วิเคราะห์ความคิดทางการเมืองในพระพุทธศาสนา

ในห้อง 'Black Hole' ตั้งกระทู้โดย Chakkrapong, 29 มีนาคม 2013.

  1. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    ผมขออนุญาตลงข้อมูลต่อเลยนะครับ
    ------------------------------------------------


    การรักษา ป้องกัน คุ้มครองฝ่ายใน
    ฝ่ายในของพระเจ้าแผ่นดินก็คือ พระราชบิดามารดา พระมเหสี และราชโอรสราชธิดา พร้อมพระญาติวงศ์อื่นๆ บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่พระราชาจะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง มิให้ได้รับความเดือดร้อน ถามว่าจะทำการรักษาพระราชบิดามารดาอย่างไร ตอบว่าในบุคคลเหล่าอื่น พระราชาทรงทำการรักษาด้วยแสดงความรักห่วงใยประดุจลูก แต่กับพระราชบิดามารดาและสมณพราหมณ์ พระราชาจะถือพระองค์อย่างนั้นไม่ได้ ต้องแสดงความเคารพต่อท่าน ถ้าในกรณีพระราชบิดามารดา ก็ให้เหมือนลูกเคารพพ่อแม่ทั่วๆไป ต้องแบ่งพระทัยมาฝักใฝ่ในเรื่องความเป็นอยู่ของพระราชบิดาพระราชมารดา พระราชาควรเข้าไปเฝ้าพระราชบิดาและพระราชมารดาทุกวัน วันละหนึ่งครั้ง หรือถ้าพระราชบิดาและพระราชมารดามิได้ประทับในวังเดียวกัน พระราชาต้องตั้งพนักงานคอยเฝ้าดูแลพระองค์ท่าน และให้รายงานสุขภาพและความต้องการของพระองค์ท่านทุกวัน นอกจากนั้นพระราชาต้องหาโอกาสไปเฝ้าพระองค์ท่านทุกๆเจ็ดวัน อย่างนี้เรียกว่าทรงทำการรักษาพระราชบิดามารดา
    ทำอย่างไรจึงเรียกว่าการป้องกันพระราชบิดามารดา พระราชาต้องป้องกันทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ของพระราชบิดามารดาไว้มิให้ใครมาแอบอ้างถือกรรมสิทธิ์ สิ่งใดที่พระราชบิดามารดาต้องการ ต้องจัดการถวายพระองค์ท่าน เมื่อพระองค์ท่านสวรรคตแล้ว จัดการแบ่งมรดกส่วนพระองค์ที่มีอยู่พระราชทานแก่ผู้ที่พระองค์รับสั่งไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ สำหรับพระสนมของพระราชบิดา พระราชาควรอุปการะเลี้ยงดูต่อไป หากพระสนมคนใดต้องการออกจากวังเพื่อไปดำรงชีพเยี่ยงสามัญชน พระราชาควรจะปล่อยไปตามความต้องการของนาง และที่สำคัญก็คือ พระราชาไม่ควรนำพระสนมของพระราชบิดามาเป็นพระสนมของตนเอง เพราะถ้าทำดังนั้น จะถูกประชาชนตำหนิ (เอาแม่เลี้ยงมาทำเมีย จะโดนเขาด่าก็ไม่แปลก) การทำดังนี้ดังกล่าวมานี้ เรียกว่า ทรงป้องกันพระราชบิดามารดา
    ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า คุ้มครองพระราชบิดามารดา พระราชาจะต้องกำจัดอันตรายทุกชนิดที่เกิดขึ้นให้แก่พระราชบิดามารดา เมื่อพระราชบิดามารดาประชวร พระราชาในฐานะที่เป็นลูก และในฐานะที่เป็นผู้ปกครองจะต้องจัดการหาแพทย์มารักษาให้พระองค์ท่านหายจากโรค หรือแม้ความเดือดร้อนอื่นๆเกิดขึ้น พระราชาจะต้องเป็นผู้กำจัดความเดือดร้อนนั้นให้หมดไป การดำเนินการดังกล่าวมานี้เรียกว่า การคุ้มครองพระราชบิดามารดา
    หันมากล่าวถึงการปกครองชนภายในที่เหลือกันต่อไป พระราชาจะต้องทำการรักษาพระมเหสีอย่างไร ในการรักษามเหสี พระราชาจะต้องมีความอดทนในบางเรื่อง
    การรักษาพระมเหสีด้วยการไม่เบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน ต้องปฏิบัติอย่างไร พระราชาจะต้องมีความรักมีความเอ็นดูพระมเหสี ต้องทราบว่าหญิงนั้นเป็นปุถุชน มีความต้องการตามโลกียวิสัย พระราชาไม่ควรทิ้งโดยไม่เหลียวแล การทิ้งร้างโดยไม่เอาพระทัยใส่ทำให้มเหสีเป็นคนน่าสงสาร จะออกนอกวังก็ไม่ได้ จะอยู่ต่อไปก็มีแต่ความอัดอั้นตันใจ
    อนึ่ง พระราชาส่วนใหญ่มักจะมีมเหสีหลายองค์ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาราชวงศ์ แต่ยังไงๆ ก็ผิดศีลข้อกาเมอยู่ดี
    ที่กล่าวมาแล้ว เป็นการแสดงถึงการรักษาพระมเหสีที่เป็นธรรม ต่อไปควรทราบว่าพระราชาทรงปฏิบัติอย่างไร จึงจะเรียกว่าทรงป้องกันและคุ้มครองพระมเหสี การที่พระราชาทรงเกื้อกูลด้วยทรัพย์สมบัติ และป้องกันทรัพย์สมบัติของพระมเหสีมิให้วิบัติไปด้วยการกระทำของคน หรือด้วยภัยธรรมชาติ อนึ่ง เมื่อสมบัติของพระมเหสีวิบัติไปด้วยเหตุใดก็ตาม พระราชาจะต้องจัดหามาให้เหมือนเดิม ปฏิบัติการดังกล่าวนี้ ทรงป้องกันพระมเหสีด้วยความเป็นธรรม
    ส่วนการคุ้มครองพระมเหสีที่เป็นธรรม ก็คือ การที่พระราชาทรงระวังมิให้พระมเหสีต้องเดือดร้อนเพราะภัยต่างๆ เช่น เจ็บป่วย อุปัทวเหตุ ความอดอยาก เป็นต้น เมื่อพระมเหสีทรงพระประชวร พระราชาต้องหาแพทย์มารักษาให้หาย เมื่อประสบอุปัทวเหตุก็ต้องหาทางรักษา และต้องคอยระวังมิให้พระมเหสีอดอยาก ปฏิบัติการดังกล่าวมานี้เรียกว่า ทรงป้องกันและคุ้มครองพระมเหสีด้วยความเป็นธรรม
    นอกจากพระราชาจะต้องทรงรักษา ป้องกัน และคุ้มครองพระราชบิดา-มารดาและพระมเหสีแล้ว พระองค์จะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกด้วย ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเรียกว่า ทรงรักษา ป้องกัน และคุ้มครองพระราชโอรสและพระราชธิดา ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในอรรถกถาจักกวัตติสูตร ท่านอธิบายว่า หลักการปกครองที่เรียกว่า การรักษา หมายถึง การรักษาด้วยความอดทน ไม่เบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน มีความเมตตา และมีความเอ็นดู
    สำหรับประเด็นที่ว่ารักษาด้วยไม่เบียดเบียน รักษาด้วยเมตตาหรือความรัก และรักษาด้วยความเอ็นดูนั้น ไม่มีปัญหาในการปฏิบัติอย่างไร ทั้งนี้เพราะว่าในฐานะที่เป็นพ่อแม่ ย่อมจะไม่มีใครเบียดเบียนลูกให้ได้รับความเดือดร้อน ในฐานะเป็นพ่อแม่ย่อมมีความรัก คือ เมตตาและมีความเอ็นดูลูกเป็นธรรมดา แม้จะเป็นพระราชาก็ย่อมจะมีความรักและเอ็นดูพระราชโอรส-ราชธิดาเหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นที่จะพูดในประเด็นนี้ สำหรับประเด็นที่ควรพูดก็คือ ประเด็นที่ว่าต้องรักษาพระราชโอรส-ราชธิดาด้วยความอดทน
    คนเลี้ยงลูกบางคน (เป็นส่วนน้อย) เอาแต่ใจตัว เห็นลูกทำอะไรไม่ดีหน่อยก็โกรธ แล้วก็ดุว่า หรือบางครั้งลูกทำไม่ถูกใจก็โกรธแล้วดุด่า ซึ่งที่ถูกแล้วเมื่อลูกทำผิดแล้ว ถ้าเป็นความผิดครั้งแรก ไม่ควรลงโทษด้วยการตีหรือด้วยการดุด่า แต่ควรสั่งสอนให้รู้ว่าการทำไม่ดีอย่างนั้น จะได้รับผลอย่างนี้ หรือเมื่อทำอะไรไม่ถูกใจเรา ก็ไม่ควรดุด่า ควรพูดกับลูกดีๆว่า ลูกอย่าทำอย่างนั้น การที่พ่อแม่เลี้ยงลูกโดยไม่ดุด่าเมื่อทำผิด และไม่ดุด่าเมื่อลูกทำไม่ถูกใจนั้น เรียกว่า รักษาลูกด้วยความอดทน
    พระราชาก็เหมือนบุคคลผู้เป็นพ่อโดยทั่วไป บางทีจะยิ่งหนักกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะเหตุเป็นคนมีอำนาจมาก เมื่อไม่ถูกพระทัยในพฤติกรรมของพระราชโอรส-ราชธิดา ก็มักจะพิโรธ มิได้ดำริว่าพระราชโอรสธิดายังเล็กนัก เพราะฉะนั้น การที่พระราชโอรส-ธิดาทำบางสิ่งไม่ดีหรือไม่ถูกใจนั้น ก็เป็นเพราะไม่มีความคิด หรือไม่ก็เพราะมีประสบการณ์น้อย ถ้าพระราชาองค์ใดมีพระดำริดังกล่าวมานั้น ได้ชื่อว่าทรงรักษาพระราชโอรส-ราชธิดาด้วยความอดทน อดทนอะไร อดทนเมื่อเห็นพระราชโอรส-ราชธิดาทำสิ่งไม่ถูกพระทัย ไม่กริ้ว ไม่บริภาษ แต่ชี้แจงเหตุผลให้รู้ พระราชโอรส-ราชธิดาที่ได้รับการอบรมด้วยเหตุด้วยผล ย่อมจะเป็นคนมีเหตุผล แต่ถ้าพระราชาไม่มีความอดทน พระราชโอรส-ราชธิดาทำผิดก็พิโรธ และบริภาษ พระราชโอรส-ราชธิดาก็เท่ากับถูกอบรมให้มีความฉุนเฉียว เมื่อใครทำผิดหรือทำไม่ถูกใจก็จะพิโรธเหมือนกับที่เคยได้ประสบมาเมื่อตอนเป็นพระราชกุมาร นี่คือผลเสียของการรักษาพระราชโอรส-ราชธิดา ด้วยความไม่อดทน
    ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นหลักการปกครองฝ่ายในของพระราชาในหน้าที่การรักษาพระราชโอรส-ราชธิดาด้วยความอดทน สำหรับหน้าที่การป้องกันและการคุ้มครองพระราชโอรส-ราชธิดาของพระราชานั้น ไม่มีความลำบากในการปฏิบัติ เพราะธรรมดาแม้พ่อแม่จะเป็นพระราชาก็คงจะมีพระทัยป้องกันทรัพย์สมบัติของพระราชโอรส-ราชธิดาเหมือนพ่อแม่คนอื่นๆ และทำนองเดียวกันพระราชาซึ่งอยู่ในฐานะพ่อแม่ก็ต้องมีพระทัยสงสารลูก เมื่อเจ็บป่วยหรือมีอันตรายมาเยือนและเมื่อมีความสงสารก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พระราชาจะต้องคุ้มครองพระราชโอรส-ราชธิดาให้พ้นจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีพระราชาองค์ไหนพระทัยร้ายปล่อยให้พระราชโอรส-ราชธิดาเจ็บป่วย หรือปล่อยให้ได้รับอันตรายต่างๆ โดยไม่สนพระทัยให้การรักษาหรือบำบัดอันตราย ดังนั้น ในหน้าที่การป้องกันและคุ้มครองพระราชโอรส-ราชธิดา จึงไม่ต้องกล่าวให้มากความแต่อย่างใด หลักการปกครองในหน้าที่รักษา ป้องกัน และคุ้มครองที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ภาระหน้าที่การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองฝ่ายในของพระราชาในข้อที่สองของจักกวัตติวัตร ซึ่งนอกจากฝ่ายในเท่าที่ได้กล่าวมาแล้ว พระญาติวงศ์อื่นทั้งหมด พระราชาจะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองให้ได้รับความสุขโดยทั่วหน้ากันด้วย

    การรักษา ป้องกัน คุ้มครองมิตรอำมาตย์
    บุคคลประเภทที่สอง ที่พระราชาต้องรักษา ป้องกัน คุ้มครอง ก็คือมิตรและอำมาตย์ เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงวางหลักการปกครองไว้อย่างรอบคอบ ซึ่งนอกจากพระเจ้าแผ่นดินจะต้องดูแลสุขทุกข์ของพระญาติวงศ์แล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะต้องดูแลสุขทุกข์ของมิตรอำมาตย์ และคนอื่นๆซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า
    คำว่ามิตรหมายถึงเพื่อน ส่วนอำมาตย์หมายถึงข้าราชการทุกประเภทที่รับใช้พระราชา ยกเว้นทหารซึ่งมีกล่าวไว้เฉพาะแล้ว สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เพื่อนของพระราชาโดยทั่วไปที่เราทราบก็คือ พระราชาดูเหมือนจะไม่มีเพื่อน เพราะคนที่เป็นเพื่อนกันก็ต้องมีฐานะเสมอกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน ในราชอาณาจักรหนึ่ง คงจะไม่มีใครคบพระราชาเป็นเพื่อน แม้พระราชาจะคบด้วย คนผู้นั้นก็มิบังอาจวางตนเป็นเพื่อนกับพระราชา
    จะอย่างไรก็ตามเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ก็แสดงว่าอาจจะมีเพื่อนของพระเจ้าแผ่นดินบ้างก็ได้ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินมีเพื่อน พระองค์จะต้องปกครองเพื่อนเหมือนกับปกครองอำมาตย์ โดยหน้าที่สามประการคือ การรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การรักษาที่เป็นธรรม ก็คือ รักษาด้วยความอดทน หรือมีความอดทนในการรักษา รักษาด้วยการไม่เบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน รักษาด้วยความเมตตา คือ ความรัก และรักษาด้วยความเอ็นดู คือ หวังให้ได้ประโยชน์และความสุข ส่วนหน้าที่การป้องกัน ก็คือ การป้องกันทรัพย์สินของบุคคลจำพวกต่างๆ สำหรับหน้าที่คุ้มครอง ก็คือ คุ้มครองให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง จากนี้เรามาพูดถึงปัญหาที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองโดยชอบธรรมแก่มิตรและอำมาตย์อย่างไร
    สำหรับเพื่อน พระราชาต้องร้กษาด้วยการคอยระวังเพื่อนผู้ประมาทมิให้ประสบความเดือดร้อน ลักษณะการระวังเพื่อนผู้ประมาท ต้องใช้ความอดทน แต่ในฐานะเป็นพระราชาอาจจะบัญชาให้ข้าราชการคอยสอดส่องดูแลก็ได้ บุคคลผู้ประมาทคือผู้ดำเนินชีวิตในทางผิดศีลธรรม การดำเนินชีวิตที่ผิดศีลธรรม เช่น ฆ่าสัตว์ ฉ้อราษฎร์บังหลวง การคบชู้กับภรรยาของคนอื่น เป็นต้น หากพระราชาทรงมีเพื่อนที่ดำเนินชีวิตดังกล่าวนั้น ต้องทำการทักท้วงมิให้ทำความชั่วอย่างนั้น และถ้าเพื่อนยังขืนทำความชั่วอยู่อีก นั่นคือ เพื่อนผู้ประมาท แน่นอนว่าเขาจะต้องได้รับกรรมที่ก่อขึ้น ดังนั้น พระราชาต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอย่างนั้น คือ พยายามห้ามไม่ให้ทำความชั่ว บางครั้งก็ต้องใช้อำนาจบังคับให้เลิกทำให้ได้ อย่างนี้เรียกว่า รักษาเพื่อนด้วยความอดทน
    การรักษาเพื่อนด้วยการไม่เบียดเบียน คือ การทำอย่างไร การที่พระราชารบกวนเพื่อนให้ช่วยทำงานที่เกินพอดี ไม่มีความเกรงใจเพื่อน หรือทำการใดๆที่เพื่อนต้องเสียทรัพย์สิน การกระทำดังกล่าวมานี้เรียกว่า เบียดเบียนเพื่อนให้ได้รับความเดือดร้อน อย่าทำ
    การรักษาเพื่อนด้วยความเมตตา คือ การทำโดยวิธีใด การที่พระราชาทรงมีความรักเพื่อนด้วยความจริงใจ ทรงบอกความลับของพระองค์กับเพื่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เพื่อนมองเห็นความจริงใจของพระองค์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนการรักษาเพื่อนด้วยความเอ็นดู หมายถึง พระราชาทรงหวังดีต่อเพื่อน หวังจะให้เพื่อนมีความสุข แล้วทรงแนะนำเพื่อนในหลักการของมิตรที่ว่า สนับสนุนให้ทำความดี เพราะเมื่อทำความดีแล้วเพื่อนก็จะได้รับความสุขตามที่พระองค์ทรงหวัง นี่คือ การรักษาเพื่อนด้วยความเมตตาและความเอ็นดู
    พระราชาจะป้องกันเพื่อนโดยวิธีใด การที่พระราชาทรงทำการป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนมิให้ถูกใครทำลายหรือยื้อแย่ง และเมื่อเพื่อนไม่มีทรัพย์สินก็ประทานให้ตามความจำเป็น พระราชกรณียกิจดังกล่าวมานี้ เรียกว่าทรงทำการปกครองในหน้าที่ป้องกันทรัพย์สมบัติมิให้วิบัติ
    ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าพระราชาทรงคุ้มครองเพื่อนให้พ้นภัย การที่พระราชาทรงทำหน้าที่ป้องกันภัยอันตรายทั้งมวล เช่น โรคภัยและโจรภัยเป็นต้น ไม่ให้เกิดแก่เพื่อน และเมื่อโจรภัยเป็นต้นเกิดขึ้นแก่เพื่อนแล้ว ทรงจัดการรักษาให้หายไป พระกรณียกิจดังกล่าวมานี้ เรียกว่า ทรงคุ้มครองเพื่อนให้พ้นจากภัยทั้งมวล
    ส่วนการรักษาป้องกันและคุ้มครองอำมาตย์ก็เหมือนกับที่ทรงทำกับเพื่อนนั่นเอง เพราะอำมาตย์เป็นผู้รับใช้ของพระราชา เป็นผู้ทำการปกครอง ต่างพระเนตรพระกรรณของพระราชาในหน้าที่รักษา ป้องกัน และคุ้มครองประชาชนทั่วไป ดังนั้น พระองค์จะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองเหมือนเพื่อน จะมียกเว้นบางข้อเช่นการตรัสบอกความลับส่วนพระองค์นั้น จะต้องไม่นำความลับส่วนพระองค์ตรัสบอกกับอำมาตย์
    สำหรับอำมาตย์ มีความพิเศษกว่าการปฏิบัติกับเพื่อนประการหนึ่งที่พระราชาจะต้องทำ คือ การพระราชทานเบี้ยหวัดให้แก่อำมาตย์ เพราะอำมาตย์เป็นผู้ปฏิบัติงานต่างพระเนตรพระกรรณในการปกครองแผ่นดิน เมื่อต้องมีหน้าที่เช่นนี้แล้ว ย่อมจะไม่มีเวลาในการที่จะประกอบอาชีพ ดังนั้น พระราชาจะต้องพระราชทานเงินประจำที่เรียกว่าเบี้ยหวัดให้แก่อำมาตย์ เพื่อที่อำมาตย์จะได้มีเงินไปเลี้ยงครอบครัวของตน
    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ในเตสกุณชาดก ถึงเรื่องอำมาตย์ผู้จะทำหน้าที่รักษาท้องพระคลังของพระเจ้าแผ่นดินไว้ว่า (ย่อความเอา) อันอำมาตย์ผู้ที่จะรักษาท้องพระคลังนั้น จะต้องเลือกผู้ที่เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในการแสวงหาผลประโยชน์และฉลาดในการรักษาผลประโยชน์ ไม่แพร่งพรายความลับ ไม่ดื่มสุรา ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
    พุทธพจน์ที่ยกมานี้ อาจจะไม่เกี่ยวกับการรักษา ป้องกัน คุ้มครองของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ให้ความรู้ว่าบุคคลที่พระเจ้าแผ่นดินจะนำมาตั้งเป็นอำมาตย์เพื่อรักษาพระคลังนั้น จะต้องเป็นคนเช่นนี้ และในฐานะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจะต้องมีหน้าที่ทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองอำมาตย์อยู่แล้ว ก็อย่าไปทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองอำมาตย์ที่ไม่ซื่อตรง

    การรักษา ป้องกัน คุ้มครองพาหนะและกองทัพ
    ในฐานะที่เป็นพระราชา นอกจากจะต้องดูแลสุขทุกข์ของพระญาติฝ่ายในและมิตรอำมาตย์แล้ว จะต้องดูแลสุขทุกข์ของพาหนะและกองทัพอีกด้วย ก็คือ พรองค์ต้องรับผิดชอบชีวิตของพาหนะและทหารทุกนาย การดูแลดังกล่าวก็คือ การทำหน้าที่รักษา ป้องกัน คุ้มครอง เหมือนกับที่ทำกับฝ่ายในและมิตรอำมาตย์นั่นเอง
    ในสมัยโบราณกองทัพประกอบไปด้วย กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ และพลเดินเท้า เฉพาะกองทัพม้า กองทัพช้าง และกองทัพรถเท่านั้น ที่จำเป็นจะต้องใช้พาหนะซึ่งก็คือ ช้างม้า ถ้ากองทัพปราศจากช้างม้า การรบก็ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อการรบไม่มีประสิทธิภาพก็อาจจะต้องแพ้สงครามบ่อยๆ ดังนั้น ถ้าหวังจะเป็นผู้ชนะสงคราม พระราชาจะต้องสั่งสมช้างม้า และต้องทำการบำรุงรักษาช้างม้าเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้กำลังใจในการใช้งานยามสงคราม
    สำหรับการบำรุงพาหนะก็คือการทำหน้าที่รักษา ป้องกัน คุ้มครอง การรักษาช้างม้า ก็ต้องปฏิบัติในหน้าที่ของการรักษาสี่ประการ คือ รักษาด้วยความอดทน รักษาด้วยการไม่เบียดเบียน รักษาด้วยความเมตตา และรักษาด้วยความเอ็นดู การรักษาด้วยความอดทน ก็คือ มีความอดทนในการฝึกช้างม้า หรือมีความอดทนในการเลี้ยงช้างม้า
    ทำอย่างไรเรียกว่าไม่อดทนในการฝึก และไม่อดทนในการเลี้ยงช้างม้า การที่พระราชาก็ดี หรือคนเลี้ยงช้างม้าของพระราชาก็ดี ฝึกช้างม้าให้รู้จักหน้าที่ในการฟังคำสั่ง แต่ช้างม้าสำเหนียกไม่ได้ หรือทำตามไม่ได้ก็เกิดความโกรธลงโทษมัน การปฏิบัติดังนี้ เรียกว่าการฝึกช้างม้าด้วยความไม่อดทน ส่วนการที่มีช้างม้าไว้เป็นพาหนะของกองทัพแล้ว ช้างม้านั้นอาจหลุดไปทำความเสียหาย ก็เกิดความโกรธลงโทษมัน การปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าการเลี้ยงช้างม้าด้วยความไม่อดทน เพราะความจริงเมื่อช้างม้าหลุดไปทำความเสียหาย ควรจะโทษคนเลี้ยง ไม่ใช่ไปโทษสัตว์
    ส่วนการรักษาช้างม้าด้วยการไม่เบียดเบียน หมายถึง การเลี้ยงราชพาหนะเหล่านั้นด้วยความเอาใจใส่ไม่ปล่อยให้อดอยาก ไม่ปล่อยให้ทำงานจนเกินกำลังของช้างม้า การรักษาด้วยความเมตตา ก็คือ มีพระทัยรักช้างม้าที่เป็นราชพาหนะ เมื่อช่วยทำสงครามจนได้รับชัยชนะ ก็พระราชทานรางวัลต่างๆ เช่น พระราชทานเงินสำหรับซื้ออาหารอย่างเพียงพอ โดยเป็นเงินที่เรียกว่า เบี้ยหวัดเงินปีเหมือนทหาร และพระราชทานยศให้ ดังที่สมเด็จพระนเรศวร ทรงพระราชทานนามให้ช้างทรง ส่วนการรักษาด้วยความเอ็นดูนั้น หมายถึง ทรงมีความสงสาร หวังความสุขของราชพาหนะไม่ใช้งานให้ตรากตรำจนเกินไป
    ส่วนหน้าที่ในการป้องกันราชพาหนะ ก็คือ สมบัติใดของราชพาหนะที่มีอยู่แล้ว เป็นต้นว่า โรงช้าง โรงม้า อาหารประจำ หรือเครื่องบำรุงราชพาหนะต่างๆ ที่พระราชทานให้ ก็ให้คงไว้อย่างนั้น อย่าให้ใครทำลายหรือเลิกเครื่องบำรุงเหล่านั้น ทรงปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า ทรงป้องกันราชพาหนะ สำหรับการคุ้มครองราชพาหนะก็คือ ป้องกันอันตรายต่างๆที่เกิดขึ้นกับราชพาหนะ เช่น เมื่อป่วยไข้ก็ให้หมอรักษา ขณะเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บอยู่ ไม่ควรจะใช้ให้ทำงานหรือฝึกงาน เป็นต้น การทรงปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า การคุ้มครองราชพาหนะ
    ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งพระราชา ซึ่งจะต้องดูแลสุขทุกข์ของผู้คนทั้งมวล จะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองราชพาหนะโดยวิธีที่ได้กล่าวมาแล้วด้วยประการฉะนี้
    (ในยุคปัจจุบันนี้ กองทัพเลิกใช้ช้างม้าเป็นพาหนะไปแล้ว รัฐบาลก็ควรหันไปบำรุงยานพาหนะของกองทัพ เช่น รถถัง เครื่องบินรบ เรือรบ ฯลฯ รวมถึงอาวุธยุโธปกรณ์ต่างๆ เช่น ปืน ระเบิด เสื้อเกราะ ฯลฯ แทน อย่าให้ด้อยประสิทธิภาพ หรือล้าหลังกว่ากองทัพของชาติอื่น ไม่งั้นก็คาดหวังการรบแพ้เสียเอกราชได้เลย เคยมีสื่อนอกจัดอันดับให้กองทัพไทยเข้มแข็งเป็นอันดับสิบเก้าของโลก นั่นก็ดี แต่ผมยังคิดว่าดีไม่พอ อันดับสิบเก้าเนี่ยถ้าเทียบกับอันดับ 1 – 5 นี่คนละเรื่องเลยนะ ดีไม่ดีถ้ารบกันเนี่ยเราอาจจะสู้มันไม่ได้เลย ดังนั้นถ้าจะให้ดีเราควรจะสร้างกองทัพของเราให้แกร่งกว่านี้ ให้เลื่อนขึ้นไปถึงอันดับซักประมาณ 4 – 8 น่าจะเป็นอันใช้ได้ และที่สร้างให้แกร่งกว่าเขานี่ อย่าตั้งเป้าว่าจะเอาไปรุกรานนะ ให้ตั้งเป้าว่า ต้องสร้างให้แกร่งถึงขั้นไหน ถึงจะไม่มีใครกล้ารุกรานเรา ต่อให้เป็นพวกมหาอำนาจโลกก็ตาม พูดง่ายๆคือ เราต้องสร้างกองทัพไว้เพื่อป้องกันประเทศเป็นหลัก ถ้าสร้างกองทัพขึ้นเพื่อไปเข่นฆ่ารุกรานประเทศอื่น นั่นเรียกว่าอธรรมิกราชครับ)
    ส่วนการรักษาป้องกันและคุ้มครองทหาร พระราชาจะต้องปฏิบัติเหมือนกับที่ปฏิบัติกับผู้คนอื่นๆ กล่าวคือ การรักษาต้องรักษาด้วยความอดทน ด้วยการไม่เบียดเบียน ด้วยความเมตตาและด้วยความเอ็นดู ต้องป้องกันสมบัติของทหารมิให้ถูกละเมิด และต้องคุ้มครองทหารให้พ้นจากอันตรายทั้งปวง
    ทำอย่างไรเรียกว่าการรักษาทหารด้วยความอดทน หน้าที่ของทหารมีสามประการคือ ฝึกอาวุธ ทำสงคราม รับใช้พระราชาในราชการอื่นๆ สำหรับหน้าที่หลักคือการฝึกอาวุธ และการทำสงครามนั้น พระราชาต้องมีความอดทนในการรอคอยในการฝึกของทหาร พระราชาบางพระองค์เอาแต่พระทัยตนเอง เมื่อมีการฝึกทหารแล้ว ก็หวังแต่จะให้ทหารฝึกสำเร็จโดยเร็ว เมื่อไม่ได้ดังพระทัยก็ทรงพิโรธแล้วก็ลงพระอาญาครูฝึกและทหารที่ฝึก เหมือนพระราชาบางพระองค์ที่ลงพระอาญาหมอที่ไม่สามารถรักษาโรคของบุคคลที่ทรงโปรดได้ การที่หมอรักษาโรคไม่หายแล้วลงพระอาญา หมายถึง พระราชานั้นทรงรักษาอำมาตย์ คือ หมอด้วยความไม่อดทน และการที่ครูฝึกและทหาร ฝึกไม่ได้เก่งตามที่ทรงหวัง แล้วลงพระอาญา ก็เท่ากับว่าทรงรักษาทหารด้วยความไม่อดทน การที่จะปฏิบัติในหน้าที่รักษาทหารให้ถูกต้อง ต้องอดทนในการรอคอยในการฝึกทหาร เมื่อยังไม่เกิดความชำนาญ ก็ให้ฝึกไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่อืดอาด การปฏิบัติดังนี้เรียกว่า การรักษาทหารด้วยความอดทน
    ทำอย่างไรเรียกว่า รักษาทหารด้วยการไม่เบียดเบียน ก่อนอื่นควรรู้การรักษาทหารด้วยการเบียดเบียน เป็นการเปรียบเทียบก่อน พระราชาบางองค์ใช้ทหารทำสงครามนานเกินไปไม่มีวันพักผ่อน ทหารไม่มีโอกาสได้พบหน้าลูกเมีย การใช้ทหารอย่างนี้เรียกว่า ทรงรักษาทหารด้วยการเบียดเบียนให้เดือดร้อน พระราชาบางองค์เมื่อทหารแพ้สงครามมา ก็ลงพระอาญา ทั้งๆที่ทหารก็ทุ่มเทรบอย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่ก็แพ้เพราะเจอข้าศึกที่เหนือกว่าจริงๆ แบบนี้ก็จะทำให้ทหารนายอื่นๆหมดขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่ไป การปฏิบัติดังนี้เรียกว่าการรักษาทหารด้วยการเบียดเบียนให้เดือดร้อน การรักษาทหารด้วยการไม่เบียดเบียน ก็คือ การไม่ทำดังที่กล่าวมานั่นเอง
    ส่วนการรักษาทหารด้วยความเมตตา ก็คือ ทรงปกครองทหารด้วยความรัก ความปราณี เมื่อชนะสงครามมาก็พระราชทานรางวัล ในยามปกติก็พระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีให้ เมื่อถึงโอกาสที่เหมาะสมก็พระราชทานยศให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ สำหรับการรักษาทหารด้วยความเอ็นดู ก็คือ มีความปรารถนาดีหวังความสุขในชีวิตของทหาร ไม่ใช้ให้ทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เรียกว่า การรักษาทหารด้วยความเมตตาและความเอ็นดู
    สำหรับการป้องกันทหาร คือ พระราชาทรงมีหน้าที่ป้องกันทรัพย์สมบัติของเหล่าทหาร มิให้มีใครมาล่วงละเมิด หรือป้องกันทรัพย์สินของเหล่าทหารมิให้มีโจรมาปล้น หน้าที่ข้อนี้ของพระราชาจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลทุกจำพวก เพราะมนุษย์ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการมีทรัพย์ไว้ใช้จ่าย ถ้าเมื่อใดทรัพย์สินที่มีถูกคนอื่นโกงไป หรือถูกโจรปล้นจนหมดเนื้อหมดตัว การจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปคงลำบาก ดังนั้น พระราชาในฐานะเป็นผู้ปกครองจึงต้องป้องกันทรัพย์สินของทุกคน ให้พวกเขามีทรัพย์สินไว้ใช้บำรุงชีวิตเขาได้ตลอดชีวิต แม้ทหารพระราชาก็ต้องป้องกันเหมือนกัน เมื่อทหารหรือบุคคลจำพวกอื่นถูกโกงทรัพย์สินหรือถูกโจรปล้น พระราชาจะต้องดำเนินการนำทรัพย์สินนั้นคืนมา และลงโทษผู้ทำผิดมิให้ทำผิดอย่างนั้นอีกต่อไป
    หน้าที่ข้อสุดท้ายของการปกครองทหารของพระราชา ก็คือ การคุ้มครองทหารให้พ้นจากภยันตรายทั้งมวล เช่น เมื่อทหารได้รับบาดเจ็บมาจากสงคราม พระราชามีหน้าที่ต้องทำการรักษาให้หาย หรือเมื่อทหารเจ็บป่วยพระราชาจะต้องทำการรักษาให้หาย ในการนี้พระราชามิใช่จะมารักษาด้วยพระองค์เอง แต่หมายความว่า พระองค์จะต้องมีหมอไว้สำหรับรักษาทหารโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องเจ็บป่วยอย่างเดียวเท่านั้นที่พระราชาจะต้องคุ้มครอง แม้ความอดอยาก อุบัติเหตุ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นแก่ทหาร เป็นหน้าที่ของพระราชาที่จะต้องบัญชาให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไปดำเนินการให้ความเดือดร้อนของทหารหมดสิ้นไป การปฏิบัติการดังนี้เรียกว่า การคุ้มครองทหารให้พ้นภัยต่างๆ
    ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถึงหน้าที่การปกครองของพระเจ้าแผ่นดินไว้มิเพียงให้ทรงปฏิบัติในยามที่พาหนะและทหารยังปฏิบัติในหน้าที่เท่านั้น แม้พาหนะที่ปลดชราและทหารเก่าแก่ พระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงทำหน้าที่รักษาป้องกันและคุ้มครองเหมือนพาหนะและทหารที่เคยช่วยเหลือพระเจ้าแผ่นดินในอดีตนั่นเอง ดังเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาชาดกเกี่ยวกับการให้นึกถึงบุญคุณของพาหนะไว้ว่า (สรุปความมา)
    พระเจ้าอุเทนผู้ครองกรุงโกสัมพี ทรงมีช้างพังเชือกหนึ่งนามว่า ภัททวดี ช้างเชือกนี้มีความสามารถมาก ชีวิต ราชสมบัติ และพระราชเทวีของพระเจ้าอุเทนนั้น ได้มาเพราะความสามารถของช้างเชือกนี้ทั้งสิ้น เพราะความดีอันนี้ จึงทรงโปรดปรานช้างเชือกนี้มาก เป็นต้นว่าพระราชทานยศ เครื่องประดับตกแต่งสถานที่อย่างหรูหรา เรียกว่าทรงบำรุงอย่างดีเลิศไม่มีช้างตัวไหนได้การดูแลอย่างนั้นเลย ต่อมาเมื่อช้างเชือกนี้แก่ ทำงานไม่ได้อีกต่อไป พระเจ้าอุเทนทรงริบเครื่องบำรุงบำเรอของช้างเชือกนั้นทุกอย่าง ช้างนั้นหมดที่พึ่ง แม้แต่อาหารก็ไม่มีให้กิน ต้องออกนอกเมืองไปเที่ยวกินหญ้าและใบไม้อยู่ในป่า นอนอยู่ในป่า เป็นที่น่าอนาถใจ
    วันหนึ่งช้างภัททวดีได้พบพระพุทธเจ้านอกเมือง ได้หมอบลงแทบพระบาท แล้วกราบทูลวิงวอนว่า เมื่อสมัยข้าพระองค์ยังมีกำลังอยู่ ข้าพระองค์ได้ช่วยเหลือพระเจ้าอุเทนให้ได้ครองราชสมบัติในกรุงโกสัมพี พระเจ้าอุเทนโปรดปรานข้าพระองค์อย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อข้าพระองค์ชราภาพแล้ว พระเจ้าอุเทนมิได้นึกถึงบุญคุณของข้าพระองค์เลย ให้ริบเครื่องบำรุงทุกอย่าง แม้อาหารก็ไม่ให้ ข้าพระองค์ต้องออกนอกเมืองเพื่อหาอาหารในป่า ขอพระองค์เป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ด้วยเถิด
    เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบความเดือดร้อนของช้างภัททวดีอย่างนั้นแล้ว จึงเสด็จไปยังพระราชวังของพระเจ้าอุเทนเพื่อทรงบิณฑบาต ทรงตรัสถามพระเจ้าอุเทนว่า ช้างพังภัททวดีไปอยู่เสียที่ไหน พระเจ้าอุเทนกราบทูลว่า ข้าพระองค์มิได้ทราบเลยพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่า (ย่อความเอา) “การที่พระองค์พระราชทานยศแก่ช้างพังภัททวดีผู้มีอุปการคุณ แลเวริบยศคืนในเมื่อช้างแก่ชรานั้นไม่สมควรเลย ควรที่พระองค์จะต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อช้างนั้น บัดนี้ ช้างพังภัททวดีแก่ชราหาที่พึ่งไม่ได้ ไปเที่ยวกินหญ้าและใบไม้อยู่ในป่า การที่พระองค์ทำให้ช้างพังภัททวดีไร้ที่พึ่งในเวลาแก่ชรานั้น ไม่สมควรแก่พระองค์เลย ขอพระองค์จงพระราชทานเครื่องบำรุงแก่ช้างพังภัททวดีเหมือนเดิมเถิด” พระเจ้าอุเทนได้ฟังแล้ว ได้ทรงปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสทุกประการ
    นี่คือ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงเน้นให้พระเจ้าแผ่นดินทำหน้าที่รักษา ป้องกัน และคุ้มครองพาหนะมิเพียงชั่วที่ยังทำการงานได้เท่านั้น แม้หากว่าราชพาหนะนั้นถึงความแก่ชราทำงานไม่ไหวแล้วก็ทรงเน้นให้พระเจ้าแผ่นดินยังต้องรับผิดชอบคอยดูแลต่อไปอีก
    สำหรับเรื่องการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเกี่ยวกับทหาร พระพุทธองค์ตรัสไว้ในธูมการีชาดกว่า (สรุปความเอา) พระเจ้าโกศลผู้ครองกรุงสาวัตถี ได้รับสมัครทหารใหม่ แล้วทรงโปรดปรานทหารใหม่ ทรงทำหน้าที่รักษา ป้องกัน และคุ้มครองเฉพาะทหารที่มาใหม่ ส่วนทหารเก่าที่มีมาแต่เดิมพระองค์มิได้สนใจ ทรงงดเว้นเบี้ยหวัดเงินปีของทหารเก่าเสีย ทหารเก่าก็มีความท้อแท้ใจ ไม่มีขวัญกำลังใจ ต่อมาชายแดนของพระเจ้าโกศลมีการละเมิด จำเป็นจะต้องไปปราบปราม พระเจ้าโกศลจึงทรงให้จัดทัพไปชายแดน ทหารใหม่ที่พระเจ้าโกศลโปรดปรานมิได้ออกไปด้วย เพราะเข้าใจว่าพวกตนเป็นทหารใหม่ ข้างฝ่ายทหารเก่าก็เห็นว่าพวกตนคงหมดหน้าที่แล้ว เพราะพระเจ้าโกศลมิได้ทรงสงเคราะห์เหมือนเก่า จึงมิได้ไปร่วมรบด้วย ทหารที่ไปกับพระเจ้าโกศลเป็นทหารมีจำนวนน้อย ในคราวนั้น พระเจ้าโกศลจึงแพ้การรบที่ชายแดน เมื่อเสด็จกลับมาจากการรบแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์เล่าเรื่องทหารให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่พระองค์แพ้สงครามก็เพราะไม่ทำการสงเคราะห์ทหารตามหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดิน
    ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับการที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงทำหน้าที่ในการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองพาหนะและทหาร

    การรักษา ป้องกัน คุ้มครองชาวบ้านชาวนิคม
    ชาวบ้านและชาวนิคมก็คือ ประชาชนนั่นเอง ในจักกวัตติสูตร พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า ชนปทา ซึ่งแปลว่าชาวชนบท ส่วนชาวนิคมพระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า เนคมะ ถ้าจะเปรียบตัวอย่างแบบเมืองไทย ชาวชนบทก็น่าจะเป็นชาวบ้านนอก ส่วนชาวนิคมก็น่าจะได้แก่ชาวเมือง เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วทั้งชาวชนบทและชาวนิคม ล้วนเป็นราษฎรที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงรักษาป้องกัน และคุ้มครองทั้งสิ้น
    ตามที่ได้กล่าวมา พระราชาจะต้องทำการรักษา ป้องกัน คุ้มครองฝ่ายใน มิตรอำมาตย์ พาหนะและทหารนั้น เฉพาะการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองมิตรอำมาตย์และพาหนะกับทหารนั้น ก็จุดมุ่งหมายเฉพาะประชาชน คือ ชาวชนบทและชาวนิคมนั่นเอง เพราะอะไร เพราะว่าอำมาตย์และทหาร เป็นผู้ทำการปกครองประชาชนแทนพระราชา หรือจะเรียกว่าอำมาตย์และทหารต้องทำหน้าที่รักษา ป้องกัน คุ้มครองประชาชนแทนพระราชาก็ได้ เมื่ออำมาตย์และทหารต้องทำหน้าที่แทนพระราชาเช่นนี้ ดังนั้น พระราชาจึงต้องทำการรักษาป้องกันและคุ้มครองอำมาตย์และทหาร เพื่อที่อำมาตย์และทหารจะได้ทำหน้าที่รักษา ป้องกัน และคุ้มครองประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือ ความหมายที่ว่าพระราชาทรงทำการรักษา ป้องกัน คุ้มครองอำมาตย์และทหาร เพื่อจุดหมายคือ ให้ทำหน้าที่รักษา ป้องกัน คุ้มครองประชาชนแทนพระราชา
    การรักษาประชาชนเช่นใด จึงจะเรียกว่า การรักษาประชาชนด้วยความอดทนในฐานะที่พระราชาเป็นผู้ปกครอง และประชาชนเป็นผู้ถูกปกครอง เป็นเรื่องธรรมดาที่ทั้งสองฝ่ายอาจจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันเช่นนี้ พระราชาจะต้องมีความอดทนในฐานะที่เป็นหลักของบ้านเมือง จะมีใจโลเลเปลี่ยนไปมารวดเร็วเหมือนประชาชนทั่วไปไม่ได้ หรือในบางครั้ง ผู้ปกครองหรือข้าราชการต้องมาเจอกับประชาชนประเภท “คุยกันไม่รู้เรื่อง” เป็นคนประเภทไร้เหตุผล เอาแต่ใจ บางรายเจอหน้าเจ้าหน้าที่รัฐปุ๊ป ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ถูกด่าสาดเสียเทเสียอย่างไร้เหตุผลแล้ว ซึ่งในเมื่อเป็นอย่างนี้ ทั้งผู้ปกครองและข้าราชการจึงขาดความอดทนไปไม่ได้ ผู้ปกครองและข้าราชการจะใช้อารมณ์โต้ตอบคนแบบนั้นจนเสียการไม่ได้
    บางครั้งประชาชนพูดกับพระราชาด้วยคำสามัญ เพราะไม่รู้จักคำราชาศัพท์ (ซึ่งก็เป็นความผิดของตัวพระราชาเองที่ไม่ยอมให้การศึกษาแก่เขา) ในกรณีอย่างนี้พระราชาก็ต้องมีความอดทนเหมือนกัน จะพิโรธแล้วสั่งลงพระอาญาเพราะพูดไม่มีสัมมาคารวะก็จะทำให้ประชาชนหมดความภักดีได้ แต่ถ้าพระราชาไม่เอาโทษ กลับจะทำให้ประชาชนเพิ่มความจงรักภักดีมากขึ้น ในรัชสมัยของพระเพทราชา เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติ บรรดาญาติพี่น้องที่เป็นชาวบ้านพลูหลวง ทราบว่าญาติของตนได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่างก็มีความดีใจ หาของมาทูลเกล้าถวายด้วยความจงรักภักดี ซึ่งพี่น้องชาวบ้านพลูหลวง มิได้รู้จักคำเพ็ดทูลตามธรรมเนียมราชาศัพท์ เคยพูดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น โดยใช้สรรพนามเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “นาย” อำมาตย์ราชเสนาซึ่งอยู่ในที่เฝ้า ได้ยินดังนั้น จึงกล่าวห้ามว่าท่านทั้งหลายอย่าเรียกว่านาย พระองค์ได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น จึงทรงพระสรวลแล้วตรัสว่า คนเหล่านี้มันเป็นคนบ้านนอก เคยชำนาญพูดจามาแต่ก่อนอย่างนั้น เรามิได้ถืออย่าห้ามมันเลย แล้วรับสั่งให้จัดเลี้ยงอาหารพวกพระญาติและชาวบ้านพลูหลวงอย่างอิ่มหนำ บางคนอยากกินเหล้า ก็กราบทูลว่า นายท่านตูข้าอยากกินสุรา ก็พระราชทานให้ พวกนั้นกินแล้วก็เมามาย ร้องรำทำเพลง พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห้นแล้วก็ทรงพระสรวลด้วยความเบิกบานพระทัย มิได้ทรงถือพระองค์
    นี่เป็นการแสดงถึงความไม่ถือพระองค์ และนั่นคือการรักษาประชาชนด้วยความอดทน ถ้าหากถือพระองค์ แล้วทรงลงพระอาญา พวกเขาก็จะหมดความภักดีไปทันที เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เป็นหลักของแผ่นดิน จะต้องไม่หยุมหยิมในเรื่องเล็กน้อย ต้องอดกลั้นในบางเรื่อง นี่คือ ตัวอย่างในการรักษาประชาชนด้วยความอดทน
    ในหน้าที่ของการรักษาด้วยไม่เบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน ก็คือ ไม่เก็บภาษีที่ทำความเดือดร้อนให้ประชาชน หรือไม่สร้างความไม่เป็นธรรมอื่นให้ประชาชนเดือดร้อน การเก็บภาษีราษฎรในบางครั้งก็อาจทำให้ราษฎรชังพระราชาได้
    นอกจากพระราชาจะต้องรักษาประชาชนด้วยการไม่เบียดเบียนแล้ว จะต้องรักษาประชาชนด้วยความเมตตาหรือด้วยความรักอีก การรักษาประชาชนด้วยความเมตตาทำอย่างไร ตามปกติคนเราเมื่อมีรักใคร ก็มักจะหาของที่ถูกใจให้คนนั้น มีอะไรดีๆก็มักจะมอบให้คนที่เรารัก ถ้าเป้นอำมาตย์และทหารก็คงจะให้ยศ แต่เมื่อเป็นประชาชน เขาไม่ต้องการยศ เมื่อให้อย่างนี้ไม่ได้ก็ให้อย่างอื่นที่ประชาชนชอบ อะไรที่ประชาชนชอบ เสรีภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนชอบ ดังนั้น เมื่อพระราชาจะทรงแสดงถึงความรักประชาชน จะต้องปกครองโดยให้เสรีภาพอย่างเพียงพอ การห้ามหรือการกีดกันประชาชนมิให้ทำอะไรๆ เป็นการแสดงว่าพระราชามิได้รักประชาชน
    ในสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหง ทรงรักประชาชนเหมือนลูก วิธีการแสดงออกที่ว่าพระองค์รักประชาชนก็คือทรงให้เสรีภาพทุกอย่างที่ไม่ผิดศีลธรรม (แปลว่า ได้จำกัดเสรีภาพที่ผิดศีลธรรมเอาไว้ และให้เสรีภาพกับประชาชนเฉพาะในเรื่องที่ไม่ผิดศีลธรรม) นอกจากนั้น ยังมีการแขวนกระดิ่งไว้ที่หน้าประตูวัง ประชาชนคนไหนมีความเดือดร้อน ก็ไปสั่นกระดิ่ง พ่อขุนจะออกมาฟังข้อร้องเรียนความเดือดร้อนของประชาชนคนนั้นๆด้วยพระองค์เอง ทุกคนมีสิทธิ์สั่นกระดิ่งได้หมดไม่แบ่งชนชั้นหรือเพศ นี่แหละคือความยอดเยี่ยมของการปกครองในสมัยสุโขทัย ดีกว่าของอยุทยาเยอะเลย อยุทยานี่รัฐคุกดีๆเลย เหตุผลที่การปกครองของสุโขทัยดูนุ่มนวลเช่นนี้ เพราะว่าใช้คติพุทธในการปกครอง คติพุทธสอนให้พระราชารักประชาชน เหมือนพ่อรักลูก จะสังเกตได้ว่ารายพระนามของกษัตริย์สมัยสุโขทัย จะไม่มีคำว่าพระเจ้าโน่นนี่ขึ้นต้นเลย แต่จะขึ้นต้นด้วยคำว่า “พ่อขุน” คำว่า พ่อขุนประชาชนเรียกด้วยความรู้สึกว่า พระองค์ทำหน้าที่เป็นพ่อบ้านพ่อเมืองต่อประชาชนจริงๆ พระองค์รักประชาชนเหมือนลูก มิได้ทรงถือพระองค์เป็นนาย และประชาชนเป็นบ่าวเลย ดังนั้น ประชาชนจึงได้เรียกพระองค์ว่าพ่อขุนมาจนถึงทุกวันนี้ นี่คือตัวอย่างการรักษาประชาชนด้วยความเมตตา
    การปกครองในสมัยสุโขทัยนี่ เรียกว่ามีเสรีภาพในบางเรื่องมากกว่ายุคปัจจุบันที่เป็นยุคประชาธิปไตยเสียอีก อย่างแรกเลยคือ ไม่มีโทษประหารชีวิต อย่างที่สองคือใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีเต็มที่ (ประชาชนอยากค้าอะไรค้าเลย รัฐไม่เก็บแม้กระทั่งภาษี) เรียกว่าไทยใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาก่อนหน้าฝรั่งเขาอีก แต่ระบบทุนนิยมสมัยสุโขทัยนี่ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำทางฐานะในหมู่ประชาชนมากนัก ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะใกล้เคียงกัน ต่างกับทุนนิยมฝรั่งที่ทำให้คนเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจกัน และไม่สอนให้ประชาชนขูดรีดกันเหมือนทุนนิยมสมัยนี้ด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะบรรพบุรุษของเรานำเอาศีลธรรมประกอบเข้ากับการทำมาหากินในระบบทุนนิยมแบบสุโขทัย คนสุโขทัยเลยไม่เบียดเบียนกัน โดยที่รัฐแทบไม่ต้องเข้าไปจัดการให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจขึ้นเลย ต่างกับระบบทุนนิยมฝรั่งที่เอาความทะยานอยากประกอบเข้าไป คนเลยกล้าแม้กระทั่งขูดรีดเพื่อนมนุษย์เพื่อความสุขสบายของตน นำมาซึ่งปัญหาต่างๆมากมาย เช่น ความเหลื่อมล้ำทางฐานะของผู้คน การตกเป็นทาสวัตถุของมนุษย์ ตลอดจนการล่าอาณานิคมส่งเดชของชาติมหาอำนาจ ฯลฯ
    แต่พอเข้าสมัยอยุทยา คติพุทธถูกลดบทบาทสำหรับการนำมาใช้ปกครองบ้านเมืองลง มีการรับเอาคติพราหมณ์จากขอมเข้ามาประกอบ (ในสมัยอยุทยา ไทยเราใช้คติพุทธปกครองไม่เต็มๆเหมือนสมัยสุโขทัย) คติพราหมณ์มีลักษณะเป็นเผด็จการมากกว่าคติพุทธ นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมการปกครองสมัยอยุทยาถึงดูเข้มงวด พระราชากับประชาชน ในสมัยสุโขทัยเป็นพ่อกับลูกกัน แต่พอเข้ายุคอยุทยา เป็นนายกับบ่าว แค่มองหน้าพระราชายังผิดเลย จากที่เคยใช้ระบบทุนนิยมก็เปลี่ยนไปเป็นระบบศักดินา จากที่ประชาชนเคยมีเสรีภาพในการประกอบการทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ก็เปลี่ยนมาเป็นมีการเกณฑ์ไพร่ไปทำงานในที่ดินของมูลนายแทน จากที่ไม่เคยมีโทษประหารชีวิตก็มามี จากที่ประชาชนร้องเรียนข้อเดือดร้อนได้ในสมัยสุโขทัย ก็ถูกสั่งห้ามในยุคนี้ จะร้องเรียนแต่ละทีต้องโดนโบยก่อน เรียกว่ายุคอยุทยานี่เป็นยุคที่ประชาชนมีเสรีภาพน้อยที่สุดเลย พอมาถึงช่วงต้นกรุงเทพ ถึงได้ผ่อนคลายลง
    ต่อไปจะยกตัวอย่างพระราชาที่ไม่เมตตาประชาชน มีพระราชาชื่ออนุราช ครองเมืองชัยนาท มีพระทัยโลภ สั่งให้ริบทรัพย์สินของราษฎรเสียทั้งหมด ทรงอนุญาตให้ราษฎรมีทรัพย์เฉพาะที่ทรงอนุญาตเท่านั้น เมื่อพระองค์ริบทรัพย์ของราษฎรมาได้แล้ว ก็ให้สร้างคลังมหาสมบัติใหญ่โต ทรงเก็บทรัพย์สินที่ริบมาจากราษฎรไว้ในคลังนั้น พระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรเงินทอง สิ่งของในท้องพระคลังที่ริบมาจากราษฎรทุกวัน ทรงอิ่มเอมพระทัยในเงินทองในท้องพระคลังนั้น ต่อมาราษฎรจึงขนานนามพระองค์ว่า พระเจ้าโลภมหาสมบัติ พระราชาอย่างนี้มิได้มีความรักราษฎร เอาแต่พระทัยของพระองค์เอง เป็นคนเห็นแก่ตัว ราษฎรจะเดือดร้อนอย่างไรมิได้สนใจ ทรงสนพระทัยเฉพาะเรื่องของพระองค์ พฤติกรรมเช่นนี้ผิดหลักการปกครองในหน้าที่ที่ว่าต้องรักษาประชาชนด้วยความรักความเมตตา
    ส่วนการรักษาประชาชนด้วยความเอ็นดู ก็คือ ในฐานะที่พระราชาเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองราษฎรจะต้องรับผิดชอบความสุขความทุกข์ของราษฎรทั่วไป จะต้องมีความสุขเมื่อเห็นราษฎรมีความสุข จะต้องมีความทุกข์เมื่อเห็นราษฎรเดือดร้อน จะต้องมีความสงสาร จะต้องไม่บังคับราษฎรมาทำงานจนเจ็บป่วยล้มตาย สำหรับตัวอย่างที่แสดงถึงความเอ็นดูของพระเจ้าแผ่นดินต่อประชาราษฎร ก็คือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าที่ทรงทำการเลิกทาส ทำไมพระปิยมหาราชจึงต้องทำการเลิกทาส ก็เพราะพระองค์ไม่อยากเห็นประชาชนของพระองค์ตกเป็นทาสของคนอื่นถูกบังคับทำงานไม่มีอิสระในตัวเอง มีความทุกข์ร้อนใจตลอดเวลา ความหวังของพระองค์อยากเห็นประชาชนทุกคนมีอิสระเท่ากัน ไม่มีใครมาบังคับข่มเหงน้ำใจของกันและกัน นี้คือความเอ็นดูของพระองค์ที่มีต่อราษฎร
    หลักการปกครองในหน้าที่ป้องกันชาวบ้านและชาวนิคม ก็คือ พระราชาในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบความสุข ความทุกข์ และชีวิตของประชาชน พระองค์จะต้องส่งเสริมการหาปัจจัยเลี้ยงชีพของราษฎร ซึ่งการส่งเสริมอาชีพนี้ เป็นหลักการปกครองอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า ราชานุเคราะห์ (ไม่ได้แน่ใจว่าใช่หลักธรรมเดียวกับหลักราชสงเคราะห์หรือไม่)
    พระเจ้าแผ่นดินในสมัยโบราณทรงส่งเสริมอาชีพประชาชนสามประการ คือ โครักขกรรม การเลี้ยงโค กสิกรรม การปลูกข้าว และพืชอื่นๆ และพาณิชยกรรม การค้าขาย พระราชาจะส่งเสริมอาชีพทั้งสามประเภทนั้น เพื่อให้ประชาชนมีปัจจัยเลี้ยงชีพ เมื่อทุกคนมีปัจจัยเลี้ยงชีพแล้ว ความสุขย่อมจะเกิดขึ้นและเมื่อแต่ละคนมีปัจจัยสำหรับเลี้ยงชีพแล้ว พระราชาจะต้องป้องกันปัจจัยเลี้ยงชีพของราษฎรนั้นมิให้มีใครมาละเมิดได้ และถ้าหากมีใครมายื้อแย่งปัจจัยหรือทรัพย์สินของราษฎรไป พระราชามีหน้าที่ต้องจัดการนำกลับคืนมาให้ และทำการลงโทษผู้ล่วงละเมิดนั้นให้เข็ดหลาบ นี่คือ หน้าที่การป้องกันประชาชนของพระราชา
    ส่วนหลักการปกครองในหน้าที่การคุ้มครองชาวบ้านและชาวนิคม ก็คือ พระราชาจะต้องมีหน้าที่กำจัดความทุกข์ที่เกิดจากอันตรายต่างๆของประชาชน เมื่อประชาชนเจ็บป่วย พระราชาจะต้องทำการรักษาให้หาย โดยมีแพทย์ทำหน้าที่แทนพระองค์ (แพทย์ก็จัดเป็นอำมาตย์ประเภทหนึ่ง) เมื่อประชาชนอดอยาก พระราชาจะต้องหาอาหารมาให้ประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนอดตาย นี่คือ หน้าที่คุ้มครองประชาชนให้พ้นจากอันตรายทั้งมวล
    ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองชาวบ้านและชาวนิคมของพระราชา

    การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองสมณพราหมณ์
    พระเจ้าแผ่นดินนอกจากจะต้องทรงรักษาป้องกันและคุ้มครองพระญาติวงศ์ มิตรอำมาตย์ พาหนะและทหาร ชาวชนบทและชาวนิคมแล้ว พระองค์ยังต้องมีหน้าที่รักษา ป้องกัน และคุ้มครองสมณพราหมณ์หรือบรรพชิตที่อาศัยอยู่ในพระราชอาณาเขตของพระองค์อีกด้วย ในอรรถกถาจักกวัตติสูตร ท่านกล่าวว่า หน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินที่จะต้องปฏิบัติต่อบรรพชิต ก็คือ เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้มีศีล แล้วถวายบริขารสำหรับบรรพชิตแก่ท่าน เพื่อให้ท่านมุ่งหน้าบำเพ็ญกิจแห่งการกำจัดกิเลสอย่างเดียว โดยไม่ต้องมาวิตกกังวลต่อสมณบริขารที่ขาดแคลน
    ในอรรถกถามิได้กล่าวถึงหน้าที่ในการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองเหมือนบุคคลอื่นๆ ที่เป็นอย่างนี้ก็คงเป็นเพราะว่าชีวิตของบรรพชิตเป็นชีวิตที่ปลอดจากศัตรู ท่านไม่ไปทำมาหากินแย่งกับใคร เป็นมิตรสำหรับทุกคน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีใครมารักษา ป้องกัน และคุ้มครองท่าน ในฐานะท่านอาศัยแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ พระเจ้าแผ่นดินจึงควรสนใจ ด้านเครื่องใช้ประจำตัวของท่าน ด้านที่อยู่อาศัยของท่าน วัดวาอาราม พระอุโบสถ กุฏิ หรือแม้แต่เส้นทางที่ท่านใช้สัญจรผ่าน ฯลฯ เมื่อท่านไม่มีก็ควรจัดหามาถวายท่าน หรือถ้าของเก่าชำรุด ก็บูรณะให้ท่านใหม่ นับเป็นการทำบุญด้วย
    อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในอรรถกถามิได้กล่าวหน้าที่รักษา ป้องกัน และคุ้มครองไว้เพราะเหตุผลอย่างใดก็ตามที แต่เมื่อท่านมีอันตรายจากคนอันธพาลมารบกวนก็คงเป็นหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ หากพระเจ้าแผ่นดินละเลยในกรณีอย่างนี้ พระองค์คงจะต้องถูกตำหนิอย่างแน่นอน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มีนาคม 2013
  2. โปเย

    โปเย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มีนาคม 2012
    โพสต์:
    1,231
    ค่าพลัง:
    +964
    ใครไ่ม่พอใจอะไร ก็ไปจัดการกันเองนะ
    สำหรับผมก็ Ok ทุกอย่าง


    ไปนอนก่อนละ Bye ...
     
  3. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองเนื้อนก
    ในพระราชอาณาจักรหนึ่ง นอกจากจะมีคนอาศัยบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว ยังมีสัตว์เดรัจฉานอื่นๆอาศัยบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินอยู่อีกเป็นจำนวนมาก สัตว์เหล่านั้นท่านระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองให้มีความสุขเหมือนกัน จุดใหญ่ของการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองเนื้อนกนั้น ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า ให้อภัยแก่เนื้อนกทั้งมวล โดยห้ามทุกคนทำลายชีวิตของมัน ปล่อยให้มันมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อมีอันตรายอย่างใดเกิดขึ้น เป็นต้นว่า น้ำ ซึ่งเป็นที่อาศัยของปลาแห้งเหือดไป พระเจ้าแผ่นดินควรจะหาทางช่วยเหลือโดยการนำน้ำมาเพิ่มเติมให้มีชีวิตต่อไป นกที่ไข่ไว้ในรังซึ่งจะเกิดเป็นนกอีกต่อไป พระเจ้าแผ่นดินควรหาทางป้องกันมิให้ผู้ใดมาทำอันตรายแก่ไข่นกเหล่านั้นได้ เพื่อที่มันจะได้มีโอกาสได้เกิดมาเป็นนกอีกต่อไป
    ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ การจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองบุคคล ๖ จำพวก อันเป็นจักกวัตติวัตรของพระเจ้าแผ่นดินข้อที่ ๒

    ๓.ไม่ให้อธรรมเกิดขึ้นในแว่นแคว้น
    นอกจากพระราชาต้องเป็นคนมีธรรมแล้ว จะต้องระวังไม่ให้อธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมืองของพระองค์ คือสนับสนุนให้ประชาชนตั้งอยู่ในธรรม หาทางยับยั้งป้องกันไม่ให้ประชาชนประพฤติอธรรมได้อีกด้วย เช่น ห้ามไม่ให้ประชาชน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด เสพสุรา ห้ามไม่ให้ข้าราชการโกงกิน หรือข่มเหงรังแกประชาชน เป็นต้น
    ความไม่เป็นธรรมที่พระราชาปล่อยให้เกิดขึ้น ด้วยเจตนา หรือด้วยการดูแลไม่ทั่วถึง ย่อมนำความเดือดร้อนหลายๆอย่างมาสู่ประชาชนได้ ดังมีตัวอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในภัณฑุติณทุกชาดกว่า (ย่อความมา)
    “แม้แต่หนามแทงราษฎรและหญิงสาวหาผัวไม่ได้ก็เป็นความผิดของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะพระเจ้าแผ่นดินปกครองโดยไม่เป็นธรรม”
    ในภัณฑุติณทุกชาดก สรุปความได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าปัญจาละ ครองราชสมบัติอยู่ในอุตตรปัญจาลนคร กปิลรัฐ ทรงปกครองราชสมบัติด้วยความประมาท มีอคติ อำมาตย์ของพระองค์ก็เป็นคนอธรรมไปทั้งหมด ชาวแว่นแคว้นถูกบีบคั้นด้วยภาษีอากร จึงพาลูกเมียเที่ยวหลบหนีเข้าไปในป่าเหมือนฝูงเนื้อ บ้านจึงกลายเป็นบ้านร้าง เพราะกลางวันชาวบ้านไม่กล้าจะอยู่บ้าน เนื่องจากกลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมารีดภาษีอากร ดังนั้น เวลากลางวันจึงพากันเอาหนามมาล้อมเรือนไว้ พอตกค่ำก็พากันกลับบ้านเมือง พออรุณขึ้นหนีออกจากบ้านเข้าป่าไปอีก พระเจ้าแผ่นดินและอำมาตย์ของพระองค์ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวเมืองมากมาย เป็นต้นว่า กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เข้ามายื้อแย่ง ส่วนกลางคืนโจรก็ปล้นชาวเมือง ชาวเมืองไม่เคยมีความสุข
    พระเจ้าปัญจาละ แม้จะมีความประมาทในการปกครองบ้านเมือง จนทำให้ชาวเมืองเดือดร้อนไปทั่วก็จริง แต่พระองค์ได้กระทำที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาผลของการกระทำนั้นได้ช่วยพระองค์ไว้ การกระทำนั้นคือ ทุกๆปี พระองค์จะตกแต่งพลีกรรมราคาประมาณพันกหาปณะไปบวงสรวงรุกขเทวดา ภายนอกพระนครเป็นประจำมิได้ขาด ต่อมาเมื่อสกลรัฐทั้งสิ้นจวนจะวิบัติเพราะความอธรรมของพระราชาและข้าราชการที่พากันกดขี่ข่มเหงประชาชน รุกขเทวดานั้นได้นึกถึงอุปการะคุณที่พระราชาทำแก่ตนประจำปี จึงคิดว่า พระราชานี้เสวยราชสมบัติด้วยความประมาท สกลรัฐจักฉิบหาย เว้นเราเสียแล้ว ไม่มีใครสามารถชักจูงให้พระราชาตั้งอยู่ในทางที่ถูกต้องได้ ในคืนวันต่อมารุกขเทวดานั้น จึงเข้าไปยังห้องบรรทมของพระราชา ยืนอยู่ข้างพระเศียรเปล่งรัศมียืนอยู่บนอากาศ
    ฝ่ายพระราชา เห็นเทวดา จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร เทวดาจึงตอบว่า
    “ดูก่อนมหาราช เราเป็นเทวดา ต้องการมาอบรมการปกครองของท่าน พระองค์เป็นผู้ประมาทเสวยราชสมบัติ แว่นแคว้นทั้งสิ้นของพระองค์จะพินาศ พระองค์จะถึงความพินาศในปัจจุบันนี้แล้ว ในภพหน้าพระองค์จะต้องไปเกิดในนรกอีก มหาราชะ พระราชาประมาทแล้ว แม้ชนในราชสำนักและนอกราชสำนักก็จะประมาท ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว เพราะมัวเมาจึงเกิดความประมาท เพราะประมาทจึงเกิดความเสื่อม และเพราะความเสื่อมจึงเกิดโทษ ดูก่อนรัฐาภิปก พระองค์อย่าประมาทเลย เพราะว่ากษัตริย์เป็นอันมาก หากมีความประมาท ต้องเสื่อมจากอำนาจปกครองรัฐ ทั้งแว่นแคว้นย่อมเสื่อมด้วย อนึ่ง ชาวบ้านประมาท ก็เสื่อมจากบ้าน บรรพชิตประมาท ก็จะเสื่อมจากวินัย
    ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นมิ่งขวัญของรัฐ ราชสมบัติทุกอย่างในแว่นแคว้นของกษัตริย์ผู้ประมาทแล้ว ย่อมพินาศหมด ข้อนั้นท่านกล่าวว่าเป็นความทุกข์ของพระราชา
    ดูก่อนมหาราชาเจ้า ความประมาทนี้ไม่เป็นธรรมของโบราณกษัตริย์ โจรทั้งหลายย่อมกำจัดชนบทอันมั่งคั่งไพบูลย์ของพระราชาผู้มัวเมาในอำนาจจนเกินขอบเขต ราชโอรสสืบสันตติวงศ์ของพระราชานั้นจักไม่มี เงินทองทรัพย์สินก็จักไม่มีเหมือนกัน เมื่อแว่นแคว้นถูกปล้น พระราชาผู้ประมาทย่อมเสื่อมจากโภคะทั้งปวง ญาติมิตร ย่อมไม่นับถือขัตติยราช ผู้เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า ผู้พึ่งพระโพธิสมภารอยู่ ย่อมจะไม่นับถือพระราชานั้นในความคิดอ่าน ศรี คือ มิ่งขวัญ ย่อมไม่มีแก่พระราชาผู้ไม่บริหารกิจการบ้านเมือง โง่เขลา ความคิดอ่านเลวทราม ไร้ปัญญา เหมือนงูลอกคราบเก่าฉะนั้น ส่วนพระราชาผู้บริหารกิจการบ้านเมืองเรียบร้อยดี ไม่มีความเกียจคร้าน โภคสมบัติทั้งปวง ย่อมจะพอกพูนยิ่งขึ้น
    ดูก่อนมหาราชาเจ้า พระองค์จงเสด็จเที่ยวฟังเหตุการณ์ในแว่นแคว้นของพระองค์ ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว และได้ทรงสดับฟังแล้ว ก็จงปฏิบัติสิ่งนั้นเถิด”
    เมื่อเทวดาอบรมพระราชาแล้ว ก็อันตรธานหายไปยังที่อยู่ของตน ข้างฝ่ายพระเจ้าปัญจาละ ก็เกิดความสลดพระทัย ทั้งนี้ถ้าหากเป็นคนใดคนหนึ่งในบ้านเมืองมาทูลเตือน เขาคนนั้นคงจะถูกพระเจ้าปัญจาละลงอาญาเป็นแน่ และดูเหมือนจะมีคนในแว่นแคว้นรู้ดี จึงไม่มีใครมาทูลเตือนในเรื่องนี้ แต่เมื่อผู้ที่มาเตือนเป็นเทวดา พระเจ้าปัญจาละจึงยอมรับฟังและเกิดความเกรงกลัว วันรุ่งขึ้นพระองค์จึงตัดสินใจมอบหมายราชการบ้านเมืองให้อำมาตย์ที่ไว้ใจคอยดูแล แล้วพระองค์พร้อมด้วยที่ปรึกษาส่วนพระองค์ (ราชปุโรหิต) ปลอมตัวเป็นสามัญชน ไปฟังข่าวความเป็นอยู่ของราษฎร เมื่อออกจากตัวเมือง พบชายแก่คนหนึ่งนั่งบ่มหนามที่ตำเท้าตนพลางก็ด่าพระเจ้าแผ่นดินไปพลางว่า ขอให้พระเจ้าปัญจาละถูกศรเสียบเกิดความเจ็บเหมือนเราถูกหนามตำอย่างนี้บ้างเถอะ
    ขณะนั้น พระราชากับปุโรหิตปลอมเป็นสามัญชนยืนอยู่ใกล้ชายแก่คนนั้น ราชปุโรหิตได้ฟังคำด่านั้นแล้ว ก็เกิดความไม่พอใจ แต่ก็อยากจะรู้ความจริงว่า หนามตำเป็นความผิดอะไรของพระเจ้าแผ่นดินด้วย จึงถามไปว่า เฮ้ยตาแก่ แกตาบอด มองไม่ถนัด ไปเหยียบหนามเอง พระเจ้าแผ่นดินไปเกี่ยวอะไรด้วยเล่า แกจึงมาด่าพระองค์ท่าน
    ชายแก่จึงตอบว่า ท่านพราหมณ์ เราถูกหนามทิ่มแทงเป็นความผิดของพระเจ้าแผ่นดินมากมาย เพราะพระราชาไม่ทำการรักษาราษฎร ปล่อยให้พวกราชบุรุษกดขี่ด้วยภาษีในเวลากลางวัน เวลากลางคืนก็ปล่อยให้พวกโจรปล้นชาวบ้านชาวเมือง ในบ้านเมืองของพระราชาโกง มีแต่คนชั่ว นี่แน่ะท่านพราหมณ์ เพราะเรากลัวคนของพระราชาจะมารีดไถในเวลากลางวัน เราจึงหนีออกจากบ้านไปอยู่ป่า ก่อนจะหนี เราเอาหนามมาล้อมบ้านไว้ พอตกเย็น เราก็ออกจากป่าเข้ามาบ้าน ก่อนขึ้นบ้านเราจะเอาหนามออกก่อน แต่เพราะมืดค่ำ เราเก็บหนามไม่หมด หนามจึงได้ตำเท้าเรา เพราะเหตุนี้แหละท่านพราหมณ์เราจึงกล่าวได้เต็มปากว่า หนามแทงเราเป็นความผิดของพระเจ้าปัญจาละ
    พระเจ้าปัญจาละ ทรงสดับคำของชายแก่แล้ว ก็เห็นจริงกับคำพูดของเขา จึงรับสั่งกับปุโรหิตว่า เป็นความจริงของเขา เราไปกันเถอะ แล้วก็ชวนปุโรหิตเดินทางต่อไป เดินไปได้หน่อยนึง ได้ยินเสียงหญิงแก่ด่าพระราชาว่า เจ้าข้าเอ้ย ลูกสาวกูสองคนหาผัวไม่ได้ เพราะพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้แท้ๆ เมื่อไรจะตายไปเสียที พระเจ้าปัญจาละได้ทรงสดับแล้ว ก็คิดในพระทัยว่า เป็นไปไม่ได้ที่ผู้หญิงหาผัวไม่ได้ เพราะพระองค์เป็นต้นเหตุ แต่ก็ไม่สบายพระทัยนัก จึงสะกิดให้ปุโรหิตถามเรื่องราวดู ปุโรหิตจึงถามไปว่า เฮ้ย ยายแก่ พูดจาไม่มีเหตุผล พระราชาไม่เคยมีหน้าที่หาผัวให้หญิงสาวคนไหนเลย ลูกสาวแกหาผัวไม่ได้เอง ทำไมมายกความผิดให้พระราชา มันมากไปแล้ว
    ยายเฒ่าได้ฟังจึงตอบว่า พราหมณ์เอ๋ย เราพูดมีเหตุผล พระเจ้าแผ่นดินเป็นคนชั่ว ไม่รักษาชาวบ้าน ปล่อยให้ราชบุรุษกดขี่ทางภาษีในเวลากลางวัน กลางคืนปล่อยให้พวกโจรปล้นชาวบ้าน ราษฎรเดือดร้อน การครองชีพลำบาก การเลี้ยงลูกเมียก็ลำบาก หญิงสาวจะหาผัวได้ที่ไหน
    พระราชากับปุโรหิตได้ฟังแล้วก็คิดว่า แกพูดถูกแล้ว เป็นความผิดของผู้ปกครอง แล้วก็พากันเดินต่อไป ได้ยินชาวนาด่าพระราชาว่า กษัตริย์ชั่ว ขอให้ถูกหอกแทง นอนตายในสงคราม เหมือนโคของกูที่ถูกผาลแทงนอนร้องครวญครางฉะนั้นเถิด
    ปุโรหิตได้ฟังแล้ว ก็โกรธแทนพระราชา จึงตะโกนด่าว่า เฮ้ย ไอ้คนชาติชั่ว เอ็งโกรธพระเจ้าแผ่นดินโดยไม่เป็นธรรม เจ้าทำร้ายโคของเจ้าเอง ไฉนจึงมาสาปแช่งพระเจ้าแผ่นดินเล่า
    ชาวนาตอบว่า ท่านพราหมณ์ เราด่าพระเจ้าปัญจาละเป็นธรรมแล้ว เพราะชาวชนบท ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกดขี่ด้วยภาษีในเวลากลางวัน เวลากลางคืนปล่อยให้โจรปล้นชาวบ้าน ท่านพราหมณ์ แม่บ้านของเรานำข้าวมาส่งเราที่นา พบพวกราชบุรุษของพระเจ้าปัญจาละ มันกุมตัวไว้ ต้องเลี้ยงดูพวกมันจนเรียบร้อย แล้วจึงต้องหุงข้าวใหม่ เพื่อนำมาให้เราผู้ซึ่งกำลังไถนา ท่านพราหมณ์ วันนี้ก็เหมือนกัน เราหิวข้าวไถนาไป มัวมองแม่บ้านส่งข้าวดูโคไป เอาปฏักแทงโคไม่เป็นที่ เจ้าโคมันยกเท้ามากระทบผาล จึงถูกผาลแทงเป็นแผล นี่แหละท่านพราหมณ์ที่เรากล้าพูดว่าพระเจ้าปัญจาละเป็นต้นเหตุให้โคของเราถูกผาลแทง
    ทั้งพระราชาและปุโรหิต ได้ฟังแล้วก็เห็นจริงตามคำพูดของชาวนา เพื่อจะได้เห็นความจริงต่อไป จึงเดินทางต่อไป เมื่อถึงเวลาค่ำก็ขออาศัยนอนตามบ้านคนที่ไว้ใจได้ พอรุ่งเช้าได้พบเหตุการณ์เรื่องหนึ่ง คือ แม่โคนมเอาเท้าดีดคนรีดนมโคล้มลงไปพร้อมนมสด คนรีดนมเมื่อล้มลงไปก็ร้องด่าว่า ให้ตายเถอะ ขอให้พระเจ้าปัญจาละถูกฟันในสงคราม ได้รับความเจ็บเหมือนเราถูกแม่โคถีบจนนมหกไปหมดฉะนั้นเถิด
    ปุโรหิตได้ฟังก็เกิดความแคลงใจ ในใจขณะนี้ไม่กล้าปฏิเสธความจริง เพราะเห็นมาแล้วว่า แต่ละเรื่องล้วนมีพระราชาเป็นต้นเหตุทุกเรื่อง จึงถามคนรีดนมว่า การที่แม่โคถีบเจ้าจนบาดเจ็บ และน้ำนมหกนั้น เป็นความผิดอะไรของพระราชาด้วยเล่า คนรีดนมตอบว่า ท่านพราหมณ์ พระเจ้าปัญจาละจะต้องรับผิดชอบ เพราะว่าชาวบ้านชาวเมืองเดือดร้อน เนื่องมาจากพระเจ้าปัญจาละปล่อยให้พวกราชบุรุษมารีดภาษีในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนก็ปล่อยให้โจรมาทำการปล้นสะดม ท่านพราหมณ์ ในแคว้นของพระเจ้าปัญจาละมีแต่คนชั่ว แม่โคตัวนี้มันดุร้าย เมื่อก่อนเราไม่กล้ารีดนมมันเพราะกลัวมันถีบ แต่คราวนี้เราจำเป็นต้องรีดนม เพราะพวกราชบุรุษของพระราชา มาบังคับเอาจึงต้องทำการรีด
    พระราชาและปุโรหิต ยอมรับว่าเหตุการณ์เกิดจากการปกครองบกพร่อง แล้วทั้งสองก็เดินทางหาความจริงกันต่อไป ถึง ณ ที่หนึ่ง ได้ยินเสียงเด็กหลายคนพากันร้องด่าพระเจ้าปัญจาละว่า ขอให้พระเจ้าปัญจาละพลัดพรากจากโอรส แล้วได้รับความโศกเศร้าเหมือนแม่โคตัวนี้พลัดพรากจากลูกวิ่งคร่ำครวญอยู่เถิด
    ปุโรหิตถามว่า เจ้าเด็กเอ้ย การที่แม่โคเที่ยวร้องคร่ำครวญอยู่อย่างนี้ เป็นความผิดอะไรของพระราชาเล่า พวกเด็กตอบว่า ท่านมหาพราหมณ์ ความผิดของพระราชามีแน่ เพราะชาวเมืองทั้งปวงต้องเดือดร้อนอันเนื่องมาจากถูกพวกราชบุรุษขูดรีดภาษีในเวลากลางวัน พอตกกลางคืนพวกโจรก็ทำการปล้นบ้าน ท่านมหาพราหมณ์ พวกของพระราชาได้มาใช้อำนาจบังคับเอาลูกของแม่โคตัวนี้ไปฆ่าเพื่อเอาหนังลูกโคไปทำฝักดาบ แม่โคเมื่อไม่เห็นลูกของตน ก็เศร้าถึงลูก ไม่ยอมกินหญ้า ไม่ยอมดื่มน้ำ วิ่งวนหาลูกของตัว อย่างนี้แหละท่านพราหมณ์ นี่คือเป็นความผิดของพระราชา
    พระราชาและปุโรหิต ได้ฟังแล้ว ก็เกิดความสลดใจ มองเห็นความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนมีสาเหตุมาจากการปกครองทั้งนั้น จึงพากันเดินทางกลับพระนครดำเนินการลงโทษข้าราชการชั่วทั้งหมด แล้วปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ตามคำสอนของรุกขเทวดา บ้านเมืองก็ปกติสุขสืบมา

    ๔.การสงเคราะห์คนจนด้วยทรัพย์
    พระราชาในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของราษฎร พระองค์จะต้องรับผิดชอบทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของประชาชน แม้คนที่ไม่มีเงินจะใช้ พระราชาก็ต้องพระราชทานทรัพย์ให้เพื่อเป็นทุนในการทำอาชีพต่อไป ราษฎรคนใดเจ็บป่วยทุพพลภาพ ไม่สามารถจะทำมาหากินได้ พระราชาจะต้องพระราชทานทรัพย์ช่วยเหลือผู้นั้น
    ในเรื่องการพระราชทานทรัพย์ให้แก่คนไม่มีจะกินนี้ พระมหากษัตริย์สมัยโบราณโดยเฉพาะกษัตริย์ในประเทศอินเดีย ทรงเห็นว่าปฏิบัติได้ยาก เพราะราษฎรอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นที่ใหญ่โต การที่จะทราบว่าราษฎรคนไหนยากจนไม่มีจะกิน คงจะรู้ได้ยาก จะให้ราชบุรุษไปสืบหาคนยากจนแล้วก็แจกทรัพย์ให้ ดูจะเป็นเรื่องยากต่อการปฏิบัติ หรือถ้าปฏิบัติได้ ก็ไม่แน่ว่าราชบุรุษเหล่านั้นจะเอาทรัพย์ไปให้คนจนหรือนำทรัพย์ไปให้ญาติมิตรของตน จึงทรงดำเนินการจ่ายทรัพย์เพื่อดำรงชีวิตของคนจนในแนวทางที่ง่ายที่สุด กล่าวคือ ทรงให้ตั้งโรงทาน ๔ มุมพระนครบ้าง ตั้งโรงทานที่กลางพระนครบ้าง แล้วทรงสละทรัพย์ทำอาหารเลี้ยงคนยากจนในพระราชอาณาจักรทุกคน คนจนที่ไม่มีทรัพย์เลี้ยงชีพ หรือคนจนชั่วคราว เมื่อรู้ว่าตัวไม่มีจะกิน ก็จะมาขออาหารที่โรงทาน มิเพียงคนยากจนเท่านั้นที่จะมาขออาหาร แม้คนอื่นๆ เช่น คนพิการ ขอทาน ก็มีสิทธิมาขออาหารจากโรงทานได้ การปฏิบัติดังกล่าวนี้ ทำให้พระราชาสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการบริจาคทรัพย์เลี้ยงคนจนได้ทั่วถึงทุกคน
    นอกจากนี้ หากสังเกตให้ดีๆ ในจักกวัตติวัตร ในเรื่องการพระราชทานทรัพย์ให้คนยากจนนั้น ต้องไม่ให้เขาแค่พอเลี้ยงชีพตนเองเท่านั้น ดังพุทธพจน์ที่ว่า (ย่อความเอา) “ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขา แล้วรับสั่งว่า พ่อบุรุษ เธอจงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงบิดามารดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณาที่มีผลในเบื้องบน อันเกื้อกูลแก่สวรรค์ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยทรัพย์นี้เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขาได้สนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว”
    จะสังเกตได้ว่า ในการพระราชทานทรัพย์แก่คนยากจนนั้น ต้องให้มากพอต่อกิจเหล่านี้ของคนยากจนคนนั้นๆ
    หากสังเกตให้ดีขึ้นไปอีก จะพบว่าหนึ่งในกิจทั้งหลายนั้น มี (ย่อความมา อาจผิดพลาดได้) “จงประกอบการงานทั้งหลาย (ด้วยทุนทรัพย์นี้)” อยู่ด้วย แสดงว่าพระราชาต้องพระราชทานทรัพย์ให้คนจนผู้นั้นนำไปเป็นทุนทำอาชีพด้วย เพราะถ้าพระราชทานให้กินไปวันๆ ก็จะเป็นภาระไปตลอด พระราชาต้องเลี้ยงตลอด เขาก็เกาะพระราชากินไปตลอด และจะเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่คนอื่นด้วย สู้ให้ทุนเขาไปสร้างอาชีพ พอเขามีงานทำก็มีเงินเลี้ยงชีพเอง ไม่ต้องมาเป็นภาระของพระราชาอีก แบบนี้จะดีกว่า

    ๕.เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้มีศีล
    ในจักกวัตติวัตรนี้ พระราชาจะต้องเข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้สงบ ผู้ดับกิเลส เพื่อถามแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อพระองค์เอง และแว่นแคว้นอีกด้วย ที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะว่าสมณพราหมณ์เป็นผู้มีคุณธรรมและความรู้สูงส่ง เมื่อพระราชาทราบแล้ว ก็นำมาปฏิบัติ และนำมาสอนประชาชนเพื่อปฏิบัติดีต่อไป
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มีนาคม 2013
  4. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    จักกวัตติวัตรกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย​

    การปกครองบ้านเมืองด้วยอธรรม ย่อมจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ว่าความอธรรมนั้นๆ จะกระทบประชาชนมากน้อยอย่างไร ถ้ากระทบคนในหมู่บ้านเดียว ความเดือดร้อนก็จะเกิดเฉพาะกับคนในหมู่บ้านนั้น และในหมู่บ้านอื่นที่เป็นญาติพี่น้องผองเพื่อนกับคนในหมู่บ้านนั้น แต่ถ้าการปกครองที่ไม่เป็นธรรมกระทบกับบุคคลทั้งบ้านเมือง เช่น การโกงกินงบประมาณแผ่นดิน เอื้อให้นายทุนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ฯลฯ ความเดือดร้อนก็จะกระทบประชาชนทั้งหมดในประเทศ เผลอๆอาจกระทบประชาชนต่างประเทศด้วย
    การปกครองที่ไม่เป็นธรรมนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนในด้านต่างๆ ยังทำให้เกิดเหตุอาเพศต่างๆ ทางธรรมชาติอีกมากมาย เมืองไทยเราทุกวันนี้ เกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง (แม้จะไม่แรงเท่าบางประเทศ) แต่ก็คร่าชีวิตประชาชนได้ไม่น้อยเลย ซึ่งเหตุอาเพศดังกล่าว ในทางพุทธศาสนาถือว่า เกิดจากการปกครองบ้านเมืองที่ไม่เป็นธรรมของผู้ปกครองทั้งสิ้น
    ผมได้วิเคราะห์หลักจักกวัตติวัตร สำหรับระบอบราชาธิปไตยไปแล้ว ในทุกวันนี้อำนาจการปกครองบ้านเมืองเป็นของสถาบันการปกครองทั้งสาม คือ รัฐบาล รัฐสภา และศาล สถาบันการปกครองทั้งสามจึงต้องประพฤติในจักกวัตติวัตรแทนองค์พระเจ้าแผ่นดิน ที่มิได้ทรงมีพระราชอำนาจปกครองบ้านเมืองโดยตรงอีกต่อไป แม้ว่าจะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อย่างมากมายก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งเสริมการพัฒนาประเทศเท่านั้น อำนาจหลักในการพัฒนาประเทศอยู่ที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

    ๑.ถือธรรมเป็นอำนาจ
    การถือธรรมเป็นอำนาจก็คือ ถือธรรมะความถูกต้องเป็นหลักสูงสุดในการดำเนินงาน ไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่ในทางที่ผิดเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเอง
    อนึ่ง จักกวัตติวัตรทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นคุณธรรมเพื่อการบริหารบ้านเมือง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวนั้นทุกวันนี้เป็นของคณะรัฐมนตรี(รัฐบาล) เมื่อเป็นเช่นนี้จักกวัตติวัตรทั้ง ๕ ข้อนี้ จึงเป็นคุณธรรมสำหรับรัฐบาลต้องปฏิบัติ แต่ก็มีบางส่วนที่สถาบันรัฐสภาและตุลาการจำเป็นต้องปฏิบัติบ้างเหมือนกัน ดังนั้น ในการพูดถึงผู้ปกครองต่อไปนี้ จะครอบคลุมความถึงรัฐสภาและตุลาการด้วย
    ในการอธิบายการถือธรรมเป็นอำนาจนี้ จะแยกประเด็นออกเป็น ๒ ประเด็น
    ๑.๑.สภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การถือธรรมเป็นอำนาจ
    คนที่จะมีโอกาสได้ขึ้นไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีนั้น มีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ
    - องค์ประกอบภายใน คือ คุณธรรม และทรัพย์
    - องค์ประกอบภายนอก คือ ศรัทธาของประชาชน และค่าจ้าง
    องค์ประกอบภายใน คือ คุณธรรม เป็นจุดสำคัญที่จะผลักดันให้ผู้นั้นขึ้นไปสู่ความเป็นใหฐ่ในบ้านเมือง คุณธรรมที่ว่านี้ ก็คือ ทศพิธราชธรรมนั่นเอง และก็เพิ่มการใกล้ชิดประชาชนเข้าไปอีกข้อหนึ่ง เราจะสังเกตเห็นว่า ผู้แทนคนใดเมื่อให้ทาน หรือผู้ใดมีศีลจนเป็นที่ยอมรับ ประชาชนก็จะเลือกเข้ามาหรือผู้ใดเป็นคนเสียสละ ซื่อตรง ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ใช้อิทธิพลของตนรังแกคนอื่น ก็จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง
    อนึ่ง องค์ประกอบภายในคือคุณธรรมนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดองค์ประกอบภายนอกคือศรัทธาของประชาชน คุณธรรมก่อให้เกิดศรัทธาของประชาชนอย่างไร ตัวอย่างเช่น ผู้ใดขณะที่เสนอตนเข้ามาเป็นผู้รับใช้ประชาชนไม่มีการแจกเงินหรือแจกสิ่งของ หากจะบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อที่ว่าด้วยการให้ทาน ก็สร้างสาธารณประโยชน์ให้ส่วนรวม เช่น สร้างศาลาสำหรับคนเดินทางได้พักอาศัย สร้างสระน้ำให้ประชาชนมีน้ำไว้ใช้อาบ ใช้ดื่ม สร้างสะพานให้คนได้สัญจรไปมา สร้างหนทางที่คนสัญจรลำบากให้เป็นหนทางที่เดินสะดวก อาทิ หนทางตรงไหนมีตมมีหล่ม ก็เอาทุนทรัพย์ส่วนตัวไปซื้อหินซื้อดินมาทำให้ดินแข็ง หนทางนั้นก็ปราศจากตม คนทั้งหลายก็จะเดินสะดวก หนทางใดมีแต่ความมืด เวลาคนสัญจรไปมา มีแต่ความหวาดผวา โจรจี้ทรัพย์ ก็เอาทรัพย์ส่วนตัวติดไฟฟ้าให้แสงสว่าง คนทั้งหลายที่จะเดินทางจะได้สบายใจ นี่คือ ลักษณะของผู้มีแววว่าเมื่อไปเป็นผู้ปกครองแล้วจะใช้ธรรมเป็นอำนาจ
    การที่ผู้มีคุณธรรม จะได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้ปกครองนั้น มิใช่ว่าจะต้องมีคุณธรรมเฉพาะผู้เสนอตัวเข้ามารับใช้เท่านั้น แม้ฝ่ายเลือกคือประชาชนก็ต้องมีคุณธรรมเหมือนกัน ถ้าว่าผู้เสนอตัวมีคุณธรรม แต่ประชาชนไม่มีคุณธรรม ประชาชนก็คงจะไม่เลือกผู้มีคุณธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เสนอตัวที่ไม่มีคุณธรรมก็ใช้องค์ประกอบภายในอีกข้อหนึ่ง คือ ทรัพย์ มาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตนได้รับเลือก การที่ผู้เสนอตัวเพื่อรับใช้ประชาชน ใช้เงินซื้อเสียงได้ตำแหน่งมา นั่นแสดงว่า ผู้ปกครองผู้นี้ถ้าไปเป็นรัฐมนตรี ก็มีแววว่าจะต้องใช้อำนาจไปในทางที่ผิดค่อนข้างแน่นอน
    องค์ประกอบทั้งสองประการนี้ คือ องค์ประกอบภายในสำหรับผู้ที่จะเสนอตัวเพื่อให้ประชาชนคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้ปกครอง (อันที่จริงแล้ว มีแต่คุณธรรม ไม่ต้องมีทรัพย์ก็เป็นผู้ปกครองได้)
    ส่วนองค์ประกอบภายนอกข้อต้น คือ ศรัทธาของประชาชน ความจริงศรัทธาของประชาชนนี้ต้องอาศัยองค์ประกอบภายในของผู้เสนอตัวมารับใช้ประชาชนเป็นหลัก คือ ถ้าประชาชนที่มีคุณภาพก็จะศรัทธาผู้ที่มีคุณธรรม เมื่อศรัทธาในคุณธรรมของผู้เสนอตัวมารับใช้ ประชาชนเหล่านั้นก็จะเลือกผู้มีคุณธรรมเท่านั้น เป็นผู้แทนของตน และเมื่อผู้แทนแต่ละคนมีคุณธรรม เมื่อผู้แทนเหล่านั้นไปเลือกรัฐบาลหรือไปเป็นรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็จะเป็นรัฐบาลที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม เมื่อรัฐบาลมีคุณธรรม ก็แน่นอนว่ารัฐบาลนั้นจะใช้ธรรมเป็นอำนาจในการบริหารราชการบ้านเมือง
    ส่วนองค์ประกอบภายนอก คือ ศรัทธาของประชาชนนั้น เป็นเรื่องสำคัญของผู้เสนอตนเข้ามารับใช้ประชาชน จะต้องสร้างขึ้นมาเอง เพราะเมื่อประชาชนเขาศรัทธาแล้ว ก็ย่อมจะเลือกเข้ามาเป็นผู้ปกครอง วิธีการสร้างศรัทธาของประชาชนก็ไม่พ้นไปจาก การสร้างองค์ประกอบภายใน คือ คุณธรรม
    ผู้เสนอตนเข้ามารับใช้ประชาชน จะใช้คุณธรรมสร้างศรัทธาให้คนเลือกตน หรือจะใช้ทรัพย์เป็นค่าจ้างซื้อคะแนน เพื่อให้ตนได้เข้ามาเป็นผู้ปกครอง ถ้าเลือกที่จะเป็นคนมีคุณธรรม ก็ใช้คุณธรรมสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชน ให้เลือกตนเข้ามาเป็นผู้ปกครอง นั่นคือ การสร้างสภาพแวเล้อมที่นำไปสู่การถือธรรมเป็นอำนาจ
    ๑.๒.สภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การถืออำนาจเป็นธรรม (คนละอย่างกับการถือธรรมเป็นอำนาจ)
    ตามที่ได้กล่าวมาว่า ถ้าผู้เสนอตนเข้ามารับใช้ประชาชนใช้คุณธรรมสร้างศรัทธาขึ้นในหมู่ประชาชน ก็จะก่อให้เกิดความน้อมนำไปสู่รัฐบาลที่มีคุณธรรม และเมื่อเป็นรัฐบาลที่มีคุณธรรม ก็ย่อมจะบริหารงานโดยยึดความถูกต้องเป็นหลัก
    แต่ทุกวันนี้ มีข่าวโจทขานกันทั่วไปว่า ผู้เสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาชน ใช้ทรัพย์ซื้อคะแนน และเมื่อใช้ทรัพย์ซื้อคะแนนได้มาเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ไปเป็นรัฐบาลต่อ ก็เชื่อว่ารัฐบาลนั้นจะต้องคิดถอนทุนคืน เมื่อคิดถอนทุนคืน การที่จะบริหารบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรมคงจะไม่มี คงจะต้องถืออำนาจเป็นธรรม เพราะอะไร เพราะว่าถ้าถือความถูกต้องในการบริหารงาน ผลประโยชน์ของตนย่อมจะเสียหาย แต่ถ้าถืออำนาจเป็นธรรม ตนย่อมได้ผลประโยชน์
    นอกเหนือจากนั้น เราต้องไม่ลืมว่า การจะได้รัฐบาลที่ดีนั้น ประชาชนต้องดีด้วยเหมือนกัน เพราะอะไร เพราะว่าถ้าประชาชนส่วนใหญ่เลือกผู้แทนที่มีคุณภาพ โดยไม่ยอมรับอามิสสินจ้างจากผู้ใด นั้นแสดงว่าประชาชนมีคุณภาพเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ รับเงินรับวัตถุสิ่งของที่เขาจ้างไปลงคะแนน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะได้แต่รัฐบาลที่ถืออำนาจเป็นธรรมตลอดไป เพราะเราเลือกเข้ามาเอง จะไปโทษใครได้อีก ที่กล่าวมานี้คือองค์ประกอบภายในคือทรัพย์ซึ่งก่อให้เกิดองค์ประกอบภายนอกคือ ค่าจ้าง อันเป็นผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การถืออำนาจเป็นธรรม ตามที่กล่าวมา

    ๒.จัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองโดยธรรม
    การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองโดยธรรมนั้น ผู้ปกครองต้องปฏิบัติแก่
    -ฝ่ายใน
    -มิตรอำมาตย์
    -พาหนะและกองทัพ
    -ชาวบ้านชาวนิคม
    -สมณพราหมณ์
    -เนื้อและนก
    ๒.๑.๑.การรักษาหมู่ญาติโดยธรรม
    เมื่อพระราชาปกครองบ้านเมืองนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ของพระองค์ ประชาชนต่างให้เกียรติ และเมื่อพระราชาจะประทานอะไรให้แก่พระญาติเป็นทางราชการ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ แต่มาถึงสมัยนี้ที่ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลจะมอบอะไรให้ญาติของตนเหมือนพระราชาในสมัยก่อนนั้นไม่ได้แล้ว ถ้าผู้ร่วมเป็นรัฐบาลมอบตำแหน่งเป็นทางการแก่ญาติของตน แม้ว่าบางครั้งจะสอบเข้ามาอย่างถูกต้องก็ตาม ประชาชนก็จะตำหนิได้ ทั้งนี้ ก็เพราะเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การปฏิบัติจักกวัตติวัตรของรัฐบาลจำต้องเปลี่ยนไปด้วย
    เมื่อรัฐบาลจะทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองญาติของตน จะต้องทำแบบส่วนตัว ถ้าจะทำเป็นทางการจะต้องเด่นจริงๆ ประชาชนจึงจะไม่ตำหนิ
    รัฐบาลจะต้องทำการรักษาญาติของตนอย่างไร
    ๒.๑.๑.๑.การรักษาญาติด้วยความอดทน ผู้ที่ประชาชนไว้วางใจให้เป็นรัฐบาล ย่อมเป็นผู้มีอำนาจและโอกาสดีกว่าคนอื่น ในการที่จะทำอะไร ที่ไหนกับใคร อันคนเรานั้น เมื่อมีอำนาจแล้ว ถ้าจะช่วยคนอื่น ก็มักจะช่วยเรื่องให้ทำมาหากินเป็นหลักฐาน ให้มีชีวิตมั่นคง ถ้ารัฐบาลช่วยแต่คนอื่น แต่ปล่อยให้ญาติพี่น้องของตนลำบาก โดยไม่เหลียวแล การทำอย่างนี้ไม่เป็นมงคล เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า (สรุปความมา) “การสงเคราะห์ญาติ เป็นมงคลอย่างสูงสุด”
    เมื่อตนเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ขอให้มีความอดทนในการช่วยสงเคราะห์ญาติด้วยความชอบธรรม อย่าช่วยในทางที่ผิดธรรม เพราะในฐานะที่ตนเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง จะต้องกำจัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ญาติของตนด้วย เพราะญาติก็เป็นประชาชน
    ตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นว่าญาติคนนี้ยังยากจนนัก ก็หาหนทางช่วยเหลือ เพื่อให้มีอาชีพ แม้จะมีอุปสรรค ก็อดทนแก้ไขให้ ทั้งนี้ ด้วยความชอบธรรม ไม่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน เพราะการช่วยญาติของตน
    สรุปแล้วการอดทนทำประโยชน์ให้แก่ญาติของตน เรียกว่า การรักษาญาติด้วยความอดทน
    ๒.๑.๑.๒.การรักษาญาติด้วยความไม่เบียดเบียน ในสมัยราชาธิปไตย พระราชาทรงทำการรักษาพระญาติในข้อนี้ ด้วยการไม่เบียดเบียนให้เดือดร้อน ด้วยการกระทำของพระราชา เป็นต้นว่า ปล่อยให้พระมเหสีหรือราชโอรสอยู่อย่างว้าเหว่ ไม่ทรงเหลียวดูความเดือดร้อนเลย แต่เมื่อเป็นสมัยนี้ รัฐบาลก็ต้องไม่ปล่อยให้ลูกเมียของตนลำบาก เป็นต้นว่า โหมงานหนักจนลืมครอบครัว ทุ่มเทเพื่อสังคมมากเกินไปจนลืมครอบครัว จนครอบครัวตัวเองเดือดร้อน ทำให้คนทั่วไปมีงานทำ แต่ไม่ช่วยญาติๆให้มีงานทำกับเขาด้วย หรือตนแอบไปมีเมียน้อย นานๆจะกลับบ้าน ปล่อยให้ภรรยาไม่มีความสุข มีความทุกข์ ระทม เพราะสามีไปมีเมียน้อย
    ๒.๑.๑.๓.การรักษาญาติด้วยความรัก คนเราเมื่อมีความรัก มีความเมตตาต่อกัน ย่อมจะแสดงอาการของความรัก ความเมตตาต่อกันออกมา ก็อาการที่แสดงออกถึงความรักต่อกันก็คือ คิดถึง ไปมาหาสู่ ให้สิ่งของ เป็นต้น เมื่อผู้เป็นรัฐบาลจะรักษาญาติของตนด้วยความรัก ก็ต้องคิดถึงญาติที่ยากจน อย่ามองว่าเมื่อจนแล้วก็ไม่ยอมรับว่าเป็นญาติ ไม่ไปมาหาสู่ อย่าคิดว่าญาติที่ยากจนเขาจองหองไม่ยอมมาหา ก็เลยไม่สนใจ ต้องมองว่าตัวเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง เป็นผู้มีอำนาจ เมื่อญาติที่ยากจนเขาจะมาหาเขาก็เกรงไปว่า เราจะไม่ต้อนรับเขาหรือจะไม่รู้จักเขา ดังนั้น เขาจึงไม่ยอมมาหาเมื่อเราคิดอย่างนี้แล้ว เราควรไปมาหาสู่ญาติผู้นั้นแล้วช่วยสงเคราะห์ตามที่กำลังเราจะช่วยได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นการช่วยที่ถูกต้องเป็นธรรม
    ๒.๑.๑.๔.รักษาญาติด้วยความเอ็นดู ความเอ็นดูเป็นความสัมพันธ์ที่ผู้ใหญ่มีต่อผู้น้อย ผู้มีอำนาจมีต่อผู้ไม่มีอำนาจ ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ก็ควรมองดูหมู่ญาติของตนที่ยากจน บางคนเมื่อมีอำนาจแล้ว คนยากจนที่ไม่เป็นญาติช่วยเหลือได้ แต่ที่เป็นญาติของตนและยากจน ตัวไม่ยอมรับว่าเป็นญาติ เพราะอายว่ามีญาติที่ยากจน แล้วปล่อยปละละเลย ปล่อยให้ยากจนอยู่อย่างนั้น คนแบบนี้มิใช่นักปกครองที่ดี นักปกครองที่ดีต้องคำนึงว่าญาติก็คือประชาชน ที่เรามีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขด้วยคนหนึ่ง
    ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ การปกครองที่ต้องทำการรักษาญาติของตน ด้วยความอดทน ความไม่เบียดเบียน ความรัก และความเอ็นดู
    ๒.๑.๒.การป้องกันหมู่ญาติโดยธรรม
    การปกครองโดยการป้องกันหมู่ญาติ พระพุทธองค์ทรงหมายถึง ผู้ปกครองต้องป้องกันทรัพย์สินของหมู่ญาติของตน อันตามปกติรัฐบาลก็มีหน้าที่อยู่แล้ว ในการที่ต้องป้องกันทรัพย์สมบัติของประชาชน แต่คนบางกลุ่มนั้นมองดูหมู่ญาติของตนที่ยากจนว่าน่ารังเกียจ หรือญาติที่ร่ำรวยแต่ไม่เคยไปมาหาสู่กันก็มองกันว่าน่ารังเกียจ เมื่อต่างคนต่างก็รู้อยู่ว่าเป็นญาติกัน แต่ไม่เคยช่วยเหลือกันมาก่อน ไม่เคยนับถือกันมาก่อน ก็มักจะไม่ชอบหน้ากัน และมักจะมีความริษยากันในเมื่อเห็นญาติคนไหนมีอำนาจหรือรวยกว่า ความรู้สึกที่มีต่อกันอย่างนี้ จึงทำให้มองหน้ากันแบบรังเกียจ เมื่อตัวได้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ก็เฉยเมยต่อหมู่ญาติเหล่านั้นเสีย ในฐานะเป็นรัฐบาลปกครองบ้านเมือง ต้องทำหน้าที่ป้องกันทรัพย์สินของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น จะต้องทำการป้องกันทรัพย์สินของญาติที่เคยมีความรู้สึกกินแหนงต่อกันด้วย และในฐานะที่ตัวมีอำนาจ หน้าที่ จึงควรจะต้องติดต่อญาติที่ขาดการติดต่อกันมาก่อนด้วย
    ๒.๑.๓.การคุ้มครองหมู่ญาติโดยธรรม
    การปกครองที่เรียกว่า การคุ้มครองหมู่ญาติ หมายถึง การที่ผู้ปกครองคุ้มครองภัยต่างๆให้แก่ประชาชน เฉพาะในที่นี้กล่าวถึงญาติของผู้ปกครอง ดังนั้น การคุ้มครองหมู่ญาติของรัฐบาล ก็คือ การที่รัฐบาลคุ้มครองหมู่ญาติของตนให้พ้นภัยทั้งหลาย เช่น โจรภัยเป็นต้น และเมื่อภัยเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วรัฐบาลควรต้องจัดการแก้ไขให้ภัยเหล่านี้อันตรธานไป
    ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองหมู่ญาติของรัฐบาล อนุโลมตามแนวจักกวัตติวัตรของพระราชา แต่ในฐานะที่รัฐบาลทุกวันนี้ มาจากประชาชน ดังนั้น ขอเพิ่มการปฏิบัติต่อหมู่ญาติของตน ตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้สำหรับประชาชนทั่วไป
    นายกก็ดี รัฐมนตรีก็ดี เมื่อตนมีอำนาจ มีทรัพย์สินแล้ว พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้ปฏิบัติต่อญาติดังนี้
    - รับผิดชอบเลี้ยงดูบิดามารดา บุตรภรรยา คนรับใช้ในบ้าน
    - สงเคราะห์ญาติ
    การเลี้ยงดูบิดามารดา บุตรภรรยา และคนรับใช้ในบ้านนั้น เป็นหน้าที่ของลูกที่เป็นหัวหน้าครอบครัว และยิ่งได้มีอำนาจ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้วยแล้ว จะต้องดูแลรับผิดชอบความสุข ความทุกข์ของบิดามารดาของตน ในฐานะที่ท่านทั้งสองนั้น ได้เลี้ยงเรามาแต่เกิด เป็นการตอบแทนพระคุณของท่าน การตอบแทนพระคุณพ่อแม่ของผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครอง ย่อมจะให้เกิดผลสามประการคือ เป็นบุญกุศลอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่ของตนได้สมบูรณ์อย่างหนึ่ง และเป็นตัวอย่างแก่ผู้ใต้ปกครอง จะได้เอาเยี่ยงอย่างอีกประการหนึ่งด้วย
    การเลี้ยงดูบุตรภรรยานั้น เป็นหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว ในฐานะที่นำคนๆหนึ่งมาเป็นคู่ครอง และให้กำเนิดบุตรขึ้นมา จึงต้องรับผิดชอบชีวิตของพวกเขาด้วย
    ส่วนคนรับใช้ในบ้าน ก็อย่ามองว่าเขาเป็นคนชั้นต่ำ ต้องมองว่าเขาคนนี้มาสร้างความสุขให้เรา ถ้าเราไม่มีเขา เราก็ต้องทำงานหนัก แต่เมื่อมีเขามาช่วย เราจึงสบาย บางครั้งนอนหลับอย่างไม่ต้องกังวลถึงงานประจำวัน เพราะมีคนช่วยทำ เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้หัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูคนช่วยทำงานบ้านให้มีความสุข
    ขณะเดียวกัน ผู้ที่ตั้งเนื้อตั้งตัวได้แล้ว ควรทำการสงเคราะห์ญาติของตนที่ควรแก่การช่วยเหลือ เป็นเรื่องเหมาะสมอย่างยิ่งที่ใครก็ตามได้รับเลือกจากประชาชน ให้เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง จะทำการช่วยเหลือสงเคราะห์ญาติของตน
    ๒.๒.การรักษามิตรอำมาตย์โดยธรรม
    ในประเด็นการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองมิตรอำมาตย์นี้ พระพุทธองค์ตรัสรวมกันไว้ คงจะมีพระพุทธประสงค์ให้พระราชาทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองอย่างเดียวกัน เพราะมีปรากฏในชาดกหลายเรื่องว่า พระราชาจะตั้งพระสหายของพระองค์เป็นอำมาตย์ ดังนั้น พระสหายของพระราชาส่วนใหญ่จึงเป็นอำมาตย์ เพราะฉะนั้น จึงทรงให้ทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองมิตรและอำมาตย์อย่างเดียวกัน
    แต่สำหรับปัจจุบันนี้ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มิตรกับอำมาตย์ของรัฐบาลมิใช่คนประเภทเดียวกัน ฉะนั้น จึงจะต้องแยกกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง สำหรับหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองมิตรของตนนั้น ควรทำตามรูปแบบที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองญาติ แต่มีบางเรื่องที่ควรกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้
    ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองญาติมิตร โดยไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ช่วยเหลือญาติมิตรของตน โดยการทุจริต ลักษณะการช่วยเหลือมีหลายอย่าง เช่น ช่วยให้ได้งาน และช่วยให้พ้นผิด การช่วยให้ได้งานมีหลายรูปแบบ เช่น ช่วยให้ญาติมิตรของตนได้เข้าทำงานโดยวิธีมิชอบ ช่วยให้ญาติมิตรของตนได้ประมูลงานของรัฐบาลที่มีงบประมาณจำนวนมากโดยใช้อำนาจหน้าที่ที่ตัวมีอยู่ เป็นเงื่อนไขให้ได้เปรียบคนอื่น
    ในส่วนที่ช่วยให้พ้นผิด เช่น ว่าญาติมิตรของตน ทำผิดกฏหมาย ก็หาทางช่วยเหลือให้พ้นผิด หรือจากผิดมากเป็นผิดน้อย เป็นต้น การช่วยเหลือญาติมิตรดังกล่าวมานี้ เป็นการช่วยเหลือที่ไม่เป็นธรรม
    นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการคุ้มครองที่ไม่เป็นธรรมอีกที่ปรากฏมากมายในปัจจุบัน เช่น ถ้ามีโจรปล้นบ้าน หรือจี้ชิงทรัพย์ คนทั่วไปที่ไม่ใช่ญาติของผู้ปกครอง ตำรวจจะไม่ค่อยให้ความสนใจมากมายนัก แต่ถ้าเป็นโจรกรรมที่เกิดกับญาติมิตรของรัฐบาล ตำรวจจะรีบจัดการจับผู้ร้าย มาลงโทษทันที การคุ้มครองเฉพาะญาติมิตรของรัฐบาลอย่างนี้ เรียกว่า การคุ้มครองที่ไม่เป็นธรรม พระพุทะเจ้าตรัสว่า พระเจ้าแผ่นดิน (หรือรัฐบาล) ต้องทำการรักษา ป้องกันและคุ้มครองญาติมิตรโดยธรรม วิธีการคุ้มครองที่เป็นธรรมก็คือ ทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองให้เสมอกันทั้งญาติมิตรของตนและประชาชนทั่วไป ถ้าจะท้วงว่า ถ้าจะทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองเสมอกันหมดแล้ว ก็ไม่น่าจะแยกญาติมิตรไว้ต่างหาก ควรจัดไว้ในการปกครองราษฎรมิได้หรือ แก้ว่าที่ต้องแยกญาติมิตรไว้ต่างจากราษฎร ก็เพราะว่าผู้ร่วมรัฐบาลบางคน อาจจะลืมญาติผู้ยากไร้และอาจจะไม่รู้จักมิตรที่เคยคบกันมาก่อน แต่ยากจน พอตัวเป็นใหญ่แล้วก็ลืมญาติมิตรประเภทนี้เสีย ดังนั้น จึงเน้นการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองญาติมิตรไว้ต่างหากจากราษฎร
    สำหรับหน้าที่ในการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองอำมาตย์นั้น เนื่องจากอำมาตย์ในปัจจุบันนี้ คงหมายถึง ข้าราชการที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในปัจจุบัน ข้าราชการที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือ ข้าราชการพลเรือนทั้งหมด และข้าราชการพลเรือนเหล่านี้ ก็เหมือนกับข้าราชการทหาร ที่รัฐบาลต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง คล้ายๆกัน ฉะนั้น ในที่นี้จึงขอรวบเอาอำมาตย์แลทหารมาอธิบายรวมกันไป เพราะเป็นข้าราชการเหมือนกัน
    ๒.๓.การรักษาพาหนะและกองทัพโดยธรรม
    ในสมัยโบราณช้างม้าเป็นเครื่องมือในการปกครอง ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสให้พระเจ้าแผ่นดิน ทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองพาหนะเหมือนทหาร แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้ การปกครองไม่ได้นำเอาช้างม้า มาเป็นเครื่องมือมากนัก มีเพียงทหารม้าไว้ประดับกองทัพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ฉะนั้น จึงจะไม่กล่าวถึง ผู้ที่จะกล่าวถึงก็คือ ทหารและอำมาตย์ และใช้ชื่อว่าข้าราชการชื่อเดียว
    รัฐบาลต้องทำการรักษาข้าราชการอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องพระราชทานเบี้ยหวัดให้แก่อำมาตย์เพื่อเลี้ยงชีพ ฝ่ายทหารก็เช่นกัน พระเจ้าแผ่นดินต้องพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีให้ เพื่อเลี้ยงชีวิต เมื่อยึดพุทธพจน์ดังกล่าวนี้ ก็ได้คำตอบว่าในการปกครองข้าราชการที่เรียกว่าการรักษานั้น รัฐบาลต้องจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการทุกคน เพื่อจะได้เลี้ยงชีพ เรื่องนี้เป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล ส่วนการรักษาข้าราชการด้วยความอดทน ด้วยการไม่เบียดเบียน ด้วยความเมตตา และด้วยความเอ็นดูนั้น เป็นภาระหน้าของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบ กล่าวคือ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จะต้องทำการรักษาทหารด้วยความอดทน ไม่เบียดเบียน มีเมตตา และมีความเอ็นดู ตามที่ได้กล่าวไว้ใน “จักกวัตติวัตรกับการปกครองระบอบราชาธิปไตย” ส่วนข้าราชการพลเรือน รัฐมนตรีของแต่ละกระทรวง จะต้องทำการรักษา ข้าราชการของตนด้วยความอดทน ไม่เบียดเบียน มีเมตตา และมีความเอ็นดู พร้อมทำการป้องกันและคุ้มครองข้าราชการ เหมือนทำกับที่กล่าวไว้ใน “จักกวัตติวัตรกับการปกครองระบอบราชาธิปไตย”
    สำหรับในที่นี้จะกล่าวเพิ่มเติมในบางเรื่องที่ผิดไปจากสมัยการปกครองของพระเจ้าแผ่นดิน ก็เรื่องที่จะกล่าวนั้นก็คือ รัฐบาลทำการรักษาข้าราชการของตน โดยปล่อยให้ได้รับความเดือดร้อน ผิดหลักการปกครองในพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวว่า (สรุปความมา) “พระเจ้าแผ่นดินต้องทำการรักษาอำมาตย์และทหาร ด้วยไม่เบียดเบียนให้เดือดร้อน” แต่ทุกวันนี้ รัฐบาลปล่อยให้ข้าราชการบางหมู่บางเหล่าได้รับความเดือดร้อน ด้วยการเบียดเบียนโดยวิธีต่างๆ เช่น ให้เงินเดือนน้อย เรี่ยไร เบียดบังเบี้ยเลี้ยง และขายตำแหน่ง เป็นต้น
    การเบียดเบียนโดยวิธีต่างๆเหล่านี้ รัฐบาลรู้มาตลอด แต่แก้ไขไม่ได้ แล้วก็ออกมาแก้ตัวว่า หาหลักฐานไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว รัฐบาลไม่กล้าจัดการมากกว่า การให้เงินเดือนน้อย ทั้งๆที่รัฐบาลก็รู้ดีว่า ข้าราชการชั้นผู้น้อยเงินเดือนไม่พอกินแต่ก็ไม่แก้ไข พอคิดจะแก้ไขเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ได้เพิ่มทุกครั้งไป ทั้งๆที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นั้น มีรายได้หลายทาง เช่น เบี้ยประชุม เป็นต้น แต่ก็ยังเพิ่มให้อีกในคราวที่เพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ เมื่อเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ สินค้าก็ขึ้นราคาไปอีก เงินเดือนที่เพิ่มให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็ไม่พออีก เพราะต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น
    หากจะยกตัวอย่างผลกระทบของปัญหาดังกล่าว ก็เช่น ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย ถ้าได้เงินเดือนน้อย ก็จะไปขูดรีดเก็บส่วยเอากับประชาชน หรือรับสินบนจากโจร ไม่งั้นก็เลี้ยงตนและครอบครัวไม่ได้ ถ้าไม่ทำก็คืออดตายกันหมดเท่านั้น ถ้ารัฐบาลไม่สนใจแก้ไข ก็แปลว่าเป็นอธรรมิกราชแล้วล่ะ
    ความเดือดร้อนที่ข้าราชการทุกวันนี้ได้รับอีกประการหนึ่งคือ ถูกผู้บังคับบัญชาเรี่ยไร สร้างความเดือดร้อนให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยอยู่เสมอ เพราะเงินเดือนแต่ละเดือนไม่พอใช้ในครอบครัวอยู่แล้ว ยังถูกผู้บังคับบัญชาเรี่ยไรอีก จะไม่ให้ก็ไม่ได้ จำเป็นต้องให้ ทั้งที่ต้องฝืนใจให้
    นอกจากนั้น บางหน่วยงาน ข้าราชการไปปฏิบัติราชการต่างถิ่น เช่น ทหารและตำรวจไปราชการชายแดน เป็นต้น ในการไปอย่างนี้ ทางราชการให้เบี้ยเลี้ยง แต่ผู้บังคับบัญชาหลายคนประพฤติทุจริตยักยอกเงินเบี้ยเลี้ยงของทหารตำรวจเหล่านั้นเสีย โดยให้ทหารและตำรวจเหล่านั้นเซ็นชื่อรับเงิน แต่ไม่ยอมจ่ายเงินให้ ผู้น้อยจะทวงก็ใช่ที่ นึกว่าสักวันหนึ่งนายคงให้ แต่ก็เงียบ เหตุการณ์เหล่านี้ รัฐบาลรู้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่จริงใจในการแก้ไข แล้วก็อ้างว่าไม่มีหลักฐาน นี่คือ การปกครองข้าราชการของรัฐบาลที่สร้างความเดือดร้อน
    ที่ร้ายไปกว่านั้น ในวงการตำรวจ (และวงการปลัดอำเภอ นายอำเภอ) มีการซื้อตำแหน่งจากผู้บังคับบัญชา ใครอยากเป็นสารวัตร หรืออยากเป็นผู้กำกับ ต้องจ่ายให้ผู้บังคับบัญชา ใครไม่จ่าย ก็ไม่มีโอกาสจะได้ตำแหน่ง เมื่อเป็นดังนี้ คนไหนอยากเป็นสารวัตรหรือตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ต้องหาเงินมาส่งส่วยให้เจ้านาย แล้วเมื่อไม่มีเงินก็ต้องเป็นตำรวจที่อาภัพ แต่บางคนไม่มีเงิน ก็หาทางเก็บเงินจากผู้มีอิทธิพลเปิดบ่อนการพนัน นั่นก็สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอีกทางหนึ่ง
    ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ การที่รัฐบาลทำการรักษาข้าราชการ ด้วยการเบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลที่จะประพฤติในจักกวัตติวัตร ในข้อนี้ให้สมบูรณ์ ไม่ควรกระทำสิ่งดังกล่าวมานั้น จริงอยู่แม้รัฐบาลจะไม่ได้ทำเอง ผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยทำกันเอง แม้กระนั้น รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการสูงสุด
    ๒.๔.การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองประชาชนโดยธรรม
    การปกครองที่เรียกว่า การรักษานั้น มิได้หมายถึงการรักษาโรค แต่การรักษาในหลักการปกครองที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ หมายถึงการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลมีหน้าที่รักษาประชาชนก็หมายความว่า มีหน้าที่สนับสนุนประชาชนให้มีชีวิตอย่างปกติสุข
    ในการรักษาประชาชน หรือสนับสนุนประชาชน ให้มีชีวิตอย่างปกติสุขนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ๔ ประการ ตามที่กล่าวมาแล้ว คือ
    รักษาประชาชนด้วยความอดทน เมื่อการรักษาประชาชน หมายถึง การสนับสนุนประชาชนให้มีชีวิตอย่างปกติสุข จึงตั้งคำถามเพื่ออธิบายต่อไปว่า รัฐบาลจะสนับสนุนประชาชนให้มีชีวิตอย่างปกติสุขด้วยความอดทนอย่างไร ตอบว่า ในหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องสนับสนุนประชาชนให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขนั้น รัฐบาลต้องมีความอดทนหลายเรื่อง ในการที่จะทำให้ชีวิตของประชาชนอยู่อย่างปกติสุข อย่างน้อยต้องอดทนต่อคำกล่าวหาและอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อย
    ทุกวันนี้รัฐบาลไม่มีความอดทนในการสร้างสาธารณูปโภค เพื่อความผาสุกของประชาชนเพราะกลัวต่อคำกล่าวหาว่าทุจริต ตัวอย่างเช่น ประชาชนชาวเมืองหลวงทุกวันนี้ มีความเดือดร้อนเรื่องการเดินทาง จราจรติดขัด เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว รัฐบาลดำริโครงการรถลอยฟ้า รถไฟยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาจราจร และเมื่อโครงการนี้สำเร็จ จะแก้ปัญหาจราจรได้อย่างดี แต่เพราะเหตุที่โครงการเหล่านี้ต้องใช่เงินเป็นแสนล้าน รัฐบาลชุดไหนดำเนินโครงการเหล่านี้มักจะถูกประชาชนกล่าวหาไว้ก่อนว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่รับเหมา รัฐบาลที่ไม่มีความอดทนจึงไม่กล้าจะดำเนินการในเรื่องนี้ โครงการเหล่านี้จึงเก็บเงียบไว้สิบกว่าปี ไม่มีใครกล้าทำ
    การรักษาประชาชนด้วยการไม่เบียดเบียน ในสมัยที่พระราชา ทรงมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง การรักษาประชาชนไม่ให้เดือดร้อน ก็คือ การไม่เก็บภาษี ชนิดที่เรียกว่า รีดนาทาเร้นจนประชาชนเดือดร้อน แต่ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ความเดือดร้อน นอกจากจะมาจากการเก็บภาษีอย่างทารุณแล้ว ยังมาจากการช่วยราชการอย่างแปลกๆอีกมากมาย ขอยกตัวอย่าง ชนิดที่ประชาชนขำไม่ออกมาได้รู้กัน
    ทางกรมตำรวจเขามีกฏว่า ข้าราชการตำรวจแต่ละคน แต่ละโรงพัก จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือน และเลื่อนยศตำแหน่งนั้น จะต้องมีผลงาน การจับกุมคนทำผิดกฏหมาย ถ้าไม่มีประวัติการจับกุมคนทำผิด ความดีความชอบก็ไม่ได้ เพราะเหตุนี้ พอจวนจะถึงฤดูพิจารณาความดี ความชอบ ตำรวจแต่ละคนก็ไปทำการจับกุมคนไม่เลือกว่าทำผิดกฏหมายหรือไม่ เมื่อจับไปแล้ว หาหลักฐานการทำผิดไม่ได้ก็ปล่อยตัวไป ประชาชนเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก จนมีเรื่องแดงขึ้น เมื่อตำรวจในกรุงเทพทำการจับกุมคนๆหนึ่ง ที่เดินอยู่บนถนน ข้อหาเป็นซ่องโจร และขณะทำการจับกุมก็บอกชายผู้นั้นว่า ช่วยราชการตำรวจหน่อย
    ชายคนนั้นงง เพราะตัวไม่เคยเป็นโจรมาเลย จึงเถียงตำรวจว่าตนไม่ใช่โจร ตัวทำงานเป็นหลักฐาน ตำรวจจึงอธิบายให้ฟังว่า ให้ถือว่าช่วยราชการกรมตำรวจ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงพิจารณาความดี ความชอบ ตำรวจต้องมีการจับกุมเยอะๆ จึงจะได้ความดี เมื่อจับแล้ว หลักฐานอ่อนก็ปล่อยตัวไป แต่ถึงจะปล่อยตัวไปก็ไม่เป็นไร ยังมีประวัติว่ามีการจับกุม ดังนั้น การที่คุณให้ตำรวจจับกุม ก็คือ ช่วยราชการกรมตำรวจ ชายผู้นั้นฟังแล้วก็ขำไม่ออก เมื่อทางตำรวจปล่อยตัวมาแล้ว ก็ออกมาโวยกับ นสพ เรื่องจึงได้แดงขึ้น ไม่ทราบว่าตำรวจใช้วิธีจับคนบริสุทธิ์ เพื่อช่วยราชการกรมตำรวจไปกี่คน และกี่ปีมาแล้ว
    การรักษาประชาชนด้วยความรัก ได้กล่าวไว้ในเรื่องพระราชาทรงทำการรักษาประชาชนด้วยความรักความเมตตาว่า ให้ประชาชนมีเสรีภาพ ไม่กีดกันเสรีภาพของประชาชน สำหรับปัจจุบันนี้ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง การรักษาประชาชนด้วยความรัก ก็คงเป็นเหมือนที่พระราชาทรงปฏิบัติ คือ มอบเสรีภาพให้อย่างเต็มที่ แต่ต้องเป็นเสรีภาพที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของศีลธรรม การรักษาประชาชนด้วยความรัก ดูเหมือนจะมีพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ดูเหมือนจะไม่สร้างบรรยากาศของความรักเลย มีแต่สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน เช่น ประกาศกฏอัยการศึก ห้ามชุมนุมเดินขบวน ห้ามพูดเรื่องการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ห้ามออกนอกบ้านในเวลาวิกาล เป็นต้น
    นอกจากนั้น สื่อมวลชนก็ห้ามเขียนข่าวที่กระทบรัฐบาล ข่าวของหนังสือพิมพ์แต่ละข่าว ก่อนจะออกสู่สายตาประชาชน รัฐบาลต้องตรวจเสียก่อน ที่รัฐบาลทำอย่างนี้ เพราะกลัวประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่รัฐบาลนั่นเอง รัฐบาลอย่างนี้แหละที่เรียกว่า ไม่สนับสนุนให้ประชาชนมีชีวิตอย่างปกติสุข แต่กลับสนับสนุนให้ประชาชนมีชีวิตอย่างหวาดกลัว
    การรักษาประชาชนด้วยความเอ็นดู ในสมัยราชาธิปไตย ได้ยกตัวอย่างเรื่องพระราชาทรงรักษาประชาชนด้วยความเอ็นดู โดยการเลิกทาสมาเป็นตัวอย่าง สำหรับในปัจจุบันนี้ ไม่มีทาสแล้ว รัฐบาลต้องแสดงความเอ็นดู ต่อประชาชนโดยวิธีอื่น ตามที่กล่าวมาแล้วว่า ลักษณะการแสดงความเอ็นดู ก็คือ ผู้ใหญ่เอ็นดูผู้น้อย ผู้มีอำนาจเอ็นดูต่อผู้ไร้อำนาจ ในขณะที่พบผู้น้อยและผู้ไร้อำนาจมีชีวิตอยู่อย่างไม่ปกติสุข
    ตัวอย่างในเรื่องนี้ ที่พอยกมาอ้างได้ ก็คือ การที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือคนตาบอด คนหูหนวก หรือคนพิการอื่นๆ ให้มีชีวิตอย่างปกติสุข ตามอัตภาพของตน หรือให้ความช่วยเหลือคนชรา ที่ไม่มีลูกหลานจะเลี้ยงดู ให้มีที่อยู่ ให้มีที่กิน โดยไม่ต้องเดือดร้อน ในเรื่องที่อยู่ที่กิน การปฏิบัติของรัฐบาลดังกล่าวมานี้ เรียกว่า ทำการรักษาประชาชนด้วยความเอ็นดูสงสาร
    ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ การที่รัฐบาลปกครองประชาชน ด้วยการรักษาประชาชนด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยความรัก และด้วยความเอ็นดู
    การป้องกันประชาชนโดยธรรม การป้องกันประชาชนโดยธรรม ก็คือ การป้องกันทรัพย์สินของประชาชน ไม่ให้มีใครมาละเมิดได้ หน้าที่ดังกล่าวนี้ ได้เคยกล่าวไปแล้ว ในหน้าที่ป้องกันประชาชนของพระราชา แม้ในปัจจุบันนี้ ผู้ปกครองจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม ถึงกระนั้นก็ต้องทำหน้าที่ป้องกันทรัพย์สินของประชาชนเหมือนที่พระราชาทรงปฏิบัติมาในอดีตนั่นเอง ฉะนั้น จึงจะไม่กล่าวให้ซ้ำกันอีก
    การคุ้มครองประชาชนโดยธรรม ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า พระราชามีหน้าที่คุ้มครองประชาชนจากภัยทั้งหลายและมีหน้าที่บำบัดภัยทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วด้วย สำหรับในปัจจุบันนี้ รัฐบาลต้องคุ้มครองประชาชนจากภัยทั้งหลาย เหมือนเมื่อครั้งพระราชาทรงปฏิบัติมานั่นเอง
    ก็ภัยทั้งหลายที่ว่านั้น ก็คือ อุปัตติภัย ภัยที่เกิดจากอุปัทวเหตุ ทุพภิกขภัย ภัยที่เกิดจากความอดอยาก โรคภัย ภัยที่เกิดจากความเจ็บป่วย และโจรภัย ภัยที่เกิดจากพวกโจร
    น่าสังเกตว่าการคุ้มครองภัยนี้ รัฐบาลสมัยประชาธิปไตย อาจจะทำได้ดีกว่าสมัยราชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น อุปัทวภัยที่เกิดจากน้ำ รัฐบาลสมัยประชาธิปไตยจะมีกฏระเบียบว่าใครจะต่อเรือทำเป็นเรือโดยสาร คือ บรรทุกผู้โดยสาร จะต้องเป็นเรือที่แข็งแรง มีชูชีพใส่ไว้ในเรือ เพื่อว่าถ้าเกิดเรือล่มผู้โดยสารจะได้ใช้ชูชีพประคองตนขึ้นฝั่งได้ นี่ก็แสดงถึงว่าคุ้มครองภัยของประชาชนทางน้ำ
    ภัยทางบก รัฐบาลก็ตั้งกฏไว้อย่างแข็งแรง เช่น รถที่วิ่งบนถนน ห้ามวิ่ง เกิน ๙๐ กม. ต่อ ชั่วโมง ถ้าวิ่งเกินถือเป็นความผิดต้องถูกลงโทษ
    ภัยที่เกิดจากความอดอยาก รัฐบาลก็ตั้งกรมประชาสงเคราะห์ไว้ ถ้าประชาชนส่วนไหน ได้รับความอดอยาก ก็ให้กรมประชาสงเคราะห์นำอาหารไปช่วยเหลือ มิให้ประชาชนอดข้าวตาย
    ภัยที่เกิดจากความเจ็บป่วย รัฐบาลก็ตั้งกรมอนามัยไว้ทำหน้าที่ แนะนำสุขภาพของประชาชน และเมื่อประชาชนเจ็บป่วย รัฐบาลก็มีโรงพยาบาลไว้สำหรับรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย
    สำหรับโจรภัยน่าจะเป็นหน้าที่ของการป้องกันทรัพย์สิน จึงจะไม่ขอกล่าวให้ซ้ำกันอีก
    แต่ถ้ากฏเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นมือเท้าของรัฐบาล ไม่รักษาให้เคร่งครัด ภัยต่างๆก็ยังเกิดแก่ประชาชนอยู่นั่นเอง ดังนั้น เพื่อเป็นการปฏิบัติจักกวัตติวัตร ในข้อนี้ให้สมบูรณ์ รัฐบาลควรเอาใจใส่ตรวจตรา ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยปละละเลยหรือทำการทุจริตเพื่อให้เจ้าของกิจการการเดินเรือ เป็นต้น ไม่ทำตามระเบียบที่รัฐบาลได้กำหนดไว้
    ๒.๕.การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองสมณะโดยธรรม
    รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองสมณะที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตด้วย
    หน้าที่ในการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองสมณะตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น มีไม่มากนัก ในอรรถกถากล่าวแต่เพียงว่า ให้พระเจ้าแผ่นดิน ถวายเครื่องบริขาร เป็นต้นว่า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เท่านั้น ทั้งนี้ น่าจะเป็นว่าชีวิตของสมณะไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครมากนัก และเป็นผู้ทำความดีเป็นส่วนมาก ดังนั้น จึงไม่ต้องมีเรื่องกวนใจผู้ใดให้ต้องมากังวล ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวไว้เป็นความรู้เพิ่มเติม
    การรักษาสมณะด้วยความอดทน ในประเทศไทยมีนักบวชอยู่หลายศาสนา แต่ละศาสนาก็มีนักบวชหลายนิกาย เหตุการณ์จะเป็นว่ารัฐบาลนับถือศาสนาหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่นับถือเหมือนรัฐบาล แต่บางส่วนนับถือศาสนาไม่เหมือนกับรัฐบาล หรือแม้รัฐบาลเองก็เหมือนกัน นับถือศาสนาเดียวกัน อาจจะต่างนิกายกันก็ได้ เมื่อเป็นดังนี้ เหตุการณ์อาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน ระหว่างศาสนา และระหว่างนิกาย ดังนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความอดทน อาจจะหาทางทำลายศาสนาหรือนิกายที่ตัวไม่นับถือก็ได้ มีตัวอย่างชี้ให้เห็นในเรื่องนี้ เช่น ปธน. โงดินห์เดียมแห่งเวียดนามใต้ ซึ่งนับถือคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาที่ชนส่วนน้อยของประเทศนับถือ หาทางกลั่นแกล้งนักบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือ จนพระสงฆ์เวียดนามใต้ต้องออกมาประท้วงด้วยการเผาตัวเองมรณภาพ สุดท้ายเวรกรรมตามทัน โงดินห์เดียมก็ถูกสังหาร เรื่องนี้เกิดมาหลายสิบปีแล้ว สมัยที่เวียดนามใต้ยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (แค่ชื่อ) ยังไม่โดนเวียดนามเหนือยึดและเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิตส์ อีกกรณีหนึ่ง คือ รัฐบาลตาลีบันแห่งอัฟกานิสถาน ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ทำการยิงพระพุทธรูปในประเทศตัวเอง สุดท้ายเวรกรรมตามทัน โดนอเมริกาเข้าถล่ม เป็นต้น นี่คือ ตัวอย่างที่ไม่ประพฤติในจักกวัตติวัตรข้อที่ว่าด้วยการรักษาสมณะด้วยความอดทน
    การรักษาสมณะด้วยการไม่เบียดเบียน ทุกวันนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลไทย สร้างความเดือดร้อนให้สมณะในพระพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่น จะมีก็แต่กรณีที่เข้าใจผิดว่าพระบางรูปว่าทำผิดพระธรรมวินัยและจะจับท่านสึก
    เมื่อเมืองไทยไม่มีตัวอย่างในเรื่องนี้ จึงจะขอยกตัวอย่างประเทศพม่า ปี ๒๕๓๓ รัฐบาลพม่าสร้างความเดือดร้อนให้กับพระอย่างหนัก อันเนื่องมาจากรัฐบาลทหารพม่า ไม่ยอมมอบอำนาจการปกครองให้แก่ผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกเข้ามา ประชาชนชาวพม่าลุกฮือขึ้นต่อสู้ ขอให้รัฐบาลมอบการปกครองให้พลเรือน แต่รัฐบาลทหารกลับไปยิงเขา ประชาชนตาย พระสงฆ์ก็มรณภาพหลายร้อยคน คณะสงฆ์พม่าเห็นว่ารัฐบาลทำกับพระและประชาชนรุนแรงเกินไป ทางคณะสงฆ์จึงใช้วิธีคว่ำบาตรรัฐบาลพม่าเสีย
    ก็หลักการคว่ำบาตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ให้คณะสงฆ์ทำแก่ใครก็ได้ ที่ปฏิบัติมิชอบต่อพระรัตนตรัย วิธีการคว่ำบาตรก็คือ ไม่ยอมรับนิมนต์ไปในงานบุญที่ผู้ถูกคว่ำบาตรนิมนต์ สำหรับคณะสงฆ์พม่า เมื่อท่านคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า ท่านก็ไม่ยอมรับนิมนต์ทหารหรือรัฐบาลทหารไปฉันอาหารที่บ้านของพวกนั้น นี่คือ วิธีคว่ำบาตรของพระท่าน
    ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า เห็นว่าการที่คณะสงฆ์ทำอย่างนั้น เท่ากับเป็นการแสดงจุดยืนร่วมกับประชาชน ทหารไม่ชอบ ดังนั้น จึงประกาศให้คณะสงฆ์ยุติการคว่ำบาตรรัฐบาลภายในกำหนด หากพ้นกำหนดแล้ว ขืนไม่รับนิมนต์อีก จะจับไปขัง เมื่อรัฐบาลทหารพม่ายื่นคำขาดดังนั้น คณะสงฆ์จึงต้องยอมเลิกการคว่ำบาตร ทำเอาพระเดือดร้อนไปทั่วเมืองมัณฑะเล อันเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของพม่า
    นี่คือตัวอย่าง การที่รัฐบาลรักษาสมณะด้วยการเบียดเบียนให้เดือดร้อน ผิดหลักจักกวัตติวัตร ของผู้ปกครองที่ยึดถือธรรมเป็นธงชัย
    การรักษาสมณะด้วยเมตตาและเอ็นดู ข้อนี้คงต้องเปลี่ยนเป็นว่ารัฐบาลต้องทำการรักษาสมณะด้วยความเคารพนับถือ ในฐานะส่วนตัว นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แต่ละคนมีความเคารพพระภิกษุอยู่แล้ว แต่ในทางราชการและในทางรัฐพิธี ผู้ปกครองเหล่านี้ยังสวมรองเท้าเข้าพระอุโบสถต่อหน้าคณะสงฆ์อยู่ ดูเป็นภาพที่ไม่งามนัก จึงขอให้นักปกครองที่ใฝ่ธรรมพิจารณา
    การป้องกันสมณะโดยธรรม โดยข้อเท็จจริงแล้ว สมณะในพระพุทธศาสนา มีสมบัติไม่ได้ นอกจากสมบัติส่วนรวมที่เรียกว่า ศาสนสมบัติ ดังนั้น การป้องกันทรัพย์สมบัติของสมณะนั้น หมายถึง การป้องกันทรัพย์ที่เป็นของส่วนรวม ในเรื่องนี้ ทางรัฐบาลไทย ได้ปฏิบัติอยู่ตามกฏหมายแล้ว ศาสนสมบัติ ไม่ว่าของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นๆ ณัฐบาลไทยเอาใจใส่ป้องกันโดยสม่ำเสมอ
    จะมีปัญหาอยู่บ้างก็ข้าราชการที่เป็นมือเท้าของรัฐบาลนั่นแหละ มักไม่ค่อยจะเอาใจใส่ในการป้องกันทรัพย์สินของทางศาสนา ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ มักมีการขโมยพระพุทธรูปจากวัดต่างๆไปขาย แต่ละวัดเมื่อพระพุทธรูปหรือศาสนสมบัติอื่นๆถูกขโมยไป ก็ไปแจ้งความที่โรงพัก ทางตำรวจก็ลงบันทึกประจำวันแล้วก็เฉยเสีย ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด บางทีทางวัดต้องแจ้งผู้แทนแล้วให้ผู้แทนกระซิบรัฐมนตรีมหาดไทย จากนั้นรัฐมนตรีมหาดไทย ก็สั่งการมายังโรงพักที่ไม่สนใจคดีของพระ เมื่อนั้นแหละการสืบหาคนร้ายขโมยพระพุทธรูปจึงจะคืบหน้า
    อนึ่ง การป้องกันทรัพย์สมบัติของสมณะนั้น มิใช่ว่าจะป้องกันเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ศาสนสมบัติของศาสนาอื่นๆ ทางราชการก็ต้องเอาใจใส่เช่นกัน การป้องกันทรัพย์สมบัติของทุกศาสนาเท่านั้น จึงจะได้ชื่อว่าปฏิบัติในจักกวัตติวัตรข้อนี้
    การคุ้มครองสมณะโดยธรรม การคุ้มครองสมณะ ท่านหมายถึง การคุ้มครองภัยต่างๆ คือ อุปัตติภัย ทุพภิกขภัย โรคภัยและโจรภัย เหมือนกับภัยของประชาชนทั่วไป ในเรื่องนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกประเทศก็ปฏิบัติกันอยู่ เพราะสมณะก็จัดเป็นประชาชนเหล่าหนึ่ง เมื่อเป็นประชาชน ผู้ปกครองคือรัฐบาล ก็ต้องคุ้มครองภัยต่างๆ เหมือนประชาชนอื่นๆ
    สำหรับเมืองไทย เพราะเหตุที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ รัฐบาลก็เป็นชาวพุทธ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเป็นพุทธมามกะ ดังนั้น นอกจากคุ้มครองภัยต่างๆให้ท่านเหมือนประชาชนทั่วไปแล้ว การคุ้มครองภัยบางชนิดยังจัดแจงให้เป็นพิเศษอีก เช่น โรคภัย ทางรัฐบาลได้ตั้งโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้น เพื่อทำการบำบัดภัยจากโรคให้ท่าน การกระทำของรัฐบาลดังว่ามานี้ เป็นการปฏิบัติในจักกวัตติวัตรข้อที่ว่าด้วยการคุ้มครองสมณะที่เป็นธรรม อย่างเห็นได้ชัดที่สุด
    มีข้อที่น่าสังเกตว่า ในสมัยราชาธิปไตยนั้น พระเจ้าแผ่นดินมักจะสร้างวัดถวายพระเป็นการคุ้มครองภัยอย่างหนึ่ง แต่พอมาถึงสมัยประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งดูเหมือนจะไม่มีการสร้างวัดถวายพระเลย จะมีอยู่บ้างก็เฉพาะในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งสมัยนั้นรัฐบาลมีมติให้สร้างวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน เพื่อรวมพระมหานิกายกับพระธรรมยุตให้เป็นนิกายเดียวกัน แต่ก็รวมไม่สำเร็จ นอกจากรัฐบาลจอมพล ป. จะสร้างวัดพระศรีมหาธาตุแล้ว ยังลงมติให้สร้างวัดไทยพุทธคยาประเทศอินเดีย และสร้างพุทธมณฑลที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นที่ระลึกในสมัยกึ่งพุทธกาลอีกด้วย ลักษระนี้ก็จัดเป็นการคุ้มครองสมณะโดยธรรมอย่างหนึ่ง
    ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองสมณะโดยธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นับเป็นการประพฤติในจักกวัตติวัตรข้อหนึ่ง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มีนาคม 2013
  5. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    ๒.๖.การรักษา ป้องกัน และคุ้มครองเนื้อนกโดยธรรม
    เนื่องจากการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองเนื้อนก มิได้มีการปฏิบัติกันอยู่ใกล้ชิดเหมือนคน ดังนั้น จึงขอกล่าวการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองเนื้อนก รวมกันไป เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นว่า โลกนี้นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่มนุษย์แล้ว ยังมีหมู่สัตว์อื่นๆอาศัยอยู่อีกมากมาย เช่น กวาง เก้ง เสือ แมว นก เป็นต้น สัตว์ทั้งหมดนี้ พระพุทธองค์ทรงรวมใช้คำว่า เนื้อนก สัตว์ที่บินไม่ได้ ทรงเรียกว่าเนื้อ ส่วนสัตว์ที่บินได้ ทรงเรียกว่า นก
    สัตว์เหล่านี้ มีเนื้อที่มนุษย์นิยมกินเป็นอาหาร เมื่อมนุษย์ชอบกิน ก็มีคนล่าสัตว์เหล่านี้ เอาเนื้อไปขาย สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าเนื้อหรือนก ก็ย่อมจะมีชีวิตอยู่อย่างหวาดหวั่น ไม่รู้จะถูกมนุษย์ล่าเอาเนื้อไปกินเมื่อไร ผู้ปกครองบ้านเมืองจึงต้องให้ความอบอุ่นแก่สัตว์ทั้งหลาย การให้ความอบอุ่นก็คือ อย่าให้ใครมาทำลายชีวิตของมัน
    ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงปฏิบัติในจักกวัตติวัตรข้อนี้อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ทรงห้ามการทำลายชีวิตสัตว์ และยังตั้งโรงพยาบาลรักษาโรคสัตว์อีกด้วย นับเป็นการที่ทรงมีพระเมตตาต่อสัตว์ผู้ไม่มีหนทางสู้มนุษย์เป็นอย่างยิ่ง
    ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ คือ จักกวัตติวัตรข้อที่ ๒ ว่าด้วยการรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง หมู่ญาติ มิตรอำมาตย์ พาหนะทหาร ประชาชน สมณพราหมณ์ และเนื้อนก ซึ่งเป็นปฏิปทาที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองแผ่นดินด้วยประการฉะนี้

    ๓.ไม่ให้อธรรมเกิดขึ้นในแว่นแคว้น
    ในเรื่องเดียวกันนี้ ของหัวข้อจักกวัตติวัตรกับการปกครองแบบราชาธิปไตย ได้กล่าวถึงการที่พระราชาทรงปล่อยให้อธรรมเกิดขึ้นในแว่นแคว้นว่า ทรงปล่อยให้ข้าราชการของพระองค์ขูดรีดภาษี จนประชาชนเกิดความหวาดกลัว และผลจากความหวาดกลัวนั้น ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากมาย เช่น คนถูกหนามตำก็เป็นเพราะพระราชา หญิงสาวที่หาผัวไม่ได้ก็เป็นเพราะพระราชา เป็นต้น
    สำหรับทุกวันนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้ อาจจะเป็นเพราะเจตนา หรือไม่เจตนาก็ได้
    การที่รัฐบาลปล่อยให้อธรรมเกิดขึ้นโดยเจตนา ก็เช่น เรื่องตำรวจ ทุกวันนี้คนไทยต้องซื้อสินค้าแพง เพราะตำรวจเป็นสาเหตุหนึ่ง เป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะปลูกบ้านในกรุงเทพ ขั้นแรกต้องถมดินในที่ที่จะปลูกบ้านก่อน การถมดินเราต้องซื้อจากเจ้าของรถดัมพ์ เมื่อเจ้าของรถดัมพ์บรรทุกดินมาจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพ ต้องผ่านท้องที่หลายท้องที่ ตำรวจเจ้าของท้องที่จะเก็บค่าผ่านทางเป็นรายเที่ยวบ้าง เป็นรายเดือนบ้าง เจ้าของรถเมื่อต้องเสียเงินให้ตำรวจ ก็ต้องมาคิดเงินเพิ่มที่คนซื้อดิน นี่คือความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลปล่อยปะละเลยให้เกิดขึ้น
    เด็กบ้านนอกบางคนไม่มีหนังสือเรียน เพราะตำรวจ เช่น เด็กคนหนึ่งขอเงินพ่อแม่ซื้อหนังสือเรียน แต่พ่อแม่ไม่มีให้ บอกว่ารอไปก่อน พอมีแล้วจะให้ ถามว่าทำไมพ่อแม่ไม่มีเงิน ตอบว่าที่พ่อแม่ไม่มีเงิน ก็เพราะนำเงินที่มีอยู่เล็กน้อยนั้นไปซื้อสลากกินรวบ เพื่อหวังจะได้เงินมากแต่เมื่อไม่มีโชคก็ไม่ได้เงิน แถมต้องเสียเงินไปอีก ถามว่าแล้วเกี่ยวกับตำรวจอย่างไร ตอบว่าสลากกินรวบนั้นผิดกฏหมาย กฏหมายกำหนดหน้าที่ให้ตำรวจเป็นคนปราบ รัฐบาลก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฏหมาย เพราะถ้าขืนมีสลากกินรวบอยู่ ประชาชนจะมัวเมาเล่นจนไม่มีเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่ตำรวจก็ไม่ทำตามหน้าที่ ปล่อยให้เล่นกันตามสบาย ถามว่า ทำไมตำรวจปล่อยให้เล่นกันตามสบาย ก็เพราะว่า เจ้ามือสลากกินรวบให้เงินกับตำรวจเป็นรายเดือน เมื่อตำรวจปล่อยอย่างนี้ สลากกินรวบก็ยังมีอยู่ เมื่อมีสลากกินรวบ พ่อแม่ของเด็กที่ยากจนก็หวังรวยลมๆแล้งๆ พากันซื้อสลากกินรวบ เมื่อนำเงินไปซื้อสลากกินรวบเสีย เมื่อลูกมาขอเงินซื้อหนังสือ ก็เลยไม่ได้ไป นี่คือ ตำรวจเป็นต้นเหตุให้เด็กไม่มีหนังสือเรียน แต่ต้นเหตุจริงๆคือรัฐบาลมากกว่า ที่ไม่ยอมกำกับดูแลตำรวจที่เป็นข้าราชการให้ดี ปล่อยให้กินสินบาทคาดสินบน จนชาวบ้านเดือดร้อน
    สรุปแล้วสารพัดสิ่งที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมากมายหรือบางครั้งขาดแคลนก็เพราะตำรวจเป็นต้นเหตุ นี่คือลักษณะของความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลปล่อยให้เกิดขึ้น รัฐบาลจะแก้ไขเรื่องนี้ก็ต้องจริงใจในการลงโทษตำรวจอย่างไม่ไว้หน้า การทำลายสิ่งอธรรมที่เกิดในแผ่นดินอย่างจริงใจ คือจักกวัตติวัตรข้อนี้

    ๔.การสงเคราะห์คนจนด้วยทรัพย์
    การสงเคราะห์คนจนด้วยทรัพย์ ได้เคยกล่าวมาแล้ว

    ๕.เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้มีศีล
    ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องเข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้มีศีลธรรม แล้วถามท่านถึงข้อปฏิบัติที่จะเป็นคุณประโยชน์ต่อการปกครอง และคุณประโยชน์ต่อประชาชน
    ในสมัยราชาธิปไตย พระราชาทรงประพฤติในจักกวัตติวัตรข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงทำการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยประการต่างๆ นั่นคือ ทรงทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองสมณพราหมณ์โดยธรรม ในส่วนของการเข้าหาสมณพราหมณ์เพื่อทรงไถ่ถามข้อปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการปกครองและประชาชน พระราชาก็ทรงถามปัญหาต่างๆมากมาย คณะสงฆ์ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประธานก็ตอบคำถามเหล่านั้น เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทราบ และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นหลักปฏิบัติ
    พอมาถึงสมัยประชาธิปไตย ผู้ปกครอง คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มิได้ประพฤติในจักกวัตติวัตรข้อนี้เท่าใดนัก จะเห็นได้เช่นในเรื่องการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการปฏิบัติในหน้าที่ประจำวันของกรมการศาสนา รัฐบาลมิได้เคยมีนโยบายอะไรเป็นพิเศษ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆเลย (ยกเว้นกรณีขอให้พระพุทะศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งผมไม่ค่อยจะเห็นด้วย) เพียงปล่อยให้กรมการศาสนาดำเนินการไป ภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสมัยใหม่ยังทำการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองสมณพราหมณ์โดยธรรมอยู่
    หากถามว่า รัฐบาลสมัยใหม่ได้เข้าไปหาสมณพราหมณ์เพื่อเรียนถามข้อประพฤติที่เป็นประโยชน์ต่อการปกครอง และประโยชน์ต่อประชาชน ดูเหมือนว่ารัฐบาลสมัยใหม่มิได้กระทำเลย รัฐบาลไม่เคยเข้าไปหาพระอริยสงฆ์ แล้วเรียนถามท่านว่า จะปกครองวิธีไหนจึงจะเกิดความสุขในหมู่มวลประชา จะปกครองแบบไหน ความผันผวนทางธรรมชาติจึงจะไม่เกิดขึ้น หรือจะปกครองแบบไหนฝนฟ้าจึงจะตกต้องตามฤดูกาล
    รัฐบาลส่วนใหญ่จะถามนักวิชาการ ซึ่งขอบอกเลยว่า พวกนี้ต่อให้ฉลาดแค่ไหนก็เทียบพระอริยสงฆ์ไม่ได้ เพราะพวกนี้อ่านแต่ตำรา เลยรู้อย่างเดียว แต่ไม่เห็น ส่วนพระอริยสงฆ์นั้น ปฏิบัติธรรม จนหยั่งรู้ ทั้งรู้ทั้งเห็นความจริงของจักรวาล แต่รัฐบาลสมัยใหม่กลับไม่ขยันเข้าไปถามท่าน
    อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไม่เข้าไปหาพระ ยังไม่ร้ายเท่ากับการที่รัฐบาล กีดกันประชาชนออกจากพระ ออกจากวัด ทำให้ประชาชนถอยห่างจากการศึกษาหาความรู้ทางศีลธรรม แถมยังยัดเยียดแนวคิดแบบพระสัทธรรมปฏิรูปให้กับประชาชนอีก
    สมัยก่อน วัดเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของสังคม ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและประชาชนต่างก็ต้องไปศึกษาที่วัด พระสงฆ์เป็นผู้สอน โดยเอาวิชาความรู้ในพระพุทธศาสนามาสอน คนที่ได้รับการศึกษาจากวัดในสมัยก่อน จึงกลัวบาปกลัวกรรม ศีลธรรมจึงอยู่กับหัวใจของประชาชนเป็นส่วนมาก
    แต่ในยุคนี้ เมื่อมีการนำหลักสูตร “สมัยใหม่” มาให้เด็กเรียน เอาใบปริญญามาใช้กำหนดค่าของคน โรงเรียนก็เข้ามาแทนที่วัดในด้านการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชน บางคนอยากประสงค์จะไปเรียนที่วัดแต่ก็ไปไม่ได้ เพราะวัดไม่มีใบปริญญาให้ เลยไปสมัครงานไม่ได้ ก็เลยต้องไปเรียนที่โรงเรียน เงินก็เสีย แถมบางโรงเรียนปลูกฝังให้เด็กยอมตายเพื่อโรงเรียน รุ่นพี่บังคับให้รุ่นน้องไปตีต่อยเด็กโรงเรียนอื่น ไม่งั้นจะโดนอัดเสียเอง
    การเรียนการสอนที่โรงเรียน ถึงแม้จะมีหลักสูตรเกี่ยวกับศาสนาให้เด็กเรียน แต่น้อยโรงเรียนจริงๆที่จะฝึกให้เด็กลงมือปฏิบัติดู หลักสูตรทั่วไปมีแต่การสอนหลักธรรม แต่ไม่เน้นสอนปฏิบัติธรรม ทั้งๆที่การปฏิบัติธรรมนั้นสำคัญกว่า ทำให้เด็กละอายต่อบาป ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมได้ดีกว่าการให้เด็กท่องหลักธรรมไปวันๆ
    เมื่อเด็กได้ศึกษาศาสนาพุทธเฉพาะหลักธรรม แต่ไม่ได้ลงมือพิสูจน์ดูด้วยตนเองว่าหลักธรรมมีอยู่จริง เด็กก็จะมองศาสนาว่าเป็นเรื่องลี้ลับ พิสูจน์ไม่ได้ บางคนอาจจะไม่เชื่อศาสนาไปเลย การสอนศาสนาแบบนี้จึงเป็นเรื่องอันตราย ผมคิดว่าถ้าเราอยากจะให้เด็กเชื่อศาสนา เราก็ต้องทำให้เขาเห็นไปเลย ว่าศาสนามีจริง สวรรค์มีจริง นรกมีจริง ชาติหน้ามีจริง ชาติก่อนมีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องให้เด็กปฏิบัติธรรม แค่การปลูกฝังหลักธรรมให้อย่างเดียวไม่พอหรอก
    แต่การให้การศึกษาศาสนาอย่างไม่เต็มร้อยแก่เด็ก ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับการที่นักวิชาการสมัยนี้ หลงใหลแนวคิดมิจฉาทิฏฐินอกศาสนา อย่างแนวคิดวิทยาศาสตร์ตะวันตก ตัวเองหลงเชื่อคนเดียวไม่พอ ยังพยายามยัดเยียดให้เยาวชนเชื่อตาม ทำให้คนที่เขาเชื่อศาสนาอยู่แล้วไขว้เขว
    นักวิชาการทุกวันนี้เอาดีกับแนวคิดศาสตร์ตะวันตกกันเหลือเกิน ยกขึ้นเป็นบรรทัดฐานหลักของสังคม แนวคิดไหนขัดแย้ง ก็หาว่างมงายไปหมด เช่น ศาสนาพุทธบอกว่านรกมีจริง นักวิชาการบางคนก็ค้านว่าไม่มีจริง เพียงเพราะว่าวิทยาศาสตร์ตะวันตกยังพิสูจน์ไม่ได้ (ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็ยังไม่ควรลบหลู่ว่าไม่มีจริงสิ)
    ตัวเองไม่เชื่อคนเดียวไม่พอ ไปสอนเด็กให้ไม่เชื่ออีก
    ผมไม่เห็นด้วยกับการที่ครูอาจารย์ยุคนี้ ไปสอนเด็กว่า นรกไม่มีจริง ผีไม่มีจริง ทั้งๆที่เรื่องแบบนี้ผมยืนยันว่ามีจริงแน่นอนครับ พิสูจน์ได้ด้วย ใครที่พิสูจน์แล้ว จากที่เคยเชื่อวิทยาศาสตร์ จะหันมาเชื่อศาสนา
    ถ้าเป็นครูวิชาอื่น ก็ยังไม่ร้ายเท่ากับ การที่ครูสอนวิชาจริยธรรม สอนเด็กให้ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ หรือพยายามจะนำเอาแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์มาประยุกต์เข้ากับการสอนวิชาศาสนา เอาบรรทัดฐานของวิทยาศาสตร์มาตัดสินเรื่องต่างๆของพระศาสนาว่าจริงหรือไม่ เรื่องไหนขัดแย้งก็พาลหาว่าไม่จริง
    จะสอนศาสนาให้เด็ก ก็สอนให้เต็มร้อยไปเลย สอนไปเลยว่าผีมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง พิสูจน์ได้ สอนไปเลยว่าวิทยาศาสตร์มันก็แค่แนวคิดนอกศาสนา เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่าไปเชื่อมันมาก ให้เชื่อศาสนาแทน
    สอนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึกให้เขานั่งสมาธิด้วย นั่งจนเห็นผีได้ยิ่งดี เขาจะได้เชื่อศาสนา และจะได้ไม่ไปลองของตามบ้านร้างเอาเอง
    นักวิชาการพวกนี้ไม่ยอมมองโลกให้กว้างกว่านี้ พวกนี้ไม่รู้เลยว่า ทุกวันนี้ วิทยาศาสตร์ตะวันตกที่พวกเขาหลงใหลนักหนากำลังเสื่อมในโลกตะวันตกซึ่งเป็นประเทศต้นคิด ทุกวันนี้วงวิชาการตะวันตกยอมรับกันแล้วว่า วิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยมนั้น “ไม่ได้จริงอย่างเต็มร้อยหรอก”
    วิทยาศาสตร์แบบที่นักวิชาการไทยหลงใหลกันนักหนานี้ เรียกว่าวิทยาศาสตร์เก่า หรือวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยม แนวคิดแบบนี้ได้รับอิทธิพลจากนิวตัน แต่พอมาถึงสมัยไอสไตน์ วิทยาศาสตร์แบบนี้ก็ถูกท้าทาย ถ้าไปดูในวงวิชาการตะวันตก จะพบว่าวิทยาศาสตร์แบบเก่านี้กำลังเสื่อม และวงวิชาการตะวันตกก็กำลังปรับเข้าหาวิทยาศาสตร์แผนใหม่ของไอน์สไตน์ อันเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เห็นด้วยกับพระพุทธศาสนา
    ขนาดชาติที่เป็นต้นคิดยังไม่เชื่อ ไม่รู้ทำไมคนไทยไปเชื่อนักหนา ทั้งๆที่เรามีพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นแนวคิดที่จริงแท้ที่สุดในจักรวาลอยู่แล้วแท้ๆ กลับไม่ทุ่มเทค้นคว้า ใครค้นคว้าก็ไปหาว่าเขางมงาย พวกนี้ต้องเจอของจริงถึงจะเชื่อ ผมเองเมื่อก่อนก็เป็นพวกบ้าวิทยาศาตร์ตะวันตก จนคิดทำลายพระพุทธศาสนาเลยด้วยซ้ำ แต่พอมารู้ว่าศาสนามีจริง ผมเลยอุทิศชีวิตที่เหลือเพื่อพระพุทธศาสนา
    ผมเชื่อศาสนาพุทธครับ พระรัตนตรัยคือสรณะสูงสุดของผม ผมเชื่อว่าผีมีจริง ส่วนวิทยาศาสตร์นั้น ผมไม่เชื่อว่ามีจริง หรืออาจจะจริง แต่ก็ไม่จริงเท่าศาสนาพุทธ
    ดร.มนัส โกมณฑาพูดถูก เป็นชาวพุทธก็ต้องเชื่อศาสนาพุทธสิ จะไปเชื่อวิทยาศาสตร์ทำไม
    ทำไมผมถึงเชื่อแบบนี้ ก็เพราะว่าผมพิสูจน์มาแล้ว ถ้าผมยังพิสูจนไม่ได้ ผมก็ไม่เชื่อหรอก
    “ถ้าเชื่อแนวคิดอื่นมากกว่าพระธรรม ก็อย่ามาเรียกตัวเองว่าชาวพุทธ”
    เป็นชาวพุทธ จะเชื่อเรื่องผี เรื่องโลกหน้าแบบก้ำๆกึ่งๆไม่ได้ ต้องเชื่ออย่างเต็มร้อยครับ
    ผมเห็นด้วยกับ ดร.มนัส อีกรอบ ที่บอกว่า เพราะไม่เชื่อศาสนากัน ไปเชื่อวิทยาศาสตร์ สังคมถึงได้วุ่นวายแบบนี้ (ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขานะ แค่เคยเข้าไปอ่านบล็อคของเขา)
    มีนักวิชาการสมัยใหม่อยู่คนหนึ่ง อยู่ ม.ราม เขียนตำราให้เด็กอ่าน ว่านรกสวรรค์ไม่มีจริง ปรามาสคนที่เคยเห็นนรกว่าเซลล์สมองทำให้เห็นภาพแบบนั้น (ถ้าไปอ่านดูดีๆ จะพบว่าเขียนแบบพยายามกันไม่ให้คนไปปฏิบัติธรรมด้วย) ไม่รู้ว่าคนมิจฉาทิฏฐิแบบนี้รัฐบาลปล่อยให้แต่งตำราให้เด็กอ่านได้อย่างไร
    การที่นักวิชาการ หรือนักการเมืองสมัยนี้กล้ากำหนดหลักสูตรวิชาศาสนาในลักษณะนี้ สาเหตุหนึ่งก็เพราะพวกนี้ สมัยเรียน คงจะมองว่าศาสนาเป็นเพียงความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นความจริง ทำให้เขามองไม่เห็นประโยชน์ที่แท้จริงของศาสนา มองศาสนาว่าเป็นเพียงหลักความเชื่องมงายที่มีไว้หลอกคนเท่านั้น ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ศาสนาต่างหากที่จริง วิทยาศาสตร์ต่างหากที่งมงาย
    ในเมื่อตอนเด็กมองไม่เห็นประโยชน์ของศาสนา เมื่อมีอำนาจก็เลยพยายามลดบทบาทของศาสนา เพราะมองไม่เห็นประโยชน์นั่นเอง
    ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะรื้อระบบการศึกษาใหม่หมดเลย ให้เด็กไปเรียนอยู่วัดเป็นส่วนใหญ่ โรงเรียนจะกลายเป็นแค่ที่เรียนพิเศษของเด็กเท่านั้น สอนเด็กได้นิดๆหน่อยๆ เฉพาะวิชาที่วัดสอนให้เด็กไม่ได้ เช่น วิทย์คณิต นอกนั้นเด็กต้องไปเรียนจากพระ
    ประวัติศาสตร์ของชาติเป็นอย่างไร จักรวาลที่แท้จริงเป็นอย่างไร เด็กนั่งสมาธิดูก็รู้ เห็นของจริง
    นักการเมือง นักวิชาการ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาที่หันไปเชื่อวิทยาศาสตร์ จะกลับใจมาเชื่อศาสนากันตอนนี้ก็ยังไม่สายครับ
    หากไม่เชื่อ ก็ขออย่าได้มองว่าการสอนศาสนาไม่มีประโยชน์ อย่างน้อยๆไม่เชื่อก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาทำลาย
    สรุปว่า รัฐบาลสมัยใหม่ไม่ประพฤติในจักกวัตติวัตรข้อนี้ แล้วผลที่เกิดจากการที่รัฐบาลไม่ใช้ธรรมะปกครองบ้านเมือง ก็คือประชาชนถอยห่างจากศีลธรรม ทุกวันนี้ทั้งรัฐบาล ข้าราชการ ประชาชน ต่างมองว่าการโกงกินเป็นเรื่องธรรมดา ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยอมให้รัฐบาลโกงกินได้หากทำให้ชาติเจริญ (โกงกินน่ะ มีแต่จะพาชาติล่มจม ไม่มีหรอกโกงแล้วพาชาติเจริญ) และพอตัวเองมีโอกาสโกงกับเขาบ้าง ก็โกงกันทันที
    เรื่องแบบนี้ต้องแก้ไข ปล่อยไว้ไม่ได้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มีนาคม 2013
  6. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    ทศพิศราชธรรม 10 ประการ​

    พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ในมหาหังสชาดก เมื่อพระเจ้ากาสีทรงสั่งให้พรานไปจับพระยาหงส์ทองชื่อ ธตรฐ พรานก็วางบ่วงจับพระยาหงส์ หงส์ตัวอื่นหนีไปหมด เหลือแต่สุมุขหงส์ ซึ่งเป็นเสนาบดี พรานแปลกใจที่หงส์พูดภาษาคนได้ จึงเชิญหงส์ทั้งสองไปถวายพระราชา พระราชาก็ทรงปลอบโยนว่าไม่ต้องกลัว ที่ให้พรานจับมาเพราะต้องการสนทนาธรรมกับพระยาหงส์ที่มีชื่อว่าทรงธรรม พญาหงส์ธตรฐก็ถามพระเจ้ากาสีว่า พระองค์มีโรคาพาธหรือไม่ พระเจ้ากาสีทรงตอบว่า ไม่มี และเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม พระยาหงส์ก็ถามว่า ทรงกลัวตายหรือไม่ พระเจ้ากาสีก็ทรงตอบว่าไม่กลัว เพราะพระองค์ทรงมีธรรมสิบประการ คือทศพิศราชธรรม
    มหาหังสชาดก ในส่วนที่เกี่ยวกับทศพิศราชธรรม มีความย่อดังนี้
    “พระยาหงส์ธตรฐผู้ฉลาด เห็นโภชนะอันเลิศที่เขานำมาให้ อันพระเจ้ากาสี ประทานส่งไปจึงได้ถามธรรมเนียมเครื่องปฏิสันถารในกาลเป็นลำดับ นั้นว่า พระองค์ไม่มีโรคาพาธแลหรือ ทรงสำราญดีอยู่หรือ ทรงปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ.
    ดูกรพระยาหงส์ เราไม่มีโรคาพาธ อนึ่ง เรามีความสำราญดีและเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม.”
    พระยาหงส์ถามพระราชาว่า พระองค์ไม่มีอาพาธหรือ และปกครองบ้านเมืองด้วยธรรมหรือไม่ พระราชาตอบว่าใช่
    “โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของพระองค์แลหรือ และอำมาตย์เหล่านั้น ไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์แลหรือ.
    โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของเรา.”
    พระยาหงส์ถามว่า ขุนนางอำมาตย์ซื่อสัตย์ต่อพระองค์หรือไม่ พระราชาตอบว่าใช่
    “พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟังมีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของพระองค์แลหรือ.
    พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟังมีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศเป็นไปตามอัธยาศัยของเรา.”
    พระยาหงส์ถามถึงพระมเหสี ว่าเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติหรือไม่ พระราชาตอบว่าใช่
    “พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ทรงปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอแลหรือ.
    เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ.”
    พระยาหงส์ถามว่า พระองค์ไม่ได้เบียดเบียนราษฎร ปกครองบ้านเมืองด้วยความไม่เกรี้ยวกราด ด้วยธรรมะอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ พระราชาตอบว่าใช่
    “พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษแลหรือ พระองค์ไม่ทรงละทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมแลหรือ.
    เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรมละทิ้งอธรรม.”
    พระยาหงส์ถามว่า พระองค์ยำเกรงสัตบุรุษ เว้นจากคนที่เป็นอสัตบุรุษ ไม่ประพฤติคล้อยตามอธรรมใช่หรือไม่ พระราชาตอบว่า เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรมละทิ้งอธรรม
    เพิ่มเติม - สัตบุรุษ ในทางปฏิบัติคือคนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ คือ
    1.เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการคือศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา
    2.ไม่ปรึกษาอะไรที่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
    3.ไม่คิดอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
    4.ไม่พูดอะไรเพือเบียดเบียนตนและผู้อื่น
    5.ไม่ทำอะไรเพือเบียดเบียนตนและผู้อื่น
    6.มีความเห็นชอบ เป็นสัมมาทิฐิ
    7.ให้ทานโดยความเคารพ ไม่ให้แบบทิ้งขว้าง
    เพิ่มเติม 2 - สัปปุริสธรรม 7 ประกอบด้วย
    ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ
    อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล
    อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน
    มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ
    กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล
    ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท
    ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล
    เพิ่มเติม 3 - สัปปุริสทาน หมายถึง ทานของสัตบุรุษ การให้อย่างสัตบุรุษ มีลักษณะสำคัญ 8 อย่างคือ
    1.ให้ของสะอาด
    2.ให้ของประณีต
    3.ให้เหมาะกาล ให้ถูกเวลา
    4.ให้ของสมควร ให้ของที่ควรแก่เขา ซึ่งเขาจะใช้ได้
    5.พิจารณาเลือกให้ ให้ด้วยวิจารณญาณ เลือกของ เลือกคนที่จะให้ ให้เกิดผลเกิดประโยชน์มาก
    6.ให้เนืองนิตย์ ให้ประจำ หรือสม่ำเสมอ
    7.เมื่อให้ ทำจิตผ่องใส
    8.ให้แล้วเบิกบานใจ
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุ อันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้ง แห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ.
    ดูกรพระยาหงส์ เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศล ธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทนและความไม่พิโรธ แต่นั้นปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา”
    พระยาหงส์ถามว่าพระองค์ไม่กลัวตายหรือ พระราชาตอบว่าไม่กลัวเพราะเราตั้งอยู่ในธรรมสิบประการ คือทศพิศราชธรรม



    วิเคราะห์หลักทศพิศราชธรรมในแง่การนำไปใช้​

    ทศพิศราชธรรมสิบประการ มีดังนี้
    ๑. ทาน
    ๒. ศีล
    ๓. การบริจาค
    ๔. ความซื่อตรง
    ๕. ความอ่อนโยน
    ๖. ความเพียร
    ๗. ความไม่โกรธ
    ๘. ความไม่เบียดเบียน
    ๙. ความอดทน
    ๑๐. ความหนักแน่นในธรรม
    ทศพิศราชธรรมเหมาะกับรัฐที่ปกครองในระบอบราชาธิปไตยหรือเผด็จการ ที่ผู้ปกครองคนเดียวมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าใครก็โต้แย้งไม่ได้ หลักธรรมนี้เน้นไปที่ตัวผู้ปกครองเพียงคนเดียวนั้น ให้มีธรรมประจำใจควบคุมพระองค์เอง จะได้ไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จนั้นก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ตรงกันข้าม การใช้อำนาจอันเบ็ดเสร็จนั้นจะเป็นไปอย่างมีธรรม ประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอันใดในระบอบแบบนี้จะได้ไม่เดือดร้อนจากการที่ผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จนั้น
    แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า ผู้ปกครองในระบอบสภาจะใช้หลักธรรมนี้มิได้เลย แต่เนื่องจากระบอบแบบนี้ผู้ปกครองมีเป็น “คณะ” ไม่ใช่มีแค่คนเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ถ้าสมมติว่าทั้งคณะมีอยู่สิบคน มีคนปฏิบัติตามธรรมนี้แค่สองคน เป็นแค่เสียงข้างน้อยในสภา แบบนี้การปกครองโดยธรรมเห็นทีจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าในคณะมีคนปฏิบัติตามธรรมนี้อยู่สักแปดคน หรือทั้งสิบคนเลย จะเป็นอะไรที่ดีมากๆ อาจจะดีกว่าระบอบเผด็จการที่มีผู้ปกครองที่ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้เพียงคนเดียวก็เป็นได้ เพราะคนดีหลายคนช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันปกครองบ้านเมือง ย่อมดีกว่าคนดีเพียงคนเดียว คิดๆแก้ๆ ปัญหาบ้านเมืองอยู่เพียงคนเดียวนั่นเอง



    การนำไปใช้กับการปกครองระบอบราชาธิปไตย​

    ๑.ทาน
    พระเจ้าแผ่นดิน เป็นประมุขของประเทศ มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ประชาชนส่วนไหนมีความทุกข์ พระราชาต้องหาทางกำจัดความทุกข์นั้นให้หมดไป เปรียบเหมือนพ่อที่ต้องดูแลลูกๆ ลูกคนไหนเจ็บป่วย พ่อก็ต้องดูแลรักษา ลูกคนไหนไม่มีตังค์ซื้อข้าว พ่อแม่ก็ต้องให้เงิน ถ้าหากว่าลูกไม่มีเงินซื้อข้าว แต่พ่อแม่ทำเฉย ปล่อยให้ลูกอดอยาก พ่อแม่นั้นก็จะถูกตำหนิในฐานะที่ปล่อยให้ลูกของตนหิวโหย ฉันใดก็ดี พระราชาก็เช่นกัน ต้องมีหน้าที่ดูแลประชาชน ประชาชนคนไหนยากจน พระราชาก็ต้องอนุเคราะห์ให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข การที่พระราชาปล่อยให้ประชาชนอดตาย ถือเป็นความผิด เปรียบเหมือนพ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกของตนอดตายไปต่อหน้า
    ลองคิดดู ว่าถ้าเราพบพ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกอดตาย เพราะเห็นแก่เงินมากกว่าชีวิตลูก เราจะตำหนิพ่อแม่ผู้นั้นมากแค่ไหน พระเจ้าแผ่นดินที่ปล่อยให้ประชาชนต้องตายเพราะความหิวโหย ก็คงจะน่าตำหนิไม่แพ้กัน
    เราอย่าคิดว่าพ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกตายไปต่อหน้านั้นไม่มี และก็อย่าคิดว่าพระราชาที่ปล่อยให้ประชาชนอดตายนั้นไม่มี ทั้งสองกรณีนี้มีตัวอย่างทั้งหมด กรณีพ่อแม่ปล่อยให้ลูกตายนั้น มีอยู่ครอบครัวหนึ่ง ในกรุงเทพนี่แหละ พ่อแม่เป็นคนมีเงินแท้ๆ แต่กลับมีนิสัยตระหนี่ถี่เหนียว ลูกป่วยก็ไม่ยอมพาไปโรงพยาบาล เพราะกลัวเสียเงินมาก เลยรักษาลูกไปตามมีตามเกิด ลูกเจ็บหนักแค่ไหนก็ไม่พาไป จนในที่สุดลูกก็ตาย ต่อมาพอสามีภรรยาคู่นี้ตายไปก็มีคนไปร่วมงานศพไม่เกินสิบคน ทั้งๆที่เป็นคนมีเงิน แต่ก็ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย (ป่านนี้คงไปอยู่ในนรกเรียบร้อย)
    สำหรับเรื่องที่คนจนต้องอดตาย เพราะผู้ปกครองไม่เกื้อกูลตามหน้าที่นั้น ทุกวันนี้ ระบอบการปกครองทั่วโลก ได้กำหนดให้อำนาจในการกำหนดนโยบายบริหารแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ถูกเปลี่ยนมือจากพระราชาไปสู่ประชาชนแล้ว พระราชาทรงมีฐานะในทางสัญลักษณ์เท่านั้น คนที่จะมีอำนาจบริหารหรือแก้ไขปัญหาของประเทศจริงๆก็คือรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา ในกรณีนี้ความรับผิดชอบปัญหาเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมดจึงอยู่ที่รัฐบาล พระราชาไม่เกี่ยว ถ้าเกิดปัญหาต้องโทษรัฐบาล ไม่ใช่พระราชา
    แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เปลี่ยนระบอบก็แล้ว ปัญหาคนไม่มีจะกินจนอดตายก็ยังมีอยู่ ซึ่งปัญหานี้มันมีมาทุกยุคทุกสมัยนั่นแหละ ไม่ว่าราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย จะต้องมีคนส่วนหนึ่งที่ตายเพราะความยากจน อันมีสาเหตุมาจากการไม่เหลียวแลของพระราชาหรือรัฐบาล
    ตัวอย่างเช่น มีครอบครัวยากจนครอบครัวหนึ่ง ลูกสาวปรารถนาจะเรียน พ่อแม่ก็พยายามส่งเสีย นานเข้าก็หาเงินส่งเสียมิได้ ไปยืมใครก็ไม่ได้ เพราะไปกู้เขาจนเขาไม่ให้กู้แล้ว ลูกสาวก็มาเร่งพ่อเอาค่าเทอมมาให้อีก เมื่อพ่อหมดหนทาง ก็เกิดความคิดว่า ตายหนีความรับผิดชอบดีกว่า ถึงแม้ว่าคราวนี้จะแก้ปัญหานี้ได้ แต่คราวหน้าถ้าเกิดปัญหาแบบนี้อีกตนจะแก้ยังไง จะบอกให้ลูกออกจากโรงเรียนก็สงสาร ถ้าปล่อยให้เรียนต่อ พ่อก็ต้องมาเจอปัญหาไม่มีค่าเทอมส่งลูก ฆ่าตัวตายดีกว่า และแล้วเขาก็ฆ่าตัวตายด้วยวิธีการเอาไฟฟ้าช็อตตัวเอง นี่คืตัวอย่างที่ผู้ปกครองปล่อยให้ประชาชนต้องตายไปเพราะความยากจน หากว่าเป็นสมัยราชาธิปไตย ถือเป็นบาปของพระราชา พระราชาต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นสมัยประชาธิปไตย เป็นบาปของรัฐบาล รัฐบาลต้องรับผิดชอบปัญหานี้ให้ได้
    ตัวอย่างที่สอง ครอบครัวหนึ่งเป็นคนยากจน ดิ้นรนเลี้ยงปากท้องด้วยความยากลำบาก ทั้งคู่แยกกันไปหางานทำ แต่กลับหาไม่ได้ ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็ไม่มีข้าว ถ้าไม่ขอเขากินก็คืออด สองคนนี้ไม่ยอมเป็นขโมย ยอมเป็นขอทานดีกว่า แล้วก็พยายามหางานทำไปเรื่อยๆ พอไม่ได้งานนานๆเข้าก็ทนไม่ไหว สามีคับแค้นใจมาก ไปกระโดดสะพานฆ่าตัวตาย แต่มีคนมาช่วยไว้ ต่อมาก็มีคนมีเงินมาช่วยเหลือครอบครัวนี้ ถามว่าเป็นหน้าที่ของคนมีเงินนั่นหรือที่ต้องช่วยเหลือคนจน เปล่าเลย เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง(แต่มันไม่ยอมช่วย) คนมีเงินเขาช่วยก็เป็นความดีของเขา รัฐบาลไม่ช่วยก็เป็นบาปของรัฐบาล
    ปัญหาคนยากจน จนต้องอดตายนี้ มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยราชาธิปไตย เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า ผู้ปกครองจะต้องมีทศพิศราชธรรมข้อแรกคือการให้ทาน เพราะเหตุว่า ในประเทศหนึ่งๆย่อมมีคนจนมากกว่าคนรวย พระราชาต้องรู้จักการสละทรัพย์ให้เป็นทานแก่คนประเภทนี้ พระราชาที่ปฏิบัติตามราชธรรมข้อนี้ มักจะตั้งโรงทานไว้สี่มุมเมือง เพื่อให้คนยากจนได้พึ่งพาอาศัย ไม่ต้องมานั่งวิตกว่า วันนี้จะไปกินอะไรที่ไหน
    ถ้าเป็นรัฐบาลสมัยใหม่ จะสามารถปฏิบัติธรรมข้อนี้ได้ โดยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ กระจายรายได้ สร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ ให้คนมีงานทำกันถ้วนหน้า บังคับให้คนรวยช่วยคนจนด้วยการเก็บภาษีแล้วนำไปจ่ายแจกคนจน จัดตั้งกองทุน รัฐสวัสดิการ สำหรับช่วยเหลือคนยากจน ได้มากู้ยืมไปใช้ โดยที่การใช้คืนนั้นเอื้อประโยชน์ต่อคนจน เช่น ใช้การผ่อนผันทีละนิดในการใช้คืน เงินที่นำมาลงนี้ อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเงินหลวงเท่านั้น แต่เงินใช้ส่วนตัวของผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็ควรสละ ถ้าผู้ปกครองต้องยากจน แต่ประชาชนร่ำรวยกันหมด คงจะเท่ห์น่าดู แต่ถ้ารัฐบาลรวย แต่ประชาชนยังจนกันถ้วนหน้า มันแสดงถึงความไม่รับผิดชอบของรัฐบาล และอาจแสดงไปถึง การที่รัฐบาลไม่มีราชธรรมข้อแรก แสดงถึงความเป็นอธรรมิกราชนั่นเอง

    ๒.ศีล
    ศีลของพระราชาก็เหมือนกับศีลของปุถุชนทั่วไปคือศีลห้า เพราะถ้าผู้ปกครองไม่มีศีล ก็จะไม่ผลักดันประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีล บ้านเมืองก็จะไร้ศีลธรรม
    อีกอย่าง ตำแหน่งพระราชาเป็นประมุขของประเทศ หากไม่ตั้งตนอยู่ในศีลแล้ว ก็จะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน เช่น ฆ่าประชาชน ปล้น รีดไถประชาชน ฉุดลูกเมียคนอื่นมาเป็นนางบำเรอ พูดโกหกประชาชน เสพสุรายาเมาเสียการเสียงานบ้านเมือง
    ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศล เกิดความรักหญิงชาวบ้านผู้หนึ่ง จึงเรียกคนสนิทไปสืบดูว่านางมีสามีหรือยัง ถ้ายังก็จะนำนางมาเป็นสนมเลยทีเดียว แต่ถ้าหากมีสามีแล้วก็สืบให้รู้ว่าสามีของนางชื่ออะไร
    เมื่อราชบุรุษไปสืบ ก็พบว่านางมีสามีแล้ว ท้าวเธอผิดหวังอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถตัดความรักหญิงคนนั้นได้ แต่ด้วยความที่ตนมีอำนาจ จึงอยากจะใช้อำนาจของตนช่วงชิงนางมาเป็นของตน โดยมิได้คำนึงถึงศีลธรรมแต่ประการใด ท้าวเธอจึงวางอุบายเชิญสามีของนางมาทำงานในวัง เพื่อจะได้จับผิดเขาเมื่อมาทำงานในวังแล้ว เมื่อเขามาทำงานในวัง ท้าวเธอก็จับผิดเขาจนได้ ทรงลงอาญาให้เขาไปนำดินสีอรุณที่แม่น้ำคงคามาถวายให้ได้ภายในหนึ่งวัน หากไม่ได้ก็จะประหารเสีย (มีพระประสงค์ว่า เมื่อเขาถูกประหารแล้ว พระองค์จะได้ยึดเมียของเขา) แต่ก็ยังเกรงว่าชายผู้นี้อาจนำดินสีอรุณมาได้จริงๆ จึงสั่งให้ปิดประตูเมืองก่อนกำหนดเล็กน้อย นี่คือการมีอำนาจแต่ไม่มีศีล
    อย่างไรก็ตาม สามีก็นำดินสีอรุณมาได้ เมื่อเห็นประตูเมืองปิด เขาจึงขว้างดินเข้าไปในเมือง เพื่อให้ชาวเมืองเป็นพยานว่าเขานำดินมาได้ และคิดว่าตนคงไม่รอด แต่ก็ยังไม่ยอมตายง่ายๆ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงใช้พุทธานุภาพบันดาลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ยินเสียงสัตว์นรก
    ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ยินเสียงสัตว์นรกพูดคำว่า ทุ สะ นะ โส ก็เกิดความกลัว เพราะเหตุที่ได้ทำความชั่ว คือ ตั้งพระทัยจะฆ่าพสกนิกรของพระองค์เอง เพื่อแย่งเอาเมียเขา ความรักใคร่หญิงนางนั้นหมดไปสิ้น เหลือเพียงความกลัวว่าบาปกรรมจะตามมาทำลายล้าง รุ่งเช้าท้าวเธอจึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกว่า เสียงนั้นเป็นเสียงของสัตว์นรก ที่ต้องตกนรกเพราะผิดเมียผู้อื่น เหมือนที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังประพฤติอยู่ขณะนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เกิดความกลัวในกรรมที่จะประพฤติผิดเมียคนอื่น และก็ตั้งพระทัยจะไม่ประพฤติอย่างนั้นอีกต่อไป ส่วนบุรุษสามีนั้น ได้บรรลุโสดาบัน
    อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ พระเจ้าเอกทัศน์ ผู้ทุศีล ประพฤติพาล ลุ่มหลงสุรานารี ขนาดจะยิงปืนใหญ่ทีก็ยังต้องขออนุญาตก่อน จนสุดท้ายบ้านเมืองก็พินาศวอดวายนั่นไง

    ๓.บริจาคะ การเสียสละ
    ข้อหนึ่งนั้น แนะพระราชาให้ทาน เพื่อสงเคาระห์คนยากจน หรืออาจจะเป็นการถวายทานแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล ส่วนราชธรรมข้อสามนี้ แนะนำให้พระราชาทำการบริจาค ซึ่งมิได้หมายถึงการบริจาคทาน แต่หมายถึง การเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน อาจจะไม่ใช่การบริจาควัตถุสิ่งของเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงความสุขส่วนตัว เช่น เวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัว ผู้ปกครองต้องสละ เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวของตน บางครั้งอาจจะต้องสละชีวิต เพื่อให้ประชาชนได้อยู่รอด หรืออาจจะหมายถึงยอมรับความทุกข์เพื่อความสุขของประชาชนก็ได้
    บางครั้ง พระราชาทรงสงสารประชาชนบางท้องถิ่นที่มีความอดอยาก เพราะภัยธรรมชาติ แต่ก็ยังต้องเสียภาษีให้หลวง ก็อาจจะทรงกรุณายกภาษีในถิ่นนั้น จนกว่าถิ่นนั้นจะฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติ (ปล่อยให้เขาฟื้นตัวเองเฉยๆไม่ได้นะ ต้องเข้าไปช่วยให้เขาฟื้นด้วย)
    ความจริงแล้ว พระราชาหรือผู้ปกครองมีโอกาสจะแสวงหาความสุขได้มากกว่าประชาชนทั่วไป แต่พระราชาบางองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าถ้าพระองค์มัวเสวยสุข ประชาชนอาจจะทุกย์ยากเดือดร้อน เพราะข้าราชการอาจจะกดขี่ข่มเหง จึงทรงสละความสุขของพระองค์ออกไปเที่ยวเยี่ยมเยียนประชาชน โดยปลอมเป็นคนธรรมดา เช่น ในหลวงรัชกาลที่ ๕ หรือไม่ก็โดยเปิดเผยเพื่อทำประโยชน์แก่ประชาชน เช่น ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน
    การที่พระราชาเสียสละวัตถุเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนก็ดี เสียสละผลประโยชน์ที่พระองค์จะพึงได้รับให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนของพระองค์ก็ดี เสียสละความสุขส่วนพระองค์ หันมาเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของประชาชนก็ดี ทั้งหมดนี้คือทศพิศราชธรรมข้อที่สาม “การบริจาค” อันเป็นสิ่งที่พระราชาต้องปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม

    ๔.ความซื่อตรง
    ถามว่า ทำไมผู้ปกครองต้องมีความซื่อตรง ตอบได้ว่าทุกคนที่มีความสัมพันธ์กัน ควรจะต้องมีความซื่อตรงต่อกัน เมื่อคนธรรมดาสามัญทั่วไปยังต้องมีความซื่อตรงต่อกันเช่นนี้แล้ว คนที่เป็นผู้นำประเทศจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีความซื่อตรงต่อประชาชน หรือผู้อยู่ใต้ปกครองของตนทุกระดับ
    เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุทยาตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี พระนเรศวร ผู้เป็นลูกกษัตริย์กรุงศรีอยุทยา (ที่จะขึ้นมาเป็นกษัตริย์อยุทยาในอนาคต) ทรงพระปรีชาสามารถมาก จนพระเจ้าหงสาวดีไม่สบายพระทัย กลัวว่าในวันหน้าหากพระนเรศวรเติบใหญ่ อโยทยาอาจจะแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดีได้ จึงคิดหาทางกำจัดพระนเรศวร ด้วยการใช้กลอุบายประเภทที่เรียกว่า “หักหลังกัน” แต่ไม่สำเร็จ ด้วยความพิโรธ พระนเรศวรจึงประกาศเอกราชเสีย และสามารถทำลายอำนาจของหงสาวดีได้ในภายหลัง
    นี่ถ้าตอนนั้นพระเจ้าหงสาวดีมีความซื่อตรงต่อเมืองประเทศราชใต้การปกครองอย่างอยุทยา ไม่เล่นกลอุบายไม่ซื่อเยี่ยงนี้ พอเห็นว่าอยุทยามีวี่แววว่าจะเข้มแข็งขึ้น ก็ให้เอกราชเขาไปเสีย ก็จะทำให้พระมหาธรรมราชา กษัตริย์อยุทยามีความซาบซึ้งในพระราชหฤทัย และพระนเรศวรที่จะขึ้นครองราชย์ต่อไปก็คงจะซาบซึ้งในพระราชหฤทัยนั้นเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ หงสาวดีคงไม่พินาศ
    เช่นเดียวกัน ผู้ปกครองที่ไม่ซื่อตรงต่อประชาชน ก็อย่าหวังความซื่อตรงที่ประชาชนจะมอบให้กับตนเลย

    ๕.ความอ่อนโยน
    ธรรมดาคนทั่วไปย่อมนิยมชมชอบบุคคลที่อ่อนโยนกับตน คงจะไม่มีใครนิยมชมชอบคนที่หยาบกระด้าง หรือทารุณโหดร้ายใส่ตนหรอก
    ทศพิศราชธรรมข้อนี้คือ ความอ่อนโยน ผู้ปกครองที่ดีควรจะอ่อนโยนกับประชาชน ไม่ถือตัว ไม่ยกตนข่มประชาชน ไม่ทำกริยาเย่อหยิ่งใส่ประชาชนด้วยคิดว่าตนเป็นผู้มีอำนาจ แต่ต้องอ่อนโยนกับประชาชน (มีบางแหล่ง บอกว่า ต้องอ่อนน้อมต่อประชาชน)
    คนที่มีกิริยาสุภาพอ่อนโยน หากต้องการให้คนอื่นช่วย คนทั้งหลายก็จะยินดีช่วย ตรงกันข้าม คนหยาบกระด้าง หยาบคาย เมื่อขอให้ใครเขาช่วย มักจะถูกปฏิเสธ หรือไม่เต็มใจช่วย
    พระราชาที่เป็นที่ยกย่องของประชาชน ถ้าหากว่ามีนิสัยอ่อนโยน ย่อมจะเป็นที่ประทับใจของประชาชนทั่วไป นอกจากจะสร้างเสน่ห์ให้ตัวเองแล้ว ยังสามารถสร้างประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้กับพระองค์เองและคนส่วนใหญ่อีกด้วย ขอยกตัวอย่าง กษัตริย์ผู้ประพฤติตนอ่อนโยน จนได้ครอบครองราชสมบัติ และให้ความสงบร่มเย็นมาสู่ปวงชน
    ในสังวรมหาราชชาดก พระเจ้าพาราณสีมีพระราชโอรสหนึ่งร้อยพระองค์ โอรสองค์สุดท้องเป็นราชกุมารที่มีพระนิสัยประทับใจชาวเมือง ๔ ประการ คือ ชอบให้ทานสงเคราะห์คนยากจน ตรัสพระวาจาไพเราะอ่อนหวานประทับใจผู้ฟัง ชอบช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อน มีพระนิสัยไม่ถือพระองค์ เข้าได้กับชาวเมืองทุกคน ส่วนพระเชษฐาทั้ง ๙๙ องค์นั้น มีพระนิสัยตรงกันข้าม คือไม่เคยสนใจคนยากจน มีพระวาจาไว้พระองค์ คือ พูดชนิดที่เรียกว่าเจ้าพูดกับทาส ไม่สนใจช่วยใครมิหนำซ้ำยังชอบสนใจเฉพาะตระกูลเศรษฐีที่ถวายของมีค่าต่างๆ แก่พระองค์เท่านั้น ถือพระองค์ไม่คบกับใครที่ไม่ทำประโยชน์ให้
    ข้างฝ่ายพระราชบิดา ทรงตัดสินพระทัยว่าพระโอรสทั้ง ๙๙ พระองค์ ครองราชสมบัติไม่ได้ ถ้าขืนให้ครองราชย์จะสร้างความเดือดร้อนทั่วไป ทรงเห็นพระโอรสองค์สุดท้องเท่านั้นที่จะครองราชย์ได้ แต่จะออกพระโอษฐ์มอบราชสมบัติให้พระโอรสองค์เล็กก็ไม่กล้าทำ เพราะสงสารพวกพี่ๆจะเสียพระทัย อีกทั้งยังเป็นการขัดต่อประเพณีที่ปฏิบัติกันมา แต่หากจะปล่อยไว้อย่างนี้คงจะต้องเกิดความเดือดร้อนแน่ จึงทรงตัดสินพระทัยส่งพระโอรสผู้พี่ทั้ง ๙๙ พระองค์ไปครองหัวเมืองชนบท ทรงให้แต่องค์สุดท้องเท่านั้นเหลืออยู่ในพระราชสำนัก และก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ ตรัสเป็นพินัยกรรมไว้ว่า พวกอำมาตย์และประชาชนประทับใจลูกของข้าคนใด ก็จงมอบราชสมบัติให้ลูกของข้าคนนั้นเถิด เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายก็มอบราชสมบัติให้พระโอรสองค์เล็กได้ครอบครอง นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการประพฤติพระองค์อยู่ในทศพิศราชธรรมข้อความอ่อนโยน เป็นเหตุให้ได้ครองราชสมบัติ
    ถ้าเป็นนักการเมืองสมัยนี้ หากอ่อนโยนกับประชาชน ก็จะได้รับเลือก หากแข็งกระด้างกับประชาชน ก็สอบตก
    อนึ่ง ผู้นำที่อ่อนโยนไม่จำเป็นต้องอ่อนแอ มีผู้นำหลายประเภทที่อ่อนโยนกับประชาชน แล้วยังกล้าออกรบกับข้าศึก เช่น เล่าปี่

    ๖.ความเพียร
    ข้อนี้ก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก กิจการบ้านเมืองที่พระราชาต้องรับผิดชอบนั้นมีอยู่มากมายก่ายกอง อาจจะมีเรื่องให้ตัดสินใจวันหนึ่งเป็นสิบๆเรื่องเลยก็ได้ หากพระราชาเกียจคร้าน เอาเวลาไปเสวยสุขดีกว่า จะมาสนใจกิจการบ้านเมืองให้ปวดหัวทำไม เมื่อไม่มีความเพียรแล้ว ปัญหาบ้านเมืองก็พอกหางหมู จนประชาชนอาจจะเดือดร้อนได้

    ๗.ความไม่โกรธ
    พระราชาเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน อำนาจนั้นอาจที่จะฆ่าคนก็ได้ หรืออาจจะยกสมบัติทั้งแว่นแคว้นให้กับใครก็ได้ เพียงแต่พระองค์ออกพระโอษฐ์เท่านั้นทุกสิ่งก็จะเป็นไปตามพระดำรัส มีตัวอย่างมากมายที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบัญชาในขณะพิโรธ แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่แผ่นดิน ดังนั้น นักปราชญ์การเมืองโบราณจึงหาวิธีต่างๆ เพื่อยับยั้งไม่ให้พระราชาทรงทำสิ่งใดเวลาที่ทรงพิโรธ อย่างเช่น กฏหมายไทยโบราณบัญญัติว่า เวลาพระเจ้าแผ่นดินพิโรธ และทรงเรียกหาอาวุธเพื่อจะฆ่าคนที่ทำให้พระองค์ทรงพิโรธ ท่านห้ามไม่ให้ผู้ใดหยิบดาบถวายพระองค์ นี่ก็เป็นวิธีป้องกันไม่ให้พระเจ้าแผ่นดินฆ่าคนในขณะที่พิโรธ
    พระพุทธองค์ทรงเห็นความไม่เหมาะสมในเรื่องนี้ จึงตรัสปฏิปทาของพระเจ้าแผ่นดินเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในสุมังคลชาดกว่า (ย่อความมา อาจผิดพลาด) “พระเจ้าแผ่นดินเมื่อทรงทราบว่า ตนกำลังโกรธ ไม่ควรลงอาญา เพราะการลงอาญากำลังโกรธ อาจจะเป็นการลงอาญาที่ไม่ถูกต้อง ทางที่ถูกควรถอนความทุกข์ของผู้อื่นให้เขามีความสบายใจแทน
    ต่อเมื่อใดตนรู้ว่าจิตของตนผ่องใส หมดความโกรธแล้วจึงพิจารณาความผิดของผู้นั้น แล้วแยกแยะให้ชัดเจนว่า การทำของผู้นี้มีประโยชน์อย่างนี้ มีโทษอย่างนี้ เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และโทษแล้วจึงลงโทษผู้นั้น
    อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดปราศจากความลำเอียงแล้ว จึงตัดสินคดีความ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นชื่อว่าไม่ทำลายผู้อื่น และไม่ทำลายพระองค์เอง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดทรงลงอาญาเหมาะสมแก่โทษ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นความดีย่อมคุ้มครองพระองค์ และย่อมไม่เสื่อมความมีสง่าราศี
    กษัตริย์เหล่าใด มีความลำเอียงไม่พิจารณาให้ดีก่อนลงอาญา โดยผลุนผลัน กษัตริย์เหล่านั้นทำลายตนเอง ถูกคนติเตียน ย่อมเป็นอันตรายถึงชีวิต และเมื่อสวรรคตแล้ว จะไปเกิดในทุคติ
    พระราชาเหล่าใด ทรงยินดีในทศพิศราชธรรม ที่พระอริยะประกาศไว้ พระราชาเหล่านั้นนับว่าเป็นผู้ประเสริฐด้วยกาย วาจา และใจ มีความอดทน มีความสงบ มีสมาธิ เมื่อพระชนม์หาไม่แล้ว ย่อมได้กำเนิดเทวดาและมนุษย์”
    ผู้ปกครองที่ดี ต้องไม่ปล่อยให้อารมณ์โกรธมาทำให้ตนเสียการงานแผ่นดินได้ อีกทั้งต้องรู้จักการให้อภัย ไม่ผูกพยาบาทปองร้ายใคร
    ในอดีตนั้น ซุนกวนเจ้าแห่งง่อก๊กได้ประหารชีวิตกวนอู น้องชายของพระเจ้าเล่าปี่ กษัตริย์แห่งจ๊กก๊ก (ตอนนั้นได้สถาปนาเป็นกษัตริย์แล้ว) ด้วยความโกรธไม่ทันยั้งคิด เล่าปี่ยกทัพบุกไปตีง่อก๊กของซุนกวนด้วยความหุนหันผลันแล่น ขุนนางทัดทานเท่าไรก็ไม่ฟัง ไปลงอาญาเขาอีก จนในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้จนตัวตาย แถมง่อก๊กตัดสัมพันธ์กับจ๊กก๊กเป็นช่วงเวลานานอีก(กว่าจะกลับมาออมชอมกันอีก ก็นานโข) นี่ถ้าตอนนั้นเล่าปี่คุมอารมณ์ตัวเองได้ และให้อภัยแก่ซุนกวนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก โดยไม่เอาเรื่องความแก้แค้นให้กวนอูที่เป็นปัญหาส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะง่อก๊กของซุนกวนเป็นพันธมิตรแห่งเดียวของเล่าปี่ที่จะร่วมกันต้านก๊กโจผีได้ เล่าปี่ก็คงจะไม่ย่อยยับ และพันธมิตรที่จำเป็นอย่างง่อก๊กก็คงไม่ตัดสัมพันธ์ยืดยาวต่อไปอีก หนำซ้ำการที่เล่าปี่ต้องมาตายก่อนเวลาอันควรเช่นนี้ ยังเป็นเหตุให้อำนาจการปกครองง่อก๊กต้องตกทอดไปสู่มือกษัตริย์โง่เขลาอย่างเล่าเสี้ยนผู้บุตร ผู้นำพาจ๊กก๊กไปสู่ความล่มสลายในที่สุด

    ๘.การไม่เบียดเบียน
    พระราชาเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน การที่มีอำนาจมากอาจทำให้พระราชาเหลิงอำนาจ และไปเบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนได้ ทศพิศราชธรรมข้อต่อไป ก็คือ การไม่เบียดเบียนประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อน
    ลักษณะการเบียดเบียนของพระราชาก็เช่น ใช้ทหารไปปล้นทรัพย์สินประชาชนมาบำเรอพระราชา คนไหนขัดขืนก็ทำร้ายร่างกาย คนไหนวิจารณ์ก็จับฆ่าเสีย พวกไหนทำผิดเล็กๆน้อยๆ ก็หาเรื่องริบทรัพย์สมบัติเขา เห็นประชาชนเป็นเหยื่อระบายอารมณ์ ในขณะที่ประชาชนมีชีวิตแร้นแค้น เพราะถูกขูดรีด พระราชากลับมีชีวิตที่หรูหรา เพราะไปขูดรีดเขามา
    พระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าเรื่อง พระเจ้าแผ่นดินผู้ชอบเบียดเบียนประชาชนว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ปิงคละ เห็นคนไหนมีเงินมากก็ให้ทหารไปยึดเข้าท้องพระคลัง คนไหนมีคดีวิวาทกันเล็กน้อย พระองค์ก็พาลริบทรัพย์มาเข้าหลวงเสีย จนประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว
    แถมยังชอบรังแกประชาชน เสนาอำมาตย์คนไหนทำไม่ถูกพระทัยก็ให้ทุบตี คนที่ถูกทุบตีเมื่อแสดงความเจ็บปวด ก็ชอบพระทัย (แทนที่จะสงสาร) แม้แต่ยามที่เฝ้าประตูปราสาท ก็ทำกับเขาเหมือนกับว่าเขาไม่มีจิตใจ กล่าวคือ เมื่อพระองค์จะเสด็จขึ้นปราสาท ยามจะถวายคำนับ ก็ไปเขกหัวเขาเล่น เป็นอย่างนี้ประจำ ในขณะที่ยามคนนี้มีแต่ความเจ็บปวดเพราะหัวระบม แต่พระราชากลับเห็นเป็นของเล่นสนุก
    พระองค์มีพระราชโอรสที่ทรงคุณธรรม ประชาชนรักใคร่ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ชาวเมืองทั้งหลายก็ยินดีทั่วหน้า ได้จัดเฉลิมฉลอง มองไปทางไหนมีแต่รอยยิ้ม ต่างก็ดีใจว่าหมดยุคทรราชแล้ว
    แต่ยามคนที่ถูกเขกหัวประจำนั้น กลับไม่ร่าเริงเหมือนคนอื่น นั่งร้องไห้ พระโอรสเห็นแล้วก็มีความสงสัย เพราะทั้งเมืองไม่มีใครร้องไห้ให้พระบิดาเลย มีเฉพาะยามคนนี้คนเดียว จึงถามยามว่า “คนทั้งเมืองเขาไม่ร้องไห้ เพราะพระราชาสวรรคตเลย แต่ท่านคนเดียวร้องไห้ ท่านร้องไห้เพราะเศร้าใจที่พระราชบิดาเราสวรรคตหรือ”
    ยามกราบทูลว่า “ข้าพระองค์มิได้ร้องไห้เพราะพระราชาสวรรคต แต่ร้องไห้เพราะเกรงว่า พระเจ้าปิงคละนี้ทารุณโหดร้ายนัก เมื่อสิ้นพระชนม์ไปยังยมโลกจะต้องไปทารุณโหดร้ายกับยมบาลอีก เมื่อยมบาลถูกพระราชาองค์นี้ทารุณแล้ว จะส่งให้พระราชาองค์นี้มาเป็นมนุษย์อีก ทุกวันนี้ศีรษะของข้าพระองค์สบายดีแล้ว ถ้าพระราชาองค์นี้ถูกยมบาลส่งตัวมาอีก ศีรษะของข้าพระองค์คงเจ็บอีก ข้าพระองค์ร้องไห้เพราะเหตุนี้พระเจ้าข้า”
    พระโอรสต้องปลอบใจยามว่า พระเจ้าปิงคละนั้นเราช่วยกันเผาด้วยฟืนถึงพันเล่มเกวียน ดับด้วยน้ำหลายร้อยหม้อ ท่านอย่ากลัวเลย พระเจ้าปิงคละไม่กลับมาอีกแน่

    ๙.ความอดทน
    คนที่นั่งในตำแหน่งหัวหน้า ถ้าเป็นคนอ่อนไหวง่าย เช่น ฉุนเฉียวง่าย เป็นคนเจ้าอารมณ์ รู้เห็นหรือฟังอะไรที่ไม่ถูกใจ ก็แสดงความรู้สึกโกรธออกมาทันที หรือเมื่อเห็นอะไรถูกใจก็ดีใจจนออกนอกหน้า คนเช่นนี้จะถูกมองว่าไม่เหมาะกับตำแหน่งหัวหน้า ตรงกันข้าม ถ้าเป็นคนมีความอดกลั้น เยือกเย็นสุขุม แสดงท่าทีเฉยๆเมื่อเจอเรื่องเสียใจ ไม่ดีใจออกนอกหน้าเมื่อเจอเรื่องถูกใจ รู้จักไว้ท่า ไว้เชิง คนอย่างนี้ลูกน้องถึงนับถือ
    ความอดกลั้น เมื่อประสบสิ่งที่ไม่ถูกใจ ก็เก็บความรู้สึกไว้ไม่แสดงออก หรือไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้
    อันความอดกลั้นโดยไม่ยอมโต้ตอบต่อบุคคลที่มาทำให้เกิดความไม่พอใจนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะ
    หนึ่ง อดกลั้นไม่ยอมตอบโต้ เพื่อความปลอดภัย เช่น ถูกคนอื่นดูหมิ่นก็อดกลั้นไว้ เพราะกลัวเขาจะต่อยเอา อันเนื่องมาจากต่อยสู้เขาไม่ได้ แบบนี้หาใช่คุณธรรมไม่ เป็นเพียงความอดกลั้นเพื่อให้ตนรอดพ้นจากความเดือดร้อน แต่ก็มีประโยชน์ เพราะทำให้เรื่องร้ายจบลงได้
    สอง อดกลั้นเพราะคุณธรรม ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้ถูกดูหมิ่นนั้นมีกำลังสูงกว่า สามารถจะทำอะไรต่อผู้หมิ่นก็ได้ แต่ก็ไม่ทำ อดทนอดกลั้นเอาไว้ แบบนี้สิคุณธรรม
    พระราชาโดยปกติแล้ว เป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในแผ่นดิน ถ้าประชาชนมาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาวิจารณ์พระองค์ และพระองค์อดกลั้นไว้ได้ ไม่ลงโทษเขา นี่ถือว่าทรงมีพระขันติธรรม แต่ส่วนใหญ่จะทนกันไม่ได้
    ความอดกลั้นนี้ ยังหมายถึงความไม่แสดงความอยากได้สิ่งใดๆ จนออกนอกหน้าอีกด้วย เช่น ราชสมบัติที่ตนมีสิทธิ์จะได้อยู่แล้ว แต่กลับยังพยายามแย่งชิงมา ฆ่าพี่น้องร่วมสายเลือดทิ้ง เพราะกลัวเขามาแย่ง แบบนี้ไม่ใช่แล้ว เป็นผู้นำต้องทนให้ได้สิ

    ๑๐.ความหนักแน่นในธรรม
    ผู้ปกครองประเทศ ต้องมีความหนักแน่น ไม่เชื่อคำพูดของคนสนิทที่หัวประจบสอพลอ เพราะถ้าหากว่าผู้ปกครองหูเบา เชื่อคำยุยงสอพลอ อันตรายจะเกิดแก่พสกนิกรที่มีจิตซื่อสัตย์เถรตรงทั้งหลายนั่นเอง
    ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลต้องถูกพระราชโอรสชิงราชสมบัติ ก็เพราะหลงเชื่อคำยุยงของขุนนางกังฉิน และลงโทษขุนนางตงฉิน ทำให้ญาติๆของขุนนางตงฉินผู้นั้นคับแค้นใจ เข้าไปช่วยพระกุมารชิงอำนาจจากพระบิดาในที่สุด
    อนึ่ง ธรรมข้อนี้จะพ้องกับหลักธรรมาธิปไตย ว่าด้วยการถือธรรมหรือความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่เอาความคิดของตนเองหรือผู้อื่นเป็นใหญ่ ผู้ปกครองที่ดีต้องมีความหนักแน่นในความถูกต้อง เอาธรรมะเป็นหลักสูงสุดของสังคม ตนห้ามออกนโยบายที่ขัดแย้งกับธรรมะ และใครก็ตามที่เสนอความคิดเห็นขัดแย้งกับธรรมะ ก็อย่าไปทำตามข้อเรียกร้องนั้น จะทำตามก็เฉพาะข้อเรียกร้องที่ไม่ขัดแย้งกับธรรมะหรือความถูกต้องเท่านั้น นี่คือ การมีความหนักแน่นในธรรม (หนักแน่นในความถูกต้อง ไม่เอนเอียงตามคำพูดที่ไม่เป็นธรรมของผู้อื่น)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มีนาคม 2013
  7. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    การนำไปใช้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย​

    โลกเราทุกวันนี้ดูเหมือนจะไม่เหลือระบอบที่พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจบริหารบ้านเมืองได้โดยตรงอีกต่อไปแล้ว จะมีเหลืออยู่บ้างก็ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นตำแหน่งในทางสัญลักษณ์เท่านั้น อำนาจในการบริหารบ้านเมืองจริงๆตกไปอยู่ในมือของประชาชนสามัญแทน
    การได้มาของระบอบประชาธิปไตยนี้ เกิดจากการที่ชนชั้นนายทุน หรือพ่อค้า ทำการปล้นอำนาจปกครองประเทศจากชนชั้นกษัตริย์ และสถาปนาระบอบนี้ขึ้นมาเพื่อให้เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ตนสามารถกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าได้โดยสะดวก ระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ จึงเป็นประชาธิปไตยแค่ชื่อ เพราะความจริงแล้วมันคือ “นายทุนธิปไตย”
    มีอีกระบอบหนึ่งที่เกิดร่วมสมัยกับระบอบประชาธิปไตยนี้ คือระบอบคอมมิวนิตส์ ระบอบนี้เกิดจากการยึดอำนาจของชนชั้นกรรมกรหรือศูทร จากชนชั้นกษัตริย์ โดยปกติระบอบนี้ต้องเข้าคู่กับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิตส์ เหมือนกับที่ระบอบประชาธิปไตยต้องคู่กับระบบทุนนิยม แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิตส์จะหมดไปจากโลกแล้ว ประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิตส์ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไปเป็นระบบทุนนิยมจนหมดสิ้นแล้วนั่นเอง
    สำหรับประเทศไทยนั้น เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้ ก็เพราะกลุ่มทหารและขุนนาง ซึ่งเป็นวรรณะกษัตริย์ยึดอำนาจการบริหารประเทศจากราชวงศ์ และหลังจากนั้นกลุ่มทหารและกลุ่มพ่อค้าก็ขับเคี่ยวแย่งชิงอำนาจกันมาโดยตลอด
    เหตุที่เราต้องเปลี่ยนมาเป็นระบอบนี้ ก็เพราะว่าในตอนนั้นประเทศต่างๆในโลก ได้พากันทยอยเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์ไปเป็นประชาธิปไตย แม้แต่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ยังรักษาระบอบการปกครองของตนไว้ไม่ได้ เหตุการณ์เช่นนี้ตรงกันข้ามกับสมัยพุทธกาล ที่ระบอบประชาธิปไตยต้องถูกไล่ต้อนโดยระบอบราชาธิปไตย มาในวันนี้กลายเป็นระบอบราชาธิปไตยที่ถูกไล่ต้อน
    ในเมื่อเหตุการณ์โลกบีบบังคับให้เราต้องปรับตัว อันเราจะหวนกลับไปใช้ระบอบกษัตริย์ดังเดิมก็คงจะใช่ที่ ถ้าทำแล้วเราอาจจะโดนนานาชาติคว่ำบาตรฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ แล้วเป้าหมายที่จะแผ่ขยายพระสัทธรรมให้ปกคลุมโลกได้ก็จะเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่เขายังประนามเรา เราก็ให้ธรรมะเป็นทานแก่เขามิได้เช่นกัน
    เราเลยจำต้องปรับให้เหมือนเขา คือ มีการแบ่งแยกอำนาจทางการปกครอง เป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทั้งสามอำนาจถ่วงดุลย์ตรวจสอบกัน เพื่อไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมากเกินไป จนอาจสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนได้ ไม่เหมือนระบอบกษัตริย์ที่ผู้ปกครองมีอำนาจมากไปจนเบียดเบียนประชาชนได้อย่างไร้การควบคุม
    ข้างต้นคือคำขวัญของระบอบนี้ แต่นั่นก็แค่ข้ออ้าง เพราะในความเป็นจริงแล้วคนที่จะได้ประโยชน์จริงๆจากระบอบนี้ก็คือ นายทุนไม่กี่คน แทนที่จะเป็นประชาชนทั้งหมดดังที่โฆษณา อย่างไรก็ตาม เรื่องปัญหาของระบบนี้ถ้ามีเวลาจะพูดไว้ในกระทู้อื่น ที่นี่ไม่ขอคุยอะไรมาก
    สิ่งที่ไม่เคยล้าสมัยเลย ก็คือธรรมะในการปกครองของพระพุทธเจ้า ที่สามารถใช้ได้ไม่จำกัดกาล แม้จะเปลี่ยนระบอบไปแล้ว ก็ยังสามารถใช้ได้ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนตัวคนใช้เท่านั้น
    เมื่อพระราชาถูกประชาชนขออำนาจการปกครองมาปกครองกันเอง พระองค์ก็ไม่มีสิทธิ์ปกครองประเทศอีกต่อไป จะดำรงตำแหน่งในทางสัญลักษณ์เท่านั้น ดังนั้นถึงพระมหากษัตริย์จะมีธรรมะในการปกครอง ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะโดยฐานะของพระองค์แล้วทรงทำอันใดมิได้มาก ต่อให้เห็นบ้านเมืองไร้ธรรมแค่ไหนก็ได้แต่ปล่อยวาง เพราะตนไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขได้อีกต่อไป
    เมื่ออำนาจในการปกครองตกอยู่ในมือประชาชนแล้ว ประชาชนก็คือผู้ปกครอง ดังนั้นประชาชนทุกคนจะต้องมีธรรมะในการปกครองอยู่ประจำใจ อย่างไรก็ดี ในที่นี้จะเน้นพูดเฉพาะวิธีการปกครองโดยธรรมของสถาบันการปกครองทั้งสามในระบอบนี้ คือ รัฐสภา รัฐบาล และศาลเท่านั้น แม้ว่าความจริงแล้ว ถ้าจะให้ดี การปกครองในระบอบนี้ ประชาชนทั้งหมดจะต้องมีธรรมะด้านการปกครอง เพราะมันคือระบอบประชาธิปไตย หรือก็คือระบอบที่ประชาชน (ทุกคน) เป็นผู้ปกครอง

    ๑.ทาน
    ทานแปลว่าการให้ กษัตริย์ที่มีทศพิศราชธรรมข้อนี้จะตั้งโรงทานไว้เพื่อให้คนจนได้อาศัยเลี้ยงชีพ
    รัฐบาล มาในยุคนี้ รัฐบาลก็จะต้องประพฤติธรรมข้อนี้ให้ได้แทนพระราชา (ที่ดูแลบ้านเมืองโดยตรงไม่ได้อีกต่อไป) ด้วยการป้องกันไม่ให้ประชาชนในปกครองของตนต้องอดตาย เห็นคนไหนยากจนไม่มีจะกิน ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีงานทำ ขาดเสาหลักของครอบครัว รัฐบาลต้องช่วยเหลือทันที อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เป็นยุคที่เงินเป็นใหญ่ กิจกรรมหลายๆอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวันล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งเงิน เรื่องที่ต้องเสียเงินซื้อมีมากมายซับซ้อนตามกาลเวลา ในสมัยก่อนนั้นประชาชนอาจจะเสียเงินซื้อแค่เครื่องประดับ เสื้อผ้า เท่านั้น ส่วนอาหาร การศึกษา เหล่านี้หาเองได้ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แล้ว ทุกอย่างต้องใช้เงินซื้อ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีทศพิศราชธรรมข้อนี้ให้มากกว่าในอดีตเสียอีก
    ตัวอย่างเรื่อง เงินๆ ที่รัฐบาลสมัยนี้ต้องรับผิดชอบให้ได้ ไม่งั้นมีบาปกรรมติดตัวฐานปล่อยให้ประชาชนอดตายแน่ ก็เช่น
    - เรื่องค่าเรียนเด็ก เมื่อเรามองดูประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ปัญหาค่าเทอม เด็กไม่มีเงินเรียน เป็นปัญหาใหญ่เลย อันที่จริงแล้ว การจะเรียนนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนก็ได้ ไปเรียนกับพระที่วัดอาจจะดีกว่า นั่งปฏิบัติธรรมจนได้ญาณหยั่งรู้ ก็ยังฉลาดกว่ามานั่งท่องตำรา แต่เนื่องด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กำหนดใบปริญญามาวัดค่าของคน ไม่มีใบก็ไม่มีงาน ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็ไม่มีข้าว ทำให้เด็กทุกคนจำต้องเรียนอย่างไม่มีทางเลือกอื่น ต่อให้บางรัฐบาลคลอดนโยบายเรียนฟรี ก็ฟรีแต่เรียน ส่วนค่ารถ ค่าปากกา ค่าดินสอ ไม่ฟรี แถมพอตอนเปิดเทอมทีไร พวกนายทุนมันก็ขึ้นราคาเพื่อโกยเอาเงินเข้ากระเป๋า แทนที่จะช่วยชาวบ้านด้วยการลดราคา (เวลาที่คนเขาต้องการมากๆ ก็ต้องลดราคาช่วยเขาสิ) อย่างนี้ถ้าจะให้ดี แค่เรียนฟรีอย่างเดียวไม่พอ รัฐต้องหาทางดัดนิสัยนายทุนพวกนี้ด้วย ถ้าเป็นผม ผมจะประกาศไปเลยว่า พ่อค้าคนไหนไม่มีศีลธรรม ต้องโดนจับยัดคุกให้หมด แล้วเอาทรัพย์ไปแจกคนจนให้เกลี้ยง ออกจากคุกมาแล้วก็เป็นยาจกกันพอดี สมควรแล้ว
    - เรื่องการสงเคาระห์บุตร ประชาชนทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน รัฐบาลก็จะต้องดูแลอย่างเป็นธรรม แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในทุกวันนี้ก็คือ การให้ทานคนมีเงิน เช่น ขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่มีเงินเดือนอยู่แล้ว ให้สิทธิพิเศษต่างๆแก่พวกนี้ แต่ทีคนจน ชาวไร่ชาวนาที่ไม่ใช่ข้าราชการ อะไรๆก็ต้องออกเองหมด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูก ค่าพยาบาลพ่อแม่ที่ป่วยไข้ ทั้งๆที่จนกว่าเขา เงินเดือนก็ไม่มี ขายข้าวก็โดนนายทุนโกง ที่นาก็โดนนายทุนไล่
    - การช่วยเหลือคนประสบภัยพิบัติ ประเทศเราและทั้งโลกนับวันจะมีภัยพิบัติมาก เพราะจิตใจคนเสื่อมทรามถอยห่างจากธรรมะเข้าไปทุกวัน แต่ถึงแม้จะเห็นๆอยู่ว่าเพื่อนมนุษย์กำลังเดือดร้อน กลับมีคนบางคนพยายามเบียดเบียนเอาผลประโยชน์จากเพื่อนร่วมสังคม ดูอย่างตอนที่น้ำท่วมคราวที่แล้ว นายทุนมันขึ้นราคาสินค้ากันเป็นแถว ช่วงเวลาแบบนี้มันต้องแจกกันฟรีๆดิไม่ใช่ขึ้นราคาแบบนี้ นายทุนแกล้งประชาชนก็นับว่าเลวมากแล้ว แต่ที่เลวกว่าก็คือรัฐบาลที่ไม่ยอมทำอะไรกับนายทุนพวกนี้
    - เรื่องไม่มีเงินพยาบาล ประชาชนชาวชนบทที่เสียนาไปเพราะโดนคนรวยโกง มักจะอยู่ไม่ติดบ้าน ต้องระเหเร่ร่อนมาทำงานในกรุงเทพ เมื่อไม่ค่อยได้อยู่ดูแลพ่อแม่ พ่อแม่ก็เจ็บเอาง่ายๆ ตนเองก็ไม่มีเงินจะมารักษา ก็เลยต้องพยาบาลพ่อแม่ไปตามมีตามเกิด ส่วนพวกข้าราชการ มีเงินเดือนอยู่แล้ว เจ็บป่วยมารัฐยังออกให้อีก โดยเฉพาะพวกนักการเมือง นี่เรียกว่ารัฐบาลลำเอียงเข้าข้างคนรวย
    - ปัญหาการฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงิน อันนี้เคยพูดไปแล้ว ถ้ารัฐบาลยังมีจิตสำนึกอยู่ ก็ควรจะหาทางป้องกันไม่ให้มีการฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินอีก ไม่ใช่ไปเพิ่มหน่วยปอเต๊กตึ้งเอาไว้เข้าชาร์จเขานะ แต่ต้องรู้จักแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ให้เขาคิดสั้นมาฆ่าตัวตายอีก
    รัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ในการออกกฏหมายก็จำเป็นจะต้องมีทศพิศราชธรรมข้อนี้ ด้วยการออกกฏหมายที่เอื้อต่อการให้ทานแก่ประชาชน เช่น กฏหมายปฏิรูปที่ดิน ที่อนุญาตให้รัฐบาลริบที่ดินจากคนที่มีเกินกินไปแจกคนที่ยังไม่มีได้ แต่กฏหมายดังกล่าวก็แท้งเสียก่อน เพราะในสภามีแต่ตัวแทนของพวกนายทุนที่ดินไปนั่งอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่
    ศาล ไม่ได้มีหน้าที่ด้านนี้โดยตรง แต่ผู้พิพากษาอาจจะรู้จักการทำทานในระดับบุคคลได้ เพราะงานนี้เป็นงานที่ “ไม่ต้องออกแรง แต่เงินเดือนเยอะเกินเหตุ” อยู่แล้วนี่นา

    ๒.ศีล
    ก็คือศีลห้านั่นเอง ในอดีตพระราชาต้องมีศีลห้า แต่ในวันนี้ สถาบันการปกครองทั้งสามจะต้องมีด้วย การมีศีลเป็นเรื่องเฉพาะตน ไม่เกี่ยวกับการบริการประชาชน
    การจะควบคุมผู้ปกครองในสถาบันทั้งสามให้มีศีลได้ ผมเห็นด้วยกับการมีกฏหมายห้ามผู้ปกครองทำผิดศีล เช่น ห้ามฆ่าคน ห้ามลักทรัพย์ ห้ามผิดลูกเมียคนอื่น ห้ามโกหก ห้ามเสพสุรายาเมา ใครฝ่าฝืนต้องโดนถอดถอน
    ไม่เฉพาะผุ้ปกครองเท่านั้น แต่ข้าราชการก็ต้องมีด้วย ผู้ปกครอง โดยเฉพาะรัฐบาล ต้องดูแลข้าราชการให้อยู่ในศีลธรรม
    ไม่ใช่เฉพาะศีลห้าเท่านั้น แต่ธรรมะด้านการปกครองต่างๆก็ควรจะมีกฏหมายรับรองว่า หากผู้ปกครองหรือข้าราชการคนใดระดับใดก็ตามละเมิด จะต้องโดนถอดถอนออกจากตำแหน่ง

    ๓.การบริจาค
    การบริจาคหมายถึง การเสียสละผลประโยชน์ที่ตนจะได้ เพื่อผู้อื่น และเสียสละความสุขส่วนตัว รัฐบาลจะต้องประพฤติธรรมข้อนี้ คือ สละผลประโยชน์ส่วนตัวและความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของประชาชน
    ตัวอย่างที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ รัฐบาลควรจะมีนโยบายปรับขั้นเงินเดือนใหม่ ให้ข้าราชการ “ยิ่งยศใหญ่ยิ่งเงินเดือนน้อย” แต่ยิ่งยศต่ำยิ่งเงินเดือนมาก เพื่อคัดเฉพาะคนบริจาค (เสียสละ) ขึ้นมาเป็นหัวหน้าเท่านั้น
    เมื่อก่อน (เรื่องจำนวนเงินเดือนนี้สมมติเอาครับ)
    - นายก แสนบาท รัฐให้สวัสดิการดีกว่าเพื่อน
    - รัฐมนตรี เก้าหมื่น รัฐให้สวัสดิการดีลองลงมา
    - อธิบดี แปดหมื่น
    - รองอธิบดี เจ็ดหมื่น
    - หัวหน้าแผนก หกหมื่น
    - ข้าราชการทั่วไป ห้าหมื่น สวัสดิการงั้นๆ
    - ลูกจ้าง สี่หมื่น สวัสดิการแย่กว่าพวกหัวหน้า
    น่าจะแก้ใหม่เป็นอย่างนี้
    - นายก สี่หมื่น (นายกต้องเป็นอาชีพที่เงินเดือนน้อยที่สุดในประเทศ) สวัสดิการแย่กว่าเพื่อน เพื่อคัดคนที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำ (รู้จักเสียสละ) มาเป็นผู้นำ
    - รัฐมนตรี ห้าหมื่น สวัสดิการงั้นๆ
    - อธิบดี หกหมื่น
    - รองอธิบดี เจ็ดหมื่น
    - หัวหน้าแผนก แปดหมื่น (จำนวนจริงๆอาจน้อยกว่านี้ได้ เพราะจริงๆแล้วข้าราชการมีจำนวนมาก ขืนให้เงินเดือนคนหนึ่งๆมากขนาดนี้ ประเทศก็ล่มจมก่อนพอดี)
    - ข้าราชการทั่วไป เก้าหมื่น (ของจริงอาจไม่มากเท่านี้ก็ได้)
    - ลูกจ้าง แสนบาท (ของจริงอาจม่ากเท่านี้ นี่สมมติให้ดูเพื่อให้เห็นภาพกันเท่านั้น) ข้าราชการระดับต่ำสุดต้องได้เงินเดือน และสวัสดิการดีกว่าเพื่อน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และกักคนที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำ (ไม่รู้จักการเสียสละ ละโมบโลภมาก) ไว้ในตำแหน่งล่างๆ
    อนึ่ง หากนำขั้นเงินเดือนแบบใหม่นี้มาใช้ การเลื่อนขั้นของข้าราชการต้องถูกปรับปรุงเสียใหม่ กล่าวคือ นับจากนี้ข้าราชการจะเลื่อนขั้นได้ ต้องถามความสมัครใจของเขาก่อน ถ้าหากเขายังรักที่จะอยู่ในตำแหน่งต่ำๆเพื่อรับผลประโยชน์อันมากมายต่อไป ก็ต้องให้เขาอยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไปครับ
    แบบนี้ถึงจะคัดคนรู้จักบริจาค มาเป็นผู้นำได้ ตำแหน่งผู้นำน่ะไม่มีใครบังคับให้คุณมาเป็นครับ ถ้าคุณอยากมาเป็น คุณก็ต้องรู้จักเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวให้เป็น ถ้าคุณไม่พอใจขั้นเงินเดือนน้อยๆนี้ ก็อย่ามาเป็นผู้นำ ไปเป็นลูกน้อง เพราะคุณไม่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้นำ (ไม่รู้จักเสียสละ ละโมบโลภมาก)
    รัฐสภา อย่างแรก ส.ส. เป็นตำแหน่งใหญ่ ดังนั้นเงินเดือนก็ต้องน้อย สวัสดิการต้องแย่ อย่างที่สองเลย สภาไทยนั้นมีปัญหาตรงที่ ผู้แทนในสภาไม่รู้จักเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม โดดประชุมสภากันบ่อยๆ
    คนที่จะมาเป็นผู้นำแบบนี้ ต้องรู้จักเสียสละสิ ต่อให้ธุระของตนสำคัญแค่ไหน ถ้าไม่ไปทำครอบครัวจะล้มละลาย ก็ต้องสละให้ได้ เพื่อมาประชุมสภา เพราะเป็นเรื่องของบ้านเมือง สำคัญกว่า
    ผมเห็นด้วยกับกฏระเบียบประเภท ขาดประชุมทีเดียว ต้องโดนถอดถอน
    สาม ในการออกกฏหมายต่างๆ ผู้แทนต้องรู้จักสละผลประโยชน์ส่วนตนด้วย ไม่งั้นกฏหมายที่ออกมาก็จะมีเนื้อหาเอื้อประโยชน์ให้ผู้แทน แต่ทำลายประโยชน์ของประชาชน เช่น ถ้าจะออกกฏหมายปฏิรูปที่ดิน ก็อาจจะทำให้ตนต้องถูกริบที่ดินส่วนหนึ่งไปด้วย อย่างนี้ผู้แทนต้องเห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่คนที่ยังไม่มีที่ทำกิน คือ ยกมือสนับสนุนกฏหมายนี้
    ตุลาการ ตุลาการเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ตัดสินชีวิตคนได้ ดังนั้นเงินเดือน ผลประโยชน์ต่างๆ จะต้องน้อย เพื่อคัดคนที่เสียสละมาทำงานนี้ ผมไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ผู้พิพากษาต้องได้เงินเดือนมากๆ จะได้ไม่รับใต้โต๊ะ เพราะนั่นเท่ากับว่าเรารับคนละโมบเข้ามานั่งในตำแหน่งตัดสินคดี เอาคนเห็นแก่เงินมาเป็นผู้พิพากษา พวกนี้ถ้าคู่ความยื่นใต้โต๊ะให้ ก็จะรับทันที ไม่สนว่าตนจะมีเงินเดือนมากอยู่แล้ว เพราะโดยสันดานตนเป็นคนเห็นแก่เงินอยู่แล้วนั่นเอง
    นอกจากนี้ ในการพิจารณคดี ผู้พิพากษาต้องเสียสละเวลาของตนพิจารณาคดีต่างๆโดยละเอียด อย่าเห็นแก่ธุระส่วนตัว เพื่อไม่ให้คดีนั้นถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมเพราะความเห็นแก่ตัวของผู้พิพากษา

    ๔.ความซื่อตรง
    ข้อนี้สำคัญเลย สถาบันการปกครองทั้งสาม และข้าราชการทุกคน ต้องมี ไม่มีไม่ได้
    รัฐบาล ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลทุกข์สุขของประชาชน มีความจำเป็นมากที่จะต้องซื่อตรงต่อประชาชนซึ่งเป็นประดุจนายของรัฐบาล วิธีการก็เช่น โครงการทุกโครงการต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเท่านั้น ไม่หาประโยชน์เข้าตนเองหรือพวกพ้อง ข้าราชการตัวไหนมันยื่นใต้โต๊ะให้ อย่าไปรับมัน ให้ปลดมันออก
    ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รัฐบาล ข้าราชการทุกระดับ ถูกตรวจสอบความซื่อตรงอยู่ตลอดเวลา เช่น สภาตรวจรัฐบาล รัฐบาลตรวจสภา องค์กรอิสระ ตุลาการตรวจรัฐบาล ประชาชนตรวจข้าราชการ ฯลฯ เรียกว่าระบอบนี้ผู้ปกครองมีโอกาสโกงกินน้อยกว่าระบอบอื่นๆ แต่เหตุที่ในวงการเมืองไทยมีแต่นักการเมืองทุจริต อาจจะเป็นเพราะว่ากลไกการตรวจสอบด้งกล่าวมีปัญหาบางอย่าง เช่น ในสภามีแต่คนโกง เลยไม่ยอมตรวจรัฐบาลโกงๆ เป็นต้น
    การที่รัฐบาลไม่ซื่อตรง คนที่จะเดือดร้อนเต็มๆก็คือประชาชน ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่พรรคการเมืองต่างๆในทุกวันนี้เอาดีกับนโยบายประชานิยม หรือก็คือนโยบายที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวประชาชนจะเสียผลประโยชน์ นี่คือพรรคต่างๆอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน ในการผูกใจประชาชนให้เลือกตนนั่นเอง ประชาชนที่ไม่รู้ก็เลือกมัน คนรู้ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นั่งรอความตายเท่านั้น
    ผมคิดว่า เราน่าจะมีกฏหมายออกโทษหนักๆให้กับนักการเมืองหรือข้าราชการทุกระดับที่ทุจริตต่อหน้าที่ เพราะการที่ข้าราชการเพียงคนเดียวทุจริตนั้นก็สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศได้อย่างมากแล้ว
    ถ้าโกงแล้วถอดถอนนั้นทำแน่ แต่แค่นี้ยังไม่พอ พอโดนถอดแล้ว ต้องโดนคุกหนักๆ เอาให้ชีวิตนี้ออกมาโกงใครเขาไม่ได้อีกเลย แบบนี้ถึงสาสมกับโทษของมันครับ
    อันที่จริง การทุจริตของนักการเมืองไทยนั้นท่วมฟ้า สาธยายเป็นวันมันจะหมดหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่นี่คือยกตัวอย่างคร่าวๆ
    รัฐสภา ผู้แทนที่ไปหาเสียงนั้น มักจะขอให้ประชาชนเลือกตน เพื่อที่ตนจะได้รับใช้ประชาชน แต่พอเข้าสภาไปแล้วกลับไม่รับใช้ประชาชน กลับใช้ตำแหน่งหาผลประโยชน์เข้าตัว ถึงเวลาประชุมก็โดดอีก ปัญหาบ้านเมืองเลยไม่ได้มาถกกัน เอาเข้าไป
    เราต้องปรับปรุงตัวบทกฏหมายให้ลงโทษคนโกงกินบ้านเมืองอย่างหนัก ปรับปรุงกลไกการตรวจสอบคนทุจริตของระบอบนี้ให้ดีขึ้น ตลอดจนปลูกฝังประชาชนไม่ให้ยอมก้มหัวให้คนโกง เห็นผู้แทน ข้าราชการคนไหนโกง ต้องเอามันออกให้ได้
    ศาล ศาลเป็นสถาบันที่หยิบยื่นความยุติธรรมแก่ประชาชน แต่ถ้าศาลไม่ยุติธรรมซะเอง ก็อย่าหวังว่าสังคมจะยุติธรรมได้ (มีแต่จะยุติความเป็นธรรมเสียมากกว่า)
    ถามว่าผู้พิพากษาเป็นใคร ก็คือคนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆนี่แหละ กิเลศ รัก โลภ โกรธ หลง มีครบ แค่เรียนกฏหมายเก่งกว่าชาวบ้านและสอบเข้ามาได้หัวโขนนี้ไปครองเท่านั้น ทาง ก.ต. มิได้ตั้งกฏเกณท์ว่า คนมีศีลหรือคนมีคุณธรรม จึงจะเป็นผู้พิพากษาได้ เมื่อไม่มีกฏเกณท์อย่างนี้ ก็เท่ากับเอาคนธรรมดามานั่งตัดสินคดี (แถมยังกำหนดขั้นเงินเดือนสูงๆ ไว้ล่อตาล่อใจ พวกละโมบโลภมากให้มาทำงานแบบนี้อีก เอาเข้าไป)
    ในการตัดสินคดี ถ้าคู่ความมีเงิน แล้วติดสินบนผู้พิพากษา ซ้ำผู้พิพากษายังเป็นคนทุศีล ไม่ซื่อตรง ไม่กลัวนรกอีก คู่ความที่เป็นคนดีแต่ไม่มีเงินจะรอดหรือ
    วิธีแก้ไขก็คือ อย่างแรกเราต้องปรับปรุงอาชีพตุลาการให้สามารถคัดคนซื่อตรงมาเป็นตุลาการได้จริงๆ เช่น เงินเดือนต้องน้อย และยังต้องเป็นคนสัมมาทิฏฐิ เชื่อเรื่องกรรม เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ถ้าเป็นศาสนาอื่น ก็เชื่อว่าทำชั่วแล้วพระเจ้าจะลงโทษ คนที่ไร้คุณสมบัติดังกล่าวก็อย่าไปรับมันมาเป็นผู้พิพากษา ตำแหน่งนี้ทำลายชีวิตคนได้ ดังนั้นต้องคัดให้ดี ไม่งั้นคนคัดมีกรรมด้วย
    พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเนมิราชชาดกโดยสรุปว่า พระราชา (อำมาตย์ของพระราชา) อาศัยกำลังสามประการที่ตนมีอยู่ คือ กาย-พละกำลังกายที่แข็งแรงกว่า โภค-พละกำลังทรัพย์ที่มากมาย และอาณาพละ กำลังอำนาจที่มีตำแหน่ง แล้วข่มเหงราษฎร ผู้ไม่มีอำนาจเหล่านั้นให้ได้รับความเดือดร้อน เมื่อตายไปแล้วจะไปเกิดในตาปนนรก (เป็นมหานรกเลย แต่จำไม่ได้แล้วว่าขุมที่เท่าไร)
    เรื่องแบบนี้ถ้าเชื่อก็ดีแล้ว ไม่มีอันใดต้องเสียหากเชื่อ แต่ถ้าไม่เชื่อก็ขอให้ลองเชื่อไว้บ้างก็ดี เพราะจะทำให้ผู้ปกครองหรือข้าราชการกลัวบาปกลัวกรรม จะได้ไม่กล้าใช้อำนาจไปในทางที่ผิด แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้คนมันไม่ค่อยเชื่อเรื่องเหล่านี้เลย เพราะศึกษาน้อย พอศึกษาน้อยก็ทึกทักไปว่าไม่มีจริง นี่ถ้าลองศึกษาให้ถึงที่สุดนะ จะรู้เองว่ามีจริง เรื่องแบบนี้พิสูจน์กันได้อยู่แล้วครับ ถ้าพิสูจน์กันไม่ได้ พระพุทธองค์คงไม่ตรัสกาลามสูตร จะเชื่อได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ด้วยตนเองแล้วหรอก
    ลองพิสูจน์ด้วยตนเองดูสิ ถ้าไม่จริงก็มาตัดคอผมคนนี้ไปได้เลย

    ๕.ความอ่อนโยน
    การประพฤติตนอ่อนโยนต่อประชาชน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี ยิ่งมาในทุกวันนี้ ที่ชะตากรรมของผู้ปกครองอยู่ในมือของประชาชน ผู้ปกครองยิ่งต้องมีธรรมข้อนี้ให้มากๆกว่าสมัยที่ผ่านๆมา คิดดูสิว่า นักการเมืองที่เป็นคนถือยศถือศักดิ์ ดูถูกเหยียดหยามประชาชน ไม่ยอมอ่อนโยนกับประชาชน อะไรมันจะเกิดขึ้นกับนักการเมืองคนนั้น อาจจะโดนถอดถอน ไม่ก็สอบตกในสมัยหน้า
    ในขณะเดียวกัน นักการเมืองที่อ่อนโยน (หรืออ่อนน้อม?) กับประชาชน เป็นกันเองกับประชาชน ไม่แข็งกระด้าง ไม่ยกตนข่มประชาชน ไม่ถือยศศักดิ์ แบบนี้จะเป็นนักการเมืองที่มีเสน่ห์ต่อประชาชน ประชาชนจะรักใคร่นักการเมือง หรือข้าราชการในลักษณะนี้มากกว่านั่นเอง
    ผมคิดว่า เราน่าจะมีการออกกฏหมาย ให้ประชาชนสามารถร้องเรียนนักการเมืองหรือข้าราชการที่ชอบยกตนข่มประชาชน ขึ้นไปทำบัตรบนอำเภอก็โดนตวาดใส่อย่างหน้าด้านๆ ซึ่งน้กการเมืองหรือข้าราชการที่ทำผิดจริงต้องถูกถอดจากตำแหน่ง แต่นี่ยังไม่นับในส่วนของคดีอาญา โทษคดีอาญาก็ส่วนโทษในทางอาญาไป

    ๖.ความเพียร
    นักการเมืองและข้าราชการทุกคนจะต้องไม่เกียจคร้านการงาน ถ้าเป็นคนเกียจคร้านก็อย่ามาทำงานที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมแบบนี้
    อาชีพนักการเมืองหรือข้าราชการนั้นเป็นอาชีพที่ต้องเจอกับอุปสรรคมากมายในการทำงาน ไม่ว่าจะจากเพื่อนร่วมงานที่ไม่เอาการเอางานเท่าเรา จากตัวบทกฏหมายที่ปิดกั้นความสามารถในการแก้ปัญหาของเรา ตลอดจนจากประชาชนบางคนที่เป็นพวกพูดไม่รู้เรื่อง ชี้แจงเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ตำรวจบางคนจะไปจับประชาชนที่ผิดกฏจราจร ยังโดนเขาตวาดใส่ อ้างว่าพ่อตัวใหญ่เลย ดังนั้นถ้าไม่มีความเพียรเสียแล้ว ก็ไปไม่รอดกับงานแบบนี้หรอก หรือถ้าทำงานใดๆ แล้วไม่ยอมใช้ความเพียร ก็ยากที่งานจะสำเร็จหรือคุณภาพดีได้นั่นเอง
    เรื่องความเพียรนี้ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีกฏหมายรับรองก็ได้ครับ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคนมากกว่า

    ๗.ความไม่โกรธ
    ถ้ามีทศพิศราชธรรมข้อนี้ นักการเมืองหรือข้าราชการก็ไม่มีความโกรธ อารมณ์เย็น มีความเมตตาต่อประชาชน
    ในทางกลับกัน หากนักการเมืองหรือข้าราชการปล่อยให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผลแล้ว ก็จะทำให้การงานที่ทำอยู่เสื่อมเสีย ถ้าเป็นผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีขณะกำลังโกรธจนโงหัวไม่ขึ้น อาจตัดสินประหารชีวิตประชาชนไปตามอารมณ์ได้
    พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า (สรุปเอา) “พระเจ้าแผ่นดินเมื่อทรงทราบว่าตนกำลังโกรธไม่ควรลงอาญา เพราะการลงอาญากำลังโกรธ อาจจะเป็นการลงอาชญาที่ไม่ถูกต้อง”
    ผู้นำที่ปล่อยให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ยังมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะรักษาอำนาจของตนเอาไว้ไม่ได้ เพราะผู้นำประเภทนี้มักจะถูกคู่แข่งหรือคนที่ไม่ชอบ ใช้ประโยชน์จากความวู่วามนั้นได้ จนคนดีต้องกลายเป็นคนร้ายไปเลย เช่น ส.ส.คนหนึ่ง เป็นคนดี แต่คุมอารมณ์ไม่ได้ โดน ส.ส. เลวยั่วโทสะจนทนไม่ไหว เดินไปต่อยหน้า ส.ส. เลว ทำให้ภาพพจน์เขาเสื่อมเสีย คนดีกลายเป็นคนร้ายไปเลย
    อีกกรณีหนึ่ง คือเมื่อ ทหาร เป็นอาชีพที่คุมความโกรธของตนไม่ค่อยได้ เวลาเห็นนักการเมืองโกงกินมักทนไม่ไหว ต้องก่อรัฐประหาร ทั้งๆที่ตัวระบอบประชาธิปไตยก็มีกลไกแก้ปัญหานี้อยู่ แค่ปรับปรุงนิดๆหน่อยๆก็ใช้ได้แล้วแท้ๆ (หรืออาจจะยึดอำนาจด้วยเหตุผลอื่นนอกจากความโกรธแค้น คือ ความกระหายอำนาจอย่างเกินพอดีก็ได้) ซึ่งทหารนั้นเมื่อได้เป็นนายกแล้วก็มักจะอยากเป็นอยู่ตลอดไปจนประชาชนเบื่อหน่าย วันหนึ่งนักศึกษาทนเบื่อไม่ไหว ก่อม็อบประท้วง นายกทหารคุมความโกรธไม่ไหว สั่งฆ่านักศึกษาตายเป็นเบือ แทนที่จะรักษาอำนาจไว้ได้ กลับต้องมาหนีออกนอกประเทศ
    ด้วยประการเช่นนี้ นักการเมืองและข้าราชการที่ต้องการช่วยเหลือบ้านเมือง จะละธรรมข้อนี้ไม่ได้เลย

    ๘.การไม่เบียดเบียน
    ข้อนี้ก็สำคัญ รัฐบาลและข้าราชการทุกระดับมีหน้าที่ดูแลรับใช้ประชาชน แต่ถ้ามาเบียดเบียนประชาชนเสียเอง เช่น เก็บส่วย อุ้มประชาชนมาฆ่า โกงกินบ้านเมืองจนประชาชนเดือดร้อน แบบนี้เรียกว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเสียชาติเกิด เกิดมาทำไมเป็นคน ไปเกิดเป็นสุนัขยังดีเสียกว่า จะได้ทำได้แค่ไล่กัดเขา โกงกินเขาไม่ได้
    รัฐบาลและข้าราชการเป็นอาชีพที่มีอำนาจมากในสังคม ผูกขาดอำนาจการปกครองประเทศ กำลังอาวุธ ตำรวจ กองทัพ เศรษฐกิจ ไว้ หากใช้อำนาจนั้นไปในทางที่เป็นประโยชน์ก็จะดีไม่น้อย แต่ถ้าใช้มันเบียดเบียนประชาชนแล้วไซร้ ประชาชนมากมายต้องมาสังเวยชีวิตอย่างแน่นอน
    รัฐบาล ในฐานะเป็นผู้ปกครองสูงสุดของข้าราชการ หากไม่ประพฤติธรรมข้อนี้ ปล่อยให้ข้าราชการในปกครองข่มเหงประชาชน (หรือลงมือทำเสียเอง) จนประชาชนเดือดร้อน หมดที่พึ่ง ก็ไม่ใช่รัฐบาล เป็นแค่โจรที่ต้องถูกกำจัดเท่านั้น
    ในกรณีที่คนเบียดเบียนประชาชนคือข้าราชการคนหนึ่ง โดยที่รัฐบาลไม่มีส่วนรู้เห็นเลยนั้น ในกรณีนี้ก็ต้องถือว่ารัฐบาลก็มีความผิดด้วย เพราะรัฐบาลไม่ดูแลข้าราชการให้ดี ปล่อยให้มารังแกประชาชนได้ โดยไม่หาทางป้องกันไว้ก่อน นี่ถ้ารัฐบาลรู้จักปรับปรุงระบบราชการให้ดีกว่านี้ มาในวันนี้ประชาชนคงไม่ถูกรังแก เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้รัฐบาลจะไม่ได้ลงมือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเสียเอง แต่ก็มีความผิดอยู่ดี อย่าลืมว่าแผ่นดินทุกตารางนิ้ว รัฐบาลมีอำนาจบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน จะปล่อยให้ประชาชนในอณูแผ่นดินชิ้นไหนเดือดร้อนไม่ได้เป็นอันขาด มดก็อย่าให้ไต่ ไรก็อย่าให้ตอมเชียว ถ้าปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อนเพราะการกระทำของใครก็ตาม ก็เรียกได้ว่ารัฐบาลไม่ประพฤติทศพิธราชธรรมข้อนี้
    แม้แต่เด็กนักเรียนไปโรงเรียน แล้วโดนเพื่อนแกล้ง ก็ถือเป็นความผิดของรัฐบาลเช่นกัน โทษฐานที่กำกับดูแลครูไม่ดี ปล่อยให้เด็กตีกัน เรื่องนี้ติดกรรมกันถ้วนหน้าครับ ทั้งเด็กหัวไม้ที่แกล้งเพื่อน ครูที่ปล่อยปะละเลย รัฐบาลที่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นโดยไม่หาทางป้องกันไว้ก่อน
    ประเทศไทยในทุกวันนี้ มีประชาชนเดือดร้อนนับจำนวนเป็นแสนคน เพราะการข่มเหงของนักการเมืองบ้าง ข้าราชการบ้าง คนมีเงินบ้าง โจรผู้ร้ายบ้าง สามีบ้าง ภรรยาบ้าง ลูกบ้าง พ่อแม่บ้าง ครูบ้าง ประชาชนด้วยกันบ้าง
    รัฐสภา รัฐสภาไม่ได้มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนได้โดยตรงเหมือนรัฐบาล แต่การออกกฏหมายเบียดเบียนประชาชนของ ส.ส. ส.ว. และการใช้อิทธิพลส่วนตัวข่มเหงรังแกประชาชนนั้น ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้
    ถ้าสมาชิกรัฐสภาประพฤติในราชธรรมข้อนี้ ไม่ออกกฏหมายรังแกประชาชน ออกแต่กฏหมายป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกรังแก หรือป้องกันไม่ให้ประชาชนรังแกกันเอง และตนเองก็ไม่ไปเบียดเบียนประชาชน แม้อย่างนี้ก็เรียกว่า สมาชิกรัฐสภาได้ประพฤติทศพิธราชธรรมข้อนี้แล้ว
    ตุลาการ ผู้พิพากษามีโอกาสเบียดเบียนประชาชนอยู่เรื่องเดียว คือ ตัดสินคดีความไม่เป็นธรรม ด้วยความไม่รอบคอบ ด้วยการรับใต้โต๊ะ คนบริสุทธิ์พอถูกจับก็หวังว่าศาลจะเป็นที่พึ่งได้ เพราะตนทำถูก ศาลจะต้องไม่ลงโทษตน แต่พอโดนศาลลงโทษ คนบริสุทธิ์คนนั้นก็ได้แต่ปรับทุกข์กับตนว่าเราคิดผิด ศาลนี่พึ่งไม่ได้เลย รู้งี้เป็นคนชั่วเสียตั้งแต่แรกยังดีกว่า นักโทษที่อยู่ในคุกทุกวันนี้ จะต้องมีไม่มากก็น้อยที่ถูกศาล “เปลี่ยนให้เป็นคนร้าย” อย่างที่กล่าวมาข้างต้น
    หากตุลาการจะมีทศพิธราชธรรมข้อนี้ จะต้องมีความรอบคอบในการพิจารณาคดี ไม่รับใต้โต๊ะ และแสดงความรับผิดชอบหากว่าตนตัดสินผิดพลาด

    ๙.ความอดทน
    ความอดทนเป็นคุณธรรมที่มนุษย์ทุกคนต้องมี เพราะสร้างอะไรๆให้มนุษย์ได้หลายอย่าง อยากจะเอาชนะอุปสรรคต่างๆก็ต้องมีความอดทน ยิ่งเป็นผู้ปกครองอีก ต้องเจออุปสรรคในแต่ละวันเยอะกว่าชาวบ้านเขา ความอดทนยิ่งจำเป็นมากขึ้นไปอีก
    อย่างที่เคยกล่าวไปว่า ความอดกลั้นที่มีคุณธรรมก็คือ ความอดกลั้นของผู้มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ใช่อดกลั้นเพราะกลัว ซึ่งไม่ขอกล่าวซ้ำ สถาบันการปกครองทั้งสาม จะต้องสร้างความอดทนให้เกิดขึ้นในตนทุกคน ถ้าไม่มีย่อมก่อผลเสียทั้งส่วนตัวและส่วนรวม
    รัฐบาล สถาบันนี้ดูเหมือนจะต้องมีความอดทนเป็นพิเศษ เพราะมีเรื่องที่ต้องอาศัยความอดทนอยู่เสมอ เช่น แม้ว่าประเทศจะพ้นอำนาจทหารมาแล้ว แต่ทหารมันก็ยังเบ่งใส่รัฐบาลอยู่ ว่าข้ามีปืนว้อย ถึงจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่เมื่อต้องการอะไร เอ็งต้องจัดให้หมดนะ ไม่งั้นจะยึดอำนาจ รัฐบาลก็คงจะโกรธๆอยู่ แต่ไม่กล้าโต้ตอบ เพราะกลัวเขาจะมายึดอำนาจเอา แต่ก็ต้องยอมๆเขาไปก่อน เพื่อประคองระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ความอดทนในลักษณะนี้เป็นความอดทนเพราะความกลัว แต่ถ้าเกิดว่าทนไปได้จนระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งเมื่อไร แล้วค่อยไม่ยอมทหารอีกต่อไป ก็จัดว่าเป็นความอดทนที่มีประโยชน์
    ถ้าหากว่ารัฐบาลอดกลั้นต่อการกล่าวหาของหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์บางฉบับไม่ชอบรัฐบาล ก็หาทางกล่าวโจมตี ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง รัฐบาลก็ต้องอดทนอดกลั้น แม้ว่าตนจะมีอำนาจจัดการกับหนังสือพิมพ์นั้นได้อยู่ แต่ก็คิดไปว่า นี่เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะวิจารณ์รัฐบาล แบบนี้เรียกว่าอดกลั้นอย่างมีคุณธรรม
    รัฐสภา ต้องใช้ความอดทนในการเข้าพบปะประชาชนเพื่อไต่ถามสารทุกข์ มาเสนอให้รัฐบาลช่วยแก้ไข ประชาชนบางคนอาจจะพูดไม่รู้เรื่อง มาปุ๊บก็ด่าอย่างเดียว ทั้งๆที่ผู้แทนยังไม่ได้ทำอะไรเลย อันนี้ก็ต้องทน นอกจากนี้ในการประชุมสภา ผู้แทนควรมีความอดกลั้นด้วย ไม่ใช่ไม่พอใจก็เดินไปต่อยเขา
    ตุลาการ ศาลต้องใช้ความอดทนในการพิจารณาคดี พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใช่สักแต่ว่าตัดสินไป ซึ่งจะทำให้เสียความเป็นธรรมได้ นอกจากนี้หากว่าศาลถูกวิจารณ์ ก็ไม่ควรไปพาลจับเขาเข้าคุกดื้อๆ เพราะเขาอาจจะวิจารณ์เพราะความหวังดีก็ได้ ผมคิดว่าน่าจะมีการปรับปรุงกฏหมายหมิ่นต่างๆ เช่น หมิ่นศาล หมิ่นประมาท เพราะกฏหมายเหล่านี้ทำคนที่วิจารณ์คนอื่นเพราะความหวังดีต้องนอนคุกกันไปมากแล้ว คนเราน่ะควรมีขันติต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ของคนอื่นให้ได้ คำวิจารณ์ไหนดีก็นำมาประบปรุงตัว ไม่ใช่เขาติหน่อยก็จับเขาเข้าคุก แบบนี้ไม่มีคุณธรรมเลย

    ๑๐.ความหนักแน่นในธรรม
    ผู้นำต้องมีจิตใจหนักแน่นในความถูกต้อง ไม่เอนเอียนตามความยุยงที่ไม่เป็นธรรม อย่าปล่อยให้ใครมาใช้ตนฆ่าคนบริสุทธิ์ได้ ถ้าผู้นำไม่หนักแน่นในความถูกต้อง เป็นคนใจโลเล หลงเชื่อคำพูดของลูกน้องที่หัวประจบสอพลอ (ทำดีเออออ ทำชั่วเออออ ต่อหน้าสรรเสริญ ลับหลังนินทา) ผู้นำแบบนี้อาจทำลายคนดีของบ้านเมืองได้
    มีปราชญ์การเมืองตะวันตกคนหนึ่ง กล่าวเอาไว้ว่า โดยวิสัยของผู้นำ ไม่มีทางประสบหายนะเพราะตัวเอง ประชาชน หรือคู่แข่งทางการเมืองได้ แต่จะประสบกับหายนะเพราะการเลี้ยงลูกน้องหัวประจบสอพลอเอาไว้ โดยปกติผู้นำโดยทั่วไป มักจะชื่นชอบลูกน้องที่ประจบสอพลอเก่งมากกว่าลูกน้องที่ซื่อสัตย์ ซึ่งพวกนี้ก็จะทำลายผู้นำได้ในภายหลัง
    ลักษณะของข้าราชการหัวประจบสอพลอ ก็คือ พอพบว่านโยบายของรัฐบาลสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ก็กลับไม่ยอมรายงานรัฐบาลผู้เป็นเจ้านายตามความเป็นจริง แต่กลับรายงานไปว่า นโยบายของนายได้ผล ประชาชนอยู่ดีกินดี รัฐบาลที่หูเบาหลงเชื่อ ก็จะเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินนโยบายนั้นเข้าไปอีก ประชาชนก็เดือดร้อนหนักเข้าไปอีก ผลสุดท้ายพอถึงการเลือกตั้งคราวหน้า รัฐบาลชุดนี้ก็สอบตก เพราะหลงเชื่อคำพูดของข้าราชการหัวประจบสอพลอ
    เหตุที่ข้าราชการบางคนมีนิสัยเช่นนี้ ก็เพราะว่าพวกนี้มีคติว่า บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เจ้านายจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะเดือดร้อนแค่ไหน เราไม่สน เราสนแค่ให้เจ้านายตบรางวัลให้เท่านั้น พวกนี้จึงไม่กล้ารายงานข้อผิดพลาดของเจ้านายให้เจ้านายฟังตามความเป็นจริง เพราะกลัวเจ้านายจะลงโทษ พวกนี้จะรายงานเฉพาะเรื่องที่เสนาะหูเจ้านาย แม้มันจะไม่มีมูลความจริง เพราะหวังจะให้เจ้านายตบรางวัล / เลื่อนขั้นให้เท่านั้น
    อนึ่ง พวกนี้มันไม่ได้ห่วงเจ้านายจริงๆหรอก มันก้แค่อยากรีดไถผลประโยชน์จากเจ้านายเท่านั้น ถ้ามันห่วงจริง มันต้องกล้ารายงานข้อผิดพลาดของเจ้านายตามความเป็นจริงสิ ไม่งั้นประชาชนที่เขาเดือดร้อนจากนโยบายของเจ้านาย เขาก็จะเกลียดเจ้านายเอาสิ จึงไม่น่าแปลกอะไร เวลาที่รัฐบาลชุดหนึ่งๆต้องล้มไปเพราะความสอพลอเก่งของข้าราชการชุดนี้ แล้วมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นแทน ข้าราชการพวกนี้จะพากันย้ายข้างทิ้งเจ้านายเก่าที่ใช้การไม่ได้แล้วกันเป็นแถบ
    ส่วนลักษณะของข้าราชการที่ซื่อสัตย์ ก็คือ รายงานทุกอย่างให้เจ้านายทราบตามความเป็นจริงเสมอ โดยไม่เกรงกลัวว่าเจ้านายจะลงโทษ ถ้าเจ้านายทำผิด พวกนี้จะกล้าห้ามปราม เพราะพวกนี้ห่วงใยเจ้านายและประชาชนอย่างแท้จริง หากนโยบายของนายผิดพลาด ทำประชาชนเดือดร้อน พวกนี้จะห่วงประชาชนที่เขาเดือดร้อน และห่วงว่าประชาชนอาจจะเกลียดเจ้านายได้ จึงรายงานข้อผิดพลาดของเจ้านายตามความเป็นจริง เพื่อให้เจ้านายปรับปรุงนโยบายของตนเสียใหม่ จะได้เป็นประโยชน์กับทั้งประชาชนและตัวเจ้านายเอง
    ซึ่งรัฐบาลส่วนใหญ่นั้น รักที่จะฟัง “เรื่องที่ตนอยากจะฟัง เช่น นโยบายของท่านได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ชาวบ้านชื่มชมท่านใหญ่เลย” มากกว่า “เรื่องที่ตนควรจะฟัง เช่น ท่านครับ นโยบายของท่านผิดพลาดครับ ประชาชนเดือดร้อนกันใหญ่แล้ว ท่านต้องปรับปรุงนโยบายของท่านใหม่แล้วนะครับ” ทำให้ผู้นำส่วนใหญ่มักจะรักษาอำนาจไว้ไม่ได้ด้วยประการเช่นนี้
    ผู้นำที่ดี ต้องเลี้ยงลูกน้องให้เป็น อย่าเลี้ยงคนประจบสอพลอ ให้เลี้ยงไว้เฉพาะลูกน้องที่ซื่อสัตย์กล้าหาญเท่านั้น คำพูดที่ไม่ถูกใจ แต่ถูกต้อง เป็นคำพูดที่ผู้นำที่ฉลาดต้องฟัง ไม่ใช่คำพูดที่ถูกใจ แต่ไม่ถูกต้อง ลูกน้องคนไหนกล้าติเตียนเจ้านายด้วยความหวังดี เจ้านายที่ฉลาดต้องให้รางวัล ไม่ใช่ไปปลดเขา ตรงกันข้าม ลูกน้องคนไหนเอาแต่ประจบประแจงเจ้านาย ปลดมันเลย อย่าเลี้ยงไว้เป็นหนูกินข้าวแล้วยังมาเผาที่นาชาวบ้าน
    รัฐบาล ถ้าเป็นรัฐบาล ก็เหมือนที่ปราชญ์ตะวันตกบอก นอกจากนี้เวลาเห็นใครทำผิด ก็ต้องดำเนินคดี อย่าไปเลือกปฏิบัติหาว่าเขาเป็นคนรวย เราไม่กล้าเล่น อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่หนักแน่นในธรรม ไม่ถือธรรมะความถูกต้องเป็นใหญ่
    รัฐสภา เป็นต้นว่าประธานสภา ต้องหนักแน่นในธรรม ไม่งั้นคุมการประชุมไม่ได้ ส่วนผู้แทนนั้นเวลาไปรับฟังข้อคิดเห็นของชาวบ้าน ก็อย่าไปฟังคนสอพลอ ให้ฟังคนที่พูดจริง
    ตุลาการ ศาลต้องรับฟังคดีของคู่กรณีอย่างเป็นธรรม มีความหนักแน่นไม่เอนเอียง ไม่หลงคารมโกหก อย่าไปเอนเอียงเข้าข้างใครเพราะเขาเป็นญาติ หรือเป็นคนรวย เพื่อไม่ให้การตัดสินคดีความเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม
    ทั้งหมดนี้คือการปรับใช้ทศพิธราชธรรมเข้ากับระบอบการปกครองสมัยใหม่ จะเห็นได้ว่าธรรมะของพระพุทธองค์นั้นไม่ได้ล้าหลังเลย
    อนึ่ง ในระบอบนี้ ผู้ปกครองหรือข้าราชการที่ทุศีล ไม่ใช้ธรรมะปกครองบ้านเมือง ไม่อ่อนโยนกับประชาชน ถือยศศักดิ์ ถือตัว ยกตนข่มประชาชน ก็จะมีโอกาสถูกองค์กรอิสระหรือประชาชนถอดถอนได้ ไม่เหมือนกับระบอบราชาธิปไตยที่ต่อให้ทุศีลแค่ไหนก็ถอดถอนไม่ได้ ผู้ปกครองและข้าราชการทุกคนในระบอบนี้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษอย่าให้ตนละเมิดศีลธรรมเด็ดขาด ไม่งั้นหัวโขนหลุดได้ง่ายๆนะ เราขอเตือน



    กรณีของประชาชนทั่วไป​

    สำหรับการที่ประชาชนทั่วไปต้องมีธรรมะด้านการปกครองนั้น ก็เพราะว่าโดยเนื้อหาแล้วระบอบนี้ประชาชนใหญ่สุด เป็นผู้ปกครองตัวจริง ดังนั้น มันจึงไม่เพียงพอที่อำนาจอธิปไตยทั้งสามจะใช้ธรรมะด้านการปกครองเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปก็ควรจะมีธรรมะด้านการปกครองเหล่านี้ด้วย
    ดูอย่างการเลือกตั้งผู้แทน หากว่าประชาชนไม่มีธรรมะในการปกครอง เลือกคนเพราะอคติ ๔ ก็จะได้ผู้แทนเลวๆมาปกครอง หรือการเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ หากว่าประชาชนขาดธรรมะด้านการปกครอง ก็จะเสนอข้อเรียกร้องที่เป็นอธรรมให้แก่รัฐบาลพิจารณา ซึ่งถ้ารัฐบาลเป็นพวกอธรรมอีก ก็จะแปลงข้อเรียกร้องนั้นให้กลายเป็นนโยบายใช้บังคับกับประชาชนคนอื่นๆต่อไป
    เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้การปกครองที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้ในระบอบนี้ ประชาชนทุกคนจะต้องหมั่นตรวจสอบ หมั่นสังเกตุ พฤติกรรมของนักการเมือง หรือแม้แต่คนรอบข้าง ว่าเขามีธรรมะด้านการปกครองอยู่ในใจหรือไม่ หรือไม่ต้องถึงขั้นนั้นก็ได้ เอาแค่เขามีศีลห้า หรือกุศลธรรมสิบหรือเปล่า หากไม่มีเราก็ต้องหาทางทำให้เขามีให้ได้
    ถ้าหากพบว่านักการเมืองหรือข้าราชการคนใด ไม่ใช้ธรรมะในการปกครองหรือปฏิบัติงาน ประชาชนก็ควรเข้าไปกดดันให้เขาหันมาใช้ธรรมะในการปกครองหรือการทำงานให้ได้ เช่น ขู่ว่าถ้าไม่มีทศพิศราชธรรม จะล่ารายชื่อถอดถอนนะ หรือการก่อม็อบประท้วงขับไล่ข้าราชการคนใดๆ ในอำเภอ ที่ประพฤติไม่อ่อนโยนกับประชาชน ไปตวาดว๊ากใส่ประชาชน เป็นต้น
    ถ้าหากพบคนใกล้ตัว ไม่มีศีลธรรม ก็ต้องหาทางทำให้เขามีศีลให้ได้ ระบอบนี้ต้องช่วยกันหมดครับ ไม่งั้นไปไม่รอด
    อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประชาชนทั่วไปจะต้องมีธรรมะด้านการปกครองด้วยก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังมีโอกาสได้ใช้ธรรมะเหล่านั้นในการปกครองจริงๆได้น้อยกว่าอำนาจอธิปไตยทั้งสาม อำนาจอธิปไตยทั้งสาม โดยเฉพาะอำนาจบริหารนั้น สามารถใช้ธรรมะในการปกครองได้แทบจะตลอดเวลา แต่ประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสใช้ได้ในบางเวลาเท่านั้น เช่น ในช่วงเลือกตั้ง ในการเสนอข้อเรียกร้องของตนให้กับรัฐบาล ซึ่งก็มีไม่ตลอดเวลา และการที่ประชาชนทั่วไปจะมีธรรมะด้านการปกครองประจำอยู่ในจิตใจหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจอธิปไตยทั้งสาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล ว่าขยันผลักดันประชาชนให้เข้าหาธรรมะหรือไม่ ขยันปลูกฝังธรรมะให้ประชาชนหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เข้าหาธรรมะเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับการผลักดันก่อนนั่นเอง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มีนาคม 2013
  8. วิหคอิสระ

    วิหคอิสระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    758
    ค่าพลัง:
    +1,318
    ยาวเกินไปขี้เกียจอ่านมีไฟล์เสียงไหม
     
  9. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    อันนี้ต้องขออภัยจริงๆครับ ผมมีปัจจัยในการสร้างสรรค์ผลงานด้อยกว่าหลายๆคน จึงทำได้เพียงการพิมพ์ลงเวิร์ดแล้วค่อยเอามาอัพลงเวปภายหลังเท่านั้น นอกนั้นผมทำไม่เป็นครับ
    ตอนแรกป้าผมก็แนะให้ทำเป็นเทปเสียงด้วย แต่ผมก็ทำให้ไม่ได้ เหตุผลคือ ไมล์ไม่มี ถึงมีก็ปรับแต่งไม่เป็น หรือต่อให้ปรับแต่งได้ ก็คงจะไม่มีเวลามานั่งอ่านจนออกมาเป็นไฟล์เสียงอยู่ดีนั่นแหละครับ

    แต่ผมก็ไม่ห้ามนะ ว่าถ้าใครเกิดติดใจ อยากจะนำเอาบทความนี้ ไปเผยแพร่ในลักษณะใดๆ เช่น ก็อปเอาไปลงไว้เวปอื่น โยงลิงค์มาเวปนี้ เอาไปอัดเป็นไฟล์เสียง คลิปวิดีโอ ฯลฯ ผมไม่ห้ามเลย ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตผมก่อนด้วย ทำโดยพละการได้เลย ผมจะไม่คิดตังค์ จะไม่คิดถึงเรื่องลิขสิทธิ์เลย เพราะผมถือว่านี่คืองานใหญ่ ต้องช่วยกันครับ

    ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านละเอียดก็ได้ ที่ผมเขียนไว้ยาวๆก็เพื่อ เผื่อเอาไว้ ว่าถ้าในอนาคตจะมีใครคิดจะนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปกครองประเทศ แล้วไม่รู้ว่าจะต้องทำเช่นไรบ้าง ได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในกิจนั้น

    สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปนั้น ไม่จำเป็นต้องอ่านจนหมดทุกตัวอักษร หรือทุกหัวข้อก็ได้ แค่อ่านแบบสกิมมิ่งก็พอ (อ่านแบบโดดข้าม เอาพอจับใจความได้คร่าวๆ แต่อย่าถึงกับข้ามชนิดที่เรียกได้ว่า ไม่เข้าใจเลยนะ แบบกรณีบาง คห. ที่อ่านไม่เข้าใจแล้วมาโวยวาย อย่างนี้ผมก็แย่เหมือนกันครับ)

    ปล. อันที่จริงแล้ว การที่ผมมาเขียนบทความนี้ ใช่ว่าจะไม่มีใครเคยรู้ล่วงหน้ามาก่อน เพราะก่อนหน้านี้อาจารย์เจน ญาณทิพย์ ก็ได้เคยทำนายเอาไว้แล้วว่า ต่อไปผมจะต้องเขียนงานเขียนแบบนี้ขึ้นมาครับ อันนี้ผมไม่ได้โม้นะ ไปถามเจ้าตัวดูได้เลยครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มีนาคม 2013
  10. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    อปริหานิยธรรม – ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม​

    ระบอบการปกครองของแว่นแคว้นต่างๆในสมัยพุทธกาลมีสองระบอบ คือ ระบอบราชาธิปไตย ซึ่งพระราชาองค์เดียวมีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบเผด็จการ ไม่อาจควบคุมตรวจสอบได้ กับระบอบสามัคคีธรรม หรือคณะราชา ซึ่งปกครองโดยสภาของคนชั้นสูงซึ่งเป็นเครือญาติกัน มติสำคัญในการปกครองต้องผ่านที่ประชุมสภา
    หลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่เหมาะกับการที่ผู้ปกครองในระบอบนี้จะนำมาปฏิบัติ เพื่อให้การปกครองในระบอบแบบนี้ได้ผล ก็คือ หลักอปริหานิยธรรม
    ในสมัยนั้น นอกจากแคว้นสักกะอันเป็นพุทธภูมิแล้ว ยังมีแคว้นวัชชีที่ปกครองในระบอบสามัคคีธรรมหรือสาธารณรัฐนี้ แคว้นวัชชีมีคณะผู้ปกครองเรียกว่า คณะราชาลิจฉวี
    พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธอันเป็แคว้นที่เข้มแข็งทีสุดในสมัยพุทธกาล ต้องการจะยึดครองแคว้นวัชชี จึงใช้วัสสการพารหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ ไปถามพระพุทธองค์ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูจะยกทัพมาปราบแคว้นวัชชีจะสำเร็จหรือไม่ พระพุทธองค์จึงสอนวัสสการพราหมณ์ว่า พวกเจ้าวัชชีประกอบหลักอปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดข้อ ย่อมไม่มีเสื่อม วัสสการพราหมณ์ก็ทูลว่า แค่ปฏิบัติเพียงข้อหนึ่งๆก็หาความเสื่อมมิได้แล้ว
    วัสสการพราหมณ์กลับไปทูลพระเจ้าอชาตศัตรูว่ายังยกทัพไปปราบแคว้นวัชชีไม่ได้ เพราะชาววัชชียึดมั่นในอปริหานิยธรรม เว้นแต่จะหาทางแก้ไขไม่ให้เจ้าวัชชีปฏิบัติอปริหานิยธรรมต่อไป จึงจะรุกรานวัชชีได้สำเร็จ
    แสนยานุภาพของแคว้นวัชชีนั้นสู้แคว้นใหญ่อย่างมคธไม่ได้เลย แต่ถึงกระนั้นมคธกลับต้องยับยั้งไม่ยอมส่งกองทัพเข้ายึดครองวัชชีอย่างทันที เพราะชาววัชชียึดมั่นในอปริหานิยธรรม แคว้นมคธต้องทำอุบายยุยงให้เจ้าลิจฉวีทั้งหลายแตกความสามัคคีกัน จากที่เคยประชุมก็ไม่ไปประชุม ถึงไปก็ไปทะเลาะกัน หลักอปริหานิยธรรมก็เลยไม่ได้ปฏิบัติกัน มคธจึงยกทัพเข้ายึดวัชชีได้ เพราะคณะกษัตริย์ลิจฉวีละเลิกการปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมเสียแล้ว
    -----------------------------------------------------------------------------
    มหาปรินิพพานสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับอปริหานิยธรรม ผมย่อความได้ดังนี้
    “วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ รับพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินมคธ แล้วเทียมยานออกจากพระนครราชคฤห์ตรงไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดภูมิประเทศเท่าที่ยานจะไปได้ จึงลงจากยานเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นวัสสการพราหมณ์นั่งเรียบร้อยแล้วทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปี้กระเป่า พระกำลังการประทับอยู่สำราญ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ ทรงปราถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ฯ”
    วัสสการพราหมณ์ รับรับพระราชดำรัสของพระเจ้าอชาตศัตรู ให้มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า หากพระเจ้าอชาตศัตรูจะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชี จะสำเร็จหรือไม่
    “ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ยืนถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาค อยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
    ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆ หรือ ฯ
    ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
    ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำหรือ ฯ
    ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ
    ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ได้บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วหรือ ฯ
    ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
    ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นหรือ ฯ
    ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
    ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุลให้อยู่ร่วมด้วยหรือ ฯ
    ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล ให้อยู่ร่วมด้วยอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
    ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการะเคารพ นับถือบูชาเจดีย์ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไปหรือ ฯ
    ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และจักไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้น เสื่อมทรามไปอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
    ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้หรือ ฯ
    ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขา ป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ”
    และนั่นก็คือหลักอปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดข้อ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
    - ต้องประชุมกันเนืองนิตย์
    - ต้องพร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงกระทำ
    - ไม่บัญญัติสิ่งที่ยังมิได้บัญญัติ ไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในบัญญัติเก่าที่บัญญัติไว้แล้ว
    - ต้องเคารพนับถือผู้ใหญ่ผู่เฒ่า
    - ไม่ข่มเหงล่วงเกินสตรีที่มีสามีแล้วและสตรีสาว
    - ต้องสักการะเคารพเจดีย์
    - ต้องจัดแจงให้การอารักขาคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ และปราถนาให้พระอรหันต์ที่ยังไม่มา ได้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข
    “ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะวัสสการพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์เขตเมืองเวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ แก่พวกเจ้าวัชชี ก็อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชี และพวกเจ้าวัชชีจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัสสการพราหมณ์ได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีมาประกอบด้วยอปริหานิยธรรม แม้ข้อหนึ่งๆ ก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม จะป่วยกล่าวไปไยถึงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ข้อเล่า พระเจ้าแผ่นดินมคธ ไม่ควรกระทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะปรองดอง นอกจากจะยุให้แตกกันเป็นพวก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีกรณียะมาก จะขอลาไปในบัดนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้น วัสสการพราหมณ์ ชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว ฯ”
    อปริหานิยธรรมนี้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนพวกเจ้าวัชชี (ลิจฉวี) วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า แม้พวกเจ้าวัชชีปฏิบัติเพียงข้อหนึ่งๆ ก็หาความเสื่อมมิได้แล้ว
    -------------------------------------------------------------------------
    ในประวัติศาสตร์สากล นครรัฐกรีกที่ปกครองในระบอบรัฐสภาคล้ายๆกับแคว้นวัชชี ก็มีอันต้องล่มสลายไปเพราะในยุคหลังๆ ลูกหลานกรีกโดดประชุมสภา ไม่คิดถึงบ้านเมืองเหมือนอย่างบรรพบุรุษ จนถึงกลับต้องมีการไปไล่จับคนมาเข้าประชุมสภากันเลยทีเดียว สุดท้ายบ้านเมืองมีอันต้องล่มสลายไปในที่สุด
    ประเทศไทยในทุกวันนี้ก็ใช้ระบอบการปกครองแบบนี้ แต่ทุกวันนี้นักการเมืองไทยโดดประชุมสภา (แปลว่านักการเมืองไทยทำผิดหลักอปริหานิยธรรมแล้ว) แถมพวกที่เข้าไปประชุมก็เข้าไปด่ากัน ไม่ได้ไปช่วยกันขบคิดหาทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างออมชอมกัน ซ้ำบางคนยังแอบเลี้ยงเด็กเป็นบ้านเล็กอีก (ผิดหลักอปริหานิยธรรมไปอีกข้อ)



    วิเคราะห์หลักอปริหานิยธรรมในแง่การนำไปใช้​

    - ต้องประชุมกันเนืองนิตย์
    ธรรมดาแล้ว การปกครองบ้านเมืองนั้น ไม่ว่าจะที่ใดสมัยใด ผู้ปกครองก็ย่อมจะมีปัญหามากมายรอให้แก้ไขเสมอ พอแก้อันโน้นได้ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นมารอให้แก้ไขเสมอ
    ดังนั้น ผู้ปกครองไม่ว่าจะในระบอบสภา หรือระบอบราชาธิปไตยก็ตาม จึงต้องหมั่นประชุมกันอยู่เนืองนิตย์
    ทุกวันนี้ สังคมสมัยใหม่เป็นสังคมที่มีความซับซ้อนกว่าสังคมสมัยเก่า ผลที่ตามมาก็คือ ปัญหาสังคมต่างๆก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนและมีอยู่มากมายกว่าสังคมสมัยเก่ายิ่งนัก
    ดังนั้น รัฐสภาสมัยใหม่จึงต้องหมั่นประชุมกันบ่อยๆเพื่อหาทางรับมือกับปัญหาที่นับวันจะมีมากขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น อยู่เป็นประจำ การที่รัฐสภาสมัยใหม่ต้องประชุมกันบ่อยๆนี้ ก็เพื่อจะได้ถกกันว่าในขณะนี้ บ้านเมืองกำลังมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง และปรึกษาหาวิธีแก้ปัญหากัน อยู่เป็นประจำ
    หากสภาสมัยใหม่นานๆทีจะประชุม บ้านเมืองเดือดร้อนแน่ เพราะนโยบายและกฏหมายของสภาสมัยใหม่มักจะล้าหลังกว่าที่จะป้องกัน-แก้ไข ปัญหาบ้านเมืองสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นมาเป็นประจำและมีความซับซ้อนเกินกว่าที่นโยบายเก่าๆ ของสภาสมัยใหม่ จะแก้ไขได้อยู่เสมอนั่นเอง
    แต่ถ้าสภาสมัยใหม่ประชุมกันบ่อยๆ และออกนโยบายใหม่ๆที่ทันต่อการแก้ปัญหาใหม่ๆได้อยู่เสมอ ก็จะสามารถบรรเทาปัญหาสังคมสมัยใหม่ที่มีอยู่มากมายและซับซ้อนลงไปได้
    สภาสมัยใหม่จะประชุมบ่อยอย่างเดียวก็ไม่ได้ สมาชิกสภาสมัยใหม่ทุกคนจะต้องไม่โดดประชุมด้วยนั่นเอง

    - ต้องพร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงกระทำ
    ข้อนี้ตามหัวข้อเลย ไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย

    - ไม่บัญญัติสิ่งที่ยังมิได้บัญญัติ ไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในบัญญัติเก่าที่บัญญัติไว้แล้ว
    ข้อนี้เป็นข้อเดียวที่ผมไม่เข้าใจ คือจะไม่ให้แก้กฏหมายกฏระเบียบใดๆได้เลยนี่ ดูจะเป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะในความเป็นจริง เวลาเปลี่ยน ปัญหาบ้านเมืองก็เปลี่ยน ดังนั้นกฏระเบียบก็ต้องเปลี่ยนตามด้วย ถ้ากฏล้าหลังกว่าปัญหา ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้
    อีกอย่าง ถ้าดูจากกิจของพระโพธิสัตว์ ก็พบว่ามีอยู่ชาติหนึ่งที่ทรงพยายามล้มเลิกประเพณีบูชายัญ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการ “แก้กฏเก่า บัญญัติกฏใหม่” ด้วยอย่างหนึ่ง ดังนั้นผมเลยคิดว่า การแก้กฏให้ทันต่อปัญหาบ้านเมือง ไม่น่าจะใช่เรื่องผิด
    ยังไงๆ ผู้รู้ก็ช่วยชี้แจงด้วยแล้วกันครับ ข้อนี้เป็นข้อเดียวแล้วล่ะที่ผมไม่เข้าใจ ข้ออื่นเข้าใจหมดแล้ว

    - ต้องเคารพนับถือผู้ใหญ่ผู่เฒ่า
    ข้อนี้ ประชาชนในรัฐจะต้องรับฟังผู้เฒ่าที่ผ่านโลกมาเยอะ มีประสบการณ์เยอะ ผู้ปกครองก็เช่นกัน ต้องรับฟังผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ทางการเมืองการปกครองมาก่อนตน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่า “คนเฒ่าทุกคนจะเชี่ยวชาญ” เพราะในความเป็นจริง คนแก่บางคนแก่แต่ตัวก็มี ส่วนสมองแย่กว่าเด็กด้วยซ้ำ ดังนั้น คนที่มีอายุน้อยกว่าเรา บางคนก็อาจจะมีประสบการณ์มากกว่าเราก็มี ดังนั้นอย่าฟังแต่ผู้เฒ่าครับ ต้องรู้จังฟังเด็กประเภท “แก่แดด” ด้วย

    - ไม่ข่มเหงล่วงเกินสตรีที่มีสามีแล้วและสตรีสาว
    หากเราจะประพฤติธรรมข้อนี้ เราก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาโสเภณีที่มีอยู่เกลื่อนสังคมไทยให้ได้ โดยเฉพาะพวกนักการเมือง ประเภทเลี้ยงเด็ก ตีกระหรี่นี่ ไปข่มขืนสตรีนี่ ยิ่งไม่ควรจะมีเลย ถ้ามีต้องโดนโทษหนักๆกันทั้งขบวนการ ทั้งแม่เล้า ตัวนักการเมือง ตำรวจที่ปล่อยปละละเลย ต้องโดนหมด และก็ปัญหาข่มขืนทุกระดับต้องโดนแก้ให้หมดไปจากสังคม โดยเฉพาะการข่มขืนในครอบครัว (เช่น พ่อข่มขืนลูก) รัฐบาลต้องแก้ให้ได้ นอกจากการแก้ไขที่ปลายเหตุอย่างการตั้งโทษหนักๆสำหรับผู้ข่มขืนแล้ว ยังต้องกำจัดต้นเหตุของมัน เช่น สื่อลามก เป็นต้น อีกด้วย
    นอกจากนี้ รัฐบาลควรที่จะมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการบังคับแต่งงานแบบคลุมถุงชน หรือการบังคับแต่งงานแบบตามใจผู้ใหญ่ เพราะนี่เท่ากับการข่มเหงสตรี ที่ยังสาวให้มาเป็นภรรยาตน โดยไม่เต็มใจ ควรให้เสรีภาพแก่หนุ่มสาวในการเลือกคู่ครองของตน (สังคมไทยถือว่าสอบผ่านมาตั้งแต่โบราณแล้ว ตามประเพณีไทย หนุ่มสาวไทยมีเสรีภาพในการเลือกคู่มาตั้งแต่โบราณ ไม่เหมือนจีน แต่ก็มีเป็นส่วนน้อยในสังคมไทย ที่รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขต่อไป)
    อีกปัญหาหนึ่งก็คือ เซ็กส์ในวัยเรียน ท้องในวัยเรียน ซึ่งปัญหานี้ประเทศไทยติดท็อปของโลก (อายไหมล่ะ)

    - ต้องสักการะเคารพเจดีย์
    คนไทยส่วนใหญ่นั้นเคารพนับถือ สักการะ บูชา เจดียสถานอยู่แล้ว อย่าได้ลบล้างพลีกรรมที่ชอบธรรมซึ่งเคยให้เคยทำแก่เจดีย์สถานเหล่านั้น แต่ก็มีพวกนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลบางคน ทำลายสถูปสถานเพื่อนำวัตถุโบราณไปขาย รัฐบาลต้องแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัวว่า “ผมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการได้ (เพราะมันเอาเงินฟาดหัวผมเรียบร้อย)”

    - ต้องจัดแจงให้การอารักขาคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ และปราถนาให้พระอรหันต์ที่ยังไม่มา ได้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข
    รัฐบาลต้องให้การอารักขาคุ้มครองนักบวชของทุกศาสนาภายในรัฐ (และนอกรัฐ) อย่าให้พวกอันธพาลมาลุกล้ำทำร้ายท่าน และควรมีการป้องกันไม่ให้ผู้นับถือศาสนาต่างๆ ภายในรัฐ (และนอกรัฐ) ลุกล้ำทำร้ายซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านกายภาพ เช่น การที่ชาวมุสลิมยิงพระพุทธรูป ฯลฯ นี่เรียกการลุกล้ำทางกายภาพ รัฐบาลที่ทรงธรรมต้องห้ามปราม และการรุกล้ำกันโดยมีเป้าหมายที่จะทำลายหลักธรรมของกันและกัน เช่น การที่ลัทธิอนุตตรธรรม นำหลักธรรมของต่างศาสนามาบิดเบือน ฯลฯ นี่เรียกว่าการลุกล้ำโดยมีเป้าหมายที่การทำลายหลักธรรม รัฐบาลต้องห้ามปราม (กรณีลัทธิอนุตตรธรรมน่ะ คุณไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่า ตัวเองมีสิทธิ์ที่จะศรัทธาลัทธิของคุณได้โดยเสรีนะ เพราะถ้าลัทธิคุณอยู่เฉยๆของคุณไป จะตั้งลัทธิใหม่ก็เขียนหลักธรรมของตัวเองไปเลย ไม่ได้มาทำลายหลักธรรมของศาสนาอื่นๆด้วยการหยิบเอาหลักธรรมของศาสนาอื่นมาบิดเบือน คุณก็คงจะอ้างสิทธิ์นั้นได้ไปนานแล้ว แต่ในเมื่อคุณจ้องจะทำลายศาสนาอื่นเขา ผมก็ต้องหาทางหยุดการกระทำดังกล่าวของคุณนั่นเอง)
    นอกจากการอารักขาคุ้มครองความปลอดภัยของนักบวชและหลักธรรมของศาสนาต่างๆไม่ให้ถูกทำลายแล้ว รัฐบาลยังต้องทำการบำรุงศาสนาต่างๆ เพื่อให้นักบวชภายในประเทศมีความสุข และเพื่อให้นักบวชภายนอกประเทศต้องการมาอยู่ การทำนุบำรุงศาสนาและนักบวชทำได้หลายวิธี เช่น สร้างวัด บูรณะพระอุโบสถ โบสถ์ มัสยิด เพื่อให้นักบวชในศาสนาต่างๆมีความผาสุกกันทั้งประเทศ ให้การดูแลด้านปัจจัยสี่ ถวายจตุปัจจัยแด่นักบวชอยู่เป็นนิจ ฯลฯ เป็นหน้าที่ที่ผู้ปกครองต้องทำ และต้องเกื้อหนุนให้ประชาชนทำกันด้วย เมื่อทำแบบนี้ได้ทั้งประเทศ นักบวชทุกศาสนาในประเทศก็จะมีความผาสุก และนักบวชของศาสนาต่างๆภายนอกประเทศก็อยากจะมาอยู่ในประเทศที่ผู้คนให้การทำนุบำรุงนักบวชและศาสนาต่างๆเช่นนั้น
    ธรรมทั้งเจ็ดประการนี้ เรียกว่า อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมที่ไม่มีความเสื่อม
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มีนาคม 2013
  11. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    ราชสังคหวัตถุ ๔​

    ราชสังคหวัตถุ เป็นหลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ปกครอง ประกอบด้วย
    ๑. สัสสเมธะ
    ๒. ปุริสเมธะ
    ๓. สัมมาปาสะ
    ๔. วาชไปยะ
    การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนด้วยหลักราชสังคหวัตถุทั้งสี่ข้อนี้ จะช่วยให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้า ในขณะเดียวกันก็เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน



    การนำไปใช้กับระบอบราชาธิปไตย​

    พระเจ้าแผ่นดินนอกจากจะต้องทรงประพฤติในทศพิธราชธรรมและจักกวัตติวัตรแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงวางข้อปฏิบัติของพระเจ้าแผ่นดิน “ราชสังคหวัตถุ” ซึ่งแปลว่า หลักการยึดเหนี่ยวน้ำใจของพระราชา
    ก็ราชสงเคราะห์ที่เป็นข้อปฏิบัติของพระราชา เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการปกครอง กล่าวคือ การปกครองที่จะอำนวยความสุขให้ประชาชนได้ทั่วถึงนั้น จะต้องมีเครื่องมือที่ช่วยเหลือในการปกครอง ในสมัยโบราณม้าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการปกครอง ม้าเป็นสัตว์ที่วิ่งเร็ว ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงจัดกองทัพม้าขึ้นมา เป็นหน่วนรบเรียกว่ากองพลม้า เป็นหนึ่งในสี่กองพล คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลเดินเท้า ทั้งสี่กองพลนี้รวมเป็นหนึ่งกองทัพ ซึ่งใช้กันอยู่ในสมัยโบราณ
    นอกจากใช้ม้าเป็นกองทัพแล้ว ม้ายังใช้ในการส่งข่าวได้รวดเร็วอีกด้วย การข่าวสารเป็นประโยชน์ในการปกครองมาก เช่น ถ้ามีเหตุเดือดร้อนเกิดขึ้นแก่ประชาชนในท้องที่ห่างไกล ถ้ามีม้าส่งข่าวสารให้พระราชาทราบ พระราชาจะได้แก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ความเดือดร้อนของประชาชนก็จะถูกกำจัดไปอย่างฉับพลันด้วย
    นอกจากนี้ ม้ายังเป็นพาหนะที่พาพระราชาออกไปตรวจดูบ้านเมืองในปกครอง พาพระราชาไปสอบถามสารทุกข์สุขดิบของประชาชนในแว่นแคว้นแดนชนบทใกล้ไกล แล้วนำมาพิจารณาเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ เรียกว่าประโยชน์เยอะแยะ
    การปกครองนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ประชาชน ถ้าประชาชนมีความรักพระเจ้าแผ่นดินก็จะให้ความร่วมมือในการปกครอง การปกครองที่มีประชาชนร่วมมือ พระเจ้าแผ่นดินย่อมจะประสบความสำเร็จในการปกครอง การประสบความสำเร็จในการปกครองก็คือ ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความสงบสุข ดังนั้น การที่พระเจ้าแผ่นดินมุ่งหวังที่จะให้การปกครองประสบความสำเร็จ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องมีวิธีการเกลี้ยกล่อมชาวประชาให้ยอมรับนับถือในพระองค์ เมื่อประชาชนยอมรับนับถือ ความสำเร็จในขั้นตอนการปกครองอื่นๆ ก็จะตามมา
    อนึ่ง คนเรานั้น ถ้าคิดจะไปเกลี้ยกล่อมใครให้เขายอมรับนับถือ ขั้นแรก คนเกลี้ยกล่อมจะต้องเป็นคนที่มีเสน่ห์ในตัวเป็นขั้นต้นก่อน เสน่ห์ขั้นต้นก็คือความประพฤติดีที่ทุกคนยอมรับ จะทำให้ผู้อื่นเคารพ และยอมรับฟัง ตรงกันข้ามคนที่เป็นผู้ปกครอง ถ้าประพฤติไม่ดีข่มเหงประชาชน ประชาชนก็ไม่เคารพ ไม่ยอมรับฟังคำพูด ดังนั้น เมื่อหวังความร่วมมือจากประชาชน ผู้ปกครอง คือ พระเจ้าแผ่นดิน จะต้องมีความประพฤติดี เป็นบ่วงคล้องใจชาวประชา นอกจากต้องมีความประพฤติดีแล้ว จะต้องมีวาจาเป็นที่ดูดดื่มคนฟังด้วย คนถึงประทับใจ ถ้าวาจาไม่ไพเราะ ใครเขาก็ไม่ประทับใจ และไม่ยอมให้ความร่วมมือกับพระเจ้าแผ่นดินในการปกครอง เมื่อประชาชนไม่ร่วมมือ หรือร่วมมือแค่เล็กน้อย ความสงบสุขก็ไม่ค่อยจะมี หรือมีอยู่บ้างก็ไม่ทั่วถึง

    ๑.อัสสเมธะ มีพระปรีชาในการบำรุงม้า เป็นต้น
    อัสสะ แปลว่า ม้า เมธะ แปลว่า ฉลาด รวมอัสสเมธะ แปลว่า ฉลาดในเรื่องม้า ความจริงมิใช่จะให้บำรุงเฉพาะม้า แต่ให้บำรุงสัตว์อื่นด้วย เช่น ช้าง โค แต่ยกม้าเป็นประธาน พระจริยวัตรข้อนี้ เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในการปกครอง เพราะพาหนะเป็นต้นว่าช้างม้าและโค ใช้สำหรับการปกครองบ้านเมือง เมืองไหนช้างพิการ เกิดสงครามก็สู้เขาไม่ได้ เมืองใดม้าวิ่งไม่เร็ว เวลามีราชการด่วน เมื่อใช้ม้าประเภทนั้น ข่าวด่วนก็กลายเป็นข่าวล่า เมืองใดมีโคที่อ่อนแอ ใช้โคนั้นไถนาก็ได้ข้าวไม่มาก หรือได้น้ำนมด้อยคุณภาพ ประชาชนดื่มก็สียสุขภาพ เสียกำลังในการพัฒนาประเทศ ตรงกันข้าม ถ้าสัตว์สมบูรณ์ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการใช้สอยตามที่กล่าวมาแล้วนั้นทั้งหมด
    เพราะเหตุสืบเนื่องดังกล่าวมานี้ เหตุข้อแรกของความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในสมัยโบราณ จึงอยู่ที่การบำรุงช้างม้าวัวควายให้มีกำลัง ในฐานะผู้ปกครองบ้านเมือง ต้องรับผิดชอบในการดูแลสัตว์เหล่านี้ โดยทางปฏิบัติแล้ว พระราชาไม่จำเป็นต้องไปดูแลด้วยพระองค์เอง เพียงใช้ให้ข้าราชการไปเลี้ยงดูเท่านั้น ดังนั้น ที่จะได้ชื่อว่ามีพระปรีชาในการบำรุงม้า จึงไม่ได้แปลว่าต้องดูแลม้าเก่งและไปดูแลเอง แต่แปลว่าในฐานะที่เป็นผู้ปกครองนั้น จะใช้ใครให้ไปทำหน้าที่อะไร พระเจ้าแผ่นดินจะต้องพิจารณาด้วยว่า คนๆนี้เหมาะแก่งานนี้หรือไม่ การใช้คนให้เหมาะกับงานที่เขาถนัด ย่อมทำให้การทำงานได้ผล แต่ถ้าใช้คนไม่เหมาะกับงาน เช่น ใช้คนที่ถนัดการเล่นดนตรี ไม่ถนัดดูแลม้า ให้ไปดูแลม้า การงานก็เสียหายสิ
    เพราะพระราชาต้องใช้คนให้เหมาะในการบำรุงช้างม้า (หรือก็คือ รู้จักใช้คนให้เหมาะสมกับงาน รู้จักจัดสรรหน้าที่ให้กับคนในสังคมทำตามความถนัดของเขา คนไหนถนัดทำนา ก็ให้เขาทำนา คนไหนถนัดเป็นครู ก็ให้เขาเป็นครู คนไหนถนัดเป็นข้าราชการ ก็ให้เขาเป็นข้าราชการ ไม่ใช่เอาคนถนัดทำการค้าอย่างพวกนายทุนมาเป็นนักการเมือง พอมานั่งเป็นนักการเมืองแล้วก็คิดแต่จะหาผลกำไร เลยโกงกินบ้านเมืองเสียเลย หรือเอาทหารมาครองเมือง ครองปุ๊บมันก็บ้าสงคราม ไล่ฆ่านักศึกษาประชาชนสิ ความโหดร้ายแบบเมื่อกี้ ในสนามรบน่ะมีค่า แต่ในการปกครองบ้านเมืองนั้นไร้ค่าไปเลย คนที่จะเป็นนักการเมือง ก็คือคนที่ถนัดจะเป็นนักการเมือง มีคุณธรรมสำหรับปกครองบ้านเมืองจริงๆเท่านั้น นี่ถึงเรียกว่าใช้คนเหมาะกับงาน สังคมใดที่จัดสรรหน้าที่ให้กับบรรดาสมาชิกได้ตรงตามความถนัด ความชอบความพอใจที่ได้ทำงานที่ตนรัก ความสามารถ และคุณธรรมของเขาได้ ใครถนัดอะไรก็ทำงานด้านนั้นให้สุดความสามารถ สังคมนั้นจะได้ประโยชน์ ได้ความเจริญ จากการทำงานตามความสามารถอย่างเต็มที่ของสมาชิกแต่ละคนได้ อย่างเต็มๆ) นั่นเอง พระพุทธองค์จึงทรงใช้คำว่า พระราชาต้องมีพระปรีชาในการบำรุงม้า เป็นต้น
    การบำรุงช้างม้าของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นหลักการยึดเหนี่ยวน้ำใจของพระราชา (ราชสังคหวัตถุ) ความหมายก็คือ พระราชาจะต้องประพฤติยึดเหนี่ยวน้ำใจชาวเมืองด้วยการบำรุงช้างม้าเป็นต้น เพราะถ้าบำรุงช้างม้าดีประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชน ประชาชนจะศรัทธา รับฟัง ให้ความร่วมมือในการปกครอง จะเก็บภาษีไปพัฒนาบ้านเมืองเขาก็ยอมจ่าย แต่ถ้าดูแลไม่ดี ผลเสียก็จะตกแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ให้ความศรัทธา ความยอมรับฟัง และความร่วมมือกับพระเจ้าแผ่นดิน จะเก็บภาษีไปพัฒนาบ้านเมือง เขาก็ไม่ให้
    ความจริงคำว่า อัสสเมธะ นี้ เดิมเป็นพิธีการฆ่าม้าเพื่อบูชายัญตามคติความเชื่อของพราหมณ์ เพื่อให้พระราชาประกาศความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ทรงเห็นด้วย จึงทรงเปลี่ยนจากพิธีที่โหดร้าย มาเป็นการบำรุงเลี้ยงม้า เพื่อประโยชน์ต่อบ้านเมืองแทน

    ๒.ปุริสเมธะ มีพระปรีชาในการเกลี้ยกล่อมคน
    ปุริสะ แปลว่า ผู้ชาย เมธะ แปลว่า ฉลาด รวมกันก็ ฉลาดในเรื่องของผู้ชาย พระพุทธองค์ทรงหมายถึงฉลาดเกลี้ยกล่อมคน
    พระพุทธเจ้า ทรงตรัสถึง การที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องประพฤติพระองค์ให้เป็นที่ประทับใจมหาชน หรือประพฤติพระองค์ให้เป็นเสน่ห์ต่อมหาชน
    การมีพระปรีชาในการเกลี้ยกล่อมคนนี้ ความหมายของการเกลี้ยกล่อมในที่นี้มิได้หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพูดจาหว่านล้อมให้ประชาชนมารักพระองค์ แต่หมายถึง พระจริยวัตรอันน่าประทับใจที่พระองค์ปฏิบัติต่อประชาชนของพระองค์ ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น จะได้กล่าวต่อไป
    เวลาพระราชาทรงสุบินนิมิตไม่ดี ก็จะทรงไถ่ถามโหร โหรหรือพราหมณ์ก็บอกให้ทำบุญสะเดาะเคราะห์ แต่การสะเดาะเคราะห์ของพราหมณ์ หมายถึง พระราชาต้องจับคนมาฆ่าเพื่อบูชายัญ ถ้าจะให้ได้บุญหนักก็ให้นำพระมเหสี พระราชโอรส มาทำพิธีบูชายัญ
    ในสมัยพุทธกาลนั้น คติของพราหมณ์เรื่องการบูชายัญด้วยชีวิตสัตว์นั้นยังมีอยู่ เมื่อนับถอยหลังขึ้นไปอีกในช่วงที่พระพุทธองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ พราหมณ์บูชายัญด้วยชีวิตคนเสียด้วยซ้ำไป พิธีนี้เรียกว่า ปุริสเมธะ ต่างจากอัสสเมธะตรงที่เครื่องเซ่น คือ มนุษย์ คนที่ถูกบูชายัญพร้อมญาติพี่น้องต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะคำสั่งบูชายัญของพระราชา ความรู้สึกของคนทั่วไป เมื่อพระราชาทำความเดือดร้อนให้ตนและญาติโดยไม่มีความผิด พวกเขาจะมีความเกลียดชังพระราชา เมื่อประชาชนไม่ศรัทธาพระราชา การปกครองของพระราชาก็ไม่บรรลุจุดหมาย เพราะประชาชนไม่ร่วมมือ
    ปุริสเมธะ ของพระพุทธองค์นั้น คือหลักการผูกใจประชาชนด้วยการสร้างความนิยม แทนการเอาคนไปบูชายัญ
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงพระอินทร์
    พระอินทร์เป็นจ้าวแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงปกครองเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ด้วยหลัก ๒ ประการ คือ
    ๑.) บัคคัณเห บัคคัณหารหัง ยกย่องเทวดาที่ควรยกย่อง
    ๒.) นิคคัณเห นิคคัณหารหัง ลงโทษเทวดาที่ควรลงโทษ
    เทวดาองค์ใดทำดี พระอินทร์จะทรงยกย่องเทวดาองค์นั้นให้ปรากฏในหมู่เทวดาทั้งหลาย ส่วนเทวดาองค์ใดทำความผิด ท้าวเธอจะลงโทษเทวดาผู้นั้น
    พระราชาก็เช่นกัน ควรยกย่องคนที่ควรยกย่อง และลงโทษคนที่ควรลงโทษ
    ตามธรรมดามนุษย์ทั่วไปทั้งที่รับราชการ และเป็นราษฎร ต่างก็ถือว่ามีนายคนเดียวกัน คือ พระเจ้าแผ่นดิน สมมติว่าข้าราชการคนหนึ่งเป็นคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดินแล้วทำผิดกฏหมาย แต่พระราชาไม่ลงโทษ แต่ข้าราชการอีกคน ไม่ใช่คนโปรด ทำผิดอย่างเดียวกัน พระเจ้าแผ่นดินกลับลงโทษ (ทำนองว่า บ้านเมืองมีสองมาตรฐาน) เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าราชการที่ถูกทำโทษก็จะเอาใจออกห่างพระราชา เพราะเห็นว่าพระองค์ไม่มีความยุติธรรม ญาติพี่น้องของข้าราชการผู้นั้นก็จะเอาใจออกห่างเช่นเดียวกัน แม้ข้าราชการที่ทำผิดแต่ไม่ถูกลงโทษ เพราะเป็นคนโปรดของพระราชา ก็จะเหิมเกริมยิ่งขึ้น การปฏิบัติของพระราชาอย่างนี้ ไม่เป็นการผูกใจคน กลับทำให้ประชาชนเอือมระอา
    ตรงกันข้าม เมื่อข้าราชการทำผิด ไม่ว่าจะทรงโปรดหรือไม่โปรด พระองค์ก็ทรงลงอาญาเสมอกัน จะทำให้ข้าราชการทุกคนเกรงกลัวกฏหมายบ้านเมือง และในขณะเดียวกัน ข้าราชการหรือราษฎรคนใดทำดี พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องให้รางวัล ไม่ว่าเขาจะเป็นคนโปรดหรือไม่ก็ตาม คนที่ได้รางวัลก็จะศรัทธา ญาติของเขาก็ศรัทธา ประชาชนคนอื่นๆก็ศรัทธา แต่ถ้าข้าราชการหรือราษฎรที่พระราชาไม่โปรด ทำความดี พระราชากลับไม่ยกย่อง ไม่ให้รางวัล เขาย่อมจะเสียใจ และมองเห็นความอยุติธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ญาติเขาก็ไม่ศรัทธาพระราชา ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เมื่อเห็นว่าพระราชาเลือกที่รักมักที่ชังแบบนี้ ก็ไม่ศรัทธา
    สรุปว่า ถ้าพระราชาปกครองโดย ยกย่องคนดี ลงโทษคนชั่ว อย่างสม่ำเสมอแล้ว ประชาชนย่อมศรัทธาในพระองค์
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงพระอาทิตย์
    ตามธรรมดาพระอาทิตย์นั้น เมื่อส่องแสงมายังโลก ก็จะทำให้น้ำระเหยขึ้นไปเป็นเมฆ หลังจากนั้นเมฆก็ตกลงมาเป็นฝนสร้างความชุ่มชื้นให้แผ่นดิน สร้างชีวิตชีวาให้มนุษย์ เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ในขณะที่พระอาทิตย์ทำให้น้ำระเหยนั้น ผู้คนก็มองไม่เห็นความหมดไปของน้ำเลย เหมือนกับน้ำยังมีอยู่เท่าเดิม แต่เมื่อเป็นฝนตกลงมาแล้ว กลับมากมายมหาศาล
    พระราชาก็ควรเป็นเช่นนั้น กล่าวคือ เมื่อพระองค์จะเรียกเก็บภาษีจากราษฎร อย่าเก็บมากจนเกินไป จนราษฎรมีความรู้สึกว่าเดือดร้อน ถ้าเก็บภาษีจนประชาชนเดือดร้อน เขาจะไม่ศรัทธาพระราชา แต่ถ้าพระราชาเก็บภาษีแต่น้อยจนราษฎรแทบไม่รู้สึกว่าเดือดร้อน ต่อมาภาษีที่พระองค์เก็บมานั้นนำมาทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั้งหลายได้อย่างมากมาย เหมือนดั่งพระอาทิตย์ดูดน้ำทีละน้อย พอฝนตกก็ตกอย่างมหาศาล ประชาชนที่ได้ประโยชน์นั้น จะนิยมยกย่องการปกครองของพระราชา
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงลม
    ลมทั้งหลายเมื่อพัดต้องกายมนุษย์ ก็ผ่านไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้
    พระราชาในฐานะที่ทรงปกครองดูแลประชาชน จำเป็นจะต้องรู้ข้อมูลที่แท้จริง และการที่พระราชาจะรู้ข้อมูลที่แท้จริงได้นั้น จะต้องส่งคนเที่ยวโฉบเฉี่ยวหาข่าวอย่างลึกลับ โดยไม่ให้ผู้ใดทราบว่าเป็นคนของพระราชา จะทำให้สายสืบคนนั้น สัมผัสกับสภาพชีวิตที่แท้จริงของประชาชนได้ จะได้รู้ความจริงว่า ประชาชนกำลังมีเรื่องทุกข์ร้อนอย่างไร
    หากพระราชาจะไปไต่ถามสารทุกข์สุขดิบจากประชาชนโดยเปิดเผย ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่จะมีปัญหาเล็กน้อยตรงที่ ประชาชนบางคนอาจไม่กล้าบอกความจริงกับพระราชา ว่าตนเดือดร้อนเรื่องอะไรอยู่ เพราะความกลัว กลัวว่าพระราชาจะไม่พอใจคำพูดตนแล้วลงโทษ หรือกลัวว่าผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้นๆจะไม่พอใจ ที่ชาวบ้านนำเรื่องที่ตนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปฟ้องพระราชา ดังนั้น การที่พระราชาส่งสายสืบของตนเข้าไปใช้ชีวิตปะปนอยู่กับชาวบ้าน โดยไม่ให้มีใครล่วงรู้ และคอยรายงานพระราชาเรื่อยๆว่า หมู่บ้านนี้ กำนันรังแกชาวบ้านหรือเปล่า เห็นตอนอยู่ต่อหน้าพระราชาทำตัวเรียบร้อย ลับหลังพระราชามันไล่รีดไถชาวบ้านหรือเปล่า เพื่อให้พระราชากำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อย่างสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่สุด
    การกระทำเช่นนี้ ผูกใจประชาชนได้ ถ้าหากว่าประชาชนถูกข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดินข่มเหง พอประชาชนเอาไปฟ้องพระราชา ข้าราชการคนดังกล่าวก็สร้างพยานหลักฐานปลอมเพื่อให้คำฟ้องร้องของประชาชนตกไป แต่ถ้าพระราชาทรงมีหลักฐานจากสายสืบที่ส่งไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ก็จะทำให้สามารถลงโทษข้าราชการกังฉินนั้นได้ ประชาชนเห็นแบบนี้คงชื่นใจไม่น้อย
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงยมบาล
    ยมบาล หรือพระยายมราชที่ทำหน้าที่ตัดสินคนเมื่อตายไปแล้ว ว่าจะให้ไปสวรรค์หรือนรก ท่านจะถามดวงวิญญาณทุกดวงถึงบาปบุญที่ได้เคยกระทำไว้เมื่อยังมีชีวิต ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร ท่านจะซักถามและตัดสินไปตามความดีความชั่วของคนๆนั้นอย่างเที่ยงธรรม โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มีความลำเอียงต่อดวงวิญญาณดวงใด หากเป็นคนดีท่านจะให้ไปสวรรค์ หากเป็นคนชั่วท่านจะให้ลงนรก
    พระราชาก็เช่นกัน กล่าวคือ เมื่อมีประชาชนคนใดทำผิดไม่ว่าจะเป็นคนสนิทหรือไม่สนิทก็ตาม พระราชาควรเรียกมาไถ่ถามดูก่อนว่าเพราะเหตุใดจึงทำอย่างนั้น บางทีบางคนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร ถ้าเป็นพระราชาที่ไร้คุณธรรม พอได้ยินแบบนี้ก็สั่งประหารทันที โดยไม่ยอมสืบสวนสอบสวนก่อน คนดีๆก็ถูกทำลายไป แต่ถ้าพระราชามีความเป็นธรรม เมื่อคนนั้นคนนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร ก็สืบสวนสอบสวนให้รู้ความจริงก่อน คนดีจะได้พ้นผิด คนชั่วจะได้รับโทษ โดยไม่นำเอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องในการพิจารณาคดี ต่อให้เขาเป็นญาติพี่น้องมิตรสหาย หากทำผิดก็ต้องได้รับโทษอย่างเสมอภาคกับคนทั่วไป แบบนี้ประชาชนก็จะเคารพกฏหมาย และสรรเสริญในความเที่ยงธรรมของพระราชา
    - การปฏิบัติพระองค์เยี่ยงมหาสมุทร
    มหาสมุทร ไม่ต้องการน้ำจากแหล่งน้ำอื่น หากแม่น้ำใหญ่น้อยจะไหลลงมหาสมุทร ก็เป็นเพราะความปราถนาของแม่น้ำเหล่านั้นเอง พระราชาก็เช่นกัน ไม่ควรปราถนาทรัพย์จากประชาชน นอกจากทรัพย์ที่ประชาชนถวายตามปกติ เช่น ภาษี
    - การปฏิบัติพระองค์เยี่ยงพระจันทร์
    มนุษย์เมื่อได้เห็นดวงจันทร์ แล้วมีความชื่นชมยินดีปรีดาฉันใด พระราชาก็ควรเป็นเช่นนั้น คือ ควรออกไปพบหน้าประชาชน ให้ประชาชนได้เห็นหน้าพระราชา จะได้ชื่นชมยินดี
    หากว่าพระราชาเอาแต่เสวยสุขอยู่แต่ในวัง ไม่ออกไปพบปะประชาชนเลย ประชาชนก็จะรู้สึกว่าผู้ปกครองคนนี้ลึกลับจริงๆ ความห่างเหินระหว่างราชากับประชาก็จะเกิดขึ้น พระราชาจึงมีหน้าที่ต้องออกไปพบปะพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุขดิบของประชาชนบ่อยๆ จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพระราชาองค์นี้อยู่ใกล้ชิดประชาชนจริงๆ
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแผ่นดิน
    แผ่นดินเป็นที่อาศัยของมนุษย์ทั้งคนรวยคนจน พระราชาก็เช่นกัน ควรทำพระบารมีของพระองค์ให้เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ของทั้งคนรวยและคนจน ทรงให้สิทธิแก่คนรวยฉันใด ก็ต้องให้สิทธิแก่คนจนฉันนั้น โดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน
    หากพระราชาลำเอียงในการปกครอง มอบสิทธิทางสังคมให้คนรวยมากกว่าคนจน เช่น ห้ามลูกคนจนได้เรียนสูงๆ สนใจสร้างความร่ำรวย ส่งเสริมสวัสดิการให้คนที่รวยอยู่แล้ว รวยยิ่งขึ้นไปอีก แต่คนไหนเป็นคนจน กลับไม่ช่วยอะไร ปล่อยให้ยากจนอยู่อย่างนั้น ย่อมทำให้ประชาชนไม่ศรัทธาพระราชา
    แต่ถ้าพระราชาไม่ลำเอียงในการปกครอง ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ก็ให้สิทธิทางสังคมต่างๆอย่างเสมอภาค ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงเมฆ
    เมฆย่อมยังฝนให้ตกเพื่อความชุ่มชื้นแก่แผ่นดิน เมื่อถึงคราวหน้าฝน ตลอดเวลาสี่เดือนฉันใด พระราชาก็ควรประพฤติเช่นนั้น กล่าวคือ เมื่อถึงคราวสมัยที่เหมาะสม ควรจะพระราชทานทรัพย์ หรือยศศักดิ์ให้แก่ข้าราชการ ทหารและข้าราชบริพารทั้งปวง เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
    อันธรรมดาคนทั่วไป เมื่อได้ทำงานให้แผ่นดินมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ถ้าหากว่าพระราชาทรงประทานรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่าทรัพย์สินหรือยศศักดิ์ ข้าราชการและทหารเหล่านั้นก็จะมีกำลังใจในการทำงานต่อไป คนที่แม้จะไม่ได้รับประโยชน์ด้วย เพียงแต่ทราบว่า พระราชาสนพระทัย ให้รางวัลกับคนทำงานเพื่อประเทศชาติ เขาก็จะศรัทธาพระราชา ที่เห็นใจคนที่เหน็ดเหนื่อยทำงาน
    ๓.สัมมาปาสะ มีพระอัธยาศัยเหมือนบ่วงคล้องใจคน
    ก็คือ การมีพระอัธยาศัยเหมือนบ่วงคล้องใจคน คำว่าพระอัธยาศัยนี้เป็นสิ่งที่ประพฤติมาจนชิน เป็นนิสัย มิใช่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว อันธรรมดานิสัยของคนเรานั้น มีอยู่สามประการ คือ นิสัยที่แสดงออกทางกาย วาจา และใจ กายและวาจาที่แสดงออกมาให้คนอื่นเห็นนั่นคือ นิสัยของใจที่แต่ละคนสั่งสมไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นความเป็นไปของกายและวาจา ก็จะรู้ว่านั่นคือ นิสัยของใจ (แต่ก็ไม่เสมอไป คนบางคนซ่อนนิสัยตัวเองเก่งมาก บางคนนิสัยแย่มากๆแต่ก็แสร้งทำตัวเป็นคนดีจนคนอื่นไม่รู้เลย หรือบางคนอาจจะปากไม่ตรงกับใจก็ได้)
    นิสัยที่แสดงออกทางกายของคนเรา เช่น มีกิริยากระด้าง ถือตัว แสดงอำนาจบาตรใหญ่ ชอบขู่คนที่อ่อนแอกว่า เห็นแล้วแกล้งทำเป็นไม่เห็นเมื่อพบผู้ใหญ่ ทำกิริยากระด้างใส่ผู้สูงวัย
    คนที่มีอัธยาศัยดีหรือนิสัยที่ดีจะต้องมีกิริยาสุภาพนุ่มนวล พูดเพราะ ซื่อสัตย์จริงใจ ถ่อมตน ไม่ถือตัว ไม่ถือยศศักดิ์ ไม่แสดงอำนาจบาตรใหญ่ เป็นกันเองกับประชาชน เคารพผู้สูงวัยกว่า ฯลฯ การปฏิบัติตนอย่างนี้ ย่อมเป็นบ่วงคล้องใจคนที่พบเห็นให้เกิดความนิยมนับถือ
    จริงอยู่ที่คนจะเป็นผู้นำประเทศได้ต้องมีจิตใจองอาจกล้าหาญ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้มันตระแบงใส่ประชาชนก็ได้ จริงๆแล้วผู้ปกครองอาจจะเป็นคนเข้มแข็งมากๆ ไม่หวาดกลัวอุปสรรคใดๆ แต่ก็มีอัธยาศัยไมตรีอ่อนโยน พูดเพราะๆ ถ่อมตัวกับประชาชน แบบนี้ประชาชนยิ่งจะชอบ เพราะเป็นคนอ่อนโยน แต่พึ่งพาได้ (อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ)

    ๔.วาชเปยยะ มีพระวาจาเป็นที่ดูดดื่ม
    มนุษย์เราทุกคนชอบฟังคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน ยิ่งถ้าเป็นคนสูงศักดิ์พูดอ่อนหวานกับคนศักดิ์ต่ำกว่า ความรู้สึกของคนศักดิ์ต่ำกว่านั้นจะมีความดูดดื่มคำหวานนั้นมากมายนัก และยิ่งถ้าพระเจ้าแผ่นดิน ตรัสคำอ่อนหวานกับคนธรรมดาทั่วไปแล้ว คนธรรมดาจะยิ่งมีความซาบซึ้งในคำอ่อนหวานของพระเจ้าแผ่นดิน ความจงรักภักดีจะเกิดขึ้นในใจของผู้ฟัง
    อันพระวาจาของพระเจ้าแผ่นดินนั้น สรุปได้ ๒ ประเภท คือ
    พระวาจาที่เป็นกฏหมายได้ คือ พระวาจาที่ตรัสไปแล้วผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม พระวาจาประเภทนี้แหละที่เรามักกล่าวกันว่า กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ เพราะพระวาจาประเภทนี้เมื่อตรัสออกมาแล้ว อาจจะเป็นโทษมหันต์ หรือคุณอนันต์ก็ได้ เพราะฉะนั้น พระวาจาประเภทนี้ก่อนที่จะตรัสออกไป ควรพิจารณาก่อนว่าจะเกิดผลดี ผลเสียประการใด ควรหรือเปล่าที่จะพูด พูดแล้วใครจะเดือดร้อนบ้าง แล้วจะทำเช่นไรเขาถึงจะไม่เดือดร้อน
    ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะคำพูดที่กลายเป็นกฏหมายบ้านเมืองได้ของพระราชานั้น อาจชี้ชะตาประชาชนว่าจะอยู่หรือไปได้ หรืออาจส่งผลกระทบให้บ้านเมืองเสียหายได้เลยทีเดียว ดังนั้นจะพูดอะไรก็ขอให้คิดให้รอบคอบก่อน ไม่ใช่สักแต่ว่าพูดไปงั้นๆ
    เยอะแยะไปครับ พระเจ้าแผ่นดินที่ต้องเลือกที่จะเสียพระทัย แต่ไม่ยอมคืนคำ
    พระวาจาที่เป็นคำทักทายปราศรัย มิใช่เป็นกฏหมาย แต่หมายถึงพระวาจาที่เป็นคำทักทาย สนทนา ในคัมภีร์ราชนิติ กล่าวว่า พระราชาเมื่อจะทักทายให้ยิ้มก่อน ย่อมดึงดูดใจผู้ฟัง สำหรับคำสนทนา ก็ควรเป็นคำอ่อนหวาน ไม่ควรเป็นคำแสดงอำนาจ แต่ควรเป็นคำพูดที่แฝงไว้ด้วยความรักความปราถนาดี
    พระวาจาที่เป็นกฏหมายสร้างประโยชน์ให้ชาวเมือง ส่วนคำทักทายปราศรัย สนทนา จัดเป็นราชสงเคราะห์ คือ พระวาจาที่ดึงดูดน้ำใจชาวเมืองได้

    ๕.นิรัคคฬะ ปกครองบ้านเมืองโดยไม่ต้องมีลิ่มสลัก
    มีความหมายว่า พระราชาทรงปกครองบ้านเมืองปราศจากโจรผู้ร้าย เมื่อบ้านเมืองปราศจากโจรผู้ร้าย ประชาชนก็จะอยู่เย็นเป็นสุข จะไปไหนก็ไม่ต้องปิดประตูบ้าน จะนอนหลับก็ไม่ต้องปิดประตูบ้าน การที่ประชาชนไม่ต้องปิดประตูบ้านเพื่อป้องกันพวกโจรอย่างนี้แหละเรียกว่า การปกครองบ้านเมืองโดยไม่ต้องมีลิ่มสลัก คือ ไม่ต้องใส่กลอนประตูนั่นเอง
    อันการปกครองบ้านเมืองนั้น มีอุปสรรคอยู่สองประการที่เป็นตัวขัดขวางมิให้การปกครองดำเนินไปสู่ความสงบสุข คือ โจรผู้ร้าย และศัตรูของพระราชาผู้ปกครองบ้านเมือง โจรผู้ร้ายนั้นเป็นพวกที่ไม่ชอบทำงาน ชอบแต่เที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติคนอื่นมาเลี้ยงชีพ ทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในการปกครองของพระราชาไม่ได้ ดังนั้น พระราชาจึงต้องหาทางปราบโจรผู้ร้ายให้สิ้นไป ชาวเมืองจึงจะอยู่เป็นสุข
    โจรผู้ร้ายนั้นมุ่งปองร้ายประชาชนทั่วไป ไม่ใช่พระราชา แต่ถ้าพระราชาปล่อยให้โจรผู้ร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง ก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของการอยู่ในราชสมบัติต่อไปได้ เพราะถ้าประชาชนเดือดร้อนมากๆ ก็อาจทนไม่ไหวมาโค่นล้มพระราชาได้ แต่สำหรับผู้เป็นศัตรูของพระราชานั้น ไม่ได้มุ่งปองร้ายประชาชนทั่วไป แต่มุ่งปองร้ายพระราชา พวกนี้คิดอยากจะชิงราชสมบัติจากพระราชา แล้วเป็นราชาแทน นี่ถ้าเป็นการแย่งผลประโยชน์ของคนธรรมดาทั่วไป ก็คนจะไม่ดึงคนอื่นเข้ามาเดือดร้อนด้วย แต่นี่คือการชิงอำนาจทางการเมืองกันครับ ประชาชนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องย่อมจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย อริราชศัตรูอาจจะสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐ เพราะตัวไม่ชอบพระราชา หรืออาจหาหนทางขับพระราชาออกจากราชสมบัติ เพื่อที่ตนจะได้เป็นพระราชาแทน อาจจะเป็นโดยการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เพื่อให้เขาไม่พอใจรัฐบาลที่แก้ปัญหาไม่ได้ หรืออาจจะเกลี้ยกล่อมประชาชนให้มาเป็นพวกร่วมขบวนการล้มรัฐบาลได้ นี่ก็แปลว่าเมื่อมีการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองขึ้น มันยากครับที่ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย
    การที่มีศัตรูคอยยุยงให้เกิดความปั่นป่วนในบ้านเมืองนั้น เป็นอุปสรรคของการปกครองประการหนึ่ง ดังนั้น เมื่อพระราชาปรารถนาจะปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นอย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่ต้องมีลิ่มสลักได้นั้น พระราชาจะต้องแก้ปัญหาเรื่องโจรผู้ร้าย และผู้เป็นศัตรูต่อราชบัลลังก์ให้ได้
    - การแก้ปัญหาโจรผู้ร้าย
    จากกูฏทันตสูตร เราจะพบว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนให้พระราชาทำการปราบโจรด้วยวิธีลงอาญา แต่ทรงสอนให้ปราบโจรด้วยวิธีส่งเสริมให้มีอาชีพ โจรผู้ร้ายที่ทำการปล้นสะดมนั้น เป็นเพราะไม่มีอาชีพจึงต้องเที่ยวปล้นเขาเพื่อเลี้ยงชีพ และการที่ไม่มีอาชีพ ก็เพราะไม่มีทุนทรัพย์ที่จะประกอบอาชีพ เมื่อพระราชาพระราชทานพันธุ์ข้าว และข้าวสำหรับบริโภคหรือทุนทรัพย์เพื่อทำการค้าขาย พลเมืองเล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโจรอีกต่อไป
    แม้กระทั่งข้าราชการใต้พระราชบัญชานี้ หากยากจนก็เป็นโจรได้ ข้าราชการที่เงินไม่พอใช้ก็จะไปเบียดเบียนเอาจากประชาชน ปัญหาตำรวจเก็บส่วยก็เป็นเพราะอย่างนี้ เงินเดือนไม่พอเลี้ยงชีพ ก็เลยต้องไปรีดไถเอาจากประชาชน
    ผลของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของผู้ปกครองนั้น นอกจากจะทำให้โจรผู้ร้ายลดลงแล้ว ผู้ปกครองยังเก็บภาษีได้มากขึ้นอีกด้วย เพราะประชาชนมีรายได้ดีขึ้นนั่นเอง
    ทีนี้ประชาชนจะไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องปิดประตูบ้าน ไม่ต้องมีคนเฝ้าบ้าน เพราะไม่มีโจร ที่ไม่มีโจรก็เพราะราษฎรทุกคนมีอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้
    - การแก้ปัญหาศัตรูทางการเมือง
    พระราชาควรทราบว่า ในบ้านเมืองมีใครบ้างที่ตั้งตัวเป็นศัตรู ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงแนะนำวิธีดูผู้เป็นศัตรูของพระราชาไว้ใน มิตตามิตตชาดก ซึ่งสรุปว่า
    “คนที่ไม่เป็นมิตร เมื่อเห็นเพื่อนแล้วไม่ยิ้มแย้ม ไม่ร่าเริง ไม่สบตาเพื่อน เมื่อเพื่อนมองก็มองไปทางอื่นเสียทำไม่สนใจ เมื่อเพื่อนพูดอะไรออกมาก็พูดขัดคอเพื่อน
    คนที่ไม่เป็นมิตร เขาจะคบคนที่เป็นศัตรูกับเพื่อน คนไหนเป็นมิตรกับเพื่อนเขาจะไม่คบ คนใดสรรเสริญเพื่อน เขาจะห้ามไม่ให้สรรเสริญ ส่วนคนใดนินทาเพื่อน เขาจะยกย่อง
    คนที่ไม่เป็นมิตร จะไม่บอกความลับของตนแก่เพื่อน ไม่ปกปิดความลับของเพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน ไม่สรรเสริญความคิดอ่านของเพื่อน ทั้งที่เป็นความคิดที่ดี
    คนที่ไม่เป็นมิตร เมื่อเพื่อนฉิบหาย เขาจะเกิดความยินดี เมื่อเพื่อนเจริญก้าวหน้า เขาจะไม่ขอบใจ”
    นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังต้องคอยระวังคนอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า คนประจบสอพลอ ลักษณะคือ ทำดีก็เออออ ทำชั่วก็เออออ ต่อหน้าสรรเสริญ ลับหลังนินทา คนแบบนี้อย่าได้คบมันเป็นเพื่อน และอย่ารับมันไว้เป็นลูกน้อง จะนำความวิบัติมาให้
    เมื่อพระราชาทรงทราบว่า คนใดเป็นศัตรูแล้วจะได้หาทางแก้ไขคนเป็นศัตรูให้กลับกลายมาเป็นมิตร ซึ่งการทำศัตรูให้เป็นมิตรนั้น เหตุที่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ ศัตรูก็จะก่อความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง และราชบัลลังก์ และที่ร้ายที่สุดก็คือ คนที่มีอำนาจทั่วไปเมื่อทราบว่าใครเป็นศัตรูแล้ว ก็หาทางทำลายและกลั่นแกล้ง ซึ่งยิ่งเพิ่มความเป็นศัตรูมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุนี้แหละผู้ปกครองจึงต้องทำคนที่เป็นศัตรูให้กลายเป็นมิตรให้ได้
    วิธีเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร ก็คือ ให้ตำแหน่ง ให้เกียรติ จะสยบศัตรูได้อย่างเด็ดขาด เป็นการชนะใจศัตรู ทำให้ศัตรูกลายมาเป็นมิตรในที่สุด



    การนำไปใช้กับระบอบประชาธิปไตย​

    คนเรานั้น แม้จะมีความขยัน มีความสามารถ สร้างฐานะของตนให้มั่นคงได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งใคร แต่ถ้าผู้ปกครองในบ้านเมืองนั้นๆไม่ตั้งอยู่ในธรรม เห็นคนไหนขยันทำกินก็หาทางรีดนาทาเร้น ฐานะที่เขาเพียรสร้างมาด้วยลำแข้งของตนเองก็ต้องมีอันมลายหายไป ดังนั้น เราจะเห็นว่า ความสุขและความทุกข์ นอกจากจะต้องแสวงหาด้วยตนเองแล้ว บางครั้งผู้ปกครองบ้านเมืองก็มีส่วนอยู่มากในการที่จะสร้างความสุขหรือความทุกข์ให้ประชาชนด้วยเหมือนกัน
    เช่นเดียวกัน คนเรานั้น แม้จะพยายามประพฤติตนเป็นคนดีด้วยตนเอง แต่ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นๆ ประพฤติพาล เบียดเบียนคนดี แล้วบังคับให้เขาเป็นคนเลว ด้วยกำลังอาวุธหรือกฏหมาย น้อยคนจริงๆที่จะรักษาความดีเอาไว้ได้ในยุคที่อธรรมิกราชครองแผ่นดินเช่นนี้
    ในหัวข้อนี้ จะเป็นการแนะนำวิธีการใช้หลักราชสงเคราะห์ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะว่าผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นพระราชาที่สืบสันตติวงศ์ หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ล้วนจะต้องอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในการปฏิบัติอาจจะต้องแตกต่างกันไปบ้าง ตามระบอบการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไป

    ๑.อัสสเมธะ มีปรีชาในการบำรุงม้า เป็นต้น
    เคยกล่าวไปแล้วว่า มิใช่ให้บำรุงเฉพาะม้า แต่ให้ทำการบำรุงสัตว์อื่นนอกจากม้าด้วย ยกตัวอย่างเช่น สัตว์จำพวกที่มนุษย์นำมาเลี้ยงเพื่อใช้งานทางการเกษตร อย่างวัวควาย
    เหตุที่พระพุทธองค์ทรงแนะให้ทำการบำรุงสัตว์เหล่านี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการปกครองของผู้ปกครอง และเพื่อส่งเสริมการเกษตรของประชาชนนั่นเอง
    มาในยุคปัจจุบันนี้ เรามิได้เลี้ยงม้าช้าง หรือควายไว้เพื่อใช้งานอีกแล้ว ถึงจะมีบ้างก็น้อย จะมีเหลือบ้างก็คือเลี้ยงวัวไว้รีดนม ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติตามราชสงเคราะห์ข้อนี้จึงต้องเปลี่ยนไป
    จากที่เคยบำรุงสัตว์พาหนะอย่างช้างม้า ก็ต้องเปลี่ยนมาบำรุงยวดยานพาหนะ อย่างรถยนต์ มอเตอร์ไซต์ เครื่องบิน เรือ และบำรุงถนนหนทางแทน เพราะสิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นพาหนะให้มนุษย์แทนที่สัตว์พาหนะไปเป็นที่เรียบร้อย
    ทุกวันนี้ การเดินทางด้วยยานพาหนะจำเป็นต่อประชาชน และผู้ปกครองอย่างมาก ในส่วนของประชาชนนั้น การใช้ยานพาหนะไปทำธุระต่างๆในแต่ละวันเป็นเรื่องจำเป็น ตั้งแต่พาลูกไปส่งโรงเรียน พานักโทษไปเข้าคุก พาญาติเข้าโรงพยาบาล
    แต่ทว่า เมืองไทยของเรา รัฐบาลไทยกลับละเลยการบำรุงยวดยานพาหนะและถนนไปเสียได้ อันที่จริงแล้วปัญหาเกี่ยวกับการจราจรของเมืองไทยมีมาก แต่นี่จะขอยกตัวอย่างคร่าวๆ
    - ถนนหนทางเมืองไทย ยังเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการตัดถนนนั้นคือรัฐบาลกลาง ไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่น ทำให้ไม่เชี่ยวชาญพื้นที่ ตัดถนนมั่วซั่ว เลยเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่ พอถนนชำรุด กว่ารัฐบาลกลางจะมาบูรณะก็นานโข เพราะธรรมดารัฐบาลกลางเองก็มีถิจอื่นๆต้องทำมากอยู่แล้ว ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาก็คือ เราต้องโอนเรื่องการตัดถนนให้เป็นหน้าที่ของส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบไปเลย
    เหนือสิ่งอื่นใด การทุจริตเงินสร้างถนน การสร้างถนนเพราะหวังไม้ใหญ่ ต้องถูกกำจัดให้สิ้นด้วย
    - ปัญหารถติดในเมืองหลวง อันที่จริงปัญหานี้ไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ เพราะมีสาเหตุมาจากการที่คนต่างจังหวัดอพยพเข้ามาอยู่ใน กทม. มากเกินไป เมื่อคนเยอะ ปัญหาต่างๆก็ตามมา เช่น การว่างงาน สภาพแวดล้อมเป็นพิษ รถติด โจรผู้ร้าย คนขลาดแคลนที่อยู่อาศัย ตลอดจนการเติบโตอย่างไร้แบบแผนของเมือง ฯลฯ สาเหตุที่ประชากรพากันหลั่งไหลเข้ากรุงอย่างเกินพอดีนั้น มีสาเหตมาจากที่รัฐบาลไม่ยอมกระจายความเจริญออกไป ปล่อยให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ประชากรก็เลยหลั่งไหลเข้ากรุงเทพอย่างล้นหลาม เพื่อมาหาประโยชน์จากความเจริญนั้น หางานทำ เรียนต่อ รักษาพยาบาล อะไรๆก็ต้องเข้ากรุงเทพหมด
    จากสถิติโลก พบว่าประเทศไทยนี้ มีอัตราการกระจุกตัวของความเจริญสูงที่สุดในโลก ความเจริญประมาณ 90 % ของประเทศ ล้วนกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ไม่ได้กระจายออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ อย่างต่างจังหวัดเลย ขนาดเชียงใหม่ จังหวัดใหญ่อันดับสอง ก็ยังเจริญน้อยกว่ากรุงเทพเป็นเท่าตัว ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำได้เหมือนประเทศไทย แม้แต่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างลาวก็ยังไม่ถึงขนาดนี้
    ถ้ารัฐบาลไทยฉลาดกว่านี้ รู้จักกระจายความเจริญออกจากรุงเทพ ไปสู่ต่างจังหวัดบ้าง รู้จักกระจาย มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลชั้นนำ การมีงานทำ ออกไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดบ้าง ไม่ใช่อะไรๆก็สร้างไว้ในกรุงเทพหมด ปัญหาต่างๆของกรุงเทพ เช่น ชุมชนแออัด มลภาวะเป็นพิษ รถติด โสเภณี คนว่างงาน โรคระบาด ขยะมูลฝอย น้ำเน่าเสีย โจรผู้ร้าย พ่อแม่กลับบ้านดึกเพระรถติด เด็กเลยติดเกม ครอบครัวก็แตกแยก ลูกโตขึ้นมาก็กลายเป็นนักการเมืองทรราชย์เพราะประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก แถมต้องเสียค่าน้ำมันเกินความจำเป็นเพราะรถติดอีก ก็คงจะมีไม่มากเท่านี้ และปัญหาต่างๆ ของต่างจังหวัดก็คงจะมีไม่มากเท่านี้ด้วย เช่น ลูกต้องเข้าไปหางานทำในกรุงเทพ ทิ้งให้พ่อแม่ที่ดูแลตนเองไม่ได้อยู่บ้าน เจ็บป่วยขึ้นมาก็ขาดคนดูแล ปัญหาการขาดแคลนคนวัยทำงานของต่างจังหวัด เพราะไหลเข้ากรุงเทพหมด ปัญหาเหล่านี้จะลดลงทันทีเมื่อรัฐบาลปกครองประเทศเป็น
    ความเจริญคืออะไร? ก็สามารถยกตัวอย่างได้ เช่น การมีงานทำ การได้เรียนในโรงเรียนดีๆ การได้รักษาพยาบาลด้วยเครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
    ถามว่าเป้าหมายของการกระจายความเจริญคืออะไร ก็คือ เราต้องทำให้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย มีความเจริญใกล้เคียงกันให้มากที่สุด อย่าให้เกิดความเหลื่อมล้ำของความเจริญระหว่างพื้นที่ต่างๆ แต่จะให้เท่ากันเป๊ะๆนี่ทำไม่ได้อยู่แล้ว แค่ทำให้ใกล้เคียงกันได้ก็พอ รัฐบาลต้องทำเช่นนี้ จึงจะสามารถป้องกันไม่ให้คนต่างจังหวัดไหลเข้ามากรุงเทพได้อีก ในเมื่อความเจริญอยู่บ้านเกิดตนเองก็มี คนต่างจังหวัดก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งบ้าน ทิ้งพ่อแม่ มาแสวงหาความเจริญในเมืองหลวงอีกต่อไป
    ถ้าเรากระจายความเจริญออกไปได้ ปัญหารถติดจะลดลง เพราะรถในกรุงเทพลดน้อยลง เพราะคนต่างจังหวัดกลับบ้านกันไปหมดแล้ว ประโยชน์พลอยได้จากการแก้ปัญหานี้คือ สถาบันครอบครัวไทยจะเข้มแข็งขึ้นทันที คนต่างจังหวัดได้กลับไปดูแลพ่อแม่ คนกรุงได้กลับบ้านไปอยู่กับลูกเร็วขึ้น คุ้มค่าครับ
    แต่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเช่นนั้น ไม่ได้ทำกันง่ายๆเลย ดีไม่ดีต้องใช้เวลาเป็นชั่วอายุคน คนริเริ่มอาจจะไม่ได้อยู่ดูความสำเร็จด้วยซ้ำไป ดังนั้น ระหว่างนี้ควรแก้ปัญหารถติดที่ปลายเหตุกันไปก่อน เช่น สร้างถนนเพิ่ม หรือรณรงค์ให้คนใช้รถสาธารณะ ซึ่งในกรณีหลังนั้น รัฐบาลที่จะรณรงค์ ต้องรู้จักปรับปรุงบริการรถสาธารณะให้มีคุณภาพน่าใช้มากขึ้น จะได้ดึงดูดคนมาใช้ได้มากๆ รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหารถเมล์จอดนอกป้าย ขับแข่งกัน กระเป๋ารถไม่สุภาพ เบาะชำรุด พื้นชำรุด แท็กซี่ปล้นผู้โดยสาร พาผู้โดยสารออกนอกเส้นทาง ตลอดจนพวกมาเฟียที่รีดไถวินมอเตอร์ไซต์ รัฐบาลต้องแก้ให้หมด อย่างจริงจัง และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้กลับมาอีกด้วย
    - ปัญหาเรื่องรถ คนไทยผลิตรถเองไม่ได้ ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น ญี่ปุ่นนี่ตัวดีเลย มาเอาเหล็กประเทศเราสร้างรถ แล้วขายให้คนไทย เงินที่ได้เอากลับประเทศมัน เลวจริงๆ เรื่องวิธีแก้ คงต้องปราบระบบทุนนิยมโลกให้ได้นั่นแหละ เราถึงผลิตรถได้เอง
    ส่วนผู้ปกครองนั้น ก็ต้องใช้ยานพาหนะแทนที่ม้าในอดีต คือ ต้องใช้มันขับออกไปตรวจบ้านเมือง ไปพบปะพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุขดิบของประชาชน แน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลไม่ดูแลเรื่องรถหรือถนน ก็จะทำให้มีปัญหาในกิจการต่างๆเหล่านี้แน่นอน เช่น จะไปประชุมสภา เจอรถติด จะเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟฟ้าก็ใช่ที่ เพราะเดี๋ยวคนบนรถไฟฟ้าจำหน้าได้ ว่าเอ๊ะ นี่มันนักการเมืองที่เอื้อประโยชน์พวกนายทุนมาฮุบที่ดินเราไปนี่หว่า เขาจะกระทืบตายคารถไฟฟ้าได้ มีทางเดียวคือต้องโดดประชุมสภา เลยโดนหัวหน้าพรรคสับเละ ว่าถ้าเอ็งเข้าประชุม แล้วช่วยยกมือโหวต พรรคเราคงไม่แพ้มติหรอก
    ที่กล่าวไปข้างต้นคือการบำรุงยานพาหนะและถนนหนทางแทนการบำรุงสัตว์พาหนะ ต่อไปจะเป็นการบำรุงเครื่องมือทางการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแทนการบำรุงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งานทางการเกษตร
    เรื่องที่รัฐบาลต้องบำรุงในภาคการเกษตร ก็เช่น ดูแลเรื่องเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร ดูแลเรื่องปุ๋ย ดูแลเรื่องน้ำ ดูแลเรื่องเงินลงทุน ตลอดจนที่ดินทำกิน เป็นต้น
    - เรื่องเครื่องมือการเกษตร ในปัจจุบันนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ใช้สัตว์ในการทำการเกษตรอีกต่อไป เพราะผลิตได้ช้าและน้อย เลยหันไปใช้เครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร ที่เพิ่มผลผลิตได้มากแทน เมื่อชาวนาหันมาใช้รถไถนาแทนควาย รัฐบาลก็ต้องดูว่าชาวนาเขามีปัญหาอะไรในการใช้รถไถนาบ้าง และก็ช่วยแก้ปัญหานั้น เช่น ถ้าเขาใช้รถบรรทุกยางพารา แล้วหกเรี่ยราดบนถนน รัฐบาลก็ต้องรู้จักตักเตือนเขา เพราะน้ำยางที่หกเรี่ยราดบนถนนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
    - เรื่องปุ๋ย ปัญหาปุ๋ยปลอมปุ๋ยแพง รัฐบาลต้องแก้ไขให้ได้ โดยสืบหาต้นตอของแหล่งผลิตปุ๋ยปลอมแล้วลงโทษ
    ส่วนปุ๋ยแพงนั้น รัฐบาลต้องตรวจดูว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ปุ๋ยแพง? แล้วก็แก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ เพื่อให้ปุ๋ยราคาถูกลงเองโดยปริยาย เช่น มีปัญหาด้านการขนส่งปุ๋ย เพราะถนนหนทางไม่ดี ปุ๋ยเลยแพง รัฐบาลก็ต้องปรับปรุงถนนที่ใช้ในการขนส่งปุ๋ยของบรรษัทผลิตปุ๋ยให้ดีขึ้น เพียงเท่านี้บรรษัทผลิตปุ๋ยก็จะยอมลดราคาปุ๋ยเอง รัฐบาลห้ามสั่งลดราคาปุ๋ยโดยที่ยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขปัจจัยปัญหาที่ทำให้ปุ๋ยแพงก่อนเป็นอันขาด เพราะจะเกิดผลเสียต่อบรรษัทผลิตปุ๋ยในระยะยาวได้
    อันที่จริง รัฐบาลชุดหนี่งเคยปิ้งไอเดียแก้ปัญหาปุ๋ยปลอมปุ๋ยแพง ด้วยการจะตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยของรัฐซะเอง ซึ่งถ้าทำได้ คงจะเป็นประโยชน์กับชาวนาอย่างมาก เพราะชาวนาจะได้ไม่ต้องซื้อปุ๋ยแพงๆจากพวกนายทุนที่หวังแต่ผลกำไรอีกต่อไป อยากได้ปุ๋ยก็มาขอจากรัฐบาล ดีๆ แต่กลับกลายเป็นว่าต่อมา นายทุนเจ้าของบรรษัทผลิตปุ๋ยก็วิ่งเต้นไม่ให้รัฐบาลตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยได้ เพราะอาจทำให้ตนตกงานได้ ซึ่งก็ทำสำเร็จ รัฐบาลเห็นแก่นายทุนมากกว่าชาวนา จึงยอมยุบโครงการนี้ไป
    ความจริงเกษตรกรไม่น่าจะคอยแต่ปุ๋ยเคมีราคาแพง น่าจะเอาอุจจาระของคนหรือสัตว์มาทำปุ๋ยใช้เองไปเลย ประหยัดค่าใช้จ่ายแถมยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลก็สามารถสนับสนุนเรื่องนี้ได้ โดยการส่งนักวิชาการลงมาให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยชีวภาพให้ทัดเทียมปุ๋ยเคมีได้ แต่ก็ไม่มีใครทำ ถ้าทำได้ก็ดี ปุ๋ยเคมีน่ะ ทั้งราคาเข้าทางพวกนายทุน แถมทำให้ดินเสียอีก
    - เรื่องน้ำ รัฐบาลช่วยชาวนาชาวไร่ได้ โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำ แล้วก็ทำรางน้ำให้เข้าที่นาของเกษตรกร เพื่อทำการเพาะปลูกในหน้าแล้ง การขุดคูน้ำ ขุดคลองชลประทานเยอะๆนี้ นอกจากจะช่วยในการทำการเกษตรของเกษตรกรแล้ว ยังช่วยป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย (แต่เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ปลายเหตุ ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือเราต้องปราบพวกนายทุนที่รุกพื้นที่ป่าให้สิ้นซาก)
    - เรื่องเงินทุน รัฐบาลอาจจะใช้วิธีจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรกู้เงินมาลงทุน แต่พอตอนใช้หนี้นั้น รัฐบาลต้องค่อยๆเก็บทีละน้อยแบบผ่อนเอา
    - เรื่องที่ดินทำกิน อันนี้สำคัญเลย พื้นที่ประเทศไทยนั้น กว้างใหญ่พอที่จะให้ประชาชนทุกคนทำมาหากินได้ แต่เหตุที่ประเทศไทย ประสบปัญหาเรื่องคนขาดที่ดินทำกินนี้ เป็นผลมาจากนโยบายการจัดสรรที่ดินที่ล้มเหลวของรัฐบาลทั้งสิ้น รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยนั้นถูกครอบงำโดยนายทุน ไม่ก็มีแต่นายทุนที่มาลงเล่นการเมือง พวกนี้คิดถึงแต่เรื่องผลประโยชน์ ผลกำไร แทนที่จะจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้าน มันกลับไปไล่ชาวบ้านออก เอาที่ประเคนให้นายทุนแทน ชาวบ้านเขาก็ไม่มีที่ทำกินสิ อยู่ในที่นาผืนนี้กันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ มาตอนนี้กลับมาโดนนายทุนไล่เอาอย่างหน้าด้านๆ ถ้าเขาไม่เข้ากรุงเพื่อหางานใหม่ทำ ก็ต้องไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน
    ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีจิตสำนึกมากกว่านี้ เห็นแก่ประชาชน อย่าให้นายทุนมาเอาเงินฟาดหัวแล้วไปรังแกประชาชนให้มันได้ ที่ดินนี่ ต้องจัดสรรให้มันเป็นธรรมกว่านี้ ใครมีที่ดินเยอะแต่ไม่ได้ใช้งาน โดยเฉพาะพวกนายทุนที่ไปกว้านหลอกซื้อที่เขามาได้ รัฐบาลต้องยึดเป็นของหลวงเสีย และจัดสรรให้แก่ชาวนาที่เขาจำเป็นต้องใช้ ให้เขาได้มีที่ทำกิน จะได้ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า นำมาซึ่งปัญหาภัยธรรมชาติต่อไป
    เรื่องที่รัฐบาลต้องบำรุงในภาคอุตสาหกรรม ก็เช่น ปัญหาเรื่องเครื่องจักร แท่นพิมพ์การผลิต ปัญหาแรงงาน ปัญหามลพิษ เป็นต้น
    - ปัญหาเรื่องเครื่องจักรในการผลิต ที่น่าห่วงที่สุดก็คือเรื่องความปลอดภัย แต่ผมไม่ค่อยเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก จึงขอพูดแค่ว่า รัฐบาลต้องกำชับให้ผู้ปกระกอบการอุตสาหกรรมทั้งหลายจัดหาเฉพาะเครื่องจักรการผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มาใช้เท่านั้น
    ปัญหาต่อไปก็คือ เรื่องลิขสิทธิ์ของเครื่องจักร ประเทศไทยน่ะเป็นประเทศทุนนิยมบริวาร ไม่ใช่ทุนนิยมชั้นหัวหน้า เราเลยโดนประเทศมหาอำนาจทุนนิยมขูดรีดเป็นประจำ จะสร้างเครื่องจักรอุตสาหกรรมเอาเอง ก็ถูกประเทศมหาอำนาจฟ้องว่า ยูละเมิดลิขสิทธิ์ของไอ แท่นพิมพ์แบบนี้ไอคิดได้ก่อน ถ้ายูจะสร้างต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้ไอก่อน สรุปว่ายิ่งเราพัฒนาอุตสาหกรรมมากเท่าไร แทนที่ประเทศเราจะรวยขึ้นก็มีแต่จะจนลง เพราะถูกเขาขูดรีดอย่างนี้จะไปรวยได้ยังไง
    วิธีแก้ เราต้องสร้างขบวนการชาตินิยม ปลดปล่อยประเทศไทยจากการตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจนี้ให้ได้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  12. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    - ปัญหาแรงงาน มันเป็นธรรมดาของประเทศทุนนิยมบริวาร ที่แรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เป็นอย่างนี้กันทั้งโลกแหละ แรงงานไทยก็เช่นกัน ถูกนายจ้างฝรั่งหรือญี่ปุ่นขูดรีด บังคับให้ทำงาน เพื่อผลิตสินค้าญี่ปุ่นจากวัตถุดิบของประเทศไทย เพื่อเอาไปขายให้คนไทยด้วยกัน รายได้ส่วนใหญ่ส่งกลับไปบำเรอนายทุนยุ่นที่ญี่ปุ่น ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะแบ่งให้ผู้ใช้แรงงานชาวไทย
    อย่าว่าแต่นายทุนฝรั่งเลย นายทุนไทยบางคนก็ใช้งานแรงงานของตนอย่างหนัก บังคับให้ทำงานอันตราย โดยแลกกับค่าจ้างนิดหน่อย ลูกจ้างก็ไม่รู้จะขัดขืนอย่างไร ถ้าไม่ทำตามคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมก็อาจจะโดนไล่ออก งานสมัยนี้ยิ่งหายากอยู่ด้วย จะกลับบ้านไปทำนา ที่นาก็โดนโกงไปเป็นทีเรียบร้อย ก็เลยได้แต่ก้มหน้ารับความอยุติธรรมนี้ต่อไป
    รัฐบาลที่มีคุณธรรมต้องรู้จักเข้ามาดูแล ลงโทษนายจ้างที่รังแกลูกจ้าง บังคับนายจ้างให้จ่ายค่าแรงลูกจ้างอย่างเป็นธรรม นี่คือกรณีของนายจ้างไทย (ความจริงน่าจะทำอย่างนี้ได้ตั้งนานแล้ว ถ้ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไม่กลัวนายทุน) แต่ถ้าเป็นนายทุนต่างชาติ เราต้องก่อตั้งขบวนการชาตินิยมเพื่อขับไล่มันให้พ้นจากแผ่นดินเรา
    - ถ้าพูดถึงภาคอุตสาหกรรม ปัญหาที่คนทั่วไปพอรู้จัก ก็คือปัญหามลพิษ เช่น น้ำเสีย อากาศเสีย สารเคมี ที่โรงงานปล่อยออกมา ทำให้ประชาชนทั่วไปต้องเดือดร้อน จริงๆปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ถ้ารัฐบาลสนใจแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่กลัวพวกนายทุน ก็จะสามารถบังคับให้โรงงานต่างๆมีมาตรการในการจัดการมลพิษของตนได้ นายทุนคนไหนฝ่าฝืน ต้องจับขังคุก แล้วฮุบกิจการเป็นของรัฐ
    นอกจากการบำรุงโน่นนี่แล้ว ในเรื่องการจัดสรรหน้าที่การงานในสังคมให้คนในสังคมได้ทำตามความถนัด ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ ยิ่งสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมที่ซับซ้อน มีปัญหามากมายเกิดขึ้นมาในแต่ละวัน รัฐบาลยิ่งต้องรู้จักใช้คนตามความถนัดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก ไม่งั้นก็แก้ปัญหาแปลกๆนั้นไม่ได้
    วิธีการที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ รัฐบาลควรปรับปรุง กระบวนการคัดเลือกคนเข้าทำงาน หรือเรียนต่อ ให้สามารถคัดคนที่ถนัด มีความรัก ในการงานด้านต่างๆ ได้ทำงานในด้านที่ตนถนัดนั้น อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะขอพูดในกระทู้อื่นๆ

    ๒.ปุริสเมธะ มีปรีชาในการเกลี้ยกล่อมคน
    เคยกล่าวไปแล้วว่า พระราชาต้องปฏิบัติคุณ ๘ ประการ ดังนี้
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงพระอินทร์
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงพระอาทิตย์
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงลม
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงพระยายม
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงมหาสมุทร
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงพระจันทร์
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแผ่นดิน
    - ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงเมฆ
    เมื่อเปลี่ยนระบอบมา มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ปกครองบ้านเมืองแทนพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องปฏิบัติในหลักราชสงเคราะห์ข้อนี้ด้วย
    ในการปฏิบัติราชสงเคราะห์ข้อที่ให้ผู้ปกครองบ้านเมือง พยายามเกลี้ยกล่อมคนทั้งแผ่นดินให้มีศรัทธาต่อตนนั้น รัฐบาลจะต้องปฏิบัติคุณแปดประการเหมือนกับพระราชาทุกประการ ต่างกันตรงที่ พระราชาตัดสินพระทัยในการปฏิบัติคุณแปดประการนี้ด้วยพระองค์เอง แต่รัฐบาลสมัยใหม่นี้ หากอยากปฏิบัติ ก็จะต้องตัดสินใจกันเป็นคณะ ยกตัวอย่างเช่น คุณข้อแรกที่ว่า พระอินทร์ทรงปกครองเทวดาชั้นดาวดึงส์ด้วยการยกย่องเทวดาที่ควรยกย่อง และตำหนิเทวดาที่ควรตำหนิอย่างยุติธรรม เมื่อพระราชาจะปฏิบัติให้เหมือนพระอินทร์ ก็เพียงตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองที่จะประพฤติตนเยี่ยงพระอินทร์ เป็นต้น
    แต่ถ้าเป็นรัฐบาลสมัยใหม่ รัฐบาลชุดหนึ่งๆประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ฯลฯ ซึ่งมีหลายคน การจะปฏิบัติคุณแปดประการ รัฐบาลต้องปฏิบัติเป็นคณะ

    ๓.สัมมาปาสะ มีอัธยาศัยเหมือนบ่วงคล้องใจ
    ข้อนี้ว่าด้วยการมีอัธยาศัยเหมือนบ่วงคล้องใจประชาชน ของรัฐบาลหรือนักการเมือง เพราะเหตุว่ารัฐบาลเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง จึงต้องปฏิบัติหลักธรรมข้อนี้ และเพราะเหตุว่านักการเมืองทุกวันนี้จะขึ้นมามีอำนาจได้ ก็จากความไว้วางใจของประชาชน ต่างกับพระราชาที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเห็นชอบจากประชาชนก็สามารถมีอำนาจได้ ดังนั้น การสร้างอัธยาศัยให้ประชาชนนิยมชมชอบจึงจำเป็นต่อนักการเมือง มากกว่าพระราชาเสียอีก
    อันความจริงการที่รัฐบาล จะมีอัธยาศัยเป็นที่ประทับใจของประชาชนนั้น เพียงรักษาเรื่องสำคัญเรื่องเดียวเท่านั้นก็จะสามารถเป็นมนต์เสน่ห์ จูงใจให้มหาชนชื่นชมยินดีได้ เรื่องสำคัญนั้นคือ จริยธรรมนั่นเอง
    อันจริยธรรมที่จะเป็นเหมือนบ่วงคล้องใจมหาชน ให้นิยมรักใคร่รัฐบาลอยู่ตลอดเวลานั้นก็คือ สังคหวัตถุ ซึ่งแปลว่า หลักปฏิบัติคล้องใจคน มี ๔ ประการ คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา
    เรามาดูกันว่า การที่รัฐบาลปฏิบัติในสังคหวัตถุ ๔ ประการนั้น จะเป็นที่ประทับใจหรือคล้องใจประชาชนได้อย่างไร
    - ทาน
    เคยวิเคราะห์มาแล้วหลายครั้ง สำหรับในประเด็นนี้ จะยกตัวอย่างรัฐบาลที่ให้ทาน กับรัฐบาลที่ไม่ให้ทาน จะมีความนิยมต่างกันอย่างไร แต่ก่อนนี้ไม่มีรัฐบาลไหนยอมอภัยโทษให้กับคนที่ถูกศาลตัดสินให้เนรเทศ แต่ไม่มีประเทศไหนจะรับไป คนเหล่านั้นก็ถูกขังลืมอยู่อย่างนั้น แต่มีรัฐบาลชุดหนึ่ง ได้ให้อภัยโทษคนเหล่านั้น นี่ก็เป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง เรียกว่า อภัยทาน ถามว่ารัฐบาลปฏิบัติอย่างนี้ ก่อให้เกิดความศรัทธา หรือก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธา คงมีแค่ส่วนน้อยตอบว่า รัฐบาลทำอย่างนั้นทำให้เสื่อมศรัทธา ส่วนใหญ่จะตอบว่ารัฐบาลทำได้น่าประทับใจมาก ส่วนคนที่ตอบว่า ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลจะมีเฉพาะคนที่ไม่ชอบรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายค้าน นี่คือ ผลของการให้ที่เรามองเห็นได้
    เมื่อก่อนนี้ รัฐบาลไม่เคยสนใจปัญหาของชาวสลัมจริงจังนัก แต่รัฐบาลชุดเดียวกัน ได้พบว่าปัญหาหนักอกของชาวสลัมในกรุงเทพ ก็คือ ไม่มีที่ดินจะปลูกกระท่อมอยู่ จึงอนุมัติงบประมาณให้ซื้อที่ดินจากเอกชน เพื่อให้ชาวสลัมได้ปลูกบ้านอยู่ ถามว่ารัฐบาลทำแบบนี้ผิดหรือไม่ ตอบว่าไม่ผิด พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องให้ทานแก่คนยากจน เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายนี้แล้ว ดูเหมือนไม่มีประชาชนคนไหนจะตำหนิเลย แต่ละคนชื่นชมรัฐบาลกันทั่วหน้า นี่ก็คือ บ่วงคล้องใจประชาชนอันเกิดจากอานุภาพของการให้ทาน
    เมื่อก่อนนี้ เมื่อถึงวันสงกรานต์ ทางรัฐบาลให้ข้าราชการหยุดงานได้เพียงวันเดียว ซึ่งน้อยเกินไป เดินทางกลับบ้านเกิดไปเคารพพ่อแม่แทบไม่ทันเลย ก็ได้รัฐบาลชุดเดียวกันนี้ จึงให้ข้าราชการหยุดงานได้สามวัน เมื่อมตินี้ออกมาคนส่วนใหญ่ชื่นชมยินดี การหยิบยื่นให้ของรัฐบาล นี่ก็เป็นบ่วงคล้องใจประชาชนที่เกิดจากการให้
    แต่ก่อนนี้ เมืองไทยประสบปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิตส์ ทหารและประชาชนต้องตายไปปีละเป็นร้อย เปลืองงบประมาณเป็นพันล้านบาท เพื่อปราบปราม ผกค ต่อมารัฐบาลชุดหนึ่ง (คนละชุดกับเมื่อกี้) ได้ออกนโยบายให้อภัยโทษผู้ก่อการร้าย และได้ออกประกาศให้ผู้ก่อการร้ายเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทย ปรากฏว่า ผู้ก่อการร้ายยอมวางอาวุธ แล้วมอบตัวกับทางรัฐบาล ทางรัฐบาลก็จัดหาที่ดินให้ทำมาหากิน พร้อมออกทุนรอนให้ ผู้ก่อการร้ายยินดีที่ไม่ต้องอยู่ในป่าอีกต่อไป ประชาชนก็ชื่นชมรัฐบาล เพราะบ้านเมืองสงบสุข นี่ก็เป็นผลของการให้อภัยทานของรัฐบาล
    มีทานชนิดหนึ่งที่รัฐบาลควรมีนโยบายดำเนินการ ในทุกๆปี เราจะพบว่ามีมูลนิธีต่างๆ จัดงานเทกระจาด ก็คือ การให้ทานแก่คนยาก เมื่อจัดงานแต่ละครั้ง ปรากฏว่ามีคนไปรอรับทานกันแน่นขนัด บางปีถึงขนาดเหยียบกันตาย และทานที่มูลนิธิแจกไป ก็เป็นข้าวสาร น้ำปลา ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนจน
    ถ้าจะถามว่า คนที่ไปรับทานกันเป็นจำนวนหมื่นนั้น เป็นใครมาจากไหนก็ตอบได้เลยว่า เป็นคนจนทั้งนั้น เมื่อมีคนจนอุตส่าห์มานั่งคอยนอนคอยรับทานเพียงน้อยนิดเช่นนี้ แสดงว่ามีคนจนที่แทบไม่มีจะกินเป็นจำนวนมาก การแจกทานอย่างนี้แหละที่อยากจะให้รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการบ้าง
    ในสมัยโบราณ มีบุคคลสองประเภทที่มีจิตเป็นกุศลสร้างโรงทาน แจกอาหารให้แก่คนจน คือ พระราชา และเศรษฐี แต่ทุกวันนี้ รัฐบาลกลับไม่ทำหน้าที่นี้แทนพระราชา ก็เหลือแต่เศรษฐีเท่านั้น ที่ยังให้ทานอยู่ แต่ก็ให้เพียงปีละครั้ง ดังนั้น จึงขอเสนอแนวคิดนี้ให้รัฐบาล ตั้งโรงทานแบบถาวร เพื่อแจกทานแก่คนจนเป็นประจำ (ต้องแจกทุกวัน ไม่ใช่แจกปีละครั้งเหมือนพวกเศรษฐี) คนที่จนจริงๆ จะได้มีข้าวสารไว้หุงให้ลูกกิน ไม่ต้องฆ่าตัวตายหนีความรับผิดชอบ
    อย่างไรก็ตาม นโยบายแบบนี้จัดอยู่ในประเภทนโยบายประชานิยม รัฐบาลจึงไม่ควรเน้น ควรจะเน้นที่นโยบายประเภทที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนได้ดีกว่า เช่น การสร้างอาชีพให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น การสร้างอาชีพไม่ได้ทำเสร็จได้ภายในวันเดียว ในระหว่างที่ยังไม่สามารถหางานให้คนจนได้ทั้งหมด รัฐบาลก็ควรตั้งโรงทาน แจกจ่ายทานแบบให้ฟรีๆไปก่อน อย่าปล่อยให้คนจนอดอยากโดยหวังให้เศรษฐีเป็นผู้อุปการะเพียงฝ่ายเดียว
    อย่างไรก็ตาม โรงทานนี้ ควรจะแจกให้เฉพาะคนจนที่ไม่มีอันจะกินจริงๆเท่านั้น ไม่ใช่แจกพร่ำเพรื่อ กับพวกที่พอจะมีกินนี่อย่าแจก และพอรัฐบาลสร้างงานสร้างอาชีพให้คนจนคนไหนมีฐานะดีได้ ก็ไม่จำเป็นต้องแจกให้คนๆนั้นอีกต่อไป (เว้นเสียแต่ว่า เขาจะกลับมาเป็นคนไม่มีอันจะกินอีกรอบ เช่น บรรษัทล้มละลาย)
    นี่เป็นนโยบายประชานิยมอย่างเดียวที่ผมอยากแนะนำ เพราะสามารถช่วยชีวิตคนจนได้ ถ้าไม่ทำเขาอาจจะอดตายได้ ตราบใดที่ในประเทศ ยังคงมีคำว่า คนตกงาน คนไร้ที่ทำกิน คนพิการ คนแก่ที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง โรงทานก็ยังจำเป็นอยู่นั่นเอง
    ส่วนนโยบายประชานิยมแบบอื่นๆ เช่น แจกรถคันแรกฟรี อย่างนั้นผมไม่สนับสนุน อย่าไปทำทานแบบนั้น ให้ทานแบบนั้นกับประชาชนนี่ เท่ากับฆ่าเขาทั้งเป็นเลย
    - ปิยวาจา
    คือการพูดจาอ่อนหวาน จะได้กล่าวในการวิเคราะห์หลักราชสงเคราะห์ ขอข้ามไปก่อน
    - อัตถจริยา
    คือการทำประโยชน์ให้ ถามว่า ทำไมการทำประโยชน์ให้จึงเป็นบ่วงคล้องใจประชาชน ในเรื่องนี้ถ้าเราจะเปรียบง่ายๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างคนระดับเดียวกัน เราจะเห็นคำตอบอย่างชัดเจนเลยทีเดียว เช่น สมมติว่าเรากำลังนั่งซักผ้าอยู่ที่บ้าน แล้วเผอิญมีเพื่อนสองคนมาหาเราที่บ้าน เพื่อนคนหนึ่งเมื่อเห็นเรากำลังซักผ้า ก็ลงมือช่วยซัก ส่วนอีกคนหนึ่งนั่งอ่านหนังสือเฉย ถามว่าเพื่อนสองคนนี้ เราศรัทธาเพื่อนคนไหน คนส่วนใหญ่ก็ต้องตอบว่าเพื่อนคนแรกสิ นี่คือผลอย่างหนึ่งจากการทำประโยชน์ให้
    เพียงทำประโยชน์เล็กน้อย เรายังเกิดความศรัทธา ดังนั้น เมื่อรัฐบาลสร้างสิ่งที่เป็นคุณอันมหาศาล ความศรัทธา ก็คงจะมีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
    บางคนอาจจะมีความคิดว่า การทำประโยชน์ของรัฐบาล ล้วนแต่ทำไปเพื่อหวังให้คนศรัทธา เพื่อหวังคะแนนเสียง จึงเป็นการกระทำที่ไม่บริสุทธิ์จริงใจ เพราะมิได้หวังสร้างประโยชน์แก่ประชาชนโดยแท้จริงเท่าใดนัก จึงไม่ควรนิยมยกย่องในการกระทำดังกล่าว ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวนั้น อาจจะไม่ถูกไปเสียหมดทุกกรณีก็ได้ มันต้องมีบ้างนั่นแหละ ผู้ปกครองที่ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนจริงๆโดยไม่ได้คาดหวังความศรัทธาหรือคะแนนเสียงจากประชาชนเลย มันต้องมีในโลกนี้บ้างนั่นแหละ ผู้นำที่ปิดทองหลังพระ ทำดีแต่ไม่มีใครเห็น และก็ไม่หวังให้ใครมาเห็น มันต้องมีบ้างนั่นแหละ ผู้นำดีๆ ที่ทำประโยชน์แก่ประชาชน แต่ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ จากประชาชนเลย ผู้นำที่ทำประโยชน์แก่ประชาชนโดยไม่หวังอะไรจากประชาชนนี้ ประชาชนจะยิ่งให้ความศรัทธามากยิ่งขึ้นไปอีก
    แต่จะมีซักกี่คนกันที่เป็นผู้นำประเภทนี้ ประเภทที่ว่า ไปช่วยประชาชน โดยไม่ขออะไรจากประชาชนเลย แม้แต่คะแนนเสียง ถ้าหากว่ามี คนที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะชื่นชมในความเอื้ออารีของเขา แต่คนประเภทนี้มีน้อยมาก
    - สมานัตตตา วางตนเสมอต้นเสมอปลาย
    การวางตนเสมอต้นเสมอปลายของรัฐบาล ก็ต้องอนุโลมในลักษณะที่ว่า ทำการบริหารบ้านเมือง โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าคนมีอำนาจ รัฐบาลต้องเอาใจ คนมีเงินรัฐบาลต้องประจบ ส่วนคนจนคนไร้อำนาจก็ไม่ต้องไปฟัง การกระทำของรัฐบาลที่เลือกปฏิบัติไม่เสมอภาคกันระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างนี้ เรียกว่า วางตนไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย
    ลักษณะการวางตนไม่เสมอต้นไม่เสมอปลายของรัฐบาลในระบอบทุนนิยมนี้ แทบจะมีให้เห็นกันทุกชุด และทุกชาติ เราจะพบเสมอว่า ถ้าคนมีอำนาจหรือคนรวยที่มีชื่อเสียง ถูกฆ่าตาย ส่วนใหญ่รัฐบาลจะสั่งให้ตำรวจเร่งดำเนินการหาคนผิดมาลงโทษให้ได้ แต่พอคนจนถูกฆ่าตาย ตำรวจแทบจะทำเฉย รัฐบาลก็ไม่สั่งการ ลักษณะอย่างนี้คือ การวางตนไม่เสมอต้นไม่เสมอปลายของรัฐบาลและตำรวจ การกระทำเช่นนี้หาได้ประทับใจประชาชนไม่ แต่ถ้ารัฐบาลให้ความสนใจเสมอกัน กล่าวคือ เมื่อคนจนถูกฆ่าตาย หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ รัฐบาลสั่งให้ดำเนินการให้รีบจับคนร้ายมาลงโทษให้ได้ ถ้ารัฐบาลทำอย่างนี้ได้ ประชาชนก็จะประทับใจในความเสมอต้นเสมอปลายของรัฐบาล
    ในส่วนของนักการเมืองที่ไม่ใช่รัฐบาล ก็จำเป็นจะต้องปฏิบัติในจริยธรรมเหล่านี้เหมือนกัน
    เมื่อนักการเมืองจะให้ทาน ก็สามารถทำได้ เช่น การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับส่วนรวม อย่างสร้างศาลา สร้างวัด สร้างโรงเรียน สร้างสระน้ำคูคลอง สร้างโรงพยาบาล สร้างถนนหนทาง ฯลฯ การทำประโยชน์หรือพัฒนาท้องถิ่น ให้ดูการปฏิบัติของมฆมาณพเป็นตัวอย่าง
    กรณีศึกษาเพิ่มเติม : เรื่องราวของพระอินทร์ ๑ (มฆมาณพ)
    พระอินทร์ เป็นจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ ในจำนวนสวรรค์ทั้งหมด ๖ ชั้น บางคนก็ว่าพระองค์เป็นจอมเทพของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นนั่นแหละ เพราะมีบทบาทในการปกครองสวรรค์มากที่สุด ส่วนจอมเทพในสวรรค์ชั้นอื่นๆ ซึ่งมีศักดิ์ใหญ่กว่า มีทิพย์สมบัติเลิศเลอกว่าท่านไม่มายุ่งในเรื่องการปกครองสวรรค์ ที่เห็นชัดๆ ก็คือบรรดาท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกายังต้องพาเทพบริวารมาเข้าเฝ้าพระอินทร์ทุกวันพระ หรือเมื่อมีสงครามระหว่างอสูรกับเทวดา เป้าหมายของการโจมตีสวรรค์ของพวกอสูรก็คือการล้มล้างอำนาจของพระอินทร์องค์นี้นี่เอง
    พระอินทร์เป็นตำแหน่งที่เป็นของบุรุษเท่านั้น ทำนองเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิในโลกมนุษย์ก็มีแต่บุรุษ สตรีไม่อาจเป็นพระอินทร์หรือพระเจ้าจักรพรรดิได้
    พระอินทร์มีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อ แต่ที่รู้จักกันดีก็คือ พระอินทร์ องค์อัมรินทร์ แต่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาพระไตรปิฎกจะเรียกพระองค์ว่า ท้าวสักกเทวราช
    พระอินทร์มีอายุขัยเหมือนเทวดาองค์อื่นๆ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ มีอายุ ๑๐๐ ปีทิพย์ หรือเท่ากับ ๓๖ ล้านปีมนุษย์ สิ้นอายุขัยแล้วก็ต้องจุติไปอุบัติใหม่ตามกรรม แต่บางทีเมื่อจุติแล้วท่านก็อุบัติใหม่เป็นพระอินทร์องค์เดิมก็ได้ อย่างเช่นพระอินทร์องค์ปัจจุบันท่านได้หมดอายุขัยแล้วในครั้งพุทธกาล ท่านจึงขวนขวายมาเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธองค์สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แล้วจุติ แล้วอุบัติใหม่ กลับมาเป็นพระอินทร์ตามเดิม
    คนที่จะได้เป็นพระอินทร์ต้องสร้างบุญบารมีมามาก ตัวอย่างดังเช่นพระอินทร์องค์ปัจจุบัน
    ในช่วงที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนอันตรธานไปแล้ว อดีตชาติของพระอินทร์องค์นี้ได้เกิดเป็น มฆมาณพ อยู่ในหมู่บ้านมจละ แคว้นมคธ
    วันหนึ่ง มฆมาณพ ไปทำงานประจำของหมู่บ้าน พื้นที่ที่เขาและชาวบ้านยืนอยู่นั้นขรุขระและสกปรก มฆมาณพจึงเอาปลายเท้าเขี่ยขยะให้พ้นทางและปรับพื้นให้เรียบน่ายืนน่าดู พอพื้นบริเวณนั้นเรียบชาวบ้านคนอื่นก็ขยับเข้ามายืนด้วย มฆมาณพถูกเบียดออกไปจึงไปปรับพื้นที่ใหม่ให้เรียบอีก ชาวบ้านคนอื่นก็ขยับเข้ามายืนด้วยอีก
    มฆมาณพเห็นว่าการปรับพื้นที่ให้เรียบนี้เป็นประโยชน์ เขาจึงขยายผลถากถางพื้นที่กลางหมู่บ้านเป็นลานใหญ่เท่าสนาม ขนทรายมาปรับเกลี่ย ขนฟืนมาก่อไฟเวลาหนาว เมื่อเสร็จแล้วหนุ่มสาวคนเฒ่าคนแก่ก็พากันมานั่งในลานที่มฆมาณพทำไว้ วันต่อๆ มา มฆมาณพจึงเริ่มทำงานสาธารณะที่ใหญ่ขึ้นไปอีกโดยไปปรับถนนทางเดินให้ราบเรียบ ขุดสระบัว สร้างสะพาน ทำงานอย่างนี้ตลอดวันทุกวันจนมืดค่ำ
    เมื่อมีคนถามว่า มฆมาณพท่านทำอะไร มฆมาณพจะตอบว่าเขากำลังสร้างทางไปสวรรค์ มาณพอื่นอีก ๓๒ คนได้ฟังก็เห็นดีเห็นงามด้วยจึงมาช่วยเขาทำงาน มาณพกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มคนที่ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่และกลับบ้านมืดค่ำ ทิ้งนิสัยชอบเที่ยวเตร่ เลิกดื่มเหล้า เลิกฆ่าสัตว์ หันมาช่วยกันทำงานสาธารณะประโยชน์ ถากถางทางรกให้เตียน สร้างสะพานในที่ที่ควรสร้าง สร้างศาลาในที่ที่ควรมี
    ต่อมา นายบ้านซึ่งเคยได้ภาษีเหล้าและภาษีล่าสัตว์กลับไม่ได้ จึงคิดให้ร้ายโดยไปเพ็ดทูลราชสำนักว่ามาณพทั้ง ๓๓ คนเป็นโจร
    พระราชาหลงเชื่อส่งกำลังทหารไปจับมาณพทั้ง ๓๓ คนมาลงโทษโดยไม่มีการสอบสวน ฝ่ายภรรยาทั้งหลายของมาณพ ได้ยินเขาบอกว่าสามีเป็นโจรก็พลอยหลงเชื่อไปด้วย เพราะทุกวันสามีของพวกตนเอาแต่บอกว่าไปทำบุญแล้วหายหน้าไปทั้งวันไม่ค่อยได้เห็นหน้าเห็นตากันเลย พวกนางจึงไม่ได้คิดช่วยเหลือ
    มาณพทั้ง ๓๓ คน ถูกลงโทษให้ช้างเหยียบ มฆมาณพบอกเพื่อนๆ ให้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า พวกเขาไม่ได้เป็นโจรตามข้อกล่าวหาขออย่าให้ช้างเหยียบเลย เพื่อนๆ ต่างตั้งสัจจะตามคำแนะนำ ช้างจึงไม่ยอมเหยียบ แม้จะเอาเหล็กหลาวทิ่มแทงบังคับอย่างไร ช้างก็ไม่ยอมเหยียบ
    ทหารไปกราบทูลพระราชา พระราชาจึงให้ทหารเอาเสื่อลำแพนมาคลุมตัวมาณพทั้งหมดไม่ให้ช้างเห็น แต่ช้างก็ยังไม่ยอมเหยียบอีก พระราชาสงสัยจึงให้นำตัวมฆมาณพมาสอบถาม เมื่อพระองค์รู้ความจริงว่ามฆมาณพถูกนายบ้านใส่ร้าย พระองค์จึงปล่อยตัวและพระราชทานทรัพย์ให้เอาไปสร้างงานบุญอีก และทรงตั้งมฆมาณพขึ้นเป็นนายบ้าน ปลดนายบ้านคนเดิมลงเป็นทาส พร้อมทั้งพระราชทานช้างเชือกนั้นให้มาใช้งานด้วย
    มฆมาณพและสหายได้รับการปล่อยตัวแล้ว ก็ยิ่งเชื่อมั่นในผลของกุศลกรรม ปรึกษากันว่าต้องร่วมกันสร้างงานกุศลให้มากยิ่งขึ้นไปอีก แต่จะไม่ให้พวกผู้หญิงมายุ่งเกี่ยวด้วย เพราะตอนที่พวกตนถูกจับ ไม่มีหญิงคนไหนมาคิดช่วยเหลือเลย
    มฆมาณพและสหาย เริ่มสร้างศาลาหลังใหญ่ให้เป็นที่พักสาธารณะของคนเดินทาง คนยากคนจน และคนเจ็บป่วย พวกเขาเข้าไปตัดไม้ในป่า ให้ช้างลากจูงไม้ออกมา และจ้างช่างไม้มาช่วยทำการก่อสร้าง ด้วยการสร้างกุศลสาธารณะแบบนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมแรงร่วมใจกันนี้ได้บุญมาก เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วทุกคนจึงได้ไปอุบัติในเทวโลกชั้นที่สอง เป็นเทวดามีศักดิ์ใหญ่ มัรัศมีสว่างมากจนกลบรัศมีของเทวดาเดิมในสวรรค์ชั้นนี้จนสิ้น
    แต่ขณะนั้น มฆมาณพเทพบุตรก็ยังไม่ได้เป็นพระอินทร์ในทันที ต้องมีการปฏิวัติยึดอำนาจกันนิดหน่อย เอาไว้มาเล่าให้ฟังตอนต่อไป
    กรณีศึกษาเพิ่มเติม : พระอินทร์ ๒ (ยึดสวรรค์)
    มฆมาณพ เมื่อทำกาละ (ตาย) แล้วก็ไปอุบัติเป็น มฆเทพบุตร อยู่ในสวรรค์ชั้นที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เรียกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
    สวรรค์ชั้นที่ ๒ สมัยนั้นเป็นสวรรค์ของเหล่าเทวดาเจ้าถิ่นที่เรียกว่า เนวาสิก แต่เพราะเทวดาเนวาสิกเหล่านี้เป็นเทวดาที่ประมาท เอาแต่ร่ำน้ำคันธบาลหรือสุราทิพย์จนเมามายทุกวัน ทิพย์สมบัติจึงไม่ค่อยจะรุ่งเรืองนัก เมื่อมฆมาณพกับสหายอีก ๓๒ คนมาอุบัติเป็นเทวดา รัศมีจากเทวดาใหม่ทั้ง ๓๓ องค์ก็สว่างไสวเจิดจ้าข่มเทวดาเก่าจนหมดสิ้น มองดูก็รู้ว่าเทวดาผู้มาใหม่มีบุญมากกว่า
    จอมเทพเนวาสิกเห็นว่าผู้มาใหม่มีบุญมากกว่า จึงเสนอแบ่งแดนสวรรค์ให้ปกครองครึ่งหนึ่ง แต่มฆเทพบุตรไม่รับ เทพเนวาสิกจึงจัดงานเฉลิมฉลองเป็นการต้อนรับ และนำน้ำคันธบาลออกมาเลี้ยงดูกัน ซึ่งมฆเทพบุตรก็ได้นัดแนะเทพบุตรสหายของตนว่าอย่าดื่มน้ำคันธบาล แต่ให้แสร้งทำเป็นเมามาย
    พวกเทพเนวาสิกพอได้เพื่อนใหม่มาร่ำสุรา ไม่นานนักก็เมาจนขาดสติไปทั้งสวรรค์ มฆเทพบุตรได้ทีจึงส่งสัญญานให้เทพสหายช่วยกันจับเทพขี้เมาเหล่านั้นเหวี่ยงลงจากเขาสิเนรุลงไปด้านล่าง แล้วก็ยึดอำนาจสวรรค์ชั้นที่ ๒ เอาไว้ได้
    เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว มฆเทพบุตรจึงได้ขึ้นสู่ตำแหน่งท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์ จอมเทพผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ โดยมีเทพสหายทั้ง ๓๒ องค์ เป็นเทพชั้นหัวหน้าช่วยทำหน้าที่ปกครองสวรรค์ ต่อมาสวรรค์ชั้นนี้จึงถูกเรียกเสียใหม่ว่า ดาวดึงส์สวรรค์ แปลว่า สวรรค์ที่ปกครองโดยเทพ ๓๓ องค์
    ส่วนเทพเนวาสิก เมื่อถูกโยนลงจากยอดเขาสิเนรุแล้วก็ตกลงสู่มหานทีสันทันดร และไปอาศัยอยู่ใต้เขาสิเนรุมาศระหว่างภูเขาสามเส้าที่มีอาณาบริเวณหมื่นโยชน์ ด้วยเหตุที่เทพเนวาสิกเหล่านี้ยังมีบุญอยู่ บริเวณใต้เขาสิเนรุจึงบังเกิดทิพย์สมบัติและวิมานแก้ววิมานทองขึ้นมาใหม่ สวยงามเรืองรองมาก เป็นรองทิพย์สมบัติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไม่มากนัก เทพเหล่านี้เสียอกเสียใจว่าพวกตนถูกยึดสวรรค์ไปเพราะมัวแต่หลงดื่มสุรา จึงปฏิญาณตนว่าต่อไปพวกตนจะไม่ดื่มสุราอีก เทพเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า อสุรา และพิภพแห่งใหม่นี้ถูกเรียกว่า อสูรพิภพ
    เพราะการถูกแย่งสรวงสวรรค์ไปนี้เอง จึงเป็นปฐมเหตุแห่งความแค้นที่ต่อมาพวกอสูรได้ยกกำลังกลับไปโจมตีสวรรค์เพื่อหวังจะยึดอำนาจคืนอีกหลายครั้ง วันหน้าจะได้เล่าถึง แต่วันนี้ยังเน้นอยู่ที่เรื่องของพระอินทร์ต่อไปก่อน
    การที่มฆมาณพได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ได้นั้น นอกจากจะเป็นเพราะทำบุญสาธารณกุศลจำนวนมามากมายแล้ว มฆมาณพยังได้ประพฤติวัตตบท ๗ ประการ อันเป็นธรรมสำหรับการเป็นพระอินทร์ด้วยตลอดชีวิตที่เกิดเป็นมนุษย์ คือ
    ๑. เคารพและเลี้ยงดูพ่อแม่
    ๒. เคารพและอ่อนน้อมผู้ใหญ่ในตระกูล
    ๓. พูดจาสุภาพอ่อนหวาน
    ๔. ไม่พูดส่อเสียด
    ๕. ไม่ตระหนี่ ยินดีในการบริจาคทาน
    ๖. ไม่พูดเท็จ พูดแต่คำจริง และรักษาความสัตย์
    ๗. ระงับความโกรธด้วยขันติธรรม
    หากใครอยากเกิดเป็นพระอินทร์ก็ต้องสร้างกุศลให้มากๆ และประพฤติวัตตบท ๗ ประการให้ได้ด้วย ตำแหน่งพระอินทร์ก็คงไม่หนีไปไหน
    ทั้งหมดนี้มีเล่าไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาพระไตรปิฎฏ ซึ่งยังไม่จบ เรื่องของพระอินทร์ยังมีอีกมาก ยกยอดไปเล่าต่อวันต่อๆ ไปครับ
    มีเกร็ดนอกคัมภีร์นิดหนึ่ง
    มีคำพูดติดปากว่าพระอินทร์มาเขียวๆ ทำให้คิดไปว่าพระอินทร์ท่านคงจะนุ่งผ้าสีเขียวมั้ง
    เรื่องนี้เคยถามคนตาทิพย์ว่าพระอินทร์น่ะใส่เสื้อผ้าอะไร คำตอบทำเอาอึ้งไปเลย เพราะเขาบอกว่าพระอินทร์นุ่งกางเกงขาก๊วย ซึ่งพอไปค้นประวัติครูบาอาจารย์ที่ท่านเล่าถึงการเห็นเทวดา จะพบว่าเทวดาเวลามาหามนุษย์ ท่านมักจะมาในรูปของมนุษย์ในชาติก่อน พระอินทร์ก็เช่นเดียวกัน ท่านมาในรูปร่างของ มฆมาณพ แต่พอคนตาทิพย์คิดอยากเห็นเครื่องทรงเมื่อเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ รูปร่างและเครื่องทรงของท่านก็จะเปลี่ยนเป็นเทวดาทันที แต่ก็ไม่ใช่สีเขียว เขาบอกว่าเป็นสีที่อธิบายไม่ถูก มันมีความใสเป็นทิพย์ไม่รู้จะเปรียบเทียบกับผ้าอะไรในโลกมนุษย์
    ก็ฟังไว้เป็นเกร็ดครับ
    ----------------------------------------------
    ในส่วนการพูดของนักการเมือง จะได้กล่าวในการวิเคราะห์หลักราชสงเคราะห์ข้อวาชเปยยะข้างหน้า สำหรับการทำประโยชน์ให้กับประชาชน ก็คงจะทำนองเดียวกันที่กล่าวมาแล้วในเรื่องการให้ทานเพราะการทำประโยชน์จำเป็นต้องเสียสละทรัพย์ส่วนตน จึงจัดเป็นเรื่องของการให้ทาน ซึ่งการให้นั้น เราไม่ควรหวังผลตอบแทน แม้แต่ความศรัทธาจากผู้อื่นก็อย่าหวัง
    นักการเมืองประเภทที่ทำบุญเอาหน้า ทำดีกับประชาชนเพราะหวังคะแนนเสียงจากประชาชน กับทำบุญไม่หวังผลนั้น มีวิธีสังเกตคือ พวกทำบุญเอาหน้า ช่วงก่อนการเลือกตั้ง จะทำประโยชน์ให้ประชาชน ถ้าตนไม่ได้รับเลือก ก็จะเลิกทำประโยชน์ให้ หรือทำนองเดียวกัน พอตัวได้รับเลือกแล้ว ก็เลิกทำประโยชน์ นักการเมืองประเภทนี้ เวลามีคนเสนอข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรม ก็มักจะยอมทำตาม โดยไม่คิดว่าถ้าทำไปแล้ว ประชาชนอาจจะเดือดร้อนได้ เพราะพวกนี้กลัวแต่ ถ้าไม่ทำตามที่ประชาชนเรียกร้องแล้ว ตนอาจจะไม่ได้รับเลือกในคราวหน้า
    ส่วนนักการเมืองที่ทำบุญไม่หวังผลตอบแทนนั้น จะทำประโยชน์ให้ประชาชนอยู่ตลอด ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง และถึงแม้ตนเองจะไม่ได้รับเลือก ก็ไม่หายหน้าไปไหน ยังสร้างประโยชน์ให้ประชาชนอยู่ นักการเมืองประเภทนี้จะกล้าปฏิเสธข้อเรียกร้องของประชาชนบางข้อ ที่มีเนื้อหาไม่เป็นธรรม โดยไม่เกรงกลัวว่าประชาชนอาจจะไม่ชอบตน เหตุเพราะว่าเขาหวังดีห่วงใยประชาชนจริงๆ หากทำตามข้อเรียกร้องอันไม่เป็นธรรมนั้น ประชาชนก็อาจจะเดือดร้อนได้ โดยที่เขาไม่ห่วงตัวเองเลย ไม่ห่วงเลยว่าถ้าปฏิเสธประชาชนไปแล้ว ประชาชนจะไม่เลือกเขาอีก
    สำหรับสมานัตตตา การทำตนเสมอต้นเสมอปลายนั้น ก็คือ นักการเมืองที่ได้รับเลือกแล้ว ไม่ควรลืมราษฎร จะต้องไปมาหาสู่อยู่เสมอ เมื่อประชาชนเห็นหน้าอยู่เป็นประจำ เขาก็จะคิดว่านักการเมืองคนนี้ได้ดีแล้วไม่ลืมชาวบ้าน ความนิยมรักใคร่ก็จะเกิดขึ้น
    เมื่อได้รับเลือกแล้วก็มาหาชาวบ้านอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านมีเรื่องเดือดร้อนอะไรก็ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ ไม่ทำแบบขอไปที นักการเมืองประเภทนี้แหละที่เรียกว่า ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย

    ๔.วาชเปยยะ มีวาจาเป็นที่ดูดดื่ม
    เรื่องคำพูดคำจานี้ก็เหมือนกัน นักการเมืองต้องคอยระวังคำพูดคำจาของตนให้เป็นที่ดูดดื่มจิตใจของประชาชนอยู่เสมอ เพราะอย่างที่บอกไปว่าผู้ปกครองในระบอบนี้ จะอยู่หรือไปก็ขึ้นอยู่กับความนิยมของประชาชน ถ้าไปพูดจาหยาบกระด้างใส่ประชาชนก็ตกเก้าอี้เท่านั้น
    นอกจากจะต้องพูดจาไพเราะเสนาะหู ไม่หยาบกระด้างแล้ว ยังต้องพูดความจริงอยู่เสมออีกด้วย
    การพูดของนักการเมือง ควรพูดให้น่าเชื่อถือ ควรพูดให้น้ำคำมีค่า เมื่อพูดคำที่น่าเชื่อถือ ผู้ฟังคือประชาชนก็จะเกิดความดูดดื่มในถ้อยคำ นักการเมืองที่มีคุณธรรม มีความจริงใจต่อประชาชน เขาจะพูดความจริงเสมอ ไม่พูดคลุมเครือ แบบทำทางปกป้องความรับผิดชอบของตน และความผิดของลูกน้อง
    คำพูดบางคำอาจพูดออกไปด้วยความจริงใจ แต่พอเอาเข้าจริงๆอาจจะทำไม่ได้อย่างที่พูดไว้ก็ได้ เป็นเช่นนี้คนอาจเสื่อมศรัทธาได้ ดังนั้นนักการเมืองจึงต้องคิดก่อนพูดเสมอ ว่าถ้าพูดไปแล้วนี่อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง พูดแล้วจะเกิดประโยชน์หรือโทษ ถ้าเห็นว่าไม่ควรพูดก็ควรเงียบไว้ดีกว่า
    หนึ่งในคำพูดที่สามารถดูดดื่มใจประชาชนได้เป็นอย่างดี คำพูดที่ยกย่องผลงานของรัฐบาลชุดก่อน โดยไม่โมเมว่าเป็นความดีความชอบของตน แต่รัฐบาลส่วนใหญ่จะไม่ทำ จะมีก็แต่พูดว่า “เราไม่อยากตำหนิรัฐบาลชุดที่แล้ว ว่าทำงานไม่ได้เรื่อง (ก็กำลังตำหนิอยู่นี่ไง) แต่เราจะขอแก้ปัญหานี้ให้ได้”
    ข้อสำคัญที่ทำให้นักการเมืองพูดความจริงกันไม่ได้ ก็เพราะกลัวตัวเองจะเสียหาย และกลัวฝ่ายตรงข้ามจะได้หน้า
    พวกกลัวตัวเองจะเสียหาย เลยต้องพูดโกหก มักจะเป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่ดำเนินนโยบายไม่ดี ชาวบ้านเดือดร้อน ออกมาตำหนิ ตนมักจะไม่กล้ายอมรับว่าตนทำผิด (ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าตนผิดจริง) มักจะหาข้ออ้างต่างๆนาๆมากลบเกลื่อน (โดยเฉพาะการโยนความผิดให้ข้าราชการ หรือรัฐบาลชุดที่แล้ว) ไม่ก็ปฏิเสธว่าตนไม่ได้ทำผิดไปเลย นี่คือไม่กล้าพูดความจริง เพราะกลัวฝ่ายของตัวเองจะเสียหาย
    พวกกลัวคนอื่นได้หน้ามักจะเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน เพราะมักจะไม่ค่อยมีมโนธรรม เมื่อโครงการอะไรของรัฐบาล เกิดประโยชน์กับประชาชน ประชาชนชื่นชมมาก ฝ่ายค้านมักจะกล่าวหา คือไม่ยอมรับความจริงว่ามันมีประโยชน์ เพราะกลัวรัฐบาลจะได้หน้า
    พวกนี้หารู้ไม่ว่า ยิ่งตนโกหกเพื่อเอาตัวรอด หรือเอาชั่วใส่คนอื่นมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาลงมากเท่านั้น คนจริงน่ะ เวลาทำผิดก็ต้องกล้ายอมรับสิ ไม่ใช่มาโกหกเพื่อเอาตัวรอด
    ทำผิดแล้วยอมรับ อย่างน้อยๆคนอื่นเขาก็ให้อภัย เห็นใจว่าเป็นคนซื่อสัตย์ พูดความจริงนี่จะเสียหายตรงไหนมิทราบ
    ผมขอยอมรับตามความจริงว่า ก่อนหน้าที่ผมจะพบกับพระธรรมของพระพุทธองค์ ผมก็เคยเป็นคนพูดจาสับปรัป โกหกลองลวงผู้อื่นเขาไปทั่ว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ถ้าพูดชื่อเว็ปออกไปคนจะร้องอ๋อทันที แต่ในที่นี้ยังไม่ขอพูดเพราะยังไม่เห็นความจำเป็น และผู้เสียหายอาจจะถูกพาดพิงได้ นี่ไม่ใช่ว่าผมไม่กล้าสารภาพความจริงนะ
    ซึ่งการโกหกลองลวงผู้อื่นเช่นนั้น ผมขอสัญญาว่าหลังจากนี้จะไม่มีอีก

    ๕.นิรัคคฬะ ปกครองบ้านเมืองไม่ต้องมีลิ่มสลัก
    ในสมัยที่ประชาชนเลือกผู้ปกครองที่คิดว่าเป็นธรรมมาปกครองบ้านเมืองได้เองเช่นนี้ แต่ประชาชนก็ยังคงต้องนอนใส่ลิ่มสลัก โจรผู้ร้ายก็ยังมี แต่โจรคอยจ้องจะชิงเก้าอี้รัฐบาลไม่มี จะมีก็แต่ฝ่ายค้านทางการเมือง ซึ่งในเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นประเทศไทย) ไม่มีการจับอาวุธขึ้นล้มรัฐบาล จะมีอยู่บ้างก็เพียงมีความยินดีที่บ้านเมืองวุ่นวาย จะได้อ้างว่ารัฐบาลปกครองไม่ดี แล้วก็พยายามล้มรัฐบาลโดยวิธีการทางรัฐสภา หรือการเลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้นในระบอบนี้ สาเหตุที่ทำให้ประชาชนต้องนอนใส่ลิ่มสลักก็เหลือเพียงประการเดียว คือ โจรผู้ร้าย และวิธีที่จะแก้ไขโจรผู้ร้ายให้หมดไปตามหลักธรรมทางศาสนาพุทธนั้น ได้เคยวิเคราะห์ไปแล้ว ไม่ขอกล่าวซ้ำ
    ในยุคปัจจุบัน รัฐกำลังทำโจรให้เป็นโจร ก็คือ บ้านเมืองทุกวันนี้ มีโจรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนที่เคยติดคุก แทนที่จะเข็ดหลาบกลับตัวเป็นพลเมืองดี กลับมายึดอาชีพโจรต่อ คนเก่าก็เป็นโจร แถมโจรหน้าใหม่ๆก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าเพระอะไร?
    ก็เพราะว่าโจรนั้นเมื่ออกมาจากคุก และตั้งใจว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นคนดีของสังคม แต่สังคมกลับไม่ยอมให้โอกาสเขา ไปสมัครงาน ก็ไม่มีใครรับ ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน แถมยังโดนเพื่อนบ้านเหยียดหยามเอาทุกวันๆ ด่าว่าเป็นคนขี้คุก ทั้งๆที่เขาก็กลับตัวแล้ว เมื่อสิ้นไร้หนทาง ก็เลยต้องกลับมาเป็นโจรอีกรอบ ไปปล้นเขาอีกรอบ นี่ถ้ารัฐบาลฉลาดกว่านี้ ดูแลคนที่ออกจากคุกมาให้ดีกว่านี้ ให้เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างแท้จริง เขาก็คงไม่ต้องกลับไปเป็นโจร นี่แหละคือการที่รัฐบาลสร้างโจรเพิ่ม
    รัฐบาลต้องดำเนินคดีกับคนที่ไม่ให้โอกาสคนที่พ้นโทษ เช่น พวกเพื่อนบ้านที่มาก่นด่าดูถูกเขา บรรษัทเอกชนที่เขียนระเบียบสมัครงานทำนองว่า “ผู้สมัครจะต้องไม่เคยมีประวัติเคยติดคุก หรือโดนไล่ออกจากงานมาก่อน” พวกนี้รัฐบาลต้องปราบให้สิ้น ไม่งั้นได้โจรเพิ่ม
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  13. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    กูฏทันตสูตร – สูตรว่าด้วยพราหมณ์ฟันเขยิน​

    พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธใกล้หมู่บ้านขานุมัตต์ของกูฏทันตพราหมณ์ (กูฏทันตพราหมณ์เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านขานุมัตต์) ซึ่งเตรียมประกอบพิธีบูชายัญ เอาโคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ แกะ อย่างละ ๗๐๐ ตัวผูกไว้กับเสาเพื่อเตรียมฆ่าบูชายัญ กูฏทันตพราหมณ์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลถามถึงการบูชายัญที่ดีที่ได้บุญมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสถึงยัญญสัมปทา คือความสมบูรณ์แห่งยัญ โดยทรงยกตัวอย่างของพระเจ้ามหาวิชิตะในอดีตกาลผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้ชัยชนะปฐพีมณฑลอันยิ่งใหญ่ใคร่จะบูชามหายัญ จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาให้ช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น
    พราหมณ์ปุโรหิตแนะให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่ไม่ใช้วิธีฆ่าหรือจองจำเพราะพวกที่เหลือจากการถูกลงโทษก็จะเบียดเบียนทำร้ายประชาชนอีก แต่ให้กำจัดโจรให้หมดด้วยการจัดการทางเศรษฐกิจให้ดี
    กูฏทันตสูตรแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อความมั่นคงของบ้านเมือง อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจก็มิใช่เป้าหมายของชีวิต แต่ธรรมะหรือศีลธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนประชาชน และผู้ปกครองให้เข้าใจว่า มีความสำคัญกว่าเศรษฐกิจ เป็นเป้าหมายของชีวิต แต่รัฐก็ไม่สามารถดูแลให้ประชาชนของตนยึดมั่นในศีลธรรมได้ ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีหรือท้องประชาชนยังหิวอยู่ เศรษฐกิจจึงเป็น “ตัวช่วย” ที่จะช่วยให้คนเราประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมได้ เหมือนกับกองทัพที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัยชนะในการรบ แต่กองทัพก็ต้องเดินด้วยท้อง ถ้าขาดเสบียงก็หวังชัยชนะได้ยาก
    ----------------------------------------------------------------------
    ผมย่อความในกูฏทันตสูตรได้ดังนี้ (ไม่ขอวิเคราะห์)
    “ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณคามของชาวมคธชื่อขานุมัตต์ สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะอยู่ครองบ้านขานุมัตต์ อันคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ไม้ น้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติ อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า พิมพิสาร พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไทย.”
    “ก็สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ ได้เตรียมมหายัญโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ และแกะ ๗๐๐ ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ. พราหมณ์ และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ได้สดับว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุลเสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านขานุมัตต์ ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตต์ เกียรติศัพท์อันงามของท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า
    ว่าด้วยพระพุทธคุณ
    แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาดพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงสอนธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล ดังนี้. ครั้งนั้นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ออกจากบ้านขานุมัตต์เป็นหมู่ๆ พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา.”
    “สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ ขึ้นพักกลางวันในปราสาทชั้นบน ได้เห็นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ออกจากบ้านขานุมัตต์รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกนักการมาถามว่า ดูกรนักการ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ ออกจากบ้านขานุมัตต์รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกาทำไมกัน?
    นักการ. มีเรื่องอยู่ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านขานุมัตต์ ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตต์ เกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า
    แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาดพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น พากันเข้าไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น.
    ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะคิดว่า ก็เราได้ข่าวนี้มาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการซึ่งมีบริวาร ๑๖ แต่เราไม่ทราบ และเราก็ปราถนาจะบูชามหายัญ ผิฉะนั้น เราควรไปเฝ้าพระสมณโคดม ทูลถามยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ลำดับนั้น พราหมณ์ได้เรียกนักการมาสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปหาพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้าน แล้วบอกเขาอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย พราหมณ์กูฏทันตะสั่งมาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน แม้พราหมณ์กูฏทันตะ ก็จักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย.
    นักการรับคำแล้วไปหาพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้าน แล้วบอกว่าท่านทั้งหลาย พราหมณ์กูฏทันตะสั่งมาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน แม้พราหมณ์กูฏทันตะ ก็จักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย.”
    “สมัยนั้น พราหมณ์หลายร้อยคนพักอยู่ในบ้านขานุมัตต์ ด้วยหวังว่าพวกเราจักบริโภคมหายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ พราหมณ์เหล่านั้นได้ทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จึงพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะแล้วถามว่า ได้ทราบว่า ท่านจักไปเฝ้าพระสมณโคดมจริงหรือ?
    กูฏทันตะ. จริง
    พราหมณ์. อย่าเลย ท่านกูฏทันตะ ท่านไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไป ท่านจักเสียเกียรติยศ เกียรติยศของพระสมณโคดมจักรุ่งเรือง ด้วยเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไป พระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน อนึ่ง ท่านเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงชาติได้ เพราะเหตุนี้ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน อนึ่ง ท่านเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีเครื่องใช้สอยอันน่าปลื้มใจมาก มีทองและเงินมาก ... อนึ่ง ท่านเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเภท พร้อมทั้งคัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและมหาปุริสลักษณะ ... อนึ่ง ท่านมีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีพรรณคล้ายพรหม มีรูปร่างคล้ายพรหม น่าดู น่าชมไม่น้อย ... อนึ่ง ท่านเป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน ... อนึ่ง ท่านเป็นผู้มีวาจาไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองสละสลวย หาโทษมิได้ ให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความได้ชัด ... อนึ่ง ท่านเป็นอาจารย์และปาจารย์ของชนหมู่มากสอนมนต์มาณพถึง ๓๐๐ พวก มาณพเป็นอันมาก ต่างทิศต่างชนบท ผู้ต้องการมนต์ ใคร่จะ เรียนมนต์ในสำนักท่านพากันมา ... อนึ่ง ท่านเป็นผู้เฒ่า ล่วงผ่านวัยมาโดยลำดับ ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่มและบวชแต่ยังหนุ่ม ... อนึ่ง ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าพิมพิสาร ทรงสักการะ เคารพนับถือ บูชานอบน้อม ... อนึ่ง ท่านเป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ... อนึ่ง ท่านครองบ้านขานุมัตต์อันคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วย หญ้า ไม้ น้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติอันพระเจ้าแผ่นดินมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไทย เพราะเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน.”
    “เมื่อพวกพราหมร์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กูฏทันตะ จึงได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้าบ้าง เรานี้แหละควรไปเฝ้าท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้นท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา เพราะได้ยินว่า ท่านเป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครคัดค้านติเตียน ด้วยอ้างถึงพระชาติได้ เพราะเหตุนี้แหละ ท่านพระโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา ที่ถูกเรานี้แหละ ควรไปเฝ้าพระองค์ท่าน ได้ยินว่า พระสมณโคดมทรงละพระญาติหมู่ใหญ่ออกผนวชแล้ว ... พระองค์ท่านทรงสละเงินและทองเป็นอันมาก ทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในอากาศออกผนวช ... พระองค์ท่านกำลังรุ่น มีพระเกศาดำสนิท ยังหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย เสด็จออกผนวชเป็น บรพพชิต ... เมื่อพระมารดาและพระบิดาไม่ทรงปราถนาให้ผนวช มีพระพักตร์อาบด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสงอยู่ พระองค์ท่านได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิต ... พระองค์ท่านมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ... มีพระพรรณคล้ายพรหม มีพระสีรีระคล้ายพรหม น่าดูน่าชมมิใช่น้อย ... พระองค์ท่านเป็นผู้มีศีล มีศีลประเสริฐ มีศีลเป็นกุศล ประกอบด้วยศีลเป็นกุศล ... พระองค์ท่านมีพระวาจาไพเราะ มีพระสำเนียงไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวย หาโทษมิได้ ให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความได้ชัด ... พระองค์ท่านเป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่มาก ... พระองค์ท่านสิ้นกามราคะแล้ว เลิกประดับตกแต่ง ... พระองค์ท่านเป็นกรรมวาที เป็นกิริยาวาทีไม่ทรงมุ่งร้ายแก่พวกพราหมณ์ ... พระองค์ท่านทรงผนวชจากสกุลสูง คือสกุลกษัตริย์อันไม่เจือปน ... พระองค์ท่านทรงผนวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ... ชนต่างรัฐ ต่างชนบทพากันมาทูลถามปัญหาพระองค์ท่าน ... เทวดาหลายพันมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ ... เกียรติศัพท์อันงามของท่านขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า
    แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ... พระองค์ท่านทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ... พระองค์ท่าน มีปรกติกล่าวเชื้อเชิญ เจรจาผูกไมตรี ช่างปราศัย มีพระพักตร์ไม่สยิว เบิกบาน มีปรกติตรัสก่อน ... พระองค์ท่านเป็นผู้อันบริษัท ๔ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ... เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากเลื่อมใสพระองค์ท่านยิ่งนัก ... พระองค์ท่านทรงพำนักอยู่ในบ้าน หรือนิคมใด บ้านหรือนิคมนั้น อมนุษย์ไม่เบียดเบียนมนุษย์ ... พระองค์ท่านเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะและเป็นคณาจารย์ ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของเจ้าลัทธิเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านี้เรืองยศด้วยประการใดๆ แต่พระสมณโคดมไม่อย่างนั้น ที่แท้ พระสมณโคดมเรืองยศด้วยวิชชา และจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม ... พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าพิมพิสาร พร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริษัทและอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ ... พระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริษัทและอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ ... พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตรและภรรยา ทั้งบริษัทและอำมาตย์มอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ ... พระองค์ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าพิมพิสาร ทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ... พระองค์ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ... พระองค์ท่านเป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ... พระองค์ท่านเสด็จถึงบ้านขานุมัตต์ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตต์ ท่านสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งมาสู่เขตบ้านของเรา ท่านเหล่านั้นจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกซึ่งเราควรสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ... เพราะเหตุที่ท่านพระสมณโคดมเสด็จถึงบ้านขานุมัตต์ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกาใกล้บ้านขานุมัตต์ จัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกที่เราควร สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม นี้แหละ พระองค์ท่านจึงไม่ควรจะเสด็จมาหาเรา ที่ถูก เราต่างหากควรไปเฝ้าพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าทราบพระคุณของท่านพระโคดมเพียงเท่านี้ แต่ท่านพระโคดมมิใช่มีพระคุณเพียงเท่านี้ ความจริงพระองค์ท่านมีพระคุณหาประมาณมิได้.”
    “เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์ได้กล่าวว่า ท่านกูฏทันตะกล่าวชมท่านพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากพระองค์ท่านจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็ควรแท้ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเฝ้า แม้จะต้องนำเสบียงไปก็ควร พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราทั้งหมดจักเข้าไปเฝ้าท่านพระสมณโคดม.
    ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้ปราศัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้งผ่านการปราศัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์บางพวกก็ถวายบังคม บางพวกก็ปราศัย บางพวกก็ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกก็ประกาศชื่อ และโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วต่างพากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งๆ พราหมณ์กูฏทันตะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ส่วนข้าพระองค์ไม่ทราบ แต่ปราถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ แก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.”
    “พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักบอก เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะทูลรับแล้ว จึงตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองแลเงินมาก มีเครื่องใช้สอยอันน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางบริบูรณ์ ดูกรพราหมณ์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาวิชิตราช ได้เสด็จเข้าไปสู่ที่เร้นลับอยู่ ได้เกิดพระปริวิตกอย่างนี้ว่า เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ชำนะปกครองดินแดนมากมาย ถ้ากระไร เราพึงบูชามหายัญ ที่จะเป็นประดยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน ดูกรพราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาแล้วตรัสว่า วันนี้เราได้เข้าสู่ที่เร้นลับอยู่ ได้เกิดปริวิตกอย่างนี้ว่า เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ชำนะปกครองดินแดน มากมาย ถ้ากระไร เราพึงบูชามหายัญที่จะเป็นไปเพื่อประดยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน ดูกรพราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์ และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน.”
    “ดูกรพราหมณ์ เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชรับสั่งอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ชนบทของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน โจรปล้นบ้านก็ดี ปล้นนิคมก็ดี ปล้นเมืองก็ดี ทำร้ายในหนทางเปลี่ยวก็ดี ยังปรากฏอยู่ พระองค์จะโปรดฟื้นฟูพลีกรรม ในเมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกันอยู่ ด้วยเหตุที่ทรงฟื้นฟูพลีกรรมนั้นจะพึงชื่อว่าทรงกระทำการมิสมควร บางคราวพระองค์จะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า เราจักปราบปรามเสี้ยนหนาม คือโจร ด้วยการประหาร ด้วยการจองจำ ด้วยการปรับไหม ด้วยการตำหนิโทษ หรือเนรเทศ อันการปราบปรามด้วยวิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะว่าโจร บางพวกที่เหลือจากถูกกำจัดจักยังมีอยู่ ภายหลังมันก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ แต่ว่า การปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรนั้น จะชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้
    ๑.พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในกสิกรรม และโครักขกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พลเมืองเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร.
    ๒.พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้แก่พลเมืองเหล่านั้น ในโอกาสอันสมควร.
    ๓.ข้าราชการเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ขยัน ขอพระองค์จงพระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร.
    พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ จักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตนๆ จักไม่เบียดเบียน บ้านเมืองของพระองค์ อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมาก จักเกิดแก่พระองค์ บ้านเมือง ก็จะตั้งมั่นอยู่ในความเกษมหาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองจักชื่นชมยินดี ต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก จักไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ดูกรพราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ก็ได้พระราชทานข้าวปลูกและข้าวกินแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ ที่ขะมักเขม้นในกสิกรรมและโครักขกรรม พระราชทานทุนแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ ที่ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการ ในบ้านเมืองของพระองค์ที่ขยัน พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ ได้เป็นผู้ขวนขวายในการงานตามหน้าที่ของตนๆ ไม่ได้เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมากได้เกิดมีแล้วแก่พระองค์ บ้านเมืองได้ดำรงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือน อยู่แล้ว.
    “ดูกรพราหมณ์ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหาวิชิตราชได้ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้าแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ โจรที่เป็นเสี้ยนหนามนั้น เราได้ปราบปรามดีแล้ว เพราะอาศัยวิธีการของท่าน และกองพระราชทรัพย์ใหญ่ก็ได้บังเกิดแก่เรา บ้านเมืองก็ได้ดำรงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ดูกรพราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน.
    พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ ถ้าเช่นนั้น อนุยนตกษัตริย์เหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกอนุยนตกษัตริย์เหล่านั้น มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน อำมาตย์ราชบริษัทเหล่าใดซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกอำมาตย์ราชบริษัทเหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์มหาศาลเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกพราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกคฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน ดูกรพราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ทรงเรียกอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. อนุยนตกษัตริย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงบูชายัญเถิด ขอเดขะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ทรงเรียกอำมาตย์ราชบริษัท ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน อำมาตย์ราชบริษัทเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ทรงเรียกพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้ เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ทรงเรียกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์ จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้ เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำริ ๔ เหล่านี้ จัดเป็นบริวารของยัญนั้น ดังนี้แล.”
    “พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.
    ๑.ทรงเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือ ปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียน ด้วยอ้างถึงพระชาติได้.
    ๒.ทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก มัพระพรรณคล้ายพรหม มีพระรูปคล้ายพรหม น่าดู น่าชม ไม่น้อย.
    ๓.ทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอย อันน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์.
    ๔.ทรงมีกำลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัย คอยปฏิบัติตามพระราชบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระอิสริยยศ.
    ๕.ทรงพระราชศรัทธา เป็นทายก เป็นทานบดี มิได้ปิดประตู เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกรำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
    ๖.ได้ทรงศึกษาทรงสดับเรื่องนั้นๆ มาก.
    ๗.ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้นๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้.
    ๘.ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระราชดำริอรรถอันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้.
    พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการดังกล่าวนี้ องค์ ๘ ประการ แม้เหล่านี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการดังนี้”
    “พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
    ๑.เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียน ด้วยอ้างถึงชาติได้.
    ๒.เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ.
    ๓.เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน.
    ๔.เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับ บูชาด้วยกัน.
    พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ดังแสดงมานี้ องค์ ๔ ประการ แม้เหล่านี้ จัดเป็น บริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการดังนี้.”
    “ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้นแล พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญว่า.
    ๑.เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่า กองโภคสมบัติใหญ่ของเราจักหมดเปลือง ดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทำความวิปฏิสารเช่นนี้.
    ๒.เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่ากองโภคสมบัติใหญ่ของเรากำลังหมดเปลืองไปอยู่ ดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทำความวิปฏิสารเช่นนั้น.
    ๓.เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่ากองโภคสมบัติใหญ่ของเราได้หมดเปลืองไปแล้ว ดังนี้ พระองค์ไม่ควรทรงทำความวิปฏิสารเช่นนั้น.
    ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ ดังแสดงมานี้ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญนั้นเทียว.”
    “ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดความวิปฏิสารของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะพวกปฏิคาหก โดยอาการ ๑๐ ประการก่อนทรงบูชายัญ
    ๑.พวกคนทำปาณาติบาตก็ดี พวกที่งดเว้นจากปาณาติบาตก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น จำพวกที่ทำปาณาติบาต จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ ทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากปาณาติบาตเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๒.พวกคนที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ก็ดี พวกที่งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น จำพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้เท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๓.พวกคนที่ประพฤติผิดในกามทั้งหลายก็ดี พวกที่งดเว้นจากการประพฤติผิด ในกามทั้งหลายก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้นจำพวกที่ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการ ประพฤติผิดในกามทั้งหลายเหล่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๔.พวกที่กล่าวคำเท็จก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเท็จก็ดี ต่างก็จักมาสู่ ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น จำพวกที่กล่าวคำเท็จ จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเท็จเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๕.พวกที่กล่าวคำส่อเสียดก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำส่อเสียดก็ดีต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น จำพวกที่กล่าวคำส่อเสียด จักได้รับผลเพราะ กรรมของเขาเอง. ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำส่อเสียดเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๖.พวกที่กล่าวคำหยาบก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำหยาบก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น จำพวกที่กล่าวคำหยาบ จักได้รับผลเพราะกรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำหยาบเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๗.พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อก็ดี พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น จำพวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ จักได้รับผลเพราะกรรม ของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๘.พวกที่โลภอยากได้ของของผู้อื่นก็ดี พวกที่ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์. ในชนเหล่านั้น จำพวกที่โลภอยากได้ของของผู้อื่น จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๙.พวกที่มีจิตพยาบาทก็ดี พวกที่มีจิตไม่พยาบาทก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธี ของพระองค์ ในชนเหล่านั้น จำพวกที่มีจิตพยาบาท จักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่มีจิตไม่พยาบาทเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๑๐.พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ดี พวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีของพระองค์ ในชนเหล่านั้น จำพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจักได้รับผลเพราะกรรมของเขาเอง. ขอพระองค์จงทรงปรารภเฉพาะพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดความวิปฏิสารของพระเจ้ามหาวิชิตราช เพราะพวกปฏิคาหก โดยอาหาร ๑๐ ประการ ดังแสดงมานี้แล ก่อนทรงบูชายัญนั่นเทียว.”
    “ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิต ได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งทรงบูชามหายัญอยู่ ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรงร่าเริง โดยอาการ ๑๖ ประการ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  14. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    ๑.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นแต่เฉพาะพระองค์. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ก็ได้ทรงเรียกเหล่าอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๒.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าอำมาตย์ราชบริษัท ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น แต่เฉพาะพระองค์ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าอำมาตย์ราชบริษัท ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๓.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้นแต่เฉพาะพระองค์ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์ขงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๔.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงชักชวนเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท พระองค์ทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แต่เฉพาะพระองค์. แม้ด้วยประการเช่นนี้ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทมาทรงปรึกษาแล้ว แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๕.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ผู้อุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา มิได้มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้อันใครๆคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงพระชาติได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม. เพราะพระองค์ทรงเป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงพระชาติได้. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๖.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์ทรงมีพระรูปไม่งาม ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส ไม่ทรงประกอบด้วยพระฉวีวรรณอันผุดผ่อง มิได้ทรงมีพระพรรณคล้ายพรหม มีได้ทรงมีพระรูปคล้ายพรหม ไม่น่าดู ไม่น่าชมเสียเลย และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นแม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ทรงกอปรด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ทรงมีพระพรรณคล้ายพรหม ทรงมีพระรูปคล้ายพรหม น่าดู น่าชมมิใช่น้อย แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๗.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์ จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๘.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง มิได้ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนา มีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัยคอยปฏิบัติตามพระราชบัญชา มิได้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระราชอิสริยยศ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัยคอยปฏิบัติตามพระราชบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระราชอิสริยยศ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๙.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธา มิได้ทรงเป็นทายก มิได้ทรงเป็นทานบดี มีประตูปิด มิได้เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกรำพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจก มิได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก เป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกรำพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจก. แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๑๐.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงศึกษา ทรงสดับเรื่องนั้นๆมาก และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้ทรงศึกษา ทรงสดับ เรื่องนั้นๆมาก แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๑๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้นๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้นๆว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๑๒.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พระองค์มิได้ทรงเป็นบัณฑิต มิได้ทรงเฉียบแหลม มิได้ทรงมีพระปรีชา มิได้สามารถจะทรงพระราชดำริอรรถอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต ทรงเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชาสามารถที่จะทรงพระราชดำริอรรถอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๑๓.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มิได้มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธืหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้อันใครๆกล่าวคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็น อุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.”
    “๑๔.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้เล่าเรียน มิได้ทรงจำมนต์ มิได้รู้จบ ไตรเพทพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ มิได้เป็นผู้เข้าใจตัวบท มิได้เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ มิได้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ และเมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้เล่าเรียนทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๑๕.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้มีศีล มิได้มีศีลยั่งยืน มิได้ประกอบศีล และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืนประกอบด้วยศีลยั่งยืน แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ๑๖.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ใครๆจะพึงกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นบัณฑิต มิได้เป็นผู้เฉียบแหลม มิได้มีปัญญา มิได้เป็ที่ ๑ หรือที่ ๒ ในพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น แม้ด้วยประการเช่นนี้ ก็มิได้มีผู้ว่ากล่าวพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ในพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด ขอพระองค์จงทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายในเถิด.
    ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิต ได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้ทรงบูชามหายัญอยู่ ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรงร่าเริง โดยอาการ ๑๖ ประการ ดังแสดงมานี้แล.”
    “ดูกรพราหมณ์ ในยัญนั้น ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นหลักยัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น.
    แม้ชนเหล่าใด ที่เป็นทาส เป็นคนใช้ เป็นกรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น ชนเหล่านั้นก็มิได้ถูกอาชญาคุกคาม มิได้ถูกภัยคุกคาม มิได้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้กระทำการงาน ที่จริงคนที่ปรารถนาจะกระทำจึงกระทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องกระทำ ปรารถนาจะกระทำการงานใด ก็กระทำการงานนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทำการงานใด ก็ไม่ต้องกระทำการงานนั้นและยัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยลำพังเนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เท่านั้น.”
    “เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กูฏทันตะได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระองค์ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ได้ปล่อยโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด จงได้ดื่มน้ำเย็น ขอลมที่เย็น จงพัดถูกสัตว์เหล่านั้น.”
    “ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถาแก่พราหมณ์กูฏทันตะ คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้า เศร้าหมอง และอานิสงส์ ในการออกจากกาม เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะ มีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตร่าเริง มีจิตใส แล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดง ด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดพราหมณ์กูฏทันตะ เปรียบเหมือน ผ้าที่สะอาดปราศจากสีดำ ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ฉันใด พราหมณ์กูฏทันตะ ก็ฉันนั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสั่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นเอง ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งทราบถึงธรรมทั่วถึงแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมผู้เจริญกับภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้. พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ. เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะทราบว่าพระผู้มีพระภาค ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณหลีกไป.”
    “ครั้งนั้น พอถึงเวลารุ่งเช้า พราหมณ์กูฏทันตะได้สั่งให้ตบแต่งขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตในสถานที่บูชายัญของตนแล้วใช้คนไปกราบทูลเวลาเสด็จแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว. ลำดับนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปสู่สถานที่บูชายัญของพราหมณ์กูฏทันตะแล้ว ประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้. ต่อนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยมือของตนเอง ด้วยขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีต เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงลดพระหัตถ์ลงจากบาตรแล้ว จึงได้ถือเอาอาสนะที่ต่ำแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ทรงยังพราหมณ์กูฏทันตะ ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งนั้นแล ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป.”



    คุณธรรมของหัวหน้า​

    มหากปิชาดก กล่าวถึงสิ่งที่กษัตริย์ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาว่า “.....ควรแสวงหาความสุขให้แก่รัฐ ยวดยานพาหนะ (หมายถึงโค เกวียน ผู้ขับขี่) กำลังพลและนิคมทั่วหน้ากัน”
    สุมังคลชาดกพูดถึงคุณธรรมของกษัตริย์ไว้ดังนี้
    - ต้องไม่มีอคติในการวินิจฉัยอรรถคดี
    - อยู่ในทศพิศราชธรรม
    - ถือกุศลกรรมบถ ๑๐
    ในสังวรชาดก ได้กล่าวถึงศีลาจารวัตรที่ดีงามของพระราชาไว้ว่า
    - ไม่ริษยาและพึงเคารพฟังคำสอนของสมณะ
    - ไม่ตัดเบี้ยเลี้ยง บำเหน็จบำนาญของทหารหรือข้าราชการ
    - คุ้มครองพ่อค้าที่มาจากต่างแดน
    - เกื้อกูลพระประยูรญาติ
    คุณธรรมเหล่านี้ นอกจากผู้ปกครองต้องประพฤติเองแล้ว ยังต้องเกื้อกูลให้ผู้อื่นประพฤติอีกด้วย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  15. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    สิงคาลสูตร​

    มีบุตรคฤหบดีคนหนึ่งชื่อ สิงคาลกะ ทุกเช้าจะออกนอกเมืองไปประนมมือไหว้รอบทิศ ขณะที่ไหว้ ทั้งผ้าและผมก็เปียกชุ่ม พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็น ก็ตรัสถามว่า ไหว้ทิศเพื่ออะไร เขากราบทูลว่า บิดาแนะนำสั่งสอนให้ไหว้ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม (จริงๆแล้วบิดาเขาเป็นโสดาบัน แต่ล้มเหลวในการนำลูกเข้าวัด ก่อนตายได้คิดอุบายอย่างหนึ่ง คือสอนให้ลูกไหว้ทิศ โดยหวังไว้ในใจว่า เมื่อลูกไหว้ทิศโดยไม่รู้ความหมาย ก็จะมีวันหนึ่งที่พระพุทธองค์หรือพระสาวกมาแนะนำให้รู้จักการไหว้ทิศที่ถูกต้อง แล้วเขาก็จะหันมาเลื่อมใสและทำบุญในที่สุด)
    พระพุทธองค์ตรัสว่า ในอริยวินัย(หมายถึงในพรหมจรรย์นี้ ในพระธรรมวินัยนี้ หรือในพระพุทธศาสนา) เขาไม่ไหว้ทิศ ๖ กันโดยวิธีอย่างนี้, สิงคาลกะทูลถามวิธีไหว้ที่ถูกต้อง

    พระพุทธองค์ทรงแจกแจงการประพฤติปฏิบัติของอริยสาวกดังนี้
    - กรรมกิเลส ๔ อริยสาวกละเว้นกรรมกิเลส ๔ คือ ๑.ไม่ทำลายชีวิต(ปาณาติบาต) ๒.ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้(อทินนาทาน) ๓.ไม่ประพฤติผิดในกาม(กาเมสุมิจฉาจาร) ๔.ไม่พูดเท็จ(มุสาวาท),ความประพฤติทั้ง ๔ อย่างนี้ ได้ชื่อว่า “กรรมกิเลส” เพราะเป็นการกระทำที่ทำให้จิตเศร้าหมอง
    - อคติ ๔ อริยสาวกไม่ทำบาปเพราะความลำเอียง ๔ อย่าง คือ ๑)ฉันทาคติ-ลำเอียงเพราะรัก ๒)โทสาคติ-ลำเอียงเพราะเกลียด ๓)โมหาคติ-ลำเอียงเพราะหลง(โง่,งมงาย) ๔)ภยาคติ-ลำเอียงเพราะกลัว
    - อบายมุข ๖ อริยสาวกไม่ส้องเสพทางเสื่อมแห่งโภคะ คือ ๑.ไม่ดื่มสุราเมรัย ๒.ไม่เที่ยวกลางคืน(วิกาลวิสิขาจริยานุโยโค – เที่ยวตามตรอกตามซอยในเวลากลางคืน) ๓.ไม่เที่ยวดูมหรสพ ๔.ไม่เล่นการพนัน ๕.ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร ๖.ไม่เกียจคร้าน
    อบายมุขแต่ละอย่าง ให้โทษดังนี้
    ๑.ดื่มสุราเมรัย มีโทษ ๖ อย่างคือ ๑)เสื่อมทรัพย์เห็นทันตา ๒)ก่อการทะเลาะวิวาท ๓)เป็นบ่อเกิดแห่งโรค(ทำลายสุขภาพ) ๔)เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง ๕)เป็นเหตุให้ไม่รู้จักอาย ๖)บั่นทอนกำลังปัญญา
    ๒.เที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖ อย่างคือ ๑)ไม่ปกป้องคุ้มครองตนเอง ๒)ไม่ปกป้องคุ้มครองบุตรภรรยา ๓)ไม่ปกป้องคุ้มครองทรัพย์สมบัติ ๔)เป็นที่หวาดระแวงของคนอื่น ๕)ทำให้เป็นคนพูดเหลาะแหละไม่อยู่ในร่องในรอย ๖)ทำให้ประสบความทุกข์ยากนานาประการ
    ๓.เที่ยวดูมหรสพ ทำให้เกิดความหมกมุ่น ๖ อย่างคือ ๑)มีรำที่ไหนไปที่นั่น ๒)มีขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ๓)มีเล่นดนตรี(ประโคม)ที่ไหนไปที่นั่น ๔)มีเสภา(ละครเวที)ที่ไหนไปที่นั่น ๕)มีเพลง(การเล่นปรบไม้ปรบมือเป็นจังหวะ)ที่ไหนไปที่นั่น ๖)มีเถิดเทิง(เล่นตีกลอง)ที่ไหนไปที่นั่น (เมื่อเกิดความหมกมุ่นดังกล่าว ก็ทิ้งหน้าที่การงานและเป็นที่มาของความเสื่อมสิ้นโภคทรัพย์)
    ๔.เล่นการพนัน มีโทษ ๖ อย่าง คือ ๑)ผู้ชนะย่อมก่อเวร ๒)ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๓)ทำให้เสียทรัพย์เห็นทันตา ๔)ไม่มีใครเชื่อถือในคำพูด ๕)ถูกมิตรและพวกพ้องดูแคลน(ไม่มีใครอยากสมาคมด้วย) ๖)ไม่มีใครอยากจะเป็นคู่ครอง
    ๕.คบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษ ๖ อย่างคือ ๑)ทำให้เป็นนักเลงการพนัน ๒)ทำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้(ทำตัวเป็นหนุ่มเจ้าสำราญ) ๓)ทำให้เป็นคนสำมะเลเทเมา ๔)ทำให้เป็นคนหากินในทางหลอกลวง(เนกติกา) ๕)ทำให้เป็นคนขี้โกงซึ่งหน้า ๖)ทำให้เป็นคนหัวไม้(อันธพาลก่อความรุนแรง)
    ๖.เกียจคร้าน แสดงออกด้วยอาการเสื่อม ๖ อย่างคือ ๑)มักอ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำงาน ๒)มักอ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำงาน ๓)มักอ้างว่าเย็น(ค่ำ)แล้ว แล้วไม่ทำงาน ๔)มักอ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำงาน ๕)มักอ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำงาน ๖)มักอ้างว่ากระหายนัก แล้วไม่ทำงาน

    ทางเสื่อมของชีวิตคฤหัสถ์
    - เพื่อนตามร้านเหล้าก็มี เพื่อนดีแต่พูดว่าเป็นเพื่อนกันก็มี, เพื่อนคนใดที่ได้พึ่งกันยามต้องการ เพื่อนคนนั้นคือเพื่อนแท้
    - นอนตื่นสาย ๑, เป็นชู้กับภรรยาเขา ๑, จองเวร ๑, ทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ๑, คบมิตรชั่ว ๑, ตระหนี่จัด ๑ ความชั่ว ๖ อย่างนี้ ย่อมทำลายคนให้พลาดจากประโยชน์ที่พึงได้
    - มีเพื่อนชั่ว ๑, มีกิริยามารยาทชั่ว ๑, เดินทางชั่ว(โคจรชั่ว) ๑ มีแต่ทำให้เสื่อมทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า
    - (มัวเมา)การพนันและหญิง ๑, ดื่มสุรา ๑, ฟ้อนรำขับร้อง ๑, นอนกลางวัน ปรนเปรอตนไม่ถูกกาล ๑, คบมิตรชั่ว ๑,ตระหนี่จัด ๑ ความชั่ว ๖ อย่างนี้ ย่อมทำลายคนให้พลาดจากประโยชน์ที่พึงได้
    - เล่นการพนัน ๑, ดื่มสุรา ๑, เป็นชู้กับภรรยาที่รักเสมอด้วยชีวิตของคนอื่น ๑, คบแต่คนเลวไม่คบคนดี ๑ ความชั่ว ๔ อย่างนี้ มีแต่จะทำให้ชีวิตเสื่อมลงๆ ดุจเดียวกับดวงจันทร์ข้างแรม
    - คนดื่มสุรา ขัดสนทรัพย์ ไม่มีงานทำ เป็นคนขี้เมาไร้ค่า นับวันก็จะจมลงสู่หนี้ เหมือนหินจมน้ำ สร้างปัญหาชีวิตให้แก่ตนเองโดยพลัน
    - คนชอบนอนกลางวัน ไม่ขยันทำงานในเวลากลางคืน ดีแต่เมาหยำเป ย่อมครองเรือนให้ดีไม่ได้ ประโยชน์ย่อมผ่านเลยคนหนุมผู้ทอดทิ้งงาน ด้วยอ้างว่าหนาวนัก, ร้อนนัก, เย็นนัก เป็นต้น ส่วนผู้ใดไม่เห็นหนาวร้อนมีค่าแม้เท่าเส้นหญ้า ทำหน้าที่ของคน(อย่างเด็ดเดี่ยว) ผู้นั้นไม่มีวันเสื่อมจากความสุข

    มิตรเทียม-มิตรแท้
    ในเรื่องการคบมิตร พระพุทธองค์ทรงสอนสิงคาลกะว่า มิตรเทียมมี ๔ ประเภท คือ ๑.คนปอกลอก ๒.คนดีแต่พูด ๓.คนหัวประจบ ๔.คนพาฉิบหาย
    - คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ อย่าง คือ ๑)คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒)ยอมเสียน้อย โดยหวังจะได้มาก ๓)ไม่ช่วยเพื่อนเมื่อมีภัย ๔)คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน
    - คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ อย่างคือ ๑)ดีแต่พูดถึงสิ่งที่หมดไปแล้ว ๒)ดีแต่พูดถึงสิ่งที่ยังไม่มีมา ๓)ช่วยเหลือแต่ด้วยสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ๔)เมื่อเพื่อนมีกิจจำเป็น ดีแต่อ้างเหตุขัดข้อง
    - คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ อย่างคือ ๑)จะทำชั่วก็เออออ ๒)จะทำดีก็เออออ ๓)ต่อหน้าสรรเสริญ ๔)ลับหลังนินทา
    - คนพาฉิบหาย มีลักษณะ ๔ อย่างคือ ๑)คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา(เพื่อนขี้เหล้า) ๒)คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน ๓)คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น ๔)คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน
    คนสี่ประเภทนี้ ทรงสอนว่า ไม่ใช่มิตรแท้ พึงหลีกให้ห่างไกล เหมือนคนเดินทางเลี่ยงทางที่รู้ว่ามีภัยอยู่ข้างหน้า
    ทรงสอนเรื่องมิตรแท้แก่สิงคาลกะว่า มิตรแท้(มิตรมีน้ำใจดี,มิตรมีความจริงใจ) มี ๔ ประเภท คือ ๑.มิตรอุปการะ ๒.มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๓.มิตรแนะประโยชน์ ๔.มิตรมีน้ำใจ
    - มิตรอุปการะ มีลักษณะสี่อย่าง คือ ๑)เมื่อเพื่อนประมาทก็ช่วยรักษาเพื่อน ๒)เมื่อเพื่อนประมาทก็ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน ๓)เมื่อเพื่อนมีภัยก็เป็นที่พึ่งพิงได้ ๔)ในคราวจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
    - มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะสี่อย่าง ๑)บอกความลับแก่เพื่อน ๒)ปกปิดความลับของเพื่อน ๓)เมื่อมีภัยก็ไม่ทิ้งเพื่อน ๔)แม้ชีวิตก็สละให้เพื่อนได้
    - มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะสี่อย่าง ๑)คอยห้ามปรามเพื่อนไม่ให้ทำชั่ว ๒)คอยแนะนำให้เพื่อนตั้งอยู่ในความดี ๓)ให้เพื่อนได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ ๔)ชี้ทางสุขทางสวรรค์ให้เพื่อน
    - มิตรมีน้ำใจ มีลักษณะสี่อย่างคือ ๑)ทุกข์ ทุกข์ด้วย ๒)สุข สุขด้วย ๓)เขาติเตียนเพื่อน ก็ช่วยแก้ต่างให้ ๔)เขาสรรเสริญเพื่อน ก็ช่วยพูดเสริมส่ง
    ตรัสว่า คนฉลาดเมื่อรู้ว่าใครเป็นมิตรแท้เข้าลักษณะดังกล่าวนี้ ควรตั้งใจเข้าไปคบหารักใคร่ เหมือนมารดากับบุตร คนมีศีลย่อมส่องสว่างเหมือนไฟ คนสะสมโภคสมบัติเหมือนผึ้งสร้างรัง โภคสมบัติของเขาย่อมเพิ่มพูนดุจเดียวกับจอมปลวกที่ปลวกก่อขึ้น

    ทรัพย์สินควรแบ่งเป็น ๔ ส่วน
    คฤหัสถ์ที่ดีในตระกูล ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว ควรแบ่งโภคสมบัติออกเป็นสี่ส่วน คือ หนึ่งส่วนสำหรับช่วยเหลือเกื้อกูลมิตร, หนึ่งส่วนสำหรับใช้สอย, สองส่วนสำหรับประกอบการงาน(ลงทุน) และอีกหนึ่งส่วนสำหรับยามฉุกเฉิน(คราวมีอันตรายเกิดขึ้น)
    (หมายเหตุ - คำว่า “สองส่วนสำหรับประกอบการงาน” หมายถึงทรัพย์กองหนึ่งที่เพิ่มจำนวนขึ้นอีกเท่าหนึ่ง คือเป็นส่วนที่มีจำนวนทรัพย์มากกว่าอีกสามส่วนนั้น)

    ทิศที่ควรไหว้
    ทรงสอนว่า ถ้าปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖ อย่างถูกต้อง รอบทิศก็จะมีแต่ความปลอดภัย, ทิศทั้ง ๖ ของอริยสาวก คือ ๑.มารดาบิดาเป็ทิศเบื้องหน้า ๒.ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา(ทิศใต้) ๓.บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง(ทิศตะวันตก) ๔.มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย(ทิศเหนือ) ๕.คนรับใช้และคนงานเป็นทิศเบื้องล่าง ๖.สมณพราหมณ์(ภิกษุสงฆ์)เป็นทิศเบื้องบน
    ข้อปฏิบัติต่อบิดามารดา
    - เลี้ยงท่านตอบ
    - ช่วยการงานของท่าน
    - ดำรงวงศ์สกุล
    - ประพฤติตนให้เป็นทายาทที่ดี
    - เมื่อท่านล่วงลับ ให้ทำบุญอุทิศ
    ข้อปฏิบัติต่อบุตร
    - ห้ามปรามมิให้ทำชั่ว
    - ให้ตั้งอยู่ในความดีงาม
    - ให้ศึกษาศิลปวิทยา
    - หาคู่ครองที่เหมาะสมให้
    - มอบทรัพย์สมบัติให้ ในโอกาสอันควร
    ข้อปฏิบัติต่ออาจารย์
    - ลุกต้อนรับ (แสดงความเคารพ)
    - เข้าไปหา (เพื่อรับใช้, ปรึกษา, รับคำสอน)
    - ใฝ่ใจศึกษาเล่าเรียน
    - ปรนนิบัติ
    - ศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง(โดยเคารพ)
    ข้อปฏิบัติต่อศิษย์
    - ฝึกฝนให้เป็นคนดี
    - สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
    - สอนวิชาให้หมดสิ้นเชิง
    - ยกย่องให้ปรากฏ
    - ฝึกให้อยู่รอดปลอดภัยในชีวิต
    ข้อปฏิบัติต่อภรรยา
    - ยกย่องให้เกียรติ
    - ไม่กดขี่ดูหมิ่น
    - ไม่นอกใจ
    - ให้เป็นใหญ่ในงานบ้าน
    - ให้เครื่องประดับตกแต่งตามโอกาสอันควร
    ข้อปฏิบัติต่อสามี
    - ดูแลงานบ้านให้เรียบร้อย
    - สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่าย
    - ไม่นอกใจ
    - รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
    - ขยันไม่เกียจคร้านทำงาน
    ข้อปฏิบัติของมิตรสหายฝ่ายหนึ่ง ต่อมิตรสหายอีกฝ่ายหนึ่ง
    - เผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
    - พูดจามีน้ำใจ (ปิยวัชชะ)
    - ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (อัตถจริยา)
    - วางตนเสมอกัน – ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน (สมานัตตตา)
    - จริงใจต่อกัน (อวิสังวาทนตา)
    ข้อปฏิบัติของมิตรสหายอีกฝ่ายหนึ่ง ต่อมิตรสหายฝ่ายข้างต้น
    - เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
    - เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
    - ยามมีภัย เป็นที่พึ่งแก่กันได้
    - ไม่ทิ้งกันในยามทุกข์ยาก
    - นับถือกันถึงวงศ์ญาติ
    ข้อปฏิบัติต่อทาสกรรมกร
    - จัดประเภทงานให้เหมาะสมกับกำลังและความสามารถ
    - ให้ค่าจ้างรางวัลเหมาะแก่งานและความเป็นอยู่
    - จัดสวัสดิการให้ (ดูแลเมื่อเจ็บป่วย)
    - ได้อะไรแปลกใหม่มา ก็ให้เป็นของฝาก
    - มีวันหยุดให้พักผ่อนอย่างเหมาะสม
    ข้อปฏิบัติที่ทาสกรรมกรพึงมีต่อนาย
    - เริ่มงานก่อนนาย
    - เลิกงานทีหลังนาย
    - รับเอาแต่ของที่นายให้
    - ทำงานให้ดีและปรับปรุงพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา
    - ช่วยเผยแพร่ความดีของนาย
    ข้อปฏิบัติต่อสมณพราหมณ์
    - ทำการสิ่งใดต่อท่าน ก็ทำด้วยเมตตา
    - พูดกับท่าน ก็พูดด้วยเมตตา
    - คิดอะไรกับท่าน ก็คิดด้วยเมตตา
    - ยินดีต้อนรับ เมื่อท่านมาหา
    - อุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย ๔
    ข้อปฏิบัติที่สมณพราหมณ์พึงมีต่อฆารวาส
    - ห้ามปรามมิให้ทำชั่ว
    - สอนให้ตั้งอยู่ในความดี
    - อนุเคราะห์ด้วยความหวังดี
    - ให้ได้ฟังธรรมที่ไม่เคยฟัง
    - ให้เข้าใจยิ่งขึ้นในธรรมที่เคยฟังแล้ว
    - ชี้ทางสวรรค์ให้

    ธรรมยึดเหนี่ยวสังคมไว้ด้วยกัน (สังคหวัตถุ ๔)
    แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเป็นพระคาถา มีใจความดังนี้
    มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า, ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา, บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง, มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย, ทาสกรรมกร(คนรับใช้)เป็นทิศเบื้องต่ำ, สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน, คฤหัสถ์ที่ดีในตระกูลพึงไหว้(ปฏิบัติให้ถูกต้อง)ต่อทิศเหล่านี้
    บัณฑิตผู้เพียบพร้อมด้วยศีล, ละเอียดสุขุม, ฉลาด, เจียมตน, ไม่แข็งกระด้าง ย่อมได้ยศ(ได้รับเกียรติ)
    คนหมั่นเพียรไม่เกียจคร้าน, เผชิญภัยก็ไม่หวาดหวั่น, มีความประพฤติต่อเนื่อง, มีปัญญา ย่อมได้ยศ
    คนมีน้ำใจสงเคราะห์, เป็นมิตร, ฉลาดพูดจา, ไม่ตระหนี่, แนะนำพร่ำสอนคนอื่นในทางที่ดี ย่อมได้ยศ
    การแบ่งปัน(ทาน) ๑, การพูดจาไพเราะน่าฟัง(ปิยวัชชะ) ๑, การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ (อัตถจริยา) ๑, การวางตนเหมาะสมแก่ฐานะของบุคคล (สมานัตตตา) ๑ ทั้งหมดนี้เป็นธรรมยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลกนี้ เปรียบเหมือนเพลารถที่กำลังขับเคลื่อนไป, หากไม่มีธรรมเหล่านี้ มารดาบิดาก็จะไม่ได้รับความนับถือบูชาทั้งๆที่มีบุตร, บัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมยึดเหนี่ยวเหล่านี้เป็นอย่างดี จึงได้ความเป็นใหญ่ และได้รับความสรรเสริญทั่วหน้า
    เมื่อสิงคาลกะได้ฟังคำสอนเหล่านี้ ก็กราบทูลด้วยความประทับใจว่า เป็นคำสอนที่แจ่มแจ้งอย่างยิ่ง ได้ถวายชีวิตเป็นอุบาสกตั้งแต่วันนั้น
    ------------------------------------------
    คุณธรรมเหล่านี้ นอกจากผู้ปกครองต้องประพฤติเองแล้ว ยังต้องเกื้อกูลให้ผู้อื่นประพฤติอีกด้วย



    ความไม่ประมาท​

    ธรรมนี้ไม่ขอวิเคราะห์นะครับ
    “ผู้มีภาระปกครองรัฐ จงอย่าได้ประมาทเลย. กษัตริย์จำนวนมาก มีความประมาท ต้องสูญเสียประโยชน์ สูญเสียรัฐ, แม้แต่ชาวบ้านประมาท ก็สูญเสียบ้าน, อนาคาริกประมาท ก็สูญเสียความเป็นอนาคาริก. เมื่อผู้ครองแผ่นดินประมาท โภคทรัพย์ในรัฐย่อมพินาศทั้งหมด, นี่แล เรียกว่า ทุกข์ภัยของผู้ครองแผ่นดิน. ความประมาทนี้ เป็นหลักการไม่ได้. ผู้ครองแผ่นดินประมาทเกินขอบเขต โจรทั้งหลายก็กำจัดชนบทที่มั่งคั่งบริบูรณ์เสีย. โอรสทั้งหลายก็จะไม่มีเหลือ, เงินทองทรัพย์สินก็จะไม่มีเหลือ. เมื่อรัฐถูกปล้น ก็จะเสื่อมจากโภคสมบัติทุกอย่าง. ถึงจะเป็นขัตติยราช เมื่อโภคสมบัติย่อยยับหมดแล้ว ญาติมิตรสหายทั้งหลาย ก็ไม่นับถือในความคิดอ่าน. พลช้าง พลม้า พลรถ พลราบทั้งหลาย ที่อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ ก็ไม่นับถือในความคิดอ่าน. ผู้นำที่จัดการงานไม่ดี เขลา ด้อยความคิดอ่าน ทรามปัญญา ย่อมหมดศรีสง่า เหมือนคราบเก่าที่งูทิ้งไปแล้ว. ส่วนผู้นำที่จัดแจงการงานเป็นอย่างดี หมั่นขยันถูกกาล ไม่เฉื่อยชา ย่อมมีโภคทรัพย์ที่เจริญยิ่งขึ้นๆทุกด้าน เหมือนฝูงโคที่มีโคผู้นำ. ฉะนั้นพระองค์จงเสด็จเที่ยวสดับดูความเป็นอยู่เป็นไปในแว่นแคว้นแดนชนบท, ครั้นได้เห็นได้สดับแล้วจึงดำเนินราชกิจนั้นๆ.”



    สาราณียธรรม 6​

    1. จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา หมายความว่าทำด้วยความปราถนาดีต่อกัน
    2. จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา หมายความว่าพูดด้วยความปราถนาดีต่อกัน เวลาเห็นเขาทำผิด เราก็ต้องพูดเพื่อให้เขาหันมาทำถูกอันจะเป็นผลดีต่อตัวเขาเอง ไม่ใช่พูดเพื่อทำลายหรือเอาชนะผู้อื่น หรือถ้าเป็นกรณีเห็นเขาทำผิด แต่ตัวเองกลับไม่ยอมพูดชี้ทางที่ถูกต้องให้เขาเสียใหม่ อย่างนี้เรียกว่า “เงียบไว้เพื่อทำลายหรือเอาชนะผู้อื่น” ซึ่งก็เป็นสิ่งไม่ดีเช่นกัน แต่ถ้านิ่งเงียบเพื่อให้คนอื่นได้ดี ก็จัดว่าเป็นสิ่งที่ดี
    3. คิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา คือมีความหวังดีต่อกัน หากคนเรานำเมตตามาประกอบเข้ากับการใช้ปัญญา ก็จะทำให้โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำความคิดได้ยาก นอกจากนั้นในด้านการแสดงออก เมตตาก็ทำให้มีจิตใจที่พร้อมจะยิ้มแย้ม เวลาพบหน้ากันก็ยิ้มให้กัน นำไปสู่การพูดจากันได้ดีขึ้น
    4. สาธารณโภคี หากคนในสังคมมุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ยึดติดในผลประโยชน์เห็นแก่ตัวมาก ก็จะทำให้ไม่สามารถเฉลี่ยเจือจานผลประโยชน์กันได้ ทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมาก เมื่อคนมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมากในเรื่องรายได้ ในเรื่องทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่ครอบครองอยู่ ก็จะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม ดังนั้นคนในสังคมจึงจะต้องมีความโอบอ้อมอารีเผื่อแผ่แบ่งปันเจือจานแก่กันและกัน ในสังคมของพระนั้น ท่านถือเป็นหลักสำคัญ สาธารณโภคีแปลว่ามีกินมีใช้ร่วมกัน ถ้าสังคมของเราถือหลักธรรมข้อนี้แล้วจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยในการลดช่องว่างทางฐานะระหว่างคนรวยกับคนจน ผู้คนจะไม่หวงแหนกอบโกยเอาผลประโยชน์เข้าตัวแต่เพียงผู้เดียว แต่จะรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกินกินของตนให้กับคนที่ยังไม่มีจะกิน ทำให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ คนรวยก็ไม่รวยเกินไป คนจนก็ไม่จนเกินไป อันจะนำมาซึ่งความเสมอภาคทางสังคมและการเมืองต่อไป
    พุทธภาษิตบทหนึ่งว่า กินคนเดียวไม่ได้ความสุข
    5. สีลสามัญญตา แปลว่ามีศีลเสมอกัน กล่าวคือคนในสังคมต้องมีความประพฤติสุจริตที่จะกลมกลืนเข้ากันได้ หมายความว่าคนที่จะอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน จะต้องมีศีลคือความประพฤติสุจริตไว้ใจกันได้ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม และรักษาระเบียบวินัย ทำตามกติกาที่ดีงามของสังคม (แต่ถ้ากติกาไม่เป็นธรรม ก็ต้องหาวิธีแก้ไขให้เป็นธรรม)
    6. ทิฐิสามัญญตา คือมีความเห็นพ้องร่วมกันในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า คนในสังคมธรรมนั้น ต้องมีความเห็นความเข้าใจและความเชื่อมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ร่วมกัน หากบางคนเห็นด้วย แต่อีกหลายคนยังไม่เห็นด้วย (ผลของความไม่เห็นด้วยคือการไม่ยอมทำตาม) ก็จะทำให้สังคมแตกแยก เพราะคนคิดเห็นไม่ตรงกัน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  16. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    ในช่วงท้ายนี้ จะเป็นการวิเคราะห์หลักธรรมอื่นๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเมืองได้ครับ ลักษณะเนื้อหาก็เช่นเดิม คือเป็นการสรุปย่อความมา ไม่ได้คัดลอกจากต้นฉบับแบบตรงเป๊ะๆทุกตัวอักษร ดังนั้นจึงอาจจะมีข้อผิดพลาดได้ไม่มากก็น้อย
    สำหรับในส่วนของวิธีการนำหลักธรรมเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับการเมืองนั้น ขออนุญาตไม่เขียนนะครับ เพราะถ้าจะให้เขียนคงจะยืดยาวมากเลย ดังนั้น จึงขอให้ท่านใช้วิจารณาญาณที่ได้จากการอ่านเนื้อหาก่อนหน้านี้เป็นพื้นฐานในการคิดหาวิธีการนำหลักธรรมเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับการปกครองบ้านเมืองกันเอาเองนะครับ
    หลักธรรมเหล่านี้ ก็มีทั้งประเภทที่สามารถนำไปใช้ได้ในการปกครองบ้านเมือง และประเภทที่เป็นหลักการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ หรือบางหลักธรรมก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง
    บางหลักธรรมเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง บางหลักธรรมอาจจะไม่เกี่ยว แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเมืองการปกครองได้ครับ
    (เพิ่มเติม - อันที่จริงแล้ว หลักธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปกครองบ้านเมืองได้นั้น เท่าที่ผมวิเคราะห์พระไตรปิฎกดู พบว่ามีมากกว่านี้อีก มากเสียจนไม่สามารถนำมาอธิบายได้ทั้งหมด ดังนั้น ผมจึงอยากจะแนะนำให้ผู้สนใจทางนี้ ไปศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกด้วยครับ)



    อัมพัฏฐสูตร​

    อัมพัฏฐมานพ-ศิษย์เอกของโปกขรสาติพราหมณ์
    ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ถึงพราหมณคาม ชื่ออิจฉานังคละ ได้เสด็จเข้าประทับ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวันใกล้หมู่บ้านนั้นเอง
    พราหมณ์ชื่อโปกขรสาติ ผู้ครองเมืองอุกกัฏฐะ ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานให้ เมื่อทราบข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่อิจฉานังคลวัน ก็บอกกับตัวเองว่าการได้เห็นพระอรหันต์เช่นนั้นจะเป็นการดีสำหรับตน
    โปกขรสาติพราหมณ์มีลูกศิษย์ชื่อ อัมพัฏฐะ ผู้คงแก่เรียน จำมนต์ได้ เจนจบไตรเพท เรียนจบคัมภีร์ต่างๆ เก่งในตัวบท ช่ำชองไวยากรณ์ แม่นยำในการดูมหาปุริสลักษณะ ความเป็นผู้รู้ของเขาเทียบเท่าผู้เป็นอาจารย์ทุกอย่าง
    วันนั้น โปกขรสาติพราหมณ์เรียกอัมพัฏฐะมาบอกข่าวเรื่องพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่อิจฉานังคลวัน ขอให้เขาไปเข้าเฝ้า ดูทีหรือว่าพระสมณโคดมมีอะไรดีวิเศษจริงอย่างคำเล่าลือหรือไม่, ฝ่ายศิษย์ถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าจริงหรือไม่จริง? อาจารย์บอกว่า มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการอยู่ในมนต์ของเรา คนที่เพียบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะคือมหาบุรุษ จักได้เป็น ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าครองเรือน จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ถ้าออกบวช จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, อัมพัฏฐะรับคำอาจารย์ และไปยังที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยศิษย์ร่วมสำนักจำนวนหนึ่ง
    ขณะนั้น ภิกษุทั้งหลายกำลังเดินจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้ง อัมพัฏฐะเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น แจ้งความจำนงว่าจะขอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์, พวกภิกษุเห็นว่าเขาเป็นคนเกิดในตระกูลมีชื่อเสียง ทั้งเป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติผู้โด่งดังด้วย คงไม่เป็นที่หนักพระทัยถ้าพระพุทธองค์จะทรงสนทนากับเขา จึงได้ชี้ให้ไปที่พระวิหารที่ประทับซึ่งประตูปิดอยู่ บอกให้ไปเงียบๆ ด้วยอาการสงบ ไปถึงเฉลียงที่ประทับแล้วให้กระแอมขึ้นก่อนแล้วจึงเคาะประตูให้ทรงทราบ, อัมพัฏฐะได้ทำตามคำแนะนำทุกอย่าง เมื่อพระพุทธองค์ทรงเปิดประตู อัมพัฏฐะก็เข้าไปภายในพระวิหารพร้อมกับพวก หลังจากการกล่าวทักทายกันผ่านไป คนอื่นๆพากันนั่งลง ยกเว้นอัมพัฏฐะคนเดียวที่ไม่ยอมนั่ง

    พงศาวดารแห่งศากยวงศ์
    ขณะที่พระพุทธองค์ทรงนั่งอยู่ อัมพัฏฐะกลับยืนและเดินไปมาระหว่างที่เจรจาปราศัย จึงมีรับสั่งถามขึ้นว่า อัมพัฏฐะเคยสนทนาปราศัยกับพวกพราหมณ์ผู้เฒ่า, ผู้เป็นอาจารย์, ผู้เป็นปาจารย์ อย่างที่ทำอยู่ขณะนี้หรือ? เขาทูลว่า หามิได้ เพราะว่าระหว่างพราหมณ์ด้วยกันเมื่อสนทนาปราศัยกันจะต้องอยู่ในอิริยาบถอย่างเดียวกัน แต่สำหรับสมณโล้น, คนรับใช้ และพวกกัณหโคตร (คนดำ) ซึ่งเกิดจากบาทของพรหม เขาจึงทำอย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้
    พระพุทธองค์ตรัสว่า อัมพัฏฐะมีธุระจึงได้มาที่นี่ ขอให้ใส่ใจให้ดีว่ามาเพื่อประโยชน์สิ่งใด เธอยังเป็นคนไม่ได้รับการศึกษา แต่เข้าใจว่าตนมีการศึกษาดีแล้ว
    พระดำรัสนั้น ทำให้เด็กหนุ่มโกรธจัด เขาโต้กลับทันทีว่า พวกศากยะเป็นพวกอำมหิต, หยาบช้า, ใจเบา, พูดพล่าม, เป็นพวกคนใช้ ไม่ให้เกียรติไม่เคารพอ่อนน้อมต่อพวกพราหมณ์ การที่เป็นกันอย่างนั้นไม่เข้าท่า, ทรงถามเขาว่า พวกศากยะทำผิดต่อเธอด้วยเรื่องใด? อัมพัฏฐะเล่าถวายว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยธุระของอาจารย์ ได้ไปยังหอประชุม (สัณฐาคาร) ของพวกศากยะ ขณะนั้นพวกศากยะทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากต่างก็นั่งอยู่บนที่นั่งสูงๆ เล่นหัวกันเพลิน คงจะหัวเราะเยาะเขา ไม่มีใครเชื้อเชิญให้เขานั่งเลย ซึ่งการทำกับพราหมร์อย่างนั้น ไม่สมควรเลย เพราะพวกศากยะเป็นแค่คนใช้
    พระพุทธองค์ตรัสแก่เขาในเรื่องนั้นว่า นกมันเป็นสัตว์ ก็ยังมีเสรีที่จะพูด (ร้อง) ในรังของมัน กรุงกบิลพัสดุ์เป็นถิ่นของพวกศากยะ อัมพัฏฐะไม่น่าจะติดใจกับเรื่องแค่นั้น
    อัมพัฏฐะยกเรื่องมากล่าวอีกว่า ในวรรณะทั้งสี่ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พวกคนรับใช้ของพราหมณ์ คือกษัตริย์ แพศย์ และศูทร การที่พวกศากยะซึ่งอยู่ในฐานะเป็นคนรับใช้ไม่ให้เกียรติ ไม่แสดงความเคารพต่อพราหมณ์ เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเลย
    เมื่อศิษย์เอกของโปกขรสาติพราหมณ์ได้กล่าวเหยียบย่ำชาวศากยะถึง ๓ ครั้ง ด้วยการกล่าวว่าเป็นคนรับใช้อย่างนั้น พระพุทธองค์จึงทรงถามขึ้นว่า อัมพัฏฐะเกิดจากโคตร (เผ่าพงศ์) ไหน? เขาทูลว่า เกิดจากกัณหายนโคตร, ครัสแก่เขาว่า ลองนึกให้ดีถึงโคตรเก่าแก่ของมารดาบิดา ก็จะรู้ได้เองว่า พวกศากยะเป็นเชื้อพระวงศ์ อัมพัฏฐะเป็นบุตรนางทาสีของพวกศากยะ พวกศากยะนั้นสถาปนาพระเจ้าอุกกากราชว่าเป็นปู่ (ปิตามหะ) พระเจ้าปู่นั้น ทรงประสงค์จะพระราชทานสมบัติแก่พระโอรสของพระมเหสีที่ทรงรักใคร่โปรดปราน จึงรับสั่งให้พระโอรสผู้พี่ ๔ องค์ คือ เจ้าชายอุกกามุข เจ้าชายกรัณฑุ เจ้าชายหัตถินีกะ และเจ้าชายสินีปุระ ออกไปอยู่นอกพระราชอาณาเขต เจ้าชายทั้งสี่พากันไปตั้งสำนักอยู่ที่ป่าสักใหญ่ข้างภูเขาหิมพานต์ ทุกองค์ได้ภคินี (น้องสาว) ของตัวเองเป็นคู่ครอง เพราะไม่ต้องการให้ชาติสกุลมีใครอื่นปะปน
    ตรัสเล่าต่อไปว่า กาลต่อมาคราวหนึ่ง พระเจ้าอุกกากราชทรงถามข่าวคราวพระราชโอรสทั้งสี่ เมื่อได้ทรงทราบว่าอยู่กันที่ไหนอย่างไร ก็ทรงอุทานขึ้นว่า “พวกเด็กๆ เก่งจริงหนอ” - “พวกเด็กๆ เก่งเหลือเกินหนอ” , พระวาจาที่ทรงอุทานออกมานั้น กลายมาเป็นชื่อศากยะตั้งแต่บัดนั้น และถือกันว่าพระเจ้าอุกกากราชเป็นบรรพบุรุษของชาวศากยะ พระองค์มีนางทาสีคนหนึ่งชื่อทิสา ซึ่งคลอดบุตรคนหนึ่งชื่อกัณหะ, เด็กคนนั้นคลอดออกมาก็พูดได้ว่า แม่จงอาบล้างฉันให้หมดจดจากคราบสกปรกนี้ ฉันเกิดมาเพื่อช่วยแม่, คนเห็นเด็กพูดได้ก็นึกว่าเป็นผี สมัยนั้นคำว่า “ผี” เขาพูดว่ากัณหะ เด็กก็เลยได้ชื่อว่ากัณหะ, เด็กคนนั้นคือต้นวงศ์ของกัณหายนโคตร
    เมื่อทรงเล่ามาถึงตรงนี้ พวกศิษย์ร่วมสำนักของอัมพัฏฐะซึ่งนั่งฟังอยู่ต่างก็พากันทูลขอร้องพระพุทธองค์ว่า อย่าทรงกล่าวให้อัมพัฏฐะเสียหายว่าเป็นลูกทาสีนักเลย เพราะเขามีชาติกำเนิดสูงส่ง, เป็นคนมีสกุล, เป็นพหูสูต, พูดจาดี, เป็นบัณฑิต เขาต้องคัดค้านเรื่องนี้ว่าไม่จริงแน่นอน

    ทรงข่มแล้วยกย่องให้เกียรติ
    พระพุทธองค์ตรัสแก่เด็กหนุ่มเหล่านั้นว่า ถ้าคิดว่าอัมพัฏฐะจะมีคำโต้แย้งได้ ก็ให้พากันนิ่งคอยฟัง, แล้วตรัสกับอัมพัฏฐะว่า ปัญหานี้มาถึงเธอแล้ว ถึงไม่อยากตอบก็ต้องตอบ ถ้าไม่ตอบ หรือเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน หรือนิ่งเงียบ หรือลูกหนีไป ศรีษะของเธอก็จักแตกเป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่ตรงนี้ พวกพราหมณ์ที่เธอเคารพนับถือเขาพูดว่าอย่างไรในเรื่องกัณหายนโคตร? กัณหายนะมาจากไหน? ใครเป็นบรรพบุรุษ? ทรงถามย้ำเป็นครั้งที่ ๒ อัมพัฏฐะก็ได้แต่นิ่งงัน, ก่อนจะมีพระวาจาถามเป็นครั้งที่ ๓ ทรงพระกรุณาเตือนว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะนิ่งได้ ถ้าไม่ตอบ ศีรษะของเธอจักต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ
    ขณะเดียวกันนั้น ยักษ์วชิรปาณี ถือค้อนเหล็กใหญ่ไฟลุกแดงโชนยืนจังก้าอยู่ในอากาศเหนือศีรษะของอัมพัฏฐะ คอยแต่ว่า ถ้าเขาถูกตรัสถามปัญหาถึงครั้งที่ ๓ แล้วยังไม่ตอบ ก็จะฟาดศีรษะด้วยค้อนไฟทันที, การปรากฏตัวของยักษ์ตนนั้นมีแต่พระพุทธองค์และอัมพัฏฐะเท่านั้นที่มองเห็น อัมพัฏฐะตกใจกลัวจนสยองไปทั่วทุกขุมขน กระเถิบเข้าไปนั่งใกล้ๆที่ประทับ ขอให้ทรงเป็นที่พึ่ง และขอให้ทรงทวนคำถามอีกครั้ง, เมื่อได้ฟังอีกก็ยอมรับว่า เรื่องที่ตรัสเล่ามานั้นตรงกับคำบอกเล่าของพวกพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่ตนนับถือทุกอย่าง คือกัณหะเป็นบรรพบุรุษของกัณหายนโคตร เด็กหนุ่มพวกเดียวกันเมื่อได้ฟังดังนั้นก็พูดกันว่า อัมพัฏฐะหาใช่พวกผู้ดีมีสกุลแต่อย่างใดไม่ เป็นแค่ลูกของนางทาสีของชาวศากยะเท่านั้นเอง
    พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า อัมพัฏฐะถูกหมิ่นหยามด้วยเรื่องชาติกำเนิดเช่นนั้น ก็ทรงช่วยปลดเปลื้องด้วยการลำดับเรื่องราวของเขาซึ่งไม่ได้จบอยู่เพียงแค่นั้นว่า กัณหะลูกทาสีนั้น ต่อมาได้ออกบวชเป็นฤาษีมีชื่อเสียงตนหนึ่งได้ไปเรียนพรหมมนต์จากทางใต้ แล้วได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอุกกากราชเพื่อทูลขอพระราชธิดาพระนามว่า มัททรูปี เป็นเหตุให้ทรงพระพิโรธเพราะเหตุที่ฤาษีเป็นแค่ลูกนางทาสีมาอาจเอื้อม ถึงกับทรงพระแสงศรหมายจะปลิดชีพฤาษี แต่ก็เจออิทธิฤทธิ์ ทรงคันศรค้าง ยิงก็ไม่ได้ วางก็ไม่ลง ร้อนถึงพวกราชอำมาตย์ ต้องไปขอชีวิตพระเจ้าอุกกากราชไว้ แต่กว่าจะให้ทรงวางศรได้ ก็ยุ่งยากอีก เพราะศรที่ค้างอยู่นั้น หากให้ทรงยิงลงพื้น แผ่นดินก็จะทรุดไปทั่วแคว้น ยิงขึ้นฟ้า ฝนก็จะไม่ตกให้แคว้นถึงเจ็ดปี, มีทางออกอยู่ทางเดียวคือให้ทรงวางพระแสงศรแก่พระราชกุมารองค์ใหญ่ด้วยการตั้งพระทัยดำริว่า ขอพระราชกุมารนั้นอย่าได้หวาดระแวงภัย, คำกล่าวขู่ของฤาษีเป็นพรหมทัณฑ์อย่างหนึ่ง พระเจ้าอุกกากราชทรงกลัว จึงได้พระราชทานพระนางมัททรุปีแก่กัณหฤาษีในคราวนั้น

    กฏของวรรณะ
    เมื่อจะทรงรุกให้อัมพัฏฐะยอมจำนนลดทิฐิมานะของความเป็นพราหมณ์ลงโดยสิ้นเชิง พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีตั้งคำถามให้เขาตอบเองเพื่อเป็นการยอมรับเอง ดังนี้
    ๑.เจ้าชาย (กษัตริย์) กับสาวพราหมณ์มีบุตรด้วยกัน บุตรนั้นควรที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์หรือไม่? (หมายถึง ถ้าได้ที่นั่งที่เขาจัดให้ก็ต้องเป็นที่นั่งอันมีเกียรติ ได้น้ำก็ต้องเป็นน้ำอย่างดี ที่ให้ด้วยความยกย่องสมศักดิ์ศรี), อัมพัฏฐะทูลตอบว่าควรได้, ตรัสถามว่า บุตรนั้นสมควรได้รับเชิญในงานมงคลพิธีต่างๆ หรือไม่? คำตอบก็คือสมควร, ตรัสถามว่า บุตรนั้นถูกกีดกันไม่ให้เกี่ยวข้องกับหญิงทั้งหลายได้หรือไม่? คำตอบคือกีดกันไม่ได้, ตรัสถามอีกว่า บุตรนั้นได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้หรือไม่? ทูลตอบว่าไม่ได้ เพราะบุตรนั้นไม่บริสุทธิ์ข้างฝ่ายมารดา (เนื่องจากมารดาเป็นวรรณะพราหมณ์)
    ๒.กรณีพราหมณ์หนุ่มกับธิดาของพวกกษัตริย์มีบุตรด้วยกัน ได้รับคำทูลตอบตามลำดับว่า ในหมู่พราหมณ์ก็ต้องให้ที่นั่งและน้ำอย่างดีแก่บุตรนั้น งานพิธีก็ต้องเชิญบุตรนั้นได้ พราหมณ์ก็สอนมนต์ให้เขาได้ จะคบหากับหญิงใดก็ห้ามไม่ได้ แต่จะสถาปนาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ เพราะข้างฝ่ายบิดาไม่ใช่วรรณะกษัตริย์
    ๓.ทรงเทียบให้เห็นว่า ระหว่างหญิงกับหญิงก็ตาม ชายกับชายก็ตาม พวกวรรณะกษัตริย์มีฐานะสูงสุด เช่นว่า พราหมณ์คนหนึ่งถูกพวกพราหมณ์ด้วยกันโกนศีรษะ เอาขี้เถ้าละเลงแล้วเนรเทศออกจากแคว้นเพราะมีความผิดบางอย่าง พราหมณ์คนนั้นควรได้รับที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์หรือไม่ คำทูลตอบคือ ไม่ และพราหมณ์คนนั้นยังไม่มีสิทธิที่จะได้รับเชิญเข้าร่วมงานพิธีต่างๆ, ไม่มีสิทธิเรียนมนต์ และไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องกับหญิงใด (เท่ากับหล่นจากวรรณะพราหมณ์)
    ๔.เมื่อกษัตริย์เนรเทศกษัตริย์ด้วยกันสักองค์ เหมือนที่พราหมณ์ทำต่อกันอย่างนั้น กลับไม่เสียสิทธิต่างๆ ในหมู่พราหมณ์เลย จึงตรัสแก่อัมพัฏฐะว่า แม้กษัตริย์เลว ก็ยังอยู่ในฐานะสูงกว่าพราหมณ์อยู่นั่นเอง, ทรงอ้างคำของสนังกุมารพรหมที่ว่า “กษัตริย์ประเสริฐสุดในหมู่คนผู้ถือโคตร, ท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์”
    อัมพัฏฐะไม่เคยรู้จักวิชชาและจรณะ จึงทูลถาม, พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ในวิชชาและจรณะ ไม่พูดถึงชาติกำเนิด, โคตร และการถือตัว ว่าใครดีกว่าใคร ไม่มีเรื่องอาวาหมงคล – วิวาหมงคลในวิชชาและจรณะ ถ้ายังเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้อยู่ ก็ชื่อว่ายังห่างไกลจากวิชชาและจรณะ ทรงแจกแจงให้เห็นวิชชาและจรณะตั้งแต่ต้นจนจบว่ามีอะไรบ้าง, ความเสื่อมของวิชชาและจรณะ มีได้ ๔ ทาง คือ
    ๑.สมณะหรือพราหมณ์บางคนซึ่งยังไม่บรรลุวิชชาและจรณะ หาบเครื่องบริขารดาบสเข้าป่า อธิษฐานจิตว่าจะบริโภคแต่ผลไม้ที่หล่น, ทำอย่างนี้ก็เป็นได้แค่คนรับใช้(ปริจาริโก)ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
    ๒.สมณะหรือพราหมณ์บางคน ซึ่งยังไม่บรรลุวิชชาและจรณะ เมื่อหาผลไม้ที่หล่นเองมาบริโภคไม่ได้ ก็ถือเสียมและตระกร้าเข้าป่า อธิษฐานจิตว่าจะบริโภคเหง้า, ราก และผลไม้ ประพฤติอย่างนี้ก็เป็นได้แค่คนรับใช้ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
    ๓.สมณะหรือพราหมณ์บางคน ซึ่งยังไม่บรรลุวิชชาและจรณะ เมื่อไม่สามารถทำอย่างข้อ ๒ และข้อ ๓ ได้ ก็หันมาเอาดีทางบูชาไฟ โดยสร้างโรงบูชาไฟไว้ใกล้บ้านเมือง นี้ก็เป็นได้แค่คนรับใช้ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
    ๔.สมณะหรือพราหมณ์บางคน ซึ่งยังไม่บรรลุวิชชาและจรณะ เมื่อทำอย่างข้อ ๑ – ๒ – ๓ ไม่ได้ ก็ออกมาปลูกเรือนมีประตูทั้ง ๔ ด้านที่ทาง ๔ แยก แล้วอธิษฐานจิตว่า สมณะหรือพราหมณ์ท่านใดมาจากทิศทางไหน เราก็จะบูชาท่านผู้นั้นตามสติกำลัง นี้ก็เป็นเพียงคนรับใช้ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
    เมื่อทรงแจกแจงให้เห็นว่าวิชชาและจรณะมีอะไรบ้าง และทางเสื่อม(อบายมุข)ของวิชชาและจรณะมีอะไรบ้างแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสถามอัมพัฏฐะว่า เขากับอาจารย์มีวิชชาและจรณะหรือไม่ ทูลตอบว่าไม่มี, ตรัสถามอีกว่าเขากับอาจารย์ได้เคยเป็นดาบสเข้าป่าเป็นต้น (ตามอบายมุข ๔ อย่าง) บ้างหรือไม่ ทูลตอบว่าไม่เคยเลย, ตรัสว่า เขากับอาจารย์นอกจากไม่มีวิชชาและจรณะแล้ว แม้แต่ทางเสื่อมของวิชชาและจรณะก็ยังไม่มีโอกาสได้ก้าวเดิน (ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้เป็นคนรับใช้ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ)
    ตรัสย้ำสำนึกของอัมพัฏฐะต่อไปว่า โปกขรสาติ-อาจารย์ของเธอพูดว่าสมณะโล้นบางพวกเท่ากับเป็นคนรับใช้ เป็นพวกกัณหโคตร เกิดจากเท้าของพรหม ไม่มีประโยชน์อะไรที่พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทจะสนทนาด้วย ทั้งๆที่ตนเองไม่เคยแม้แต่จะก้าวขึ้นสู่ทางเสื่อมของวิชชาและจรณะ คิดดูว่า เขามีความผิดแค่ไหน โปกขรสาติได้กินเมืองที่พระเจ้าปเสนทิพระราชทานให้ก็จริง แต่เขาก็ไม่เคยได้รับพระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าหน้าพระที่นั่ง เวลาจะทรงปรึกษาราชกิจก็มีพระวิสูตร(ม่าน)บังกั้น คิดดูว่าเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น

    ความตกต่ำของพราหมณ์
    ทรงตั้งคำถามให้อัมพัฏฐะได้คิดต่อไปอีกโดยเรื่องสมมติว่า เมื่อพระเจ้าปเสนทิทรงช้างหรือรถพระที่นั่งไปยังที่แห่งหนึ่ง ทรงปรึกษาราชกิจ ณ ที่ตรงนั้นกับมหาอำมาตย์หรือพระราชวงศานุวงศ์ แล้วเสด็จจากที่นั่นไป ต่อมามีศูทรหรือทาสของศูทรมาถึงที่ตรงนั้นแล้ว กล่าววาจาเหมือนพระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งทุกอย่าง เพียงแต่เขาพูดได้เหมือนพระราชดำรัสเท่านั้น จะจัดว่าเป็นพระราชาหรือมหาอำมาตย์ได้หรือไม่ ทูลว่าเป็นไปไม่ได้, รับสั่งต่อไปทันทีว่า เธอก็เหมือนกัน ฤาษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ เป็นผู้ผูกมนต์ สอนมนต์ ปัจจุบันพวกพราหมณ์ที่ขับ(สวด)ตาม กล่าวตามบทมนต์ของเก่า แม้จะถูกต้องทุกอย่าง ก็ไม่ได้หมายความว่า เธอซึ่งขับตาม กล่าวตามเหมือนกัน จะกลายเป็นฤาษีหรือได้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤาษีแล้ว, ทรงถามอัมพัฏฐะในกรณีนี้ว่า ฤาษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ เธอคิดว่าจะเหมือนเธอกับอาจารย์ทุกวันนี้ไหม ที่อาบน้ำทาตัวอย่างดี แต่งผมแต่งหนวดสวมพวงดอกไม้และเครื่องประดับ นุ่งผ้าขาว เอิ่มอิ่มสมบูรณ์ด้วยกามคุณ? ทูลว่าไม่เหมือน, ตรัสถามไปตามลำดับอีกว่า ฤาษีกินข้าวสาลีที่เก็บกากออกแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง เหมือนพวกเธอหรือไม่? ได้รับการปรนเปรอด้วยสาวงามเหมือนพวกเธอหรือไม่? ใช้รถเทียมลาหางตัด ประดับตกแต่งรถสวยงาม ทิ่มปฏักให้ลาวิ่งเหมือนพวกเธอหรือไม่? ใช้ให้คนขัดกระบี่อารักขาป้อมคูเมืองเหมือนพวกเธอหรือไม่? ทุกพระดำรัสถาม อัมพัฏฐะทูลตอบว่าไม่เหมือนเลย
    สุดท้ายรับสั่งว่า อัมพัฏฐะกับอาจารย์มิได้เป็นฤาษีเลย ทั้งไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤาษีด้วย สำหรับพระองค์ ถ้ามีใครเคลือบแคลงสงสัยในพระองค์ ขอให้ตั้งปัญหาถามได้ พร้อมที่จะทรงเปิดเผยให้แจ่มแจ้งจนพอใจ
    หลังจากนั้น อัมพัฏฐะได้เพ่งพินิจมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระวรกาย ได้ประจักษ์แก่ตาทุกอย่าง เว้นอยู่ ๒ อย่างคือ พระคุยหะและพระชิวหา พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเขานึกคิดอะไรอยู่ จึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ให้เขาเห็นมหาปุริสลักษณะ ๒ อย่างนั้น
    เมื่ออัมพัฏฐะกลับไปหาอาจารย์ โปกขรสาติพราหมณ์ได้ซักไซ้ว่าได้ไปพูดคุยอะไรและได้เห็นมหาปุริสลักษณะหรือไม่ อัมพัฏฐะรายงานทุกอย่าง โปกขรสาติพราหมณ์โกรธลูกศิษย์ที่ไปทำเสียหายกลับมา ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อขอขมาให้อัมพัฏฐะ และเพื่อเพ่งพินิจมหาปุริสลักษณะ
    ในวันนั้นเอง โปกขรสาติพราหมณ์ได้ฟังธรรม ได้สำเร็จเป็นโสดาบัน และได้พาบุตรภรรยา บริวาร และมิตรสหายทุกคน ขอถวายตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาตลอดชีวิต



    โสณทัณฑสูตร (คนเราจะเป็นอะไรๆได้เพราะชาติกำเนิด ... จริงหรือ?)​

    พระพุทธคุณ
    พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปในแคว้นอังคะพร้อมภิกษุสงฆ์ เมื่อเสด็จถึงเมืองจัมปา ซึ่งมีพราหมณ์โสณทัณฑะปกครอง ข่าวพระพุทธองค์เสด็จมาแพร่กระจายไปทั่วเมือง วันนั้น ขณะที่โสณทัณฑพราหมณ์นอนกลางวันอยู่บนปราสาท มองเห็นพวกพราหมณ์และคฤหบดีเดินกันเป็นกลุ่มๆ บ่ายหน้าไปยังสระคัคครา จึงเรียกยามมาถามว่า พวกชาวเมืองไปไหนกัน? เมื่อได้ฟังว่า พวกเขาพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์จึงให้วิ่งไปบอกว่าตนจะขอไปเฝ้าด้วย ให้รอก่อน
    เวลานั้น พวกพราหมณ์ต่างเมืองหลายร้อยคนไปด้วยเรื่องงานที่เมืองจัมปา เมื่อทราบว่าพราหมณ์โสณทัณฑะจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ ก็พากันไปกล่าวห้ามไม่ให้ไป อ้างเหตุผลว่าพระพุทธองค์มีศักดิ์ต่ำกว่าเขาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติกำเนิด, ฐานะความเป็นอยู่, วิชาความรู้(แบบพราหมณ์), วัยวุฒิ (แก่กว่า), รูปลักษณ์, การพูดการจา, มีลูกศิษย์เต็มเมือง แม้แต่พระเจ้าพิมพิสารก็ยังทรงเคารพศรัทธากราบไหว้ ทั้งพราหมณ์โปกขรสาติก็นับถือบูชา ฐานะศักดิ์ศรีสูงส่งถึงเพียงนี้ พระสมณโคดมต่างหากควรเป็นฝ่ายมาหา
    พราหมณ์โสณทัณฑะแทนที่จะคล้อยตาม กลับบรรยายว่า พระพุทธองค์เป็นใคร เริ่มตั้งแต่ว่า ทรงสูงส่งด้วยขัตติยชาติ เสด็จออกผนวชขณะที่กำลังหนุ่มแน่น พระมารดาและพระบิดาทรงกันแสงน้ำพระเนตรอาบพักตร์ ทัดทานอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ทรงงามพร้อมไปทุกอย่าง พระวาจานุ่มนวลด้วยภาษาชาวเมืองหาที่ติมิได้ ทรงสอนเรื่องกรรม ไม่ทรงมุ่งร้ายแก่พวกพราหมณ์ ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ มีไมตรี พระพักตร์เบิกบานอยู่เสมอ, คำกล่าวยกย่องของพราหมณ์โสณทัณฑะพรั่งพรูไม่ขาดสาย แต่กระนั้นก็ยังกล่าวอีกว่าพุทธคุณมิได้มีเพียงเท่านี้ จนพวกพราหมณ์ต่างเมืองได้ฟังก็ได้แต่กล่าวว่า ถ้ามีความชื่นชมเลื่อมใสถึงเพียงนี้ พระสมณโคดมอยู่ไกลเป็นร้อยโยชน์ ท่านก็ต้องไปเฝ้าให้ได้ และแล้วพราหมร์ทั้งหมดก็ถูกชวนให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน

    คุณสมบัติของพราหมณ์
    พราหมณ์โสณทัณฑะวิตกว่า ถ้าทูลถามปัญหาที่ไม่เหมาะสม พวกคนที่มาเข้าเฝ้าจะดูถูก และถ้าพระพุทธองค์ทรงตั้งปัญหาถาม หากทูลตอบไม่ถูกพระทัย คนก็จะดูหมิ่นได้อีก แต่จะกลับเสียกลางคัน คนก็จะดูถูกได้อีก ในที่สุด พราหมณ์ก็แข็งใจเข้าเฝ้า ตลอดเวลาที่นั่งอยู่ ก็คิดแต่เรื่องที่ตนวิตก เฝ้าแต่ภาวนาขอให้ทรงถามปัญหาในเรื่องไตรเพทที่ตนรอบรู้ เพื่อจะได้ทูลตอบให้เป็นที่พอพระทัย
    พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพราหมร์กำลังครุ่นคิดอะไร จึงทรงยกปัญหาในเรื่องไตรเพทขึ้นตรัสถามว่า บุคคลประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง พวกพราหมณ์จึงยอมรับว่าเป็นพราหมณ์อย่างแท้จริง? พราหมณ์ได้ฟังปัญหาก็ใจชื้นว่าตนจะตอบได้แน่ เขาทูลตอบว่า คนที่เป็นพราหมณ์อย่างแท้จริงนั้น ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่าง คือ
    ๑.ต้องเกิดจากมารดาบิดาที่เป็นพราหมณ์ทั้งสองฝ่ายตลอดเจ็ดชั่วคน ไม่มีชาติกำเนิดใดมาเจือปนแม้แต่นิดเดียว
    ๒.เป็นพหูสูต, เชี่ยวชาญมนต์, จบไตรเพทพร้อมด้วยคัมภีร์ทั้ง ๕, เข้าใจแจ่มแจ้งในตัวบทและไวยากรณ์, ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและมหาปุริสลักษณะ
    ๓.มีรูปงามน่าเลื่อมใสเปรียบปานพรหม
    ๔.มีศีลมั่นคง
    ๕.เป็นบัณฑิต มีปัญญาเป็นที่ยอมรับของพวกพราหมณ์ด้วยกัน
    พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ในคุณสมบัติทั้งห้า ถ้าตัดให้เหลือเพียงสี่ จะเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่? และข้อใดที่ตัดออกได้? พราหมณ์ทูลว่า ไม่มีข้อ ๓ คือ รูปงาม ก็ยังเป็นพราหมณ์ได้, ตรัสถามว่า ถ้าให้เหลือเพียง ๓ ข้อ จะตัดข้อใดได้อีก? ทูลว่า ข้อที่ ๒ คือ เก่งเรื่องมนต์และไตรเพท, ตรัสถามว่า ถ้าให้เหลือเพียง ๒ ข้อ จะตัดข้อใดได้อีก? ทูลว่าข้อที่ ๑ คือ ชาติกำเนิดของพราหมณ์
    คำทูลตอบทั้งหมดนี้ ทำให้พวกพราหมณ์ที่นั่งฟังอยู่ต่างคัดค้านว่า ตอบอย่างนั้นไม่ได้ เป็นการลบหลู่วรรณะ, ลบหลู่มนต์ และลบหลู่ชาติกำเนิดของพราหมณ์ ไปเข้าทางพระพุทธองค์หมด, พระพุทธองค์รับสั่งว่า ถ้าเห็นว่าโสณทัณฑะโง่ โต้ตอบไม่ดี ก็ให้หยุดได้ แล้วพวกท่านมาพูดกับเรา แต่ถ้ายังเห็นว่าโสณทัณฑะเป็นพหูสูตรอบรู้ สามารถจะโต้ตอบกับเราได้อยู่ พวกท่านก็จงเงียบไว้ ให้เขาพูดกับเราต่อไป
    พราหมณ์โสณทัณฑะก็ไม่ยอมเหมือนกัน พูดกับพวกพราหมณ์ด้วยกันเอง กล่าวยืนยันว่าตนมิได้ลบหลู่วรรณะ มนต์ หรือชาติกำเนิดเลย, พลางชี้ไปที่หลานชายชื่ออังคกะ พร้อมกับกล่าวว่า พราหมณ์หนุ่มคนนั้นมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทุกอย่าง ผิวพรรณรูปโฉมงดงาม แต่ถ้าเขาไม่มีศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่งเสียแล้ว วรรณะ มนต์ และชาติกำเนิดจะช่วยอะไรได้ คนที่มีศีลและมีปัญญาต่างหาก คือ พราหมณ์ที่แท้จริง
    พระพุทธองค์ตรัสถามอีกว่า ระหว่างมีศีลกับมีปัญญา จะตัดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่? พราหมณ์ทูลตอบว่า ไม่ได้เลย เพราะปัญญาจะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยศีล และศีลจะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยปัญญา ศีลมีอยู่ในผู้ใด ปัญญาก็มีอยู่ในผู้นั้น ปัญญาเป็นของคนมีศีล และศีลก็เป็นของคนผู้มีปัญญา ปราชญ์ย่อมกล่าวว่า ศีลกับปัญญาเป็นยอดในโลก(แยกจากกันไม่ได้) เหมือนคนล้างมือด้วยมือ ล้างเท้าด้วยเท้า



    ภิกษุเกิดเป็นเทพต่ำกว่าอุบาสิกา​

    ธิดาแห่งศากยวงศ์นามว่า โคปิกา เลื่อมใสในพระรัตรตรัย บริบูรณ์ในศีล เบื่อหน่ายในสตรีเพศของตนปราถนาจะเกิดเป็นบุรุษในภพหน้า เมื่อตายลง ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพบุตร เรียกกันว่า โคปกเทพบุตร
    มีภิกษุ ๓ รูป บวชประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสมัยเดียวกับโคปิกา ครั้นมรณภาพก็มาเกิดในดาวดึงส์เหมือนกัน แต่เป็นเทพคนธรรพ์ โคปกเทพบุตรพบเข้าก็กล่าวเตือนสติว่า พวกท่านเป็นผู้กอบเก็บธรรมของพระพุทธเจ้า มาเป็นเสียอย่างนี้ จะเอาหน้าไปไว้ไหน เราสิ ทั้งๆที่เป็นสตรี(ในโลกมนุษย์) แต่เมื่อเลื่อมใสในพระรัตนตรัย รักษาศีล เบื่อหน่ายในเพศของตน ก็ยังได้มาเกิดเป็นบุตรของท้าวสักกะจอมเทพ (แรงอธิษฐานมุ่งมั่น ตั้งใจเด็ดเดี่ยว และเพียรในการทำความดี ส่งผลให้เปลี่ยนเพศได้ตามความปรารถนา) ส่วนพวกท่านทั้งๆที่ได้บวชประพฤติพรหมจรรย์ กลับมาเป็นพวกคนธรรพ์ ช่างน่าเสียดาย
    คำกล่าวของโคปกเทพบุตร ทำให้เทพคนธรรพ์ ๒ ตนได้สติในอัตภาพนั้น ได้เลื่อนไปเกิดเป็นพรหมชั้นพรหมปุโรหิต ส่วนอีกตนหนึ่งยังเป็นเทวดาชั้นกามาวจร (ยังเป็นเทพคนธรรพ์) อยู่ที่เดิม
    โคปกเทพบุตร ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า ภิกษุ ๓ รูปที่ไปเกิดเป็นคนธรรพ์นั้น ตนเคยล้างเท้าให้ เคยถวายข้าวน้ำในเรือนตน และได้ฟังคำสอนของพระพุทธองค์จากภิกษุเหล่านั้น เมื่อได้พบว่าภิกษุทั้งสามรูปมาเกิดเป็นคนธรรพ์รับใช้ชาวดาวดึงส์ จึงได้เตือนสติ ปรากฏว่า ๒ ท่านได้มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร จนเห็นโทษในกาม เป็นอนาคามี ก้าวล่วงดาวดึงส์ขึ้นไปสู่ชั้นพรหม ส่วนอีก ๑ ท่านยังเป็นคนธรรพ์ดังเดิม
    ----------------------------------------------------------
    เรื่องนี้เล่าเพื่อเตือนสติ คนที่กระด้างถือตัว ว่าตนมีชาติกำเนิด ฐานะ ชนชั้นสูงกว่าคนอื่น ว่าไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะลาภ ยศ สรรเสริญนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง คนที่เป็นลูกน้องเรา สักวันหนึ่งเขาอาจจะมาเป็นหัวหน้าเราก็ได้ คนเราจึงไม่ควรกระด้างถือตัวครับ



    เวร-อาชญา-ข้าศึก-พยาบาท เกิดจากอะไร​

    ท้าวสักกะได้ทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ ว่า อะไรทำให้เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และสัตว์ทั้งหลาย มีเวร มีอาชญา มีข้าศึก มีพยาบาท ทั้งๆที่ไม่ปรารถนาจะให้มี?
    พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ริษยา(อิสสา – อยากเห็นสมบัติของคนอื่นเสื่อมสิ้นไป)และความตระหนี่(มัจฉริยะ-ทนไม่ได้เมื่อสมบัติของตนตกเป็นของคนอื่น) คือเครื่องผูกมัดให้เป็นอย่างนั้น
    ท้าวสักกะทูลยอมรับว่าจริง แล้วทูลถามต่อไปว่า ความริษยากับความตระหนี่นั้นเกิดจากอะไร?
    พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เป็นบ่อเกิดของความริษยาและความตระหนี่ (อารมณ์ ในที่นี้หมายถึงสัตว์และสังขารทั้งหลาย, สัตว์และสังขารอันเป็นที่รักเป็นบ่อเกิดแห่งความตระหนี่ สัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รักเป็นบ่อเกิดแห่งความริษยา หรืออาจจะเป็นบ่อเกิดสับเปลี่ยนกันก็ได้)
    อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เกิดได้อย่างไร?
    ตรัสตอบว่า เกิดได้เพราะมีฉันทะ-ความพอใจ (ฉันทะ-ความพอใจ มี ๕ อย่างคือ ๑.พอใจในการแสวงหา ๒.พอใจในการได้มา ๓.พอใจในการใช้สอย ๔.พอใจในการสะสม ๕.พอใจในการแจกจ่ายออกไป, ฉันทะ ในที่นี้จึงหมายถึงตัณหาซึ่งเป็นกิเลส)
    ฉันทะ (ตัณหา) เกิดจากอะไร?
    ตรัสตอบว่า เกิดจากวิตก (ความตริตรึกนึกคิดซึ่งเป็นไปตามอำนาจของตัณหาและทิฏฐิ)
    วิตกเกิดจากอะไร?
    ตรัสตอบว่า เกิดจากปปัญจสัญญาสังขา – ส่วนแห่งสัญญาที่ซับซ้อนหลากหลาย เมื่อไม่มีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้า การตริตรึกนึกคิดก็ไม่มี (ปปัญจะ ได้แก่อาการพัวพันอยู่กับอารมณ์นั้น และคิดปรุงแต่งไปต่างๆ โดยมีตัณหา, มานะ และทิฏฐิเป็นแรงหนุน กล่าวคือ ปปัญจะเป็นกิเลสที่ทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อ จึงแปลได้ว่า “กิเลสเครื่องเนิ่นช้า” อันหมายถึงตัณหา, มานะ และทิฏฐินั่นเอง แต่ในที่นี้หมายเอาเฉพาะตัณหา)
    ท้าวสักกะทูลถามต่อไปว่า ภิกษุปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเดินทางถูก เพื่อดับส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้านั้น
    พระพุทธองค์ตรัสว่า โสมนัส โทมนัส และอุเบกขา (อทุกขมสุข – ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข) แต่ละอย่างมองได้ ๒ ด้าน คือ ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี, เหตุใดจึงกล่าวอย่างนั้น? เพราะถ้ารู้ว่าเสพโสมนัส โทมนัส หรืออุเบกขาใดแล้ว อกุศลธรรมเจริญมากขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป ก็ไม่ควรเสพ, ตรงกันข้ามถ้ารู้ว่าเสพความรู้สึก(เวทนา)ชนิดใดแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญมากขึ้น ความรู้สึกชนิดนั้นควรเสพ...
    ทรงยกโสมนัสเป็นกรณีตัวอย่างว่า โสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยปฐมฌาน ยังมีวิตกวิจาร โสมนัสที่ไม่มีวิตกวิจารประณีตกว่า เพราะฉะนั้น โสมนัสจึงมี ๒ ด้าน คือควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี โทมนัสและอุเบกขาก็เหมือนกัน
    ตรัสว่า ถ้าภิกษุปฏิบัติได้อย่างนี้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เดินถูกทาง สามารถดับส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้าได้



    อะไรทำให้สมณพราหมณ์แตกต่างกัน​

    ท้าวสักกะทูลถามว่า สมณพราหมณ์ที่มีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมดสอนอย่างเดียวกัน มีศีลอย่างเดียวกัน มีความพอใจ(ฉันทะ)อย่างเดียวกัน มีจุดหมายปลายทาง(อัชโฌสานะ)อย่างเดียวกันหรือไม่?
    พระพุทธองค์ทรงตอบว่าไม่ ท้าวสักกะทูลถามต่อไปว่าเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น?
    ตรัสว่า โลก(หมู่สัตว์) มีธาตุต่างกัน หมู่สัตว์ถือมั่นในธาตุใดๆ ก็ยึดถือธาตุนั้นๆ และกล่าวไปตามความยึดถือของตนว่าอย่างนี้แหละถูก อย่างอื่นเหลวไหลหมด ฉะนั้นสมณพราหมณ์ทั้งหลายจึงเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ (คำว่า ธาตุ ในที่นี้ อรรถกถาชี้ไปที่อัธยาศัย-พื้นเพจิตใจ)



    ปายาสิราชัญญสูตร​

    พระกุมารกัสสปะกับพระยาปายาสิ
    พระกุมารกัสสปะ เป็นพระอรหันต์ ได้จาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมภิกษุสงฆ์ ไปถึงเสตัพยนคร เวลานั้นพระยาปายาสิ (เป็นราชัญญะ หมายถึงเจ้าผู้ครองนครซึ่งไม่ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์) ปกครองเมืองอยู่ พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานเมืองปูนบำเหน็จให้
    พระยาปายาสิ เป็นคนมีความเห็นผิด คือเห็นว่า โลกหน้าไม่มี สัตว์โอปปาติกะเช่นเทวดาไม่มี กรรมดีกรรมชั่วไม่มี (คล้ายๆกับพวกวัตถุนิยมในสมัยนี้)
    พระยาปายาสิรู้ความว่าพวกชาวเมืองพากันไปไหว้พระกุมารกัสสปะ จึงไปด้วย เพราะได้รู้มาก่อนแล้วว่าพระเถระรูปนี้สอนให้คนเชื่อเรื่องโลกหน้าและผลแห่งกรรมว่ามีจริง

    วิวาทะเรื่องปรโลกและเทวดา
    พระยาปายาสิเริ่มประเด็น พูดขึ้นก่อนว่า พระคุณเจ้า ข้ายเจ้ามีความคิดความเชื่ออย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เทวดา-สัตว์นรก (ผู้ไปผุดเกิด) ไม่มี ผลของกรรมไม่มี
    พระกุมารกัสสปะใช้วิธีตั้งคำถามให้พระยาปายาสิตอบก่อนว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ มีอยู่ในโลกนี้หรือในโลกอื่น เป็นเทวดาหรือมนุษย์?
    พระยาปายาสิตอบตามความรู้ความเชื่อ(ของคนในยุคนั้น)ว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์มีอยู่ในโลกอื่น และเป็นเทวดาไม่ใช่มนุษย์
    พระกุมารกัสสปะใช้ความเชื่อเรื่องนี้เป็นคำตอบว่า ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าโลกอื่นมี สัตว์ผุดเกิดมี ผลกรรรมมี แต่พระยาก็ยังไม่ยอมรับ พระเถระจึงขอฟังเหตุผลที่เห็นแย้ง
    พระยายกเรื่องราวขึ้นมาสนับสนุนความเชื่อตนว่า เขามีญาติมิตรในโลกนี้ ซึ่งมีทั้งฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ...มักได้ อาฆาตมาดร้าย เห็นผิดทำนองคลองธรรม เมื่อญาติมิตรเหล่านั้นล้มป่วยใกล้ตาย ตนจึงไปกระซิบสั่งความว่า เขาได้ทำผิดศีลผิดธรรม ซึ่งพวกสมณพราหมณ์บอกว่า จะทำให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้าเขาตายไปเกิดในอบายจริง ขอให้กลับมาบอกด้วยว่าโลกหน้ามีจริง สัตว์นรกมี ผลกรรมมี เพราะเชื่อว่าถ้าเขาได้ไปเห็นจริงและกลับมายืนยัน ตนก็จะยอมรับได้
    แต่คนเหล่านั้น ทั้งๆที่รับคำแล้ว ก็ไม่เคยเห็นใครกลับมาบอก ไม่มีใครส่งคนมาบอกข่าวด้วย นี่แหละคือเครื่องยืนยันว่าความเห็นของข้าพเจ้าถูกต้อง
    พระเถระยกเหตุผลให้คิดด้วยเรื่องสมมติว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของท่านจับโจร แล้วท่านพระยาสั่งการให้เอาเชือกมัดโจร โกนหัว ประจานไปตามถนน ให้ตัดหัวที่ตะแลงแกง เวลาอย่างนั้น ถ้าโจรขอผ่อนผันว่า ขอไปร่ำลาบอกข่าวแก่ญาติมิตรก่อน ท่านจะให้ทำอย่างไร จะยอมให้ผ่อนผันหรือตัดศีรษะโจร
    พระยาตอบว่า ผ่อนผันไม่ได้ ต้องตัดศีรษะสถานเดียว
    พระเถระพูดให้คิดว่า ขนาดท่านเป็นมนุษย์ โจรและเจ้าหน้าที่ก็เป็นมนุษย์ การผ่อนผันให้ชะลอการตัดศีรษะโจรยังมีไม่ได้ ก็ในเมื่อญาติมิตรของท่านที่ทำชั่วตายไปเกิดในนรก ซึ่งจะต้องไปเจอนิรยบาลผู้ไม่ใช่มนุษย์ ขอให้เขารอการลงโทษเพื่อมาบอกข่าวแก่ญาติมิตรในโลกนี้ จะทำได้หรือ
    พระยาไม่มีคำจะโต้แย้ง แต่ก็ยังยืนกรานในความเชื่อเดิม ยกเรื่องตรงข้ามขึ้นมากล่าว คือเรื่องญาติมิตรผู้ประพฤติในศีลธรรมอย่างดี เมื่อเขาจะตายก็ได้ไปสั่งความว่า ถ้าไปเกิดในสวรรค์ขอให้กลับมาบอกข่าวด้วย จะได้รู้ว่าโลกหน้ามีจริง เทวดามีจริง ผลกรรมมีจริง แต่ก็ไม่กลับมาบอก แสดงว่าโลกหน้า...ไม่มี
    พระเถระกล่าวว่า สมมติว่า มีชายคนหนึ่งตกหลุมอุจจาระ ท่านให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันดึงขึ้นมา ขูดอุจจาระออกจากตัวเขา แต่งผมแต่งหนวด สวมพวงดอกไม้ ให้นุ่งผ้าอย่างดี พาขึ้นไปอยู่บนปราสาท บำเรอด้วยกามคุณ ๕ ขอถามว่า ชายคนนั้นจะยังต้องการกลับลงไปในหลุมอุจจาระอีกไหม
    พระยาตอบว่าเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะหลุมอุจจาระมันสกปรก โสโครก เหม็น น่าขยะแขยง
    พระเถระกล่าวว่า มนุษย์เรานั้น ทั้งสกปรกทั้งเหม็น ทั้งน่ารังเกียจ ญาติมิตรของท่านที่ไปเกิดบนสวรรค์ จะยังกลับมาบอกท่านอีกหรือ

    อายุของมนุษย์กับเทวดาชั้นดาวดึงส์
    พระยาเห็นด้วย แต่ก็ยังยืนกรานอยู่ในความเห็นเดิม คราวนี้ยกเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาหาแง่ที่จะคัดค้านคำสอนเกี่ยวกับโลกหน้าว่า เขาเคยขอให้ญาติมิตรผู้ทำกรรมดี (ซึ่งเชื่อว่าจะไปเกิดที่ดาวดึงส์แน่) ว่าเมื่อไปเกิดเป็นเทพชั้นดาวดึงส์ ขอให้กลับมาบอก เพื่อจะได้เชื่อย่างสนิทใจว่าโลกหน้ามี ผลกรรมมี แต่ก็ไม่มีใครกลับมาบอก แสดงว่าดาวดึงส์ไม่มี
    พระเถระกล่าวว่า ร้อยปีของมนุษย์ เป็นวันคืนหนึ่งของเทวดาชั้นดาวดึงส์ หากว่าญาติมิตรของท่านไปเกิดที่ดาวดึงส์ แล้วคิดว่าขอเสพสุขสักสองสามวันก่อนจึงค่อยลงไปบอกท่านพระยา จะเกิดอะไรขึ้น
    พระยายอมรับว่า กว่าญาติมิตรเหล่านั้นจะกลับมาบอก ตนก็ตายไปนานแล้ว แต่ก็ถามต่อไปว่า พระเถระรู้ได้อย่างไรว่าดาวดึงส์มีจริง หรือปีทิพย์ของดาวดึงส์เป็นอย่างที่กล่าว ตนไม่เชื่อ
    พระเถระถามว่า คนตาบอดแต่กำเนิด ไม่เคยเห็นสีดำ สีขาว สีเขียว...ไม่เคยเห็นที่เรียบที่ขรุขระ ไม่เคยเห็นดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ แล้วพูดว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มี ด้วยเหตุผลว่าเพราะตนไม่เห็น เขาพูดถูกหรือผิด
    พระยาตอบว่า พูดผิด
    พระเถระกล่าวสืบไปว่า ท่านก็เหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ที่ไม่เชื่อว่าดาวดึงส์มีอยู่จริง โลกอื่นๆ (ปรโลก) นั้นไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเนื้ออย่างที่ท่านเข้าใจ สมณพราหมณ์ผู้อยู่ป่ามีสติเพียรเพ่ง มุ่งตรงต่อนิพพาน ได้ทิพยจักษุ จึงจะเห็นโลกนี้โลกอื่นและชีวิตผุดเกิด(อย่างเทวดา) เป็นการเห็นด้วยทิพยจักษุอันเกินวิสัยที่ตามนุษย์จะเห็นได้...
    พระยาไม่มีอะไรจะโต้แย้งได้ แต่ก็ยังไม่ละความเห็นผิดของตน ถามอีกว่า เหตุใดพวกสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจึงล้วนแต่ต้องการมีชีวิตอยู่เหมือนกันหมด ไม่มีใครอยากตาย ถ้าสมณพราหมณ์ทั้งหลายมั่นใจว่าตายไปแล้วจะเป็นการดีกว่า ก็คงจะฆ่าตัวตาย การที่พวกสมณพราหมณ์ไม่อยากตาย ก็เพราะไม่เชื่อว่าตายไปแล้วจะมีชีวิตที่ดีกว่าได้
    พระเถระยกกรณีตัวอย่าง พราหมณ์คนหนึ่งมีภรรยาสองคน ภรรยาคนหนึ่งมีบุตรอายุราว ๑๐ – ๑๒ ขวบ ต่อมาพราหมณ์ถึงแก่กรรม ขณะที่ภรรยาอีกคนหนึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่ เด็กชายอยากได้ทรัพย์มรดกทั้งหมดจึงคอยรบเร้าให้แม่เลี้ยงผู้ตั้งครรภ์ยกมรดกให้ตน แม่เลี้ยงบอกว่า ถ้าลูกในท้องเป็นชาย ก็จะแบ่งมรดกกันคนละครึ่ง ถ้าเป็นหญิง ก็จะยกให้เป็นคู่ปรนนิบัติ เด็กชายวนเวียนรบเร้าอยู่อย่างเดิมไม่เลิกรา จนแม่เลี้ยงบันดาลโทสะคว้ามีดเข้าท้อง แหวะท้องตัวเอง เพื่อจะดูว่าทารกในท้องเป็นหญิงหรือชาย ความโง่เขลาของนางทำลายทั้งชีวิตตัวเองพร้อมลูกในครรภ์และทรัพย์มรดกทั้งหมด
    พระเถระกล่าวว่า สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่ใช่คนโง่อย่างนั้น ท่านไม่คิดแต่ด่วนได้ หากแต่รอความดีให้สุกงอมเต็มที่ ชีวิตของท่านดำรงอยู่นานเพียงใด ก็จะเป็นบุญเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมากเพียงนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นจึงไม่คิดฆ่าตัวตายเพียงเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในโลกหน้า
    (เพิ่มเติม – อันที่จริงแล้วการฆ่าตัวตายเป็นบาปหนักด้วยนะ ยกเว้นการฆ่าตัวตายเพื่อเป็นทาน เช่น สละชีวิตเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์
    เจน ญาณทิพย์เคยบอกไว้ว่า เป้าหมายแห่งการเกิดมีไว้เพื่อสร้างบุญกุศล หากคุณได้ทำลายโอกาสในการทำความดี ผลกรรมย่อมส่งให้คุณตกอบายแน่นอน ไม่ว่าคุณจะเคยฝึกปฏิบัติธรรมมามากแค่ไหน)
    หลังจากนั้น พระกุมารกัสสปะและพระยาปายาสิก็ถามตอบเกี่ยวกับเรื่องโลกหน้าและวิญญาณกันหลายเรื่อง จนพระยาปายาสิต้องยอมแพ้ ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และมีประสงค์จะบูชามหายัญ ด้วยการฆ่าสัตว์เซ่นสังเวยเทพเจ้า แต่พระเถระแนะนำว่า ยัญใด สัตว์ถูกฆ่า ผู้รับทานก็เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด ทำผิด เลี้ยงชีพผิด มีความเพียรผิด ตั้งสติไว้ผิด และมีสมาธิผิด ยัญเช่นนั้นไม่มีอานิสงส์มาก
    ยัญที่ไม่มีการฆ่าสัตว์ และผู้รับทานก็มีความเห็นชอบ ดำริชอบ...ย่อมมีอานิสงส์ยิ่งใหญ่

    ทานไม่ประณีต ผลก็ไม่ประณีต
    พระยาปายาสิได้ตั้งทานสำหรับสมณพราหมณ์ คนยากไร้ คนเดินทาง วณิพก ขอทาน(ยาจก)ทั้งหลาย แต่ทานที่ให้นั้นเป็นปลายข้าว มีน้ำส้ม เป็นกับ ผ้าที่ให้ก็เป็นเศษผ้าที่แปดเปื้อน
    ทานที่ตั้งขึ้นนั้น อุตตรมาณพเป็นผู้อำนวยการ ทุกครั้งที่ให้ทานแล้ว เขาจะกล่าวคำอุทิศว่า ขอให้ข้าได้เกิดมาพบท่านปายาสิแต่ในชาตินี้เท่านั้น อย่าได้พบกันในชาติไหนๆอีก
    พระยารู้เข้าก็เรียกอุตตรมาณพมาถามว่า ได้กล่าวคำอุทิศอย่างนั้นจริงหรือ อุตตรมาณพไม่ปฏิเสธ และบอกความในใจว่า เห็นเจ้านายให้ทานอย่างนั้นก็เป็นห่วงว่าในโลกหน้าเจ้านายจะไม่มีอะไรกิน จะไม่มีอะไรนุ่งห่ม เพราะข้าวที่ให้ทานก็เป็นปลายข้าว ผ้าที่ให้ทานก็เป็นเศษผ้า ให้ทานก็ไม่ได้ให้ด้วยมือตนเอง ก็ได้แต่คิดกันว่าทำอย่างไรเจ้านายจึงจะไม่ทำทานอย่างเสียไม่ได้อย่างนั้น
    นับแต่นั้น พระยาก็สั่งการให้ทำทานใหม่ คือตนเองบริโภคอาหารอย่างใด ก็ให้ทำทานด้วยอาหารอย่างนั้น ตนเองใช้สอยผ้าชนิดใด ก็ให้ทำทานด้วยผ้าชนิดนั้น
    อย่างไรก็ตาม การให้ทานของพระยาก็ไม่ชื่อว่าให้ทานโดยเคารพ เพราะไม่ให้ทานด้วยมือตนเอง ไม่ให้ทานด้วยอาการนอบน้อม แต่เป็นการให้ทานแบบทิ้งๆขว้างๆ, ดังนั้น เมื่อตายไป เขาจึงเกิดในหมู่เทวดาชั้นจาตุมหาราช ครองเสรีสกวิมาน ซึ่งเป็นวิมานเงินอันว่างเปล่า ในขณะที่อุตตรมาณพ แม้จะเป็นลูกน้องของพระยา แต่ก็ได้ทำหน้าที่ในการให้ทานด้วยความเคารพ ด้วยมือตนเองและด้วยความนอบน้อม เมื่อตายลง เขาได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นภพที่สูงกว่าประณีตกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช
    ที่เสรีสกวิมานนั้น พระควัมปติได้ไปพักกลางวันอยู่เนืองๆ วันหนึ่งปายาสิเทพบุตรได้เข้าไปไหว้ท่าน เมื่อท่านถามว่าเป็นเทพชื่ออะไร ปายาสิเทพบุตรก็ได้แนะนำตัวเองว่าคือพระยาปายาสิ ผู้ซึ่งพระกุมารกัสสปะช่วยให้รอดพ้นจากความเห็นผิด, พระเถระถามหาอุตตรมาณพว่าไปเกิด ณ ที่ใด ปายาสิเทพบุตรตอบว่า เขาเป็นคนให้ทานด้วยความเคารพ ด้วยมือตนเองและด้วยความนอบน้อม จึงไปเกิดในดาวดึงส์
    คราวนั้น ปายาสิเทพบุตรได้ขอร้องให้พระควัมปติมาบอกกล่าวแก่คนทั้งหลายว่า เมื่อให้ทาน อย่าให้อย่างพระยาปายาสิ แต่จงให้อย่างอุตตรมาณพ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  17. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    องค์ประกอบแห่งความมั่นคงของพระศาสนา (สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการช่วยเหลือรักษาพระศาสนาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญไป ต้องรู้ และพยายามรักษาองค์ประกอบเหล่านี้ไว้ให้ดีที่สุด)​

    พระศาสนา จะได้ชื่อว่า บรรลุผลแพร่หลายเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนเป็นปึกแผ่น(มั่นคง) จะต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้อย่างครบถ้วน
    ๑.องค์พระศาสดาเป็นเถระ (เป็นรัตตัญญู คือมีอายุเป็นผู้ใหญ่ผ่านชีวิตมานาน) - ข้อนี้เกินมือที่ผู้ปกครองจะช่วยเหลือได้ เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปนานแล้ว ทุกวันนี้พระธรรมเป็นพระศาสดาของพุทธศาสนา รัฐบาลจึงต้องปกป้องคุ้มครองพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มิให้ถูกบิดเบือนหรือทำลายไปนั่นเอง
    ๒.มีพระสาวกที่เป็นเถระ รอบรู้เชี่ยวชาญ ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี แกล้วกล้าองอาจ บรรลุธรรมอันหมดจดจากกิเลส พร้อมที่จะแสดงธรรมให้ประจักษ์ เอาชนะลัทธิฝ่ายตรงกันข้ามโดยถูกต้องตามหลักธรรมได้ มีพระสาวกชั้นปูนกลางและภิกษุนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกับพระเถระ
    ๓.มีภิกษุณีชั้นเถรี, ชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความพร้อมเช่นเดียวกับฝ่ายภิกษุ (ในข้อ ๒)
    ๔.มีอุบาสกประเภทพรหมจารี และประเภทครองเรือนเสพกาม ซึ่งมีความพร้อมเช่นเดียวกับฝ่ายภิกษุและภิกษุณี
    ๕.มีอุบาสิกาประเภทพรหมจาริณี และประเภทครองเรือนเสพกาม ซึ่งมีความพร้อมเช่นเดียวกับฝ่ายภิกษุและภิกษุณี



    จงวิวาทะแต่อย่าวิวาทกัน​

    พระพุทธองค์เคยตรัสแก่พระจุนทะว่า “พุทธบริษัททั้งหลายควรมุ่งศึกษาด้วยจิตใจที่ดีต่อกัน ไม่ทะเลาะเอาแพ้เอาชนะกัน ถ้าเห็นว่าเพื่อนกล่าวธรรมผิดความผิดคำก็อย่าพึ่งเห็นด้วยหรือคัดค้าน ขอจงยกความยกคำให้เพื่อนพิจารณาว่าอย่างไหนจะถูกต้องกว่ากัน เมื่อเพื่อนตัดสินว่าของตนถูกต้องกว่า ก็อย่าดีใจหรือกล่าวรุกรานกัน ควรให้โอกาสเขาได้รู้ได้ไตร่ตรองต่อไป และไม่ว่าเพื่อนจะกล่าวความผิดแต่ถูกที่คำ หรือกล่าวความถูกแต่ผิดที่คำ ก็เหมือนกัน
    แต่ถ้าเพื่อนกล่าวถูกทั้งความและคำ ควรอนุโมทนาและแสดงความดีใจว่าเป็นลาภของตนแล้วที่มีเพื่อนเข้าใจความและคำในพุทธภาษิตอย่างถูกต้อง”



    มหาบุรุษลักษณะเกิดจากบุญญาธิการ​

    พระพุทธองค์ตรัสว่า มหาบุรุษลักษณะเกิดจากการที่พระองค์เคยเกิดเป็นมนุษย์ผู้ยึดมั่นในกุศลธรรม ไม่ย่อท้อต่อการประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต บำเพ็ญทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ ปฏิบัติดีต่อมารดาบิดาและสมณพราหมณ์ เคารพต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ในธรรม และในกุศลอันสูงส่ง (อธิกุศล) อื่นๆ
    ตรัสถึงการบำเพ็ญความดี ซึ่งส่งผลให้เกิดมาเพียบพร้อมด้วยมหาบุรุษลักษณะแต่ละอย่าง ดังนี้
    - พระบาทเรียบงาม เกิดจากความยินดีในสัจจะ ในธรรม ในการฝึกตน ในความสำรวม ในความสะอาด(ไม่ทำชั่ว) ในศีล ในอุโบสถกรรม ในความไม่เบียดเบียน อย่างมั่นคงและรอบคอบ
    - ฝ่าพระบาทมีรูปจักร เกิดจากเคยปกแผ่ความสุขแก่มหาชน ปกครองป้องกันภัยมิให้เขาเกิดความหวาดหวั่น และให้ทาน
    - ส้นพระบาทยาว พระองคุลียาว พระวรกายตรงเหมือนกายพรหม เกิดจากเคยงดเว้นจากการทำลายชีวิต หลีกเลี่ยงการลงโทษ(อาชญา) วางศัสตรา มีหิริ มีกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง
    - พระมังสะอิ่มเต็ม ๗ แห่ง เกิดจากเคยแบ่งปันของกินของใช้และน้ำดื่มอันประณีต มีรสดี
    - ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายเหมือนตาข่าย เกิดจากเคยสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔
    - พระบาทเหมือนสังข์คว่ำ พระโลมชาติแต่ละเส้นช้อนปลายขึ้นขดไปทางขวา เกิดจากเคยกล่าววาจาประกอบด้วยอรรถประกอบด้วยธรรม สั่งสอนมหาชน นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย และเคารพบูชาธรรมเป็นปกติ
    - พระชงฆ์เรียวเหมือนแข้งทราย เกิดจากเคยตั้งใจสอนศิลปะ วิชชา จรณะ หรือกรรม หวังให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนรู้เร็ว สำเร็จเร็ว พ้นความลำบาก
    - พระฉวี(ผิวกาย)ละเอียด เกิดจากเคยเข้าหาสมณะหรือพราหมณ์ เพื่อขอรับคำสอนสำหรับปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติตาม
    - พระฉวีวรรณดุจทองคำ เกิดจากเคยเป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความพยาบาท คนหมู่มากด่าว่าเอาก็ไม่ถือโทษโกรธเคือง ไม่เสียใจ และให้ทานด้วยเครื่องปูลาดเนื้อดี ให้ผ้านุ่งห่มเนื้อละเอียด
    - พระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก เกิดจากเคยได้นำคนรักใคร่ผูกพันกัน (เช่น ญาติกับญาติ มิตรกับมิตร มารดาบิดากับบุตร เป็นต้น) ซึ่งพลัดพรากจากกัน ให้ได้มาพบกันและมีความสุข
    - ช่วงวากับช่วงพระวรกายเท่ากัน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยาวถึงพระชานุ เกิดจากเคยสำรวจมหาชนผู้ควรได้รับการสงเคราะห์ ให้การสงเคราะห์ดูแลอย่างเหมาะสมแก่ฐานะของเขา
    - กึ่งพระวรกายท่อนบน เหมือนช่วงหน้าของราชสีห์ ระหว่างพระอังสะอิ่มเต็ม พระศอกลมกลึงเสมอกัน เกิดจากเคยเป็นผู้มุ่งหวังให้มหาชนได้รับประโยชน์เกื้อกูล ความผาสุก ความหมดจดจากกิเลส (คือมีใจปรารถนาอยากให้เขาพรั่งพร้อมทั้งด้วยโภคสมบัติและธรรมสมบัติ)
    - ปลายเส้นประสาทรับรสอาหารดี เกิดจากเคยเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยมือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้หรือด้วยศัสตรา
    - พระเนตรดำสนิท ดวงพระเนตรใสเหมือนตาโค เกิดจากเคยเป็นคนไม่ถลึงตามอง ไม่ค้อนด้วยสายตาใส่ผู้อื่น ไม่หลิ่วชำเลืองมองคน(ด้วยความคิดมุ่งร้ายมีกิเลสแอบแฝง)
    - พระเศียรเหมือนประดับด้วยกรอบพักตร์ เกิดจากเคยเป็นผู้นำของมหาชนในการทำความดีต่างๆ ในการให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติต่อมารดาบิดา สมณพราหมณ์ เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลอันสูงส่งอื่นๆ
    - พระโลมชาติเกิดขุมละเส้น พระอุณาโลมเกิดอยู่ระหว่างพระขนง สีขาวเหมือนสำลี เกิดจากเคยเป็นคนไม่พูดเท็จ พูดแต่คำสัตย์เป็นหลักเป็นฐานน่าเชื่อถือ ไม่พูดลวงโลก
    - พระทนต์มี ๔๐ ซี่ พระทนต์ไม่ห่าง เกิดจากเคยเป็นคนไม่พูดคำส่อเสียดให้คนแตกร้าวกัน มีแต่พูดให้สมัครสมานสามัคคีกัน เห็นคนรักใคร่ปรองดองกันก็พลอยดีใจ
    - พระชิวหาใหญ่ พระสุรเสียงเหมือนเสียงพรหม เกิดจากเคยเป็นคนไม่พูดคำหยาบ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะหูชวนฟัง
    - พระหนุ(คาง)ดุจคางราชสีห์ เกิดจากเคยเป็นคนไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดเหมาะสมแก่กาล พูดแต่คำจริงอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย มีหลักฐานเชื่อถือได้ พูดแต่คำมีประโยชน์ในกาลอันเหมาะสม
    - พระทนต์เป็นระเบียบเสมอกันทุกซี่ พระทาฐะ(เขี้ยว)สีขาวงาม เกิดจากเคยเป็นผู้ไม่เลี้ยงชีพในทางที่ผิด(มิจฉาอาชีวะ) ไม่หากินด้วยการโกงต่างๆ ไม่หลอกลวง ไม่ตลบตะแลง ไม่ก่ออาชญากรรมทั้งหลาย
    หมายเหตุ - ผู้ที่เกิดมามีลักษณะมหาบุรุษดังนี้ หากครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากออกบวช จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า



    กาลามสูตร​

    หลักการพิจารณาก่อนปลงใจเชื่อ
    พระพุทธองค์ทรงจริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จไปถึงเกสปุตตนิคมของชาวกาลามะ ชาวกาลามะพากันไปเฝ้า แสดงอาการต่างๆกันเพราะยังไม่เคยนับถือมาก่อน ได้ทูลถามว่า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมาที่นี่ เชิดชูแต่วาทะ(ลัทธิ)ของตน กระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกดวาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มาที่นี่เหมือนกัน และพูดยกแต่ตัวเองเหมือนกัน ทำให้สงสัยกันว่า ในบรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ
    พระพุทธองค์ตรัสแก่ชาวกาลามะว่า
    “ชาวกาลามะทั้งหลาย! สมควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย ความเคลือบแคลงสงสัยของพวกท่านเกิดในเหตุอันควรสงสัย ท่านทั้งหลายอย่าปลงใจเชื่อโดยการฟัง(เรียน)ตามกันมา(อนุสสวะ)...โดยการถือสืบๆกันมา(ปรัมปรา)...โดยการเล่าลือ(อิติกิรา)...โดยการอ้างตำรา(ปิฏกสัมปทาน)...โดยตรรก(ตักกะ)...โดยการอนุมาน(นยะ)...โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล(อาการปริวิตักกะ)...เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน(ทิฏฐินิชฌานักขันติ)...เพราะมองเห็นรูปลักษณ์น่าเชื่อ(ภัพพรูปตา)...เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา”
    “ชาวกาลามะทั้งหลาย! เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้วจะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงละเสีย”
    ทรงยกโลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นถามให้ชาวกาลามะตอบตามลำดับดังนี้
    พระพุทธองค์ – โลภะเมื่อเกิดขึ้นในใจ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์
    ชาวกาลามะ – เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า
    พระพุทธองค์ – คนมีโลภะครอบงำจิต ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง เป็นชู้กับภรรยาเขาบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง อะไรที่เป็นไปเพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นตลอดไป คนโลภย่อมชักชวนผู้อื่นไปทางนั้นใช่หรือไม่
    ชาวกาลามะ – จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า
    ทรงยกโทสะและโมหะถามให้ชาวกาลามะตอบ ซึ่งก็ได้คำตอบเหมือนกัน จนในที่สุดได้คำตอบสุดท้ายว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ติเตียน และเมื่อยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ จึงควรละเสีย ต่อจากนั้นทรงยกอโลภะ อโทสะ อโมหะ ขึ้นถาม ให้ชาวกาลามะตอบอีกตามลำดับ ซึ่งมีนัยตรงกันข้ามกับโลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นฝ่ายอกุศล
    จากนั้นได้ตรัสถึงอริยสาวกซึ่งเป็นผู้ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ มีแต่ใจที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ปกแผ่ไปยังหมู่สัตว์ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีปริมาณจำกัด

    ความอุ่นใจของคนผู้ทำความดี
    แล้วตรัสว่า “ชาวกาลามะทั้งหลาย! อริยสาวกนั้นผู้มีจิตปราศจากเวรอย่างนี้ มีจิตปราศจากความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ ย่อมได้ประสบความอุ่นใจถึง ๔ ประการตั้งแต่ในปัจจุบันนี้แล้ว ประการที่ ๑ อุ่นใจว่า ถ้าปรโลกมีจริง ผลของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วมีจริง การที่ว่า เมื่อเราตายไปแล้วจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ประการที่ ๒ อุ่นใจว่า ถ้าปรโลกไม่มี ผลของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี เราก็ครองตนอยู่โดยไม่มีทุกข์ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขอยู่ตั้งแต่ในชาติปัจจุบันนี้แล้ว ประการที่ ๓ อุ่นใจว่า ถ้าเมื่อคนทำชั่วก็เป็นอันทำ(กรรมชั่วมีผลได้จริง) เรามิได้คิดการชั่วร้ายต่อใครๆ ที่ไหนทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้มิได้ทำบาปกรรมเล่า ประการที่ ๔ อุ่นใจว่า ถ้าเมื่อคนทำความชั่วไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ(กรรมชั่วไม่มีผลจริง) ในกรณีนี้เราก็มองเห็นตนเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสองด้าน”



    เตือนสติผู้ศึกษาพระไตรปิฎก​

    มีอยู่สามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระไตรปิฎก คือ ๑.ปริยัติ (การศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก) ๒.สมบัติ (การได้ประโยชน์จากการศึกษาและปฏิบัติตามพระไตรปิฎก) ๓.วิบัติ (โทษอันเกิดจากการศึกษาและปฏิบัติผิดไปจากพระไตรปิฎก)

    ปริยัติ (การศึกษาเล่าเรียน) ๓ ประเภท
    ๑.ปริยัติเหมือนอสรพิษร้าย – ได้แก่ปริยัติที่ไม่ดี คือการศึกษาเล่าเรียนเพื่อเก่งในทางโต้แย้ง เป็นต้น ซึ่งมีพระพุทธดำรัส(ในอลคัททูปมสูตร) สอนว่า
    “บุรุษต้องการอสรพิษร้าย ย่อมแสวงหาอสรพิษ เมื่อเที่ยวแสวงหา เห็รอสรพิษร้ายตัวใหญ่ ก็จับมัน อสรพิษนั้นก็จะแว้งขบกัดเอา บุรุษนั้นก็จะต้องตายหรือปางตาย นั่นก็เป็นเพราะอสรพิษนั้นเขาจับไม่ดีฉันใด
    โมฆบุรุษบางจำพวกในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น เขาเล่าเรียนธรรม(คือพระไตรปิฎก)โดยไม่ใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมด้วยปัญญา ธรรมที่เขาเล่าเรียนย่อมไม่ทนต่อการเพ่ง (ไม่ถูกพิสูจน์จนรู้จริง) โมฆบุรุษเหล่านั้นก็จะเก่งแต่ในการใช้ธรรมที่เล่าเรียนไว้สำหรับการโต้แย้งและเอาชนะในการใช้วาทะเท่านั้น เขาเล่าเรียนธรรมแต่ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากธรรมนั้น เพราะธรรมเหล่านั้นเขาเรียนไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่อความทุกข์ไปชั่วกาลนาน นั่นก็เพราะธรรมทั้งหลายอันโมฆบุรุษเล่าเรียนไม่ดี”
    ๒.ปริยัติเพื่อการพ้นทุกข์ – เป็นการศึกษาเล่าเรียนที่ดี คือไม่ใช่เพื่ออวดรู้อวดภูมิกัน แต่ศึกษาเล่าเรียนเพื่อทำให้ศีลสมาธิปัญญาบริบูรณ์ การศึกษาเล่าเรียนอย่างนี้จักอำนวยประโยชน์เกื้อกูลไปชั่วกาลนาน
    ๓.ปริยัติของขุนคลัง – เป็นการเล่าเรียนธรรมของพระอรหันต์ซึ่งละกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว แต่ท่านก็เล่าเรียนไว้เพื่อการสืบต่อพระธรรมวินัย หรือเพื่อดำรงรักษาพระธรรมวินัยสืบไป

    สมบัติ (ประโยชน์จากพระไตรปิฎก) ๓ อย่าง
    ๑.วิชชา ๓ - ผู้ปฏิบัติดีในพระวินัยปิฎก คือเพียบพร้อมด้วยศีล (สีลสัมปทา) ย่อมมีโอกาสได้วิชชา ๓ คือ ระลึกชาติได้ หยั่งรู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งหลายได้ ตรัสรู้ธรรมสิ้นอาสวะ เพราะทางที่จะได้วิชชา ๓ นั้น ทรงแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก
    ๒.อภิญญา ๖ - ผู้ปฏิบัติดีในพระสุตตันตปิฎก อาศัยความถึงพร้อมด้วยสมาธิ ย่อมมีโอกาสได้อภิญญา ๖ เพราะเรื่องสมาธิทรงแสดงไว้ในพระสุตตันตปิฎก
    ๓.ปฏิสัมภิทา ๔ - ผู้ปฏิบัติดีในพระอภิธรรมปิฎก ย่อมเพียบพร้อมด้วยปัญญา มีโอกาสได้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔ เพราะเรื่องปฏิสัมภิทาทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎก
    แท้จริงแล้ว ศีลสมาธิปัญญามีอยู่ในทุกปิฎก เพียงแต่จะมากน้อยหรือเน้นหนักต่างกันอย่างไรเท่านั้น

    วิบัติ (โทษที่ปฏิบัติผิดจากพระไตรปิฎก) ๓ อย่าง
    ๑.ทุศีล – การประพฤติละเมิดข้อที่ทรงห้ามในพระวินัยปิฎก โดยความสำคัญผิด(คือเรียนไม่ดี,ถือปฏิบัติตามที่เข้าใจผิด) ย่อมทำให้เป็นผู้ทุศีล(มีอาบัติติดตัว-มีความประพฤติเสียหาย)
    ๒.มิจฉาทิฏฐิ – การศึกษาพระสุตตันตปิฎกอย่างผิดๆ ไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องในคำสอน ย่อมนำไปสู่มิจฉาทิฏฐิได้ (ทั้งๆ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระสุตตันตปิฎก)
    ๓.บ้า ฟุ้งซ่าน – การศึกษาพระอภิธรรมปิฎกอย่างผิดทาง จะทำให้นึกแยกแยะธรรม(วิจารธรรม-ไตร่ตรองธรรม)เกินไป คนคิดในเรื่องที่ไม่ควรคิด(อจินไตย) นั่นคือที่มาของความฟุ้งซ่านหรือเป็นบ้าได้
    (อจินไตย แปลว่า ไม่ควรเอามาคิด มี ๔ เรื่อง คือ ๑.พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๒.ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๓.วิบาก(ผล)แห่งกรรม ๔.โลกจินดา(ความคิดในเรื่องโลก เช่นโครงสร้างโลก เป็นต้น))



    สัลเลขสูตร​

    วิธีละความเห็นผิดเรื่องอัตตาและโลก
    พระมหาจุนทะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลถามเรื่องทิฏฐิเกี่ยวกับอัตตา และทิฏฐิเกี่ยวกับโลก ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปว่า ภิกษุควรจะมนสิการ(พิจารณา)ในเบื้องต้นอย่างไร จึงจะหลุดพ้นออกมาได้
    พระพุทธองค์ตรัสว่า “ทิฏฐิเหล่านี้มีหลายอย่าง เกี่ยวกับอัตตวาทะบ้าง เกี่ยวกับโลกวาทะบ้าง เมื่อทิฏฐิเหล่านั้นเกิดขึ้นในอารมณ์ใด นอนเนื่องอยู่ในอารมณ์ใด และฟุ้งขึ้นในอารมณ์ใด ภิกษุเห็นอารมณ์นั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เมื่อเห็นได้อย่างนี้ การสลัดทิ้งทิฎฐิเหล่านั้นก็เป็นอันเกิดขึ้น”
    (หมายเหตุ - คำว่า อารมณ์ ในพระพุทธดำรัสนี้ หมายถึงเบญจขันธ์ ความเห็นผิดในเรื่องอัตตาและโลก ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์)
    ฌานไม่ใช่สัลเลขธรรม (เครื่องขัดเกลากิเลส)
    ทรงตรัสว่า เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปจะเข้าใจไปว่า การได้ฌาน(แต่ละขั้น) เป็นการอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส(สัลเลขธรรม) แต่ความจริงนั้น รูปฌาน ๔ เป็นทิฏฐธัมมสุขวิหาร (ธรรมสำหรับอยู่เป็นสุข-สำหรับพักผ่อนกายใจในปัจจุบัน) อรูปฌาน ๔ เป็นสันตวิหารธรรม (ธรรมสำหรับผู้สงบ)

    สัลเลขธรรม ๔๔
    สัลเลขธรรม(ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส)นั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนให้ขัดเกลากิเลส ในเรื่องต่อไปนี้ คือ ๑.คนอื่นเบียดเบียนกัน เราจักไม่เบียดเบียนกัน ๒.คนอื่นฆ่าสัตว์ เราจักงดเว้นจากปาณาติบาต ๓.คนอื่นลักทรัพย์ เราจักงดเว้นจากอทินนาทาน ๔.คนอื่นเสพเมถุนธรรม เราจักประพฤติพรหมจรรย์ ๕.คนอื่นกล่าวเท็จ เราจักงดเว้นมุสาวาท ๖.คนอื่นกล่าวส่อเสียด เราจักงดเว้นปิสุณวาจา ๗.คนอื่นกล่าวคำหยาบ เราจักงดเว้นผรุสวาจา ๘.คนอื่นพูดเพ้อเจ้อ เราจักงดเว้นสัมผัปปลาปะ ๙.คนอื่นเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น เราจักไม่เพ่งเล็งอย่างนั้น ๑๐.คนอื่นมีจิตพยาบาท เราจักไม่มีจิตพยาบาท ๑๑.คนอื่นมีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) เราจักมีความเห็นถูก (ข้อ ๒ ถึง ๑๑ คืออกุศลกรรมบถ ๑๐)
    ๑๒.คนอื่นมีความดำริผิด เราจักมีความดำริถูก ๑๓.คนอื่นมีวาจาผิด เราจักมีวาจาถูก ๑๔.คนอื่นมีการงานผิด เราจักมีการงานถูก ๑๕.คนอื่นมีอาชีพผิด เราจักมีอาชีพถูก ๑๖.คนอื่นมีความเพียรผิด เราจักมีความเพียรถูก ๑๗.คนอื่นมีสติผิด(ระลึกผิด) เราจักมีสติถูก ๑๘.คนอื่นมีสมาธิผิด เราจักมีสมาธิถูก ๑๙.คนอื่นมีญาณผิด เราจักมีญาณถูก ๒๐.คนอื่นมีวิมุตติผิด เราจักมีวิมุตติถูก (ข้อ ๑๑ ถึง ๒๐ คือ มิจฉัตตะ ๑๐ ข้อว่ามีญาณผิด คือความหลงผิดว่าความชั่วของตนเป็นอุบายที่ดี ข้อว่ามีวิมุตติผิด คือยังไม่ได้วิมุตติแต่สำคัญผิดว่าตนได้วิมุตติ)
    ๒๑.คนอื่นถูกถีนมิทธะครอบงำจิต เราจักไม่ถูกถีนมิทธะครอบงำจิต ๒๒.คนอื่นฟุ้งซ่าน เราจักไม่ฟุ้งซ่าน ๒๓.คนอื่นมีวิจิกิจฉา เราจักข้ามพ้นจากวิจิกิจฉา (๔ ข้อนี้ นับเนื่องอยู่ในนิวรณ์ ๕)
    ๒๔.คนอื่นมีความโกรธ เราจักไม่มีความโกรธ ๒๕.คนอื่นผูกโกรธไว้ เราจักไม่ผูกโกรธ ๒๖.คนอื่นลบหลู่คุณท่าน เราจักไม่ลบหลู่ ๒๗.คนอื่นตีเสมอเขา เราจักไม่ตีเสมอเขา ๒๘.คนอื่นมีความริษยา เราจักไม่มีความริษยา ๒๙.คนอื่นมีความตระหนี่ เราจักไม่มีความตระหนี่ ๓๐.คนอื่นโอ้อวด เราจักไม่โอ้อวด ๓๑.คนอื่นมีมารยา(เจ้าเล่ห์) เราจักไม่มีมารยา ๓๒.คนอื่นดื้อรั้น เราจักไม่ดื้อรั้น ๓๓.คนอื่นดูหมิ่นท่าน เราจักไม่ดูหมิ่นท่าน ๓๔.คนอื่นว่ายากสอนยาก เราจักเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย (๑๑ ข้อนี้นับเนื่องอยู่ในอุปกิเลส ๑๖)
    ๓๕.คนอื่นมีมิตรชั่ว เราจักมีมิตรดี ๓๖.คนอื่นเป็นผู้ประมาท เราจักเป็นผู้ไม่ประมาท ๓๗.คนอื่นเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เราจักเป็นผู้มีศรัทธา ๓๘.คนอื่นไม่ละอายต่อบาป เราจักละอายต่อบาป ๓๙.คนอื่นไม่เกรงกลัวบาป เราจักเกรงกลัวบาป ๔๐.คนอื่นด้อยการศึกษา(มีสุตะน้อย) เราจักเป็นพหูสูต ๔๑.คนอื่นเกียจคร้าน เราจักระดมเพียร ๔๒.คนอื่นมีสติเลอะเลือน เราจักมีสติมั่นคง ๔๓.คนอื่นมีปัญญาทราม เราจักเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา(ที่ถูกต้อง) ๔๔.คนอื่นหลงผิดไปกับทิฏฐิของตน ยึดมั่นถือมั่น สลัดทิ้งได้ยาก เราจักไม่หลงผิดอย่างนั้น

    ประโยชน์ที่จะเกิดจากสัลเลขธรรม
    ทรงตรัสต่อไปว่า ความคิดที่จะทำดี(จิตตุปบาทในกุศลธรรม)นั้น มีอุปการะมาก ยิ่งได้ทำดีพูดดี ก็ยิ่งจะดีอีกไม่รู้เท่าไร เพราะฉะนั้นภิกษุทั้งหลายจึงควรมีความคิดในทางสัลเลขธรรมดังกล่าว
    ตรัสว่า สัลเลขธรรมเป็นทางหลีกเลี่ยงจากความชั่วทั้งหลาย เหมือนทางเรียบสำหรับเลี่ยงจากทางขรุขระ เหมือนท่าน้ำสะอาดสำหรับเลี่ยงจากท่าน้ำไม่สะอาด (เช่น เมื่อคิดว่าจะไม่เบียดเบียน ก็เพื่อจะหลีกเลี่ยงคนผู้เบียดเบียน เป็นต้น)
    ตรัสว่า อกุศลธรรมทำให้ตกต่ำ ส่วนกุศลธรรม (สัลเลขธรรม) ทำให้ขึ้นสู่ภาวะสูงขึ้น (หมายความว่า สัลเลขธรรมแต่ละอย่าง มีเพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น)
    ตรัสว่า “ผู้ที่ยังจมอยู่ในปลักลึก จักยกคนผู้จมปลักลึก (เหมือนกัน) ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปได้ที่ผู้ไม่จมปลักลึกจักยกคนผู้จมปลักลึกขึ้นมาได้ ผู้ไม่ได้ฝึกตนไม่ได้สอนตน ยังดับเย็นด้วยตนเองไม่ได้ จักฝึกสอนผู้อื่นช่วยให้ผู้อื่นดับเย็นนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ส่วนผู้ที่ฝึกสอนตนเองแล้ว ดับเย็นได้ด้วยตนเองได้แล้ว เป็นไปได้ที่เขาจักฝึกสอนผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นดับเย็นได้”
    ทรงสอนว่า สัลเลขธรรมแต่ละอย่างก็เหมือนกัน เมื่อตัวเองมีแล้วจึงจะช่วยเหลือผู้อื่นได้
    คำสอนเรื่องสัลเลขธรรมนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ทรงได้ชี้ให้เห็นทั้งเหตุเกิดสัลเลขธรรม ทั้งเหตุเกิดความคิด(ตามแนวสัลเลขธรรม) ทั้งเหตุแห่งการหลีกเลี่ยงบาป(ด้วยสัลเลขธรรม) ทั้งเหตุแห่งการยกระดิบจิตให้สูงขึ้น (ด้วยสัลเลขธรรม) ทั้งนี้ก็เพื่อเตือนว่าได้ทรงทำหน้าที่อนุเคราะห์สาวกทั้งหลายอย่างเต็มที่แล้ว
    และตรัสสอนอีกว่า
    “จุนทะ! นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพียรเพ่ง อย่าประมาท อย่าต้องเสียใจกันภายหลัง นี้เป็นคำสอนเพื่อเธอทั้งหลาย”



    อปัณณกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียนผู้มีปัญญา ครั้งหนึ่งมีการเดินทางไปค้าขายบนเส้นทางเดียวกันกับหัวหน้าพ่อค้าเกวียนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไม่ฉลาด รายนั้นคิดว่าตนจะได้เปรียบจึงขอเดินทางไปก่อน ไปถูกยักษ์หลอกจับกินทั้งกองเกวียน พระโพธิสัตว์ไปทีหลังรู้ทันเล่ห์กลของยักษ์ ยักษ์ก็ทำอะไรไม่ได้
    “อะไรถูกอะไรผิด คนมีปัญญาแยกแยะได้ เลือกเอาแต่ข้างถูกไว้ ส่วนคนโง่ก็จะเห็นผิดเป็นถูก”



    วัณณุปถชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน คราวหนึ่งเดินทางผ่านทะเลทราย ไม่มีน้ำประทังชีวิต พระโพธิสัตว์ไปพบแหล่งน้ำจึงให้ลูกน้องขุด ลูกน้องเหนื่อยอ่อน ท้อแท้ จึงพูดให้กำลังใจ ในที่สุดก็ขุดจนเจอน้ำ
    “มุนีที่พากเพียรเต็มกำลัง สักวันก็ต้องบรรลุความสุขสงบได้ เหมือนคนที่ขุดหาน้ำในทะเลทราย ไม่รามือ”
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  18. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    เสริววาณิชชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพ่อค้าเครื่องประดับ มีเพื่อนพ่อค้าของพระโพธิสัตว์คนหนึ่งเป็นคนโลภ มีคนเสนอขายถาดทองคำให้ แต่อยากได้เปล่าๆ จึงหลอกเขาว่าเป็นทองเก๊ แล้วแกล้งเดินหนี พระโพธิสัตว์ผ่านไปเห็น รู้ว่าเป็นถาดทองคำล้ำค่า จึงซื้อไว้ตามราคาจริง ทำให้พ่อค้าขี้โลภผิดหวังและเจ็บใจเหลือกำลัง
    “ถ้าพรากจากแนวทางแห่งพระสัทธรรม เธอก็จะกระเสือกกระสน(ในสังสารวัฏ) อีกนานแสนนาน เหมือนพ่อค้าชื่อเสริวะคนนั้น”



    จูฬเสฏฐิชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นจูฬเศรษฐี วันหนึ่งไปพบหนูตายอยู่ระหว่างทางเดิน จึงพูดทำนายให้คนใช้ได้ยินว่า ใครได้หนูตัวนี้ไปคิดค้าขาย ต้องรวยเป็นเศรษฐีแน่ คนใช้เข้าใจความจึงเอาหนูตายตัวนั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการค้าขาย เริ่มด้วยขายให้เจ้าของแมวรายหนึ่ง ทำให้ได้ทุนมาทำการค้าตามลำดับ จนร่ำรวยเป็นเศรษฐี
    “คนมีปัญญารู้จักใช้ความคิด ตั้งตัวได้ด้วยของน้อยค่า ไม่ต่างอะไรกับคนก่อกองไฟ เริ่มจากไฟนิดเดียว เป็นไฟกองใหญ่”



    ตัลฑุลนาฬิชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพนักงานจัดซื้อ มีคนยุยง พระราชาไม่วางพระทัย จึงเปลี่ยนพนักงานแทนพระโพธิสัตว์ พนักงานคนใหม่ไม่รู้เรื่องการประเมิณราคาของ ตีราคาข้าวสาร ๑ ทะนานเท่ากับม้า ๕๐๐ ตัว หนักเข้าก็ทำให้ข้าวสาร ๑ ทะนานมีราคาพอที่จะแลกเมืองได้ พระราชาต้องเสียค่าโง่มหาศาล ในที่สุดก็ได้คืนตำแหน่งให้พระโพธิสัตว์
    (อำมาตย์ทูลถามพระราชาว่า) “ข้าวสาร ๑ ทะนาน เท่ากับม้า ๕๐๐ ตัวเชียวหรือ ข้าวสาร ๑ ทะนาน เท่ากับกรุงพาราณสีเชียวหรือ”



    คามณิชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์สอนธรรมของพระราชา โอรสองค์น้อยของพระราชาชื่อ คามณิกุมาร เป็นโอรสองค์ที่ ๑๐๑ ได้สืบราชสมบัติเพราะตั้งมั่นอยู่ในคำสอนของพระโพธิสัตว์
    (คามณิกุมารเปล่งอุทานว่า) “คามณิเอย เมื่อไม่ใจเร็วด่วนได้ สิ่งที่หวังก็จะสำเร็จจนได้ ขอให้มั่นใจในพรหมจรรย์อันแก่กล้าแล้ว”



    ขราทิยาชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญากวาง มีกวางหลานชายตัวหนึ่งไม่เคยที่จะสนใจศึกษาเล่ห์มายาของพวกกวางด้วยกัน วันหนึ่งก็ไปเที่ยวเล่น และไปติดบ่วงตาย
    (พระโพธิสัตว์ได้แต่พูดกับแม่กวาง) “ขราทิยาเอ๋ย จนปัญญาที่ฉันจะสอนสัตว์พวกเท้า ๘ กีบ พวกเขาโค้งงอตั้งแต่โคนจรดปลาย ก็ทั้ง ๗ วัน เขาไม่เคยฟังคำสอนเลย”



    ติปัลลัตถมิคชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญากวาง มีหลายชายตัวหนึ่ง ก็ได้เฝ้าให้วิชาเล่ห์ปฏิภาณของกวางอยู่ประจำ วันหนึ่งหลานไปติดบ่วงนายพราน ก็ได้ใช้ชั้นเชิงที่เรียนมาเอาตัวรอดได้
    (พระโพธิสัตว์พูดกับแม่ของหลานชายว่า) “พี่ให้เขาเรียนท่านอน ๓ ท่า เล่ห์มายาอีกหลายกระบวน ตลอดถึงวิธีดื่มน้ำในเวลาเที่ยงคืน เวลาหายใจทางจมูกข้างที่แนบกับพื้น นายพรานก็จะคิดว่าหลานเราตาย นายพรานถูกหลอกด้วย ๖ อุบาย”



    มาลุตชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นฤาษี วันหนึ่งเสือกับสิงห์เพื่อนกัน ทะเลาะกันด้วยเรื่องลมหนาว หาข้อยุติไม่ได้จึงไปขอคำตอบจากพระโพธิสัตว์
    (พระโพธิสัตว์ตอบว่า) “เมื่อใดมีลมพัดโชย ไม่ว่าจะเป็นข้างแรมข้างขึ้น ลมหนาวย่อมเกิดขึ้นได้ เธอทั้งสองไม่มีคนแพ้”



    มตกภัตตชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นรุกขเทวดา ได้เห็นงานทำบุญอุทิศผู้ตายของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีการจับแพะตัวหนึ่งมาเข้าพิธีเพื่อบูชายัญ แพะทั้งหัวเราะและร้องไห้ หัวเราะเพราะรู้ว่าครั้งนี้จะรับกรรมเป็นครั้งที่ ๕๐๐ อันเป็นครั้งสุดท้าย อาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้ฟังแพะเล่าเรื่องกรรมเก่าของตนก็เปลี่ยนใจ ปล่อยแพะไป แต่ในที่สุดแพะนั้นก็ไปตายเพราะสะเก็ดหินกระเด็นใส่จนได้
    (พระโพธิสัตว์สอนว่า) “ถ้าสัตว์โลกรู้ ว่าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ ก็จะไม่ฆ่าสัตว์ด้วยกัน เพราะฆ่าเขาแล้วตัวเองทุกข์”



    อายาจิตภัตตชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นรุกขเทวดา ได้เห็นกฎุมพีคนหนึ่งไปบนไว้กับเทพยดาที่ต้นไทรหน้าบ้านว่าขอให้ตนเดินทางโดยปลอดภัย แล้วจะแก้บนด้วยการฆ่าสัตว์สังเวย
    (พระโพธิสัตว์สอนกฎุมพีว่า) “จะปล่อยตัวเองให้หลุด กลับยิ่งไปติกหนึบ ผู้รู้ไม่ใช้วิธีอย่างนั้น เพราะยิ่งแก้ยิ่งมัดตัวเอง”



    นฬิปานชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาวานร สอนบริวารว่าจะทำอะไรที่ยังไม่เคยทำให้ถามตนก่อน วันหนึ่งพวกลิงไปหาน้ำดื่มที่สระโบกขรณีแห่งหนึ่ง จึงรอถามพญาวานร พญาวานรรู้ว่าในสระมีผีเสื้อน้ำคอยจับสัตว์กิน จึงเสกต้นอ้อเป็นหลอดสูบน้ำให้พวกลิงดื่มน้ำ ลิงทั้งหลายก็ปลอดภัย
    “ทางลงสระ เห็นแต่รอยเท้าลง(ของเหยื่อ) ไหนล่ะรอยเท้าขึ้น เราไม่ลงสระ ท่านก็ฆ่าพวกเราไม่ได้”



    กรุงคมิคชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวาง วันหนึ่งไปหากินผลมะลื่นที่โคนต้นมะลื่นต้นหนึ่ง เห็นความผิดปกติให้ระแวง จึงไม่เข้าไปใกล้ นายพรานที่ซุ่มอยู่ข้างบนโยนผลมะลื่นล่อ พระโพธิสัตว์ก็ไม่หลงกล
    (พระโพธิสัตว์พูดกับนายพรานว่า) “มะลื่นที่โยนมาล่อ กวางรู้ทัน เราหากินที่อื่นดีกว่า มะลื่นของท่านกินไม่อร่อย”



    กุกุรชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสุนัข คราวหนึ่งเกิดเรื่องใหญ่ในวัง สุนัขวังไปกัดหนังหุ้มราชรถ พระราชาเข้าใจว่าสุนัขนอกวังเป็นตัวการ จึงมีบัญชาให้ฆ่าสุนัขนอกวังตายเป็นเบือ พระโพธิสัตว์ต้องไปขอความเป็นธรรมจากพระราชา ได้ข้อสรุปว่า ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าสุนัขตัวใดทำผิด แต่ความผิดกลับไปตกแก่สุนัขนอกวัง ส่วนสุนัขในวังกลับไม่ถูกตรวจสอบ
    (พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า) “สุนัขมีคนเลี้ยง รูปร่างผิวพรรณดี มีกำลังวังชาดี แต่ไม่ถูกฆ่า กลับตามล่าฆ่าทิ้งสุนัขจรจัดที่ไร้ที่พึ่ง โจรร้ายลอยนวล ที่ไม่ใช่โจรรับเคราะห์ ไม่เป็นธรรม”



    โภชาชานียชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นม้าอาชาไนย (พันธุ์โภชะ) ออกทำศึกกับพระราชา ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็แข็งใจลุยศึกเคียงข้างพระราชาจนได้ชัยชนะ ก่อนตายได้ทูลขอให้พระราชาบำเพ็ญทานรักษาศีลเพื่อเป็นบารมีสืบไป
    (พระโพธิสัตว์พูดกับสารถีระหว่างเจ็บหนักว่า) “อาชาไนยพันธุ์โภชะ ถูกศรเสียบล้มตะแคงข้าง ก็ยังสง่างามกว่าม้าแกลบ ทรงเครื่องศึกให้ข้าอีกเถิด ข้าจะออกรบเอาชัย”



    อาชัญญชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นม้าอาชาไนยของพระเจ้าพรหมทัต การสู้รบใกล้จะจบลงด้วยดี นายทัพคนหนึ่งถูกสังหาร สารถีจะเปลี่ยนม้า พระโพธิสัตว์อาสาขอให้เทียมตนเข้ารถศึก แล้วร่วมออกรบจนประสบความสำเร็จ
    (พระโพธิสัตว์พูดกับสารถี) “ไม่ว่ายุคสมัยไหน และไม่ว่าที่ไหนๆ ม้าอาชาไนย ไม่เคยระย่อศึก ส่วนม้าแกลบ มีแต่จะคิดเผ่น”



    ติตถชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นปุโรหิตสอนธรรมแก่พระราชา เมื่อเห็นม้าทรงของพระราชามีอาการไม่อยากจะลงอาบน้ำที่ท่าเดียวกับม้าทั่วไป จึงแนะนำคนเลี้ยงม้าให้พาไปอาบท่าอื่นๆบ้าง เพื่อม้าจะได้ไม่เบื่อ เรื่องนี้ทำให้พระราชาพอพระทัยอย่างยิ่งที่พระโพธิสัตว์รู้แม้กระทั่งอัธยาศัยของสัตว์
    (พระโพธิสัตว์พูดกับคนเลี้ยงม้าว่า) “ที่ท่าอื่นก็มีน้ำ พาม้าเปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง ข้าวปายาสเรากินบ่อยๆ ก็ยังเบื่อเป็น”



    มหิฬามุขชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ พบมูลเหตุที่ทำให้ช้างมหิฬามุขของพระราชาเปลี่ยนนิสัยจากเดิม จากสงบสุภาพเชื่อฟังคำสั่งมาเป็นดุร้าย เป็นเพราะมีโจรมาแอบพูดในทางร้ายอยู่ข้างโรงช้าง ต้องแก้ด้วยการเชิญสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีลมาพูดถึงความดีงามให้ช้างฟัง เมื่อคนเลี้ยงช้างปฏิบัติตาม ช้างก็กลับมาดีดังเดิม
    (พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า) “มหิฬามุข พญาช้างต้น ดุร้ายเพราะฟังคำโจร ส่วนพญามงคลหัตถีฟังคำพระ จึงเป็นช้างแสนประเสริฐ”



    อภิณหชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ ช่วยแก้ปัญหาช้างพระที่นั่งมีอาการเหงาหงอย พบว่ามีสุนัขตัวหนึ่งเคยเป็นเพื่อนเล่นกับช้าง สุนัขนั้นถูกโจรลักไป ต้องใช้วิธีประกาศคาดโทษคนลักสุนัขให้รีบนำสุนัขมาคืน แล้วก็ได้สุนัขคืนมาให้เป็นเพื่อนเล่นกับช้างดังเดิม อาการเหงาหงอยของช้างก็หายไป
    (พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า) “อาการของพญาช้างต้นแปลกไป ไม่กินอาหาร ไม่มีเรี่ยวแรง เพราะลูกสุนัขหายไป เขาเยื่อใยถึงกัน”



    นันทิวิสาลชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคนันทิวิสาล อยากจะสนองคุณเจ้าของ แนะนำเจ้าของให้ไปท้าพนันลากเกวียน แข่งครั้งแรกแพ้เขา เพราะคนถือแส้พูดจาหยาบคาย พระโพธิสัตว์จึงให้แก้ตัวใหม่ เปลี่ยนเป็นพูดคำไพเราะหูให้เกียรติตน ผลก็คือโคนันทิวิสาลชนะคู่แข่ง
    “คำเพราะมีไว้ให้พูดจา พูดแล้วขัดใจคน พูดทำไม โคนันทิวิสาลฟังคำหวานหู เกวียนหนักเท่าหนักก็กลายเป็นเบา แข่งชนะ เจ้าของก็ได้เงิน โคเองก็ปลื้มได้สนองคุณ”



    กัณหชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคดำ ยายชรานำมาเลี้ยงไว้ตั้งแต่ยังเล็ก รักกันเหมือนแม่ลูก โคดำรักยาย ทำงานหนักเอาเบาสู้ ได้ค่าจ้างมาเลี้ยงยาย ทั้งสองมีความสุขด้วยกันจนตลอดชีวิต
    “ที่ไหนมีงานหนัก ที่ไหนมีร่องลึก แง่หินระเกะระกะ คนก็จะคิดถึงโคดำของยาย โคดำไม่เคยหลบงาน”



    มุนิกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโค โคผู้น้องเห็นสุกรมุนิกะได้กินอาหารดีๆ ก็ริษยา พระโพธิสัตว์สอนน้องว่าอย่าไปริษยาเขาเลย เขาเลี้ยงดีอย่างนั้นก็เพื่อขุนให้อ้วน เพื่อจะฆ่าเป็นอาหารชั้นเลิศ
    (พระโพธิสัตว์สอนน้องว่า) “อย่าไปอิจฉาหมูเขาเลย เขากินก็เพื่อจะถูกฆ่า กินข้าวลีบดีแล้ว อายุยืน”



    สัมโมทมานชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญานกกระจาบ วัหนึ่งนายพรานเหวี่ยงตาข่ายจับนกเพื่อเอาไปขาย พญานกแนะนำให้บินขึ้นพร้อมกัน ยกตาช่ายขึ้นวางบนพุ่มไม้ แล้วบินลงข้างล่างหนีกันได้ทั้งฝูง ต่อมามีนกกระจาบตัวหนึ่งเดินหากินอยู่บนภาคพื้น ไม่ทันสังเกตไปเหยียบหัวอีกตัว รู้ว่าผิดแล้วก็ขอโทษ แต่นกตัวนั้นไม่ยอมยกโทษให้ เกิดการทะเลาะวิวาทกันวุ่นไปหมด เมื่อถูกตาข่ายอีก ก็ไม่คิดจะช่วยกันบินยกตาข่ายเหมือนคราวนั้น แล้วนายพรานก็จับนกได้ทั้งฝูง
    (วันที่ฝูงนกช่วยกันบินยกตาข่ายหนีไปได้นั้น รายพรานพูดกับภรรยาว่า) “วันที่ยังร่าเริงพรั่งพร้อม ฝูงนกกระจาบก็ร่วมแรงกันบิน ยกตาข่ายไปทิ้งได้ รอสักวันเถอะ เมื่อพวกมันทะเลาะกัน จะหนีไปไหนพ้น”



    พกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นรุกขเทวดา ได้เห็นเล่ห์ลวงของนกยาง หลอกปลาทั้งหลายว่าจะช่วยคาบไปปล่อยลงสระ แล้วก็กินปลาจินเกลี้ยงสระ เหลือปูตัวเดียวเพราะรู้ทันเล่ห์ของนกยาง เมื่อนกยางจะหลอกเหมือนที่ทำกับปลา ปูไม่ยอมให้นกยางคาบ แต่ขอเอากล้ามหนีบคอนกยางไป เมื่อนกยางจะจิกปูกินเป็นอาหาร ปูก็ชิงหนีบคอนกยางตายก่อน
    (รุกขเทวดากล่าวว่า) “ใช้เล่ห์หลอกลวงเขา สุขก็สุขได้ไม่นาน สักวันก็ต้องประสบเคาระห์กรรม เหมือนนกยางตายเพราะปูหนีบ”



    ขทิรังคารชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเศรษฐี เป็นคนใจบุญบำเพ็ญทานอยู่ประจำ วันหนึ่งจะถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ถูกพญามารโดดขัดขวาง บันดาลหลุมถ่านเพลิงขวางทาง พระโพธิสัตว์ไม่ถอดใจ ยอมเดินลุยถ่านเพลิงเพื่อไปถวายทานให้ได้ บัดดลเกิดเหตุอัศจรรย์ มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับทุกก้าวย่าง พญามารทำอะไรไม่ได้ ก็เสียใจหลบหนีไป
    (พระโพธิสัตว์กล่าวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า) “ต่อให้ตกลงหลุมเพลิง หัวทิ่มลงกองไฟ โยมก็ทำชั่วอีกไม่ได้ นิมนต์รับบิณฑบาตเถิดพระคุณเจ้า”



    โลสกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีลูกศิษย์คนหนึ่งไม่สนใจเล่าเรียนเขียนอ่าน อาจารย์ตักเตือนก็ไม่เชื่อฟัง หนีไปเที่ยว วันหนึ่งเคราะห์ร้ายไปจับขาแพะตัวหนึ่งในฝูงแพะที่เขากำลังซุ่มจับโจรที่วันก่อนแพะถูกลักไปหลายตัว ถูกหาว่าเป็นโจร พระโพธิสัตว์ต้องไปช่วยไว้จึงรอดจากการถูกประหาร เรื่องนี้แสดงถึงผลกรรมเก่าของพระโลสกติสสะ
    (พระโพธิสัตว์กล่าวสอนว่า) “คนที่เขาอุตส่าห์พร่ำสอน ด้วยจิตเกื้อกูลอ่อนโยน หวังอนุเคราห์ด้วยประโยชน์ ไม่เชื่อฟัง มีแต่จะโศกาดูร...”



    กโปตกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกพิราบ คนเขาทำกระเช้าผ้าให้อยู่อาศัยในบ้าน กาตัวหนึ่งขออยู่ด้วย วันหนึ่งพระโพธิสัตว์บินออกไปหากินข้างนอก กาแอบเข้าไปลักชิ้นเนื้อในครัว พ่อครัวจับได้จึงถอนขน ตำพริกกับเกลือทาตัว แล้วโยนใส่กระเช้าไว้
    (พระโพธิสัตว์เห็นสภาพของกาก็กล่าวว่า) “สอนด้วยความหวังดี ไม่ทำตามสอน ชีวิตย่อมประสบชะตากรรมได้เรื่อยไป เหมือนกาที่ถูกเขาจับถอนขน”



    เวฬุกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นฤาษี มีดาบสในปกครองตนหนึ่ง เอางูพิษมาเลี้ยงไว้ในปล้องไม้ไผ่ ถูกตักเตือนว่าจะเป็นอันตรายก็ไม่ฟัง คราวหนึ่งไปหาผลไม้ ๒ - ๓ วัน กลับมาเปิดกระบอกไม้ไผ่ที่เลี้ยงงูเอาไว้ ด้วยความหิวจัด งูได้ฉกกัดดาบสตายคาที่ แล้วเลื้อยหายเข้าป่าไป
    (พระโพธิสัตว์สอนหมู่ดาบสว่า) “คนไม่เชื่อฟังคำสอน ไม่เห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ย่อมถูกกำจัดไปเอง เหมือนดาบสเลี้ยงอสรพิษ”



    มกสชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพ่อค้า ลูกน้องคนหนึ่งเป็นช่างไม้ ยุงมาจับที่ศีรษะแก จึงเรียกลูกชายให้มาช่วยไล่ยุง ลูกชายเป็นคนโง่ คิดแต่จะฆ่ายุง คว้าขวานมาจามลงที่ศีรษะพ่อดับดิ้น
    (พระโพธิสัตว์กล่าวว่า) “มีศัตรูคิดเป็น ยังดีกว่าที่จะมีมิตรโง่เขลา เพราะลูกชายโง่คิดแต่จะฆ่ายุง กลายเป็นฆ่าพ่อ”



    โรหิณีชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นมหาเศรษฐี มีสาวใช้นางหนึ่งชื่อ โรหิณี มารดาของนางนอนอยู่ในโรงกระเดื่องที่ตำข้าว แมลงวันมาตอมไต่ตามตัว จึงเรียกโรหิณีมาช่วยไล่แมลงวัน โรหิณีเป็นคนโง่ คว้าสากตำข้าวมาฟาดแมลงวันที่ตอมไต่มารดา จนมารดาตาย
    (พระโพธิสัตว์กล่าวว่า) “ถึงเป็นคนเอ็นดูกรุณาต่อกัน หากโง่เขลาเสียแล้ว มีศัตรูรู้จักใช้ความคิด ยังดีกว่า”



    อารามทูสกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นบัณฑิต วันหนึ่งคนเฝ้าสวนจะไปดูมหรสพ จึงฝากงานให้ลิงหัวโจกช่วยรดต้นไม้ให้ ลิงหัวโจกเกณฑ์ฝูงลิงมาช่วย สั่งให้ถอนรากต้นไม้ขึ้นมาดูก่อน ถ้ารากยาวให้รดน้ำมาก รากสั้นให้รดน้ำน้อย ผลก็คือต้นไม้ตายเรียบ
    (พระโพธิสัตว์เห็นก็กล่าวว่า) “คนโง่เห็นประโยชน์ ทำประโยชน์ ก็ไม่ได้เรื่อง คิดทำประโยชน์แต่ทำลายประโยชน์ เหมือนลิงเฝ้าสวน”



    วารุณิทูสกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเศรษฐี มีคนขายเหล้าอาศัยค้าขายอยู่ด้วย วันหนึ่งเขากลั่นเหล้าดีกรีแรงไว้ สั่งให้ลูกจ้างเป็นคนนั่งขาย ตัวเองไปอาบน้ำ ลูกจ้างเกิดอุตริเอาเกลือโรยลงไปในเหล้า ทำให้เหล้าเสียหายหมด
    (พระโพธิสัตว์กล่าวว่า) “ไม่รู้จักประโยชน์ แต่ขยันทำประโยชน์ ทำไปก็ไม่สำเร็จ ประโยชน์ก็ไม่เป็นประโยชน์ เหมือนคนโง่เอาเกลือใส่สุรา”



    เวทัพพชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกศิษย์พราหมณ์ พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ชื่อ เวทัพพะ สามารถร่ายมนต์เรียกฝนเพชรพลอยได้ ถูกโจรจับเป็นตัวประกัน พระโพธิสัตว์เตือนพราหมณ์ว่าอย่าร่ายมนต์พร่ำเพรื่อ พราหมณ์ไม่ทำตาม ในที่สุดก็ถูกโจรฆ่า และพวกโจรก็ฆ่ากันเองเพราะแย่งเพชรพลอยจากฟ้า
    (พระโพธิสัตว์กล่าวว่า) “อยากได้ประโยชน์ แต่ไม่รู้วิธีที่จะได้อย่างแยบยล ประโยชน์ที่หวังก็กลับเป็นโทษ เหมือนโจรฆ่าพราหมณ์ ฉิบหายไปด้วยกัน”



    นักขัตตชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นบัณฑิตชาวกรุง ไปขอลูกสาวเขาที่ต่างจังหวัด เพื่อจะแต่งงานให้ลูกชาย กำหนดวันแต่งไว้แล้ว แต่มัวคอยฤกษ์ยามตามที่หมอดูกำหนด ไม่ได้ฤกษ์สักที จนเขายกลูกสาวให้คนอื่นไป
    (พระโพธิสัตว์กล่าวว่า) “คนโง่มัวแต่คอยฤกษ์ยาม ประโยชน์ก็ผ่านเลยไป ประโยชน์นั่นแหละคือฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจะทำอะไรได้”
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  19. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    ทุมเมธชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเจ้าชาย เห็นประชาชนน้อมบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์สังเวย ก็คิดแก้ประเพณี เอาดอกไม้ของหอมเป็นเครื่องบวงสรวงแทน เมื่อได้ครองราชย์ต่อจากพระบิดาก็ป่าวประกาศให้ชาวเมืองเลิกฆ่าสัตว์บูชายัญ ใครขัดขืนจะฆ่าผู้นั้นแหละบูชายัญ ชาวเมืองกลัวตาย ก็ได้พากันรักษาศีลทั่วหน้า
    (ในคำป่าวประกาศของพระโพธิสัตว์มีว่า) “ในพิธีบูชายัญของข้าพเจ้า ได้บนเทพยดาไว้ด้วยชีวิตคนโง่ ๑๐๐๐ คน ปัจจุบันมีคนละเลยศีลธรรมอยู่ทั่วเมือง ชีวิตพวกนั้นแหละจะเอามาบูชายัญ”



    เตมิยชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชกุมารพระนามว่า เตมิยะ เห็นการลงโทษโจรตามพระบัญชาของพระราชบิดา ซึ่งน่ากลัวมาก ก็สลดพระทัย ไม่อยากจะสืบราชสมบัติต่อ จึงแสร้งเป็นคนพิการหูหนวกเป็นใบ้ พวกปุโรหิตแนะนำให้นำพระองค์ไปฝัง พระบิดาและพระมารดาคัดค้านไม่สำเร็จ ได้แต่ขอให้พระราชกุมารขึ้นครองราชย์(พอเป็นพิธี)สัก ๗ วัน ตลอด ๗ วันนั้นพระราชกุมารก็ยังไม่ยอมเอื้อนโอษฐ์แต่อย่างใด จนกระทั่งถูกพาขึ้นราชรถเพื่อนำไปฝัง จึงตรัสแก่สารถีมี่ปากหลุม ถึงเหตุผลที่ทรงแสร้งทำเป็นคนใบ้ และบอกความประสงค์ว่าต้องการจะออกบวช สารถีได้ทราบความจริงอย่างนั้นก็เลื่อมใสขอออกบวชด้วย ก่อนออกบวชก็ได้กลับไปทูลความจริงทั้งหมดแก่พระบิดาและพระมารดา ทั้งสองพระองค์ได้ไปทูลวิงวอนพระราชกุมารให้กลับไปครองราชสมบัติ แต่ก็ถูกปฏิเสธ และเมื่อได้ฟังคำสอนของพระโพธิสัตว์ก็เลื่อมใส ได้ออกผนวชตาม ต่อมาพระราชาองค์อื่นๆ ก็ชวนกันออกบวชตามพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก
    (ตอนหนึ่ง พระโพธิสัตว์ตรัสแก่พระบิดา เพื่อให้เห็นมรณภัยว่า) “ยิ่งทอ เส้นด้ายก็ยิ่งหมดเปลือง ยิ่งทอ เส้นด้ายก็เหลือน้อยลง...น้อยลง โยมทราบไหมว่า ชีวิตก็เหมือนเส้นด้ายของช่างหูก สายน้ำล้นฝั่ง มีแต่จะหลากไป ไหลไป ไม่หวนกลับ อายุของปวงสัตว์ ก็เหมือนสายน้ำ ไหลไป ลับไป ไม่หวนคืน ชีวิตทั้งหลายเปรียบเหมือนต้นไม้ริมฝั่ง เมื่อน้ำหลากล้นฝั่ง ก็มีแต่จะหักโค่นจมหายไปกับสายน้ำ”



    มหาชนกชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชกุมารพระนามว่า มหาชนก คราวหนึ่งเดินทางข้ามมหาสมุทรเพื่อไปค้าขายที่สุวรรณภูมิ (ก็คือดินแดนแถบๆประเทศไทยนี่แหละ) เรืออัปปางระหว่างเดินทาง พระโพธิสัตว์เพียรแหวกว่ายหาฝั่งอยู่ ๗ วัน จนในที่สุด มณีเมขลา เทพธิดาแห่งมหาสมุทรมาช่วยชีวิตไว้และพาไปขึ้นฝั่งที่กรุงมิถิลา ต่อมาได้เป็นกษัตริย์ครองกรุงมิถิลานั้น แต่ก็ทรงสละราชสมบัติออกผนวช ทรงบำเพ็ญฌานและไปบังเกิดเป็นพรหมในที่สุด
    (ระหว่างพระโพธิสัตว์ว่ายน้ำเพื่อไปให้ถึงฝั่ง พระโพธิสัตว์กับเทพธิดาพูดกันตอนหนึ่ง ดังนี้)
    เทพธิดา - ฝั่งอยู่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ทันถึงฝั่งท่านต้องตายก่อน
    พระโพธิสัตว์ - หน้าที่ของลูกผู้ชาย เมื่อได้ทำเต็มที่แล้ว ญาติมิตรและทวยเทพก็ว่าไม่ได้ ตัวเองก็จะไม่เสียใจในภายหลัง
    เทพธิดา - พยายามแล้วก็ถึงฝั่งไม่ได้ ความตายของท่านก็ไม่มีความหมาย
    พระโพธิสัตว์ - เมื่อรู้ว่าเป็นงานที่สุดวิสัย แล้วไม่พยายามเอาชีวิตรอด ก็จะได้รู้ว่าเป็นงานสุดวิสัยจริง แต่มีบางคนมองไปที่เป้าหมายของงานเท่านั้น จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่คำนึง แม่เทพธิดา! ท่านก็ได้เห็นกับตามิใช่หรือ คนอื่นเขาจมน้ำตายกันหมดแล้ว แต่เรายังไม่ละความเพียร จึงได้พูดคุยอยู่กับท่านไงล่ะ เราจะว่ายต่อไปเท่าที่ความเพียรของลูกผู้ชายจะพึงมี...เป้าหมายอยู่ที่ฝั่ง



    เนมิราชชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชาพระนามว่า เนมิราช ทรงสืบราชประเพณีของบุรพกษัตริย์ในอดีต ที่ล้วนพากันออกผนวชเมื่อเห็นเส้นพระเกศาเริ่มหงอกขาว พระโพธิสัตว์ได้สั่งสอนให้ประชาชนเห็นอานิสงค์ของการให้ทาน รักษาศีลและเจริญสมาธิ ประชาชนเหล่านั้นเมื่อไปเกิดในสวรรค์ก็ระลึกได้ถึงอุปการคุณของพระองค์ ได้ขอให้มาตลีเทพบุตรไปพาพระองค์เสด็จเยี่ยมชมสวรรค์ มาตลีเทพบุตรได้พาพระโพธิสัตว์ไปเยี่ยมชมทั้งนรกและสวรรค์ตามลำดับ เมื่อกลับสู่โลกมนุษย์ พระโพธิสัตว์ก็ยิ่งสั่งสอนประชาชนให้ยึดมั่นในทานศีลเป็นต้น ส่วนพระองค์เองเมื่อพระเกศาเริ่มหงอกขาว ก็เสด็จออกผนวชตามราชประเพณี ทรงบำเพ็ญฌาน มุ่งสู่พรหมโลกเป็นเป้าหมาย
    (ความตอนหนึ่ง หลังจากพระโพธิสัตว์ได้เยี่ยมชมนรกและสวรรค์แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์ได้ตรัสเชื้อเชิญพระโพธิสัตว์ให้อยู่เสวยทิพยสมบัติในดาวดึงส์ พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธว่า) “ยานที่ยืมเขามาขี่ ทรัพย์ที่ยืมเขามาใช้ ก็ให้ประโยชน์เท่าที่เป็นของยืม หม่อมฉันมิประสงค์สิ่งที่คนอื่นเขาให้ บุญที่สั่งสมไว้เอง เป็นทรัพย์ส่วนตัวของหม่อมฉัน หม่อมฉันจะกลับไปโลกมนุษย์ จะกลับไปเพิ่มบุญให้มากขึ้น”



    มโหสธชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นบัณฑิตชื่อ มโหสธ เป็นผู้มากด้วยปัญญาตั้งแต่ยังเด็ก มีชื่อเสียงในทางปฏิภาณไหวพริบไม่มีใครเทียบได้ พระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลาจึงโปรดให้เขารับราชการเป็นบัณฑิตประจำราชสำนัก ต่อมาได้รับตำแหน่งเสนาบดี ได้อาสายกทัพไปรบกับพระเจ้าจูฬนีแห่งกรุงปัญจาละ พระเจ้าจูฬนีขอสงบศึกและชวนพระโพธิสัตว์ไปรับราชการอยู่กับพระองค์เมื่อพระเจ้าวิเทหะสวรรคต พระโพธิสัตว์ก็ตัดสินใจไปอยู่กับพระเจ้าจูฬนีตามคำเชื้อเชิญ ระหว่างอยู่ประจำราชสำนักทั้งสองเมือง พระโพธิสัตว์ต้องเผชิญกับความริษยาของกลุ่มอำนาจเก่ามากมาย แต่ก็เอาตัวรอดได้ด้วยปัญญาตลอดมา ท้ายสุดพระเจ้าจูฬนีได้ประกาศยกย่องพระโพธิสัตว์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญถึงขั้นว่าทรงยอมสละชีวิตพระมารดา พระมเหสี พระโอรส พระสหาย ปุโรหิต และแม้กระทั่งชีวิตของพระองค์เองได้ แต่จะไม่ยอมสละพระโพธิสัตว์ให้แก่ผีเสื้อน้ำ(รากษส)เป็นอันขาด
    (ระหว่างการสู้รบกับพระเจ้าจูฬนี ตอนหนึ่งพระโพธิสัตว์กล่าวแก่พระเจ้าจูฬนีว่า) “สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำช้า เห็นดอกทองกวาวสีแดงในยามราตรี คิดว่าเป็นชิ้นเนื้อ กรูกันไปล้อมดอกทองกวาว รุ่งเช้าเห็นดอกทองกวาวอีกที ถึงได้รู้ว่าไม่ใช่ชิ้นเนื้อ พากันผิดหวัง พระองค์พาไพร่พลรุมล้อมพระเจ้าวิเทหะ ก็ไม่ต่างอะไรกับสุนัขจิ้งจอก ผิดหวังที่รู้ว่าเป็นแค่ดอกทองกวาว”



    จันทกุมารชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชโอรสพระนามว่า จันทะ ช่วยประชาชนให้พ้นคดีที่พราหมณ์ปุโรหิตรับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม พราหมณ์ปุโรหิตคนนั้นผูกอาฆาตในพระโพธิสัตว์ด้วยกรณีนั้น ต่อมาคราวหนึ่ง พระราชา (ผู้เป็นพระราชบิดาของพระโพธิสัตว์) ทรงฝันเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยากจะรู้ทางไปสู่สวรรค์ จึงทรงถามพราหมณ์ปุโรหิตคนนั้น พราหมณ์ปุโรหิตได้โอกาสที่จะแก้แค้นพระโพธิสัตว์ จึงชี้ทางไปสู่สวรรค์แก่พระราชา โดยให้บูชายัญด้วยศีรษะของราชโอรสทั้ง ๔ ราชธิดาทั้ง ๔ ตลอดถึงพระมเหสีทั้ง ๔ และข้าราชบริพารคนอื่นๆอีกเป็นอันมาก พระราชาเป็นคนเขลา เชื่อคำแนะนำของปุโรหิต ทรงบัญชาให้จัดพิธีบูชายัญที่พระลานหลวง ระหว่างจะเริ่มพิธีบูชายัญ ร้อนถึงท้าวสักกะ ทรงมาช่วยล้มพิธีกลางคัน และบอกทางไปสู่สวรรค์ที่ถูกต้องให้ ประชาชนโกรธแค้นมาก ได้รุมประชาทัณฑ์ปุโรหิตคนนั้น และเนรเทศพระราชาออกจากพระนคร แล้วทูลเชิญพระโพธิสัตว์ขึ้นครองราชย์สืบไป
    (เมื่อจะถูกตัดศีรษะบูชายัญตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิต พระโพธิสัตว์ได้กราบทูลพระราชบิดาว่า) “ทางสู่สวรรค์ ผิว่าไปถึงได้ด้วยฆ่าบุตร ไยพราหมณ์ไม่ฆ่าบุตร บูชายัญเสียเอง ผิว่าคนฆ่าและคนถูกฆ่า ต่างบริสุทธิ์ด้วยบูชายัญ ไยเล่าพวกพราหมณ์ไม่ฆ่าญาติ ไม่ฆ่าบุตร และไม่ฆ่าตัวเองก่อนใครอื่น”



    นารทชาดก​

    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นท้าวมหาพรหมชื่อ นารทะ ได้เห็นความพยายามของพระธิดาชื่อ รุจา ที่จะปลดเปลื้องพระราชบิดาให้หลุดพ้นจากมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดตามคำสอนของพวกอาชีวกที่ว่า นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี โลกหน้าไม่มี คุณของมารดาบิดาไม่มี บุญและบาปไม่มี สัตว์ทั้งหลายจะดีก็ดีเอง จะชั่วก็ชั่วเอง ที่สุดแล้วก็จะบริสุทธิ์เองทุกผู้ทุกคน เมื่อมีความเห็นอย่างนี้ พระราชบิดาก็ปล่อยกายปล่อยใจให้อยู่กับกามสุข หมกมุ่นอยู่กับการเสพสุราเมรัยไปวันๆ เมื่อพระธิดาชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นกรรมและผลของกรรมต่างๆ ก็รับฟัง แต่ไม่ยอมเลิกละความเห็นผิดแต่อย่างใด พระธิดาจึงตั้งสัจจอธิษฐาน ขอให้มีสมณพราหมณ์หรือเทวดาหรือพรหมมาช่วย ท้าวมหาพรหมโพธิสัตว์ทรงรับรู้ในสัจจอธิษฐานของพระธิดา จึงลงมาสั่งสอนให้พระราชาเห็นโทษของมิจฉาทิฏฐิ ยังผลให้พระราชามีทิฏฐิอันชอบ ตั้งแต่บัดนั้นทรงบำเพ็ญแต่กุศลจนตลอดพระชนม์ชีพ
    (คำสอนของพระโพธิสัตว์ตอนหนึ่งกล่าวแก่พระราชาว่า) “ใจที่ฝึกดีแล้ว เหมือนม้าที่ได้ฝึกอยู่เสมอ นำทางชีวิต ความอยากและความโลภเป็นทางคด ความสำรวมเป็นทางตรง ดูรามหาบพิตร ปัญญาคือปฏักทิ่มแทงม้า พระองค์โลดแล่นไปตามรูปเสียงกลิ่นรส จิตเท่านั้นเป็นสารถี”



    มัฏฐกุณฑลี​

    มัฏฐกุณฑลีเป็นบุตรเศรษฐี เศรษฐีเป็นคนตระหนี่ เมื่อมัฏฐกุณฑลีป่วยหนัก ก็ปล่อยให้ตาย เพราะกลัวสิ้นเปลืองค่ารักษา (เหมือนกับพ่อแม่บางคนในยุคนี้) พระพุทธองค์เสด็จไปปรากฏพระองค์ให้มัฏฐกุณฑลีเห็นก่อนตาย เขาเกิดความเลื่อมใส ตายไปเกิดในดาวดึงส์ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
    “สิ่งทั้งปวง มีใจเป็นผู้นำ มีใจเป็นใหญ่ เมื่อใจบริสุทธิ์แล้ว จะพูดหรือทำสิ่งใด สุขย่อมตามติด เหมือนเงาตามตัว”



    เรื่องภิกษุชาวโกสัมพี​

    ภิกษุชาวโกสัมพีเกิดความแตกแยกกัน ด้วยเรื่องวินัยสงฆ์ที่เห็นไม่ตรงกัน พระพุทธองค์ทรงตักเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง จึงปลีกพระองค์ไปอยู่ป่าเพียงลำพัง เมื่อประชาชนรู้ว่าสาเหตุมาจากภิกษุสองฝ่ายนั้น จึงงดทำบุญตักบาตรกับภิกษุเหล่านั้น ในที่สุด ภิกษุทั้งสองฝ่ายสำนึกได้ ไปขอขมาพระพุทธองค์ถึงวัดเชตวัน
    “ผู้คนทั่วไป ไม่รู้ว่าตนกำลังย่อยยับ เพราะการทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนผู้เข้าใจเรื่องนี้ดี ย่อมไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน”



    เรื่องพระเทวทัต​

    ครั้งหนึ่ง มีการชักชวนกันทำบุญถวายภัตตาหารแก่ภิกษุครั้งใหญ่ กฎุมพีคนหนึ่งได้ผ้าเนื้อดีมาจากแคว้นคันธาระ ขอมติชาวเมืองว่าควรจะถวายท่านรูปใดดีระหว่างพระสารีบุตรกับพระเทวทัต ในที่สุดเสียงข้างมากมีมติให้ถวายแด่พระเทวทัต แต่เมื่อพระเทวทัตทำผ้านั้นเป็นจีวรครองกาย ก็มีเสียงโจมตีว่าพระเทวทัตไม่คู่ควรกับจีวรนั้น พระพุทธองค์ทรงเล่าถึงอดีตชาติของพระเทวทัตเมื่อเกิดเป็นนายพราน ได้ขโมยจีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้ามาห่ม เพื่อให้โขลงช้างคิดว่าตัวเองเป็นพระแล้วฆ่าได้ง่ายๆ
    “คนที่ไม่มีการข่มใจ, ไร้สัตย์, มีกิเลสครองใจ ถึงจะห่มกาสาวพัสตร์ ก็ไม่คู่ควร”
    “ผู้ใดคลายกิเลส(ราคะ), ตั้งมั่นอยู่ในศีล, รู้จักข่มใจ และมีสัตย์ ผู้นั้นย่อมคู่ควรแก่กาสาวพัสตร์”



    โกสิยเศรษฐีผู้ตระหนี่​

    โกสิยะเป็นเศรษฐีคนหนึ่งของแคว้นมคธ ตระหนี่จัดจนเป็นที่เลื่องลือ แต่ในที่สุดก็ถูกพระมหาโมคคัลลานะสำแดงฤทธิ์ให้ละความตระหนี่ได้ และได้เป็นโสดาบันทั้งเศรษฐีและภรรยา พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระมหาโมคคัลลานะที่สามารถไปช่วยให้เศรษฐีหันมาเป็นคนทำบุญให้ทานได้
    “มุนีจาริกไปในเขตคาม ย่อมเป็นเหมือนภมรที่ไม่ทำให้สีและกลิ่นของดอกไม้ชอกช้ำ ดูดเอาแต่รสหวานบินจร”



    เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปะ​

    เมื่อคราวพำนักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิ พระมหากัสสปะมีสำทธิวิหาริก(ลูกศิษย์)อยู่รับใช้ ๒ รูป รูปหนึ่งตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างดี อีกรูปเอาเปรียบเพื่อน เอาสิ่งที่เพื่อนทำเป็นผลงานของตัว เมื่อพระเถระรู้ความจริงก็ตักเตือน ทำให้เธอโกรธ อีกคราวหนึ่งโยมฝากภัตตาหารไปถวายพระมหากัสสปะ ภิกษุรูปนั้นก็ฉันเสียเอง เมื่อพระเถระตักเตือนอีกเธอก็ยิ่งโกรธ เก็บเป็นความขุ่นแค้นยิ่งขึ้น แล้วเธอก็ระบายแค้นด้วยการเผาบรรณศาลาและเครื่องใช้ไม้สอยของพระเถระเสียย่อยยับและหลบหนีไป เมื่อภิกษุไปทูลรายงานเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ถ้าจะอยู่กับคนพาลอย่างนั้น ก็อยู่ตัวคนเดียวเสียดีกว่า
    “เมื่อไม่ได้เพื่อนที่ดีเช่นตน ก็พึงเดินทางไปคนเดียวให้จงได้ เพราะความเป็นเพื่อนไม่มีในคนโง่ (คนทรามปัญญาคบไม่ได้)”



    เรื่องอานนทเศรษฐี​

    อานนทเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ เป็นคนตระหนี่จัด เมื่อสอนลูกก็สอนให้เป็นคนตระหนี่ ทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ก็ไม่ยอมบอกลูก เขาตายไปเกิดเป็นลูกจัณฑาลยากไร้ ร่างกายพิกลพิการน่ารังเกียจ แม่ให้ไปเป็นขอทาน เขาระลึกชาติได้จึงไปที่บ้านของลูกชายในชาติก่อน เด็กๆเห็นก็พากันร้องไห้จ้า เขาถูกไล่ตะเพิดออกมา พระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตรกับพระอานนท์ไปทางนั้น ทรงเห็นเหตุการณ์ ทรงเรียกเจ้าของบ้านมาตรัสบอกว่า ขอทานคนนั้นคืออานนทเศรษฐีผู้เป็นบิดาของเขา ทรงให้ขอทานไปชี้ขุมทรัพย์ให้หมด
    “คนโง่เดือดร้อนอยู่กับความคิดว่า บุตรของกู ทรัพย์ของกู, ก็ในเมื่อตัวตนของเขาเองยังไม่มี แล้วบุตรและทรัพย์จะมีมาจากไหน”



    เรื่องภิกษุประพฤติอนาจาร​

    ภิกษุ ๒ รูปคือ พระอัสสชิ (คนละรูปกับพระอัสสชิเถระในกลุ่มปัญจวัคคีย์) และพระปุนัพพสุกะ เป็นอลัชชี เป็นสัทธิวิหาริกของพระอัครสาวก แต่มีความประพฤติเสียหาย(อนาจาร)หลายอย่าง เป็นที่เสื่อมศรัทธาของชาวบ้าน พระพุทธองค์ทรงส่งพระอัครสาวกทั้งสองไปลงโทษโดยปัพพาชนียกรรม(ไล่ออกจากวัด) คราวนั้นฝ่ายที่ถูกลงโทษก็ไม่เห็นด้วย แต่ฝ่ายคนมีปัญญารู้ผิดชอบชั่วดีก็พึงพอใจ
    “ตักเตือนพร่ำสอนเขา กันเขาออกจากอสัทธรรม บุคคลประเภทนี้ คนดีรัก คนชั่วเกลียด (เป็นธรรมดา)”



    เรื่องพระฉันนะ​

    ฉันนะ คืออำมาตย์คนสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะ ตามเสด็จเมื่อคราวออกผนวช จึงถือตนว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์ เที่ยวด่าพระอัครสาวกทั้งสองที่ได้ตำแหน่งสำคัญ พระพุทธองค์ทรงเรียกมาตักเตือนก็สงบไปชั่วครั้งชั่วคราว ตรัสแก่พระฉันนะว่าพระอัครสาวกทั้งสองเป็นคนดีควรคบเป็นกัลยาณมิตร เมื่อพระฉันนะยังดื้อดึงไม่หยุด พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้สงฆ์ลงโทษโดยวิธีพรหมทัณฑ์ (ไม่ให้ภิกษุทั้งหลายพูดด้วย ไม่ให้ตักเตือนพร่ำสอน) หลังจากพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว
    “ไม่พึงคบคนชั่วเป็นมิตร ไม่พึงคบคนต่ำทราม พึงคบกัลยาณมิตร พึงคบคนดีสูงส่ง”



    เรื่องสามเณรบัณฑิต​

    เด็กชายบัณฑิตเกิดในครอบครัวโยมอุปัฏฐากของพระสารีบุตร บวชเป็นสามเณร พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ วันหนึ่งระหว่างเดินตามหลังพระอุปัชฌาย์เพื่อไปบ้านโยม สามเณรเห็นเขาทดน้ำเข้านา...เห็นช่างศรกำลังดัดลูกศร...เห็นเขาถากไม้ทำเครื่องเครารถ แต่ละอย่างที่เห็น สามเณรเรียนถามพระเถระว่า สิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นมันมีจิตใจไหม พระเถระตอบว่า น้ำไม่มีจิตใจ ลูกศรก็ไม่มีจิตใจ ไม้ที่เขาถากก็ไม่มีจิตใจ สามเณรฟังแล้วก็เกิดความคิดว่า สิ่งที่ไม่มีจิตใจ คนยังเอามาทำเป็นนั่นเป็นนี่ได้ แล้วจิตของเราทำไมจะเอามาอยู่ในอำนาจของเราไม่ได้ เมื่อคิดดังนี้แล้วสามเณรก็ขอกลับวัด ไปนั่งทำความเพียร จนสำเร็จอรหัตตผล
    “ชาวเหมืองทดน้ำ ช่างศรดัดลูกศร ช่างไม้ถากไม้ (ส่วน)บัณฑิตย่อมฝึกตน”



    เรื่องบิณฑบาตรทำความเดือดร้อน​

    แม่ของนางกาณาทำบุญตักบาตรเป็นประจำ วันหนึ่งทอดขนมไว้ จะให้ลูกสาวเอาไปฝากลูกเขยที่ต่างเมือง แต่พอภิกษุเวียนกันมารับบิณฑบาตร นางก็ถวายจนหมด ไม่เหลือขนมสำหรับฝากลูกเขย ลูกสาวก็ต้องคอยวันแล้ววันเล่า จนสามีของนางมีเมียใหม่ ทำให้นางโกรธภิกษุ เห็นภิกษุที่ไหนก็ด่า ว่าเป็นต้นเหตุให้นางแยกกับสามี แต่ต่อมาเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ นางกาณาก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบัน
    “บัณฑิตฟังธรรมแล้วย่อมมีใจผ่องใส ดังหนึ่งห้วงน้ำลึกที่ใสสะอาด”



    เรื่องภิกษุประสบทุพภิกขภัย​

    เมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ๆ พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่เมืองเวรัญชาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ตามที่พราหมณ์เจ้าเมืองนั้นทูลนิมนต์ พราหมณ์ไม่ได้สนใจดูแลเลย ประกอบกับปีนั้นเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากล้มตายไปทั่ว พระมหาโมคคัลลานะอาสาจะใช้ฤทธิ์ไปบิณฑบาตรที่อุตรกุรุทวีป เพื่อได้อาหารมาเลี้ยงมาประทังชีวิต พระพุทธองค์ทรงห้าม ภิกษุทั้งหลายซึ่งล้วนเป็นพระอริยะก็ทนเอาจนตลอดพรรษา พระพุทธองค์ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า สัตบุรุษเมื่อไม่มีโลภะแล้ว ไม่ว่ายามสุขหรือยามทุกข์ ย่อมไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ
    “สัตบุรุษพร้อมที่จะเสียสละ ไม่พร่ำบ่นหวงแหน บัณฑิตมิแสดงอาการดีใจเสียใจ ไม่ว่าเผชิญสุขหรือทุกข์”



    เรื่องพระสารีบุตร​

    พระพุทธองค์ตรัสถามพระสารีบุตรว่า เชื่อไหมว่าอินทรีย์ ๕ (มีศรัทธาเป็นต้น) เมื่อบุคคลเจริญ(ภาวนา)มากๆเข้า สามารถทำให้บรรลุมรรคผลได้ พระสารีบุตรกราบทูลว่าไม่เชื่อ ในกรณีที่บุคคลผู้นั้นไม่มีปัญญา(วิปัสสนา)เป็นส่วนสำคัญ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังก็กล่าวโทษพระสารีบุตรว่าคัดค้านพระพุทธองค์
    “คนที่ไม่เชื่อง่าย รู้แจ้งซึ่งนิพพาน ตัดขาดสังสารวัฏ กำจัดช่องทางแห่งบาป ละคลายความวาดหวัง นั่นแหละยอดคน”



    เรื่องความสงสัยของพราหมณ์​

    พราหมณ์คนหนึ่งเกิดความสงสัยว่า พระพุทะองค์ทรงรู้เฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์เท่านั้น หรือว่าเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ทรงรู้ จึงไปทูลถาม พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ทรงรู้ เช่น นอนตื่นสาย ขี้เกียจ เป็นต้น ลองเป็นอย่างนั้นดูแล้ว ก็จะรู้ว่ามันไม่เป็นประโยชน์อย่างไร ทรงถามพราหมณ์ว่ามีอาชีพอะไร พราหมณ์ทูลว่าเป็นนักเล่นสกา ทรงถามเพื่อจะสอนพราหมณ์ว่า การเล่นสกามีแพ้มีชนะ แต่การชนะคนอื่น สู่ชนะตัวเองไม่ได้
    “ชนะตนนั่นแหละประเสริฐ หาใช่ชนะใครอื่นไม่”
    “คนผู้ได้ฝึกตน มีความสำรวมอยู่เสมอ เทวดา คนธรรพ์ มาร ตลอดถึงพรหม ก็เอาชนะไม่ได้”



    เรื่องพระสัปปทาส​

    ภิกษุรูปหนึ่งบวชแล้วรุ่มร้อนใจอยากจะสึก แต่มาคิดว่า ถ้าจะออกไปเป็นคฤหัสถ์ ตายเสียดีกว่า จึงพยายามฆ่าตัวตาย ครั้งแรกให้งูพิษกัด งูก็ไม่ยอมกัด (เป็นที่มาของชื่อ “สัปปทาส”) ครั้งที่ ๒ เอามีดโกนจ่อคอหอยจะเชือดคอตายอยู่แล้ว แต่พอนึกสำรวจศีลของตัวเองตั้งแต่วันบวช เห็นแต่ความหมดจด เกิดปีติแล้วเจริญวิปัสสนาได้บรรลุอรหัตตผล จึงถือมีดโกนไปเล่าเรื่องที่ตนพยายามฆ่าตัวตาย แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าแทนที่จะฆ่าตัวตาย ฆ่ากิเลสด้วยญาณเสียดีกว่า ภิกษุทั้งหลายเกิดความสงสัยว่า อรหัตตมรรคเกิดขึ้นได้ในชั่วขณะอย่างนั้นหรือ พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุผู้ทำความเพียร แค่ว่ายกเท้าขึ้นจะวางเท้าลงบนพื้น ระหว่างนั้นอรหัตตมรรคก็เกิดขึ้นได้
    “ผู้ระดมความเพียรอย่างแข็งขัน มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าการมีชีวิต ๑๐๐ ปีของคนเกียจคร้านเหลาะแหละ”



    พระคาถาอื่นๆ​

    - หากจำต้องทำความชั่ว ก็ต้องไม่ทำให้บ่อย ต้องไม่ทำความพอใจในการทำความชั่วนั้น เพราะการสั่งสมความชั่ว เป็นทุกข์
    - หากได้ทำความดี ก็พึงทำบ่อยๆ พึงทำความพอใจในการทำความดีนั้น เพราะการสั่งสมความดี เป็นสุข
    - ตราบที่บาปยังไม่ส่งผล คนบาปก็จะเห็นว่ามันดี ต่อเมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นแหละ คนบาปก็จะเห็นว่ามันเลว
    - เมื่อความดียังไม่ส่งผล คนดีก็ยังเห็นได้ว่ามันชั่ว ต่อเมื่อใดความดีให้ผล เมื่อนั้นคนดีก็ได้เห็นว่ามันดี
    - อย่าดูถูกว่าบาปเล็กน้อยจะไม่มีผล แม้แต่หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำฝนที่หยาดหยด(ทีละหยด)ได้ คนโง่สั่งสมบาปทีละน้อยๆ ก็เต็มไปด้วยบาปได้
    - อย่าดูถูกว่าบุญเล็กน้อยจะไม่มีผล แม้แต่หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยน้ำฝนที่หยาดหยด(ทีละหยด)ได้ ธีรชนสั่งสมบุญทีละน้อยๆ ก็เต็มเปี่ยมด้วยบุญได้
    - หนีขึ้นฟ้า, ไปอยู่กลางสมุทร, หลบไปอยู่ในซอกเขา ไม่มีเลยสักแห่งที่(ผู้ทำบาป)จะอยู่ให้พ้นจากบาปกรรมได้
    - หนีขึ้นฟ้า, ไปอยู่กลางสมุทร, หลบไปอยู่ในซอกเขา ไม่มีเลยสักแห่งที่สัตว์จะอยู่ให้พ้นความตายได้
    - สัตว์ทั้งปวงหวาดสะดุ้งต่อโทษทัณฑ์ กลัวความตาย เมื่อคิดว่าตนก็เป็นอย่างเดียวกัน ไม่พึงลงมือฆ่าเอง (และ) ไม่พึงให้คนอื่นฆ่า
    - สัตว์ทั้งปวงหวาดสะดุ้งต่อโทษทัณฑ์ รักชีวิต เมื่อคิดว่าตนก็เป็นอย่างเดียวกัน ไม่พึงลงมือฆ่าเอง (และ) ไม่พึงให้คนอื่นฆ่า
    - สัตว์ทั้งหลายต้องการความสุข ผู้แสวงสุขแก่ตนแต่เบียดเบียนทำร้ายเขา ตายไปย่อมไม่ได้รับความสุข
    - สัตว์ทั้งหลายต้องการความสุข ผู้แสวงสุขแก่ตน ไม่ทำร้ายให้เขาเดือดร้อน ตายไปย่อมได้รับความสุข
    - คนพาลทรามปัญญา เมื่อทำกรรมชั่วก็ไม่รู้สำนึก ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมชั่วที่ตนทำ เหมือนถูกไฟเผา
    - ผู้ใดลงทัณฑ์ทำร้ายผู้ไม่ลงทัณฑ์ทำร้ายใคร ผู้นั้นย่อมประสบเรื่องร้ายโดยพลัน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ใน ๑๐ อย่าง (เรื่องร้าย ๑๐ อย่างนั้นคือ) ๑.ทุกขเวทนาสาหัส ๒.ความเสื่อมเสีย ๓.ถูกทำร้ายร่างกาย ๔.เจ็บป่วยหนัก ๕.เป็นโรคจิต(วิกลจริต)... ๖.อุปสรรคจากพระราชา(ราชการ) ๗.ถูกกล่าวหารุนแรง ๘.เสื่อมสิ้นญาติ ๙.ทรัพย์สมบัติย่อยยับ (เรื่องร้ายอีกประการหนึ่ง คือ) ๑๐.บ้านเรือนถูกไฟเผา, คนทรามปัญญา(ที่ประสบเรื่องร้ายนั้น) ตายไปย่อมตกนรก
    - ไฉนจึงหรรษาร่าเริงกันอยู่ ในเมื่อโลกลุกเป็นไฟตลอดเวลา, เมื่อความมืดมิดปกคลุมอยู่ พวกเธอกลับไม่หาประทีปส่อง
    - ราชรถงามตระการมีวันทรุดโทรม ร่างกายก็มีวันทรุดโทรม แต่ธรรมของสัตบุรุษไม่มีวันทรุดโทรม สัตบุรุษกับสัตบุรุษคุยกันเข้าใจ
    - คนมีการศึกษาน้อย แก่เปล่า เหมือนโคถึกที่เจริญแต่เนื้อหนัง ปัญญาหาเจริญไม่
    - เบื้องต้น ทำตนให้ดีก่อน ต่อจากนั้นจึงค่อยสอนคนอื่น บัณฑิตจึงไม่เสื่อมเสีย
    - สอนคนอื่นอย่างใด ให้ทำตนอย่างนั้น ฝึกตนดีแล้ว ค่อยฝึก(คนอื่น)เขา ด้วยว่าตนเองฝึกตนเองได้ยาก
    - ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน ใครที่ไหนจะเป็นที่พึ่งได้ ผู้ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้ยาก
    - เคยประมาทมาก่อน แต่ภายหลังไม่ประมาท ก็ยังโลกนี้ให้สว่าง(ชีวิตรุ่งเรือง)ได้ เหมือนดวงจันทร์พ้นเมฆา
    - ทำบาปไว้แล้วละได้ด้วยความดี ก็ยังโลกนี้ให้สว่าง(ชีวิตรุ่งเรือง)ได้ เหมือนดวงจันทร์พ้นเมฆา
    - โลกนี้มืดมน น้อยคนเห็นแจ้ง น้อยคนไปสวรรค์ อย่างนกหลุดจากตาข่าย
    - คนพูดเท็จ ละเมิดธรรมอันเอก(คำสัตย์) มองข้ามปรโลก ที่จะไม่ทำบาป ย่อมไม่มี
    - คนตระหนี่ ไปเทวโลกไม่ได้ คนโง่ไม่สรรเสริญทาน ธีรชนอนุโมทนาทาน ฉะนั้น ธีรชนจึงมีความสุขในปรโลก
    - โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าในปฐพี ยิ่งกว่าได้ไปสรวงสวรรค์ ยิ่งกว่าความยิ่งใหญ่ในทุกโลก
    - การได้เป็นมนุษย์ ก็ยาก การที่จะมีชีวิตอยู่ ก็ยาก การที่จะได้ฟังธรรม ก็ยาก การที่จะบังเกิดมีพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ยาก
    - ถึงเงินตราจะตกลงมาดังห่าฝน ความอยากก็ไม่รู้อิ่ม กามทั้งหลายมีสุขเล็กน้อยมีทุกข์มากกว่า บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้
    - แม้กามอันเป็นทิพย์ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ยินดี หากยินดีแต่กับความสิ้นตัณหา
    - เมื่อกลัวภัย มนุษย์ส่วนมากก็หันไปพึ่ง ภูเขา ป่า สวน ต้นไม้ เจดีย์ (ซึ่งตนคิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์) นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันอุดม อาศัยที่พึ่งอย่างนั้น พ้นจากทุกข์ทั้งปวงไม่ได้ ผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจจ์ ๔ ด้วยสัมมาปัญญา (อริยสัจจ์ ๔ นั้น คือ) ๑.ทุกข์ ๒.เหตุให้เกิดทุกข์ ๓.การก้าวล่วง(ดับ)ทุกข์ ๔.อริยมรรคมีองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ นั่นคือที่พึ่งอันเกษม นั่นคือที่พึ่งอันอุดม อาศัยที่พึ่งอย่างนั้นจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
    - การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นสุข, การแสดงธรรมของสัตบุรุษเป็นสุข, ความสามัคคีของหมู่เป็นสุข, ความเพียรของผู้มีความสามัคคีกันเป็นสุข
    - ผู้ชนะได้เวร ผู้แพ้อยู่เป็นทุกข์ ละได้ทั้งชนะและแพ้ ใจสงบ ย่อมอยู่เป็นสุข
    - ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี, โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี, ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี, สุขที่ยิ่งกว่าความสงบไม่มี
    - ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง, สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะรู้ในเรื่องนี้ตามเป็นจริง นิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง
    - เมื่อคบหาสมาคมกับคนพาล ก็ย่อมเศร้าเสียใจไปนาน อยู่กับคนพาล ก็ย่อมเป็นทุกข์ เหมือนได้อยู่กับศัตรูตลอดเวลา ส่วนธีรชน เป็นความสุขเมื่อได้อยู่กับท่าน เหมือนได้อยู่พร้อมหน้าระหว่างหมู่ญาติ เพราะฉะนั้น พึงคบสัตบุรุษผู้เป็นปราชญ์ มีปัญญา เป็นพหูสูต มีศีลมีวัตรอันดี มีความรู้ดี เหมือนดวงจันทร์โคจรไปกับกลุ่มดาว
    - ประพฤติตนในเรื่องที่ไม่ควรประพฤติ ไม่ประพฤติในเรื่องที่ควรประพฤติ ปล่อยทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ เห็นแก่สิ่งที่น่ารัก เมื่อเห็นเขาประพฤติตนได้ดีก็ได้แต่อิจฉาตาร้อน
    - ใครก็รัก ถ้าเป็นคนมีศีล มีความเห็นถูกต้อง ตั้งอยู่ในธรรม พูดคำสัตย์ เอาการเอางานของตน
    - บุญย่อมต้อนรับคนผู้ทำบุญไว้ซึ่งจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า เหมือนต้อนรับญาติผู้มาเยือน
    - ละความโกรธให้ได้ สลัดความถือตัวออกไป ก้าวล่วงกิเลสร้อยรัดทั้งหมดให้สิ้น ทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่ตกต้องเขา ผู้ซึ่งไม่ติดอยู่กับนามและรูป ไม่มีกิเลสทำให้กังวล
    - ความโกรธ พึงเอาชนะด้วยความไม่โกรธ, ความชั่วพึงเอาชนะด้วยความดี, ความตระหนี่พึงเอาชนะด้วยทาน, คนพูดเหลวไหลพึงเอาชนะด้วยคำสัตย์
    - พูดคำสัตย์, ไม่โกรธ, ให้ของเล็กๆน้อยๆที่เขาขอ ทำได้ ๓ อย่างนี้ สวรรค์อยู่แค่เอื้อม
    - อตุละ! เรื่องนี้เป็นมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่เพิ่งเป็นวันนี้ นั่งเฉยเขาก็นินทา พูดมากเขาก็นินทา พูดน้อยเขาก็นินทา คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก คนที่ถูกนินทาโดยส่วนเดียวไม่มี คนที่เขาสรรเสริญโดยส่วนเดียวก็ไม่มี ไม่มีทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต ทั้งในปัจจุบัน
    - วิญญูชน พิจารณาดีแล้วจึงสรรเสริญคนที่มีความประพฤติหาที่ตำหนิมิได้ ผู้เป็นปราชญ์ ตั้งมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เขาผู้นั้น เหมือนแท่งทองบริสุทธิ์ ใครเล่าจะติฉินนินทาเขาได้ เทวดาก็ชม พรหมก็สรรเสริญเขา
    - มนต์ เสื่อมเพราะไม่สวดท่อง, บ้านเรือนเสื่อมเพราะไม่หมั่นขยัน(ไม่ปรับปรุงซ่อมแซม), ความเกียจคร้าน เป็นความเสื่อมของผิวพรรณ, ความประมาทเป็นความเสื่อมของการดูแลรักษา
    - ความประพฤติเสื่อมเสีย เป็นมลทินของสตรี, ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้ทาน, บาปธรรมทั้งหลาย ล้วนเป็นมลทิน ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า
    - โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเองเห็นยาก คนเราชอบหว่านโปรยโทษของคนอื่น แต่ซ่อนบังโทษของตน เหมือนนายพรานอำพรางตัวเอง
    - พิจารณาตัดสินคดีโดยหุนหันเอาแต่ด้านประโยชน์ ไม่จัดเป็นคนเที่ยงธรรม ส่วนบัณฑิต มีการวินิจฉัยคดีทั้งด้านประโยชน์และด้านมิใช่ประโยชน์ นักปราชญ์ตัดสินผู้อื่นโดยรอบคอบ โดยยุติธรรมเสมอกัน ถือธรรม(ความถูกต้อง)เป็นหลัก เรียกได้ว่าผู้ดำรงอยู่ในธรรม
    - คนเราไม่ใช่เป็นเถระ(ผู้ใหญ่)เพราะผมหงอกขาว คนผู้แก่แต่วัย เรียกว่าคนแก่เปล่า ผู้ใดมีสัจจะ คุณธรรม ความไม่เบียดเบียน ความสำรวมระวัง ความข่มใจ ละกิเลสได้ เป็นปราชญ์ เรียกได้ว่าเป็นเถระ(ผู้ใหญ่)
    - ความเพียร(เพื่อเผากิเลส)เป็นหน้าที่ที่เธอทั้งหลายพึงกระทำ ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก เมื่อได้ดำเนินตาม เพียรเพ่ง ก็จะพ้นจากบ่วงมาร
    - คนหนุ่ม มีเรี่ยวแรงแต่ขี้เกียจ ไม่ขยันในเวลาที่ต้องขยัน นึกคิดแต่ในทางต่ำ เป็นคนเกียจคร้านเฉื่อยชา ย่อมไม่พบทางแห่งปัญญา
    - ปัญญาเกิดจากการใช้ความคิด(ด้วยเหตุผล) ปัญญาเสื่อมหมดไปเพราะไม่ใช้ความคิด เมื่อรู้ทั้งทางเจริญและทางเสื่อม(แห่งปัญญา) ก็พึงดำรงตนโดยวิธีที่ปัญญาจะเจริญขึ้น
    - คนโง่มักคิดว่า เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน เราจักอยู่ที่นี่ถึงฤดูหนาวและฤดูร้อน ไม่ได้รู้สำนึกถึงอันตราย
    - ผู้ใดปรารถนาสุขเพื่อตน ด้วยการก่อทุกข์แก่คนอื่น ผู้นั้นผูกตนไว้กับเวร รอดพ้นจากเวรไปไม่ได้
    - คนดีปรากฏให้เห็นไกล เหมือนภูหิมพานต์ ส่วนคนชั่วอยู่แค่นี้ก็ไม่ปรากฏ เหมือนลูกศรที่ยิงในเวลาค่ำมืด
    - พูดคำไม่จริง กับทำแล้วบอกว่าไม่ได้ทำ คนสองพวกนี้ล้วนทำชั่ว ตายไปแล้วเท่าเทียมกันในปรโลก
    - คนมัวเมา ผิดลูกเมียเขา ย่อมประสบเรื่องเลวร้าย ๔ อย่าง คือ ๑.ได้สิ่งที่ไม่ดี(บาป) ๒.หลับไม่สนิท ๓.คนนินทา ๔.ตกนรก
    - ได้สิ่งที่ไม่ดี(บาป) ๑ มีคติ(ภพ)อันเลว ๑ ได้ความยินดีเล็กน้อยเพราะต่างคนต่างกลัว(ความผิด) ๑ ต้องโทษอาญาหนัก ๑ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรผิดลูกเมียเขา
    - กรรมชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า เพราะมันทำให้เดือดร้อนตามมา ทำกรรมดีไว้ดีกว่า เพราะทำแล้วไม่ต้องเฝ้าแต่เดือดร้อน
    - จงป้องกันตน เหมือนที่เขาป้องกันเมืองชายแดน ทั้งในเมืองและนอกเมือง, แต่ละขณะ อย่าให้ผ่านเลยไป(โดยเปล่าประโยชน์) เพราะพวกที่เศร้าเสียใจเต็มนรกอยู่ เป็นพวกปล่อยโอกาสให้ล่วงเลยไปเปล่า
    - เราจักอดกลั้นต่อคำล่วงเกิน เหมือนช้างออกศึก ที่ทนต่อลูกศรซึ่งพุ่งจากแล่ง(เข้ามาหา) เพราะผู้คนส่วนมากเป็นพวกทุศีล ช้างที่ฝึกแล้ว เขาจึงพาออกงาน ช้างที่ฝึกแล้ว พระราชาจึงขึ้นทรง ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนแล้ว อดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ เป็นคนล้ำเลิศ
    - ได้เกื้อกูลมารดาก็เป็นสุข ได้เกื้อกูลบิดาก็เป็นสุข ได้เกื้อกูลสมณะก็เป็นสุข ได้เกื้อกูลพรหมก็เป็นสุข (พรหม ในที่นี้หมายถึงผู้ลอยบาปแล้ว ซึ่งได้แก่พระอรหันต์)
    - ดูเขาสิ อยู่นอกป่า(กิเลส)แล้วยังมีใจน้อมไปหาป่า พ้นจากป่าออกมาแล้วยังวิ่งเข้าป่าอีก เขาเป็นอิสระแล้วยังวิ่งเข้าหาเครื่องจองจำอีกจนได้
    - ผู้ใดยินดีในธรรมอันสงบระงับวิตก เจริญอสุภกรรมฐาน มีสติอยู่ทุกเมื่อ ผู้นั้นแหละขจัดตัณหาได้สิ้น ตัดทำลายเครื่องจองจำแห่งมาร(ขาดสะบั้น)
    - ธรรมทานชนะทุกทาน, ธรรมรสชนะทุกรส, ยินดีในธรรม ชนะทุกความยินดี, สิ้นตัณหาชนะทุกข์ทั้งปวง
    - โภคทรัพย์ฆ่าคนโง่ได้ ฆ่าผู้แสวงฝั่งนิพพานไม่ได้, เพราะมีตัณหาในโภคทรัพย์ คนโง่ย่อมฆ่าตนเองเหมือนฆ่าผู้อื่น
    - ผืนนาเสียหายเพราะหญ้า, สัตว์โลกเสียหายเพราะราคะ ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากราคะ จึงมีผลมาก ผืนนาเสียหายเพราะหญ้า, สัตว์โลกเสียหายเพราะโทสะ ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโทสะ จึงมีผลมาก ผืนนาเสียหายเพราะหญ้า, สัตว์โลกเสียหายเพราะโมหะ ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโมหะ จึงมีผลมาก ผืนนาเสียหายเพราะหญ้า, สัตว์โลกเสียหายเพราะความอยาก (ตัณหา) ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากความอยาก จึงมีผลมาก
    - ภิกษุผู้มีลาภ(ปัจจัย ๔)น้อย แต่ไม่ดูหมิ่นลาภของตน ดำรงชีวิตอย่างบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน เทวดาก็ยังเทิดทูน
    - ไม่มีปัญญาก็ไม่มีฌาน ไม่มีฌานก็ไม่มีปัญญา ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นก็จ่อนิพพาน
    - คนเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่เพราะชฎา ไม่ใช่เพราะโคตร ไม่ใช่เพราะชาติกำเนิด, สัจจะและธรรมมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นก็สะอาด บริสุทธิ์ และเป็นพราหมณ์ (คำว่า พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอรหันต์ก็มี (ในความหมายว่าผู้ลอยบาปแล้ว) หมายถึงภิกษุผู้กำลังทำความเพียรเพื่อบรรลุมรรคผลก็มี หมายถึงนักบวชในลัทธิพราหมณ์ก็มี ไม่ได้หมายถึงพราหมณ์ในวรรณะพราหมณ์)
    - คนโง่เอ๋ย มีประโยชน์อะไรกับชฎา มีประโยชน์อะไรกับหนังเสือ(ที่ใช้นุ่งห่ม) ภายในของเจ้ารุงรัง(ด้วยกิเลส) เกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก
    - เราไม่เรียกบุคคลว่าพราหมณ์ ที่ชาติกำเนิด ที่มารดาผู้ให้คลอด, เขาเรียกตัวเองว่าผู้เจริญ แต่เขาก็ยังมีกิเลส, คนไม่มีกิเลส ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นต่างหาก เราเรียกว่าพราหมณ์ (คำว่า พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอรหันต์ก็มี (ในความหมายว่าผู้ลอยบาปแล้ว) หมายถึงภิกษุผู้กำลังทำความเพียรเพื่อบรรลุมรรคผลก็มี หมายถึงนักบวชในลัทธิพราหมณ์ก็มี ไม่ได้หมายถึงพราหมณ์ในวรรณะพราหมณ์)
    - คนที่ไม่ชิงชัง ท่ามกลางผู้ชิงชัง, เย็นสนิทท่ามกลางผู้นิยมความรุนแรง, ไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่ามกลางผู้ยึดมั่นถือมั่น เราเรียกว่า พราหมณ์ (คำว่า พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอรหันต์ก็มี (ในความหมายว่าผู้ลอยบาปแล้ว) หมายถึงภิกษุผู้กำลังทำความเพียรเพื่อบรรลุมรรคผลก็มี หมายถึงนักบวชในลัทธิพราหมณ์ก็มี ไม่ได้หมายถึงพราหมณ์ในวรรณะพราหมณ์)
    - คนที่ทำให้ราคะ, โทสะ, มานะ(ความถือตัว), มักขะ(ความลบหลู่) ตกไปหมดสิ้น เหมือนเมล็ดผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม เราเรียกเขาว่า พราหมณ์ (คำว่า พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอรหันต์ก็มี (ในความหมายว่าผู้ลอยบาปแล้ว) หมายถึงภิกษุผู้กำลังทำความเพียรเพื่อบรรลุมรรคผลก็มี หมายถึงนักบวชในลัทธิพราหมณ์ก็มี ไม่ได้หมายถึงพราหมณ์ในวรรณะพราหมณ์)
    - คนที่ไม่หยิบฉวยเอาของเขา โดยที่เขาไม่ได้ให้ ไม่ว่ายาวหรือสั้น ละเอียดหรือหยาบ งามหรือไม่งามก็ตาม เราเรียกเขาว่า พราหมณ์ (คำว่า พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอรหันต์ก็มี (ในความหมายว่าผู้ลอยบาปแล้ว) หมายถึงภิกษุผู้กำลังทำความเพียรเพื่อบรรลุมรรคผลก็มี หมายถึงนักบวชในลัทธิพราหมณ์ก็มี ไม่ได้หมายถึงพราหมณ์ในวรรณะพราหมณ์)
    - คนที่ละกิเลสผูกมัดใจ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ เป็นอิสระจากการผูกมัดทั้งปวง เราเรียกเขาว่า พราหมณ์ (คำว่า พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอรหันต์ก็มี (ในความหมายว่าผู้ลอยบาปแล้ว) หมายถึงภิกษุผู้กำลังทำความเพียรเพื่อบรรลุมรรคผลก็มี หมายถึงนักบวชในลัทธิพราหมณ์ก็มี ไม่ได้หมายถึงพราหมณ์ในวรรณะพราหมณ์)



    เรื่องของพราหมร์ผู้กระด้างเพราะถือตัว​

    มีพราหมณ์คนหนึ่ง ไม่ไหว้มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย เป็นผู้กระด้างเพราะถือตัว
    พราหมณ์ผู้นั้นคิดว่า พระสมณโคดมนี้ ทรงแสดงธรรมอยู่ ถ้าอย่างไรเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักพูดกับเรา เราก็จักพูดด้วย ถ้าพระสมณโคดมจักไม่พูดกับเรา เราก็จักไม่พูดด้วย
    พราหมณ์ผู้นั้นจึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค ครั้งเข้าไปใกล้แล้ว จึงยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง คิดว่า พระสมณโคดมย่อมไม่รู้อะไร จึงใคร่จะกลับจากที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิด จึงตรัสกับพราหมณ์ว่า
    “ดูก่อนพราหมณ์ ! ความถือตัวมีแก่ใครในโลกนี้ ก็ไม่เป็นของดีเลย. ท่านมาด้วยความต้องการอันใด ก็พึงกล่าวความต้องการนั้นเถิด”
    พราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมย่อมรู้จิตของเรา จึงหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วนเศียรเกล้า ณ ที่นั้น แล้วจุมพิตพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยปาก เอามือนวดฟั้น (พระบาท) ประกาศตนามของตนว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้าพระองค์คือมานถัทธะ ข้าพระองค์คือมานถัทธะ (ผู้กระด้างเพราะถือตัว).”
    ที่ประชุมก็เกิดความรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า “น่าอัศจรรย์หนอ เรื่องไม่เคยมี มามีขึ้น พราหมณ์ผู้นี้ไม่ไหว้มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย กลับทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในพระสมณโคดม.”
    พราหมณ์นั้นนั่งบนอาสนะของตนแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ไม่ควรทำความถือตัวในใคร? ควรมีความเคารพอย่างไร? ควรนอบน้อมใคร? ควรบูชาอย่างดีต่อใคร?”
    พระผู้มีพระภาคได้ทรงภาษิตพระคาถาตอบว่า
    “ควรมีความเคารพในมารดา บิดา พี่ชาย อาจารย์เป็นที่สี่ ท่านควรนอบน้อมและบูชาอย่างดีในพระอรหันต์ ผู้สงบเย็น ผู้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ผู้ไม่มีกิเลสที่ดองสันดาน. ผู้ละมานะได้ ไม่กระด้าง เพราะอนุสัยนั้น เป็นผู้ยอดเยี่ยม.”
    พราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
    (หมายเหตุ - มานะ คือความถือตัว จัดเป็นอนุสัยคือกิเลสที่ดองสันดานอย่างหนึ่ง)



    ทีฆนขสูตร​

    ปริพพาชกชื่อทีฆนขะ (ไว้เล็บยาว) มาเฝ้า แสดงความเห็นว่า ทุกอย่างไม่ควรแก่ตน (เป็นการพูดกระทบว่า แม้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ควรแก่เขา) ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ความเห็นนั้น ก็ไม่ควรแก่ท่านด้วย. ทูลต่อไปว่า ตนชอบใจความเห็นที่ว่า สิ่งนั้นเหมือนกันหมด (เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเอาจำนน ก็เลี่ยงไปทางอื่นว่า อะไรๆก็แค่นั้นแหละ หรือราคาเดียวกัน เพื่อจะชี้ว่า อย่านึกว่าใครสูงต่ำกว่าใคร ปริพพาชกผู้นี้โกรธเคืองว่า พระผู้มีพระภาคจูงเอาพระสารีบุตร ซึ่งเป็นลุงของตนมาบวช) ตรัสตอบว่า คนที่พูดอย่างนี้ ยังไม่ละทิฏฐินั้น ซ้ำยังไปถือทิฏฐิอื่นอีกด้วย มีอยู่มาก แต่คนที่พูดอย่างนี้แล้วละทิฏฐินั้น ไม่ถือทิฏฐิอื่น มีน้อยมาก.
    ครั้นแล้วตรัสแสดงถึงสมณพราหมณ์บางพวกที่เห็นว่า ทุกสิ่งควรแก่ตนบ้าง ทุกสิ่งไม่ควรแก่ตนบ้าง เห็นว่า บางอย่างควร บางอย่างไม่ควรบ้าง. ฝ่ายที่เห็นว่า ทุกสิ่งควรแก่ตน ใกล้ไปทางยินดี ยึดมั่นยึดถือ. ฝ่ายที่เห็นว่า ทุกสิ่งไม่ควรแก่ตน. ใกล้ไปในทางไม่ยินดี ไม่ยึดมั่น ไม่ยึดถือ. ปริพพาชกจึงกล่าวว่า พระสมณโคดมยกย่องความเห็นของตน. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า ฝ่ายที่เห็นว่า บางอย่างควร บางอย่างไม่ควร ก็ใกล้ไปทางยินดีบ้าง ไม่ยินดีบ้าง เป็นต้น. แล้วตรัสต่อไปว่า วิญญูชนย่อมพิจารณาเห็นว่า การยึดทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมทำให้ทะเลาะวิวาทกัน ทำให้เบียดเบียนกัน จึงละทิฏฐิเหล่านั้น และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น.
    ตรัสสอนว่า ควรพิจารณาเห็นกายนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นต้น จนถึงไม่ใช่ตัวตน. เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ก็จะละความพอใจในกายเสียได้.
    ครั้นแล้วตรัสเรื่องเวทนา ๓ คือ สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข และชี้ให้เห็นความไม่เที่ยง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เป็นต้น ของเวทนาเหล่านั้น. เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ อริยสาวกย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาทั้งสามและเมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด และหลุดพ้น รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว สิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ฯลฯ ผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้ ย่อมไม่วิวาทกับใครๆ. สิ่งใดที่เขาพูดกันในโลก ก็พูดตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดถือ.
    พระสารีบุตรนั่งพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระผู้มีพระภาค มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน (เป็นพระอรหันต์) ส่วนปริพพาชกชื่อทีฆนขะ ได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นโสดาบันบุคคล) เมื่อเห็นธรรมแล้ว ปริพพาชกกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013
  20. Chakkrapong

    Chakkrapong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +213
    อัสสลายนสูตร​

    ครั้งนั้นพวกพราหมณ์ชาวแว่นแคว้นต่างๆประมาณ ๕๐๐ มาพักอยู่ในกรุงสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ต่างปรึกษากันว่า พระสมณโคดมบัญญัติความบริสุทธิ์ทั้งสี่วรรณะ (ไม่กดพวกวรรณะต่ำ) ใครหนอจะสามารถโต้ตอบกับพระสมณโคดมในเรื่องนี้ ครั้งนั้นมาณพหนุ่มอายุ ๑๖ ชื่ออัสสลายนะ เป็นผู้เชี่ยวชาญไตรเวท พร้อมด้วยคัมภีร์ประกอบ พักอยู่ในกรุงสาวัตถีนั้น พวกพราหมณ์เหล่านั้น จึงไปหามาณพนั้น ขอให้ไปโต้ตอบ มาณพไม่ยอม อ้างว่าพระสมณโคดมเป็นธรรมวาที (ผู้กล่าวเป็นธรรม) พวกพราหมณ์ก็แค่นไค้จนถึง ๓ ครั้ง และในท้ายแห่งครั้งที่สาม ได้กล่าวว่า อย่าแพ้ทั้งที่ยังไม่ทันได้รบ มาณพก็ยืนยันตามเดิมว่า ไม่สามารถโต้ตอบกับพระสมณโคดม แต่จะไปตามถ้อยคำของพวกพราหมณ์
    มาณพจึงไปพร้อมด้วยพราหมณ์คณะใหญ่ เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้วจึงถามพระมติว่า จะทรงคิดเห็นอย่างไร ในข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า วรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐ เป็นฝ่ายขาว บริสุทธิ์ ส่วนวรรณะอื่นตรงกันข้าม พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ อ้างว่าพราหมณ์เกิดจากองค์กำเนิดของนางพราหมณ์ จะว่าเกิดจากปากพรหมเป็นผู้ประเสริฐได้อย่างไร แล้วได้ตรัสถึงประเพณีในแคว้นโยนกกับกัมโพช และชนบทชายแดนอื่นๆ ที่มีคนเพียง ๒ วรรณะ คืออัยยะ (นาย) กับทาส คนเป็นนายแล้วเป็นทาสก็ได้ คนเป็นทาสแล้วเป็นนายก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ พวกพราหมณ์จะเอากำลัง เอาความสะดวกใจอะไรมาอ้างในข้อที่ว่า พราหมณ์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นต้น แต่มาณพก็ยังยืนถ้อยคำตามเดิมว่า แม้เช่นนั้นพวกพราหมณ์ก็ยังถือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐ
    ตรัสถามว่า ผู้ประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เพียงวรรณะใดวรรณะหนึ่ง เช่น กษัตริย์ ส่วนวรรณะอื่นไม่เป็นเช่นนั้นหรือ ทูลตอบว่า เปล่า ตรัสถามทำนองเดียวกัน ในทางทำดีว่า วรรณะใดวรรณะหนึ่งเมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ วรรณะอื่นไม่เป็นเช่นนั้นหรือ ทูลตอบว่า เปล่า จึงตรัสสรูปทั้งสอนตอนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ จะกล่าวว่าวรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุดได้อย่างไร (เมื่อไม่มีอะไรพิเศษ คงได้รับผลเท่าเทียมกับวรรณะอื่น) แต่อัสสลายนมาณพก็ยังคงยืนกรานว่า พวกพราหมณ์กล่าวว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐ
    ตรัสถามว่า วรรณะใดวรรณะหนึ่งเท่านั้นหรือจึงควรเจริญพรหมวิหาร ๔, ควรถือด้ายถูตัวไปอาบน้ำลอยธุลีละออง, ควรสีไฟให้ติดได้มีเปลวไฟ, มีสี, มีแสง ก็ตอบว่า ทำได้ด้วยกัน จึงตรัสสรูปทั้งสามตอนนี้อีกให้เห็นว่า จะกล่าวว่าวรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุดได้อย่างไร แต่มาณพก็ยังยืนยันตามเดิม
    ตรัสถามว่า ชายหนุ่มที่เป็นกษัตริย์อยู่ร่วมกับหญิงสาวที่เป็นพราหมณ์ หรือชายหนุ่มที่เป็นพราหมณ์อยู่ร่วมกับหญิงสาวที่เป็นกษัตริย์ มีบุตรออกมา จะเรียกว่ากษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์ก็ได้ ใช่หรือไม่ ทูลรับรอง (แสดงว่าพราหมณ์ไม่ประเสริฐจริง)
    ตรัสถามว่า แม่ม้ากับพ่อฬาอยู่ร่วมกันเกิดลูกขึ้น เรียกว่าม้าก็ได้ ฬาก็ได้ ใช่หรือไม่ ทูลตอบว่าลูกที่เกิดแต่สัตว์ทั้งสองนั้น เป็นม้าอัสดร ตนเห็นความต่างกันในข้อนี้ แต่ไม่เห็นความต่างกันแห่งบุคคลในรายก่อน
    ตรัสถามว่า มาณพสองคนเป็นพี่น้องร่วมอุทร คนหนึ่งสาธยายมนต์ได้ ได้รับการฝึกหัด อีกคนหนึ่งมิใช่ผู้สาธยายมนต์ มิใช่ผู้ได้รับการฝึกหัด พวกพราหมณ์จะเชิญให้คนไหนบริโภคก่อนในพิธีสารท (อุทิศให้ผู้ตาย) ในอาหารบรรณาการ ในยัญญพิธีและในของต้อนรับ ทูลตอบว่า เชิญให้ผู้สาธยายมนต์ผู้ได้รับการฝึกหัดให้บริโภคก่อน เพราะของที่ให้ในผู้ไม่สาธยายมนต์ ผู้มิได้รับการฝึกหัด จะมีผลมากได้อย่างไร
    ตรัสถามว่า มาณพสองคนเป็นพี่น้องร่วมอุทร คนหนึ่งสาธยายมนต์ได้ ได้รับการฝึกหัด แต่เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม อีกคนหนึ่งไม่สาธยายมนต์ ไม่ได้รับการฝึกหัด แต่มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกพราหมณ์จะเชิญให้คนไหนบริโภคก่อน ทูลตอบว่า เชิญผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมให้บริโภคก่อน เพราะของที่ให้ผู้ทุศีลมีบาปธรรม จะมีผลมากได้อย่างไร
    ตรัสสรูปว่า ครั้งแรกท่านกล่าวถึงชาติ (ว่าสำคัญ) ครั้นแล้วกล่าวถึงมนต์ (ว่าสำคัญ) ครั้นแล้วก็ยกมนต์นั้นเสีย กล่าวถึงความบริสุทธิ์ที่มีในวรรณะทั้งสี่ตามที่เราบัญญัติไว้ (แสดงว่าทรงยกเหตุผลต้อนให้มาณพยอมแสดงว่า ชาติไม่สำคัญเท่ามนต์ มนต์ไม่สำคัญเท่าความประพฤติ เป็นการจำนนต่อเหตุผลอย่างสมบูรณ์) อัสสลายนมาณพก็นิ่งเก้อเขิน ก้มหน้า
    จึงตรัสเล่าเรื่องอสตะ เทวลฤษี ไปปราบพราหมณฤษี ๗ ตน ผู้มีความเห็นผิดในเรื่องวรรณะพราหมณ์ว่าประเสริฐสุด ด้วยการแสดงเหตุผล จนฤษีทั้งเจ็ดนั้นยอมจำนน (เป็นการยกประวัติศาสตร์มาสอนว่า ในครั้งโบราณก็มีผู้ปราบคนเห็นผิดเรื่องชาติชั้นวรรณะมาแล้ว)
    เมื่อจบพระธรรมเทศนา อัสสลายนมาณพกราบทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต



    สามัญญผลสูตร​

    พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้า ทูลถามถึงผลดีของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน และตรัสเล่าว่า เคยไปถามครูทั้งหกมาแล้ว แต่ตอบไม่ตรงคำถาม เปรียบเหมือนถามถึงเรื่องมะม่วง แต่ไปตอบเรื่องขนุน (ฝรั่งแปลว่าสาเก ไทยแปลว่าขนุนบ้าง ขนุนสำมะลอบ้าง) จึงต้องกลับ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสตอบดังนี้
    ๑.ผู้เคยเป็นทาสหรือกรรมกรของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปเป็นทาสหรือกรรมกรตามเดิมหรือไม่ พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสตอบว่า ไม่เรียกกลับ แต่จะแสดงความเคารพถวายปัจจัย ๔ และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม ตรัสสรูปว่า นี่เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน
    ๒.คนทำนาของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปทำนาให้ตามเดิมหรือไม่ ตรัสตอบเหมือนข้อแรก จึงนับเป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน
    ๓.คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ฟังธรรมเลื่อมใสแล้วออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยศีล (พรรณาศีลอย่างเล็กน้อย อย่างกลาง อย่างใหญ่ เหมือนในพรหมชาลสูตร) สำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้บาปอกุศลเกิดขึ้นท่วมทับจิต มีสติสัมปชัญญะ มีความสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ออกป่าบำเพ็ญสมาธิ ละกิเลสที่เรียกว่านิวรณ์ ๕ เสียได้ จึงได้บรรลุฌานที่ ๑ นี้ก็เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน
    ๔.ได้บรรลุฌานที่ ๒
    ๕.ได้บรรลุฌานที่ ๓
    ๖.ได้บรรลุฌานที่ ๔
    ๗.น้อมจิตไปเพื่อเกิดความรู้เห็นด้วยปัญญา (ญาณทัสสนะ) ว่า กายมีความแตกทำลายไปเป็นธรรมดา วิญญาณก็อาศัยและเนื่องในกายนี้ (วิปัสสนาญาณ ญาณอันทำให้เห็นแจ้ง)
    ๘.นิรมิตร่างกายอื่นจากกายนี้ได้ (มโนมยิทธิ คือฤทธิ์ทางใจ)
    ๙.แสดงฤทธิ์ได้ เช่น น้อยคนทำให้เป็นมากคน มากคนทำให้เป็นน้อยคน เดินน้ำ ดำดิน เป็นต้น (อิทธิวิธี)
    ๑๐.มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงใกล้ไกล ที่เกินวิสัยหูของมนุษย์ธรรมดา (ทิพยโสต)
    ๑๑.กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ (เจโตปริยญาณ)
    ๑๒.ระลึกชาติในอดีตได้ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ)
    ๑๓.เห็นสัตว์อื่นตายเกิดด้วยตาทิพย์ (เรียกว่าทิพยจักษุ หรือจุตูปปาตญาณ คือญาณรู้ความตายและความเกิดของสัตว์)
    ๑๔.รู้จักทำอาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม หรือหมักดองในสันดานให้สิ้นไป (อาสวักขยญาณ)
    แล้วตรัสสรูปในที่สุดแห่งทุกข้อว่า เป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันสูงกว่ากันเป็นลำดับ
    (เมื่อจะย่อผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันทั้งสิบสี่ข้อนี้เป็นหมวดๆ ก็อาจย่อได้ ๓ หมวด คือ
    หมวดที่ ๑ ทำให้พ้นจากฐานะเดิม คือพ้นจากความเป็นทาส เป็นกรรมกร พ้นจากความเป็นชาวนา ได้รับการปฏิบัติด้วยดี แม้จากพระมหากษัตริย์ คือผลข้อ ๑ กับข้อ ๒
    หมวดที่ ๒ เมื่ออบรมจิตใจจนเป็นสมาธิ ก็เป็นเหตุให้ได้ฌานที่ ๑ ถึง ๔ อันทำให้ละกิเลสอย่างกลางได้ คือผลข้อ ๓, ๔, ๕ และ ๖
    หมวดที่ ๓ ทำให้ได้วิชชา ๘ อันเริ่มแต่ข้อ ๗ ได้วิปัสสนาญาณ จนถึงข้อ ๑๔ ได้อาสวักขยญาณ)
    พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเลื่อมใส ปฏิญญาพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แล้วกราบทูลขอขมาในการที่ปลงพระชนมชีพพระราชบิดา (คือพระเจ้าพิมพิสาร) ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสรับขอขมา
    เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นพระโสดาบัน)



    จูฬกัมมวิภังคสูตร​

    พระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามของสุภมาณพบุตรแห่งโตเทยยพราหมณ์ เกี่ยวกับผลร้ายผลดีต่างๆ ๗ คู่ว่า เนื่องมาจากกรรมคือการกระทำของสัตว์ คือ
    ๑.มีอายุน้อย เพราะฆ่าสัตว์ มีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์
    ๒.มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์ มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
    ๓.มีผิวพรรณทราม เพราะขี้โกรธ มีผิวพรรณดี เพราะไม่ขี้โกรธ
    ๔.มีศักดาน้อย เพราะมักริษยา มีศักดามาก เพราะไม่มักริษยา
    ๕.มีโภคทรัพย์น้อย เพราะไม่ให้ทาน มีโภคทรัพย์มาก เพราะให้ทาน
    ๖.เกิดในตระกูลต่ำ เพราะกระด้างถือตัวไม่อ่อนน้อม เกิดในตระกูลสูง เพราะไม่กระด้างถือตัว แต่รู้จักอ่อนน้อม
    ๗.มีปัญญาทราม เพราะไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น มีปัญญาดีเพราะเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น
    สุภมาณพบุตรโตเทยยพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต



    เรื่องของกิเลส (เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง) ๑๐ อย่าง​

    ในข้อนั้น เรื่องของกิเลส ๑๐ อย่างเป็นไฉน
    ๑.โลภะ ความโลภ
    ๒.โทสะ ความคิดประทุษร้าย
    ๓.โมหะ ความหลง
    ๔.มานะ ความถือตัว
    ๕.ทิฏฐิ ความเห็น (ผิด)
    ๖.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
    ๗.ถีนะ ความหดหู่
    ๘.อุทธัจจะ ความฟุ้งสร้าน
    ๙.อหิริกะ ความเป็นผู้ไม่ละอาย
    ๑๐.อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป
    นี้คือเรื่องของกิเลส ๑๐ อย่าง



    ธรรมที่มีความทะยานอยากเป็นมูล ๙ อย่าง (ลองเปรียบเทียบกับสังคมทุนนิยม ที่สนับสนุนให้คนมีความทะยานอยากดูสิครับ)​

    ในข้อนั้น ธรรมที่มีความทะยานอยากเป็นมูล ๙ อย่างเป็นไฉน
    ๑.เพราะอาศัยความทะยานอยาก จึงมีการแสวงหา
    ๒.เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีลาภ
    ๓.เพราะอาศัยลาภ จึงมีการวินิจฉัย
    ๔.เพราะอาศัยการวินิจฉัย จึงมีความกำหนัด (หรือความคิด) ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ
    ๕.เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ จึงมีการฝังใจ
    ๖.เพราะอาศัยการฝังใจ จึงมีการหวงแหน
    ๗.เพราะอาศัยการหวงแหน จึงมีความตระหนี่
    ๘.เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการอารักขา
    ๙.เพราะมีการอารักขาเป็นเหตุ จึงมีการจับท่อนไม้ การจับศัสตรา การทะเลาะ การแตกแยก การกล่าวขัดแย้งกัน การชี้หน้ากัน การพูดส่อเสียด การพูดปด และธรรมที่เป็นบาปอกุศลอีกเป็นอเนก
    นี้คือธรรมที่มีความทะยานอยากเป็นมูล ๙ อย่าง



    ความจนเป็นทุกข์ในโลก (รัฐบาลจึงต้องพยายามไม่ให้ประชาชนยากจน ทั้งทางโลกและทางธรรม)​

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า!”
    จึงตรัสต่อไปว่า “คนจนไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
    “คนจนกู้หนี้แล้ว ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
    “คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวง ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
    “คนจนถูกทวง ไม่ให้เขา ก็ถูกเขาตามตัว แม้การถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
    “คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
    “ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้”
    “ข้ออุปไมยก็อย่างนั้นเหมือนกัน บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา (ความเชื่อ) ในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีความเพียรในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้ เรียกว่าเป็นคนจน ไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่งในวินัยของพระอริยเจ้า”
    “คนจน (ทางธรรม) นั้น เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีความเพียรในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ การประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจนี้ เรากล่าวว่า เป็นการกู้หนี้ของผู้นั้น”
    “คนจน (ทางธรรม) นั้น เพราะเหตุที่จะปกปิดทุจจริตทางกาย วาจา ใจนั้น จึงตั้งความปรารถนาลามก ปรารถนาว่า ดำริว่า คนทั้งหลายอย่ารู้เรื่องเราเลย ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายามทางกาย ด้วยคิดว่า คนทั้งหลายอย่ารู้เรื่องเราเลย ข้อนี้ เรากล่าวว่า เป็นการเสียดอกเบี้ยของผู้นั้น”
    “เพื่อนพรหมจารี (ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์) ผู้มีลเป็นที่รัก ย่อมกล่าวถึงผู้นั้นว่า มีการกระทำอย่างนี้ มีความประพฤติอย่างนี้ ข้อนี้ เรากล่าวว่า เป็นการถูกทวงของผู้นั้น”
    “ความคิดที่เป็นอกุศล (อกุศลวิตก) อันลามก อันประกอบด้วยความเดือดร้อน ย่อมติดตามผู้นั้น ผู้ไปสู่ป่าก็ตาม สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนว่างก็ตาม ข้อนี้ เรากล่าวว่า เป็นการถูกตามตัวของผู้นั้น”
    “คนจน (ทางธรรม) นั้น ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ แล้ว ภายหลังที่สิ้นชีวิตไป (แปลตามศัพท์ว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก) ย่อมถูกจองจำ ด้วยการจองจำในนรกบ้าง ด้วยการจองจำในกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานบ้าง”
    “เราไม่เห็นการถูกจองจำอย่างอื่นสักอย่างเดียว ที่ทารุณ ที่นำทุกข์มาให้ ที่ทำอันตรายแก่การบรรลุธรรมะอันปลอดโปร่งจากกิเลส อันเป็นธรรมยอดเยี่ยม เหมือนการถูกจองจำในนรกหรือในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้เลย”
    (ได้ตัดข้อความที่ซ้ำกันออก คือคำว่า ไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง แม้คำกราบทูลของภิกษุทั้งหลายที่ว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า!” ซึ่งมีแทรกอยู่ทุกข้อ ก็ตัดออก)



    การค้าขาย ๕ อย่างที่อุบาสกไม่ควรทำ (รัฐบาลควรสั่งห้ามทำการค้าเหล่านี้)​

    ๑.การค้าขายศัสตรา
    ๒.การค้าขายสิ่งมีชีวิต
    ๓.การค้าขายเนื้อสัตว์
    ๔.การค้าขายน้ำเมา
    ๕.การค้าขายยาพิษ



    พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระองค์​

    พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่กลางแจ้ง เพื่อการปวารณาในวันอุโบสถ (ปวารณาคือการอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้) ขณะนั้นทรงเห็นภิกษุสงฆ์นิ่งอยู่ จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้ เราปวารณาแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะไม่ตำหนิการกระทำใดๆ ทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ ?”
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง น้อมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมไม่ติเตียนการกระทำใดๆทางกายหรือวาจาของพระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทำให้เกิดมรรคาที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นผู้ให้กำเนิดมรรคาที่ยังไม่กำเนิด เป็นผู้บอกมรรคาที่ยังไม่มีผู้บอก เป็นผู้รู้ รู้แจ้งซึ่งมรรคา เป็นผู้ฉลาดในมรรคา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สาวกทั้งหลายในขณะนี้เป็นผู้ดำเนินตามมรรคา เป็นผู้มารวมกันในภายหลัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ขอปวารณากะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงตำหนิการกระทำใดๆ ทางกายหรือทางวาจาของข้าพระองค์บ้างหรือ ?”
    “ดูก่อนสารีบุตร ! เราไม่ติเตียนการกระทำใดๆทางกายหรือทางวาจาของเธอ ดูก่อนสารีบุตร ! เธอเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้มีปัญญาเป็นเหตุให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาไว เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม เป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ดูก่อนสารีบุตร ! เปรียบเหมือนเชษฐโอรส (บุตรคนใหญ่) ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ย่อมทำให้จักร (กงล้อ) ที่พระบิดาหมุนแล้ว ให้หมุนตามไปได้โดยชอบฉันใด เธอก็ฉันนั้น ย่อมยังธรรมจักร (กงล้อคือธรรม) อันยอดเยี่ยม ที่เราหมุนแล้ว ให้หมุนตามไปได้โดยชอบ”
    (หมายเหตุ – นี่เป็นการแสดงตัวอย่างอันดีที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ว่ากล่าว ชี้ข้อที่ผิดพลาดของพระองค์ได้ อันเป็นวิธีการที่ไม่เปิดโอกาสให้ปกปิดความเสียหายใดๆไว้ ทั้งๆที่พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ก็ทรงทำพระองค์เป็นแบบอย่าง เราท่านทั้งหลายที่ยังบริสุทธิ์ไม่เท่าพระองค์ ก็ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้วิจารณ์ตัวเราบ้าง)



    อยู่ในอำนาจของคนอื่นเป็นทุกข์​

    สมัยนั้น นางวิสาขา มิคารมารดา (คำว่ามิคารมารดานี้ เป็นชื่อพิเศษแสดงประวัติว่า ได้เคยต่อสู้กับมิคารเศรษฐี บิดาสามี ซึ่งบีบคั้นนางต่างๆและได้อาศัยความดีต่อสู้ จนบิดาสามียอมเรียกเป็นมารดา) มีธุระบางอย่างเกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชามิได้ทรงพิจารณาเรื่องนั้นตามความต้องการ (อรรถกถากล่าวว่า นางวิสาขาไปเฝ้า แต่ไม่พบ หลายครั้ง) นางวิสาขาจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “ดูก่อนวิสาขา ! เธอไปไหนมาแต่ยังวันทีเดียว” นางวิสาขาจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
    “การอยู่ในอำนาจของคนอื่น ทุกอย่าง เป็นทุกข์, การเป็นอิสสระ ทุกอย่าง เป็นสุข. คนทั้งหลายย่อมเดือดร้อนในเรื่องทุกข์สุขทั่วไป เพราะว่ากิเลสเครื่องมัดสัตว์ เป็นชองก้าวล่วงได้ยาก.”



    เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่นาน (รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น)​

    ท่านพระกิมพิละเข้าเฝ้า กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ยั่งยืนในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว”
    “ดูก่อนกิมพิละ ! เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันและกัน นี้แลกิมพิละ ! เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”



    เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน (รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น หรือช่วยรักษาไว้)​

    พระกิมพิละกราบทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แล้วก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว”
    “ดูก่อนกิมพิละ ! เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา เคารพยำเกรงกันและกัน นี้แล กิมพิละ ! เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”



    พุทธาปทาน​

    พุทธาปทานบทนี้ มีชื่อว่าปุพพกัมมปิโลติกะ (ท่อนผ้าเก่าแห่งบุพพกรรม) ส่วนใหญ่แสดงถึงกรรมชั่วที่พระผู้มีพระภาคเคยทรงทำไว้อันส่งผลร้ายแก่พระองค์ แม้ในพระชาติสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ในการเปิดเผยพระประวัติทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วอย่างตรงไปตรงมา ว่าเคยทรงทำไว้ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว
    ทรงตรัสเล่าบุพพกรรม (กรรมในกาลก่อน) ของพระองค์ ดังนี้
    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงฟังถึงกรรมที่เราได้กระทำไว้แล้ว เราเห็นภิกษุผู้อยู่ป่ารูปหนึ่ง จึงได้ถวายผ้าท่อนเก่า ในกาลนั้นเราได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก ผลแห่งกรรมอันเนื่องด้วยผ้าท่อนเก่านั้น ได้สำเร็จแม้ในความเป็นพระพุทธเจ้า”
    “เราเคยเป็นนายโคบาลในชาติก่อนๆ ต้อนแม่โคไปสู่ที่หากิน เห็นแม่โคดื่มน้ำขุ่นจึงห้ามไว้ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เรากระหายน้ำ จึงไม่ได้ดื่มตามต้องการ”
    “เราเคยเป็นนักเลงชื่อปุนาลิ ในชาติก่อนๆ ได้กล่าวใส่ความพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า สุรภิ ผู้มิได้ประทุษร้าย ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงท่องเที่ยวไปในนรกสิ้นกาลนาน เสวยทุกขเวทนาสิ้นพันปีเป็นอันมากด้วยกรรมที่เหลือนั้น ในภพสุดท้ายนี้ ก็ถูกใส่ความ เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา”
    “เพราะกล่าวใส่ความพระสาวกของพระสัพพาภิภูพุทธเจ้า มีนามว่านันทะ เราจึงท่องเที่ยวไปในนรกตลอดกาลนานหลายหมื่นปี เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ถูกใส่ความมาก ด้วยกรรมที่เหลือนั้น นางจิญจมาณวิกาจึงได้ใส่ความเราด้วยคำไม่จริงต่อหน้าหมู่ชน”
    “เราได้เคยเป็นพราหมณ์ผู้มีความรู้ (ผู้ได้สดับ) มีผู้เคารพสักการะ สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ ได้ใส่ความภิมฤษีผู้มีอภิญญา ๕ มีฤทธิ์มาก ผู้มาในที่นั้น โดยกล่าวกะศิษย์ทั้งหลายว่า ฤษีนี้เป็นผู้บริโภคกาม มาณพทั้งหลายก็พลอยชื่นชมไปกับเรา เมื่อไปภิกขาจารในสกุลก็เที่ยวกล่าวแก่มหาชนว่า ฤษีนี้เป็นผู้บริโภคกาม ด้วยผลของกรรมนั้น ภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ ทั้งหมด ก็พลอยถูกใส่ความไปด้วยเพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา”
    “ในกาลก่อน เราได้เคยฆ่าน้องชายต่างมารดาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ผลักลงไปในซอกเขา เอาหินทุ่ม ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เทวทัตจึงเอาหินทุ่มเรา สะเก็ดหินมาถูกหัวแม่เท้าเรา”
    “ในกาลก่อน เราเป็นเด็กเล่นอยู่ในทางใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเผาสิ่งต่างๆขวางทางไว้ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เทวทัตจึงส่งคนเพื่อให้ฆ่าเรา”
    “ในกาลก่อนเราได้เป็นนายควาญช้าง ไสช้างให้ไล่กวดพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตร ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ช้างนาฬาคิริ ดุร้าย เมามัน จึงวิ่งเข้ามาหาเรา (เพื่อทำร้าย) ในนครอันประเสริฐซึ่งมีภูเขาเป็นคอก”
    “เราได้เคยเป็นพระราชา เป็นหัวหน้าทหารเดินเท้า ได้ฆ่าบุรุษหลายคนด้วยหอก ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราได้หมกไหม้อย่างหนักในนรก ด้วยผลที่เหลือแห่งกรรมนั้น สะเก็ดแผลที่เท้าของเราก็กลับกำเริบเพราะกรรมยังไม่หมด”
    “เราเคยเป็นเด็กชาวประมง ในหมู่บ้านชาวประมง เห็นชาวประมงฆ่าปลาก็มีความชื่นชม ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงเกิดเจ็บที่ศีรษะ ในขณะที่วิฑูฑภะฆ่าพวกศากยะ” (พวกเจ้าศากยะที่ถูกฆ่า ก็เคยเกิดเป็นหมู่ชาวประมงที่ฆ่าปลา เป็นญาติของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่เสวยพระชาติเป็นเด็กชาวประมง)
    “เราได้เคยบริภาษพระสาวกในพระธรรมวินัยของพระผุสสพุทธเจ้าว่า ท่านจงเคี้ยวจงกินข้าวเหนียวเถิด อย่ากินข้าวสาลีเลย ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราเลยต้องบริโภคข้าวเหนียวอยู่ ๓ เดือน ในเมื่อพราหมณ์นัมนต์ไปอยู่ในเมืองเวรัญชา”
    “ในสมัยที่ไม่มีพระพุทธเจ้า เราได้เคยทำร้ายบุตรแห่งนักมวยปล้ำ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงเกิดเจ็บที่หลัง”
    “เราได้เคยเป็นหมอ (แกล้ง) ถ่ายยาบุตรแห่งเศรษฐี (คงเป็นการถ่ายอย่างแรงถึงแก่ชีวิต) ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงลงโลหิต”
    “เราเป็นผู้ชื่อว่าโชติปาละ ได้เคยกล่าวกะพระสุคตพระนามว่ากัสสปะว่า การตรัสรู้เป็นของได้โดยยาก ท่านจะได้จากควงไม้โพธิที่ไหนกัน ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราได้บำเพ็ญทุกกรกิริยาเป็นอันมากสิ้นเวลา ๖ ปี ต่อจากนั้นจึงได้บรรลุการตรัสรู้ เรามิได้บรรลุการตรัสรู้โดยทางนั้น ได้แสวงหาโดยทางที่ผิด เพราะถูกกรรมเก่าทวงเอา”
    “เราสิ้นบุญและบาปแล้ว เว้นแล้วจากความเดือดร้อนทั้งปวง ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้น ปราศจากอาสวะ จักปรินิพพาน”



    มธุรสูตร​

    พระมหากัจจานะอยู่ในป่าไม้คุนธา พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตรเข้าไปหา ตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ถือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุด วรรณะอื่นเลว วรรณะพราหมณ์ขาว วรรณะอื่นดำ วรรณะพราหมณ์บริสุทธิ์ วรรณะอื่นไม่บริสุทธิ์ วรรณะพราหมณ์เป็นบุตรของพรหม เกิดจากปากพรหม อันพระพรหมสร้างสรรค์ เป็นพรหมทายาท พระเถระตอบว่า เป็นเพียงคำอวดอ้าง (โฆโสเยว) เท่านั้น แล้วได้อธิบายว่า วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้ ซึ่งทำให้พระเจ้ามธุรราชยอมรับว่าวรรณะทั้งสี่เสมอกัน
    พระเถระอธิบายต่อไปว่า วรรณะใดประพฤติชั่ว (ทางกาย, วาจา, ใจ) วรรณะนั้นเมื่อจายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เสมอกัน วรรณะใดเว้นจากประพฤติชั่ว (ทางกาย, วาจา, ใจ) วรรณะนั้นเมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรคเหมือนกัน วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ตัดช่อง ปล้นสะดม ล่วงเกินภริยาผู้อื่น วรรณะนั้นก็ต้องถูกลงโทษเสมอกัน วรรณะใดออกบวช ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับ นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ นิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน
    พระเจ้ามธุรราชตรัสสรรเสริญพระธรรมเทศนา ถามถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าประทับ ณ ที่ไหน เมื่อทรงทราบว่าปรินิพพานแล้ว จึงตรัสว่า ถ้าทรงทราบว่ายังทรงพระชนม์อยู่ก็จะเสด็จไปเฝ้า แม้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ แต่เพราะปรินิพพานแล้ว จึงได้แต่ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนม์ชีพ



    เทวฑูตสูตร​

    พระผู้มีพระภาคทรงตรัสแสดงธรรมว่า ผู้มีทิพยจักษุ ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายตาย เกิด เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม มีคติดี มีคติชั่ว เข้าถึงฐานะต่างๆตามกรรม เปรียบเหมือนคนมีตาดียืนอยู่ตรงกลาง (ระหว่างเรือน ๒ หลัง) ย่อมมองเห็นคนเข้าออก เดินไปเดินมาสู่เรือนฉะนั้น
    ทรงแสดงถึงนายนิรยบาล (ผู้รักษานรก) หลายคน จับคนที่ไม่ดีไปแสดงแก่พญายมขอให้ลงโทษ พญายมถามถึงเทวฑูต ๕ คือ เด็ก คนแก่ คนเจ็บไข้ คนถูกลงโทษเพราะทำความผิด และคนตาย แล้วชี้แจงให้เห็นว่าจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำ (ที่ชั่ว) นั้นๆ แล้วทรงแสดงการลงโทษต่างๆ ที่นายนิรยบาลเป็นผู้ทำ รวมทั้งแสดงถึงมหานรก นรกคูถ(อุจจาระ) และนรกชื่อกุกกุละ ซึ่งมีการลงโทษทรมานอย่างน่าสยดสยอง
    (เทวฑูตทั้ง ๕ มีอะไรบ้างต้องจำกันให้ได้นะครับ เพราะตายไปพญายมท่านจะถาม ต้องตอบท่านให้ได้)



    พระธรรมอื่นๆ​

    - อสัตบุรุษ (คนชั่ว) ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑)ไม่ต้องถามก็เปิดเผยความชั่วของคนอื่น ยิ่งถูกถามก็ยิ่งกล่าวความชั่วของคนอื่นอย่างบริบูรณ์พิสดาร ๒)แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยคุณความดีของคนอื่น หรือเปิดเผยก็ไม่บริบูรณ์ไม่พิสดาร ๓)แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความชั่วของตน หรือเปิดเผยก็ไม่บริบูรณ์ไม่พิสดาร ๔)ไม่ต้องถามก็เปิดเผยคุณความดีของตน ยิ่งถูกถามก็ยิ่งกล่าวความดีของตนอย่างบริบูรณ์พิสดาร ส่วนสัตบุรุษ (คนดี) ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม
    - ทรงแสดงคนพาลสองประเภท คือไม่เห็นโทษ (ของตน) กับเมื่อผู้อื่นแสดงคืนโทษ (ผู้อื่นขอโทษ) ไม่ยอมรับแล้ว ทรงแสดงบัณฑิตสองประเภทในทางตรงกันข้าม
    - ทรงตรัสว่า พระตถาคตและพระวินัยของพระตถาคตเมื่อตั้งอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก (ตรัสอธิบายว่า ธรรมที่พระตถาคตแสดงแล้ว เรียกพระวินัยของพระตถาคต)
    - ทรงตรัสแสดงธรรม ๔ อย่าง ว่าเป็นไปเพื่อความเลอะเลือน เพื่ออันตรธานแห่งพระสัทธรรม คือ ๑)ภิกษุทั้งหลายเรียนพระสูตรด้วยบทพยัญชนะที่ยกขึ้นผิด มีเนื้อความอันแนะนำผิด ๒)ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ๓)ภิกษุผู้สดับตรับฟังมากไม่สอนผู้อื่นให้ท่องจำพระสูตรโดยเคารพ เมื่อภิกษุผู้สดับฟังมากเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรก็ชื่อว่ามีมูลรากอันขาด (ไม่มีผู้ทรงจำได้) ก็จะไม่เป็นที่พึ่ง ๔)ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้มักมาก ย่อหย่อน เอาแต่นอนหลับ ทอดธุระในความสงัด ไม่ปรารภความเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ ทำให้คนรุ่นหลังถือเป็นตัวอย่าง ในทางดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม
    - ธนัญชานิพราหมณ์ เป็นผู้ประมาท อาศัยพระราชา “ปล้น” พราหมณคฤหบดี อาศัยพราหมณคฤหบดี “ปล้น” พระราชา เป็นต้น เมื่อพระสารีบุตรได้พบ ก็ไต่ถามว่า ยังประมาทอยู่หรือ พราหมณ์ตอบว่า จะไม่ประมาทได้อย่างไร เพราะตนมีภาระจะต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บุตรภริยา และบ่าวไพร่ เป็นต้น พระสารีบุตรจึงถามว่า ผู้ประพฤติไม่เป็นธรรม ประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา เป็นต้น นายนิรยบาลจะยอมให้แก้ตัวอย่างนั้นหรือไม่ ตอบว่า ไม่ได้ ถามว่า ผู้ประพฤติไม่เป็นธรรม ประพฤติผิด กับผู้ประพฤติเป็นธรรม ประพฤติไม่ผิด เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ใครจะดีกว่าใคร พราหมณ์ยอมรับว่า ผู้ประพฤติเป็นธรรม ประพฤติไม่ผิดดีกว่า พระสารีบุตรจึงกล่าวสรูปว่า ยังมีการงานที่ถูกต้องตามธรรมะอย่างอื่นที่จะพึงกระทำกรณียกิจแก่มารดาบิดา เป็นต้นโดยไม่ต้องทำบาป และได้บำเพ็ญปฏิปทาอันเป็นบุญด้วย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 เมษายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...