ปรัชญาแห่งพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ (มหายาน-วัชรยาน)

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย เทพธรรมบาล, 14 มกราคม 2012.

  1. โฮดี้โจนส์

    โฮดี้โจนส์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2011
    โพสต์:
    1,152
    ค่าพลัง:
    +1,487
    การบรรยายประจำวันเสาร์แห่งภาควิสาขบูชา เป็นครั้งที่ ๘ ในวันนี้ อาตมาก็ยังคงกล่าวเรื่อง ปรมัตถศิลปแห่งการครองชีวิตต่อไปตามเดิม. แต่ในครั้งนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อย่อยว่า ศิลปแห่งการมีพระพุทธเจ้าอยู่กับเนื้อกับตัว.
    [ ซ้อมความเข้าใจคำว่าศิลป. ]
    ขอซ้อมความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับผู้ไม่เคยฟังมาแต่ต้นสักหน่อยหนึ่ง ในเรื่องของคำว่า ศิลป ; เพราะว่าเมื่อท่านได้ยินคำว่า ศิลป ท่านอาจจะเข้าใจความหมายผิดไปจากที่อาตมาต้องการให้ถือเอา ; เพราะเคยได้ยินคำว่า ศิลป – ศิลป กันเพียงของตบตา ใช้ความงามหรือความแปลกประหลาดเป็นเครื่องตบตา ; ไม่ใช่ของที่จริงแท้แน่นอน ถาวรเด็ดขาดแต่ประการใด.
    ครั้นมาได้ยินคำว่า ศิลปแห่งการมีพระพุทธเจ้าอยู่กับเนื้อกับตัว เขาก็ไม่เชื่อว่ามันจะเป็นสิ่งที่จะมีได้, แล้วก็เลยถือหรือหาว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวง; เพราะคนโดยมากไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ชนิดที่จะเอาไว้กับเนื้อกับตัวได้ , รู้จักแต่พระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างคน เกิดในประเทศอินเดียนานมาแล้ว นิพพานแล้ว เผาแล้ว เหลือแต่กระดูกแล้ว อย่างนี้จะเอามาอยู่กับเนื้อกับตัวได้อย่างไร.
    หรือบางคนถือเขยิบใกล้เข้ามาสักหน่อย เอาพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้า มาแขวนไว้ที่คอ แล้วก็เรียกว่าอยู่กับเนื้อกับตัว. นี่ก็จะพาลเข้าใจว่า อาตมาก็จะกล่าวถึงการแขวนพระพุทธรูปนั้นอีก ; ในที่นี้ ไม่ได้กล่าวอย่างนั้น ไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น.
    ขอให้เข้าใจคำว่า ศิลป อย่างถูกต้อง ดังที่ได้เคยอธิบายมาแล้วหลายครั้ง. คำว่า ศิลป นี้ในการภาษาไทยมี ๒ ความหมายจริง ๆ เหมือนกัน คือ ความหมายสำหรับของหลอก ๆ ตบตานั้นก็มี ; ส่วนที่เป็นของจริงนั้น ก็หมายถึง สิ่งที่มีความงามอย่างยิ่ง สำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วก็ทำยากอย่างยิ่ง. ถ้าซื้อขายกัน ก็แพงอย่างยิ่ง ; นี้เป็นไปในทางวัตถุ.
    คำว่า ศิลป นี่ มันคล้าย ๆ กับคำอีกคำหนึ่ง ; ถ้าเป็นเรื่องทางใจ นั่นก็คือคำว่า อุปายวิธี คือวิธีแห่งการใช้อุบาย. แต่ในทางฝ่ายจิตใจก็เหมือนกัน งดงามอย่างยิ่งสำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง ทำยากอย่างยิ่ง มันเป็นศิลปในทางจิตทางใจ แต่คำว่า อุบาย ในภาษาไทยนี้ กลายเป็นเรื่องหลอก ๆ ไปเสียอีก ในภาษาบาลีคำว่า อุบาย ไม่ใช่หมายถึงเรื่องหลอกลวง แต่เป็นวิธีอันเร้นลับ ; ใช้ในทางหลอกลวง ก็ได้ , ใช้ในทางซื่อสัตย์จริตก็ได้ . แม้แต่การประพฤติกระทำให้มีการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็ เรียกว่า อุปายวิธี หรืออุบายด้วยเหมือนกัน.
    ฉะนั้น ท่านจงทราบใช้ว่าในภาษาไทยเรา แม้จะรับเอาคำในภาษาบาลีมาใช้ แต่ก็ใช้ไม่ค่อยหมด หรือว่าใช้ครึ่งเดียว , หรือให้มีความหมายไปในทางใดทางหนึ่ง ตามที่นิยมใช้กันโดยมาก. เช่นคำว่า “ อุบาย ” นี้ ก็หมายถึงเรื่องหลอกลวง ; ถ้าเรื่องว่าทิฏฐิ ก็มักจะหมายถึงมิจฉาทิฏฐิโดยส่วนเดียว.
    เรื่อง “ ศิลป ” ในภาษาไทยเรานี้ ก็เหมือนกันนิยมใช้กันแต่ในความหมายที่เป็นไป เพื่อการหลอกลวงตบตา ; สู้คำในภาษาฝรั่งไม่ได้. คำว่า art ที่แปลว่า ศิลป นั้น เขาก็แยกออกเป็น ๒ คำ คือ ถ้าเป็นไปในทางหลอกลวง เขาจะใช้คำว่า articicial , ถ้าเป็นไปในทางสุจริต เขาจะใช้คำว่า artistic คือมันเป็นของที่ทำได้ยาก มีความปราณีตมากงดงามอย่างยิ่ง สำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง ตรงกันกับหลักทั่วไป .
    ทีนี้ก็อยากดูถึงคำง่าย ๆ ในภาษาไทยเรา ก็มีอยู่บางคำ เช่นคำว่า “ เคล็ด ” . คำว่า เคล็ด นี้ท่านจะถือว่าเป็นคำมีความหมายทางเลวร้าย หรือความหมายทางดี ? อาตมาเห็นว่า คำว่าเคล็ดนี่ ใช้ได้ทั้งในทางเลวและในทางดี ; ใช้เคล็ดเพื่อทำความดี มันก็ได้ผลดี. ใช้เคล็ดเพื่อทำความเลว มันก็ได้ผลเลว. แต่คำว่า เคล็ดนี่ มันมีความอยู่ตรงที่ว่า ให้ทำง่าย ๆ ให้ทำเร็ว ๆ แล้วให้ใช้แรงน้อย ใช้ทุนน้อย แล้วก็ได้ผลมาก ; อย่างนี้เราเรียกว่า เคล็ด.
    ถ้าเอามาใช้กับสิ่งที่ยาก ที่งดงามมาก ที่มีประโยชน์มาก เคล็ดนั้นก็คือศิลป นั่นเอง; แต่ถ้าเอาไปใช้ในทางหลอกลวง , มันก็เป็นเรื่องหลอกลวงไป , มันก็หลอกลวงได้มาก , หลอกลวงชนิดที่มีกำไรมาก สมกับที่คำว่ามันเป็นเคล็ด. และเดี๋ยวนี้ก็มีคำยืมมาจากภาษาต่างประเทศอีกคำหนึ่ง คือคำว่า เทคนิค ( technics ) ; ถ้าเรามีเทคนิคเราก็ทำได้ผลดีได้เร็ว ได้ประโยชน์มาก และลงทุนน้อย , ถ้าผิดเทคนิค ไม่มีเทคนิค มันก็มีผลตรงกันข้าม.
    เดี๋ยวนี้เราก็ชอบใช้คำว่า “เคล็ด” ชอบใช้คำว่าเทคนิค หรืออุบาย กันอยู่แล้วเป็นประจำ ; ก็ขอให้เอามาใช้ในทางที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นสิ่งสุจริต บริสุทธิ์ใจ กันดูบ้าง ; ก็จะได้รับผลเกินคาด คือลงทุนน้อย ได้ประโยชน์สูง ได้ประโยชน์ลึกโดยง่าย โดยด่วน และโดยเร็ว.
    นี่แหละ ขอถือเอาความหมายคำว่า ศิลป กันอย่างนี้ จะชอบเรียกว่า เคล็ด ก็ได้ , จะชอบเรียกว่า อุบายวิธี ก็ได้ จะชอบเรียกว่า เทคนิค ก็ได้ , แล้วแต่ใครจะชอบใช้คำไหน ; สำหรับอาตมาเองนั้นเห็นว่า เราควรจะใช้คำว่า ศิลป.
    [ เริ่มบรรยายครั้งนี้. ]
    วันนี้จะพูดถึง ศิลปแห่งการมีพระพุทธเจ้าอยู่กันเนื้อกับตัว. คนไม่เคยฟังมาแต่ก่อน ก็จะไปฟัง ไปในทางที่ว่า เป็นเรื่องเล่นไม่ซื่อ “ จะเอาพระพุทธเข้ามาอยู่กับตัว นี้ ฉันไม่เชื่อ ; ฉะนั้นเมื่อแกมาพูดอย่างนี้ ก็ต้องเป็นเรื่องหลอกกันเล่น , ถึงแม้จะเอาพระพุทธเจ้ามาอยู่กับเนื้อกับตัวได้ ก็เป็นพระพุทธเจ้าหลอก ๆ , หรือพระพุทธเจ้าศิลปไปเสียอีก ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ”. นี่ถ้าได้เกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็คงจะไม่ตั้งฟัง ไม่สนใจฟัง ไม่เข้าใจไม่รู้เรื่อง , แล้วก็เลยไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการฟัง .

    ต้องศึกษาคำว่า ศิลป ให้ถูกต้อง.
    ศิลปต้องให้มีความหมายครบถ้วนอย่างที่เคยพูดมาแล้ว อย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ คือว่า :-
    ข้อที่ ๑. สิ่งที่มีความงดงาม เป็นข้อแรก , งดงามอย่างจับใจ , เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ความพอใจ ความเลื่อมใส, พร้อมที่จะจูงใจบุคคลนั้นไปได้ตามปรารถนา. นี่เอาความงามมาเป็นข้อแรก.
    ข้อที่ ๒. นี้ก็มาถึง ความมีประโยชน์อย่างยิ่ง ; หมายความว่าการที่ลงทุนทำกันทั้งทีนี้ เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง มีผลเกินค่า หรือว่ากำไรมากที่สุด. นี่พูดกันอย่างวัตถุ.
    ข้อที่ ๓. ก็มาถึงคำว่า ละเอียด ประณีต สุขุมในทางฝีมือ , คือ ต้องมีฝีมืออย่างยิ่ง จึงจะทำได้.
    เมื่อครบทั้ง ๓ อย่าง คือ งาม และมีประโยชน์อย่างยิ่ง และฝีมืออย่างยิ่ง ก็เรียกว่า “ ศิลป ” . ถ้าเมื่อลงทุนทำถึงขนาดนี้แล้ว มันเป็นเรื่องหลอกลวงไปไม่ได้ ; จะหลอกลวงไปทำไม เมื่อต้องใช้ความพยายามมากอย่างยิ่งอยู่แล้ว จึงจะได้สิ่งนี้มา.
    นี่ถ้าว่า จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าปรารถนา ก็คือ เป็นหนทาง ที่จะให้สิ่งที่ลึกซึ้ง หรือสูงสุด หรือยากลำบากนั้น กลายมาเป็นสิ่งที่อยู่กับเราได้ , สำเร็จประโยชน์กับเรา , หรือใช้เป็นประโยชน์ได้.
    เช่นว่า การครองชีวิตให้งดงาม ตามแบบที่ เรียกว่า พรหมจรรย์ , คือ แบบแห่งการครองชีวิตอันประเสริฐนั่น มันมีค่ามาก ; จึงต้องลงทุนตามวิธีทางของศิลป : คือ อย่างละเอียดลออประณีต จึงจะสำเร็จ แล้วก็ได้ผลเป็นประโยชน์สูงสุด ที่มนุษย์ควรจะได้, และถ้าดูแล้ว มันก็งาม คือ ชวนให้คนทั้งหลายมาสนใจรับเอาไว้.
    พระธรรมมีความงามทั้งเบื้องต้น, ท่ามกลาง และเบื้องปลาย.
    หรือดังที่บอกแล้วว่า พระศาสนาก็ดี พระธรรมทั้งหลายก็ดี มีความงาม เป็นเครื่องดึงดูดใจ. ถ้าคนฟังเข้าใจ ก็จะรู้สึกความงามในพระศาสนา หรือในพระธรรมวินัย แล้วเขาก็ยอมรับปฏิบัติ.
    เรื่องทางศาสนา ก็ยังเกี่ยวกับ วิธีการที่เรียกว่า ศิลป ; ดังที่พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้คำว่า งามเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามเบื้องปลาย ว่าเป็นลักษณะอันสำคัญ ถึงกับทรงกำชับให้ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรม ประกาศพรหมจรรย์ให้งดงาม ถึงขนาดนี้.
    นี่เราในฐานะที่เป็นสาวก ก็มีหน้าที่ทั้งทางที่จะศึกษาปฏิบัติ, และทั้งทางที่จะสืบพระศาสนา คือเผยแพร่สั่งสอนกันสืบไป. เราต้องมีความรู้ ความเข้าใจซึบซาบมาแล้วโดยถูกต้อง และครบถ้วนว่า พระธรรมนั้นงามอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ละเอียดประณีตอย่างไร จึงจะสามารถสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป, ไปยังบุคคลอื่น อันจะมีมาในภายหลัง ให้เขาได้เข้าใจและรับเอาไปได้ ซึ่งพระธรรมอันสูงสุด, โดยวิธีการแห่งศิลป อันจะพึงใช้ในการเผยแผ่.
    อาตมาจึงเห็นว่า เป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่จะมีวิธีการ คือการใช้ศิลปให้ถูกต้อง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา.
    คนทั่วไปในโลก จะเป็นฝรั่งหรือเป็นคนพวกไหนก็ดี มีคำว่า art หรือ ศิลป นี้ใช้ ก็เพราะเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้ในภายใน จากจิตใจของตัวเอง ซึ่งนิยมความงาม ความมีประโยชน์ และความละเอียดประณีตในทางฝีมือ ; ฉะนั้นเขาจึงใช้คำคำนี้กันทั่วไปหมด แม้ในภาษาไทยก็มีคำคำหนึ่งที่ใช้ในความหมาย ที่ตรงกับคำว่า art หรือ ศิลป.
    ธรรมะในศาสนาของเรา ก็มีอาการอย่างนี้อยู่แล้ว, มีหลักเกณฑ์อย่างนี้อยู่แล้ว ; ฉะนั้นจึงสะดวกที่จะใช้ ; และจะน่าหัวเราะมากทีเดียว ถ้าว่าจะพูดว่า เรามีอยู่แล้ว เราใช้อยู่แล้ว แต่เราก็ยังไม่รู้จักชื่อของมัน, ไม่รู้จักเรียกคำคำนี้, ทั้งที่เราก็ได้ใช้กันอยู่แล้ว :-
    ในการแสดงธรรมก็ดี ในการเขียนประพันธ์ก็ดี มีการใช้ศิลปอย่งเต็มที่. ที่เป็นไปสุดเหวี่ยง ก็คือการใช้กาพย์กลอนที่ไพเราะ ; แม้จะเป็นคำร้อยแก้ว ไม่ใช่กาพย์กลอน ก็ต้องมีลักษณะแห่งศิลปเต็มที่, คือ ถ้อยคำไพเราะ มีเนื้อความดีสูง ทำได้โดยยาก. นี้เราก็ได้ใช้กันอยู่แล้วเป็นประจำ และนานมาแล้วด้วย.
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่างอาตมา ซึ่งทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาหลายสิบปี ; สิ่งที่ทำไปก็มีรูปแบบแห่งศิลปอย่างมากทีเดียว ในการที่จะเผยแผ่พระธรรม คำสั่งสอนเหล่านั้น. ท่านทั้งหลายก็มีด้วยเหมือนกัน; ในบางคนที่ได้ทำงานอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ใช้มันอยู่แล้ว ได้รับประโยชน์แล้ว ก็ยังไม่รู้จักชื่อของมัน ว่าจะเรียกว่าอะไรดี.
    เดี๋ยวนี้ก็จะเอาชื่อของมันมาเผยแผ่ มาประกาศให้รู้ว่า เราจะเรียกกันว่าศิลป คือ สิ่งที่มีความงามจับใจ มีคุณค่าใหญ่หลวง แล้วก็มีความประณีตละเอียดในการสร้างสรรค์. นี้คือศิลปในความหมายที่แท้จริง ที่ถูกต้องไม่เป็นการหลอกลวง.
    เหตุที่ควรมีศิลปแห่งการมีพระพุทธเจ้าอยู่กับตัว.
    หัวข้อเรื่องมีว่า ศิลปแห่งการมีพระพุทธเจ้าอยู่กับเนื้อกับตัว นี้ก็ควรจะนึกกันให้ทั่วถึงว่า ทำไมจะต้องมาอยู่กับเนื้อกับตัว ? ถ้าไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ก็จะช่วยอะไรไม่ได้แล้วจะไม่มีประโยชน์อะไร. พระคุณของพระพุทธเจ้าหรือพระคุณของพระธรรม หรือพระคุณของพระสงฆ์ จะมีประโยชน์แก่เรา ก็ต่อเมื่อเราเอามาทำให้อยู่กับเนื้อกับตัว.
    ถ้าไม่รู้จักพระพุทธเจ้าโดยภาษาธรรม ก็จะไม่เข้าใจคำว่า มาอยู่กับเนื้อกับตัว ; เพราะเห็นว่าพระพุทธเจ้านั้น ก็เป็นบุคคลตายแล้ว เผาแล้ว. นี่พูดภาษาชาวบ้าน; เหลือแต่กระดูกแล้ว ไม่พอแจกกัน ที่จะเอามาอยู่กับเนื้อกับตัว, ทำเป็นพระพุทธรูปขึ้นมาแทน แล้วมาแขวนไว้ที่คอ แล้วก็จะเรียกว่า อยู่กับเนื้อกับตัว.
    นี่แหละมันเป็นเรื่องติดตัน ตายด้าน กันอยู่ที่ตรงนี้ ว่าจะทำให้พระพุทธเจ้ามาอยู่กับเนื้อกับตัวได้อย่างไร.
    เขาเอาพระพุทธรูปมาแขวนคอ ด้วยความคิดว่าอย่างไร ? ส่วนมากก็ด้วยความเห็นแก่ตัว, เห็นแก่ประโยชน์ของตัว มีแต่ความขลาด ความกลัว เอาพระพุทธรูป พระเครื่อง มาแขวนไว้ที่คอ ด้วยความคิดว่าจะปลอดภัยด้วยความคิดว่าจะร่ำรวยมากเร็ว ๆ ด้วยความคิดว่า จะให้คนรักทั่วทุกทิศทุกทาง. นี่เอาพระพุทธรูปมาแขวนไว้ในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์จริงไม่เคยตรัส.
    พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธรูป; เพราะมันไม่มี ในครั้งพุทธกาล ไม่มีพระพุทธรูป ไม่มีพระเครื่อง; ฉะนั้นจึงไม่มีข้อความใด ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เกี่ยวพระพุทธรูปหรือพระเครื่อง. การที่ถือว่าเอาพระเครื่องมาแขวนคอ แล้วจะปลอดภัย จะรวย ใครเห็นก็จะรัก ; นี่เป็นเรื่องว่าเอาเองทีหลัง. จะอยู่กับเนื้อกับตัวได้หรือไม่ ก็ลองดูเถิด.
    อาตมาชักจะสงสัย จึงได้เอามาพูด ให้ใคร่ครวญกันดู พิจารณากันดู ว่าเอาพระพุทธรูปมาแขวนเข้าที่คอห้อยอยู่ที่ใต้คาง ที่หน้าอก, เวลากินเหล้า ยกแก้วเหล้าข้ามหัวพระเครื่อง วันหนึ่งตั้งหลาย ๆ หน, แล้วพระเครื่องนั้นจะเป็นอย่างไร; ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าจริง มีจิต มีวิญญาณสิงอยู่ในนั้น แล้วจะรู้สึกอย่างไร นี้เรียกว่า เอาแก้วเหล้าข้ามหัวท่าน.
    ทีนี้บางทีก็จะเก็บพระเครื่องไว้ที่อื่นก็ได้; แต่พอถึงเวลาที่เขาจะทำพิธีกินเหล้า เขายกแก้วเหล้าขึ้นชูเหนือหัว เหนือศรีษะ พร้อมกัน ในการดื่มอวยพรให้คนนั้นคนนี้ ยกแก้วเหล้าขึ้นเป็นสิ่งสูงสุดกว่าสิ่งใดยกขึ้นเหนือหัว; แล้วพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าที่เอามาเก็บไว้เพื่อตัวนั้น จะรู้สึกอย่างไร. ถ้ามีจิตมีวิญญาณก็จะไม่สำเร็จประโยชน์เลยในการที่หวังว่า จะพึ่งพาอานุภาพของพระเครื่อง ของพระพุทธรูป.
    จะทำพิธีพุทธาภิเษก ให้วิเศษมากี่วัดกี่วากี่ร้อยครั้ง ถ้าเอาแก้วเหล้าข้ามหัวทีเดียว มันก็หมดแหละ มันก็หมดความหมายแหละเมื่อข้ามหัว; เพราะว่าเหล้านั่นเองทำให้หมดความเป็นพระเศียร เหลือแต่หัวตามแบบของวัตถุ. เมื่อยังไม่ได้เอาแก้วเหล้ามาข้ามหัว ก็ยังมีคำว่า พระเศียรอยู่, สูงสุดอยู่; พอเอาแก้วเหล้าข้ามหัวเสียแล้ว มันก็หมดความหมายของคำว่า พระเศียร เหลือแต่หัว.
    นี่อาตมาจึงใช้คำว่า “ ข้ามหัวท่าน ” จนหมดความเป็นพระเศียร, แล้วก็ไม่มีความเป็นพระพุทธเจ้าเหลืออยู่; เพราะถูกข้ามหัวด้วยแก้วเหล้า วันหนึ่งหลาย ๆ ครั้ง สำหรับคนกินเหล้า. หรือว่าคนไม่กินเหล้า ก็ยังจะยกอะไรข้ามหัวท่านอยู่บ่อย ๆ ; แม้แต่กินข้าว กินแกง กินกับ กินอะไรก็ตาม มันต้องกินทางปาก มันก็ข้ามหัวพระเครื่องแล้วไม่เห็นใครเคยถอดพระเครื่อง แล้วจึงกินจึงดื่ม
    เอาละ, เป็นอันว่า คนที่เขาอยากจะมีพระพุทธเจ้า อยู่กับเนื้อกับตัวนั้น มันไม่มีความหมายเสียแล้ว ถ้าทำเพียงเท่านี้; แม้ว่าบางคนจะมาสักลงไปในหนัง ลงในผิวหนัง เป็นรูปพระพุทธรูป เป็นรูปพระพุทธเจ้าให้อยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็ยังปฏิบัติอย่างเดียวกัน กับพระเครื่องที่เอามาแขวนไว้; แล้วก็ใช้ร่างกายนี้ ทำแต่สิ่งที่ไม่น่าดูเป็นบาป เป็นอกุศล ; มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะสักพระพุทธรูปไว้ที่เนื้อที่ตัว ที่หนัง.
    เอาละ, เป็นอันว่า เขาควรจะคิดหาวิธีอื่น ที่จะทำให้มีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง แล้วก็มาอยู่ที่เนื้อที่ตัวกันจริง ๆ.
    พระพุทธเจ้าที่จะอยู่กับตัวได้ คือ ปฏิจจสมุปบาทธรรม.
    ข้อแรกก็จะต้องพูดถึง พระพุทธเจ้าพระองค์จริงเรื่องมันก็มาก; แต่มันก็จำเป็นจะต้องพูดอีกว่าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ต้องไม่ตาย ต้องไม่นิพพาน ต้องยังอยู่ตลอดกาล แล้วก็อยู่กะเราได้ และเข้าไปอยู่ในจิตใจของเราได้. ข้อนั้นคือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าพระธรรม; ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ; ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเป็นธรรม ; เพียงแต่เห็นเนื้อตัว จับชายจีวรอยู่, ไม่เห็นธรรม ก็ไม่ชื่อว่าเห็นเรา ต้องเห็นธรรม, เห็นพระธรรม.
    ทีนี้เห็นพระธรรม เห็นที่ตรงไหน ? ก็จะเหมา ๆ เอาว่า พระธรรมคำสอนทั้งหมดก็ได้. แต่พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสไว้ชัดว่า : ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ; ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ; ก็เป็นอันยุติได้ว่า เห็นปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นธรรม.
    จักรกลของการเห็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด.
    ทีนี้เห็นปฏิจจสมุปบาทนั้น คือเห็นอะไร ? ต้องเห็นกันอย่างถูกต้อง ก็พูดได้ง่าย ๆ ว่า เห็นในการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ และการดับลงแห่งความทุกข์อย่างถูกต้อง แท้จริงและสมบูรณ์นี้ เรียกว่า เห็น ปฏิจจสมุปบาท.
    ก็มีปัญหาว่าเห็นที่ไหนล่ะ ? ตรงไหนล่ะ ความทุกข์เกิดขึ้น ? ตรงไหนล่ะความทุกข์ดับไป ? มันเลยต้องรู้ลึกเข้าไปถึงภายในจิตใจ ว่าเมื่อไรกระแสปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้น ? เมื่อไรกระแสปฏิจจสมุปบาทดับลง ? จนกระทั่งพบว่าเมื่ออายตนะข้างนอก อายตนะข้างในถึงกันเข้าแล้วก็เกิดวิญญาณ, มีชื่อตามอายตนะนั้น ๆ .
    เช่น จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น ; อายตนะภายในด้วย อายตนะภายนอกด้วย วิญญาณนั้นด้วยสามอย่างนี้ ทำงานร่วมกัน ก็เรียกว่า ผัสสะ ; ก็ต้องเห็นผัสสะ ต้องรู้จักผัสสะ จริง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องข้างใน.
    ผัสสะเป็นเหตุให้เกิดเวทนา ก็ต้องเห็นจริง ๆ ว่ามันเป็นอย่างไร. ที่เรียกว่าผัสสะให้เกิดเวทนานั้น มันจะให้เกิดความทุกข์ได้อย่างไร ก็เห็นได้จริง ๆ ว่า ในขณะแห่งผัสสะนั้นคนยังโง่อยู่. เมื่อขณะผัสสะนั้นคนยังโง่อยู่ ไม่มีปํญญา ไม่มีวิชชา ไม่มีสติ ไม่มีอะไรหมด. ผัสสะโง่ก็ทำให้เกิดเวทนาโง่ สำหรับจะหลงรัก หรือหลงเกลียดในสุขหรือทุกข์ น่ารักหรือน่าชัง ; เวทนาโง่นี้ มันก็มาจากผัสสะโง่ ผัสสะโง่ก็มาจากอวิชชา ที่เข้ามาประสมโรงเกิดขึ้นในขณะแห่งผัสสะ.
    เวทนาโง่แล้ว มันก็ทำให้เกิดความอยากที่โง่ ๆ คือ ตัณหา. เกิดตัณหาแล้ว ก็ช่วยไม่ได้ ; มันจะเกิดความรู้สึกเจ้าของตัณหา คือ มันอยากอะไร ; มันจะเกิดความรู้สึกติดกันมาอีกทีว่า กู ผู้อยาก คือผู้อยาก นี้แหละ คือ ตัวตนตั้งต้นกันที่ตรงนี้ คือ ความโง่ถึงที่สุด คือโง่จนว่า มีตัวมีตน ; ไม่ใช่เป็นเพียงแต่กระแสการปรุงแต่งของจิต ที่ประกอบด้วยอวิชชา.
    นี่มันเห็นยาก , เห็นยากแหละ ที่ว่าจะเห็นธรรมนี่ เห็นยากกันที่ตรงนี้เอง มันลึก ; แล้วเราก็มีแต่อวิชชา แล้วก็จะเห็นของลึกได้อย่างไร.
    มีอุปทานแล้ว ก็เท่ากับว่า ภพ หรือความมีอยู่แห่งตัวตนนั้น ได้ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว. ภพความมีอยู่พร้อมแล้ว มันก็คลอดออกมาเป็นชาติ เป็นตัวกู, เป็นความรู้สึกเป็นตัวกู ซึ่งยืนอยู่เป็นประธาน.
    ทีนี้ อะไร ๆ ที่ตัวกูกวาดเอาเข้ามา ก็จะเป็นทุกข์ทั้งนั้น : ความเกิดก็เป็นทุกข์ , นี้ความเกิดอย่างท้องแม่ก็เป็นทุกข์ ; เพราะมันมีชาติอย่างอุปาทานนี้ขึ้นมาแล้วก็เก็บกวาดเอา ชาติอย่างที่เป็น ชาติอย่างเกิดจากท้องแม่ เอามาเป็นทุกข์ ความแก่เอามาเป็นทุกข์ ความตายเอามาเป็นทุกข์ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส กี่อย่าง ๆ เอามาเป็นทุกข์ คือเป็นของกู ; เพราะมาถือเอาเป็นของกู จึงเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ; ถ้าไม่ถือเอาเป็นของกู ก็ไม่เกิดเป็นความทุกข์อะไร ๆ ขึ้นมาเลย.
    มันต้องมีชาติ, ชา-ติ ความเกิดแห่งตัวตนจากอุปาทาน ขึ้นมาเสียก่อน แล้วมันก็ ครองอัตตภาพนี้ป็นตัวตนเป็นของตน, จะรับเอาอะไร ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับอัตตภาพนี้ ว่าเป็นของตน, เอาอะไรมายึดถือเป็นของตน ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น. นี่ทุกข์ทั้งปวงทั้งมวล ทั้งสิ้น เกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ . นี้เรียกว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ ซึ่งเป็นปฏิจจสมุปบาทซีกหนึ่ง ด้านหนึ่ง คือ ด้านเกิดทุกข์ .
    จักรวาลในการเห็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ .
    ทีนี้ ในด้านที่ตรงกันข้าม มันก็ตั้งต้นคล้ายกัน : อายตนะภายในกระทบกับอาตยนะภายนอก เกิดวิญญาณ ; สามอย่างนี้ ผสมกันทำงานเรียกว่า ผัสสะ . ทีนี้มันก็จะเป็นด้วยอะไรก็สุดแท้ ชาวบ้านก็คงจะเรียกว่าโชคมันดี ; แต่ที่แท้ เพราะว่าเหตุปัจจัยมันดี : มีการศึกษา , ได้ยินได้ฟังคำของพระอริยเจ้า , ได้รับการศึกษา ฝึกฝน แนะนำที่ดี , เป็นคนที่มีความรู้ มีปัญญา มีวิชชา มีสติ ; ฉะนั้นพอมีผัสสะขึ้นมาแล้ว สติปัญญามันมา อวิชชาไม่มีโอกาสจะเกิด. สติปัญญาหรือวิชชา มันเข้ามาควบคุมผัสสะนั้นเสีย ; ผัสสะนั้นก็เลยเป็นผัสสะฉลาด , ไม่เป็นผัสสะโง่ เหมือนในกรณีแรกที่แล้วมา .
    มันมีผัสสะที่ฉลาดเสียแล้ว ; ผัสสะลืมตา ไม่หลับตา , เป็นผัสสะที่ตรัสรู้ได้ ในตัวมัน. ผัสสะชนิดนี้มันก็ให้เกิดเวทนาที่ฉลาด เพราะมันออกมาจากผัสสะที่ฉลาด ; ฉะนั้นเวทนานั้นจึงไม่เป็นที่ตั้งแห่งความหลงรัก หลงโกรธ หรือยินดียินร้าย . มันก็เป็นเวทนาที่แสดงตัวอยู่ว่า โอ๊ย ! นี่มันสักแต่เวทนาเว้ย ! มันสักว่าเป็นความรู้สึก ที่เกิดขึ้นแก่ระบบประสาท ตามธรรมชาติแท้ ๆ ; ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนของเวทนา , แล้วมันก็ไม่หลง ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความหลงรักหลงเกลียด , เวทนาแสดงตัวออกมาในลักษณะที่สักว่า เวทนา , เป็นแต่สักว่า เวทนา .
    เวทนาชนิดนี้ไม่ให้เกิดตัณหา เพราะมันแสดงตัวถูกต้อง มีปัญญา มีวิชชา กำกับมา , เวทนาชนิดนี้ จะกลายเป็นมีประโยชน์ไปอีกทางหนึ่ง คือให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้น ๆ ว่าอะไรเป็นอย่างไร , อะไรเป็นอะไร , เวทนาเป็นอย่างไร, เรื่องนี้เป็นอย่างไร, เรื่องนี้มีอะไรที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ , ประพฤติกระทำกันอย่างไร.
    เวทนาชนิดทำให้มีความรู้งอกงามออกไป เกี่ยวกับเรื่องทางจิตใจของมนุษย์เรา มันเลยให้ประโยชน์ให้เป็นการศึกษาไปเสีย ; แล้วมันก็ไม่เกิดตัณหา : เวทนานั้นดับ - ตัณหาก็ดับ คือไม่เกิด , ตัณหาดับ – อุปาทานมันก็ดับ คือไม่เกิด ; เมื่ออุปทานไม่เกิด , ภพ – ชาติ ก็ไม่เกิด , ตัวกูก็ไม่เกิด , ไม่มีอะไรเป็นที่ตั้ง สำหรับจะเอามาเป็นผู้ยึดถือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง , ความทุกข์ทั้งปวงก็ไม่เกิด .
    นี่คือ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ มีอยู่ในชีวิตจิตใจของคน มากมายหลายสิบครั้งต่อวันหนึ่ง ; เพราะมันมีทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ทั้งใจ ตั้ง ๖ อย่าง ; แล้วเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกนี้ก็มีมาก แม้แต่เพียงทางตาเรื่องเดียว ก็ยังมีหลายเรื่องหลายชนิด.
    ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นรอบ ๆ นี้ เกิดขึ้นได้มาก ; ในทางฝ่ายที่เป็นทุกข์จะเกิดขึ้นได้มากกว่า ; เพราะว่า เราไม่มีวิชชาหรือปัญญาเพียงพอ มันจึงเกิดขึ้นเป็นความทุกข์รบกวนไม่มากก็น้อย แต่เราก็ไม่สนใจเห็นเป็นเรื่องไม่มีความหมายอะไร ; ถ้ามีทุกข์หนักเข้าก็มานั่งร้องไห้เสียดีกว่า ที่จะไปรู้ว่ามันคืออะไร , หนักเข้า ๆ ฆ่าตัวตายเสียดีกว่า มันจะได้รู้แล้วรู้รอดไป . ฉะนั้นยาที่กินให้ตาย มันก็ยังขายได้ ; เพราะเขาไม่รู้วิธีที่จะแก้ปัญหานี้อย่างไร.
    ทีนี้ ส่วนที่จะมารู้ว่า ผัสสะ เวทนา เป็นเพียงของเกิดขึ้นตามธรรมดา ไม่ควรยึดถือ นี้มันน้อยนักเพราะว่าอะไร ? เพราะว่าไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ ; หรือว่าได้เรียน แต่มันก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ; หรือว่าเข้าใจเรื่องนี้ มันก็ยังปฎิบัติไม่ได้.
    นี่แหละขอให้สนใจกันที่ตรงนี้ ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า เห็นปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นธรรม , เห็นธรรม คือ เห็นตถาคต. ทีนี้การเห็นปฏิจจสมุปบาทมันมีไม่ได้ , เมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทไม่ได้ ก็ไม่เห็นธรรม , เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นตถาคต.

    เหตุที่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทไม่ได้.
    ที่นี้ ทำไมเห็นปฏิจจสมุปบาทไม่ได้ ? ข้อแรกที่สุดก็ต้องตอบว่า เพราะว่าไม่ได้เรียน , มันไม่มีโอกาสเรียน. เอาละ ถ้าว่าบวชเรียน ได้มีโอกาสเรียน ก็ยังเรียนผิด ๆ , ยังสอนผิด ๆ เรียนผิด ๆ ไม่ถูกเรื่อง มันก็ไม่เห็นอีกเหมือนกัน . เพียงแต่เรียนนี้ มันไม่เห็น , มันเพียงแต่จำได้ หรือเข้าใจ .
    ถ้าจะให้เห็น มันต้องปฏิบัติ ให้สิ่งนั้นปรากฏขึ้นมาจริง ๆ . เดี๋ยวนี้ปฏิบัติไม่ได้ เพระว่าเรียนไม่ถูกต้อง, ไม่ตรงตามที่เป็นจริง มีค่าเท่ากับไม่ได้เรียน. มันต้องเรียนให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ แล้วก็ปฏิบัติให้มันถูกต้อง และเพียงพอ .
    ปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวไว้ว่า เพราะมีเหตุนั้น จึงมีอันนั้น, -- เพราะมีอันนั้นจึงมีอันนั้น, -- เพราะมีอันนั้นจึงมีอันนั้น , นั้นเป็นเพียงวิชา, หรือหลักวิชา มีการปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ปฏิบัติอย่างนั้น ; การปฏิบัติต้องมา ปฏิบัติ คือ มีสติควบคุม อายตนะ เมื่อเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะแล้ว , ให้ปัญญาและสติมาทันท่วงที ทันเวลา. สรุปสั้น ๆ ว่า ให้มีสติกับปัญญา หรือให้สติขนเอาปัญญาโดยแวบเดียว ให้มาทันในเวลาที่ผัสสะ, ควบคุมผัสสะนั้นไว้ อย่าให้เป็นผัสสะโง่ .
    เอ้า , มันก็ทำไม่ได้เสียอีก มันยากเกินไป แล้วบางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ปฏิบัติในปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นอย่างไร ; เข้าใจว่าเอามาท่อง ท่องไปท่องมา ท่องไปท่องมา แล้วก็เป็นการปฏิบัติ มันน่าหัว ; อันนั้นมันส่วนวิชา จะท่องก็ท่องไปซิ มันไม่มีการปฏิบัติหรอก. การปฏิบัติคือว่า เอาสติกับปัญญามาให้ทัน ขณะที่มีผัสสะ. ผัสสะนี้เกิดจากของ ๓ อย่าง ทำงานด้วยกัน คือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณ. สติกับปัญญามาให้ทัน ในขณะแห่งผัสสะก็พอแล้ว, ไม่ต้องถึงกับว่า มาให้ทันในขณะที่ว่าตาถึงกับรูปและเกิดจักษุวิญญาณ ; นั้นมันยังเร็วเกินไป มันยังไม่มีปัญหา. แต่ถ้าว่ามาได้ก็ดีเหมือนกัน ; แต่มันอาจจะดีมากเกินไปก็ได้ คือว่า เมื่อตาเห็นรูป แล้วก็จะรู้ว่าสติ : รู้ว่าตาเท่านั้นหนอ , รูปเท่านั้นหนอ. ครั้นวิญญาณเกิดขึ้น เพราะการเห็นทางตาก็ว่าวิญญาณเท่านั้นหนอ ไม่มีอะไร ; อย่างนี้ก็คงจะดีมาก , แต่อาจจะมากเกินไป ปฏิบัติยากมากเกินไป. เอาแต่เพียงว่าเมื่อมันเกิดการกระทบระหว่างสิ่งทั้ง ๓ แล้ว มีสติปัญญาทันในขณะที่เกิดผัสสะ.
    การปฏิบัติธรรม ต้องฝึกสติ- ปัญญาให้มาทัน .
    ทำไมจะมาทัน ? มันต้องฝึกไว้คล่องแคล่ว , ฝึกสติและปัญญาไว้อย่างคล่องแคล่ว. ระบอบปฏิบัติ เช่น อานาปานสติครบทั้งชุด ทั้ง ๑๖ ขั้นนั้น ถ้าฝึกดีจริง สมบูรณ์จริงแล้ว จะเป็นผู้มีสติและปัญญาอย่างเพียงพอ อย่างคล่องแคล่ว ทันแก่เวลาเสมอ ; ฉะนั้นต้องไปฝึกฝนให้มีสติ ให้มีปัญญา โดยระบบปฏิบัติ.
    พอมันเกิดเรื่องจริง ๆ ก็ให้มีสติปัญญามาทัน ในขณะที่สำคัญที่สุด คือ ขณะแห่งผัสสะ ; ผัสสะมันก็ฉลาด ; เกิดเวทนาขึ้น ก็เป็นเวทนาฉลาด, คือให้ความรู้แก่จิต ว่าเวทนานั้นคืออะไร , สักว่าเวทนาเท่านั้นหนอคืออะไร ; มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดทุกข์ทั้งปวง. เราเห็นที่ตรงนี้
    คำว่า เห็น นี้ ไม่ได้เห็นด้วยตา ; มันเป็นเรื่องนามธรรม ต้องเห็นด้วยตาใจ ; ไม่ใช่ตาเนื้อ. ตาเนื้อสำหรับเห็นข้างนอก ; แต่เรื่องข้างใน ต้องเห็นด้วยตาใจ เขาเรียกว่าปัญญาจักษุบ้างธรรมจักษุบ้าง คือจักษุที่เห็นด้วยปัญญา แล้วเห็นธรรมะ , ธรรมจักษุ ก็เห็นธรรม, เมื่อเห็นธรรมก็เห็นปฏิจจสมุปบาท, เห็น ปฏิจจสมุปบาท ก็คือ เห็นธรรม , เห็นธรรม คือ เห็นตถาคต . ถ้าเห็นแต่ในหนังสือเรียนนี้ มันไม่ใช่เห็น ; แม้ในขณะปฏิบัติ ก็ยังไม่เรียกว่าเห็น ; ต้องสำเร็จในการปฏิบัติ : ควบคุมมันได้ ทุกข์ไม่เกิด ทุกข์มันดับ ; เห็นอยู่ด้วยธรรมจักษุด้วยปัญญาจักษุ อย่างนี้เรียกว่าเห็น.
    การเห็นปฏิจจสมุปบาทมีได้ โดยปฏิบัติควบคุมมิให้ทุกข์เกิด.
    ฉะนั้น จะเอาปฏิจจสมุปบาทมาอ่าน มาท่อง มาอธิบาย มาถกมาเถียงกัน ก็ไม่เชื่อว่าเห็น , ยิ่งมาถกกันในรูปแบบของปรัชญาแล้ว จะยิ่งเพ้อเจ้อ ไกลออกไป ๆๆ จนไม่มีประโยชน์อะไร. ต้องเอามาปฏิบัติ ควบคุมปฏิจจสมุปบาทนี้ได้, ฝ่ายเกิดก็ไม่เกิด ก็มีแต่ฝ่ายดับ, แล้วก็เห็นด้วยปัญญาจักษุด้วยธรรมจักษุ จึงเห็นปฏิจจสมุปบาท : ผู้นั้นก็เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นพระองค์ .
    พระองค์ชนิดนี้แหละ พระพุทธเจ้าชนิดนี้เท่านั้นที่จะอยู่กับเนื้อกับตัวของเราได้ ; เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนั้น เกิดดับอยู่ในกาย ในใจ ของเราอยู่แล้ว ในทุกสิ่งก็ได้, มันมีกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทแสดงอยู่ทั้งนั้น ; แต่ไม่เอาเรื่องข้างนอก เอาแต่เฉพาะเรื่องข้างใน ; กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเป็นไปในภายใน เกิดทุกข์เมื่อมีอวิชชาเป็นแม่บท , ไม่เกิดทุกข์ในเมื่อดับอวิชชาเสียได้.
    นี่เห็นทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ด้วยจิตใจ คือรู้สึกด้วยจิตใจ. ภาษาธรรมะตอนนี้ ต้องมีคำบัญญัติว่า การเห็น คือ การรู้สึกด้วยจิตใจ ที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญา. นี่ธรรมจักษุ, ปัญญาจักษุเห็นอยู่ ไม่ใช่ตาเนื้อที่เห็นอยู่ ตาเนื้อนี้อาจจะหลับอยู่ก็ได้, แม้ตาบอด ; คนตาบอดก็เห็นได้ ถ้าเขาเข้าใจ และเขาปฏิบัติ และควบคุมอายตนะอยู่, นี้คือ เห็นพระพุทธเจ้า.
    เห็นที่ไหน ? ก็เห็นข้างใน, เห็นข้างใน มันก็อยู่ข้างในแล้ว ก็ไม่ต้องพูดกันอีก ไม่ต้องถกเถียงกันอีกว่า อยู่กับเนื้อกับตัวหรือไม่ ; เพราะว่ามีอยู่ข้างในแล้ว นี่พระพุทธเจ้าองค์จริงอยู่ข้างในอย่างนี้.
    ถ้ามีพระพุทธเจ้าอย่างนี้อยู่ข้างในแล้ว มือของคนนั้นจะไม่ไปหยิบแก้วเหล้ามากิน ไม่ไปหยิบแก้วเหล้ามาชูขึ้นท่วมหัว ; ฉะนั้นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ไม่เคยมีใครเอาแก้วเหล้า มาข้ามพระเศียรของท่าน. ไม่มีใครเอาแก้วเหล้ามาชู อยู่เหนือพระเศียรของท่าน. ขอให้เข้าใจกันอย่างนี้บ้าง.
    คนที่ยังเอาแก้วเหล้ามาใส่ปากอยู่อย่างนี้ คนยังนั้นไม่เห็นปฏิจจสมุปบาท ไม่เห็นธรรมะ แม้แต่ในระดับต่ำ ๆ ตื้น ๆ. คนชนิดนี้ไม่เห็นธรรมะ แม้แต่ระดับต่ำ ๆ ตื้น ๆ , ไม่เห็นปฏิจจสมุปบาท ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้า ไม่มีพระพุทธเจ้า ; เพราะมีความเป็นอันธพาล ชอบกินเหล้า มันก็กินเหล้า กินแล้ว กินอีก ; แล้วก็ไปซื้อพระเครื่องมาแขวนคอ ด้วยหวังว่าจะให้รวย ให้สวย ให้มีอะไรต่าง ๆ มันก็หมดความหมาย.
    พระเครื่องนั้น ก็เป็นแต่สักว่าพระเครื่อง , แล้วยิ่งเอามารับการดูหมิ่นดูถูก โดยยกแก้วเหล้าข้ามไปข้ามมาด้วยมันก็ยิ่งไม่มีความหมาย ; จะพุทธาภิเษกกันสักกี่ร้อยครั้งหรือจะซื้อมาตั้งหลายหมื่นบาท มันก็ไม่มีความหมาย.
    ฉะนั้นนี้แยกกันให้เด็ดขาด แยกออกจากกันเสียให้เด็ดขาด ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นคือธรรมะ. ธรรมะ คือ การเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นอยู่แล้วข้างใน . เห็นธรรมะขนาดนี้แล้ว จะโง่จะเขลาไม่ได้ จะทำผิด ๆ อย่างโง่เขลาไม่ได้ ; ไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปกินเหล้า จะไปฆ่าสัตว์ จะไปลักทรัพย์ มันมีไม่ได้.
    นี่แหละใครมีพระพุทธเจ้าองค์นี้แล้วหรือยัง ? อาตมาอยากจะขอถามว่า ใครมีพระพุทธเจ้าองค์นี้แล้วหรือยัง ? ที่อยู่ข้างใน ไม่ต้องตอบ , ไม่ใช่ถามให้ตอบ , ถามให้ ไปคิดดู ว่ามีแล้วหรือยัง ? มีพระพุทธเจ้าอย่างนี้กันแล้วหรือยัง ? นั่นแหละ เป็นพระพุทธเจ้าจริง มีพระพุทธเจ้าจริง. ต้องจริงนะ ต้องชัดเจน แจ่มแจ้ง ปรากฏอยู่จริง ๆ นะ แล้วจึงจะเรียกว่ามี .
    การถวายความเคารพต่อพระพุทธเจ้าองค์จริง ควรทำให้ถูก.
    ที่นี้ มันอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาบ้าง พอมีพระพุทธเจ้าองค์จริง อยู่ในใจอย่างนี้ตลอดเวลา สว่างไสวอยู่อย่างนี้ ; พอจะไปกราบพระเครื่อง , หรือไปกราบพระพุทธรูปอิฐปูนอย่างไร มันก็ชักจะกระสับกระส่าย. เพราะว่ามีพระพุทธเจ้าองค์จริงอยู่ข้างใน ; แล้วจะไปกราบวัตถุสมมติ ว่าเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ มันกระสับกระส่าย.
    ฉะนั้น บางทีอาจจะลืมกราบพระพุทธรูปไปก็ได้ , หรือไปกราบเข้าแล้ว มันก็รำคาญ. มันรู้สึกว่าเป็นการขบถต่อพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เพราะไปถวายความสักการะเคารพอะไรทั้งหมดทั้งสิ้น แก่สัญญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า , วัตถุแทนพระพุทธเจ้า ; นับตั้งแต่พระธาตุลงมาถึงพระพุทธรูป ลงมาถึงพระเครื่องอะไรเหล่านี้ ซึ่งเป็นเพียงสัญญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า. แล้วเมื่อพระพุทธเจ้าองค์จริงมีอยู่ข้างใน จะรู้สึกอย่างไร ?
    เอาละ ปรองดองกันก็ได้ ถ้าว่านี้เป็นสัญญลักษณ์ ; เห็นสัญญลักษณ์ แล้วก็กราบเพื่อให้ถึงองค์จริง. นี่ปรองดองกันอย่างนี้ก็ได้ ; แต่มันไม่มีเหตุผล เพราะว่าถ้ามีพระพุทธเจ้าองค์จริง แล้วสัญญลักษณ์มันก็ไม่มีความหมาย. เราไม่เคยได้ยินว่า พระอรหันต์กราบพระพุทธรูป ; แต่นั่นจะเป็นเพราะว่าในสมัยพุทธกาลไม่มีพระพุทธรูป. ถ้าว่าเป็นพระอรหันต์สมัยที่มีพระพุทธรูปก็คงจะมีปัญหาว่า จะกราบพระพุทธเจ้า ทำไมไปกราบของแทนหรือของสมมติ ; มันก็ขบถต่อองค์จริงอย่างนั้นแหละเท่านั้น.
    ฉะนั้น ระวังให้ดี , ระวังกันให้ดี ๆ ถ้าจะว่าไปกราบสัญญลักษณ์ ก็ให้เป็นเรื่องของสัญญลักษณ์ ; แล้วให้รีบนึกถึงพระพุทธเจ้าองค์จริง อยู่ที่ไหน ? ถ้ามีอยู่ข้างใน เอ้า, ก็ได้เหมือนกัน. แต่เดี๋ยวก็จะหัวเราะตัวเอง ว่าพระพุทธเจ้าองค์จริงมีอยู่ข้างใน แล้วก็ไปกราบวัตถุอะไรก็ไม่รู้ แทนพระพุทธเจ้าพระองค์จริง . การที่จะมีพระพุทธเจ้าองค์จริงอยู่กับเนื้อกับตัว มันก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ก็ได้.
    แต่อาตมาคิดว่า ถ้ายังจะต้องกราบพระพุทธรูปอยู่บ้าง ก็เพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นระเบียบคำสอนที่ดีแก่คนที่เขายังไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง . เหมือนอย่างว่า พระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องถือวินัยกันอีก ; แต่พระอรหันต์ท่านก็ยังอุตส่าห์ปฏิบัติพระวินัย, ระวังให้เป็นตัวอย่างที่ดี. ต้องอาบัติเข้าแล้ว ก็ไปแสดงอาบัติ, ซึ่งมันไม่มีความหมายอะไรกะพระอรหันต์นั้นเลย ; แต่ท่านก็ทำไป ทนทำไป เพื่อว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี แก่คนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์.
    ถ้าว่าจะต้องกราบ ต้องอะไรกัน ก็จะต้องตีความหมายกันอย่างนี้ ว่าให้เป็นตัวอย่างที่ดี ; อย่าถือว่าเท่านั้นพอแล้ว แล้วก็หยุดเสีย. ให้พยายามทำให้พระพุทธเจ้าพระองค์จริง เกิดขึ้นภายใน คือ การเห็นปฏิจจสมุปบาท , ซึ่งเป็นการเห็นธรรม . เห็นธรรมแล้วก็เห็นพระองค์จริง , แล้วมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา. เรื่องปฏิจจสมุปบาท มันมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ; ถ้าไม่ใช่ฝ่ายเกิดก็ต้องฝ่ายดับ คือ ฝ่ายที่มีสติปัญญา ; ควบคุมผัสสะไว้ได้มีอยู่ตลอดเวลา . พระพุทธเจ้าพระองค์จริง มีให้เห็นอยู่ข้างในตลอดเวลา ก็เห็นเถอะ ก็รู้สึกเถอะ.
    แนวข้อปฏิบัติในการทำให้มีพระพุทธเจ้า พระองค์จริง.
    เอ้า , ทีนี้ ก็จะพูดกันให้ละเอียดสักหน่อย ว่าจะมีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่ข้างในเรา ในใจของเรา เรียกว่า ที่เนื้อที่ตัวของเรา ท่านจะต้องกระทำให้ครบ. เรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า นั้นก็คือให้มีการประสูติ การตรัสรู้ และการนิพพาน. สามประการนี้ อยู่ในตัวของท่าน.
    ที่ว่า ประสูติแห่งพระพุทธเจ้า ก็คือ ให้เกิดจิตดวงใหม่ หรือให้ภาวะแห่งจิตดวงใหม่ ที่เห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาท. ให้จิตชนิดนี้ ภาวะชนิดนี้ เกิดขึ้นในจิตในใจ ในสันดาน ในใจ ; นี่เรียกว่า ประสูติ แล้วการเห็นแจ้งนั้น เป็นการตรัสรู้ , ตรัสรู้แจ้ง อย่างนี้ อวิชชาดับไป กิเลสดับไป เป็นนิโรธ ; แล้วความเย็นเกิดขึ้นมาแทนเป็นนิพพาน. นิพพาน แปลว่า เย็น ; นี้ คือการปรินิพพาน.
    พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานอยู่ในหัวใจของเรา ซึ่งเราทำให้มีขึ้นมาได้ครบทั้งสามสถาน. การประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพาน มีอยู่ในหัวใจของเราจริง ๆ ; ถ้าว่าจะติดต่อกันไปตลอดเวลาก็ยิ่งดี ; แต่ถ้าไม่อย่างนั้นแม้เป็นคราว ๆ ก็ยังดี .
    ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ขอให้พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ขึ้นมาทันแก่เวลา ก็ยังคุ้มครองได้ ; เรียกว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาบางเวลา ; เพราะว่าเราทำให้เกิดขึ้นบางเวลา อย่างนี้ก็ดีกว่าไม่มีเสียเลย , ดีกว่ามาก ๆ ทีเดียว. แต่ถ้าทำให้ตลอดเวลา ไม่เกิด ๆ ดับ ๆ อย่างนี้ก็ดีที่สุด.
    ฉะนั้น จึงอยู่ด้วยสติสมบูรณ์อย่างยิ่ง ปัญญาเพียงพอ สำหรับจะควบคุมอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในลักษณะที่ถูกต้อง ซึ่งกระแสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร เกิดขึ้นไม่ได้, หรือเกิดขึ้นมาก็เพียงแต่ตั้งต้นเป็นผัสสะแล้วก็หยุด ดับไปเสีย, หรือว่ามันไปดับที่ตรงกลางก็ได้.
    ที่จะไม่ให้เกิดเลยนี้มันยากกว่า ; เพราะว่าตามันจะเห็นรูป ก็เกิดจักษุวิญญาณ แต่ถ้าเก่งจริงมันก็ทำได้ ตาก็สักว่าตา รูปก็สักว่ารูป วิญญาณก็สักแต่ว่าวิญญาณ ไม่ปรุงแต่งกันเป็นปฏิจจสมุปบาท นี้จะมีสติและปัญญาไวและมากพอถึงเพียงนี้ได้หรือไม่ ก็ไปคิดดู ถ้าทำได้ก็วิเศษ แล้วควบคุมให้เป็นไปตลอดเวลา.
    นี่มันก็สูงสุดแหละ มีพระพุทธเจ้าแท้จริงอยู่กับเรา จนกระทั่งกลายเป็นเรา ; เรากลายเป็นพระพุทธเจ้าไปเสีย. นี่เดี๋ยวก็ไม่กล้าพูด ไม่กล้าคิด เห็นว่ามันจะดีเกินไป จะจ้วงจาบพระพุทธเจ้า.
    ที่จริงอย่ากลัวดีกว่า, อย่าต้องกลัวอย่างนั้นเลย. ขอให้มีอย่างนั้นเถิด ให้มีพระพุทธเจ้าแท้จริงอยู่กับเราตลอดเวลา จนดูเหมือนว่าเราก็กลายเป็นพระพุทธเจ้าไปเสียแล้ว. นี้ก็ไม่ได้ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า อะไรมากมาย. ถึงอย่างไรเราก็ยังเป็นอนุพุทธเจ้าอยู่นั่นแหละ เพราะเราต้องฟังคำสั่งสอนของพระองค์ รับเอามาปฏิบัติ.
    เราหาได้เป็นพระพุทธเจ้า เทียมพระพุทธเจ้า คือ สัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ ; ยังเป็นพระพุทธเจ้าที่เดินตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดตาม คลอดตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า. แต่ว่าความเป็นพระพุทธเจ้านั้น จะเหมือนกัน คือว่ารู้ถึงที่สุด ดับกิเลสแล้ว แล้วเย็นเป็นนิพพาน ; นี้จะเหมือนกัน.
    เพราฉะนั้น ขอให้มองเห็นว่า ที่เราจะให้มีพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน อยู่ในเรานี้ เป็นสิ่งที่ทำได้. ถ้าตัดเสียว่าไม่เชื่อ ไม่สนใจ ก็ตามใจ ; แต่ถ้าจะลองใคร่ครวญดู มันก็พอจะเห็นได้ ไม่เหลือวิสัย, ไม่เหลือวิสัยในข้อนี้ ที่จะทำให้จิตดวงใหม่มันเกิดขึ้น แปลกไปจากจิตดวงเก่า ๆ คือ จิตโง่ ๆ.
    ให้จิตดวงใหม่มีความฉลาด รอบรู้ในเรื่องของธรรมะ แล้วกิเลสก็เกิดไม่ได้, คือกิเลสมันดับโดยนิโรธธาตุเป็นประจำอยู่ ในแสงสว่างแห่งปัญญา. เมื่อกิเลส คือ ความร้อนดับ ; ปรินิพพานหรือนิพพาน คือ ความเย็น ก็ ปรากฏตัวออกมา.
    นี่พระนิพพานก็ปรากฏอยู่ เราจึงมีทั้งประสูติ ทั้งตรัสรู้ และทั้งนิพพาน อยู่ในตัวเรา ; จะเรียกว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา โดยแท้จริงตลอดเวลาก็ได้ หรือจะว่าเดี๋ยวนี้เรากลายเป็นพระพุทธเจ้าเสียแล้วก็ได้.
    คำว่า เรา-เรา ในที่นี้ อย่าเข้าใจไปว่าเป็นตัวตนเป็นตัวเรา ยึดถืออะไร ; เราสมมติเรียกกาย ใจ หรือนามรูป ถึงขนาดนี้ สมมติเรียกว่า “ เรา ” ต่อไปตามเดิม. เมื่อโง่ก็คือเรา, เมื่อตรัสรู้ฉลาดแล้วก็คือเรา. เรา เรียกเราโดยสมมติ ; แต่โดยแท้จริงในภายใน ย่อมเห็นเองว่ามิได้มีเรา ; เพราะมันตรัสรู้ รู้ธรรมะถึงที่สุดเสียแล้ว มันก็ไม่มีตัวเรา, แต่มันก็ยังคงเหลือจิต.
    สิ่งที่เรียกว่า จิตนี้มันยังไม่ดับ ; ฉะนั้นจิตดวงใหม่นี้ได้เกิดขึ้น เรียกว่าการประสูติ, จิตดวงใหม่นี้ ประกอบอยู่ด้วยปัญญา เรียกว่า ตรัสรู้, จิตดวงใหม่นี้สัมผัสความเย็น เพราะความหมดไปแห่งกิเลส เรียกว่า นิพพาน , คือ มันเย็นแต่ไม่ใช่ตาย ไม่ใช่ร่างกายตาย.
    ขอเตือนไว้แล้วไว้เล่าว่า พระพุทธเจ้านั้นตายไม่ได้. อย่าพูดไปตามประสาเด็ก ๆ, เด็ก ๆ เขาได้รับการสอนทางหนังสือในโรงเรียนว่า พระพุทธเจ้าตายนั้น เขาเรียกว่านิพพาน. ช้างตายเขาเรียกว่าล้ม, พระเจ้าแผ่นดินตายเขาเรียกว่า สวรรคต, อย่างนี้เป็นต้น. พระพุทธเจ้าตาย เรียกว่า นิพพาน ; นิพพานจึงมีความหมายเป็นความตาย.
    ต่อมาเด็ก ๆ ก็ได้รับคำบอกเล่าว่า พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว, ข้อนั้นสองพันกว่าปีมาแล้ว. เด็ก ๆ ก็คิดว่าพระพุทธเจ้าตาย ตายได้ ตายเป็น และตายได้ ; อย่างนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง แก่ความรู้ที่ถูกต้อง. เพราะว่าพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นตายไม่ได้ ที่มันดับได้ก็เรื่องสังขารทั้งนั้นแหละ : เกิดได้ก็สังขาร , ดับได้ก็สังขาร.
    พระพุทธเจ้าแท้จริง คือ ธรรม, ตัวธรรม ที่ไม่รู้จักตาย, ยิ่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นกฏของธรรมชาติแล้วมันยิ่งไม่ตายดอก ไม่รู้จักตาย แล้วไม่รู้จักเกิดด้วย ไม่รู้มันมาได้อย่างไร. คำนี้อธิบายยาก และไม่ต้องอธิบายดีกว่าว่าสัจจธรรมทั้งหลายที่เป็นกฏ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ; ถ้ามันเกิดได้ มันก็ดับได้.
    เดี๋ยวนี้มันไม่มีการดับเลย มันก็ต้องไม่มีการเกิดแล้วมันโผล่ขึ้นมาอย่างไร มันมาตั้งอยู่อย่างไร ยกไว้ว่า เป็นของที่ไม่ต้องอธิบาย ; เหมือนกับพระเจ้าทั้งหลาย คือพวกที่ถือพระเจ้า เขาจะไม่ตอบคำถามว่า ใครสร้างพระเจ้า, เขาไม่ต้องตอบ. พระเจ้าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เขาก็ไม่ต้องตอบ.
    สัจจธรรม หรือ พระธรรมในฐานะที่เป็นกฏนี้ก็เหมือนกัน ไม่มีใครสร้าง ไม่มีการเกิด ; แต่มีอยู่ตลอดเวลา. กฏแห่งปฏิจจสมุปบาท มีอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเกิด โดยไม่ต้องดับ. ใครเห็นเข้า ชื่อว่าเห็นธรรม, ใครเห็นธรรมชนิดนี้ ชื่อว่า เห็นพระพุทธเจ้า ; ฉะนั้นพระพุทธเจ้าต้องไม่เกิด ต้องไม่ดับ ต้องไม่ตาย ต้องไม่อะไรหมด ต้องเป็นนิรันดรด้วยเหมือนกัน.
    ฉะนั้นเรามีพระพุทธเจ้าชนิดนี้กันจะดีไหม ? ขอฝากไว้ให้ไปคิดดู. ถ้าดี, ต้องการ, แล้วก็มาสนใจเรื่องที่ว่าทำอย่างไร จึงจะมีพระพุทธจ้าชนิดนี้อยู่กับเนื้อกับตัว ?
    ต้องใช้ศิลปแน่นอน ; เพราะว่าการกระทำนี้งดงามเหลือประมาณ, การกระทำนี้มีประโยชน์เหลือประมาณ, การกระทำนี้ฝีมือละเอียดสุขุม ประณีตเหลือประมาณ. นี่ศิลป ก็คือ ปฏิบัติธรรมะอย่างมีศิลป ก็จะเข้าถึงตัวธรรมะ คือปฏิจจสมุปบาท เห็นพระพุทธเจ้าองค์จริง.
    เราตีความกันอย่างนี้ก็ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา, ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม. นี้ ถ้าผู้ใดมีธรรมะล่ะ ผู้นั้นก็ต้องมีเราซี, ผู้ใดมีเราผู้นั้นต้องมีธรรม, ผู้ใดมีธรรม ผู้นั้นมีเรา. เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ เราก็มีธรรม มีธรรมก็คือมีพระพุทธเจ้า ; ฉะนั้นเราก็มีพระพุทธเจ้า อยู่ได้โดยแท้จริง อยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา คือในใจของเรา.
    ข้อปฏิบัติเพื่อมีพระพุทธเจ้าอยู่ที่เนื้อตัว.
    นี่เราต้องเตรียมปฏิบัติ ให้เนื้อตัวของเราเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า : ปฏิบัติกาย วาจา ใจ ทิฏฐิ ความคิดความเห็นอะไรให้ถูกต้องให้สมบูรณ์ ; เนื้อตัวเราก็จะเป็นสิ่งที่เหมาะสม ที่จะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาประทับอยู่.
    ขอให้ใช้ศิลปแห่งการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา. และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือจะเป็นวิธีลัดอย่างใด ซึ่งให้มันเกิดอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ทั้งนั้น ; ปฏิบัติอานาปานสติอย่างเดียวให้เต็มที่ ให้สมบูรณ์จะมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา.
    ได้อธิบายแยกแยะให้เห็นชัดแล้วว่าส่วนไหนเป็นศีล, ส่วนไหนเป็นสมาธิ, ส่วนไหนเป็นปัญญา, ส่วนไหนเป็น มรรค ผล นิพพาน, ในอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ๑๖ ประการนั้น ; ไปดูได้, ไปเปิดดูได้, แล้วก็ทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง แล้วก็ปฏิบัติให้ซึมซาบด้วยใจ ด้วยธรรมจักษุ ด้วยปัญญาจักษุ ก็สำเร็จประโยชน์ ในการที่จะมีพระพุทธเจ้าอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา.
    แล้วอย่าลืมว่า ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาก็ดี, ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ดี, ปฏิบัติอาณาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น นั้นก็ดี ; ล้วนมีความหมายแห่งศิลปเหลือประมาณยิ่งกว่าประมาณ. คืองดงามอย่างยิ่ง มีประโยชย์สูงสุดแล้วละเอียด ประณีต สุขุมอย่างยิ่งในการปฏิบัติ.
    เอาละ, เป็นอันว่า พระพุทธเจ้านั้นไม่ตาย , พระพุทธเจ้าไม่ใช่คน ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่มาร ; อย่างพระพุทธภาษิตตรัสไว้เองว่า อย่าเรียกฉันว่า คนธรรพ ยักษ์ เทพ พรหม นั่นเลย มนุษย์ก็ยังไม่เรียก แต่จงเรียกฉันว่า พุทธะ เถิด. นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้.
    เห็นพุทธะคือเห็นธรรม, เห็นธรรมก็คือเห็นปฏิจจสมุปบาท, จิตใจที่เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นธรรมะนั้นจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าเสมอ ; จะของใครก็ตาม : ของพระสิทธัตถะนั้นก็ตาม ของพระสาวกก็ตาม, ของใครก็ตาม ; ถ้าเห็นสัจจธรรม, ธรรมสัจจะ ที่ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาทด้วยปัญญาจักษุ ด้วยธรรมจักษุแล้ว ก็ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ; เห็นธรรมะมีอยู่ในเรา ก็คือเห็นพระพุทธเจ้าในเรา.
    เราจะทำให้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในเราได้ โดยลักษณะแห่งโอปะปาติกะ. นี่ช่วยกันจำไว้ด้วยว่า เขามีความหมายสำหรับคำว่าโอปะปาติกะกันอย่างอื่นนะ. อาตมาไม่มีอย่างนั้น ; อาตมามีอย่างที่กำลังพูด คือข้อความมันมีว่าโอปะปาติกะนั้น คือการเกิดผลุงขึ้นมา เป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเต็มที่ คือโตเต็มที่เลย, ไม่ต้องผ่านพ่อผ่านแม่ไม่ต้องมีพ่อมีแม่ ; เกิดผลุงขึ้นมาเป็นอย่างนั้นเลย ทันทีทันควันเลย แล้วจะต้องไม่เป็นหญิงเป็นชายด้วย ไม่เป็นตัวผู้ตัวเมียด้วย.
    เกิดอย่างไร ? ลองคิดดู ไม่เกิดจากพ่อแม่, เกิดผลุงขึ้นมาโตเต็มที่ ไม่ต้องเป็นหญิงเป็นชายอะไร. เกิดอะไร ? เกิดอย่างไร ? เขาอธิบายว่าสัตว์ชนิดหนึ่ง กายทิพย์, กายทิพย์อะไร เรื่องมาก ไม่อยากฟัง ไม่อยากจำ. แต่อยากจะพูดว่า จิตที่เปลี่ยนไปสู่สภาวะอย่างอื่น นั่นแหละ คือ การเกิดใหม่, ไปเป็นอีกสภาพหนึ่ง. อย่างจิตบุถุชนเปลี่ยนไปเป็นจิตพระพุทธเจ้าอย่างนี้ มันเป็นการเกิดที่ไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ ไม่ต้องเป็นเด็กก่อน แล้วก็ไปโตขึ้น มันผลุงขึ้นมาเต็มที่เต็มตัว ไม่มีความเป็นหญิงเป็นชาย.
    เมื่อพูดอย่างนี้แล้ว ก็อยากจะให้ได้ยินกันต่อไปว่า พระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้น ไม่ใช่คน. ท่านห้ามไว้แล้วว่าอย่าเรียกฉันว่า มนุษย์ เทพ มาร พรหม คนธรรพ ; ให้เรียกฉันว่า พุทธะ ; แล้วพุทธะนั้น ไม่หญิง ไม่ชาย.
    พุทธะ นั้นยังไม่ใช่คนเสียอีก คือเป็นพุทธะ ซึ่งมีการเกิดอย่างที่เป็นพุทธะด้วยการตรัสรู้ ผลุงขึ้นมาจากจิตสภาพอย่างนี้ สู่จิตสภาพอย่างโน้น. ฉะนั้นร่างกายก็ไม่ใช่พุทธะ ; ร่างกายตายก็ตายไป ไม่ใช่พระพุทธเจ้าตาย ; พระพุทธเจ้ายังอยู่เสมอ, คือ ธรรมะนั้นยังอยู่เสมอ.
    นี่พระอรหันต์ก็เหมือนกันแหละ พระอรหันต์นั้น ไม่มีหญิง ไม่มีชาย. ที่เรียกว่า พระเถรี พระเถระ นั้นมันสมมติข้างนอก, สมมติข้างนอก ; แต่ตัวพระอรหันต์แท้ ๆ ไม่เป็นหญิง ไม่เป็นชาย, เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้า ไม่เป็นหญิง ไม่เป็นชาย, แล้วไม่เป็นมนุษย์ด้วย ; เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ปรากฏที่จิตอย่างหนึ่ง. อย่างนี้ อาตมาเรียกว่า การเกิดโดยโอปะปาติกะ โดยวิธีโอปะปาติกะ, เกิดเป็นพระพุทธเจ้า เกิดเป็นพระอรหันต์.
    ถ้าเกิดชนิดเลว ๆ ก็เกิดเป็นอันธพาล. เมื่อคนนั้นมันมีความคิดอย่างโจร, มันก็เกิดเป็นโจรในขณะจิตนั้นเต็มที่เลย. เมื่อมีความคิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานในขณะจิตนั้นเต็มที่เลย ; อย่างนี้เรียกว่าโอปะปาติกะเหมือนกัน คือเกิดโดยจิต, โดยไม่ต้องมีพ่อแม่, โดยไม่ต้องเป็นเด็กก่อน, และโดยที่ไม่ต้องเป็นหญิง เป็นชาย อะไรที่ไหน. มันอยู่เหนือบัญญัติ, หรือว่าเหนือความจำเป็นที่จะมีภาวะหญิง ภาวะชาย.
    แต่เราก็ต้องน่าเห็นใจแหละ ตั้งแต่เด็ก ๆ โน่น. เราได้รับการเรียนพุทธประวัติมา ; พระพุทธเจ้าเกิดออกมาเป็นเด็กชาย เป็นหนุ่ม แล้วแต่งงาน แล้วไปบวช แล้วเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. ท่านเป็นชายอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ; แล้วเราก็รู้ว่าเป็นท่านเป็นคน แล้วก็เป็นกษัตริย์, หรือว่าเป็นอะไรก็ตามที่เขาสมมติบัญญัติเรียกกันในสมัยนั้น. แต่พระพุทธเจ้าพระองค์จริง ท่านปฏิเสธว่า ไม่ใช่อย่างนั้น, เรียกฉันว่า พุทธะ คือจิตที่ตรัสรู้สว่างไสวดับเย็นนี้เป็นพุทธะ.
    นี้เราไม่ต้องเป็นห่วง เรื่องการเป็นคน เป็นสัตว์ ป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายอะไร, ไม่ต้องไปเป็นห่วงให้เสียเวลามุ่งหมายแต่ว่าให้เป็นจิตที่สว่างไสว แจ่มแจ้ง ; เหมือนกับแสงสว่างลุกขึ้นมา กำจัดความมืดให้หมดไป, หรือว่ามันดับความร้อนได้ ความร้อนดับไป ก็เย็นเป็นนิพพาน.
    นี้คือ การทำให้มีพระพุทธเจ้าอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา จนกระทั่งพูดได้โดยไม่ต้องกลัวผิดว่า เราเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ; เพราะว่าเราสมมติว่าจิตดวงนั้นเป็นเรา จิตที่มันเปลี่ยนเป็นจิต ที่รู้ เกิดขึ้นมาใหม่เป็นจิตรู้ แล้วก็ดับกิเลส แล้วก็เย็นเป็นนิพพาน จิตนั้นจึงเป็นพระพุทธเจ้า. เราก็ถือเอาจิตนั้นเป็นเรา, เราก็มีสิทธิที่จะเป็นพระพุทธเจ้าโดยลักษณะอย่างนี้.
    คิดดูซิ ศิลป หรือไม่ศิลป ? มันยากง่ายกี่มากน้อย ? มันมีประโยชน์กี่มากน้อย ? แล้วมันงดงามหรือไม่ ? ถ้ามันงดงามที่สุด มีประโยชน์ที่สุด ประณีต ละเอียดสุขุมที่สุด มันก็จัดเป็นศิลปได้, คือ การกระทำอย่างนี้ เป็นศิลปแห่งการมีพระพุทธเจ้าอยู่กับเนื้อกับตัวของเราตลอดเวลา. จะแขวนพระเครื่อง หรือไม่แขวนพระเครื่องไม่เป็นประมาณ, จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปหรือไม่ ก็ไม่เป็นประมาณ. เดี๋ยวนี้เรามีพระพุทธเจ้าองค์จริงอยู่ในเรา.
    เอาละ, เป็นอันว่า อาตมาได้พูดถึงศิลปที่เป็นชั้นปรมัตถะ ให้ท่านทั้งหลายฟังอีกข้อหนึ่ง เป็นข้อที่ ๘ ในวันนี้ ศิลปแห่งการมีพระพุทธเจ้าอยู่กับเนื้อกับตัว จนกลายเป็นตัวเราไปเสียเอง ซึ่งเป็นการบรรยายที่พอสมควรแก่เวลาแล้ว, และสมควรแก่อาตมาที่วันนี้รู้สึกอ่อนเพลียมาก

    แถมนะ และ จักเห็นว่าเถรวาท หรือ มหายาน วัชรยานนะไม่ต่างกันเลยนะ
     
  2. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    ตรีกาย

    เมื่อผู้อ่านได้อ่านผ่าน เรื่อง นิพพาน2แบบ ในหน้า1 ข้อความสุดท้ายแล้ว
    ก็ควรทำความเข้าใจเรื่องตรีกายเพื่อความเข้าใจมากขึ้นด้วย นะจ๊ะ นะจ๊ะ



    [​IMG]

    หลักการสำคัญประการหนึ่งของมหายานอยู่ที่หลักเรื่อง ตรีกาย อันหมายถึงพระกายทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า ในกายตรัยสูตรของมหายาน พระอานนท์ทูลถามถึงเรื่องพระกายของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตถาคตมีกายเป็น 3 สภาวะคือตรีกาย อันได้แก่

    นิรมาณกาย หมายถึง กายที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของสังขารในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระศากยมุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่บนโลก สั่งสอนธรรมแก่สาวกของพระองค์ และดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา

    สัมโภคกาย หมายถึง กายแห่งความบันเทิง มีลักษณะเป็นทิพยภาวะรุ่งเรืองแผ่ซ่านปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

    ธรรมกาย หมายถึง กายแท้จริงอันเป็นสภาวธรรม ในฐานะเป็นสภาพสูงสุด หลักแห่งความรู้ ความกรุณา และความสมบูรณ์

    มหายานชั้นแรกดูเหมือนจะมีทัศนะตรงกับเถรวาทที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระกายเพียง 2 เท่านั้นคือ ธรรมกาย และ นิรมานกาย ธรรมกายนั้นมีพระพุทธวจนะที่ตรัสโดยตรงในบาลีอัคคัญญสูตรแห่งทีฆนิกาย ส่วนนิรมาณกายนั้นได้แก่พระกายของพระศาสดาที่ประกอบด้วยขันธ์ 5 ในคัมภีร์ฝ่ายมาธยมิกชั้นแรก ก็ยังไม่พบกายที่ 3 ธรรมกาย ตามนัยแห่งเถรวาทหมายถึงพระคุณทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ มหายานได้สร้างแนวความคิดตรีกายขึ้นด้วยวิธีเพิ่มกายอีกกายหนึ่งเข้าไป คือ สัมโภคกาย ซึ่งเป็นกายของพระพุทธองค์อันสำแดงปรากฏให้เห็นเฉพาะหมู่ พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ เป็นทิพยภาวะมีรัศมีรุ่งเรืองแผ่ซ่านทั่วไป เพราะฉะนั้น แม้จนกระทั่งบัดนี้ พระโพธิสัตว์ก็ยังอาจจะเห็นพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้ในรูปสัมโภคกาย พระพุทธองค์ยังทรงอาจสดับคำสวดมนต์ต์ของเรา แม้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ดี ทั้งนี้ก็ด้วยการดับขันธปรินิพพานนั้นเป็นเพียงการสำแดงให้เห็นปรากฏในรูป นิรมานกายเท่านั้น ส่วน ธรรมกาย นั้น ก็เป็นสภาวะอมตะ ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด แผ่คลุมอยู่ทั่วไป ความคิดเรื่องสัมโภคกายนี้ มหายานได้รับจากนิกายมหาสังฆิกะ และในหมู่คณาจารย์ของมหายานก็ไม่มีความเห็นพ้องกันในเรื่องนี้

    อันที่จริง พระพุทธองค์มิใช่มีถึง 3 กาย คงมีแต่เพียงกายเดียว ตรีกายนั้นเป็นเพียงลักษณะของพระพุทธเท่านั้น ถ้ากล่าวตามทัศนะในแง่ความสมบูรณ์ ความเป็นสากล พระองค์ก็คือธรรมกายอันสูงล้ำ หรือถ้ามองจากทัศนะความเป็นอุดมคติ พระองค์ก็คือสัมโภคกายผู้สั่งสอนพระโพธิสัตว์ และช่วยเหลือพระโพธิสัตว์ในการทำงานปลดเปลื้องสรรพสัตว์จากกองทุกข์ อนึ่ง เมื่อพิจารณาตามทัศนะนิรมานกายพระองค์คือพระศากยมุนีผู้ประสูติ ณ สวนลุมพินี ได้ตรัสรู้สัจธรรม ภายใต้ต้นโพธิ์ และดับขันธปรินิพพาน เมื่อได้เผยแผ่พระพุทธธรรมตามพระปณิธานที่ได้ตั้งไว้ พระศากยมุนีนั้น มิใช่เป็นการสำแดงรูปของธรรมกายในรูปนิรมาณกายพุทธ เพราะการสำแดงรูปนิรมานกายนั้นมีมากหลาย ดุจมีบุคคลอุดมคติมากหลายของสัมโภคกาย แต่ธรรมกายพุทธที่สมบูรณ์นั้นมีอยู่เพียงหนึ่งเดียว

    เดี่ยวมาต่อกัน นะจ๊ะๆๆๆ อ่านสบายๆ แบบชิล ค่อยๆ อ่าน นะจ๊ะ นะจ๊ะ

    ที่มาจร้า
     
  3. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    สักพักจะมาต่อเรื่อง สุญญตา นะจ๊ะ นะจ๊ะ ^^
     
  4. โฮดี้โจนส์

    โฮดี้โจนส์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2011
    โพสต์:
    1,152
    ค่าพลัง:
    +1,487

    แล้วดีกับคุณนอดโลกยังครับ คุณขจรศักดิ์ ญาติระอา
     
  5. โฮดี้โจนส์

    โฮดี้โจนส์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2011
    โพสต์:
    1,152
    ค่าพลัง:
    +1,487
    อ้อ ที่ด่าว่าเธอเป็นโสเภณี เป็นน้องหลี่ นอนกับคนไม่เลือกหน้า นี่คุณสอนธรรมเธอรึครับ
     
  6. โปรเซดอน

    โปรเซดอน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กันยายน 2011
    โพสต์:
    376
    ค่าพลัง:
    +171


    ขอคั่นเวลา ขจรหมาบ้าหลุดมาอีกแล้ว
    ใครเห็นบ้าง เผลอไปกัดใครเข้าก็ช่วยตืบซ้ำให้ด้วยนะครับ
     
  7. โปรเซดอน

    โปรเซดอน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กันยายน 2011
    โพสต์:
    376
    ค่าพลัง:
    +171

    พูดไปก็ไร้ค่าท่านโฮดี้พูดกับมันก็ เข้าหูซ้่ายทะลุหูหมา
     
  8. โฮดี้โจนส์

    โฮดี้โจนส์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2011
    โพสต์:
    1,152
    ค่าพลัง:
    +1,487
    5555 ผมก็แค่คอยดูนะครับว่าเขาจะแถไงอีก คนนี้เขาเก่งอยู่แล้วนิครับ จริงไหมคุณพระยาธรรมมิกราชขจร
     
  9. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    ศูนยตา

    พื้นฐานอีกอย่างที่ควรเข้าใจในการศึกษา พุทธศาสนาผ่ายเหนือ คือเรื่อง ศูนยตา
    เพราะในพระไตรปิฏกมหายานก็กล่าวเรื่องนี้มาก แต่มีอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย



    [​IMG]


    ศูนยตา

    การผ่าตัดสายตาที่บัญญัติโลกของเรา ด้วยคมดาบของปรัชญาจะทำให้เรา ค้นพบศูนยตา คือ ความไม่มีอะไร ความเปล่า ความว่าง ความปราศจาก ทวิภาค และบัญญัติทั้งปวง พระพุทธพจน์ว่าด้วยธรรมข้อนี้ อันเป็นที่รู้จัก กันดี ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า " หฤทัยสูตร " แต่น่า สนใจยิ่งในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์แทบจะไม่ได้ตรัสอันใดเลย พระองค์ ตรัสเป็นนิคมพจน์เท่านั้นว่า " กล่าวได้ดีแล้ว กล่าวได้ดีแล้ว " แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ พระองค์ทรงสร้างสภาพการณ์ที่ผู้อื่นเป็นผู้ดำเนินวิสัชนาธรรม ว่าด้วยศูนยตาเอง แทนที่พระองค์จะทรงเทศนาด้วยพระองค์เอง พระองค์ มิได้ทรงสำแดงพระภาษิตของพระองค์ หากทรงสถาปนาสภาพการณ์ขึ้น ซึ่งช่วยให้พระธรรมเทศนาบังเกิดได้ และพระสาวกจะได้รับแรงบันดาลใจ ที่จะค้นพบและสัมผัสศูนยตา วิธีเทศนาธรรมแบบหนึ่ง

    พระสูตรบทนี้เล่าเรื่องเกี่ยวกับอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์ผู้เป็นองค์แห่งกรุณา และอุบายวิธี กับพระศารีบุตร ( สารีบุตร ) พระอรหันต์สาวกผู้เป็นธรรม เสนาบดีและองค์แห่งปรัชญาสำนวนญี่ปุ่นแปลกออกไปจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตอยู่บ้าง แต่ทั้งหมดก็มุ่งสู่ประเด็นที่ว่า พลานุภาพแห่งปรัชญา ได้ผลักดันให้อวโลกิเตศวร ตื่นขึ้นเห็นศูนยตา เป็นการวิสัชนาธรรมระหว่างอวโลกิเตศวรกับพระศารีบุตร ผู้เป็นองค์แห่งบุคคลผู้จิตใจเป็นวิทยา- ศาสตร์ อันเรียกได้ว่าความรู้ที่เที่ยงตรง พระศารีบุตรได้กลั่นกรองเอาพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์มาแสดง โดยอาจกล่าวได้ว่า มิได้เป็นการ ศรัทธาอย่างงมงาย หากเป็นการพิจารณาปฏิบัติ ทดลองและพิสูจน์พระธรรมเทศนานั้นดูแล้ว

    อวโลกิเตศวรได้กล่าว " ดูก่อนศารีบุตร รูปนั้นว่างเปล่า ความว่างเปล่า นั้นก็ไม่ผิดไปจากรูป " เราจะไม่พูดถึงรายละเอียดของพระสูตร แต่พระสูตร แต่จะพูดถึงความขั้นต้นเกี่ยวกับรูปและความว่างเปล่านี้ อันเป็นประเด็นหลักของพระสูตร เพราะเหตุนี้ เราจึงเข้าใจความหมายของคำว่า " รูป " ให้แจ่มแจ้งเสียก่อน

    รูปคือสิ่งที่เป็นอยู่ ก่อนที่เราจะว่างเค้าโครงบัญญัติอันใดของเราแก่มัน มันเป็นสภาวะเดิมแห่ง " สิ่งที่อยู่ที่นี่ " คือ ลักษณะอันสวยสด บรรเจิดจ้า น่าประทับใจ และสุนทรีย์ อันปรากฏในสภาพการณ์ทุกสภาพ รูป ประทับใจ และสุนทรีย์ อันปรากฏในสภาพการณ์ทุกสภาพ รูปอาจเป็น ใบโพธิ์ร่วงหล่น จากต้นลงสู่พื้นน้ำ อาจเป็นจันทร์วันเพ็ญ เป็นท่อน้ำ ข้างถนนหรือกองเศษอาหาร เหล่านี้แล คือ " สิ่งที่เป็นอยู่ " และทั้งหมด ก็ล้วนเป็นเยี่ยงเดียวกัน ทั้งหมดล้วนเป็นรูป เป็นสภาวะ เป็นเพียงสิ่งที่ เป็นอยู่ การประเมินพิจารณาสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในใจเราภายหลัง หาก เราเพียงแต่มองสิ่งเหล่านี้ตามที่มันเป็น มันจะเป็นเพียงรูปทั้งหลาย

    ฉะนั้น รูปจึงว่างเปล่า แต่ว่างจากอะไรเล่า รูปนั้นว่างจากบัญญัติล่วงหน้าทั้งหลายของเรา ว่างจากการตัดสินพิจารณาของเรา ถ้าเราไม่ประเมินและแยกแยะอาการที่ใบโพธิ์ร่วงหล่นพริ้วสู่ผืนน้ำว่าเป็นคู่ปรับกับ กองขยะในเมืองกรุง มันก็จะอยู่ที่นั่น คือสิ่งที่เป็นอยู่ ล้วนว่างจากบัญญัติคาดคิดของเรา เป็นตามที่มันเป็นอย่างเที่ยงตรง และแน่ละ กองขยะ ก็คือกองขยะ โบโพธิ์ก็คือใบโพธิ์ " สิ่งที่เป็นอยู่ " คือ " สิ่งที่เป็นอยู่ " รูปนั้นย่อมว่างเปล่า เมื่อเรามองมันโดยปราศจากการตีความของเราเอง

    [​IMG]

    แต่ความว่างเปล่าก็คือรูปด้วย นี่คือประเด็นสำคัญยิ่ง เราคิดว่าเราได้สลัด สิ่งทั้งหลายออกไป เราคิดว่าเราได้แลเห็นสิ่งทุกสิ่งว่า " เหมือนกัน " แล้ว หากเราสลัดบัญญัติคาดคิดทั้งหลายของเราออกไปได้ นั่นย่อมก่อให้เกิด ภาพสวยสด เพราะเราเห็นทั้งสิ่งดีและเลว ว่าล้วนดี เรียบร้อย ราบรื่นยิ่ง แต่ประเด็นต่อมาก็คือ ความว่างเปล่าก็เป็นรูปได้ด้วย ไม่ได้ว่างเปล่าจริง ความว่างเปล่าของกองขยะก็ยังเป็นรูปด้วย การพยายามมองสิ่งทั้งหลาย ว่าว่างเปล่าก็ยังห่อหุ้มมันได้ด้วยบัญญัติรูปกลับมาอีก มันง่ายอยู่ดอก ที่จะ สลัดบัญญัติทั้งหลายออกไป แล้วสรุปว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นตามที่มันเป็น แต่นั่นจะเป็นการหนี เป็นการปลอบประโลมตนเองอีกทางหนึ่งได้ เราจะ ต้องรู้สึก ให้ได้จริงถึงสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น คุณลักษณ์แห่งความเป็น กองขยะก็ดี คุณลักษณ์แห่งความเป็นใบของโพธิ์ก็ดี ความเป็น ของสิ่ง ทั้งหลายก็ดี เราจะต้องรู้สึกให้เหมาะเจาะ ไม่ใช่เพียงแต่ประทับตราความ ว่างเปล่าให้แก่มัน นั่นไม่ได้ช่วยอะไรเลย เราจะต้องมองเห็น " ความเป็น " ของสิ่งที่อยู่ที่นั่น เห็นคุณลักษณ์อันหยาบและกระด้างของสิ่งทั้งหลาย ตามที่มันเป็น นี่เป็นวิธีมองโลกได้อย่างแม่นยำยิ่ง ดังนั้น แรกทีเดียวเราจะ ปัดบัญญัติคาดคิดอันหนักอึ้งทั้งหลายของเราออกไป ใช่แต่เท่านั้น เรายัง ต้องปัดคำอันประณีตลึกซึ้งอย่างคำว่า " ว่างเปล่า " ออกไปด้วย ทำให้ เราไม่อยู่ในแห่งหนตำบลใด หากอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่โดยสิ้นเชิง

    ท้ายที่สุด เราจะมาถึงข้อสรุปที่ว่า รูปก็เป็นเพียงรูป ความว่างเปล่าก็เป็น เพียงความว่างเปล่า ในพระสูตรอธิบายว่าเป็นการเห็นรูป ว่าไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากความว่างเปล่า และเห็นความว่างเปล่าว่าไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากรูป ทั้งสองต่างแบ่งแยกจากกันไม่ได้ เราจะแลเห็นได้ว่า การมองหา ความหมายทางปรัชญาหรือสุนทรียภาพให้แก่ชีวิตเป็นเพียงทางหนึ่งที่เรา ตัดสินตัวเราเอง โดยนึกเสียว่า สิ่งทั้งหลายหาได้เลวร้ายอย่างที่คิดไม่ แต่ อันที่จริงแล้ว สิ่งทั้งหลายล้วนเลวร้ายเพราะความคิดเรานั่นเอง รูปคือรูป ความว่างเปล่าก็คือความว่างเปล่า สิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่มันเป็น เราไม่ต้อง พยายามมองมันด้วยความลึกซึ้งใด ๆ แล้วเราจะกลับมาติดดิน เห็นสิ่งทั้ง หลายตามที่มันเป็น นี่ไม่ได้หมายความว่า จะบังเกิดมีตาทิพย์ที่น่าตื่นเต้น อันใด ทำนองเห็นเทวดา คนธรรพ์ หรือได้ยินเสียงสวรรค์กระนั้น แต่เรา จะเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นตรงตามคุณลักษณะของมัน ดังนั้น ในกรณี นี้ ศูนยตาจึงเป็นการปราศจากบัญญัติหรือม่านกรองใด ๆ อย่างสิ้นเชิง ปราศจากแม้กระทั่งบัญญัติว่า " รูปนั้นว่างเปล่า " หรือ " ความว่างเปล่าคือรูป " สิ่งสำคัญอยู่ที่ การมองโลกอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องปรารถนาความ สำนึกรู้ " ขั้นสูง " หรือสาระสำคัญอันลึกซึ้งใด ๆ เป็นเพียงการรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างจะจะตรงตามที่มันเป็น

    เราอาจสงสัยว่า แล้วเราจะนำเอาหลักธรรมนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างไร เล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนา ว่าด้วยศูนยตานี้เป็นปฐม พระอรหันต์เจ้าบางองค์ถึงกับหัวใจกำเริบ แล้ว ดับขันธ์ไปเพราะผลกระทบของพระธรรมเทศนานี้ เพราะในการทำสมาธิภาวนาพระอรหันต์เหล่านี้ยังซึมซาบอยู่กับที่ว่าง ยังต้องกำหนดที่ว่างเป็นอารมณ์ เป็นอิงอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่ายังมีตัวประสบการณ์และ ผู้รับรู้ประสบการณ์อยู่ ส่วนหลักศูนยตานี้เป็นการไม่อิงอาศัยสิ่งใด ไม่แบ่ง แยกระหว่างนี้กับนั้นและไม่อยู่ในแห่งหนตำบลใดทั้งสิ้น

    ถ้าเรามองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เราก็ไม่ต้องตีความหรือวิเคราะห์ มันให้มากความ เราไม่จำเป็นต้องพยายามเข้าใจสิ่งทั้งหลายด้วยการประทับ ตราประสบการณ์ ทางศาสนธรรม หรือความคิดปรัชญาใด ๆ ให้กับมัน นี้เป็นดั่งที่อาจารย์เซนเคยกล่าว " เมื่อฉันกิน ฉันก็กิน เมื่อฉันนอน ฉันก็ นอน " ขอเพียงแต่ทำสิ่งที่คุณทำอยู่อย่างบริบูรณ์ อย่างเต็มเปี่ยม การทำดัง นี้คือการเป็น ฤาษี คือบุคคลผู้สัตย์ซื่อ เปี่ยมด้วยความจริงและตรงไปตรง มา ไม่แบ่งแยกระหว่างนี้กับนั้น เขาย่อมทำการอย่างเจาะจงตรงเผ็ง ตาม ที่มันเป็น เขากินเมื่อเขาต้องการกิน เขานอนเมื่อเขาต้องการนอน ในบางที่พระพุทธองค์ทรงได้รับการขนานนามว่า มหาฤาษี ฤาษีผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่พยายามขวนขวายที่จะเป็นอยู่อย่างเปี่ยมด้วยความจริง หากเป็นจริงอยู่แล้ว ในสภาวะอันเปิดแล้วของพระองค์

    การตีความศูนยตา ดังที่เรากำลังถกกันอยู่นี้ เป็นมติของปรัชญา มาธยมิก หรือ " ฝ่ายกลาง " ที่ท่านนาคารชุนได้ก่อตั้งขึ้น เป็นประสบการณ์ในความจริงอันไม่อาจบรรยายได้อย่างแม่นยำ เพราะคำพูดก็ยังไม่ใช่ตัวประสบการณ์นั้น คำพูดหรือบัญญัติเป็นเพียงเครื่องชี้ ไปยังแง่มุมบางส่วนของประสบการณ์ จึงเป็นเรื่องชวนสงสัยว่าเราจะสามารถพูดถึงความเป็นจริงที่ได้ " ประสบ " ได้กระนั้นหรือ เพราะนี่ย่อมเป็นการแบ่งแยกระหว่างตัวผู้ประสบกับ ตัวประสบการณ์นั้น ใช่แต่เท่านั้น ยังน่าสงสัยอีกว่าเราจะพูดถึงตัว " ความจริง " นั้นได้ล่ะหรือ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะต้องมีตัวผู้รู้อยู่นอกเหนือจาก สิ่งที่รับรู้ ดังกับว่าความเป็นจริงนั้น เป็นสิ่งที่มีบัญญัติ เป็นสิ่งที่มีข้อจำกัด และขอบเขตที่แน่นอน ดังนั้นฝ่ายมาธยมิกจึงเพียงแต่พูดถึงตถตา คือ " ตาม ที่มันเป็น " ท่านนาคารชุนชอบที่จะโต้แย้งสำนักปรัชญาอื่นตามแง่มุมภาษา และวิธีนำเสนอของสำนักนั้น ๆ แล้วใช้ตรรกวิทยาของสำนักนั้นหักล้าง ตนเอง ยิ่งกว่าจะเสนอคำจำกัดความของความเป็นจริงต่างหากไปด้วยตัว ของท่านเอง
     
  10. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    มีต่ออีก นะจ๊ะ นะจ๊ะ ค่อยๆต่อ ทีละนิดๆ ^^
     
  11. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    [​IMG]

    มีปรัชญาอยู่หลายสำนักใหญ่ ๆ ที่พูดถึงสัจจะ และความเป็นจริงมาก่อนหน้านั้น ทั้งยังมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของสำนัก มาธยมิก กระแสความคิดเหล่านี้ไม่เพียงแต่สำแดงในรูปของสำนักพุทธปรัชญาในยุคที่มาก่อน หากยังรวมถึงสำนักเทวนิยมอย่าง ฮินดู เวทานตะ อิสลาม คริสต์ และ คติทางปรัชญาและศาสนาอื่น ๆ ตามมติของสำนักมาธยมิก อาจจัดสำนักเหล่านี้ได้เป็นสามกลุ่มคือ ฝ่ายสัสสตวาท ๑ ฝ่ายนัตถิกวาท ๑ และฝ่าย อาตมวาท ๑ สองฝ่ายแรก สำนักมาธยมิกถือว่าเป็นความเห็นผิด ส่วน ฝ่ายหลังสุดถือว่าเห็นถูกเพียงส่วนเดียว

    ในบรรดาบัญญัติผิด ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของความจริงนั้น สัสสตวาท ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดที่สุด และมักเป็นความเห็นทางเทววิทยาอย่างตื้น ๆ คำสอนฝ่ายสัสสตวาทมักมองปรากฏการณ์ว่า มีตัวตนอันยั่งยืนดำรงอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดดับ แต่สิ่งทั้งหลายก็ยังมีสาระบางอย่างที่เที่ยงแท้ อยู่ เพราะเหตุที่ภาวะอันเป็นนิรันดร์นั้นจะต้องอิงอยู่กับบางสิ่ง ผู้ถือลัทธินี้ จึงมักสมัครใจเชื่อในพระเจ้า วิญญาณ อาตมัน หรือตัวตนอันไม่อาจ บรรยายได้นั้น และประกาศว่ามีบางสิ่งที่ดำรงอยู่เป็นรูปทรงไม่ดับสูญ เป็นนิรันดร์ เป็นการหารูปทรงบางอย่างไว้ยึดเหนี่ยวอิงอาศัย เป็นความเข้าใจที่หยุดนิ่ง เกี่ยวกับโลกและความสัมพันธ์ที่ตนมีต่อมัน

    อย่างไรก็ดี ต่อมาสัสสตวาทิกนี้เริ่มคลางแคลงใจในพระเจ้าเพราะเหตุ ที่ตนไม่เคยพบเห็นพระเจ้า วิญญาณ หรือสารัตถะอันเป็นนิรันดร์นั้น ความคลางแคลงนี้จึงนำเรามาสู่บัญญัติผิด ๆ เกี่ยวกับความจริงที่ดูซับซ้อนยิ่งขึ้น นั้นคือบัญญัติฝ่ายนัตถิกวาท ความเห็นฝ่ายนี้ถือว่า ทุกสิ่ง ล้วนมีกำเนิดมาแต่ความไม่มีอะไร เป็นสิ่งลี้ลับ บางทีนัตถิกวาทก็เป็น ได้ทั้งฝ่ายเทวนิยมและอวเทวนิยม โดยประกาศว่า องค์พระเจ้านั้นเป็น สิ่งที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ โดยประกาศว่า องค์พระเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจ หยั่งรู้ได้ อาทิตย์ส่องแสงมายังโลก ช่วยให้ชีวิตเติบโต ให้ความร้อน และแสงสว่าง แต่เราไม่อาจค้นพบจุดกำเนิดของชีวิตได้ ไม่มีเหตุผลใดจะอธิบายได้ว่าจักรวาลถือกำเนิดมาสถานใด ชีวิตและโลกล้วนเป็น เพียง มายา เป็นภาพลวง สิ่งทั้งหลายผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้กำเนิดมาแต่ ไหน ในแง่นี้ความไม่มีอะไรจึงเป็นสาระสำคัญ ความไม่มีอะไรจึงเป็น ความจริงที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ ซึ่งอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหมด จักร- วาลถือกำเนิดมาอย่างลี้ลับ อธิบายไม่ได้เลย และนัตถิกวาทิกอาจถือ ว่า ใจมนุษย์ย่อมไม่อาจเข้าใจความลี้ลับนี้ได้ ในแง่นี้ ความลี้ลับจึงเป็น เสมือนสิ่งหนึ่ง เป็นการให้คำตอบว่า ไม่มีคำตอบใดจะให้ยึดถือหรือ อิงอาศัยได้

    นัตถิกวาทจะก่อให้เกิดความเห็นในทางไสยศาสตร์ คุณขบคิดได้ว่า เมื่อ คุณทำสิ่งหนึ่ง สิ่งทั้งหลายจะมีปฏิกริยาโต้ตอบกลับมา คุณจะแลเห็นเหตุ และผลที่ต่อเนื่องกันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่คุณบังคับควบคุมไม่ได้ และลูกโซ่ นี้ก็ผุดมาแต่ " ความไม่มีอะไร " อันลี้ลับ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณฆ่าใครสักคน นั่นเป็นเพราะกรรมบงการ อย่างไม่มีวันเลี่ยงได้ และถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และถ้าคุณทำดี นั่นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับว่าคุณกำลังมีสติหรือไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนกำเนิดมาแต่ " ความไม่มีอะไร " อันลี้ลับนี้ ฝ่ายนัตถิก- วาทย่อมถือเช่นนี้ แต่วิธีปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้กับความลี้ลับนี้เป็นสิ่ง ไร้เดียงสายิ่ง เมื่อใดที่เรารู้สึกลังเลสงสัย ในสิ่งที่อยู่เหนือความคิดบัญญัติ ของเรา เราจะสับสนอลหม่าน เรากลัวว่าเราจะไม่มั่นคง เราจึงหาบางสิ่ง อย่างมากมายมาถมช่องว่างนั้น บางสิ่งบางอย่างนี้มักเป็นความเชื่อทาง ปรัชญา และในกรณีนี้ ก็ได้แก่ความลี้ลับ เราจะดิ้นรนหิวหาความไม่มี อะไร สำรวจไปทุกซอกทุกมุมเพื่อค้นพบความไม่มีอะไรนี้ แต่สิ่งที่เรา พบก็เป็นเพียงเศษขุย ไม่มีอะไรอื่นเป็นความลี้ลับ และตราบใดที่เรายัง เฝ้าหาคำตอบในทางบัญญัติ ตราบนั้นเราก็ยังจะพบแต่ความลี้ลับซึ่งโดย ตัวของมันเองก็เป็นอีกบัญญัติหนึ่ง

    ไม่ว่าจะเป็นสัสสตวาท หรือนัตถิกวาทหรืออาตมวาท ต่างฝ่ายต่างก็ มีสมมุติให้มี " สิ่งลี้ลับ " ด้วยกันทั้งสิ้น อันเป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้ ได้แก่ ความหมายของชีวิตบ้าง ต้นกำเนิดแห่งจักรวาลบ้าง กุญแจอันจะไข ไปสู่ความสุขบ้าง แล้วเราก็จะพยายามหาสิ่งลี้ลับนี้ พยายามจะเป็น บุคคลผู้รู้และครอบครองความลี้ลับนั้นและอาจตั้งชื่อให้ต่าง ๆ นานา ว่า พระเจ้าบ้าง วิญญาณบ้าง อาตมันบ้าง พรหมบ้าง ศูนยตาบ้าง และ อื่น ๆ มาธยมิกย่อมไม่มองความจริงเยี่ยงนี้ แต่ฝ่ายหินยานในยุคต้น ๆ มักตกหลุมพรางดังกล่าว เป็นเหตุให้พบความจริงได้แต่บางส่วน

    การมองความเป็นจริงในแง่ที่ตกหลุมพรางนี้ ทำให้เห็นความไม่เที่ยง ( อนิจจลักษณะ ) ว่าเป็นหนึ่งความลี้ลับอย่างใหญ่ สิ่งใดมีเกิด ย่อมมี ความแปรปรวน และดับไปในที่สุด เป็นธรรมดา แต่เรากลับมองไม่เห็นตัวความไม่เที่ยงนั้น เราเห็นโฉมหน้าของมันดั่งว่าเป็นรูปลักษณ์ อย่างหนึ่ง ฝ่ายหินยานตกหลุมพรางนี้จึงมองจักรวาลในรูปอัตตาย่อย ๆ ที่ดำรงอยู่ในที่ว่าง และเวลาก็คือตัวตนของชั่วขณะหนึ่ง ๆ ที่มีอยู่อย่าง ต่อเนื่องกันในกาลเวลา ด้วยเหตุนี้จึงนับเป็นพหุอาตมวาท ศูนยตาตามความเข้าใจของหินยานนี้ จึงเป็นเพียงธรรมชาติอันแปรเปลี่ยนและไร้ แก่นสารของรูป การภาวนาตามแบบหินยานจึงมักมีสองลักษณะ คือ เฝ้าพิจารณาแง่มุมของความไม่เที่ยง เช่น กระบวนการเกิด เจริญ เสื่อม ดับ และ รายละเอียดของมัน และใช้สติกำหนดรู้ความไม่เที่ยงของสภาพ ทางจิต พระอรหันต์ตามนัยหินยานนี้ จะเห็นสภาพภายใต้จิตและสภาพ วัตถุภายนอกเป็นอย่างความเกิดขึ้นของขณะหนึ่ง ๆ มาต่อกันและอัตตา ส่วนย่อย ๆ มาต่อกัน ด้วยวิธีนี้ จึงพบว่าไม่มีสิ่งที่เที่ยงแท้หรือเป็นตัว เป็นตนดำรงอยู่ แต่วิธีนี้ก็ยังบกพร่องตรงที่ยังบัญญัติภาวะทั้งหลายว่า เป็นสัมพันธภาพ เป็นการดำรงอยู่ของ " นี่ " สัมพันธ์กับ " นั่น "

    เราคงได้แลเห็นแง่มุมของสัสสตวาท นัตถิกวาท และอาตมวาทนี้ได้ใน ระบบปรัชญาและศาสนาหลัก ๆ ทั้งหลายในโลก ไม่มากก็น้อย ในแง่ ของมาธยิก บัญญัติความจริงอย่างผิด ๆ เช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้ ตราบใดที่เรายัวงพยายามหาคำตอบให้แก่คำถามที่สมมุติกันขึ้น ตราบใดที่เรายังพยายามตรวจสอบวินิจฉัยสิ่งที่เรียกว่า " ความลี้ลับ " แห่งชีวิต ความเชื่อในสิ่งใดก็ตาม ยังเป็นเพียงการตีตราให้แก่ความลี้ลับ นั้น มีสำนักฝ่ายมหายานสำนักหนึ่งคือ โยคาจาร สำนักนี้พยายามจะ กำจัดความลี้ลับนี้ไปเสีย ด้วยการเชื่อมโยงระหว่างความลี้ลับดังกล่าว กับโลกแห่งปรากฏการณ์

    หลักใหญ่ใจความของสำนักโยคาจารคือหลักของความรู้โดยถือว่าความ ลี้ลับคือตัวปัญญาที่กระทำความรู้กับปรากฏการณ์เข้าด้วยกัน ว่าแบ่งแยก จากกันหาได้ไม่ ฉะนั้น ผู้รู้ในฐานะ ปัจเจกบุคคล จึงไม่อยู่ แต่เป็นการรู้ ชนิด " รู้ตัวเอง " โยคาจารถือว่า มีเพียง " ใจหนึ่งเดียว " เท่านั้น โดยเรียกว่าเป็น " ความรู้อันโชติช่วงอยู่เอง " และทั้งความคิดและอารมณ์ ทั้งผู้คนและต้นไม้ต่างก็เป็นแง่มุมต่าง ๆ ของสิ่งนั้น ฉะนั้น เมื่อครั้งโบราณสมัย สำนักนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า จิตมาตร หรือ สำนัก " เพียงใจ "
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 มกราคม 2012
  12. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    [​IMG]
    โยคาจารจึงเป็นสำนักพุทธสำนักแรกที่ไปพ้นจากการแบ่งแยก ระหว่าง ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ โยคาจาริกอธิบายว่าความทุกข์และความสับสนทั้งหลาย ล้วนมีมูลมาแต่ความเชื่อผิด ๆ ว่ามีผู้รู้ที่แยกต่างหากอยู่ หากบุคคลเชื่อ ว่าตนรู้โลก ใจจะถูกแบ่งแยก แม้โดยผิวเผินจะดูแจ่มใส แต่ย่อมมีความสับสนอยู่เอง บุคคลผู้สับสนจะรู้สึกว่า ตนนึกคิดได้ และก่อปฏิกิริยากับ ปรากฏการณ์ภายนอกได้ ดังนี้ เขาจึงถูกกักอยู่ในสภาพการณ์ที่มีกิริยา และปฏิกิริยาโต้ตอบกันอย่างไม่หยุดยั้ง แต่สำหรับบุคคลผู้ตรัสรู้แล้วเขา ย่อมตระหนักได้ว่า ความรู้สึกนึกคิดดี ๆ สิ่งที่เรียกว่าโลกภายนอกก็ดี ทั้งสองฝ่ายล้วนเป็นเพียง " การละเล่นของใจ " เขาย่อมไม่ถูกกักกันอยู่ ในการแบ่งแยกระหว่างตัวผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ภายในกับภายอก ผู้รู้กับสิ่งถูกรู้ ฉันกับสิ่งอื่น ๆ เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นการรู้ตนเอง

    อย่างไรก็ตาม ท่านนาคารชุนก็ยังแย้งหลัก " เพียงใจ " ของโยคาจาริก โดย ตั้งคำถามไปที่การดำรงอยู่ของใจ ท่านมีความแตกฉานในคัมภีร์ปรัชญา- ปารมิตา ทั้งสิบสองเล่ม อันเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเมื่อครั้ง ที่ทรงเคลื่อนกงล้อธรรมจักรเป็นวาระที่สอง เป็นพระธรรมเทศนาในช่วง มัชฌิมของพระองค์ ครั้นแล้ว ท่านนาคารชุนจึงได้สรุปหลักใหญ่ใจความ อยู่ที่ " การไม่อิงอาศัยด้วยประการทั้งปวง " อันเป็นหลักใหญ่ของสำนัก มาธยมิก ท่านระบุว่า ความเห็นทางปรัชญาใด ๆ ล้วนพิสูจน์ว่าผิดได้ทั้งนั้น เราจะต้องไม่อิงอาศัยกับคำตอบหรือคำอธิบายความเป็นจริงใด ๆ เลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นที่สุดโต่งหรือแม้ที่เป็นสายกลาง รวมทั้งข้อสรุปที่ว่า " ใจหนึ่งเดียว " แม้แต่การระบุว่าคำตอบอยู่ที่การไม่อิงอาศัย ก็ไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์ มรรควิถี ของท่านคารชุนก็คือการไม่สร้างปรัชญา ซึ่งมรรควิถีนี้ก็หาได้เป็นปรัชญา อีกแบบหนึ่งแต่อย่างใดไม่ ท่านกล่าวว่า " ผู้ฉลาดย่อมไม่อิงอาศัยแม้ใน สายกลาง เช่นกัน "

    ปรัชญามาธยมิกจึงเป็นการวิจารณ์ทฤษฏีของฝ่ายโยคาจารที่ว่าทุกอย่าง ล้วนเป็นแง่มุมของใจด้วย โดยแย้งว่า " ถ้ากล่าวว่าใจมีอยู่หรือทุกสิ่งล้วน เป็นการละเล่นของใจหนึ่งเดียว ก็หมายความว่า มีผู้เฝ้าดูใจอยู่ คือผู้รู้ใจ ที่ยืนยันการดำรงอยู่ของ ใจ " เพราะฉะนั้น โยคาจารจึงเป็นทฤษฏีของ ผู้เฝ้าดูอยู่นี้ แต่ตามปรัชญาของโยคาจารที่ว่าด้วยความรู้อันโชติช่วงอยู่เอง นั้น ความคิดเชิงอัตวิสัยเกี่ยวกับสภาพหนึ่ง ๆ ล้วนเป็นมายา จะไม่มีผู้รู้ และผู้ถูกรู้ มีแต่ใจหนึ่งเดียว ซึ่งผู้เฝ้าดูก็เป็นส่วนหนึ่งรวมอยู่ด้วย โดย นัยนี้ การสรุปว่าใจหนึ่งเดียวดำรงอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดั่งนัยน์ตาที่ไม่ อาจแลเห็นตัวมันเองได้ หรือมีดโกนก็ไม่อาจกรีดตัวเองได้ฉันใด ความรู้ อันโชติช่วงอยู่เองก็ย่อมไม่อาจแลเห็นตัวเองได้ฉันนั้น เพราะโยคาจาร เองก็ย่อมรับอยู่เช่นกัน ว่าไม่มีผู้ใดไปรับรู้ได้ว่าใจหนึ่งเดียวนั้นมีตัวตน อยู่

    แล้วเราจะพูดถึงใจหรือความเป็นจริงได้อย่างไรเล่า ในเมื่อไม่มีผู้ใด รับรู้ใจหรือความเป็นจริง และที่ระบุการดำรงอยู่เป็น " สิ่ง " หนึ่ง ๆ หรือเป็น " รูป " ก็ล้วนเป็นมายา ความจริงก็ไม่มี ผู้รับรู้ความจริงก็ ไม่มี ความคิดเกิดแต่การรับรู้ความเป็นจริงก็ไม่มี แต่เมื่อเราขจัดสมมติ บัญญัติเกี่ยวกับใจและความเป็นจริงออกไป สภาพการณ์จะผุดขึ้นมา อย่างแจ่มชัดเอง ตามที่มันเป็น ไม่มีผู้ใดเฝ้าดูอยู่ ไม่มีผู้ใดรับรู้อะไร ความเป็นจริงเพียงแต่เป็นอยู่อย่างนั้น และนี่คือความหมายของ " ศูนยตา " ด้วยญาณหยั่งรู้ดังนี้เอง ที่ตัวผู้เฝ้าดู ซึ่งคอยแยกเราจากโลก จะถูก ขจัดออกไป

    แล้วความเชื่อว่ามีตัว " ฉัน " กับความสับสนกระเจิดกระเจิงทั้งหลาย เหล่านี้ถือกำเนิดมาแต่ไหนกัน อธิบายอย่างคร่าว ๆ มาธยมิกเห็นว่า เมื่อ การรับรู้ในรูปเกิดขึ้น จะเกิดปฏิกิริยาในเชิงลุ่มหลงและระส่ำระสายขึ้น ในส่วนที่สมมติกันว่าเป็นผู้รับรู้อยู่โดยนัย ปฏิกิริยานี้นี้แทบจะเกิดขึ้น พร้อมกับการรับรู้ก็ว่าได้ อาจห่างกันแค่เสี้ยวของเสี้ยววินาที และทันที ที่เราจำได้หมายรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เราจะตั้งชื่อให้มัน ครั้นตั้งชื่อให้แล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือบัญญัติปรุงแต่งต่อไป เราจะบัญญัติสิ่งนั้นว่าเป็นเช่น นั้นเช่นนี้ ซึ่งก็หมายความว่า เราไม่สามารถรับรู้สิ่งนั้น ๆ ตามที่มันเป็น แล้ว เราได้สร้างม่านกรองหรือฉากบังตาขึ้นระหว่างตัวเรากับสิ่งนั้น นี่เองที่เป็นสิ่งที่ยับยั้งไม่ให้ความสำนึกรู้อย่างต่อเนื่องดำเนินไปได้ ทั้งใน ระหว่างและหลังการทำสมาธิภาวนา ฉากบังตานี้จะคอยกันเราไม่ให้มี ความสำนึกรู้กว้างไกล ให้เคลื่อนจากสภาวะที่เป็นสมาธิภาวนา เพราะ เราย่อมอาจไม่แลเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นได้ เป็นอยู่อย่างนี้ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เราถูกบีบให้ตั้งชื่อ แปลความหมาย คิดไปเรื่อยเปื่อย และสิ่งเหล่า นี้ก็จะจูงเราถอยห่างจากการรับรู้ที่ตรงดิ่งแม่นยำ เพราะฉะนั้น ศูนยตาจึง หาใช่เป็นเพียงการสำนึกรู้ว่าเราเป็นไฉน เป็นอย่างไร เมื่อสิ่งนี้สิ่งนั้น มากระทบ หากเป็นความแจ่มชัดซึ่งพ้นไปจากบัญญัติบังตาและความ สับสนสิ้นเปลืองทั้งหลาย เราจะไม่หลงอยู่กับสิ่งภายนอก และก็ไม่ไป ข้องเกี่ยวอย่างมีตัวตน เป็นอิสระจาก นี่ และ นั่น เหลือแต่ที่ว่างที่ปราศ จากแบบแผนแบ่งแยก ระหว่างนี่กับนั่น ความหมายของทางสายกลาง หรือมาธยมิก เป็นดังที่กล่าวมานี้แล

    ประสบการณ์ในเรื่องศูนยตา จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดการรู้จักใช้ศีล และกลวิธีเป็นพื้นฐาน กลวิธีจำเป็นต่อการเริ่มต้น แต่ถึงขั้นหนึ่งแล้วก็ จำเป็นต้องละเสีย และถ้ามองจากแง่มุมของผลที่สุดแล้ว กระบวนการ ชนิดเรียนรู้กับปฏิบัติ หาจำเป็นอย่างใดไม่ เราสามารถรับรู้ภาวะไร้อัตตา ได้ ในชั่วขณะหนึ่ง แต่เราย่อมไม่ยอมรับความจริงพื้น ๆ เยี่ยงนั้น กล่าว อีกนัยหนึ่งเราจะต้องเรียนรู้ที่จะไม่เรียนรู้ เพราะกระบวนการทั้งหมด อยูที่การถอดถอนอัตตาออกไป โดยเริ่มตั้งแต่เรียนรู้ที่จะจัดการกับความ คิดและอารมณ์อันกระเจิดกระเจิง ความเข้าใจในเรื่องความว่างและการ เปิดจะขจัดบัญญัติผิดพลาดทั้งหลายออกไป นี้เป็นประสบการณ์แห่ง ศูนยตา อันหมายถึง " ความว่าง " " ความเปล่า " คือ " ที่ว่าง " นั่นเอง เป็นการว่างจากความคิดบัญญัติทั้งหลาย เพราะเหตุนี้ ท่านนาคารชุนจึง กล่าวไว้ใน ความเห็นเกี่ยวกับมาธยมิก อันเป็นงานชิ้นสำคัญของท่านว่า " ก็ดุจดังดวงอาทิตย์ย่อมขจัดความมืดแล ปราชญ์ผู้อุดมย่อมพิชิตอนุสัย ผิด ๆ ในใจเสียได้ เขาย่อมไม่เห็นจิตใจหรือความคิดใด ๆ อันเกิดแต่ใจ "

    หฤทัยสูตร จบลงด้วย " คาถาอันยิ่ง " ได้แก่มนตร์ คือ ที่กล่าวเป็น คติธิเบตว่า " ฉะนั้น ควรเข้าใจเถิดว่า มนตร์แห่งโลกุตรปัญญา มนตร์ แห่งญาณอันลุ่มลึก มนตร์อันมิมีใดเทียบเทียม มนตร์อันมิมีใดเสมอ เหมือน มนตร์อันสงบรำงับทุกข์ทั้งหลายนี้ คือความจริงแล ไม่อาจ เป็นเท็จไปได้ " อานุภาพแห่งมนตร์นี้ หาได้มาจากอำนาจวิเศษลี้ลับ ของคำไม่ หากมาจากความหมายของคำต่างหาก ที่น่าสนใจคือ เมื่อ พระสูตรได้จบใจความอันว่าด้วยศูนยตา คือ รูปนั้นว่าง ความว่าง ก็คือรูป รูปไม่ใช่อะไรอื่นอกจากความว่าง ความว่างเป็นหนึ่งเดียว กับรูป และอื่น ๆ แล้ว ใจความในพระสูตรยังกล่าวถึงมนตร์ต่อไป ใจ ความช่วงแรกเป็นการพูดถึงสภาวะในการบำเพ็ญสมาธิภาวนา ส่วนใน ช่วงท้ายเป็นการพูดถึงมนตร์หรือคำ เพราะแรกทีเดียวเราจะต้องเกิด ความมั่นใจในความรู้ความเข้าใจของเราเสียก่อน ขจัดสมมติบัญญัติ ทั้งหลายของเราออกไป ไม่ว่าจะเป็นสัสสตวาท หรือนัตถิกวาท บุคคลต้องไปพ้น ต้องตัดเชือกความเชื่อทั้งหลาย และเมื่อบุคคลได้ สำแดงตอย่างหมดเปลือก เปลื้องผ้าออกล่อนจ้อน ลอกหน้ากากออก หมดไม่เหลือ เปลือยเปล่าเปิดออกอย่างสิ้นเชิงแล้ว ชั่วขณะนั้นแล เขาจะเห็นอำนาจของคำ เมื่อเราได้ถลกหนังกำพร้าของอาการหน้า ไหว้หลังหลอกทั้งหลายออกไปจนถึงที่สุด เราจะเริ่มเห็นอัญมณีส่ง ประกายสุกสว่างซึ่งเป็นลักษณะอันทรงพลังและมีชีวิตชีวาของการเปิด เป็นลักษณะอันมีชีวิตชีวาของการยอมจำนน เป็นลักษณะอันมีชีวิตชีวา ของการสละละ

    การสละในที่นี้ไม่ได้หมายเพียงการโยนทิ้ง แต่เมื่อเราได้โยนทุกอย่างทิ้ง ไปแล้ว เราจะเริ่มรู้สึกได้ถึงลักษณะอันมีชีวิตชีวาของความสงบสันติ ความสงบนี้ไม่ใช่ความสงบอย่างอ่อนแอ หรือเปิดอย่างอ่อนแอ แต่ได้ รวมเอาความแข็งแกร่งเข้าไว้ เป็นลักษณะอันตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวเพราะ หาได้มีช่องว่างให้แก่อาการหลอก ๆ อันใดไม่ เป็นความสงบที่แผ่ไป ทุกทิศ ไม่เหลือที่แม้แต่น้อยให้แก่ความลังเลสงสัยหรือความหน้าไหว้ หลังหลอก การเปิดอย่างสิ้นเชิงจึงเป็นชัยชนะชั้นเด็ดขาด เพราะเราไม่ กลัวเกรง เราไม่พยายามปกป้องตัวเองแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็น มนตร์อันยิ่ง ที่กล่าวว่า โอม คเต คเต ปรคเต ปรสัมคเต โพธิ สวาหะ หลายคนคงสงสัยว่า ไฉนจึงกล่าวเช่นนี้ แทนที่จะกล่าว โอม ศูนยตา มหาศูนยตา หรืออะไรทำนองนี้ ทำไมไม่กล่าวว่า คเต คเต " ผ่านไป ผ่านไป ผ่านไปสิ้นแล้ว " ก็เพราะการกล่าวเช่นนี้มีน้ำหนักกว่าการกล่าว คำว่า " ศูนยตา " มากทีเดียว เพราะคำว่า " ศูนยตา " อาจกลายเป็นการ ตีความทางปรัชญาไปก็ได้ ฉะนั้น แทนที่มนตร์บทนี้จะสร้างปรัชญา ขึ้นมา กลับสำแดงสิ่งที่ไปพ้นระบบปรัชญาทั้งหลาย จึงใช้ว่า คเต คเต หมายถึง " ผ่านไป ละแล้ว กำจัดแล้ว เปิดแล้ว " คเต ครั้งแรก คือการ " กำจัดอารมณ์ขัดแย้งอันเป็นฉากบังตา " คเต ครั้งหลัง หมายถึงความ เชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นฉากบังตา กล่าวอีกนนัยหนึ่ง คเต แรก แทนความคิดว่า " รูปนั้นว่าง " คเต ที่สองแทน " ความว่างเปล่า " มนตร์คำต่อไปคือ ปรคเต หมายถึง " ผ่านพ้นไป ลอกออกสิ้น " ถึงตรงนี้ รูปก็คือรูป ดังที่กล่าวว่า ปรคเต ใช่แต่เท่านั้น ความว่างเปล่าก็คือความว่าง เปล่า ปรสัมคเต " ผ่านไปสิ้นแล้ว " โพธิ ในที่นี้หมายถึง " ตื่นอย่างหมดจด " หมายความก็คือ " ละหมดลอกหน้ากากออกหมด เปล่าเปลือยเปิดเต็มที่ " ส่วน สวาหะ เป็นคำท้ายมนตร์ที่ใช้กันมาแต่โบราณซึ่งหมายถึง " ดังนี้แล " " ผ่านไป ผ่านไป ผ่านไปพ้น ลอกออกสิ้น ตื่นขึ้นอย่างหมดจด ดังนี้แล "

    โดย ท่านวัชรจารย์ ตรุงปะ รินโปเช

    ขอบคุณ มดเอ๊กหรือ kamen rider ไม่รู้ตอนนี้หายไปไหนแล้ว
     
  13. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    ส่วนของการถามตอบ ถาม ตอบ ( ท่านวัชรจารย์ ตรุงปะ รินโปเช)

    ถาม : ก่อนที่เราจะละทิ้งได้ ก่อนที่เราจะไม่เริ่ม เราต้องอาศัยการเพียร พยายามอย่างหนักมาจนหมดเรี่ยวแรงหรือเปล่า เราจะละก่อนจะลอง พยายามได้หรือไม่ มีทางลัดหรือไม่ เจ้าลิงจะต้องวิ่งกระแทกกำแพง และเพ้อคลั่งให้เต็มที่เสียก่อนหรือเปล่า

    ตอบ : ผมคิดว่าต้อง การตรัสรู้ฉับพลันย่อมมาพร้อมกับอาการหมดเรี่ยวหมดแรงเท่านั้น ความฉับพลันนี้ไม่จำเป็นต้องหมายความว่ามีทางลัด ในบางกรณี คนบางคนอาจประสบกับการตรัสรู้แวบหนึ่ง ( ตทังควิมุติ ) แต่ถ้าเขาปล่อยตัวปล่อยใจ อนุสัยเดิมก็จะกลับมา แล้วจิตใจของเขาก็ จะยุ่งเหยิงอีก ก็อย่างที่คุณพูดนั่นแหละ ที่เราต้องก้าวเดินก็เพราะถึงจุด ที่คุณเริ่มคับข้องใจเสียเต็มประดานั่นแหละ ที่คุณจะสำเร็จ

    ถาม : นี่เท่ากับว่า ต้องกลับไปหาหินยานมรรค เกี่ยวกับเรื่อง ความเคร่งครัดน่ะสิ ใช่หรือไม่
    ตอบ : ถูกแล้ว สมาธิภาวนาเป็นงานหนัก เป็นงานใช้แรง จะพูดอย่างนี้ ก็ได้
    ถาม : เมื่อเริ่มแล้ว ดูคล้ายกับว่ามีบางอย่างที่ต้องทำ

    ตอบ : มีแน่ แต่สิ่งที่คุณต้องกระทำนั้น สัมพันธ์กับชั่วขณะนั้น ๆ มาก กว่าที่จะสัมพันธ์กับการบรรลุเป้าหมายบางประการในอนาคต ซึ่งนี้จะ นำเรากลับไปหาการปฏิบัติสมาธิภาวนา การทำสมาธิภาวนาไม่ใช่การ เริ่มย่างก้าวเข้าไปในมรรค แต่เป็นการตระหนักได้ว่า คุณอยู่บมรรคเรียบ ร้อยแล้ว โดยดำรงอยู่กับสภาวะปัจจุบันของปัจจุบันขณะ เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ และเดี๋ยวนี้ คุณไม่ต้องเริ่ม เพราะคุณไม่เคยออกจากมรรคเลย

    ถาม : ที่ท่านอธิบายว่า บุคคลตรัสรู้นั้นพ้นไปจากโซ่ตรวนแห่งกรรมแล้ว ผมสงสัยอยู่ว่าหมายความกระไรแน่เพราะ ผมกำลังคิดอยู่ว่า นั่นอาจก่อ ให้เกิดโซ่ตรวนแห่งกรรมแบบใหม่ก็เป็นได้

    ตอบ : คำว่า " กรรม " หมายถึง " ก่อ " หรือ " กระทำ " ปฏิกิริยาลูกโซ่ ตัวอย่าง เช่น เมื่อเรามองไปในอนาคต เราจะหว่านเมล็ดพันธุ์ไว้ใน ปัจจุบัน แต่สำหรับท่านผู้ตรัสรู้แล้ว ท่านไม่ได้วางแผนสำหรับอนาคต เพราะท่านไม่ต้องการความมั่นคงอันใดเพื่อตัวท่านเอง ท่านไม่ประสงค์ จะรู้รูปแบบของอนาคตอีกต่อไป ท่านได้พิชิตสมมติบัญญัติว่า " อนาคต " ได้แล้ว ท่านดำรงอยู่ในปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยม ศักยภาพของอนาคตอยู่ ในปัจจุบันนี้ ตลอดทั้งอดีตด้วยเช่นกัน ก็อยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านผู้ตรัสรู้ แล้วย่อมเป็นนายเหนือกรรมแห่งจิต อันร้อนรนและยุ่งเหยิง ท่านดำรง อยู่ในปัจจุบันอย่างสมบูรณ์ ท่านจึงพ้นแล้วจาการหว่านพืชพันธุ์แห่ง กรรม ท่านไม่หว่านอีกแล้ว เมื่ออนาคตมาถึง ท่านก็ไม่ได้มองว่ามันเป็น ผลมาจากกุศลกรรมในอดีตแต่อย่างใด หากท่านจะเห็นว่ามันเป็นปัจจุบัน อยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุนี้ ท่านจึงไม่ได้ก่อปฏิกิริยาลูกโซ่อันใดไว้อีก ต่อไป

    ถาม : " ลักษณะตื่นขึ้น " ต่างจากการดำรงอยู่ในปัจจุบันหรือไม่
    ตอบ : ต่างกัน การตรัสรู้คือการตื่นอยู่ในปัจจุบันภาพ เดรัจฉานก็อยู่ใน ปัจจุบัน ทารกก็อยู่ในปัจจุบัน หากแตกต่างกันมากกับการตื่นหรือการ ตรัสรู้
    ถาม : ไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไมเดรัจฉานกับทารกจึงอยู่ในปัจจุบัน และ ต่างกับผู้ตรัสรู้แล้วอย่างไร

    ตอบ : สิ่งที่ต่างกันอยู่คือ การอิงอาศัยบางสิ่งบางอย่างกับการดำรงอยู่ ในสภาวะปัจจุบันอย่างแท้จริง ในแง่ของ " การตื่น " ทารกกับเดรัจฉาน ต่างอยู่ในปัจจุบันแต่อิงอาศัยปัจจุบัน และย่อมได้รับผลสะท้อนบางอย่าง จากการรอิงอาศัยนั้น แม้จะไม่สังเกตุเห็นอย่างรู้สำนึก ส่วนบุคคลผู้ตรัส รู้แล้ว เขาไม่อิงกับความคิดว่า " ฉันเป็นภาวะที่ตรัสรุ้แล้ว " เพราะท่าน พ้นไปจากความคิดว่า " ตัวฉัน " ท่านเพียงแต่ดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไปพ้นแล้วจากการแบ่งผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำออกจากกัน

    ถาม : ถ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ไม่มีอัตตา ไม่รู้สึกโศกเศร้าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ตน แต่รู้สึกเช่นนั้นกับคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบข้าง เราจะเรียกความปรารถนา ที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์นั้น ว่า " ความทะยานอยาก " หรือไม่

    ตอบ : คงไม่เป็นเช่นนั้น ความทะยานอยากจะเกิดขึ้น เมื่อคุณต้องการ เห็นคนอื่นมีความสุข และเมื่อคน ๆ นั้นเป็นสุข คุณก็จะสุขไปด้วย ที่ได้ ช่วยทำให้เขามีความสุข ในแง่หนึ่ง ก็เท่ากับว่าเป็นการทำความสุขให้ แก่ตัวเอง ไม่ใช่เพื่อผู้อื่น เพราะคุณอยากเห็นเขาเป็นสุข แต่ผู้ตรัสรู้แล้ว หามีความอยากดังนี้ไม่ เมื่อมีคนต้องการความช่วยเหลือ ท่านเพียงแต่ ให้ไป โดยไม่มีความรู้สึกชื่นชมตัวเอง หรือรู้สำนึกบุญคุณของตัวเอง เข้ามาเกี่ยวข้อง

    ถาม : ทำไมท่านจึงตั้งชื่อศูนย์นี้ว่า กรรม ซอง

    ตอบ : กรรม หมายถึง " กระทำ " ซึ่งรวมถึง " พุทธจริยา " และ ซอง เป็นภาษาธิเบต แปลว่า " ป้อมปราการ " กล่าวคือ สภาพทั้งหลายล้วน เป็นไปเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีใครกำหนดให้เป็นเช่นนั้น เป็นการบังเกิดขึ้นและพัฒนนาต่อกันมาอย่างไม่รู้จบ นอกจากนี้ยังดูเหมือนจะมี พลังที่ไม่อาจมีใครบิดเบือนได้ เป็นพลานุภาพที่อยู่ในป้อมปราการ สิ่ง ที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น กรรม ซอง จึงเป็นไปในรูปของกฏแห่ง กรรมที่เป็นไปเอง ยิ่งกว่าจะเป็นงานแบบมิชชันนารี หรืองานเปลี่ยน คนมาเข้ารีตเป็นชาวพุทธ

    ถาม : สมาธิกับนิรวาณ ( นิพพาน ) เกี๋ยวข้องกับศูนยตาอย่างไร

    ตอบ : นี่เป็นเรื่องการใช้คำมากกว่าอื่น เพราะโดยอรรถแล้วคำนี้ ต่างกันเพียงจุดที่เน้น สมาธิเป็นการทุ่มเทหมดตัว นิรวาณคืออิสรภาพ ทั้ง สองอย่างล้วนเกี่ยวพันกับศูนยตา กล่าวคือ เมื่อเราประสบกับศูนยตา เราจะทุ่มเทหมดตัว โดยไม่แบ่งแยกเป็นสองระหว่างผู้กระทำหรือ ผู้ถูกกระทำ และเราก็เป็นอิสระจากความสับสนทั้งปวง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 มกราคม 2012
  14. suriyanvajra

    suriyanvajra Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2011
    โพสต์:
    281
    ค่าพลัง:
    +67
    ขอบพระคุณท่านเทพฯ ท่านมดเอ็กซ์ อาจารย์ตรุงปะ ในธรรมทานค่ะ
     
  15. โฮดี้โจนส์

    โฮดี้โจนส์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2011
    โพสต์:
    1,152
    ค่าพลัง:
    +1,487
    ที่มาข้อความลุงเทพอยู่ใน Cutting Through Spiritual Materialism

    [​IMG]

    ไปหาอ่านดูเถิดท่านทั้งหลายแล้วจักไม่เสียใจที่ได้อยู่ใต้ร่มเงาพุทธธรรม
     
  16. KONK

    KONK สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    42
    ค่าพลัง:
    +24
    นมัสเต จ้า

    อีนี่นายจ๋า สุมิตรา ขอแนะนำนะนายจ๋า การปฏิบัติธรรมตามแนวของท่านตรุงป้านี้ที่ประเทศไทยเราก็มีนะนายจ๋า ลองไปดูกลุ่มบ้านตีโลปะซินายจ๋าถ้าสนใจลองเข้ากรูเกิ้ลดู
    นะนาย
    ว่าไงล่ะนายจ๋า จักรับถั่ว แล ผ้าดี
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=x94FyGiPhG0"]Boy George / Hara Krishna - YouTube[/ame]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 มกราคม 2012
  17. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    อันที่จริงข้าปฏิบัติสาย ของท่าน เจ้าคุณโพธิแจ้งมหาเถระ
    แห่งวัด โพธิ์แมน พระราม3 นะจ๊ะ นะจ๊ะ


    [​IMG]

    เป็สายที่มาจากวัดริโวเช ที่ธิเบต เป็นสายนิกายณยิงมาปะ หรือ นิกายหมวกแดง ซึ่งมีท่านคุรุ ปัทมสมภพ เป็นผู้ก่อตั้ง

    แต่ปัจจุบันมีสถาปฏิบัติธรรมแบบวัชรยาน แห่งแรกในเมืองไทย เปิดแล้วนะจ๊ะ นะจ๊ะ

    <object width="480" height="360"><param name="movie" value="http://www.youtube.com/v/_CIcqMpABz8?version=3&amp;hl=th_TH"></param><param name="allowFullScreen" value="true"></param><param name="allowscriptaccess" value="always"></param><embed src="http://www.youtube.com/v/_CIcqMpABz8?version=3&amp;hl=th_TH" type="application/x-shockwave-flash" width="480" height="360" allowscriptaccess="always" allowfullscreen="true"></embed></object>​

    ปัจจุบันมีการสวด พระคุรุปัทมสมภพ ทุกเดือน นะจ๊ะนะจ๊ะ
    [​IMG]

    องค์นี้เลย


    แต่ที่เอาข้อมูลของท่าน ตรุงปะมาให้อ่านเพราะ เขาทำเป็นหนังสือไว้เรียบร้อยแล้ว
    คล้ายกันๆ... ส่วนหลักการปฏิบัติก็เป็นความลับ(มิกจง) นะจ๊ะ นะจ๊ะ


    ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาเพิ่มข้อมูลใหม่ๆ นะจ๊ะ นะจ๊ะ ไว้วันหยุด จะมาต่อ นะจ๊ะ นะจ๊ะ ^^
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 มกราคม 2012
  18. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร

    [​IMG]







    大方廣圓覺修多羅了義經

    พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร

    The Grand Sutra of Perfect Enlightenment​



    พระพุทธตาระมหาเถระ

    唐:佛陀多羅譯

    ในสมัยราชวงศ์ถัง ประเทศจีน แปลจากสันสกฤตพากย์สู่จีนพากย์ ภิกษุจีนวิศวภัทร

    (沙門聖傑)

    แห่งวัดเทพพุทธาราม

    (仙佛寺)

    แปลจากจีนพากย์สู่ไทยพากย์ เมื่อพระพุทธายุกาลล่วงแล้ว ๒๕๕๐ ปี ๑๑ เดือน ๑๑ วัน​

    พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร (วรรคที่ ๑)


    如是我聞,一時婆伽婆,入於神通大光明藏,三昧正受,一切如來光嚴住持,是諸眾生,清淨覺地,身心寂滅平等本際,圓滿十方,不二隨順,於不二境,現諸淨土,與大菩薩摩訶薩十萬人俱,其名曰,文殊師利菩薩,普賢菩薩,普眼菩薩,金剛藏菩薩,彌勒菩薩,清淨慧菩薩,威德自在菩薩,辯音菩薩,淨諸業障菩薩,普覺菩薩,圓覺菩薩,賢善首菩薩等而為上首與諸眷屬,皆入三昧,同住如來平等法會

    。ดั่งที่ข้าพเจ้าได้สดับมา สมัยหนึ่งสมเด็จพระภควันต์ ทรงเข้าอภิญญามหาญาณครรภ์ อัน เป็นสมาธิตั้งอยู่โดยชอบ เป็นประการที่พระตถาคตเจ้าทั้งปวงทรงธำรงอยู่ มีบรรดาสรรพสัตว์ผู้ บริสุทธิ์บรรลุถึงโพธิภูมิ มีกายแลจิตที่ดับรอบและมีสมตาเป็นมูลฐาน สมบูรณ์ทั่วในทิศทั้งสิบ มิ คล้อยตามทวิบัญญัติ และมิตั้งอยู่ในทวิภาวะ ปรากฏอยู่ในวิศุทธิเกษตรทั้งปวง อันเป็นพระ โพธิสัตว์มหาสัตว์ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งแสน อันมีนามว่า มัญชุศรีโพธิสัตว์๑ สมันตภัทรโพธิสัตว์๑ สมันตเนตรโพธิสัตว์๑ วัชรครรภ์โพธิสัตว์๑ เมตไตรยโพธิสัตว์๑ วิศุทธิชญานโพธิสัตว์๑ เตชศวร โพธิสัตว์๑ ปรติภาณสวรโพธิสัตว์๑ ศุทธิสรวกรรมวิปากโพธิสัตว์๑ สมันตพุทธิโพธิสัตว์๑ สมปูรณ โพธิโพธิสัตว์๑ สุภัทรกูฏโพธิสัตว์๑ อันเป็นผู้นำพร้อมด้วยบริษัททั้งปวง ซึ่งล้วนแต่เข้าสมาธิ แล้ว ตั้งอยู่ในตถาคตสมตาธรรมสภา

    於是文殊師利菩薩在大眾中,即從座起,頂禮佛足,右繞三匝,長跪叉手而白佛言:大悲世尊,願為此會諸來法眾,說於如來本起清淨,因地法行,及說菩薩於大乘中發清淨心,遠離諸病,能使未來末世眾生求大乘者,不墮邪見。作是語已,五體投他,如是三請,終而復始

    。ในเพลานั้น พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ก็ประทับร่วมอยู่ในมหาชน ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ กระทำ ศิราภิวาทเบื้องพระพุทธยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ประทักษิณาวัตรสามรอบ คุกเข่าประนมกรแล้ว

    ทูลพระพุทธองค์ว่า ข้าแต่พระมหากรุณาโลกนาถเจ้า เพื่อเหล่าธรรมนิกรทั้งปวงที่ได้มาร่วมอยู่ใน สภาแห่งนี้ ขอพระองค์ทรงแสดงมูลเหตุอันบริสุทธิ์ของพระตถาคตคือเหตุภูมิธรรมจริยา และ โปรดตรัสซึ่งการประกาศวิศุทธิจิตของโพธิสัตว์ผู้ดำรงในมหายาน อันห่างไกลจากสิ่งเสียดแทงทั้ง ปวง สามารถยังให้สรรพสัตว์ในอนาคตผู้ปรารถนามหายาน มิตกสู่มิจฉาทัศนะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า เมื่อทูลเช่นนี้แล้วจึงกระทำเบญจางคประดิษฐ์ อยู่เช่นนี้สามคำรบ

    爾時世尊告文殊師利菩薩言:善哉善哉,善男子,汝等乃能為諸菩薩,諮詢如來因地法行,及為末世一切眾生求大乘者,得正住持,不墮邪見,汝今諦聽,當為汝說。時文殊師利菩薩奉教歡喜,及諸大眾默然而聽

    。ในกาลบัดนั้นแล สมเด็จพระโลกนาถเจ้าตรัสกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ว่า สาธุๆ กุลบุตร พวกเธอสามารถสากัจฉาซึ่งเหตุภูมิแห่งธรรมจริยาของพระตถาคตเพื่อโพธิสัตว์ทั้งหลาย และเพื่อ หมู่สรรพสัตว์ในอนาคตผู้ปรารถนามหายาน ให้ได้บรรลุถึงความตั้งมั่น มิตกสู่มิจฉาทัศนะ เธอพึง สดับเถิด ตถาคตจักกล่าวแก่เธอ ครั้งนั้นพระมัญชุศรีโพธิสัตว์เมื่อรับสนองพระอนุศาสนีย์แล้วจึง ปีติยินดี อยู่พร้อมกับบรรดามหาชนที่ดุษณียภาพอยู่เพื่อคอยสดับพระเทศนา

    善男子,無上法王,有大陀羅尼門,名為圓覺,流出一切清淨真如,菩提涅槃及波羅密,教授菩薩,一切如來本起因地,皆依圓照清淨覺相,永斷無明,方成佛道,云何無明

    。ดูก่อนกุลบุตร พระอนุตรธรรมราชา มีมหาธารณีทวารนามว่า สมปูรณโพธิ อันเป็นที่ หลั่งไหลซึ่งวิศุทธิตถตา พระโพธิ พระนิรวาณ และปารมิตาทั้งปวง เพื่อสั่งสอนโพธิสัตว์ และคือ ปฐมเหตุภูมิของพระตถาคตทั้งปวง ที่ล้วนต้องอาศัยเพื่อยังโพธิลักษณะให้บริสุทธิ์โดยรอบ เพื่อยัง อวิชชาให้ขาดสิ้นแล้วบรรลุพระพุทธมรรค ก็อวิชชานั้นเล่าเป็นไฉน

    善男子,一切眾生從無始來,種種顛倒,猶如迷人,四方易處,妄認四大為自身相,六塵緣影為自心相,譬彼病目,見空中華及第二月

    。ดูก่อนกุลบุตร บรรดาสรรพสัตว์นับแต่กาลอันหาจุดเริ่มต้นมิได้นั้น วิปลาสเห็นผิดเป็น ชอบ ดุจผู้ถูกลวงหลอกให้ลุ่มหลงไปในทิศทั้งสี่แต่โดยง่าย 1 โดยลวงให้ยึดเอามหาภูติรูปสี่ว่าเป็น กายตน และสฬายตนะ2เป็นปัจจัยให้เกิดภาพเห็นเป็นจิตตน อุปมาบุคคลผู้จักษุเป็นโรค เห็นบุป ผาในอากาศ3 และจันทราดวงที่สอง

    善男子,空實無華,病者妄執,由妄執故,非唯惑此虛空自性,亦復迷彼實華生處,由此妄有輪轉生死,故名無明

    。 ดูก่อนกุลบุตร ที่แท้ในนภากาศปราศจากซึ่งบุปผา แต่เหตุเพราะผู้ป่วยนั้นอุปาทานมั่นเอา เอง จึงมิเพียงรู้สึกว่าอากาศคือภาวะแห่งตน ซ้ำยังหลงไปว่านั้นเป็นที่อุบัติแห่งบุปผชาติอย่าง แท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงลวงหลอกว่ามีสังสารวัฏชาติมรณะ เหตุฉะนี้แลจึงชื่อว่า อวิชชา

    善男子,此無明者,非實有體,如夢中人,夢時非無,及至於醒,了無所得。如眾空華,滅於虛空,不可說言有定滅處,何以故,無生處故。一切眾生於無生中,妄見生滅,是故說名輪轉生死

    。ดูก่อนกุลบุตร อันอวิชชาบุรุษนี้แล ที่แท้ก็หามีสังขารไม่ ดุจบุคคลผู้อยู่ในความฝัน ที่เพลา ฝันย่อมมีอยู่ ตราบเมื่อตื่นขึ้นจึงรู้ว่ามิใช่ความจริง ดุจบุปผาทั้งปวงในความว่าง ที่สิ้นไปในอากาศ นั้นแล อันมิอาจกล่าวกำหนดไปว่าดับสิ้นที่แห่งใด ด้วยเหตุไฉนนั่นหรือ ก็เหตุเพราะมิได้มีสถานที่ กำเนิดขึ้น สรรพสัตว์ทั้งปวงก็อาศัยความมิได้กำเนิดนี้ ลวงให้เห็นว่าเกิดดับ ฉะนี้แลจึงชื่อว่า สังสารวัฏชาติมรณะ

    善男子,如來因地修圓覺者,知是空華,即無輪轉,亦無身心受彼生死,非作故無,本性無故,彼知覺者,猶如虛空,知虛空者,即空華相,亦不可說無知覺性,有無俱遣,是則名為淨覺隨順,何以故,虛空性故,常不動故,如來藏中無起滅故,無知見故,如法界性,究竟圓滿遍十

    1 หมายถึง จตฺวาโร วิปรฺยาสา คือความเห็นคลาดเคลื่อน ๔ ประการ มี ๑.นิตย วิปัลลาส คือ สัญญาวิปัลลาส จิตตวิปัลลาส ทิฏฐิวิปัล ลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๒.สุข วิปัลลาส คือ สัญญาวิปัลลาส ฯลฯ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุข ๓.ศุจิ วิปัลลาส คือ สัญญาวิปัลาส ฯลฯ ใน สิ่งที่ไม่งามว่างาม ๔.อาตม วิปัลลาส คือ สัญญาวิปัลลาส ฯลฯ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน

    2 หมายถึง อายตนะภายนอก ๖ มี ๑)รูป ๒)เสียง ๓)กลิ่น ๔)รส ๕)สัมผัส หรือโผฏฐัพพะ ๖)ธรรมารมณ์

    3 ขปุษฺป คือ ดอกฟ้า , ดอกไม้ในอากาศ

    方故,是則名為因地法行。菩薩因此於大乘中,發清淨心,末世眾生,依此修行,不墮邪見,

    ดูก่อนกุลบุตร เพราะตถาคตมีเหตุภูมิที่บำเพ็ญซึ่งสมปูรณโพธิ จึงรู้ว่าคืออากาศบุปผา จึง ปราศจากสังสารวัฏ ทั้งปราศจากซึ่งกายและจิตผู้เสวยชาติและมรณะ เพราะมิได้กระทำจึงหามีไม่ เหตุที่รู้ว่ามูลภาวะนั้นหามีไม่ จึงได้รู้แจ้ง อุปมาอากาศนั่นแล ที่บุคคลผู้รู้อากาศ ว่าเป็นลักษณะ ของอากาศบุปผา ทั้งมิอาจกล่าวว่าปราศจากผู้รู้โพธิภาวะ แลไร้บุคคลผู้มีตนส่งไป จึงชื่อว่า อนุโลมตามความรู้แจ้งที่บริสุทธิ์ ด้วยประการฉะนี้.

    爾時世尊欲重宣此義,而說偈言:

    ในครั้งนั้น สมเด็จพระโลกนาถเจ้าทรงปรารถนาจักย้ำในอรรถนี้ จึงตรัสเป็นโศลกว่า...

    文殊汝當知,一切諸如來。

    มัญชุศรีเธอพึงทราบเถิด อันพระตถาคตทั้งปวง

    從於本因地,皆以智慧覺。

    จากภูมิคือมูลเหตุนี้ไป ล้วนอาศัยโพธิปัญญาญาณ

    了達於無明,知彼如空華,

    ให้แทงตลอดซึ่งอวิชชา ล่วงรู้ว่าดุจอากาศบุปผา

    即能免流轉,又如夢中人,

    ให้แทงตลอดซึ่งอวิชชา ล่วงรู้ว่าดุจอากาศบุปผา

    即能免流轉,又如夢中人

    จึงสามารถระงับซึ่งวัฏฏะ อีกประดุจบุคคลในความฝัน

    醒時不可得,覺者如虛空

    。 เมื่อตื่นคืนย่อมมิอาจเข้าถึง ผู้รู้แจ้งนั้นเล่าก็ดุจอากาศ

    平等不動轉,覺遍十方界

    。มีความสมภาพมิผันแปร รู้แจ้งทั่วทศทิศโลกธาตุ

    即得成佛道,眾幻滅無處

    。 จึงบรรลุซึ่งพุทธมรรค บรรดามายาดับโดยไร้สถาน

    成道亦無得,本性圓滿故

    。 อันการสำเร็จมรรคก็หาได้บรรลุถึงไม่ เหตุที่มูลภาวะบริบูรณ์อยู่เดิม

    菩薩於此中,能發菩提心

    。 โพธิสัตว์ผู้ดำรง(ซึ่งธรรมนี้) จึงสามารถบังเกิดโพธิจิต

    末世諸眾生,修此免邪見

    。 บรรดาสรรพสัตว์ในอนาคต เมื่อประพฤติ(ธรรมนี้)ย่อมระงับซึ่งมิจฉาทัศนแล.

    จบวรรคที่ ๑
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 มกราคม 2012
  19. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร (วรรคที่ ๒)

    大方廣圓覺修多羅了義經

    พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร The Grand Sutra of Perfect

    Enlightenment

    วรรคที่ ๒

    於是普賢菩薩在大眾中,即從座起,頂禮佛足,右繞三匝,長跪叉手而白佛言:大悲世尊,願為此會諸菩薩眾,及為末世一切眾生,修大乘者,聞此圓覺清淨境界,云何修行

    。 ในเพลานั้น พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ก็ประทับร่วมอยู่ในมหาชน ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ กระทำศิราภิวาทเบื้องพระพุทธยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ประทักษิณาวัตรสามรอบ คุกเข่าประนม กรแล้วทูลพระพุทธองค์ว่า ข้าแต่พระมหากรุณาโลกนาถเจ้า เพื่อเหล่าโพธิสัตว์ในสภาแห่งนี้และ สรรพสัตว์ในอนาคต ผู้ประพฤติซึ่งมหายานจริยา เมื่อได้สดับซึ่งวิศุทธิสมปูรณโพธิวิสัยนี้แล้ว พึง กระทำจริยาด้วยประการเช่นไรหนอ

    世尊,若彼眾生知如幻者,身心亦幻,云何以幻還修於幻,若諸幻性一切盡滅,則無有心,誰為修行,云何復說修行如幻。若諸眾生,本不修行,於生死中常居幻化,曾不了知如幻境界,令妄想心云何解脫,願為末世一切眾生,作何方便漸次修習,令諸眾生永離諸幻。作是語已,五體投地,如是三請,終而復始

    。ข้าแต่พระโลกนาถ หากสรรพสัตว์นั้นได้รู้ว่าประดุจการมายา กายแลจิตก็ดุจมายา แล้วจัก ใช้มายาบำเพ็ญซึ่งมายาด้วยประการเช่นไร หากบรรดามายาภาวะอันคือสิ่งทั้งปวงดับสิ้นลง ย่อม ปราศจากจิต แล้วใครเล่าเป็นผู้บำเพ็ญจริยา เช่นไรหนอจึงยังกล่าวว่าการบำเพ็ญจริยาเป็นดั่งมายา หากสรรพสัตว์ทั้งปวง มีมูลฐานที่มิบำเพ็ญจริยา ในท่ามกลางชาติแลมรณะนี้จึงมีมายาเป็นเครื่อง อยู่โดยเนืองนิตย์ อันมิเคยล่วงรู้ว่าคือมายาวิสัย ยังให้เกิดจิตตสัญญาลวงหลอก แล้วจักถึงแก่พระ วิมุตติได้อย่างไร เพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลายในอนาคต ขอพระองค์โปรดประทานอุปายะในการ ประพฤติบำเพ็ญโดยลำดับ ยังให้เหล่าสรรพสัตว์ได้ไกลห่างจากมายาทั้งปวงด้วยเถิดพระพุทธเจ้า ข้า เมื่อทูลเช่นนี้แล้วจึงกระทำเบญจางคประดิษฐ์ อยู่เช่นนี้สามคำรบ


    爾時世尊告普賢菩薩言:善哉善哉,善男子,汝等乃能為諸菩薩及末世眾生,修習菩薩如幻三昧,方便漸次,令 諸眾生得離諸幻,汝今諦聽,當為汝說。時普賢菩薩奉教歡喜,及諸大眾默然而聽。




    ในกาลบัดนั้นแล สมเด็จพระโลกนาถเจ้าตรัสกับพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ว่า สาธุๆ กุลบุตร พวกเธอสามารถยังให้บรรดาโพธิสัตว์ และสรรพสัตว์ในอนาคต ประพฤติบำเพ็ญซึ่งโพธิสัตวมายา สมาธิ มีอุปายะสืบไปเป็นลำดับ ยังให้หมู่สรรพสัตว์ไกลจากมายาทั้งปวง เธอพึงสดับเถิด ตถาคต จักกล่าวแก่เธอ ครั้งนั้นพระสมันตภัทรโพธิสัตว์เมื่อรับสนองพระอนุศาสนีย์แล้วจึงปีติยินดี อยู่ พร้อมกับบรรดามหาชนที่ดุษณียภาพอยู่เพื่อคอยสดับพระเทศนา


    善男子,一切眾生,種種幻化,皆生如來圓覺妙心,猶如空華,從空而有,幻華雖滅,空性不壞,眾生幻心,還依幻滅,諸幻盡滅,覺心不動,依幻說覺,亦名為幻,若說有覺,猶未離幻,說無覺者,亦復如是,是故幻滅,名為不動

    。 ดูก่อนกุลบุตร สรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบด้วยการมายานานัปการ ซึ่งล้วนอุบัติแต่ตถาคต สมปูรณโพธิจิต อุปมาอากาศบุปผา ที่อาศัยอากาศจึงเกิดมี ก็อันมายาบุปผาแม้นจักดับ แต่อากาศ ภาวะมิได้เสื่อมสูญ มายาจิตของสรรพสัตว์ ยังอาศัยการดับไปของมายา สรรพมายาแม้นดับจนสิ้น พุทธิจิตก็มิได้สั่นคลอน ด้วยอาศัยมายากล่าวแสดงความรู้แจ้ง จึงได้ชื่อว่ามายา หากกล่าวว่ารู้แจ้ง จึงดั่งว่ายังมิไกลจากมายา แม้นกล่าวว่ามิรู้แจ้ง ก็เป็นเช่นเดียวกันนี้ เหตุฉะนี้แลเมื่อมายาดับ จึงได้ ชื่อว่า มิหวั่นไหว

    善男子,一切菩薩,及末世眾生,應當遠離一切幻化虛妄境界,由堅執持遠離心故,心如幻者,亦復遠離,遠離為幻,亦復遠離,離遠離幻,亦復遠離,得無所離,即除諸幻,譬如鑽火,兩木相因,火出木盡,灰飛煙滅,以幻修幻,亦復如是,諸幻雖盡,不入斷滅

    。 ดูก่อนกุลบุตร โพธิสัตว์และสรรพสัตว์ทั้งปวงในอนาคต พึงนิราศห่างไกล1 จากมายาวิสัย อันลวงหลอกทั้งปวง ก็เพราะการยึดมั่นในนิราศจิตเป็นเหตุ จิตจึงดุจมายา ทั้งยังห่างไกลอันความ ห่างไกลนั่นแลก็คือมายา ทั้งยังห่างไกลก็อันความห่างไกลนั่นแลที่ห่างจากมายา ทั้งยังห่างไกล แล้วจึงบรรลุถึงความมิห่าง จึงกำจัดมายาทั้งปวง ครุวนาไฟที่เกิดจากการสีของไม้ เมื่อไฟปรากฏ ไม้จึงสิ้น เมื่อเถ้าฟุ้งควันจึงสูญ ใช้มายาบำเพ็ญมายา ก็ดุจฉะนี้ แม้นสรรพมายาจักสิ้นแล้วแต่ยังมิ เข้าสู่สมุทเฉทนิโรธ 1 ห่างไกล หรือไกลจากกิเลส ในพระสูตรนี้ สันสกฤตว่า หรฺมิต

    善男子,知幻即離不作方便,離幻即覺,亦無漸次,一切菩薩及末世眾生,依此修行,如是乃能永離諸幻,

    ดูก่อนกุลบุตร เมื่อรู้มายาจึงไกลห่าง(จากมายา) มิต้องกระทำอุปายะใด เมื่อไกลมายาจึงรู้ แจ้ง ทั้งมิต้องสืบไปเป็นลำดับ บรรดาโพธิสัตว์และสรรพสัตว์ทั้งปวงในอนาคต ด้วยอาศัยการ บำเพ็ญจริยาเช่นนี้ จึงสามารถไกลจากสรรพมายาเป็นนิตย์ ด้วยประการฉะนี้.

    爾時世尊欲重宣此義,而說偈言:

    ในครั้งนั้น สมเด็จพระโลกนาถเจ้าทรงปรารถนาจักย้ำในอรรถนี้ จึงตรัสเป็นโศลกว่า...

    普賢汝當知,一切諸眾生

    。 สมันตภัทรเธอพึงทราบเถิด อันสรรพสัตว์ทั้งปวง

    無始幻無明,皆從諸如來

    。 มายาแลอวิชชาอันหาจุดเริ่มมิได้ ล้วนเกิดแต่พระตถาคตทั้งปวง

    圓覺心建立,猶如虛空華

    。 อันมีสมปูรณจิตตั้งขึ้น อุปมาอากาศบุปผา

    依空而有相,空華若復滅

    。 เพราะอาศัยความว่างจึงมีลักษณะ ศูนยตาบุปผาจึงดับไป

    虛空本不動,幻從諸覺生

    。 อากาศมีมูลเดิมมิหวั่นไหว มายาก็กำเนิดจากความรู้แจ้งทั้งปวง 幻滅覺圓滿,
    心不動故

    。 มายาดับโพธิยังสมบูรณ์ เหตุเพราะพุทธิจิตนั้นอจลา

    若彼諸菩薩,及末世眾生

    。 หากหมู่โพธิสัตว์เหล่านั้น และสรรพสัตว์ในอนาคต

    常應遠離幻,諸幻悉皆離

    。 จักพึงไกลจากมายา เมื่อปวงมายาล้วนไกลห่าง

    如木中生火,木盡火還滅

    。 ดุจไม้กำเนิดไฟ เมื่อไม้สิ้นไฟย่อมดับ

    覺則無漸次,方便亦如是

    。 ความรู้แจ้งมิต้องเป็นลำดับ อุปายะก็เช่นนี้แล.

    จบวรรคที่ ๒
     
  20. เทพธรรมบาล

    เทพธรรมบาล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    1,215
    ค่าพลัง:
    +291
    พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร (วรรคที่ ๓)

    大方廣圓覺修多羅了義經

    พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร The Grand Sutra of Perfect
    Enlightenment ภิกษุจีนวิศวภัทร
    沙門聖傑)

    แปลจากจีนพากย์สู่ไทยพากย์

    於是普眼菩薩在大眾中,即從座起,頂禮佛足,右繞三匝,長跪叉手而白佛言:大悲世尊,願為此會諸菩薩眾,及為末世一切眾生,演說菩薩修行漸次,云何思惟,云何住持,眾生未悟,作何方便普令開悟

    ในเพลานั้น พระสมันตเนตรโพธิสัตว์ก็ประทับร่วมอยู่ในมหาชน ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ กระทำศิราภิวาทเบื้องพระพุทธยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ประทักษิณาวัตรสามรอบ คุกเข่าประนม กรแล้วทูลพระพุทธองค์ว่า ข้าแต่พระมหากรุณาโลกนาถเจ้า เพื่อเหล่าโพธิสัตว์ในสภาแห่งนี้และ สรรพสัตว์ในอนาคต โปรดตรัสแสดงซึ่งการบำเพ็ญอันสืบไปเป็นลำดับของโพธิสัตว์ ว่าเช่นไรคือ จินตนา เช่นไรคือการทรงไว้ สรรพสัตว์ผู้ยังมิรู้ตื่น จักกระทำด้วยอุปายะเช่นไรถึงจักยังให้รู้ตื่น

    世尊 若彼眾生無正方便,及正思惟,聞佛如來說此三昧,心生迷悶,即於圓覺不能悟入,願與慈悲,為我等輩及末世眾生,假說方便。作是語已,五體投地,如是三請,終而復始

    。 ข้าแต่พระโลกนาถ หากสรรพสัตว์เหล่านั้นปราศจากซึ่งอุปายะและจินตนาที่ถูกต้อง เมื่อ ได้สดับพระพุทธตถาคตเจ้าตรัสถึงสมาธิประการนี้ ในจิตย่อมเกิดความฉงนสนเท่ห์ มิอาจเข้าสู่สม ปูรณโพธิ เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายและบรรดาสรรพสัตว์ในอนาคต ขอพระองค์ทรงเมตตากรุณา แกล้งตรัสแสดงซึ่งอุปายะด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า ๑ เมื่อทูลเช่นนี้แล้วจึงกระทำเบญจางคประดิษฐ์ อยู่เช่นนี้สามคำรบ


    爾時,世尊告普眼菩薩言:善哉善哉,善男子,汝等乃能為諸菩薩及末世眾生,問於如來修行漸次,思惟住持,乃至假說種種方便,汝今諦聽,當為汝說。時普眼菩薩奉教歡喜,及諸大眾默然而聽

    。 ๑ ในประโยคนี้พระสมันตเนตร ทูลให้พระพุทธองค์แกล้งตรัส เพราะในวรรคที่ ๒ พระองค์ได้ตรัสกับพระสมันตภัทรถึงเรื่องมายาต่างๆ ไว้ว่ามิต้องใช้อุปายะใดๆ ในการรู้แจ้ง ดังนั้น ในวรรคที่ ๓ พระสมันตเนตรจึงทูลให้ตรัสถึงอุปายะอีก เพื่อประโยชน์ของสัตว์ผู้ไม่มี ปัญญาและความเห็นถูก โดยใช้คำว่าแกล้งตรัส หรือแสร้งตรัสให้เป็นมายา

    ในกาลบัดนั้นแล สมเด็จพระโลกนาถเจ้าตรัสกับพระสมันตเนตรโพธิสัตว์ว่า สาธุๆ กุลบุตร พวกเธอสามารถเอ่ยปุจฉาถึงการบำเพ็ญจริยาอันเป็นลำดับของพระตถาคต การจินตนา แลการทรงไว้ ตราบถึงการแกล้งกล่าวด้วยนานาอุปายะ เธอพึงสดับเถิด ตถาคตจักกล่าวแก่เธอ ครั้งนั้นพระสมันตเนตรโพธิสัตว์เมื่อรับสนองพระอนุศาสนีย์แล้วจึงปีติยินดี อยู่พร้อมกับบรรดา มหาชนที่ดุษณียภาพอยู่เพื่อคอยสดับพระเทศนา


    善男子,彼新學菩薩,及末世眾生,欲求如來淨圓覺心,應當正念遠離諸幻,先依如來奢摩他行,堅持禁戒,安處徒眾,宴坐靜室,恒作是念,我今此身,四大和合,所謂髮毛爪齒,皮肉筋骨,髓腦垢色,皆歸於地,唾涕膿血,津液涎沫,痰淚精氣,大小便利,皆歸於水,暖氣歸火,動轉當風,四大各離,今者妄身,當在何處,即知此身,畢竟無體,和合為相,實同幻化,四緣假合,妄有六根,六根四大,中外合成,妄有緣氣,於中積聚,似有緣相,假名為心

    。 ดูก่อนกุลบุตร อันโพธิสัตว์ผู้เพิ่งศึกษาและสรรพสัตว์ในอนาคตนั้น เมื่อปรารถนาตถาคต ศุทธิสมปูรณโพธิจิตแล้วไซร้ พึงมีสัมมาสติตั้งไว้ชอบ ห่างไกลจากมายาทั้งปวง ต้องดำเนินตาม สมถจริยา ธำรงมั่นในศีลสังวร อาศัยในหมู่สัทธาวิหาริก แล้วนั่งพักในเรือนสงบ พึงมีมนสิการเป็น นิตย์เช่นนี้ว่า “อันกายเรานี้ มีมหาภูติรูปสี่ประกอบขึ้นมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก สมองอันมีรูปลักษณะหยาบแข็ง ล้วนกลับสู่ปฐวีธาตุ อันว่าเขฬะ น้ำตา หนอง เลือด เสลด อันมีลักษณะเอิบอาบ กรีส มูตร ล้วนกลับสู่อาโปธาตุ ความอุ่นร้อนกลับสู่เตโชธาตุ อาการผัดผันคือวาโยธาตุ เมื่อแยกมหาภูติรูปสี่จากกัน แล้วกายอันลวงหลอกนี้ จักตั้งอยู่ที่แห่งใด อินทรีย์หก มหาภูติรูปสี่ ทั้งภายในและภายนอกเมื่อประกอบกันสำเร็จขึ้น จึงลวงว่ามีปัจจัยประชุม กันอยู่” ก็ด้วยเพราะมีปัจจัยลักษณะเช่นนี้แล จึงชื่อสมมุติชื่อว่า จิต

    善男子,此虛妄心,若無六塵,則不能有,四大分解,無塵可得,於中緣塵,各歸散滅,畢竟無有緣心可見

    。 ดูก่อนกุลบุตร อันมุสาจิตนี้แล หากปราศจากซึ่งสฬายตนะแล้วไซร้ ย่อมมิอาจเกิดมีขึ้น ก็ เมื่อจำแนกซึ่งมหาภูติสี่ ย่อมจักบรรลุถึงความปราศจากสฬายตนะ อันปัจจัยแห่งสฬายตนะนั่นแล จักย้อนกลับแตกดับไป จนถึงที่สุดก็ปราศจากซึ่งปัจจัยแห่งจิตให้พบเห็นอีก

    善男子,彼之眾生幻身滅故,幻心亦滅,幻心滅故,幻塵亦滅,幻塵滅故,幻滅亦滅,幻滅滅故,非幻不滅,譬如磨鏡,垢盡明現

    。 ดูก่อนกุลบุตร เพราะเหตุที่กายนั้นอันเป็นมายาของสรรพสัตว์ดับลง มายาจิตจึงดับลงด้วย เพราะเหตุที่จิตอันเป็นมายาดับลง มายาสฬายตนะจึงดับด้วย เพราะเหตุที่สฬายตนะอันเป็นมายา ดับ ความดับของมายาจึงดับลงด้วย ก็เหตุเมื่อความดับของมายาดับสิ้นลง สิ่งอันมิใช่มายาจึงมิดับ อุปมาการขัดถูกระจก เมื่อสิ้นมลทินความใสจึงปรากฏ

    善男子,當知身心,皆為幻垢,垢相永滅,十方清淨

    。 ดูก่อนกุลบุตร พึงทราบเถิดว่ากายแลจิต ล้วนแปดเปื้อนด้วยมายา ก็แลเมื่อมลทินลักษณะ ดับสิ้น ทศทิศจึงบริสุทธิ์

    善男譬如清淨摩尼寶珠,映於五色,隨方各現,諸愚癡者,見彼摩尼,實有五色

    。 ดูก่อนกุลบุตร ครุวนาแก้วมณีบริสุทธิ์ ที่ประกายแสงเบญจรงค์ปรากฏในด้านต่างๆ บรรดาโมหบุรุษ ย่อมจักทัศนาแก้วมณีนั้นว่ามีห้าสีอย่างแท้จริง

    善男子,圓覺淨性,現於身心,隨類各應,彼愚癡者,說淨圓覺,實有如是身心自相,亦復如是,由此不能遠於幻化,是故我說身心幻垢,對離幻垢,說名菩薩,垢盡對除,即無對垢及說名者

    。 ดูก่อนกุลบุตร อันวิศุทธิสมปูรณโพธิภาวะ ย่อมปรากฏที่กายแลจิต ตามแต่ประเภทที่ เหมาะควร ก็โมหบุรุษนั้น แม้นจักกล่าวซึ่งวิศุทธิสมปูรณโพธิก็ตาม แต่โดยแท้แล้วก็ยังมีลักษณะ แห่งกายและจิตของตนอยู่เช่นนี้ ก็อีกทั้งเช่นนี้แล เป็นเหตุให้มิอาจไกลจากสิ่งมายา ด้วยเหตุนี้ ตถาคตจึงกล่าวว่ากายและจิตเป็นมลทินแห่งมายา เมื่อไกลจากความแปดเปื้อนของมายาแล้วไซร้ จึ่งได้ชื่อว่า โพธิสัตว์ เมื่อมลทินสิ้นและสิ่งอันสัมผัสถูกกำจัดแล้ว ย่อมปราศจากสิ่งอันแปดเปื้อน และไร้ซึ่งผู้ที่ได้ชื่อ(ว่าโพธิสัตว์)นั้นด้วย

    善男子,此菩薩及末世眾生,證得諸幻滅影像故,爾時便得無方清淨,無邊虛空覺所顯發,覺圓明故,顯心清淨,心清淨故,見塵清淨,見清淨故,眼根清淨,根清淨故,眼識清淨,識清淨故,聞塵清淨,聞清淨故,耳根清
    淨,根清淨故,耳識清淨,識清淨故,覺塵清淨,如是乃至鼻舌身意,亦復如是

    。 ดูก่อนกุลบุตร โพธิสัตว์และสรรพสัตว์ในอนาคตกาลนี้ ด้วยเหตุที่บรรลุถึงความดับแห่ง มายาและรูปนิมิตที่ปรากฏทั้งปวง ในเพลานั้นจักได้บรรลุถึงความบริสุทธิ์มิอาจประมาณ รู้แจ้งชัด ทั่วไปในอนันตอากาศ ด้วยเหตุที่มีปัญญารู้แจ้งรอบทั่วเช่นนี้ ดวงจิตจึงแจ่มใสบริสุทธิ์ เมื่อดวงจิต บริสุทธิ์เป็นเหตุ อายตนะคือตาจึงบริสุทธิ์ เหตุที่เครื่องรับรู้คือตาบริสุทธิ์ อินทรีย์คือจักษุจึงบริสุทธิ์ เหตุที่การ เห็นบริสุทธิ์ จักษุวิญญาณจึงบริสุทธิ์ เมื่อความรู้ทางตาบริสุทธิ์เป็นเหตุ อายตนะคือหูจึงบริสุทธิ์ เหตุที่เครื่องรับรู้คือหูบริสุทธิ์ อินทรีย์คือโสตจึงบริสุทธิ์ เหตุที่การได้ ยินบริสุทธิ์ โสตวิญญาณจึงบริสุทธิ์ เมื่อความรู้ทางหูบริสุทธิ์เป็นเหตุ๒ ความรู้แจ้งจึงบริสุทธิ์ เช่นนี้ เรื่อยไปจนถึงอายตนะคือจมูก ลิ้น กายและใจ ก็เป็นฉะนี้แล

    善男子,根清淨故,色塵清淨,色清淨故,聲塵清淨,香味觸法,亦復如是

    。 ดูก่อนกุลบุตร เมื่ออินทรีย์คือตาบริสุทธิ์เป็นเหตุ รูปจึงบริสุทธิ์ เมื่อรูปบริสุทธิ์เป็นเหตุ เสียงจึงบริสุทธิ์ อันกลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ ก็เป็นฉะนี้

    善男子,六塵清淨故,地大清淨,地清淨故,水大清淨,火大風大,亦復如是

    。 ดูก่อนกุลบุตร ด้วยเหตุที่สฬายตนะบริสุทธิ์ ปฐวีธาตุจึงบริสุทธิ์ เหตุที่ปฐวีธาตุบริสุทธิ์ อาโปธาตุจึงบริสุทธิ์ อันเตโชธาตุและวาโยธาตุ ก็เป็นฉะนี้

    善男子,四大清淨故,十二處十八界,二十五有清淨,彼清淨故,十力,四無所畏,四無礙智,佛十八不共法,三十七助道品清淨,如是乃至八萬四千陀羅尼門,一切清淨

    。 ดูก่อนกุลบุตร เมื่อมหาภูติรูปสี่บริสุทธิ์เป็นเหตุให้ อายตนะสิบสอง๓ ธาตุสิบแปด๔ ภพ ยี่สิบห้า ๕ ล้วนแต่บริสุทธิ์ เพราะเหตุที่สิ่งเหล่านั้นบริสุทธิ์ ทศพละ ๖ เวสารัชชะ ๗ อาเวณิกพุทธ ๒ ธรรม ๓ ประการของสฬายตนะ(อายตนะ ๖) ที่ว่าคือ อินทรีย์ วิสัย วิญญาณ ความหมายคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คืออินทรีย์ ได้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้โผฏฐัพพะ ได้ธรรมารมณ์ คือวิสัย จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ คือวิญญาณ กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ เพราะด้วยอาศัย ตา ด้วย รูป ทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ การประจวบแห่งธรรม ๓ ประการ (ตา+รูป+จักขุวิญญาณ) นั้นคือ ผัสสะ และหากเกิดความรู้สึกขึ้นเมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า เวทนา ธรรม๘โพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการ๙จึงบริสุทธิ์ เช่นนี้ไปจนถึงธารณีทวารทั้งแปดหมื่นสี่ พัน ๑๐ก็ล้วนแต่บริสุทธิ์ทั้งสิ้น

    善男子,一切實相性清淨故,一身清淨,一身清淨故,多身清淨,多身清淨故,如是乃至十方眾生圓覺清淨

    。 ดูก่อนกุลบุตร เพราะเหตุที่ภาวะแห่งสัตยลักษณะทั้งปวงบริสุทธิ์ เอกกายจึงบริสุทธิ์ เพราะ เหตุที่กายเดียวบริสุทธิ์ พหุกายจึงบริสุทธิ์ ก็แลเมื่อหลายกายบริสุทธิ์ เช่นนี้ต่อไปจนถึงสรรพสัตว์ ในทศทิศจึงมีสมปูรณโพธิที่บริสุทธิ์ ๓ อายตนะ ๑๒ หรือ ทฺวาทศยตนานิ คือ อายตนะภายในและภายนอก มี ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและ สัมผัส ใจและธรรมารมณ์ ๔ ธาตุ ๑๘ คือ อษฺฏาทศ ธาตว: คือสิ่งที่ทรงสภาวะของตนเองอยู่ ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นไปตามนิยามคือกำหนดแห่ง ธรรมดา ไม่มีผู้สร้างผู้บันดาล และมีรูปลักษณะกิจอาการเป็นแบบจำเพาะตัว อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่าง ๆ มี ๑.จักษุธาตุ ๒.รูปธาตุ ๓.จักขุวิญญาณธาตุ ๔.โสตธาตุ ๕.สัททธาตุ ๖.โสตวิญญาณธาตุ ๗.ฆานธาตุ ๘.คันธธาตุ ๙.ฆานวิญญาณธาตุ ๑๐.ชิวหาธาตุ ๑๑.รสธาตุ ๑๒.ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑๓.กายธาตุ ๑๔.โผฏฐัพพธาตุ ๑๕.กายวิญญาณธาตุ ๑๖.มโนธาตุ ๑๗.ธรรมธาตุ ๑๘.มโนวิญญาณ ธาตุ ๕ การแบ่งภพ ๓ เป็นภพย่อยๆ คือ ๑)กามภพ มี ๑๔ ภพย่อย คืออบายภูมิ ๔ ทวีป ๔ กามวจรเทวภูมิ ๖ ๒)รูปภพมี ๗ ภพ คือจตุถ ฌานพรหมทั้ง ๔ มหาพรหมภพ ๑ สุทธาวาสภูมิ ๑และอวิหาภูมิ ๑ ๓)อรูปภพ มี ๔ ภพ คืออรูปพรหมทั้ง ๔ ๖ กำลังของพระพุทธเจ้า ๑๐ ประการ มี ๑)ฐานาฐานญาณพละ ปรีชากำหนดรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ ๒)กรรมวิปากญาณพละ ปรีชา กำหนดรู้ผลแห่งกรรม ๓)นานาธิมุตติญารพละ ปรีชากำหนดรู้อัธยาศัยต่างๆของสัตว์ทั้งหลาย ๔)นานาธาตุญาณพละ ปรีชากำหนดรู้ ธาตุต่างๆ ๕)อินทริยปโรปริยัตตญาณพละ ปรีชากำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ ๕ ของสรรพสัตว์ ๖)สัพพัตถคามินี ปฏิปทาญาณพละ ปรีชากำหนดรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวงของสรรพสัตว์ ๗)ฌานาทิสังกิเลสาญาณพละ ปรีชากำหนดรู้อาการมีความเศร้า หมองแห่งธรรมมีฌานเป็นต้น ๘)ปุพเพนิวาสานุสสติญาณพละ ปรีชากำหนดรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ๙)จุตูปปาตญาณพละ ปรีชา กำหนดรู้การจุติและการเกิดของสรรพสัตว์ ๑๐)อาสวักขยญาณพละ ปรีชากำหนดรู้ในการทำอาสวะให้สิ้นไป ๗ คือพระปรีชาญาณอันทำให้พระพุทธเจ้าทรงมีความแกล้วกล้าไม่ครั่นคร้าม ด้วยไม่ทรงเห็นว่าจะมีใครท้วงพระองค์ได้โดยชอบธรรมใน ฐานะทั้ง ๔ มี ๑)ประกาศความเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ๒)ประกาศธรรมที่ทำให้สิ้นอาสวะ ๓)ประกาศธรรมที่เป็นอันตราย ๔)ประกาศ ธรรมที่เป็นประโยชน์ในการหลุดพ้นจากทุกข์ ๘ คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย จำแนกพุทธธรรมว่ามี ๑๘ อย่าง คือ ๑. พระตถาคตไม่ทรงมีกายทุจริต ๒.ไม่ทรงมีวจี ทุจริต ๓.ไม่ทรงมีมโนทุจริต ๔.ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต ๕.ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต ๖.ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดใน ปัจจุบัน ๗.ทรงมีกายกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๘.ทรงมีวจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๙.ทรงมีมโนกรรมทุกอย่าง เป็นไปตามพระญาณ ๑๐.ไม่มีความเสื่อมฉันทะ (ฉันทะไม่ลดถอย) ๑๑.ไม่มีความเสื่อมวิริยะ (ความเพียรไม่ลดถอย) ๑๒.ไม่มีความ เสื่อมสติ (สติไม่ลดถอย) ๑๓.ไม่มีการเล่น ๑๔.ไม่มีการพูดพลาด ๑๕.ไม่มีการทำพลาด ๑๖.ไม่มีความผลุนผลัน ๑๗.ไม่มีพระทัยที่ไม่ ขวนขวาย ๑๘.ไม่มีอกุศลจิต ๙ โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ หมายถึงธรรมที่ทำให้ปุถุชนหลุดพ้นจากกิเลสเป็นพระอริยบุคคล เป็นธรรม หมู่ซึ่งเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องแก่กัน มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ ซึ่งทั้งหมดเป็นธรรมแก่นสารของพุทธศาสนา เรียกอีกอย่างว่า อริยัปปเวทิตธรรม คือ ธรรมที่พระอริยะ คือพระชินพุทธะทรง ประกาศสั่งสอนไว้แล้ว ๑๐ หมายถึงพระธรรม ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์

    善男子,一世界清淨故,多世界清淨,多世界清淨故,如是乃至盡於虛空,圓裹三世,一切平等清淨不動

    。 ดูก่อนกุลบุตร เพราะเหตุที่เอกโลกธาตุบริสุทธิ์ พหุโลกธาตุจึงบริสุทธิ์ ก็เหตุที่พหุโลกธาตุ บริสุทธิ์ เช่นนี้เรื่อยไปสิ้นทั้งอากาศ ตลอดทั่วตรีกาล สรรพสิ่งทั้งปวงจึงสมตาและบริสุทธิ์เสมอกัน มิได้สั่นคลอน

    善男子,虛空如是平等不動,當知覺性平等不動,四大不動故,當知覺性平等不動,如是乃至八萬四千陀羅尼門平等不動,當知覺性平等不動

    。 ดูก่อนกุลบุตร อันอากาศมีความสมตาและอจลา๑๑อยู่เช่นนี้ เธอพึงทราบเถิดว่า โพธิภาวะ ก็สมตาและอจลาด้วย เพราะเหตุที่มหาภูติรูปสี่นั้นก็อจลา เธอพึงทราบเถิดว่า โพธิภาวะก็สมตา และอจลาเช่นกัน เยี่ยงนี้ไปจนถึงธารณีทวารจำนวนแปดหมื่นสี่พันที่สมตาและอจลา อันพึงทราบ เถิดว่า โพธิภาวะก็สมตาและอจลา ฉะนี้แล

    善男子,覺性圓滿清淨不動圓無際故,當知六根遍滿法界,根遍滿故,當知六塵遍滿法界。塵遍滿故,當知四大遍滿法界,如是乃至陀羅尼門遍滿法界

    。 ดูก่อนกุลบุตร เพราะเหตุที่โพธิภาวะนั้นบริบูรณ์ วิศุทธิ อจลาอยู่โดยรอบอันไร้ขอบเขต เช่นนั้นพึงทราบเถิดว่า อินทรีย์ทั้งหกก็มีเต็มอยู่ในธรรมธาตุ เพราะเหตุที่อินทรีย์มีอยู่เต็มเปี่ยม เธอพึงทราบเถิดว่าสฬายตนะก็มีเต็มอยู่ในธรรมธาตุ และเหตุที่มีสฬายตนะอยู่เต็มเปี่ยม ก็จง ทราบเถิดว่ามหาภูติสี่ก็มีเต็มอยู่ในธรรมธาตุ เช่นนี้เรื่อยไปจนถึงธารณีทวาร(ธรรมขันธ์)ที่มีอยู่ ทั่วไปในธรรมธาตุ

    善男子,由彼妙覺性遍滿故,根性塵性無壞無雜,根塵無壞故,如是乃至陀羅尼門無壞無雜,如百千燈光照一室,其光遍滿無壞無雜

    。 ดูก่อนกุลบุตร เพราะเหตุที่โพธิภาวะอันประเสริฐมีเต็มอยู่ ภาวะแห่งอินทรีย์ สฬายตนะจึง มิเสื่อมสลายและสุทธิ ก็เพราะด้วยอินทรีย์และสฬายตนะมิเสื่อมเป็นเหตุ เรื่อยไปจนถึงธารณีทวาร ที่มิเสื่อมสลายและสุทธิ ประดุจโอภาสแห่งประทีปร้อยพันดวงที่สว่างอยู่ในห้องเดียว ก็อันรัศมีนั้น แลจักสว่างอยู่ทั่วไปมิเสื่อมสลายและสุทธิ ๑๑ สมตา คือ ความเสมอเท่าเทียมกัน ไม่สูงหรือต่ำกว่ากัน ไม่ดีหรือชั่วกว่ากัน และอจลา คือ ความไม่หวั่นคลอน หวั่นไหว คงสภาวะ เดิมอยู่เป็นนิตย์

    善男子,覺成就故,當知菩薩不與法縛,不求法脫,不厭生死,不愛涅槃,不敬持戒,不憎毀禁,不重久習,不輕初學。何以故,一切覺故,譬如眼光曉了前境,其光圓滿,得無憎愛。何以故,光體無二,無憎愛故

    。 ดูก่อนกุลบุตร เพราะเหตุที่สำเร็จซึ่งโพธิ พึงทราบเถิดว่าโพธิสัตว์มิข้องด้วยธรรมพันธะ คือมิถูกผูกมัดไว้ด้วยธรรม แลมิปรารถนาหลุดพ้นจากธรรม มิเบื่อหน่ายสังสารวัฏ มิรักใคร่พระ นิรวาณ มิสำรวมศีลสมาทาน มิรังเกียจการละเมิดพรต มิคารวะอาวุโส มิดูเบาผู้เริ่มศึกษา ด้วย เหตุไฉนนั่นฤๅ เพราะความรู้แจ้งทั้งปวงนั้น อุปมาทัศนบถที่ประจักษย์ ังวิสัยเบื้องหน้า อันปรากฏ อย่างแจ่มชัดสมบูรณ์ บรรลุถึงความมิรังเกียจแลรักใคร่ ด้วยเหตุไฉนนั่นฤๅ เพราะภาพสังขารที่ ปรากฏนั้นมิเป็นสอง ปราศจากซึ่งความเกลียดและความรัก

    善男子,此菩薩及末世眾生,修習此心得成就者,於此無修亦無成就,圓覺普照,寂滅無二,於中百千萬億阿僧祇不可說恒河沙諸佛世界,猶如空華,亂起亂滅,不即不離,無縛無脫,始知眾生本來成佛,生死涅槃,猶如昨夢

    。 ดูก่อนกุลบุตร โพธิสัตว์และสรรพสัตว์ในอนาคตนี้ เมื่อประพฤติบำเพ็ญซึ่งจิตประการนี้ ย่อมบรรลุซึ่งสิทธิ ด้วย(จิต)ประการนี้ปราศจากการบำเพ็ญแลปราศจากการสำเร็จ รู้แจ้งชัดรอบ ทั่วอยู่ มีความดับสนิทมิเป็นสอง ในพุทธเกษตรโลกธาตุจำนวนร้อยพันหมื่นโกฏิอสงไขยอันมิอาจ กล่าวประมาณ(อุปมา)ทรายแห่งคงคานที ก็อุปมาดั่งอากาศบุปผา ที่เกิดขึ้นด้วยความผันผวนและ ดับไปด้วยความผันผวน อันมิใช่ที่นี้และมิใช่ห่างไกล มิถูกพันผูกและมิหลุดพ้น จึงทราบว่าแต่เดิม นั้นสรรพสัตว์ได้บรรลุพุทธะมาแล้ว อันชาติมรณะ และพระนิรวาณนั้นเล่า ก็อุปมาด้วยความฝัน

    善男子,如昨夢故,當知生死及與涅槃,無起無滅,無來無去,其所證者,無得無失,無取無捨,其能證者,無作無止,無任無滅,於此證中,無能無所,畢竟無證,亦無證者,一切法性平等不壞

    。 ดูก่อนกุลบุตร เพราะดั่งด้วยความฝัน จึงพึงทราบเถิดว่า สังสารวัฏและพระนิรวาณ มิได้ เกิดขึ้นแลมิได้ดับไป มิได้มาแลมิได้ไป อันผู้ได้ถึงแล้ว ย่อมมิบรรลุแลมิเสื่อมไป มิมั่นไว้แลมิ เพิกเฉย อันผู้สามารถถึงแล้ว ย่อมปราศจากการกระทำแลปราศจากการยุติ ปราศจากการตั้งอยู่แล ปราศจากการดับไป อันการบรรลุนี้ มิอาจเข้าถึงแลมิอาจตั้งอยู่ ที่สุดนั้นแล้วก็หาได้บรรลุไม่ ก็แล อันการมิได้บรรลุนั้น คือภาวะแห่งสรรพธรรมที่สมตาและมิเสื่อมสลาย

    善男子,彼諸菩薩如是修行,如是漸次,如是思惟,如是住持,如是方便,如是開悟,求如是法,亦不迷悶

    。 ดูก่อนกุลบุตร โพธิสัตว์เหล่านั้นจงบำเพ็ญจริยาเช่นนี้ เป็นลำดับอยู่เช่นนี้ จินตนาอยู่เช่นนี้ ธำรงอยู่เช่นนี้ มีอุปายะเช่นนี้ รู้ชัดเช่นนี้ ปรารถนาธรรมเช่นนี้ ด้วยมิลุ่มหลงขัดข้องด้วยประการ เช่นนี้เถิด

    爾時世尊欲重宣此義,而說偈言
    ในครั้งนั้น สมเด็จพระโลกนาถเจ้าทรงปรารถนาจักย้ำในอรรถนี้ จึงตรัสเป็นโศลกว่า

    . 爾時世尊欲重宣此義,而說偈言

    : ในครั้งนั้น สมเด็จพระโลกนาถเจ้าทรงปรารถนาจักย้ำในอรรถนี้ จึงตรัสเป็นโศลกว่า

    ... 普眼汝當知,一切諸眾生

    。 สมันตเนตรเธอพึงทราบเถิด อันสรรพสัตว์ทั้งปวง

    身心皆如幻,身相屬四大

    。 กายแลจิตล้วนดุจมายา กายลักษณะก็เป็นเครื่องเกี่ยวอยู่ด้วยมหาภูติสี่

    心性歸六塵,四大體各離

    。 จิตภาวะก็สงเคราะห์ที่สฬายตนะ สังขารวิภาคได้เป็นมหาภูติสี่

    誰為和合者,如是漸修行

    。 ผู้ใดกันเล่าที่ประกอบมีขึ้น พึงบำเพ็ญจริยาเป็นลำดับเช่นนี้

    一切悉清淨,不動遍法界

    。 สรรพสิ่งทั้งมวลจักวิศุทธิ์ อจลาและพร้อมในธรรมธาตุ

    無作止任滅,亦無能證者

    。 ไร้ผู้กระทำ ผู้ยุติ ผู้ตั้งอยู่ ผู้ดับไป ทั้งไร้ผู้สามารถบรรลุ

    一切佛世界,猶如虛空華

    。 พุทธโลกธาตุทั้งหลาย อุปมาอากาศบุปผา

    三世悉平等,畢竟無來去

    。 ตรีกาลล้วนสมตา ที่สุดแล้วปราศจากซึ่งการมาแลการไป

    初發心菩薩,及末世眾生

    。 ผู้เริ่มบังเกิดจิตโพธิสัตว์ และสรรพสัตว์ในโลกอนาคต

    欲求入佛道,應如是修習

    。 เมื่อปรารถนาเข้าสู่พุทธมรรคแล้วไซร้ พึงปฏิบัติบำเพ็ญเช่นนี้เถิด.

    จบวรรคที่ ๓
     

แชร์หน้านี้

Loading...