ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 24 ธันวาคม 2008.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’
    วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ


    ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’
    พระประธานคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ
    มีเส้นจีวรคาดเข่าทั้งสองข้าง พระองค์อวบอ้วน พระพักตร์กลมอูม
    พระขนงโก่ง หลังพระเนตรอูม พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางสลักขอบทั้งสองเส้น
    พระหนุเป็นปม พระรัศมีซึ่งอยู่เหนือพระเกตุมาลาเป็นต่อม
    ชายสังฆาฏิยาว ฐานรองรับเป็นฐานเขียง มีหน้ากระดานโค้งออกข้างนอก

    ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ เซนติเมตร
    สูงตั้งแต่ฐานเฉพาะทับเกษตรถึงพระเมาลี ๒๖ เซนติเมตร
    และสูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร ๖๖ เซนติเมตร
    ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ


    จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอรวบรวมได้ว่า
    องค์พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในประมาณปีพุทธศักราช ๕๐๐
    โดยพระนาคเสนเถระ เมืองปาฏลีบุตร รัฐปัตนะ อินเดีย

    สถิตอยู่ได้ประมาณ ๓๐๐ ปี ต่อมาในสมัย พระเจ้าสิริกิติกุมาร
    เกิดสงครามกับพวกนอกศาสนา จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต
    ไปประดิษฐานไว้ที่เกาะลังกา ในประมาณปีพุทธศักราช ๘๐๐
    และสถิตอยู่ที่เกาะลังกามาเป็นเวลานานถึง ๒๐๐ ปี

    ต่อมาในปี พ.ศ.๑๐๐๐ พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อ
    แห่งพุกาม ประเทศพม่า ซึ่งมีพระเดชานุภาพมาก ได้ส่งพระเถระ
    ไปขอพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกต โดยให้บรรทุกเรือสำเภามา
    แต่ระหว่างทางเกิดลมพัดแรงจึงถูกพายุพัดพาไปที่กัมพูชา
    ภายหลังพระเจ้าอนุรุทธมหาราชได้ส่งคนไปขอพระแก้วมรกตคืน
    แต่พระนารายณ์วงศ์แห่งกรุงกัมพูชาให้คืนมาแต่พระไตรปิฎก
    แต่ไม่คืนพระแก้วมรกตมาด้วย
    ต่อมาเกิดน้ำท่วมที่กัมพูชาจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต
    มาที่เมืองอินทปัฐ นครวัด และประดิษฐานเป็นเวลา ๓ เดือนเศษ

    ในปีพุทธศักราช ๑๘๙๐ ได้มีผู้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาที่กรุงศรีอยุธยา
    ในรัชสมัยของ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
    และในช่วงรัชสมัยของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
    ซึ่งทรงครองราชย์ครั้งที่ ๒ นั้น ได้มีการปราบปรามกรุงสุโขทัยให้เป็นเมืองขึ้น
    ขณะนั้นเมืองวชิรปราการ (กำแพงเพชร) ซึ่งเป็นหัวเมืองหนึ่งแห่งกรุงสุโขทัย
    จึงต้องตกเป็นของกรุงศรีอยุธยาด้วย

    ซึ่งต่อมากรุงศรีอยุธยาได้ส่งขุนนางผู้ใหญ่คือ พระยาญาณดิศ
    ไปปกครองเมืองกำแพงเพชร นางจันทร์ผู้เป็นมารดาของพระยาญาณดิศ
    ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย ซึ่งที่เมืองกำแพงเพชรนี้เองที่สันนิษฐานว่า
    พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว
    ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
    โดยด้านทิศเหนือของวัดสร้างติดกับบริเวณวังโบราณ (สระมน)
    วัดพระแก้วนี้จัดได้ว่าเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ ไม่มีพระสงฆ์พำนักจำพรรษา
    โดยจะมีเฉพาะเขตพุทธาวาสเท่านั้น เช่นเดียวกับที่
    วัดมหาธาตุ สุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา

    เชื่อกันว่าเดิมนั้นพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ตอนหน้าสุดของวัด
    โดยจะมีฐานไพทีขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนมีฐานมณฑปย่อมุม
    แต่ปัจจุบันส่วนยอดได้หักพังหมดแล้ว ซึ่ง ณ ตรงนี้เองที่เชื่อกันว่า
    ในอดีตเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และในตำนานพระพุทธสิหิงค์
    ได้กล่าวไว้ว่า พระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร
    ในสมัยพระยาญาณดิศเป็นเจ้าเมือง ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระญาติวงศ์กับกษัตริย์อยุธยา

    ภายหลังพระยาญาณดิศ ได้มอบพระแก้วมรกตให้กับ เจ้ามหาพรหม
    แห่งเมืองเชียงราย เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๗๙
    ซึ่งในเวลานั้นเมืองเชียงรายเกิดความระส่ำระส่าย
    เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะซ่อนพระแก้วมรกตให้พ้นจากสายตาของศัตรู
    จึงได้เอาปูนทาพร้อมลงรักปิดทอง แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์
    ที่ วัดพระแก้ว เชียงราย ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า วัดป่าเยี้ยะ
    และสถิตอยู่ที่วัดพระแก้วเชียงรายเป็นเวลา ๔๕ ปี

    จากนั้นก็อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่ลำปางอีกเป็นเวลา ๓๒ ปี
    วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๙๗๙-๒๐๑๑
    จากลำปางอัญเชิญขึ้นเหนือไปประดิษฐานที่ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
    ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
    เป็นเวลา ๘๕ ปี

    [​IMG]

    จากเชียงใหม่ไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์ ๒๒๕ ปี
    แต่เก่าก่อนตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
    เมืองเวียงจันทน์ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา
    ครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกหนักกับพม่าจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า
    ทางเวียงจันทน์ถือโอกาสแข็งเมืองแยกตัวเป็นอิสระ

    จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กอบกู้เอกราชได้
    และตั้งราชธานีใหม่ จึงได้ส่ง เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
    ไปตีเมืองเวียงจันทน์ให้กลับมาเป็นเมืองขึ้นเหมือนเดิม
    ศึกครั้งนั้นทัพของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาด
    ก่อนได้อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ กลับคืนสู่แผ่นดินไทย

    ครั้งแรกเมื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมายังประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี
    ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ วิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม
    ประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๕ ปี

    เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อชนะศึกเมืองเวียงจันทน์
    และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาก็เกิดความยินดี
    ดั่งว่าพระแก้วมรกตเป็นพระคู่บารมีคู่บ้านคู่เมือง
    ครั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
    ได้สำเร็จ และได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่มีชื่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]
    พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรขณะทรงเครื่องฤดูฝน

    [​IMG]
    พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรขณะทรงเครื่องฤดูหนาว

    [​IMG]
    พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรขณะทรงเครื่องฤดูร้อน


    รวมระยะเวลาที่องค์พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศไทย
    ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๓๒๑ จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา ๒๒๗ ปี


    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    มีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
    เพื่อเป็นพุทธบูชา สำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน

    เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นประกอบด้วยมงกุฎพาหุรัด
    ทองกร พระสังวาล เป็นทองลงยา ประดับมณีต่างๆ จอมมงกุฎประดับด้วยเพชร
    เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน เป็นทองคำ เป็นกาบหุ้มองค์พระอย่างห่มดอง
    จำหลักลายที่เรียกว่าลายพุ่มข้าวบิณฑ์ พระเศียรใช้ทองคำเป็นกาบหุ้ม
    ตั้งแต่ไรพระศกถึงจอมเมาฬี เม็ดพระศกลงยาสีน้ำเงินแก่
    พระลักษมีทำเวียนทักษิณาวรรต ประดับมณีและลงยาให้เข้ากับเม็ดพระศก

    ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    ทรงสร้าง เครื่องทรงสำหรับฤดูหนาว ถวายอีกชุดหนึ่ง
    ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยด้วยลวดทองเกลียว
    ทำให้ไหวได้ตลอดเหมือนกับผ้า ใช้คลุมทั้งสองพาหาขององค์พระ

    บุษบกทองที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
    สร้างด้วยไม้สลักหุ้มทองคำทั้งองค์ ฝังมณีมีค่าสีต่างๆ ทรวดทรงงดงามมาก
    เป็นฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ เดิมบุษบกนี้ตั้งอยู่บนฐานชุกชี

    [​IMG]

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้สร้างพระเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ สลักลายวิจิตรหนุนองค์บุษบกให้สูงขึ้น
    บนฐานชุกชีด้านหน้าประดิษฐาน พระสัมพุทธพรรณี
    เป็นพระพุทธรูปที่คิดแบบขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    รัชกาลที่ ๔ โดยไม่มีเมาฬี มีรัศมีอยู่กลางพระเศียร
    จีวรที่ห่มคลุมองค์พระเป็นริ้ว พระกรรณเป็นแบบหูมนุษย์ธรรมดาโดยทั่วไป

    หน้าฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒
    องค์ด้านเหนือพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
    องค์ด้านใต้พระนามว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    พระพุทธรูปทั้ง ๒ พระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๓ เมตร
    ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิหุ้มทองคำ เครื่องทรงเป็นทองคำลงยาสีประดับมณี

    พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม พระแก้วมรกต
    ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาช้านาน
    ดังมีใจความในหนังสือเรื่อง ตำนานพระแก้วมรกต
    ที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถ
    วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล
    พิมพ์ในหนังสือตำนานพระแก้วมรกตฉบับสมบูรณ์ ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร
    (พ.ศ.๒๕๐๔) กล่าวถึงพระราชพิธีตอนสถาปนาพระนคร
    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ความว่า...

    ...ชีพ่อพราหมณ์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร
    แลสมโภชพระอารามกับทั้งพระนครถ้วนคำรบสามวันเป็นกำหนด
    จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า
    กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยาบรมราชธานี
    เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ไว้เป็นเครื่องสิริ
    สำหรับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้...


    ข้อความข้างต้นจึงมีความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของพระแก้วมรกต
    ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์
    ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองของสยามประเทศแห่งใหม่
    ต่อจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี


    วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว
    เป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทย
    ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ
    ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมอยู่ไม่ขาดสาย

    [​IMG]
    ด้านหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

    [​IMG]
    ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระพุทธชินสีห์และพระโต’
    วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ


    ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
    มีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสำคัญอยู่ ๒ องค์ คือ
    พระสุวรรณเขต (พระโต) และพระพุทธชินสีห์

    พระพุทธรูปองค์ข้างหลังชื่อ “พระสุวรรณเขต” หรือ “พระโต”
    หรือ “หลวงพ่อเพชร” (พระประธานในพระอุโบสถสมัยแรก)
    เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อโลหะขนาดใหญ่
    ขนาดหน้าพระเพลา (หน้าตัก) กว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว
    พุทธลักษณะเป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ผสมผสานกับศิลปะขอม
    หันพระพักตร์ออกมาทางด้านหน้าของพระอุโบสถ
    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ผู้สร้างวัดบวรนิเวศวิหาร
    ได้ทรงอัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี
    เพื่อมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
    โดยรื้อออกเป็นท่อนๆ ตามรอยประสานเดิม แล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่
    สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระทวาราวดี ลักษณะแบบขอม พระศกเดิมโต
    พระยาชำนิหัตถการ นายช่างของสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ
    เลาะพระศกเดิมออกเสีย แล้วทำพระศกใหม่ด้วยดินเผาให้เล็กลง
    ตามที่เห็นว่างามในเวลานั้น ประดับเข้าที่แล้วลงรักปิดทอง
    มีพระสาวกใหญ่นั่งคู่หนึ่ง เป็นพระปั้นขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก

    [​IMG]
    พระโต (องค์หลัง)-พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า)
    สององค์พระประธานต่างความงามต่างสมัยในพระอุโบสถ



    ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ของพระสุวรรณเขตหรือพระโต
    เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของ
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

    ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้ เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร

    ส่วนพระพุทธรูปองค์ข้างหน้าชื่อ “พระพุทธชินสีห์”
    (พระประธานในพระอุโบสถสมัยหลัง)
    ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระสุวรรณเขตหรือพระโต
    ลักษณะของพระพุทธชินสีห์ต่างจากพระพุทธรูปอื่นแบบเก่าในบางอย่าง
    เช่น มีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ นิ้ว นิ้วพระบาททั้ง ๔ นิ้ว ยาวเสมอกัน
    ต้องตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ แสดงว่าผู้สร้างได้ทราบคัมภีร์นั้น
    พระพุทธรูปที่ได้สร้างกันขึ้นชั้นหลังได้ถือเป็นแบบสืบมาจนทุกวันนี้
    แต่ก่อนนั้นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในเมืองไทย ทั้งทางเมืองเหนือและเมืองใต้
    ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เป็นหลั่นกัน เหมือนกับนิ้วมือคนสามัญ

    [​IMG]
    พระโต (องค์หลัง)-พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า)


    แต่เดิมพระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ
    พระพุทธรูปสำริดขนาดหน้าพระเพลา (หน้าตัก) กว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว
    เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยผสมเชียงแสน
    และเป็นที่กราบสักการะของพระมหากษัตริย์และสาธุชนมาเกือบ ๗๐๐ ปี
    ประดิษฐาน ณ พระวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

    ประวัติการสร้างพระพุทธชินสีห์ ตำนานกล่าวว่า
    เมื่อปี พ.ศ. ๑๕๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราช
    แห่งเมืองเชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้
    แล้วสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองพิษณุโลก

    จากนั้นได้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง
    อีกทั้ง ได้ทรงหล่อพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่
    พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา
    โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ ณ พระวิหารทิศเหนือ
    และประดิษฐานพระศรีศาสดา ณ พระวิหารทิศใต้
    พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา (พระศาสดา)
    จึงประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเดียวกันตลอดมาถึง ๙๐๐ กว่าปี

    [​IMG]

    ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    พระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ชำรุดทรุดโทรมขาดผู้รักษาดูแล
    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ
    เพื่อมาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ประทับของ
    สมเด็จพระสังฆราชถึง ๔ พระองค์ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
    และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ครั้งทรงผนวช อีกหลายพระองค์ด้วย

    “พระพุทธชินสีห์” จึงเป็นพระคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์
    และสมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาช้านาน


    พระพุทธชินสีห์นั้นเป็นพระพุทธรูปที่ชาวพิษณุโลกและชาวเมืองเหนือ
    เคารพบูชาอย่างยิ่งองค์หนึ่ง ในคราวที่อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมากรุงเทพฯ
    ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ นั้น มีบันทึกที่กล่าวถึงความรู้สึกของชาวเมืองไว้ว่า

    “..เมื่ออัญเชิญออกจากวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศกร้องไห้เป็นอันมาก
    เงียบเหงาสงัดไปทั้งเมือง เหมือนศพลงเรือน แลแต่นั้นมาฝนก็แล้งไป ๓ ปี
    ชาวเมืองพิษณุโลกได้ความยากยับไปเป็นอันมาก ตั้งแต่พระพุทธชินสีห์ลงมาถึง
    กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงพระประชวรพระโรคมานน้ำ
    ได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต ราษฎรพากันกล่าวว่า
    เพราะเหตุที่ไปอัญเชิญพระพุทธชินสีห์อันเป็นสิริของเมืองพิษณุโลกลงมา..”


    [​IMG]
    พระโต (องค์หลัง)-พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า) พระประธานในพระอุโบสถ
    เบื้องหน้ามีพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช ๓ พระองค์ประดิษฐานเรียงกันบนฐานชุกชี



    ‘พระพุทธชินสีห์’ แต่เดิมประดิษฐานไว้ในมุขหลังของ
    พระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นจตุรมุข
    ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยยังทรงผนวช
    และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารนั้น ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาต
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
    ออกสถิตหน้าพระสุวรรณเขตหรือพระโต พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ดังทุกวันนี้

    พระพุทธชินสีห์ประทับบนแท่นหล่อสำริด สถิตสถาพรมั่นคง
    ภายใต้ฉัตรตาล ๙ ชั้น ดูร่มเย็นเป็นสุข พระอุณาโลมฝังเพชร
    มีเครื่องราชสักการะ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ถวายเป็นพุทธบูชา
    เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ชาติไทย
    เสด็จพระราชดำเนินมาถวายเครื่องราชสักการะสืบมายาวนาน

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือเลื่อมใสพระพุทธชินสีห์มาก
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ได้โปรดให้ทำกาไหล่พระรัศมีองค์พระด้วยทองคำ
    ฝังพระเนตรฝังเพชรใหม่ และตัดพระอุณาโลม แล้วปิดทองทั้งองค์พระ
    ปี พ.ศ. ๒๓๙๗ ทรงให้หล่อฐานด้วยทองสำริด ปิดทองใหม่ทั้งองค์พระและฐาน

    [​IMG]

    เบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์มีโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่บนฐานชุกชีที่รับฐานพระ
    ถัดลงมาเป็นม้าหมู่บูชา ๓ ที่ เป็นผลงานการออกแบบของ
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
    สถาปนิกเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    พระรูปหล่อ ๓ องค์ ซึ่งประดิษฐานเรียงกันบนฐานชุกชี ประกอบไปด้วย
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปัญญาอคฺคโต)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐
    และ พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓
    ซึ่งทุกพระองค์ทรงเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

    พระสุวรรณเขต (พระโต) และพระพุทธชินสีห์
    เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามอย่างน่าพิศวง
    และเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร อีกมุมหนึ่ง
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร’
    (หลวงพ่อทองคำ)
    วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ


    “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ”
    เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก พ.ศ.๒๕๓๔
    (THE GUINNESS BOOK OF WORLD RECORDS 1991)
    ว่าเป็น พระพุทธรูปทองคำแท้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
    มีมูลค่าสูงกว่า ๒๑ ล้านปอนด์
    แต่คุณค่าแห่งพลังศรัทธา
    ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนนั้น มูลค่าใดๆ ก็มิอาจจะเทียบเทียมได้

    ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหาร วัดไตรมิตรวิทยาราม
    เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิราบ
    พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ
    ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว หรือมากกว่า ๒.๕๐ เมตร

    ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป)
    ๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว หรือประมาณ ๓.๐๔ เมตร ๑๐ ฟุต
    มีน้ำหนักประมาณ ๕.๕ ตัน หรือ ๕,๕๐๐ กิโลกรัม

    [​IMG]

    นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า เป็น “พระพุทธรูปทอง” ในวิหารวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย
    ที่อ้างถึงในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
    บรรทัดที่ ๒๓-๒๗ มีข้อความปรากฏดังนี้

    “กลางเมืองสุโขทัย มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป
    มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม”


    ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในสมัยสุโขทัยมีการก่อสร้างพระวิหาร
    พระพุทธรูปปูนปั้น โลหะ และทองคำ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง
    ดังปรากฏเป็นหลักฐานประติมากรรมสมัยสุโขทัยที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

    จึงสันนิษฐานได้ว่า
    หลวงพ่อทองคำน่าจะถือกำเนิดในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
    ก่อนปี พ.ศ.๑๘๒๖ อันเป็นพุทธศักราชที่ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย
    หากนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันปี พ.ศ.๒๕๕๐

    [​IMG]

    ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ทรงมีพระบรมราชโองการให้อัญเชิญพระพุทธรูปตามวัดร้างต่างๆ
    ที่สุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์
    รวมจำนวนได้ ๑,๒๔๘ องค์ รวมทั้ง ‘หลวงพ่อทองคำ’ ด้วย
    ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสภาพพอกปูนปั้นหุ้มทั้งองค์ ดูเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นธรรมดา

    ต่อมาปี พ.ศ.๒๓๔๔ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธาน
    ใน วัดพระยาไกร หรือวัดโชตินาราม อันเป็นวัดที่
    พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) สร้างถวายเป็นพระอารามหลวง
    ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕

    ต่อมา วัดพระยาไกรชำรุดทรุดโทรม บริษัทอีสต์เอเซียติกได้มาขอเช่า
    จัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรม
    ของวัดออกจนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่

    ขณะนั้น วัดสามจีน หรือที่ต่อมาเป็น วัดไตรมิตรวิทยาราม แห่งนี้
    กำลังบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และเห็นว่าจะทิ้งพระพุทธรูปไว้เช่นนั้น
    ไม่เหมาะสม จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘

    [​IMG]

    เล่ากันว่าอาจจะด้วยปาฏิหาริย์ที่หลวงพ่อทองคำท่านคงจะเลือกประดิษฐานอยู่ที่นี่
    เพราะมีหลายครั้งที่วัดวาอารามในต่างจังหวัดได้ทำการขอพระพุทธรูป
    จากวัดต่างๆ ในส่วนกลางมาหลายครั้ง และองค์หลวงพ่อทองคำก็ได้ถูกยกให้
    ทางวัดต่างๆ หลายครั้งเช่นกัน แต่ก็ไม่มีวัดไหนอัญเชิญไปสักที
    บางวัดตัดสินใจรับที่จะอัญเชิญไปแล้ว แต่ในที่สุดก็ติดปัญหาต่างๆ จนมิได้อัญเชิญไป

    การก่อสร้างใช้เวลาถึง ๒๐ ปี จึงแล้วเสร็จในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๘
    ทางวัดได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ขึ้นไปประดิษฐาน
    บนพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ ขณะทำการโยกย้ายอัญเชิญองค์พระซึ่งมีน้ำหนักมาก
    ก็เกิดอุบัติเหตุ เชือกลวดสะลิงที่ยกองค์พระลอยขึ้นจากพื้นเกิดขาด
    องค์พระตกกระแทกพื้น ขณะนั้นเป็นช่วงค่ำและฝนตกหนัก การอัญเชิญหยุดชะงักลง

    ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) เจ้าอาวาส
    ขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็น พระวีรธรรมมุนี ได้มาตรวจตราดูองค์พระ
    สังเกตเห็นปูนตรงพระอุระแตกเป็นรูกว้าง มองเห็นเนื้อทองคำจับตา
    เมื่อกะเทาะปูนและลอกรักที่หุ้มออก พบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งองค์
    ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามสุกปลั่งขนาดใหญ่มหึมาเช่นที่เห็นในปัจจุบัน
    และยังพบ กุญแจกล ซ่อนอยู่บริเวณฐานทับเกษตร ที่สามารถใช้ไขถอด
    หรือแยกองค์พระออกได้เป็น ๙ ส่วนด้วยกัน อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย
    ที่ทำไว้เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายได้เมื่อยามจำเป็น
    และยังมีทองคำเนื้อเดียวกันบางส่วนสำรองไว้ที่ใต้ฐานองค์พระ
    เพื่อไว้สำหรับเชื่อมต่อเมื่อประกอบให้เป็นเนื้อเดียวกัน
    นับเป็นความรอบคอบของบรรพบุรุษผู้สร้างเป็นอย่างยิ่ง

    [​IMG]

    ทางวัดจึงได้ถอดหรือแยกองค์พระออกเป็นสี่ส่วน แล้วอัญเชิญขึ้นไป
    ประดิษฐานบนพระวิหาร แรกๆ เรียกว่า พระสุโขทัยไตรมิตร
    ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ว่า
    “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ตามลักษณะของพระพุทธรูป
    แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์นี้ว่า “หลวงพ่อทองคำ” มาจนปัจจุบัน

    หลวงพ่อทองคำ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีน
    ที่อาศัยอยู่แถวเยาวราชมาอย่างยาวนาน
    นอกจากนี้ ยังเป็นเอกลักษณ์อันยิ่งใหญ่เคียงคู่ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย

    หลวงพ่อทองคำ มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก
    สมดังที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นรูปแบบของศิลปกรรมสุโขทัยยุครุ่งเรือง
    ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความวิจิตรอ่อนช้อยกว่าสกุลช่างยุคใด
    ขนาดและน้ำหนักทองคำขององค์หลวงพ่อสะท้อนความสามารถอันฉลาดลุ่มลึก
    ของฝีมือช่าง ทั้งด้านการออกแบบ ศิลปกรรม การปั้นหล่อ

    เป็นหนึ่งในมรดกทางอารยธรรมล้ำค่ายิ่งของพระพุทธศาสนาคู่ผืนแผ่นดินไทย

    [​IMG]
    แบบจำลอง ‘พระมหามณฑป’ วัดไตรมิตรวิทยาราม สถานที่ประดิษฐาน
    ‘พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร’ แห่งใหม่ หลังจากสร้างเสร็จสมบูรณ์


    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดไตรมิตรวิทยาราม
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระพุทธเทวปฏิมากร’
    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ


    “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
    หรือที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดโพธิ์”
    ถือเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลในรัชกาลที่ ๑
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

    ทรงสถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่จากวัดโบราณเก่าแก่ที่มีอยู่เดิม
    โดยนับเป็นวัดที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างราชธานี

    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
    จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
    ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย
    เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน
    เป็นมรดกความทรงจำโลก (Memory of the World) เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๑

    ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ ๙๙ องค์
    พระเจดีย์ที่สำคัญคือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงเป็นเหตุให้เรียกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ว่า ‘อาณาจักรแห่งเจดีย์’

    [​IMG]

    ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ ๒๔ ของโลก
    ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง ๘,๑๕๕,๐๐๐ คน

    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
    โดยเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๓
    พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่างๆ
    จารึกลงบนศิลาจารึกหรือแผ่นศิลา รวมทั้งได้ปั้นฤๅษีดัดตน ประดับไว้ภายในบริเวณวัด

    ในศิลาจารึกทั้งหมดอาจจะแบ่งความรู้ต่างๆ ออกได้เป็น ๘ หมวด ได้แก่
    หมวดประวัติการสร้างวัดพระเชตุพนฯ, หมวดตำรายาแพทย์แผนโบราณ,
    หมวดอนามัย, หมวดประเพณี, หมวดวรรณคดีไทย, หมวดสุภาษิต, หมวดทำเนียบ
    (จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) และหมวดพระพุทธศาสนา

    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นับเป็นวัดสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์วัดหนึ่ง
    “พระพุทธเทวปฏิมากร” พระประธานในพระอุโบสถ ก็เช่นเดียวกัน

    พระพุทธเทวปฏิมากร นามอันมีความหมายว่า เทวดามาสร้างไว้
    เนื่องด้วยเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่งสมกับชื่อ
    เป็นพระพุทธรูปโบราณ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว

    [​IMG]

    ที่ใต้ฐานชุกชีพระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร
    พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่อไว้ ๓ ชั้นนั้น
    ในชั้นที่ ๑ ได้บรรจุพระบรมอัฐิ (บางส่วน)
    และพระบรมราชสรีรางคารของบุรพกษัตริย์รัชกาลที่ ๑ ไว้ด้วย


    มีหลักฐานปรากฏใน ‘ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ’ ไว้ว่า

    เดิมพระพุทธเทวปฏิมากรประดิษฐานอยู่ ณ วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์)
    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดโพธาราม
    ให้เป็นวัดใหญ่สำหรับพระนคร และได้ทรงขนานนามใหม่ว่า
    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ได้ทรงเลือกหาพระพุทธรูป
    ที่มีพุทธลักษณะงามสมควรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด
    จึงได้พบและเลือกพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์) ดังกล่าว

    ครั้งนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
    ถวายพระนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร”

    ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระอุโบสถเก่า ซึ่งสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑
    ลงทั้งสิ้น แล้วทรงสร้างขึ้นใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเก่า

    ส่วนฐานพระพุทธเทวปฏิมากรนั้นรื้อของเก่าทำขึ้นใหม่ขยายเป็น ๓ ชั้น
    พระสาวกเดิมมี ๒ องค์ ทรงสร้างขึ้นใหม่อีก ๘ องค์
    รวมเป็นพระสาวก ๑๐ องค์ ดังที่ปรากฏอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

    [​IMG]

    ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    มีพระราชดำริถึงพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
    ซึ่งพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้นได้รับพระราชทานไปกระทำสักการบูชา
    เมื่อเจ้านายพระองค์นั้นๆ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีใครพิทักษ์รักษา
    ได้เชิญมาเป็นของหลวง มีอยู่ควรจะประดิษฐานไว้ให้มหาชน
    ได้กระทำสักการบูชาโดยสะดวก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมอัฐิ
    ในกล่องศิลา แล้วเชิญมาบรรจุไว้ในพุทธอาศน์พระพุทธเทวปฏิมากร
    และยังมีคำที่เล่าสืบกันมาว่าถึงพระอุณาโลมพระพุทธเทวปฏิมากรนั้น
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้โปรดให้สร้างถวายในครั้งนั้นด้วย

    อนึ่ง พระพุทธเทวปฏิมากรพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จะทรงเคารพนับถือว่าเป็นเจดีย์สถานสำคัญแห่งหนึ่งมาช้านานแล้ว
    เพราะปรากฏในจดหมายเหตุว่า เมื่อได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเสร็จแล้ว
    ได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารค
    เมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๗๙

    ครั้งนั้น จึงได้เสด็จประทับพระอุโบสถทรงกระทำสักการบูชา
    พระพุทธเทวปฏิมากรเป็นปฐม เรื่องนี้เลยเป็นพระราชประเพณีตั้งแต่นั้นสืบมา
    คือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารคนั้น
    ย่อมเสด็จประทับ ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
    ทรงกระทำสักการบูชาพระพุทธเทวปฏิมากรสืบมาทุกรัชกาล

    [​IMG]
    พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

    [​IMG]
    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ‘อาณาจักรแห่งเจดีย์’

    [​IMG]
    พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑-๔
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อพระร่วง’
    วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ


    “วัดมหรรณพาราม” ตั้งอยู่ที่แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
    ซึ่งได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    รัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชวงศ์จักรี ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๓๙๓

    นามผู้สร้างพระอารามนี้ คือ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี
    พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอรรณพ
    ทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


    ในพระอารามแห่งนี้ มีปูชนียวัตถุที่สำคัญมาก คือ
    พระพุทธรูปองค์ใหญ่ มีนามเรียกว่า “หลวงพ่อพระร่วง”
    หรือที่ชาวบ้านเรียกจนติดปากว่า “หลวงพ่อร่วง” สถิตอยู่ที่พระวิหาร

    [​IMG]

    หลวงพ่อพระร่วง เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย
    ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๑ วา ๓ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว
    องค์พระเป็นโลหะทอง มีรอยต่อ ๙ แห่ง โดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อม
    ที่รอยต่อชุกชีที่ประดิษฐาน ยาว ๒ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว กว้าง ๒ วา ๒ ศอก

    ถัดจากฐานขึ้นไปที่เรียกว่าบัลลังก์ ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำบัวหงาย
    และดอกไม้เครือกระจังลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ
    ได้อัญเชิญมาจากกรุงสุโขทัยในราวปี พ.ศ.๒๓๙๓ ในรัชกาลที่ ๓

    หลวงพ่อพระร่วง มีประวัติสังเขปดังนี้ เมื่อครั้งที่ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี
    ทรงสร้างวัดอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    ได้พระราชทานเงินสมทบ ๑,๐๐๐ ชั่ง สร้างพระอุโบสถ แล้วทรงรับสั่งให้
    เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่ เพื่อนำมาเป็นพระประธาน

    [​IMG]

    ครั้นได้พบแล้วก็ทราบรับสั่งให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ
    เพื่อให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถและผูกพัทธสีมา

    แต่การเดินทางสมัยนั้นลำบากมาก หากจะขนวัตถุสิ่งใดลงมากรุงเทพฯ
    ต้องอาศัยเรือหรือแพเท่านั้นเป็นพาหนะ

    หลวงพ่อพระร่วงก็เช่นเดียวกัน อาศัยบรรทุกมาด้วยแพ
    แต่การเดินทางล่าช้ามาก มาไม่ทันกำหนดเวลาที่พระอุโบสถสร้างเสร็จ

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้
    สร้างพระประธานด้วยหินปูนก่ออิฐให้ทันกับเวลาฉลองพระอุโบสถ
    และใช้เป็นพระประธานในพระอุโบสถจนกระทั่งบัดนี้

    ครั้นสร้างพระประธานเสร็จเรียบร้อย หลวงพ่อพระร่วงจึงถูกอัญเชิญ
    มาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงรับสั่งให้สร้างพระวิหารขึ้นทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ
    ให้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงตั้งแต่นั้นมาตราบเท่าทุกวันนี้

    [​IMG]

    หลวงพ่อพระร่วง มีคุณลักษณะดีพิเศษ ๓ ประการ คือ

    ประการที่ ๑ ทางด้านศิลปะ
    หลวงพ่อพระร่วงเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามมาก พระพักตร์อิ่มเอิบ
    พระเนตรดูแล้วเหมือนยิ้มนิดๆ เป็นเหตุชวนให้ชุ่มชื่นใจแก่ผู้ดู
    พระกรวางอยู่ในลักษณะสมส่วน นิ้วพระหัตถ์เรียวงาม ทั้งองค์มีที่ต่ออยู่ ๙ แห่ง
    เป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าตามความนิยมของคนสมัยนั้น
    ด้วยทุกสัดส่วนขององค์พระไม่มีที่ไหนบกพร่องที่น่าตำหนิ
    ยากที่ช่างสมัยนี้จะทำเทียมเสมอได้

    ประการที่ ๒ ด้านวัตถุ
    หลวงพ่อพระร่วงมีคุณค่าทางด้านวัตถุมากมายมหาศาล
    พระพุทธรูปโบราณที่สร้างในสมัยเชียงแสน สุโขทัย
    มักจะเป็นเนื้อทองสัมฤทธิ์เป็นส่วนมาก หรือเป็นเนื้อทองคำปนอยู่มาก
    เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้มาพิสูจน์ ลงความเห็นว่าเป็นเนื้อทองคำประมาณ ๖๐%

    ประการที่ ๓ ด้านความศักดิ์สิทธิ์
    หลวงพ่อพระร่วงเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ชาวบ้านและชาวจีน
    ปัดเป่าความทุกข์ให้แก่ผู้ที่มากราบไหว้บูชาได้ดี จนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา
    เป็นพระพุทธปฏิมารูปเปรียบของพระพุทธเจ้าชาวพุทธที่กราบไหว้บูชา
    ก็เท่ากับกราบไหว้พระพุทธเจ้าจัดเข้าเป็นพุทธานุสติได้ตามหลักการปฏิบัติของชาวพุทธ

    [​IMG]

    ด้วยพุทธานุภาพอันเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระร่วง
    การบนบานนั้น จึงมักจะสำเร็จผลตามความประสงค์เป็นส่วนมาก
    ทำให้มีผู้นิยมนับถือท่านมากทั้งชาวไทยและชาวจีน
    เกิดเดือดร้อนขึ้นมาก็หันหน้าเข้าวัดบนบานให้ท่านช่วย
    ของเซ่นที่ท่านชอบก็ไม่เหมือนที่อื่นๆ เป็นเพียงตะกร้อ ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า
    หรือพวงมาลัยเท่านั้น เมื่อก่อนนี้ทางวัดไม่ได้เปิดให้คนเข้านมัสการภายในวิหาร
    ผู้ประสงค์จะไหว้อยู่แต่ภายนอกวิหารเท่านั้น แต่นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา

    จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทางวัดได้เปิดให้คนเข้านมัสการภายในพระวิหาร
    ได้ทุกโอกาสและเปิดเป็นประจำทุกวัน

    ทุกปีจะมีงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อพระร่วง วันกำหนดงานไม่ค่อยจะแน่นอน
    แต่อยู่ในระหว่างช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นส่วนมาก
    เมื่อมีงานเทศกาลชาวไทยและชาวจีนจะหลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชา

    [​IMG]
    พระวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงเป็นศิลปะผสมแบบจีน
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อเพชร’
    วัดท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร


    “วัดท่าหลวง” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
    สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก
    ถนนบุษบาใกล้ศาลากลางจังหวัดเก่า ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร
    เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๓๘๘
    ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชื่อ
    “หลวงพ่อเพชร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสนรุ่นแรก
    หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ในท่าขัดสมาธิเพชร สังฆาฎิสั้นเหนือพระอุระ
    มีพุทธลักษณะงดงามมาก มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๔๐ เมตร (๒ ศอกเศษ)
    สูง ๑.๖๐ เมตร (๓ ศอกเศษ) ที่ที่ประทับนั่งตั้งอยู่บนฐานมีรูปบัวคว่ำบัวหงายรองรับ
    สร้างในระหว่างปีพุทธศักราช ๑๖๖๐ ถึง ๑๘๘๐ สร้างมาแล้วประมาณ ๘๘๒ ปี
    เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิจิตร

    ด้วยกิตติศัพท์นานัปการ เมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตร
    จะต้องไปนมัสการหลวงพ่อเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคล
    เนื่องจากมีประชาชนที่นับถืออย่างมาก เมื่อใครมีเรื่องเดือดร้อน เช่น
    ของหายหรือมีความทุกข์ยาก ที่จะบนบานศาลกล่าวขออำนาจหลวงพ่อเพชร
    ให้ช่วยปกป้องรักษา หรือปัดเป่าความทุกข์ยากให้หมดไป
    เดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชรก็จะช่วยทุกราย
    เมื่อผู้นั้นพ้นทุกข์ก็จะนำหัวหมู เป็ด ไก่ ขนม ฯลฯ ไปถวายแด่
    หลวงพ่อเพชรที่พระอุโบสถ กลิ่นธูปและควันเทียนจะไม่ขาดระยะ
    ชาวพิจิตรทุกผู้ทุกนามต่างให้ความเคารพนับถืออย่างสูงต่อพระองค์หลวงพ่อเพชร
    ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญศูนย์รวมใจของชาวพิจิตร พลังแห่งความนับถือพุทธานุภาพ
    ของหลวงพ่อเพชรจะไม่จางหายไปจากหัวใจของชาวพุทธ

    [​IMG]

    ประวัติการสร้างหลวงพ่อเพชร ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดแน่นอน
    เพียงแต่มีตำนานเล่าขานกันสืบมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลว่า
    ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เกิดขบถจอมทอง เมืองเชียงใหม่
    กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ไปปราบปรามขบถจอมทอง
    เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร แม่ทัพก็ได้สั่งให้หยุดพักลี้พลที่เมืองพิจิตร
    ซึ่งทางเจ้าเมืองพิจิตรก็ได้ให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี
    จึงสร้างความประทับใจให้แก่กองทัพเป็นอย่างยิ่ง
    เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาหายเหนื่อยแล้ว จึงออกเดินทางจากเมืองพิจิตร
    แต่ก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตรได้ไปปรารภกับแม่ทัพว่า
    ถ้าปราบขบถเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว ขอให้หาพระพุทธรูปงามๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง
    ฝ่ายทางแม่ทัพเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ

    หลังจากนั้นก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ
    ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาก็นึกถึงคำร้องของ
    พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ในขณะนั้น
    จึงอัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรจากจอมทองมาด้วย

    โดยให้ประดิษฐานบนแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำแม่ปิง
    เมื่อมาถึงเมืองกำแพงเพชรก็ได้ฝากหลวงพ่อเพชรไว้กับเจ้าเมืองกำแพงเพชร
    ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองพิจิตรทราบข่าวจึงพร้อมด้วยชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมาก
    ได้ไปอัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้
    วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.พิจิตร
    ซึ่งนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ชาวพิจิตรเป็นอย่างมาก

    [​IMG]

    จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๔๔๒
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    มีพระราชประสงค์จะหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม
    เพื่อนำไปไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จังหวัดพระนคร
    เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก
    จึงได้สั่งการให้ พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ในขณะนั้น
    แสวงหาพระพุทธรูปที่สวยงามตามพระราชประสงค์
    เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้น พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม)
    จึงออกตรวจดูพระพุทธรูปทั่วๆ ไปในเมืองพิจิตร ก็พบว่า
    องค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามตามพระราชประสงค์
    และเพื่อสะดวกในการขนย้าย จึงได้จ้างชาวณวนคนหนึ่งชื่ออาง
    ทำการทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชร
    การทะลวงหุ่นดินนั้นก็เพื่อต้องการให้น้ำหนักเบา
    แล้วนำขึ้นเกวียนมาลงเรือชะล่า มีปรำลากจูงด้วยเรือพาย
    และเมื่อมาถึงเมืองพิษณุโลก ก็เทียบท่าอยู่หน้า
    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

    หลังจากนั้น พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ก็ได้ไปกราบเรียน
    เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก
    ว่า ได้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว
    และกราบเรียนต่อไปว่า การนำหลวงพ่อเพชรมาครั้งนี้
    ชาวเมืองพิจิตรทุกคนมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก
    เพราะเสียดายในองค์หลวงพ่อเพชร
    ในฐานะที่เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่เดิม
    เมื่อได้ทราบดังนั้น เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก
    จึงได้ตรวจดูพระพุทธรูป ก็เห็นว่ามีความงดงามจริงๆ
    ดังคำบอกเล่าของเจ้าเมืองพิจิตร แต่มีขนาดองค์ใหญ่โตเกินไป
    อีกประการหนึ่งก็เห็นว่าเป็นการทำลายจิตใจของชาวเมืองพิจิตร
    จึงได้สั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำกลับไปไว้ที่เมืองพิจิตรตามเดิม
    อย่างไรก็ตาม การอัญเชิญหลวงพ่อเพชรกลับมายังเมืองพิจิตรคราวนี้
    ไม่ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่อุโบสถวัดนครชุมเหมือนเดิม
    แต่นำมาไว้ที่วัดท่าหลวง โดยทำปรำคลุมไว้เป็นการชั่วคราว

    [​IMG]

    เมื่อประชาชนรู้ข่าวการนำหลวงพ่อเพชรกลับมาที่เมืองพิจิตร
    ต่างก็พากันมาปิดทองนมัสการอยู่ที่วัดท่าหลวง
    จึงได้ปรึกษาหารือกันจะแห่แหนหลวงพ่อเพชรกลับไปวัดนครชุมอย่างเดิม
    ส่วนราษฎรทางเมืองใหม่เห็นว่าเมืองพิจิตรได้ย้ายมาตั้งใหม่แล้ว
    หลวงพ่อเพชรก็ควรจะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวเมืองใหม่ด้วย
    จึงไม่ยินยอมให้ชาวเมืองเก่านำกลับไปวัดนครชุม

    เหตุการณ์ตอนนี้มีผู้เล่าขานว่า ขนาดเกิดการยื้อแย่งกัน
    และถึงขั้นการเตรียมอาวุธเข้าประหัตประหารกัน เดือดร้อนถึง
    พระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ในขณะนั้น
    ต้องออกห้ามทัพ ด้วยเดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชร
    ประกอบกับชาวเมืองพิจิตรเคารพนับถือท่านมาก ศึกครั้งนั้นจึงยุติลง
    และได้ชี้แจงว่า จะหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองเท่ากับขนาดองค์จริง
    เพื่อนำกลับไปให้ชาวเมืองเก่าแทนองค์หลวงพ่อเพชรองค์จริง
    ส่วนหลวงพ่อเพชรองค์จริงนั้น
    ขอให้ประดิษฐานไว้ที่วัดท่าหลวงซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่
    และถ้าชาวเมืองเก่าจะมานมัสการก็ไม่ไกลเกินไปนัก
    ชาวเมืองพิจิตรก็เชื่อฟังแต่โดยดีไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
    องค์หลวงพ่อเพชรจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าหลวงตราบเท่าทุกวันนี้

    อีกเหตุการณ์หนึ่งที่องค์หลวงพ่อเพชรได้ประดิษฐาน ณ วัดท่าหลวง นั้น
    มีคนเล่าสืบต่อกันมาว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญ พระพุทธชินราช
    จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก
    ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
    ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่
    พระองค์จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่งดงาม
    สมควรที่จะนำไปแทนพระพุทธชินราช
    จึงมีคำสั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำองค์หลวงพ่อเพชรไปยังเมืองพิษณุโลก

    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดท่าหลวง


    ข่าวการที่ทางราชการจะนำองค์หลวงพ่อเพชรไปกรุงเทพฯ
    ได้ล่วงรู้ไปถึงประชาชน ชาวเมืองพิจิตรต่างพากันเสียดายและหวงแหน
    องค์หลวงพ่อเพชรเป็นอันมาก จึงได้คบคิดกับนายอาง ซึ่งเป็นชาวญวน
    มีหน้าที่จัดการทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก
    เพื่อให้น้ำหนักเบาสะดวกในการขนย้าย เมื่อจัดการทะลวงหุ่นดินออกแล้ว
    ก็ช่วยกันย้ายองค์หลวงพ่อเพชรไปซ่อนไว้ในป่า
    และเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ มิได้หยุดหย่อน
    แต่ข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรเคลื่อนย้าย
    หาได้พ้นการติดตามและค้นหาของเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองแต่อย่างใด
    ผลที่สุดก็ใช้อำนาจบังคับให้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาจากเมืองเก่า
    และได้นำมาพักไว้ชั่วคราวที่วัดท่าหลวง เพื่อรอการนำไปยังเมืองพิษณุโลก

    ชาวเมืองพิษณุโลกก็เช่นเดียวกันกับชาวเมืองพิจิตร
    เมื่อทางราชการจะนำองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชไปจากพวกเขา
    ต่างก็พากันหวงแหนโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้กันทั่งเมือง เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก
    ท่านเจ้าคุณสมุหเทศาภิบาล จึงได้นำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูล
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงทราบก็เห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก
    จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ระงับการนำพระพุทธชินราชไปกรุงเทพฯ
    โดยจะหล่อพระพุทธชินราชจำลองไว้ประดิษฐาน
    ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แทน
    เมื่อองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชไม่ได้เคลื่อนย้ายไปกรุงเทพฯ
    องค์หลวงพ่อเพชรจึงได้ประดิษฐานอยู่
    ณ วัดท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร ตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้


    [​IMG]
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อพระใส’
    วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย


    “หลวงพ่อพระใส” เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย
    หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ คืบ ๘ นิ้ว
    ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้ว ของช่างไม้
    ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย
    เป็นพระพุทธรูปที่ชาวเมืองนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่ง

    มีความเชื่อกันว่า หลวงพ่อพระใส ทำการหล่อในสมัยเชียงแสน
    ชั้นหลังพระใสเป็นพระพุทธรูปล้านช้าง สมัยนั้นประเทศล้านช้างยังรุ่งเรืองอยู่
    และพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง
    พระเจ้าแผ่นดินทรงสนพระทัยในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

    [​IMG]

    พระใส เป็นพระพุทธรูปที่หล่อคราวเดียวกันกับพระเสริม และพระสุก
    และคู่เคียงกันมาเสมอ พระใสเป็นพระพุทธรูปที่ผู้หล่อประสงค์จะให้
    เป็นพระสำหรับแห่มาแต่เดิม สังเกตได้จากห่วงกลม ๓ ห่วง
    โตกว่านิ้วมือติดอยู่กับพระแท่น (หล่อติดกับองค์พระ)
    สำหรับผูกสอดเชือกขันกับยานแห่ เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว
    พระเกศเดิมซึ่งเป็นของที่มีราคามาก ได้ถูกขโมยลักเอาไป
    พระเกศของพระใสที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้เป็นพระเกศใหม่


    ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัยนั้น จะมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง
    ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติความเป็นมาของการหล่อพระสุก
    พระเสริม และพระใส จำนวน ๒๐ ภาพ มีใจความว่า

    ในรัชสมัยของ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ช่วงปี พ.ศ.๒๐๙๓-๒๑๑๕
    แห่งอาณาจักรล้านช้างศรีสัตนาคณหุต ทรงมีพระราชธิดา ๓ พระองค์
    ทรงพระนามว่า สุก, เสริม และใส

    [​IMG]

    พระราชธิดาทั้งสามพระองค์มีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา
    จึงร่วมพระทัยขอพรจากพระราชบิดา สร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์
    มีข้าราชการ ชาวบ้าน และทางวัดได้ระดมช่างและคนมาช่วยกันอย่างมากมาย
    ในการหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ก็มีเหตุอัศจรรย์
    การหลอมทองเป็นไปด้วยความยากลำบากใช้เวลาช่วยกันสูบเตาหลอมทอง
    อยู่ถึง ๗ วัน แต่ทองก็ยังไม่ละลาย ล่วงเข้าวันที่ ๘ ตอนใกล้เพล
    ขณะที่หลวงตากับสามเณรช่วยกันสูบลมหลอมทองอยู่
    ปรากฏว่ามีชีปะขาวคนหนึ่งอาสามาช่วยงาน
    หลวงตากับสามเณรหยุดพักขึ้นไปฉันเพลบนศาลา
    ชาวบ้านมองเห็นชีปะขาวจำนวนมากช่วยกันเททองหล่อพระพุทธรูป
    แต่หลวงตากลับเห็นเพียงคนเดียว เมื่อฉันเพลเสร็จหลวงตาลงมาดู
    ก็พบว่าทองทั้งหมดถูกเทลงในเบ้าทั้งสามเรียบร้อยแล้ว
    ส่วนชีปะขาวที่มาอาสาช่วยสูบเตาหลอมทองแทนก็หายตัวไป

    จนเมื่อการสร้างพระพุทธรูปเสร็จสิ้น พระราชธิดาทั้งสาม
    จึงถวายนามของตนเองให้เป็นนามของพระพุทธรูป
    โดย พระเสริม เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์พี่
    พระสุก เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์กลาง
    และ พระใส เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์สุดท้อง

    พระพุทธรูปทั้งสามองค์ประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์

    [​IMG]

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    เจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างแห่งเมืองเวียงจันทน์ ก่อกบฏ
    พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
    เป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบจนสำเร็จ ในครั้งนั้นจึงได้อัญเชิญ
    พระพุทธรูปมาจากเมืองเวียงจันทน์จำนวนหนึ่งกลับมายังฝั่งไทย
    และในจำนวนนั้นก็มี พระเสริม พระสุก และพระใส รวมอยู่ด้วย

    การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้มายังฝั่งไทย
    โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควาย นำขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่
    ซึ่งผูกติดกันอย่างมั่นคง แล้วอัญเชิญมาทางลำน้ำงึมออกลำน้ำโขง
    เมื่อแพล่องมาถึงตรงบ้านเวินแท่นในขณะนั้น
    บริเวณปากน้ำงึม เยื้องกับบ้านหนองกุ้งเมืองหนองคาย
    (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย) ก็ได้เกิดอัศจรรย์
    มีพายุใหญ่พัดแรงจัด ฝนตกหนัก เสียงฟ้าคำรามคะนองร้องลั่น
    พัดแท่นที่ประดิษฐานพระสุกจมน้ำหายไป สถานที่นั้นต่อมาจึงเรียกว่า
    “เวินแท่น” ส่วนองค์พระสุกก็จมหายไปในแม่น้ำโขง
    สถานที่นั้นต่อมาจึงเรียกว่า “เวินพระสุก” หรือ “เวินสุก”

    [​IMG]

    ส่วน พระเสริมและพระใส นั้น ก็สามารถล่องแพ
    ข้ามมายังฝั่งไทยที่เมืองหนองคายได้อย่างปลอดภัย

    โดยได้อัญเชิญ “พระเสริม” ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย
    ส่วน “พระใส” ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ที่วัดหอก่อง
    หรือปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ เมืองหนองคายเช่นกัน
    แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าในรัชกาลที่ ๔
    ทรงมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญ “พระเสริม”
    มาประดิษฐานยังพระบวรราชวัง หรือวังหน้า
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ
    ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญ พระเสริมและพระใส
    ลงมายังพระนคร ในการอัญเชิญครั้งนั้นปรากฏว่า
    ขบวนเกวียนที่ประดิษฐาน “พระใส” จากวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ (วัดหอก่อง)
    ขณะกำลังเดินมาหยุดอยู่ตรงหน้า วัดโพธิ์ชัย ก็เกิดเหตุขัดข้อง
    เกวียนไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ท้ายที่สุดเกวียนก็หักลง เมื่อซ่อมแล้วก็หักอีก
    แม้จะนำเกวียนมาเปลี่ยนใหม่แต่ไม่เป็นผล วัวลากเกวียนก็ไม่ยอมเดิน
    ซึ่งแม้จะทำพิธีบวงสรวงแล้วก็ไม่สามารถเดินทางต่อได้

    ดังนั้นจึงอัญเชิญพระใสขึ้นประดิษฐานที่ “วัดโพธิ์ชัย” แทน

    [​IMG]

    ความอัศจรรย์ของพระใสจนได้สมญาว่า “หลวงพ่อเกวียนหัก”
    หลวงพ่อพระใสก็กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย
    มานับแต่นั้น เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวอีสานและชาวลาว

    ส่วนเกวียนที่ประดิษฐาน พระเสริม นั้นไม่มีปัญหาใดๆ
    จึงสามารถอัญเชิญไปจนถึงพระนคร ไปประดิษฐานอยู่ในพระบวรราชวัง
    แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคต
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเสริมจากพระบวรราชวังหรือวังหน้า
    ไปประดิษฐานยัง พระวิหารวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
    และประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน

    ชาวอีสานและชาวหนองคายมีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อพระใส
    เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า
    ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนเป็นสำคัญ
    และจากความศรัทธาเลื่อมใสนี้
    มักจะมีประชาชนมาบนบานขอพรต่อองค์หลวงพ่อพระใส
    โดยส่วนใหญ่มักจะบนบานให้แคล้วคลาด เดินทางปลอดภัย

    [​IMG]

    นอกจากนี้ ยังมีการบนบานเกี่ยวกับสุขภาพ หน้าที่การงาน
    เมื่อบนบานและสัมฤทธิผลแล้วก็จะมาแก้บนในช่วงสงกรานต์
    โดยนำปราสาทเงิน ปราสาททอง (ปัจจัย) โพธิ์เงิน โพธิ์ทอง ๑ คู่,
    พวงมาลัย ๙ พวง, แผ่นทองเปลว ๙ แผ่น และผ้าอังสะ ๓ ผืน
    มาทำการแก้บน ซึ่งจะมีพระสงฆ์พาประกอบพิธี

    พิเศษที่สุด คือ การบนบานขอลูกจากหลวงพ่อพระใส
    คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกและขอพึ่งบารมีหลวงพ่อพระใส
    จะต้องมาประกอบพิธีบนบานต่อหน้าหลวงพ่อพระใส
    เตรียมขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ขันหมากเบ็ง เทียนเงิน เทียนทอง
    โดยมีพระสงฆ์นำประกอบพิธี ๔ รูป

    หลังจากเสร็จพิธี ในวันพระสามีภรรยาต้องนุ่งขาวห่มขาว
    งดร่วมเพศเด็ดขาด จะต้องถือศีล ๘ อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีลูก
    และเมื่อสัมฤทธิ์ดังประสงค์แล้ว รอให้คลอดลูกก่อน
    แล้วนำลูกน้อยนั้นมาทำพิธีแก้บน โดยจะมีพระสงฆ์ ๔ รูป
    นำประกอบพิธีต่อหน้าหลวงพ่อพระใสและผูกแขนทารกแรกเกิดให้

    ถือว่าเป็นการปวารณาเป็นลูกของหลวงพ่อ มีข้อห้าม คือ
    เด็กที่เกิดจากการบนบานขอพรจากหลวงพ่อพระใส จะเป็นเด็กซนมาก
    แต่ฉลาด พ่อแม่ห้ามตีเด็ดขาด หากวันใดตีเด็ก
    เด็กจะป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุทันทีและต้องมาทำพิธีขอขมาองค์หลวงพ่อ

    [​IMG]

    สำหรับงานประเพณีสำคัญเกี่ยวกับองค์หลวงพ่อพระใส
    ชาวหนองคายจะยึดถือเอาวันสงกรานต์ของทุกปี
    จัดงานสมโภชหลวงพ่อพระใส
    โดยในวันที่ ๑๓ เมษายน จะเป็นวันทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส
    ลงจากพระแท่นแห่รอบพระอุโบสถ เวียนประทักษิณ ๓ รอบ
    แล้วอัญเชิญขึ้นสู่ราชรถ เป็นองค์พระประธานนำพระพุทธรูป
    จากชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย
    แห่ไปรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล

    และในวันสุดท้าย จะมีพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส
    กลับขึ้นประดิษฐานบนพระอุโบสถเช่นเดิม
    เป็นอันเสร็จสิ้นงานประเพณีสมโภชองค์หลวงพ่อพระใสในรอบปี

    คาถาบูชาหลวงพ่อพระใส ตั้งนะโม ๓ จบ
    อะระหัง พุทโธ โพธิชโย เสยยะคุโณ โพธิสัตโต
    มหาลาโภ ปิยัง มะมะ ภะวันตุโน โหตุ สัพพะทา


    [​IMG]
    สงกรานต์หนองคาย ณ วัดโพธิ์ชัย
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระพุทธชินราช’
    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง จ.พิษณุโลก


    “พระพุทธชินราช” ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใหญ่ ด้านทิศตะวันตก
    ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก
    ซึ่งเป็นด้านหน้าวัด ผินพระพักตร์ไปทางด้านริมแม่น้ำน่าน
    องค์พระนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงาย
    เป็นพระพุทธรูปที่มีส่วนสัดสมตามแบบประติมากรรม
    มีพุทธลักษณะงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย

    ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ได้ตรัสยกย่องสรรเสริญพระพุทธชินราช ว่า
    “งามหาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ
    ประกอบไปด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีสิริอันเทพยดา
    หากอภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือแต่โบราณ”


    [​IMG]

    พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย
    ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว (หรือ ๒.๘๗๕ เมตร)
    มีส่วนสูงตั้งแต่หน้าตักถึงพระเกศ ๗ ศอก (หรือ ๓.๕ เมตร)
    พระพักตร์ทรงรูปไข่ หรือเรียกว่า รูปหน้านาง
    ที่แสกพระพักตร์มีเครื่องหมายศูลประดับด้วยเพชร แสดงให้เห็นเป็นอุณาโลม

    การสร้างใช้วิธีหล่อเป็นท่อนๆ ด้วยทองสัมฤทธิ์ตลอดทั้งองค์
    นิ้วพระพักตร์และพระบาทเสมอกัน แต่แรกสร้างนั้นยังไม่ได้ปิดทอง
    คงขัดเงาเกลี้ยงแบบทองสัมฤทธิ์เท่านั้น

    ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างพระพุทธชินราชในปีใด
    แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดาร
    คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับ ‘พระพุทธชินสีห์’ และ ‘พระศรีศาสดา’
    ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท)


    จากนั้นจึงมีการลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรก
    ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปีพุทธศักราช ๒๑๗๔
    สมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดให้นำทองเครื่องราชูปโภคไปแผ่เป็นทองแผ่น
    แล้วนำมาปิดพระพุทธชินราชด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองจนแล้วเสร็จ

    [​IMG]

    ต่อมาในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ได้โปรดเกล้าฯ
    ให้ปฏิสังขรณ์และลงรักปิดทององค์พระพุทธชินราชอีกครั้ง
    พระพุทธชินราชจึงงดงามยิ่งดังที่เห็นในปัจจุบัน

    พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีเรือนแก้วหรือที่เรียกว่า พระรัศมี
    แกะสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง มีลวดลายเป็นรูปนาค
    วงขนานไปตามทรงขององค์พระ ขึ้นไปบรรจบกันที่เหนือพระเกศ
    มีลักษณะเป็นลายรักร้อยและลายทองสร้อยสลับกัน
    มีสายสังวาลทำด้วยทองเนื้อนพเก้า หรือทองสีดอกบวบ
    คือ ตรานพรัตน์ราชวราภรณ์ ประดับด้วยบุศย์น้ำเพชร
    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสร้างถวายเป็นพุทธบูชา

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน
    ได้ถวายตรานพรัตน์แด่พระพุทธชินราช เมื่อคราวเสด็จภาคเหนือ
    ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ซึ่งยังไม่เคยมีพระพุทธรูปองค์ใด
    ได้รับเครื่องราชสักการะสูงส่งถึงเพียงนี้ และมีรูปยักษ์ทั้งซ้ายขวา
    คือ ท้าวเวสสุวรรณ และท้าวอาฬวกยักษ์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์

    [​IMG]

    พระพุทธรูปองค์นี้แสดงออกซึ่งความสงบเย็น ความมีสติปัญญา
    ความเมตตาอันหาที่เปรียบไม่ได้ ถือเป็นความอัศจรรย์
    ที่คนไทยเมื่อประมาณพันปีล่วงมาแล้ว มีความสามารถอย่างสูงส่ง
    ที่สามารถนำเอาพุทธจริยาทั้งสามประการ คือ พระมหากรุณาคุณ
    พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ ซึ่งเป็นนามธรรมมาถ่ายทอด
    เป็นรูปลักษณะของมนุษย์ที่ปั้น หล่อ ให้มองเห็นในความรู้สึกส่วนลึก
    ของผู้ที่ได้ประสบพบเห็นได้เช่นที่ปรากฏในพุทธลักษณะของพระพุทธชินราชนี้

    พระพุทธชินราช นอกจากเป็นพระปฏิมากร ที่มีลักษณะงดงามอย่างยอดเยี่ยมแล้ว
    ยังเป็นพระพุทธรูปที่ทรงมีพระปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์อีกมากมายหลายอย่าง
    ซึ่งหลายๆ คนได้เคยเล่าสืบต่อกันมา ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ก็มีเช่น
    เมื่อคราวเมืองพิษณุโลกถูกเผาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
    ตอนอื่นๆ ไฟไหม้หมด แต่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
    ซึ่งเป็นที่สถิตของพระพุทธชินราช หาได้ไหม้ไฟไม่


    ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่นิยมกราบไหว้ขอพรให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิต
    ประสบความสำเร็จในทุกกิจการงาน
    รวมถึงการสักการะวัตถุมงคลที่มีพระพุทธชินราชเป็นองค์ประกอบหลัก

    [​IMG]

    สำหรับคาถากราบไหว้มีอยู่ว่า “นะ ชาลีติ ปะสิทธิลาภา ปะสันนะจิตตา
    สะทา โหติ ปิยัง มะมะ สัพเพ ชะนา พะหู ชะนา สัพเพ ทิสา
    สะมาคะตา กาละโภชะนา วิกาละโภชะนา อาคัจฉันติ ปิยัง มะมะ”


    เนื่องจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระอารามหลวง (วัดหลวง)
    แต่เดิมวัดนี้มีงานฉลองกันตามโอกาส หลังจากในการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา
    หรือเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จมานมัสการพระพุทธชินราช จึงจะโปรดเกล้าฯ
    ให้มีการฉลองสมโภช ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้างแล้วแต่ความเหมาะสม

    ปัจจุบันนี้ ทางวัดได้จัดงานประจำปีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗
    กำหนดเอาวันพระกลางเดือน ๓ เป็นต้นไป มีการฉลองใหญ่ถึง ๗ วัน ๗ คืน
    กลายเป็นงานประจำปีของทางวัด จัดขึ้นในราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

    เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการกราบไหว้
    พระพุทธชินราชหรือหลวงพ่อใหญ่ได้อย่างทั่วถึง

    [​IMG]
    ป้ายชื่อวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

    [​IMG]
    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่)
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อทอง’
    วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี


    “หลวงพ่อทอง” วัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปแบบนั่ง
    พระพุทธลักษณะปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หล่อด้วยสำริด ศิลปะเชียงแสน
    มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๑ นิ้ว และสูง ๒๙ นิ้ว ปิดทองคำเปลวอร่ามทั้งองค์

    ไม่มีหลักฐานระบุสร้างปีใด ใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงตำนานเอ่ยถึง
    โดยเรื่องที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด มีรายละเอียด ดังนี้
    มีพระสงฆ์ ๒ รูป สามเณร ๑ รูป ทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน
    และมีฤทธิ์เดชเวทมนต์แรงกล้ามาก ทั้ง ๓ ได้ทดลองวิชา
    โดยพระรูปแรกได้ทำน้ำมนต์ไว้ และสั่งพระรูปที่ ๒ ว่า
    “เดี๋ยวจะกระโดดลงน้ำแล้วจะกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมา
    แล้วให้ใช้น้ำมนต์รดลงไปก็จะกลับเป็นพระสงฆ์ตามเดิม”

    แต่เมื่อพระรูปแรกกระโดดลงไปแล้วลอยขึ้นมาเป็นพระพุทธรูป
    พระรูปที่ ๒ ก็ไม่รดน้ำมนต์ให้ โดยบอกว่า “เมื่อพี่ทำได้เราก็ทำได้”
    และได้สั่งให้สามเณรรดน้ำมนต์ให้
    แล้วก็กระโดดลงน้ำกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาอีก

    [​IMG]

    ด้านสามเณร เมื่อเห็นว่าพระทั้ง ๒ รูปทำได้ เราก็ทำได้เหมือนกัน
    จึงกระโดดลงน้ำแล้วกลายเป็นพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์
    โดยที่ไม่มีใครนำน้ำมนต์รดให้ จึงกลายเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำอยู่เช่นนั้น

    ต่อมาได้แสดงอภินิหารโดยลอยทวนน้ำไปขึ้นที่ ช.พัน ๒ ทหารช่างอยุธยา
    ภายหลังเรียกว่า คุ้ง ๓ พระทวน ปัจจุบันเรียกเพี้ยนไปเป็น สัมประทวน

    ช่วงเวลาต่อมา ได้ลอยน้ำโดยเอาเศียรวน ไปอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา
    ชาวบ้านเห็นและมีผู้นำสายสิญจน์ไปผูก พร้อมปลูกศาลเพียงตา
    อาราธนาอัญเชิญองค์กลางขึ้นไว้ได้ ๑ องค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่
    วัดโสธรวราราม มีชื่อเรียกว่า “หลวงพ่อโสธร” จ.ฉะเชิงเทรา

    เหลืออีก ๒ องค์ ลอยมาโผล่ที่ชายทะเลแถบ จ.สมุทรสงคราม
    ชาวบ้านจึงได้ใช้เชือกจำนวน ๓ เส้น ผูกพระพุทธรูปเพื่อดึงขึ้นฝั่ง
    แม้จะใช้คนจำนวนมาก ก็ไม่สามารถดึงขึ้นได้ จนเชือกขาดทั้ง ๓ เส้น
    พระพุทธรูปจึงจมน้ำหายไป ต่อมาชาวบ้านจึงได้เรียกบริเวณนั้นว่า
    สามเส้น และต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น สามเสน

    ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงต่อพม่า
    ชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้อพยพหนีพม่าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่
    ปากคลองแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ใกล้กับวัดบ้านแหลม
    หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
    ซึ่งวัดนี้ในอดีตมีชื่อว่าวัดศรีจำปา

    ระหว่างที่ชาวประมงได้ออกเรือหาปลา ได้ลากอวนไปติดพระพุทธรูป ๒ องค์
    โดยองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบนั่ง และอีก ๑ องค์เป็นพระพุทธรูปแบบยืน
    จึงได้ช่วยกันนำพระพุทธรูปปางยืน ไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม
    ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชื่อพระพุทธรูปว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”

    ส่วนพระพุทธรูปอีก ๑ องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ
    ได้มอบให้ชาวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
    เนื่องจากเป็นพี่น้องในย่านน้ำเดียวกัน ชาวบางตะบูนจึงได้นำมาประดิษฐาน
    ไว้ที่ วัดเขาตะเครา และเรียกชื่อว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา”

    พระมงคลวชิราจารย์ (หลวงพ่อสุข) เจ้าอาวาสวัดเขาตะเครา
    ได้เล่าถึงที่มาของชื่อหลวงพ่อทองแห่งวัดเขาตะเครา ว่า
    เดิมชาวบ้านจะเรียกพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา
    เป็นที่เคารพบูชาของชาวประมงเป็นอย่างมาก แต่ได้มาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น
    “หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา” หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ขึ้น
    เมื่อตอนกลางคืนของวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๗
    ขณะที่อาตมาจำวัด ได้ฝันว่า มีพระอายุมากรูปหนึ่งนำถุงบรรจุทองคำยื่นให้
    พร้อมกับพูดว่า ‘เอาไป’ หลังจากนั้นท่านก็หายไป

    ต่อมาเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. เศษ ของวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด
    ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๗ ได้เกิดไฟลุกไหม้ท่วม
    องค์หลวงพ่อวัดเขาตะเครา ขณะนั้นประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ
    ขณะไฟลุกไหม้ทำให้ทองคำหลอมไหม้ไหลออกมาจากองค์หลวงพ่อทอง
    เมื่อนำทองคำทั้งหมดมาชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าได้น้ำหนักถึง ๙ กิโลกรัม ๙ ขีด

    หลวงพ่อจึงได้นำเอาทองไปจัดทำเป็นลูกอมทองไหลหลวงพ่อทอง
    แล้วแจกจ่ายให้พุทธศาสนิกชนนำไปติดตัวและบูชา
    ได้ปัจจัยมาทั้งหมด ๑๑ ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างมณฑป
    โรงเรียน และศาสนสถานอื่นๆ สำหรับลูกอมหลวงพ่อทอง

    ต่อมาได้เกิดปาฏิหาริย์มากมาย โดยเฉพาะทางด้านแคล้วคลาด
    ทำให้ประชาชนเคารพศรัทธามากขึ้น
    และเรียกหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา ตลอดมาถึงปัจจุบัน

    สำหรับ วัดเขาตะเครา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
    แต่เดิมพระอุโบสถอยู่บนยอดเขา ต่อมาย้ายพระอุโบสถลงมาเชิงเขา
    เพื่อความสะดวกเวลาปฏิบัติศาสนกิจ แล้วอัญเชิญองค์หลวงพ่อทอง
    ลงมาประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบสักการะ

    หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวทางจิตใจชาวเพชรบุรี
    และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เล่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์เรื่องโชคลาภ
    ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ที่สมัครเรียน สมัครงาน ฯลฯ
    มักจะมาบนบานขอให้ได้ตามประสงค์ ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยก็มักมาบนบานขอให้หาย

    สำหรับคาถาบูชาหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา
    “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” (๓ จบ)

    “กาเยนะ วาจายะ มะยะเจตะสา มาระวิชะยัง สุวัณณะมานัง
    มะหาเตชัง มะหาลาภัง พุทธะปะฏิมัง เมตตาจิตตัง นะมามิหัง
    โอมะ ศรี ศรี ชัยยะ ชัยยะ สัพพะทุกขา อุปัททะวา สัพพันตะรายา
    สัพพะโรคา วินาสสันติ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม” (แล้วอธิษฐาน)

    หากบนแล้วได้สัมฤทธิ์ตามที่ขอ จะต้องแก้บน
    โดยเป็นชายจะบนบวชพระแก้ ถ้าเป็นหญิงจะบนบวชชีพราหมณ์
    บ้างจุดประทัดถวาย หรือไม่ก็เลี้ยงอาหารแก้บน
    โดยเฉพาะในวันหยุดหรือวันสำคัญต่างๆ วัดเขาตะเคราจะคลาคล่ำ
    ไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่หลั่งไหลมากราบสักการะ
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อโต’
    วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ


    “หลวงพ่อโต” วัดบางพลีใหญ่ใน ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
    เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร) องค์พระเป็นทองสำริดทั้งองค์
    มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ลืมพระเนตร
    เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดบางพลีใหญ่ใน

    ได้รับการกล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์
    เป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

    ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ประมาณกาล ๒๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว
    ได้มีพระพุทธรูป ๓ องค์ ปาฏิหาริย์ลงมาจากทางเหนือ
    ลอยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดมา
    พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ เข้าใจว่าปวงชนในกรุงศรีอยุธยา
    คงอาราธนาท่านลงสู่แม่น้ำ เพื่อหลบหนีข้าศึก
    ด้วยในสมัยนั้นบ้านเมืองได้เกิดสภาวะสงครามขึ้นกับพม่า

    พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำ
    และบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้ผู้คนเห็นตามลำดับ
    จนเป็นที่โจษจันกันทั่ว ถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน


    ต่อมาภายหลังปรากฏว่า พระพุทธรูปองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐาน
    อยู่ที่วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จ.สมุทรสงคราม

    ในเวลาไล่เลี่ยกันพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง
    ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรเทพวราราม จ.ฉะเชิงเทรา

    ส่วนอีกองค์หนึ่งได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา
    ปาฏิหาริย์ลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง
    ประชาชนพบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่ว พร้อมกับได้อาราธนา
    ขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่พระพุทธรูปไม่ยอมขึ้น

    ในที่นั้น มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่า
    คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน
    แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งไม่สำเร็จเป็นแน่
    ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน
    แล้วใช้เรือพายฉุดท่าน ให้ลอยตามลำน้ำสำโรงและอธิษฐานว่า
    “หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใด
    ก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด”


    เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องดีกันดังนั้นแล้ว
    ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือ
    ซึ่งสมัยนั้นเป็นเรือพายทั้งสิ้น ช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง
    เรือที่ใช้ลากจูงแพมานั้นมีชื่อแปลกต่างๆ กัน เช่นชื่อ ม้าน้ำ
    เป็ดน้ำ ตุ๊กแก และอื่นๆ เป็นต้น และจัดให้มีการละเล่นต่างๆ
    มีละครเจ้ารำถวายมาตลอดทาง และการละเล่นอื่นๆ ครึกครื้นมาตลอดทั้งลำน้ำ

    ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม
    หรือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านเกิดหยุดนิ่ง
    พยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับเขยื้อนไม่

    ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลี จึงได้พร้อมใจกัน
    อาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครอง
    ชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว
    ก็ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด”


    และเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนัก
    สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย
    ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่ง
    และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา

    ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นอีกเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร
    จึงต้องชะลออาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว
    จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว
    จึงได้อาราธนาท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ
    เพื่อเป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน


    เล่ากันว่า เมื่อคราวสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ
    ได้วัดช่องประตูพระอุโบสถกับองค์หลวงพ่อโต
    ปรากฏว่า ช่องประตูใหญ่กว่าองค์พระประมาณ ๕ นิ้ว
    ซึ่งสามารถนำองค์หลวงพ่อโตผ่านเข้าไปได้

    แต่พอถึงคราวอาราธนาจริง กลับปรากฏว่าองค์หลวงพ่อใหญ่กว่าประตูมาก
    คณะกรรมการจำนวนหนึ่งเห็นว่าควรทุบช่องประตูทิ้ง
    แต่อีกจำนวนหนึ่งเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต
    จึงได้พร้อมใจกันอธิษฐานขอให้หลวงพ่อโตสามารถผ่านเข้าประตูได้
    เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบไป

    เมื่ออธิษฐานเสร็จก็อาราธนาหลวงพ่อโตผ่านประตูได้โดยสะดวก

    การที่ท่านได้พระนามว่า “หลวงพ่อโต” คงเป็นเพราะองค์ของท่านใหญ่โต
    คือ ใหญ่โตกว่าองค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันทั้ง ๒ องค์
    จึงถือเป็นนิมิตอันดีให้ประชาชนพากันถวายนามว่า “หลวงพ่อโต”
    เป็นสิ่งที่เคารพสักการะของชาวบางพลี ตราบเท่าทุกวันนี้

    [​IMG]

    ทั้งนี้ การลำดับว่าองค์ไหนเป็นองค์พี่ องค์กลาง และองค์น้อง
    เนื่องจากลอยน้ำมาพร้อมกัน ซึ่งตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา
    เข้าใจว่าคงจะนับเอาองค์ที่อาราธนาขึ้นจากน้ำได้ก่อนเป็นองค์พี่
    ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๒ เป็นองค์กลาง ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๓ เป็นองค์น้อง ตามลำดับคือ

    หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม
    อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๑

    หลวงพ่อโสธร วัดโสธรเทพวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๒

    หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ
    อาราธนาขึ้นจากน้ำ เป็นองค์ที่ ๓ เรียงกันตามลำดับ

    นอกจากนี้ หลวงพ่อโตยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บป่วยทั้งหลาย
    ที่มาบอกเล่าบนบานกราบนมัสการท่าน บางท่านได้นำน้ำมนต์หลวงพ่อไป
    เพื่อความเป็นสิริมงคล ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นนั้นหายวันหายคืน

    แม้แต่กระทั่งรูปเหรียญหลวงพ่อโต ชาวบ้านทั้งใกล้ไกลต่างพากัน
    ห้อยคอให้แก่บุตรหลานของตน เพราะเมื่อเด็กเผลอพลัดตกน้ำ
    เด็กนั้นกลับลอยได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ ตลอดทั้งพระเครื่องราง
    ที่ทำเป็นรูปขององค์หลวงพ่อ ก็มีอภินิหารป้องกันภยันตรายต่างๆ ได้

    ทุกวันนี้ชาวบางพลีต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และบารมีของหลวงพ่อโต
    ที่คุ้มครองชุมชนบางพลีให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย
    ในขณะที่ชุมชนโดยรอบ อาทิ ตลาดบางบ่อ ตลาดจระเข้
    ตลาดคลองด่าน ล้วนแต่ประสบกับอัคคีภัยมาแล้วทั้งนั้น

    [​IMG]
    ชุมชนหน้าวัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อวัดไร่ขิง’
    วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม


    “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง
    (วัดมงคลจินดาราม) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

    เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒ นิ้ว สูง ๔ ศอก ๑๖ นิ้ว
    ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ๕ ชั้น มีผ้าทิพย์ปูทอดลงมา ผินพระพักตร์สู่ทิศเหนือ
    องค์พระงดงาม เป็นการผสมผสานงานพุทธศิลป์ ๓ สมัย
    คือ เชียงแสน อู่ทอง และสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใครสร้างขึ้นเมื่อไหร่

    จากหนังสือประวัติของวัด ระบุว่าเรื่องราวของหลวงพ่อวัดไร่ขิงซึ่งไปเกี่ยวข้องกับ
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัต
    ตั้งแต่ครั้งเป็นวัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

    [​IMG]

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) นั้น พื้นเพของท่านเป็นชาวนครชัยศรี
    เล่ากันเป็นสองนัยว่า ท่านเป็นผู้สร้างวัดไร่ขิง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔
    แล้วอาราธนาพระพุทธรูปจากพระนครศรีอยุธยามาเป็นพระประธาน
    กับอีกความหนึ่งว่า วัดไร่ขิงเดิมมีพระประธานอยู่แล้วแต่องค์เล็ก
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) จึงบอกให้ไปนำพระพุทธรูปจากวัดของท่าน
    ซึ่งผู้คนจากวัดไร่ขิงก็พากันขึ้นไปรับ เชิญลงแพไม้ไผ่ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา
    เข้าแม่น้ำท่าจีนจนถึงวัด ก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ
    ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันสงกรานต์ในปีนั้นพอดี

    เล่ากันว่า ขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ปะรำพิธี
    เกิดความมหัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป
    ความร้อนระอุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน
    ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองก้องในนภากาศ บันดาลให้ฝนโปรยลงมา
    ทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี พากันอธิษฐานจิต
    “ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
    ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป
    ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร”


    [​IMG]

    จึงถือเป็นวันสำคัญ จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปี
    หลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาถึงทุกวันนี้

    เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิง
    ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ตามสมควร
    ในประวัติพระพุทธรูปหลายสำนวนก็นับท่านรวมอยู่ใน
    พระพุทธรูปห้าองค์พี่น้องที่ลอยน้ำมาจากทางเหนือ
    ประกอบด้วย หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา,
    หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม
    บางแห่งก็เพิ่มหลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี
    และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ
    และขึ้นประดิษฐาน ณ ที่ต่างๆ กันด้วย

    หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีเสียงเล่าลือกันจากปากต่อปากของประชาชนทั่วไป
    จากเหนือสู่ใต้ว่าหลวงพ่อมีอิทธิฤทธิ์และอภินิหารต่างๆ มากมายเป็นอเนกประการ
    แต่ละคนที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง
    มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ปรากฏแก่ตนเองเกือบทุกคน

    [​IMG]

    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสไร่ขิง ได้นำอภินิหาร
    และอิทธิฤทธิ์บางส่วนจากผู้ศรัทธาหลวงพ่อ
    มาบันทึกไว้ในหนังสือประวัติวัดและหลวงพ่อวัดไร่ขิง อาทิ

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีอภินิหารปิดทองไม่ติด
    ทั้งที่ในแต่ละปีมีประชาชนมาปิดทองหลวงพ่อเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร
    ในการป้องกันสิ่งต่างๆ ตามความรู้สึกของแต่ละคนที่ตั้งใจปรารถนา

    - น้ำมันและน้ำมนต์ของหลวงพ่อ รักษาโรคภัยต่างๆ ได้สมใจปรารถนา

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง ช่วยให้รอดพ้นจากความตาย เพียงแค่ตั้งจิตถึงหลวงพ่อ

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง ปิดตาขโมยได้ ป้องกันไฟไหม้

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นทุกอย่างได้ตามแรงอธิษฐานของคนอยากให้เป็น

    [​IMG]

    หลวงพ่อวัดไร่ขิง ประดิษฐานเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ ณ วัดไร่ขิง
    มาเป็นเวลานานเป็นที่รู้จักเรียกขานในนามหลวงพ่อวัดไร่ขิง
    คนในท้องถิ่นต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์
    และมักกราบไหว้บนบานเมื่อมีทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ

    สำหรับคาถาบูชาหลวงพ่อวัดไร่ขิง ตั้งนะโม ๓ จบ
    “กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา มะเหสักขายะ เทวะตายะ
    อะธิปาถิตัง อิทธิปาฏิหาริกัง มังคะละจินตารามพุทธะปะฏิมากะรัง
    ปูชามิหัง ยาวะชีวัญจะ สุกัมมิโก สุขะปัตถิตายะ”


    ชาวบ้านเชื่อศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง
    ว่าสามารถปัดเป่าทุกข์โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงได้อย่างอัศจรรย์
    ทั้งยังอำนวยโชคลาภให้แก่ผู้ที่เดินทางมาสักการะ

    โดยเฉพาะในงานประจำปี ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕
    มีมหรสพ ๙ วัน ๙ คืน พุทธศาสนิกชนแห่นมัสการสักการะ
    และบนบานศาลกล่าวด้วย “ว่าวจุฬา”
    เชื่อว่าหลวงพ่อชอบเป็นพิเศษ รองลงมา คือ ประทัดและละครรำ
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระร่วงโรจนฤทธิ์’
    วัดพระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม


    “พระร่วงโรจนฤทธิ์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดนครปฐม
    เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีนามพระราชทานว่า
    “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”
    ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖

    แต่ประชาชนทั่วไปเรียกขานว่า “หลวงพ่อพระร่วง” หรือ “พระร่วงโรจนฤทธิ์”

    เป็นพระพุทธรูปประทับยืนศักดิ์สิทธิ์ ปางห้ามญาติ (ปางประทานอภัย)
    ทำด้วยทองเหลืองหนัก ๑๐๐ หาบ ศิลปะสุโขทัย สูง ๑๒ ศอก ๔ นิ้ว
    ประทับยืนบนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย
    ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยม นิ้วพระหัตถ์พระบาทไม่เสมอกัน
    ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย
    แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นยื่นไปข้างหน้า มีพระอุทรพลุ้ยบ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ

    [​IMG]

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช
    เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๑
    ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก
    แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ เมืองศรีสัชนาลัย (สุโขทัย)
    กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย
    แต่ชำรุดมาก เหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท

    จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงมากรุงเทพฯ
    แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์
    และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อ
    เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖
    ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ออกแบบคือ
    กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร)

    จากนั้นได้อัญเชิญมาสู่จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๗
    ทางรถไฟ ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ
    ขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
    จนถึงปัจจุบัน

    [​IMG]

    เมื่อครั้งอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์มาประดิษฐานยังองค์พระปฐมเจดีย์
    จำเป็นต้องแยกชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐม
    เสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๘

    หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต
    ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่า
    ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ ไว้ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์
    ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙
    จึงได้ทำพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ ๖
    ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามพระราชประสงค์


    มีความเชื่อว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ โปรดหรือชอบลูกปืน
    โดยต้องแก้บนด้วยการยิงปืน
    แต่ต่อมาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงใช้จุดประทัดแทน
    และอีกอย่างที่เป็นของโปรด (ตามความเชื่อของชาวบ้าน)
    คือ ไข่ต้ม และไม่ใช่ไข่ต้มธรรมดา
    แต่ต้มสุกแล้วต้องชุบสีแดงที่เปลือกไข่หลังต้มแล้ว ก่อนนำมาแก้บน

    ในการบนบานขอพรหรือขอความสำเร็จต่างๆ จากองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์
    ชาวบ้านทั้งชาวไทยชาวจีนในนครปฐมเป็นที่ทราบกันทั่วไป
    ที่ผ่านมาเคยเห็นมีผู้มาแก้บนด้วยไข่ต้มนับร้อยนับพันใบก็มี

    คำกล่าวบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่แปลแล้วมีว่า
    “พระพุทธรูปพระองค์ใด ซึ่งมีอภินิหารไม่น้อย มีพระพุทธลักษณะอันงดงามผุดผ่อง
    พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ทรงถวายพระนามว่า
    “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”
    เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ได้ประดิษฐานมาอยู่ ณ วิหารมณฑลด้านทิศเหนือ แห่งองค์พระปฐมเจดีย์
    ควบเวลาถึงกว่า ๙๒ ปี (ปัจจุบัน) ได้แผ่พระบารมีปกเกล้าไปยังพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ
    ปานประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ ทรงสถิตประทับยืนอยู่ ณ นิโรธาราม
    ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงโปรดพระประยุรญาติ
    ทั้งสองฝ่ายให้คลายจากมานะทิฐิอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข”


    “ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระร่วงโรจนฤทธิ์พระองค์นี้
    ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ผู้นมัสการอยู่ แม้พระปฐมเจดีย์ใหญ่ใด
    ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประดิษฐานองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์
    ซึ่งมีปาฏิหาริย์ไม่น้อย งดงามดุจพระจันทร์ในยามราตรี
    ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระปฐมเจดีย์นี้ ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ผู้ทัศนาอยู่เสมอ
    ข้าพระพุทธเจ้าขอนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระบรมสารีริกธาตุ
    และองค์พระปฐมเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งควรนมัสการอยู่โดยส่วนเดียว
    ด้วยเครื่องสักการะคือดอกไม้ไฟอันตั้งอยู่ ณ ทิศทั้งสี่
    ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ได้แล้วซึ่งบุญอันใด ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น
    ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข เป็นผู้ไม่มีเวร ปราศจากอันตราย
    เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมเป็นนิตย์เทอญ”


    สำหรับ วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร
    ซึ่งอาณาจักรที่ตั้งสองสิ่งสำคัญอยู่คือ องค์พระปฐมเจดีย์ และพระร่วงโรจนฤทธิ์
    วัดพระปฐมเจดีย์ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
    อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย

    ทั้งนี้ องค์พระปฐมเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
    มีลักษณะโครงสร้างเป็นพระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำปากผายมหึมา
    โครงสร้างชั้นในเป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูน
    ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยพระวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น

    องค์พระปฐมเจดีย์ สูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฏ ๑๒๐.๔๕ เมตร
    ฐานโดยรอบวัดได้ ๒๓๕.๕๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๖.๖๕ เมตร
    จากปากระฆังถึงสี่เหลี่ยมสูง ๑๘.๓๐ เมตร สี่เหลี่ยมด้านละ ๒๘.๑๐ เมตร
    ปล้องไฉน ๒๗ ปล้อง เสาหาร ๑๖ ต้น คตพระระเบียงรอบกำแพงแก้วชั้น ๕๖๒ เมตร
    กำแพงแก้วชั้นในโดยรอบ ๙๑๒ เมตร ซุ้มมีระฆังบนลานองค์พระปฐมเจดีย์ ๒๔ ซุ้ม

    พระปฐมเจดีย์ถือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
    และจังหวัดนครปฐมได้ใช้ “พระปฐมเจดีย์” เป็นตราประจำจังหวัด


    ส่วน งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
    เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชั่วไปในจังหวัดนครปฐมและทั่วราชอาณาจักร
    ได้ร่วมกันบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และร่วมกันบริจาคทรัพย์
    เพื่อบำรุงรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ให้มั่นคงสืบเป็นประเพณี

    [​IMG]
    องค์พระปฐมเจดีย์

    [​IMG]
    วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อดำ’
    วัดช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี


    “พระสัมพุทธมหามุนีศรีคุณาศุภนิมิต” หรือ “หลวงพ่อดำ”
    วัดช่องแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
    เป็นพระพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง ซึ่งชาวประมงฝั่งตะวันออก
    เลื่อมใสศรัทธา ทุกครั้งที่ออกทะเลมักจะไปนมัสการและขอพร
    ชาวประมงทุกคนจะกลับมาโดยสวัสดิภาพ
    มีโชคได้สินทรัพย์จากทะเลเป็นกอบเป็นกำ


    พระสัมพุทธมหามุนีศรีคุณาศุภนิมิต หรือหลวงพ่อดำ
    ประดิษฐานในพระวิหารวัดช่องแสมสาร
    เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิสูง ๕ เมตร มีรูปใบหน้าอิ่มเอิบ
    ดวงตาทอดต่ำลงแผ่เมตตาให้กับผู้คนที่เดินทางมากราบไหว้

    ตำนานหลวงพ่อดำ ระบุว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๑
    “หลวงพ่อดำรง คุณาสโภ” ได้เดินทางจาก จ.สุพรรณบุรี
    มาปักกลด ณ บริเวณพระเจดีย์เก่าบนเขาของวัดช่องแสมสาร

    [​IMG]

    หลวงพ่อดำรง ได้เล่าให้ญาติโยมที่ไปกราบนมัสการให้ฟังว่า
    ท่านจำพรรษาอยู่วัดเขาขึ้น อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
    สาเหตุที่เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ เพราะได้ฝันว่า
    เทพยดาองค์หนึ่งบอกให้ไปสร้างพระพุทธรูปไว้ใกล้ๆ
    พระเจดีย์เก่าองค์หนึ่ง บนเขาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

    “ในภายภาคหน้า พระประธานองค์นี้จะกลายเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์
    และมีประชาชนให้ความเคารพนับถือเดินทางมากราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก
    เนื่องจากบริเวณแห่งนี้มีความเหมาะสมที่จะบูรณะให้กลายเป็น
    แหล่งรักษาศีลและความสงบให้กับชาวพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก...”


    หลวงพ่อดำรง ได้ออกเดินทางจากวัดเขาขึ้น
    กว่าจะถึงวัดช่องแสมสารเป็นเวลาหลายวัน
    เพราะท่านเดินทางถึงหมู่บ้านติดทะเลที่ใดก็จะแวะดูเรื่อยไป

    จนถึงบ้านช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี คือ สถานที่ท่านปักกลดอยู่นี้
    เป็นสถานที่มีภูมิทัศน์ตรงกับสภาพที่ท่านนิมิตฝัน ท่านจึงชักชวนญาติโยม
    ช่วยกันบริจาควัสดุในการสร้างพระพุทธปฏิมากร ซึ่งได้รับศรัทธาร่วมมือด้วยดี

    ในสมัยนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ จึงจำเป็นต้องใช้แรงงานคนแบกขนวัสดุขึ้นไป
    การสร้างใช้เวลาสร้างประมาณ ๒ ปี จึงแล้วเสร็จและ ทารักสีดำ
    ตั้งเป็นสง่าอยู่กลางแจ้ง โดยไม่มีหลังคาคลุมแต่อย่างใด


    ชาวบ้านชาวเรือและผู้พบเห็น จึงเรียกว่าหลวงพ่อดำกันจนติดปาก
    ทั้งๆ ที่ตอนสร้างเสร็จท่านได้ถวายนามว่า “พระสัมพุทธมหามุนีศรีคุณาศุภนิมิต”
    ซึ่งชื่อในตอนท้าย มีความหมายระบุว่า เป็นพระที่เกิดจากความฝันดี

    [​IMG]

    หลังจากสร้างเสร็จประมาณ ๑ เดือน
    ได้จัดงานฉลองพระและประกอบพิธีเบิกพระเนตร
    ในครั้งนั้นได้มีการผูกหุ่นฟาง ๒ หุ่น
    เพื่อเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อดำ หลังจากเสร็จพิธีก็เผาหุ่นฟาง

    หลวงพ่อดำ ได้ตั้งตากแดดอยู่กลางแจ้งเป็นเวลาถึง ๑๐ ปีเศษ
    จนมีชาวประมงจากจังหวัดสมุทรปราการแล่นเรือผ่านมาเห็นหลวงพ่อดำตากแดด
    จึงบนขอพรว่าออกเรือเที่ยวนี้ขอให้ได้ ๒๐๐,๐๐๐ บาท จะมาทำหลังคาให้
    ปรากฏว่าได้ดังคำขอ จึงเอาเงินมาฝากให้นายเจริญ ทิศาบดี ผู้ใหญ่บ้าน
    ช่วยทำหลังคา แต่ไม่มีฝา เมื่อฝนตกก็สาดเปียก

    ต่อมาชาวประมงอีกรายผ่านมา ก็บนหลวงพ่อดำอีก
    ขอให้จับปลาได้เยอะๆ จะมากั้นฝาให้
    ปรากฏว่าได้สมหวังก็เอาเงินมาฝากผู้ใหญ่ให้ช่วยทำต่อไป

    สภาพวิหารหลวงพ่อดำในขณะนั้น จึงเป็นเพียงมีหลังคาและฝาไม้สามด้าน
    มีชาวบ้านและชาวเรือต่างขึ้นไปนมัสการกราบไหว้
    เป็นจำนวนมาก และมักประสบผลสำเร็จ

    หลังจากสิบปีผ่านไป สภาพของวิหารชำรุดทรุดโทรมจนใช้งานไม่ได้
    นายเสน่ห์ พิทักษ์กร สมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี
    ได้ร่วมมือกับพระครูวิสารทสุตากร เจ้าอาวาส พร้อมชาวบ้าน
    ร่วมกันสร้างเป็นวิหารจตุรมุข ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง
    และมีภาพปูนปั้นเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน

    [​IMG]
    วิหารหลวงพ่อดำ


    ครั้นสร้างเสร็จ ได้ทำพิธีเปิดวิหารอย่างเป็นทางการ
    เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๒

    ในแต่ละวันมีประชาชนเดินทางไปนมัสการขอบน
    และแก้บนสิ่งสมปรารถนาโดยมิได้ขาด
    เรื่องราวพุทธานุภาพปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อดำมีมาก
    จากคำบอกเล่าของผู้คนที่มาแก้บนแต่ละวัน
    จะเข้าสักการะแก้บนด้วยไข่ต้มและพวงมาลัยดอกไม้สด

    ตามความเชื่อว่าหลวงพ่อดำคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัย
    และได้โชคลาภสิ่งที่สมปรารถนาไม่ขาดสาย
    จนหลวงพ่อดำที่ทารักสีดำ
    กลายเป็นหลวงพ่อดำสีทองเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งองค์ในปัจจุบัน


    ผู้ที่จะเดินทางไปวัดช่องแสมสารแห่งนี้ หากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร
    ให้ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ผ่านไปถนนสุขุมวิทและไปถึง อ.สัตหีบ
    หรือหากมาจากถนนบางนา-ตราด ให้วิ่งไปทางพัทยาและผ่านไปถึง อ.สัตหีบ

    สำหรับถนนทางขึ้นสู่ยอดเขานั้นราดยางอย่างดีตลอดเส้นทาง
    และจะได้พบกับทัศนียภาพอันสวยงาม
    ทั้งทางทะเลและบนภูเขาควบคู่กันไปด้วย

    หากมีเวลาจะได้ชมพระ อาทิตย์ตกทะเลอย่างสวยงามอีกด้วย

    [​IMG]
    ป้ายชื่อหลวงพ่อดำ เขาเจดีย์
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระเหลาเทพนิมิต’
    วัดพระเหลาเทพนิมิต อ.พนา จ.อำนาจเจริญ


    “พระเหลาเทพนิมิต” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
    ประทับขัดสมาธิราบ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๘๕ เมตร สูง ๒.๗๐ เมตร
    ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอำนาจเจริญ
    ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถ
    วัดพระเหลาเทพนิมิต ต.พนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ

    ตามประวัติ บรรพบุรุษผู้สร้างบ้านแปลงเมืองบ้านพนา
    ได้พากันอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณดงสูง
    ริมกุดบึงใหญ่ หรือกุดพระเหลาในปัจจุบัน

    “พระครูธิ” พระที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ
    ได้ชักชวนให้ร่วมกันสร้างวัดบริเวณริมกุดบึงใหญ่
    และให้ชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดศรีโพธิชยารามคามวดี”
    โดยมีพระครูธิ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

    [​IMG]

    หลังสร้างวัดเสร็จในปี พ.ศ.๒๒๖๓ พระครูธิได้นำศิษย์และญาติโยม
    เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ
    โดยตัวพระอุโบสถมีขนาดกว้าง ๙.๘๐ เมตร ยาว ๑๕.๕๐ เมตร
    หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานพระอุโบสถและผนังก่อด้วยอิฐ
    โครงหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็งลดหลั่น ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องไม้

    พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้อง เพราะของเดิมทรุดโทรมมาก
    หน้าบันไดด้านตะวันออกทำด้วยไม้สลักลวดลายต่างๆ
    ห้องกลางมีลายเถาว์ไม้เต็มห้อง ตรงกลางเป็นรูปราหูกลืนจันทร์
    ระหว่างเถาว์ไม้ยังมีรูปเทพนม และรูปหนุมานสลับเป็นช่อง
    ลวดลายทั้งหมดทำด้วยปูนเพชรแกะสลักอย่างประณีต
    ไม่ได้สลักลงในเนื้อไม้ พร้อมลงรักปิดทองฝังกระจกทั้งหมด

    ภายในตัวพระอุโบสถยังใช้ไม้เนื้อแข็งทรงกลมทำเป็นเสา
    ขนาดวัดรอบ ๗๖ เซนติเมตร จำนวน ๘ ต้น
    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ได้มีการเปลี่ยนเสาไม้เป็นเสาอิฐถือปูนรูป ๔ เหลี่ยม
    และปี พ.ศ.๒๔๗๑ ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุดรอด นนฺตโร)
    เจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ จังหวัดอุบลราชธานี
    ได้เขียนลายเถาว์ด้วยสีต่างๆ รอบเสา ๔ ต้น ที่อยู่ในห้องพระประธาน
    ส่วนเพดานติดดาวกระจายปิดทองประดับกระจก ๔๔ ดวง
    โดยพื้นเพดานเป็นสีแดงดูอร่ามตา ส่วนพื้นอุโบสถทำเป็นกระเบื้องซีเมนต์

    [​IMG]

    หลังสร้างพระอุโบสถเสร็จ พระครูธิได้นำคณะลูกศิษย์
    สร้างองค์พระประธานประจำพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
    ขนาดสูง ๒.๗๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๒.๘๕ เมตร
    ก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง แท่นพระประธานก่อด้วยอิฐถือปูน
    มีชายผ้านิสีทะนะเหลื่อมพ้นออกมา
    ตรงกลางผ้ามีรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยท่านพระครูธิเป็นผู้ออกแบบเอง
    และมอบหมายให้ภิกษุแก้วกับภิกษุอิน ลูกศิษย์เป็นช่างทำการก่อสร้าง

    โดยพระครูธิ อธิบายวิธีทำให้ลูกศิษย์ทำเป็นวันละส่วน วันละตอน
    หลังลูกศิษย์ทำงานเสร็จก็ให้มารายงานผลการสร้างให้ทราบทุกวัน
    โดยท่านพระครูธิไม่ได้ลงไปดูแลด้วยเอง

    กระทั่งถึงขั้นตอนขัดเงาลงรักปิดทอง
    ท่านจึงลงไปดูและถามลูกศิษย์ที่เป็นช่างว่า
    “ทำงานได้เต็มฝีมือแล้วหรือ” เหล่าช่างก็ตอบว่าได้ทำเต็มฝีมือแล้ว
    แต่เมื่อพระครูธิ เห็นองค์พระประธานที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์พากันทำมา
    จึงเอ่ยว่าทำงานได้งามอยู่หรอก แต่ต้องให้งามกว่านี้
    บรรดาลูกศิษย์ที่เป็นช่างยอมรับว่าหมดฝีมือที่จะทำแล้ว
    คงไม่สามารถทำให้พระประธานงามได้มากกว่านี้

    ขณะเดียวกัน มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “ซาพรหม”
    ซึ่งอยู่ในทีมช่างที่ก่อสร้างองค์พระ
    ได้แสดงตนว่า สามารถทำให้องค์พระงามกว่านี้ได้
    พระครูธิจึงมอบหมายให้พระซาพรหมเป็นผู้แก้ไข
    และพระซาพรหมก็ทำองค์พระพุทธรูปได้สวยงามสมคำพูด
    โดยเฉพาะใบหน้าองค์พระประธานมีลักษณะงดงามสมส่วนทุกประการ

    กล่าวกันว่า ‘พระเหลาเทพนิมิต’ เป็นพระพุทธรูป
    ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน

    ตามแบบฉบับศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทร์
    ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะช่างล้านนาและมีฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฏอยู่มาก
    เช่น เค้าพระพักตร์ เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้น สัดส่วนของพระเพลาและพระบาท
    คล้ายคลึงกับองค์พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๕

    จากลักษณะขององค์พระพุทธรูปที่งดงาม
    เวลาเข้าไปกราบนมัสการจะเหมือนท่านยิ้มต้อนรับ
    คนทั่วไปจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า “พระเหลา”
    ที่มีความหมายว่า “งดงามคล้ายเหลาด้วยมือ”

    ต่อมา วัดศรีโพธิชยารามคามวดี ที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเหลา
    ได้เปลี่ยนชื่อเรียกตามความนิยมในตัวองค์พระเป็นวัดพระเหลา
    หมู่บ้านที่ตั้งได้เปลี่ยนชื่อตามเป็นบ้านพระเหลาด้วย

    จนถึง พ.ศ.๒๔๔๑ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)
    พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี และภาคอีสาน
    ได้เสริมนามต่อท้ายให้กับองค์พระเป็น “พระเหลาเทพนิมิต”
    ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่งามคล้ายเหล่าดุจเทวดานิมิตไว้”

    สำหรับพระเหลาเทพนิมิต นอกจากจะมีความงดงามตามพุทธศิลปะแล้ว
    มีคำเล่าลือกันว่า ทุกคืนวันพระ ๗ ค่ำ, ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ
    องค์พระพุทธรูปพระเหลาเทพนิมิต จะแสดงพุทธานุภาพให้เกิด
    ลำแสงสีเขียวแกมขาวขจีลอยออกจากพระอุโบสถในเวลาเงียบสงัด

    ทั้งนี้ การเข้ากราบนมัสการพระเหลาเทพนิมิต
    ผู้ต้องการบนบานขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต
    โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบุตร มีการกล่าวกันว่า
    เมื่อมาบนบานขอจากพระเหลาเทพนิมิตแล้ว จะประสบความสำเร็จสมดังที่ตั้งใจ
    ส่วนสิ่งของที่ใช้บนบานสานกล่าวก็คือ ดอกไม้ธูปเทียน และปราสาทผึ้ง

    ปัจจุบัน วัดพระเหลาเทพนิมิต มีพระครูอุดมวิหารกิจ เป็นเจ้าอาวาสวัด
    ส่วนวัดพระเหลาเทพนิมิต ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๐ กิโลเมตร
    และอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอพนาเพียง ๒ กิโลเมตร มีเส้นทางคมนาคมสะดวก

    สำหรับการจัดงานนมัสการหลวงพ่อพระเหลาเทพนิมิต
    วัดจะจัดงานทุกวันเพ็ญเดือน ๓ หรือในวันมาฆบูชาทุกปี

    [​IMG]
    วัดพระเหลาเทพนิมิต จ.อำนาจเจริญ
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อพระไชยเชษฐา’
    วัดถ้ำสุวรรณคูหา อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู


    ชาวอำเภอสุวรรณคูหามีสิ่งเคารพบูชาสูงยิ่ง คือ หลวงพ่อพระไชยเชษฐา
    เป็นพระพุทธรูปปางมุจลินทร์ นาคปรก ๗ เศียร ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา
    เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวอำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เป็นยิ่งนัก

    ทั้งนี้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระเจ้าแผ่นดินล้านช้าง
    ได้สร้างไว้เมื่อเกือบ ๕๐๐ ปีมาแล้ว พร้อมถวายวิสุงคามสีมาให้แก่วัด
    มอบ “นาจังหัน” (ที่ทำกิน) ให้ชาวบ้านได้ทำไร่ทำนา
    และประกาศให้ผู้ที่ได้นาจังหันเสียภาษีร้อยละ ๑๐ ให้การทำนุบำรุง
    วัดถ้ำสุวรรณคูหา และหลังฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านก็นำภาษีมาส่งให้วัด

    ช่วงดังกล่าวเข้าสู่ฤดูหนาว ชาวบ้านต้องมาพักอาศัยค้างแรมในบริเวณวัด
    จึงต้องนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นย่างไฟเป็นข้าวจี่กินกัน
    และถวายเป็นการสักการะหลวงพ่อพระไชยเชษฐา และถวายพระสงฆ์
    จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน

    แต่ละปีชาวบ้านที่นี่มีหน้าที่ต้องทำข้าวจี่ยักษ์ที่น่าจะบอกว่าใหญ่ที่สุดในโลก
    ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเจริญของบ้านเมือง
    ความศรัทธาของชาวบ้าน ที่ได้สืบสานประเพณีที่ดีงามซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
    และเป็นความภาคภูมิใจของคนอำเภอสุวรรณคูหา และจังหวัดหนองบัวลำภู

    “วัดถ้ำสุวรรณคูหา” เป็นวัดที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุ
    ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว
    ในสมัยก่อนเป็นวัดอรัญวาสี (ธรรมยุต) ปัจจุบันเป็นวัดมหานิกาย
    สร้างในภูเขาหินปูน โดยพระเถระในสมัยนั้นได้ดัดแปลงถ้ำ
    ให้เป็นที่พักอาศัยจำวัดบำเพ็ญภาวนา ภูเขาลูกดังกล่าวมีถ้ำอยู่กว่า ๔๐ ถ้ำ
    มีถ้ำใหญ่เรียกว่าถ้ำสุวรรณคูหา ใช้เป็นสถานที่ทำสังฆกรรม (ลงอุโบสถ)

    ภายในถ้ำมีพระประธานปางมุจลินทร์ ศิลปะสมัยล้านช้าง
    มีนาคปรก ๗ เศียร หน้าตักกว้าง ๔ เมตร สูง ๕ เมตร สร้างด้วยปูนทราย
    มีส่วนผสมเป็นปูนขาว ๒ ส่วน ทราย ๕ ส่วน น้ำมะขาม ๒ ส่วน
    ก่ออิฐเป็นโครงสร้างภายใน มีชื่อเรียกว่า “พระไชยเชษฐา”
    สร้างในสมัยพระไชยเชษฐาธิราช เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง

    ตามศิลาจารึกที่ปรากฏที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา
    ระบุเทียบเท่าปีพุทธศักราช ๒๐๑๖ หรือกว่า ๔๘๔ ปีล่วงมาแล้ว
    จารึกไว้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงทำนุบำรุงวัดถ้ำสุวรรณคูหา
    ถึงแม้ไม่ได้สร้างถาวรวัตถุ แต่ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัด
    ด้านละ ๑,๐๐๐ วา (จำนวน ๒,๕๐๐ ไร่)
    พระราชทานนาจังหัน คือ พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นสิทธิของวัด
    เมื่อมีผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว มะพร้าว
    ตาล หมาก พลู เป็นต้น ต้องเป็นสิทธิของวัดร้อยละ ๑๐

    หมู่บ้านในเขตนาจังหันในปัจจุบันนี้มี บ้านดงยาง บ้านนาตาแหลว
    บ้านนาสึกสาง (บ้านนาสี) บ้านนาท่าเป็ด (บ้านนาไร่เดียว)
    บ้านกุดผึ้ง บ้านนาหัน บ้านโนนสง่า บ้านนาแพงเมือง บ้านคูหาพัฒนา

    ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ในเขตนาจังหันไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร
    และไม่ต้องเสียค่าส่วยไร่ (ภาษี) แก่เจ้าเมือง
    เป็นการแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา
    และความศักดิ์สิทธิ์ของพระไชยเชษฐามาโดยตลอด

    พระอธิการเพิ่ม พุทธธัมโม เจ้าอาวาสวัดถ้ำสุวรรณคูหา
    เปิดเผยว่า ปัจจุบันจะมีชาวบ้านมาจากหลายแห่งทั้งภาคอีสานหรือภาคอื่นๆ
    เดินทางมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าว ด้วยการนำดอกไม้ธูปเทียน
    โพธิ์เงินโพธิ์ทอง พวงมาลัย มากราบไหว้ขอพรพระไชยเชษฐา
    ชาวบ้านทำไร่ทำนาก็ขอให้มีผลิตผลออกมาดีไร่นาอุดมสมบูรณ์
    หลายคนมาบนบานขอให้มีตำแหน่งหน้าที่ดีๆ สอบได้ที่ดี
    หรือทำมาหากินมีรายได้ดี ซึ่งก็มักประสบผลสำเร็จ
    ลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธาก็สร้างองค์พระไชยเชษฐาจำลองมาถวาย

    ส่วนคนในอำเภอสุวรรณคูหา หากจะออกไปต่างจังหวัดไปทำงานต่างถิ่น
    หรือออกไปประกอบอาชีพที่อื่น จะเข้ามากราบไหว้ขอพร ขอให้แคล้วคลาด
    หรือมีรายได้กลับมาเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งมักจะเห็นผล
    บางคนถึงกับปวารณาตัวกลับเข้ามาบำรุงรักษาวัด

    และในวันขึ้น ๑๓-๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปีอำเภอสุวรรณคูหา
    ร่วมกับเทศบาลตำบลสุวรรณคูหา จะจัดงานบวงสรวงพระไชยเชษฐา
    เป็นประจำทุกปี โดยจะมีชาวบ้านร่วมนำข้าวเปลือก ข้าวสาร
    ผลิตผลทางการเกษตร นำมาถวาย จัดขบวนแห่รำฟ้อนอย่างสวยงาม

    ที่ถือปฏิบัติมิได้ขาดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ คือ
    การที่ชาวบ้านในสมัยก่อนในนาจังหัน
    เมื่อนำสิ่งของมาถวายเพื่อทำนุบำรุงรักษาวัด
    ซึ่งอยู่ในช่วง ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ที่มีอากาศหนาวเย็น
    มักจะนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นย่างไฟเป็นข้าวจี่
    มีการร่วมวงกินร่วมกันและสนทนาพาทีกัน เรียกกันว่ารวมบุญข้าวจี่

    ก่อนจะรับประทาน ต้องถวายพระสงฆ์เป็นภัตตาหาร
    ได้ถือปฏิบัติมาช้านานจนปัจจุบันกลายเป็นประเพณีบุญข้าวจี่
    ซึ่งคณะกรรมการจัดงานก็ได้จัดสร้างข้าวจี่ยักษ์ขนาดใหญ่
    ถวายหลวงพ่อพระไชยเชษฐา
    ก่อนจะแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้รับประทาน

    ถือเป็นการรับบารมีหลวงพ่อพระไชยเชษฐา
    ที่มีประชาชนมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมากในทุกปีด้วย
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระนอนจักรสีห์’
    วัดพระนอนจักรสีห์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี


    “พระนอนจักรสีห์” เป็นพระพุทธไสยาสน์ปางโปรดอสุรินทราหู
    เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะที่งดงามองค์หนึ่ง
    และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
    เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ

    ตั้งอยู่ที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ต.จักรสีห์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
    ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ไปทางด้านทิศตะวันออก

    [​IMG]

    พระพุทธไสยาสน์ปางโปรดอสุรินทราหู พระพุทธรูปองค์ใหญ่
    เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามองค์หนึ่งของประเทศ
    บริเวณวัดยังเป็นที่ปฏิบัติธรรม เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้
    ทางด้านพุทธศาสนาสำหรับนักธรรม-บาลี
    และมีพระแก้ว พระกาฬ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัด

    ชาวสิงห์บุรีมีความเชื่อว่าหากมีโอกาสได้นมัสการวัดพระนอนจักรสีห์
    แล้วเดินชมต้นสาละลังกาใหญ่ที่ปลูกไว้กว่า ๑๐๐ ต้น ในบริเวณวัด
    แล้วอธิษฐานปรบมือใต้ต้นสาละ หากดอกสาละร่วงลงมา
    คำอธิษฐานนั้นจะประสบผลตามที่หวังไว้

    ประวัติ “หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์”
    เป็นพระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าทรงไสยาสน์
    เทศนาโปรดยักษ์อสุรินทราหู เพื่อลดทิฐิของอสุรินทราหู
    ที่ถือตัวว่ามีร่างกายใหญ่โตกว่ามนุษย์
    พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตร่างกายให้ใหญ่กว่ายักษ์


    [​IMG]

    “หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์” จึงเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาว
    สร้างโดยท้าวอู่ทอง มีความยาว ๑ เส้น ๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว
    (๔๗.๔๐ เมตร) พระเศียรชี้ไปทางตะวันออก
    หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ มีความงดงามเป็นอย่างมาก

    มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า พระเจ้า “สิงหพาหุ” มีพ่อเป็นสิงห์
    พอรู้ความจริงคิดละอายเพื่อนว่ามีพ่อเป็นสัตว์เดรัฐฉาน
    จึงฆ่าสิงห์ตาย ภายหลังรู้สึกตัวกลัวบาปและเสียใจเป็นอย่างมาก
    จึงสร้างพระพุทธรูปโดยเอาทองคำแท่งโต ๓ กำมือ ยาว ๑ เส้น
    เป็นแกนขององค์พระ เป็นการไถ่บาปและพระพุทธรูป
    มีอยู่ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชามาหลายชั่วอายุคน
    จนองค์หลวงพ่อพระนอนได้พังทลายลงเป็นเนินดิน

    [​IMG]

    ทั้งนี้ ไม่มีใครทราบว่าพระเจ้าสิงหพาหุ คือ ผู้ใด ครองเมืองอะไร
    ในยุคสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

    กาลนานต่อมา ท้าวอู่ทอง ได้นำพ่อค้าเกวียนผ่านมาทางนี้
    แล้วพบแกนทองคำฝังอยู่ในเนินดิน และทราบเรื่องสิงหพาหุ
    เกิดความเลื่อมใสและเห็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา
    จึงชักชวนพ่อค้าเกวียนก่อสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น
    โดยใช้แท่งทองคำที่พบนั้นเป็นแกนขององค์พระ

    สำหรับ “วัดพระนอนจักรสีห์” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
    ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ต.จักรสีห์ อ.เมือง จ.สิงหบุรี

    พื้นที่ของวัดมีขนาดกว้างประมาณ ๗ เส้น (๒๘๐ เมตร)
    ยาวประมาณ ๑๐ เส้น (๔๐๐ เมตร) สภาพที่เป็นอยู่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑

    [​IMG]

    จากพระราชนิพนธ์เรื่องระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา มีว่า
    “วัดนี้อยู่ห่างแม่น้ำสามสิบวา เป็นที่ลุ่มน้ำท่วม ต้องทุบถนนและมีสะพานข้าม
    รอบวิหารพระนอนมีกำแพงแก้วเตี้ยๆ ชั้นหนึ่ง
    ตัวพระวิหารยาว ๑ เส้น ๗ วา กว้าง ๑๑ วา เสาข้างในเป็นแปดเหลี่ยม
    อาการที่พระพุทธไสยาสน์บรรทม ไม่เหมือนอย่างกรุงเก่า หรือกรุงเทพฯ
    พระกรทอดออกไปมากเพราะเขนยหนุนไม่สู้ชันนัก เป็นบรรทมราบ
    แต่พระบาทซ้อนกันตรงเหมือนอย่างพระนอนทั้งปวง”


    หลักฐานที่มีอยู่คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เสด็จพระราชดำเนิน
    ไปทรงนมัสการเมื่อปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๑๑๑ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.๒๒๙๗
    และได้เสด็จไปอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๙ เพื่อสมโภชฉลอง

    [​IMG]

    ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยรัชกาลที่ ๕
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงนมัสการ
    เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ในครั้งนั้นพระวิหารและพระนอนชำรุดทรุดโทรมมาก
    เนื่องจากขาดการบูรณปฏิสังขรณ์มานาน
    พระธรรมไตรโลก (อ้น) วัดสุทัศน์ ได้ทูลขอพระราชทาน
    เงินค่านาสำหรับวัด เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินค่านา
    ของวัดและของเมืองสิงห์ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์
    ด้วยเมื่อนึกถึงว่าพระพุทธไสยาสน์ วัดพระนอนจักรสีห์
    เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว
    ในสมัยที่เครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงยังไม่มีใช้กันเช่นปัจจุบัน
    ก็พอจะทำให้เราเห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
    ของคนไทยในอดีตว่ายิ่งใหญ่เพียงใดได้เป็นอย่างดี

    [​IMG]

    พระองค์ได้มอบถวายให้ และโปรดเกล้าฯ ให้
    สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราศปรปักษ์ เป็นที่ปรึกษา

    การบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๒๘

    วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
    เสด็จฯ มาทรงสักการะพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์

    นับได้ว่า “หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์” เป็นปูชนียวัตถุ
    ที่ทรงไว้ซึ่งปาฏิหารย์ศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่า เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใส
    ของพุทธศาสนิกชนให้เดินทางมากราบไหว้บูชาเพื่อเป็นพุทธานุสติ
    ในอันจะน้อมรำลึกถึงคำสั่งสอนแห่งพระพุทธองค์
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระเจ้าใหญ่อินแปลง’
    วัดป่าใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี


    “วัดมหาวนาราม” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกอย่างคุ้นเคยว่า
    “วัดป่าใหญ่” ตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
    เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมากับการก่อตั้งจังหวัดอุบลราชธานี

    ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปองค์ประธานชื่อ “พระเจ้าใหญ่อินแปลง”
    เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน พร้อมกับลงรักปิดทอง
    ลักษณะองค์พระเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบลาว
    หน้าตักกว้างประมาณ ๓ เมตร สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี ๕ เมตร

    ประวัติเล่าสืบต่อกันของพระพุทธรูปองค์นี้มีมากมาย ตั้งแต่การสร้างว่า
    พระเจ้าใหญ่อินแปลง มีอยู่ด้วยกัน ๓ องค์
    โดยองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่ วัดอินทร์แปลงมหาวิหาร
    นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ปัจจุบันมีอายุประมาณพันกว่าปี


    พระพุทธรูปอีกองค์ประดิษฐานอยู่ที่ วัดอินแปลง อ.เมือง จ.นครพนม
    ซึ่งก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระเจ้าใหญ่อินแปลง
    วัดอินทร์แปลงมหาวิหาร นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว


    [​IMG]

    ส่วนองค์สุดท้าย คือ พระเจ้าใหญ่อินแปลง
    ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ วัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่
    ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และมีอายุเกือบสองร้อยปีแล้ว
    สำหรับประเพณีปฏิบัติต่อพระพุทธรูปองค์นี้ ในวันเพ็ญเดือน ๕
    หรือในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตร
    เทศน์มหาชาติชาดก และสรงน้ำปิดทองพระเจ้าใหญ่อินแปลง

    การสร้างพระเจ้าใหญ่อินแปลงเกิดขึ้นหลังจากพระปทุมวรราชสุริยวงศ์
    หรือท้าวคำผง ได้ก่อสร้างเมืองอุบลราชธานีที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล
    พร้อมได้ก่อสร้างวัดที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล โดยวัดแห่งแรกของจังหวัดมีชื่อว่า
    “วัดหลวง” เพื่อให้เป็นสถานที่ใช้ทำบุญทำกุศลของประชาชนทั่วไป

    ภายหลังก่อสร้างวัดหลวงเสร็จสมบูรณ์ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ได้นิมนต์
    พระธรรมโชติวงศา ซึ่งเป็นพระมหาเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน
    พร้อมพระภิกษุสามเณรมาอยู่จำพรรษาสนองศรัทธาของประชาชน

    แต่เมื่อ พระธรรมโชติวงศา เข้ามาพำนักจำพรรษาเล็งเห็นว่า
    วัดหลวงแห่งนี้เป็นวัดบ้าน หรือ “ฝ่ายคามวาสี” ตั้งอยู่กลางใจเมือง
    ไม่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรมวิปัสสนากรรมฐาน
    จึงได้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐานใหม่
    โดยพิจารณาเห็นว่าป่าดงอู่ผึ้ง ห่างจากวัดหลวงไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐๐ เส้น
    มีหนองน้ำชื่อหนองสะพัง เป็นสถานที่สงบวิเวกเหมาะแก่การตั้งเป็น
    สำนักสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน หรือ “ฝ่ายอรัญญาวาสี”
    จึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ให้ชื่อว่า “วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์” คู่กับวัดหลวง

    [​IMG]

    แต่ยังไม่ทันได้ตั้งเป็นวัดให้สมบูรณ์เรียบร้อย พระปทุมวรราชสุริยวงศ์
    ผู้เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก ก็ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๓

    กระทั่งเจ้าเมืองคนที่ ๒ คือ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ หรือท้าวทิดพรหม
    ได้มาก่อสร้างวิหารในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๘
    และปี พ.ศ.๒๓๕๐ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดประจำเจ้าเมืองคนที่สอง
    และให้ชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า
    วัดหนองตะพัง หรือหนองสระพัง ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ใกล้เคียง
    โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
    และพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เป็นผู้สร้างพระพุทธรูป “พระอินแปลง”
    หรือ “พระเจ้าใหญ่อินแปลง” องค์ปัจจุบันซึ่งเป็นพระประธานประจำวัด

    ส่วนชื่อวัดได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดรวม ๒ ครั้ง เป็น วัดมหาวัน
    และเปลี่ยนตามสมัยนิยมอีกครั้งชื่อว่า “วัดมหาวนาราม”
    แต่ความหมายของชื่อก็ยังคงเดิมคือแปลว่า “วัดป่าใหญ่”

    ส่วนพระพุทธรูป “พระเจ้าใหญ่อินแปลง” หลังก่อสร้างเสร็จ
    ก็ได้รับความเคารพบูชาจากชาวเมืองมาโดยตลอด
    โดยเฉพาะในอดีตเมื่อมีความขัดแย้งกันขึ้น หรือเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ
    ชาวเมืองก็จะชวนกันมาสาบานต่อหน้าองค์พระเจ้าใหญ่อินแปลง
    เพราะต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน
    หากใครไม่ทำตามที่ได้ให้คำสัตย์สาบานเอาไว้ ก็จะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา

    [​IMG]

    รวมทั้งการมาขอพรให้ประสบความสำเร็จในการสอบไล่
    หรือในหน้าที่การงาน และความประสบโชคมีสุขในครอบครัว
    หรือแม้กระทั่งมีสิ่งของสำคัญสูญหายไป จะมาบนบานต่อหน้า
    องค์พระเจ้าใหญ่อินแปลง เพื่อขอให้ได้สิ่งของที่หายไปกลับคืนมา

    พระเจ้าใหญ่อินแปลง วัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่ จึงเป็นที่พึ่งทางจิตใจ
    ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงมาต่อเนื่อง
    โดยเฉพาะเมื่อมีการเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ของข้าราชการทุกระดับชั้น
    จะต้องมาไหว้กราบนมัสการบอกกล่าวต่อองค์ท่าน
    เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างราบรื่นปราศจากอุปสรรคใดๆ

    สำหรับการทำบุญกับพระเจ้าใหญ่อินแปลงที่ชาวบ้านนิยมคือ การถวายดอกบัวตูม
    ธูป และเทียน พร้อมลงรักปิดทองที่ตัวองค์พระ และถวายสังฆทาน

    แต่เนื่องจากอุโบสถที่ใช้ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อินแปลงเริ่มคับแคบ
    เพื่อลดความแออัดในการเข้าไปกราบนมัสการ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ
    ซึ่งมีประชาชนจากทั่วสารทิศพากันมากราบไหว้จำนวนมาก

    ทางวัดได้จัดทำรูปองค์พระเจ้าใหญ่อินแปลงจำลองที่หน้าทางขึ้นอุโบสถ
    โดยประชาชนที่มากราบไหว้นมัสการขอพร
    สามารถเลือกที่จะเข้าไปกราบพระเจ้าใหญ่อินแปลงในอุโบสถ
    หรือเลือกกราบองค์พระจำลองที่สร้างไว้บริเวณทางขึ้นหน้าอุโบสถ

    [​IMG]
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระพุทธไตรรัตนนายก’
    วัดพนัญเชิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


    “วัดพนัญเชิงวรวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
    ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก
    ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
    เป็นวัดที่สร้างมาก่อน สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
    ก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง

    ตามหนังสือพงศาวดารเหนือ ระบุว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง
    ณ บริเวณที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก
    ส่วนที่มาของคำว่า พนัญเชิงนั้น ตามตำนานมูลศาสนา กล่าวว่า
    เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า พะแนงเชิง ซึ่งแปลว่า การนั่งพับเพียบ
    ซึ่งเป็นอาการที่พระเจ้าสายน้ำผึ้ง
    และพระนางสร้อยดอกหมากใช้ในวาระสุดท้ายของเรื่อง


    นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ศัพท์ที่ใกล้เคียงพบว่า
    คำว่าพะแนงเชิง ทางภาษาปักษ์ใต้หมายถึงอาการนั่งแบบขัดสมาธิ

    [​IMG]

    พระประธานในพระอุโบสถ เรียกกันว่า “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต”
    หรือ “หลวงพ่อพนัญเชิง” ชาวจีนเรียกว่า “ซำปอกง”
    โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

    เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ
    มีพัดยศขนาดใหญ่ตั้งอยู่เบื้องหน้า องค์พระปั้นด้วยปูนลงรักปิดทอง
    มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔.๒๐ เมตร สูง ๑๙.๒๐ เมตร
    ในพงศาวดารระบุว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์แห่งอโยธยา
    เป็นผู้สร้างไว้ และพระราชทานนามว่า วัดพระเจ้าพระนางเชิง
    เข้าใจว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นพร้อมกับวัด และสร้างไว้กลางแจ้ง

    ในจดหมายเหตุของแคมเฟอร์เขียนครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า
    พระพุทธรูปองค์นี้เป็นของมอญ
    ในหนังสือภูมิสถานอยุธยาว่าเป็นของพระเจ้าสามโปเตียน
    ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า ซำปอกง แปลว่า รัตนตรัย

    พระพุทธรูปองค์นี้ คนไทยเรียกทั่วไปว่า หลวงพ่อโตหรือหลวงพ่อพนัญเชิง
    ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงซ่อมครั้งหนึ่ง
    และต่อมาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาคงจะซ่อมแซมกันต่อมาอีกหลายพระองค์

    ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ ๑
    ได้ทรงปฏิสังขรณ์และได้รับการบูรณะต่อมาหลายพระองค์
    โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่ทั้งองค์ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๓๙๗
    แล้วพระราชทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

    พ.ศ.๒๔๔๔ เกิดเพลิงไหม้ผ้าห่มพระเจ้าพนัญเชิง
    ทำให้องค์พระชำรุดร้าวแตกรานหลายแห่ง
    โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมกลับคืนดังเดิม
    เสด็จพระราชดำเนินทรงปิดทองแล้วมีสมโภช

    ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
    องค์พระส่วนพระหนุ (คาง) พังทลายลงมาจนถึงพระปรางค์ทั้งสองข้าง
    ได้ซ่อมแซมจนเสร็จเรียบร้อยภายในเวลา ๑ ปี
    ครั้งนั้นได้เปลี่ยนพระอุณาโลมจากทองแดงเป็นทองคำด้วย

    ในรัชกาลปัจจุบันมีการปฏิสังขรณ์ ลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์
    ๒ ครั้งแล้ว คือ ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ กับปี พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๖

    ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า
    ครั้งที่สองนั้นพระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง

    หลวงพ่อโต เป็นที่นับถือของชาวไทยและชาวจีน มักจะมากราบไหว้
    โดยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น การค้าขายเจริญก้าวหน้า
    พุทธศาสนิกชนส่วนมากจะนำผ้ามาห่มองค์พระ
    มักนิยมนำผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ อาหารคาวหวานมาสักการะ

    งานประจำปีใหญ่ๆ ๔ งาน ก็เป็นงานที่เนื่องด้วยประเพณีจีน ๒ งาน
    คือ งานสงกรานต์ วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นงานใหญ่มีการนมัสการ
    และเวียนเทียนประทักษิณรอบองค์พระติดต่อกันถึง ๕ วัน

    งานสรงน้ำและห่มผ้าถวาย วันแรม ๘ ค่ำ เดือนเมษายน
    มีการสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าห่มผืนใหม่ ส่วนผืนเก่าที่ใช้มาตลอด ๑ ปี
    จะฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แจกจ่ายให้ผู้คนนำไปบูชา

    งานทิ้งกระจาดหรืองานงิ้ว เดือน ๙ จะมีงิ้วและมหรสพอื่นๆ
    เล่นประชันกันอย่างครึกโครม จะมีผู้คนนับหมื่นหลั่งไหลกันมานมัสการ
    นับเป็นงานทิ้งกระจาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทีเดียว

    งานตรุษจีนเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่ง
    จะมีการเปิดประตูพระวิหารหลวงไว้ทั้งวันทั้งคืนตลอด ๕ วันที่จัดงาน

    คาถาบูชาพระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) วัดพนัญเชิง มีดังนี้
    “ตั้งนะโม ๓ จบ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ,
    ทุติยัมปิ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ,
    ตะติยัมปิ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ”


    วัดแห่งนี้มีผู้เดินทางมาสักการะตลอดทั้งปี
    ทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ และโบราณสถานแห่งชาติ

    ปัจจุบันมี พระราชรัตนวราภรณ์ (นพปฎล (แวว) กตสาโร) เป็นเจ้าอาวาส
    พัฒนาวัดเป็นศูนย์รวมทางการศึกษาของพระสงฆ์และสามเณร
    เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้มาชมและกราบไหว้พระพุทธรูป
    มากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
     

แชร์หน้านี้

Loading...