เรื่องเด่น เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันศุกร์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 26 เมษายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    94891931_2947969768622132_5171858970549157888_n.jpg
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันศุกร์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๖

    ถ้านับเข้ามาเนื่องด้วยการปฏิบัติ ก็จะตรงกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสเอาไว้ว่า สัตว์โลกทั้งหลายเกิดมาเท่าไร ตายหมดเท่านั้น ทุกชีวิตมีความตายเป็นเบื้องหน้า เราไม่อาจจะล่วงพ้นจากความตายไปได้ การระลึกถึงความตายจัดเป็นกรรมฐานใหญ่กองหนึ่ง เรียกว่ามรณานุสติกรรมฐาน การระลึกถึงความตายไม่ใช่ทำให้จิตใจเศร้าหมองหดหู่ แต่เป็นการที่สภาพจิตยอมรับความเป็นจริง ว่าธรรมดาของร่างกายต้องเป็นเช่นนี้ เกิดมาแล้วก็แปรปรวนไปเรื่อย ท้ายที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังไป

    ดังนั้น..การระลึกถึงมรณานุสติ เป็นเรื่องของบุคคลที่เป็นพุทธิจริต คือต้องประกอบไปด้วยปัญญา ถึงจะรู้เห็นความเป็นจริงและยอมรับได้ สำหรับบุคคลทั่ว ๆ ไปแล้วมักจะไม่ค่อยยอมรับ และพยายามหลีกเลี่ยง..หลีกหนี ไม่ยอมรับรู้ในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยความกลัวตายเป็นเหตุ ความจริงการกลัวตายนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เราเป็นคนรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาท แต่การเกิดมาไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์ ในเมื่อต้องพบกับความตาย เราก็ต้องมีการเตรียมพร้อม เพื่อที่ถึงเวลาตายแล้ว อย่างน้อย ๆ จะได้ไปสู่สุคติก็คือภพภูมิที่ดี อย่างเช่นได้เกิดเป็นมนุษย์ที่มีความสุขความสบาย มีความทุกข์น้อย ได้เกิดเป็นรุกขเทวดา ภูมิเทวดา อากาศเทวดา ได้เกิดเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหม ตามกำลังความดีที่เราทำมา เป็นต้น

    ในเมื่อเราหมายมุ่งจะไปสู่สุคติภูมิ ละเว้นจากทุคติแล้ว เราก็ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม การที่เราจะเตรียมตัวพร้อมรับความตายนั้น อันดับแรก ต้องนึกถึงความตายว่าจะมีต่อเราทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตายเช่นกัน ในเมื่อความตายมาถึงเราได้ทุกลมหายใจเข้าออก เราก็ต้องเร่งสร้างความดี ความดีที่เราจะสร้างนั้น ก็มีทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย

    ความดีในเบื้องต้นคือเรื่องของการให้ทาน การให้ทานนั้นมีทั้งปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่เจาะจงเฉพาะบุคคล อย่างเช่นตั้งใจว่าเราจะใส่บาตรหลวงพ่อรูปนั้น หลวงปู่รูปนี้ เราจะไปถวายสังฆทานกับหลวงพ่อรูปโน้น เป็นต้น การที่เราไปถวายทานกับท่านเพียงรูปเดียว จัดเป็นปาฏิบุคลิกทาน ถ้าต้องการให้เป็นสังฆทาน เราต้องบอกท่านชัดเจนว่า สิ่งที่เราถวายนั้นเป็นสังฆทาน เพื่อที่ท่านจะไม่นำไปกินไปใช้คนเดียว จะเกิดโทษแก่ตัวเองมาก

    ลำดับต่อไปคือสังฆทาน ได้แก่ทานที่ถวายต่อหมู่สงฆ์ หมายเอาพระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งมีอานิสงส์มากกว่าปาฏิบุคลิกทานเป็นแสน ๆ เท่า เนื่องจากว่าเป็นทานในการต่ออายุพระพุทธศาสนา ไม่อย่างนั้นเราก็คงจะเลือกว่าเราจะทำบุญกับใคร อย่างเช่น อยากทำบุญกับหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศ อยากทำบุญกับหลวงพ่อคูณ เป็นต้น พระหนุ่มเณรน้อยอื่น ๆ ก็ไม่สามารถที่จะอยู่ได้ เพราะไม่มีคนทำบุญด้วย ศาสนาก็จะตั้งอยู่ไม่ได้

    แต่เมื่อเรามีการถวายสังฆทานที่ไม่เจาะจง หมู่สงฆ์ทั้งหมดต่างมีส่วนร่วมในสิ่งที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคนั้น เมื่อได้บริโภคใช้สอย สามารถที่จะดำรงอยู่ได้โดยไม่ลำบากมากนัก ก็จะมีกำลังในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย เมื่อปฏิบัติได้แล้ว นำมาเผยแผ่ต่อประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการยังพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี ดังนั้น..การถวายสังฆทานถึงมีอานิสงส์มหาศาล เพราะเป็นทานในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา

    ส่วนทานด้านอื่นนั้น เป็นทานที่เกิดจากกำลังใจ อย่างเช่นธรรมทาน เราศึกษาปฏิบัติธรรมได้แล้ว ก็นำไปสั่งสอนคนอื่นเขาต่อ อภัยทาน พยายามที่จะตัดความโกรธเกลียดบุคคลอื่นออกจากใจของเรา โดยการพยายามทำความเข้าใจว่า บุคคลที่ทำให้เราโกรธเราเกลียดนั้น เขายังเป็นบุคคลที่มืดบอดอยู่ ในเมื่อเป็นผู้ที่มืดบอด ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น เป็นทุกข์เป็นโทษต่อคนอื่นอย่างไร เขาจึงเป็นบุคคลที่น่าสงสาร ไม่ใช่น่าโกรธ เราจึงต้องพยายามให้อภัยทาน นี่ก็คือการสร้างความดีในเบื้องต้นในระดับของทาน

    ความดีในเบื้องกลางคือการที่เราทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตารักษาศีลตามสภาพของตน อย่างเช่น บุคคลทั่วไปก็รักษาศีล ๕ อุบาสกอุบาสิการักษาศีล ๘ สามเณรรักษาศีล ๑๐ พระภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ เป็นต้น เราต้องระมัดระวังรักษาทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ถ้าวางกำลังใจของเราเช่นนี้ได้ เราจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสีลานุสติ จัดว่าเป็นความดีในเบื้องกลาง

    ความดีในเบื้องปลายนั้นคือการภาวนา คำว่าภาวนาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนั่งสมาธิเท่านั้น ภาวนา แปลว่า ทำให้เจริญขึ้น คือสภาพจิตของเรามีการพัฒนาขึ้น เบาบางจากกิเลสมากขึ้น มีความผ่องใสมากขึ้น จนท้ายที่สุด สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ปัญญามาช่วย อย่างเช่น เห็นว่าสภาพร่างกายนี้มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ระหว่างดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่สามารถยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ ถ้าสภาพจิตยอมรับ ถอนออกจากการยึดเกาะร่างกายนี้ หมายมุ่งหนทางแห่งการพ้นทุกข์คือพระนิพพาน เราก็มีสิทธิ์ที่จะล่วงพ้นจากกองทุกข์ก้าวเข้าสู่พระนิพพานได้

    การทำความดีในทานนั้น ผลานิสงส์จะส่งผลให้เราเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติต่าง ๆ การรักษาศีลนั้นจะทำให้เราเป็นผู้มีรูปสวย มีจิตใจเยือกเย็น มีจิตใจที่สงบระงับ การเจริญภาวนานั้นทำให้เราเป็นผู้มีปัญญามาก เกิดปัญหาทางโลกก็มีปัญญาแก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยง่าย เกิดปัญหาทางธรรมก็มีปัญญาพิจารณา จนก้าวล่วงปัญหาทั้งหลายเหล่านั้นไปได้ โดยเฉพาะการก้าวพ้นจากการยึดเกาะร่างกายนี้และโลกนี้ ไปสู่พระนิพพาน

    ดังนั้น..การที่ความตายมาถึงเราอยู่ทุกขณะ สิ่งที่เราต้องไม่ประมาทก็คือ ต้องสั่งสมความดีในทาน ในศีล ในภาวนาให้มากเข้าไว้ ถ้าไม่สามารถหลุดพ้นได้ ก็ต้องให้เราไปสู่สุคติที่สบายที่สุดเท่าที่จะพึงเป็นไปได้ แต่ว่าให้เรามุ่งหมายเอาไว้เลยว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำนี้ เราปรารถนาอยู่อย่างเดียว คือการหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน แล้วเอากำลังใจของเราจดจ่อแน่วแน่ อยู่ที่ภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานก็ได้ หรือว่าภาวนานึกถึงพระนิพพานเป็นอุปสมานุสติก็ได้ ตามความถนัดของแต่ละคน

    ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจดูลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ กำหนดรู้ลมหายใจของเราไว้ ถ้ามีคำภาวนาอยู่กำหนดรู้ในคำภาวนาเหล่านั้น ถ้าลมหายใจเบาลงหรือหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดรู้เอาไว้เฉย ๆ อย่าอยากให้เป็นอย่างนั้น และอย่าอยากให้พ้นจากสภาพนั้น

    ถ้าเรารักษากำลังใจได้ สมาธิเราจะทรงตัวตั้งมั่น เป็นสมาธิลึกมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเข้าถึงที่สุดของอัปปนาสมาธิได้ ขอให้ทุกคนตั้งใจกำหนดดูลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาไป จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันศุกร์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๖
    ที่มา : www.watthakhanun.com

    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมฯวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...