เรื่องเด่น หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอน บทที่ ๑๖ คาถามหาเสน่ห์

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 10 กรกฎาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอน บทที่ ๑๖ คาถามหาเสน่ห์

    01.jpg


    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๖
    สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๖ สำหรับตอนที่ ๑๖ นี้
    ก่อนจะพูดเรื่องอื่นก็ขอเตือนกันไว้ก่อน
    ว่ารายการนี้เป็นรายการ "หนีนรก" ตอนที่ ๑๕ หนีสิมพลีนรก
    แต่ตอนที่ ๑๖ นี้ หนีทุกขุม ทั้งนี้เพราะอะไร?
    เพราะว่าเป็นเรื่องของวาจาที่ต้องพูด
    แต่ก่อนจะพูดถึงวาจาก็บอกลีลาการหนีนรกกันก่อน
    การหนีนรกขอถือตามแบบฉบับขององค์สมเด็จพระชินวร
    คือ พระพุทธเจ้า ที่ตรัสว่า

    "ถ้าบุคคลใดละสังโยชน์ ๓ ประการได้
    หรือว่าตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้
    ท่านผู้นั้นบาปเก่าทั้งหมดตามไม่ทัน ไม่สามารถลงโทษได้
    แล้วก็ท่านผู้นั้นจะไม่มีการตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย
    เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต่อไปอีกทุกชาติที่เกิด
    จะเกิดเมื่อไร จะตายเมื่อไรก็ตาม จะวนเวียนแต่เฉพาะเป็นมนุษย์
    เทวดากับพรหม และต่อไปถ้ามีกำลังเต็มก็ไปนิพพาน"

    การตัดสังโยชน์ ๓ ประการ ก็ขอบอกกันแบบง่ายๆ ย่อๆ
    พูดมากก็ฟังยาก วิธีตัดง่ายๆ ก็คือ

    ๑. ให้มีความรู้สึกเสมอว่าชีวิตนี้มันต้องตาย
    เราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ
    และก็เวลาเดียวกันนั้นก็ตั้งอารมณ์แห่งความดีทางไปสวรรค์
    คือ เกาะสิ่งที่มีกำลังใหญ่ คือ พระพุทธเจ้า
    ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ
    ยอมรับนับถือพระธรรมและพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ
    หลังจากนั้นก็ทรงศีลห้าให้บริสุทธิ์
    ถ้ามีกำลังใจละเอียดดีขึ้น ค่อยทรงกรรมบถ ๑๐ ให้บริสุทธิ์
    อย่างนี้เวลาท่านเป็นมนุษย์ ท่านก็มีความสุข
    ตายจากความเป็นมนุษย์ ก็ไม่พบความทุกข์
    เพราะเทวดากับพรหม ไม่มีความทุกข์
    ถ้ามีกำลังเต็มเมื่อไรไปนิพพานเมื่อนั้น
    ก็พูดกันไว้แค่นี้ก็แล้วกัน เป็นการเตือนใจบรรดาท่านพุทธบริษัท

    สำหรับวันนี้ก็จะแนะนำ "คาถามหาเสน่ห์"
    ถ้าถามว่า "พระมีคาถามหาเสน่ห์ด้วยหรือ?" ก็ต้องตอบว่า "มี"
    ถ้าถามว่า "ใครเป็นครู" ก็ต้องตอบว่า "พระพุทธเจ้าเป็นครู"
    ถ้าจะมีคนถามว่า "พระพุทธเจ้าทรงตัดกิเลสได้แล้ว ยังมีเสน่ห์ด้วยหรือ?"
    ก็ต้องตอบว่า "คนไหนถ้าตัดกิเลสได้มาก เสน่ห์ก็มาก
    ตัดกิเลสได้น้อย เสน่ห์ก็น้อยลงมา
    ถ้ายังตัดกิเลสไม่ได้ไม่ได้เลย ระงับสิ่งที่ไม่เป็นเสน่ห์
    พยายามสร้างสิ่งที่เป็นเสน่ห์ขึ้นมา ก็มีเสน่ห์เหมือนกัน"

    คำว่า "เสน่ห์" แปลว่า " ความรัก" ความรักซึ่งกันและกัน
    เป็นเยื่อใยแห่งความรัก ที่ดึงกำลังใจของบุคคลอื่นให้มารักเรา
    และก็เราเอง ถ้าคนอื่นเขาทำ เราก็รักเขาเหมือนกัน
    ถ้าต่างคนต่างมีเสน่ห์ บรรดาท่านพุทธบริษัท โลกนี้จะมีแต่ความสุข
    จะหาความทุกข์ไม่ได้ ความทุกข์จะมีบ้างก็แค่เรื่องของขันธ์ ๕
    ขันธ์ ๕ คือร่างกาย มันก็ต้องแก่ มันป่วย เป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ ๕
    คือร่างกาย แล้วมันก็ตาย เราจะมีทุกข์อยู่บ้างเมื่อความแก่เข้ามาถึง
    เพราะร่างกายไม่ทรงตัว กำลังไม่ดี
    ความเชื่องช้าก็ปรากฎก็หนักใจอยู่นิดหนึ่ง
    ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น มันก็มีความลำบากอยู่บ้าง
    มีความทุกข์อยู่บ้าง ความตายจะเข้ามาถึงก็มีความทุกข์บ้าง
    เพราะมีทุกขเวทนามาก แต่นอกจากอาการทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว
    เราจะมีแต่ความสุข เพราะคนที่มีเสน่ห์มากก็มีคนรักมาก
    ถ้าเราพบปะสังสรรค์กับสมาคมใด บุคคลใด เราเป็นคนมีเสน่ห์
    สมาคมนั้นเขาไม่เกลียด ผู้ที่เกลียดก็คือว่า คนที่มีเสน่ห์ไม่เท่า
    เขามีเสน่ห์น้อยเกินไปมีคนรักน้อยเกินไป
    อาจจะมีการอิจฉาริษยากันได้ นี่เป็นของธรรมดา
    แต่ถ้าพบหน้ากันเข้าจริงๆ บ่อยๆ
    อาการอิจฉาริษยาก็จะหมดไป เหลือแต่ความรัก
    คาถามหาเสน่ห์นี่มีอยู่ ๔ ข้อ ๔ คำ คือ

    ๑. ไม่พูดปด

    ๒. ไม่พูดคำหยาบ

    ๓. ไม่พูดส่อเสียด

    ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

    นี่แหละเป็นคาถามหาเสน่ห์ คำว่า "คาถา" นี่มาจากภาษาบาลี
    แปลว่า "วาจาเป็นเครื่องกล่าว" ก็หมายถึง คำพูดที่เราพูดไปเอง
    คำพูดที่เราพูดออกไปนี่ ภาษาบาลี ท่านเรียกว่า "คาถา"
    (แต่คนไทยพูดเข้าเลยหาว่าเป็นคาถามหานิยมไปเลย
    เป็นการเสกคาถาไป) ความจริงไม่ใช่ นี่พระพูด ไม่ใช่หมอไสยศาสตร์
    หมอเสน่ห์เล่ห์ลมพูด พระพูดถือบาลีเป็นพื้นฐานเป็นหลัก
    คาถาในที่นี้ถือว่า วาจาเป็นเครื่องกล่าว คือ คำพูด

    อาตมาจำถ้อยคำของท่านสุนทรภู่ไว้ได้ตอนหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

    "คนเราจะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา"

    หมายความว่า จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปากพูด เสียงที่พูดออกไป
    จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา คือ ลิ้นเป็นเครื่องแต่งเสียง
    (วันนี้ร่างกายไม่ดีมาก แต่ขอทำงานตามหน้าที่
    เพราะปล่อยร่างกายดีก็ไม่ได้พูด
    ถ้าไม่ได้พูดงานก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ
    ก็ขอพูดทั้งๆ ที่เสียงก็ไม่ดีร่างกายก็ไม่ดี เพลียมากเหลือเกิน)

    ก็รวมความว่า คนเราจะดีจะชั่วอยู่ที่ปาก การพูด
    พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ต้องการมีเสน่ห์

    ๑. อย่าพูดปดมดเท็จ
    แต่คนพูดปดมดเท็จนี่ ถ้าเขาจับไม่ได้มันก็ดี การยอมรับนับถือยังมีอยู่
    ถ้าจับคำพูดปดมดเท็จได้เมื่อไร
    เมื่อนั้นแหละความเป็นที่เคารพนับถือก็ดี
    ความเป็นมิตรสหายซึ่งกันและกันก็ดี ก็ต้องสลายตัวไป
    เพราะอะไร? เพราะเราเป็นคนทำลายประโยชน์เขา
    ในเมื่อเราเป็นคนพูดปด คนที่จะคบหาสมาคมด้วยก็หายาก
    เพราะว่าถ้าพูดกิจการงานกับเขา
    เขาก็หวังไม่ได้ว่า เราจะพูดตามความเป็นจริง
    เรียกว่า เราจะต้องเป็นคนมีทุกข์มาก ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

    สำหรับคำพูดปดนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาลองซ้อมดูแล้ว
    ความจริงข้อนี้ก็เป็นทั้งศีลทั้งธรรมนะ ศีลมีแค่พูดปด
    กรรมบถ ๑๐ ก็เติมพูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
    ข้อนี้ก็รวมทั้งศีลและก็กรรมบถ ๑๐ ด้วย

    สำหรับวาจานี่ บรรดาท่านทั้งหลาย อาตมาเคยถามว่า การรักษาศีลห้า
    ระวังตอนไหน ส่วนมากจริงๆ บอกว่า หนักใจที่ มุสาวาท
    เขาว่า เขาจำเป็นต้องโกหก เขาถือว่าจำเป็น อย่างการค้าขายนี้
    บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าไม่โกหกมันก็ขายไม่ค่อยจะได้
    บางทีไม่จำเป็นต้องโกหกก็ต้องโกหก
    เดี๋ยวพ่อค้าฟังแล้วเขาจะเกลียดนี่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ
    ความจริงที่ว่า หนักใจก็ได้แก่พวกพ่อค้าแม่ค้า
    บรรดาท่านสตรีทั้งหลายนี่หนักใจมาก ว่าศีล ๔ ข้อพอรักษาได้
    บอกว่าข้อมุสาวาทนี่หนักใจ แต่ความจริงถ้าเราไม่พูดโกหกจะได้ไหม
    ลองไม่พูดโกหกดู ดูซิจะขายของได้หรือไม่ได้
    ของดีเราก็บอกว่า "นี่ของดีจริงๆ นะ" ไม่ได้หลอกลวงกัน
    ไอ้ที่ดีขนาดกลางก็บอกว่า นี่ดีขนาดกลาง
    ไอ้ที่ดีขนาดเลวก็บอกว่า นี่ดีขนาดเลว
    ถ้าถามว่าขนาดเลวทำไมจึงว่าดี ก็เพราะยังเป็นของดีไม่แตกสลาย
    ผ้าไม่ขาด ขันไม่แตก แก้วไม่แตก ก็เป็นของดี
    แต่ว่าอัตราของมันเป็นของเลวหยาบไปหน่อย
    สวยน้อยไปนิด เนื้อละเอียดน้อยไปหน่อย อย่างนี้เป็นต้น
    ก็เรียกว่า ดีขนาดเลว เราก็บอกตามความเป็นจริง
    ข้อนี้หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงคงไม่หนักใจ

    มาอีกตอน เรื่องราคาของของ ราคาของของนี่จำเป็นต้องโกหกกัน
    ถ้าไม่โกหกมันขายราคาแพงไม่ได้
    แล้วก็มีปัญหาอยู่ว่า สมมุติว่าของชิ้นนี้ในท้องตลาด
    เขาขายราคา ๑๐ บาท แต่ว่าต้นทุนจริงๆ
    มันเป็นบาทหรือสองบาทเท่านั้นไม่มาก
    ถ้ามีคนเขามาขอซื้อ เขาขอลด ไม่ใช่ต่อ
    บอก ๑๐ บาท เขาขอลด ๙ บาทหรือ ๘ บาท
    ถ้าต่อนั้นหมายความว่า ต้องเป็น ๑๑ บาทหรือ ๑๒ บาท
    คงไม่มีคนซื้อคนใดเขาต่อให้มันสูงขึ้น มีแต่ว่าขอลดลง
    ว่าขอลดลงมาอย่างนี้ ถ้าเราขายไปเราก็เสียราคาท้องตลาด
    ถ้าขายถูกเกินไปนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่อาตมาเคยพบมา
    ตอนนั้นยังอยู่วัดประยุรวงศาวาส จะไปเทศน์ที่นครปฐม
    ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้ามาที่พาหุรัด เพื่อขึ้นรถยนต์ที่นั่น
    รถโดยสาร ไปเจอกระเป๋าถือลูกหนึ่งชอบใจ ก็เข้าไปซื้อ
    ตกลงกับเจ็ว่าตอนเย็นจะมาเอา เขาปิดราคาไว้
    ถามเขาบอกว่า จะเอาไปแต่เอาไปไม่ได้เพราะไปเทศน์
    จะให้สตางค์ก่อนเอาไหม? เถ้าแก่ก็บอกว่าไม่ต้อง
    เห็นหน้ากันเกือบทุกวัน เขาไว้วางใจ
    แต่พอกลับมาปรากฎว่าของในร้านทั้งหมด
    เขาเขียนราคาสูงขึ้นไปหมด ราคาเดิมก็ไม่มี
    สมมุติว่าราคาเดิมเป็น ๑๐ บาท ตอนเช้ามองดูแล้วมันเป็น ๑๐ บาท
    แต่ว่าตอนเย็นกลับมามัยกลายเป็น ๑๓ บาทไป ของบางอย่าง
    กระเป๋าลกนั้นประเภทเดียวกัน
    ถามเขาเวลานั้นค่าเงินมันสูงเขาเอา ๒๐ บาท
    ตอนเช้าเขียนราคา ๒๐ บาท
    ในฐานะที่ชอบกันก็บอกว่า
    "ฉันเอาลูกหนึ่งฉันไม่ขอลดล่ะ เถ้าแก่จะลำบากเพราะรู้จักกันดี"

    เถ้าแก่เลยบอกว่า "ท่านไม่ขอลดผมจะลดให้ ผมเอา ๑๘ บาท"
    แต่ตอนเย็นพอมาถึง ปรากฎว่ากระเป๋าประเภทนั้น
    ราคาขึ้นไปเป็น ๒๕ บาท ก็เลยถามว่า

    "เถ้าแก่ เมื่อเช้านี้มัน ๒๐ บาทน่ะ นี่แค่ตอนเย็นมัน ๒๕ บาท
    ฉันจะเอาสตางค์ที่ไหนมาซื้อ"

    เถ้าแก่ก็เลยบอกว่า "กระเป๋าของท่านอยู่ข้างในครับ
    ผมไปเก็บไว้ข้างในแล้ว ราคาผมก็เขียนเท่านี้เหมือนกัน
    แต่ผมรับสตางค์จริงๆ แค่ ๑๘ บาท"

    ก็ถามว่า "ทำไมจำเป็นต้องขึ้นราคากันตามนี้ด้วยเล่า มันไวเกินไป"

    เถ้าแก่ก็บอกว่า "หลังจากท่านขึ้นรถไปแล้วไม่นานนัก
    ประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ก็มีเจ้าหน้าที่เขามาแจ้งบอกให้ขึ้นราคาของ
    ไปเท่านั้นเท่านี้ ต้องขึ้นราคาตาม
    เขาว่า ของขึ้นไปกี่เปร์เซ็นต์ก็แล้วกัน
    ให้ขึ้นราคาของไปอย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องทำตามเขา"

    ก็เลยถามว่า "ถ้าเราไม่ขายตามเขาล่ะ เราขายถูกเราจะขายได้ดี
    เขาขายแพงขายไม่ได้ดี"

    เถ้าแก่บอกว่า "ไม่ได้หรอกขอรับ ถ้าไม่ขายตามเขา
    เราขายถูกเขาจะส่งคนมาซื้อหมด
    เมื่อซื้อหมดแล้ว เราก็ไม่สามารถจะหาของราคาเท่านั้นมาขายได้อีก
    เพราะเขาขายแพงขึ้น"

    มันมีความจำเป็นต้องขายตามเขา
    แต่ในที่สุดท่านเถ้าแก่ก็เอากระเป๋าให้มาแล้วรับเงิน ๑๘ บาทตามเดิม
    เขามีความซื่อสัตย์ดี แต่ว่าป้ายที่เขียนไว้นั้นเป็นราคา ๒๕ บาท
    เถ้าแก่แกก็สั่งไว้ว่า "ถ้าใครเขาถามท่านให้บอกว่า
    เขาขายราคา ๒๕ บาทนะครับ ไม่งั้นผมเสียแน่"

    แต่ความจริงอาตมามาถึงวัดคนนั้นถาม คนนี้ถามก็บอกว่า
    "อย่าบอกราคากันเลย ราคาไม่ต้องบอกกัน
    ป้ายเขาเขียนเท่านี้ก็เชื่อเท่านี้ก็แล้วกัน
    ผมจ่ายเท่าไรเป็นเรื่องของผม ให้ถือว่าป้ายเขาเขียนไว้เท่านี้ก็แล้วกัน"

    แต่นั้นมา ถึงญาติโยมพุทธบริษัทที่จะต้องบอกราคาเกิน
    ความจริงถ้าบอก ของราคา ๒ บาท เราขาย ๑๐ บาท
    เขาขอลด ๘ บาท แล้วก็บอกว่า

    "ไม่ได้หรอก ฉันซื้อมา ๙.๕๐ บาท แล้วนี่ฉันได้ ๕๐ สตางค์เท่านั้นเอง
    ถ้าจะลดก็ลดได้เพียง ๒๕ สตางค์ อย่างนี้โกหก เป็นมุสาวาท"

    ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นมุสาวาท? ก็ต้องตอบเขาเฉยๆ ว่า
    "ของต้นทุนมันแพงต้องขายเท่านี้
    ถ้าจะลดได้ก็ลดได้แค่ ๕๐ สตางค์ หรือ ๒๕ สตางค์
    ลดเกินกว่านั้นไม่ได้เพราะต้นทุนมันแพง"
    ถ้าเขาถามว่า "ต้นทุนแพงราคาเท่าไร?"
    ก็ตอบเฉยๆ ว่า "ของมันหลายชิ้นด้วยกัน ตอบยาก มันต้องเปิดตำรา"
    เท่านี้ก็หมดเรื่องหมดราว ไม่เป็นมุสาวาท

    ก็รวมความว่า คนที่พูดมุสาวาทเป็นคนไร้สัจจะ คนเกลียด
    แต่พูดตามความเป็นจริง บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง
    ไปที่ไหนใครก็ชอบ
    คนทุกคนต้องการรับฟังวาจาที่ตรงตามความเป็นจริง
    แต่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิงก็ต้องระวังเหมือนกัน

    การพูดตามความเป็นจริงนั้นต้องเลือกเวลา
    อย่าพูดจนกระทั่งเขามีความเสียหายต่อหน้าประชาชนเกินไป
    ต้องใช้ปัญญาด้วย
    ความจริงข้อนี้เราควรจะพูดที่ไหน
    แล้วเวลาพูดนั้นเป็นเวลาควรจะพูดแล้วหรือยัง?
    ถ้าเป็นเครื่องสะเทือนใจของบุคคลผู้รับฟัง
    เวลาที่เขาอารมณ์ไม่ดีอย่าเพิ่งพูดความจริง
    รอเวลาอารมณ์ดีจิตใจเขาสบาย พูดอ้อมหน้าอ้อมหลังไปก่อน
    เห็นท่าว่าเขาจะยอมรับแล้วก็ไม่โกรธ จึงควรพูด
    ถ้าพูดไปแล้วผู้รับฟังโกรธ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    นั่นหมายถึงความตายจะเข้ามาถงผู้พูด
    ตามที่เขาพูดกันว่า "วาจาจริงเป็นวาจาไม่ตาย
    แต่คนพูดตามความเป็นจริงอาจจะตายได้" นี่ต้องระวังให้มาก
    ก็ถือว่าถ้าเราพูดตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง
    และบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เลือกเวลาเหมาะเวลาสม
    ใช้ปัญญาหน่อย อย่างนี้ถือว่า วาจาเป็นทิพย์ ท่านจะมีความสุขมาก
    ในฐานะที่คนทั้งหลายมีความไว้วางใจในท่าน

    สำหรับกรรมบถ ๑๐ และศีลข้อนี้อธิบายกันยาว
    เพราะนี่มันยาวไปหน่อยนะ

    ต่อไปข้อหนึ่ง คือ "วาจาหยาบ"
    วาจาหยาบ เป็นเครื่องสะเทือนใจบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
    ถ้าไม่จำเป็นอย่าพูดเลย
    แต่ความจริงบางโอกาส ก็จำเป็นต้องพูด จำเป็นต้องใช้
    แต่ควรใช้เฉพาะบุคคลที่มีความจำเป็นของเรา
    อย่างคนที่อยู่ในปกครอง จะเป็นลูกหรือจะเป็นใครก็ตามเถอะ

    เพราะคนเรามีนิสัย ๒ อย่าง

    คนที่มีนิสัยละเอียด นี่เป็นคนดีมาก
    คนประเภทนี้ชอบปลอบ และค่อยพูดค่อยจามีเหตุผล
    รับฟังแล้วปฏิบัติตาม คนประเภทนี้พูดจาหยาบตึงตังไม่ได้
    เสียหายกันเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะเธอมาจากสวรรค์

    ถ้าบางคนเป็นคนนิสัยหยาบ เธอมาจากอบายภูมิ
    ถ้าพูดอ่อนโยน อ่อนหวาน เสร็จแก ขี่คอแน่
    คนประเภทนี้ไม่ต้องการวาจาดี ต้องใช้วาจาหยาบ
    ตึงตังโครมคราม นี่เฉพาะคนในปกครองของเรา
    มีความจำเป็นต้องใช้ให้เหมาะกับนิสัย
    แต่สำหรับกับเพื่อนบ้าน บรรดาญาติโยมทั้งหลาย
    อาตมาคิดว่า ใช้วาจาอ่อนโยนดีกว่า วาจาอ่อนโยน
    และอ่อนหวานนี้เป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้เพราะอะไร?
    เพราะว่าจะพูดที่ไหนใครก็ชอบ จะพูดที่ไหนใครก็รัก

    แต่ว่าสำหรับเพื่อนที่คบหาสมาคมกันสนิทก็ไม่แน่นัก
    บางทีพูดเพราะๆ เข้าแกด่าเอาเลย หาว่าดัดจริต
    ฉะนั้น คำว่า "วาจาหยาบ" นี่ต้องดูเฉพาะบุคคล
    บางคนถ้าเป็นเพื่อน คบหาสมาคมมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก
    อาตมาพบท่านๆ หนึ่ง สมัยที่ยังไม่แก่นัก
    อาตมาก็ยังไม่แก่เกินไปนะเวลานั้น
    เวลานี้มันหาหนุ่มไม่ได้อยู่แล้ว มีแรงมาพูดได้ก็บุญตัว
    เวลานั้นยังไม่แก่เกินไป ไปพบคนๆ หนึ่ง
    เคยเรียนหนังสือชั้นประถมมาด้วยกัน
    เธอเป็นอธิบดีกรมๆ หนึ่งๆ พอไปพูดจาหวานๆ เข้า
    แกชักกระชากเสียงว่า "ทำไมต้องพูดอย่างนี้
    เมื่อสมัยเป็นเด็กอย่าลืมนะว่าเรียนหนังสือโต๊ะเดียวกัน
    ความเป็นใหญ่เป็นโต สำหรับเพื่อนรักไม่มีสำหรับเรากับท่าน"
    เขาว่าอย่างนั้น ว่าเพื่อนกันไม่มีอะไรใหญ่กว่ากัน
    ห้ามยกย่องสรรเสริญกันแบบนั้น นี่แบบนี้เขาก็มีนะ

    แล้วก็มีคนอีกคนหนึ่งเพื่อนกัน เขาเป็นฆราวาส
    เขาก็ไปพบเพื่อนของเขาเหมือนกัน
    คนนี้ออกมาจากโรงเรียนแล้ว ก็ไม่มีงานราชการทำ
    เธอไม่อยากจะทำ อยากจะทำงานส่วนตัว
    ก็เดินไปเดินมาแบบพ่อค้าหาบเร่ แต่ความจริงไม่เสียหาย
    ติดต่อของที่โน่นเอามาขายที่นี่ ติดต่อที่นี่ไปขายที่โน่น
    รู้สึกว่ารายได้ดี รายได้ของเธอดีมาก
    บางวันสมัยนั้นค่าของเงินยังแพงอยู่ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์
    บางวันเธอได้กำไรเป็นร้อยๆ นับเป็นร้อยๆ บางวันถึงพัน
    อย่างไม่ได้เลยก็ ๒-๓ ร้อยบาท นี่แค่เฉพาะกำไร
    รวยมาก ดีกว่ารับราชการ เธอไปพบเพื่อนคนหนึ่งเป็นอธิบดีเหมือนกัน
    (คำว่า "เหมือนกัน" ก็เหมือนกับเพื่อนอาตมาอีกคนหนึ่ง)
    มาถึงก็ยกมือไหว้ "ท่านครับ" ครับผมเข้าให้
    อธิบดีหันมาด่าเลย บอก "นี่..มึงอย่ามาพูดกับกูแบบนี้ กูไม่ใช่นายมึง
    กูเป็นเพื่อนของมึง ทีหลังห้ามพูดนะ"
    นายนั่นก็บอกว่า "ท่านเป็นอธิบดี"
    แกก็เลยกระชากเสียงมาใหม่บอก "กูเป็นอธิบดีสำหรับคนอื่น
    ไม่ใช่อธิบดีของมึง มึงเป็นเพื่อนกู ไปกินเหล้าด้วยกัน"
    ชวนไปกินเหล้ากันเลย

    รวมความว่า วาจาหยาบต้องดูเฉพาะบุคคลที่ควรไม่ควร
    รวมความว่า แหม..ถ้าใช้หวานๆ เกินไป สำหรับเพื่อนก็ไม่ดีเหมือนกัน
    ถ้ากร้าวเกินไปสำหรับเพื่อนบางคนก็ไม่ดีเหมือนกัน
    ต้องเลือกวาจาใช้
    รวมความว่าใช้วาจานิ่มนวลไม่หยาบคาย
    มีประโยชน์กว่า เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป
    นี่ว่าสำหรับคนทั่วไปนะเป็น "คาถามหาเสน่ห์" เหมือนกัน

    เวลามันเหลือน้อย ย้ำไปมาก ซอยไปมาก
    มันจะยุ่งแล้วหลวงตา มันจะจบไม่ทัน
    เสียงก็แห้งลงมาทุกที แรงมันหมด
    มันยังไม่ตายก็พูดไปก่อน พูดให้มันขาดใจตายไปเลย

    ก็รวมความว่า ต่อไป "วาจาส่อเสียด" เรื่องการยุแยงตะแคงรั่ว
    บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย อย่าให้มีเด็ดขาด
    อันนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับเราเลยท่าน
    เรายุให้เขาแตกแยกกันก็อย่าลืม หอกนั้นมันจะสนองเรา
    อย่าลืมว่าคนทุกคนนะเขามีปัญญา
    ทีแรกถ้าเขายังไม่พบหน้าซึ่งกันและกัน เขาอาจจะเชื่อเรา
    และคนที่มีปัญญาเบาคือ จิตทรามไร้ปัญญาก็แล้วกัน
    เมื่อรับฟังแล้วก็เชื่อเลยประเภทนี้ก็มี
    แบบนี้สร้างความแตกร้าวให้เกิดขึ้นมาเยอะ
    คนบางคนเขาใช้ปัญญาก็มีเหมือนกัน
    ถ้าบังเอิญเขาพบกันเข้า ไต่สวนกันเข้าเมื่อไร
    วาจาที่เรายุแยงตะแคงแสะไว้ มันไม่ตรงตามความเป็นจริง
    ตอนนี้แหละ ญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง
    เรื่องร้ายก็ตกกับเรา เขาเกลียดน้ำหน้า
    ดีไม่ดีแทนวาจาจะต่อว่า กลายเป็นอาวุธไปก็ได้
    เขาอาจจะจ้างคนมาฆ่าให้ตาย หรือเขาจะฆ่าเองก็ได้ ข้อนี้อย่าทำ

    แล้วสำหรับอีกวาจาหนึ่ง คือ "วาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล"
    คือวาจาไร้ประโยชน์ นี่บรรดาท่านพุทธบริษัท อย่าให้มีเป็นอันขาด
    พูดไปมันก็เหนื่อยเปล่า ถ้าคนเลวเขารับฟังก็ฟังได้
    แต่ถ้าเป็นการเล่านิทานไม่เป็นไร ไม่ไร้ประโยชน์
    สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจให้เกิดแก่ผู้รับฟัง
    นิทานใครๆ ก็ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องจริง
    แต่วาจาที่พูดกับเพื่อน ถึงแม้ว่าไม่ใช่วาจาที่เป็นงานเป็นการ
    แต่พูดไปไร้เหตุไร้ผลนี่ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน อย่าพูดเลย
    ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะพูดไป เราก็เป็นคนเสีย
    วันหลังถ้าไปเจอะหน้ากันเข้าหรือเข้าไปพบกัน
    เขาไปพบกับคนอื่นใดเขาจะกล่าวว่า
    "ไอ้หมอนั่น อีหมอนี่มันไม่ดี พูดส่งเดชไร้ประโยชน์"
    ต่อไปข่าวนี้กระจายมากไปเท่าไรก็ตามที เราก็เป็นคนเสียเท่านั้น
    ทีหลังจะพูดอะไรกับใครเขา เขาก็ไม่อยากจะฟัง
    ถ้ามีความทุกข์ปรารถนาจะขอความช่วยเหลือ เขาก็ไม่อยากช่วย
    เพราะเขาไม่เชื่อวาจาของเรา

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตามที่ท่านสุนทรภู่ท่านว่าไว้ว่า
    "จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา" นี่เป็นความจริง
    ถ้าเราเป็นคนพูดที่

    ๑. พูดตามความเป็นจริง

    ๒. ไม่พูดหยาบคาย ใช้วาจาไพเราะ

    ๓. ไม่ส่อเสียด ไม่ยุยงส่งเสริมเขาให้แตกร้าวกัน

    ๔. ใช้วาจาเฉพาะที่วาจาที่เป็นประโยชน์

    ทั้ง ๔ ประการนี้ คำว่า "โทษ" ไม่มีกับเรา มีแต่คุณเท่านั้น

    จะไปที่ไหน จะพูดที่ไหน ใครก็อยากรับฟัง เขาถือว่า วาจาเป็นทิพย์

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี่แรงก็จะหมดพอดี
    พูดไปเสียงก็กลั้วไปเสียงก็แห้งไป
    เวลาก็หมดก็ขออำลาแต่เพียงเท่านี้
    ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแด่บรรดาท่านพุทธบริษัทศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี


    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 พฤศจิกายน 2017
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ............... SadhuDhamma1.jpg
     
  3. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,398
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,634

แชร์หน้านี้

Loading...