธรรมประภาส (พ.ศ.2489) จากนั้นจึงปรับปรุงการเรียนการสอนนักธรรมบาลีให้เป็นไปตามแบบแผนส่วนกลาง ส่งสามเณรไปศึกษานักธรรมบาลีที่วัดเบญจมบพิตรฯ ชุดแรกมีจำนวน 7 รูป ท่านได้สร้างอุโบสถวัดเมืองชุมตามแบบแปลนมาตรฐานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่เรียกว่าแบบ 3 หน้าต่าง ทั้งยังได้เริ่มเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ โดยเฉพาะพระพุทธรูปโบราณไว้ที่วัดเมืองชุม อาจเป็นเช่นเดียวกับที่ระเบียงคดอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำพระพุทธรูปจากสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยมาประดิษฐานไว้ ในช่วงนี้ท่านยังได้เป็นประธานสงฆ์ในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ เจดีย์วัดป่าแดงหลวงดอนไชย ที่สำคัญท่านเขียนพูดเทศนาด้วยภาษาไทยกลาง อันเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกับบุคคลในราชการ มีนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น นักวิชาการจากภายนอกเมืองพะเยา และพระเถรานุเถระจากส่วนกลาง

    3.ประวัติของท่านในช่วง พ.ศ.2500-2520 เป็นช่วงที่ท่านไปอยู่วัดศรีอุโมงค์คำ (พ.ศ.2497-2512) เป็นพระโศภณธรรมมุนี (พ.ศ.2499) และวัดศรีโคมคำ (พ.ศ.2512-ปัจจุบัน) เป็นพระราชวิสุทธิเวทีฯ (พ.ศ.2524) เป็นพระเทพวิสุทธิเวทีฯ (พ.ศ.2532) เป็นพระธรรมวิมลโมลีฯ (พ.ศ.2537) เป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ฯ (พ.ศ.2551) ช่วงที่ท่านอยู่วัดศรีอุโมงค์คำ ท่านได้สร้างโรงเรียนนักธรรมบาลีก่อนพัฒนาเป็นโรงเรียนพินิตประสาธน์ ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัดแห่งแรกในจังหวัดพะเยา ก่อตั้งในวันที่ 1 มิ.ย. 2503 ช่วงนั้นเป็นเวลาที่การศึกษาของพระสงฆ์กำลังตื่นตัวทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคในการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในระดับอุดมศึกษา คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ขยายการศึกษาออกเป็นโรงเรียนสาธิตในนามของโรงเรียนว่า บาลีมัธยม หลักสูตรมีทั้งบาลีและสามัญศึกษาควบคู่กันไป

    ขณะนั้นทางภาคเหนือ มีโรงเรียนราษฎร์ของวัด 2 แห่ง คือ โรงเรียนราษฎร์วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และโรงเรียนราษฎร์วัดบุญวาสวิหาร จังหวัดลำปาง

    ท่านกล่าวถึงสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนนักธรรมบาลีเป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัดไว้ว่า “…ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าสำนักเรียนได้พิจารณาถึงผลได้ผลเสียแล้วว่า ผลที่จะพึงได้มีมากกว่า จึงได้ตัดสินใจปฏิรูปการศึกษาเสียใหม่ โดยขอเปิดเป็นโรงเรียนราษฎร์ของรัฐขึ้นและปฏิบัติการต่อไป…” (พระอุบาลีฯ 2533:4) การดำเนินงานของท่านที่สำคัญอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการพระธรรมทูต ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2507 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้พระภิกษุเป็นผู้เผยแพร่แนวคิดการสร้างความมั่นคงให้ชาติไทยจากภัยคอมมิวนิสต์ โดยการจาริกไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน ในช่วงนี้ท่านสนใจเรียนรู้แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ เมืองพะเยาอย่างเป็นระบบ ผ่านงานโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ จากการเข้ามาของนักวิชาการคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

    ในช่วงที่อยู่วัดศรีโคมคำ ตั้งแต่ พ.ศ.2512 เป็นต้นไปนั้น ท่านได้ตั้งศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดศรีโคมคำ ใน พ.ศ.2514 สานต่อโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดศรีโคมคำ ใน พ.ศ.2519 การที่ท่านได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงชีวิตของท่านอีกช่วงหนึ่ง เพราะแสดงให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับจากครูบาแก้ว คนฺนวํโส เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำรูปเดิม ซึ่งเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายพื้นเมือง ที่สืบทอดพระพุทธศาสนาตามแบบครูบาศรีวิชัย เหตุที่ครูบาแก้วยอมรับท่าน คงเป็นเพราะกิริยาที่อ่อนน้อมต่อพระเถระ เอาใจใส่เป็นธุระในเรื่องการพัฒนาพระพุทธศาสนาด้านต่างๆ “ครูบาแก้วกับพระอุบาลีฯ” เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน ดังเหตุการณ์ที่พระเทพญาณเทวี เคยเล่าไว้ในปราชญ์ผู้ปริวรรตสังคมเมืองพะเยา (2556:39) ว่า ในสมัยที่ท่านมาจำพรรษาที่วัดศรีโคมคำนั้น “…มีหลวงพ่อท่าน (พระอุบาลีฯ) ครูบาแก้ว ครูบาปัญญา ก็มาร่วมประชุมกัน เรามีมติให้ทำโฉนดฝังหลักหมุดกัน แต่ที่ดินสมัยก่อนก็หายไปเยอะ ถ้าสมัยก่อนไม่รีบทำ ตอนนี้คงเหลือที่นิดเดียว เหมือนกว๊านพะเยา 16,000 ไร่ ตอนนี้เหลือ 12,000 ไร่ 4,000 ไร่ หายไปไหน เพราะถ้าไม่ทำ มันก็จะหายไปเรื่อยๆ เพราะจะโดนบุกรุกเข้าไปเรื่อยๆ หลวงพ่อใหญ่ท่านจะเป็นห่วงตลอด เพราะท่านมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลของท่าน…” ไม่ยอมให้แผ่นดินของเมืองพะเยาถูกกระทำมิดีมิร้ายอันต้องหดหายไปด้วยเหตุอะไรก็ตาม เมื่อท่านอยู่วัดศรีโคมคำ ท่านได้บูรณะพระเจ้าตนหลวงซึ่งทรุดตัวเอียงไปด้านหลัง จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2516 บูรณะโดยกรมศิลปากร แล้วเสร็จใน พ.ศ.2520 เป็นเวลาที่เมืองพะเยาถูกยกเป็นจังหวัดพะเยา ท่านจึงเป็นเจ้าคณะจังหวัดพะเยาคนแรก
    ในช่วง พ.ศ.2520-2540 เป็นช่วงที่ท่านอยู่วัดศรีโคมคำ เป็นเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ใน พ.ศ.2521 และเป็นรองเจ้าคณะภาค 6 ใน พ.ศ.2526 ช่วงนี้ท่านสนใจในการศึกษาศิลาจารึกและคัมภีร์ใบลาน หันกลับมาคิดคำนึงอย่างจริงจังในองค์ความรู้ท้องถิ่นเมืองพะเยา ร่องรอยการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองพะเยาก่อนหน้านี้ คือ ท่านได้เขียนบทความเรื่องเมืองพะเยาในหนังสือที่ระลึกเปิดโรงพยาบาลพะเยาใน พ.ศ.2500 โดยท่านได้ศึกษาจากบันทึกของพระครูศรีวิราชฯ ที่เขียนไว้เป็นอักษรธรรมล้านนา ในช่วงนี้ท่านจึงเริ่มมีงานปริวรรตใบลานออกมาเผยแพร่และมีปริมาณมากขึ้นในภายหลัง เป็นความสนใจที่สืบเนื่องจากการอ่านศิลาจารึก ภายหลังได้สร้างหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ใน พ.ศ.2539 เพื่อเก็บรักษาจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ส่วนคัมภีร์ใบลานนั้น ท่านตั้งใจเก็บไว้ในหอไตรที่สร้างขึ้นใน พ.ศ.2551 ส่วนในด้านการก่อสร้างศาสนสถาน ท่านได้เป็นประธานสร้างอุโบสถกลางน้ำ วัดศรีโคมคำ ใน พ.ศ.2529 เป็นต้น ชีวิตของท่านในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีการสร้างผลงานเป็นจำนวนมาก การเรียนการสอนบาลีที่วัดศรีโคมคำมีชื่อเสียง ได้รับความสำเร็จเพราะมีนักเรียนสอบบาลีได้จำนวนมาก

    ทั้งท่านยังได้รับตำแหน่งเป็นพระราชวิสุทธิโสภณฯ ใน พ.ศ.2524 ที่สำคัญเป็นช่วงที่ท่านได้หันกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์เมืองพะเยาอย่างจริงจัง

    ในช่วง พ.ศ.2540-2560 เป็นช่วงที่ท่านอยู่วัดศรีโคมคำ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6 ใน พ.ศ.2542 : ช่วงนี้จะเห็นการสานต่องานของท่านออกไปในหลายลักษณะหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นไป เช่น พ.ศ.2551 มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลี โดยพระวิมลญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดลี พ.ศ.2552 จัดตั้งสถาบันปวงผญาพยาว โดยพระครูศรีวรพินิจและคณะ พ.ศ.2555 มีการจัดการเรียนการสอนวิชาพะเยาศึกษา ในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นต้น

    ในวัย 100 ปี พระอุบาลีฯ มีสุขภาพแข็งแรง ท่านเป็นโรคหัวใจ ต่อมลูกหมากโต เส้นเลือดในสมองตีบ และความดัน รักษาด้วยการฉันยาตามอาการ ไปตรวจตามหมอนัดที่โรงพยาบาลพะเยาอย่างเคร่งครัด ท่านเคยกล่าวถึงเคล็ดลับวิธีการรักษาสุขภาพของท่าน ไว้ในหนังสือที่ระลึกเนื่องในวันทำบุญฉลองอายุครบ 72 ปี 11 กรกฎาคม พ.ศ.2532 ว่า “การที่พาเอาชีวิตผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ถึงเพียงนี้ ทำให้เกิดความสำนึกจิตใจตนเองขึ้นมา เพราะอาศัยพลังบุญบารมี ที่ได้สร้างเสริมมาแต่ปางก่อน จึงให้อยู่เย็นเป็นสุขตามสภาพโดยตลอดมา และอาศัยความไม่ประมาทต่อสุขภาพของตนเอง พยายามรักษาอนามัยด้วยการบริหารร่างกายให้พอเหมาะพอควรแก่กำลังของตนเอง นอกจากนี้ ก็อาศัยบำเพ็ญกุศลทานช่วยเหลือเกื้อกูลให้ความสุขความสบายแก่เขาตามกำลังของตนที่จะทำได้ การบำเพ็ญกุศลช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นนั้น เป็นอุดหนุนอุปถัมภ์ชีวิตให้เจริญยั่งยืนสืบไปเท่ากับเป็นการสืบชะตาให้ยั่งยืนต่อไป” จากข้างต้น ทำให้พอจะมองเห็นวิธีการรักษาสุขภาพของท่าน คือ รักษาอนามัยของตนด้วยการออกกำลังกาย และรักษาบุญของตนด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เมื่อเราช่วยคนอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข คนอื่นก็จะคอยช่วยเหลืออุดหนุนเรา นี่เป็นสิ่งธรรมดาสามัญ แต่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการใช้ชีวิต 100 ปี ที่ผ่านมา สิ่งอื่นใดพอขาดได้ แต่ที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด คือ “การช่วยเหลือเกื้อกูล” อดีต ท่านได้ใช้ชีวิตของท่าน แสดงให้เป็นแนวทางอันชอบธรรมในการดำรงอยู่ในโลกอย่างผาสุก เมื่อพิจารณาถึงงานของพระอุบาลีฯ ที่ผ่านมา ท่านทำอยู่ 3 ด้านใหญ่ๆ คือ 1.ด้านการจัดระบบการศึกษา ได้แก่ การศึกษานักธรรมบาลี การศึกษาของโรงเรียนราษฎร์ของวัด การศึกษาระดับอุดมศึกษาของสงฆ์ คือ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา เป็นต้น 2.ด้านการศึกษา ค้นคว้า เผยแพร่ ประวัติศาสตร์เมืองพะเยา ได้แก่ การเก็บรวบรวมพระพุทธรูป จารึก ใบลาน เพื่อศึกษา พิมพ์เผยแพร่และการจัดหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุของเมืองพะเยา เป็นต้น

    3.ด้านการบูรณะ และสร้างศาสนสถาน เช่น พระอุโบสถวัดเมืองชุม พระอุโบสถกลางน้ำวัดศรีโคมคำ การบูรณะวิหารและพระเจ้าตนหลวง เป็นต้น

    นอกจากนั้น เป็นงานสงเคราะห์ผู้อื่น ชุมชน ศรัทธาญาติโยมไปตามกรรมตามวาระที่ผ่านมา เราคนรุ่นหลังควรรับรู้และตระหนักถึงจิตวิญญาณแห่งเมืองพะเยาที่ท่านเปิดประตูทิ้งไว้ให้ เราคนรุ่นหลังควรสานต่ออุดมการณ์เพื่อพุทธศาสนา เพื่อการเรียนรู้ เผยแพร่ ประวัติศาสตร์เมืองพะเยา เพื่อคนเมืองพะเยา สานต่ออุปนิสัยอ่อนโยน อ่อนน้อม ต่อพระเถรานุเถระ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความปรองดองในหมู่สงฆ์พะเยา สานต่ออุปนิสัยที่มุ่งมั่น อย่างมีเมตตาของท่าน เพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่มุ่งมั่นที่จะเอาผลประโยชน์เข้าฝ่ายตนอย่างเดียว ดังที่ พระราชปริยัติ สรุปในปราชญ์ผู้ปริวรรตเมืองพะเยา (2556 : 60-61) ว่า “…ถ้าหากเรามีตัวอย่างที่ดีๆ ให้เห็น แต่เราไม่สามารถทำดีตามได้ ความดีมันก็จะไม่เกิด…” เช่นเดียวกับที่ พระครูโสภณปริยัติสุธี เจ้าคณะอำเภอภูกามยาว (2556:92) มองท่านว่า “…ท่านงาม ก็สมควรที่จะเอาแบบอย่าง สามารถให้ลูกศิษย์เดินตามได้…”

    100 ปี ของพระอุบาลีฯ เป็น 100 ปี ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ในการปฏิบัติศาสนกิจในพระพุทธศาสนาของท่า เป็น 100 ปี แห่งแบบอย่างของการใช้ชีวิตเกื้อกูลผู้อื่น เป็น 100 ปี แห่งการสร้างสรรค์ความดี เป็น 100 ปี แห่งการตื่นตัวทางประวัติศาสตร์เมืองพะเยา เป็น 100 ปี แห่งความเจริญรุ่งเรืองของเมืองพะเยา นายขรรค์ชัย บุญปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานสมโภชหิรัญบัฎ-เครื่องยศสมณศักดิ์ พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฎ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺญมหาเถร ป.ธ.5) เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำเมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ได้เขียนโครงสี่สุภาพเพื่อกตัญญูกตเวทิตาต่อหลวงพ่อใหญ่ในหนังสือ…“จังหวัดพะเยามาจากไหน?” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ความว่า

    พระ คือหลวงพ่อผู้ เพ็ญพิสุทธิ์
    อุบาลี มั่นรอยพุทธ ผ่องแผ้ว
    คุณู ปการเพื่อมนุษย์ สรรพสัตว์
    ปมาจารย์ ประหนึ่งแก้ว ก่องล้ำธรรมคุณ

    อนึ่ง วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 จังหวัดพะเยาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพ…“พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธัมมปัญโญ)” ณ เมรุชั่วคราว วัดศรีโคมคำ ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยมีกำหนดการ ดังนี้

    09.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
    10.00 น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 102 รูป สวดพระพุทธมนต์
    11.00 น. ถวายภัตหารเพลแด่พระสงฆ์สามเณร
    13.00 น. พระสงฆ์ 150 รูป สวดมาติกาบังสุกุล
    16.45 น. พิธีพระราชทานเพลิงศพ “หลวงปู่ปวง”
    21.00 น. ประกอบพิธีถวายเพลิงสรีรสังขารพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เผาจริง) ตามประเพณีโบราณล้านนา พระสงฆ์ 102 รูป สวดประชุมเพลิง

    ขอเชิญชวนชาวพะเยาทุกชีวิตรวมทั้งจังหวัดข้างเคียง พร้อมใจขอน้อมถวายความอาลัย “หลวงปู่ปวง” พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) และน้อมส่ง “หลวงปู่ปวง” สู่สรวงสวรรค์…ท่าน คือ “พระอริยสงฆ์แห่งล้านนา” สถิตอยู่ในดวงใจของชาวพะเยาและคนไทยทั้งประเทศ
    ชั่วนิรันดร์ไงเล่าครับ

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/article/news_1984334
     

แชร์หน้านี้

Loading...