เมื่อแม่แก่เฒ่า...

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิญญาณนิพพาน, 29 มีนาคม 2020.

  1. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,310
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,002
    “เวลาที่พ่อแม่แก่ตัวลง จริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลว่าจะมีวิธีปฏิบัติและปรนนิบัติดูแลท่านอย่างไร เพราะพ่อแม่ของแต่ละคนก็มีนิสัยที่ต่างกันออกไป แต่ไม่ว่ายังไง ในฐานะที่เราเป็น “ลูก” เราก็ต้องทำหน้าที่ในแต่ละวันให้ดีที่สุด อย่าให้เป็นเหมือนคำโบราณที่มักกล่าวว่า แม่หนึ่งคนเลี้ยงลูกสิบคนได้ แต่ลูกทั้งสิบคนไม่สามารถเลี้ยงแม่เพียงคนเดียวได้” คำบอกเล่าของครูอัญชลี อมรสิน อดีตครูโรงเรียนสตรีบำรุงวิทยา โรงเรียนการบินกำแพงแสน จ.นครปฐม และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ผู้เป็นครูต้นแบบในเรื่องของ “ความกตัญญู” ในฐานะลูกผู้คอยดูแลแม่อย่างไม่ขาดตกบกพร่องมาตลอดทั้งชีวิต

    เมื่อพ่อแม่แก่ตัวลง ความชราอาจทำให้ร่างกายที่ถดถอยไม่สามารถทำอะไรได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวเหมือนเมื่อก่อน แม่ที่เคยดูแลลูก อาจต้องให้ลูกคอยดูแลไม่ว่าจะเป็นป้อนข้าว ค่อย ๆ พยุงเมื่อท่านก้าวเดิน รวมไปถึงอาบน้ำ (ในบางกรณี)

    ครูอัญชลี-คุณยายแฉล้ม อมรสิน

    “ตามวัฏจักรของชีวิตที่เด็กก็จะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น วัยกลางคน ผู้ใหญ่ วัยชรา และจะกลับมามีพฤติกรรมคล้ายเด็กอีกครั้งในบั้นปลายชีวิต ซึ่งคุณยายก็เป็นเช่นนั้น เพราะตอนนี้คุณยายอายุ 92 ปีแล้ว เหมือนเด็กแทบทุกอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเด็กคือ “อาการหลงลืม” เพราะฉะนั้นเราต้องคอยดูแล ใส่ใจรายละเอียดและเอาใจใส่ท่านเสมอ และเชื่อว่าคนแก่ทุกคนก็จะมีลักษณะที่คล้ายๆกันในเรื่องของความต้องการความรัก คนที่คอยดูแล แต่สิ่งที่ต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาคือแม่สามารถดุลูกได้ แต่ลูกไม่สามารถดุแม่ได้” ครูอัญชลีกล่าว

    ถ้ารักแม่ควรให้แม่ทำงาน

    หากพูดถึง “แม่” แน่นอนว่าบุคคลท่านนี้ย่อมเป็นบุคคลที่มาก่อนเป็นอันดับแรกของลูก ซึ่งโดยธรรมชาติของลูกทุกคนแล้ว เมื่อแม่แก่ตัวลงในขณะที่ลูกสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพและมีความพร้อมที่จะเลี้ยงแม่ได้แล้ว หลายคนมักอยากให้แม่อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำงานอะไร อาจเป็นความคิดที่คนเป็นลูกต้องกลับมาพิจารณากันใหม่ว่า ความรักที่มีให้แม่ การปรนนิบัติแม่ในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

    ในเรื่องนี้ครูอัญชลีเล่าว่า “เมื่อก่อนแม่เป็นแม่ค้าขายของ เลี้ยงลูก และทำงานเยอะมาก แต่พอเริ่มแก่ตัวลง เราก็ไม่อยากให้ทำ อยากให้อยู่เฉยๆ เขาเลยไม่ได้ทำงานตั้งแต่นั้นมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ แม่เป็นอัลไซเมอร์ เราก็มานั่งนึกว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งตรงนี้ยอมรับว่า พลาดจริง ๆ ดังนั้นใครที่มีพ่อแม่อยู่ควรให้ท่านทำงานน้อยลง ไม่ใช่ให้หยุดทำงานเพื่อการมีส่วนร่วมและสุขภาพที่แข็งแรง และที่สำคัญท่านจะรู้สึกภูมิใจและรู้สึกว่าท่านไม่เป็นภาระของลูกหลาน”

    สิ่งที่ลูกควรทำ

    ด้วยความที่ครูอัญชลีเป็นครูที่ต้องสอนนักเรียนทั้งด้านวิชาการและจิตวิญญาณ ดังนั้นความกตัญญูก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ครูให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งที่ครูเชื่อมาตลอดในวิชาชีพครูคือ คนเป็นครูนั้น หากต้องการสอนเด็กให้เป็นคนดี สอนให้เป็นอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แต่หากครูไม่ทำเอง แล้วจะสอนเด็กได้อย่างไร

    “หากถามเรื่องหลักการในการดูแลแม่ที่ชราแล้ว คงต้องบอกว่าไม่มีหลักการอะไรที่ตายตัวเลย เพราะเชื่อว่า คนเราทุกคน ไม่ว่าวัยไหน ชาติไหน หรือศาสนาอะไร ไม่มีใครไม่ต้องการ “ความรัก” แต่ก่อนที่เราทุกคนจะได้ความรักมานั้น เราก็ต้องรู้จักเป็นผู้ให้เสียก่อน ซึ่งสำหรับพ่อแม่ของเราเองนั้น ท่านเป็นผู้ให้เรามาตลอดทั้งชีวิตอยู่แล้ว และสิ่งที่ท่านให้เรานั้น ลูกย่อมรู้ดีว่า พ่อแม่ให้ลูกได้เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ลูกเองอาจให้ท่านได้ไม่เหมือนที่ท่านให้เรา แต่เราต้องดูแลท่านให้ดีที่สุดเท่าที่ลูกคนหนึ่งจะทำได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องสอน แต่ลูกต้องมี “จิตสำนึกที่ดี” หากท่านหงุดหงิดบ้าง ไม่ว่าจะสาเหตุอะไร ลูกต้องมี “ความเข้าใจ” และสิ่งที่ลูกควรทำที่สุดคือเข้าไปกอด หอม หรือแสดงความรักในรูปแบบของตัวเอง เชื่อเถอะว่าเสียงหัวเราะของท่านจะทำให้ความสุขของเราเพิ่มขึ้นทวีคูณ และตัวของท่านเองก็มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย” ครูอัญชลีเล่า

    มงคลชีวิต

    การที่ลูกคนหนึ่งได้ดูแลพ่อแม่ในบั้นปลายชีวิตนั้น หลายคนอาจมองว่าเป็นภาระ แต่หากคิดดีๆแล้วสิ่งเหล่านี้กลับเป็นโอกาสที่ดีที่ลูกจะได้ตอบแทนคุณบุพการีต่างหาก

    “เราไม่ต้องไปทำบุญที่วัดหรอก เพราะพ่อแม่คือพระในบ้าน การที่เราได้ดูแลท่านนั้นเป็นสิ่งที่ควรค่าที่สุดแล้ว ซึ่งลูกทุกคนต้องเข้าใจ ใส่ใจและรู้จักสังเกตแม่ว่ามีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ สำหรับครูเอง ครูได้รับพรจากแม่ทุกวัน เวลาเราปรนนิบัติ แม่ก็มักอวยพรเสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ขอให้เจริญๆ ขอให้ร่ำให้รวย ฯลฯ” เท่านี้เราก็ได้พรที่ประเสริฐที่สุดแล้ว” ครูอัญชลีกล่าวทิ้งท้าย

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 มกราคม 2552

    http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=20174&sid=01df0d90cc66610e4fb2768c35e9e86f
     

แชร์หน้านี้

Loading...