ไหว้พระวันสงกรานต์

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 8 เมษายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b8a3e0b8b0e0b8a7e0b8b1e0b899e0b8aae0b887e0b881e0b8a3e0b8b2e0b899e0b895e0b98c-e0b984e0b897e0b8a2.jpg

    ผมว่างเว้นกับการไปไหว้พระ ในช่วงสงกรานต์มาหลายปี สงกรานต์กรุงเทพฯ ถนนหนทางว่างเปล่า น่าเดินเท้าไปหาพระพุทธรูปองค์งามๆไหว้ ผ่านของกินอร่อยตรงไหนก็แวะชิม


    พยายามนึกองค์ไหนๆก็ไปไหว้มาแล้ว อย่ากระนั้นเลย ปีนี้ เจาะจงไปไหว้พระองค์ที่มีประวัติได้เค้าว่า “จับคู่” ฝีมือการสร้างฝีมือช่าง (น่า) เดียวกันดีกว่า

    คู่แรก…ผมแน่ใจ…หลวงพ่อสุโขทัย พระทองคำ หนักกว่าห้าตัน วัดไตรมิตร รูปหน้าและลีลาองค์พระท่านเหมือนหลวงพ่อวัดไผ่เงิน ที่วัดไผ่เงิน สาธุประดิษฐ์ มาก

    มีหนังสือพระคู่บ้านคู่เมือง…ดูภาพถ่ายเปรียบเทียบ…แล้วก็อ่านเรื่องที่อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร เล่า

    ช่วงเวลาที่วัดพระยาไกร ถูกผาติกรรมทำท่าเรือ…คณะสงฆ์บอกกล่าว ให้วัดละแวกใกล้เคียง นิมนต์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆไปหาโบสถ์วิหารให้ท่านอยู่ วัดไผ่เงิน เลือกพระพุทธรูปสุโขทัย ผิวคล้ำดำ องค์ย่อมกว่าไปก่อน

    ส่วนองค์ใหญ่เนื้อปูน เทอะทะ เหลือเป็นองค์สุดท้าย วัดไตรมิตรถูกขอให้ไปรับ…ขนาดพระสูงใหญ่ เมื่อนิมนต์ท่านขึ้นรถบรรทุก ระหว่างทางต้องช่วยกันแหวกสายไฟฟ้า ทุลักทุเลกว่าจะมาถึงวัด

    พระปูนองค์นี้ถูกนิมนต์ไว้บนลานวัดนานหลายปี กว่าที่สมภารท่านจะสร้างศาลายกพื้นให้ท่านอยู่ ปี 2498 กลางคืนฝนตกหนัก สมภารฝัน มีสตรีสูงศักดิ์ นำสังวาลเพชรมาถวาย

    เช้ารุ่งขึ้นท่านก็พบพระปูนองค์นั้น กะเทาะเห็นเนื้อใน เป็นทองคำ

    ช่างเอาปูนที่พอกออกหมด…ก็พบพระศิลปะสุโขทัย (เชื่อว่า เป็นพระทอง องค์ที่อยู่ในจารึกสุโขทัยหลัก 1) หน้าตาท่านประพิมพ์ประพายเดียวกับ พระพุทธรูปวัดไผ่เงิน ซึ่งต่อมาก็พบว่า เนื้อในเป็นเงิน

    องค์แรกเนื้อทอง องค์สองเนื้อเงิน ฝีมือช่างชุดเดียวกัน จะเรียกเป็นองค์พี่ องค์น้องก็ได้เลย

    พระพุทธรูปคู่ที่สอง…องค์พี่ พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์ องค์นี้ท่านถูกทิ้งตากแดดกรำฝน อยู่ที่สุโขทัย รัชกาลที่ 1 โปรดให้นิมนต์ลงแพล่องมา

    ผมเชื่อว่า เป็นองค์ต้นเรื่องเล่า…ที่สุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศภูเขาทอง

    ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเหนียก เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น…

    จารึกสุโขทัยว่า มีพระพุทธอันใหญ่…ใหญ่สุดก็องค์นี้แหละ…เมื่อนิมนต์ท่านขึ้นจากแพ ขึ้นบกกว่าจะผ่านไปถึงวัดสุทัศน์ได้ ต้องรื้อประตูเมืองทิ้ง เนื้อพระพุทธรูปสีออกเป็นนาค ชาวบ้านเรียก พระพุทธนาคใหญ่

    ส่วนองค์น้อง ขนาดย่อมกว่า หน้าตาคล้ายกัน เนื้อทองสีนาคเหมือนกัน เรียกพระพุทธนาคน้อย ตอนนี้อยู่ที่วัดประยูรฯ ริมสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี

    รู้เรื่องท่านแล้ว เมื่อไปไหว้ก็ลองๆพิจารณาพระพุทธรูปสองคู่นี้ ท่านเป็นองค์พี่องค์น้องกันหรือไม่

    พระพุทธรูปสองพี่สองน้อง…ท่านต้องระเหระหนมาไกลจากสุโขทัย กว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ ลำบากตรากตรำไม่น้อย…แต่สุดท้ายท่านก็มาอยู่ไม่ไกลกันนัก พอให้พวกเราแวะเวียนไปกราบท่านได้ง่ายๆ

    นึกถึงพระศรีศากยมุนี องค์ที่เป็นที่มาของเรื่องเล่า ต้องใช้คนสามแสนฉุดขึ้นฝั่ง ผมนึกถึงกลอนสุนทรภู่ ตอนสามเสนท่อนต่อไป… นี่หรือรักจักมิน่าเป็นราคิน แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ

    ขอใจนุชที่ฉันสุจริตรัก ให้แน่นหนักเหมือนพุทธรูปเลขาขำ ถึงแสนคนจะมาวอนชะอ้อนนำ สักแสนคำอย่าให้เคลื่อนจงเหมือนใจ

    ใครที่มีความรัก หรือใครที่คิดผูกสมัครชักชวนอยากให้มาร่วมพรรค หาเวลาไปไหว้ท่านนะครับ…ไม่แน่ว่ากุศลจากการไหว้พระพี่พระน้องจะดลใจให้รัฐบาลที่ห่วงกันว่าตั้งยากๆอาจจะตั้งได้ง่ายขึ้น.

    กิเลน ประลองเชิง



    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/content/1539306
     

แชร์หน้านี้

Loading...