สักลายเต็มหน้า พระอุปัชฌาย์มีสิทธิ์ไม่ให้บวชได้

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย Apinya Smabut, 5 กันยายน 2017.

  1. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,397
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628
    buddha67.jpg

    พระอาจารย์กล่าวว่า "ตอนนี้ที่กำลังกระหึ่มอยู่ในโลกโซเชียลอยู่สำหรับพระ ไม่ใช่เรื่องอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์หนีนะ แต่เป็นเรื่องของคนที่สักลายแล้วบวชไม่ได้ พระอุปัชฌาย์ไม่ให้บวช เกิดน้อยใจขึ้นมาก็เลยไปโพสต์ระบายอารมณ์

    อาตมาขอยืนยันว่าพระอุปัชฌาย์ท่านทำถูกแล้ว เพราะว่าตัวอาตมาเองก็เป็นพระอุปัชฌาย์ การบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนานั้น พระอุปัชฌาย์มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว หลักเกณฑ์เหล่านี้คัดเลือกกุลบุตรที่มีสมบัติ ก็คือความสมบูรณ์ที่สมควรแก่การบวช อันจะประกอบไปด้วยวัตถุสมบัติ ก็คือร่างกายของตนเอง กรรมวาจาสมบัติ ความถูกต้องในการสวดเพื่อที่ญัติเป็นสงฆ์ สีมาสมบัติ ความถูกต้องในสีมา แล้วก็ปริสสมบัติ ความสมบูรณ์พร้อมของคณะสงฆ์

    คราวนี้วัตถุสมบัตินั้น ที่ท่านกำหนดขึ้นมาด้วยสาเหตุหลายประการด้วยกัน ประการแรก...เพื่อให้สามารถทำสังฆกรรมได้ ที่ว่าทำสังฆกรรมได้ก็คือ ถ้ามีร่างกายที่พิกลพิการจนไม่สามารถที่จะไปทำสังฆกรรมได้ ตนเองก็จะต้องอาบัติ (ศีลขาด) เพราะว่าสังฆกรรมบางอย่าง ถ้าเราไม่เข้าร่วมถือว่าศีลขาด อย่างเช่น การลงพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน เป็นต้น

    ประการที่สอง...เพื่อไม่ให้นักบวชศาสนาอื่นเอาไปเป็นข้อตำหนิติเตียน หรือเยาะเย้ยพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อย่างเช่นมีร่างกายพิกลพิการ จนกลายเป็นจุดอ่อนที่ศาสนาอื่นเขายกมาตำหนิติเตียนพระพุทธศาสนาของเราได้"

    "ประการต่อไป...เพื่อความเลื่อมใสของบุคคลที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพื่อความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ตรงจุดนี้ก็คือควรที่จะมีอวัยวะครบสมบูรณ์ หน้าตาไม่ขี้ริ้วขี้เหร่จนรับไม่ได้ อย่างวัดเบญจมบพิตรฯ มีสิ่งปฏิบัติที่ไม่ถือว่าเป็นทางการแต่เป็นทางการอยู่อย่างหนึ่ง ที่ในวงการสงฆ์เขาพูดกันก็คือ “รูปไม่หล่ออยู่วัดเบญจฯ ไม่ได้”

    โดยเฉพาะสมัยสมเด็จพระสังฆราชกิตติโสภณมหาเถระ ใครเอาพระเณรมาฝากนี่ พระองค์ท่านพิจารณารูปร่างหน้าตาก่อนเป็นอันดับแรกเลย เพราะพระองค์ท่านถือว่าเป็นวัดหลวง เป็นวัดของสมเด็จพระสังฆราช บุคคลที่มาอยู่ สมณสารูปต้องเป็นที่น่าเลื่อมใสของผู้ที่พบเห็น

    หรืออย่างในปัจจุบันวัดสุทัศน์เทพวราราม ถ้าคุณสักลายโผล่ออกมานอกจีวร ไม่มีทางได้เป็นเจ้าคุณอย่างเด็ดขาด เก่งแค่ไหนก็ไม่ได้เป็น นี่คือหลักการที่ทางวัดถือปฏิบัติเลย"

    "คราวนี้พ่อหนุ่มคนนั้นไม่ได้สักลายเฉย ๆ แต่สักมายันหน้ายันตาเลย มีกระทั่งตาที่สามบนหน้าผากด้วย ลักษณะนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการสักลายของคนคุก แม้แต่ที่วัดของอาตมาก็มีที่สักประเภทเขียว ๆ แดง ๆ ทั้งตัว แต่ท่านสักแค่ตัว เวลาห่มผ้าเข้าไปแล้วมองไม่เห็น อย่างนั้นก็ไม่ว่ากัน พระอุปัชฌาย์พิจารณาแล้วว่าบวชได้ เพราะคนอื่นไม่เห็นว่าเป็นของน่ากลัว

    แต่คราวนี้เมื่อสักลายมาถึงใบหน้า ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ พระอุปัชฌาย์พิจารณาแล้วว่าคุณไม่สมควรที่จะบวช ก็ถือว่าท่านทำถูก เพราะว่าเข้าไปก็เป็นที่รังเกียจของเพื่อนฝูง เป็นที่หวาดกลัวของเพื่อนฝูง โดยเฉพาะบุคคลที่ใส่บาตรมักจะเป็นสุภาพสตรี ค่อนข้างจะขวัญอ่อน ถ้าเห็นพระเดินมาในลักษณะนั้น ดีไม่ดีก็อุ้มขันข้าววิ่งหนีเลย คิดว่าเจอโจรปลอมมาจะปล้นบ้านหรือเปล่า ?

    โดยเฉพาะว่าบุคคลท่านนี้ที่จะไปบวชนั้น ท่านก็ไม่ได้บวชด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจริง ๆ แต่จะไปบวชแก้บน ซึ่งในลักษณะนี้ พระอุปัชฌาย์อาจจะพินิจพิจารณารับให้บวช แต่ต้องมีกำหนดสัญญาอย่างชัดเจน อย่างเช่นว่า ถึงวันนั้นเวลานั้นแล้วต้องสึกหาลาเพศไป ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน แล้วนาน ๆ ไปก็จะมีประเภทเดียวกันมามากขึ้น วัดก็จะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมไป


    ดังนั้น...ในส่วนที่พระอุปัชฌาย์ไม่ให้บวช ถือว่าท่านทำถูกต้องทั้งพระธรรมวินัย และทั้งในส่วนของการรักษาพระศาสนา แต่ว่านักวิชาการหลายท่านออกมาตำหนิติเตียนว่า ไปตัดรอนสิทธิของบุคคลอื่น นักวิชาการเหล่านี้นอกจากไม่รู้จริงแล้ว บางคนก็ยังว่าไปตามอารมณ์ด้วย ลักษณะของการว่าไปตามอารมณ์แล้วไม่รู้จริง เป็นการสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น โดยที่ตนเองขาดความรับผิดชอบ จะว่าไปก็คือ ผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ด้วย"


    "ส่วนอีกหลายท่านที่ลงความเห็น หรือที่เรียกว่าคอมเมนต์อยู่ในลักษณะเอามัน ก็คือเอาความสะใจเขาว่า อย่างเช่นว่า “ทีไอ้พวกเข้าไปบวชแล้วทำเหี้.. ๆ ให้ชาวบ้านเขาเสื่อมศรัทธา กลับให้บวชได้ ทีคนมีความเลื่อมใสเขาอยากจะบวชกลับไม่ให้บวช” ถ้าลักษณะอย่างนี้ อาตมาถือว่าพูดแบบคนไร้ปัญญาและไร้ความรับผิดชอบ

    คำว่า ไร้ปัญญาก็คือไม่ได้ดูในประเด็น พระที่ท่านบวชเข้าไปแล้วทำความเสื่อมเสียนั้น ก่อนบวชท่านมีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่ได้ทำอะไรเป็นที่เสื่อมเสีย แต่เมื่อบวชเข้าไปแล้ว ไม่สามารถที่จะต้านทานอำนาจกิเลสได้ จึงไปสร้างความเสื่อมเสียทีหลัง เป็นคนละประเด็นกับการที่พระอุปัชฌาย์คัดเลือกผู้ที่เข้าไปบวช

    ดังนั้น...ท่านทั้งหลายเหล่านี้ถ้าจะเอาความมันหรือความสะใจ ก็โปรดระมัดระวังว่าจะสร้างโทษใหญ่ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง เพราะว่าเราไปตำหนิถึงพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระมหาเถระแล้วทั้งนั้น ก่อนที่จะลงความเห็นอะไรกันไป ควรที่จะไตร่ตรองให้รอบด้านเสียก่อน จะได้ไม่สร้างความเสียหายให้กับพระศาสนาด้วย ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เกิดโทษเดือดร้อนแก่ตัวเองด้วย"


    "ประการสุดท้ายที่มีการคัดเลือกตัวผู้ที่เข้ามาบวชนั้น ท่านกำหนดคุณสมบัติไว้หลายอย่าง เช่น ห้ามนักโทษเด็ดขาด ห้ามนักโทษหนีคดี เหล่านี้เป็นต้น

    ในส่วนนี้เมื่อท่านมาขอบวช โดยสักลายมาถึงหน้าตา พระอุปัชฌาย์ท่านก็ต้องคิดในแง่ร้ายไว้ก่อน ว่าลักษณะของการสักตัวแบบนักโทษอย่างนี้หนีคดีมาหรือเปล่า ? เพราะหลายคนมาบวชเพื่อหลบซ่อนตัวเอง จนกว่าคดีจะหมดอายุความ ถ้าอาตมาเป็นพระอุปัชฌาย์เอง ก็จะต้องสอบสวนทวนความกัน ต้องหาพยานหลักฐานกันอุตลุด เพื่อที่จะยืนยันว่าท่านเป็นผู้ที่พ้นโทษแล้วจริง ๆ เท่านั้น

    แต่ถ้าสักลายมาถึงขนาดหน้าลายหมดแบบนี้ แม้แต่อาตมาเองก็ไม่รับบวชให้ เพราะว่าจะเกิดโทษหลายอย่างกับพระศาสนาซึ่งเป็นที่รักของพวกเรา ไม่ใช่ว่าเอาอกเอาใจบุคคลคนเดียวแล้วทำให้ส่วนรวมเสียหาย ดังนั้น...เรื่องนี้ใครก็ตามที่ยังไม่กระจ่าง ก็ขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย ว่าเรื่องของการคัดกรองตัวผู้บวชนั้น เกิดจากหลายสาเหตุดังที่ได้กล่าวมา เราต้องศึกษาให้รู้จริงก่อน อย่าไปเที่ยวลงความเห็นโดยอาศัยความรู้สึก ซึ่งเป็นอารมณ์โดยไม่ได้เอาเหตุเอาผลกัน"


    ที่มา http://www.watthakhanun.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...