หลวงพ่อสำเร็จศักดิสิทธิ์ /รวมเรื่องหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ในห้อง 'ประวัติและนิทานธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 12 สิงหาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (cont.)
    ท่านเจ้าประคุณสมเด็จเจ้าอาวาสวัดระฆัง ฝั่งธนบุรี พระเทพกวี พอเห็นลักษณะรูปร่างของเด็กชายลี ที่พระอาจารย์อินทร์ สู้อุตส่าห์เดินทางไกลมาจากจังหวัดสุรินทร์ นำมาฝากไว้ให้เป็นศิษย์ของท่าน ก็ยินดีด้วยบุคลิกลักษณะของเด็กชายลี ถูกชะตาท่านนัก จึงได้รับเด็กชายลีไว้เป็นศิษย์ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๐๓ เป็นต้นมา

    เด็กชายลี ลูกชายพรานใหญ่ของพ่อเชียงผา ชาวรัตนะ จังหวัดสุรินทร์ จึงอยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านเจ้าพระคุณพระเทพกวี เจ้าอาวาสวัดระฆัง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระเทพกวีได้ให้ความเมตตาต่อเด็กชายลี ด้วยเป็นผู้ที่มีความอดทน ขยัน สนใจในข้อธรรม จึงได้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาอักขระขอมไทย จนแตกฉาน กอร์ปด้วยเด็กชายลี มีพื้นฐานทางด้านปฏิบัติธรรมมาดี จากพระอาจารย์อินทร์ ที่ท่านได้ถ่ายทอดความรู้ในด้านการปฏิบัติธรรมให้เป็นพื้นฐาน ตั้งแต่ที่เด็กชายลีติดตามท่านเดินทางมาจากจังหวัดสุรินทร์ มานานนับปี

    เด็กชายลีจึงเข้าใจในข้อธรรม มีจริตนิสัยในการปฏิบัติธรรมสมาธิ เมื่อได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันไป ก็เป็นดังสายน้ำไหล อารมณ์แนบเนื่องอยู่กับเอกัคตา จิตใจมั่นคงไม่คลอนแคลน เด็กชายลีจึงได้เข้าใจรู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมชาติ อันเป็นสัจธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในดวงจิตดวงใจและความสำนึกของเด็กชายลีว่าจะต้องมีความเพียร และเพียรกระทำทุกอย่างต่อเนื่องกันไป จึงจะเกิดธาตุรู้ได้ในที่สุด

    ด้วยความอดทนขยัน หมั่นเพียรอย่างไม่ย่อท้อต่อการเรียนรู้ จึงทำให้พระเทพกวีท่านโปรดนัก อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ ให้เด็กชายลี ได้ล่วงรู้ นอกจากการสอนให้รู้หนังสือ อักขระขอมไทย และการชี้แนะอุบายธรรมให้เจริญสมถภาวนา คืออุบายฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ การที่สอนให้ภาวนา ก็คือการพัฒนาทางจิต ยกระดับจิตให้สูงขึ้น จากปุถุชนสู่อริยบุคคล

    เด็กชายลี หมั่นฝึกฝนตามที่พระอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนทุกขั้นตอนด้วยความมุมานะ ขยันหมั่นเพียร

    ต่อมาพระเทพกวี เจ้าอาวาสวัดระฆัง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในครั้งนั้น ลูกศิษย์ลูกหาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ต่างร่วมใจกันจัดงานฉลองขึ้นที่วัดระฆังฯ ในงานนี้นั้นมีการบวชพระ บวชเณร ๑๐๘ รูป พร้อมด้วยบวชชีพราหมณ์อีกมากมาย

    ในงานครั้งนี้ เด็กชายลี ไปปลงผมบวชเป็นเณรด้วยเช่นกันโดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ซึ่งเป็นพระอาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ให้ จึงนับได้ว่า เด็กชายลี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดระฆังฯ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๗ เมื่อมีอายุได้ ๑๕ ปี

    เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ก็ยังคงรับใช้ใกล้ชิดท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี และได้รับการถ่ายทอดวิชาอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดเวลาที่อยู่รับใช้สนองงานท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นอกจากจะเรียนรู้ในอักขระขอมไทย ยังร่ำเรียนในการเสกและการทำผงปถมัง อันเป็นตำราโบราณที่สืบทอดกันมา ซึ่งสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้ถ่ายทอดให้เณรลี จนเจนจบ

    นับว่าสามเณรลี เป็นผู้ที่มีความสามารถวิเศษจึงเรียนรู้ได้ และสมเด็จโต ท่านก็ถ่ายทอดให้กับบางคนเท่านั้น เพราะคัมภีร์พระปถมังนี้ เป็นที่รับรองซึ่งสรรพการทั้งปวงในอิธะโลก และปรโลก สามารถบันดาลช่วยให้สัตว์พ้นจากกองทุกข์ คือราชภัย อัคคีภัย และอุปัทวันตรายทั้งปวง และใช้ป้องกันสรรพอาวุธ คือ หอก ดาบ มีด ไม้ หลาว แหลน โตมร กริช ทวน ง้าว ธนู หน้าไม้ ตลอดจนปืนไฟทั้งปวง.

    นับว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่สามเณรลี (หลวงปู่สี) ท่านได้พบครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐเป็นยอดนักปราชญ์ราชบัณฑิต มีความรอบรู้ศาสตร์ต่างๆ มากมาย และเป็นผู้สร้างผู้เนรมิตพระสมเด็จที่มีชื่อเสียงที่โด่งตังขจรขจายไปทั่ว จนได้รับสมญานามว่าเป็นราชาแห่งพระเครื่อง สูงด้วยคุณค่านานัปการ เป็นที่เล่าขานสืบทอดต่อกันมาเป็นร้อยๆ ปี ตราบจนปัจจุบันก็มีการกล่าวขานกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้คนใฝ่หากันอย่างคลั่งไคล้ต่างก็อยากที่จะได้ไว้เป็นเจ้าของ

    หลวงปู่สี หรือ สามเณรลี ในสมัยเป็นศิษย์ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้หนึ่งที่สามารถเรียนพระสูตรอันวิเศษต่างๆ จากพระอาจารย์จนจบทุกสูตร

    จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๑๑ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ “หว้ากอ” แล้วก็ทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคต การสูญเสียพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในครั้งนั้นยังความเศร้าโศก ให้แก่พสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังฯ ธนบุรี ผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยและสนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก ท่านจะเก็บตัวเงียบไม่ค่อยจะออกมาพบปะญาติโยมเท่าใดนัก

    ในช่วงนี้เณรลี (หลวงปู่สี) จึงไม่ค่อยได้ติดตามรับใช้สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี เท่าใดนัก ประกอบกับ “ญาครูอินทร์” กลับจากธุดงค์มาแวะเยี่ยมสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ที่กรุงเทพ สามเณรลี จึงถือโอกาสขออนุญาตลาสมเด็จ (โต) กลับไปเยี่ยมโยมพ่อ โยมแม่ที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมกับ “ญาครูอินทร์” พระอาจารย์อินทร์พระธุดงค์จอมขมังเวทย์

    สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ท่านก็อนุญาตให้สามเณรลี กลับไปเยี่ยมบ้าน พร้อมพระสหธรรมมิกของท่าน “ญาครูอินทร์”

    ทางภาคอีสานเรียกพระผู้ใหญ่ว่า “ญาครู”

    ญาครูอินทร์ก็คือ พระอาจารย์อินทร์

    ในช่วงนั้นกำลังอยู่ในขณะผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ก็เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๑๑ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในขณะนั้นพระองค์ยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ

    หลังจากเสร็จงานพระราชพิธีเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ญาครูอินทร์พระอาจารย์ จึงได้พาสามเณรลี เดินธุดงค์บุกป่าฝ่าดง ข้ามขุนเขาน้อยใหญ่ มุ่งสู่จังหวัดสุรินทร์

    สามเณรลี เป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ สง่างาม ผิวพรรณดี ผิดกับเด็กหนุ่มชาวบ้านทั่วไปเมื่อกลับมาเห็นสภาพครอบครัว โยมพ่อโยมแม่ลำบาก ก็ขออนุญาต “ญาครูอินทร์” สึกออกมาเพื่อช่วยพ่อแม่ ทำงาน

    “ญาครูอินทร์” พระอาจารย์อินทร์ พระธุดงค์ผู้เคร่งครัดมีอาคมแก่กล้า ได้ตรวจดูชะตาของสามเณรลี ซึ่งขณะนั้นอายุได้ ๑๘ ปี ย่างขึ้น ๑๙ ปี ว่าชะตาจะต้องเกี่ยวพันทางโลก เมื่อพ้นภาวะกรรม ก็จะบวชไม่สึกและจะสำเร็จในบั้นปลายชีวิต จึงได้สึกให้ตามคำขอ

    หนุ่มลี เป็นชายหนุ่มวัยฉกรรจ์ รูปร่างสง่างามสูงใหญ่ สมลักษณะชายชาติทหาร หนุ่มลีช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำมาหากินด้วยความขยันขันแข็ง เป็นคนใจนักเลง มีลูกน้องมากมาย นอกจากทำไร่ทำนา ก็รับจ้างคุมฝูงวัวไปขายข้ามจังหวัด ซึ่งเป็นอาชีพของคนกล้าในยุคนั้น.

    หนุ่มลีใช้ชีวิตในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ท่องเที่ยวไปในดินแดนต่างๆ อย่างโชกโชน กับอาชีพค้าวัวในต่างแดน โดยเฉพาะในดินแดนทางภาคอีสาน

    ลุปี พ.ศ.๒๔๑๕ หนุ่มลีจึงขอลาพ่อเชียงผา และแม่ข้อล่อออกเดินทางไปเยี่ยมอาซึ่งเป็นน้องชายของพ่อที่หนองแค จังหวัดสระบุรี พ่อแม่ก็ไม่ขัดข้อง เพราะเห็นว่าโตเป็นหนุ่มใหญ่แล้ว หนุ่มสีจึงเดินทางจากบ้านหมกเต่า ตำบลเบิด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ไปอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ช่วยน้าทำไร่ ค้าของป่า

    อยู่ไม่นานประมาณสัก ๑ ปี ก็ทราบข่าวว่าทางกรุงเทพฯ เมืองหลวงจะมีงานสมโภชใหญ่ในจิตใจของความเป็นหนุ่ม อยากจะเข้าไปเที่ยว และก็จะแวะไปเยี่ยมอาจารย์ที่วัดระฆังฯ ด้วย ไม่ทราบว่าขณะนี้สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ท่านจะเป็นอย่างไรบ้าง ตั้งแต่จากท่านมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๑ ก็ไม่ได้ทราบข่าวอย่างไรเลย จึงขออนุญาตน้าชายไปงานฉลองเมืองที่กรุงเทพฯ

    พ.ศ. ๒๔๑๖ หลังปีใหม่แล้ว หนุ่มลีกับเพื่อนหนุ่มบ้านหนองแค สระบุรีก็เดินทางสู่กรุงเทพฯ พอถึงกรุงเทพฯ ก็รีบตรงไปวัดระฆังฯ ฝั่งธนบุรี เพื่อที่จะไปกราบสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พระอาจารย์ของท่านในสมัยที่ท่านบวชเณรอยู่ด้วยสมเด็จโตฯ

    เย็นวันนั้น หนุ่มลีไปถึงวัดระฆังฯ พอย่างเหยียบเข้าบริเวณวัด มันช่างเงียบสงบ จึงตรงไปกุฏิของพระพุทธบาทปิลันท์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ผู้ใหญ่องค์หนึ่งที่ในสมัยที่หนุ่มลีบวชเป็นสามเณร และเคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธบาทปิลันท์ ก็ทราบว่าสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้มรณภาพแล้วตั้งแต่ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๕ เวลา ๒๔.๐๐ น.อายุได้ ๘๕ ปี มีพรรษาได้ ๖๕ พรรษา หลังจากรัชกาลที่ ๕ ครองราชย์ได้ ๕ ปี

    หนุ่มลีอยู่ในอาการเศร้าโศกเพราะทราบข่าวว่า อาจารย์ของท่านได้มรณภาพแล้ว โดยท่านมิทราบเรื่องเลย เพราะช่วงเวลานั้น ท่านได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน ในบ้านป่าเมืองสุรินทร์ จึงไม่ทราบการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในเมืองหลวง

    ในช่วงนั้นท่านจึงพักอาศัยกับพระอยู่ที่วัดระฆังฯ

    จวบจนวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๖ หนุ่มลีได้มีโอกาสไปชมงานพระราชพิธีอุปสมบทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ เป็นงานหลวง งานใหญ่มากที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมา พระองค์ทรงลาลิกขา มาปกครองบ้านเมืองในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๑๖ พอถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๖ ได้ทำพิธีราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ ขึ้นครองราชย์อย่างสมบูรณ์ หนุ่มลีก็ได้มีโอกาสได้ชมงานสำคัญๆ ของบ้านเมืองในยุคนั้น
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (cont.)
    ศึกปราบฮ่อในรัชสมัย

    สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    พระพุทธเจ้าหลวง

    เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีคนจีนพวกหนึ่ง จำนวนประมาณสัก ๒,๐๐๐ คน เป็นกบฏต่อรัฐบาลจีน แต่พ่ายแพ้แก่กองทหารรัฐบาลจีน จึงพากันอพยพมาอยู่ในดินแดน “ญวน” เที่ยวได้ปล้นสะดมชาวบ้านชาวเมือง รัฐบาลญวนไม่สามารถปราบปรามได้ จึงยอมเป็นไมตรีกับโจรจีนก๊กนี้

    จากนั้น พวกฮ่อก็ได้รุกรานเข้ามาในเขตประเทศลาวเที่ยวปล้นสะดมเมืองต่างๆ จนในที่สุดก็มาตั้งทัพอยู่ในทุ่งเมืองเชียงคำ จะเข้าตีหลวงพระบางในปีพุทธศักราช ๒๔๑๘

    เมื่อมีคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานกำลังทหารไปสู้รบกับพวกธงดำ เข้ามาถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดกองทัพยกไปช่วยเมืองหลวงพระบาง โดยมี เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุญยรัตพันธ์) สมุหนายก คุมกำลังทหารหลวงจากกรุงเทพฯ ยกเข้าไปหลวงพระบาง

    อาสาปราบฮ่อ

    ปีพุทธศักราช ๒๔๑๘ ข่าวกองทัพไทยจะยกขึ้นไปปราบพวกฮ่อ ก็แพร่กระจายไปทั่วเมือง หนุ่มลีพอทราบข่าวศึก และทราบว่ามีการรับอาสาสมัครและเกณฑ์กำลังไปรบ หนุ่มลีจึงเข้าไปสมัครเป็นทหารไปรบกับฮ่อ โดยได้เข้าไปอยู่ในสังกัดของเจ้าพระยาภูธราภัย. ได้มีการสอบความรู้ความสามารถในวิชาการต่อสู้ ความรู้ทางเวทมนตร์ มีความคงทนต่ออาวุธ มีวิชาคงกระพันชาตรี ความรู้ทางอาชา ทางคชศาสตร์ เพื่อคัดเข้าอยู่กองหน้ากล้าตาย

    ปรากฏว่า หนุ่มลีได้รับคัดเลือกให้อยู่ในหน่วยอาสากล้าตายระดับแนวหน้า เพราะหนุ่มลีมีหน่วยก้านแข็งแรงใหญ่โต มีวิชาความรู้ในเรื่องป่าดงพงพี มีความรอบรู้วิชาคชศาสตร์ และมีวิชาอยู่ยงคงกะพัน เป็นที่โปรดปรานของเจ้าพระยาภูธราภัย การเดินทัพผ่านป่า จะต้องอาศัยกองทัพช้างเป็นกำลังสำคัญ หนุ่มลีเป็นชาวสุรินทร์ มีพ่อเป็นนายพรานใหญ่ จึงมีความรอบรู้ในวิชาคชศาสตร์ จะเห็นได้ว่า หนุ่มลีมีความผูกพันกับช้างมานานนับตั้งแต่บรรพบุรุษ

    ซึ่งในการรบครั้งนี้ ทั้งกองหน้าของเจ้าพระยาภูธราภัย ควบคุมทัพหน้าโดย พระยามหาอำมาตย์กับพระยานครราชสีมาช่วยกันตีทัพพวกฮ่อธงดำที่ยกกำลังมา จะตีเมืองหนองคาย พวกฮ่อถูกทัพไทยตีแตกย่อยยับถึงขั้นรบประจัญบานกัน พวกฮ่อเสียขวัญมากเพราะทหารไทยกองหน้าอยู่ยงคงกะพัน ยิงฟันแทงไม่เข้า ไม่ตาย อีกทั้งมีฝีมือ จิตใจห้าวหาญ มีขวัญกำลังใจดี ฝ่ายพวกฮ่อล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ต่างแตกพ่ายถอยร่นหนีไปอย่างยับเยิน

    ส่วนพระยาพิไชย กับพระสุริยภักดี ก็ช่วยกันตีทัพฮ่ออีกทัพหนึ่ง ที่ยกไปตีเมืองหลวงพระบางแตกพ่ายยับเยินเช่นกัน การรบปราบฮ่อครั้งนี้ ทหารลีได้แสดงฝีมือให้เพื่อนทหารไทยทั้งนายทหารและเพื่อนทหารที่ไปรบได้ประจักษ์ในฝีมือการรบ และความอยู่ยงคงกระพันยิงฟัน แทงไม่เข้า ไม่มีอาวุธใดระคายผิวได้

    ความห้าวหาญของพลทหารลีและทหารที่ไปรบชนะพวกฮ่อในครั้งนี้ ต่างได้รับความดีความชอบทั่วหน้ากันทุกคน โดยเฉพาะพลทหารลี ได้เลื่อนเป็นทหารคนสนิทติดตามรับใช้ใกล้ชิดท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ให้ความเมตตารักใคร่หัวหมู่ลี เพราะท่านเจ้าพระยาเห็นว่าหัวหมู่ลีเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ รูปร่างดี บวชเรียนมาแล้ว และทราบว่า เคยเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ท่านก็ยิ่งโปรดเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ

    หัวหมู่ลีเป็นทหารรับใช้ใกล้ชิดเจ้านาย ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ท่านเมตตาหัวหมู่ลีนัก เวลาท่านเรียกใช้ให้ติดตามไปราชการในต่างแดน ท่านก็ไว้ใจให้ติดตามไปด้วย เวลาท่านเรียกท่านก็จะเรียกหัวหมู่ลีว่า “ไอ้เสือหาญ” เพราะศึกปราบฮ่อครั้งแรก (พ.ศ. ๒๔๑๘) ท่านได้เห็นประจักษ์ตาว่า ทหารลี หนังดี ใจกล้า ฆ่าศัตรูดุจพยัคฆ์ร้าย ท่านจึงเรียกว่า “ไอ้เสือหาญ” ตลอดมา

    ในคำว่า “เสือหาญ” นี้มีลูกหลานบางท่านไม่ทราบว่าเป็นฉายานามของท่านหลวงปู่สี (ตอนเป็นทหารรับใช้ชาติ) คิดว่าท่านเป็นไอ้เสือฆ่าคนมามาก ความจริงแล้ว ท่านเป็นยอดนักรบผู้กล้า ท่านเจ้าพระยาเมตตารักใคร่ เวลาเรียกใช้ให้ติดตามก็จะเรียกว่า “ไอ้เสือหาญ”

    หัวหมู่ลีเป็นคนขยัน รับใช้เจ้านายด้วยความซื่อสัตย์มั่นคง ติดตามท่านเจ้าพระยาไปงานราชการในต่างเมืองหลายครั้ง และได้แสดงความสามารถในกิจการงานที่ท่านเจ้าพระยามอบให้ทำสำเร็จลุล่วงด้วยดีตลอดมา ต่อมาหัวหมู่ลีได้รับการคัดเลือดและการสนับสนุนของเจ้าพระยาภูธราภัยให้เป็นตำรวจหลวง คอยติดตามเสด็จและปราบปรามโจรผู้ร้าย

    “สู่ทางสงบ”

    หลวงปู่สีท่านรับใช้ราชการทั้งทหารและตำรวจ อยู่นานนับสิบปี ท่านได้พบเห็นอะไรมามากมาย ได้รับความดีความชอบทางราชการสูงขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุดท่านก็เกิดการเบื่อหน่ายต่อชีวิตการงานทางราชการ และสังคมความเป็นอยู่ทางฆราวาส และเริ่มมีจิตใจหันมามุ่งเข้าสู่ทางธรรมอันเป็นจิตสำนึกในส่วนลึกของท่าน

    ยามใดที่ท่านว่างงานจากราชการและการติดตามรับใช้เจ้านายผู้ใหญ่ ท่านก็จะเข้าวัดสลัก ข้างวังหลวง มาสนทนาธรรมกับพระทางภาคอีสาน ด้วยวัดสลัก.(วัดมหาธาตุ) มีพระทางภาคอีสานมาอยู่ปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ครั้งสมัยในรัชกาลที่ ๔ ที่ท่านส่งเสริมพระปฏิบัติธรรม ที่เคร่งครัดในพระวินัย

    ยามที่ท่านอยู่คนเดียว ท่านก็ระลึกถึงว่า ที่ผ่านมาท่านได้ใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชนในทางโลก เป็นทั้งพรานป่า เด็กวัด นักเลง พ่อค้า ทหาร ออกรบสู้ศึกฆ่าศัตรูของชาติล้มตายมามากมาย เป็นตำรวจ ปราบโจรผู้ร้าย ต่อสู้กับความดีความชั่วมาสารพัดมากมาย จนเกิดความเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย โดยท่านมองเห็นว่าชีวิตที่ผ่านมาไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร สมควรที่จะหันเหชีวิตเข้าพึ่งความสงบ ท่านจึงได้พยายามหาโอกาสไปตามวัดต่างๆ ที่มีพระอาจารย์ที่เคร่งครัดปฏิบัติธรรม มีปฏิปทา รอบรู้ในพระธรรมประกอบกับท่านมีนิสัยในทางปฏิบัติธรรมเป็นพื้นฐาน ท่านจึงศึกษา เข้าถึงพระธรรมอย่างถ่องแท้

    “สู่ร่มกาสาวพัสตร์”

    ปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ หลวงปู่สีท่านจึงลาออกจากราชการในตอนนั้น ท่านมีอายุได้ ๓๙ ปี เมื่อออกจาราชการ ท่านก็เดินทางไปเยี่ยมญาติของท่านที่สระบุรี ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางไปที่วัดบ้านเส้า (อยู่ในอำเภอบ้านหมี่ ในปัจจุบันนี้)

    ท่านได้ทำการอุปสมบทที่วัดบ้านเส้า อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ในปี พ.ศ.๒๓๑ อายุได้ ๓๙ ปี พระครูธรรมขันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระแล้ว ท่านก็ขอสมาทานธุดงควัตร จากพระอุปัชฌาย์ของท่าน พระอาจารย์ของท่านก็เห็นว่า ท่านเคยบวชเรียนเป็นสามเณรมาแล้วเป็นผู้ใหญ่มีความรู้ ความสามารถ จึงอนุญาตให้หลวงปู่สี ท่านออกธุดงค์ได้ตามความประสงค์ ท่านจึงตัดสินใจเข้าไปอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร

    พอถึงช่วงก่อนที่จะเข้าพรรษา ท่านจึงออกจากธุดงค์ไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเขาไม้เสียบ ตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเวลา ๑ พรรษา และเมื่อออกพรรษา ท่านจึงออกธุดงค์

    ในขณะที่จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเขาไม้เสียบนั้น มีพระภิกษุทางเหนือมาจำพรรษาอยู่ด้วย ได้เล่าเรื่อง “พระบาทสี่รอย” ให้ท่านฟัง ทำให้ท่านเกิดมีความคิดที่จะไปนมัสการ “พระบาทสี่รอย”

    มีพระบางรูปพูดให้ท่านฟังว่า การเดินทางไปนั้นมีอันตรายนานาประการ การเดินทางเป็นการเสี่ยงอันตรายต่อไข้ป่า และสัตว์ร้ายนานาชนิด พระภิกษุหนุ่มลีมิได้กลัว ด้วยดวงจิตที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม เป็นกุศลจิต.มุ่งอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา แผ่เมตตาธรรมแก่สรรพสัตว์อย่างไร้ขอบเขต มุ่งลดละกิเลสด้วยสมถะวิปัสสนากรรมฐาน

    “การปฏิบัติกรรมฐาน”

    พระภิกษุลี ท่านมีพื้นฐานดีมาแล้วตั้งแต่ในสมัยที่ท่านบวชเณรอยู่กับสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี พระอาจารย์ของท่าน ซึ่งได้ให้หลักเกณฑ์แนะนำไว้ว่า
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (cont)
    .ร่างกายคนเรานั้นเป็นสิ่งที่สมมุติที่เรียกว่าสังขาร สังขารอันเป็นแหล่งประชุมของดิน น้ำ ลม ไฟ สังขารร่างกายอันก่อรูปขึ้นเป็นตัวตน คนนั้น คนนี้ ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า ตนนั้นมีอะไร? หรือไม่มีอะไร? โดยท่านเน้นไว้ว่า ศีลปฏิบัติให้ดีนั้นต้องรู้เหตุ สำรวม ระวังเหตุ ตาเห็นเหตุ ตาเห็นรูป ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมัน ความยินดี ยินร้าย มันก็เกิดขึ้น ความโลภก็เกิดขึ้น

    เพราะเหตุนั้นเราต้องรู้เหตุ สำรวมระวังเหตุให้น้อมเข้ามาสู่กาย เอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล ค้นลงไปในอายุเรานี้ ค้นหาเอาความชั่ว ความผิดออกจากกายวาจาใจ..

    พระภิกษุลีท่านระลึกอยู่เสมอในการได้รับคำสั่งสอนจากสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ในสมัยที่ท่านเป็นสามเณร ท่านยังระลึกอยู่และนำมาใช้ ด้วยสมเด็จเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานคนแรกของท่าน

    นอกจากนี้พระภิกษุลียังยึดมั่นในแนวทางสมถะ ถือสันโดษเอาป่าเป็นสถานที่กำจัดกิเลส เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ในตัวตน ทุกอย่างคือ อนัตตา

    ด้วยปณิธานที่เด็ดเดี่ยว แข็งแกร่งประหนึ่งเหล็กกล้า พลังการควบคุมจิต ยากที่จะหาผู้ใดเทียบ ถึงมีก็น้อยมาก พระภิกษุลีท่านเป็นผู้สงบกาย วาจา ใจ ท่านจะไม่ค่อยพูดเรื่องราวในอดีตให้ใครฟังนัก นอกจากผู้ติดตามปรนนิบัติใกล้ชิดจริงๆ จึงจะได้ทราบถึงปฏิปทาและชีวิตจริงของท่าน ใครไปถามอะไรมาก ๆ ท่านก็จะพูดว่า

    “บ่มีอดีต มีแต่ปัจจุบัน ชีวิตมีแต่พุทธศาสนา ป่าและวัด...”

    และเมื่อท่านมุ่งมั่นจะทำอะไรท่านก็จะต้องทำให้สำเร็จ และเมื่อคิดจะไปไหน ให้หนทางยากลำบากอย่างไร ท่านก็ต้องไปให้ได้

    เมื่อท่านทราบเรื่องราวของ “พระบาทลี่รอย” ท่านจึงถามหนทางที่จะไปว่าอยู่ไหน? เมื่อท่านได้ข้อมูล ท่านจึงธุดงค์ขึ้นเมืองเหนือ มุ่งสู่ตำบลสะลอง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

    พ.ศ.๒๕๓๒ หลังออกพรรษาและรับกฐินเป็นที่เรียบร้อย พระภิกษุลี (หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ) ท่านได้ออกเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยที่เชียงใหม่ การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องเดินทางเข้าป่าดงลึก บางครั้งก็ต้องปีนบ่ายขึ้นๆ ลงๆ ตามขุมเขาต่างๆ บางแห่งในป่ารกลึกๆ ก็ยากที่จะพบผู้คน ถึงจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าสักปานใด ก็มิได้ย่อท้อ ท่านมุมานะอดทนเดินทางต่อเป็นภายในดวงจิตเข้มแข็งมั่นคง มุ่งมั่นที่จะไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย

    การเดินทางครั้งนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่ง ในป่าลึก ผู้คนไม่มีอาศัยอยู่ ท่านต้องอดอาหาร ไม่มีอะไรฉันถึง ๑๑ วัน นัยว่าเทพเทวาในป่าเขาได้ทดลองจิตของท่านว่าจะมีความเข็มแข็งสักปานใด จึงทำให้ท่านหลงป่า ไม่พบผู้คน อดอาหารอยู่ถึง ๑๑ วัน

    จนวันหนึ่งในขณะที่กำลังวังชาของท่านใกล้จะสิ้นลงนั้น ก็บังเอิญได้พบชายหญิงคู่หนึ่งกำลังนั่งกินยาลูกกลอนอยู่ ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ หญิงชายทั้งสอง พอเห็นพระธุดงค์เดินมาก็ออกปากนิมนต์ พร้อมทั้งนำยามาถวายให้ ๑ ช้อน พระภิกษุลี ก็รับยาที่โยมถวายมามาปั้นเป็นลูกกลอน (ลูกกลม) ได้ ๑ ลูก เท่าผลพุทรา มีกลิ่นหอมประหลาด ๆ

    ท่านจึงฉันพร้อมน้ำ ๑ กระบอก พอกลืนยาลงไปตกถึงท้อง ก็มีอาการประหลาดมหัศจรรย์เสมือนหนึ่งมีพลังความร้อนแผ่กระจายไปทั่วขุมขน ท่านจึงพริ้มตาหลับลงด้วยลักษณะทำสมาธิ สักอึดใจท่านก็ลืมตาขึ้น แต่เป็นที่น่าประหลาดนัก ปรากฏว่า ชายหญิงคู่นั้นที่นั่งอยู่ตรงหน้าได้หายไป

    ท่านก็มองหาโดยรอบ ๆ ที่นั่น ก็ไม่ปรากฏร่างของชายหญิงคู่นั้นที่นำน้ำและยาทิพย์มาถวายให้ท่านฉัน ท่านจึงได้ให้ศีลให้พรแก่เทพเทวดาที่ถวายยาให้ท่าน ต่อจากนั้นท่านก็ออกเดินทางไปพระพุทธบาทสี่รอย

    พบช้างป่า

    เมื่อหลวงปู่ไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยนั้น ในตอนเช้าท่านก็ได้ไปนมัสการพระบาทเป็นประจำทุกวัน และได้พบว่า บริเวณรอบรอยพระบาทสะอาดเรียบร้อยไม่เปรอะเปื้อนทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนอยู่ทำความสะอาด ต่อมาท่านจึงได้เห็นช้างป่าหลายเชือกมาทำความสะอาดในตอนเช้าเป็นประจำ โดยการใช้งวงปัดเป่าทำความสะอาดได้อย่างยอดเยี่ยม

    ท่านเล่าว่า ด้วยการที่อยู่ใกล้กันและเห็นกันอยู่ทุกวันเป็นประจำ ทำให้ช้างป่าเหล่านั้นเกิดความสนิทสนมกับท่านเป็นอย่างดี จนในเวลาต่อมาช้างเหล่านั้นได้นำหัวบัวบ้าง กระจับบ้าง และน้ำอ้อยมาถวายท่านได้ฉันอย่างไม่ขาด ช้างเหล่านั้นมันปฏิบัติได้เหมือนคนไม่มีผิด แม้พวกช้างเหล่านั้นจะเป็นช้างป่าก็ตาม แต่ก็เชื่องเหมือนช้างบ้าน

    เมื่อท่านได้นมัสการพระพุทธบาทสี่รอยและได้เพียรเจริญสมถวิปัสสนานานพอสมควร ท่านจึงได้เดินทางกลับเพื่อไปแสวงหาความวิเวกในที่อื่นต่อไป

    ในวันที่ท่านเดินทางกลับนั้น หลังจากฉันอาหารที่เหล่าฝูงช้างป่านำมาถวาย ท่านก็บอกช้างเหล่านั้นว่า วันนี้ท่านจะเดินทางกลับแล้ว ช้างป่าเหล่านั้นก็พร้อมใจกันเดินทางมาส่งท่านที่เชิงเขาด้วยความอาลัย

    อีกครั้งหนึ่งที่หลวงปู่เดินธุดงค์อยู่ในป่าลึก ขณะที่หลวงปู่ท่านเดินอยู่ในป่าดงดิบนั้น ท่านก็ได้พบกับช้างป่าโขลงใหญ่ ช้างป่าทุกเชือกมีลักษณะดุร้าย โดยเฉพาะเชือกจ่าฝูง รูปร่างสูงใหญ่งายาว มันยืนจ้องมองมายังหลวงปู่ หลวงปู่พอเห็น ท่านก็ยืนสงบแผ่เมตตาจิตให้พญาช้างและช้างทุกๆ เชือกในโขลงนั้น ด้วยความมั่นคงแน่วแน่ กระแสจิต พลังแห่งเมตตาของหลวงปู่ที่มีต่อสรรพสัตว์

    ทุกอย่างอยู่ในความสงบเงียบ พลันเชือกที่เป็นหัวหน้าโขลง ก็ชูงวงขึ้นพร้อมกับเปล่งเสียงร้องดังก้องป่า ในสภาพบรรยากาศเช่นนี้ หากเป็นบุคคลอื่นนอกจากหลวงปู่แล้ว นับว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง แต่หลวงปู่สีท่านอยู่ในอาการสงบนิ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

    พอสิ้นเสียงร้องก้องกังวานของหัวหน้าโขลง ช้างป่าทุกเชือก ก็ย่อตัวลงหมอบอยู่กับพื้น พร้อมชูงวงขึ้น ประหนึ่งเป็นการแสดงคารวะอย่างนอบน้อมต่อหลวงปู่สี ผู้มีเมตตาธรรมและความบริสุทธิ์

    ต่อจากนั้นหัวหน้าโขลงก็เดินเข้ามาหมอบอยู่ตรงหน้าท่าน ต่อจากนั้นช้างอีกเชือกก็เข้ามาใช้งวงช้อนร่างหลวงปู่ให้ขึ้นไปนั่งบนคอของหัวหน้าโขลง ทุกอย่างเป็นไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ต่อจากนั้นมันก็ลุกขึ้นเดินนำโขลงไปส่งท่าน ผ่านป่าดงดิบจนถึงชายป่า ในตอนเช้าวันหนึ่ง

    พวกชาวบ้านป่าได้มาพบเห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์เช่นนั้น ต่างก็ก้มลงกราบหลวงปู่ และได้นำอาหารมาถวายหลวงปู่ พวกเขาเหล่านั้นต่างก็ตื่นเต้นและประหลาดใจว่าหลวงปู่ทำอย่างไร ช้างป่าจึงไม่ทำร้ายและยังได้มาส่งหลวงปู่อีก

    ชาวบ้านเขตชายแดนไทยพม่า ทราบดีว่าช้างป่าโขลงนี้เป็นช้างป่าที่ดุร้ายที่สุดในแถบแถบนั้น แต่น่ามหัศจรรย์ที่ช้างป่าไม่ทำร้ายหลวงปู่สี หลังจากที่หลวงปู่สีฉันอาหารเสร็จ ท่านก็ให้ศีลให้พรกับพวกชาวบ้านป่า และถามถึงเส้นทางที่เดินทางไปแผ่นดินพม่า

    นมัสการพระมหาเจดีย์ชเวดากอง

    ภายหลังจากที่ได้เคยเดินทางบุกดงรกชัฏ ท่องป่า ข้ามภูเขา และห้วยธารละหานเหวไปกระทำนมัสการบูชารอยพระพุทธบาท และเจดีย์สำคัญทุกแห่งในเมืองไทยแล้ว หลวงปู่สีก็ได้ยินเขาเล่าว่า ประเทศพม่ามีเจดีย์สำคัญสูงใหญ่ คือพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ท่านก็เกิดความกระตือรือร้นใคร่จะได้ไปนมัสการ

    แต่เมื่อได้ปรารภเรื่องนี้ให้เพื่อนภิกษุฟัง ส่วนมากก็ทักท้วงให้ระงับยับยั้ง มิอยากให้ไป ต่างอ้างเหตุผลว่าหนทางมันไกลนัก อีกอย่างเป็นเมืองต่างด้าว พูดกันไม่รู้เรื่อง

    ประการสำคัญคือ ถนนหนทางที่จะไปก็ไม่มีเป็นเส้นสายแน่นอน นอกจากจะต้องเดินวนเวียนเลี้ยวลัด และมุดลอดไปตามดงทึบหรือป่าเถาวัลย์ ไม้พุ่มไม้เลื้อยนานาชนิด ด่านแรกสำคัญที่สุดก็คือ จะต้องบุกฝ่าไปในดงในป่า ซึ่งครั้งกระนั้นรกชัฏ ยามร้อน -ร้อนจัด ยามเย็น - เย็นยะเยือก และชื้นแฉะ จนได้รับสมญาขนานนามเป็น ดงผีห่า ป่าดงดิบ

    ผู้เดินทางผ่านดงยิ่งใหญ่ทั้งสอง ซึ่งมีระยะยาวนับเป็นร้อยๆ กิโลเมตร มีสภาพถูกปกคลุมไปด้วยไม้ใหญ่ เป็นดงทึบจนมองไม่เห็นแสงแดด เต็มไปด้วยไม้เลื้อยพัวพันกันเป็นพืด เหมือนแนวกำแพงชั้นแล้วชั้นเล่าไม่มีที่สิ้นสุด

    นอกจากนี้ก็เต็มไปด้วยหินแหลม หินคม โขดเขา หุบเหวใหญ่น้อยเต็มไปด้วยสรรพสัตว์ร้ายทั้งทวิบาท จตุบาท กับอสรพิษ สัตว์เลื้อยคลานร้อยแปดพันอย่าง ซึ่งหากพลั้งเผลอปราศจากความระมัดระวัง พริบตาเดียวก็เท่ากับเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่า แม้จะรอดจากเขี้ยวเล็บสัตว์จตุบาท ไหนเลยจะรอดจากโรคภัย โรคเฉพาะจากดงใหญ่ มหากาฬ ซึ่งขึ้นชื่อลือกระฉ่อนว่า เป็นดงผีห่ามหาประลัยไปพ้นเล่า

    ใครจะชักแม่น้ำทั้งห้ากีดกันขัดคออย่างไรไม่เป็นผล หลวงปู่สีไม่เถียง ไม่แม้แต่จะหาเหตุผลใดเข้าหักล้าง หรือแย้ง เป็นแต่เพียงหัวเราะ หึ หึ หึ ตีหน้าตายเสมือนมิได้แยแสต่อสรรพสิ่งน่าสยดสยองหวาดกลัวตามคำบอกเล่าเหล่านั้นแม้แต่น้อยนิด

    ป่าดงทางเหนือนั้น มีอาณาบริเวณที่รกชัฏกว้างไพศาล เป็นอาณาเขตดงทึบมืดครึ้มไปด้วยดงไม้ใหญ่สูงชะลูด เมฆบดบังแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องต้องพื้นดินใบหญ้า พื้นแผ่นดินก็ทึบมืดชื้นแฉะเต็มไปด้วยกลิ่นเน่าของใบไม้และดินโคลน หอยทาก งูเล็ก งูใหญ่ ตะขาบ แมงป่อง บรรดาสรรพสัตว์ร้ายยั้วเยี้ย เพ่นพ่านสลับสลอน

    สภาพภูมิพื้นเป็นเช่นนี้ เป็นธรรมดายากจะหาชาวบ้านคนใดไปทนทรมานปลูกบ้านสร้างกระท่อมอาศัยอยู่ เพราะจำเป็นต้องทำมาหากินทางกสิกรรมหรือป่าไม้ จะทำอื่นใดในบริเวณย่านนั้นก็ย่อมไม่เป็นผล จะทำไร่ไถนาหาใส่ท้องก็ยิ่งจะไม่ได้ โดยสภาพปกติที่เป็นเช่นนั้น แล้วใครเล่าจะนำตัวไปอยู่ในท้องถิ่น ที่เปรียบเสมือนนรกได้ลงคอ

    ด้วยเหตุผลประการฉะนี้ ทุกย่างก้าวของระยะทางที่เดินเป็นวันๆ ในท่ามกลางดงพงพีอันสงบสงัด แต่วังเวงอย่างน่าสยองขน ต้องระวังเขี้ยวเล็บสรรพจตุบาท ทวิบาท โรคร้ายนานาชนิดจากพื้นดินแฉะตลอดกาล ปราศจากชาวบ้านจะเกื้อกูลถวายภัตตาหารบิณฑบาต จะหาทางเดินที่แน่นอนก็คลำหายาก เพราะมันเต็มไปด้วยดงหญ้ากับเถาวัลย์พันรกทึบ เป็นทางเดินเล็กแคบ ยิ่งกว่านั้น หนทางบางตอนไปบรรจบลงที่หุบเหวหรือไม่ก็ลำห้วย จะต้องใช้วิธีเดินโอบอ้อมหาหนทางเดินข้ามไปจนได้ ในบางครั้งที่ไปพบลำห้วยก็เป็นการไม่ยากอะไรนัก ก็เดินลัดเลาะไปตามโขดหิน

    การเดินทางไปนมัสการพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า ในครั้งนี้นั้น พ.ศ. ๒๔๓๓

    พระภิกษุสี (หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ) ท่านได้พบกับพระภิกษุศุข (หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า) และพระภิกษุกลั่น (หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ อยุธยา) ทั้งสามองค์ได้ร่วมกันเดินธุดงค์เข้าสู่พม่า แม้บางครั้งจะพบกับเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว แต่พระธุดงค์ทั้งสามก็หาหวั่นไหวไม่ การเดินธุดงค์ของท่านนั้น ท่านไม่กลัวอด.ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวตาย ท่านจึงสามารถผ่านอุปสรรคนานัปการ ด้วยท่านแจ้งในสัจธรรม

    “อันรูปกายเกิดของมนุษย์ และปวงสรรพสัตว์ก็มีความตายนี่แล เป็นความเที่ยงแท้ ชีวิตตาย เกิด ทุกรูป ทุกนาม พึงต้องประสบ”

    คติธรรมนี้หลวงปู่ท่านอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์พึงระลึกอยู่เสมอ จะได้ไม่ประมาท ไม่กลัวโดยเฉพาะความตาย ถึงแม้ว่าจะเป็นจอมมหาราชา ผู้มีศักดิ์มีอำนาจมากมาย จะเป็นจอมนักรบผู้เกรียงไกร ไม่ว่ารูปกายใดจะเป็นผู้มีอำนาจวาสนา มิว่าจะอยู่ในฐานันดรใด รูปกายเกิดเหล่านี้นั้นจะต้องประสบกับ “มรณสัญญาณ”. เป็นปริโยสานด้วยกันทั้งนั้น มฤตยูมิยินยอมยกเว้นหรือแม้แต่จะให้มีการผ่อนผันให้รูปกายใดในฐานันดรใด ได้ผัดผ่อนวันแห่งกาลมรณะให้ยืดออกไปได้ หากถึงกาล

    ในที่สุดหลวงปู่สี หลวงปู่กลั่น หลวงปู่ศุข ก็เดินทางฝ่าฟันอันตรายนานัปการ จนในที่สุดท่านก็ไปกราบพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางกลับ และได้แยกทางกับหลวงปู่กลั่นในเวลาต่อมา ส่วนหลวงปู่ศุขท่านก็แยกไปอีกทางหนึ่ง

    หลวงปู่ศุขท่านก็มีภาระต้องกลับวัดเพราะท่านเป็นเจ้าอาวาสวัด วัดปากคลองมะขามเฒ่าในกาลต่อมา ส่วนหลวงปู่กลั่นท่านก็กลับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และครองวัดพระญาติในกาลต่อมา หลวงปู่สีนั้นท่านสมัครใจที่จะอยู่ป่าต่อไป ท่านจึงออกเดินธุดงค์อยู่ตามป่าต่อไปตามความปรารถนาของท่าน
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (cont.)
    เทพธิดามาฟังสวดมนต์

    กาลต่อมาลูกศิษย์ของหลวงปู่ยามใดที่เห็นหลวงปู่ว่างจากการปฏิบัติธรรม ก็มักจะให้หลวงปู่สีท่านเล่าเรื่องราวต่างๆ ในการเดินธุดงค์ของหลวงปู่ว่าได้พบเห็นอะไรบ้างตามป่าที่หลวงปู่ผ่านพบมาในครั้งธุดงค์

    “หลวงปู่ครับ เวลาที่หลวงปู่เดินธุดงค์ในป่าลึก ๆ ที่ไม่มีบ้านคนอยู่ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่แล้วหลวงปู่จะไปบิณฑบาต กับใครที่ไหนครับ?”

    “การบิณฑบาตเป็นกิจของสงฆ์ สงฆ์แม้จะอยู่ในที่ใดก็ตามก็ต้องบิณฑบาตตามปกติ การบิณฑบาตในป่า ก่อนที่จะบิณฑบาต พระธุดงค์ทุกรูปที่ปฏิบัติอยู่ในป่าจะต้องเข้าสมาบัติ แผ่เมตตา มีพรหมวิหารเป็นอารมณ์ ต่อจากนั้นก็ออกบิณฑบาตไปตามป่า ก็จะมีคนนำข้าวนำอาหารมาใส่บาตร แปลกอยู่ที่ว่า ผู้ที่มาใส่บาตรนั้นแต่ละคนหน้าตางดงาม แต่งกายสะอาด พูดจาไพเราะ พวกในป่าเขาใจดี เขาไม่ให้พระอด ไม่ว่าอยู่ในที่แห่งใดถึงเวลาใส่บาตรพวกเขาก็จะมาใส่บาตรกัน

    พระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไปอยู่ไหน ณ ที่แห่งใดก็จะไม่ทุกข์ยาก ย่อมมีเทพเทวดาสงเคราะห์ ไม่เฉพาะแต่พระสงฆ์เท่านั้น แม้แต่พวกฆราวาสก็เช่นกัน หากทำดี เทวดาก็จะดูแลรักษาช่วยเหลือเช่นกัน

    เทวดาตามป่าเขา เขาชอบฟังธรรม เวลาพระทำวัตรสวดมนต์พวกเทพเทวดาก็จะพามันมาฟัง บ้างก็จะกล่าวว่า

    “ท่านเจ้าขา ท่านสวดมนต์จนเสียงมนต์สะเทือนไปทั่ว นานๆ จะมีพระมาโปรด ขอท่านโปรดกรุณาเทศนาด้วยเถิดเจ้าค่ะ”

    หลวงปู่ท่านเล่าว่าพวกเทวดาบางพวก เขาก็ชอบฟังบทพระธัมมจักกัปวัตนสูตร บางหมู่ก็ชอบกรณียเมตตสูตร เวลาพระสวดมนต์จบ หรือเทศน์จบ จะได้ยินเสียงสาธุพร้อมๆ กัน เสียงก้องกังวานน่าฟัง ต่อจากนั้นก็กราบลงพร้อมกันอย่างงดงาม

    หลวงปู่ท่านพยายามย้ำอยู่เสมอว่า “นรกสวรรค์ มีจริงนะ”

    “ดั่งธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ เป็นธรรมที่ไม่มีกาลเวลา ผู้ส้องเสพซึ่งรสพระธรรมเมื่อใด ย่อมได้รับรสแห่งธรรมนั้นทุกเมื่อ นับเป็นธรรมของโลกโดยแท้”

    กุศลธรรมเหล่าใด อันทำให้บุคคลเป็นเทพบุตร เทพธิดา เสวยทิพยสมบัติอยู่ กุศลธรรมเหล่านั้น เป็นสิ่งที่สมควรนำมาทบทวน กระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหลงลืมละเว้น เพราะเหตุแห่งทิพยสมบัติที่เสวยอยู่มาปิดบังอำพรางไว้

    ทิพยสมบัติที่เสวยอยู่นี้ แท้จริงเป็นของเสื่อมได้ หมดได้ เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ด้วยเป็นเพียงโลกียสมบัติ เมื่อกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้หมดลง ความสุขอันนี้ก็จะกลายเป็นทุกข์หรือจะต้องไป

    เกิดใหม่ตามภพภูมิ ตามกรรมดี กรรมชั่วของตน ที่ยังเหลืออยู่

    ทิพยสมบัติมิใช่ตัวอัตตา ตัวตนที่เราท่านจะมายึดถีอหวงแหนเอาไว้ ด้วยเหตุนี้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสย้ำเป็นคำสุดท้าย ก่อนที่พระองค์ท่านปรินิพพานว่า

    “ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาทนั้นคือ ควรระลึกถึงกุศลกรรมที่ตนได้กระทำมาดีแล้ว และพากเพียรกระทำต่อไปมิให้ขาดสาย”

    เป็นส่วนหนึ่งที่หลวงปู่ท่านเคยนำเอาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอบรมให้เหล่าเทพและเทวดาฟังในป่าเขา เมื่อท่านถูกนิมนต์ให้เทศน์

    คุณโยมเทพบุตร เทพธิดาทั้งหลาย ผู้มีความปีติสุข ความอิ่มเอิบในทิพยสมบัติเป็นเครื่องอยู่ เป็นผู้นิราศแล้วจากทุกข์ทั้งปวง แม้กระนั้นคุณโยมก็มิได้อยู่บนความประมาท หลงอยู่ในทิพยสมบัติ มีจิตปรารถนาจะได้รับรสพระธรรม เป็นที่น่ายินดีอนุโมทนา ความปรารถนาในกุศลธรรมนั้นเป็นบุญที่ควรอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

    คุณโยมทั้งหลายที่เสวยทิพยสมบัติอยู่ จงพิจารณาให้ดี จะเห็นว่ายังเป็นโลกที่ไม่มีแก่นสาร อาจกล่าวได้ว่าเป็นโลกที่ไม่มีตัวตน เป็นแต่แสงสว่างแผ่ซ่านอยู่ อันเป็นโลกที่ละเอียดอ่อน ด้วย

    อำนาจของจิตที่เป็นอกุศลธรรม ให้โยมปรากฏให้อาตมาได้เห็น ก็ด้วยอำนาจของจิตอธิษฐาน

    “จิต” เป็นนามธรรม ไม่มีรูปที่จะประกอบกรรมดี หรือชั่วได้อย่างมนุษย์ แต่จิตก็สามารถบริจาคทาน เจริญสมาธิ รักษาศีล ได้เช่นกัน คุณโยมผู้เป็นเทพทั้งหลายพึงใช้จิตบริจาคทาน ใช้จิตรักษาศีล ใช้จิตเจริญสมาธิ ได้เช่นกัน คุณโยมผู้เป็นเทพทั้งหลายพึงใช้จิตบริจาคทาน ใช้จิตรักษาศีล ใช้จิตเจริญสมาธิ

    การบริจาคทานด้วยจิต ก็คือให้ความกรุณา ให้ความเมตตา แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย นับได้ว่าเป็นทานบารมีอันยิ่งใหญ่

    “ศีล” ก็ย่อมรักษาได้ด้วยจิต จิตของคุณโยมเป็นกุศลจิต จึงนับได้ว่า ได้รักษาศีลไว้โดยสมบูรณ์

    “สมาธิ” ก็คือทำจิตให้ตั้งมั่น อะไรที่เป็นอุบายให้จิตตั้งมั่น? ก็คือการตามระลึกถึงอนุสติ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีนึกภาวนาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า เป็นต้น จิตภาวนาคำว่า พุทโธ ให้เป็น

    อารมณ์จิตอยู่สม่ำเสมอต่อเนื่อง กุศลธรรมก็จะสูงขึ้นเป็นลำดับ

    เมื่อคุณโยมผู้เป็นเทพได้ตระหนักชัดว่าความเป็นเทพนั้นยังเป็นโลกียสมบัติ เป็นสิ่งสมมุติ ไม่คงทนถาวร เสื่อมได้ หมดได้ สิ้น

    ไปได้ ก็จงอย่ามีความประมาท เวลาสวรรค์แม้แต่จะยาวนานกว่าโลกมนุษย์ถึงร้อยเท่า พันเท่า จะพ้นจากไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นไม่ได้ สิ่งสมมุติทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วย่อมดับ จงขวนขวายละสมบัติไปสู่ “วิมุตติ” เถิด จึงจะพ้นจากการเวียนว่ายในวัฎสงสาร



    หลวงปู่สี ท่านมิได้ติดยึดอยู่กับที่ ท่านจะธุดงค์แสวงหาความวิเวกไปยังสถานที่ต่างๆ พร้อมทั้งโปรดเทพเทวา สรรพสัตว์และมนุษย์ ไปยังดินแดนต่าง ๆ อันเป็นการปฏิบัติตามครูบาอาจารย์แต่เดิมมา

    การธุดงค์แสวงหาความวิเวกนั้น ครูบาอาจารย์แต่เดิมมา ท่านไม่ให้ติดที่อันเป็นสัปปายะ ดินแดนที่สุขสบาย จะต้องละจากไปเรื่อยๆ ลำบากบ้าง สบายบ้าง อดบ้าง ฉันบ้าง ไม่ยึด ไม่ให้ถือ ให้เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ ให้ระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

    “ธรรม คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติ คือ ธรรม”

    มองไปตามพื้นดินในป่าใหญ่ เราจะมองเห็นธรรมหล่นเกลื่อนกลาด ธรรมเหล่านั้นก็คือใบไม้แห้ง เป็นสิ่งที่แสดงสภาวธรรมให้เห็นถึงความเป็นอนิจจัง ใบไม้หลุดร่วงลงมาจากต้น แปรสภาพสลายกลายเป็นอื่นในที่สุด หรือไม่ก็รอการถูกเหยียบย่ำป่นปี้แหลกสลายกลายเป็นผง เป็นดินไปในที่สุด เมื่อเป็นดินแล้ว ต่อมาเมล็ดพันธุ์หล่นลงมา จากสูงมาต่ำ กลายเป็นฐานรองรับให้เมล็ดพันธุ์นั้นงอกงาม เป็นต้น เป็นใบเจริญเติบโต แตกกิ่งก้านสาขา ออกดอก ออกผล ผลิใบอ่อน เจริญไปตามกาล กลายเป็นใบแก่ จากเขียวเป็นเหลือง แล้วก็หลุดร่วงลงมา หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เช่นนี้

    ยามใดที่เงยหน้ามองขึ้นไปเบื้องบน ก็จะพบใบไม้บนต้น ยังมีมากมายเป็นแสนเป็นล้านๆ ใบ พระพุทธเจ้าพระองค์จึงรับสั่งแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปว่า ธรรมที่พระองค์ได้แสดงมาแล้ว เป็นเพียงใบไม้แห้งเพียง ๑ กำมือเท่านั้น ส่วนธรรมที่ยังมิได้แสดง ตลอดอายุของพระองค์ ยังมีมากดุจดังใบไม้ในป่า

    โปรดญาติโยม

    หลวงปู่ลี ฉนฺทสิริ นอกจากท่านจะอบรมสั่งสอนธรรมกับชาวบ้านตามที่ทุรกันดาร ตามป่าดงพงเขาเป็นกลุ่มชนที่ห่างไกลความเจริญซึ่งมีพระน้อยรูปที่จะเข้าไปอบรมสั่งสอน เพราะผู้คนนักบวชส่วนใหญ่ชอบที่จะอยู่ในถิ่นที่มีความเจริญทางวัตถุมากกว่า นอกจากชาวบ้านทุ่ง ชาวบ้านป่าก็พวกเทพเทวาอารักษ์ และพระเณร ผู้ปฏิบัติธรรม หลวงปู่ท่านมีอุบายธรรมในการอบรมสั่งสอนอย่างลึกซึ้ง ท่านจะยกพระพุทธองค์ พระธรรมของพระพุทธองค์เป็นคำสอน เป็นผู้สืบทอดต่อ เช่น การอบรมพระเณรในเรื่องการเดินบิณฑบาต พระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนให้เดินบิณฑบาต เดินจงกรม เดินธุดงค์ เป็นการรักษาสุขภาพร่างกายทำให้ไม่เมื่อยขบ ไม่หนาว เวลาเดิน ท่านให้เดินอย่างสำรวม เดินอย่างมีสติ เอาจิตจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก เวลาเดินจะแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ หรือไม่ก็ภาวนามนต์บทใดบทหนึ่ง อย่างเช่น “สัมมาอะระหัง หรือ พุทโธ”

    เวลาเข้าไปรับบาตร ก็ให้มองพิจารณาลงในบาตร เพื่อมิให้ตาสอดส่าย เพื่อมิให้จิตปรุงแต่ง การคิดปรุงแต่งย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต ถ้าตาไปเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส แม้ไม่ได้สัมผัส จิตมันก็ปรุงแต่งจากสัญญาขึ้นมาได้

    เมื่อสัมผัสแล้วทำอย่างไร?

    เมื่อจิตเกิดปรุงแต่งท่านก็ให้พิจารณาถึงสิ่งตรงกันข้ามเสีย ความสวยในที่สุดมันก็ไม่สวยได้ ยามชราเนื้อหนังมังสามันก็เหี่ยวย่น ยามตายผิวมันก็จะบวมฉุ แตกปริเน่าเฟะ ส่งกลิ่นเหม็น

    มันจะสวยไหม? ท่านบอกไว้ทุกอย่างทุกทาง แม้กระนั้นเจ้าความอยากในกามคุณมันก็ยังเล็ดลอดออกไปได้

    ท่านก็สอนให้มีสติ คอยระวังรักษาจิต คอยรู้เท่าทันอารมณ์กิเลส

    คำสอนของพระองค์ แม้จะประเสริฐยอดเยี่ยมอย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติด้วยตนเองแล้วก็ยากที่จะพ้นทุกข์ได้ ถึงเราจะประกอบงานอาชีพอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ทำด้วยตนเอง อาศัยจมูกคนอื่นหายใจคอยให้เขาทำให้ ก็จะไม่เกิดผลแก่ตน ธรรมปฏิบัติที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ เราต้องรู้ด้วยตนเอง เห็นด้วยตนเอง จึงจะเกิดปัญญารู้แจ้งถึงทางพ้นทุกข์นั้น การตอบแทนคุณท่านก็คือปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์

    ผู้มีบุญวาสนาได้มีโอกาสไปกราบหลวงปู่ ได้ฟังธรรมจากหลวงปู่ ต่างก็เกิดความปีติซาบซึ้งในรสพระธรรมคาสั่งสอน และทุกคนก็จะได้ยินคำสอนของหลวงปู่ที่พยายามกล่าวย้ำให้ทุกคนหมั่นปฏิบัติธรรม ประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม “ความดีสิคงทน แต่ความจนสิอยู่นาน”

    คติธรรมของหลวงปู่ที่ว่า “ความดีสิคงทน” นั่นก็หมายความว่า ให้ทุกคนสร้างแต่ความดี เพราะความดีเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ทั้งปัจจุบันและอนาคต ส่วนคำที่ว่า “ความจนสิอยู่นาน” นั่น ท่านหมายถึงคนที่จนปัญญา ไม่รู้จักแสวงหาใส่ตัวก็เป็นคนจนตลอดไป

    นอกจากธรรมะอันเป็นของวิเศษ ที่ให้แก่สานุศิษย์ ทั้งเพศบรรพชิต และฆราวาส ที่ไปกราบหาท่าน พวกลูกศิษย์ใกล้ชิดต่างทราบดีว่า ทุกสิ่งทุกอย่างของหลวงปู่ล้วนเป็นของศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การจดจำและเก็บรักษา

    เทวดาบอกเหตุ

    คืนวันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่สีนั่งบำเพ็ญสมาธิภาวนาอยู่นั้น เป็นเวลาดึกสงัดประมาณกว่าสองยามเห็นจะได้ จิตของท่านอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิคือ สมาธิอย่างอ่อนๆ กำลังพิจารณาสังขารธรรมอยู่อย่างเพลิดเพลินเจริญใจ ไม่ลดละความเพียร พลันทันใดก็ปรากฏภาพนิมิตขึ้นในห้วงสมาธิ มีชายผู้หนึ่งนุ่งขาว ห่มขาว ได้เดินเข้ามาคุกเข่าก้มลงกราบท่านแล้วพูดว่า

    “นิมนต์หลวงพ่อย้ายกลดขึ้นไปอยู่บนเขาเสียเถิด ด้วยคืนนี้จะมีน้ำป่าพัดผ่านมาที่นี่ หลวงพ่อจะเป็นอันตรายถึงชีวิต”

    แล้วภาพนิมิตของเทวดาผู้นั้นก็หายไป หลวงปู่สีท่านจึงอธิษฐานจิตบารมีพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เพื่อขอตรวจดูเหตุการณ์ด้วยทิพยจักษุญาณ พลันก็พบว่า

    ไกลออกไปทางเหนือ ฝนกำลังตกหนักมืดครึ้ม มีพายุและฟ้าแลบน่ากลัวมาก เห็นน้ำป่ากำลังทะลักทลายลงมาจากภูเขา พัดพาถล่มต้นไม้ในป่าเสียงดังกึกก้องไปหมด น่ากลัวมาก กระแสนำป่านั้นกำลังพัดมาทางจุดที่ท่านกำลังบำเพ็ญเพียรอยู่อย่างรุนแรง

    หลวงปู่สีรู้สึกประหลาดใจระคนสงสัย จึงถอยจิตออกจากสมาธิลืมตาขึ้นดู พบว่าบริเวณหุบเขาที่ท่านพักอยู่ แสงเดือนหงายยังแจ่มจรัส อากาศก็เย็นสบายปลอดโปร่งรื่นรมย์ไม่มีเค้าเมฆฝนอยู่ในท้องฟ้าเลย

    แต่เหตุการณ์ผ่านไปสักชั่วอึดใจใหญ่ ทันใดนั้น ท่านก็ได้ยินเสียงอื้ออึงดังมาจากเบื้องทิศเหนือ เสียงนั้นน่ากลัวมาก คล้ายเสียงรถไฟหลายขบวนวิ่งแข่งกันเข้ามาในป่าไม่มีผิด ทำให้ท่านแน่ใจทันทีว่า โอปปาติกะ เทพเทวาปรากฏกายเข้ามาแจ้งเหตุในนิมิตนั้น บอกกล่าวเป็นความจริง และทิพยจักษุญาณของท่านก็เห็นภาพแน่ชัดไม่ใช่ภาพหลอนหลอกแต่อย่างใด เสียงอื้ออึงนั้นเป็นเสียงน้ำป่าห่าใหญ่เกาลงพัดมาอย่างรวดเร็ว รุนแรงมากอย่างแน่นอน

    นี่คือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ไม่มีใครจะไปห้ามมันได้ เราผู้เป็นสมณะผู้บำเพ็ญธรรมไม่บังควรจะกีดขวางธรรมชาติ

    รำพึงเช่นนี้แล้ว ท่านก็ถอนกลดจัดแจงย้ายขึ้นไปอยู่บนเขาสูงให้พ้นอันตราย แต่หาได้ตื่นกลัวแต่อย่างใดไม่

    พอแบกกลดใส่ป่าข้างหนึ่งสะพายบาตรอีกข้างแล้ว ท่านก็ออกเดินจะขึ้นเขาไป กระทำจิตให้มั่นคงภาวนาไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อนอะไร เพราะเสียงน้ำป่าอื้ออึงนั้นยังอยู่ไกล คงไม่มาถึงตัวท่านรวดเร็วแน่ เดินภาวนาไปสักครู่ก็ขึ้นเขาสูง

    ท่านมองลงมาจากหน้าผา เห็นกระแสน้ำมหึมาไหลกรากท่วมต้นไม้ใบหญ้าบริเวณที่ท่านนั่งภาวนาอยู่ในหุบเขานั้น กลายเป็นทะเลสาบไปหมดในพริบตา ช่างอัศจรรย์ใจในธรรมชาติที่งดงามแต่ฝังแฝงด้วยภยันตรายนานัปการ

    พอรุ่งเช้าน้ำป่านั้นก็หายวับไปกับตา นี่แหละธรรมชาติของน้ำป่ามาเร็วหายไปเร็ว และเป็นภยันตรายร้ายแรงน่ากลัวยิ่งนัก หลวงปู่สีนับว่ามีบุญญาภิสมภารสูงถึงรอดตายมาได้ในครั้งนี้ จะว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาช่วยชีวิตไว้ก็ให้น่าสงสัยมาก

    ป่าหลวงพระบาง

    จากพม่า หลวงปู่สีท่านก็ข้ามแม่น้ำโขง จาริกธุดงค์ไปยังหลวงพระบาง รอนแรมบุกป่าฝ่าดงอันหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ และขวากหนาม เส้นทางทุรกันดารยากลำบาก วกไปเวียนมา มองไปทางไหนมีแต่ป่าแต่เขาสูงใหญ่ จนอ่อนล้าเพราะหลงทิศทาง เดินไปทั้งวันก็วกกลับมาที่เดิม ไม่น่าเชื่อ สัตว์ตัวกระจ้อยร่อยประเภทดูดเลือด เช่น ฝูงทากก็มากมาย คอยรบกวนให้ได้รับความรำคาญอยู่ตลอดเวลา ตะวันยอแสงฉาบสีทองเอิบอาบขุนเขาสูงใหญ่เบื้องหน้า เป็นภาพสวยงามตระการตาราวกับมณีวิเศษอันมีสีต่าง ๆ

    ท่านรู้สึกชื่นชมกับธรรมชาติในยามใกล้สนธยาเบื้องหน้า จึงรุดตรงไปยังเชิงเขา เพื่อจะยึดเอาเขาลูกนี้เป็นที่พักแรมคืน ภูมิภาพอันสวยงามเบื้องหน้า เงาหมู่ไม้อันทอดยาว แสงสะท้อนจากกลุ่มเมฆสีขาวสลับซับซ้อนเบื้องบนเป็นสีระยับวะวับวาว ทำให้หุบเขาแห่งนั้นหลายเป็นสีรุ้ง ดั่งว่าเนรมิตไว้ฉะนั้น

    ค่ำวันนั้น หลวงปู่สีท่านได้หยุดปักกลดที่เชิงเขาในคูหาถ้ำอันกว้างขวางสะอาดสะอ้านคล้ายมีคนมาคอยปัดกวาดไว้เป็นประจำ ที่ใกล้ๆ มีลำน้ำใสไหลเย็นไหลผ่าน.

    หลังจากลงไปสรงน้ำในลำธารเป็นที่ชุ่มชื่นเย็นกายเย็นใจแล้ว ท่านก็กลับเข้ามาในถ้ำนั่งพักผ่อนอยู่พักหนึ่ง ต่อจากนั้นจึงได้นั่งสมาธิภาวนาด้วย “พุทโธ” เป็นวัตถุปกติเสมอมา แสงเดือนกระจ่างนวลใสสาดเข้ามาในถ้ำ กระแสลมที่พัดอยู่รวยรินทำให้สดชื่นเย็นสบายใจ บรรยากาศภูมิประเทศก็เงียบสงัดวิเวก เหมาะสำหรับบำเพ็ญสมณธรรมพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ ด้วยประการทั้งปวง

    เวลาผ่านไปอย่างสม่ำเสมอ ท่านจึงถอนจิตจากสมาธิเปลี่ยนมาเป็นเดินจงกรมที่บริเวณหน้าถ้ำ ท่ามกลางแสงเดือนกระจ่างสว่างพราวเหมือนกลางวัน

    ผจญเสือโคร่ง

    มีเสียงกระหึ่มร้องดังขึ้นสนั่นหวั่นไหว เสียงร้องรับกันทางโน้นที ทางนี้ที แสดงว่ามีเสือออกหากินในยามราตรี เสียงร้องของมันทำให้ป่าที่วังเวงด้วยเสียงจักจั่นเรไรที่ร้องระงม เงียบเสียงไปหมดสิ้น ดั่งต้องมนต์อาถรรพณ์

    หลวงปู่สีมิได้สนใจ ไม่ได้นึกเกรงกลัวแต่อย่างใด ถือว่าสัตว์ป่าออกหากินไปตามประสาของมัน ท่านคงเดินจงกรมไปตามปกติ ด้วยอิริยาบถสม่ำเสมอ มี “มหาสติปัฏฐาน” เป็นหลักคอยควบคุมกายและใจอยู่ตลอดเวลา ไม่วอกแวก

    เสียงเสือขานรับกันคำรามใกล้เข้ามาทุกที แล้วในที่สุดเสียงกระหึ่มร้องนั้นก็เงียบหายไป

    ท่านเดินจงกรมกลับไปกลับมาอยู่พักใหญ่ รู้สึกเฉลียวใจว่ามีอะไรผิดปกติข้างทางเดินจงกรมจึงชำเลืองมองไป

    พลันก็ได้เห็นเสือโคร่งตัวใหญ่มาก ตัวใหญ่เกือบเท่าม้าล่ำพีมีจำนวน ๒ ตัว กำลังจ้องมองดูท่านอยู่อย่างเงียบๆ ท่านรู้สึกสงสัยว่า มันมายืนจ้องมองท่านอยู่เช่นนี้เพี่อต้องการอะไรหนอ? ถ้ามันต้องการจะจับตะครุบท่านกินเป็นภักษาหาร มันน่าจะทำลงไปแล้ว ไม่น่าจะพากันจ้องมองไม่กระดุกกระดิกเช่นนี้เลย ดูๆ ไปแล้วก็น่ารักน่าสงสาร สวยงามสง่า ในจิตใจของท่านมีแต่เมตตา

    พอท่านคิดเช่นนี้ พลันทันใดเสือใหญ่ทั้ง ๒ ตัว ก็ส่งเสียงคำรามร้องกระหึ่มขึ้นมาพร้อมๆ กัน ดังสนั่นหวั่นไหวไปหมดจนแก้วหูอื้อ เมื่อได้ยินเสียงคำรามขึ้นพร้อมๆ กันเช่นนั้น ท่านก็คิดในใจว่า ชะรอยพวกมันคงจะพูดบอกความในใจกับท่านอันเป็นภาษาของมันละกระมัง พอท่านคิดเช่นนั้นมันก็พามันร้องสนั่นขึ้นมาอีก จนสะเทือนไปทั้งป่า

    หลวงปู่สีคงเดินจงกรมผ่านหน้ามันไปมาเป็นปกติ มันก็ไม่ทำอะไรได้แต่จ้องมองตามอิริยาบถเคลื่อนไหวของท่านอย่างเงียบ ๆ อยู่เป็นเวลานาน แล้วพวกมันก็พามันถอยห่างเดินหนีหายไปในป่า คงทิ้งไว้แต่ความเงียบสงัดดุจดังเดิม

    บรรลุธรรม

    หลวงปู่สีเที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ภาคเหนือ พม่า-หลวงพระบาง และธุดงค์ลัดเลาะข้ามลำแม่น้ำโขง ตัดเข้าภาคอีสานของประเทศไทย เป็นเวลานานถึง ๙ ปี ตลอดเวลา ๙ ปี ท่านจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ นับไม่ถ้วน หลังจากท่านบรรลุธรรมวิเศษ จึงปรากฏว่าค่อยมีพระลูกศิษย์เพิ่มมากขึ้น

    พระลูกศิษย์ทั้งหลายที่บุกบั่นรอนแรมเข้าป่าดงไปหาหลวงปู่สี ท่านจะให้อยู่กับท่านไม่นานนัก แล้วท่านก็จะสั่งให้แยกย้ายกันออกหาที่วิเวกตามที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนามุ่งทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

    ท่านให้พักตามถ้ำบ้าง ตามชายเขาและยอดเขาบ้าง การขบฉัน อาหารก็ให้ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านชาวป่าชาวเขา บางครั้ง ๗ - ๘ วันถึงได้ออกบิณฑบาตกัน เพราะมัวแต่เพลิดเพลินเจริญในสมาธิวิปัสสนาจนลืมเวล่ำเวลา ลืมคืนลืมวัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าหิวโหยอ่อนเพลียเจ็บไข้ได้ป่วยกันแต่อย่างไร เพราะจิตสงเคราะห์มีความสุข ชุ่มชื่นเย็นใจ เย็นกาย ด้วยอำนาจบารมีธรรม

    มีพระลูกศิษย์ของท่านบางองค์มีอำนาจจิตแก่กล้า บุญญาบารมีสูง ทรงอภิญญา ๖ สามารถทรงตัวอยู่ในสมาธิวิปัสสนาได้เป็นเวลานานถึง ๓ เดือน ก็มี โดยที่ไม่ขบฉันอาหารเลย นอกจากฉันแต่น้ำอย่างเดียวนับเป็นเรื่องมหัศจรรย์

    พระธุดงค์กรรมฐานศิษย์หลวงปู่สี ล้วนเป็นผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก เที่ยวแสวงหาธรรมกันในป่าในเขาถิ่นอันตรายแบบเอาชีวิตเข้าแลกจริงๆ ไม่อาลัยชีวิตยิ่งกว่าธรรม ที่ใดมีเสือ มีอำนาจป่าเร้นลับ น่าสะพรึงกลัว หลวงปู่สีจะสั่งให้พระไปอยู่ที่นั่น เพราะเป็นสถานที่ช่วยกระตุ้นเตือนสติปัญญามิให้นิ่งนอนใจ ความเพียรก็จำต้องติดต่อกันไปเอง และเป็นเครื่องหนุนใจให้มีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติที่ควรจะเป็น ท่านเองก็บาเพ็ญสุขวิหารธรรมอยู่โดดเดี่ยว ในป่าในเขาอันชุกชุมด้วยสัตว์ร้ายสงัดเงียบปราศจากผู้คนทั้งกลางวัน กลางคืน

    การติดต่อกับพวกกายทิพย์ เช่น เทวบุตร เทวธิดา อินทร์ พรหม พญานาค และภูตผีที่มาจากที่ต่างๆ ท่านถือเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องมีจริง เป็นเรื่องลี้ลับพิสดารที่พระธุดงค์กรรมฐานเท่านั้นจะพานพบรู้เห็นได้ เหลือวิสัยที่จะพูดที่จะอธิบายให้ปุถุชนชาวบ้านเข้าใจได้ เพราะปุถุชนชาวบ้านทั่วไปมีความช่างสงสัย เป็นนิสัย

    ชาวบ้านศึกษาเรียนรู้ ช่างจด ช่างจำ ช่างสงสัย หมายรู้เอาด้วยทางวัตถุสิ่งมีตัวตนจับต้องได้.มองเห็นได้ แต่ทางพระ ศึกษาเรียนรู้ทางจิตที่ไม่ใช่วัตถุ การรู้เห็นทางจิตจึงเป็นอาจรู้ด้วยสติปัญญานามธรรม ดังนั้นการเห็นการรู้ของพระและของชาวบ้านจึงแตกต่างกัน

    หลวงปู่สีท่านมีการติดต่อกับพวกกายทิพย์จากโลกวิญญาณ เช่นเดียวกับมนุษย์ติดต่อไปมาหาสู่กันกับพวกมนุษย์ชาติต่างๆ ที่รู้ภาษากันนั่นเอง เพราะท่านชำนิชำนาญในทางนี้มานานแล้ว

    การพบเห็นพวกวิญญาณของท่าน ไม่ใช่สิ่งลวงตาลวงใจ หรือเป็นเพียงภาพมายา หากเป็นเรื่องจริงที่ท่านพิสูจน์เห็นแท้แน่นอนในทุกแง่ทุกมุมไม่ผิดพลาด

    ท่านพักอยู่ในป่าในเขา โดยมากก็ได้ทำประโยชน์ไปรดสัตว์ อบรมสั่งสอนข้ออรรถธรรมแก่พวกกายทิพย์ แต่ละภูมิแต่ละชั้น ตามภูมิปัญญาแต่ละชั้น ให้พวกเขาได้ซาบซึ้งในอรรถธรรม

    พวกชาวป่าชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่นอีอ้อ ขมุ มูเซอ แม้ว เย้า เหล่านี้นับถือผีสางนางไม้ หลวงปู่สีได้แผ่ธรรมะเข้าไปถึงชีวิตจิตใจพวกเขา ทำให้พวกเขาเคารพเลื่อมใสท่านมาก ทั้งทำให้ชาวป่าชาวเขาเป็นคนดีมีสัตย์ มีศีล หันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (cont.)
    พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

    ป่าหลวงพระบาง

    เมื่อคราวที่หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ เดินธุดงค์อยู่ในป่าหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้พบกับพระภิกษุมั่น ภูริทัตโต เดินธุดงค์ในป่าหลวงพระบาง พระภิกษุลีและพระภิกษุมั่น ได้พบกันและร่วมเดินธุดงค์ด้วยกัน ยามพักผ่อนก็สนทนาธรรมกัน

    หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พรรษาอ่อนกว่าหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ๖ พรรษา หลวงปู่สี อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๓๖ ส่วนอายุ อ่อนกว่าหลวงปู่สี ๒๑ ปี หลวงปู่มั่น ชาตะ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๓

    หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ชาตะ วันอังคาร เดือน ๕ ปีระกา ตรงกับวันอังคารที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๒

    พระอาจารย์ทั้งสองถึงจะอายุต่างกัน แต่มีปฏิปทาในการปฏิบัติ มุ่งมั่นในพระพุทธศาสนา จากวัยที่ต่างกัน หลวงปู่มั่นจึงให้การเคารพหลวงปู่สี เรียกหลวงปู่สีว่า ”หลวงพี่”

    ในขณะที่ร่วมเดินธุดงค์ ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า ไม่เฉพาะแต่พระอาจารย์มั่นเท่านั้น ในขณะที่หลวงปู่ปฏิบัติธรรมอยู่ในดง ในป่า หลวงปู่สีท่านได้พบพระที่ชอบปฏิบัติอยู่ตามป่าดงอีกหลายรูปด้วยกัน แต่หากไม่มีใครถาม ท่านก็จะไม่พูดไม่เล่าให้ฟัง เพราะหลวงปู่ท่านเป็นพระพูดน้อย สำรวม มุ่งแต่ปฏิบัติธรรมเป็นชีวิต

    ทราบจากคำบอกเล่าของหลวงปู่บุดดา ถาวโร (อายุ ๑๐๑ ปี) เมื่อคราวนวดให้ท่านตอนท่านอายุได้ ๙๙ ปี

    กลับสู่บ้านเกิด

    ปีพุทธศักราช ๒๕๐ หลวงปู่ธุดงค์กลับมายังบ้านหมกเต่า บะฮี ตำบลเบิด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยมที่บ้านเกิด และจำพรรษาอยู่ที่วัดอิสานหมกเต่า

    หลวงปู่กลับสู่บ้านเกิดของท่านอย่างพระเถระผู้รุ่งเรืองด้วยบารมีธรรม นับจากบรรพชาหลวงปู่สีท่านก็ได้ผ่านช่วงของการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเข้มข้น ตามปฏิปทาทางดำเนินของพระธุดงค์กรรมฐานอย่างแท้จริงเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี

    หลวงปู่สีท่านเป็นผู้มีบุญบารมี มีวาสนาที่ได้มีโอกาสได้รับการวางพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมจากท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ธนบุรี ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นเด็กวัดรับใช้สมเด็จฯ และบวชเป็นสามเณร อยู่นานถึง ๙ ปี และติดตามอาจารย์อินทร์ ธุดงค์อยู่ป่าอีกหลายปี หลวงปู่สีจึงมีพื้นญาณที่แข็งแกร่ง มั่นคงในทางธรรม จวบกับท่านได้มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตหลายรูปแบบ ทั้งพรานป่า พ่อค้า ข้าราชการ ทหารกล้า อาสาศึก ตำรวจหลวงในสมัย รัชกาลที่ ๕ จวบจนท่านมาบรรพชาเป็นพระมุ่งปฏิบัติธรรมตามป่าดง มุ่งแสวงหาธรรมในป่าเขา มิได้เป็นอยู่สบายเช่นพระเมือง

    หลวงปู่สี ท่านได้กลับมาโปรดโยมพ่อ โยมแม่ของท่าน และญาติพี่น้องด้วยกตัญญูและเมตตาธรรม

    อาจารย์ประสงค์ ดีนาน อดีตอาจารย์ใหญ่ และเป็นหลานชายแท้ๆ ของหลวงปู่สี ได้เล่าว่า

    วันหนึ่งมีคณะมาสำรวจประวัติของพระภิกษุในวัดต่างๆ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้สำรวจถามหลวงปู่ถึงชื่อ และฉายา หลวงปู่บอกว่าชื่อ “ลี” นามฉายา “จันทสิริ”. (คำของภาษาท้องถิ่น) นั่นคือหลวงปู่ชื่อ “ลี จันทสิริ” แต่ต่อมาเมื่อท่านมาจำพรรษาอยู่ที่ตาคลีนครสวรรค์ คนทางตาคลีเรียกชื่อท่านเพื้ยนไปว่า หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ

    หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ เป็นพระผู้มักน้อย สันโดษ พูดน้อย ฉันน้อย แต่ทำมาก คือใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน สมถวิปัสสนา ทุกอิริยาบถ ๔ ท่านมุ่งมั่นในการฝึกฝน อบรมจิตด้วยสมาธิภาวนา โดยเพ่งกสิณเป็นอาจิณ ยกระดับจิตให้พ้นตัณหาโอฆะทั้งปวง มุ่งความสะอาด สงบ สว่างแห่งจิต เป็นจุดหมายสำคัญ ปฏิบัติเพี่อหลุดพ้น ตามแนวทางที่พระบรมครูสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แนะไว้ (กักขาตาโร ตถาคตา)

    หลวงปู่สีท่านรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่และของบริหารเครื่องใช้ต่างๆ เป็นอย่างมาก หลวงปู่จะเช็ดถูกุฏิน้อยของท่านด้วยผ้าขี้ริ้วที่สะอาดอยู่เสมอ เช็ดถูจนพื้นขึ้นมันเป็นเงา ท่านจะปัดกวาดใต้ถุนกุฏิน้อย และบริเวณข้างเคียงเป็นประจำ จึงดูสะอาดตาโล่งเตียน และยังได้การบริหารกายคลายเมื่อยขบอีกด้วย

    เรื่องความสะอาดนี้อาจารย์สุพจน์ ผู้อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่สีได้เล่าเน้นให้ฟังอีกเช่นกัน

    สบง จีวร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ต่างๆ ของหลวงปู่สีจะดูสะอาดตาอย่างมาก ในการซักผ้านั้น ท่านไม่ให้ใช้สบู่ (สมัยโน้นมีสบู่กรด สบู่ซันไลต์) เป็นอันขาด ท่านจะใช้ต้มซักหรือซักด้วยน้ำร้อนเท่านั้น เมื่อซักแล้วท่านไม่ค่อยชอบย้อม สีจึงซีดแต่ดูสะอาดตามาก ถ้าจะพึงย้อมผ้า หลวงปู่ก็ให้ยอมด้วยน้ำต้มแก่นขนุน ตามอย่างโบราณของผ้าอาสาวะ

    ตามปกติหลวงปู่สีจะปลงผมทุกวันโกน กลางเดือนและสิ้นเดือน ท่านจะปลงผมด้วยตนเอง โดยไม่ส่องกระจกเงา และปลงผมได้เกลี้ยงเกลาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

    พระปัจจุบันที่เห็นปลงผมด้วยตนเองก็มีอย่างเช่นครูบาสร้อย อยู่ที่ท่าสองยาง แม่ตะวอ จังหวัดตาก ติดชายแดนพม่า

    หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ (ลี จนฺทสิริ) ไม่ฉันเนื้อวัว เนื้อควายเป็นอันขาด ด้วยวัวควายเป็นสัตว์ที่มีคุณต่อมนุษย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

    ท่านหลวงปู่เป็นผู้ที่สำรวมระวังในอาหารการขบฉันตามแบบอย่างของสมณะ อาหารง่าย ๆ ที่ท่านชอบฉัน เมื่ออยู่ที่วัดอิสานหมกเต่า คือข้าวสุกคลุกด้วยกากกะทิที่เคี่ยวเอาน้ำมันมะพร้าวแล้ว และท่านมักแบ่งให้แจกแก่เด็กนักเรียนช่วงพักกลางวัน (เพล) ด้วย

    สมัยนั้นยังไม่มีน้ำมันก๊าดใช้เพื่อให้แสงสว่าง จึงต้องใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวเอาเอง สำหรับน้ำที่ใช้ฉันนั้น ท่านหลวงปู่จะฉันน้ำต้มสุกทุกเวลา ถ้าต้มไม่สุกท่านจะไม่ฉันด้วย ส่วนมากจะเป็นน้ำใบชา น้ำมะตูม น้ำใบกะเพรา น้ำใบเตย รวมทั้งน้ำต้มพืชสมุนไพร ยาสมุนไพรด้วย

    หลวงปู่สีท่านไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ท่านขออยู่ด้วยความวิเวกเงียบสงัด ให้เหมาะแก่การปฏิบัติเพื่อสลัดตัดเสียซึ่งบ่วงแห่งตัณหาทั้งปวง เมื่ออยู่ที่วัดอิสานหมกเต่า ท่านก็เป็น “ครูบาใหญ่” เท่านั้น ไม่รับตำแหน่งเจ้าอาวาส และไม่ว่าจะอยู่ที่วัดไหนๆ ด้วย

    โดยปกติหลวงปู่ท่านจะแยกตัวไปอยู่กุฏิน้อยเพียงรูปเดียว “กุฏิน้อย” ของหลวงปู่สีนั้น ท่านจะให้ยกขึ้นแบบง่ายๆ เป็นการชั่วคราว มีความกว้างยาวพอประมาณ ยกพื้นเตี้ยๆ มีบันไดไม่เกิน ๓ ขั้น แบ่งพื้นเป็น ๒ ระดับ เรียกกันว่าพักล่าง/พักบน พักบนเป็นที่ปฏิบัติกรรมฐาน สมาธิภาวนา จำวัด พักล่างเป็นที่นั่งปกติ ที่ฉัน และทำกิจบางอย่าง ถ้ามีพระเณรญาติโยมไปเยี่ยมไปหา ก็จะนั่งได้เพียงคราวละ ๒-๓ ท่านเท่านั้น

    หลวงปู่สีมีวิธีป้องปรามเด็กๆ ส่งเสียงดังในบริเวณวัด ด้วยการใช้หน้าไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “หน้าถุน” ท่านจะให้ใช้ดินเหนียวคลึงให้กลม ขนาดเท่าผลพุทราเขื่องๆ ตากให้แห้งเก็บไว้ใช้เป็นลูกหน้าถุน ถ้ามีพวกเด็กๆ ส่งเสียงดังให้รำคาญหู แม้จะอยู่ห่างกุฏิน้อย หลวงปู่ก็จะยิงด้วยหน้าถุน ให้ถูกกิ่งไม้ใกล้ๆ เด็ก จนลูกดินเหนียวแตกกระจาย.เด็กๆ จะเงียบกริบทีเดียว ท่านไม่ใช้ปากปรามเด็กๆ อันเป็นการส่งเสียงดังเสียเอง และเป็นการระวังปาก ระวังเสียงของท่าน

    เหตุที่หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ชอบอยู่ที่กุฏิน้อยตามลำพังนั่นเอง ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานสมาธิภาวนา ธุดงค์จาริกอันเป็นอุบายกำราบ ลด ละกิเลสทั้งปวง. จึงสรุปเอาเองว่า ท่านหลวงปู่สีเป็นพระที่ไม่เข้าหมู่เข้าพวก ไปอยู่วัดไหน ก็ให้ยกกุฏิน้อยให้อยู่องค์เดียว ฉันองค์เดียว พอออกพรรษาก็มักจะหนีไปเที่ยวในที่ต่างๆ ไปๆ มาๆ อยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่แน่นอน ญาติโยมนิมนต์ไปงานบุญในละแวกบ้านก็มักจะไม่ไป และที่มองว่าหลวงปู่สีเป็นพระตระหนี่ เห็นแก่ตัวก็มีด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เอื้อให้หลวงปู่ท่านได้อยู่ตามลำพังอย่างสงบเงียบไม่วุ่นวาย เสมือนพระสิทธัตถะได้โอกาสอยู่ลำพัง พระองค์จึงตรัสรู้ได้ เพราะเหตุที่พระเบญจวัคคีย์ฤๅษี พากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเทียว

    ท่านหลวงปู่สีเองก็ไม่เคยอวดตัว ไม่บอกให้รู้ด้วยซ้ำว่าท่านกำลังทำอะไร? กำลังปฏิบัติอะไร? เพื่ออะไร? อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานและญาติโยมทางบ้านเดิมไม่ได้สนใจท่าน ไม่ได้ติดตามถามถึงท่านเท่าที่ควร จะมีก็เพียงในฐานะเป็นญาติใกล้ชิดเท่านั้น

    จึงเป็นเสมือนใกล้เกลือกินด่าง ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมบุญบารมีธรรม เมตตาธรรม จากท่านหลวงปู่สี ในเมื่อท่านเข้าสู่ความเป็นผู้พ้นโลกแล้ว
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (cont.)


    rosebar-2.gif

    ภาพถ่ายสุดท้ายที่หลวงปู่

    ให้หลานชายเป็น “พระทองคำ”

    เมื่อปี ๒๕๐๓ ขณะที่หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ยังอยู่ที่กุฏิน้อยวัดอิสานหมกเต่า พ่อจารย์อ๋อม ดำริห์ หรือ บุญมี แห่งบ้านหนองกระทุง หลานผู้เป็นลูกชายน้องสาวคนที่ ๒ ของท่านหลวงปู่ฝันไปว่า หลวงปู่นำพระพุทธรูปทองคำมาให้ถึงที่บ้าน พ่อจารย์อ๋อมดีใจมากที่ได้พระทองคำ แต่พอตื่นจากหลับก็ไม่เห็นได้ดังฝัน

    เมื่อใคร่ครวญดูก็รู้แก่ใจว่า หลวงปู่สีจะให้ภาพถ่ายของท่านแก่ลูกหลานในคราวนี้อย่างแน่นอน พ่อจารย์จึงไปว่าจ้างช่างภาพจากบ้านหนองหลวง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหนองกระทุง ให้ไปถ่ายรูปหลวงปู่สีไว้ให้ (แทนพระทองคำ) โดยพ่อจารย์เป็นผู้นำไป เมื่อได้กราบนมัสการและแจ้งความประสงค์ต่อหลวงปู่แล้ว ก็ขออนุญาตถ่ายภาพท่านไว้ (ถ้าท่านหลวงปู่ไม่อนุญาตจะถ่ายไม่ติด และบางทีกล้องถ่ายรูปก็เสีย/แตกด้วย) หลวงปู่ถามหลานชายว่า

    “กล้องดีไหม จะถ่ายติดหรือ”

    พ่อจารย์ก็ตอบว่า “ต้องติดแหละครับ เพราะได้ไว้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้ว”

    หลวงปู่บอกว่า “ถ้าจะเอาจริงๆ ก็ให้ท่านปลงกรรมฐานเสียก่อนจึงจะถ่ายได้”

    แล้วหลวงปู่ก็เข้ากุฏิน้อยปลงกรรมฐาน จึงครองผ้าลดไหล่ใส่สังฆาฏิ ออกมานั่งบนเตียงอุปโป (อุโบสถ-ธรรมาสน์ปาติโมกข์) ให้ช่างภาพคนนั้นถ่ายรูปท่าน นับเป็นภาพถ่ายล่าสุดที่ลูกหลานทางบ้านเดิมได้ไว้ เพราะหลังจากนั้นอีก ๒-๓ ปี หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ก็ไปจำพรรษาที่วัดบ้านหนองลุมพุก ตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี (หนองบัวลำภูปัจจุบัน) และนานๆ ท่านจะกลับมารัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ สักคราวหนึ่ง

    เจัาปู่เขาภูเกศา ก็เคารพเชื่อฟังหลวงปู่สี

    บ้านหนองลุมพุก อำเภอโนนสัง อยู่ห่างจากเขาภูเกศาแค่ไปหาของป่าเช้า/เย็นกลับ ไม่พอเหนื่อย ชาวบ้านหนองลุมพุกเคารพนับถือเจ้าปู่ภูเกศามาก และติดข้างกลัวอำนาจลึกลับของเจ้าปู่มากกว่าอย่างอื่น เคารพเกรงกลัวมาตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ พากันเรียกเจ้าปู่ (ชื่อ ผีตาหลุบ) ว่า “หลวงปู่” บ้าง “ผู้เพิ่นเทิงภู” บ้าง แม้แต่พระเณรก็นับถือเกรงกลัวเจ้าปู่ภูเกศา กระทั่งท่านหลวงพ่ออินทร์ หลานหลวงปู่สี ก็ยังเคยถูกเจ้าป่าภูเกศาย่ำยีบีฑามาแล้ว จนเข้าวัดไม่ถูก แต่สำหรับหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ แล้วท่านพูดกับเจ้าปู่ภูเกศารู้เรื่อง เข้าใจกันได้ดี และเจ้าปู่ภูเกศายังเคารพเชื่อฟังท่านอีกด้วย

    เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเจ้าปู่ภูเกศา เข้ามาซ่อนอยู่ใต้กุฏิน้อยของหลวงปู่ ในร่างของงูใหญ่ มีหงอนคล้ายพญานาค เป็นเชิงข่มขู่ให้หลวงปู่กลัว หลวงปู่สีรู้ด้วยญาณและด้วยเมตตาบารมีธรรมจึงพูดขึ้นว่า

    “มาหลบซ่อนอยู่ทำไม เด็กเล็กลูกหลานเห็นเข้า เขาจะกลัวรีบหนีกลับไปให้พ้นบริเวณเสีย”

    พอจบคำพูดของหลวงปู่สี เจ้างูใหญ่ก็เลื้อยหนีหายไปโดยมิชักช้า เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง และมีบ่อยครั้งที่ลูกหลานชาวบ้านหนองลุมพุกถูกเจ้าปู่ภูเกศารังควาญ ก็ได้อาศัยหลวงปู่สีให้ท่านช่วยเหลือ ช่วยพูดจาว่ากล่าวให้เจ้าปู่ภูเกศาเลิกราไป ไม่ก่อกวนให้ได้รับความเดือดร้อน หลวงปู่ก็พูดขอกับเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าปู่ก็ไม่มารบกวนลูกหลานชาวบ้านอีกต่อไป

    หมายเหตุ

    ที่ยกข้อความดังกล่าวมานี้เป็นคำบอกเล่าของอาจารย์ประสงค์ ดีนาน โดยท่านอาจารย์ชนินทร์ ดีนาน หลานชายของหลวงปู่อีกคนรวบรวมข้อมูลและประวัติของหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ส่งมาให้ผู้เขียนเพื่อมิให้ประวัติของหลวงปู่ที่แท้จริงต้องสูญหาย

    โยมพ่อ โยมแม่ของหลวงปู่เป็นคนแข็งแรงมีอายุยืน ต่อมามีการใช้นามสกุล โยมพ่อของท่านได้มาใช้นามสกุล “ดำริห์”

    เชียงผา ดำริห์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ อายุได้ ๑๐๐ ปี ตอนนั้นหลวงปู่สีมีอายุได้ ๘๓ ปี และต่อมา ปี พ.ศ.๒๔๘๕ แม่ข้อล่อ ดำริห์ ก็ถึงแก่กรรมลง อายุ ๑๑๕ ปี หลวงปู่สีอายุตอนนั้น ๙๓ ปี เป็นครูบาใหญ่ อยู่วัดอิสานหมกเต่า อำเภอรัตนะ จังหวัดสุรินทร์

    ตอนโยมแม่อายุมาก ท่านให้โยมแม่มาถือศีลอยู่ที่วัดในตอนนั้น ท่านให้ต่อโลงศพ ตั้งไว้บนศาลาวัดด้วยไม้กระบากแผ่นใหญ่ (ใกล้วัดขณะนั้นเป็นดงไม้กระบาก-ไม้ตะเคียน)

    หลวงปู่สีท่านดูแลเอาใจใส่แม่ท่านอย่างดี จวบจนถึงแก่กรรมลง ท่านจัดแจงงานศพโยมแม่ของท่านเป็นอย่างดี ในช่วงตอนนั้น ท่านจะไม่ไปธุดงค์ที่ไหนไกลๆ เพราะท่านเป็นห่วงโยมแม่ โยมพ่อของท่าน

    จวบจนโยมพ่อโยมแม่ของท่านสิ้นลง ท่านจึงธุดงค์จากวัดอิสานหมกเต่า ไปอยู่ที่วัดหนองเหมือดแอ่ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเป็นหนองบัวลำภู) แต่ก่อนจะจากวัดอิสานหมกเต่า หลวงปู่ท่านได้ปลูกต้นโพธิ์ไว้ ๒ ต้นคือที่หน้าวัด ๑ ต้น และหลังวัด ๑ ต้น ปัจจุบันนี้ (๒๕๓๙) ต้นโพธิ์ทั้งสองใหญ่มาก อยู่คู่วัด “หมกเต่า” อำเภอรัตนะ จังหวัดสุรินทร์

    พบศิษย์จังหวัดเลย (ปี พ.ศ. ๒๔๕๓)

    ในคำบันทึกบอกเล่าของหลานและศิษย์หลวงปู่ลีและจากคำบอกเล่าของ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

    หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เกิด ๑๖ มกราคม ๒๔๓๐ มีจิตใจใฝ่ในธรรม อายุ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพธิ์ชัย บ้านโป่ง จังหวัดเลย พออายุได้ ๒๒ ปี ในพ.ศ.๒๔๕๒ อุปสมบทที่วัดสร้างถ่อ อำเภอเกษมสีมา (ปัจจุบันเป็นอำเภอม่วงสามสิบ) จังหวัดอุบลราชธานี

    พระภิกษุแหวน สุจิณโณ ได้ออกจาริกธุดงค์ไปแต่ลำพังผู้เดียว โดดเดี่ยวดั้นด้นเข้าสู่ป่าเขาลำเนาไพรด้วยดวงใจอันเด็ดเดี่ยว

    พระภิกษุหนุ่มแหวนท่องเที่ยวจาริกไปเรื่อย ๆ หยุดพักตามโคนต้นไม้ชายทุ่งบ้าง ชายป่าห่างไกลจากหมู่บ้านบ้าง เข้าไปในป่าลึก พักบำเพ็ญเพียรตามชะโงกเขาบ้าง ตามเงื้อมผาหรือในถ้ำบ้าง

    บางวันก็ออกมาโคจรบิณฑบาต บางครั้ง ๒-๓ วัน ถึงบิณฑบาตครั้งหนึ่ง อาหารที่บิณฑบาตได้ส่วนมากเป็นข้าวเหนียวนึ่งเป็นปั้นๆ เมื่อได้มาแล้วก็นำมาฉันตามมีตามเกิด เป็นการฉันหรือกินข้าวด้วยความไม่มีอุปาทาน คือไม่มีเจตนากินให้อร่อย แต่เป็นการกินเพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ได้ เพื่อใช้กรรมตามกฎแห่งนามธรรม

    เมื่อท่านฉันข้าวแบบไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในรสชาติอร่อยเช่นนี้ ปัญญาเรื่องอาหารการขบฉันจึงเป็นเรื่องไม่สำคัญ มีก็ฉัน ไม่มีก็ไม่ฉัน ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะจิตใจมีความสุขชื่นฉ่ำสำราญในสมาธิอยู่แล้ว ทุกอิริยาบถ เพ่งเพียรภาวนาเดิน ยืน นั่ง และหลับในสมาธิเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และถูกต้องตามหลักผู้มีสติไม่ประมาท อันได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือ กรรมฐานนั่นเอง

    ย้อนกลับไปในระหว่างที่พระภิกษุหนุ่มแหวนท่องเที่ยวธุดงควัตรอยู่แถวอีสาน แถบถิ่นอุบลราชธานีเข้าสู่จังหวัดเลย ได้พบปะกับพระธุดงค์ในป่าอยู่บ่อยๆ บ้างก็มาจากถิ่นไกล ข้ามมาจากฝั่งลาวก็มี

    แต่แล้วพระภิกษุแหวนก็ได้พบกับพระธุดงค์องค์สำคัญ รูปร่างสูงใหญ่ เป็นพระภิกษุที่อยู่ในวัย ๖๒ ปี ผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีปฏิปทาสูง ลักษณะเป็นผู้มากบุญ จิตเมตตา นั่งปฏิบัติธรรมอยู่บนหน้าผาบนหุบเขาในป่าจังหวัดเลย

    ในเย็นวันนั้น พระภิกษุแหวนจึงได้มีโอกาสเข้าไปกราบพระภิกษุผู้เคร่งปฏิบัติธรรม เพราะตลอดระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ท่านนั่งปฏิบัติอยู่ พระภิกษุแหวนก็มิได้เข้าไปรบกวน จวบจนพระภิกษุผู้เคร่งปฏิบัติท่านออกจากฌาน

    หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ท่านเพ่งมองอยู่ชั่วครู่ แล้วจึงเอ่ยถามพระภิกษุแหวน

    “ท่านมาจากไหน?”

    “ผมมาจากจังหวัดเลยครับ ผมเข้าป่ามาตั้งใจจะแสวงหาที่วิเวกปฏิบัติธรรม” พระแหวนตอบ

    “..อือม..ตั้งใจดี หมั่นภาวนานะ”

    เป็นคำพูดสั้นๆ แต่ได้ใจความ

    ในวันต่อมาหลวงปู่สีได้สอนกรรมฐาน โดยย้ำว่าการภาวนาเป็นพื้นฐาน จงมีสติเป็นเพื่อนอยู่เสมอ

    การเรียนรู้ปฏิบัติธรรมอยู่ด้วย หลวงปู่แหวนได้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วมีความเพลิดเพลินในการปฏิบัติ เมื่อติดขัดอะไรก็เข้าไปเรียนถามหลวงปู่สี หลวงปู่ก็แนะนำให้เป็นอย่างดี และแจกแจงข้อธรรมอย่างละเอียด อย่างเช่นท่านสอนให้รักษา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราให้ดี จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทุกอย่างต้องน้อมเข้ามาหากาย น้อมเข้าหาใจ พระธรรมทั้งหลายให้ยกใจขึ้นเป็นหัวหน้า

    ชำระใจให้บริสุทธิ์ รักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ไว้ รักษาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไว้ หมั่นภาวนา พิจารณาให้ดีนะ...ดั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า

    “ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละคือทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน”

    หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ พิจารณาเห็นว่า พระภิกษุแหวน เป็นผู้ตั้งใจในการปฏิบัติธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ อย่างสม่ำเสมอ วันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นผู้สืบสานพระพุทธศาสนาต่อไปได้ดี

    หลวงปู่ และพระภิกษุแหวน อาจารย์ และศิษย์ได้ออกธุดงค์ บำเพ็ญเพียรเสาะแสวงหาสัจธรรม ร่วมอยู่ในป่าจังหวัดเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๕๔

    พระภิกษุแหวนติดตามหลวงปู่อยู่ ๒ ปี หลวงปู่สีท่านก็ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้พระภิกษุแหวน สุจิณโณ หลายประการ ก่อนแยกย้าย หลวงปู่ก็เน้นสั่งสอนในข้อปฏิบัติของการออกธุดงค์...คือ

    - อย่าปักกลดที่ไหนเกิน ๗ วัน จะทำให้ติดที่

    - ห้ามนอนปักกลดขวางทางสัตว์เดิน

    - ห้ามปักกลดริมน้ำ (นอน) เพราะธรรมชาติสัตว์จะต้องมากินน้ำริมลำธาร

    - ห้ามปักกลดนอนใต้ต้นไม้ใหญ่เกิน ๓ ราตรี เพราะต้นไม้ใหญ่มีรุกขเทวดาอยู่ จะทำให้รุกขเทวดาเดือดร้อน ไม่กล้าอยู่ จะเข้าออกขึ้นลงก็ลำบาก หากไม่จำเป็นห้ามนอนปักกลดใต้ต้นไม้ใหญ่

    จงอย่าลืม ต้องหมั่นพิจารณากรรมฐาน ทุกเช้าจะต้องตื่นมาพิจารณารับอรุณ เดินจงกรม ทำอานาปานสติ ทำจิตให้เป็นสมาธิ ทุกย่างก้าวต้องมีสติเน้อ...

    พบเพชรเม็ดงามที่หนองคาย

    (พ.ศ. ๒๔๖๗)

    หลวงปู่บุดดา ถาวโร เกิดที่หมู่บ้านหนองเต่า ตำบลพุคา อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี นามเดิม (มุกดา มงคลทอง) เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๗

    บิดาชื่อ น้อย มงคลทอง มารดาชื่อ อึ่ง มงคลทอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ชาย ๔ หญิง ๓

    พ.ศ.๒๔๕๘ มีอายุได้ ๒๑ ปี ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารสังกัดกองทัพบก ถ้าใครใกล้ชิดหลวงปู่บุดดา ท่านก็จะพลิกท้องแขนของท่านให้ดูหลักฐานที่สักเอาไว้ คือ ท.บ. ๓ / ๒๕๘๕ หมายถึงทหารบก ปืน ๓ สมัยรัชกาลที่ ๖ ปี ๒๔๕๘

    ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น หลวงปู่อาสาไปรบยุโรป ตอนนี้ท่านเล่าให้ฟังอย่างสนุก ว่าท่านอยากไปรบ ถึงได้ไปสมัคร แต่เขาตัดออก เพราะเหตุอย่างเดียวคือ ท่านกินเหล้าไม่เป็น เขาบอกกับท่านว่า กินเหล้าไม่เป็น ไปไม่ได้ เพราะยุโรปหนาวมาก ทหารที่ไปรบในยุโรปจะต้องกินเหล้าเป็น เพราะเหล้าจะช่วยลดคลายหนาวเย็น ท่านจึงไม่ได้เข้าไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑

    ต่อมาพ้นทหารแล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ ประกอบสัมมาอาชีพ ในด้านเกษตร จนอายุได้ ๒๘ ปี ท่านจึงอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕

    อุปสมบทที่วัดเนินยาว ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีท่านพระครูธรรมขันธ์สุนทร เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูเรือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านได้ฉายาว่า “ถาวโรภิกขุ”

    หลวงปู่ท่านกล่าวเสมอว่า ท่านถือพระอุปัชฌาย์ และพระสงฆ์ ๒๕ รูป เป็นครูบาอาจารย์ของท่านเป็นปฐม ท่านสอนปัญจกรรมฐานให้ในวันอุปสมบท คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยให้พิจารณาเรียงไปตามลำดับและย้อนกลับจนเห็นได้ชัดเจน

    เมื่อพิจารณาก็เกิดเห็นความเป็นจริง คือ ความไม่เที่ยงแท้ มันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งกายและจิตใจ เป็นของหาตัวตนไม่ได้ จะยึดว่าเรา ว่าเขาไม่ได้ ถ้าไปยึดติดในสังขาร ร่างกายก็จะเป็นคน

    ในวันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนบีบนวดให้ท่านหลวงปู่บุดดา ท่านจะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังพร้อมทั้งอบรมธรรมต่าง ๆ ให้ได้รู้ ไม่ว่าจะเรื่องสมัยที่ท่านรับราช ธุดงค์การทหาร และการธุดงค์ไปตามป่าเขา หลวงปู่บุดดา

    ท่านเป็นผู้ที่มีความจดจำ แม่นยำมาก เวลาท่านเล่าให้ฟัง สนุกสนาน ท่านจะเล่าให้ฟังทุกครั้งที่นวดให้ท่าน

    วันหนึ่ง ผมเอ่ยถามท่านว่า “หลวงปู่ครับ หลวงปู่พบหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ เขาถ้ำบุญนาค ตาคลี เมื่อไหร่ครับ”

    หลวงปู่บุดดา ท่านนิ่งไปสักครู่ ท่านจึงตอบว่า

    “หลวงพ่อลี (สี) น่ะ ท่านเป็นคนสุรินทร์ พบท่านเมื่อบวชได้ พรรษาที่ ๓ ที่ป่าจังหวัดหนองคาย

    ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ดี มีความรู้มาก ได้ติดตามธุดงค์กับท่าน ตอนหลังท่านมาอยู่ที่ถ้ำเขาบุญนาค ตาคลี นครสวรรค์

    ธรรมะของหลวงพ่อสี ท่านให้ไว้เมื่อคราวติดตามธุดงค์นั้น หลวงพ่อสีท่านให้ไว้...

    เป็นพระป่า

    - อย่ากลัวอด

    - อย่ากลัวเจ็บ

    - อย่ากลัวตาย

    ถ้าไม่กลัว ในสิ่งเหล่านี้ รักษาวินัย หมั่นภาวนา พิจารณากรรมฐาน ก็จะธุดงค์ไปได้อย่างไม่มีอันตราย”

    หลวงปู่บุดดา ถาวโร ท่านเล่าว่าพรรษาที่สาม หลวงปู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พอออกพรรษาท่านก็ออกธุดงค์เข้าป่าแถบป่าเมืองหนองคาย และได้พบหลวงพ่อสี (หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ) และได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่สี ขณะนั้นหลวงปู่อายุได้ ๙๕ ปี พ.ศ.๒๔๖๗

    ในเรื่องการเคารพนับถือที่หลวงปู่บุดดา ถาวโร ที่มีต่อหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ นั้น จะเห็นได้จากแม้ในบางครั้งท่านจะเจ็บป่วยอย่างไร เมื่อถึงวาระท่านจะต้องไปกราบหลวงปู่ ทุกปี บางครั้งอาพาธจนลงจากรถไม่ได้ ก็ให้คนขับรถพาท่านไปที่เขาถ้ำบุญนาค แล้วท่านก็กราบนมัสการหลวงปู่จากในรถตู้ที่เป็นพาหนะของท่าน

    นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางเรื่องเท่านั้น ที่หลวงปู่บุดดา ถาวโร ที่มีความเคารพศรัทธามั่นคงต่อหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ

    นอกจากหลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่บุดดา ถาวโร ที่พบพานหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ในระหว่างธุดงค์อยู่ในป่า มีความศรัทธาในปฏิปทา อาจรักษาพระวินัยที่มั่นคง มีความรอบรู้แตกฉานในข้อธรรม จนมอบตัวเข้าเป็นศิษย์ แล้วยังมีพระอาจารย์อีกหลายรูปด้วยกัน ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สี อาทิเช่น.:.

    - หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ตาคลี นครสวรรค์

    - หลวงพ่อทบ วัดชนแดน เพชรบูรณ์

    - หลวงพ่อเจริญ วัดตาลานใต้ ผักไห่ อยุธยา

    - หลวงพ่อจ้อย วัดสายชลรังษี (วัดแหลมบน) จังหวัดฉะเชิงเทรา

    - พระครูนิวิปริยคุณ (อาจารย์สมบูรณ์ ปริสัมปุณโณ) เจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำบุญนาค ตาคลี นครสวรรค์

    - พระอาจารย์รักษ์ เตชธัมโม (อยู่พิษณุโลก) เป็นผู้ดูแลหลวงปู่สีตอนอยู่วัดเขาถ้ำฯ

    - พระอาจารย์สุพจน์ (อาจารย์เจ็ก) ฉนฺทชาโต วัดเขาถ้ำบุญนาค ตาคลี

    - พระอาจารย์จันทร์ (ญาครูจันทร์) วัดจันทราราม จังหวัดสุรินทร์

    - พระอาจารย์ประเทือง พุทธธมฺโม วัดสัมปทวนนอก ตำบลบางแก้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา

    - หลวงปู่เย็น ทานรโต วัดสระเปรียญ ชัยนาท

    - พระครูวิศิษธ์สมโพธ์ วัดโพธิ์ท่าเตียน กรุงเทพฯ

    - พระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

    ที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงบางองค์เท่านั้น เท่าที่ได้ฟังคำบอกเล่าจากหลวงปู่บุดดา ถาวโร และหลวงปู่เย็น ทานรโต เพราะพระอาจารย์ทั้ง ๒ องค์นี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปถวายการนวดหลายครั้งจึงมีโอกาสถามเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากพอสมควร แต่ก็คงมีอีกหลายองค์ด้วยกันที่มิได้กล่าวถึงในที่นี้

    โดยเฉพาะหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ จนถึงกาลมรณะของหลวงปู่สี

    ในส่วนพระสหธรรมมิกของหลวงปู่ที่ปรากฏชัดเจนก็มีหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ อยุธยา หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท หลวงพ่อป่าน วัดคลองด่าน (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ

    พระอาจารย์ของหลวงบู่สี ฉนฺทสิริ

    ๑. พระอาจารย์อินทร์ พระธุดงค์ จังหวัดสุรินทร์ (พ.ศ.๒๔๐๒)

    ๒. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง บางกอกน้อย ธนบุรี (พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๑๑)

    ๓ พระครูธรรมขันธ์สุนทร พระอุปัชฌาย์ (พ.ศ.๒๔๓๑) วัดบ้านเส้า อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

    ๕. พระเทพโลกอุดร (ตอนธุดงค์อยู่ในป่า) (คำบอกเล่าของหลวงปู่เย็น ทานรโต วัดสระเปรียญ ชัยนาท พระสหธรรมมิกของหลวงปู่บุดดา ถาวโร หลวงปู่กอง วัดสระมณฑล สหายธรรมของปู่โทน หลำแพร อายุ ๑๐๐ ปี ปู่โทนเป็นสาย “หลวงปู่พระครูเทพโลกอุดร เป็นอาจารย์คนหนึ่งของอาจารย์สมบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้แนะนำอาจารย์สมบูรณ์ สำนักสงฆ์เขาถ้ำบุญนาค ให้ไปนิมนต์หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ให้มาช่วยสร้างสำนักสงฆ์เขาถ้ำให้เป็นวัดในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ )
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (cont.)

    ปู่โทน หลำแพร


    ฆราวาสผู้รอบรู้ธรรมและไสยเวทย์

    ปู่โทนเล่าว่า หลวงปู่สีท่านเป็นพระผู้วิเศษองค์หนึ่ง ท่านรู้ด้วยญาณทิพย์ว่าจะมีผู้มารับไปสร้างบารมี ท่านจึงเตรียมตัวคอยอยู่แล้ว ทำให้ทุกคนที่ไปนิมนต์หลวงปู่ต่างแปลกใจไปตามกัน

    ขณะนั้นหลวงปู่ลีท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองลุมพุก ตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) พ.ศ.๒๕๑๒

    หลวงปู่ลี ฉนฺทสิริ จึงมาจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์เขาถ้ำบุญนาค ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ อันเป็นวันวาระสุดท้ายกาลมรณะของท่าน

    ปู่โทน หลำแพรท่านเกิด พ. ศ. ๒๔๓๐ ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๔๐ ท่านยังแข็งแรงไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว รูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรง พูดเสียงดังฟังชัด

    ปู่โทน หลำแพร ท่านมีความเคารพเชื่อมั่นในหลวงปู่พระครูเทพโลกอุดรมาก ท่านจึงติดตามทราบประวัติครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่เป็นศิษย์สาย “พระครูเทพโลกอุดร” เป็นอย่างดี

    พระอาจารย์หลายองค์ที่ผู้เขียนติดตามประวัติของหลวงปู่พระครูเทพโลกอุดร ส่วนหนึ่งก็ได้มาจากปู่โทน และอีกส่วนก็ได้มาจากหลวงปู่เย็น ทานรโต เจ้าตำรับตัว “พ” อันโด่งดัง เป็นพระปฏิบัติที่มีปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส

    ปู่โทน หลำแพร ในสมัยตอนเป็นหนุ่มเป็นผู้ใฝ่ธรรมเคยบวชเรียนและได้มีโอกาสพบพระธุดงค์รูปหนึ่ง จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใสได้ติดตามพระธุดงค์รูปนั้นและมีโอกาสได้ศึกษาข้อธรรมและวิชาความรู้ ต่อมาจึงได้ทราบว่าพระธุดงค์รูปนั้นคือ “พระครูเทพโลกอุดร” และหลวงปู่พระครูเทพโลกอุดร ได้ให้โอวาทการปฏิบัติกรรมฐาน

    “การปฏิบัติธรรมทางด้านจิตนั้น จงเป็นผู้มีสติปัญญา รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของจิตทุกลมหายใจเข้าออก และทุกอิริยาบถ เมื่อรู้เท่าทันจิตแล้ว ต้องรู้รักษาจิต จงดูจิตเคลื่อนไหว อย่าหวั่นไหวไปตามจิต จงดูพฤติการณ์ของจิตเฉยๆ ด้วยอุเบกขาจิต”

    นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ติดตามไปในโลกทิพย์ ได้รู้ได้เห็นบาป บุญ คุณ โทษ จึงเป็นองค์แทนคนหนึ่ง ในการเผยแพร่ธรรมให้มนุษย์ชาวโลกให้รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ พร้อมทั้งปลูกย้ำให้เห็นว่า นรก-สวรรค์มีจริง ให้หมั่นทำความดี ละบาป สร้างบุญกุศล

    ปู่โทน หลำแพร ต่อมาท่านจึงได้นำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็นมา นำมาเผยแพร่ อบรมสั่งสอนให้ผู้คน ลูกศิษย์ลูกหารักษาศีล ปฏิบัติธรรม สั่งสมสร้างสรรค์ความดี ละบาป มุ่งสร้างบุญสร้างกุศล ปู่โทนถึงท่านจะมิใช่นักบวช แต่ท่านก็เป็น “ฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรม” นำพาลูกศิษย์ร่วมกันทำแต่ความดี ช่วยสังคม ช่วยชาติ ช่วยบำรุงพระพุทธศาสนา

    หลวงปู่เย็น ทานรโต

    เจ้าตำรับตัว “พ” พระสหธรรมิก กับ หลวงปู่บุดดา ถาวโร

    หลวงปู่เย็น ทานรโต วัดสระเปรียญ ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เกิดวันเสาร์ เดือนสี่ ปีขาล พุทธศักราช ๒๔๔๕ เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

    อุปสมบท พ.ศ.๒๔๖๖ วัดเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาย้ายมาอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เป็นมหาเปรียญ ๕ ประโยค ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น พูดถึง “มหาเย็น” ทุกคนแถบแถวละแวกนั้นจะรู้จักดี ท่านเป็นพระนักเทศน์ นักปฏิบัติที่เคร่ง เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตรที่งดงามในสมัยนั้น ท่านฉันมังสวิรัติ ถือสันโดษ ไม่เกาะติดยึดมั่นกับสิ่งใด มุ่งแต่จะศึกษาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ต่อมาได้เป็นผู้สร้างวัดร้างให้เจริญรุ่งเรือง อาทิเช่น วัดกลางชูศรีเจริญสุข ตำบลพักทัน จังหวัดสิงห์บุรี ท่านไปพบเป็นเพียงเศษอิฐหัก ๆ กองสุม มีพื้นฐานเป็นเจดีย์เก่า ท่านก่อสร้างฟื้นฟูจนเจริญรุ่งเรืองดังเช่นปัจจุบัน และวัดสระเปรียญ สรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ในสมัยที่ผู้เขียนบวชอยู่ ได้ไปปรนนิบัติหลวงปู่เย็น ท่านเคยชวนให้ไปดูวัดร้าง มีแต่ซากปรักหักพังและกองอิฐ อยู่ไม่ห่างจากวัดกลางชูศรีฯ เป็นเขตแดนติดต่อระหว่างสิงห์บุรี กับชัยนาท ต่อมาท่านก็มาสร้างขึ้นเป็นวัดอีกเช่นกัน

    เรื่องราวของหลวงปู่พระเทพโลกอุดร ท่านเล่าให้ฟังว่า

    ในสมัยนั้นท่านยังจำพรรษาอยู่ที่วัดระฆัง ธนบุรี วันหนึ่งท่านเห็นพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินแบกกลดสะพายบาตรผ่านมา พอท่านเห็นก็เกิดความเลื่อมใส จึงเข้าไปกราบนิมนต์ขอให้พระธุดงค์รูปนั้นเข้ามาพักที่กุฏิของท่านก่อน เมื่อพระธุดงค์รูปนั้นเข้ามาพักที่กุฏิของท่าน จึงเอาน้ำมาถวาย หากาสนะมาปูให้นั่งพักผ่อน พอพระธุดงค์ฉันน้ำเรียบร้อยสักพัก ท่านก็ถามพระธุดงค์ว่า

    “หลวงพ่อจะไปไหน?”

    ท่านก็ตอบว่าจะไป “ธุดงค์”

    พระธุดงค์รูปนั้นก็เล่าถึงเรื่องการเดินธุดงค์ไปยังเมืองลาวให้ฟังว่า ต้องเดินทางผ่านป่าเขาซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายและไข้ป่า ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ต้องเดินผ่านเข้าไปยังหมู่บ้านหนึ่ง เรียกว่า “บ้านแก้ว”. ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เลื่องลือในเรื่องยาพิษยาสั่ง คนแปลกหน้าเดินผ่านหมู่บ้านนี้ไม่ได้ จะต้องถูกยาสั่งเสมอ น้อยคนที่จะผ่านหมู่บ้านนี้ได้อย่างปลอดภัย

    หลวงปู่เย็นได้ฟังดังนั้น เกิดความสงสัยจึงถามพระธุดงค์ว่า

    “ท่านไม่กลัวเขาทำให้ตายหรือ?”

    พระธุดงค์ก็ตอบเป็นปริศนา..

    “เขาทำให้ตาย กินข้าวได้ เราไม่กลัว”

    ต่อจากนั้นก็สนทนาเรื่องอื่นๆ จึงรู้ว่าพระธุดงค์ที่ท่านสนทนาอยู่ด้วยนั้น ไม่ใช่พระธรรมดา เป็นพระอภิญญาผู้เรืองวิทยาคม

    หลวงปู่เย็นจึงเอ่ยขึ้นว่า ท่านธุดงค์ไปทั่วสารทิศไม่ว่า เมืองแขก เมืองลาว เขมร พม่า ไทย หลวงพ่อจะต้องมีของดี ท่านก็บอกว่ามี และเหมือนจะรู้ใจว่า หลวงปู่เย็นอยากจะขอของดีจากท่าน ท่านก็ให้หลวงปู่เย็นไปหยิบก้านธูปที่บูชาพระมาให้ท่าน

    ท่านก็หักก้านธูปเป็นตัว “พ” แล้วเอาด้ายสายสิญจน์มาพันตัว “พ” พร้อมทั้งสาธุยายมนต์กำกับตัว “พ” ให้ฟัง พอเสร็จท่านก็ส่งมอบให้ และบอกว่า

    “เป็นแก้วสารพัดนึก สามารถให้เป็นไปตามปรารถนาได้ทุกประการ”

    ของวิเศษนี้ สร้างขึ้นง่ายดาย ไม่ต้องใช้วัสดุอื่นให้ยุ่งยาก ใช้แต่ก้านธูปที่บูชาพระและด้ายสายสิญจน์เท่านั้น พอท่านรับของวิเศษตัว “พ” ท่านก็ก้มลงกราบ แต่น่ามหัศจรรย์ พอเงยหน้าขึ้น พระธุดงค์รูปนั้นก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย

    ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ถือว่าพระธุดงค์รูปนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของท่าน แต่ท่านก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร?

    ต่อเมื่อภายหลังมีผู้เอารูปหลวงพ่อพระครูเทพโลกอุดรมาให้ท่านปลุกเสก ท่านจึงจำได้ว่าเป็นพระองค์ที่มาถ่ายทอดตัว “พ” ให้ จึงถามผู้นั้นว่า

    ”เอามาจากไหน? ข้าขอสักรูปได้ไหม”

    ศิษย์คนนั้นก็ขยายรูปใหญ่มาถวายให้ท่าน ท่านเล่าพร้อมกับชี้นิ้วไปที่รูปพระครูเทพโลกอุดร ที่ตั้งบูชาไว้ที่บนหัวนอนของท่าน

    ต่อมาท่านก็ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ท่านเล่าว่า “ใครว่าที่ไหนดี กูก็ไป ใครว่าพระองค์ไหนเก่ง กูไปขอเป็นศิษย์”

    “มีใครบ้างล่ะหลวงปู่...” ผมถาม

    นอกจากพระครูเทพโลกอุดร องค์ต่อไปก็หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา สุพรรณ เจ้าคุณศรี วัดพระธาตุ หลวงพ่อสี พระธุดงค์ในป่า (หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ)

    พอเอ่ยถึงหลวงพ่อสี ผมก็ถามท่านว่า

    “หลวงปู่พบหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ที่ไหน”

    ผมพูดพร้อมทั้งเอารูปหลวงปู่สีให้ดู

    ท่านบอกว่า

    “พบในป่าแถบลพบุรี ท่านเป็นพระดี พระเก่ง พูดน้อย ปฏิบัติมาก เวลาไปไหน? พบต้นไม้ใหญ่ ๆ ท่านจะยืนคุยกับรุกขเทวดา สักพักท่านจึงเดินทางต่อไป เวลาท่านพักตามถ้ำ จะได้ยินท่านพูดคุยกับรุกขเทวดา บางครั้งท่านก็แสดงธรรมแผ่เมตตา หลวงพ่อสี ท่านเป็นพระที่มีเมตตา หลวงพ่อสี ท่านเป็นพระแท้ เป็นพระทองคำ”

    หลวงปู่เย็น ทานรโต เทพเจ้าแห่งตัว “พ” ท่านกล่าวถึง หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ด้วยหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยจิตใจที่ยกย่องเคารพบูชา...

    ย่นระยะทางไปพบสหายธรรม

    ในสมัยที่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่สีมักจะเดินทางไปสนทนาธรรมกันอยู่บ่อยครั้ง ในบางครั้งหลวงปู่ศุขก็เดินทางไปพบหลวงปู่สี และบางครั้งก็ไปพบกับหลวงปู่สี และบางครั้งก็ไปพบกับหลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ ทั้งสามท่านมีความผูกพันกันมาก มักจะผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปพบซึ่งกันและกัน และในบางครั้งก็ออกธุดงค์ไปตามป่าดงพงเขาด้วยกันในบางครั้งบางคราว

    พระสหธรรมทั้งสาม หลวงปู่กลั่น หลวงปู่ศุข หลวงปู่สี ทั้งสามเกิดปี พ.ศ.ใกล้เคียงกัน หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ เกิดปี พ.ศ.๒๓๙๐ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระอาจารย์ของกรมหลวงชุมพรฯ เกิดปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ส่วนหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ เกิดปี พ.ศ. ๒๓๙๒ ซึ่งอ่อนกว่าทั้งสองท่านเพียง ๒ ปี แต่พระอาจารย์ทั้งสามท่านก็มีความผูกพันกัน ธุดงค์และศึกษาปฏิบัติธรรมด้วยกัน มีอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน

    ในครั้งที่หลวงปู่ศุขเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงปู่สีได้เดินทางไปเยี่ยมและอยู่สนทนาธรรมกัน หลังจากที่ออกพรรษาแล้วหลายวัน หลวงปู่สีก็คิดว่าจะออกเดินธุดงค์ต่อไป แต่หลวงปู่ศุขก็ขอร้องให้หลวงปู่สีรออยู่ที่วัดก่อน

    เช้าวันนั้นหลวงปู่ศุขท่านก็ออกบิณฑบาต ฝ่ายหลวงปู่ลี พอเห็นหลวงปู่ศุขไปแล้วท่านก็เก็บของของท่านที่จำเป็นแล้วออกเดินทางไป

    เมื่อหลวงปู่ศุขกลับจากบิณฑบาต ทราบจากพระในวัดว่าหลวงปู่สีท่านไปแล้ว หลวงปู่ศุขจึงให้พระเณรฉันข้าวก่อน เดี๋ยวจะกลับมาฉันด้วย ต่อจากนั้นท่านก็เข้ากุฏิ นำพระคัมภีร์ ๓ เล่ม ตามไปให้หลวงปู่สี

    ปรากฏว่าพระอาจารย์ทั้งสองรูปมาพบกันที่ตาคลี จากนั้นหลวงปู่ศุขท่านก็เดินทางกลับวัดที่ชัยนาท ไปฉันอาหารร่วมรับพระเณรจนเสร็จ

    พระอาจารย์ทั้งสามรูปนี้ท่านสำเร็จอภิญญาชั้นสูง จึงสามารถย่นระยะทางไปไหนมาไหนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระยะทางจากชัยนาทมาถึงตาคลี ระยะทางประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลเมตร ถ้านั่งรถก็ต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงเห็นจะได้

    ในเรื่องฤทธิ์เดชต่างๆ นี้ เวลาที่ลูกศิษย์ถามหลวงปู่ท่านจะแกล้งล้มตัวลงนอน ไม่ตอบคำถามของลูกศิษย์ แต่หากถามเรื่องธรรมะต่างๆ ท่านก็จะขยายข้อธรรมให้อย่างชัดเจน เพราะท่านไม่ต้องการให้ลูกศิษย์โดยเฉพาะพระภิกษุไปติดในเรื่องเดชฤทธิ์อำนาจ ท่านต้องการให้ใฝ่ใจในเรื่องการปฏิบัติธรรม
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (cont.)

    ปาฏิหาริย์ แยกกายโปรดโยม

    เมื่อราวต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางวัดเขาถ้ำบุญนาค ตาคลี ได้จัดให้มีงานประจำปีขึ้น ซึ่งไปตรงกับงานอีกวัดหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งทางวัดก็ได้นิมนต์หลวงปู่สี ไปโปรดญาติโยมชาวจังหวัดชลบุรี ในงานที่วัด หลวงปู่สี ท่านก็รับปากว่าจะไป ในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๙

    งานวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๙ ที่วัดในจังหวัดชลบุรีที่ได้นิมนต์หลวงปู่ไว้ หลวงปู่ท่านก็ไปประพรมน้ำมนต์ให้ญาติโยมในงานที่วัดชลบุรี ตามคำนิมนต์

    ต่อมาวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๙ ชาวจังหวัดชลบุรี ก็เหมารถมาเที่ยวที่วัดเขาถ้ำบุญนาค ตั้งใจมากราบหลวงปู่สี เพราะติดใจหลวงปู่สี ที่ได้กราบรับพรจากหลวงปู่เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๙ ที่วัดในจังหวัดชลบุรี

    ข่าวหลวงปู่เดินทางไปจังหวัดชลบุรี ในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๙ แพร่ออกไป เหล่าลูกศิษย์หลวงปู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค ต่างก็แปลกใจและงงไปตามๆ กัน เพราะว่าทุกคนก็เห็นว่าวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๙ นั้นหลวงปู่ท่านไม่ได้ไปไหน ท่านอยู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาคตลอดเวลา เพราะว่าทางวัดมีงาน มีคนมากราบไหว้หลวงปู่อยู่ตลอดเวลา

    พระและลูกศิษย์ที่วัดเขาถ้ำบุญนาคจึงไปกราบถามหลวงปู่ว่า

    “หลวงปู่ครับ เมื่อวานหลวงปู่ไปเมืองชลบุรีมาหรือครับ”

    หลวงปู่ท่านไม่ตอบ พอมีคนมาถามนัก ท่านก็เลยล้มตัวลงนอน เลยไม่มีใครกล้าถามอะไรท่านอีก

    เมตตาธรรม

    ความเมตตาของหลวงปู่สีนั้นท่านมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเทพเทวา รุกขเทวดา ดวงวิญญาณทั่วไป ท่านจะโปรดแผ่เมตตาจิตไปให้ อีกทั้งมนุษย์ และสัตว์ทั่วไปจะเห็นได้จากเวลาที่หลวงปู่สีท่านฉันอาหารจะมีสัตว์ต่าง ๆ มารายล้อมท่าน อาทิ นก ไก่ ลิง แมว สุนัข ท่านก็หยิบอาหารแบ่งให้สัตว์เหล่านั้น สัตว์นานาชนิดเหล่านั้นก็ต่างกินอาหารกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่แย่งกัน ไม่กัดกัน ท่านจะนั่งมองด้วยสายตาที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตา

    ครั้นถึงเวลานอน ก่อนที่ท่านจะเข้านอนท่านจะต้องเอาเศษผ้าจีวร และผ้าเก่า ๆ มาเดินห่มให้ แมว สุนัขทุกลัว ที่นอนอยู่ในบริเวณกุฏิของท่านอย่างทั่วถึง

    หลวงปู่ท่านมีความเมตตาต่อสัตว์มาก ท่านจะสนใจให้ข้าวให้น้ำ มันกินอยู่เสมอ บางคราวท่านเห็นว่ามันจะได้รับอันตราย ท่านก็จะเอาเศษผ้าเช็ดน้ำหมากของท่านฉีกผูกคอทั้งสุนัข แมว ไก่ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นถูกพวกขี้เหล้าเมายาอันธพาลรังแก ทำร้าย ท่านจึงได้พิจารณาแผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ นำเอาผ้าเช็ดน้ำหมาก ผูกคอคล้องคอให้สัตว์เหล่านั้น ถึงแม้ว่าสัตว์เหล่านั้นจะถูกทำร้าย ถูกรังแกนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ปรากฏว่าสัตว์เหล่านั้นไม่เคยมีตัวใดได้รับอันตรายเลย ไม่ว่าจากอาวุธชนิดใด มีด ปืน ระเบิดยิงออกบ้าง ไม่ออกบ้าง สุดแต่วิบากของสัตว์เหล่านั้นในเวลานั้น หนักจะเป็นเบาและปลอดภัย

    รถทับไก่

    มีอยู่คราวหนึ่ง มีนายทหารท่านหนึ่งได้ยินกิตติศัพท์ของท่านจึงขับรถเบนซ์ของตนเดินทางไปเพื่อกราบพบหลวงปู่ท่าน ครั้นเมื่อไปถึงได้เห็นหลวงปู่นั่งยองๆ อยู่ในกุฏิ เปลือยกายท่อนบน กุฏิของท่านมีแต่สุนัข แมว แถมเป็นขี้เรื้อนด้วย ก็เกิดความรังเกียจไม่เลื่อมใส ก็เลยไม่ยอมเข้าไปกราบ เดินมาขึ้นรถกลับ แต่ในขณะนั้นมีไก่ซึ่งหลวงปู่เลี้ยงไว้ ได้เดินเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถพอดี

    นายทหารผู้นั้นไม่ทันเห็นจึงขับรถออกไป ทำให้ล้อรถทับไก่เข้าเต็มที่ ผู้คนที่อยู่ในวัดต่างร้องขึ้นด้วยความตกใจ ทำให้นายทหารผู้นั้นต้องหยุดรถลงมาดู คิดว่าคงเละแน่ แต่ผลกลับปรากฏว่าไอ้ตัวนั้นไม่เป็นอะไรเลย หลังจากถูกทับแล้ว มันขยับปีกไปมาสักชั่วอึดใจ แล้วก็เดินจากไปคุ้ยเขี่ยหากาหารกินของมันตามปกติ เท่านั้นแหละ นายทหารผู้นั้นถึงกับตะถึงงัน รีบถอยรถกลับไปกราบนมัสการหลวงปู่ทันที พร้อมทั้งขอของดีไว้ใช้ติดตัว ทราบว่าได้ไปหลายอย่างทีเดียว

    ไก่กับระเบิด

    ภายหลังนายทหารผู้นั้นกลับไป ได้มีผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคน เดินทางมากราบหลวงปู่อีก เพื่อขอวัตถุมงคล ในระยะนั้นหลวงปู่ท่านยังไม่อนุญาตให้สร้างวัตถุมงคล ท่านจึงคายชานหมากให้ไปกันทุกคน มีทหารผู้หนึ่งซึ่งได้ชานหมากไปด้วย ก็คิดลองดีว่าจะแน่สักแค่ไหน เลยเอาไปแขวนคอไก่ พอไก่เดินออกไปได้ระยะพอสมควร ก็สั่งเพื่อนๆ หมอบ พร้อมทั้งโยนระเบิดสังหารเข้าใส่ไก่ตัวนั้นทันที

    ตูม...เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว ไก่มันตกใจก็บินขึ้นและตัวมันก็เจอระเบิดเข้าเต็มที่ ขนหลุดปลิวว่อนไปหมด แต่พอมันหล่นลงพื้น ก็มีอาการซวนเซเล็กน้อย ชั่วครู่ก็ออกหากินได้ต่อไป ไม่เป็นอะไรเลย ไม่มีแม้แต่บาดแผล

    นายทหารผู้เป็นนายได้ทราบเรื่องเข้า มีความเชื่อมั่นในองค์หลวงปู่ยิ่งขึ้น แต่ก็โกรธมากเช่นกัน ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำการทดลองในลักษณะนั้น ผลที่สุดก็สั่งกักบริเวณทหารผู้นั้นไปเสีย ๑๕ วันสบาย ๆ

    หลวงปู่นั้นอันที่จริงแม้ว่าท่านจะหยิบจะจับอะไรล้วนแล้วแต่กลับกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปทั้งสิ้น.แม้แต่ผ้าที่ท่านใช้เช็ดปากเช็ดน้ำหมากก็ตามที ท่านมักฉีกเอาไปผูกคอสุนัขบ้าง แมวบ้าง ด้วยเมตตามันที่มันถูกรังแกบ่อยๆ

    ครั้งหนึ่งมีสุนัขบ้านใกล้ๆ วัด หลงเข้ามาคลุกคลีกับท่าน จึงเอาผ้าเช็ดน้ำหมากฉีกผูกคอมันไป ต่อมาสุนัขตัวนั้นไปรบกวนสัตว์อื่น เช่น เป็ด ไก่ จนกระทั่งเจ้าของสัตว์ปีกเหล่านั้นเหลือจะทน จึงใช้ปืนลูกซองยิงมัน แต่ปรากฏว่าด้วยอานุภาพผ้าเช็ดน้ำหมาก ยิงถูกแต่ไม่เข้า สุนัขตัวนั้นวิ่งกลับไปยังบ้านเจ้าของของมัน ผู้เห็นเหตุการณ์นำเรื่องไปบอกเล่าให้เจ้าของฟัง ก็เลยเกิดการถอดผ้าผืนนั้นเก็บไว้บูชาเสียเอง ภายหลังเมื่อสุนัขตัวนั้นเข้าไปในวัดอีก หลวงปู่ท่านก็เมตตาผูกให้มันใหม่ และจากเหตุนี้เอง ทำให้ผ้าเช็ดน้าหมากของท่านอันตรธานไปบ่อยๆ แต่ใช่ว่าหลวงปู่ท่านจะหลงลืม เปล่าเลย ท่านจำของท่านได้ว่าท่านมีของท่านกี่ผืน จนกระทั่งท่านบ่นว่า.เอาไปทำไมกัน แต่ก็ห้ามศรัทธาของชาวบ้านไม่ได้

    หลังจากเหตุการณ์ต่างๆ ได้ร่ำลือกันไปสู่สาธารณชนทั่วไป ดังนั้นผู้ที่ได้รับทราบกิตติคุณของหลวงปู่ ต่างก็เดินทางไปกราบไปนมัสการ ทั้งจากที่ใกล้และที่ไกล ต่างก็อยากได้แต่ขี้หมากชานหมากของท่าน จนท่านเคี้ยวหมาก ฉันหมากแจกให้ไม่ทัน และไม่พอแจก นี่เองจึงเป็นเหตุให้ท่านต้องอนุญาตให้บรรดาศิษย์ผู้ที่เคารพในองค์ท่านสร้างวัตถุมงคลขึ้น แม้ท่านไม่อยากให้สร้าง

    เพราะไม่ต้องการชื่อเสียงก็ตาม แต่ในที่สุดก็ทนต่อคำอ้อนวอนขอร้องของบรรดาศิษย์ไม่ได้

    ก่อนที่จะกล่าวถึงการสร้างวัตถุมงคลของท่าน ขอกล่าวถึงชานหมากของท่านสักเล็กน้อย หลวงปู่ท่านเมื่อคายชานหมากแล้ว ก่อนมอบให้ผู้ใด ท่านจะจำมาแบ่งเป็นก้อนๆ ซึ่งคำหนึ่งได้เพียง ๓-๔ ก้อนเท่านั้น แล้วท่านจะฉีกผ้าเช็ดหมาก

    บ้าง ผ้าจีวร สบง ผ้าอาบน้ำฝน สีส้มๆ ห่อแล้วผูกไว้อย่างดี จึงมอบให้ผู้ต้องการรับเอาไปติดตัวใช้ หากท่านสาธุชนท่านใดได้พบเห็นห่อผ้าเหลืองกลม ๆ มีขี้หมากอยู่ข้างใน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เซนติเมตรละก็ ให้ทราบได้เลยว่า ท่านได้พบสุดยอดวัตถุมงคลแล้ว หรือหากท่านใดมีไว้ในครอบครองอยู่แล้ว ก็พึงเก็บรักษาไว้ให้ดี นั่นเพราะเป็นสุดยอดวัตถุมงคลจริงๆ และหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากจนถึงวันนี้เวลานี้ ไม่มีใครมาเคี้ยวมาฉันให้เราอีกแล้ว เพราะหลวงปู่ได้มรณภาพไปตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ เป็นเวลาถึง ๒๐ ปีแล้ว ผู้ใดมีไว้ในครอบครองพึงหวงแหนอย่างยิ่ง

    ในยุคสมัยโบราณนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่นิยมสร้างพระเครื่อง หรือสร้างรูปหล่อรูปท่านเอง ถ้าจะสร้างก็เป็นการสร้างเพื่อเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา ในการบรรจุลงในพระเจดีย์ต่างๆ ที่สำคัญ หรือบรรจุไว้ในองค์พระประธาน ใต้ฐานพระประฐาน จะไม่ทำซื้อขายจ่ายแจกกันอย่างมากมายเช่นในยุคปัจจุบัน

    วัตถุมงคลที่นิยมสร้างขึ้นแจกให้ลูกศิษย์ลูกหาหรือคนที่สนิท ก็จะเป็นพวกผ้ายันต์มงคล แหวนพิรอด เสื้อยันต์ ตะกรุด เบี้ยแก้ เบี้ยกัน ลูกอม ลูกอมที่แจกก็มีลูกอมที่ทำมาจากเนื้อดิน เนื้อผง และจากชานหมาก

    นอกจากหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิจิตร หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ อยุธยา หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท ที่มีชานหมากอันวิเศษที่นักสะสมวัตถุมงคลต้องการแสวงหากันแล้ว ก็มีชานหมากของ หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ที่มีคุณวิเศษนับว่าเป็นหนึ่งเช่นกัน

    หลวงปู่สี ท่านเป็นนักกินหมากมาตั้งแต่วัยรุ่น ไม่ว่าท่านจะไปไหนมาไหนท่านจะต้องมีหมากห่อพกติดตัวท่านไว้ตลอดเวลา และเมื่อท่านบวชเรียนเป็นครูบาอาจารย์มีผู้คนกราบไหว้ท่าน บ้างก็ขอของดีจากท่าน ท่านเป็นพระโบราณรูปหนึ่งที่ไม่นิยมสร้างวัตถุมงคลเป็นรูปพระจ่ายแจก ท่านมายอมให้สร้างก็ตอนปลายๆ อายุท่าน คือเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นต้นมา จนถึงกาลมรณะของท่านเท่านั้น

    ก่อนหน้านั้นไม่มีประวัติการสร้างวัตถุมงคลเป็นรูปองค์พระหรือเป็นรูปองค์ท่าน นอกจากแจกตะกรุด ผ้ายันต์และคำหมาก “ชานหมาก” เท่านั้น

    คำหมาก หรือ ชานหมาก ที่ได้รับจากมือหลวงปู่สี ส่วนใหญ่ท่านจะฉีกเศษจีวรเก่าที่อยู่ข้างกายของท่านผูกห่อเป็นคำ มอบให้กับศิษย์ และหลวงปู่ก็จะกำชับว่า “อย่าแกะ อย่าลอง”

    ในเรื่องการทดลองของวัตถุมงคลหลวงปู่ มีเรื่องเล่ากันว่า

    นายทหารเคยเอาไปลองแขวนคอไก่แล้วลองยิงด้วยปืน แต่ปรากฏว่าไม่ออก และบางครั้งก็เอานักแม่นปืนเหรียญทองมาลองยิงถึงออกก็ไม่ถูก จนเป็นที่เลื่องลือ และแสวงหากันอย่างมากมาย แต่

    พอนายทหารคนที่นำวัตถุมงคลของหลวงปู่ไปทดลองยิง มากราบหลวงปู่ที่กุฏิ หลวงปู่ก็จะพูดขึ้นว่า วันนี้พวกเอ็งสนุกกัน แต่ข้าเจ็บปาก ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่หลวงปู่ห้ามทดลอง เพราะของของท่าน ท่านจะต้องคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้มีติดตัวให้พ้นเคราะห์กรรม แต่ท่านต้องรับกรรม

    ชานหมากของหลวงปู่ พระอาจารย์บางองค์ แม้แต่ที่วัดเขาถ้ำเองก็เอาชานหมาก น้ำหมากของหลวงปู่ไปผสมทำเป็นพระเครื่องในรุ่นต่าง ๆ ทราบว่ามีหลายรุ่นที่ผสมชานหมาก น้ำหมาก

    ของหลวงปู่สี บ้างก็เอาไปผสมทำเป็นลูกอม (ลูกอมเนื้อผงผสมชานหมาก)

    เคยพบชานหมากรุ่นเก่าๆ ของหลวงปู่สี แต่ปรากฏว่าผ้าจีวรที่ห่อไว้ขาดไปหมดแล้วเหลือแต่ชานหมาก ภายหลังที่จีวรชำรุดแล้ว จึงนำมาใส่กรอบไว้ แต่รุ่นที่ออกมาจากวัดเขาถ้ำบุญนาค ส่วนใหญ่จะมีผ้าจีวรผูกมัดไว้อยู่เป็นส่วนใหญ่

    ในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เดชฤทธิ์ ความมหัศจรรย์ ในคุณวิเศษของหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ นั้น มีมากมาย โดยเฉพาะในเรื่อง “ชานหมาก” ของหลวงปู่ มีเรื่องเล่าขานถึงคุณวิเศษ มากมาย ดังจะขอยกเอาบันทึกข้อเขียนของ พ.ต.ท.อรรณพ กอวัฒนา มาสอดแทรกไว้เพราะเป็นบันทึกข้อเขียนที่ดีมาก กล่าวอ้างถึงบุคคลและสถานที่ไว้อย่างละเอียด จึงขออนุญาตนำมาลงไว้เพื่อความชัดเจนในเรื่องประวัติของหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ว่าเป็นเรื่องจริงมิใช่เรื่องนิทานเล่าขานเพื่อยกย่องครูบาอาจารย์เท่านั้น

    การสร้างวัด

    หลวงปู่สี ฉนทสิริ ท่านเดินทางออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ หลายประเทศ หลายจังหวัดรวมระยะเวลาเกือบร้อยปี หรือเรียกว่าเกือบจะตลอดชีวิตที่ท่านครองเพศบรรพชิต

    ครั้งสุดท้ายก่อนที่ท่านจะมาสร้างวัดเขาถ้ำบุญนาคนั้น ท่านได้ไปสร้างวัดที่หนองลุมพุก อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี ต่อมาพระอาจารย์สมบูรณ์ ที่พระครูนิวิฐปริยัติคุณ พร้อมด้วยชาวบ้านเขาถ้ำบุญนาค ได้พากันไปนิมนต์ให้หลวงปู่มาช่วยสร้างวัดเขาถ้ำบุญนาค ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นสำนักสงฆ์

    อาจารย์สมบูรณ์ท่านเล่าว่าในสมัยที่วัดนี้ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์กุฏิหลังเล็กๆ หาทางเข้าออกก็ไม่สะดวก ไปมาลำบาก แต่หลวงปู่ท่านชอบสภาพป่า ท่านเมตตา ท่านเต็มใจที่จะมาช่วยสร้างวัด ท่านเป็นผู้วิเศษ มีญาณหยั่งรู้กาลล่วงหน้า ว่าจะมีใครไปมาหาสู่ท่านและไปมาหาสู่ท่านในเรื่องอะไร ท่านล่วงรู้กาลล่วงหน้าได้ วันที่ไปรับนิมนต์ท่านนั้น หลวงปู่ท่านเตรียมตัวไว้พร้อมแล้ว สมบัติของท่านไม่มีอะไร ท่านเป็นผู้ที่ไม่สะสม ท่านมีกระเป๋าเก่าๆ ใส่ของใช้เล็กๆ น้อยๆ อยู่หนึ่งใบ ปัจจุบันนี้ทางวัดเก็บของทุกอย่างของหลวงปู่ไว้

    ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางมาพร้อมกับคณะที่ไปนิมนต์ท่านให้มาอยู่จำพรรษาที่เขาถ้ำบุญนาค เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ต่อมาชาวตาคลีพอรู้ว่าหลวงปู่มาอยู่ที่เขาถ้ำบุญนาคก็พามันมากราบไหว้หลวงปู่กันมากมาย สำนักสงฆ์ที่เก่ามอซอ ก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้น มีการปลูกสร้างสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็ว ต่อมาก็มีถนนหนทางเข้าวัด ลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่ก็ช่วยกันสร้าง

    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ สำนักสงฆ์เขาถ้ำบุญนาค ก็ยกฐานะขึ้นเป็นวัดโดยมีท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ หรือ ท่านพระครูนิวิฐปริยัติคุณเป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบันนี้.

    หลวงปู่ลี ฉนฺทสิริ ท่านไม่สนใจในยศตำแหน่งใดๆ ท่านต้องการเพียงช่วยสร้างวัด สร้างโบสถ์.สร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างถนนหนทาง สร้างวัดให้เป็นที่วัดที่สมบูรณ์ ส่วนตัวท่านเอง แม้แต่ลูกศิษย์จะร่วมใจกันสร้างกุฏิให้ใหม่ท่านก็ไม่ยอมอยู่ ท่านชอบอยู่ถ้ำและกุฏิหลังเก่า ในเรื่องนี้จึงมีเรื่องราวเล่าขานกันตราบเท่าทุกวันนี้ ในเรื่อง “ไม่อยากอยู่กุฏิหลังใหม่”

    ไม่ยอมอยู่กุฏิหลังใหม่

    เป็นที่รู้จักกันว่าหลวงปู่สีท่านเป็นพระปฏิบัติที่ไม่ติดในวัตถุ ไม่สะสม และไม่ติดยึดในสิ่งใดๆ แม้แต่ความสะดวกสบายต่างๆ ที่ลูกศิษย์ทุกคนพร้อมที่จะถวายให้ท่าน แต่ท่านไม่เอา ดังนั้นกุฏิของท่านที่อยู่จึงเป็นกุฏิหลังไม้เก่าๆ หลังเล็กๆ หรือไม่ก็ในถ้ำที่ท่านชอบเข้าไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

    ในวันหนึ่งท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ เจ้าอาวาสเขาถ้ำบุญนาค ดำริที่จะสร้างกุฏิหลังใหม่ให้หลวงปู่ คณะกรรมการทุกคนก็พร้อมใจกัน จึงได้เรียกช่างปูนมาทำการก่อสร้าง โดยสร้างเป็นกุฏิปูนชั้นเดียว พอท่านทราบเรื่องว่าจะสร้างให้ท่าน ท่านก็บอกว่าจะไม่ยอมไปอยู่กุฏิหลังใหม่

    เป็นที่น่ามหัศจรรย์ หลังจากที่หลวงปู่สีท่านพูดเช่นนั้น ช่างปูนที่รับคำสั่งจากท่านเจ้าอาวาสได้ลงมือก่อสร้างกุฏิหลังใหม่ วันนั้นปรากฏว่าช่างปูนไม่สามารถฉาบปูนได้เลย เพราะฉาบปูนเท่าใดก็ไม่ติด กระทั่งช่างปูนนึกท้อใจ เพราะไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิตที่รับงานก่อสร้างมานับไม่ถ้วน ในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกทำ ความทราบถึงท่านเจ้าอาวาส และ พระอาจารย์รักษ์ เตชธัมโม ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของหลวงปู่ ได้ไปนมัสการหลวงปู่

    “หลวงปู่ครับทำไมไปแกล้งช่างปูนอย่างนั้น”

    หลวงปู่สีท่านก็ตอบว่า “ไม่ได้แกล้ง แต่ไม่อยากไปอยู่กุฏิหลังใหม่”

    พระภิกษุรักษ์ เตชธัมโม จึงได้บอกกับหลวงปู่

    “หากหลวงปู่ไม่อยากอยู่ก็ไม่เป็นไร ให้ช่างปูนเขาสร้างให้เสร็จก่อน”

    ต่อจากนั้นอีก ๒ วัน พระอาจารย์สมบูรณ์ ท่านเจ้าอาวาส เรียกช่างปูนมาทำใหม่ ซึ่งคราวนี้ช่างปูนสามารถฉาบปูนได้เป็นผลสำเร็จอย่างไม่มีปัญหา เพียงวันเดียวก็สามารถฉาบปูนสำเร็จหมดทั้งกุฏิ ทีมงานก่อสร้างในครั้งนั้นต่างเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่ทุกตัวคน

    กุฏิหลังดังกล่าว ในสมัยที่หลวงปู่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านไม่เคยได้ไปใช้สอยเลย แต่หลังจากที่ท่านมรณะแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์จึงได้อัญเชิญศพของท่านบรรจุลงโลงแก้ว แล้วประดิษฐานไว้ที่กุฏิหลังใหม่ ซึ่งเป็นการสะดวกที่จะให้ลูกศิษย์ของหลวงปู่ไปกราบไหว้บูชาหลวงปู่ แต่ปัจจุบันได้ย้ายสังขารของหลวงปู่มาอยู่ที่มณฑปหลังใหม่แล้ว.

    รู้กาลมรณะ

    ต้นปีเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงปู่สีท่านมีอาการอ่อนเพลีย อาพาธด้วยโรคชรา และต่อมลูกหมากโต ได้รับการดูแลรักษา ญาครูจันทร์ (พระอาจารย์จันทร์ หลานหลวงปู่คนสุรินทร์)ก็อยู่ดูแล ตอนที่หลวงปู่อาพาธที่วัดเขาถ้ำ ก็มีพระอาจารย์สมบูรณ์ ปริสมฺปุณโณ เจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำบุญนาค พระอาจารย์รักษ์ เตธธัมโม พระอาจารย์ประเทือง พุทธธมฺโม พระอาจารย์สุพจน์ ฉนฺทชาโต

    ส่วนหมอที่ดูแลอาการป่วยของหลวงปู่ คุณหมอโอ๊ด (ชื่อเล่น - ชื่อจริงสอบถามแล้วไม่มีใครทราบ) หมอโอ๊ด จะหนักใจเพราะหลวงปู่ไม่ยอมให้ฉีดยา ถ้าท่านไม่ยอมก็จะฉีดไม่เข้า เข็มจะหักหมด นอกจากท่านอนุญาต จึงจะฉีดยารักษาไข้ได้ ลูกศิษย์ที่ปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ ก็จะได้ยินหลวงปู่พูดว่า “รักษาอย่างไร เดือน ๔ ข้าก็จะไปแล้ว“ (สากลก็จะดูเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือน ๒ แต่ถ้าปฏิทินหลวงโบราณก็จะเป็นเดือนสาม แต่ปลายเดือนก็จะเป็นเดือน ๔ เดือนไทย)

    ด้วยคุณวิเศษนานัปการของหลวงปู่สี จึงมีพระอาจารย์ดัง ๆ มากมายแห่งยุคให้การยอมรับ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ พระราชพรหมยานผู้เด่นดัง มีลูกศิษย์มากมายเกือบทั้งประเทศ ให้การเคารพยอมรับหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่สุดยอดแห่งยุคองค์หนึ่ง หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้ไปมาหาสู่หลวงปู่สี อยู่เป็นนิจ

    เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๐ หลวงปู่สีท่านอาพาธมีอาการหนักมาก พระอาจารย์สมบูรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำก็คลานเข้าไปถามหลวงปู่ว่า...

    "หลวงปู่ครับ ถ้าหลวงปู่จะจากไป จะให้ทางวัดจัดพิธีศพหลวงปู่อย่างไร?”

    หลวงปู่ลีถึงท่านจะอาพาธหนักปานใด แต่ท่านก็ควบคุมสติได้อย่างมั่นคง ท่านจึงตอบให้ทุกคนในที่นั้นได้ยินกันอย่างทั่วถึงว่า

    “หากข้ามรณภาพเมื่อใด ท่านฤๅษีลิงดำจะมาเป็นผู้จัดการศพของข้าเอง ขอทุกคนอย่าได้เป็นห่วง”

    และแล้วต่อมาเวลาประมาณ ตี ๓.๔๕ นาที ของวันพุธที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง หลวงปู่ก็มรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุของหลวงปู่สี ได้ ๑๒๘ ปี

    ท่ามกลางสายลมพัดผ่านที่เย็นยะเยียบ แต่ความเย็นของอากาศยังไม่ยะเยียบเท่ากับเหล่าลูกศิษย์ได้ทราบข่าวการจากไปของหลวงปู่อย่างไม่มีวันที่จะกลับคืนมาอีกได้ ทุกคนเงียบ น้ำตาล้วนไหลพราก ต่างสะอื้นไห้ด้วยความอาลัยหลวงปู่ ท่านจากมวลลูกศิษย์ไปท่ามกลางลมหนาวแล้ว

    อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ประมาณตี ๕ กว่าของคืนวันนั้น หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ก็ปรากฏกายขึ้น โดยไม่ได้รับการติดต่อแจ้งข่าวจากผู้ใดในวัดเขาถ้ำบุญนาค แต่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้มาถึงอย่างมหัศจรรย์ ตรงตามคำพูดของหลวงปู่สี ฉนฺทสิริที่ท่านกล่าวไว้ ท่ามกลางลูกศิษย์ก่อนที่ท่านจะถึงกาลมรณะ

    เมื่อหลวงพ่อฤๅษีลิงดำมาถึงวัดเขาถ้ำบุญนาค ก็ได้ขอให้เก็บศพของหลวงปู่ไว้ เสมือนหลวงปู่สีท่านนอนจำวัด และท่านจำวัดหลับสนิทด้วยอาการปกติสงบเรียบร้อยมาตราบเท่าทุกวันนี้

    ที่น่าอัศจรรย์คือร่างกายของหลวงปู่สีไม่มีน้ำเหลือง ไม่เน่าไม่เหม็น ไม่เปื่อยอย่างเช่นซากศพทั่วไป จนวันนั้นถึงวันนี้กลิ่นซากศพของท่านไม่มีเลย คราใดที่ผมมีโอกาสได้ไปกราบศพหลวงปู่ผมจะจูบดมที่ร่างกายของท่านอย่างสนิทใจ เพราะไม่ปรากฏกลิ่นใดที่ทำให้เราไม่อยากเข้าใกล้ แต่กลิ่นกายท่านกลับเสมือนหนึ่งกลิ่นธูปหรือกลิ่นกำยาน แม้แต่เศษกายของท่านที่ร่วงหล่น ผมก็แตะเก็บโปรยลงบนศีรษะและเช็ดที่เส้นผมจนหมด
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (Last)
    คำพูดของหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ที่ท่านกล่าวไว้ก่อนจะถึงกาลมรณะของท่าน ในขณะนั้นท่านฤๅษีลิงดำมิได้อยู่ที่นั่น และหนทางก็ยังอยู่ห่างไกลกัน แต่พอหลวงปู่ท่านมรณภาพลงตอนตี ๓ กว่า พอเวลาตี ๕ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำท่านก็มาถึงทันต่อเหตุการณ์ ตรงตามคำพูดของหลวงปู่ที่พูดถึงหลวงพ่อฤๅษีลิงดำอย่างมหัศจรรย์

    แสดงว่าหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ กับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ท่านมีญาณจิตติดต่อกันได้โดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ท่านเป็นพระอริยเจ้าระดับสูงท่านหนึ่งที่ทรงญาณและได้ญาณทั้ง ๘ คือ ทิพยจักษุญาณ จุตูปปาตญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุบันนังสญาณ ยถากัมมุตาญาณ

    อีกทั้งเป็นผู้มีฤทธิ์ได้ทั้งวิชชา ๓ และ อภิญญา ๖ อีกด้วย ผู้ที่ติดตามรับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่สีย่อมที่จะทราบถึงภูมิปัญญาและปฏิปทาของท่านได้ดี ท่านเป็นพระปฏิบัติกรรมฐาน มีความเชี่ยวชาญในกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง อีกทั้งแตกฉานรู้แจ้งในวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ โดยแน่แท้

    ฉะนั้น จึงย่อมเป็นการง่ายดายสำหรับหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ซึ่งได้วิชชา ๓ ได้อภิญญา ๖ ได้ ญาณ ๘ ท่านจึงได้นำสิ่งที่ได้มาพิจารณาวิปัสสนาเพื่อละสังโยชน์ ๑๐ อย่าง จนท่านบรรลุเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดก็คือ ท่านจึงเป็นผู้บริสุทธิ์ พระอรหันต์ องค์หนึ่ง

    ด้วยความมั่นใจในหมู่ลูกศิษย์ ลูกหาของหลวงปู่ที่มีความรู้ในเรื่องการปฏิบัติของพระอริยเจ้าแล้วก็จะทราบได้ทันทีว่า หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ท่านมิได้เป็นพระอรหันต์แบบ “เตวิชโช” หรือ วิชชา ๓ แบบ “ฉฬภิญโญ” หรือ อภิญญา ๖ เท่านั้น แต่หลวงปู่สีท่านจะต้องเป็นพระ “อรหันต์” ผู้ทรงคุณวิเศษยิ่งยอด ประเภท “ปฏิสัมภิทาญาณ” เพราะหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ท่านทรงคุณวิเศษ ๔ ประการ ดังนี้คือ

    ๑ อัตถปฏิสัมภิทา เป็นผู้มีปัญญาแตกฉานในอรรถ คือ ฉลาดในการอธิบายถ้อยคำ และเนื้อความในพระไตรปิฏกได้อย่างพิสดารเข้าใจง่าย และถอดเนื้อความที่พิสดารนั้นๆ ให้ย่อสั้นลงมาได้ชัดเจนไม่เลียหาย

    ๒. ธัมมปฏิสัมภิทา เป็นผู้มีความฉลาดในการอธิบายหัวข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยย่อให้มีความพิสดารได้อย่างถูกต้อง

    ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา เป็นผู้มีความฉลาดในภาษารู้และเข้าใจในภาษาในโลก รวมทั้งภาษาของเทพยดา พรหม ภูตผีปิศาจ อสูรกาย นาค ครุฑ ตลอดจนภาษาของสัตว์เดรัจฉานทุกชนิด

    สำหรับในเรื่องการรู้ภาษาทุกภาษาในโลกนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ท่านสามารถเข้าใจภาษาทุกชาติทุกภาษาที่มาหาท่านและพูดกับท่าน จนชาวฝรั่งต่างชาติ หลายต่อหลายชาติต่างพูดกันว่า “หลวงปู่ท่านรู้หลายภาษา” และเวลาที่ท่านฉันอาหารนั้น ก็จะมีบรรดาสัตว์ต่างๆ มาห้อมล้อมตัวท่านมารับส่วนแบ่งอาหารจากท่าน เช่น นก ลิง ไก่ แมว หมา เป็นต้น และสัตว์ทุกประเภทที่มาอยู่ใกล้ท่าน มันจะปรองดองกันไม่ไล่กัน ไม่รังแกกัน แสดงว่าท่านสามารถสนทนาภาษาสัตว์เหล่านั้นได้ ทั้งคนและสัตว์จึงอยู่กันอย่างปรองดอง และลูกศิษย์ของหลวงปู่ก็มีทุกชาติทุกภาษา

    ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา เป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบเฉลียวฉลาด สามารถแก้อรรถปัญหาต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์

    ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะมีครบถ้วนอยู่ในตัวของหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ท่านเป็นผู้ที่มีคุณวิเศษ เหมาะสมกับคาว่า “อรหันต์ ๗ แผ่นดิน”

    ขอขอบคุณผู้ที่ให้ข้อมูลหลวงปู่ในแง่มุมต่างๆ ทั้งที่ได้เอ่ยนาม ณ ที่นี้ และมิได้เอ่ยนามอีกหลายท่านรวมทั้งลูกหลานหลวงปู่สี (ลี) ทุกท่าน..

    ๑. ท่านพระครูวิเศษฏ์สมโพชฏ์ น.๑๖ วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) ท่าเตียน โทร ๒๒๒-๗๙๘๐

    ๒. ท่านพระอาจารย์สุพจน์ (เจ็ก) ฉนฺทชาโต วัดเขาถ้ำบุญนาค (ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่)

    ๓. พระอาจารย์รักษ์ เตชธมฺโม (ผู้ปรนนิบัติหลวงปู่)

    ๔. พระอาจารย์ประเทือง พุทธธมฺโม (ผู้ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ จนถึงกาลมรณะ)

    ๕. ปู่โทน หลำแพร ศรัทธา ติดตามเรื่องราวของหลวงปู่ก่อนที่จะมาอยู่เขาถ้ำบุญนาค.

    ๖. อาจารย์ประสงค์ ดีนาน (หลานชายหลวงปู่ อยู่จังหวัดสุรินทร์).

    ๗. อาจารย์บุญมี สิทธินาม (หลานชายหลวงปู่ อายุ ๘๗ อยู่จังหวัดสุรินทร์)

    ๘. อาจารย์เกลี้ยง ดำริห์ (หลานชายหลวงปู่) ปัจจุบันอยู่.สุรินทร์

    ๙. ญาครูจันทร์ พระอาจารย์จันทร์ อยู่สุรินทร์ ผู้มาดูแลหลวงปู่ตอนหลวงปู่อาพาธ.

    ๑๐. อาจารย์เกรียงศักดิ์ เทศถมทรัพย์

    ๑๑. อาจารย์ชนินทร์ ดีนาน หลานหลวงปู่สี ผู้เคยมาบวชเรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ ปัจจุบันอยู่สุรินทร์

    (ผู้ที่ส่งประวัติต่างๆ ของหลวงปู่สี ตั้งแต่บ้านเกิด จนจากสุรินทร์ อุดรธานี มาอยู่เขาถ้ำบุญนาคตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมทั้งส่งรูปภาพต่างๆ ของหลวงปู่มาให้ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่มีใครเคยได้เห็น ได้ล่วงรู้ประวัติอันแท้จริงของหลวงปู่สีฯ ที่รู้ก็ตั้งแต่เฉพาะปี พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นต้นมาเท่านั้น ลูกหลานของหลวงปู่ลี จึงอยากให้ทราบเกียรติประวัติ และปฏิปทาของหลวงปู่ มิใช่แต่ในเรื่องวัตถุมงคลของหลวงปู่เท่านั้น)

    ๑๒. คุณแก้ว จินดา ช่องแค ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

    ๑๓. คุณสนั่น สวนสุวรรณ โรงงานปูนซีเมนต์ ตาคลี นครสวรรค์

    ๑๔. คุณพิชิต คุ้มคงอมร

    ๑๕. คุณชาญ แดงไพบูรณ์

    ๑๖. คุณจีรศักดิ์ (บางโพ)

    ๑๗. คุณสุรสีห์ ตั้งภูมิจรัศวงค์

    ๑๘. นาวาเอกชาญ ศรีไทย

    ๑๙. พล.ต.จ. มงคล จีรเศรษธ์

    ๒๐. พ.ต.ท. อรรณพ กอวัฒนา

    ๒๑. คุณพิทักษ์ เสงี่ยมกลาง (ตรวจ,ทาน)



    bar-red-lotus-small.jpg
    ขอบพระคุณที่มา:- http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-see/lp-see-hist-05-02.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    พระป่าอรหันต์ หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก

    สารคดี วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อ
    85,120 views Dec 1, 2021
    หลวงพ่อมาร์ติน ปิยธัมโม พระฝรั่งผู้มองเห็นทุกข์ทางโลก แล้วมุ่งสู่ทางธรรม// ปู่ดอน station

    ปู่ดอน station
    Jul 23, 2021
    หลวงพ่อมาร์ติน ปิยธัมโม ท่านเป็นพระฝรั่งลูกศิษย์หลวงตามหาบัวที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก เป็นพระที่มองเห็นทุกข์ในทางโลกตั้งแต่เป็นฆราวาส ท่านจึงมีใจฝักใฝ่ในทางธรรม จนนำมาสู่เส้นทางแห่งสมณะ ชีวิตของท่านจึงเป็นชึวิตที่ประกอบด้วยความตื่น รู้ และเบิกบาน..


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 กุมภาพันธ์ 2023
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    อัศจรรย์ ..หลวงปู่โง่น

    thamnu onprasert
    45,689 views Mar 24, 2022

    เรื่องราวลึกลับน่าอัศจรรย์ ของท่านหลวงปู่โง่น โสรโย พระสุปฏิปันโนผู้ทรงฌานสมาบัติแห่งเมืองพิจิตร อีกาส่งข่าว ดวงวิญญาณผีหมูและอาถรรพ์เทวรูปดำ!
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    puknon.jpg
    ประวัติและปฏิปทา
    หลวงพ่อโง่น โสรโย

    วัดพระพุทธบาทเขารวก
    ต.วังหลุม อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร


    ปฐมวัย

    หลวงพ่อโง่น โสรโย เดิมท่านชื่อ ทองสุก นามสกุล สิงหเสนี
    บิดาชื่อ ทองอุ่น สิงหเสนี เป็นนักเรียนเก่าประเทศฝรั่งเศส
    เมื่อชาวฝรั่งเศสมาเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งค้าไม้ซุงจากเอเชียไปยุโรป
    บิดาของท่านจึงทำหน้าที่ควบคุมการทำไม้
    ทั้งล่องแพไม้สักจากเหนือมากรุงเทพฯ และก็ด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงบอกแก่ผู้เขียน**ว่า

    “อาตมาไม่มีบ้านเกิด เพราะเกิดบนแพ ขณะที่พ่อล่องมาในแม่น้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร”

    หลวงพ่อโง่นเกิดปี พ.ศ.2446 แต่วันที่เท่าไหร่เดือนอะไร ท่านจำไม่ได้
    ท่านพูดถึงบิดาของท่านว่า

    “พ่อของอาตมาเป็นคนดี ไปที่ไหนมีเมียที่นั่น ท่านอยู่กรุงเทพฯ ก็มีเมียกรุงเทพฯ
    เขาส่งไปทำงานที่เวียตนาม ก็ได้คนแกวเป็นเมียอีกคน ไปอยู่ประเทศลาวก็ได้เมียลาว
    ท่านเป็นหัวหน้าล่องแพไม้สักจากเชียงใหม่ไปปากน้ำโพ ท่านก็ได้เมียชาวเชียงใหม่อีกคนหนึ่ง
    แล้วมาได้ที่เมืองตากอีกคนหนึ่ง

    อาตมาก็เลยปลงตกเมื่อเห็นสภาวะความเป็นอยู่ของท่าน ก็น่าสมเพชเวทนา
    ไม่รู้ว่าจะเอาใจเมียคนไหนกันแน่

    แม่ของอาตมานั้นเป็นคนพวน อยู่บ้านหมี่ ลพบุรี นี่เอง
    พอลูกออกบวช โยมแม่ก็นุ่งขาวห่มขาว บวชชี จนสิ้นชีวิตในขณะที่ก้มลงกราบพระ
    ส่วนโยมพ่อนั้นเมื่อชราแล้ว ท่านก็ตัดได้เหมือนกัน ท่านสิ้นชีวิตไปนานแล้วโยม”

    (**หมายเหตุ - ผู้เขียนประวัติในตอนนี้ คือ ทองทิว สุวรรณทัต
    จาก หนังสือโลกลี้ลับ ฉบับที่ ๔๘ ปีที่ ๕ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๓๑)


    วัยเด็กในต่างแดน

    จากพระภิกษุที่มีลักษณะเป็นพระบ้านนอก แต่พูดจาฉะฉานนั้น ใครเลยจะคิดว่า
    หลวงพ่อโง่น โสรโย จะใช้ชีวิตท่องเที่ยวไปทั่วยุโรปมาแล้ว
    ทั้งสำเร็จปริญญาวิศวกรรมจากประเทศฝรั่งเศส และผ่านวิทยาลัยของญี่ปุ่นอีกด้วย !

    ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของท่าน

    “อาตมาเมื่อครั้งเป็นเด็กได้ติดตามคุณพ่อที่เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำอินโดจีนไปประเทศเวียตนาม 2 ปี แวนคูเวอร์ 2 ปี เมืองนี้อยู่ในประเทศแคนาดา

    ต่อจากนั้นก็ไปอยู่โฮโนลูลู 2 ปี แล้วท่านก็พาไปอยู่ฝรั่งเศสเลย ท่านไปเป็นเลขาธิการสภาคองเกรส
    เดิมทีท่านเห็นอาตมาเป็นเด็กที่ขยันขันแข็ง ท่านก็เลยขอเป็นบุตรบุญธรรม แล้วก็ไปอยู่โมนาเวีย ซัดเซพเนจรไปสแกนดิเนเวีย ไปเรียนหนังสือกับโป๊ปองค์ปัจจุบันนี้ ท่านเป็นชาวโปล สมัยนั้นอาตมานับถือศาสนาคริสต์”


    เลิกคริสต์มานับถือพุทธ

    เหตุที่หลวงพ่อโง่นจะหันมานับถือพุทธศาสนานั้น ท่านเล่าให้ฟังว่า อาตมาไม่ได้บวชเพราะความเลื่อมใสหรอก การบวชนี่มาจากสาเหตุหลายอย่าง มีบวชเพราะเพื่อน บวชเพราะมิตร บวชเพราะเบื่อหน่าย บวชเพราะคลายกำหนัด บวชเพราะไม่ขัดสกุล บวชเพราะหวังในลาภ ในสมัยพระพุทธเจ้าท่านบวชอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ อุปชีวิกา บวชมาเพื่อหากิน อุปชีวิกา บวชเล่น บวชพอได้บุญ ฯลฯ

    อาตมาไม่ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก่อนเลย จนอยู่มาวันหนึ่ง ไปเจอะพระเข้าองค์หนึ่ง พระองค์นี้เป็นพระผู้ใหญ่ เป็นเพื่อนกับสำเร็จลุน เมืองเหนือประเทศลาว ท่านพูดภาษาฝรั่งเศสเก่ง ท่านมาปักกลดซอมซ่ออยู่ที่วัดบรมนิวาส พวกสาว ๆ เขาเลื่อมใส

    แม่เล็ก ล่ำซำ ก็เป็นคนหนึ่งที่เลื่อมใสท่าน เดี๋ยวนี้เขาแก่แล้ว เขามา ชวนอาตมาว่า “พี่ ๆ ไปกราบพระ ด้วยกันไหม ?” อ้ายเราก็นับถือศาสนาคริสต์อยู่ ก็เลยเอาไม้กางเขนซ่อนไว้ในอก

    พระองค์นี้ชื่อ หลวงพ่อวัง จิตฺตวโร


    ซึ้งใจในธรรม

    พออาตมาเข้าไปถึง ท่านก็ชี้หน้าว่า “นี่ถือศาสนาคริสต์ใช่ไหม ?”

    แล้วท่านก็บอกเลยว่า “ถือศาสนาคริสต์ก็ดี ไม่มีเครื่องหมายในศาสนาใดดียิ่งไปกว่าศาสนาคริสต์ ศาสนาคริสต์เขามีเครื่องหมายบวก ถ้าเรามองคนในแง่บวกแล้วใจจะสบาย”

    ท่านสอนนะ “ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเรามองในแง่บวกแล้วใจจะสบาย อย่าง สามีไปมีเมียน้อยนี่ ถ้าภรรยามองในแง่บวก แหม! แฟนเรานี่ยอดจริง ๆ ใจก็สบาย

    เออ...นี่ลูกมีคำถามอยู่ในกระเป๋าเสื้อของลูก ทำไมไม่ดึงเอาขึ้นมาถาม หลวงพ่อ ล่ะ”

    อ้ายเราก็กำลังจะควักออกมา อาตมาเขียนไว้อย่างนี้ โยม เขียนไว้ว่า

    1. ศาสนาพุทธทำไมจึงถือวันพระ ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ จะเอาวันอื่นไม่ได้หรือ ?

    2. ศาสนาพุทธมีการล้างบาปหรือเปล่า ?

    3. ศาสนาพุทธเป็นศาสนาจริง หรือเป็นปรัชญา ?

    ปัญหาเหล่านี้อาตมาไปถามพระ องค์ไหนก็โดนด่ากลับมา แต่หลวงพ่อองค์นี้ท่านอธิบายให้อาตมาฟังว่า

    “ศาสนาพุทธมิใช่ศาสนาอย่างแท้จริงตามหลักวิชาการแผนใหม่ ศาสนาที่แท้จริงจะต้องมีพระผู้เป็นเจ้า

    และศาสนาพุทธก็มิใช่ปรัชญา ปรัชญาต้องมีเจ้าของ อย่างปรัชญาของท่านเพลโต้ ของท่านฟูโซ่ ของท่านกงจื๊อ อันนี้เป็นปรัชญา

    พระพุทธศาสนาไม่มีเจ้าของ พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าของพระพุทธ ศาสนา โลกทั้งโลกเป็นเจ้าของ พระพุทธศาสนาเป็นของเราทุกคน พระพุทธเจ้าท่านค้นพบของจริงที่มีอยู่ในคน ที่มีอยู่ในโลก แล้วนำมาสอนคนอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นศาสนาพุทธจึงอยู่ในระหว่างกลาง ทั้งปรัชญาและศาสนา

    พระพุทธเจ้าค้นพบทุกข์ ท่านค้นพบสมุทัย ท่านค้นพบนิโรธ ท่านค้นพบมรรค ซึ่งทุก ๆ คนมีด้วยกันหมด มันมีมาก่อนแล้ว ท่านค้นพบจึงมาสอนคนอื่น

    ฉะนั้น ศาสนาพุทธจึงมิใช่ศาสนา และมิใช่ปรัชญา อยู่ในระหว่างกลาง ลูกเอ๋ย... จำไว้”
    พอฟังท่านอธิบายให้ฟัง มันถูกหัวใจของเราอย่างจังเลยโยม !

    ส่วนที่ถามว่า ขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ทำไมจึงถือเป็นวันธรรมสวนะ ท่านอธิบายว่า

    “พระพุทธเจ้าของฉันท่านเป็นโลกวิทู เป็นผู้แจ้งโลก
    วัน 8 ค่ำ ทั้งข้างขึ้น ข้างแรม พระอาทิตย์กับดวงจันทร์กำลังทำมุม สแควร์กัน ผัวเมียจะทะเลาะกันก็อยู่ ใน 7 ค่ำ 8 ค่ำนี้ อย่าไปทวงหนี้ทวงสินกัน ผัวเมียให้ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

    ถ้าวันแรม 15 ค่ำ จะมีโจรผู้ร้ายชุกชุม การปล้นฆ่าทารุณจะเกิดขึ้น ไปดูสถิติของกรมตำรวจเขาก็ได้ เพราะเดือนมันมืด ใจคนมันมืดมน

    ขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์มันแจ่มกระจ่าง อาชญากรมันจะก่อคดีในทางที่เกี่ยวกับความรักความใคร่มากกว่าปกติ การข่มขืน การปลุกปล้ำกระทำการชั่วมากกว่า เป็นกามกิเลส มันดลดวงจิตของคนอย่างนี้

    ดวงจิตของคนจะมีการกวัดแกว่ง มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน แทนที่จะทำเช่นนี้ จึงสมควรเข้าวัดให้พระท่านอบรมสั่งสอน พระพุทธเจ้าท่านรู้จักกฎของโลก ท่านจึงได้กำหนดไว้

    แทนที่จะทะเลาะกัน ก็ให้เข้าวัดเถิดลูก !

    แทนที่จะขโมยของของเขา ก็ให้เข้าวัดเถิดลูก !

    แทนที่จะรักกันด้วยความใคร่ ก็ให้เข้าวัด รักกันด้วยเมตตา”

    โยมเอ๋ย ! คำพูดของท่านเหมือน กับท่านเข้ามานั่งในหัวใจของอาตมา ด้วยเวลานั้นกำลังเรียนดาราศาสตร์อยู่ด้วย แหม ! ท่านเก่ง !

    แล้วท่านยังบอกอีกว่า กลับไป ให้ไปอ่านคัมภีร์ศาสนาคริสต์ เล่มที่ 5 เมื่อเปิดอ่านแล้วจะโยนหนังสือทิ้ง !

    อาตมาก็นึกสงสัยว่า “เอ๊ะ ! นี่ ยังไงกัน หนังสืออยู่ในกระเป๋าของเรา ท่านก็รู้ กลับไปพออ่านเล่มที่ 5 พระ เจ้าสร้างโน่น พระเจ้าสร้างนี่ พระเจ้าสร้างโลก เป็นคัมภีร์เรื่องสร้างโลกของเรา ถ้าไม่มีพระอาทิตย์ จะมีกลางวันอย่างไร ถ้าไม่มีพระจันทร์ จะมีกลางคืนอย่างไร เอ๊ะ ! มีพระเจ้าบ้า ! เราก็โยนทิ้ง ”


    ยังบวชไม่ได้

    หลวงพ่อโง่น เล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านประจักษ์ในความจริงเช่นนั้น ท่านก็เข้าไปนมัสการพระอาจารย์วัง ไปกราบเรียนขอบวชกับท่าน แต่พระอาจารย์ยังกลับบอกว่า

    “เอ็งยังบวชไม่ได้ เอ็งยังต้องไปใช้กรรม เพราะเอ็งไปโกหกผู้หญิงเขาไว้ 2 คน เมื่อชาติก่อน”

    หลวงพ่อโง่นท่านก็ตั้งใจไว้ว่า พบท่านอาจารย์วังภายหลังก็จะขอบวชอีก จะต้องกลับมาบวชกับท่านให้ได้ แล้วจากนั้นหลวงพ่อโง่นก็ไปพบผู้หญิงคนหนึ่ง ผูกสมัครรักใคร่กันเป็นอันดี แต่กลับโดนต้ม โดนหลอกจนหมดตัว ท่านบอกว่า

    “แล้วก็ไปเจอะคนที่สอง โดนต้มอีก เรียบร้อย ก็เลยเป็นอันบวชดีกว่ากู”

    พระดี ๆ มีเป็นร้อย

    ผู้เขียนเรียนถามท่านว่า “ปัจจุบัน พระอาจารย์วังยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ?”

    ท่านตอบว่า

    “อาจารย์วังท่านมรณภาพไปแล้ว มรณภาพที่ประเทศลาว อาตมาไปทำศพท่านเอง อาตมาถือว่าท่านเป็นอาจารย์องค์แรกของอาตมา

    พระดี ๆ อย่างนี้ในเมืองไทยมีเป็นร้อย ๆ องค์ แต่ท่านไม่สนใจกับคน ในกรุงเทพฯ นี่ก็มี

    แต่ญาติโยมทุกวันนี้หลงรูปสมบัติ ถ้าเห็นกุฏิหลวงพ่อองค์ไหนมีแอร์ มีเตียง มีโต๊ะ มีเก้าอี้ ถ้าได้รับเป็นเจ้าภาพอย่างนี้ละชอบ !”


    บวชแล้วมุ่งปฏิบัติ

    เมื่อปี พ.ศ.2466 หลวงพ่อโง่น โสรโย ก็อุปสมบท ณ วัดเทพศิรินทราวาส
    โดยมี พระเทพสิทธิการมุนี (จันทร์) เป็นพระอุปัชฌาย์

    ท่านบอกว่า อุปัชฌาย์ของท่าน เป็นอาจารย์ของ
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) และเคยถูกส่งไปเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนมมาแล้ว

    หลังจากที่หลวงพ่อโง่นอุปสมบทแล้ว ท่านสนใจในการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง สำนักใดสอนกรรมฐาน ท่านก็เข้าไปขอฝึกกรรมฐานด้วย จนท่านจำไม่ได้ว่า ท่านได้ไปอยู่สำนักใดมาบ้าง

    บางครั้งก็ออกธุดงค์ไปเหนือจดใต้ บางครั้งก็ไปจำวัดแถวอำเภอแกลง จังหวัดระยอง แต่ปัจจุบันท่านยึดถือการปฎิบัติหนักไปในทางมหาสติปัฎฐาน 4 ควบกับมรณานุสติ ท่านบอกว่า

    “ทุกวันนี้นึกแต่ว่า หายใจไม่ออกก็ตาย หายใจไม่เข้าก็ตาย จะนึกอะไรก็ช่างเถิดโยม ขอให้จิตมันสงบจากนิวรณูปกิเลส ให้มันวางได้ ให้มันว่างได้ นั่งอยู่ที่ไหนให้มันสบายที่สุด จิตใจมันจะหลงอย่างไร ก็นั่งอยู่อย่างนั้น จนจิตมันสงบเอง

    แต่อิริยาบถที่จะทำสมาธิสำคัญที่สุด คือ อิริยาบถนอน เพราะทุกคนจะต้องนอนตายในที่สุด ท่านจะนอนท่าไหนก็ได้ แต่ต้องทำอิริยาบถรู้ รู้จิต รู้สภาพจิตที่มันจะลงสู่สภาวะใต้สำนึก

    จิตมี 2 อย่าง คือ จิตเหนือสำนึก อย่างหนึ่ง จิตใต้สำนึก อย่างหนึ่ง

    จิตใต้สำนึกคือ จิตหลับ เรานอนหลับ คือ การตายน้อย ๆ นี่เอง

    อาตมาสอนอยู่ว่า อิริยาบถที่สำคัญที่สุดที่ท่านจะลืมไม่ได้ ก็คืออิริยาบถนอน ให้ฝึกสติเอาไว้ เพราะทุกท่านจะต้องนอนตาย เวลาหลับให้หลับอย่างมีสติ หลับไปก็จะเป็นสุข


    คำสอนที่ถูกทาง

    หลวงพ่อโง่น กล่าวถึงการปฏิบัติธรรมต่อไปว่า

    “คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้สอนให้พวกเรานั่งดูสวรรค์ชั้นโน้นชั้นนี้ หรือให้คอยนั่งดูนิพพาน ชั้นโน้นชั้นนี้

    แต่ท่านสอนให้ดูตัวเอง ให้เห็นดวงจิตของตัวเอง

    การนั่งไปเห็นสวรรค์ไปอย่างโน้น สวรรค์ไปอย่างนี้ นรกขุมนั้น นรกขุมนี้ อ้ายนี่มันพวกประสาทหลอน

    การทำสมาธิ การศึกษาเรื่องนี้ อาตมาไม่ได้ศึกษากับพระอาจารย์องค์เดียว เห็นสำนักไหนสอนปฏิบัติที่ใด ก็เข้าไปทั้งนั้น แต่เราต้องไปเลือกเอา

    เปรียบเสมือนอาตมาเดินเข้าไปในสวนดอกไม้ เราจะต้องเลือกเอาดอกใดดอกหนึ่งที่ชอบใจ

    เราไม่ได้ตำหนิติเตียนท่าน แต่บางสำนักมันเกินไป เช่น นั่งอย่างนี้หนา ให้ตามหลวงพ่อไปหนา เห็นสวรรค์ไหม ?...มันผิด ! นั่นมันพวกประสาทหลอน

    พระอาจารย์ที่อาตมาเคารพนับถือคำสอนที่ถูกทางในปัจจุบันจริง ๆ มีอยู่องค์เดียวคือ หลวงพ่อพุทธทาส ท่านสอนถูกหลักพระไตรปิฎก

    ถ้าสอนทางโลก อาตมายกให้องค์เดียวอีกเหมือนกัน คือ ท่านปัญญานันทะ

    ถ้าสอนในทางธรรม คือว่าเอาจิตใจให้พ้นทุกข์จริง ๆ ก็คือ หลวงพ่อพุทธทาส”


    มาอยู่วัดพระพุทธบาทเขารวก

    ผู้เขียนเรียนถามท่านถึงสาเหตุที่มาอยู่วัดพระพุทธบาทเขารวกว่า มีมาจากเหตุใด

    หลวงพ่อโง่นบอกว่า เริ่มแรกเดิมทีอาตมาไปเจอ หลวงพี่ชวน (หลวงพ่อโอภาสี) อาตมาไปพบท่านที่วัดบวรนิเวศ หลวงพ่อโอภาสีท่านบอกว่า

    “คุณต้องมาอยู่ที่นี่เพื่อสร้างบารมีนะ เพราะที่นี่จะพาธงชัยของพระศาสนาไปทั่วผืนแผ่นดินไทย คงจะต้องมาอยู่ที่นี่ ที่โรโตรัว นิวซีแลนด์ ขั้วโลกใต้”

    หลังจากนั้นอีก 20 ปี อาตมาก็มาอีกกับ หลวงน้าโฮม (ท่านเจ้าคุณโฮม วัดปทุมวนาราม) ท่านก็บอกว่า

    “อาจารย์ต้องมาสร้างบารมีอยู่ที่นี่ บรรดาเทวดาเจ้าพ่อเมืองแกลงเขาอยู่ที่นี้ เขาจะให้อุปการะ หลวงปู่ครูบาโลกอุดรท่านเสด็จไปแล้ว ท่านก็เคยอยู่ที่นี่”

    ตอนที่อาตมามาครั้งแรกยังเป็นป่าทึบอยู่ หลวงพ่อใหญ่ชื่อ หลวงพ่อชื่น จิตฺตวโร เจ้าอาวาสวัดนี้ เป็นพระสายเดียวกัน ท่านเก่งทางวิทยาคม เก่งหลายอย่าง เป็นเพื่อนกับหลวงพ่อโอภาสี ท่านไปรับอาตมามาอยู่กับท่าน อยู่กันเพียง 2 องค์ เวลาท่านมรณภาพไม่มีเงินติดตัวสักสลึง ! นับจากนั้นอาตมา ก็เริ่มค่อย ๆ ก่อสร้างไปตามกำลัง
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    เหงียนง๊อกกลายเป็นโง่น

    จากนายทองสุก สิงหเสนี กลายเป็น หลวงพ่อโง่น โสรโย นั้น ท่านบอกว่ามีสาเหตุจากตอนที่ท่านไปเรียนวิศวะ ประเทศฝรั่งเศส โดยทุนของ

    เวียดนาม และได้ปริญญาเกียรตินิยม ทำให้เวียดนามต้องการให้ท่านเป็นนักเรียนของประเทศเขาเต็มตัว จึงเปลี่ยนชื่อท่านจาก ทองสุก เป็น เหงียน ง๊อก ท่านจึงได้ชื่ออยู่ที่นั่น และทางฝรั่งเศสก็ให้บัตรซิติเซ่นไว้ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ท่านจะไปฝรั่งเศสไม่ต้องทำวีซ่า

    แล้วต่อมาเมื่อกลับมาเมืองไทย เรียกกันไปกันมาอย่างไรก็ไม่ทราบ กลับกลายเป็นโง่นไป ซึ่งท่านก็ยอมรับโดยดุษณี ไม่ว่าอะไร


    นั่งสมาธิในหิมะ

    lp-ngon-pic-05-03.jpg

    ที่นอรเวย์ ขั้วโลกเหนือ นั่งสมาธิอยู่ภายในหิมะ เป็นเวลา 8 ชั่วโมง

    จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อโง่น โสรโย ที่ผ่านมา ผู้เขียนทราบว่าท่านได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า เพราะบิดาบุญธรรมที่อุปการะท่าน ตามใจท่านทุกอย่าง ท่านจึงมีโอกาสเดินทางทั่วยุโรป จากขั้วโลกเหนือไปขั้วโลกใต้ ทั้งเคยไปเรียนที่เวียดนาม ญี่ปุ่น มาแล้ว

    ตลอดเวลาการให้สัมภาษณ์ ท่านจะพูดภาษาอังกฤษบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง แถมเวียดนามให้ฟังอีก แต่ผู้เขียนมีสติปัญญาน้อย จึงไม่สามารถถ่ายทอดภาษาเหล่านั้นให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายฟังได้

    ที่น่าทึ่งที่สุดก็คือ เมื่อครั้งท่าน เดินทางไปยังขั้วโลกเหนือในครั้งหลังนี้ ท่านอยู่ในสมณเพศแล้ว ท่านเห็นหิมะขาวสะอาด น่านั่งสมาธิ ท่านก็ไปนั่ง ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นจับขั้วหัวใจ จนฝรั่งที่เห็นอุทานออกมาว่า

    “ที่นั่นไม่ใช่คน เป็นผี”

    เพราะมิใช่ท่านนั่งเพียงชั่ว 5 หรือ 10 นาที แต่ท่านนั่งอยู่นานถึง 8 ชั่วโมง ! ซึ่งถ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา คงจะแข็งตายไปแล้ว !


    รู้หลายภาษา

    อาจจะมีบางท่านที่เห็นรูปร่างของหลวงพ่อโง่นแล้ว ไม่เชื่อว่าท่านเดินทางมารอบโลกแล้ว แต่เมื่อเห็นฝรั่งไปนมัสการ ท่านก็พูดโต้ตอบเป็นภาษาของเขา เมื่อญี่ปุ่นไปหา ท่านก็โต้ตอบเป็นภาษาญี่ปุ่น

    หรือแม้แต่เต่าที่มีไข่บนเขารวก ส่งเสียงตามภาษาสัตว์ ท่านก็แปลให้ลูกศิษย์ของท่านฟังได้

    ความอัศจรรย์มีในตัวท่านหลายอย่าง ดังจะเห็นจากการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ท่านออกแบบแปลน และควบคุมการก่อสร้างต่าง ๆ บนวัดพระพุทธบาทเขารวกเอง หรือที่พิจิตรซึ่งท่านสร้างเป็นรูปจระเข้ขนาดใหญ่โต จนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า “น่าเข้าไปนั่งทำสมาธิในนั้น !”


    รูปขันธ์ไม่เปลี่ยนแปลง

    ที่น่าประหลาดอีกข้อหนึ่งก็คือ ใครก็ตามที่เห็นหลวงพ่อโง่น เมื่อ 30-40 ปี มาแล้ว จะยืนยันได้ว่า รูปขันธ์ของท่านไม่เห็นเปลี่ยนแปลง อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น

    แม้แต่ พล.ต.ต.ถาวร คล่องเชิงศร รองผู้บัญชาการกองบัญชาการการศึกษา กรมตำรวจ ผู้อนุเคราะห์ความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้เขียน ก็ยังยืนยันว่า

    “ผมรู้จักท่านตั้งแต่ยังเป็นร้อยโท จนทุกวันนี้ก็เห็นหลวงพ่ออย่างนี้แหละครับ ไม่เห็นแก่ลง ยังแข็งแรง เดินเหินคล่องแคล่วว่องไวเหมือนเดิมทุกอย่าง แปลกจริง ๆ”

    แต่จากการที่ผู้เขียนอยู่ใกล้ชิดท่าน ขณะยื่นเครื่องอัดเทปไปใกล้ท่านนั้น ผู้เขียนสังเกตเห็นแววตาดำอันเริ่มฝ้าฟางของท่านอย่างชัดเจน

    ทั้งนี้ หลวงพ่อคงจะหลีกเลี่ยง ความเป็นอนิจจังไม่พ้น แม้เนื้อหนังของท่านจะไม่เหี่ยวย่นเหมือนคนชราทั่วไป มิหนำซ้ำยังเดินเหินว่องไวก็ตาม แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ปกปิดความชราไว้ไม่พ้น นั่นก็คือ แววตาของท่าน ที่ผู้เขียนเห็นด้วยตัวเอง !


    ไม่ทานเนื้อสัตว์แต่เยาว์วัย

    ที่ทราบมาว่า หลวงพ่อโง่น ท่านฉันแต่ผักเป็นอาหารมาแต่เยาว์วัยนั้น ผู้เขียนยังสงสัยอยู่ จึงได้กราบเรียนถามท่าน ได้รับคำตอบว่า

    “อาตมาเป็นมาแต่เด็กเล็ก ๆ แล้ว โยม ฉันเนื้อไม่ได้ มันขยะแขยง อดคิดไม่ได้ว่า เนื้อเขาก็เหมือนเนื้อเรา

    เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มเคยไปเยี่ยมญาติของแม่ที่บ้านหมี่ เห็นสาว ๆ ชาวพวนเขาสวย ก็เกิดนึกชอบเขา แต่พอเห็นเขากินไก่เท่านั้น ใจมันห่อเหี่ยวไปเลย

    ครั้งไปอยู่ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เกิดไปชอบกับสาวญี่ปุ่นเข้า แต่พอเห็น เขากินปลาดิบเท่านั้น ก็ทนไม่ไหว ความรู้สึกเช่นนี้สวนเกิดขึ้นมาเอง เกิดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งทำ มันขยะแขยงจริง ๆ โยม

    ทุกวันนี้ก็เลยขอฉันแต่อาหารผัก และฉันมื้อเดียวมาหลายสิบปีแล้ว


    ขอให้ทำจริง

    images-2.jpg

    การปฏิบัติของท่านนอกจากจะ ทำให้จิตว่างอยู่เสมอแล้ว หลังเที่ยงคืน ท่านจะนั่งสมาธิในกุฏิตามลำพังไปจนฟ้าสาง และท่านปฏิบัติเช่นนี้มาช้านาน และสม่ำเสมอตลอดมา

    ท่านบอกว่า

    “ถ้าจะปฏิบัติจริง ๆ ต้องนั่งสมาธิ ให้ได้วันละ 5 ชั่วโมงซีโยม ยิ่งนั่งนาน ยิ่งได้พิจารณาเห็นธรรมต่าง ๆ การปฏิบัตินั้นจะทำโดยวิธีใดก็ตาม ขอให้ทำจริงเท่านั้นเป็นพอ”


    เป็นพระต้องทวนกระแส

    ท้ายสุด หลวงพ่อโง่น โสรโย กล่าวแก่ผู้เขียนว่า

    “พระโลกนาถศาสดาของเรา ท่านมีปราสาทราชมณเฑียรอยู่ถึง 3 ฤดู ท่านยังทิ้งไปบำเพ็ญทุกรกิริยาถึง 6 ปี ท่านก็ทรงเสวยพระกระยาหารของนางสุชาดา เสร็จแล้วเอาถาดทองคำลอยน้ำ ถ้าถาดทองคำนี่ทวนกระแสน้ำได้ก็จะเป็นพระพุทธเจ้า อันนี้มันเป็นบุคลาธิษฐาน

    แต่ถ้า ธรรมาธิษฐาน จริง ๆ วิถี ชีวิตของชาวบ้านกับชาววัดมันทวนกระแสกัน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โยมต้องเอา เพราะเป็นสิ่งที่เลี้ยงตัวเองกับครอบครัวและวงศ์ตระกูล เงินทอง ลาภยศ ต้องเอา แต่ต้องเอาในทางที่ถูก ยศก็ต้องมี สรรเสริญก็ต้องเอา สุขก็ต้องเอา

    แต่พระนี่ทวนกระแสเขา ลาภมี กูไม่เอา ได้มากูก็บริจาคให้คนอื่นหมด ยศกูไม่เอา เพราะเป็นเรื่องของกิเลส สรรเสริญ ใครไม่ต้องมาสรรเสริญ ความสุขนี่อย่าติดซีโยม เพราะ ดวงจิตเรา ถ้ามีทุกข์ มันจะเห็นทุกข์ จิตใจจะเข้มแข็ง ถ้าเจอแต่ความสุขมันจะ อ่อนแอ


    93281003.jpg

    b48.gif b48.gif

    พิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่โง่น โสรโย
    ณ เมรุชั่วคราว วัดพระพุทธบาทเขารวก
    ต.วังหลุม อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร
    จากหนังสือโลกทิพย์ ฉบับที่ ๓๘๘ ปีที่ ๒๒ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๕

    ประวัติฉบับบทความ

    วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้มีความเคารพนับถือได้ร่วมกันประกอบพิธีใน การพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่โง่น โสรโย ณ เมรุวัดพระพุทธบาทเขารวก ตำบลทับคล้อ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่โง่น โสรโย ในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ มิตรญาติ อย่างหาที่สุดมิได้

    หลวงปู่โง่น โสรโย ได้อุบัติมาใช้ชีวิตในสมณเพศ บำเพ็ญประโยชน์และคุณูปการแก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา ตลอดถึงสังคมทุกระดับอย่างดียิ่ง เป็นเนติแบบอย่างอันงดงามของผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองด้วย ความสะอาดบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นชีวิตจิตใจ หลวงปู่มีอัธยาศัยเปี่ยมล้นด้วยเมตตา สันโดษ รักสงบ เสียสละ ตามวิสัยของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในอุบายแนะนำสั่งสอนเหล่าประชากรโดยพุทธวิธี มีกุศโลบายในการรักษาตนให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งภายนอกและภายใน มีทัศนวิสัยในการปฏิบัติที่สมสมัย มีจิตใจใฝ่รู้วิชาทุกแขนง นำมาแก้ไขดัดแปลงก่อให้เกิดประโยชน์โสตถิผล ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทำความแช่มชื่นให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น มีความเยือกเย็นเป็นสุขใจแก่ผู้เข้าใกล้ ด้วยเมตตาบารมีธรรมของท่านอย่างน่าอัศจรรย์

    หลวงปู่โง่น โสรโย อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม โดยมี ท่านเจ้าคุณสารภาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนมเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาพรหมมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทปีแรก พระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์ผู้อุปการะคือ หลวงพ่อวัง ได้ร้องขอและส่งให้ไปอยู่กับพระสหายของท่าน คือ เจ้ายอดแก้ว บุญทัน บุปผรัตน์ ธมมญาโณ ที่วัดสุวรรณารามราชมหาวิหาร นครหลวงพระบาง ราชอาณาจักรลาว ซึ่งต่อมา เจ้าบุญทัน บุปผรัตน์ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แห่งราชอาณาจักรลาว ต่อมากรุงเวียงจันทน์แตกใน พ.ศ. ๒๕๑๘ พระองค์ได้เสด็จลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๕๒๘

    ส่วนหลวงปูโง่น โสรโย ในขณะนั้นเป็นพระนวกะ ได้เรียนนักธรรมและบาลีแบบลาว ซึ่งเจ้ายอดแก้ว บุญทัน ทรงรักใคร่โปรดปรานมาก เพราะดั้งเดิมเป็นสายญาติกัน และใช้งานได้คล่อง พูดไทยได้เก่ง เว้าลาวได้ดี ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสก็อาศัยได้ เพราะในระยะนั้นประเทศลาว ยังเป็นอาณานิคม เมืองขึ้นของฝรั่งเศส ท่านจึงต้องการให้พระภิกษุที่เข้ากับชาวต่างชาติรู้เรื่อง อยู่ด้วย เมื่อเวลาว่างท่านให้เข้าป่าเพื่อแสวงหาต้นไม้ที่เป็นยาสมุนไพร เพราะพระองค์ท่านทรงสนใจรับรู้ในเรื่องยาสมุนไพรมาก ตอนเข้าไปในป่าถึงเขตทุ่งไหหิน โดนทหารลาวและทหารฝรั่งจับในข้อหาเป็นจารชนจากเมืองไทยไปสืบความลับ ถูกขังคุกขี้ไก่ ๓๐ วัน พร้อมพระลาว ๒ รูป กับเด็กอีก ๑ คน เด็กคนนั้น คือ เจ้าสิงคำ ซึ่งต่อมาก็คือ ท่านมหาสิงคำ ผู้ทำงานช่วยพวกลาวอพยพร่วมกับสหประชาชาติ อยู่ที่วัดยานนาวา กรุงเทพฯ ท่านจึงไปมาหาสู่บ่อย เพื่อขอความช่วยเหลือให้พี่น้องชาวลาว หลวงปู่โง่นก็ได้ช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ความสามารถจะมี

    เรื่องการติดคุกขี้ไก่อยู่เมืองทุ่งไหหินนั้นสนุกมาก เขาเอาไก่ไว้ข้างบน คนและพระอยู่ข้างล่าง ไก่ขี้ใส่หัวตลอดเวลา เหม็นก็เหม็น ทรมานก็ทรมาน สนุกก็สนุก ได้ศึกษาธรรมไปในตัว ความทราบถึงเจ้ายอดแก้ว พุทธชิโนรสสกลมหาสังฆปาโมกข์ ท่านได้ร้องขอให้ปล่อยตัว แต่ทหารปล่อยเฉพาะพระลาว ๒ รูป กับเด็ก ๑ คน ส่วนหลวงปู่โง่นเขาไม่ปล่อย เพราะเข้าใจว่าเป็นคนไทย ด้วยเหตุที่พูดไทยได้เก่ง ทั้งนี้ ขณะนั้นเป็นช่วงระหว่างสงครามอินโดจีน ฝรั่งยุให้คนไทยกับคนลาวเป็นศัตรูกัน เห็นคนไทยก็จับขังหรือฆ่าทิ้งเสีย จึงมารู้ตัวเข้าคราวหลังว่า เรามันคนปากเสีย ปากพาเข้าคุก เพราะพูดภาษาไทย

    ภายหลังสมเด็จพระสังฆราชลาว ท่านออกใบสุทธิให้ใหม่ โอนเป็นพระลาวเป็นคนลาวไป เขาจึงปล่อยตัวออกมา แต่ก็ยังไม่พ้นสายตาของพวกนักสืบอยู่นั่นเอง จึงกราบทูลลาผู้มีพระคุณ หาทางมุ่งกลับเมืองไทย แต่ไม่รู้จะมาอย่างไร จึงตัดสินใจไปพบคนที่รู้จักรักใคร่คือ ท้าวโง่น ชนะนิกรซึ่งเป็นข้าราชการลาวอยู่ในระยะนั้น ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง มีแต่หลุมหลบภัยและเสียงปืน ที่พี่ไทยกับน้องลาวยิงกันไม่ขาดระยะ ต้องธุดงค์ปลอมแปลงตัว เดินเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขงลงมาทางใต้ ถึงใกล้เมืองท่าแขก ได้รับความช่วยเหลือจากพระลาวที่รู้จักกัน คือ ครูบาน้อย หาทางให้ได้เกาะเรือของชาวประมงข้ามฝั่งมาไทย พอถึงแผ่นดินไทยก็โดนร้อยตำรวจเอกเดช เดชประยุทธ์ และ ร้อยตำรวจโทแฝด วิชชุพันธ์ จับในข้อหาเป็นพระลาวหลบเข้ามาสืบราชการลับในราชอาณาจักรไทย ถูกจับเข้าห้องขัง ฐานจารชน อยู่ ๑๐ วัน ร้อนถึงพระพนมคณานุรักษ์ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมือง ได้เจรจาให้หลุดรอดออกมา

    พอพ้นจากห้องขังมาได้ ก็เข้ากราบพระอุปัชฌาย์คือ ท่านเจ้าคุณสารภาณมุณี สั่งให้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมพระกรรมฐานกับ พระอาจารย์วัง ที่ถ้ำไชยมงคล ภูลังกา และไปหา พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ตอนเข้าพรรษา พระอุปัชฌาย์ให้มาจำพรรษาอยู่วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม

    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ สอบได้นักธรรมตรี พ.ศ. ๒๔๘๖ สอบได้นักธรรมโท พ.ศ. ๒๔๘๗ สอบได้นักธรรมเอก ต่อมาหนีออกธุดงค์เข้าถ้ำ จำพรรษาที่ถ้ำบ้านยางงอย อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม กับอาจารย์สน อยู่ ๑ ปี พระอุปัชฌาย์รู้ข่าวเรียกตัวกลับ สั่งให้มาอยู่วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม โดยบังคับให้เป็นครูสอนนักธรรมโท อยู่วัดศรีเทพ ๒ ปี เพราะวัดทั้งสองอยู่ใกล้กัน ไปกลับได้สบาย ผลของการสอนได้ผลดีมาก นักเรียนสอบได้ยกชั้นทั้ง ๒ ปี พระอุปัชฌาย์ชมเชยมาก และปีต่อมาได้เปลี่ยนเป็นครูสอนนักธรรมเวลาเช้า ส่วนเวลาบ่าย หลวงปู่เป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์

    ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สอบเปรียญธรรม ป.ธ.๓ แต่ต้องตกโดยปริยาย เพราะข้อสอบรั่วทั่วประเทศ จึงต้องสอบกันใหม่ เกิดความไม่พอใจในวิธีการเรียนแบบสกปรก จึงย้อนกลับไปพึ่งใบบุญของสมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศลาว และได้ตั้งใจเรียนแบบลาว สอบเทียบได้เปรียญ ๕โดยสมเด็จพระยอดแก้วสกลมหาปรินายก ออกใบประกาศนียบัตรให้ จากนั้นท่านสั่งให้ไปเรียนต่อที่ประเทศพม่า พอดีขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์ในพม่าพากันเดินขบวนขับไล่รัฐบาลของอูนุ มีการจับพระชาวต่างชาติเข้าคุก หลวงปู่โง่นก็พลอยโดนด้วย แต่โชคดีที่พระมหานายกของพม่า คือ ท่านอภิธชะมหา อัตฐะคุรุ ได้ขอร้องและทำใบเดินทางให้เข้าประเทศอินเดีย เลยเข้าไปเมืองฤๅษีเกษ แคว้นแคชเมียร์ ไปฝึกฝนอบรมวิชาโยคะ ๑ ปี เมื่อมีเพื่อนนักโยคะชักชวนขึ้นไปเมืองยางเซะ และเมืองลาสะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศธิเบต เพื่อศึกษาภูมิประเทศ และหลักการทางพระพุทธศาสนามหายาน

    พ.ศ. ๒๔๙๔ กลับมาเมืองไทย ท่านเจ้าคุณรัชมงคลมุนี วัดสัมพันธวงศ์ ส่งให้ไปเป็นหัวหน้าก่อสร้างพระอุโบสถจตุรมุขหลังใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ที่วัดสารนาถธรรมาราม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อยู่ได้ ๕ ปี พระอุโบสถจวนเสร็จ ขออำลาหนีไปพักผ่อนชั่วคราว ไปพักอยู่กับญาติๆ ที่เมืองอังกานุย ประเทศนิวซีแลนด์ แล้วไปอยู่แคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย อยู่แห่งละ ๑ ปี แล้วไปอาศัยอยู่กับญาติโยมเก่า ที่เขาเคยอุปการะอยู่ประเทศลาว ที่เมืองรียอง ประเทศฝรั่งเศส

    พ.ศ. ๒๔๙๘ กลับเมืองไทย ไปช่วยท่านมหาโฮม คือ เจ้าคุณราชมุนี วัดสระประทุม ที่ปากช่อง จากนั้นเดินธุดงค์เข้าป่าเข้าถ้ำหลายแห่ง คือ ถ้ำเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ถ้ำตับเต่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วล่องใต้ไปอยู่ถ้ำจัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ถ้ำขวัญเมือง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร แล้วมาถ้ำมะเกลือ เหมืองปิล็อก จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นขึ้นถ้ำฤๅษี (ถ้ำมหาสมบัติ) ถ้ำเรไร จังหวัดเพชรบูรณ์

    ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หลวงพ่อแพร คือ ท่านเจ้าคุณเพชราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์องค์ก่อน ได้นิมนต์มาสร้างโรงเรียนประชาบาล วัดท่าข้าม และสร้างพระประธานใหญ่ ไว้ที่เขตอำเภอชนแดน แล้วท่านร้องขอให้ไปอยู่แคมป์สน เขตอำเภอหล่มสัก อยู่ได้ปีเดียว ท่านเจ้าคุณวิมลญาณเวที วัดมงคลทับคล้อ ซึ่งเป็นเครือญาติกันมาก่อน ขอให้มาสร้างฌาปนสถาน และบูรณะศาลาการเปรียญวัดมงคลทับคล้อ พอเสร็จเรียบร้อย ท่านร้องขอให้มาช่วยเหลือประจำอยู่วัดพระพุทธบาทเขารวก เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพราะเป็นแดนทุรกันดาร หน้าแล้ง จะขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ ด้วยความเห็นชอบและเลื่อมใสของท่านเจ้าอาวาส ตลอดจนญาติโยม ได้ลงมือพัฒนาสถานที่นี้ให้ได้รับความสะดวกสบายขึ้นหลายอย่าง อาทิ ได้ขุดสระกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณหมู่บ้าน เก็บน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดปี สร้างถนนจากบ้านวังหลุมถึงเขารวก เป็นระยะทาง ๕.๕ กิโลเมตร และสร้างโรงเรียนประถมศึกษา เป็นอาคารชั้นเดียว ยาว ๕๐ เมตร มีห้องเรียน ๘ ห้อง อีกทั้งปั้นหล่อรูปสมเด็จพระปิยมหาราชไว้ที่หน้าเสาธง มีขนาด ๑ เท่าครึ่ง ตั้งอยู่ตลอดจนถึงทุกวันนี้ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี จะให้มีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป และแจกทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐๐ ทุน ทุนละ ๑,๐๐๐ บาท ตลอดมาจนทุกวันนี้

    หลวงปู่ได้แปรผันสังขารของท่านเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๒ รวมสิริชนมายุได้ ๙๔ ปีเศษ นับว่ามีอายุมากในปัจจุบัน แต่สังขารของหลวงปู่ไม่แก่เฒ่าอย่างที่ทุกคนคิด เพราะท่านมีวิธีรักษาจิต เพื่อชะลอความแก่ไว้ด้วยธรรมสมบัติ มีธรรมสมบัติเป็นจิตใจ จึงเป็นใจที่สงบ อันใจที่สงบนั้น ย่อมไม่แก่ชราคร่ำคร่าดังพระพุทธภาษิตว่า สตญฺจ ธมโม นชรํ อุเปติ ธรรมของผู้มีใจสงบนั้น ย่อมไม่เข้าถึงความแก่ชราคร่ำคร่า ก็คือการชะลอความแก่ไว้ด้วยธรรมสมบัตินั่นเอง

    คนส่วนมากมักปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม แต่หลวงปู่ท่านใช้ชีวิตของท่านเดินย้อนรอยกรรม โดยการนำตัวแฝงเข้ามาเป็นอุปกรณ์การเดินทางเพื่อย้อนรอยกรรม จึงทำให้ชีวประวัติของท่านโดดเด่น โลดโผน เป็นวรธรรมคติแก่ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

    อันปฏิปทาของหลวงปู่โง่น โสรโย นั้น ตรงกับคำว่า “ปะฐะ วิปปะภาโส” แปลว่า ผู้ยังพื้นปฐพีให้สว่างไสว เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยที่เป็นดวงตาของโลก มีความชื่นชมยินดีเป็นที่รวมใจ มีรัศมีสีทองผ่องอำไพส่องโลกนี้ เป็นคาถาที่ปรากฏใน โมรปริตร์ ถ้าคิดถึงหลวงปู่ก็ให้เจริญมนต์บทนี้ จะได้รับความคุ้มครองจากธรรมสมบัติตามปฏิปทาบารมีของหลวงปู่โง่น โสรโย เหมือนท่านอยู่กับเราในฐานะตัวแฝง ตลอดไป

    b53.gif b53.gif

    ที่มา
    (๑) http://www.dharma-gateway.com/monk/monk-main-page.htm
    (๒) http://pck.onab.go.th/index.php?option= ... mitstart=1

    :- http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=44047
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    28 พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์...28 arahants in Thailand...posted by samnak suriyo

    Samnak Suriyo
    10,611 views Oct 28, 2020
    เทศนาปาฏิหาริย์ จากครั้งพุทธกาล สู่ยุคปัจจุบัน// ปู่ดอน station

    ปู่ดอน station
    ในครั้งอดีต พระพุทธเจ้าเคยเทศนาปาฏิหาริย์ให้ผู้ฟังอัศจรรย์ใจมาแล้ว มายุคปัจจุบันนี้ หลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัว และหลวงพ่อชา ต่างก็สามารถเทศนาปาฏิหาริย์ให้ผู้ฟังได้อัศจรรย์ใจเช่นเดียวกัน..
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 มีนาคม 2022
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    หลวงปู่ชอบธุดงค์ดงลึกป่าเพชรบูรณ์ | EP.26 เรื่องเล่าพระธุดงค์ | หลวงปู่ชอบ ฐานะสโม

    100 เรื่องเล่า
    75,451 views Oct 12, 2021
    ธุดงค์ในดงลึก

    หลวงปู่ชอบ ฐานะสโม พระอริยสงฆ์แห่งเมืองไทย พระธุดงค์กรรมฐาน ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมีประสบการณ์ที่น่าอรรศจรรย์ในป่าเขาเกี่ยวกับสัตว์ป่า เทวดา อยู่หลายครั้ง เรื่องที่นำมาเล่าในตอนนี้ เป็นตอนที่ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองวัวซอ อุดรธานี วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา ถ้ำนายม เพชรบูรณ์ และได้เผชิญหน้ากับเสืออย่างจังๆ ที่ดงหลวง ตอนที่ท่านจะเดินทางไปลำปาง เชียงใหม่ แต่ท่านก็ผ่านพ้นเหตุการณ์อันเลวร้ายมาได้อย่างปลอดภัย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอรรศจรรย์
    เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญรับฟังได้เลยครับ ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ดงกะเหรี่ยง | EP.40 เรื่องเล่าพระธุดงค์ | หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

    100 เรื่องเล่า
    70,683 views Nov 18, 2021

    แดนกะเหรี่ยง เป็นเรื่องเล่าในส่วนหนึ่งของชีวประวัติของ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ครั้งหนึ่งท่านเคยเข้าไปในป่าดงในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหมู่บ้านในแถบนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง และกะหร่างปะปนกันอยู่ ชาวบ้านเหล่านี้เขาจะไม่รู้จักพระสงฆ์ ยังไม่รู้จักศาสนาพุทธ ซึ่งในตอนนี้หลวงปู่สมชาย ท่านได้เข้าไปโปรดครั้งแรก ทำให้ท่านต้องอดอาหารนานถึง 3 เดือนเต็ม ท่านอยู่โปรดชาวบ้านที่นั่น จนชาวกะเหรี่ยง นับถือท่าน และเข้าใจในธรรมะ
    เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญรับฟังได้เลยครับ ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    บุญกรรมฐาน ช่วยเปรตเป็นนางฟ้า

    thamnu onprasert
    57,194 views Mar 26, 2022
    เรื่องราวน่าอัศจรรย์ของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม แห่งวัดอัมพวัน ที่ช่วยให้นางเปรตผู้มีกรรมซึ่งสิงอยู่ในบ้านร้างตนหนึ่ง ได้พ้นจากความทุกข์กลับกลายเป็นนางฟ้า ด้วยแรงบุญพระกรรมฐานวิปัสสนา..สาธุ.. สาธุ..สาธุ..
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    หลวงปู่ฝั้นธุดงค์ภูวัว | EP.67 เรื่องเล่าพระธุดงค์ | หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

    100 เรื่องเล่า
    48,602 views Mar 23, 2022
    หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่า อุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ท่านเป็นพระป่าพระธุดงค์กรรมฐาน ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านมักจะเที่ยวธุดงค์ ไปตามสถานที่ต่างๆหลายแห่ง ได้ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ทั้งเผชิญหน้ากับเสือ ช้าง หรือเหล่าวิญญาณต่างๆด้วย ครั้งหนึ่ง ท่านได้ไปธุดงค์ที่ภูลังกา กับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร และต่อยังยังภูวัว ในเขตบึงกาฬ กับลูกศิษย์ลูกหา ได้ประสบกับเหตุการณ์ต่างๆมากมาย

    เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญรับฟังได้เลยครับ ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    อาถรรพ์วัดป่าหัวดง | EP.51 เรื่องเล่าพระธุดงค์ | หลวงปู่จันทา ถาวโร

    100 เรื่องเล่า
    46,965 views Dec 20, 2021

    วัดป่าหัวดง ตั้งอยู่จังหวัดนครพนม ชาวบ้านเล่ากันว่ามีผีดุมาก พระเณรอยู่ที่วัดไม่ได้นาน เพราะที่นั้น เป็นวัดที่ตั้งอยู่ป่าช้า คือวัดป่าหัวดง บ้านหัวดอน ครั้งหนึ่งหลวงปู่จันทา ถาวโร ท่านได้ไปพำนักที่นั่นและได้พบกับเหตุการณ์ลี้ลับที่นั่น คือท่านได้พบเปรต 3 ตน ที่ทนทุกทรมานที่นั่น ท่านจึงได้เทศโปรด ต่อมาเปรตเหล่านั้นจึงได้ไปผุดไปเกิดในภพภูมิอื่น

    เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญรับฟังได้เลยครับ ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    อัศจรรย์ ..พระลึกลับ

    thamnu onprasert
    56,018 views Mar 30, 2022

    พระลึกลับ มีเรื่องราวที่ลี้ลับ ยากที่ปุถุชนคนสามัญจะหยั่งรู้ถึงวิถีอริยะแห่งท่านได้ เรื่องราวต่อไปนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีศรัทธาต่อพระรัตนตรัยอย่างลึกซึ้ง ส่วนผู้ไม่เชื่อก็อย่าคิดลบหลู่ เพราะสิ่งที่ท่านไม่เห็นด้วยตา ก็อย่าเพิ่งคิดดูหมิ่นปฏิเสธว่าเหลวไหลหรือไม่มี...
     

แชร์หน้านี้

Loading...