ประกาศสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๕

ในห้อง 'ดูดวง และ ทำนายฝัน' ตั้งกระทู้โดย mahanatidotcom, 1 เมษายน 2022.

  1. mahanatidotcom

    mahanatidotcom Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มีนาคม 2015
    โพสต์:
    4,923
    กระทู้เรื่องเด่น:
    7
    ค่าพลัง:
    +65
    r9swje1w7d5G3P0B3rgpt-o.jpg

    คำอธิบาย ประกาศสงกรานต์

    .... สงกรานต์ คือวันเวลาที่ดาวอาทิตย์ยกย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ด้วยมุมมองจากโลก ในแต่ละรอบของการโคจร ซึ่งนับเป็นระยะเวลาหนึ่งปีสุริยยาตร์ การคำนวณวันเวลาสงกรานต์นั้น ต้องคำนวณตามตำราสุริยยาตร์ ซึ่งมีคติว่าจักราศีนั้นคงที่โดยใช้ดาวฤกษ์เป็นหมุดหมายในการคำนวณ

    .... เมื่อดาวอาทิตย์ยกย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ในเวลานั้นถือว่าเป็นเวลาสงกรานต์ แต่เวลาตามมาตรฐานของโลกนั้นไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค ดังนั้นวันเวลาสงกรานต์จึงแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ตำรามาตรฐานของการคำนวณสงกรานต์ในสยามนั้น ยึดเอาจากตำราสุริยยาตร์ฉบับสุโขทัย ซึ่งได้มีการแก้ไขตำแหน่งการคำนวณมาจากตำราดั้งเดิม ซึ่งกำหนดตำแหน่งคำนวณไว้ที่เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ดังนั้นเวลาสงกรานต์ที่คำนวณได้จากตำราสุริยยาตร์ฉบับสุโขทัยนั้น จึงเป็นเวลาที่สุโขทัยซึ่งใกล้เคียงกับเวลาที่กรุงเทพมหานคร

    .... แต่ในประกาศสงกรานต์นั้นยังบอกเวลาเถลิงศกเอาไว้ด้วย เวลาเถลิงศกนั้นคือเวลาที่ดาวอาทิตย์ยกย้ายเข้าสู่ราศีเมษโดยกัมมัชพลหรือโดยมัธยม ซึ่งกัมมัชพลหรือมัธยมนั้นคือหน่วยของการคำนวณตำแหน่งดาวอาทิตย์ในตำราสุริยยาตร์ ซึ่งในภาคการคำนวณกัมมัชพลและมัธยมนี้ ตำราสุริยยาตร์ฉบับสุโขทัยยึดมูลคำนวณหรือเลขที่เป็นตัวแปรในการคำนวณ มีค่าเท่ากับตำราสุริยยาตร์ฉบับเวฬุวัน ดังนั้นผลลัพธ์วันเวลาเถลิงศกที่คำนวณได้จะเท่ากัน ซึ่งเป็นวันเวลาที่ตำแหน่ง ณ.เวฬุวันมหาวิหาร

    .... วันสงกรานต์ถูกนำมาใช้กำหนดตัวนางสงกรานต์ และเวลาสงกรานต์ถูกนำมาใช้กำหนดท่าทางของนางสงกรานต์ ซึ่งจะไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค เพราะวันเวลาสงกรานต์นั้นแตกต่างกันไป โดยปกติประกาศสงกรานต์ทั่วไปในสยามนั้น ก็มุ่งหมายประกาศเฉพาะพื้นที่ของสยามเป็นสำคัญ แต่ในประกาศสงกรานต์ที่นำมาแสดงนี้ จะให้รายละเอียดของแต่ละพื้นที่ไว้ในแผนที่ด้วย ภาพแผนที่โลกจะแสดงเขตเวลาในขณะวันเวลาสงกรานต์ โดยจะมีเส้นพาดผ่านเวฬุวันมหาวิหาร และกรุงสุโขทัย โดยบอกเวลาสงกรานต์ ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ จะมีเส้นเวลาพาดผ่านไว้เป็นช่วงๆ โดยด้านล่างของแผนที่ จะมีกรอบระบุชื่อนางสงกรานต์ในเขตเวลานั้นๆ ซึ่งจะแตกต่างกันได้ทั้งตัวนางสงกรานต์และท่าทางของนางสงกรานต์

    .... รูปดวงชะตาในแผนที่ เป็นตำแหน่งดาว ณ.เวลาสงกรานต์นั้น ด้านล่างของรูปดวงชะตาเป็นตารางกาลโยคประจำปี

    .... กรอบซ้ายมือด้านล่าง เป็นข้อมูลเถลิงศกสุริยยาตร์ ซึ่งบอกศักราชที่นิยมใช้กันในสยาม แต่ละศักราชจะมีหรคุณอัตตาหรือจำนวนวันในศักราชนั้น สำหรับคริสต์ศักราชจะเป็นค่า Julian day number หรือหรคุณจูเลียน ค่ากัมมัชพล อวมาน อุจจพล ดิถี วาร จะเท่ากันในทุกศักราช ค่ามาสเกณฑ์ซึ่งในแต่ละศักราชจะแตกต่างกัน แต่จะบอกไว้เพียงมาสเกณฑ์ของกลียุคศักราชและจุลศักราชเท่านั้น

    .... เวลาเถลิงศกและเวลาสงกรานต์ จะบอกวันเวลาไว้ ณ.เวฬุวัน และ ณ.สุโขทัย หากนำไปเปรียบเทียบกับประกาศสงกรานต์โดยทั่วไปของสยาม จะประกาศเวลาเถลิงศกเป็นของเวฬุวันและเวลาสงกรานต์เป็นของสุโขทัย แต่ในประกาศนี้จะแยกไว้ให้

    .... เกณฑ์ฝน เกณฑ์ธาราธิคุณ เกณฑ์ธัญญาหาร แจ้งไว้ส่วนล่างสุดของกรอบนี้

    .... กรอบขวามือล่าง เป็นปฏิทินของแต่ละศักราช บนสุดเป็นรัตนโกสินทร์ศักราช ใช้ตัวย่อว่า ร.ศ. รัตนโกสินทร์ศักราชนี้ เริ่มต้นปีในวันที่ ๑ เดือนเมษายน และสิ้นปีในวันที่ ๓๑ มีนาคม ซึ่งจะตรงกับพุทธศักราชใด หรือตรงกับศักราชอื่นใด ก็ดูเทียบได้ในแนวตั้ง

    .... ถัดลงมาเป็นคริสต์ศักราช ซึ่งเริ่มต้นปีในวันที่ ๑ มกราคม และสิ้นปีในวันที่ ๓๑ ธันวาคม

    .... ถัดลงมาเป็นพุทธศักราชแบบสยาม ซึ่งในปัจจุบันเริ่มต้นปีในวันที่ ๑ มกราคม และสิ้นปีในวันที่ ๓๑ ธันวาคม

    .... ถัดลงมาเป็นพุทธศักราชแบบจันทรคติ เริ่มต้นปีในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ หรือหลังวันวิสาขะบูชาหนึ่งวันตามดิถีตลาดในปีนั้นๆ และสิ้นปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันวิสาขะบูชาของปีถัดไป ซึ่งจะตรงกับวันเดือนของปฏิทินใด ก็ได้แจ้งกำกับไว้แล้ว เช่นในพุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ จะเริ่มต้นปีในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม และสิ้นปีในวันที่ ๔ พฤษภาคมของปีถัดไป

    .... ล่างสุดเป็นศักราชสุริยยาตร์ทั้งหมด ประกอบด้วย กลียุคศักราช อัญชันศักราช มหาศักราช จุลศักราช ซึ่งเริ่มต้นปีในวันเถลิงศก ซึ่งได้บอกวันเดือนปฏิทินสากลกำกับไว้ด้วยแล้ว

    .... ตัวเลขที่มีจุดทศนิยม ซึ่งกำกับไว้ที่เส้นต้นปีและท้ายปีของทุกศักราชนั้น คือ Julian day number หรือหรคุณจูเลียน ณ.วันต้นปีและท้ายปีของศักราชนั้นๆ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 เมษายน 2022

แชร์หน้านี้

Loading...