พึงดูตัวอย่างการเสียสละของพระเวสสันดร : ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย จำปาพร, 11 พฤศจิกายน 2015.

  1. จำปาพร

    จำปาพร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 ตุลาคม 2015
    โพสต์:
    64
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +209
    [​IMG]

    พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
    วัดอโศการาม
    อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

    ...

    "ฉัพพรรณรังสี" คือ พระรัศมี ๖ สี
    ที่เปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า
    โดยรอบพระองค์ มิใช่มีแต่เฉพาะตรงพระเศียร
    อย่างในภาพที่เขาเขียนไว้นั้น
    พระรัศมีนี้เกิดแต่อาจกระแสจิตอันบริสุทธิ์
    รวมพร้อมทั้ง "พระสรีรธาตุ" อันบริสุทธิ์แห่งพระองค์ด้วย


    ถ้าเราปรารถนาจะได้ความสุขอันเป็นยอดของมหาสมบัติทั้งปวง
    ก็ต้องกระทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศล คือ " ทาน ศีลและภาวนา"
    ให้พร้อมบริบูรณ์ เราจะต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง

    อันเป็น "วัตถุภายในและภายนอก" ที่เป็นของของเรา
    ออกถวายบูชาพระพุทธเจ้าให้หมดสิ้น
    นั่นแหละเราจึงจะได้รับ "มหากุศล" สมตามความปรารถนา

    พึงดูตัวอย่าง "พระมหาเวสสันดร" ในเวสสันดรชาดก
    ที่มีว่า พระองค์กระทำ "มหาบริจาค"
    อันไม่เคยมีใครจะทำได้อย่างพระองค์เลย
    พระองค์ทรงให้ทานพระกุมาร พระกุมารี และมเหสี

    อันเป็นคู่ชีวิตของพระองค์ แก่พราหมณ์เฒ่าชูชกผู้จัณฑาลนั้น
    ย่อมจัดว่าเป็น "มหาทาน" หรือ "มหากุศลอันเลิศ"

    ถ้าจะเปรียบสองกุมารนั้นแล้ว "กัณหา*" ก็ได้แก่พวกกิเลส
    คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น คือ "ธรรมฝ่ายดำ"
    ซึ่งเป็นตัวบาปอกุศลอันกระทำความมืดให้เกิดขึ้นในดวงใจ

    (*หมายเหตุตามหนังสือ "กัณหา" มาจาก กณฺห แปลว่า ดำ)

    ส่วน "ชาลี*" นั้นก็ได้แก่ พวกนิวรณ์ทั้ง ๕
    มีสัญญาอดีต อนาคต ซึ่งเป็นเครื่องดักเหมือนกับข่าย
    ที่นายพรานเขาขึงล่อดักสัตว์ไว้
    นิวรณ์นี้จึงเปรียบเหมือนกับ "ข่าย"
    ที่กางกั้นจิตใจของเราไว้ มิให้ก้าวไปสู่คุณความดี

    (*หมายเหตุตามหนังสือ "ชาลี" มาจากคำว่า "ชาล" แปลว่า "ข่าย"
    *หมายเหตุเพิ่มเติม "ชาลี" เป็นนามเดิมของพระอาจารย์ลี ธัมมธโร )

    ส่วน "มัทรี*" นั้นก็ได้แก่ ตัณหา ซึ่งเป็นความหลง
    ความหิว ความอยาก ความรัก ความชัง
    นั่นคือ อัะยาศัยของนางมัทรี นี้พระองค์ก็ทรงสละได้

    (หมายเหตุตามหนังสือ *มัทรี น่าจะมาจาก "มทฺท" คือ ความเมา)

    ส่วนมนุษยสมบัติ มีแก้วแหวนแสนสิ่ง ช้างแก้ว ม้าแก้ว
    อันเป็นพาหนะที่จะให้ความสุขแก่พระองค์นั้น
    ก็ได้แก่ "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ"
    กับ "อายตนะภายนอกภายใน" มีตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ
    กับรูป เสียง กลิ่น โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นของคู่กัน
    กายเป็นสมบัติของใจ ช้างแก้ว คือ อวิชชา ม้าแก้ว คือ โมหะ

    พระองค์ก็ทรงสละได้ทั้งหมดโดยมิได้เหลียวหลังกลับมาดู
    ด้วยความอาลัยหรือเสียดาย

    ใช่แต่เท่านั้น แม้แต่ "ชีวิต" ของพระองค์เองก็ยอมเสียสละ
    ชีวิตความเป็นอยู่ของพระองค์จะถูกย่ำยีบีฑาด้วยประการใด
    อันจะเป็นภัยเกิดขึ้น เช่น ถูกตำหนิติเตียน ถูกไล่ถูกขับ
    แม้เสด็จไปอยู่ป่าแล้วพระองค์ก็ทรงยอม

    เสียสละชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยมีมา ทนทุกข์ทรมาน
    ในการอยู่ การกิน การหลับการนอน พระองค์ก็ยอมเสียสละ
    โดยไม่ต้องอาลัย ผลที่ได้ก็เกิดขึ้นในปัจจุบัน
    คือ "ฝนห่าแก้ว"
    ( "ฝนโบกขรพรรษ" ที่โปรยปรายลงมา
    ในคราวเสด็จกลับพระนครอันนี้ ได้แก่ พระมหาเมตตา
    พระมหากรุณา พรหมวิหาร ๔ ทำน้ำพระหฤทัยของพระองค์
    ให้อิ่มเอิบเยือกเย็น จนเปรียบได้เหมือน "ฝนห่าแก้ว"
    ฉะนั้น)

    ทั้งหมดนี้จัดว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญ "มหาทาน" อันเลิศ
    ด้วยพระบารมีอันนี้พระองค์จึงได้ทรงรับผลอันเลิศ
    ให้เสด็จมาอุบัติในโลกได้เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ของเรานี้


    ...

    คัดลอกเนื้อหาจาก
    หนังสือแนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน, พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร.
    โดยชมรมกัลยาณธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๕๒. หน้า ๗๐-๗๒​
     

แชร์หน้านี้

Loading...