เรื่องเด่น สังโยชน์ ๑๐ ประการ..(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 1 ธันวาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    cats-112.jpg

    สังโยชน์ ๑๐ ประการ

    (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

    เนื่องจากการตัด “สังโยชน์ ๑๐” เป็นสิ่งสำคัญมาก ในการก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยะ ถ้าเราไม่สามารถตัดกิเลสที่เป็นเครื่องร้อยรัดใจของเราได้แล้ว ความสำเร็จที่จะบรรลุธรรมหรือจะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยะในขั้นใดก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย จึงเห็นความจำเป็นที่จะขออธิบายเรื่องนี้ซ้ำให้ละเอียด เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติในการตัดกิเลสที่เป็นตัวสำคั…ญที่จะขัดขวาง หรือเป็นอุปสรรคในการก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยะในลำดับต่าง ๆ ดังนี้

    สังโยชน์ ๑๐ ประการ

    นักเจริญวิปัสสนาญาณจะรู้ตัวว่าได้อะไรหรือไม่ ท่านให้พิจารณาสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการ คือ

    ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

    หมายความว่าเราไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใด ๆ ทั้งหมด เราไม่หลงใหลใฝ่ฝันอยู่ในขันธ์ ๕ คิดว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสมบัติของกิเลส และตัณหา เป็นแดนของความทุกข์ และสิ่งนี้มันจะพลัดพรากจากเราก็คือจิต มันจะแตกจะทำลาย มันจะป่วยไข้ไม่สบาย จะถูกอารมณ์ร้ายต่าง ๆ ของโลกเข้ามายั่วยวน เราก็ไม่หวั่นไหว คิดว่าเมื่อถึงกาลถึงสมัยมันก็ต้องพัง ห้ามปรามมันไม่ได้ กฎธรรมดาเป็นอย่างนั้น

    ๒. วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระนิพพานไม่มี คิดว่าพระนิพพานมีจริง ผลของการปฏิบัติที่เราปฏิบัติอยู่นี่ ถ้าปฏิบัติจริง ๆ ต้องถึงพระนิพพานแน่นอน มีจิตตั้งมั่นอยู่อย่างนี้

    ๓. สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลให้เคร่งครัด ไม่ทำศีลให้ด่าง ให้พร้อย ให้ขาด ให้ทะลุ รักศีลยิ่งกว่ารักชีวิต

    อาการ ๓ อย่าง คือ สังโยชน์ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นผลที่พึงได้จากอารมณ์วิปัสสนาญาณ เมื่อได้แล้วจะมีอาการอย่างใดก็ตามเข้ามายั่วยวน ทำให้เราหลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เสียดายในชีวิต เสียดายในร่างกาย คิดว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา ก็ไม่เกิด

    ใครจะมาทำให้จิตของเราให้คลายจากพระนิพพาน โดยพรรณนาว่า พระนิพพานไม่มีอะไรดี ไม่มีของน่าอยู่น่าชม เราก็ไม่เชื่อ เมื่อจิตใจใฝ่ฝันตั้งมั่นอยู่แล้ว ถึงแล้วว่าเราต้องการพระนิพพาน มีความมั่นคงอยู่อย่างนั้น

    สีลัพพตปรามาส ใครจะมายั่วเย้าให้เราทำลายศีลแม้แต่หน่อยหนึ่งเราก็ไม่ทำ

    อย่างนี้เชื่อว่าท่านเป็นพระโสดาบันแน่ ก็หมายถึงว่า จิตที่ละได้อย่างนี้แล้วไม่กลับคืนมาอีก ไม่มีความเสียดายในชีวิต ไม่มีความเสียดายในทรัพย์สมบัติที่สูญสลายไป ไม่สงสัยในคุณพระรัตนตรัย คิดว่าพระนิพพานมีจริง ถ้าปฏิบัติแล้วต้องได้จริง ได้ถึงจริง รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นสมุจเฉทปหาน คือไม่สร้าง ไม่ทำลายศีลให้ด่าง ให้พร้อย ให้ขาด ให้ทะลุ อาการ ๓ อย่างนี้เป็นผลของพระโสดาบัน และพระสกิทาคามี

    ๔. กามฉันทะ ทำจิตให้เหือดแห้งในความพอใจในกามารมณ์ ความยินดีในเพศไม่ปรากฏ

    ๕. พยาบาท ความผูกโกรธ ขังโกรธไว้ในใจไม่มี ใครมาทำให้โกรธ โกรธนิดหนึ่งแล้วก็ทิ้งสลายตัวไป ไม่มีความพยาบาท แล้วต่อไปก็ทำลายความโกรธให้สิ้นไป ในเมื่อจะมีบุคคลหมู่ใดจะมายั่วมาเย้าให้เรามีความโกรธ เราก็ไม่โกรธ หรือมายั่วเย้าให้เราเกิดกามราคะ มีความปรารถนาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส และสัมผัส อารมณ์อย่างนั้นก็ไม่เกิด อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผลของวิปัสสนาญาณจริง เป็นองค์ของพระอนาคามี เป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงในขั้นต่อไป

    ๖. รูปราคะ หมายความว่า เรามีฌานจริง แต่เราไม่หลงว่าฌานนี้เป็นตัววิเศษเกินไปกว่าตัววิปัสสนาญาณ รู้อยู่เสมอว่าฌานเป็นบันไดที่จะเป็นกำลังของจิตใจ ให้เข้าไปใช้อารมณ์ของวิปัสสนาญาณ เข้าประหัตประหารกิเลส ที่เรียกกันว่า “รูปฌาน”

    ๗. อรูปราคะ เราเห็นว่าอรูปฌานเป็นของดี แต่ว่ายังไม่ดีวิเศษ เพราะอรูปฌานนี้ยังเป็นผลของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร ยังเป็นโลกียฌาน แต่ว่าเป็นกำลัง เป็นบันไดขั้นหนึ่ง หรือเป็นกำลังที่เข้ามาค้ำจุนจิตใจให้เข้าไปเจริญวิปัสสนาญาณ ได้รับผลดี

    ๘. มานะ ความถือตัวถือตน ถือว่าเราเลวกว่าเขา ถือว่าเราเสมอเขา ถือว่าเราดีกว่าเขา อย่างนี้เราตัดเสียได้ คือไม่คิดอย่างนั้น คิดว่าคนในโลกนี้ไม่มีใครดี ไม่มีใครเลว เกิดมาแล้วก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตายเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรที่จะต้องเข้าไปถือยศถือศักดิ์ ถือชาติวาสนาและตระกูลใด ๆ ทั้งสิ้น

    ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญในจิตใจไม่มี ตัดเสียได้แล้ว มีอารมณ์เป็นอันเดียวคือ เอกัคคตารมณ์ มีจิตใจชุ่มชื่น รู้ได้ตามสภาวะของความเป็นจริง

    ๑๐. อวิชชา คือความพอใจในทรัพย์สมบัติของโลก คือในร่างกายของเรา หรือในรูปของคนอื่นไม่มี ความกำหนดยินดีในทรัพย์สินของโลก ที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต แม้แต่ตัวเองก็ไม่มี อย่างนี้เรียกว่าตัดอุปาทานขันธ์เสียได้ ตัดตัวอวิชชาความโง่เสียได้



    ที่มา บันทึกธรรมพระราชพรหมยาน
     
  2. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628

แชร์หน้านี้

Loading...