เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 10 เมษายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,362
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,362
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ถือว่าสิ้นสุดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เพื่อถวายพระราชกุศล แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวาระเจริญพระชนมายุ ๖๙ พรรษา คราวนี้ลำบากสามเณรที่เหลืออยู่ ยังไม่สึก เพราะว่าตอนนี้มีพี่เลี้ยงมากกว่าสามเณรแล้ว ในเมื่อคุมกันเดี่ยว ๆ นี่ คงได้ตีกันถนัดขึ้น..!

    สำหรับสามเณรที่อยู่ ถือว่าเราปรับตัวให้คุ้นเคยกับระเบียบของวัดได้แล้ว ในส่วนการอบรมพิเศษอื่น ๆ ก็จะไม่มีเหมือนช่วงที่อยู่ในโครงการ แต่ว่าการสวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต เจริญพระกรรมฐาน ทำความสะอาดวัด ยังคงต้องทำเป็นปกติ

    โดยเฉพาะในส่วนของสารูป คือการประพฤติปฏิบัติ อย่าให้ "ล้น" คำว่า "ล้น" ในที่นี้ก็คือซนไม่เข้าเรื่อง เพราะว่าสามเณรก็คือเชื้อสายของสมณะ เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านเขาให้ความเคารพนับถือ ถ้าหากว่า "ล้น" เมื่อไร ก็จะมีไม้เรียวช่วยแก้ "ล้น" ให้ ซึ่งพวกเราก็เห็นอยู่แล้วว่าวัดของเรานั้นตีจริง ๆ..!

    เพียงแต่ว่าพี่เลี้ยงต้องวางกำลังใจให้ถูก ว่าสิ่งที่เราทำเป็นการลงโทษสามเณรด้วยความหวังดี ปรารถนาดี พูดง่าย ๆ ว่าเป็นอุเบกขาในเมตตา ก็คือตีเพราะรัก เหมือนกับพ่อแม่ลงโทษลูกที่ทำผิด ไม่ใช่ไปตีเพราะโกรธที่สามเณรทำผิด ไม่ใช่ให้อภัยบ่อย ๆ จนกระทั่งตนเองรับไม่ไหว แล้วก็ไปตีสามเณรแบบระบายอารมณ์..!

    ตัวอย่างคนเก่า ๆ อย่างปลัดแป๊ะ (พระปลัดวินัย ชาคโร) ก็จะรู้อยู่ ว่าช่วงที่กระผม/อาตมภาพเป็นรองเจ้าอาวาส แล้วท่านอาจารย์สมพงษ์ (พระสมุหสมพงษ์ เขมจิตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส กระผม/อาตมภาพตีเณร ญาติโยมเห็นแล้วน้ำตาไหล เพราะว่าตีด้วยสายไฟ ตี ๑ ทีได้ ๒ แผล..! น่องแตกแน่นอน บางคนก็ถึงขนาดว่า "นี่หลวงพ่อตีเณรขนาดนี้เลยหรือ ?" แต่สามเณรเรียบร้อยดีมาก ไม่มีปัญหา เพราะคุยกันไว้แล้วว่าทำอะไรผิดถึงจะโดนตี ก่อนจะตีก็มีการชี้แจงซ้ำ แล้วพูดง่าย ๆ ว่าตอนตีก็นิ่งสุด ๆ ไม่ใส่อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง เลย สามเณรจึงรับได้

    แต่ท่านอาจารย์สมพงษ์ ส่วนใหญ่แล้วท่านจะให้อภัยไปเรื่อย ลักษณะเหมือนผู้ใหญ่รักเด็ก แต่พอถึงเวลาเหลือที่ตัวเองจะรับได้ ก็ไปตีเณรแบบระบายอารมณ์ สามเณรสึกหนีหมดเกลี้ยงเลย..! จะว่าไปแล้ว กระผม/อาตมภาพตีเณรโหดกว่าท่านอาจารย์สมพงษ์เยอะมาก แต่สามเณรรับได้ เพราะว่าเราตีด้วยความหวังดีปรารถนาดีกับเขาจริง ๆ แล้วเรื่องที่เขาทำก็คือผิดจริง ๆ

    แต่หลายท่านไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าไปให้อภัยครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วพอให้อภัยต่อไม่ไหว ก็ไปตีระบายอารมณ์ ซึ่งสามเณรจะรู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดขนาดนั้น แต่ว่าโดนลงโทษแรงขนาดนั้น เพราะว่าคนตีเก็บกด คิดบัญชีรวมของเก่าไปด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่ สามเณรทำผิดแค่ไหน ต้องลงโทษแค่นั้น จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง ถ้าใครรู้ตัวว่าเป็นพี่เลี้ยงแล้ววางกำลังใจผิด ให้วางกำลังใจเสียใหม่
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,362
    อีกเรื่องหนึ่งก็คือ วันนี้ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโพธิปัญญา มาชี้แจงให้สามเณรและผู้ปกครองทราบ ว่าทางมูลนิธิมีโครงการนำหน่อพุทธปัญญาสู่พุทธภูมิ ก็คือการบวชสามเณรแล้วส่งไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จุดมุ่งหมายก็คือต้องการให้สามเณรเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น

    กระผม/อาตมภาพเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ทำผิด..! เริ่มตั้งแต่การตั้งวัตถุประสงค์ก็ผิดแล้ว เนื่องเพราะว่าสามเณรยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามากมายขนาดนั้น สังเวชนียสถานทั้ง ๔ สำคัญอย่างไรก็ไม่รู้ ? แล้วไปจัดโครงการแบบนี้ขึ้นมา โดยหวังว่าสามเณรจะเป็นผู้สงบกาย สงบวาจา สงบใจ ไปถึงที่ไหนก็เจริญพระกรรมฐาน สวดมนต์ทำวัตรที่นั่น ต่อให้คนจัดโครงการเองยังทำไม่ได้เลย..!

    กระผม/อาตมภาพจึงได้ให้คำแนะนำว่า ให้เปลี่ยนวิธีการ ก็คือให้ทางโครงการ ถ้ามีงบประมาณเหลือเฟือ อย่าเอาไปล้างผลาญแบบนั้น เพราะว่าได้ประโยชน์น้อยมาก แต่ให้ไปสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการลักษณะของวัดท่าขนุน ก็คือโครงการแต่งชุดขาวไปโรงเรียนทุกวันพระ โครงการนำเด็กนักเรียนเข้าวัดทุกวันพระ หรือว่าโครงการนำเด็กนักเรียนเข้าวัดทุกวันศุกร์ อย่างที่เราทำกันอยู่เป็นปกติ

    เมื่อไปสนับสนุนโครงการดังกล่าวแล้ว ให้อาศัยความสัมพันธ์ตรงนี้ ถามข้อมูลกับครูบาอาจารย์ ครูที่ใกล้ชิดเด็กมากกว่า จะรู้ว่าเด็กคนไหนที่ "มีแวว" และสนใจเรื่องแบบนี้อย่างจริงจัง แล้วเราค่อยทำหนังสือขอตัวจากโรงเรียนไปเข้าโครงการ โดยที่ระบุวัตถุประสงค์ ระยะเวลาของโครงการให้ชัดเจน แล้วถ้าจะให้ดีก็คือ เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ควรจะมีทุนการศึกษาให้กับเด็กที่เข้าโครงการด้วย

    ถ้าอย่างนี้ก็จะได้ผลงานที่ดีทั้งสองฝ่าย ก็คือทางโรงเรียนได้ทำโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นวิถีพุทธ ได้หาทุนการศึกษาให้กับเด็กของตนเอง ซึ่งเป็นผลงานของทั้งโรงเรียนและทั้งครูบาอาจารย์ ส่วนทางด้านมูลนิธิก็จะได้เด็กซึ่งสนใจทางด้านนี้ มีจิตฝักใฝ่ในการเจริญพระกรรมฐาน และสวดมนต์ไหว้พระเป็นปกติอยู่แล้ว ก็จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จมากขึ้น หรือประสบความสำเร็จเกินกว่าที่เขาจะคิดถึง

    ส่วนสามเณรของวัดท่าขนุนนั้น กระผม/อาตมภาพยืนยันว่า ภาพที่ออกไปปรากฏว่าเรียบร้อยอย่างยิ่งนั้น เกิดจากไม้เรียวล้วน ๆ..! ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทางเจ้าหน้าที่จะคิดว่า โครงการของตนเองดำเนินการมาดีแล้ว และยังจะทำต่อ หรือว่าจะไปเปลี่ยนแนวทางตามที่กระผม/อาตมภาพบอก ก็ต้องแล้วท่านกลับไปพิจารณากันเอง
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,362
    ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง วันนี้ในกลุ่มไลน์คณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา คุณครูจำรัส คมขำ อดีตครูปกครอง ปัจจุบันเป็นกรรมการสถานศึกษา เพราะว่าเกษียณอายุแล้ว ได้นำเอาข้อมูลของโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ซึ่งปีนี้มีเด็กสอบเข้าเรียนปริญญาตรีแพทย์ศาสตร์ได้ ๔๒ คน เอามาลงเอาไว้

    บอกว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะว่าทางโรงเรียนได้เน้นเด็กตั้งแต่เริ่มเข้าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ มีการให้บรรดาสถานสอนพิเศษต่าง ๆ ไปเปิดสาขาในโรงเรียน กระตุ้นเด็ก นอกจากเรียนตามปกติแล้วยังมีการติว คือทบทวนวิชาเป็นพิเศษด้วย มีการสอบระดับต่าง ๆ ในอำเภออื่น หรือในจังหวัดก็ส่งเด็กไปสอบ เพื่อให้คุ้นชินกันการแข่งขัน

    ครั้นเข้ามัธยมศึกษาปีที่ ๔ ก็ล้างไพ่ใหม่ ให้เด็กเก่งทั้งหมดสอบแข่งขันกันอีกที เพื่อเข้าสู่ห้องพิเศษ แล้วการดำเนินการก็ลักษณะคล้ายคลึงกัน เพื่อเน้นในการแยกสายวิชา ว่าจะเป็นสายวิทย์ หรือว่าสายศิลป์ ถ้าเป็นสายศิลป์จะเป็นศิลป์แบบไหน ?

    กระผม/อาตมภาพท้วงติงไปว่า เรื่องการแข่งขันการเรียนแบบนั้น ทำให้เด็กเครียดเสียเปล่า ๆ การสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ไม่ได้ประสบความสำเร็จ เพราะว่านั่นเพิ่งจะสอบเข้าได้ นรกที่แท้จริงยังรออยู่อีก ๖ ปีข้างหน้า..! ซึ่งเด็กที่ทนแรงกดดันไม่ไหว มีทั้งลาออก มีทั้งซึมเศร้า มีทั้งฆ่าตัวตาย
    ถ้าเราจะเอาตัวอย่างของเขา ก็เอาแค่แรงบันดาลใจในการส่งเสริมการศึกษาเท่านั้น

    ในฐานะคณะกรรมการสถานศึกษา กระผม/อาตมภาพให้คำแนะนำว่า โรงเรียนทองผาภูมิวิทยาของเรา ไม่ควรจะเน้นเด็กทาง IQ คือความจำ แล้วเอาไปแข่งขันกันสอบเข้า แต่ให้เน้นทางด้าน EQ ก็คือ
    การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างด้วยวุฒิภาวะที่เหมาะสม ถ้าสามารถทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ จนกระทั่งสามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพของตัวเองได้ยิ่งดี เพราะว่าบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน ต่อให้ผู้บริหารมีแนวคิดที่เหมือนกัน ก็ไม่แน่ว่าจะจัดการได้แบบเขา

    โดยเฉพาะการเรียนในปัจจุบันนั้น ความสำคัญลดน้อยถอยลงไป เนื่องเพราะว่าเด็ก ๆ สามารถค้นหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตได้ บรรดาอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นหุ่นยนต์เทียมมนุษย์ สามารถกรอกความรู้เหล่านี้ให้เราได้ในทันทีทันใด ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ความมั่นคงทางอารมณ์ หรือวุฒิภาวะ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพราะว่าเด็ก ๆ ต้องออกไปผจญกับโลกที่โหดร้ายอย่างแท้จริงในยามที่ไปประกอบอาชีพ..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,362
    ปัจจุบันโลกของเราแข่งขันกันในลักษณะของ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ทำอย่างไรที่จะให้เขารักษาสภาพจิตใจของตนให้มั่นคง แล้วสามารถที่จะเห็นสถานที่ซึ่งเหมาะสมในการยืนหยัด ต่อให้ต้องแข่งขันกับคนอื่น ก็ให้แข่งในลักษณะที่ตนเองได้ทำสิ่งที่ชอบ ถ้าลักษณะนั้น ถึงจะได้ชื่อว่าเราประสบความสำเร็จในการผลิตเด็กทางการศึกษาอย่างแท้จริง

    เรื่องบางเรื่อง ถ้าหากว่าพูดไป บางทีก็อาจจะขัดกับความรู้สึกของผู้บริหารทางการศึกษา ซึ่งมักจะไปดูตัวเลขความสำเร็จในการแข่งขันเบื้องต้น แต่ไม่ได้ไปติดตามดูความสำเร็จในการดำเนินชีวิตหลังจากที่เรียนจบไปแล้ว ถ้ามีการติดตามลักษณะนี้ เชื่อว่าผู้บริหารแต่ละคนจะตกใจมาก เพราะเด็กที่เรียนจบระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ร้อยละ ๗๐ เป็นอย่างต่ำ ไม่ได้ทำงานตามวุฒิที่ตนเองเรียนมาเลย..!

    เรื่องพวกนี้ขอฝากเอาไว้สำหรับผู้บริหารการศึกษาระดับสูง ถ้าเป็นถึงรัฐบาลหรือรัฐมนตรีได้ก็ยิ่งดี ว่าทำอย่างไรที่เราจะปรับการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานที่นั้น ๆ ไม่ใช่ไปแข่งขันกันเฉพาะความจำอย่างเดียว ต่อให้การแข่งขันกันทางความจำ แล้วคุณชนะเลิศคณิตศาสตร์โอลิมปิก ฟิสิกส์โอลิมปิกมาก็ตาม บ้านเราก็เห่อแค่ "ไฟไหม้ฟาง" วูบเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ได้สนับสนุนอะไรต่อเลย แล้วแต่เด็กจะไปกันตามความสามารถของผู้ปกครองที่จะสนับสนุน หรือว่าไปตามเวรตามกรรมของตนเอง..!

    เพราะฉะนั้น..นักการศึกษาบ้านเราต้องคิดให้มากกว่านี้ ต้องปรับตัวให้มากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของทางโลก ซึ่งต้องอาศัยความมั่นคงทางจิตใจในการเข้ารับมือ จนกระทั่งบางทีอาจจะล้าหลังตกยุคไปเลย..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...