เข้าวัดไหว้พระ สะสมบุญ

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 4 มิถุนายน 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดกุนทีรุทธาราม กับตำนานเจ้าแม่ตะเคียนเงิน-ตะเคียนทอง


    [​IMG]


    วัดกุนทีรุทธาราม กับตำนาน...เจ้าแม่ตะเคียนเงิน-ตะเคียนทอง
    ปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความแตกต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวย กับโลกวัตถุนิยมที่กำลังเติบโตแบบทวีคูณ ต่างคนต่างก็แสวงหากันมาเพื่อความสุขของตัวเอง ตรงนี้เราจึงเห็นว่าคนรวยในสังคมรวยกันจนล้น ขณะที่คนจนขนาดแสวงหาแล้วบางแทบจะไม่มีกิน จึงเกิดคำเปรียบเทียบที่ว่า คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น เราเห็นคนจนส่วนใหญ่หันมาเล่นหวยกันมาก เพราะหวังว่าวันหนึ่งอาจร่ำรวย


    [​IMG]


    วันนี้คมชัดลึกจะพาไปสำรวจคนบ้าหวยกันที่ วัดกุนทีรุทธาราม เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เพราะวันนี้มีเจ้าแม่ตะเคียนเงิน เจ้าแม่ตะเคียนทอง สองพี่น้องที่ประชาชนในละแวกนั้นให้ความศรัทธาอย่างมาก นายรังสรรค์ แชประเสริฐ อายุ ๕๙ ปี เจ้าของบริษัท กอสโต จำกัด กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการขุดพบต้นตะเคียนทั้งสองต้นนี้ คืนหนึ่งเจ้าแม่ตะเคียนได้มาเข้าฝันว่า ขอให้ไปช่วยนำต้นตะเคียนขึ้นมาจากใต้น้ำด้วย เพราะอยู่มานานแล้ว ในความฝันนั้นเจ้าแม่ตะเคียนยังบอกด้วยว่ามีความประสงค์จะมาอยู่วัดห้วยขวาง(วัดกุนนทีรุทธาราม) เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าจึงได้เล่าให้กับลูกน้อง(นาย บุ่ง)ฟัง เพราะไม่รู้ว่าเจ้าแม่ตะเคียนที่มาเข้าฝันนั้นจมน้ำอยู่ที่ไหน

    ต่อมาเหมือนเป็นปาฏิหาริย์เมื่อลูกน้องคนนี้ได้เดินทางกลับบ้าน พอดีในวันนั้นเขาได้ไปเจอกับนายแดงคนหาปลาจึงได้เล่าเรื่องความฝันทั้งหมดให้ฟัง จึงได้ทราบว่า มีบ่อทรายร้างบ่อหนึ่ง ของบริษัท ช.การช่าง อยู่กลางทุ่งนา ต.โคกพุทธา อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง มีต้นตะเคียนขนาดใหญ่ต้นหนึ่งจมอยู่ใต้บ่อแห่งนี้ที่มีความลึกมากประมาณ ๑๐ เมตร ในกลางดึกคืนนั้นนายแดงผู้นี้ได้ฝันเห็นเจ้าแม่ตะเคียนทองมาหาแล้วบอกให้ช่วยนำขึ้นมาจากน้ำแห่งนี้ด้วย แต่นายแดงไม่รู้จะทำยังไง จึงได้บอกกับนายบุ่ง ดังนั้น เรื่องทั้งหมดนายบุ่งเลยได้มาเล่าให้กับนายรังสรรค์ฟังเพื่อออกตามหาความจากความฝันทันทีว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องจริงเพียงใด


    [​IMG]


    หลังจากมีการปรึกษากับผู้รู้เพื่อที่จะต้องเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อไปใช้กู้ต้นตะเคียนแล้ว ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๐ จึงได้มีการตั้งศาลบวงสรวง เพื่อทำพิธีอัญเชิญต้นตะเคียนขึ้นจากน้ำ ตรงนี้เองได้เกิดเรื่องแปลกตามความเชื่อของชาวบ้าน เมื่อมีคนงานคนหนึ่งเป็นลม แล้วมีวิญญาณเจ้าแม่ตะเคียนทองเข้าสิง เพราะได้ยินเสียงพูดขึ้นว่า ที่ใต้บ่อน้ำแห่งนี้ยังมีต้นตะเคียนจมอยู่อีกหนึ่งต้น ซึ่งเป็นน้องของตะเคียนทอง ขอให้ช่วยนำขึ้นมาด้วย และได้ทำพิธีอัญเชิญต้นตะเคียนผู้น้องขึ้นมา

    กระทั่งวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ได้มีการอัญเชิญต้นตะเคียนทั้งสองต้น ขึ้นรถเทรเลอร์ขนาดยักษ์เพื่อมุ่งหน้าสู่วัดห้วยขวางตามที่ตะเคียนทองผู้พี่ได้เข้าฝัน แต่กว่าจะนำต้นเคียนทั้งสองต้นมาจัดตั้งไว้ที่วัดก็เกือบเที่ยงคืน เนื่องจากทางเข้าวัดเป็นถนนไม่กว้างนัก ทำให้การขนย้ายกันค่อนข้างลำบาก ในที่สุดก็ได้นำมาวางไว้ที่วัดอย่างเรียบร้อย สำหรับต้นตะเคียนผู้พี่ มีน้ำหนักประมาณ ๒๐ ตัน มีความยาวประมาณ ๓๐ เมตร เส้นรอบวง ๖ เมตร อายุพันกว่าปี ได้มีการตั้งชื่อว่า ตะเคียนทอง ส่วนอีกต้น ยาวประมาณ ๑๔ เมตร เส้นรอบวง ๒ เมตร มีน้ำหนักประมาณ ๑๐ ตัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหัวเรือสุพรรณหงส์ จึงมีการตั้งชื่อว่า ตะเคียนเงิน

    [​IMG]


    “มีคนจำนวนมากที่มากราบไหว้ท่านแล้วถูกหวย ได้รับโชคลาภต่างๆ นั้น ตรงนี้ผมคิดว่าอยู่ที่ความศรัทธาต่อเจ้าแม่ตะเคียนมากกว่า เพราะมันคือความเชื่อและความศรัทธา ผมคงไปบอกว่าท่านศักดิ์สิทธิ์อย่างไรไม่ได้หรอก วันนี้ยังมีความตั้งใจที่จะสร้างศาลาให้กับเจ้าแม่ตะเคียนทั้งสองต้นเพื่อให้ท่านอยู่อย่างร่มเย็น โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสองล้านบาท” นายรังสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย

    นอกจากนี้ ได้มีการสอบถามผู้ที่เดินทางมาขอหวยกับเจ้าแม่ตะเคียน น.ส.มลสุดา เสือจุ้ย อายุ ๒๑ ปี นักศึกษา ม.รามคำแหง กล่าวว่า ได้เดินทางมากับแม่เพื่อมาขอโชคลาภจากเจ้าแม่ตะเคียน อย่างน้อยขอให้ถูกหวยบ้างก็ดี จริงๆเชื่อว่าทุกคนที่เดินทางมาไหว้เจ้าแม่น่าจะเกิดความศรัทธาที่เชื่อว่าเจ้าแม่น่าจะช่วยบันดาลพรให้ได้ ส่วน น.ส.ยง ชิโคกสูง เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกษตร กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า จากกระแสข่าวที่ได้รับฟังมาว่ามีคนถูกหวยจากเจ้าแม่ตะเคียนกันมาก ทำให้เดินทางมาเสี่ยงโชคแบบเขาบ้าง เชื่อว่าหากเราเป็นคนดีเจ้าแม่น่าจะชี้ช่องทางอะไรให้กับชีวิตเราได้บ้าง


    [​IMG]


    มีสติไม่เสียสตางค์

    พระครูโอภาสธรรมโสภณ เจ้าอาวาสวัดกุนนทีรุทธาราม ในฐานะที่ปรึกษาเจ้าคณะแขวงห้วงขวาง กล่าวว่า คนเราไม่ว่าจะกราบไหว้อะไรก็ขอให้ทำดีไม่ทำความชั่วก็เป็นอันว่าใช่ได้แล้ว ยิ่งสำคัญไปกว่านั้นต้องทำตัวให้บริสุทธิ์ โลกเราวันนี้ถามว่าทำได้ง่ายไหม คงตอบว่าหากทำกันจริงๆ คงทำยากพอสมควร ตรงนี้เลยอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคน
    พระพุทธเจ้าท่านสอนในเรื่องพระพุทธศาสนาที่ถือเป็นเรื่องหลักๆ ก็มีอยู่ ๓ ประการ คือ

    ๑.ไม่ทำความชั่ว
    ๒.ทำความดี
    ๓.ทำใจให้บริสุทธิ์

    ก็การหมดจากกิเลส โดยกิเลสที่ว่านี้ก็คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลงนั่นเอง แต่วันนี้คนส่วนใหญ่เห็นว่าทำความดีทำยากและเห็นผลช้าจึงไม่ค่อยอยากทำกัน ส่วนใหญ่จึงหันมาทำความชั่วเ พราะทำกันง่าย
    “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาของโลกมนุษย์ แล้วให้อาตมาไปสอนพวกเขาก็คงเป็นเรื่องยากเช่นเหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่หลายคนทำไม่ให้มากเกินไปมันอยู่ที่การประมาณต้น อยากเล่นหวย เล่นอย่างไรไม่ให้ครอบครัวเดือดร้อน หากทำได้ก็เล่นไป สิ่งสำคัญต้องอย่าประมาณกับชีวิต ชีวิตก็จะมีความสุข มีสติไม่เสียสตางค์”พระครูโอภาสธรรมโสภณ กล่าวทิ้งท้าย

    อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มีความศรัทธาในเจ้าแม่ตะเคียนเงิน เจ้าแม่ตะเคียนทอง สอบถามเส้นทางได้ที่วัดกุนนทีรุทธาราม ซ.ประชาสงเคราะห์ ๓๔ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร.๐๘-๑๑๗๐-๔๒๗๓
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดพระแก้ววังหน้า

    [​IMG]



    วัดพระแก้ววังหน้า
    วัดพระแก้ววังหน้า วัดนี้ดูเหมือนจะถูกลืมไปแล้วเพราะไม่ใคร่จะมีใครสนใจ ผู้ที่รู้จัก วัดนี้เห็นจะมีไม่มาก คนทั่วไปคิดว่าวัดที่อยู่ในกรุงเทพฯนั้น เห็นมีแต่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในวังหลวงเท่านั้น ส่วนวังหน้าและวัดในวังหน้าไม่ใคร่จะมีใครสนใจ เพราะ สภาพของวังหน้าเองก็เกือบจะไม่มีร่องรอยของความเป็นวังเหลืออยู่ มีแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถานที่ราชการ

    วัดพระแก้ววังหน้าหรือวัดบวรสถานสุทธาวาส มีประวัติความเป็นมาและ มีศิลปกรรม ที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ศิลปกรรมปัจจุบันนี้มีอยู่เพียงพระอุโบสถเท่านั้น ซึ่งมิได้ใช้ ประโยชน์ทางศาสนพิธีแต่อย่างใด ส่วนบริเวณวัดหรือรอบๆโบสถ์ ก็มีแต่ตึกของ วิทยาลัยนาฏศิลป์ ถึงแม้พระอุโบสถจะใหญ่โตสูงเด่นอย่างไร ก็ไม่ใคร่จะโดดเด่นให้เป็น จุดสนใจได้เท่าใดนัก

    ประวัติความเป็นมาของวังหน้าและวัดพระแก้ว
    ก่อนที่จะกล่าวถึงวัดพระแก้ววังหน้า หรือวัดบวรสถานสุทธาวาส ขอย้อนไปถึงวังหน้าเสียก่อน เพื่อเป็น การปูพื้นฐานไปสู่วัดพระแก้ววังหน้า โดยจะตัดทอนเรียบเรียงจากพระราชนิพนธ์เรื่อง "ตำนานวังหน้า" ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

    วังหน้านี้แต่เดิมเรียกกัน อย่างเป็นทางการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" แต่ชาวบ้านหรือคนทั่วไป มักเรียกกันว่า "วังหน้า" เพราะเป็นวังที่ประทับ ของ พระมหาอุปราชซึ่งเรียกกันว่า "ฝ่ายหน้า" เลยเรียกที่ประทับของพระมหาอุปราชว่า วังฝ่ายหน้าและวังหน้า วังหน้า หรือพระราชวัง บวรสถานมงคล ของกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เริ่มสร้างขึ้นพร้อมกับพระราชวังหลวง หรือพระบรมมหาราชวัง เมื่อปีขาล พ.ศ.๒๓๒๕ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเลือกเอาที่สองแปลง ของ กรุงเทพฯคือแปลงหนึ่งอยู่ระหว่างวัดโพธิ์กับวัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ)เป็นที่สร้างวังหลวง ส่วนที่อีกแปลงหนึ่งอยู่เหนือวัดสลักขึ้นไป จนถึงปากคลองคูเมืองด้านเหนือ (บริเวณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภุณฑ์สถานแห่งชาติ วิทยาลัยนาฏศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป และโรงละครแห่งชาติ) เป็นที่สร้างพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เพื่อให้เป็น ที่ประทับของพระอนุชาธิราชคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช

    พระราชวังหน้านี้เมื่อแรกสร้างก็เป็นเพียงเครื่องไม้มุงหลังคาจาก เพื่อให้ทันพิธี ปราบดาภิเษก ต่อมาภายหลังจึงได้ปลูกสร้างอาคารต่างๆเป็นการถาวร โดยเริ่มจากการ สร้างปราสาทกลางสระ เหมือนอย่างพระที่นั่ง บรรยงก์รัตนาสน์ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เกิดเหตุขบภอ้ายบัณฑิตสองคนเสียก่อนเลยไม่ได้สร้าง แต่ต่อมา ก็ได้สร้างพระราช มณเทียรเป็นที่ประทับ สร้างพระวิมานสามหลังเรียงกันตามแบบอย่างของ กรุงศรีอยุธยา

    ร.ศ.๒๓๓๐ ได้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (หรือพระที่นั่งพุทไธศวรรย์) ขึ้นเพื่อ ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งอัญเชิญมาจากเชียงใหม่ ฝาผนังเขียนรูปเทพชุมนุม และเรื่องปฐมสมโพธิเป็นพุทธบูชา สถานที่ต่างๆในพระราชวังบวรหรือวังหน้า นอกจาก จะมีพระราชมณเฑียรแล้ว คงมีสิ่งอื่นเช่นเดียวกับวังหลวง คือ โรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลังเป็นต้น

    เพราะแต่เดิมนั้นบริเวณวังหน้ากว้างขวางมาก เฉพาะด้านทิศตะวันออกไปจดถนน ราชดำเนิน ด้านเหนือจดคลองคูเมือง ด้านตะวันตกจดแม่น้ำ เจ้าพระยา ด้านใต้จดวัด มหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์กล่าวกันว่าสิ่งก่อสร้างต่างๆในวังหน้าในอดีตทำอย่างปราณีตบรรจง เพราะกรมพระราชวังบวรฯตั้งพระราชหฤทัยว่าถ้าได้ครอบครองราชสมบัติ จะประทับอยู่ที่วังหน้าตามแบบพระเจ้าบรมโกศไม่ไปประทับวังหลวง อย่างไรก็ตามสิ่งก่อสร้างที่สร้างในครั้งรัชกาลที่ ๑ หรือ สมัยกรมพระราชวังบวร มหาสุรสิงหนาทนั้น สร้างด้วยไม้จึงหักพังและรื้อถอนสร้างใหม่เสียเป็นส่วนมาก จนไม่ เห็นเค้าโครงในปัจจุบัน นอกจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์หรือพระที่นั่งพุทไธศวรรย์เท่านั้น ที่ยังคงฝีมือสมัยรัชกาลที่ ๑ อยู่จนทุกวันนี้

    เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯให้สถาปนา สมเด็จพระอนุชาธิราช พระบัณฑูรย์น้อยเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์เป็น พระมหา อุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลไปประทับที่วังหน้า หลังจากวังหน้าว่างอยู่ ๗ ปี นับแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาทสวรรคต เมื่อกรมพระราชวัง บวรมหาเสนานุรักษ์เส??จไปประทับวังหน้า ก็มิได้สร้างอะไรเพิ่มเติมมากนัก เพียงแต่ แก้ไขซ่อมแซมของเก่าบางอย่าง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับวัดพระแก้ววังหน้า ในเวลาต่อมา สิ่งหนึ่งคือที่บริเวณวังหน้าชั้นนอกด้านทิศเหนือตรงที่ตั้ง"วัดบวรสถานสุทธาวาส"หรือ"วัดพระแก้ว"นี้ มีวัดเก่าอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดหลวงชีแต่คงไม่มีหลวงชีอยู่กุฏิชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดฯให้รื้อกุฏิหลวงชีเสียหมดทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย กรมพระราชวังบวร มหาเสนานุรักษ์ดำรงพระยศพระมหาอุปราชอยู่ ๘ ปี ก็เสด็จ สวรรคตที่พระที่นั่ง วายุสถานอมเรศร์ ในวังหน้า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐

    ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ วังหน้าว่างมาอีก ๗ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนา กรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์เป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ได้ทรงปรับปรุงซ่อมแซม สิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้นใหม่หลายอย่าง ที่สำคัญคือทรงซ่อม พระที่นั่งสุทธาสวรรย์แลัวเปลี่ยนนามเรียก "พระที่นั่งพุทไธศวรรย์" มาจนทุกวันนี้

    นอกจากนี้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ทรงสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ เรียกว่า"วัดพระแก้ววังหน้า"ในวังเหมือนกับ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระราชวัง หลวง ทรงอุทิศสวนกระต่ายเดิมสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา เหตุที่สร้างวัด บวรสถาน สุทธาวาส กล่าวกันไว้หลายอย่างอย่างหนึ่งว่าทรงสร้างแก้บนครั้งเสด็จ ยกกองทัพไป ปราบขบถที่เวียงจันทร์ หรืออีกอย่างหนึ่งเล่าว่าแต่เดิมทรงสร้างยอดปราสาท จนปรุง ตัวไม้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ มีรับสั่งให้ ไปห้ามว่าใน พระราชวังบวรไม่มีธรรมเนียมจะมีปราสาท

    เป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์น้อยพระทัย จึงโปรดฯให้แก้ไขเป็นหลัง คาจตุรมุขอย่างที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ สิ่งต่างๆ ที่สร้างในวัดพระแก้ววังหน้านี้ สร้างโดย ปราณีตบรรจงหลายอย่างโปรดฯให้เสาะหาพระพุทธรูปที่เป็นของงามของแปลก เครื่อง ศิลาโบราณมาตกแต่ง พระเจดีย์ก็ถ่ายแบบอย่างพระเจดีย์สำคัญๆ เช่น พระธาตุพนม มาสร้างไว้หลายองค์ การสร้างวัดพระแก้ววังหน้ายังไม่ทันเสร็จกรมพระราชวังบวร ศักดิ์พลเสพย์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ พระชนม์มายุได้ ๔๗ พรรษา ทำให้วังหน้าว่างอยู่ถึง ๑๘ ปี
    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดฯให้ สมเด็จพระ อนุชาธิราชเจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรสรังสรรค์เป็นพระมหาอุปราช แต่มีพระ เกียรติยศอย่างพระเจ้าแผ่นดิน มีพระนามในพระสุพรรณบัฏแบบเดิมว่า "พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" พระราชทานนามอย่าง พระเจ้า แผ่นดินว่า "สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิเรสรังสรรค์พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" พระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่วังหน้า ซึ่งขณะนั้นกำลัง ปรักหักพัง ชำรุดทรุดโทรมมากเพราะว่างมา ๑๘ ปี ข้าราชการวังหน้าที่ตามเสด็จ แต่แรกเล่ากันว่า พระองค์ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ว่า "เออ...อยู่ดีๆ ให้มาเป็นสมภารวัดร้างๆ"

    ดังนั้นวังหน้าจึงได้รับการทะนุบำรุงและสร้างปราสาทราชมณเฑียร ขึ้นใหม่หลายสิ่ง หลายอย่างในรัชกาลนี้โดยเฉพาะพระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้าหรือวัดบวรสถาน

    สุทธาวาส ได้ทะนุบำรุงปฏิสังขรณ์ และมีพระราชดำริจะอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ โปรดให้ก่อฐานชุกชีขึ้นกลางพระอุโบสถ และเขึยนภาพฝาผนัง เรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ และเรื่องประวัติ พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์จนเสร็จ แต่ยังมิทันจะได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐาน พระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระพุทธสิหิงค์จึงคงประดิษฐาน อยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์จนทุกวันนี้

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ โปรดฯให้กรมหมื่น บวรวิไชยชาญ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นพระ มหาอุปราชวังบวรสถานมงคล และประทับอยู่ที่วังหน้า ๑๗ ปี ก็เสด็จทิวงคต ที่พระที่นั่ง บวรปริรัติ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ ขณะที่กรมพระราชวังวิไชยชาญประทับอยู่ที่วังหน้า เป็นเวลาที่พระราชมณเฑียรและสถานที่ต่างๆยังอยู่ในสภาพดี จึงมิได้สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมากนัก เมื่อสิ้นกรมพระราชวังวิไชยชาญแล้ววังหน้าก็มิได้เป็นที่ ประทับของพระ มหาอุปราชอีกเลย เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นมกุฏราชกุมารอย่างหน่อพระพุทธเจ้าตามราชประเพณี เดิม ทรงเลิก ตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าตั้งแต่นั้นมา

    ส่วนวังหน้าเมื่อมิได้ ใช้เป็นที่ประทับแล้วได้ทรงใช้เป็นที่ทำประโยชน์ต่างๆ เช่น โรงทหาร ม้ารักษาพระองค์บ้างเป็นพิพิธภุณฑสถานบ้าง ทั้งโปรดฯให้รื้อป้อมออก และ แบ่งที่ พระราชวังบางส่วน เป็น สนามหลวงสืบต่อมาจนทุกวันนี้ สำหรับวัดบวรสถานพุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้านั้นเหลือเพียงพระอุโบสถซึ่งทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในสมัย ที่กระทรวงยุติธรรมตั้งอยู่ในบริเวณโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน ได้ใช้พระอุโบสถเป็นที่เก็บ สำนวนเรื่องราวฟ้องร้องต่างๆ จนกระทั่งกระทรวงนั้นย้ายออกไป

    ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระอุโบสถได้รับความเสียหาย จากระเบิดที่ตก ใน บริเวณใกล้เคียงชำรุดทรุดโทรมลงไปอีก จนเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ มีการสร้างโรงละครแห่งชาติขึ้น จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้าขึ้น ใหม่จนมี สภาพดีดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้


    [​IMG]


    ศิลปกรรมใน วัดพระแก้ววังหน้า
    ศิลปกรรมต่างๆของวัดพระแก้ววังหน้าที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนี้มีเพียงพระอุโบสถเท่านั้น เป็นพระอุโบสถ จตุรมุขสูงใหญ่ตั้งสูงตะหง่านอยู่บนฐานซึ่งมีบันไดขึ้นที่งสี่ด้าน บริเวณฐานมีชานล้อมโดยรอบ เสียดาย ที่พระอุโบสถหลังนี้ ถูกตึกสมัยใหม่บังเสียหมด จนไม่อาจชมความงามของ พระอุโบสถได้ ในระยะที่ เหมาะสม ในด้านรูปทรงภายนอกแล้วต้องนับว่าพระอุโบสถหลังนี้มีความงามสง่าแปลกตาไม่น้อย และเป็นศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่สำคัญของวังหน้าที่ทรงสร้างขึ้น

    นอกจากรูปทรงภายนอกแล้วภายในพระอุโบสถยังมีศิลปกรรมสำคัญที่ควรชมคือ พระพุทธรูป ซึ่งเป็น พระประธานของพระอุโบสถตั้งอยู่สุดผนังมุขด้านตะวันตก เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางห้ามสมุทร พระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างเพื่อสำหรับประดิษฐานในพระอุโบสถนี้ แต่ ยังไม่ทันเสร็จก็ประชวรหนักใกล้จะสวรรคต พระองค์ทรงจบ พระหัตถ์ผ้าห่มพระประธาน พระองค์เจ้า ดาราวดีไว้ดำรัสสั่งไว้ว่าต่อไปถ้าท่านผู้ใดเป็นใหญ่ได้ทรงบูรณะวัดนั้น ให้ถวายผ้าผืนนี้ ทูลขอให้ช่วย ทรงพระให้ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจบผ้าผืนนั้น ทรงพระพุทธรูปถวาย ดังพระ ราชอุทิศ ของกรมพระราชวังมหาศักดิพลเสพย์ ปัจจุบันนี้พระพุทธรูปองค์นี้ยังคงอยู่ในสภาพดี มีฐาน ชุกชีและบุษบกครอบ บุษบกนั้นคงเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่วังหน้า

    ศิลปกรรมที่นอกเหนือไปจาก พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ คือจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นจิตรกรรมเรื่อง ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ประวัติพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ซึ่งเป็นฝีมือช่างผสมกัน ระหว่างฝีมือช่าง ใน สมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ นอกจากนี้เรื่องตำนานนิทานไทยโบราณ ประวัติพระคเณศ และ ช้าง อุษฏทิศ ภาพจากวรรณคดี เรื่องอุณรุท รามเกียรติ์ นารายณ์สิบปาง ตลอดจนภาพเทพเจ้า และ อมนุษย์ของอินเดีย ทั้งที่ปรากฏในมหาภารตคัมภีร์ และคัมภีร์ปุราณะต่างๆ นอกจากนี้ก็มีพระราชพิธี โบราณของไทย เช่น พระราชพิธีโสกันต์ และภาพการละเล่นต่างๆของไทย เช่น กระตั้วแทงควาย แทงวิไสย ไต่ลวด ญวนหก เป็นต้น

    อย่างไรก็ตามภาพที่ปรากฏบนฝาผนังเป็นเป็นเรื่องราวต่างๆจำนวนมากนี้ คงเป็น ฝีมือช่างหลายคน เพราะผนังพระอุโบสถนี้กว้างใหญ่มาก มีพื้นที่สำหรับเขียนภาพได้ มากมาย จึงปรากฏเรื่องราวต่างๆในลักษณะหลายเรื่องหลายรสหลายฝีมือช่าง มีทั้ง ฝีมือดีและด้อยคละเคล้ากันดังที่สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์นิพนธ์ไว้ว่า เป็นภาพ จิตรกรรมฝาฝนังงามเยี่ยมแห่งหนึ่งเท่าที่เหลือในปัจจุบัน เจ้าฟ้า อิศราพงศ์ เป็นแม่กอง จัดช่างฝีมือเข้าเขียน มีฝีมือพระอาจารย์แดงวัดหงส์รัตนารามเขียนภาพชนช้าง ไว้ห้องหนึ่ง อีกห้องหนึ่งเป็นภาพฝีมือนายมั่นคือการทิ้งทานลูกกัลปพฤกษ์ดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าวัดพระแก้ววังหน้าหรือวัดบวรสถานสุทธาวาส เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมา ยาวนาน เป็นวัดในพระราชวังหน้าของพระมหาอุปราชมาถึงห้ารัชกาล แม้ปัจจุบันจะ เหลือเพียงพระอุโบสถเท่านั้นก็ตาม แต่คุณค่าของศิลปกรรมนับได้ว่า มีค่าควรแก่การ ศึกษาหาความรู้อย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวของประวัติศาสตร์และศิลปะ จึงควรหาโอกาสไปชมวัดนี้ เพราะจะได้สัมผัสกับหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ได้ลิ้มรสสุนทรียภาพจากศิลปกรรมด้วยทั้งยังเป็นการฟื้นความทรงจำถึง?ังหน้า ที่สำคัญ ของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

    [​IMG]


    วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

    วัดที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย
    ที่อยู่ ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220
    ชื่อสามัญ วัดพระศรีมหาธาตุ
    ประเภท พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
    นิกาย เถรวาท ธรรมยุต
    พระประธาน พระพุทธสิหิงค์
    พระพุทธรูปสำคัญ พระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศอินเดีย
    เจ้าอาวาส พระธรรมเจติยาจารย์
    เวลาทำการ ทุกวัน 8.00 - 20.00 น.

    วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2484 และเป็นพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2485 สร้างในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้สร้างวัดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นอนุสรณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตย และกำหนดให้แล้วเสร็จทันวันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สร้างวัดขึ้นโดยให้ชื่อว่า วัดประชาธิปไตย ระหว่างการก่อสร้าง พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ขณะมียศเป็นนาวาเอก หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์)ได้เดินทางไปขอพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดีย รวมทั้งกิ่งพระศรีมหาโพธิ 5 กิ่ง จากต้นที่สืบเนื่องมาจากต้นที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ และตรัสรู้ พร้อมดินจากสังเวชนียสถานคือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน รัฐบาลได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ต้นพระศรีมหาโพธิและดินดังกล่าวมาประดิษฐานที่วัดซึ่งกำลังสร้างนี้ ได้มีการตั้งนามวัดว่า วัดพระศรีมหาธาตุ และถวายเป็นเสนาสนะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

    วัดพระศรีมหาธาตุมีถาวรวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจดีย์ศรีมหาธาตุซึ่งภายในมีเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและที่ผนังมีช่องบรรจุอัฐิของผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศซึ่งรัฐบาลและสภาผู้แทนเห็นสมควร และยังมีพระศรีสัมพุทธมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัยซึ่งเดิมประดิษฐานที่วังหน้า

    นอกจากนี้ในพื้นที่วัด ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อีกด้วย
    ประวัติ

    วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรวิหาร เริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๘๓ ที่ริมถนนพหลโยธิน ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๘ แขวงอนุสาวรีย์ ( เดิมชื่อตำบลกูบแดง ) เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เปิดเป็นเสนาสนะแห่งพระภิกษุสงฆ์ เป็นรัฐพิธี เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาญาณ สมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นประธาน เชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ

    เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๓ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงยศ และบรรดาศักดิ์ เป็นพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติเงินเพื่อสร้างวัด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประสงค์จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ คือ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔ สถานที่ที่จะสร้างนั้นควรอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ โดยท่านมีเหตุผลว่าชาติกับศาสนานั้นเป็นของคู่กัน จะแยกจากกันมิได้ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรสร้างวัดขึ้นใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้จารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปราบกบฎเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และประสงค์จะให้ชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย"

    ในขณะที่กำลังดำเนินการพิจารณาอยู่นั้น เกิดศุภนิมิตรอันประเสริฐโดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ส่งคณะทูตพิเศษ อันมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็นนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอินเดีย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ อินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ) คณะทูตได้ติดต่อขอดังนี้

    ๑. พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ๒. ขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ๕ กิ่ง จากต้นที่สืบเนื่องมาแต่เดิม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับ ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ พุทธคยาประเทศอินเดีย
    ๓. ขอดินจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่งคือ จากที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

    รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาเห็นว่า ประชาชนที่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนานั้นมีมาก แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ แต่มีประเทศเดียวเท่านั้นในโลกนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๔)ที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาทางราชการเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นประเทศเอกราช มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก "ประเทศนั้นคือ" ประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงพิจารณามอบให้ คือ

    ๑. พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

    ๒. มอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ให้ตามที่รัฐบาลไทยเสนอขอ ๕ กิ่ง ๓. และมอบดินจากสังเวชนียสถานให้ตามความประสงค์

    รัฐบาลไทยจึงตกลงที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดที่สร้างใหม่นี้ และเห็นว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาสิริมงคลแก่วัดที่จะสร้างใหม่ ซึ่งได้รับมาในโอกาสเดียวกันกับที่จะสร้างวัดพอดี จึงตกลงตั้งนามวัดว่า "วัดพระศรีมหาธาตุ"

    การสร้างวัดจึงได้เริ่มต้นขึ้น และรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การสร้างวัดนี้ควรเป็นงานของชาติ ประชาชนควรได้มีส่วนร่วมด้วย รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์ จึงมีประชาชนจำนวนมากมหาศาล ที่บริจาคที่ดิน บริจาคเงิน บริจาคทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยที่วัดนี้จะเป็นการสร้างวัดอย่างเป็นทางการวัดแรก ในระบอบประชาธิปไตยและยังประสงค์จะให้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์อีกด้วย ดังนั้นเพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนา และรักษาศิลปของไทย รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ร่วมมือกันสร้าง ในขั้นต้นได้มอบให้ พลโท จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็น พันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ และอีกท่านหนึ่งคือ หลวงวิจิตรวาทการ (พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง พระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบ นายช่างกรมศิลปากรและกรมรถไฟ เป็นนายช่างก่อสร้าง และเชิญผู้มีเกียรติที่มีความรู้ทางเทคนิค เฉพาะทางอีกหลายท่านมาร่วมด้วยจนสำเร็จ กระทำพิธีเปิดและถวายเป็นเสนาสนะแห่งภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕

    ที่ดินของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๒๒๖ ไร่ ๒ งาน ๒๖ ตารางวา ด้านหน้าติดถนน พหลโยธิน แบ่งออกเป็นที่ตั้งวัด ๘๓ ไร่เศษ และที่ธรณีสงฆ์เหลือจากที่ตั้งวัดอีก ๑๔๓ ไร่เศษ ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นที่สำนักสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๘๔ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๔

    พระอุโบสถเป็นแบบพระที่นั่งจตุรมุข ต่อจากมุขด้านเหนือและใต้เป็นวิหารคตล้อมตัวอุโบสถอยู่อีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเป็นศาลาการเปรียญ ตรงหน้าพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งพระมหาเจดีย์ สูง ๓๘ เมตร มีนามว่าพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ ได้มีพระราชพิธียกฉัตรยอดเจดีย์ เมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๔๘๔ พระมหาเจดีย์นี้เป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกเป็นเจดีย์ใหญ่ ชั้นในเป็นเจดีย์องค์เล็กอยู่ตรงกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในระหว่างผนังด้านในของเจดีย์องค์ใหญ่กับองค์เล็กมีเนื้อที่กว้าง ๒ เมตรครึ่ง เป็นทางเดินได้รอบ มีประตูเข้าออก ๔ ด้าน สำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการ ผนังด้านในของพระเจดีย์องค์ใหญ่ได้ทำเป็นช่องไว้ ๑๑๒ ช่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๔ ให้ใช้สำหรับบรรจุอัฐิผู้ที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นสมควร กล่าวคือผู้ที่ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ เช่นเดียวกับของฝรั่งเศส ตรงหน้าพระเจดีย์ออกไปทั้ง ๒ ข้าง ด้านตะวันออกทำเป็นเกาะรูปกลมมีน้ำล้อมรอบ สำหรับเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ กิ่งพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทางรัฐบาลอินเดียมอบให้มา ๕ กิ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประกอบพิธีปลูกไว้ ณ เกาะกลมนั้น ตรงที่สุดของคูทั้งสอง ๒ ข้าง ทางทิศตะวันออก เกาะละต้น เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๔ และกิ่งที่เหลือนำไปปลูก ณ วัดภาคต่างๆ

    นอกจากนี้ในพื้นที่วัด ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อีกด้วย

    ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระประธานวัดเขมาภิรตาราม

    [​IMG]


    พระประธานวัดเขมาภิรตาราม

    วัดเขมาภิรตาราม เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสมัยอยุธยา ต่อมาจากแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง แต่ถูกทิ้งร้างไปนานจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมมีชื่อเรียกสั้นๆว่า “วัดเขมา” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่ชาวเขมร มาสร้างไว้ และเอานามเขมรมาตั้งชื่อ คำว่า เขมาหรือเขมะหรือเขมะรัฐ แปลว่า เขมรนั่นเอง วัดเขมาอายุนานมากกว่า ๕๐๐ ปี พระเจ้าอู่ทอง(พระรามาธิบดีที่ ๑) ทรงปฏิสังขรณ์ จึงเป็นวัดที่สำคัญขึ้น คือเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ ยังทรงอุปถัมภ์และสังกัดในบัญชีกฐินหลวงของวังหน้า (กรมพระราชวังบวรฯ)

    มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บรมราชินี ว่าวัดเขมาเป็นวัดใหญ่ จึงทรงขอมาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้ทรงปฏิสังขรณ์จน ให้บำเพ็ญพระกุศลเป็นอันมากเรียบร้อยแล้วให้ฉลองสมโภชเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ และขนานนามว่า “วัดเขมา” ข้าฯในกรมขุดรากฐานพระอุโบสถขยายออกไปให้กว้างและถมพื้นพระอุโบสถให้สูงขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมพระราชวังบวรฯรับสั่งให้ก่อพระประธานสวมองค์เก่าบูรณะพระพุทธรูปทั้งหมดก่อกำแพงสร้างศาลาการเปรียญเรียบร้อยแล้วบำเพ็ญกุศลสมโภช เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑)

    ต่อมาปีกุน ตรีศก ๑๒๑๓(พ.ศ.๒๓๙๔)รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ขุดคูรอบวัด สร้างพระอสีติมหาสาวกล้อมพระประธาน

    สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกเมื่อสิ้นรัชกาลก็ขาดตอนลง การบูรณะปฏิสังขรณ์ ทำตามกำลังความสามารถของบรรดาเจ้าอาวาส และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

    [​IMG]


    การสร้างพระประธาน
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมพระราชวังบวรฯ รับสั่งให้ก่อพระประธานสวมองค์เก่าบูรณะพระพุทธรูปทั้งหมด ก่อกำแพงสร้างศาลาการเปรียญเรียบร้อยแล้วบำเพ็ญกุศลสมโภช เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑) ต่อมาปีกุน ตรีศก ๑๒๑๓(พ.ศ.๒๓๙๔) รัชกาลที่ ๔ ทรงรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ขุดคูรอบวัด และสร้างพระอสีติมหาสาวกล้อมพระประธาน และสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อีก

    [​IMG]


    ภายในพระอุโบสถ มีความสวยงามและแปลกกว่า พระอุโบสถทั่วไป ที่มีพระประธานเพียงองค์เดียว ที่นี่นอกจากจะมีพระประธาน 2 องค์แล้ว ยังมีรูปพระสาวกล้อมรอบอีกถึง 80 องค์ ผนังด้านหลังพระประธานก็ไม่ได้เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่เป็นช่องพระพุทธรูปปางต่างๆ

    พระประธานในพระอุโบสถมี ๒ องค์ คือ พระประธานองค์ที่ ๑ องค์ใหญ่ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงสร้างพระประธานครอบองค์เก่าที่ดั้งเดิมเป็นทองคำใน พ.ศ. ๒๓๗๑ มีพระเพลากว้าง ๒.๙๐ เมตร ความสูงตลอดพระรัศมี ๔ เมตร ต่อมา รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระอสีติมหาสาวก รอบพระประธาน ๘๐ รูป มีชื่อแต่ละองค์สลักปรากฏอยู่ที่ฐานอาสนะ

    พระประธานองค์ที่ ๒ องค์เล็กด้านหน้า เป็นพระพุทธรูปโลหะ อัญเชิญจากวังจันทรเกษม จังหวัดอยุธยา มาประดิษฐานเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๐๑ มีพระเพลากว้าง ๗๔ เซนติเมตร ความสูงตลอดพระรัศมี ๑๐๙ เซนติเมตร พระนามว่า “รูปพระอินทร์แปลง”
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดพวงมาลัย แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

    [​IMG]


    วัดพวงมาลัย ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

    วัดพวงมาลัย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ด้านตะวันตก ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ระหว่าง พ.ศ.2415-2430 โดยท่านสัสดีพ่วงและนางมาลัยภรรยา ได้มีศรัทธาถวายที่ดินของตนให้สร้างเป็นวัด ได้ชื่อว่า “วัดพ่วงมาลัยสุนทราราม" ต่อมาภายหลัง เรียกชื่อสั้นๆ ว่าวัดพ่วงมาลัย จนกลายมาเป็นวัดพ่วงมาลัยทุกวันนี้

    เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ได้อาราธนา "พระครูวินัยธรรม (หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร)" มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอธิการวัดช่องลม ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง

    พระครูวินัยธรรม หรือ หลวงพ่อแก้ว เป็นพระธุดงค์ที่มีความเชี่ยวชาญมสงสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีคนนับถือมาก เชื่อกันว่าท่านสำเร็จญาณวิเศษ สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆได้ทั้งปัจจุบัน อดีต อนาคต เหรียญหลวงพ่อแก้ว ที่ท่านสร้างขึ้นเองเป็นเนื้อทองเหลือง ที่เรียกว่า "เนื้อลงหิน" มีรูปหลวงพ่อแก้วอยู่ด้วย พร้อมด้วยตะกรุด ผ้ายันต์ และลูกอม นั้นมีคนนิยมกันมากว่าคงกระพันชาตรีดีนักแล ปัจจุบันมีราคาแพงมาก เช่นเดียวกับเหรียญหลวงพ่อคงวัดบางกะพ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะกรุดใบลานที่หลวงพ่อเจาะจงทำให้ ต้องไปนำมาจากต้นที่ขึ้นอยู่ปลากคลองบังปืน ตำบลบังปืนเท่านั้น ผู้ใดอยากได้ตระกรุดก็ต้องไปตัดมาถวายให้ท่าน

    ชื่อเสียงของหลวงพ่อแก้ว เป็นที่เลื่องลือมาในสมัยนั้น ในเรื่องอาคมขลัง เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่ได้ปูพื้นฐานของวัดให้เจริญรุ่งเรืองตกทอดกันต่อมากลายเป็นวัดพวงมาลัยที่งดงามมั่นคงมาจรทุกวันนี้

    เมื่อปี พ.ศ.2416 เกิดอหิวาตกโรคระบาด ชาวบ้านไปขอน้ำมนต์จากท่านมาอาบและดื่มกินแล้วหายจากโรคกันมาก ชื่อเสียงของท่านก็โด่งดังเลื่องลือไปถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินในกรุงเทพฯ มีเจ้านายหลายพระองค์มาเยี่ยมหลวงพ่อแก้ว เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เป็นต้น

    สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดชนั้น ทรงคุ้นเคยกับหลวงพ่อแก้วเป็นพิเศษ ทรงสร้างตำหนักชื่อว่า "ญาโณยาน" ไว้ที่ข้างวัดพวงมาลัย 1 หลัง เพื่อเป็นที่พักผ่อน พระตำหนักที่สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จประทับมา แต่ปัจจุบันได้ถูกรื้อไปแล้ว เหลือแต่ที่ดินเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทในตระกูลภาณุพันธุ์ ปัจจุบันได้กระทำเป็นพินัยกรรมถวายให้เป้นที่ธรณีสงฆ์ของวัดพวงมาลัยแล้ว

    สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และมนัสการ ได้แก่
    1. พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก สูง 3 ศอกเศษ เป็นพระประจำวัดมาแต่เดิม หล่อด้วยทองเหลือง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มาแต่ที่ไหน ประจำอยอู่ในวิหาร
    2. พระพุทธรูปปางมารวิชัย มีซุ้มเรือนแก้ว หล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว่าง 3 ศอก สูง 4 ศอก 17 นิ้ว เป็นพระประธานอยู่ในอุโบสถ
    3. พระพุทธรูปปางไสยาสน์ หล่อด้วยทองเหลือง ยาว 2 วาเศษ ประจำอยู่ในวิหาร
    4. เจดีย์แบบมอญ (เจดีย์หงสาวดี) หลวงพ่อแก้ว จำลองมาจากประเทศพม่า เมื่อครั้งท่านเดินธุดงค์เข้าไปในประเทศพม่า และได้นำพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในเจดีย์ เป้นเจดีย์ที่ค่อนข้างแปลกและสวยงามมากน่าเสียดายยิ่งไม่ได้รับการปฏิสังขรณ์ให้งดงามเท่าเดิม

    ประวัติของวัดพวงมาลัยมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ผู้สนใจสอบถามหาข้อมูลได้จากทางวัดและจากหนังสือเสด็จประพาสต้นของ ร.5

    การเดินทาง ไปวัดพวงมาลัยสะดวก ถนนดี เมื่อผ่านวัดปทุมคณาวาสมาแล้ว เข้าถนนไชยพรเลียบแม่น้ำแม่กลองไปเรื่อยๆ จนสุดถนนถึงทางสี่แยก ขวามือเป็นท่าเรือข้ามฟากไปตลาดแม่กลอง ขับรถตรงไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ก็ถึงวัดพวงมาลัย ทางเข้าวัดอยู่ขวามือ (ถนนปทุม-มาลัย)
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดดอยแท่นพระ(ผาหลวง) จ.เชียงใหม่

    [​IMG]


    วัดดอยแท่นพระ(ผาหลวง) อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

    วัดดอยแท่นพระผาหลวงเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 600 ปี สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

    วัดดอยแท่นพระผาหลวง โดยมีประวัติความเป็นมาที่สำคัญดังนี้ บริเวณทางขึ้นวัดจะพบรูปปั้นเทพอสูร ชาวบ้านสมัยก่อนช่วยกันสร้างขึ้นโดยเชื่อว่า เทพอสูรเป็นเทพช่วยปกป้องรักษาป่าไม้ และต้นน้ำลำธารให้มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมเหล่าผีสางทั้งหลายไม่ให้เข้ามาสู่หมู่บ้านและไม่ไปรบกวนวัดดอยแท่นพระผาหลวง

    ชาวบ้านบางคนยังมีความเชื่อ เกี่ยวกับการบนไหว้ เพื่อขอสิ่งที่ต้องการ จากคำบอกเล่าของชาวบ้านปรากฏว่ามักจะได้สิ่งที่ต้องการตามที่บนไว้ ผู้ที่มาบนส่วนใหญ่มักจะมาบนเกี่ยวกับการให้หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย บริเวณใกล้ๆ กับรูปปั้นเทพอสูรจะเห็นบ่อน้ำเก่าแก่มีความลึกประมาณ 7-8 เมตร กว้างประมาณ 1.50 เมตร

    บ่อน้ำนี้มีความจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ที่วัดดอยแท่นพระผาหลวงมาก พระในสมัยก่อนต้องเดินด้วยเท้าเปล่าจากวัดลงมาตัดน้ำไปใช้ซึ่งระยะทางจากบ่อน้ำถึงวัดประมาณ 1 กิโลเมตร ต่อมาได้มีการสร้างศาลาแท่นดอกไม้คลุมบ่อน้ำนี้ไว้ และยังมีการสร้างที่พักเพิ่มขึ้นอีกสำหรับชาวบ้านมาพักเหนื่อยจากการออกไปหาของป่าและผู้ที่มาเที่ยวบริเวณนี้

    [​IMG]


    วัดดอยแท่นพระ(ผาหลวง) อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดศิมาลัยทรงธรรม จ.นครราชสีมา

    [​IMG]


    วัดศิมาลัยทรงธรรม จ.นครราชสีมา
    อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นประตูสู่ภาคอีสานมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าดงพญาเย็นประกอบกับพื้นที่ราบ สูง สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปเย็น
    "วัดศิมาลัยทรงธรรม" ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ.2484 เป็นวัดตั้งอยู่ในหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ มีถ้ำขนาดใหญ่สำหรับปฏิบัติธรรมปากทางเข้าถ้ำอยู่บนเขามีลานหินและพระพุทธ รูป
    ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยสวยงาม ตกแต่งพื้นที่สำหรับนั่งสมาธิภาวนาเป็นชั้นๆ บนยอดเขาประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่บนเรือสุพรรณหงส์ ตกแต่งลวดลายอ่อนช้อยงดงาม โดยทีมงานช่างโบราณ

    ทางขึ้นภูเขาสู่ยอดพระบรมธาตุเจดีย์ตกแต่งเป็นบันไดพญานาคจำนวน 227 ขั้น มีฝ่าพระหัตถ์จำลอง และกุฏิหลังเล็กๆ ตามแมกไม้บนภูเขา ด้านล่างของวัดมีฝ่าพระพุทธบาทจำลองล้อมรอบด้วยพญานาคและพระอริยเจ้าทั้ง 4 ทิศได้แก่ หลวงปู่ทวด สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี, หลวงปู่ครูบาศรีวิชัย และหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตร

    [​IMG]


    ปัจจุบันพระอธิการฉัตรชัย อนาลโย (หลวงปู่โต) เป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านเกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2514 เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี เกิดในตระกูลจาระเกษม เป็นศิษย์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และหลวงปู่บุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข จ.อุบลราชธานี แต่เดิมชีวิตท่านท่านชอบธุดงค์ตามถ้ำ มีนิสัยชอบธรรมชาติ ปฏิบัติธรรมแล้วทำให้เกิดความสงบ ใช้ชีวิตปฏิบัติธรรม กรรมฐาน ตามถ้ำต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ถ้ำพระพุทธ จ.ศรีสะเกษ, ถ้ำเขาลูกช้าง จ.สงขลา และถ้ำพระอรหันต์ (เขาสามยอด) จ.ลพบุรี เป็นต้น
    ท่านจะต้องรับศิษยานุศิษย์ด้วยความเต็มใจ ทุกฐานะไม่ว่าจนหรือมั่งมีเป็นกันเอง เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา ยินดีช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ท่านจะสอนให้นั่งสมาธิ ภาวนา ปฏิบัติธรรมให้เกิดพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ด้วยความที่ท่านได้มีนิมิตว่า "ให้สร้างพระเบญจภาคี ถวายเป็นพุทธบูชา สร้างเอง เผาเอง เป็นจำนวนมาก" และปัจจุบันนี้ท่านได้สร้างพระดินเผาจำนวนมากนำไปบรรจุตามสถูปเจดีย์ ทั่วจตุรทิศทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย นอกจากนี้วัดศิมาลัยทรงธรรม ยังเปิดกว้างให้หน่วยงานราชการ, เอกชน ห้างร้าน บริษัท ที่สนใจจะมาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ภาวนา จะเป็นหมู่คณะหรือครอบครัว ทางวัดยินดีต้อนรับแต่ขอให้แจ้งทางวัดให้ทราบล่วงหน้า
    พระอธิการฉัตรชัย อนาลโย (หลวงปู่โต) ขอฝากทิ้งท้ายว่า "ทุกข์เกิดที่จิต สงบจิตระงับทุกข์"

    [​IMG]


    การเดินทางไปวัด ตามถนนธนะรัชต์ มุ่งสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประมาณ 12 กิโลเมตรจะมีป้ายบอกแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 1 กิโลเมตรก็ถึงวัดศิมาลัยทรงธรรม

    พระอธิการฉัตรชัย อนาลโย (หลวงปู่โต) เป็นพระสุปฏิปันโนที่แท้จริง ที่น่ายกย่องเลื่อมใสเพียบพร้อมด้วยศิลาจารวัตรอันงดงามพร้อมมอบการถวาย ชีวิตเป็นพุทธบูชา เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาต่อไป

    ขณะนี้ทางวัดศิมาลัยทรงธรรม กำลังดำเนินการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมแปดเหลี่ยม และบันไดทางขึ้น พระบรมสารีริกธาตุ ร่วมทำบุญได้ที่ พระอธิการฉัตรชัย อนาลโย (หลวงปู่โต) โทร.08-9776-6163


    ที่มา ข่าวสด
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดในหลวงทรงสร้าง

    [​IMG]


    วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดในหลวงทรงสร้าง

    วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เกิดขึ้นจากพระราชดำริเริ่มแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ทำการทดสอบการบำยัดน้ำเน่าเสียที่ไหลมาตามคลองลาดพร้าวส่วนหนึ่งให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยวิธีการเติมอากาศลงไปในน้ำ แล้วปล่อยให้น้ำตกตะกอน และปรับสภาพน้ำก่อนระบายลงสู่คลองตามเดิม

    ต่อมาพระองค์ท่านได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายโครงการในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริเวณข้างเคียง โดยให้ทำการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 ดำเนินการจัดตั้งวัดเพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่างๆ

    กระทั่ง พ.ศ.2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางสาว"จวงจันทร์ สิงหเสนี" เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 8-2-54 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดในนามมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส

    [​IMG]


    "วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก" เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกเป็นวัดนิกายธรรมยุต ชั้นตรี ชนิดสามัญ มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัดอื่นหลายประการ โดยโครงสร้างของวัดได้รับการออกแบบให้เป็นวัดขนาดเล็กในชุมชนเมืองที่ใช้งบประมาณที่ประหยัด มีการออกแบบโดยคำนึงถึงความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ประกอบด้วยพระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ สระน้ำ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระจำนวน 5 หลัง โรงครัว และอาคารประกอบที่จำเป็น อาคารทุกหลังจะใช้สีขาว ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม
    ส่วนพระอุโบสถสีขาว เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยได้ต้นเค้าของการออกแบบพระอุโบสถจากพระอุโบสถ 3 แห่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ พระอุโบสถวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม และพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ นนทบุรี เน้นประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ และวัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นของที่ผลิตในประเทศ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หน้าต่างเป็นอลูมิเนียมประดับ หน้าฐานเป็นลายปูนปั้น ตราพระราชสัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9 ช่อฟ้าใบระกาเป็นลวดลายปูนปั้น ไม่มีการปิดทองประดับกระจก องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายใบไม้ ผนังและเสาก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว หลังคามุงด้วยแผ่นเหล็กอาบสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก

    [​IMG]


    ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า "พระพุทธกาญจนธรรมสถิต" ซึ่งพระประธานองค์นี้ได้รับการออกแบบจาก นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ได้ทำการออกแบบทั้งสิ้น 7 แบบ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน จากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทอดพระเนตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบ พระพุทธรูปปางมารวิชัย(ปางชนะมาร) โดยได้ทรงแก้ไขแบบอีกเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง และคณะอนุกรรมการการก่อสร้างฯ ได้มอบให้อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน คณบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ปั้นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถ

    การสร้างวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นไปตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดเล็กๆ เพื่อเป็นแบบอย่างความพอดีและพอเพียง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง และเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนกิจกรรมต่างๆในการเผยแพร่ศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างในการประสานความร่วมมือระหว่าง ชุมชน-วัด-โรงเรียน หรือเรียกว่า "สามประสาน" ตามหลักการ "บวร"

    บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสามประสานนี้ คือ เพื่อเป็นแบบอย่างของการสร้างพุทธาวาสขนาดเล็กที่ยึดถือความสงบ สมถะ เรียบง่ายในชุมชนเมือง เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชนเมืองให้มีความผูกพันกับพุทธศาสนา เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรได้เข้ามาประกอบกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อเป็นการสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และการเผยแพร่ศีลธรรมและจริยธรรม และเพื่อเป็นตัวอย่างการประสานความร่วมมือระหว่างวัด โรงเรียน ชุมชน และหน่วยราชการต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญยิ่งขึ้น

    นอกจากนั้น เมื่อ พ.ศ.2536 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้น โดยนางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินอีกจำนวน 5 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับวัดแด่มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียน โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเปิดทำการสอนในระดับ อนุบาล – ประถมศึกษา และขยายโอกาสไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนพระราม 9 กาญจนาภิเษก" และได้เปิดดำเนินการสอนมาแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 เป็นต้นมา

    *****************************************
    วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ที่ 999 ซ.พระราม 9 กาญจนาภิเษก 19 ถ.พระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร.0-2318-5925-7
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดเจดีย์หอยมีดีมากกว่า..."หอย"

    [​IMG]


    วัดเจดีย์หอยมีดีมากกว่า..."หอย"

    วัดเจดีย์หอย ตั้งอยู่หมู่ ๔ ต.บ่อเงิน การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๔๑ (ปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๑-๒๒ แล้วแยกเข้าวัดไปอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร บริเวณวัดมีการขุดพบซากหอยนางรมยักษ์อายุนับล้านปีจำนวนมาก หลวงพ่อทองกลึง จึงนำซากหอยโบราณมาก่อเป็นเจดีย์ขึ้นที่ด้านหน้าทางเข้าและในวัด

    ภายในพิพิธภัณฑ์ยังได้รวบรวมพระพุทธรูป และศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ จำนวนมาก เช่น ตุ่มสามโคก ถ้วยชามดินเผา ไม้แกะสลัก เครื่องคิดเลข และโต๊ะใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น ในบริเวณวัดมีสวนสมุนไพร บ่อเลี้ยงเต่าและบ่อปลาสำหรับให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับการให้อาหารสัตว์เหล่านี้

    พระครูสุนทรคุณธาดา (หลวงพ่อทองกลึง สุนฺทโร) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หอย ได้มอบตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่เส็ง วัดบางนา จ.ปทุมธานี ศึกษาคาถาการต่อชะตาชีวิต รักษาโรค โหราศาสตร์จนแตกฉาน จนได้รับการยกย่องว่า เป็นศิษย์เอกของหลวงปู่เส็ง

    จากนั้นได้ธุดงค์ไปปฏิบัติธรรม ณ วัดวังก์วิเวกการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ศึกษาพระกรรมฐาน พระคาถาอาคมกับ หลวงพ่ออุตตมะ แล้วธุดงค์ต่อไปยังประเทศพม่า พบกับ พระอาจารย์ศีลยันตะ ๑ พรรษา ศึกษาวิชาอาคม
    ต่อมาได้ธุดงค์กลับมาถึงถ้ำโอ่งจุ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี นิมิตถึงเมืองโบราณชื่อ รัตนวดีนคร แล้วก็เดินทางค้นหาจนพบที่แห่งหนึ่ง ณ ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

    เมื่อพบเห็นสิ่งในนิมิตแล้ว ท่านได้ซื้อที่เดินแห่งนี้ไว้ ๑๑๓ ไร่ เป็นเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท จากเจ้าของเดิม โดยได้เงินบริจาคของโยมบิดาของท่านซึ่งถวายให้ เพื่อสร้างวัด

    ปี ๒๕๒๖ หลวงพ่อทองกลึง ได้จ้างคนมาขุดดินเป็นสระน้ำเป็นอันดับแรก ขณะที่คนงานกำลังขุดสระอยู่นั้น เมื่อขุดไปเรื่อยๆ ได้ประมาณ ๑๘ วัน มีความลึก ๖ เมตร สิ่งมหัศจรรย์ก็พลันปรากฏขึ้น ทำให้ประชาชนทั่วไปแตกตื่นกันทั่วประเทศ จากข่าวที่ปรากฏอยู่ทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ คือแทนที่จะพบซากอิฐซากปูนปรักหักพังแห่งปราสาทราชวังอย่างที่คิดเอาไว้

    สิ่งที่ขุดติดดินขึ้นมานั้น กลับกลายเป็น เปลือกหอยนางรมยักษ์ ซึ่งมีจำนวนมากมหาศาล เปรียบเสมือนเป็นป่าช้าหอยขนาดใหญ่ ได้มาสุมกองกันตายอยู่ ณ บริเวณนั้น นักธรณีวิทยาได้มาทำการศึกษาค้นคว้าดู ต่างก็ลงความเห็นตรงกันว่า หอยนางยักษ์เหล่านี้มีอายุในราว ๘ ล้านปีมาแล้ว แต่ไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็นว่า เพราะเหตุใดหอยนางรมยักษ์เหล่านี้ จึงได้มีการตายกองสุมอยู่ในบริเวณใต้พื้นปฐพีแห่งนี้เลย

    หลวงพ่อทองกลึง จึงได้สร้างวัดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ สมความปรารถนาของท่าน และได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดเจดีย์หอย บรรดาเปลือกหอยนางรมยักษ์ที่ขุดขึ้นมานั้น ท่านได้นำมาก่อกองขึ้นเป็นเจดีย์หอยองค์ใหญ่ ประชาชนเริ่มหลั่งไหลมาดูหอยนางรมยักษ์ ผู้ที่มีจิตศรัทธาก็ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างวัด

    [​IMG]


    ในปัจจุบันวัดเจดีย์หอย มีเจดีย์หอยองค์ใหญ่ และยังขุดเปลือกหอยขึ้นมาก่อสร้างต่อเติมให้ใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ

    นอกจากนี้ ใครที่ได้มาวัดเจดีย์หอยแห่งนี้แล้ว ยังได้ชม หอยมือเสือยักษ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่หลวงพ่อทองกลึงได้นำมาจาก จ.ระนอง มีขนาดใหญ่มาก กว้างเป็นเมตรขึ้นไป รวมทั้ง ฆ้องอธิษฐาน ไม่ต้องตี แค่ลูบก็ส่งเสียงดังกังวาน เป็นฆ้องโลหะทองเหลืองขนาดใหญ่ ที่สามารถทำให้เกิดเสียงดังได้โดยไม่ต้องใช้ไม้ตี เพียงแต่ใช้นิ้วมือลูบไปตรงส่วนนูนตรงกลางหรือส่วนเว้าด้านหลัง
    หลวงพ่อได้สั่งทำฆ้องทั้ง ๒ ใบ มาเพื่อใช้ตีบอกเวลาเรียกประชุม ตีอยู่ ๓ ปี วันหนึ่งท่านก็บอกว่า ไม่ต้องตีแล้ว ให้ใช้ลูบก็ดัง

    จากนั้นฆ้องทั้งสองก็ไม่ต้องใช้ไม้ตีอีกต่อไป เป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างยิ่งท่านว่า เป็นฆ้องอธิษฐาน ก่อนลูบต้องอธิษฐานก่อน ผู้คนที่เดินผ่านไปมาเที่ยวชมของแปลกๆ ในพิพิธภัณฑ์ต่างเอามือลูบ เพราะบางคนลูบแล้วดัง บางคนไม่ดังขึ้นอยู่กับกุศลผลบุญ แต่คำอธิษฐานของคนคนนั้น ไม่ได้มีเทคนิคพิเศษในการลูบแต่ประการใด

    นอกจากนี้แล้วบริเวณวัดยังมี สวนสมุนไพร ซึ่งมีสมุนไพรนับร้อยชนิดที่หลวงพ่อทองกลึงปลูกไว้เพื่อนำมาทำยาสมุนไพรเอง

    หลวงพ่อ บอกว่า สวนสมุนไพรที่วัดเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ทางวัดยังได้ขอเช่าที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จากกรมป่าไม้เพื่อปลูกสมุนไพรประมาณ ๑๒,๐๐๐ ไร่ ขณะเดียวกันก็มีสวนสมุนไพรที่ จ.ชัยนาท อีกกว่า ๑,๕๐๐ ไร่ ซึ่งได้ปลูกสมุนไพรไว้นับพันชนิด และได้ปลูกมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว

    สูตรยาสมุนไพรของวัดนั้น สามารถรักษาได้สารพัดโรค ยาแผนโบราณที่เด่นๆ เช่น "ยาเบอร์ ๕" ซึ่งมีสโลแกนว่า "สุขภาพดีถ้วนหน้า กินยาเบอร์ ๕ วัดเจดีย์หอย"

    นอกจากนี้ยังมียา "ยาเทวดา" ซึ่งสามารถแก้โรคเบาหวาน ความดัน เครียด ฯลฯ โดยรับประทานกับน้ำผึ้งเดือน ๕

    ท่านที่สนใจจะไปเที่ยว วัดเจดีย์หอย สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.๐-๒๕๙๙-๔๒๔๗, ๐-๕๑๘๘-๙๔๒๔, ๐-๙๐๒๕-๘๐๓๑
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดธาตุมหาชัย จังหวัดนครพนม

    [​IMG]


    ประวัติการสร้างพระธาตุมหาชัย
    สถานที่ตั้ง
    วัดธาตุมหาชัย บ้านมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

    ความเป็นมา
    พระธาตุมหาชัยองค์เดิม สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2518 โดยดำริของหลวงปู่ หลังจาก ที่หลวงปู่ได้นำพาญาติโยมมาสร้างบ้านมหาชัย และสร้างวัดโฆษการาม ต่อมาจึงดำริที่จะสร้างพระธาตุขึ้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวพุทธ โดยได้รับความร่วมมือจากญาติโยม ชาวตำบลมหาชัยทุกหมู่บ้านได้นำเอาหินลูกรัง และดินมากองรวมกันให้เป็นเนินสูงเพื่อจะให้เป็นฐานพระธาตุ จนได้เนินสูงพอสมควร ต่อมาได้มีหน่วยงานของทางราชการมาช่วย เช่น หน่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) ได้นำรถแทรกเตอร์มา ช่วยทำฐานพระธาตุเพียงหยาบๆ จนได้ฐานพระธาตุกว้าง 17 เมตร ยาว 23 เมตร สูง 4.50 เมตร การสร้างพระธาตุหลวงปู่ ได้ดำเนินการสร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป อาศัยกำลังจากญาติโยมและพระภิกษุสามเณรในวัด

    พ.ศ. 2512 ศิษย์หลวงปูคนหนึ่งคือพระมหาเฉวต วชิรญาโณ จำพรรษาอยู่ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาวได้เดินทางมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่และได้นำเอาพระอรหันตสารีริกธาตุ ของพระอัญญาโกณฑัญญะปฐมสาวก ถวายแด่หลวงปู่ เพราะเลื่อมใสเห็น ว่าหลวงปู่กำลังสร้าง พระธาตุ

    พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระธาตุขึ้น โดยได้อาราธนาพระเทพรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น มาเป็นประธานในพิธีสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองได้เชิญ พลตรี ยง ณ นคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน แต่ท่านผู้ว่าฯ ติดราชการจึงให้พันตรี อรุณ สังฆบรรณ ปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอปลาปาก มาทำหน้าที่เป็นประธานแทน เมื่อเสร็จจากพิธิวางศิลาฤกษ์แล้ว ได้ลงมือก่อสร้างองค์พระธาตุโดยพระมหาเฉวต วชิรญาโณ เป็นช่าง และนายทองดี ศรีสุวงค์ เป็นผู้ช่วย ได้ก่อสร้างขึ้นมาจนเป็นพระธาตุรูป 8 เหลี่ยม สูงประมาณ 7 เมตร ในการก่อสร้างองค์พระธาตุได้อาศัยกำลังทรัพย์จากญาติโยมชาวตำบลมหาชัย และตำบลใกล้เคียงได้บริจาคในรูปปัจจัยบ้าง วัสดุก่อสร้างบ้าง เช่น หิน ซึ่งถากเป็นแผ่นๆ กว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร

    พ.ศ. 2515 นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมสมัยนั้น เดินทางมาตรวจเยี่ยมชุดคุ้มครองตำบลมหาชัย ท่านได้เห็นพระธาตุ และเห็นความพร้อมเพรียงของชาวบ้านที่ช่วยกันก่อสร้างพระธาตุ จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาได้เข้ามากราบนมัสการ หลวงปู่และ ได้ปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ ต่อมาท่านได้ให้นายช่างหน่วยเร่งรัดพัฒนาชนบทเขียนแบบแปลนพระธาตุขึ้นนำเสนอหลวงปู่ และได้ดำเนินการก่อสร้างองค์พระ ธาตุตามแบบแปลนจนเป็นผลสำเร็จสวยงาม

    พ.ศ. 2517 พลตำรวจโทวิศิษฐ์ เดชกุญชร (ยศในขณะนั้น) ราชองครักษ์ในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมค่ายคุ้มครองตำบล (ช.ค.ต.) และชุดปฏิบัติการช่วยเหลื่อประชาชน (ป.ช.ป.) ท่านได้มาเห็นองค์พระธาตุก็เกิดความเลื่อมใส ได้ถามประวัติความเป็นมาขององค์พระธาตุจนถึงการก่อสร้าง และกำหนดวันแล้วเสร็จ หลังจากนั้นท่านได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จ พระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่องค์พระธาตุมหาชัย และทรงเวียนเทียนรอบ องค์พระธาตุด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วย ข้าราชบริพาร และพสกนิกรฯ

    ข้อมูลจำเพาะ (พระธาตุองค์เดิม)
    ฐานและองค์พระธาตุรูปทรงแปดเหลี่ยม ฐานพระธาตุกว้าง 32 เมตร ยาว 32 เมตร มี 2 ชั้น ชั้นล่างสูง 2.50 เมตร ชั้นบนสูง 2 เมตร ฐานพระธาตุภายนอกใช้หินแม่รังแผ่นโต ๆ นำมาถากเป็นแผ่นจำนวนทั้งหมด 5,320 แผ่น แต่ละแผ่นกว้าง 15 ซ.ม. ยาว 30 ซ.ม. หนา 10 ซ.ม. องค์พระธาตุสูง 10.50 เมตร รวมทั้งฐานสูง 15.00 เมตร รวมทั้งฉัตร สูง 16 เมตร

    ประวัติองค์พระธาตุองค์ปัจจุบัน
    ในปี พ.ศ. 2536 หลวงปู่ได้ดำริที่จะสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ครอบองค์เดิม จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักพระราชวังเพื่อขออนุญาตสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบองค์เดิมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นในลักษณะองค์เดิม คือมีรูปทรงแปดเหลี่ยม โดยครอบองค์เดิม ระยะห่างจากองค์เดิมกว้าง 1 เมตร พระธาตุที่สร้างครอบนี้สูงรวมฐาน 37 เมตร ที่คงรูปทรงแปดเหลี่ยมนั้นมีความหมายเป็นปริศนาธรรมของหลวงปู่ คือ พระธาตุรูปทรงแปดเหลี่ยม หมายถึงมรรคมีองค์แปด และที่สูง 37 เมตร หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ 37 ประการ (โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ) มรรค 8 มี สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ, สัมมาวาจา เจรจาชอบ, สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ, สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ, สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ,สัมมาสติ ระลึกชอบ, สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4 , อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7 , มรรคมีองค์ 8 ,องค์พระธาตุมหาชัยองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมนั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร ผู้แทนพระองค์เสด็จยกฉัตรพระธาตุเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พลิกตำนาน ๔๕๔ ปี วัดแก้วฟ้า

    [​IMG]


    พลิกตำนาน ๔๕๔ ปี วัดแก้วฟ้า

    วัดแก้วฟ้า เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๔๕ หมู่ ๕ ต.บางขนุน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูปลัดไพศาล กิตฺติภทฺโท (บำรุงแคว้น)

    จากหลักฐานทางเอกสารกล่าวว่า สร้างสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๑๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง

    ชื่อ วัดแก้วฟ้า ตรงกับพระนามของพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ ๑๔ คือ สมเด็จพระเจ้าแก้วฟ้า (พระยอดฟ้า) (พ.ศ. ๒๐๙๐-๒๐๙๑) ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์

    โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่
    ๑.อุโบสถหลังเก่า ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แบบทรงโรง มุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาไม่เคลือบสี ตรงกลางมีเทพพนม ชายคามีเทพพนมอุดปลาย อาคารเครื่องก่อ ผนังรับน้ำหนัก ฝาผนังหุ้มกลอง ก่ออิฐดอกไก่ ขนาด ๕ ห้อง ขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๒๒.๗๐ เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป พระประธานที่เรียกว่ากันว่า หลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อใหญ่ บนฐานชุกชี ด้านหน้ามีประตู ๒ ประตู ด้านหลังทึบ ไม่มีประตู ด้านข้างอุโบสถมีหน้าต่างด้านละ ๔ ช่อง พร้อมกับซุ้มหน้าต่าง มีลวดลายปูนปั้น ฐานอุโบสถมีลักษณะแอ่นโค้งแบบเรือสำเภา ด้านหน้าอุโบสถมีพาไล วัดแก้วฟ้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.๒๑๑๐ และผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๔

    ๒.กำแพงแก้ว เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะเป็นกำแพงบัวหลังเจียดมีเสาประตูกำแพงแก้วเป็นเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ อยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ ๑ ช่อง

    ๓.ใบเสมา ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำด้วยศิลาทรายสีแดง มีลวดลายจำหลัก ตั้งอยู่บนฐานเท้าสิงห์ ในซุ้มทรงกูบช้าง ซุ้มใบเสมาทั้งหมด ๘ ซุ้ม ตั้งล้อมรอบอุโบสถ

    ๔.เจดีย์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย มีอยู่ ๒ แบบ คือ ๑.เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่มุมกำแพงแก้ว ด้านนอก ทั้ง ๔ มุม และ ๒.เจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานสิงห์ยอดบัวกลุ่ม องค์ใหญ่ จำนวน ๑ องค์ ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถนอกกำแพงแก้ว ลักษณะเจดีย์แบบนี้เป็นประเพณีที่สร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

    โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่
    ๑.พระประธานในอุโบสถหลังเก่า พระประธานองค์นี้เรียกกันว่า หลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อใหญ่ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาทรายสีแดง ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมถอดเป็นชิ้นๆ ได้ ต่อมาได้ลงรักปิดทองทั้งองค์ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นปูชนียวัตถุที่เคารพนับถือของชาวบ้านว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก

    ๒.พระพุทธรูปองค์รองทั้งหมดในอุโบสถหลังเก่า ทำด้วยศิลาทรายสีแดงศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย และ ๓.สมุดข่อย หรือสมุดไทย ทำด้วยกระดาษจากต้นข่อยลักษณะแบบไทยมีภาพประกอบ เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์อักษร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕

    [​IMG]


    รวมบุญสร้างโบสถ์หลังใหม่
    พระครูปลัดไพศาล บอกว่า ขณะนี้วัดแก้วฟ้ามีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริม โดยในอนาคตจะจัดทำแผนแม่บทวางแผนผังในการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษา การพัฒนา การปฏิบัติธรรม รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังเก่า ตลอดจนซุ้มเสมา กำแพงแก้วและเจดีย์ ทั้งนี้วัดนำพระถ้ำเสือ กรุวัดหลวง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และ พระสมเด็จนางพญากรุเก่า จ.พิษณุโลก ออกมาให้บูชาเพื่อสมบททุนการก่อสร้าง

    สำหรับที่มาของพระถ้ำเสือนั้น เป็นพระที่ขุดพบโดยพระลูกวัดหลวงเมื่อวันที่ ๑๙ ส.ค. ๒๕๔๙ ขณะไปถางหญ้าเตรียมที่สำหรับปลูกต้นไม้ และได้ขุดดินลงไปพบบรรจุอยู่ในไหโบราณจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นได้ทำพิธีบวงสรวงและนำมามอบให้วัดแก้วฟ้าเพื่อนำออกให้ผู้ที่สนใจทำบุญบูชานำรายได้สมทบทุนบูรณะอุโบสถวัดหลวง

    ส่วนพระสมเด็จนางพญากรุเก่า เดิมทีเป็นสมบัติของ พระมงคลทิพย์มุนี (หลวงพ่อเมี้ยน) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ท่าเตียน) อดีตพระหมอที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านรักษาต่อกระดูกอาบน้ำมนต์ โดยหลวงพ่อเมี้ยนได้รับพระสมเด็จกรุนางพญาจากเจ้าอาวาสวัดนางพญา จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นสหธรรมิกกัน เมื่อครั้งที่ตามเสด็จ สมเด็จพระสังฆราช (ป๋า) วัดพระเชตุพนฯ ออกตรวจการณ์คณะสงฆ์ที่วัดนางพญา มณฑลพิษณุโลก อย่างไรก็ตามก่อนมรณภาพได้มอบให้ พระเทพสิทธิวิมล (ประเสริฐ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ซึ่งต่อมาเจ้าคุณประเสริฐเห็นว่า อุโบสถหลังเก่าอายุ ๔๕๔ ปีของวัดแก้วฟ้าทรุดโทรมอย่างมาก จึงนำมามอบให้วัดแก้วฟ้า เพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังนี้ให้เป็นมหาวิหารที่คงทนถาวรสืบไป
    พระครูปลัดไพศาล บอกด้วยว่า เพื่อให้บังเกิดความเข้มขลังในพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์อย่างเต็มที่ ทางวัดจึงจัดพิธีพุทธาภิเษกสมโภชถึง ๒ วาระ โดยครั้งแรก ณ อุโบสถเก่าแก่ของวัดแก้วฟ้า เมื่อวันที่ ๓๑ ส.ค. ๒๕๔๙ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ เป็นประธานจุดเทียนชัย พร้อมด้วยพระเกจิอาจารย์ดังแห่งยุคร่วมประจุพุทธาคมอย่างเข้มขลัง เช่น หลวงปู่ทิม วัดพระขาว หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน หลวงพ่ออั๊บ วัดท้องไทร หลวงพ่อแย้ม วัดสามง่าม หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว ฯลฯ และครั้งที่ ๒ ได้เข้าร่วมในพิธีมหาพุทธาภิเษก "สมเด็จพระนวมินทรศาสดา" ของมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย.๒๕๔๙

    อย่างไรก็ตามพุทธศาสนิชนท่านใดสนใจเช่าบูชาพระถ้ำเสือ เพื่อสมบททุนสร้างอุโบสถวัดแก้วฟ้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โท.๐-๒๔๔๗-๕๔๔๖, ๐-๒๘๗๙-๙๙๗๑ โทรสาร.๐-๒๔๔๖-๗๕๔๙
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดบ้านพานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

    [​IMG]


    วัดบ้านพานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

    แต่ก่อนชาวบ้านพานพร้าวได้มีวัดเดียวคือ วัดชุมพลซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มานานและอยู่มาชาวบ้านที่อยู่ทางทิศเหนือขึ้นไป ทางหมู่บ้านได้พูดกันเพื่ออยากสร้างวัดใหม่ขึ้นเพราะการเดินทางไปทำบุญในสมัยก่อนลำบากจึงประชุมกันและตกลงกันที่จะสร้างวัดใหม่โดยได้เห็นที่ดินอยู่หนึ่งแปลงโดยมีเจดีย์เก่าที่ตรงนั้นทำปลูกอะไรก็ไม่ได้ จึงได้ไปถามซื้อกับเจ้าของที่ซึ่งตอนนั้นเป็นของคนลาวจึงได้ขายให้ในราคาที่ถูกต่างขอสร้างวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ซึ่งมีที่ดินอยู่ประมาณ 6 ไร 1 งาน 4 ตารางวา ติดกับแม่น้ำโขงซึ่งได้พากันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ ชื่อวัดเป็นวัดใหม่ชัยโย และอยู่ต่อมาก็มีพระได้มาอยู่เรื่อยๆ บางท่านก็ได้เป็นเจ้าอาวาสแต่อยู่ไม่นานก็มรณภาพหรืออยู่ไม่ได้

    จนอยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านไม่รู้จะหาพระที่ไหนมา จึงคิดได้ว่ามีลูกหลานชาวบ้านพานพร้าวอยู่ที่ จังหวัดเลย จึงเดินทางไปนิมนต์ ให้มาอยู่รักษาการเป็นเจ้าอาวาสและก็ได้มาเปลี่ยนแปลงบูรณะสร้างศาลาหันหน้าพระประธานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและได้พัฒนาวัดมาเรื่อยๆ

    จนได้ประมาณ10 ปี จึงได้มาเกิดเรื่องเกี่ยวกับพญานาค จึงมีเหตุการณ์ต่างๆ หลายลักษณะขึ้น โดยได้บรรยายในหนังสือและที่พระอาจารย์กล่าวมาเป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับวัดบางส่วน

    ส่วนเรื่องที่พูดมาสมัยโบราณผู้เฒ่า ผู้แก่ได้พูดมาว่าเป็นเมืองเก่า ชื่อว่า"เวียงจันทร์พันพร้าว"เป็นตำนานเก่าที่กล่าวขานกันมาซึ่งเกี่ยวกับพญานาคมาตลอดที่ได้มาร้างเมืองเวียงจันทร์พานพร้าวตามตำนานและต้องศึกษาในพงศาวดารเกี่ยวกับลำแม่น้ำโขงจะได้เข้าใจมากขึ้นก็มีเพียงเท่านี้

    ส่วนเรื่องประวัติของพระครูก็บวชได้15 พรรษาและตอนนี้กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หลักสูตร พุทธศาสตร์บัณฑิต ภาคพิเศษ ได้เป็นครูสอนศีลธรรมในโรงเรียนและได้ผ่านการฝึกอบรมสมถวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสูตร ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรพระแกนนำวิถีพุทธ และตอนนี้ก็ได้เป็นพระครู เจ้าอาวาสชื่อ ครูสิทธิมัคโลภาส วัดบ้านพานพร้าว ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

    [​IMG]


    คำนำ
    เรื่องราวต่อไปนี้ ผู้เขียนได้เรียบเรียงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งได้รับข้อมูลจากพระอาจารย์ขวัฐ ญาณวีโร พระหนุ่มผู้ประสบกับเรื่องราวอันเหลือเชื่อในครั้งนี้ พร้อมทั้งคำบอกเล่าประกอบของผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยมีพระคุณสิทธิ มังคโลภาส เจ้าอาวาสวัด ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ครอบครัวนายบัวลม ขจร มีนางคำนาง พร้อมบุตรและชาวบ้านญาติโยมที่อาศัยอยู่ใกล้วัดอีก 3 คน ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในคืนที่เกิดเหตุอันเป็นที่ตราตรึงใจประทับไว้ในความทรงจำของตนเองตลอดไปอย่างไม่มีวันลืมเลือน

    บั้งไฟพญานาค เป็นเรื่องราวที่ยังหาคำตอบไม่ได้ และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เช่นกัน ล้วนต้องใช้วิจาณญาณ เหตุผลและจิตอันเป็นกุศลในการที่จะเชื่อว่าจริงเท็จแค่ไหนอย่างไร ผู้เขียนเพียงแต่ต้องการจดบันทึกเรื่องราวไว้เป็นหลักฐานและเป็นข้อมูล เพื่ออนุชนคนรุ่นหลังที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านนี้ ว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้น เป็นเรื่องอาจิณไตยและจิตวิญาณของมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาจะสัมผัสและควบคุมได้

    นายชรินทร์ โล่ห์วัชรินทร์
    นักวิชาการศาสนา 7
    หัวหน้ากลุ่มพุทธศาสนศึกษาและการคณะสงฆ์ สำนักงานพระพุทธสาสนาจังหวัดหนองคาย
    18 มิถุนายน 2551

    [​IMG]


    พระครูสิทธิมังคโลภาส
    เจ้าอาวาสวันบ้านพานพร้าว หรือวัดใหม่ไชโย ปี 2535 เป็นทหารฝ่ายเสนารักษ์ที่โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ฯ อุดรธานี อุปสมบทเมื่อ วันที่ 10 มิถุนายน 2537 ออกธุดงไปจำพรรษาที่วัดสามัคคีธรรมบ้านห้วยไฮ ตำบลโนนป่าซาง อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ปี 2541 กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวันบ้านพานพร้าวจนถึงปัจจุบัน พรรษา 15 พรรษา ได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระครูเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550

    ผู้อยู่ในเหตุการณ์ตลอดเวลาและให้ข้อมูลตั้งแต่ต้นจนจบ

    พระอาจารย์ขวัญ ญาณวีโร
    เป็นชาวบ้านเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จัวหวัดสกลนคร อุปสมบทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคา 2550 ที่วัดเหวลึก บ้านนึงโน อำเภอสวางดินแดง จังหวัดสกลนคร วันที่อุปสมบทวันแรก ได้เกิดนิมิตเห็นพญานาคมาพันรอบตัวเอง และเกิดเจ็บป่วย ด้วยโรคฝีที่ขาขวาทำให้เกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่นมาช่วยแนะนำให้เพ่งอสุภะ เพื่อต่อสู้กับโรคที่เกิดขึ้นกับตนเอง
    พระผู้ถูกสิงร่าง

    [​IMG]


    วันที่ 16 มิถุนายน 2551 ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด
    ณ วัดบ้านพานพร้าว หรือวัดใหม่ไชโย ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ในคืนนั้นบรรยากาศร่มรื่นสงบเงียบ ไม่มีท่าทีว่าจะเกิดมีพายุฝนและเหตุอื่นใด พระหนุ่มอายุ 24 ปี ผู้เคร่งต่อการเรียนซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเขตหนองคาย ชั้นปีที่ 3 ได้เดินพิจารณาและคิดคำนึงผลการเรียนที่ผ่านไปรอบๆ วัด เกิดความวิตกกังวลภายในใจตนเองว่าจะศึกษาเล่าเรียนไม่จบเนื่องจากขาดปัจจัยที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา อาทิเช่น ค่ายานพาหนะในการเดินทางไปเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียนและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ในการจัดเก็ยข้อมุลทางการศึกษา รำพึงว่าจะไปหาปัจจัยมาจากที่ใดหนอ เดินรำพึงกับตนเองไปเรื่อยๆ

    จนกระทั่งมาถึงริมทาน้ำอยู่ทางท้ายวัด ซึ่งเป็นตลิ่งริมแม่น้ำโขง มองลงไปเห็นเรือหางยาว 2 ลำ จอดเรียงฃิดกันอยู่ริมท่าน้ำเป็นพาหนะในการออกหาปลาในแม่น้ำโขงของญาติโยมบ้านตรงข้ามหน้าวัดนั่นเอง ในความรู้สึกขณะนั้น จุ่ ๆ ก็เกิดอยากลงไปนั่งเล่นในเรือ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เดินทางมาจำพรรษาที่วัดนี้ประมาณ 2 สัปดาห์ ไม่เคยที่จะลงไปในท่าน้ำตรงนั้นเลย แต่วันนี้ทำไมคิดอยากลงไป ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นก็เป็นเวลาเกือบ 19.00 นาฬิกาท้องฟ้าเริ่มจะมืดมิดอยู่แล้ว

    เมื่อลงไปที่เรือก็นั่งลงโดยเอาเท้าทั้ง 2 ข้างหย่อนลงไปในแม่น้ำโขง จิตใจก็คิดคำนึงถึงแต่เรื่องการเรียน พอสักพักหนึ่งใจก็คิดไปถึงเรื่องพญานาค ที่เคยแต่ได้ฟังมาตั้งแต่เล็กจนโต ยังไม่เคยได้ประสบพบพานสักครั้งเลยว่าจะมีจริงหรือไม่ คิดอย่างนั้นก็เลยรำพึงถึงพญานาคว่า “ถ้าหากพญานาคมีจริงก็ขอให้มาช่วยแก้ไขปัญหาครั้งนี้ให้อาตมาภาพด้วยเถอะ” ขณะที่คิดอยู่นั่นสายตาก็เพ่งมองไปที่ท้องน้ำและส่งกระแสจิตไปหาพญานาค

    บัดดลไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จู่ๆ ก็มีคลื่นใหญ่พร้อมลมพัดม้วนตัวซัดเข้ามาปะทะหน้าอกพระหนุ่มที่นั่งอยู่อย่างแรง ปรากฏเหมือนมีสิ่งประหลาดอยู่ใต้น้ำเลื้อยมาพันอยู่รอบๆ ขาข้างขวา 3 รอบ พระหนุ่มตกใจมากจึงรีบยกขาขึ้นมาจากน้ำมองเห็นวัตถุสีดำมันวาววับลำตัวเมือกๆ ลื่นๆ พันอยู่ที่ขาตัวเอง ด้วยอารามตกใจจึงรีบตะกายขึ้นฝั่งแต่กระนั้นก็ให้พระหนุ่มลื่นลงไปในเรือถึง 2 ครั้ง 2 ครา โชคดีที่มือข้างหนึ่งไปสัมผัสกับกอหญ้าที่ขึ้นอยู่ริมตลิ่งจึงสามารถดึงตัวเองตะเกียกตะกายหนีขึ้นมาบนฝั่ง ตามเนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนดิน รีบวิ่งกึ่งเดินไปหาพระครูสิทธิมังคโลภาส เจ้าอาวาสวัด ซึ่งพักอยู่ในห้องในศาลาการเปริยญของวัด ละล่ะละลักพูดเสียงสั่นเครือว่า “ผมเห็นแล้ว..ผมเชื่อแล้วว่าพญานาคมีจริง”

    [​IMG]


    ภาพประหลาดที่เกิดขึ้นภายในวัด เจ้าอาวาสเห็นพระลูกวัดในปกครองของตนมีอาการตื่นกลัว และสภาพกายเปรอะเปื้อนอย่างนั้นรีบถามว่า “คุณขวัญมีอะไรรึ นั่งลงก่อนแล้วค่อยคุยกัน” พระผู้ประสบเหตุนั่งลงแล้วก็ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง ขณะเล่าเหตุการณ์นั้นเจ้าอาวาสได้สังเกตุที่ขาข้างขวาของพระลูกวัดปรากฏมีรอยแดงระเรื่อบริเวณน่องขาขวาเนื้อบุ๋มลงเหมือนกับการถูกกดลงอย่างหนักเป็นเกลียวพันรอบขา 3 รอบ ลักษณะอาการของพระหนุ่มในวันนั้นก็เปลี่ยนไป หน้าขาวซีด สายตาจ้องเขม็ง คำพูดและน้ำเสียงดุดันพยายามที่จะชักชวนให้เจ้าอาวาสลงไปที่ริมท่าน้ำ โดยบอกว่า “ทางข้างล่างแม่น้ำไม่สามารถจะขึ้นมาบนฝั่งได้ ให้เจ้าอาวาสลงไปกับตน” แต่เจ้าอาวาสได้บอกว่า “มืดค่ำแล้ว ไม่สามารถลงไปได้หรอก มีอะไรพูดกับอาตมา อาตมาอนุญาตให้พูดออกมาเลย”

    พอสิ้นคำว่า”อนุญาต” เท่านั้นเอง พระหนุ่มก็ล้มลงตัวลงนอนแล้วเลื้อยตัวแบบงู ปากร้องขอแต่ “น้ำ น้ำ” เจ้าอาวาสตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้แต่ยกขวดน้ำให้ดื่ม ดื่มไปค่อนขวดใหญ่ พระหนุ่มซึ่งมีสำเนียงเปลี่ยนไปก็พูดแต่คำว่า “น้ำ น้ำ” ขอน้ำอยู่ตลอดเวลา เมื่อเจ้าอาวาสเริ่มตั้งสติได้ ได้ชวนพระหนุ่มในร่างที่นอนเลื้อยอยู่ให้ออกจากห้องที่เป็นกุฏิที่พักของท่านไปตรงลานศาลาการเปริยญ ร่างนั้นค่อยๆ เลื้อยอกมาลักษณะขาทั้ง 2 ข้างติดกัน มือก็ตะกุยกะกายออกมายังนอกห้อง ถ้าว่าเป็นโรคบ้าหมุก็ไม่ใช่ เพราะเจ้าอาวาสเองก็เคยเป็นทหารฝ่ายเสนารักษ์มาก่อนรู้อาการของโรคนั้นดี เจ้าอาวาสจึงได้โทรศัพท์ไปหาโยมบัวลม ขจร ซึ่งมีบ้านอยู่ข้างวัด พร้อมทั้งโยมสุริยา บุญทวี โยมเจริญ สุวรรณบน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และโยมไกร พันโส ไม่นานญาติโยมทั้งหมดพร้อมด้วยครอบครัว คือ ภรรยาและลูกอีก 2 คน ของโยมบัวลมก็มาถึง ได้ช่วยกันจับพระขวัญไว้ พระขวัญจะร้องขอแต่น้ำ น้ำ อยู่ตลอดเวลา โยมบัวลมกับครอบครัวจึงช่วยกันตักน้ำเอามาเทราดลงไปที่ตัวของพระขวัญ เมื่อมีน้ำนองในพื้นศาลาจึงได้เลิกขอน้ำ เมื่อทุกคนตั้งสติได้ แล้วถึงรู้ว่าพระขวัญในตอนนี้ไม่ใช่พระขวัญแล้ว น้ำเสียงกับอากัปกิริยาเปลี่ยนไปแล้ว โยมเจริญ สุวรรณบน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีอาชีพรองคือคนหาปลาในลำน้ำโขง เกิดในท้องถิ่นแห่งนี้ทราบดีว่าในลำน้ำโขงมีสิ่งที่เรามองไม่เห็นอีกหลายอย่าง บางครั้ง หากเป็นคนที่มาจากถิ่นอื่นลงไปเล่นน้ำในลำน้ำโขงอยู่ๆ ก็จมหายไปในสายน้ำโขงโดยไม่รู้ตัว หลายครั้งที่แกเคยได้ช่วยชีวิตคนตกน้ำ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คงไม่ใช่เรื่องที่ดีเป็นแน่เลย แกคิดในใจจึงได้ถามว่า

    “ผู้ที่ประทับร่างนี้เป็นใคร แม่นสะลุ่นกุ้นบ่ (ชาวบ้านเรียกเงือกไม่ใช่พญานาค) หรือเขียวหางไหม้ (ชาวบ้านเรียกงูใหญ่) มาที่นี่เพื่ออีหยังเหรอ”

    ผู้อยู่ในร่างพระขวัญตอบว่า“กูคือศรีสุทโธ มาจากเมืองข้างล่าง มีคนพูดท้าทายลบหลู่กู บ่ เคารพกู จึงมีคำสั่งให้กูมาเอาคนไปสองคน ต้องเอากลับไปให้ได้”
    ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกคนยืนตัวสั่นตกใจกลัวไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร โยมสุริยา บุญทวี คิดขึ้นได้ รีบวิ่งกลับไปเอากล้องถ่ายรูปที่บ้านมาเก็บภาพต่างๆ ทุกอิริยาบถของพระขวัญ ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตอบว่า“บ่ ยอม ให้มาเอาคนหรอก หากลูกหลานทำอะไรผิดพลาดไปก็ขอขมาด้วย หรือจะให้ทำอย่างไรจึงจะชดใช้ความผิดครั้งนี้ได้”

    “ให้แต่งขันธ์ห้า และทำเครื่องสังฆทานให้” ผู้อยู่ในร่าง พระขวัญตอบ
    เมื่อได้ยินดังนั้นชาวบ้านจึงได้พากันไปเก็บดอกไม้และจัดหาธูปเทียนมาจัดทำเครื่องสักการะซึ่งมีเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ใส่จานมาและต้องให้เจ้าอาวาสเป็นคนขอขมาถึงจะยอม เมื่อเจ้าอาวาสได้ทำพิธีแล้ว พระขวัญได้ก้มลง
    คาบดอกไม้และเทียนที่อยู่ในจานนั้นเคี้ยวและกลืนกินไปจนหมดเหลือแต่เศษบางส่วนที่หล่นลงพื้นศาลาเท่านั้น เมื่อได้เครื่องสักการะแล้วน้ำเสียงของพระขวัญที่ดุดันก็มีท่าทีอ่อนลงและได้พูดว่า “การที่พวกสูไม่ยอมให้กูเอาคนลงไปข้างล่างนั้น กูซิไปถามข้างล่าวดูก่อนน่ะว่าจะยอมหรือไม่ ส่วนดอกไม้และเทียนที่เหลือนั้นกูให้พวกสูเก็บไว้บูชาเพื่อเป็นโชคลาภของพวกสู”

    จากนั้นร่างของพระขวัญก็ค่อยๆ เลื้อยออกไปทางด้านหน้าศาลาซึ่งมีรูปปั้นพญานาคอยู่ที่บันไดทางขึ้นศาลาฝั่งแม่น้ำโขง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพยายามดึงรั้งไว้กลัวร่างพระขวัญจะเลื้อยไปถึงท่าน้ำ เมื่อสัมผัสร่างกายของพระขวัญ ร่างกายเหมือนกับถูกทาด้วยน้ำมันเนื้อตัวลื่นไปหมด เมื่อไปถึงตรงบันไดทางขึ้นก็ฟุบหน้าลงกับพื้นสักพักพระขวัญก็รู้สึกตัวลุกขึ้นโดยไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับตน ทุกคนในนั้นจึงได้กันช่วยพระขวัญเข้ามาในศาลา พระขวัญพยายามจะถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง เจ้าอาวาสจึงได้บอกให้พระขวัญกลับไปอาบน้ำเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มใหม่ก่อนแล้วค่อยกลับมาคุยกัน พระขวัญกลับไปยังกุฏิของตนเองเพื่อที่จะอาบน้ำเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มใหม่ ระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ครั้งแรกนี้เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเศษ ชาวบ้านที่มาช่วยกันคิดว่าเรื่องคงสงบแล้วก็พากันเล่นน้ำที่เจิ่งนองอยู่ในศาลาซึ่งเป็นที่ตักราดตัวพระขวัญและพูดหยอกล้อกันอย่างสบายใจว่าเป็น “น้ำพญานาค อาบน้ำพญานาคเพื่อเอาโชคลาภและเป็นสิริมงคลกับตนเอง”

    พูดกันเสียงดังเอะอะอยู่ไม่นานก็ได้ยินเสียงร้อง”โอก โอก” มาจากทางกุฏิของพระขวัญซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของศาลา ทุกคนเงียบฟังแล้ววิ่งออกไป ปรากฏว่า ได้พบเห็นร่างพระขวัญนอนเลื้อยมาจากกุฏิเหมือนกับพยายามที่จะมาบนศาลาที่พวกตนพากันเล่นอยู่ จากกุฏิมาถึงบริเวณลานหญ้าระยะห่างประมาณ 10 เมตรเศษๆ ร่างพระขวัญกำลังนอนเลื้อยใช้มือตะกุยขุดดิน และกำเอาดินเหวี่ยงขึ้นข้ามศรีษะตนเองไปด้านหลังแล้วเอาหัวมุดลงในหลุมที่ขุด ปากก็ร้อง “น้ำ น้ำ” โยมคนหนึ่งวิ่งไปตักน้ำมาแล้วราดลงที่ตัวพระขวัญ เมื่อได้น้ำพระขวัญก็ใช้หัวจุ่มลงในหลุมแล้วดูดน้ำยกหัวขึ้นพ่นน้ำขึ้นไปเหนือหัวตนเอง (จะเป็นลักษณะการพ่นน้ำของพญานาคหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้) เมื่อทุกคนมาถึงบริเวณที่พระขวัญกำลังนอนเลื้อยอยู่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจึงถามว่า “ผู้ประทับร่างนี้คือใคร” ผู้อยู่ในร่างพระขวัญตอบว่า “กูคือศรีสุทโธ เขาไม่ยอมต้องเอาคนลงไปให้ได้”

    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน “ บ่ได้ บ่ได้ ซิมาเอาคนของลูกหลานไป บ่ให้ดอก”
    ผู้อยู่ในร่างพระขวัญ “ สู บ่ ให้กูอีหลีเบาะ”
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน “บ่ ให้ ให้บ่ ได้”
    ผู้อยู่ในร่างพระขวัญ “ ถ้าจังซั้นไปบอกเจ้าอาวาสให้มาขอขมากู มันต้องกราบไหว้กู”
    จากนั้นชาวบ้านได้รีบวิ่งไปจัดเครื่องขอขมาหรือขันธ์ห้าใส่จานมาอีกครั้งหนึ่ง และเจ้าอาวาสพูดขอขมาละโทษที่ทำผิด พระขวัญได้ใช้ปากคาบจานดอกไม่และเทียนเหวี่ยงไปมา แล้วก็เคี้ยวกินจนหมด และพูดขึ้นว่า“กูอยากบอกให้สูรู้ว่า บริเวณตรงนี้มีเมืองพญานาคอยู่ แล้วกูก็จะไป”
    หลวงพ่ออรุณ อานาลโย ซึ่งเป็นพระที่มีอายุมากที่สุดในวัดแห่งนี้จึงเอ่ยขอขึ้นว่า “ถ้าท่านจะกลับก็ขอให้ฝากรอยเอาไว้ให้ลูกหลานได้เห็นและได้กราบไหว้บูชาด้วย”

    ผู้อยู่ในร่างพระขวัญ ตอบว่า “ เออ ..กูจะฝากไว้ให้สูเห็น มื้ออื่นพวกสูค่อยไปหาเบิงเอาเอง แล้วในวันพระที่จะถึงนี้ กูซิกลับมาใหม่” (คือวันพุธที่ 18 มิถุนายน 2551 ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ปีชวด)

    แล้วร่างของพระขวัญก็กลับมีสติคืนมาและมึนงงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่จะด้วยเหตุบังเอิญหรืออะไรไม่ทราบ หลังจากทุกอย่างจบลงก็ได้เกิดมีพายุฝนพัดกระหน่ำอย่างแรงเสมือนหนึ่งฟ้ารั่วก็ไม่ปานทุกคนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างก็มีความอิดโรยและเหนื่อยอ่อน จึงได้แยกย้ายกันกลับบ้านและนัดหมายกัน ว่าพรุ่งนี้ค่อยมาช่วยกันทำความสะอาดบนศาลาที่มีน้ำเลอะเต็มไปหมด พระขวัญก็กลับเข้าพักผ่อนในกุฎิ มีลูกศิษย์วัดชื่อนายหลอด พักที่กุฎิใกล้ ๆ กัน ก็เข้ามานอน ขณะกำลังจะหลับก็ได้ยินเสียงเหมือนมีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่เลื้อยผ่านหน้าที่พักไป ไม่กล้าที่จะลุกออกมาดู ได้แต่เอาผ้าห่มคลุมหัวตัวเองแล้วก็หลับไป ส่วนพระขวัญที่อยู่ในกุฎิคนเองก็ได้ยินเสียงขลุกขลักๆ และเสียงเสียดสีอยู่ด้านนอกกุฎิเหมือนกัน แต่ด้วยความอ่อนเพลียกับเรื่องที่ผ่านมาหยกๆ ก็ไม่ใส่ใจว่าจะเป็นอะไรก็ชั่งเถอะ ขณะนี้ขอพักผ่อนก่อนแล้วกัน

    [​IMG]


    รุ่งเช้าวันอังคารที่ 17 มิถุนายน 2551 ทุกคนต้องประหลาดใจเป็นยิ่งนักกับภาพและรอยที่ติดอยู่ที่ฝาผนังกุฎิที่พักของพระขวัญ ซึ่งเป็นรอยดินจากฝาผนังด้านข้างเลื้อยยาวลงมาผ่านรูปของพระพุทธองค์ระดับทรวงอกถึงสองรูป แล้วทอดยาวลงไปยังพื้นและออกไปยังประตูรั้วกั้นหน้ากุฎิถึงบันใดทางขึ้นหายไป ความยาวประมาณ 5 เมตร รูปลักษณะของรอยที่อยู่บนพื้นหน้ากุฎิจะเป็นกองทรายเล็กๆ คู่ขนานกันเป็นลวดลายที่สวยงามบนยอดกองทรายจะมีน้ำเมือกติดอยู่ทุกกอง ยาวประมาณ 1 เมตร ใช่จริงๆ หรือนี่ที่ท้าวศรีสุทโธได้ฝากรอยไว้ให้เราได้ดู ส่วนน้ำที่ใช้ตักราดตัวพระขวัญเป็นเสมือนน้ำมะพร้าวอ่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ผู้มาช่วยทำความสะอาดได้ตักเททิ้งไปหมด ไม่มีใครใส่ใจจะเก็บไว้เลย

    [​IMG]


    รุ่งเช้าวันอังคารที่ 17 มิถุนายน 2551

    [​IMG]


    ในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ผู้เขียน พร้อมด้วยพระอาจารย์มหาสิงหา ภทฺทเมธี เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย และคณะ ท่านบัญชา ชงัดเวช นายอำเภอเชียงใหม่ได้เยี่ยมถามข่างเรื่องราวต่างๆ ของพระอาจารย์ขวัญ ญาณวีโร ที่วัด และเสนอแนะให้เจ้าอาวาสได้จัดหากระจกใสมาปิดทับรอยที่ปรากฎบนผนังกุฎิไว้เพื่อที่จะรักษาไว้ไม่ให้รอยนั้นลบหายไป จากนั้นคณะทั้งหมดจึงเดินทางกลับ คล้อยหลังของคณะเดินทางออกไปจากวัดได้ไม่นาน ก็ปรากฏว่าพระขวัญซึ่งพึ่งจะนั่งสนทนากับท่านนายอำเภอศรีเชียงใหม่ผ่านไปหยกๆ ก็มีอาการเหมือนโดนร่างทรงอีกครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 5 นาที อยู่ๆก็นอนเลื้อยลงมาจากอาสนะที่นั่งในศาลามายังพื้นข้างล่าง และบอกว่า
    “กูมาเยี่ยมจะกลับแล้ว”
    ท่ามกลางสายตาของญาติโยมที่เดินทางมาเยี่ยมข่าวพระขวัญ หลายสิบคน
    “ท้าวศรีสุทโธ ได้มาเยี่ยมตามที่นัดหมายเอาไว้แล้วกระมัง”

    [​IMG]


    บทความ

    [​IMG]


    บทความ

    [​IMG]


    เรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามา ผู้เขียนเองยังมีความสงสัยอยู่ว่าทำไมหรือ พระสงฆ์ที่ถือศีลมากกว่าคนธรรมดาสามัญถึงได้ถูกทับร่างเป็นร่างทรงได้ ด้วยความบังเอิญในวันที่ 20 มิถุนายน 2551 มีโอกาสเข้ากราบนมัสการพระเดชพระคุณท่านหลวงปู่ทองพูล สิริกาโม ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบรูปหนึ่งของจังหวัดหนองคายในปัจจุบันนี้ และเป็นที่เคารพบูชาถือเป็นครูบาอาจารย์ของตนเองเพื่อจะขออนุญาตจัดโครางการปฏิบัติธรรมที่วัดของท่าน ก่อนที่จะเข้าไปกราบนมัสการท่านที่วัดทุ่งสว่าง อำเภอเมืองหนองคาย ก็ได้แวะซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวันฉบับประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2551 ก็ได้ลงพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า “ตื่นพญานาคกลางลำน้ำโขงเข่าสิงร่างพระนิสิตเลื้อยเป็นงู” พอดีหลังจากได้กราบนมัสการขอดำเนินการโครงการในวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2551 แล้วเลยตัดสินใจนมัสการเรียนถามข้อข้องใจว่า

    “ท่านหลวงปู่ครับเป็นไปได้หรือที่พระจะถูกสิงร่างตามข่าวที่ลง”
    พระเดชพระคุณตอบว่า “เป็นไปได้เหมือนกันที่พระจะถูกทรงร่าง หากปฏิบัติไม่ได้หรือปฏิบัติไม่ถึงจริง” และก่อนกลับออกมาจึงได้ถวายหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นให้แก่หลวงปู่ไว้

    จากนั้นมาด้วยความอยากรู้ว่าเรื่องของพญานาคจะมีจริงหรือเคยแต่ได้ยินมาจากเรื่องเล่าเป็นนิทานเมื่อครั้งพุทธกาลโน้น เมื่อเข้าไปปฏิบัติธรรมที่วัดหลวงปู่ ก็มีเวลาที่จะค้นหาหนังสือธรรมและประวัติของพระอริยะเจ้าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนพบหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ประวัติและการปฏิบัติของท่านหลวงปู่ชอบ ฐานสโม วันป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเด่นในเรื่องอภิญญา เคร่งครัดในพระธรรมวินัย พลังจิตแข็งกล้า และมีเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ทางสมาธิก็เก่งรู้ข้างในข้างนอกเกี่ยวกับเปรต ผี เทวดา พญานาค รู้เรื่องกัน ยากจะมีผู้รู้เห็นได้อย่างท่าน จิตของท่านจะรวมลงสู่ความสงบได้ง่ายมาก และจะเกิดความรู้พิศดาร สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่แปลกลึกลับ แต่ท่านจะมีสติกำหนดรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีความพิศดารจริง แต่ไม่ให้ความสนใจมากนัก และไม่คิดว่าตนเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้กล้าแต่อย่างใด แต่ท่านจะนำมาเป็นกำลังใจที่จะมุ่งมั่นบากบั่นในแดนพุทธอาณจักรอย่างไม่ย่อท้อ หลายครั้งขณะออกธุดงส์ท่านต้องผจญภัยกับฤทธิ์เดชของพญานาคไม่ว่าจะอยู่ในลำน้ำโขง หรือในป่าเขา ซึ่งท่านบอกว่าพญานาคมีทุกแห่ง เพราะเป็นวิสัยพวกเทพระดับหนึ่งจะนิมิตอยู่ที่ไหนก็ได้ คนส่วนมากเขาใจว่าจะมีอยู่แต่ในน้ำเท่านั้น (ถ้าท่านผู้ใดสนใจหาอ่านได้ในหนังสือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม 9)

    [​IMG]


    เมื่ออยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดสามัคคีอุปถัมภ์ ของพระเดชพระคุณท่าน ก็ได้พบปะกับคณะที่มีความสนใจในเรื่องของพญานาคหลายคน เมื่อมีเวลาว่างจากการปฏิบัติธรรมก็จะนั่งจับกลุ่มคุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จนในคืนวันที่ 15 กรกฏาคม 2551 หลังจากที่หลวงปู่ได้นำทำวัตรสวดมนต์ประจำวันเสร็จแล้ว หลวงปู่ก็จะแสดงธรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ฟังเป็นกระจำอย่างทุกวันที่เคยทำมา แต่ที่แปลกมากก็คือในคืนวันนี้หลวงปู่ท่านได้ยกเอาเรื่องราวของพญานาคในครั้งสมัยพุทธกาลมาแสดงธรรมให้ฟังกัน ปรากฏว่ากลุ่มผู้สนใจเรื่องของพญานาคต่างหันหน้ามามองตากันปริบๆ หลวงปู่เล่านิทานธรรมเรื่องของอัคคีทัตตปุโรหิต ซึ่งเป็นปุโรหิตในสมัยพระเจ้ามหาโกศล จนกระทั่งได้รับโทษจากกษัตริย์พระองค์ใหม่นี้ จึงได้พาบริวารออกบวชเป็นฤาษี อยู่ในดินแดนระหว่างแคว้นอังคะ แคว้นมคช และแคว้นกุรุ ต่อกัน ได้สั่งสอนให้อันเตวาสิก และประชาชนให้ยึดถือเอาต้นไม้ ภูเขา ป่าเป็นที่พึ่งเพื่อจะได้พ้นจากทุกข์ และมีกฎอยู่อย่างหนึ่งถ้าหากใครเกิดกามวิตกขึ้นมา ต้องเอาหม้อไปขนทรายมาจากแม่น้ำครั้งละหม้อหนึ่งแล้วเกลี่ยลงจนเกิดเป็นกองทรายใหญ่โต กระทั้งพญานาคชื่อ อหิฉัตตะ มีฤทธ์เดชมากมาอาศัยอยู่ จึงพากันนับถือว่าเป็นเทพแห่งตน

    เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทราบเรื่องของเขา จึงสั่งให้พระมหาโมคคัลลานเถระไปปราบพญานาคนั้นจนหมดพยศ และทำให้อัคคีทัตตะ เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาตรัสสอนพวกเขาว่า

    “อัคคีทัตตะ บุคคลถึงวัตถุทั้งหลายมีภูเขาเป็นต้นนั้น ว่าเป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย ส่วนบุคคลถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมพ้นจากทุกข์ในวัฎฎะทั้งสิ้นได้”

    แล้วตรัสเทศนา เมื่ออัคคีทัตตะ และบริวานได้ฟังเทศนาจบเขาทั้งหลายก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ขั้นปฏิสัมภิทา

    เมื่อหลวงปู่แสดงธรรมไปจนจบเรื่องแล้วท่านก็ได้สรุปสุดท้ายว่า“ให้เคารพบุคคบที่ควรเคารพ และบูชาในสิ่งที่ควรบูชา”

    ไม่รู้ว่าเป็นคติคำสอนให้กับพวกเราชาวพุทธคิดได้บ้างหรือเปล่าหนอ
    ก่อนหน้าที่จะมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 ผู้เขียนได้ไปพบเห็นรอยประหลาดเกิดขึ้นที่วัดท่าสายทอง บ้านหาดคำน้อย ตำบลหาดคำ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ขณะช่างกำลังเทฐานเสาเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ ปูนซีเมนต์กำลังจะแห้งก็ปรากฏรอยที่พื้นปูนพันรอบเสาที่อยู่ด้านหน้า ยาวประมาณ 2 เมตรเศษๆ จึงให้ช่างไปหาปูนปลาสเตอร์มาเทหล่อเอารอยนี้ไว้บางส่วน (เสียดายที่ไม่ทำไว้ทั้งหมดเพียงแต่ตัดเอาบางส่วน) ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนหาง เพื่อเก็บรอยเอาไว้ให้ผู้ที่สนใจศึกษา ในภายหลังจะได้มีข้อมูล และทางวัดเองก็จะมีหลักฐานว่าเมื่อครั้งเริ่มก่อสร้างพระอุโบสถก็มีรอยอย่างนี้เกิดขึ้นจริง เพราะฐานเสานี้จะต้องถูกถมลงไปในการก่อสร้างก็จะไม่มีใครได้เห็นอีก ดังภาพที่เห็นข้างล่างนี้ ปัจจุบันทางวัดได้ก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว

    และในวันที่ 8 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 05.00 น. ก็มีพระในวัดลงไปพบกับรอยประหลาดนี้อีกที่พื้นห้องใต้ถุนศาลาริมน้ำที่อยู่หน้าวิหารสถานที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อตื้อซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้ของประชาชนทั่วไปทั้งฝั่งไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ (ภาพนี้ถ่ายเมื่อเวลา 18.00น. ของวันที่ 8 สิงหาคม 2551) วันถัดมาน้ำก็ไม่ไหลเข้าท่วม แต่รอยยังปรากฏอยู่
    และแล้วในวันที่ 12 สิงหาคม 2551 น้ำในแม่น้ำโขงก็ไหลทะลักเจ้ามาภายในบริเวณวัดบ้านพานพร้าว เป็นแห่งแรกก่อนจะเกิดอุทกภัย น้ำท่วมพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ สังคม และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดหนองคาย
    หรือว่าพญานาคมาช่วยเตือนเราล่วงหน้าแล้วไม่มีใครรู้
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่

    [​IMG]


    อุโบสถเงิน...ศาสนสถานแห่งแรกของโลก
    วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่ที่ถนนวัวลาย ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ ตรงกับสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย โดยได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๒ ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของคณะสงฆ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปาฏิหาริย์ (พระเจ้า ๕๐๐ ปี) ของวัดศรีสุพรรณ มาโดยตลอด ต่อมาอุโบสถหลังนี้ได้ชำรุดทรุดโทรม จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม

    ตามหลักศิลาจารึกของวัดศรีสุพรรณ กล่าวไว้ว่า พ.ศ. ๒๐๔๓ พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราชเจ้า หรือพระแก้วเมือง กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดาโปรดให้มหาอำมาตย์ชื่อเจ้าหมื่นหลวงจ่าคำ นำพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ องค์หนึ่งมาประดิษฐานและสร้างวัดศรีสุพรรณ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๒

    มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นยึดวัดศรีสุพรรณ เป็นที่ตั้งฐานทัพ ใช้หอไตรของวัดเป็นกองบัญชาการ รบกับกองทัพพันธมิตร จนพระเณรต้องหนีไปอยู่ที่อื่น และได้มีการจับเชลยศึกจำนวนมากมาทรมานภายในวัด

    ฝ่ายพันธมิตรได้ส่งกำลังทางอากาศเข้าโจมตีฐานที่มั่นกองทัพญี่ปุ่นที่วัดศรีสุพรรณ ศาสนสถานได้รับความเสียหายย่อยยับ

    แต่เป็นเรื่องแปลกที่พระพุทธปาฏิหาริย์ มีรอยแฉลบของกระสุนที่ไหล่ขวาและเข่าซ้ายเท่านั้น

    นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดยังปรากฏหลักศิลาจารึก ประวัติความเป็นมาของวัด ซึ่งจารึกด้วยอักษรฝักขาม บนหินทรายแดง

    สิ่งที่เป็นสถาปัตยกรรมและศิลปะล้านนายังพบเห็นได้จากเสนาสนะต่างๆ อาทิ หอไตร เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ เป็นที่เก็บรวบรวมคัมภีร์ ใบลาน และใช้ประโยชน์อื่นๆ ของวัด

    วิหาร เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ สร้างสมัยที่เรียกกันว่า "ยุคเก็บผักใส่ส้า เก็บข้าใส่เมือง" โดยพระเจ้ากาวิโรรส สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๓๔๒ พระสมุห์สุพล สุทธสีดล อดีตเจ้าอาวาสได้ปฏิสังขรณ์ผสมผสานศิลปะร่วมสมัย จิตรกรรมฝาผนัง มีพระธาตุ ๑๒ ราศี พุทธจักรวาล ใช้สีโทนสีทอง ประดับผนังด้วยหัตถกรรมเครื่องเงิน

    พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ บอกว่า อุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ไม่เอื้อต่อการประกอบศาสนกิจ ของพระสงฆ์ กอปรกับกลุ่มศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ชมรมส่งเสริมสล่าล้านนา มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่ต้องการจะสืบสาน ส่งเสริมภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงิน ถนนวัวลาย ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงมีแนวคิดสร้าง อุโบสถเงินหลังแรกของโลก ให้เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา

    โดยอุโบสถเงินหลังนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมลวดลายศิลปะล้านนาและลวดลายประจำท้องถิ่น นอกจากนี้ยังจะได้เป็นการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน

    [​IMG]


    อุโบสถเงินหลังนี้ก่อสร้างในแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๗.๕๐ เมตร ก่ออิฐถือปูนเสริมเหล็กทุกส่วน ตกแต่งด้วยศิลปกรรม สลักลวดลายบนแผ่นอะลูมิเนียม และแผ่นเงินผสม ๙๒.๕ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากหากใช้เงินแท้อาจถูกขโมย

    และที่สำคัญหากโดนความร้อนมากๆ อาจทำให้เปลี่ยนรูปแบบและคดงอได้
    ผนังอุโบสถสลักลวดลายภาพสามมิติ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศิลป์ ปริศนาธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ของวัด และชุมชน ทั้งนี้จะมีการระดมช่างภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งสามชุมชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นผู้สรรค์สร้าง สถาปัตยกรรมร่วมกัน โดยเป็นการก่อสร้างด้วยความศรัทธา ไม่มีค่าแรง
    เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายนปี ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๐ เพื่อสนองปณิธานการสร้างศิลป์แก่แผ่นดิน ล้านนาให้ปรากฏแก่สายตาของคนทั่วไป

    ส่วนปัจจัยในการก่อสร้างประเมินไว้ที่ ๘ ล้านบาท โดยได้มาจากการรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งในการรับบริจาค นอกจากเงินสดแล้วยังรับบริจาคเป็นเครื่องเงินทุกชนิดอีกด้วย เพื่อนำมาหลอมเป็นรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการตกแต่งอุโบสถ ให้สวยงามที่สุด ล่าสุดมีผู้บริจาคเงินทุนการก่อสร้างแล้ว ๒ ล้านบาท

    "การก่อสร้างอุโบสถครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนาแล้วยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการทำเครื่องเงิน ไว้เป็นมรดกสืบทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังให้ยั่งยืนต่อไปอีกด้วย ทางวัดจึงได้จัดทำโครงการสร้างอุโบสถเงินนี้ขึ้นโดยมีปณิธาน ว่าจะร่วมสร้างสรรค์ส่งเสริม สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างศิลป์เป็นอนุสรณ์แก่แผ่นดินถิ่นล้านนา และถวายไว้ในบวร พระพุทธศานาสืบต่อไป" เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ กล่าว

    สำหรับชุมชนย่านถนนวัวลาย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงินต่อกัน มาหลายชั่วอายุคน นับแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์แรก (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๘)

    ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณอย่างสมบูรณ์แบบ ภายในวัดหมื่นสาร วัดนันทาราม และวัดศรีสุพรรณ
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ไหว้พระสังกัจจายน์ วัดสระทอง จ.ร้อยเอ็ด

    [​IMG]


    ไหว้พระสังกัจจายน์ พระโชคลาภ วัดสระทอง จ.ร้อยเอ็ด

    "วัดสระทอง" ตั้ง อยู่ในตัวเมืองร้อยเอ็ด เป็นที่ประดิษฐาน "พระสังกัจจายน์" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวร้อยเอ็ดเคารพศรัทธา แต่การสร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ แต่ปรากฏหลักฐาน เมื่อปี พ.ศ. 2325 พระยาขัตติยะวงษา (ท้าวธน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ เห็นว่ามีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก จึงได้นำมาประดิษฐานที่วัดสระทองและยกให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง

    ในอดีตข้าราชการทุกคนต้องมาสาบานตนต่อหน้าหลวงพ่อว่าจะซื่อสัตย์ต่อบ้านเมืองเป็นประจำทุกปี

    การสร้างวิหารพระสังกัจจายน์และอุโบสถ สมัยแรก ทางวัดไม่ได้สร้างขึ้น เพราะตามประวัติวัด มีการสร้างวิหารหลวงพ่อพระสังกัจจายน์ โดยปลูกสร้างเป็นศาลามุงแฝก เพื่อกันแดดคุ้มฝนให้องค์หลวงพ่อสังกัจจายน์

    ต่อมาปี พ.ศ.2477 คุณแม่ต่วน ศรีเลนวัฒน์ ได้สละทุนทรัพย์สร้างวิหารถาวรหลวงพ่อสังกัจ จายน์ขึ้น หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ เป็นวิหารทรงมะนิลา เพื่ออุทิศให้นายตุ่น ผู้เป็นสามีที่วายชนม์

    พ.ศ.2480 คุณแม่เอี่ยม วุฒิจำนง พร้อมด้วยหลาน ได้มีศรัทธาเลื่อมใสสร้างเป็นอุโบสถ ฝาผนังก่ออิฐถือปูน ครอบองค์พระสังกัจจายน์เป็นประธานในอุโบสถ ฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมาตามประเพณีทางพระพุทธศาสนา ในวันอังคารที่ 15 กันยายน 2480

    วันที่ 13 สิงหาคม 2495 เวลาประมาณ 22.30 น. ได้เกิดเพลิงไหม้อุโบสถชำรุดเสียหายมาก เหลือแต่องค์หลวงพ่อสังกัจจายน์ ซึ่งอยู่ในสภาพเดิมมีรอยร้าวเล็กน้อย

    พระมงคลญาณเถร (ผาย ขันติโก) เจ้าอาวาสวัดสระทอง พร้อมด้วยคณะสงฆ์ภิกษุสามเณรและทายกทายิกาได้ให้ช่างบูรณะตกแต่งหลวงพ่อพระ สังกัจจายน์ให้อยู่ในสภาพปกติเหมือนองค์เดิมทุกประการ และได้ซ่อมแซมอุโบสถให้เป็นพระวิหารหลวงพ่อสังกัจจายน์

    หลังจากนั้น พระครูภาวนาวิหารคุณ เจ้าอาวาสวัดสระทองรูปปัจจุบัน ได้เชิญชวนผู้มีศรัทธาอื่นปรับปรุงวิหารพระสังกัจจายน์ให้สวยงามยิ่งขึ้นดัง ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

    พระสังกัจจายน์ มีพุทธลักษณะอ้วน พุงพลุ้ย มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภ เป็นหนึ่งในพระสาวกผู้ใหญ่ จัดอยู่ในเอตทัคคะ ผู้ใดบูชาผู้นั้นได้ลาภประเสริฐแล

    พระสังกัจจายน์ เป็นผู้มีรูปงาม ผิวเหลืองดุจทอง มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีโสเรยยะ บุตรเศรษฐี คะนองเห็นพระสังกัจจายน์จึงปากพล่อยกล่าวว่า ถ้าเราได้ภรรยามีรูปกายงดงามเยี่ยงท่านนี้ จักพอใจยิ่ง พลันปรากฏว่า โสเรยยะบุตรมหาเศรษฐีหนุ่มคะนองปากได้กลายเพศเป็นหญิงในทันที จึงหลบหนีไป

    ต่อมา ได้สามีและบุตรสองคน จึงกลับมาขอขมากับพระสังกัจจายน์ โสเรยยะจึงกลับคืนสู่เพศชายเช่นเดิม นับว่าพระสังกัจจายน์มีฤทธิ์อำนาจยิ่งรูปหนึ่งในพุทธสาวก

    แต่ด้วยรูปกายอันงดงามของพระสังกัจจายน์ สร้างความปั่นป่วนแก่สตรีเพศอย่างยิ่ง จึงได้เนรมิตกายใหม่ให้อ้วนพุงพลุ้ยน่าเกลียด เพื่อความสงบแห่งจิตและกิเลส

    เรื่องราวของพระสังกัจจายน์ พอสรุปได้ว่าเป็นพระพุทธสาวกที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรู้ และเป็นที่โปรดของพระพุทธองค์ยิ่ง มีบารมี มีอิทธิฤทธิ์ ผู้ใดบูชาพระสังกัจจายน์จึงได้รับพรจากพุทธสาวกอันเป็นเอตทัคคะอย่างสมบูรณ์
    พระสังกัจจายน์ เป็นพระอรหันต์ผู้บันดาลโชคลาภ ปัญญา และเมตตามหานิยม ชาวพุทธกราบไหว้สักการบูชาพระสังกัจจายน์เพื่อให้บังเกิดความเป็นสิริมงคล 3 ประการแก่ตนเองและครอบครัว ดังนี้

    1. โชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ พระสังกัจจายน์ได้รับการยกย่องให้เป็นพระผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์ และลาภสักการะเสมอด้วยพระสีวลี
    2. สติปัญญา เนื่องเพราะพระสังกัจจายน์ได้รับการยกย่องจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นเลิศในทางอธิบายความพุทธภาษิต ท่านเป็นอรหันต์ผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม
    3. ความงามและความมีเสน่ห์ เนื่องเพราะก่อนที่ท่านจะอธิษฐานจิตให้รูปร่างเปลี่ยนแปลง พระสังกัจ จายน์มีผิวดั่งทองคำและมีรูปงามละม้ายเหมือนพระพุทธเจ้า จนแม้แต่เทพยดา พรหม มนุษย์ทั้งปวงพากันรักใคร่ชื่นชม

    การบูชาพระสังกัจจายน์ให้เป็นมงคล ควรบูชาด้วยธูป 3 ดอก พร้อมดอกไม้สีขาวมีกลิ่นหอมต่างๆ หรือดอกบัว มิว่าจะบูชาด้วยดอกใดให้ใช้ 7 ดอก ถวายน้ำสะอาด 1 แก้วและถวายผลไม้ทุกวันพระ
    สำหรับคาถาบูชา

    กัจจายะนะ จะ มะหาเถโร พุทโธ พุทธานัง พุทธะตัง พุทธัญจะ พุทธะ สุภา สิตัง พุทธะตัง สะมะนุปปัตโต พุทธะโชตัง นะ มามิหัง ปิโย เทวะมะนุสสานัง ปิโยพรหม นะ มุตตะโม ปิโยนาคะ สุปันนานัง ปิยินทะริยัง นะ มามิหัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ปุริโสชะนา อิตถีชะนา ราชาภาคินิ จิตตัง อาคัจฉาหิ ปิยัง มะมะฯ

    คาถาบูชาขอลาภ (สวดบทนี้ได้ทุกวันเพื่อสิริมงคล)
    กัจจายะนะ มะหาเถโร เทวะตานะระปูชิโต โส ระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง ภะวันตุ เม ลาเภนะ อุตตะโม โหติ โส ระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง สัพพะลาภา สะทา โสตถิ ภะวันตุ เม
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดแสงแก้วโพธิญาณ จ.เชียงราย

    [​IMG]


    วัดแสงแก้วโพธิญาณ ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จ.เชียงราย

    สถานที่ตั้ง

    วัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ ตั้งอยู่บนดอย “ม่อนแสงแก้ว” ตั้งอยู่ที่เลขที่ 191 ม.11 บ้านป่าตึง ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
    ขนาดพื้นที่ประมาณ 29 ไร่เศษตั้งอยู่บนเนินดอยห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่สวยงามมองลงมาเห็นทั้งตัวอำเภอแม่สรวย
    และหลายตำบลของอำเภอแม่สรวย มีถนนลาดยางถึง
    เริ่มก่อสร้าง

    วัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ตรงกับเดือนแปดเป็งของล้านนา ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนหก
    สร้างโดยท่านพระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต คณะศรัทธาบ้านป่าตึง และศิษยานุศิษย์เมื่อครั้งที่ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตได้ย้ายจากวัดพระธาตุดงสีมา ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย มาจำพรรษา ณ ศาลามหาป่า ในใจกลางของหมู่บ้านป่าตึง โดยการรับนิมนต์ของ พ่อหลวงยา ศรีทาและคณะศรัทธาชาวบ้านป่าตึง หมู่ที่ 11 ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พ่อหลวงยา ศรีทาและคณะศรัทธาบ้านป่าตึง อยากจะมีวัดใหม่ที่สะดวกต่อการทำบุญของญาติโยมจึงได้นำเรื่องมาปรึกษากับท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ผู้ซึ่งเป็นพระนักคิดนักสร้าง เป็นผุ้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จรรโลงพระพุทธศาสนาเจริญรอยตามครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยอยู่แล้ว จึงได้คิดสร้างวัดใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นพุทธสถาน เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน

    หลังจากนั้นท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตได้ทำการสำรวจพื้นที่ ที่จะก่อสร้างวัด กับพ่อหลวงยา ศรีทาและคณะศรัทธาบ้านป่าตึง โดยใช้เวลานานหลายวันก็ยังไม่พบสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่ในการก่อสร้างวัด แต่แล้วด้วยบุญญาบารมี ของท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตและความศรัทธาอย่างแรงกล้าของชาวบ้านที่จะสร้างวัด คืนหนึ่งขณะที่ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต จำวัดอยู่ได้นิมิตรว่ามีที่ดินเป็นเนินไม่สูงมากนักมีต้นไม้ร่มรื่นล้อมรอบไปด้วยไม้ไผ่ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตพึงพอใจในสถานที่แห่ง นี้เป็นยิ่งนัก จึงได้เล่านิมิตที่ท่านพบมาให้กับพ่อหลวงยา ศรีทาและชาวบ้านฟัง คณะพ่อหลวงยา ศรีทาและชาวบ้านได้พาท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตออกสำรวจพื้นที่โดยรอบของหมู่บ้าน จนมาถึงท้ายของหมู่บ้าน พบสวนของชาวบ้าน ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตจึงได้สำรวจพื้นที่ โดยรอบสวน พบว่ามีลักษณะเป็นสวนและมีต้นไผ่ล้อมรอบคล้ายกับสถานที่ที่ท่านได้นิมิตรพบในคืนที่ผ่านมา ท่านครูบาเดินออกสำรวจพื้นที่ด้วยความรวดเร็ว แล้วบอกกับคณะที่ติดตามท่านไป ในการสำรวจครั้งนั้นว่า ท่านพอใจในสถานที่แห่งนี้เป็นยิ่งนัก เหมาะสำหรับการก่อสร้างวัดเพื่อเป็นศาสนสถานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน และสถานที่แห่งนี้เป็นของใคร พ่อหลวงยา ศรีทาจึงได้บอกว่าเป็นสวนของผู้ที่มีฐานะดี คงจะไม่ยอมขายให้และถ้าหากขายก็คงจะต้องราคาแพง ความเป็นไปได้ที่จะได้ที่ดินเพื่อมาสร้างวัดคงจะไม่มีท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตจึงได้เดินไปจนถึงยอดเนินของสถานที่แห่งนั้น และได้จุดธูปเทียน พร้อมทั้งกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล และตั้งจิตอธิษฐานว่า “หากสถานที่แห่งนี้ แม้เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่อันเป็นมังคละคู่ยารมีท่านในการที่จะได้จรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไปแล้ว ขอให้ได้ที่ดินผืนนี้มา” เมื่อท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตตั้งจิตอธิษฐานเสร็จแล้ว พ่อหลวงยา ศรีทาได้เชิญเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้มีฐานะดีมาพบกับท่านครูบาเพื่อพูดคุยปรึกษาหารือในเรื่องการสร้างวัดบนของที่ดินผืนนี้ เจ้าของที่ดินได้ถวายที่ดินประมาณ 19 ไร่เศษให้กับท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตเพื่อสร้างวัดอย่างง่ายดาย สร้างความประหลาดใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะผู้ติดตามท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต เป็นอย่างมาก
    หลังจากที่เจ้าของที่ดินได้ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตได้ร่วมกับคณะศรัทธาปรับปรุงพื้นที่ พร้อมระบบสาธารณูปโภค เมื่อศิษยานุศิษย์ คณะศรัทธาและผู้ที่นับถือ ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตทราบข่าวการสร้างวัด ได้แสดงความจำนงค์ในการร่วมสมทบทุน สร้างวัดเป็นจำนวนมาก

    [​IMG]


    ที่มาของชื่อวัดแสงแก้วโพธิญาณ

    แสงแก้วโพธิญาณ แปลว่า ดอกบัวที่ผุดโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำแล้วมีแสงสว่างเรืองรองเหมือนแสงแก้ว โดยก่อนที่จะได้ชื่อ แสงแก้วโพธิญาณ ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ได้ร่วมกับคณะศรัทธาที่ร่วมกันสร้างวัดในการตั้งชื่อเพื่อขออนุญาติสร้างวัด แต่เนื่องด้วยเหตุใดก็หามีผู้ใดรู้ไม่ ท่านครูบาและคณะศรัทธา ไม่สามารถสรุปชื่อของวัดได้ สร้างความหนักใจให้กับท่านครูบาและคณะศรัทธาเป็นยิ่งนักยิ่งใกล้วันวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้างพระวิหารเข้ามาทุกที

    จนกระทั่งก่อนวันวางศิลาฤกษ์ 2 วัน ด้วยความทุ่มเทในการจัดเตรียมงานวางศิลาฤกษ์ และมีคณะญาติโยมที่พากันมากราบนมัสการ ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต อย่างไม่ขาดสายทำให้ท่านครูบา รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและเพลียท่านจึงได้จำวัด พอตกยามเช้าใกล้รุ่งท่านได้นิมิตฝันไปว่า คืนนี้ฝนตกหนักท่านได้เดินจากยอดดอยแห่งหนึ่งลงไปยังหมู่บ้านด้านล่างได้ได้พบกับลูกศิษย์เดินสวนมา และเอ่ยถามท่านว่า “ท่านจะไปไหน” ท่านก็ได้ตอบศิษย์ของท่านไปว่า “จะลงไปหมู่บ้านข้างล่าง” ลูกศิษย์ท่านก็บอกว่า “ไม่ต้องลงไปหรอกครับท่านมู่บ้านด้านล่างโดนน้ำท่วมหมดแล้ว” ท่านก็บอกต่อไปว่า ไม่เป็นไรหรอก เราจะลงไป แล้วท่านก็บอกให้ลูกศิษย์ของท่าน เดินขึ้นไปก่อน

    จากนั้นท่านก็เดินลงจากดอยลูกนั้นมาเรื่อย ๆ จนพบกับแสงสว่างคล้าย ๆ กับแสงแก้ว ลอยไปลอยมาหลายดวง ท่านจึงมุ่งตรงไปยังกลุ่มของแสงเหล่านั้น พบว่าเป็นดวงไฟที่ชาวบ้านถือส่องทางเพื่อหนีน้ำท่วมขึ้นมาบนดอย ชาวบ้านเหล่านั้นได้ชวนท่านกลับขึ้นไปมู่บ้านด้านล่างโดนน้ำท่วมแล้ว ท่านก็บอกให้ชาวบ้านเดินขึ้นไปก่อนเดี๋ยวท่านจะตามขึ้นไป จากนั้นสักพักท่านก็เดินกลับขึ้นดอยดินกลับขึ้นดอยท่านได้เดินเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบลงไปในหลุมโคลนบกับน้ำที่ไหลลงมาจากยอดดอยขังอยู่บริเวณนั้นพอดีทำให้พื้นดินอ่อนจนเท้าของท่านเหยียบลงไปจนหมด และท่านก็ได้มองลงไปในหลุมนั้นพบสิ่งประหลาดสิ่งหนึ่ง ยุบแลพองตัวอยู่ในหลุมนั้น ท่านจึงใช้ไม้เท้าของท่านเขี่ยดู แล้วหยิบสิ่งนั้นขึ้นมามีลักษณะคล้ายลูกแก้ว แล้วลูกแก้วลูกนั้นก็มีแสงสว่างเรืองรอง และนวลตายิ่งนัก ท่านก็มิได้สนใจมากนั้นจึงโยนสิ่งนั้นไปทางด้านหลังแล้วเดินขึ้นดอยต่อไป พอท่านหันหลังกลับมาพบว่าสิ่งที่ท่านโยนทิ้งไปเมื่อสักครู่กลับกลายเป็นดอกบัว ที่ผุดขึ้นมามากมายแล้วเรืองแสงไปทั่วบริเวณนั้น สร้างความประหลาดใจให้ท่านยิ่งนัก

    รุ่งเช้าท่านได้นำนิมิตที่ท่านพบในคืนที่ผ่านมาเล่าให้กับพ่อหลวงยา ศรีทาและกลุ่มคณะศรัทธาฟังชาวบ้านบอกว่าคงเป็นนิมิตที่เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาบอกเป็นเหตุให้ ท่านจึงได้คิดชื่อได้จากเหตุที่เป็นแสงเรืองรองเหมือนแสงแก้วแล้วกลายเป็นดอกบัว อีกนัยหนึ่งคือ โพธิญาณ คือ หยั่งรู้ เหมือนบัวที่ผุดโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำแล้วเปล่งแสงคล้ายแสงแก้ว จึงได้ตั้งชื่อว่า “วัดแสงแก้วโพธิญาณ” หลังจากนั้นก็ได้ทำการดำเนินการขออนุญาตตั้งวัดต่อกรมศาสนา เมื่อเสนอเรื่องขึ้นไป สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกได้ทรงพระราชทานนามใหม่เป็น “วัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ”

    [​IMG]


    การออกแบบก่อสร้างและการวางแผนในการก่อสร้างวัด

    จากการที่ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตและเป็นผู้ที่ศึกษามามากทั้งในทางโลกและทางธรรม เป็นผู้ที่ช่างสังเกตและจดจำ รวมถึงประสบการณ์ในการไปธุดงค์พบเห็นวัดต่าง ๆ ที่มีศิลปะในการสร้างที่แตกต่างกันไป

    ท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโตจึงได้วางแผนผังบริเวณวัดซึ่งเป็นไปตามหลักของทางธรรมและศาสน์ของ สถาปัตยกรรมล้านนา โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนลักษณะเป็นขั้นบันได 3 ขั้น โดยแต่ละขั้นมีความหมายดังนี้

    ชั้นที่ 1 “ชั้นโลกธรรม หรือ เขตอภัยทาน”
    ใช้เป็นสถานที่พักผ่อน ที่จอดรถและสถานที่สาธารณะสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาทำบุญที่วัด

    ชั้นที่ 2 “ชั้นพุทธาวาส”
    ใช้เป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ศาสนพิธีต่าง ๆ เป็นชั้นสำหรับการใช้ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส

    ชั้นที่ 3 “ชั้นปรินิพพาน”
    เป็นชั้นสูงสุดของวัดแห่งนี้โดย เป็นชั้นสังฆกรรม ชั้นพระสงฆ์ทำพิธีกรรม เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุแห่งวัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ

    การปรับปรุงพื้นที่ได้มีผู้มีจิตศรัทธา และชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมทุนกันทั้งทุนทรัพย์ กำลัง เครื่องมือ เครื่องจักรเป็นจำนวนมาก และได้เร่งปรับพื้นที่ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนจนแล้วเสร็จภายคืนเดียว สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับชาวบ้านและคณะผู้ทำการปรับปรุงพื้นที่เป็นอย่างมากที่สามารถทำเสร็จได้ภายในเวลาไม่กี่วัน หลังจากการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการก่อสร้างวัด เสร็จเรียบร้อยแล้วทางวัดได้ทำการสร้างอาคาร พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก อาทิเช่น ระบบไฟฟ้าแรงสูง ระบบน้ำบาดาล ถังพักน้ำ โดยผู้มีจิตศรัทธาที่หลั่งไหลมาแสดงความจำนงค์ในการเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นจำนวนมาก
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ตำนานวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

    [​IMG]


    ตำนานวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
    วัดพระสิงห์ ตั้งอยู่บน ถนนสิงหราชจรด กับ ถนนราชดำเนิน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร และยังเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงาม ซึ่งเป็ที่รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ตามคติล้านนา คเกิดปีมะโรงต้องมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

    ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ กล่าวว่า พญาผายู โปรดให้สร้างเจดีย์ สูง 23 วา เพื่อบรรจุอัฐิพญาคำฟู พระบิดาของพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.1888 ต่อมาในปี พ.ศ. 1890 จึงโปรดให้สร้างบริเวณนี้ขึ้นเป็นวัด และนิมนต์พระเถระอภัยจุฬาพร้อมภิกษุสงฆ์มาจำพรรษา แต่เนื่องจากหน้าวัดเป็นสถานที่ชุมนุม ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวเมือง วัดนี้จึงให้อีกชื่อว่า "วัดลีเชียง" (ลี แปลว่า ตลาด ) แต่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "กาดลี"

    ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นเป็นพระสิงห์สกุล ช่างเชียงแสน ศิลปะล้านนา ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเชียงราย ขณะนั้นเชียงรายกับเชียงใหม่เกิดการรบพุ่งกันขึ้น เชียงใหม่เป็นฝ่ายชนะ พระเจ้าแสนเมืองมา (พญาแสนเมือง พ.ศ. 1931 - 1954 ) มานครเมืองเชียงใหม่ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มายังเมืองเชียงใหม่โดยล่องเรือมาตามลำน้ำปิง

    เรืออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาเทียบท่าฝั่งนครเชียงใหม่ ที่ท่าวังสิงห์คำ ขฯะเชิญขึ้นประดิษฐานบนบุษบกปรากฎรัศมีจากองค์พระเรืองรองเป็นลำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไกลถึง 2,000 วา ต่อมาจึงได้มีการสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั่นได้ชื่อตามเหตุอัศจรรย์ในครั้งนั้นว่า "วัดฟ้าฮ่าม" ซึ่งหมายถึงฟ้าอร่ามนั่นเอง แต่เดิมนั้นพระเจ้าแสนเมืองตั้งพระทัยจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานยังวัดบุปฝาราม (วัดสวนดอก) ซึ่งตั้งอยู่นอกเวียงออกไปทางทิศตะวันตก แต่เมื่อชักลากบุษบกไปถึงวัดลีเชียงพระก็มีอันติดขัดไม่อาจลากต่อไปได้ พระเจ้าแสนเมืองมาถือเป็นศุภมิตรจึงโปรดให้สร้างมณฑปขึ้นวัดลีเชียงและประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ ณ วัดนั้น

    ต่อมาชาวบ้านต่างพร้อมใจกันนิยมเรียกวัดนี้ว่า "วัดพระสิงห์" ตามนามของพระพุทธรูป กระทั่ง พ.ศ. 2483 (1940) จึงได้รับการสถาปนานายกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร และได้รับนามใหม่ว่าวัดพระสิงห์วรมหาวิหารมาจนถึงปัจจุบัน โดยกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญระดับชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาศกำหนดขอบเขตในกราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2522

    และในเทศกาลสงกานต์ของทุกปีจะมีการอัญเชิญพระสิงห์สิหิงค์ประดิษฐานบนบุษบกแห่รอบเมืองเชียงใหม่ให้ประชาชนสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี ภายในวัดพระสิงห์มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่

    - หอไตร สร้างเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ที่ตัวผนังตึกด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้นแต่งองค์ทรงเครื่องสวยงาม ทำเป็นรูปเทพพนมยืน บ้างก็เหาะ ประดับอยู่โดยรอบ เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้วต่อมาในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐได้มีการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ประมาณ พ.ศ. 2467 ที่ฐานหอไตรปั้นเป็น
    ลายลูกฟักลดบัวภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก และกิเลน เป็นต้น โดยประจำยามที่มีลักษณะละม้ายลายสมัยราชวงค์เหม็งของจีน

    - โบสถ์ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขโถงทั้งทั้งด้านหน้าด้านหลัง ด้านข้างแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลายปูนปั้นบริเวณซุ้มประตูทางเข้า หน้าบันมีลักษณะวงโค้งสองอันเหนือทางเข้าประกบกัน เรียกว่า คิ้วโก่ง เหนือคิ้วโก่งเป็นวงกลมสองวงคล้ายดวงตา ที่เสาและส่วนอื่นๆ มีปูนปั้นนูน มีรักปั้นปิดทอง ถือเป็นลักษณะอาคารและการตกแต่งเป็นแบบศิลปะล้านนาที่วิจิตรสวยงามโดยแท้

    - วิหารลายคำ เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนาขนาดเล็ก ภายในประดิษฐาน "พระพุทธสิหิงค์" ขนาดหน้าตักกว้าง 31 นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม 51 นิ้ว บนผนังด้านหลังพระประธานมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง มีเสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) ที่ผนังวิหารมีภาพจิตรกรรมโดยรอบ ด้านเหนือเขียนเป็นเรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เป็นเรื่องสุวรรณหงส์โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบเพียงที่นี่แห่งเดียว อีกทั้งเป็นวิหารลายคำที่พบที่นี่ได้แห่งเดียวเท่านั้น และลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมที่พบในล้านนา ซึ่ง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ประติมากร ชาวอิตาเลียน บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ได้สรุปไว้ว่า "จิตรกรรมในภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวันเป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้ามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่า เราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน"

    [​IMG]


    พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐ์ฐานอยู่ที่วิหารลายคำ
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    รอยพระพุทธบาทที่...วัดเขาดีสลัก จ.สุพรรณบุรี

    [​IMG]

    รอยพระพุทธบาทที่...วัดเขาดีสลัก อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

    รอยพระพุทธบาท ถือเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สำคัญประการหนึ่งของชาวพุทธ มีคติสร้างขึ้นในประเทศอินเดียตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล เป็นปูชนียวัตถุที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือกราบไหว้บูชาด้วยความศรัทธามาเป็นเวลานาน

    คติความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทนี้ แพร่เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี และได้รับความนิยม เคารพนับถือสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังปรากฏรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ตามที่ต่างๆ ของประเทศไทยหลายแห่ง อาทิเช่น รอยพระพุทธบาทที่สระมรกต อ.โคกปีบ จ.ปราจีนบุรี รอยพระพุทธบาทวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และรอยพระพุทธบาทวัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น

    รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก ตั้งอยู่บนเขาดีสลัก ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๒ กิโลเมตร รอยพระพุทธบาทองค์นี้ค้นพบและเผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๔ โดยคณะอนุกรรมการวัฒนธรรม และอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีนายมนัส โอภากุล นักวิชการท้องถิ่น เป็นแกนนำ

    ลักษณะทางศิลปกรรม ของ รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก เป็นรอยพระพุทธบาทเดี่ยวสลักลงบนแผ่นดินทรายสีแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖๖ เซนติเมตร ยาว ๑๔๒ เซนติเมตร เป็นรอยพระพุทธบาทที่สลักเป็นรูปนูนต่ำ ทำเป็นลายรูปกลีบบัวโดยรอยพระบาท ปลายนิ้วพระบาทยาวไม่เสมอกัน นิ้วพระบาทข้อที่สองทำเป็นลายก้านขดหรือใบไม้ม้วน ซึ่งเป็นลายที่นิยมในสมัยทวารวดี บริเวณกลางฝ่าพระบาททำเป็นรูปธรรมจักรขนาดเล็ก รายล้อมด้วยภาพสลักรูปมงคล ๑๐๘ ประการ อยู่ในกรอบวงกลม ซึ่งแตกต่างจากรอยพระพุทธบาททั่วไปที่มักจะสลักลายมงคล ๑๐๘ ประการไว้ในกรอบสี่เหลี่ยม
    การจัดเรียงรูปมงคลในส่วนบนจะจัดเรียงเป็นแถวแถวละ ๘ วง แต่ในส่วนล่างมีปัญหาที่ความโค้งและสอบแคบของส้นพระบาท จึงไม่สามารถจัดเรียงรูปมงคลให้เป็นแถวได้ ลักษณะที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของรอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลักนี้ก็คือ มีการจัดลำดับภูมิสูงต่ำของรูปมงคล ๑๐๘ ประการตามคติไตรภูมิ และจักรวาลในพุทธศาสนา โดยสามารถแบ่งรูปมงคลออกได้เป็น ๓ ส่วนคือ
    ๑.รูปสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภพภูมิและจักรวาล จัดเรียงอยู่ส่วนบนสุดถัดจากข้อพระบาทข้อที่ ๒ ลงมา ได้แก่ พรหมโลก ทำเป็นภาพเทวดากำลังอยู่ในท่าเหาะ ๒ แถวแรก จำนวน ๑๖ องค์ เทวโลก จัดเรียงอยู่ในแถวที่ ๓ ทำเป็นภาพเทวดาอยู่ในท่านั่งแบบต่างๆ ได้แก่ ท่านั่งชันเข่าข้างเดียวหรือมหาราชลีลาสนะนั่งขัดสมาธิ และอยู่ในท่าคล้ายกำลังเหาะ มหาสมุทรทั้งสี่อยู่ถัดลงมาในแถวที่ ๔ ทำเป็นสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมอยู่ภายในกรอบวงกลม

    นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์รูปธรรมจักร พระอาทิตย์ พระจันทร์ อยู่ในลำดับแถวถัดลงมา

    ๒.เครื่องประกอบยศของพระเจ้าจักรพรรดิ จัดเรียงอยู่บริเวณกลางฝ่าพระบาทลงมา ได้แก่ พระยาช้าง อุโบสถ เป็นช้างแก้ว พระยาม้า พลาหก เป็นม้าแก้ว พระมงกุฎ ถ้วยภาชนะ กลองบัณเฑาะว์ พระมหาสังข์ คันฉ่อง ขอช้าง เป็นต้น
    ๓.สัญลักษณ์ที่เป็นโชคลาภและเป็นรูปสัตว์มงคล จัดเรียงอยู่บริเวณส่วนกลางถึงส่วนล่างของส้นพระบาท ได้แก่ สำเภาทอง พญาครุฑ พญาไก่แจ้ พญานาค ปลาคู่ พญากวางทอง พญาหงส์ พญาราชสีห์ ดอกไม้สี่กลีบ พญาโค และโคแม่ลูกอ่อน เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังมีรูปสัญลักษณ์มงคลอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแปลความได้ เนื่องจากสัญลักษณ์มงคลบางอย่างที่ไม่สามารถแปลความได้ เนื่องจากสัญลักษณ์มงคลบางอย่างเป็นไปตามความนิยมในแต่ละช่วงสมัย ประกอบกับภาพเลือนลางมาก จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรม สามารถกำหนดได้ว่า รอยพระพุทธบาทที่วัดเขาดีสลักนี้ เป็นรอยพระพุทธบาทในสมัยทวารวดีตอนปลาย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗

    การปรับปรุงและพัฒนาวัดเขาดีสลัก ได้เริ่มดำเนินการใน พ.ศ.๒๕๓๗ โดยมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานรอยพระพุทธบาท วิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างบันไดนาค ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ และจัดสร้างระฆังเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา จำนวน ๗๒ ใบ

    ขณะเดียวกันยังมีการจัดสร้าง งานประติมากรรมนูนสูง เรื่องพุทธประวัติ ตั้งอยู่ที่บริเวณเชิงเขา ของวัดเขาดีสลักนี้ เป็นกิจกรรมตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดเขาดีสลัก ซึ่งใช้งบประมาณจากโครงการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ.๒๕๔๗ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้า โดยนำเสนอผ่านงานแกะสลักหิน จำนวน ๑๘ ภาพ ภาพสลักพุทธประวัติชุดนี้ เริ่มต้นเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทวยเทพได้อัญเชิญพระโพธิสัตว์ซึ่งบังเกิดเป็นเทวราชอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตให้ลงมาจุติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ จนจบเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน มีการถวายพระเพลิงและแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำไปประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆ

    อย่างไรก็ตามใน วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๑ จะมีประกวดพระเครื่อง ณ โรงแรมคุ้มสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี และการทอดกฐินสามัคคี ณ วัดเขาดีสลัก โดยมี ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี

    รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานดำเนินงาน พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ประธานอำนวยการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมผู้นิยมพระเครื่อง พระบูชาไทย สมาคมพระเครื่องสุพรรณบุรี และหนังสือพิมพ์ข่าวสด

    ส่วนวัตถุประสงค์การจัดงานนั้น พล.ต.ต.คำรณวิทย์ บอกว่า
    ๑.เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา และการอนุรักษ์ พระบูชา พระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล
    ๒.ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี โดยเฉพาะที่วัดเขาดีสลัก อ.อู่ทอง ซึ่งมีทัศนนียภาพอันงดงาม ทั้งมีความเป็นมาทางด้านโบราณคดีอันน่าศึกษาในความเป็นมาของท้องถิ่น
    ๓.เพื่อนำรายได้ใช้จ่ายในการดำเนินการสร้างมณฑป (อาศรม) และพระพุทธรูปสลักหิน ประดิษฐาน ณ วัดเขาดีสลัก
    ๔.เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้แก่สมาคมพระเครื่องสุพรรณบุรี
    และ ๕.เพื่อนำรายได้ใช้จ่ายในกิจการกุศลอื่นๆ
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดพระบาทปางแฟน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

    [​IMG]


    วัดพระบาทปางแฟน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

    วัดพระบาทปางแฟน ได้ก่อตั้ง เป็นที่พักสงฆ์มาพร้อมกับหมู่บ้านปางแฟน เมื่อปีพ.ศ. 2442 บริเวณแห่งนี้ แต่เดิมเข้าใจว่า เป็นวัดเก่าหรือเมืองโบราณ เนื่องมาจากในบริเวณนี้จะพบซากอิฐ เจดีย์ และของใช้โบราณต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการกล่าวขานว่า ในอดีตพ่อขุนเม็งราย ได้เสด็จมาเพื่อรวบรวม แว่นแคว้น น้อยใหญ่ให้เป็นปึกแผ่น ขณะพระองค์เสด็จมาถึงสถานที่แห่งนี้ได้หยุดพักตั้งค่ายทหาร พระองค์ ได้ทอดพระเนตร พบกับราอยพระพุทธบาท เข้าใจว่าเป็นรอยพระบาทพระพุทธเจ้า พ่อขุนเม็งราย ก็เกิดศรัทธา จึงได้นำสมบัตส่วนพระองค์ฝังบูชารอยพระบาท ที่ปรากฏอยู่ โดยบรรจุสมบัติไว้ใต้รอยพระบาท ซึ่งเป็นอุโมงค์แล้วปิดอุโมงค์ด้วยก้อนหิน จากนั้นจึงโปรดให้สร้างอาราม ให้พระเณรจำพรรษา และโปรดให้พระสนมฝาแฝดพระนามว่า "สร้อยสุนีย์-ศรีสุคณฑา" ธิดาเจ้าเมือง เชลียงอุปัฏฐาก พระอารามแห่งนี้ สืบไป จะเห็นได้ว่า ตรงประตูทางขึ้นวัดปางแฟน ชาวบ้านได้สร้างศาลเอาไว้ เรียกศาลพระแม่สองนาง เชื่อกันว่า พระนางทั้งสอง จะปกป้องรักษาสมบัติของพ่อขุนเม็งราย และวัดแห่งนี้ จากบันทึกของวัดทำให้ทราบว่า มีพระสงฆ์ปกครองวัดดังนี้

    ครูบาศิริชัย มหาเถร ปกครองวัดช่วงปี พ.ศ.2442- พ.ศ.2445
    ครูบาสิทธิเถร ปกครองวัดช่วงปี พ.ศ.2445- พ.ศ.2447
    ครูบาพรหมทอง ปกครองวัดช่วงปี พ.ศ.2447- พ.ศ.2500

    จากบันทึกดังกล่าว ทำให้คาดคะเน ได้ว่า วัดพระบาทปางแฟน แห่งนี้เดิม ทีสร้างขึ้นในสมัย พ่อขุนเม็งราย แต่ต่อมา วัดได้ร้างลงด้วยกาลของเวลา และขาดผู้อุปถัมภ์ เนื่องมาจากวัดแห่งนี้ อยู่ไกลจากความเจริญ การคมนาคมเป็นไปด้วยความลำบาก วัดถูกบรณะขึ้นมาใหม่ในสมัยของครูบาศิริชัย มหาเถร พอสิ้นยุคของครูบาพรหมทอง วัดก็ถูกปล่อยให้ร้างไปอีกครั้ง ไม่มีภิกษุจำพรรษา ในขณะนั้นมีชาวบ้านแค่ 3 ครองครัว ต่อมาราวปี 2500 โดยการปกครองของกำนันจู ได้มีชาวบ้านเพิ่มเป็น 9 ครอบครัว แต่ชาวบ้านได้อาศัย วัดแม่หวานเป็นศูนย์รวมจิตใจ แต่ก็ติดขัดที่ไม่สะดวก จากการเดินทาง ชาวบ้านจึง มีแนวความคิดที่จะจัดสร้างอารามขึ้นในหมู่บ้าน เป็นสถานปฏิบัติธรรม ทุกๆวันพระจะนิมนต์พระมาเทศ์โปรดชาวบ้าน มีภิกษุสามเณร เวียนมาจำพรรษา ยังอารามปางแฟนแห่งนี้

    พ่ออุ้ยอ้าย สุดาคำ และ แม่อุ้ย จันทร์ สุดาคำ อายุ 84 ปี บอกว่า เดิมแม่อุ้ย เป็นคนบ้านแม่ดอกแดง อ.ดอยสะเก็ด ต่อมาได้มาอยู่กินกับพ่ออุ้ยอ้าย เป็นคนบ้านสันป่าสักน้อย ขณะอายุได้ 22 ปี และได้อพยพมาอยู่บ้านปางแฟน ตอนนี้บริเวณนี้ยังเต็มไปด้วยที่นา เมื่อชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดิน ทำอาราม โดยมี สามเณรจากบ้านด้าย จ.เชียงราย มาบุกเบิกสร้างอารามราว 5 ปี ต่อมาก็มีแม่ชีสองท่านซึ่งบวชเป็น ชีมาตั้งแต่อายุ 12 ปี มีความเคร่งครัดในพระศาสนา ได้เดินทางมา ถึงบ้านปางแฟน ทั้งสองคือ แม่ชีเกณฑ์ และมีชีน้อย อายุประมาณ 20 ปี ได้มาฝึกสอนวิชาชีพ ให้ชาวบ้าน สอนให้ทอผ้า และร่วมกับชาวบ้าน สร้างวิหารหลังแรก และแม่ชีมักจะบอกกับชาวบ้านว่า สถานที่แห่งนี้ ศักดิ์สิทธิยิ่ง เพราะมักจะได้ยินเสียง ปี่ พาทย์ มโหรี ดังในวันพระเสมอ

    แม่อุ้ยได้เล่าว่า นอกจากเสียงเพลงแล้วชาวบ้าน มักจะเห็นดวงไฟประหลาดเป็นแสงสีเขียว สีขาว ลอยมาจากดอยม่อนธาตุ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอารามปางแฟนเท่าใด ดวงไฟมักลอยมาหาย ณ บริเวณอารามแห่งนี้ ขณะนั้น ยังไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่ามีสิ่งสำคัญประดิษฐ์อยู่ ชาวบ้าน จะเคยเห็นคุ้นเคยแต่เพียงว่าอารามแห่งนี้ มีก้อนหินก้อนหนึ่ง ใหญ่มาก มีร้อยเท้าติดอยู่บนแท่นหินขนาดเท่าร้อยเท้าคน หนึ่งคู่ แต่ไม่ลึกมาก เวลาต่อมา พระครูมงคลศีลวงศ์ เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดในขณะนั้น ( พ.ศ.2529) ได้มาสำรวจสถานที่ เมื่อพระครูมงคลฯ ได้มาตรวจสอบรอยเท้าที่ปรากฏอยู่นั้น จึงทราบความจริงว่า เป็นรอยพระบาท อย่างแน่นอน ท่านเกรงว่ารอยพระบาทจะถูกเหยียบย่ำ และทำลายโดยรู้ไม่ถึงการณ์ จึงได้นำคณะร่างทรงในจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อแม่จันทร์มีสามีชื่อ พ่อเสริฐ บ้านอยู่แถวสันป่าข่อย จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกับพระคูรมงคลฯ สร้างเจดีย์ครอบรอยพระบาทแห่งนี้ไว้ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา โดยได้จำลองแบบ มาจากเจดีย์พุทธคยาประเทศอินเดีย ส่วนรอยพระบาทนั้น เพื่อเบนความสนใจของผู้ที่ประสงค์ร้ายจะมาทำลายรอยพระบาท จึงได้ทำใหม่ ขึ้นมาอีก 4 รอย ตามที่ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

    เมื่อแม่ชีน้อย แม่ชีเกณฑ์ ได้ร่วมบูรณะอารามปางแฟนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได็ลากลับภูมิลำเนาเดิมของแม่ชีทั้งสอง ส่วนชาวบ้านได้เสาะหา พระผู้ปฏิบัติดี ประพฤติชอบ เพื่อจะได้มาจำพรรษายังอารามปางแฟน ขณะนั้นชื่อเสียงของ พระอาจารย์ สำเร็จ คุตตาโภ จากจังหวัดลำปาง เป็นที่กล่าวขาน ของประชาชนในเขต ภาคเหนือ ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ ให้มาจำพรรษา ปกครองวัดแห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 จนถึงปี พ.ศ.2538 ท่านก็ลาสิกขา จากนั้นได้พระอาจารย์ ตี๋ สิริปุญโญ มาครองวัดตั้งแต่ ปี พ.ศ.2538 ถึงปี พ.ศ. 2542 แต่กครองวัดได้ไม่นาน ก็ถึงแก่มรณะภาพในปี พ.ศ. 2546 เมื่อทางวัดปางแฟน ขาดพระภิกษุไปอีกทำให้ชาวบ้าน รู้สึกหวั่นใจอย่างยิ่ง เพราะวัดแห่งนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิเร้นลับ หากพระสงฆ์บารมีไม่พอ ไม่อาจปกครองวัดแห่งนี้ได้นาน

    พ่อหลวงตั๋น ผู้นำหมู่บ้าน จึงประชุมชาวบ้านเห้นพ้องต้องกันว่า ควรหาพระที่มีบุญบารมี มาปกครอง และทราบว่ามีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เป็นพระดี มีวิชา เป็นคนเมืองแพร่ ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาโต จึงได้สืบเสาะจนพบและได้ร่วมกัน อาราธนานิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส

    ท่าพระครูปลัด กฤตฐิต วิริโย หรือครูบาโต ท่านยังไม่รับปากที่จะมาครองวัดในทันที โดยให้เหตุผลว่า หากเป็นวัดที่เจริญแล้ว จะไม่มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านอยากจะสร้างและบูรณะวัดด้วยกำลังความสามารถของท่านเอง และเมื่อได้มาเห็นสภาพของวัด ถือว่ายังขัดสนอยู่มาก จึงรับปากและได้มาพัฒนาวัด พระบาทปางแฟน ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2546 จนถึงปัจจุบัน

    วัดพระบาทปางแฟน เจริญรุ่งเรืองขึ้ามาอย่างรวดเร็ว ใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้างหลายสิบล้านบาท ปัจจุบันวัดพระบาทปางแฟน ตั้งอยู่เลขที่ 50 บ้านปางแฟน หมู่ 5 ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย บนเนื้อที่ 15 ไร่ ทิศเหนือจรดภูเขา ทิศใต้จรดลำห้วยทรายคำ ทิศตะวันออกจรดถนนเชียงใหม่-เชียงราย ทิศตะวันตกจรดภูเขา สิ่งศักดิ์สิทธิประจำจังหวัดประกอบด้วยรอยพระบาท หลวงพ่อทันใจ หลวงพ่อเศียร ซึ่งขุดเจอเฉพาะเศียรฝังอยู่ในดิน ต่อมาท่านได้เข้านิมิตพระอาจารย์โต ให้ช่วยขุดตัวองค์พระ เพื่อมาต่อกับเศียร แรกๆท่านก็ไม่เชื่อ แต่อยากจะพิสูจน์ความจริง จึงได้เกณฑ์ชาวบ้าน ให้ช่วยกันขุดตามที่นิมิต ก็พบความจริงจึงได้ทำการต่อองค์พระกับเศียร จนสมบูรณ์ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่เคราพสักการะของชาวบ้านมาจนถึงทุกวันนี้
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระพุทธรูปที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก

    [​IMG]


    พระพุทธรูปที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก

    หากถามว่า... พระพุทธรูปของไทยองค์ใดที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก ท่านผู้อ่านจะนึกถึงหลวงพ่อองค์ไหน

    นั่นซิ..องค์ไหนล่ะที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก ถ้าพูดถึงมากที่สุดในโลกนี่คงไม่ใช่เพียงเฉพาะแค่คนไทยรู้จัก คงจะต้องรวมไปถึงฝรั่งมังค่าด้วย เดี๋ยวผมจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับพระพุทธรูปองค์นี้กัน แต่ตอนนี้เหลือเพียงแต่เศียรเพราะโดนโจรแอบตัด พูดได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลกหรือเคยเห็นผ่านตามากที่สุดในโลก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อยากรู้แล้วล่ะซิ คืออย่างนี้ครับ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งซึ่งเป็นที่นับถือและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านหมู่บ้านหนึ่ง ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักนอกชาวบ้านย่านนั้น ต่อมามีโจรใจบาปที่ทำมาหากินกับการขายวัตถุโบราณได้ลักลอบขโมยไปและตัดเศียรจนขาดเพื่อที่จะส่งออกเศียรพระและวัตถุโบราณไปยังต่างประเทศ ดีซะบุญที่ไอ้ทึ้ง เด็กหนุ่มลูกกำพร้าแห่งบ้านหนองประดู่ไปขัดขวางไว้ทัน แล้วเวรกรรมก็ตามทัน ระหว่างที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดอยู่นั้นเศียรพระองค์ใหญ่ได้หล่นลงมาทับโจรใจบาปแบนแต๊ดแต๋ ตายคาที่ หลวงพ่อองค์นี้มีชื่อว่า"องค์มาตุลี"ชาวบ้านย่านนั้นมักจะเรียกกันติดปากว่า"องค์บาก"พอถึงตอนนี้ผมคงต้องหลบไปห่างๆ สักพักก่อน ก่อนที่อะไรๆ มันจะลอยมา

    ใจเย็นๆ ครับ ผมไม่ได้ไร้สาระ ผมกำลังพูดถึง"หลวงพ่อองค์บาก"ในหนังเรื่อง"องค์บาก"จริงๆ หลวงพ่อองค์ดำองค์ใหญ่ๆ ในหนังเรื่ององค์บากที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมภาพยนต์ทั้งไทยและต่างชาติ ไปฉายยังต่างประเทศติดอันดับหนังทำรายได้ในต่างประเทศ นั่นย่อมแปลว่า ภาพของหลวงพ่อองค์บาก ได้ผ่านตาผู้ชมมากมายเพราะเป็นองค์หลักของเรื่องที่ทำให้จาพนมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไปตามทวงคืนมา ทำให้จาพนมได้มีโอกาสแสดงฝีมือการต่อสู้จนโด่งดังไปทั่วโลก คนทั่วโลกรู้จักจาพนมมากเท่าไรก็คงจะรู้จักหลวงพ่อองค์บากมากพอๆ กัน ตอนนี้จาพนมยังอยู่และกลายเป็น ฮีโร่โทนี่จา ไปแล้ว แล้ววันนี้หลวงพ่อองค์บาก ไปไหน ... นี่แหล่ะ ผมกำลังจะพาท่านผู้อ่านไปชมกัน

    จากบทภาพยนต์จะเห็นว่ามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่พวกโจรได้นำมาซ่อนไว้ในโกดังและกำลังใช้เลื่อยตัดเศียรจวนเจียนจะขาด ระหว่างนั้นจาพนมมาทันพอดีจึงเกิดการต่อสู้กัน ขณะต่อสู้กันอยู่นั้นไอ้ทึ้ง ( จาพนม ) กำลังจะพลาดท่าเสียทีแก่สมุนมือหนึ่งของพวกโจร จู่ๆ เศียรพระก็ได้หล่นลงมาทับโจรตาย นั่นเป็นเพียงบทภาพยนต์ แต่เศียรพระที่ถูกตัดน่ะตัดจริงๆ มีลักษณะเหมือนเศียรพระจริงๆ เป็นเศียรพระขนาดใหญ่ที่บริษัทผู้สร้างภาพยนต์ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนต์เรื่ององค์บาก มีชื่อว่าองค์มาตุลี ในเมื่อสร้างมาให้เหมือนเศียรพระ มองยังไงก็เป็นเศียรพระ เมื่อถ่ายทำเสร็จทางบริษัทผู้สร้างจึงได้นำไปถวายไว้ที่ วัดใหม่แม่เรวา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2546 เนื่องจากเศียรพระมีขนาดใหญ่มากไม่สามารถเก็บไว้ในศาลาได้ ดังนั้นจึงต้องตั้งไว้นอกศาลาแล้วทำหลังคาไว้เพื่อกันฝนกันแดด ตั้งอยู่ที่นี่เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ไปเที่ยวชม
    "วัดใหม่แม่เรวา"ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแม่เรวา อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ปากทางเข้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว. 4 ห่างจากทางเข้าอุทยานฯ ประมาณ 300 เมตร ผมบังเอิญได้ไปร่วมในงานเปิดงาน เปิดโลก Adventure จังหวัดนครสวรรค์ ท่องเที่ยวผจญภัยนครสวรรค์ล่องแก่งแม่เรวา ขี่เสือภูเขาซึ่งจัดขึ้นที่หน่วย มว.4 จึงได้ไปพบเข้าโดยที่ไม่เคยทราบมาก่อน เห็นว่าน่าจะนำมาบอกกันให้ทราบกันเผื่อว่าได้ผ่านไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์จะได้แวะไปชมกัน ถือได้ว่าเป็น Unseen ของชุมชนบ้านแม่เรวาก็ว่าได้ เอ้า.. ใครมีแผนจะไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อย่าลืมแวะชม

    วัดแม่เรวาตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์คือ แก่งลานนกยูง เกาะแก่งใหญ่ ที่เป็นลำห้วยที่เหมาะสำหรับ กิจกรรมล่องแก่ง และการลงเล่นน้ำ และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ จุดชมวิวมออีหืด หรือจะเที่ยวดูวิถีชีวิตนอน โฮมสเตย์ ก็ได้ ที่บ้านแม่เรวามีโฮมสเตย์บรรยากาศดีน่าพักอยู่หลายราย เป็นโฮมเสตย์แบบชาวบ้านๆ ที่สร้างแยกจากบ้านเจ้าของบ้าน บริการที่พักพร้อมอาหารเช้าราคาไม่แพง เริ่มต้นเพียงท่านละ 150 บาท

    การเดินทาง
    จากกรุงเทพฯ มีถนนลาดยางไปจนถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หน่วย มว.4 รวมระยะทางประมาณ 310 กิโลเมตร ถนนผ่านหน้าวัดพอดี อยู่ก่อนถึงซุ้มหน่วย มว.4 ประมาณ 300 เมตร

    การเดินทางโดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเอเซีย ( ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ) มุ่งสู่นครสวรรค์ ถึงนครสวรรค์ยังคงใช้เส้นทางสายเอเซียหมายเลข 1 เหมือนเดิม ขับขึ้นไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตรเศษ ถึงแยกหนองเบนแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสาย 1072 ผ่านอำเภอลาดยาว ถึงสี่แยกเขาชนกันให้ตรงไปจนสุดเส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 310 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง

    สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก
    ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หน่วย มว. 4 มีลานกางเต็นท์กว้างขาง จะนำเต็นท์ไปเอง หรือจะเช่าเต็นท์และเครื่องนอนจากอุทยานฯ ก็ได้ ห้องน้ำบริเวณลานกางเต็นท์มีไว้บริการหรือจะนอนบ้านพักก็ได้ ทางหน่วยมีบ้านพักไว้บริการ 2 หลัง นอนได้หลังละ 10 คน หรือจะนอนบ้านชาวบ้านแบบโฮมสเตย์ก็ได้ จักรยานเสือภูเขาก็มีให้เช่าขี่ คันละ 100 บาท / คัน / เที่ยว เรือแคนนูก็มีให้พายเล่น

    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หน่วย มว. 4 โทร 089-2687724 ศูนย์ประสานงานโฮมสเตย์บ้านแม่เรวา โทร 086-0130148 หรือ สายด่วนท่องเที่ยว 1672
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัดจุฬามณีกับ...อมตะสังขาร "หลวงพ่อเนื่อง"

    [​IMG]



    วัดจุฬามณีกับ...อมตะสังขาร "หลวงพ่อเนื่อง"

    จ.สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดเล็กๆ ในภาคกลาง ที่มีประชากรหนาแน่นถึง ๔๑๖ คน/ตร.กม แต่เนื่องเพราะชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีมีความสุข และเศรษฐกิจเฟื่องฟู จึงสร้างวัดไว้มากถึง ๑๑๐ วัด เหมือนว่าจะมีวัดแทบทุกคุ้งน้ำเลยก็ว่าได้

    วันนี้จึงอยากจะชวนไปท่องเที่ยววัดที่มีดีและมีผู้เลื่อมใสมาก พระเกจิอาจารย์ดังสะท้านฟ้าสะท้านดิน เป็นความภูมิใจของคนสมุทรสงครามมาก
    เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวว่าที่ร.ต.โอภาส เศวตมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามร่วมกับ วิริยารัชเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฉัตรวัฎฎ์ จำกัด เปิดโครงการ บิ๊กคลีนนิ่ง เดย์ ตลาดน้ำอัมพวาด้วยเม็ดฟู่บำบัดน้ำเสียริยาน่า อันเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัดวาอาราม ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง ถ้าล้างตลาดด้วยสารเคมีก็เกิดมลภาวะเป็นพิษ ทุกวันนี้วิถีชีวิตทุกแง่มุมต้องคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาเสมอ
    ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดส่งรถตู้มารับคณะสื่อมวลชนไปทัวร์วัดจึงได้ความรู้ว่า มีวัดโด่งดังและได้รับความเลื่อมใสจากพุทธศาสนิกชนอย่างมากมาย ไล่ตั้งแต่ อ.เมือง มีวัดที่เป็นตำนานของคนสมุทรสงคราม


    [​IMG]


    วัดที่ว่านี้คือ วัดเพชรสมุทรแต่สาธุชนทั่วไปรู้จักกันในชื่อวัดหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเองถัดไปเป็นวัดที่มีอุโบสถเป็นไม้สักทั้งหลังฝังมุก สวยวิจิตรตระการตา หาดูที่ไหนได้ยาก นั่นคือ วัดศรัทธาธรรม

    พอเข้าเขตอ.อัมพวา จะพบว่ามีวัดที่มีความสำคัญทั้งทางพุทธศาสนา และประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรี ด้วยว่าวัดนี้เป็นวัดที่ สมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ (คุณนาก) พระบรมราชินีของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่๑ สร้างถวายแด่พระศิริภาคมหานารี พระราชมารดาของพระองค์ อันเป็นการทดแทนพระคุณบุพการีที่สูงส่งยิ่ง นั่นคือ วัดอัมพวันเจติยาราม

    ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์สถาน รัชกาลที่ ๒ และติดกับตลาดน้ำยามเย็น ทุกวันศุกร์-อาทิตย์มีประชาชนมาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกันมาก

    ไม่ไกลกันเป้าหมาย คือ วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา วัดนี้ตั้งอยู่ริมคลองอัมพวา ห่างจากที่ทำการอำเภออัมพวา ประมาณ ๒ กม. เดิมชื่อวัดแม่ย่าทิพย์สร้างมานานตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี



    [​IMG]


    ตามประวัติเล่าสืบต่อกันมาว่าท้าวแก้วผลึก(น้อย) นายตลาดบางช้างสร้างวัดขึ้น โดยมีอุโบสถเป็นไม้สัก และไม้เนื้อแข็ง แต่เกิดไฟไหม้ วัดจุฬามณีมีชื่อเสียงโด่งดังมากเนื่องจาก หลวงพ่อเนื่อง พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงขจรไปไกล

    ชาติภูมิของท่านโดยสังเขปเดิมท่านชื่อ เนื่องเถาสุวรรณ เกิดวันที่๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒ บิดามารดาชื่อนายถมยา นางตาบ อยู่ที่หมู่บ้านคลองใหญ่ อ.อัมพวา พออายุได้ ๒๒ ปี บรรพชาที่วัดบางกะพ้อม โดยมี หลวงพ่อคงธัมมฺโชโต เจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อมเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแช่มวัดจุฬามณีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้สมญานามว่า พระโกวิโก

    หลวงพ่อเนื่องเคร่งศึกษาทั้งวิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคม โดยได้เรียนจากพระอาจารย์ทั้งสอง จนแตกฉาน และได้จำพรรษาที่วัดจุฬามณีต่อมา จนได้เป็นเจ้าอาวาส ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูโกวิทสมุทรคุณ

    มีเรื่องน่าอัศจรรย์ว่าทั้งปีท่านสรงน้ำเพียง ๑ วันเท่านั้น ดังนั้น ศิษยานุศิษย์ที่เคารพนับถือจึงแห่แหนกันมาในวันสงกรานต์อย่างเนืองแน่น น่าประหลาดที่ร่างกายของท่านกลับไม่มีกลิ่น และเหงื่อไคลแต่อย่างใด

    ดังที่ทราบกันว่าอุโบสถไม้หลังเก่าได้ถูกไฟไหม้ไปแล้ว แต่จนลุล่วงมาถึง พ.ศ.๒๕๑๑ พระครูโกวิทสมุทรคุณ (หลวงพ่อเนื่อง) เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี ในขณะนั้น ริเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถใหม่อีกครั้งโดยวางรากฐานตามแบบสถาปัตยกรรมสวยงาม เป็นจตุรมุขหินอ่อน กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร พื้นปูด้วยหินหยกสีเขียวจากเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน ภายในประดิษฐานพระประธานบนฐานชุกชี ประดับด้วยโคมไฟ บานหน้าต่างด้านนอกลงรักฝังมุก เป็นภาพตราพระราชลัญจกร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาล ปัจจุบันนี้

    นอกจากนี้ยังมีพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่างๆ บนหน้าต่างด้านในแกะสลักภาพชาดก ภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงาม และรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง หลวงพ่อเนื่องให้ผู้ที่เคารพได้กราบไหว้ด้วย แต่จนถึงวันนี้วัดนี้ยังมิได้ฝังลูกนิมิตและยกช่อฟ้าแต่อย่างใด ท่านผู้ใจบุญเข้าไปแล้วก็ร่วมปิดทองลูกนิมิตได้ทุกวัน

    มีเรื่องอัศจรรย์หลายเรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อเนื่องเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ใบมะนาวเสกเป็นของขลังที่หลวงพ่อมักจะหยิบยื่นให้ผู้ที่ไปกราบไหว้อธิษฐานจิตขอในสิ่งที่ปรารถนา เช่น บางคนอยู่เป็นคู่สามีภรรยากันมานานนับสิบๆ ปี ก็ไม่มีลูกสักที แต่เมื่อไปอธิษฐานขอกับหลวงพ่อเนื่องแล้ว ท่านให้ใบมะนาวเสกติดกลับบ้าน ชั่วเวลาไม่นานก็ท้องสมใจ หรือบางกรณีมีผู้ไปขอโชคลาภ ก็ได้ไปด้วยความสุขใจ และมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยบารมีแห่งความเป็นผู้หยั่งรู้ ทำให้ครั้งหนึ่งหลวงพ่อถูกตั้งกรรมการสอบอธิกรณ์ เพื่อถอดถอนสมณศักดิ์ กรรมการผู้สอบอธิกรณ์ถามหลวงพ่อเนื่องว่า

    "คุณเนื่องถ้าท่านหยั่งรู้และเห็นเลขจริง ลองให้มาสัก ๒-๓ ตัวสิ"

    หลวงพ่อเนื่องตอบว่า"พระเดชพระคุณจะให้สัจจะกับเกล้าได้ไหมว่าจะไม่เอาเลขดังกล่าวไปแทงหวย"

    ท่านเจ้าคุณรูปนั้นให้สัจจะวาจาหลวงพ่อเนื่องจึงเขียนเลขลงในกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วยื่นให้ท่านเจ้าคุณนำไปเก็บไว้ในตู้เซฟ พอวันที่หวยออกจึงได้พิสูจน์ความจริง ปรากฏว่าตัวเลขที่หลวงพ่อเนื่องให้ไว้นั้น ถูกรางวัลที่หนึ่งงวดนั้นจริงๆ

    กุฏิที่ตั้งศพหลวงพ่อเนื่องเป็นอาคารทรงไทยแฝดสามหลังภายในเขียนลายทองสวยงามมาก ศพหลวงพ่อเนื่องไม่เน่าเปื่อย อยู่ในโลงแก้ว ทุกวันยังมีผู้ที่เคารพนับถือเดินทางไปกราบไหว้ไม่ขาดสาย แม้ว่าหลวงพ่อเนื่องมรณภาพตั้งแต่วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ เวลา ๐๖.๐๐ น. ด้วยอาการอันสงบ รวมอายุ ๗๘ ปี รวม ๕๖ พรรษา

    นอกจากนี้จ.สมุทรสงคราม ยังมีอีกหลายวัดที่ได้รับความศรัทธาเลื่อมใส จากชาวบ้าน เช่น วัดบางกุ้ง อันเป็นค่ายมวยจีนในช่วงรัชสมัย พระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีชื่อเสียงในการได้ฝึกหัดมวยและได้เป็นป้อมค่ายในยามสงครามกู้แผ่นดิน หรือในเขตอ.อัมพวายังมีวัดภุมรินทร์กุฎีทอง(วัดบางแคน้อย) ที่มีภาพแกะสลักไม้สักทองบุผนังอุโบสถอย่างวิจิตรตระการตา
     

แชร์หน้านี้

Loading...